Tuesday, August 20, 2019

Water Molecule

โมเลกุลน้ำ โมเลกุลชีวิต
       โครงสร้างอะตอมของไฮโดรเจน(วงกลมสีเขียว ในภาพข้างบน) ประกอบด้วยอิเล็กตรอน(สีน้ำเงิน)ตัวเดียวที่หมุนไปรอบๆโปรตอน(สีแดง)หนึ่งตัว. เพราะมีโครงสร้างเช่นนี้ ไฮโดรเจนจึงเป็นธาตุที่เบาที่สุดในหมู่ธาตุทั้งปวง.  เพื่อเสริมความมั่นคงของตัวเอง อิเล็กตรอนของไฮโดรเจนจึงรี่ไปหาพรรคพวก เกาะเกี่ยวแน่นแฟ้นกับอิเล็กตรอนของธาตุอื่น. อิเล็กตรอนของไฮโดรเจน เข้าประชิดอิเล็กตรอนของออกซิเจน เกาะกันแน่น. พฤติกรรมดังกล่าว อิเล็กตรอนรวมกับอิเล็กตรอน ประจุลบเหมือนกันรวมกันกลายเป็นประจุบวก ทำให้ก๊าซไฮโดรเจนเป็นประจุบวก ประสานกลมเกลียวกับกับก๊าซออกซิเจนที่เป็นประจุลบ(เพราะในอะตอมออกซิเจนมีอิเล็กตรอนมากถึงแปดตัว) และสร้างเป็นโมเลกุลน้ำขึ้นมา. ไฮโดรเจน(เป็นเชื้อเพลิง combustible) และออกซิเจน (ตัวช่วยในการเผาไหม้) มาพบกัน แต่ไม่เกิดการลุกไหม้ใดๆ กลับสร้างความสัมพันธ์ฉันท์มิตรอันนุ่มนวล เกี่ยวก้อยกันไปเป็นน้ำที่หล่อเลี้ยงสรรพชีวิต. นี่คือ น้ำ ที่เป็นความมหัศจรรย์ที่วิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใจถึงแก่น.
          ออกซิเจนมีน้ำหนักอะตอม เป็น 16 เท่าของไฮโดรเจน เช่นนี้ ไฮโดรเจนวางใจ มีทุ่นที่ดี. การเข้าไปรวมกับอิเล็กตรอนของออกซิเจนนั้น จะไปรวมจุกอยู่ที่เดียว คงไม่สะดวก จึงมีการไปจับอิเล็กตรอน ณ สองจุด ห่างกันไป และในที่สุดพบว่ามุมสะดวกของการเกาะเกี่ยวอยู่ที่ราว 104.5°(และไม่เกิน 109°) กับแกนกลางของอะตอมออกซิเจน.  
          เมื่อสอนเด็กๆ ครูบอกว่า ไฮโดรเจนเข้าไปเกาะออกซิเจนสองข้าง เหมือนหูสองข้างของมิกกี้เม้าส์ (ถ้าวอทดิสนีย์ไม่ประดิษฐ์มิกกี้เมาส์ใช้เป็นสัญลักษณ์ของสตูดิโอของเขา และสร้างหนังการ์ตูนเรื่องนี้ในปี 1928  คนก็คงเปรียบหน้าตาของโมเลกุลน้ำด้วยวิธีอื่น เช่นเกาะทำมุมเหมือนตัวอักษร วี V ).  เพราะโมเลกุลน้ำมีสองหูแบบนี้เอง จึงพูดในภาษาวิทยาศาสตร์ว่า โมเลกุลน้ำมีสองขั้วหรือ polar molecule.
       วิชาเคมีสอนมาว่า โมเลกุลน้ำมีประจุไฟฟ้าเป็นกลาง (neutral electrical charge). ดังภาพวาดมิติเดียวข้างบน เป็นโครงสร้างอิเล็กทรอนิกของน้ำ. แต่ละโมเลกุลน้ำ ดูคล้ายสามเหลี่ยม สองขั้วคือมีขั้วบวกสองขั้ว ที่เป็นสองหูของมิกกี้เม้าส์ (แสดงด้วยสีเขียว) อันเป็นสมบัติเคมีของไฮโดรเจน. ส่วนออกซิเจนมีสมบัติเคมีเป็นประจุลบ (แสดงด้วยสีม่วงๆ). สนามความเข้มของอิเล็กตรอนรอบๆออกซิเจน มากกว่าสนามรอบๆไฮโดรเจนเกือบสิบเท่า.
       การที่โมเลกุลน้ำมีสองขั้ว ทำให้โมเลกุลน้ำดึงตัวเข้าหากันและกันเสมอ เกิดสายใย hydrogen bonds (พันธะไฮโดรเจน)  เป็นสายใยอ่อนๆที่ทำให้น้ำรักษาความเป็นของเหลวได้ (ละไว้ให้เข้าใจว่า ถ้าสายพันธะแน่นแข็งแกร่งมากเกินไป ย่อมแปรสภาพสารไหลไปเป็นสารแข็งได้).
        แต่ละโมเลกุลน้ำ สร้างพันธะไฮโดรเจนกับโมเลกุลน้ำอีกสี่โมเลกุล เป็นโครงสร้างเรขาคณิตทรงจตุรมุข ( Tetrahedra geometry เป็นรูปสามเหลี่ยมสี่ด้าน โดยที่อะตอมศูนย์กลางอยู่ที่ใจกลางของพื้นที่ ต่างกับทรงสามเหลี่ยมปิรามิด ศูนย์กลางอยู่บนยอดปิรามิด).  
ภาพแสดงการสร้างพันธะไฮโดรเจนของโมเลกุลน้ำ 5 โมเลกุล
การเชื่อมต่อของโมเลกุลน้ำ เรียกว่า hydrogen bonds หรือ พันธะไฮโดรเจน (ในหนังสือวิทยาศาสตร์ไทย). ที่พูดว่า โมเลกุลน้ำมีสองขั้วนั้น เห็นได้ชัดในการเชื่อมโยงระหว่างโมเลกุลน้ำด้วยกัน.  เมื่อโมเลกุล ก ไก่ มีหูข้างหนึ่งไปใกล้อะตอมออกซิเจนของโมเลกุล ข ไข่ สร้างพันธะกัน ขั้วบวก(ไฮโดรเจน)ของโมเลกุล ก ไก่ เข้าประชิดขั้วลบ(ออกซิเจน)ในโมเลกุล ข ไข่.  เช่นเดียวกันกับที่เกิดขึ้นเมื่อโมเลกุล ก ไก่เชื่อมกับโมเลกุล จ จาน. เมื่ออะตอมออกซิเจนในโมเลกุล ก ไก่ ไปเชื่อมกับอะตอมไฮโดรเจนของโมเลกุล ค ควาย และโมเลกุล ง งู เกิดพันธะระหว่างกันขั้วบวกไปเข้าหาขั้วลบ. พันธะไฮโดรเจนตามแผนภูมินี้ เห็นรูปแบบการเชื่อมสัมพันธ์กัน เป็น Tetrahedra (ทรงสามเหลี่ยมจตุรมุข)
โครงสร้างของน้ำแข็งในภาพบนนี้ เห็นพันธะไฮโดรเจนชัดเจน (เส้นเชื่อมจุดๆสีขาว)
ภาพจากเว็บ naturistique.fr/liaison hydrogène
การรวมตัวกันของอะตอมไฮโดรเจนกับออกซิเจนเป็นโมเลกุลน้ำนั้น มี 15 รูปแบบที่คงตัวและพบเห็นในน้ำธรรมชาติเสมอ, แต่มีโครงสร้างแบบอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก (ref. lsbu.ac.uk ). ในชั่วเวลาเพียงหนึ่งวินาที อะตอมไฮโดรเจนกับออกซิเจน รวมตัวกันแล้ว แยกสลายลง รวมตัวกันใหม่แล้วสลายลงอีก เช่นนี้หลายล้านครั้ง และแต่ละครั้งที่มารวมตัวกันใหม่ก็เป็นแบบเป็นแนวอย่างเฉพาะเจาะจงด้วย.
        เมื่อวิเคราะห์สมบัติและโครงสร้างของโมเลกุลน้ำ จะพบว่า สัญลักษณ์วิทยาศาสตร์ H2O ที่ใช้หมายถึงน้ำ ตั้งแต่ปี 1811 มาถึงทุกวันนี้นั้น (ref. ผู้ตั้งสูตรสัญลักษณ์น้ำคือ Amadeo Aogadro นักฟิสิกส์ชาวอิตาเลียน)[1] ไม่อาจอธิบายหรือครอบคลุมความจริงเกี่ยวกับน้ำได้หมด และที่พูดว่า โมเลกุลน้ำประกอบด้วยไฮโดรเจนสองอะตอมกับออกซิเจนหนึ่งอะตอม นั้น เป็นการพูดรวบรัดมาก เพราะยังมีองค์ประกอบที่สามที่แฝงซ่อนอยู่ที่คนแกะรอยไปไม่ได้ จนถึงต้นศตวรรษที่ 21 จึงเข้าใจว่าคืออะไร (ติดตามตอนที่ ๕). น้ำจึงไม่ได้เป็นเพียง H2O เท่านั้น.

