Friday, March 26, 2021

Phone to the departed

https://www.youtube.com/watch?v=SqUYd0hcI_w

คลิปวีดีโอที่นำมาเสนอ จากรายการของช่อง Arte Découverte ชื่อเรื่องว่า Japon : tsunami, le téléphone du vent (ญี่ปุ่น : สึนามิ, โทรศัพท์กับสายลม). ออกอากาศเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2021.

โทรศัพท์ที่ตั้งชื่อในภาษาญี่ปุ่นว่า Kaze no Denwa โทรศัพท์(กับ)สายลม คือไม่เชื่อมต่อกับเครือข่ายโทรศัพท์ใด. อยู่ที่จังหวัด อิวาเตะ-Iwate ที่ถูกสึนามิถล่มราบเป็นหน้ากลองในปี 2011.

     เนื้อหาคร่าวๆของวีดีโอนี้คือ ชายชราคนหนึ่งที่กลับไปอาศัยณบ้านเกิดเขาที่นั่น เกิดความคิดติดตั้งตู้โทรศัพท์สวยงามที่มุมหนึ่งในสวนของเขาที่ตำบล โอ้ตซือจิ-Otsuchi. กว่าครึ่งหนึ่งของเมือง Otsuchi ที่เป็นเมืองชายฝั่งเล็กๆ ถูกคลื่นสึนามิกวาดไปราบเป็นหน้ากลอง, เป็นเมืองที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในหมู่เมืองชายฝั่งทะเล. ชาวบ้านกว่า 1300 คนเสียชีวิต ไม่พบศพอีกกว่าห้าร้อยคน.

      เกือบสิบปีหลังจากเหตุการณ์สึนามิ ชาวบ้านแถบนี้ ต้องอยู่ในที่พักชั่วคราวที่ทางการจัดให้. ทางการได้ช่วยชาวบ้านแต่ละครอบครัวราว 30,000 ยูโร (ประมาณหนึ่งล้านบาท) ซึ่งไม่เพียงพอนักสำหรับการสร้างบ้านหลังใหม่ ชาวบ้านต้องมีเงินออมส่วนตัวด้วย. สามปีหลังมานี่ ผู้คนที่เหลือของชุมชน กลับไปอยู่และพยายามฟื้นฟูชุมชนของพวกเขา ด้วยการสร้างบ้านบนเนินลึกเข้าไปจากฝั่งทะเล.

      ต่อสายกับวิญญาณ โทรศัพท์ลมติดตั้งไว้ที่สวนส่วนตัวของ Itaru Sasaki ในปี 2010 เมื่อลูกพี่ลูกน้องของเขาตายไปด้วยโรคมะเร็ง. หลังเหตุการณ์คลื่นสึนามิ ชาวบ้านได้ยินเรื่องโทรศัพท์ไร้สาย ต่อตรงกับสายลม, สนใจกันอย่างมาก. เรื่องนี้กลายเป็นประสบการณ์สาธารณะ. นอกจากเครื่องโทรศัพท์ที่ไม่ต่อติดกับเครือข่ายโทรศัพท์ของบริษัทใด เขาวางสมุดบันทึกเล่มเปล่าไว้ในตู้โทรศัพท์ด้วย พร้อมปากกา พร้อมให้คนเขียนระบายความในใจ.

     ตั้งแต่สึนามิ ชาวญี่ปุ่นที่สูญเสียญาติสนิทมิตรสหาย ไปใช้ตู้โทรศัพท์นี้ เพื่อพูดคุยกับคนจากไป. บางคนพูดไปร้องไห้ไป. บางคนเข้าไปอยู่เงียบๆ พูดอะไรไม่ออกเพราะความทุกข์ยังถาโถมหัวใจไม่ลืมเลือน. หลายครอบครัว ไม่พบศพของญาติพี่น้อง. ในญี่ปุ่น การแสดงความอ่อนแอในที่สาธารณะเป็นสิ่งไม่สมควร. ตู้โทรศัพท์ต่อตรงกับสายลม จึงกลายเป็นที่ระบายความทุกข์โศกส่วนตัว แต่ละคนไปพูดกับญาติหรือคนรักที่นั่น วันใดก็ได้ เปิดให้ใช้ทุกฤดูกาล. 

     « พอยกหูโทรศัพท์ ฉันควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ ฉันรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างที่อ่อนโยน ฉันรู้สึกเหมือนแม่ฉัน กำลังบอกฉันว่า อย่ากังวลไปเลย แม่เข้าใจลูกนะ »

     ผู้ชายคนหนึ่ง ไปที่ตู้โทรศัพท์นั้น เป็นครั้งที่สอง ครั้งแรกเมื่อสามปีก่อน แต่เขาไม่กล้าหมุนหมายเลข. เขาได้เสียภรรยา พ่อ น้องสาวและแม่ยายไปกับสึนามิ. เหลือเพียงลูกสาวที่รอดชีวิต. วันนี้เขาตัดสินใจไปที่ตู้โทรศัพท์เป็นครั้งที่สอง เพื่อบอกข่าวดีแก่ภรรยาว่า ลูกสาวแต่งงานแล้ว. « นี่เป็นบ้านของผม ผมสร้างบ้านหลังนี้ ขนาดใหญ่เกินไปสำหรับอยู่คนเดียว แต่ผมคิดจะสร้างให้เป็นที่พักสำหรับนักเดินทางที่จะผ่านเข้ามา เพื่อฟื้นคืนชีวิตให้หมู่บ้านเรา. ตอนนี้เพราะโรคระบาดโควิด จึงยังไม่มีคนมาพัก.»  เขาชี้ให้เห็นห้องส่วนตัวเล็กๆของเขาที่เขาบอกว่าพอเพียงสำหรับตัวเขาคนเดียว มีโต๊ะบูชาที่เขาตั้งรูปภาพของญาติที่เสียชีวิตไป. ในญี่ปุ่น คนตายคือวิญญาณที่ยังวนเวียนอยู่ในบ้านและแถวบ้าน ที่คนยังต้องรำลึกและให้เกียรติอยู่เสมอ. « ปกติผมไม่คิดว่าจะไปที่ตู้โทรศัพท์  ผมเป็นคนยึดข้อเท็จจริงและไม่เชื่ออะไรแบบนั้น. แต่ผมก็รู้สึกว่า การเข้าไปพูดคุยกับวิญญาณทางโทรศัพท์ ทำให้คนอยากเชื่อว่า บางทีอาจเกิดปาฏิหาริย์ขึ้น บางทีผมอาจได้ยินเสียงภรรยา แม้ว่าเธอจากไปแล้วสิบปี เธออาจยังมีชีวิตที่ไหนสักแห่ง วันหนึ่งจะกลับมา ผมยังไม่ทิ้งความหวัง.»

