Thursday, October 24, 2019

The sleeping train

การนอนคืออะไร
      ทุกชีวิตต้องนอน  การนอนสืบทอดมากับวิวัฒนาการของโลกและของสิ่งมีชีวิตตลอดระยะเวลา 3.8 ล้านล้านปี. ทำไมจึงเป็นลักษณะถาวรมาตลอดเวลาอันยาวนานดังกล่าว ทั้งๆที่การนอนเป็นอะไรที่สร้างความลำบาก ไม่คล่องตัวจนอาจเป็นการปล่อยตัวเองให้ตกอยู่ในอันตรายได้ เพราะทุกชีวิตตกอยู่ในสภาพกายแน่นิ่งเหมือนเป็นอัมพาตเมื่อนอนหลับสนิท. นักวิทยาศาสตร์สรุปว่า การนอนเป็นรากฐานของสิ่งมีชีวิต  อย่างไรนั้น นักวิทยาศาสตร์ยังตอบไม่ได้กระจ่าง. ในระบบการศึกษาแห่งชาติจนถึงขั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ไม่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับการนอนเลย ราวกับว่ามันไม่สำคัญ ทั้งๆที่ หนึ่งในสามของชีวิตคนหมดไปกับการนอน. (ที่น่าแปลกใจไม่แพ้กัน คือ ไม่มีใครบ่นเรื่องการขาดข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการนอน)
        การนอนมีจุดหมายในทางชีวภาพอย่างไรนั้น ยังคงเป็นปริศนา. การนอนหลับที่มีคุณภาพ และนอนหลับเพียงพอในเวลาที่เหมาะสม จำเป็นเพื่อการอยู่รอด มากพอๆกับอาหารและน้ำดื่ม. การนอนเป็นกลไกที่มีค่ายิ่งของการมีชีวิต เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและมีพลัง ที่ส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อทุกประเภท ต่อระบบการทำงานของร่างกายทั้งหมด ตั้งแต่สมอง หัวใจ ปอด กระบวนการเมทาบอลิซึม ระบบภูมิคุ้มกัน ต่ออารมณ์ และกระบวนการต่อต้านโรคเป็นต้น. งานวิจัยบอกให้รู้ว่า การขาดนอนติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หรือการนอนที่ไม่มีคุณภาพ เพิ่มความเสี่ยงของความผิดปกติทั้งหลายทั้งปวงที่นำไปสู่โรคความดันสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคเครียดและโรคอ้วนฉุ. หากไม่นอน เราไม่อาจเปิดเส้นทางสู่สมองที่ทำให้เราเรียนรู้โลกและสร้างความจำใหม่ๆ. การนอนไม่พอ ทำให้สมาธิถดถอยและลดสมรรถภาพในการตัดสินใจ การตอบรับหรือตอบโต้กับสภาพแวดล้อม.
       นักวิทยาศาสตร์เพิ่งเข้าใจและตระหนักว่า วิธีนอน, เวลานอนทั้งหมดในแต่ละวัน,  การหลับในแต่ละระยะของการนอน เป็นเรื่องจำเพาะตัว นั่นคือ แต่ละคนมีจังหวะการนอนเฉพาะของตัวเอง. เป็นโปรแกรมที่สมองกำหนด และน่าจะเป็นการบริหารจัดการของระบบพันธุกรรม.  กระบวนการนอนของแต่ละคน วิวัฒน์ไปตลอดชั่วอายุของคนนั้น ตั้งแต่เมื่อยังเป็นตัวอ่อนในครรภ์จนถึงวัยชรา. ไม่มีความเสมอภาคในเรื่องการนอนหลับ. ณนาทีปัจจุบัน ยังไม่มีคำตอบสุดท้ายเกี่ยวกับการนอน.