Hydrogen bonds
        พันธะไฮโดรเจน มีบทบาทสำคัญมากในกระบวนชีวเคมีของสิ่งมีชีวิต. สิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นบนโลก เป็นผลจากปฏิกิริยาเคมีตั้งแต่ระดับต่ำสุดหรือเล็กสุด โมเลกุลเล็กๆก่อตัวเป็นโมเลกุลใหญ่ๆ เพิ่มศักยภาพใหม่ๆ และขยายใหญ่ไต่ระดับไปเป็นเนื้อเยื่อ อวัยวะ อินทรีย์ภาพที่ซับซ้อนมากขึ้นๆ.  กระบวนการเชื่อมสายสัมพันธ์ทั้งหลายทั้งปวง โยงใยไปถึงสรรพชีวิต และต่อไปถึงระบบนิเวศ.  สิ่งมีชีวิตวิวัฒน์พัฒนาแบบนี้ โดยมีน้ำเป็นผู้นำและผู้บริหาร เพื่อให้เกิดพันธะไฮโดรเจน เกิดการเชื่อมต่อ การแลกเปลี่ยน กระตุ้นปฏิกิริยา หรือมีการตอบโต้ระหว่างกันในแบบต่างๆจนมาเป็นคน.
          น้ำภายในเซลล์ที่มีมากกว่าสองในสามของปริมาณน้ำในสิ่งมีชีวิต เชื่อมกับมาโครโมเลกุลอีกพันๆหน่วยที่ลอยอยู่ในไซโตพลาซึม (cytoplasm ส่วนประกอบของเซลล์ที่อยู่ภายในเยื่อหุ้มเซลล์ แต่อยู่นอกนิวเคลียส). มาโครโมเลกุลแต่ละหน่วยหุ้มอยู่ในเยื่อน้ำบางมาก จึงมีส่วนในการเชื่อมโยงใย เพื่อให้การทำงานของเซลล์เป็นไปด้วยดี. 
          ในที่สุด สรุปสั้นๆง่ายๆได้ว่า โมเลกุลน้ำกับกระบวนการสร้างพันธะไฮโดรเจน คือผู้สร้างชีวิตตัวจริง. นำให้คิดว่าวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลกและในจักรภพ อาจยังไม่ถึงจุดสุดท้าย  คน ณปัจจุบัน อาจยังไม่ใช่สิ่งมีชีวิตอันดับสุดท้าย  ในอนาคตอาจมีสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นรูปแบบอื่นที่สมบูรณ์ซับซ้อนยิ่งขึ้น ยิ่งกว่าคนในยุคปัจจุบันนี้ก็ได้.
         พันธะไฮโดรเจนในน้ำ ทำให้น้ำเป็นสารเหลวที่พิเศษสุด และจำเป็นที่สุดสำหรับชีวิต. พันธะไฮโดรเจนเกิดขึ้นในอุณหภูมิระหว่าง 27 และ 37 °C   อุณหภูมิปกติในร่างกายคนอยู่ที่ 37°C. น้ำในร่างกายคนจึงมีพันธะไฮโดรเจนเกิดขึ้นตลอดเวลาสมบัติของน้ำที่นำมาบอกเล่าข้างล่างนี้ เป็นผลจากกระบวนพันธะไฮโดรเจน.
         ในอุณหภูมิ 27-37°C เช่นกัน ที่พันธะไฮโดรเจนมีความยืดหยุ่นมากที่สุด. ความยืดหยุ่นในโมเลกุลน้ำ จำเป็นสำหรับปฏิกิริยาเคมีบางชนิด โดยเฉพาะในกระบวนการทำงานของโปรตีนดีเอ็นเอ (DNA) และอาร์เอ็นเอ (RNA) หรือเอนไซม์แอนติบอดีทั้งหลาย ที่ต้องใช้น้ำเป็นตัวช่วย.