      « ฉันชอบพูดกับเขา ฉันรู้สึกว่าเขายังอยู่ใกล้ๆฉัน ฉันดีใจเหมือนได้พูดกับเขาโดยตรง. ฉันเป็นวิศวกรทางโทรคมนาคม เมื่อเรายกหูโทรศัพท์ จะมีคนพูดด้วยเสมอ...ฉันได้แต่หวัง. ฉันคิดว่าตู้โทรศัพท์นี้ สำคัญมาก มันช่วยให้คนคลายความเศร้าโศก จนก้าวข้ามความรุนแรงของอารมณ์ต่างๆลงไปได้ทีละนิดๆ.» 

     ฟูมิกะ-Fumika สูญเสียปู่ไป ตอนนั้นเธออายุ 11 ปี. ตั้งแต่เด็ก ปู่พาเธอออกทะเลไปจับปลาบ่อยๆ. ตอนนี้เธอศึกษาวิชาเกี่ยวกับอาชีพทางทะเล และออกทะเลไปกับพ่อบางสุดสัปดาห์. « จิตใจฉันคึกคัก มีชีวิตชีวาทันทีที่ได้ยินเสียงคลื่น ได้กลิ่นทะเล.»  เธอหวังจะอนุรักษ์วิถีชีวิตกับการประมงต่อไปและฟื้นฟูอาชีพเกี่ยวกับทะเล ที่ชาวญี่ปุ่นเคยทำกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่สึนามิปี 2011 ได้ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก. ชาวประมงสูญเสียชีวิตไป และเรือประมงอีกจำนวนมากก็ถูกคลื่นถล่มแหลกไปในกระแสน้ำ. ชาวประมงที่รอดตายมาได้ ก็แก่เกินจะสู้ต่อ ได้หันไปหางานอื่นทำ. ในครอบครัวของฟูมิกะ สมาชิกที่เหลือพยายามไม่พูดถึงเรื่องสึนามิ พยายามไม่ขุดความรู้สึกสูญเสียขึ้นมา. ทุกคนรู้ว่าฟูมิกะไปที่ตู้โทรศัพท์, ตัวแม่ไม่ไป บอกว่าคงพูดอะไรไม่ออก เธอเลือกจะเก็บความรู้สึกไว้กับตัวเธอเอง. การระบายความรู้สึกกับคนใกล้ชิดหรือกับเพื่อน มันก็ทำไม่ได้ เท่ากับไปกระทบความรู้สึกของผู้รับฟังด้วย ในเมื่อทุกคนพบความสูญเสียเหมือนๆกัน.

      Itaru Sasaki เจ้าของและผู้ติดตั้งตู้โทรศัพท์ เปิดสมุดอ่านข้อความที่คนเขียนไว้. เขาเปลี่ยนสมุดบันทึกเล่มใหม่หกครั้งแล้ว เพราะเต็มทุกหน้าหกเล่มแล้ว. « ทุกคนรู้ว่าผมเป็นเจ้าของตู้โทรศัพท์ เป็นผู้ติดตั้งเพื่อสาธารณชน ให้เป็นพื้นที่อุทิศแก่ผู้จากไป. หลายครั้งผมคิดว่า ผมน่าจะอยู่ฟังพวกเขาโดยตรง อาจปลอบใจกันได้บ้าง. แต่ผมก็เชื่อว่า ปล่อยให้แต่ละคนมีเวลาส่วนตัวเงียบๆ ไม่มีใครรบกวน ก็น่าจะดีเช่นกัน.»  บางครั้ง Itaru Sasaki พบผู้ที่มาใช้ตู้โทรศัพท์ ได้สนทนากันบ้าง เช่นคู่สามีภรรยาคู่หนึ่ง ที่สูญเสียลูกสาวไปในเหตุการณ์สึนามิและยังไม่อาจลบความเศร้าโศกไปจากจิตใจได้.

      ในโทรทัศน์เริ่มพูดถึงวาระครบรอบสิบปีเหตุการณ์สึนามิปี 2011 สำหรับครอบครัวในชุมชนนี้ มันไม่มีความหมายอะไร. ปกติเมื่อสมาชิกในครอบครัวจากไปเพราะโรคภัยไข้เจ็บ ครอบครัวมีเวลาเตรียมใจและมีโอกาสได้ร่ำลากัน แต่การตายจากอุบัติเหตุ สึนามิ การฆ่าตัวตาย สมาชิกครอบครัวไม่มีโอกาสได้ร่ำลา คนที่อยู่จึงยิ่งโศกเศร้าพร่ำรำพัน. « ผมเพียงแต่ต้องการหาวิธีให้ผู้มีความทุกข์ได้พบวิธีเยียวยาด้วยตัวเอง ก้าวข้ามทุกขเวทนาและเพื่อก้าวต่อไปในชีวิต.»  ในญี่ปุ่น ผู้คนไม่กล้าแสดงความอ่อนแอในที่สาธารณะ. จิตวิทยาและจิตเวชศาสตร์ ยังไม่ได้เป็นทางออกเพื่อบรรเทาทุกข์ของปวงชนชาวญี่ปุ่น. เขาหวังให้แต่ละคน มีโอกาสระบายความทุกข์กับสายลม.