       โดยทั่วไป คนทำงานกลางวันและนอนตอนกลางคืน. คนมักจะเข้านอนในเวลาเดียวกัน ความง่วงเกิดจากความเหนื่อยล้า สภาพจิตลดกิจกรรมลงไปมาก. หากเข้านอนเมื่อมีอาการแบบนี้ เราจะหลับง่าย ภายในประมาณสิบนาที. เริ่มจากการค่อยๆหลับไป หลับตื้นไปจนหลับลึก. เวลาที่ตัดสินใจขึ้นเตียง ล้มตัวลงนอน จนหลับนั้น เป็นเครื่องวัดสมรรถภาพการนอน.
         ปกติ คนนอนคืนละประมาณ 7 ชั่วโมง 30 นาที ถึง 8 ชั่วโมง. บางคนนอนน้อย นอนไม่เกิน 6 ชั่วโมงในแต่ละคืน. มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่นอนน้อยกว่า 4 ชั่วโมง ก็รู้สึกว่านอนเต็มอิ่มแล้ว. จำนวนคนนอนน้อยดังกล่าว นับได้เป็นร้อยละ 5 ของประชากรทั้งหมด. ส่วนคนที่นอนมาก นอนนานโดยเฉลี่ยมากกว่า 9 ชั่วโมงต่อวัน นับเป็นร้อยละ 10-15 ของประชากรทั้งหมด. ข้อเท็จจริงเดียวที่พอจะใช้อธิบายว่า การนอนหลับปกติเป็นอย่างไร (ไม่ว่าจะเป็นคนนอนมากหรือนอนน้อย) คือเมื่อตื่นนอนในตอนเช้า  เรารู้สึกว่า เราได้นอนเต็มอิ่ม และรู้สึกว่าร่างกายได้พักผ่อนเต็มที่ และรู้สึกฟิต.
       สัตว์บางชนิดต้องพัฒนากลยุทธ์พิเศษเพื่อพักผ่อน เช่นปลาโลมา ให้สมองข้างหนึ่งข้างเดียวหลับ ส่วนอีกข้างหนึ่งยังตื่นอยู่. เช่นนี้ทำให้ปลาโลมา ว่ายน้ำต่อไปได้ไม่หยุด. เมื่อข้างหนึ่งได้พักเต็มที่ อีกข้างหนึ่งจึงหลับ สมองข้างที่ได้นอนเพียงพอแล้ว ควบคุมการเคลื่อนไหว เข้ารักษาการณ์ และปลาโลมาก็ว่ายน้ำต่อไป “ทั้งหลับทั้งตื่น”. (ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการนอนของสัตว์อื่นๆ)
        วิทยาศาสตร์ยืนยันมาว่า การนอนฟื้นฟูเนอรอน เอื้อให้เซลล์ประสาทปฏิบัติงานเต็มตามศักยภาพสูงสุด. การนอนยังช่วยกำจัดสิ่งโสโครก คัดกรองข้อมูลที่ไม่จำเป็นออกจากสมองด้วย. เมื่อคนนอนหลับไป เป็นเวลาที่สมองส่งทีมงานออกสำรวจ ตรวจสอบสมรรถนะและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอทั้งในเซลล์สมอง ในโครงสร้างดีเอ็นเอ หรือในอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง. กลางวันในยามตื่น คนทำงานหรือใช้ชีวิตตามปกติ สมองก็ทำงานซ่อมแซมด้วย แต่ช้ากว่าและไม่เท่ายามนอน เพราะสมองทำหน้าที่หลายอย่างพร้อมกัน. เมื่อร่างกายเจ็บป่วย คนจึงต้องนอนมากขึ้น นอนได้ทั้งวันทั้งคืน (หมอก็ให้ยาที่ช่วยให้ผ่อนคลาย ช่วยให้นอนหลับ). การนอนทำให้ร่างกายฟื้นตัวเร็ว. งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการนอนจนถึงจุดนี้ ยืนยันว่า สมองไม่เคยหยุดนิ่งเลยระหว่างที่คนนอน กลับมีพฤติกรรมแข็งขันมาก. สมองทำงานทุกเวลา ไม่ว่าคนตื่นอยู่หรือนอนหลับ.