น้ำเป็นตัวทำละลาย
        ดังกล่าวมาข้างต้นแล้วว่า โมเลกุลน้ำมีโครงสร้างเป็นสามมิติ จึงเข้าล้อมโมเลกุลมวลสารอื่นและทำละลายมวลสารนั้นลง.  ถ้าโครงสร้างโมเลกุลน้ำราบเป็นแนวเรียบหรือเป็นเส้นตรง น้ำไม่อาจเข้าล้อมและทำละลายสารอื่นได้.  การรู้โครงสร้างของโมเลกุลน้ำ จึงทำให้เราเข้าใจว่าโมเลกุลน้ำแต่ละโมเลกุล มีอิทธิพลเหนือโมเลกุลของมวลสารอื่นที่น้ำไปสัมผัสอย่างไร. นั่นคือโมเลกุลน้ำไปเปลี่ยนโครงสร้างของโมเลกุลอื่นๆ ในขณะเดียวกันก็ปรับรับอะตอมของโมเลกุลเหล่านั้นเข้าด้วยพร้อมกัน. อะตอมไฮโดรเจนของน้ำซึ่งมีประจุบวกจะเข้ารวมกับอะตอมขั้วลบของโมเลกุลอื่นทันที  เช่นเดียวกับที่อะตอมออกซิเจนซึ่งมีประจุลบจะเข้ารวมกับอะตอมขั้วบวกของโมเลกุลอื่นที่มาสัมผัสมัน. เช่นนี้จึงพูดว่า น้ำเป็นตัวทำละลายสารอื่น. ความจริงนี้ดูเหมือนว่าเราไม่เคยให้ความสำคัญเท่าใด เพราะเห็นเป็นเรื่องธรรมดาเหลือเกิน โดยไม่เคยคิดว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น. ลองนึกดูว่า เมื่อน้ำหยดหนึ่งสัมผัสผลึกเกลือผลึกหนึ่งผลึกเกลือนั้นละลายลงทันที. คราวนี้ลองหาทางละลายผลึกเกลือนั้นโดยไม่ใช้น้ำเลย นักวิทยาศาสตร์พบว่า ต้องเผาเตาให้ร้อนจนถึงอุณหภูมิ 800°C จึงจะทำให้ผลึกเกลือนั้นละลาย.  ทำไมเกลือจึงละลายยากเช่นนี้?  เกลือมีสัญลักษณ์วิทยาศาสตร์เป็น NaCl เรียกว่าโซเดียมคลอไรด์. Na หรือโซเดียม มีประจุบวก, Cl คลอไรด์ มีประจุลบ องค์ประกอบทั้งสองของเกลือเกาะกันแน่น(เพราะต่างขั้วกัน). เมื่อถูกแยกเป็นธาตุเดี่ยวๆ แต่ละธาตุต้องรีบรี่ไปหาพรรคพวกขั้วตรงข้าม เพื่อสร้างความเสถียรสมดุลให้ตัวมันเอง. ดังนั้น เมื่อเกลือละลายในน้ำ, Na และ Cl ถูกแยกออก. Na รี่ไปหาออกซิเจนที่มีประจุลบ ส่วน Cl ก็รี่ไปหาไฮโดรเจนที่มีประจุบวก. เกลือเมื่อถูกละลายในน้ำ มีฟองฟู่ๆนิดๆเพราะเกิดประจุไฟฟ้า. นี่ก็อธิบายว่า ทำไมน้ำเค็มจึงเป็นสื่อไฟฟ้าด้วย. (Na โซเดียมและ Cl คลอไรด์เมื่อแยกออกจากกัน ไม่เป็นตัวนำไฟฟ้า).
          พฤติกรรมการรวมตัวสลายตัวของโมเลกุลน้ำในกระบวนการพันธะไฮโดรเจน ทำให้น้ำเป็นตัวทำละลายที่ดีที่สุด (solvent)  และเอื้ออำนวยต่อปฏิกิริยาชีวะเคมีภายในระบบอวัยวะต่างๆของสิ่งมีชีวิตได้อย่างสมบูรณ์. เพราะน้ำเป็นตัวทำละลายสารอื่นๆได้เกือบทุกชนิด ทำให้เรารู้สัดส่วนมากน้อยของความเป็นกรดด่างของสารที่ถูกละลาย.  นั่นเป็นอีกกระบวนการเคมีที่สำคัญยิ่งของน้ำ ที่ให้ข้อมูลระดับกรดด่างในร่างกาย (เช่นวัดจากปัสสาวะ)  บอก ค่า pH (potential of Hydrogen). ร่างกายของคนมีระดับกรดด่างปกติตามธรรมชาติอยู่ที่ 7.4 (pH ในเลือดอยู่ที่ 7.34-7.45). ระบบอวัยวะต่างๆในสภาพแวดล้อมของระดับกรดด่างนี้ ทำงานได้ดีที่สุดและสร้างความสมดุลแก่ร่างกายที่สุด. ค่า pH ที่ลดลงหรือมากขึ้นในร่างกาย บอกให้รู้ว่ามีอะไรผิดปกติ นานเข้าอาจเป็นอันตรายจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้.  เมื่อระดับกรดด่างของร่างกายเปลี่ยนไป จึงต้องรีบแก้ไขทันที. การรู้ค่ากรดด่างในน้ำดื่ม ย่อมช่วยให้เราเลือกดื่มน้ำที่ช่วยรักษาความสมดุลกรดด่างภายในระบบอวัยวะของร่างกายเรา.  pH บอกค่าของกรดและด่างในสารเหลวทุกชนิด รวมทั้งของแข็งบางประเภทเช่น ดิน พืช เกลือแร่เป็นต้น. นอกจากนี้  น้ำเป็นตัวละลายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซออกซิเจนในอากาศ และน้ำเข้ากัดกร่อนหรือจำหลักภูมิประเทศ. น้ำจึงอาจเป็นกรด เป็นด่างและเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาต่างๆด้วยในสภาวะแวดล้อมต่างๆ.

น้ำเป็นตัวกัดกร่อน
        การที่น้ำเป็นตัวทำละลาย ยังหมายถึงว่า น้ำเป็นตัวกัดกร่อนด้วย  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดเช่น เขตที่ราบสูงที่เป็นแนวหินปูน(karst)ใน Postojna ประเทศสโลเวเนีย (Slovenia - ส่วนหนึ่งของประเทศยูโกสโลเวียเดิม).  พื้นดินที่เป็นหินปูนแถบนี้ เป็นตัวอย่างของการแตกร้าวในชั้นหิน จนกลายเป็นการสึกกร่อนอย่างรุนแรงของเนื้อหิน เพราะอำนาจของน้ำกัดเซาะ. ทำไมน้ำจึงสามารถกัดกร่อนพื้นดินและหินได้ถึงขนาดนั้น?  คำตอบคือ น้ำฝนเมื่อผ่านชั้นบรรยากาศลงมา ได้รับเอาส่วนประกอบของคาร์บอนไดออกไซด์รวมเข้าไปในตัวมัน รวมทั้งจากพื้นดินชั้นเปลือกนอกของโลก. เมื่อน้ำฝนนี้ลงลึกถึงชั้นหิน กรดคาร์บอนิคในน้ำนี้แหละ ที่กัดเซาะหินปูนเรื่อยมาเป็นเวลาพันๆปี จนกลายเป็นหลุมโพรงลึกขนาดใหญ่แบบถ้ำใหญ่ใต้ดิน. ศักยภาพในการทำละลายของน้ำแบบนี้  น้ำจึงเป็นเสมือนผู้ขนย้ายและแจกจ่ายมวลแร่ธาตุไปสู่พื้นผิวของโลก. การที่น้ำทะเลมีความเค็มสูง เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนที่สุดว่า น้ำได้หอบและละลายเกลือแร่จากดินแดนต่างๆมานานมากน้อยเพียงใดแล้ว.