     หนึ่งปีมาแล้ว ทางการญี่ปุ่นได้แปลงความกลัวทะเล ออกมาในรูปของกำแพงคอนกรีต เพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านตลอดชายฝั่งทะเล ยืนยันว่าทะเลจะไม่อาจทำร้ายพวกเขาได้อีกต่อไป. ดังนั้น กำแพงทึบยาวเหยียด โผล่ขึ้น ปิดกั้นทะเลจากสายตาของชาวบ้านอย่างสิ้นเชิง. หลายคนเรียกว่า นั่นคือ “กำแพงใหญ่ญี่ปุ่น” เป็นโครงการขนาดยักษ์ของญี่ปุ่น ที่จะปกป้องหมู่บ้านตลอดชายฝั่งทะเล (ญี่ปุ่นยังจะสร้างกำแพงกั้นสึนามิต่อไปเพื่อปกป้องชายฝั่งทะเล แต่อาจปรับเปลี่ยนเทคนิคการก่อสร้าง เช่นสร้างเป็นกำแพงใต้น้ำทะเล ที่ในยามเกิดภัยพิบัติ จะกดเลื่อนกำแพงโผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำได้. เท่าที่ได้ยินมา ไม่ทราบว่า ทำอย่างนั้นแล้วหรือยัง).

     กำแพงตรงนั้น ยาวประมาณ 400 กิโลเมตร เป็นเกราะปกป้องชายฝั่งทะเลทิศเหนือของเกาะฮอนชู. ใช้งบประมาณราว 11 ล้านล้านยูโร (ประมาณ 5 ร้อยล้านล้านบาท) กำแพงสูงประมาณ 15 เมตร มีทางเดินบนกำแพง เหมือนเขื่อนกั้นน้ำขนาดยักษ์.

     โทรศัพท์ไร้สายต่อตรงกับสายลม เป็นการเริ่มต้นของชาวบ้าน, กำแพงทะเลเป็นการริเริ่มในระดับประเทศ. วันเวลาค่อยๆสลายความกลัวลงไปบ้างแล้ว. มีนักข่าวที่ย้ายเข้าไปอยู่ในพื้นที่แถบนั้น และติดตามเก็บข้อคิดเห็นของชุมชนแถบชายฝั่ง. เธอบอกว่า คนส่วนใหญ่คิดว่า รัฐบาลจัดการสร้างกำแพงปิดกั้นทะเลจากพื้นที่ชายฝั่ง เร็วเกินไป. น่าจะมีการถามความคิดเห็นของชุมชนแถบชายฝั่งให้ทั่วถึงก่อน เพราะทะเลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของพวกเขา. เดี๋ยวนี้พวกเขามองไม่เห็นทะเลอีกแล้ว มันเป็นการตัดขาด เหมือนตัดหัวจิตหัวใจของชาวทะเล. พวกเขาไม่กล่าวร้ายทะเล มันไม่ใช่ความผิดของทะเล.

      ในที่สุดชาวเมืองนี้ เห็นพ้องต้องกันว่า พวกเขาไม่ต้องการให้ทางการสร้างกำแพงปิดกั้นหมู่บ้าน Otsuchi จากทะเล, ยืนยันว่า นี่ไม่ใช่ความผิดของทะเล ทะเลเองก็ตกเป็นเหยื่อ. ในบริบทนี้ ชาวเมืองนี้จึงกลับมาอยู่ที่นั่นอีกและร่วมใจกันสร้างฟื้นฟูชุมชนที่นั่น. เรื่องนี้สร้างความแปลกใจให้แก่หมู่บ้านชายทะเลอื่นๆ และแพร่สะบัดไปทั่วประเทศ. ปรากฏว่า มีผู้คนจากทุกทิศมาใช้โทรศัพท์สายลมมากขึ้นอีก. โรคระบาดโควิดสิบเก้า ยังมากระหน่ำความสูญเสีย. จึงมีผู้มาระบายความรู้สึกเกี่ยวกับผู้จากไปเพราะโควิด19ด้วย. 

      ฝ่ายรัฐบาลตั้งหมายกำหนด ว่าภายในสิบปีจะฟื้นฟูดินแดนแถบนี้และปิดบันทึกภัยพิบัติฉากนี้ลงอย่างถาวร. สองปีมาแล้ว มีถนนทางด่วนสร้างขึ้นเชื่อมหมู่บ้านและเมืองชายฝั่งแถวนั้น ทางด่วนสายนี้ผ่านไม่ไกลจากสวนที่ตั้งของโทรศัพท์สายลม รถยนต์วิ่งผ่านไปมา เหมือนเวลาที่ผ่านไปวันๆ คลุมบาดแผลจากเหตุการณ์สึนามิปี 2011. ตู้โทรศัพท์นั้นยังคงตั้งตรงนั้น เสนอเป็นทางออกของการสมานแผลเก่าๆของชุมชน.

ผู้คนยึดติดกับความผูกพันเสมอมาและยังจะเป็นเช่นนี้อีกชั่วกาลนาน. ความรู้สึกที่เคยมีจากอดีต ผูกและพันเขาไว้ทั้งกายและโดยเฉพาะใจ ที่กาลเวลามิอาจทำลาย บวกความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้พบกับบุคคลที่รักที่จากไป. เป็นที่มาของกวีนิพนธ์ บทเขียน บันทึกความทรงจำที่สะเทือนอารมณ์ ในวรรณกรรมของชนหลายชาติหลายภาษา.

น่าคิดว่า ถึงเวลาเผชิญความจริงอันหฤโหดในชีวิต ปรัชญาเซน ยังมิอาจช่วยผ่อนคลายความทุกข์ของชาวญี่ปุ่นได้มากนัก.