ขึ้นรถไฟตู้นอน
มาพิจารณาขั้นตอนการนอนหลับของคน. นักวิทยาศาสตร์พูดกันว่า เซลล์ประสาทในสมองหรือเนอรอน (ที่มีในสมองทั้งหมดราว 86,000 ล้านล้านเซลล์) เป็นวิศกรมากกว่าผู้บริหาร จึงชอบที่จะสร้างเครือข่ายเนอรอนใหม่ๆอยู่เสมอ. ระหว่างที่เรานอนหลับ เนอรอนมิได้หลับใหลแต่กำลังขันเกลียวความทรงจำ เก็บกักข้อมูลที่ได้เรียนรู้(หรือประสบมาในช่วงวัน) ด้วยการวิ่งโลดจัดเส้นทางใหม่ที่สั้นและมีประสิทธิภาพที่สุดให้พร้อมใช้ในแต่ละจังหวะของชีวิต. เนอรอนไม่เคยหยุดที่จะสรรหาวงจรที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่ได้มาเพื่อเพิ่มพูนให้สมบูรณ์มากขึ้นในทุกมิติที่เป็นไปได้. ไม่ต่างจากเครือข่ายเชื่อมต่อในอินเตอเน็ต. ตามรายงานใหม่ๆที่ลงพิมพ์ในวารสาร Science Advances ของสถาบัน INSERM แห่งชาติฝรั่งเศส. เนอรอนที่สื่อสารกัน ไม่ทำอะไรซ้ำๆซากๆ. เพื่อส่งต่อข้อมูลเป็นสัญญาณไฟฟ้า เซลล์ประสาททำอย่างไร จึงมีประสิทธิภาพสูงถึงเพียงนั้น นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใจ (จึงหยุดแค่ตรงนี้).
       ตั้งแต่ปี 1924 เมื่อ Hans Berger (1873-1941 จิตแพทย์ชาวเยอรมัน, เขาเป็นผู้ค้นพบคลื่นอัลฟา) ผู้ประดิษฐ์เครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าในสมอง EEG หรือ electroencephalography ภาพที่ได้จากเครื่อง EEG (cortical electric waves) เหมือนเจาะทะลุเข้าถึงเยื่อหุ้มสมองส่วนนอก เข้าไปเห็นพฤติกรรมของสมองเป็นครั้งแรก เห็นคลื่นไฟฟ้าของสมองชั้นนอก คลื่นที่สม่ำเสมอ คลื่นเร็วถี่ คลื่นช้าอ่อนๆ. ภาพจากเครื่อง EEG ยืนยันความสัมพันธ์ของสภาวะต่างๆของร่างกายในกิจกรรมแบบต่างๆ กับการผันแปรของคลื่นไฟฟ้าในสมอง. ในปี 1937 Loomis ที่สหรัฐฯ ได้บันทึกคลื่นสมองในยามนอนของคนเป็นครั้งแรก  เผยเคล็ดลับกระบวนการทำงานของสมองและเข้าใจการนอนมากขึ้น นำไปสู่การวิจัยเรื่องการนอนอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา. วิทยาการดังกล่าวเผยให้เข้าใจว่า การนอนเป็นสภาวะของร่างกายที่ซับซ้อนมาก มิใช่เป็นเพียงการหยุดพักของกิจกรรมทางกายและทางจิต หากเป็นภาคที่สองของสิ่งมีชีวิต ที่ระบบชีวภาพทั้งมวลเปลี่ยนโหมดการทำงาน. เราเห็นความเป็นทวิภาคของสรรพสิ่ง/ปรากฏการณ์ในธรรมชาติ เช่นกลางวันกลางคืน, น้ำขึ้นน้ำลง, เดือนคว่ำเดือนหงาย หรือในพหุภาวะของฤดูกาลเป็นต้น. การเปลี่ยนแปลงของร่างกายยามนอนหลับนั้น ครอบคลุมไปถึงอุณหภูมิของร่างกาย จังหวะการเต้นของหัวใจ จังหวะการหายใจ ความกดภายในเส้นโลหิตใหญ่ ความตึงของกล้ามเนื้อ หรือการหลั่งฮอร์โมนในยามกลางคืน ที่เป็นบันทึกลับราตรีของร่างกาย (โชคดีเพียงใดที่เราสามารถบันทึก วัดและเจาะจงปริมาณได้).