น้ำเป็นตัวนำไฟฟ้า
         สมบัติสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ น้ำเป็นตัวนำไฟฟ้า  ศักยภาพของการเป็นตัวนำไฟฟ้ามากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปริมาณเกลือแร่ที่ปนอยู่ในน้ำเป็นสำคัญ แต่ก็มีปัจจัยย่อยอื่นๆที่ส่งผลต่อการเป็นตัวนำไฟฟ้าของน้ำด้วย. นั่นคือปริมาณเกลือในน้ำ, ความบริสุทธิ์มากน้อยของเกลือแร่และอุณหภูมิของน้ำ. หากมีสารเกลือแร่มาก ก็เป็นตัวนำที่ดีกว่า. น้ำจืดเป็นตัวนำไฟฟ้าที่อ่อนมาก.[2]  น้ำที่มีสมบัติเป็นตัวนำไฟฟ้าน้อย ยิ่งเป็นน้ำที่เหมาะสำหรับการชำระล้างระบบอวัยวะและการกำจัดพิษออกจากร่างกาย. 
       จักรวาลและโลกเป็นศูนย์รวมคลื่นความสั่น เป็นความถี่มากน้อยหลากหลายระดับ. สสารที่เป็นตัวนำ มีวิธีจับคลื่นจากสภาพแวดล้อมมากน้อยไม่เหมือนกัน. น้ำเป็นของเหลวและของไหลจึงไม่หยุดนิ่ง การไม่นิ่งนี้หมายความว่า อณูทุกอณูของน้ำสั่นระริกไหวตลอดเวลา. ความสั่นนี้จึงทำให้ น้ำเหมือนวิทยุ ที่จับคลื่นความสั่นความถี่รอบข้างและถ่ายทอดส่งต่อไปยังตัวนำอื่นได้ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย. (ดูต่อในตอนที่ ๕ ใน EZ water : น้ำเป็นแบ็ตเตอรี น้ำในคนก็เช่นกัน)
         คุณสมบัติการเป็นตัวนำนี้มีเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นน้ำภายในเซลล์และระหว่างเซลล์ของร่างกายคน หรือในน้ำดื่มหรือน้ำธรรมชาติ.  เซลล์ที่แข็งแรงในร่างกาย มีความถี่ของการสั่นคงที่สม่ำเสมอและเข้ากลมกลืนกับการสั่นของน้ำสะอาดที่เข้าสู่ร่างกายคนได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ(แบบประสานเสียงเป็นปี่เป็นขลุ่ยกันอย่างไพเราะรวมทั้งยังสามารถรับทอดข้อมูลพลังงานจากน้ำสะอาดนั้นด้วย. ถ้าการสืบทอดพลังงานดังกล่าวขลุกขลัก ก็มีผลทำให้เรารู้สึกไม่สบาย. ความสมดุลและความสามารถในการสืบทอดพลังงานของน้ำภายในร่างกายคนนั้น ขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหว อุณหภูมิกับความถี่ในการแลกเปลี่ยนพลังงานอีเล็กทรอนิคระหว่างโมเลกุลน้ำและระหว่างโมเลกุลน้ำกับสภาพแวดล้อม. เพราะฉะนั้น น้ำที่มีคุณภาพดี(หมายถึงน้ำที่มีโครงสร้างภายในคงที่และกักประจุพลังงานไว้ภายในตัวมันอย่างเพียงพอจึงรักษาและผดุงสุขภาพของเราได้ดียิ่งกว่าสิ่งอื่นใด. ชีวิตมนุษย์จึงขึ้นอยู่กับน้ำทุกแง่ทุกมุม.