จะหักอื่นขืนหักก็จักได้   หักอาลัยนี้ไม่หลุดสุดจะหัก   สารพัดตัดขาดประหลาดนัก  แต่ตัดรักนี้ไม่ขาดประหลาดใจ  (สุนทรภู่ นิราศอิเหนา)

เขียนไปๆ นึกถึงเพลง Danny Boy ที่กินใจชาวตะวันตกและตะวันออกมาทุกรุ่น สรุปการคร่ำครวญอาลัยอาวรณ์ของผู้ที่ยังอยู่ และความหวังกับการรอคอยของผู้ที่จากไปก่อน... เหมือนเพลงครวญไว้ทุกข์. บ้างกล่าวว่า เป็นความรู้สึกของพ่อต่อลูกชายที่จากไปสนามรบหรือจากบ้านเกิดไปสู่โลกกว้าง (cf. Irish diaspora ดูเชิงอรรถท้ายบท). บ้างเน้นว่า ดนตรีเข้าถึงจิตใจคนฟัง มีพลังอำนาจเหนือกว่าปรัชญาใด ประวัติศาสตร์ตอนใดหรือบทเทศน์บทใด จนอาจกลายเป็นเพลงปลุกใจในยามวิกฤติ นำสู่การยอมจำนนต่อเหตุการณ์ที่อยู่นอกอำนาจคน (stoicism). 

ธรรมชาติของไอร์แลนด์ ดังที่ได้ไปเห็นมา หรือในภาพนี้ มีอะไรที่บีบหัวใจ นอกเหตุเหนือผล. เครดิตภาพจากเว็บนี้ https://www.wrti.org/post/mysteries-behind-beloved-irish-ballad-danny-boy

ฟังเพลง Danny Boy เวอชั่นดั้งเดิมของ Mike O’Laughlin. มีข้อความระบุว่า « This famous Irish tune is in the public domain, being well over 100 yrs. old. This particular vocal sound recording is copyrighted by Michael C. O'Laughlin, vocalist… From the Irish Roots Cafe, Mike O'Laughlin sings this favorite song that ties so many generations together. It is an outstanding tune in and of itself. More than a song, it is a reminder of friends, family, and the times that have gone before us. The song itself descends from Londonderry Aire (Derry Aire ) a traditional Irish tune. These words were later penned circa 1910 and published in sheet music to that tune in 1913 by Frederick Weatherly. 

This video was recorded, produced and sung by Mike O'Laughlin, in Kansas City. (Produced on a Macintosh computer via garage band and iMovie.). This version was made in preparation for the album: 'Irish Song, Traditional and Sean Nós', released in 2013.»

เลือกเวอชั่นดั้งเดิมมาเสนอณที่นี้ ตามลิงค์ไป >>

https://www.youtube.com/watch?v=9y0sdLL-lTs

Lyrics below: Danny Boy

Oh Danny Boy, the pipes, the pipes are calling

From glen to glen, and down the mountainside.

The summer's gone, and all the flowers are dying

'Tis you, 'tis you- must go, and I must bide.

But come ye -back- when summer's in the meadow,

Or when the -valley's- hushed, and white with snow,

Tis I'll be - here - in sunshine or in shadow.

Oh Danny Boy, Oh Danny Boy, I love you so.

 

But when ye come and all the flow'rs are dying

If I am dead, as dead I well may be,

Ye'll come and find, the place where I am lying,

And kneel and say, an Ave there for me.

And I shall -hear-, though soft, your tread above me,

And then my -grave-, will warmer, sweeter be,

For you will -- bend-- and tell me, that you love me,

And I shall sleep, in peace, until, you come, to me.

--------------------------------

Irish Diaspora >>

ความขัดแย้งทางศาสนา ไร้อิสรภาพในการปกครองตนเองและสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ ผลักดันให้ชาวไอริชย้ายถิ่นฐานออกนอกประเทศไอร์แลนด์, พวกเขามักถูกเรียกว่าเป็น Scotch-Irish.

การย้ายถิ่นฐานของชาวไอริส เป็นหนึ่งของกระบวนการย้ายถิ่นที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์โลก. ประเทศไอร์แลนด์เองมีประชากรน้อยมากเพียง 4.8 ล้านคน. ปัจจัยความถดถอยทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการย้ายออกจากไอร์แลนด์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18. ทวีปอเมริกาเหนือและโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญ. ชาวอเมริกัน 36 ล้านคน อ้างว่าเป็นเชื้อสายของชาวไอริช (ตัวเลขนี้ยากที่จะตรวจสอบ). รู้กันแน่นอนว่า มีชาวไอริชราว 5 ล้านคน ได้จากไอร์แลนด์ไปยังสหรัฐอเมริกา ในกลางศตวรรษที่ 19. ชาวไอริชจำนวนมากในยุคเดียวกัน ก็เข้าไปตั้งถิ่นฐานในสหราชอาณาจักร, แคนาดา, ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์.

การย้ายถิ่นฐานของชาวไอริช มีสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่ง คือความอดอยากที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ 1840 (the Great Famine of the 1840s). นั่นคือ ระหว่างปี 1841-1851 การย้ายถิ่นฐานและการตายเพราะความอดอยากในไอร์แลนด์ รวมเป็นจำนวนสองล้านคน ที่ลดหายไปจากประชากรของประเทศ.  ผลผลิตมันฝรั่งของไอร์แลนด์ที่เป็นแหล่งอาหารและที่มาของรายได้สำคัญของประเทศ ถูกกระทบอย่างจัง ไอร์แลนด์ถึงจุดหายนะ. ความอดอยากครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ มีผลกระทบต่อสวัสดิภาพในไอร์แลนด์อย่างยิ่งยวด.