       การวิจัยเรื่องการนอนในปัจจุบัน (เช่นที่ทำกันในห้องแล็บของมหาวิทยาลัยเมืองลียงประเทศฝรั่งเศส) ทำบันทึกภาพด้วยเครื่องมือหลายชนิดพร้อมๆกันไป นอกจากด้วยเครื่อง EEG สำหรับคลื่นไฟฟ้าในสมอง ยังมีเครื่องบันทึกภาพการเคลื่อนไหวของลูกนัยน์ตา (electro-oculogram), เครื่องบันทึกความตึงของกล้ามเนื้อ จากคางลงไปสุดร่างกายท่อนบน (electromyogram), เครื่องวัดการเต้นของหัวใจและการหายใจ (electrocardiogram หรือ EKG). ข้อมูลจากภาพบันทึกทั้งหมดรวมกัน บันทึกตามเวลาและจังหวะการนอนจริง อีกทั้งมีการบันทึกเป็นภาพยนต์ตลอดคืน แม้เมื่อปิดไฟห้องนอน(ที่ใช้ในการทดลองและตรวจสภาวะการนอน)แล้ว และระบบไมโครโฟน ก็บันทึกเสียงทุกเสียงของคนนอน(และเสียงในห้องนั้น). ทั้งหมดอยู่ในการควบคุมของทีมแพทย์. (มีโอกาส ไปทดสอบสภาวะการนอนของเราแต่ละคน น่าสนใจไม่น้อยเลย – sleep test)

ฝรั่งเศสเทียบการนอนในแต่ละระยะ กับขบวนรถไฟ ที่ถูกใจข้าพเจ้าผู้ชอบเดินทาง จึงนำภาพรถไฟมาใช้ อธิบายการนอนแต่ละระยะ ตามความสะดวกส่วนตัวข้าพเจ้า ด้วยการนับตู้นอนตั้งแต่หัวรถจักร (ดั้งเดิม คนต้นคิดตัดหัวขบวนออก และบางคนที่นำไปใช้รวมตู้ 2 และ 3 เข้าด้วยกัน).

สภาวะการนอนของคนเทียบกับขบวนรถไฟ. จากเมื่อล้มตัวลงนอนที่คือหัวรถจักร ถึงสิ้นสุดความฝันและรู้ตัวตื่น เป็นระยะเวลานานระหว่าง ระหว่าง 90, 100, 110 รื120 นาที. จังหวะการนอนของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่นคนหนึ่งใช้เวลาหลับตั้งแต่ล้มตัวลงนอนจนตื่นขึ้น 110 นาที (เรียกในภาษาประสาทวิทยาว่า หลับไปหนึ่งรอบ sleep cycle ฝรั่งเศสเขาเทียบกับขึ้นรถไฟหนึ่งขบวน). จังหวะการนอนของเขาคนนั้น หนึ่งรอบคือ 110 นาทีและจะเป็นเช่นนั้นเสมอไม่เปลี่ยนแปลงตลอดชีวิตเขา(ว่างั้น). ในแต่ละคืน คนนอนขึ้นรถไฟ 4-6 ขบวน. การเชื่อมต่อรถไฟขบวนถัดไป อาจเกิดขึ้นทันทีก็ได้ คือใช้เวลาสั้นมาก คนนอนจำไม่ได้ว่า รู้ตัวตื่นขึ้นหรือเปล่า. หรือมีระยะห่างระหว่างรถไฟขบวนแรกกับขบวนถัดไป นานขึ้น เช่นรู้ตัวตื่นขึ้น ไปเข้าห้องน้ำ แล้วกลับไปนอนต่อ นั่นคือขึ้นรถไฟขบวนต่อไป. หลายคนไม่ตื่นเลย และมักตื่นขึ้นในช่วงตี 4 ถึง 6 นาฬิกา (ลุกไปเข้าห้องน้ำเป็นต้น) แล้วกลับขึ้นเตียงหลับสนิทต่อไปได้.