น้ำเป็นตัวปรับอุณหภูมิ
         น้ำมีคุณสมบัติด้านเคมีที่พิเศษยิ่ง เพราะมันอยู่ได้ในสามสถานะ คือเป็นของแข็ง ของเหลวและเป็นไอ (ยังมีสถานะที่สี่ ติดตามต่อในตอนที่ ๕)อุณหภูมิภายนอกของน้ำในสามสถานะนี้ นับว่าไม่แตกต่างกันมากนักเมื่อเทียบกับสสารอื่น แต่ความร้อนภายในโครงสร้างของน้ำ ที่เกิดจากการเปลี่ยนสถานะหนึ่งสู่สถานะหนึ่งนั้น สูงมาก เช่นเมื่อน้ำแข็งละลายเป็นน้ำเหลว หรือเมื่อน้ำระเหยเป็นไอ. น้ำจึงกักความร้อนสูงๆไว้ภายในตัวได้ คุณสมบัตินี้ทำให้น้ำ(เช่นทะเลมหาสมุทรบนโลก) มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและต่อการรักษาอุณหภูมิของโลกให้คงที่สม่ำเสมอ. ดาวเคราะห์ที่ไม่มีน้ำห่อหุ้ม มีอุณหภูมิต่างกันมากระหว่างกลางวันกับกลางคืน. เช่นบนดวงจันทร์ซึ่งไม่มีน้ำ ความแตกต่างของอุณหภูมิสูงถึง 250°C  มวลน้ำในโลกจึงเปรียบเหมือนเครื่องปรับอากาศ ที่เป็นทั้งเครื่องทำความร้อนในเวลากลางคืน และเครื่องทำความเย็นในเวลากลางวัน. นักวิทยาศาสตร์พบว่า จำนวนความร้อนที่ได้จากกระแสน้ำในมหาสมุทรที่มีขนาดกว้าง 160 กิโลเมตรในหนึ่งชั่วโมง  เทียบได้กับจำนวนความร้อนที่ได้เมื่อเผาถ่านหิน 200 ล้านตัน. ไอร้อนที่น้ำทะเลคายออกนี้ในยามกลางวัน ก็ยังช่วยลดรังสีที่รุนแรงเกินไปของแสงอาทิตย์(เช่นอัลตราไวโอเล็ต). ไอน้ำจึงทำหน้าที่ส่งความร้อนจากทะเลมหาสมุทรสู่ทวีป.  เมืองชายฝั่งทั้งหลายจึงมีลมเย็นในหน้าร้อนและลมหนาวที่อุ่นในหน้าหนาว. ในทำนองเดียวกัน กระแสน้ำเย็นหรือกระแสน้ำอุ่นที่ไหลเรียบฝั่งทวีปใด ก็ทำให้อุณหภูมิของเขตนั้นเปลี่ยนไปตามอุณหภูมิของกระแสน้ำอุ่นหรือเย็นนั้นด้วย.     
        กฎฟิสิคส์ทั่วไปบอกว่าของแข็งมีความหนาแน่นมากกว่าของเหลว เพราะฉะนั้นของแข็งจึงจมลงในของเหลว แต่น้ำไม่เป็นเช่นนั้น. น้ำจะหดตัวเมื่ออุณหภูมิลดลง ดังเช่นสารเหลวทุกชนิด แต่พอถึงอุณหภูมิ 4°C ความหนาแน่นของมันบรรลุเพดานสูงสุดแล้ว  นั่นคือปริมาตรน้ำจะไม่น้อยลงไปกว่านั้นอีกแล้ว. โมเลกุลน้ำตอนนี้เกาะกระชับกันมาก (ในรูปสามมิติแบบแก้วปริซึม). คุณสมบัตินี้เองที่ทำให้น้ำในทะเลสาบเริ่มแข็งตัวจากผิวน้ำข้างบนลงไป. ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่านั้น น้ำจะเริ่มขยายปริมาตรออก นั่นคือความหนาแน่นจะลดลงแทนที่จะเพิ่มขึ้นเหมือนสารเหลวที่แข็งตัวอื่นๆ และเมื่อน้ำเริ่มแข็งตัวจนในที่สุดเป็นน้ำแข็ง มันจะมีปริมาตรเพิ่มขึ้นจากปริมาตรเดิม 9% แต่น้ำหนักจะลดลงจากเดิม. โครงสร้างของน้ำแข็งจะหลวมขึ้นเพราะโมเลกุลจำนวนเดิมกระจายออกไปบนเนื้อที่ที่ขยายออก(เพราะปริมาตรเพิ่มขึ้นแทนที่จะกระชับแน่นดั่งของเหลวที่แข็งตัวอื่นๆ. 
       โมเลกุลน้ำจะเกาะกันเป็นแผงผลึกทรงสูง (เรียกว่าเทร้-ลิส trellis). โครงสร้างภายในเช่นนี้ ทำให้โมเลกุลน้ำพร้อมที่จะรวมตัวกับโมเลกุลอื่นๆ  น้ำหนักที่ลดลงและโครงสร้างที่ห่างกระจายออก ทำให้น้ำแข็งลอยเหนือน้ำ. แต่การที่โมเลกุลน้ำเกาะกันเป็นแผงอย่างมีระเบียบนี้ ก็ทำให้มันมีแรงต้านสูงและทนต่อการสลายตัว. การจะทำลายสายเชื่อมของอะตอมไฮโดรเจนแบบนี้ หรือพูดง่ายๆการจะละลายน้ำแข็งให้เป็นน้ำเหลวได้นั้น จึงต้องใช้พลังงานสูงมาก. ถ้าเราต้องทำลายสายเชื่อมของอะตอมไฮโดรเจนทุกอะตอม เราจะต้องใช้พลังงานมากขึ้นอีก แต่นักวิทยาศาสตร์พบว่า ในโครงสร้างของน้ำที่ละลายจากน้ำแข็งนั้น สายไยไฮโดรเจนไม่ได้แยกขาดออกจากกันทั้งหมด.
       สมัยเด็กๆเราเรียนแค่ว่าน้ำมีจุดเยือกแข็งที่ 0°C และมีจุดเดือดที่ 100°C หรือเรารู้ว่า 37°C คืออุณหภูมิปกติของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม. การวิจัยทางฟิสิกส์บอกว่า ปกติน้ำมีค่าความจุความร้อนที่สูงมาก (4186 J/kg.K) แต่ณอุณหภูมินี้ (37°C) ความจุความร้อนจำเพาะของน้ำอยู่ต่ำสุด. นั่นคือ เมื่อต้องการเพิ่มอุณหภูมิน้ำเหลวหนึ่งกิโลกรัม ให้ร้อนขึ้นหนึ่งองศาเซนติเกรด จะใช้พลังงานน้อยที่สุด.  เช่นนี้ช่วยประหยัดการสูญเสียพลังงานในร่างกายคนได้มาก และอธิบายว่า การดื่มน้ำที่มีอุณหภูมิใกล้เคียงกับอุณหภูมิของร่างกาย จึงดีกว่าดื่มน้ำเย็น. น้ำอุ่นๆซึมไปใช้ได้เลย ร่างกายไม่เสียพลังงานเพื่อเปลี่ยนอุณหภูมิน้ำเย็นที่ดื่ม ให้เท่าอุณหภูมิของร่างกาย.  ณอุณหภูมิต่างๆ น้ำยังมีสมบัติพิเศษอื่นๆ  นักวิทยาศาสตร์ผู้เข้าใจน้ำอย่างถ่องแท้ นำไปใช้เป็นประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆได้อย่างกว้างขวาง.[3]
      37°C  คือความร้อนต่ำสุดภายในโครงสร้างของน้ำ  หมายความว่าปริมาณความร้อนหรือความเย็นที่ทำให้อุณหภูมิภายในของน้ำเปลี่ยนไป อยู่ที่ 37°C.  นั่นคือน้ำมีความต้านสูงต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในสเกล(มาตราส่วน)ที่กว้างมาก.  อุณหภูมินี้ต่ำกว่าอุณหภูมิของเลือดที่หมุนเวียนภายในร่างกายคน(ที่มีสุขภาพดี)เพียงเล็กน้อยเท่านั้น. คุณสมบัติพิเศษสุดของน้ำนี้ ทำให้คนทนทานอากาศในอุณหภูมิสูงต่ำได้ ทั้งนี้เพราะเลือดคนมีน้ำประมาณ 90% [4]  ถ้าอุณหภูมิของเลือดในร่างกาย ต่ำกว่าอุณหภูมิของน้ำมาก ร่างกายเราจะเย็นลงและหรือร้อนจัดขึ้นอย่างรวดเร็ว. คนจะแข็ง(ตาย)เร็ว ในที่ที่อุณหภูมิต่ำมากเช่นขั้วโลก หรือสลายตัวแหลกลงในที่ที่อุณหภูมิสูงมากเช่นในทะเลทราย แต่เพราะว่าเลือดของเรามีน้ำประกอบเป็นสำคัญ คุณสมบัติด้านเคมีของน้ำ ช่วยสร้างความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศรอบตัวเรา. จุดเดือดของน้ำก็สูงกว่าจุดเดือดของของเหลวอื่นเกือบทุกชนิด นั่นคือต้องใช้ปริมาณพลังงานสูงมากเพื่อทำลายสายเชื่อมของอะตอมไฮโดรเจน หรือทำให้ไฮโดรเจนบางส่วนกลายเป็นไอ. เหมือนทะเลที่คอยปรับอุณหภูมิให้กับโลก ลดความแตกต่างระหว่างกลางวันกับกลางคืน น้ำในร่างกายก็ช่วยให้คนทนต่อการเปลี่ยนแปลงอากาศฉับพลันได้ในระดับหนึ่ง ที่ช่วยยืดชีวิตต่อไปได้อีกระยะหนึ่งในสภาพอากาศรุนแรง.
      แผ่นภูมิน้ำ ตัวอย่างโครงสร้างของโมเลกุลน้ำแบบต่างๆที่แปรเปลี่ยนไปกับพลังงาน (ความถี่) ที่ใช้ในการสังเกตโมเลกุลน้ำแต่ละขณะ.  ล่างสุดของภาพ ในความถี่ต่ำสุด โมเลกุลน้ำ เป็นลูกกลมเล็กๆ แต่ยังเห็นสองหูของมิกกี้เมาส์. โมเลกุลใหญ่ขึ้นๆ แยกออกซิเจนสีเขียวกับไฮโดรเจนสีม่วง(เพื่อความชัดเจน) และเชื่อมต่อกันด้วยพันธะไฮโดรเจน. โครงสร้างในความถี่สูง บนสุดของภาพ เหมือนใบ clover สี่กลีบ. แผนภูมินี้ เตือนให้ตระหนักว่า น้ำเป็นมวลสารและเป็นคลื่นด้วย.