สหราชอาณาจักร ต้องการแรงงานจำนวนมาก ที่กระตุ้นให้ชาวไอริชย้ายไปรับงานในสหราชอาณาจักร ในศตวรรษที่ 19 ต่อมาถึงศตวรรษที่ 20.  ระหว่างศตวรรษที่ 18 ก่อนยุคอดอยากครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกาเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของชาวไอริช เพราะรู้ว่าที่นั่นพวกเขาอาจเป็นเจ้าของที่ดินทำกินได้ ตามนโยบายบุกเบิกสร้างบ้านแปงเมืองของสหรัฐอเมริกา. ที่นั่นพวกเขายังมีเสรีภาพในการนับถือศาสนามากกว่าอีกด้วย. ชาวไอริสจำนวนมากเป็นผู้มีการศึกษาสูงและเป็นช่างฝีมือที่ชำนาญ. เชื่อกันว่า ชาวไอริชมากกว่า 250,000 คนเข้าไปตั้งรกรากในสหรัฐฯ. ส่วนใหญ่นับถือศาสนาโปรเตสแตนต์ เป็นชุมชนกลุ่มน้อยในไอร์แลนด์, ยังมีชนกลุ่มน้อยที่เป็นคาทอลิกที่ไปตั้งรกรากในมลรัฐแมรีแลนด์และเพนซิลเวเนีย.  ชุมชนโปรเตสแตนต์กับคาทอลิก แยกกันไปอยู่ในส่วนต่างๆของประเทศ ไม่ปะปนกัน. สหรัฐฯยุคนั้น  ต้องการแรงงานโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมขุดคลองและการตัดไม้ซุง. ผู้ตั้งรกรากชาวไอริชรุ่นนั้นออกไปอยู่ในชุมชนต่างจังหวัด ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและอาชีพของพวกเขา, ชาวไอริชเป็นกำลังสำคัญในการก่อสร้างและการสถาปนาเมือง Kansas City. ส่วนกลุ่มที่ย้ายเข้าไปในสหรัฐฯในยุคที่เกิดความอดอยากในไอร์แลนด์นั้น เลือกไปตั้งรกรากในตัวเมืองใหญ่ๆ บนฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯเช่น นิวยอร์ค, บอสตัน, ฟิลาเดลเฟีย, พิตสเบอร์กและบัลติมอร์ ที่กลายเป็นศูนย์รวมศูนย์ใหญ่ของชาวไอริช. ประชากรชาวไอริช ยังคงเป็นชาติพันธุ์ ที่มีความหมายสำคัญสำหรับประเทศสหรัฐฯในปัจจุบัน, วัฒนธรรมของชาวไอริชได้ฝังเป็นรอยถาวรในวัฒนธรรมสหรัฐฯโดยรวม.

การย้ายไปตั้งถิ่นฐานในประเทศอื่นของชาวไอริช มีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศที่ชาวไอริชเข้าไปอาศัยและทำมาหากิน. พวกเขาทำงานหนักและพยายามเข้ากับชนชาติเจ้าของประเทศ สร้างเครดิตให้กับพวกเขาเองและไม่ว่าอยู่ที่ใดในโลก. ชาวไอริชไม่เคยลดละที่จะยืนหยัดความสำคัญของ « การเป็นชาวไอริช ».

อ่านรายละเอียดต่อไปได้ในเว็บเพจนี้ >> https://www.pilotguides.com/study-guides/the-irish-diaspora/

โชติรส รายงาน

๒๖ มีนาคม ๒๕๖๔. 

Saturday, March 20, 2021

Kitakami Special

Let your heart soar…

สำหรับผู้สนใจเดินเล่นใต้ร่มไม้ ตามแนวต้นซากุระ หรือนั่งจิบเบียร์กับเครื่องแกล้มหรือของขบเคี้ยว หรือนั่งเหม่อมองเพลินๆ ดูกิจกรรมของผู้คน หรือพาลูกหลานไปวิ่งเล่น, สถานที่น่าไปมากในความเห็นของข้าพเจ้าคือ สองฝั่งแม่น้ำที่ไหลผ่านเมือง Kitakami จังหวัด Iwate 岩手. เมืองนี้อยู่ใกล้เมือง Morioka และเมือง Sendai   เดี๋ยวนี้มีรถไฟความเร็วสูงขบวนที่แวะจอดที่เมือง Kitakami นี้. สถานีนี้สะดวกแก่การขึ้นลง มีบันไดเลื่อนและลิฟต์บริการ. เมื่อออกจากสถานี ตรงหน้าสถานีไปทางขวา เห็น Comfort Inn และเยื้องไปทางซ้ายมือมี Toyoko Inn และ Mets Hotel จึงสะดวกสำหรับผู้ที่คิดจะพักที่เมืองนี้. แต่ผู้คนส่วนใหญ่ มักไปแวะเที่ยวเท่านั้นหรือค้างเพียงคืนเดียว. เดินตรงไปบนถนนตรงหน้าสถานีรถไฟเลย ขึ้นไปหนึ่งบล็อกสองบล็อกเล็ก แล้วเลี้ยวซ้าย จะเป็นการเดินเลียบฝั่งแม่น้ำ Kitakami เลย ผ่านหลังบ้านของผู้คนที่โชคดีที่มีบ้านตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำ. บ้านเป็นหลังๆ ท่าทางภูมิฐานของผู้มีอันจะกิน จัดได้ว่าป็นเศรษฐีเลยทีเดียว. เดินมุ่งหน้าไปทางสะพานที่เห็นอยู่ไม่ไกลนัก. ระหว่างทางเดินนี้ ได้ชมสวนส่วนตัวและต้นไม้ดอกสวยงามของบ้านแถวนั้นด้วย โดยเฉพาะในเวลานั้น ดอก camellia ยังบานงดงามอิ่มอวบชวนชม หรือได้เห็นดอกบ้วย ที่เห็นวันนั้นสีแดงก่ำทีเดียว โดดเด่นมีเอกลักษณ์ที่ต่างจากดอกซากุระ.