น้ำมีความทรงจำ
       ดังที่ได้นำเสนอบทความเรื่องความทรงจำของน้ำ ที่เบ็นเวอนิสต์เป็นผู้ค้นพบและ Luc Montagnier ได้นำไปต่อยอด นักวิทยาศาสตร์อื่นๆในประเทศอื่นๆ ก็ได้ทดลองพิสูจน์และยืนยันว่า น้ำมีความทรงจำจริง. ย้อนกลับไปดูเรื่องนี้ได้ตามลิงค์นี้ >> https://blogchotiros.blogspot.com/2019/06/memory-frequencies.html
        เคยมีผู้ทดลองบันทึก “ความทรงจำดีๆ” ให้น้ำ เช่น Johann Grander ชาวออสเตรีย (1930-2011, ผู้คิดเทคนิคการกระตุ้นน้ำให้มีชีวิตชีวา เรียกพลังดั้งเดิมที่เคยมีในน้ำคืนมาได้ทดลองให้เห็นเช่นกันว่า  ถ้าให้น้ำที่มีสุขภาพไม่ดี (คือขาดพลังงานในตัว เหมือนเด็กขี้โรค ง่วงซึมผ่านเข้าไปอยู่ในแวดล้อมของหลอดแก้วที่บรรจุน้ำที่มีสุขภาพดี (คือเต็มไปด้วยพลังในตัวมัน เหมือนเด็กที่คล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง), คุณสมบัติดีๆของน้ำในหลอดแก้วจะถ่ายทอดไปสู่น้ำที่ไหลเวียนอยู่โดยรอบ. น้ำที่มีสุขภาพไม่ดีจะกลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่  จักเป็นน้ำที่ฟื้นฟูต่อวงจรชีวิตทั้งในคน สัตว์และพืช. ติดตามดูสารคดีเกี่ยวกับ The Waterman of Tirol คนนี้ได้ตามลิงค์นี้ >>

        น้ำสะอาดในโลกของเรานี้ เคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงไม่หยุดหย่อน สร้างตัวขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลา ด้วยการรับและถ่ายทอดก๊าซออกซิเจน ไนโตรเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ รวมทั้งแร่ธาตุเช่นแคลเซียม โปตัสเซียม แมงกานีส โซเดียมและเกลือแร่อื่นๆที่มันพบบนเส้นทาง. การเป็นตัวทำละลายเท่ากับว่า น้ำเป็นศูนย์รวมข้อมูลใหม่ๆ (ดังที่อธิบายข้างต้นไว้ว่า การทำละลายอะไร น้ำต้องเข้าถึงโครงสร้างของตัวที่มันจะทำละลาย เท่ากับมันรับรู้โครงสร้างใหม่ทุกครั้งที่มันไปสัมผัสสารใหม่น้ำจึงรู้ข้อมูลและถ่ายทอดต่อไปกับสิ่งที่มันสัมผัสอื่นๆ. น้ำจึงเป็นจุดนัดพบและจุดเปลี่ยนแปลงของมวลสารในโลก และในที่สุดน้ำเป็นผู้จัดระบบธรรมชาติของโลก. การวิเคราะห์น้ำ จึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับโลก ลึกลงไปถึงใต้พื้นได้ เมื่อเราดื่มน้ำใสบริสุทธิ์จากแหล่งน้ำในภูเขา เราจะได้รสของเกลือแร่ที่มาจากส่วนลึกภายในโลกที่สายน้ำนั้นไหลผ่าน จนออกมาสู่โลกภายนอก เท่ากับว่าเรากำลังดื่มพลังงานของน้ำที่สะสมอยู่ภายในโครงสร้างของน้ำนั้นมานานหลายพันหลายหมื่นปี.  น้ำใสสะอาดจากแหล่งน้ำธรรมชาติ จึงถือว่า เป็นน้ำที่เสริมสร้างพลังงานและช่วยฟื้นฟูระบบการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายที่ดีที่สุด.[5] 
         ยืนยันกันอีกว่า น้ำบริสุทธิ์มีโครงสร้างภายในแต่ละโมเลกุลเป็นสามมิติ ด้วยกระบวนการของพันธะไฮโดรเจน โครงสร้างแบบนี้จึงเอื้อต่อการเป็นพื้นที่รวบรวมข้อมูลข่าวสาร (information/data)  จากสภาพแวดล้อมและส่งต่อๆไปยังโมเลกุลน้ำทั่วทั้งร่าง. พูดในภาษาสามัญคือ น้ำมีความทรงจำ (ควอนตัมฟิสิกส์เจาะจงพื้นที่ความทรงจำของน้ำได้อย่างสิ้นสงสัยแล้ว ติดตามอ่านต่อไป ทั้งบทที่ ๕ และ ๖)

น้ำไม่ใช่อาหาร
          ดังที่คนมักเชื่อกัน เกลือแร่ในน้ำก็ไม่อาจแทนอาหารได้. ต้องสำนึกความจริงหลักที่แน่แท้ที่สุด คือ น้ำเป็นตัวขับสิ่งสกปรกหรือสิ่งแปลกปลอมที่ร่างกายย่อยไม่ได้ออก  ทำละลายสารที่ร่างกายไม่ต้องการและขับออกไป. วิทยาศาสตร์บอกให้รู้ว่า น้ำที่หมุนเวียนอยู่ในร่างกายคน จะถูกขับออกและน้ำใหม่ๆเข้าไปแทนที่ทั้งหมด ภายในสิบห้าถึงยี่สิบวัน เป็นกระบวนการแบบค่อยเป็นค่อยไปแต่ต่อเนื่อง. สรุปได้ว่า น้ำชำระล้างระบบอวัยวะต่างๆในร่างกายให้สดชื่น สะอาดและบริสุทธิ์ที่สุด. เกลือแร่ที่มากับน้ำเมื่อเข้าสู่ร่างกาย หากเป็นเกลือแร่ที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์ หรือสารโลหะหนัก สารอนินทรีย์ทั้งหลายฯลฯ  ร่างกายไม่อาจดูดซึมไปใช้ได้ จะขับออก (บางชนิดต้องใช้พลังงานมากเพื่อขับออก บางชนิดก็ขับไม่ออก สะสมกองอยู่ในร่างกาย กลายเป็นเนื้องอกแบบหนึ่ง).  เกลือแร่จากสารอินทรีย์ธรรมชาติเท่านั้น ที่ร่างกายย่อยและดูดซึมไปใช้ได้เลย.
          น้ำในร่างกายคน มีสมบัติเดียวกับน้ำในธรรมชาติ. น้ำจึงมีบทาทสำคัญในกระบวนการทำงานของร่างกาย เพื่อธำรงชีวิตที่สมดุลที่สุด  เฉกเช่นน้ำในโลกที่รักษาสมดุลของระบบนิเวศ ระบบภูมิอากาศของโลกไว้ รวมทั้งสุขอนามัยและชีวิตความเป็นอยู่ของคน. 
ภาพแสดงพัฒนาการของสิ่งมีชีวิต จากเมื่อ 4.5 ล้านๆปีก่อน ถึงเมื่อ 3.5 ล้านๆปีที่เกิดโครงสร้างอินทรีย์ขึ้นเป็นครั้งแรก จนถึงยุค Quaternary เมื่อราวหนึ่งล้านปีก่อน.  (ภาพจากเว็บเพจ naturolistique.fr // Pixabay, Public Domain. CC0, libre de droit)

๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๒



[1] นักเคมีชาวอังกฤษชื่อ Henry Cavendish (1731-1810) เป็นผู้ค้นพบองค์ประกอบของน้ำด้วยความบังเอิญ ขณะกำลังทดลองนำไฮโดรเจน ออกซิเจนมาผสมกันเพื่อทำระเบิด. ต่อมาในปี 1811 Amadeo Avogadro เป็นผู้คิดสูตร H2O และใช้กันเรื่อยมาจนทุกวันนี้.