     เมื่อเดินข้ามสะพานไปฝั่งตรงข้าม พื้นที่ตั้งแต่ใต้สะพานไปเป็นแนวยาวตลอดฝั่งแม่น้ำ Kitakami คือสวนทั้งหมด รวมกันเป็นอุทยานขนาดใหญ่ เรียกว่า Tenshochi 展勝. มีต้นซากุระปลูกเป็นแนวยาวริมฝั่งแม่น้ำราวหมื่นต้น.   เป็นต้นที่มีอายุมากกว่า ๙๐ ปีแล้ว(ว่างั้น) หมายความว่า สวนนี้ไม่ได้บริหารจัดการขึ้นเพื่อเป็นแหล่งนักท่องเที่ยวแห่งใหม่ แต่มีมานานแล้วนั่นเอง. ความงามตามธรรมชาติทำให้ขึ้นชื่อว่าเป็นจุดชมซากุระที่สำคัญหนึ่งในสามแห่งของภาคเหนือของเกาะฮอนชู และเป็นหนึ่งในร้อยแห่งที่ทางการจัดให้เป็นสถานที่ชมซากุระของประเทศญี่ปุ่น.


เนื่องจากใกล้เทศกาลวันเด็ก(ผู้ชาย)แห่งชาติของญี่ปุ่น (5 พฤษภาคมของทุกปี) จึงมีการจัดสายรุ้งประดับด้วยปลา ที่เขาเจาะจงเป็นภาษาอังกฤษว่า carp streamers (แต่เดิมเป็นรูปปลาคาร์ปเป็นสำคัญ แต่ต่อมาเพิ่มปลารูปลักษณ์อื่นๆเข้าไปด้วย) เนื่องจากเป็นการประดับเพื่อชุมชนทั้งหมู่บ้าน จึงจัดให้ห้อยปลิวไสวไปมาเหนือแม่น้ำ Kitakami เชื่อมสองฝั่งแม่น้ำ. ถ้าเป็นการประดับส่วนตัวของแต่ละบ้าน ก็มักทำเป็นธงปลาคาร์ป โดยให้มีจำนวนปลาคาร์ปเท่าจำนวนลูกชายของบ้านนั้น. ตัวบนสุดมักเป็นปลาหมึกหางยาวๆ อาจเพื่อความสุนทรีย์เพราะหางยาวของปลาหมึกพริ้วลู่ลมดี. เมื่อหลานข้าพเจ้าถามว่า แล้วลูกผู้หญิงเขาไม่ห้อยปลาอะไรเลยหรือ?  ข้าพเจ้าก็ตอบไปทันควันว่าคือปลาหมึกไง. คนญี่ปุ่นคงไม่คิดอย่างนั้น ข้าพเจ้ามาคิดๆดู เห็นว่าสอดคล้องกับค่านิยมที่ชาวโลกมีต่อเพศหญิง ในทำนองของการเป็นสิ่งผูกรัดมัดตรึงให้อยู่กับที่อย่างมั่นคง. คิดดูละกัน หากไม่มีสิ่งผูกมัด ตรึงความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว วันหนึ่งสาแหรกก็อาจขาดลงฯลฯ. การใช้ปลาคาร์ป นอกจากรูปร่างที่อาจโตเป็นปลาตัวใหญ่ๆได้ สีสันสวยงาม อายุยืนและความปราดเปรียวคล่องตัวของปลา ปลาคาร์ปอยู่ได้ในน่านน้ำที่สะอาดเพียงพอเท่านั้น. ทั้งหมดรวมกันเป็นนัยความหวังของพ่อแม่สำหรับลูกชายแต่ละคน เพื่อความสำเร็จในชีวิต. ควบคู่กับการประดับธงปลาคาร์ป ยังมีการจัดตั้งแบบจำลองเล็กๆ เป็นขนาดตุ๊กตาซามูไร สวมเกราะนักรบ เช่นเดียวกัน สื่อความหมายของพลังอำนาจและความสำเร็จในชีวิต. (ญี่ปุ่นมีวันเด็กผู้หญิงด้วยคือวันที่ ๓ มีนาคมของทุกปี). ที่แม่น้ำ Kitakami มีท่าเรือและบริการนำชมแม่น้ำทางเรือ อีกทั้งมีรถม้าลากให้นั่งชมสวนไปตลอดแนวฝั่งแม่น้ำ.

ดูภาพตัวอย่าง สรุปการเดินเล่นใต้ต้นซากุระที่สวน Tenshochi เมือง Kitakami. เวลาที่เหมาะกับการไปเยือนเพื่อชมซากุระนั้น คือปลายเดือนเมษายนไม่ผิดหวังแน่นอน



บนฝั่งที่กำลังเดินไปนี้ มีบ้านส่วนตัวเป็นหลังๆ ทำสวนครัว สวนส่วนตัว. รวมทั้งเป็นที่ตั้งของวัด มีสุสานของชุมชนบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไป อาจยังวนเวียนอยู่ในบริเวณอันสงบนี้ เพราะเปรียบได้กับสวรรค์น้อยๆแห่งหนึ่งเหมือนกัน คอยสอดส่องดูแลลูกๆหลานๆของพวกเขา.
สุสานของชุมชน ก่อนข้ามสะพาน

เดินข้ามสะพาน เห็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่เคยขาดคือห้องสุขา ที่สะอาดไร้กลิ่น มีผู้คอยทำความสะอาดทั้งวัน. อาคารที่เห็นใต้ร่มไม้ซากุระคือห้องสุขา ตรงหน้าเป็นพื้นที่เล่น เป็นสนามกีฬาหรือออกกำลังกาย. รอบบริเวณห้องสุขามีที่นั่ง น้ำพุบริการน้ำดื่ม ยืนยันความสะอาด ไร้กลิ่นทั้งบริเวณใกล้และไกล.