[2] น้ำกรองระบบรีเวอส์ออซโมซิส มีความเป็นตัวนำไฟฟ้า ระหว่าง 30-50  µS/cm. (micro-siemens - µS/cm เป็นหน่วยวัดประสิทธิภาพของการเป็นตัวนำไฟฟ้าในสารเหลว.  เครื่องวัดเรียกว่า conductivity meter เช่นที่วิศวกรน้ำใช้วัดปริมาณสารอาหาร เกลือแร่ หรือสิ่งแปลกปลอมในสารละลาย สำหรับการบริหารจัดการน้ำ). 

[3] ศาสตราจารย์ Marc Henry ได้รวบรวมจากการวิจัยเรื่องน้ำในสถานะต่างๆ ณ
อุณหภูมิต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่า น้ำเป็นสารเหลวที่มีสมบัติเคมีผิดแปลกไปจากสารเหลวทุกชนิด ที่วิทยาศาสตร์คลาซสิกอธิบายไม่ได้ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น. 
สมัยเด็กๆเราเรียนแค่ว่าน้ำมีจุดเยือกแข็งที่ 0°C และมีจุดเดือดที่ 100°C.  การค้นพบใหม่ๆเกี่ยวกับสมบัติพิเศษของน้ำ ยังมีรายละเอียดอีกมาก ที่นักวิทยาศาสตร์ผู้เข้าใจน้ำอย่างถ่องแท้ นำไปใช้เป็นประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆได้อย่างกว้างขวาง. ความรู้ใหม่ๆเกี่ยวกับน้ำในอุณหภูมิต่างๆตามในภาพข้างบนเช่น
* อุณหภูมิ -42°C เป็นขีดต่ำสุดของน้ำในสถานะสารเหลว ทั้งๆที่เป็นอุณหภูมิที่ต่ำกว่าจุดเยือกแข็งของน้ำมาก  น้ำยังเป็นของเหลวได้  แต่หากมีอะไรนิดเดียวไปกระทบน้ำ มันจะแข็งตัวทันที. สภาพแบบนี้เรียกว่า surfusion ซึ่งอธิบายได้จากพลังของความตึงผิวณจุดเชื่อมต่อของแข็ง-ของเหลว.
(ข้อมูลภาพ : Evolution de la température lors de la solidification d'un corps pur : surfusion. Auteur : Christophe Dang Ngoc Chan (Cdang), réalisé avec un programme de dessin vectoriel. Licence GFDL Christophe Dang Ngoc Chan. CC BY-SA 3.0 , 27 April 2004).
เส้นลาดลงสีดำ แสดงอุณหภูมิน้ำที่ค่อยๆลดลง จนถึงอุณหภูมิที่ -42°C เกิดภาวะ surfusion รอยต่อที่น้ำเหลวจะแข็งตัว(เส้นราบสีดำ) จังหวะของเส้นแนวสีแดง เมื่ออุณหภูมิค่อยๆลดลงเรื่อยๆ และก่อนที่จะแข็งตัว (ต่อด้วยเส้นสีดำลาดลงที่คือการคายความเย็นของน้ำแข็ง) 
และในทางกลับกัน อุณหภูมิ 280°C เป็นขีดสูงสุดของน้ำในสถานะสารเหลว ทั้งๆที่อุณหภูมินี้สูงกว่าจุดเดือดของน้ำมาก น้ำยังเป็นของเหลวได้โดยไม่กลายเป็นไอ เรียกว่า overheating.
* ณอุณหภูมิ 0°C น้ำแข็งตัว เป็นผลึกหกเหลี่ยม
* ณอุณหภูมิ 4°C น้ำเหลวบรรลุความหนาแน่นสูงสุด
* ณอุณหภูมิ -13°C ความจุความร้อนจำเพาะของน้ำ (specific heat capacity of water) อยู่สูงสุด (คือในสภาวะเย็นจัดที่สุด) โดยยังคงรักษาปริมาตรเท่าเดิมไว้ได้. ณจุดนี้ หากต้องการทำให้น้ำหนึ่งกิโลกรัมมีอุณหภูมิสูงขึ้นหนึ่งองศา ต้องใช้พลังงานจำนวนมากที่สุด.
* ณอุณหภูมิ 37°C ความจุความร้อนจำเพาะของน้ำอยู่ต่ำสุด. ปกติน้ำมีค่าความจุความร้อนที่สูงมาก (4186 J/kg.K) ณอุณหภูมินี้ เมื่อต้องการเพิ่มอุณหภูมิน้ำเหลวหนึ่งกิโลกรัม หนึ่งองศาเซนติเกรด จะใช้พลังงานน้อยที่สุด.  37°C คืออุณหภูมิปกติของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่นกัน.
* อุณหภูมิ 46°C เป็นอุณหภูมิต่ำสุดของการเปลี่ยนปริมาตรของน้ำเหลวเนื่องจากความกดอากาศ (isothermal compressibility) ที่ไม่ส่งผลให้อุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแปลง. 
* อุณหภูมิ 64°C เป็นอุณหภูมิต่ำสุดการของเปลี่ยนปริมาตรของน้ำเหลวเนื่องจากความกดอากาศ ที่ไม่ทำให้น้ำสูญเสียหรือได้ความร้อน (adiabatic compressibility)

[4] เลือดเป็นเนื้อเยื่อชนิดเดียวในร่างกายที่เป็นสารเหลวและไหล จึงทำหน้าที่เป็นผู้รับและนำออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่ออื่นๆในร่างกาย นำสารอาหารที่ย่อยแล้วไปหล่อเลี้ยงร่างกาย  รวมทั้งทำหน้าที่กำจัดสิ่งที่ร่างกายไม่ต้องการ. เลือดมีความหนาแน่นกว่าน้ำในอุณหภูมิเดียวกัน4.5-5.5 เท่า.  มีรสออกเค็มและมีกลิ่นโลหะ เลือดทั้งหมดในร่างกายเราไหลเข้าสู่ไตทุก 5 นาที คราวละมากๆ (ประมาณ 1500 ลิตรต่อวัน และประมาณ 38 ล้านลิตรในชั่วชีวิตคนๆหนึ่ง).  60% ของเลือดประกอบด้วยเม็ดน้ำเหลืองหรือปลาซมา-plasma ซึ่งเป็นสารเหลวใสและสีออกเหลือง (90% ที่ประกอบเป็นปลาสมาคือน้ำ).  อีก40% ที่เหลือประกอบด้วยเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว กับเพล็ตเล็ต (platelets). เม็ดเลือดแดงไม่มีโครงสร้างภายใน ไม่มีแกนกลางเป็นตัวนำออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่ออื่นๆของร่างกายในร่างกายคนมีเม็ดเลือดแดงเฉลี่ยประมาณ 25-30 ล้านล้านเม็ด.  ผู้ชายมีมากกว่าผู้หญิงนิดหน่อย.ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงโดยเฉลี่ยวินาทีละ 2 ล้านเม็ด  ในขณะเดียวกันเม็ดเลือดแดงจำนวนเท่ากัน ก็ถูกตับกับม้าม(spleen)ทำลายลงเช่นกัน. เม็ดเลือดแดงที่แข็งแรงสมบูรณ์มีชีวิตได้นานเฉลี่ย 120 วันเม็ดเลือดแดงที่มีอายุมากวันกว่า จะมีโปรตีน (เรียกว่า hemoglobin ซึ่งมีสีออกแดงจึงทำให้เลือดมีสีแดงและมีธาตุเหล็กที่เสริมสร้างร่างกายมากกว่าเม็ดที่มีอายุน้อยวัน.  ในเม็ดเลือดแดงเพียงเม็ดเดียวมีโมเลกุลโปรตีนถึง 280 ล้านโมเลกุลโดยเฉลี่ยจะมีเม็ดเลือดขาวเพียง 1-2 เม็ดต่อจำนวนเม็ดเลือดแดง 1000 เม็ด. เม็ดเลือดขาวเป็นตัวต่อสู้กับเชื้อโรค สู้กับไวรัสหรือแบ็คทีเรียที่เล็ดลอดเข้าไปในร่างกาย. ในกรณีที่ร่างกายมีการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ ปฏิกิริยาของเม็ดเลือดขาวนี้ เป็นตัวชี้ขาดว่า ร่างกายรับอวัยวะใหม่นั้นได้หรือไม่. เซลล์ในเม็ดเลือดขาว (ที่เรียกว่า T-lymphocytes) มีบทบาทสำคัญมากในการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวคน ผู้ที่มีไม่เพียงพอ มีโอกาสติดเชื้อเอดส์-Aids ง่ายขึ้นเม็ดเลือดขาว มีชีวิตได้นานประมาณ 1 ปี. ส่วนเพล็ตเล็ต (platelets) เป็นเซลล์ที่เล็กที่สุดในเม็ดเลือดขนาดครึ่งหนึ่งของเม็ดเลือดแดง,  รูปร่างกลมไม่มีสีเพล็ตเท็ตเป็นเซลล์ที่ควบคุมการเกาะตัวการหยุดเลือดของบาดแผลและช่วยซ่อมกับฟื้นฟูเส้นโลหิตฝอยที่ถูกทำลาย. ร่างกายสร้างเม็ดเพล็ตเล็ตในเลือดเร็วกว่าสร้างเม็ดเลือดแดงเม็ดเพล็ตเล็ตมีอายุได้นานเพียง 10 วัน. (ประมาณกันว่าร่างกายคนมีเซลล์ระหว่าง 37.2 ล้านล้านเซลล์เซลล์แต่ละชนิดมีอายุของมันเมื่อมันตายลง พร้อมๆกันนั้นก็มีเซลล์แบบเดียวกันเกิดขึ้นใหม่.  เช่น เซลล์กระดูกมีอายุนาน 3 เดือนเซลล์ในลำไส้ใหญ่มีอายุ 4 วันในตับ 6 อาทิตย์ในกระเพาะ 5 วัน.  เซลล์ผิวหนังอยู่ได้นาน 1 เดือน และเซลล์ในน้ำอสุจิอยู่นานเพียง 3 วันชัดเจนที่สุดว่า ร่างกายคนตายและเกิดอยู่ตลอดเวลา.  สุดยอดของเซลล์ที่พิเศษเหนือเซลล์อื่นทั้งหมด คือ เซลล์สมองที่มีอายุได้มากกว่า 90 ปี นั่นคือชั่วอายุคนๆหนึ่ง อย่าลืมว่า ในเซลล์สมองมีน้ำเป็นองค์ประกอบอยู่  73%.

[5] นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าน้ำที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ที่สุด ยังคงมี “ความทรงจำ ของยุคน้ำแข็งที่มันเคยเป็นส่วนหนึ่งมาก่อน  และน้ำที่บริสุทธิ์ที่สุดที่พบในโลกเรานี้ เป็นน้ำจากยุคน้ำแข็งเมื่อหลายล้านปีก่อน (เชื่อกันว่าคือน้ำที่ชาว Hunzas ดื่มในแดนปากีสถานติดพรมแดนอัฟกานิสถาน. ประชาชนในแถบนี้มีอายุยืนและสุขภาพแข็งแรงมากแม้เมื่ออายุร้อยปีล่วงไปแล้ว ทั้งยังไม่ปรากฏว่าชนแถบนี้มีโรคภัยไข้เจ็บอะไรเลย. นักวิทยาศาสตร์ต่างสนใจศึกษากันมาก ทั้งในแง่ชีวิตความเป็นอยู่ อาหารการกินและระบบนิเวศเพื่อค้นหากุญแจแห่งสุขภาพที่ไม่รู้โรยรา!!!) 
      นักวิทยาศาสตร์บางคนเรียกน้ำกลั่นว่า เป็นน้ำที่อ่อนหัด” เพราะความบริสุทธิ์ของมัน นั่นคือมันไม่เคยมีประวัติ, ไม่มี “ความทรงจำ เกี่ยวกับสภาพที่มันเคยเป็นมาก่อนในยุคน้ำแข็ง, เมื่อมันอยู่ใต้บาดาล, หรือเมื่อมันแทรกซึมผ่านชั้นหินต่างๆบนโลก หรือเมื่อมันอยู่ในแสงแดดเป็นต้น. น้ำกลั่นไม่มีองค์ประกอบของ สิ่งเหล่านี้รวมกันเป็นปัจจัยและพลังพิเศษของน้ำ, ของ “สุขภาพน้ำที่แท้จริง. น้ำที่ดีที่สุด (หรือที่พอจะเรียกว่าเป็นน้ำอมฤทธิได้จึงเป็น น้ำที่มีอายุมากที่สุด เป็นน้ำที่มีประสบการณ์หลากหลายที่สุด เช่นน้ำล้านปีที่ซึมผ่านภูเขาน้ำแข็งออกมา. 
         นอกจากนี้มีผู้แนะนำด้วยว่า การช่วยน้ำให้มีสุขภาพดีก่อนการอุปโภคบริโภคนั้น  ยังอาจทำได้ด้วยการแผ่พลังจิตของเราไปสู่น้ำด้วยการสวดมนตร์ด้วยเสียงดนตรีด้วยแก้วผลึกรูปปิรามิดเป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้ไปกระตุ้นการสั่นสะเทือนภายในน้ำ.
          ยังมีการทดลองพิสูจน์ตลอดห้าสิบปีที่ผ่านมาว่า แม่เหล็กกับน้ำ สร้างสายสัมพันธ์ที่เป็นคุณยิ่ง เพราะอำนาจของแม่เหล็ก เข้าไปเปลี่ยนระบบโครงสร้างภายในน้ำ ทำให้น้ำพร้อมที่จะรับช่วงปฏิกิริยาเคมี ฟื้นฟูสรรพคุณดีๆของน้ำที่เคยมีในตัวมันออกมา. เช่นเอาน้ำไปตั้งใกล้แม่เหล็กขั้วลบ สารโลหะขั้วบวกที่ปนอยู่ในน้ำ จะถูกดูด ส่วนสารที่ไม่บริสุทธิ์อื่นๆจะตกตะกอนเป็นต้น.


No comments:

Post a Comment