เมื่อลงจากสะพาน เห็นพื้นที่เดินเล่นกว้าง เลียบฝั่งแม่น้ำที่ทำไว้อย่างสะดวก สะอาดและสงบร่มรื่น. 

กลีบดอกซากุระ ร่วงลงมากแล้ว ปลิวว่อนในสายลม, แต่ยังมีดอกเต็มทุกต้น.

ดอก daffodils ก็กำลังบานสะพรั่งเหมือนกัน. เป็นพื้นที่ชวนให้นั่งพัก นั่งทานอาหาร นั่งคุยกันได้อย่างสุขสบายใจ


หรือนั่งปล่อยอารมณ์ พริ้วลอยลู่ไปตามสายลม




เมื่อมีเทศกาลชมดอกไม้ ก็เป็นโอกาสให้ออกร้านขายอาหาร เครื่องดื่มหรือของขบเคี้ยว ที่ชุมชนแถวนั้นรวมกันจัดบริการผู้มาชมสวนเขาจัดตั้งเป็นเต็นต์อย่างเป็นระเบียบ เป็นส่วนเป็นสัด ภายในมีเก้าอี้ให้นั่งบ้างตัวสองตัว, ส่วนใหญ่คนซื้อนำไปนั่งบริโภคใต้ต้นไม้ ในสนามฯลฯ

หลังเต็นต์ก็เป็นระเบียบเช่นกัน. จากเขตแนวสวนนี้ไปทางซ้าย เป็นทุ่งทำนาทำสวน แล้วแต่เจ้าของจะจัดการ.

ตรงบริเวณต้นทางเดินเล่นในสวน มีประติมากรรมดอกซากุห้ากลีบ, ยืนยันอัตลักษณ์ของพื้นที่สำหรับซากุระโดยเฉพาะ

โชติรส รายงาน ณ วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐.

Precious countryside

สถานที่สงบในชุมชนเล็กๆแห่งหนึ่ง ที่มีสวนสาธารณะขนาดพอเหมาะสำหรับเป็น ท้องสนามราษฎร์ ของทุกคนในหมู่บ้านนั้น โดยเฉพาะยามเมื่อดอกเชอรี่บาน มีกิจกรรมร่วมกัน แข่งกีฬา ทานอาหารร่วมกัน กระชับสัมพันธไมตรีในชุมชนที่โชคดีมากแห่งนี้.

ดังภาพที่ไปถ่ายมาให้ชมว่า การฉลองการมาของฤดูใบไม้ผลิ ไม่ต้องไปไกลเลย แนวพื้นที่ที่ทอดยาวไปตามลำธารมีต้นซากุระมากเพียงพอให้ทุกคนจับจองนั่งพักได้สบายๆ  ไม่เหมือนสถานลือนามตามเมืองใหญ่ที่คนไปแทบไม่มีที่นั่งส่วนตัวเลย ทำให้ไม่เกิดความประทับใจที่ยั่งยืนหรือลุ่มลึก.

ชุมชนเล็กนี้  ปีนี้ซากุระบานสัปดาห์ตั้งแต่วันที่ยี่สิบสองยี่สิบสามเมษายน (แถบนี้อยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซากุระบานช้ากว่าในภาคใต้). ไปมาได้ง่าย นั่งรถไฟจากเมือง Akita 秋田 หรือเมือง Kakudate  (เมืองเก่าสมัยซามูไร วิลลาที่ยังยืนยงจากยุคนั้น ได้รับการอนุรักษ์มาอย่างดีและเปิดให้เข้าชมด้วย. ต้นไม้สูงใหญ่ โดดเด่นมากในชุมชนซามูไรเดิมแห่งนี้  ต้นไม้สูงอายุทั้งนั้น หลายพันธุ์หลายประเภท.  สำหรับข้าพเจ้า ที่นั่นฤดูใบไม้ร่วงสวยงามมากกว่าฤดูชมซากุระเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือที่เรียกว่า Tohoku 東).

 

ส่วนสวนซากุระที่อยากพาไปชมนั้น ไม่ขึ้นชื่อลือนามแต่มีเสน่ห์ยิ่งนักแล นั่งรถไฟไปลงที่สถานี Araya 新屋.  ออกจากสถานี เดินไปทางซ้ายมือ ตามแนวต้นซากุระไปเรื่อยๆ ห้าหรือสิบนาที บนเส้นทางซากุระยิ่งงาม ยิ่งแน่น. ดอกกระจายแผ่เต็มบนท้องฟ้าสีใสและไร้เมฆในวันที่ข้าพเจ้าไป. เชิญเดินตามไปได้เลยค่ะจากรูปภาพที่นำมาลงเป็นตัวอย่าง

 

ที่อยู่ทางการมีดังนี้
010-1623 秋田県 秋田市小川町 新屋 

010-1623 Akita, Akita-shi, Ogawamachi, Araya Station.

  

สถานีรถไฟ Araya eki 新屋 เป็นพียงห้องโถงหนึ่งห้อง มีเก้าอี้ให้คนนั่งรอรถไฟ ส่วนยกระดับที่เห็นลาดเอียงเหนือหลังคา ทางซีกขวาของภาพ คือทางเดินยกระดับสำหรับข้ามทางรถไฟ. สถานีนี้ไม่มีบันไดเลื่อนหรือลิฟต์ ลำบากและเหนื่อยพอสมควร สำหรับการขึ้นลงเปลี่ยนชานชาลา โดยเฉพาะสำหรับผู้สูงวัย

เมื่อออกจากสถานี Araya ทางขวามือก็เห็นแนวต้นซากุระแล้ว เดินไปเรื่อยๆใต้ร่มไม้ต้นซากุระเหล่านี้ เห็นรั้วต้นไม้เขียวๆที่อยู่ไกลอกไปทางซ้ายของภาพ เลี้ยวซ้ายลงไปตามแนวนั้น รั้วต้นไม้เขียวๆที่มองจากภาพบน จริงๆมีส่วนหนึ่งที่ขาวโพลนด้วยดอกช่อเล็กๆแข่งกันอวดตัว ล่อใจคนเดินผ่าน

เดินตามแนวพุ่มไม้  ต้นซากุระขึ้นต่อไปตามทางเดินจนถึงสุดทางเดิน เป็นวงเวียนเล็กๆทางด้านซ้ายของภาพ

ตรงนั้นเองเมื่อเลี้ยวขวาและเดินต่อ คือจุดเริ่มต้นของสวนสาธาณะซากุระของชุมชนแถบนี้ ดังภาพข้างล่างต่อไปนี้


ไม่ต้องมองหาอะไรอื่น เดินชมซากุระต่อไปเรื่อยๆได้เลย. พื้นที่กว้างใหญ่ ทอดไปตามยาวออกไปจนสุดสายตา เป็นพื้นที่ที่อาจเรียกว่า sunken ground. สองฝั่งที่อยู่สูงกว่า เป็นบ้านของผู้โชคดีที่อยู่ตรงนั้น แต่เดิมอาจเป็นทางเดินของธารน้ำเล็กที่ตื้นเขิน หรือเพราะปรับสภาพพื้นที่ให้เป็นสนามหญ้า มีพื้นที่เหลือเฟือสำหรับทุกชีวิตในชุมชน และชีวิตอื่นๆที่จะผ่านเข้าไป.

เมื่อมีการชุมนุม ก็มีการขายไอศกรีม ป้าเจ้านี้ทำไอศกรีมรูปดอกไม้กลีบสีชมพู ใจกลางสีเหลือง ได้อุดหนุนด้วยหนึ่งโคน หอมกลิ่นซากุระ อร่อย ชื่นใจ หยุดทานตอนเดินย้อนกลับมา ก่อนไปขึ้นรถไฟกลับ. ญี่ปุ่นมีชื่อเรื่องทำไอศกรีม กลิ่น รสและสีดอกไม้นานาพันธุ์ ทั้งแบบไอศกรีมครีมหรือแบบไอศกรีม sherbetมีโอกาส ชิมให้รู้ จะติดใจ ราคาต่อโคนประมาณ 500 เยน.

เดินไปบนฝั่งถนนหน้าบ้านคนฝั่งไหนก็เหมือนกัน. ส่วนพื้นที่สนาม ปกติไม่ให้รถวิ่ง แต่เพราะมีการขนส่งสัมภาระพิเศษเพื่อเตรียมงานฉลอง จึงต้องใช้รถลงไปแทนการแบกหามลงไป.

ครอบครัวที่มิได้อยู่แถบนั้น ก็ขับรถมา จอดบนถนนทางรถวิ่ง หน้าบ้านคนแถบนั้นได้ แล้วก็ขนเสื่อ อาหารที่เตรียมมา ลงไปนั่งในสนาม

พ่อแม่หนุ่มสาวกับลูกเล็ก ก็พากันมาเดินเล่นด้วยกัน, แม้เด็กจะเล็กเพียงใด ประสบการณ์ครอบครัวแบบนี้ฝังลึกในจิตใต้สำนึก เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นญี่ปุ่น.

เป็นวิธีการเลี้ยงลูก แบบสากลด้วยเช่นกัน

สุดทางเดิน มีสะพานทอดเป็นส่วนหนึ่งของถนนสายใหญ่ของเมือง  บริเวณนี้ยังมีธารน้ำตื้นๆเป็นกระจกส่องความงามของทั้งคนและต้นไม้. พื้นที่สวนยังคงทอดต่อไปในระดับ sunken ground นี้ไกลออกไปอีก. เมื่อเดินไปถึงสะพาน ข้าพเจ้าเดินลงไปในพื้นสวนข้างล่างนี้ ไปนั่งพักใต้ต้นซุกระกับเขาด้วยเหมือนกัน

ต้นซากุระสองข้าง sunken garden นี้ ทอดกิ่งงาม อวดตัวกันเต็มที่ ก่อนที่ลมหรือฝนจะมา.

ถ่ายเมื่อเดินไปหยุดตรงสะพาน ก่อนย้ายลงไปเดินพื้นสวนชั้นล่าง



ข้าพเจ้ามองดูผู้คนอยู่เงียบๆ  คิดว่าพวกเขามีชีวิตดี มีโอกาสดี อยากให้คนไทยทุกคนมีความพอใจง่ายๆแบบเดียวกันนี้

มาถึงจุดหนึ่ง ธารน้ำถูกกักหยุดไว้ เพื่อแปลงพื้นที่ sunken ground นั้นให้เป็นพื้นสนามดังที่เห็นตั้งแต่ต้นเส้นทางเดิน. ประติมากรรมหินตั้งสองแท่ง ประดับด้วยหงส์สองตัว เหมือนจะบอกว่าเดิมพื้นที่นั้นเป็นส่วนหนึ่งของธารน้ำ.

ภาพบนนี้ ต้นเส้นทางอยู่ทางขวาสุดของภาพ เดินเลียบฝั่งบนถนนหน้าบ้านคนไปจนสุดทางซ้ายของภาพ จนถึงอนุสาวรีย์หินทางซ้าย.


หลังจากนั่งเล่น เดินเล่นแล้ว ก็เดินย้อนมาที่ป้าคนขายไอศกรีม แวะซื้อกินหนึ่งโคน เลียไปสูดอากาศไปเพลินๆในศาลา ก่อนเดินย้อนกลับไปทางสถานีรถไฟ


กลับมายังแนวต้นซากุระข้างสถานีรถไฟ

It has been a pleasant day out under cherry blossoms… in Araya community.

โชติรส บันทึกประสบการณ์เดินชมซากุระตามหมู่บ้านเล็กๆในญี่ปุ่น 

เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๐.