        คุณภาพของการนอนเปลี่ยนไปตลอดคืน. การหลับในช่วงแรก เป็นการหลับอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลับช้าแต่หลับลึกกว่า หลับยาวกว่า. การหลับในช่วงสุดท้าย (ตู้เลข 6) ยืดนานออกไปจากขบวนแรก คือระยะ 6 นี้ นานขึ้นในขบวนที่สอง สาม สี่ เป็นต้น.
       แม้เมื่อเราบอกว่าเราหลับสบาย หลับลึก ในความเป็นจริงเรารู้ตัวตื่นโดยเฉลี่ยสามครั้งในแต่ละคืน แต่ละครั้งเรา(อาจ)เปลี่ยนท่านอน. การตื่นสั้นๆแบบนี้ เกิดขึ้นเมื่อไปสุดขบวนที่ตู้ 6 จะข้ามไปขึ้นรถไฟขบวนที่สองเป็นต้น. การตื่นสั้นๆแบบนี้ หากสั้นกว่า 3 นาที คนนอนจะจำไม่ได้ว่าได้รู้ตัวตื่น. การรู้ตัวตื่นกินเวลานานขึ้นและบ่อยขึ้น หลังจากนอนรถไฟไปสองขบวนแล้ว.
        ปริมาณของการนอนหลับแบบช้าและลึก มีมากน้อย ไม่เกี่ยวกับว่าคืนนั้นนอนทั้งหมดกี่ชั่วโมง. แต่กลับเชื่อมไปถึงระยะเวลาที่ยังตื่นอยู่ก่อนหลับไป กับคุณภาพของการตื่นนั้น. พฤติกรรมทางกายภาพที่แข็งขันทั้งวัน ทำให้หลับลึก. หากมีการหลับในช่วงบ่าย ย่อมทำให้หลับช้าและหลับไม่ลึกเท่า หากนอนกลางคืนเท่านั้น. ในกรณีที่อดนอนมา ร่างกายจะค่อยๆหลับและหลับลึกนานขึ้นเพื่อทดแทน.

มาพิจารณาแต่ละระยะของการนอนในหนึ่งรอบ (sleep cycle) ของคนปกติ. การนอนในแต่ละคืน มี 3-4 รอบ.
1) ตั้งแต่หัวรถจักร คือคนล้มตัวลงนอน กายนอนลงในท่าสบายๆที่คุ้นเคย. หากเหนื่อยมาทั้งวัน หรือง่วงตามปกติ ในระยะแรกนี้นานระหว่าง 5-10 นาที.

2) การนอนระยะนี้ (เขาเทียบว่าคนนอนเหมือนอยู่บนเมฆ) ได้ยินเสียงต่างๆรอบข้าง ยังไม่หลับ แต่ก็ไม่ตื่น ไม่อยากตอบ ได้ยินเสียงสนทนา ฟังรู้เรื่องแต่สมองไม่สนใจ. การเคลื่อนตัวของร่างกายน้อยลงๆ. การวัดพฤติกรรมคลื่นในสมองด้วย (ภาพจาก EEG) ในสภาวะการนอนระยะนี้ คลื่นสมองเป็นคลื่นอัลฟา (Alpha) เดินทางในความเร็วระหว่าง 8-14 Hz ต่อวินาที.  คลื่นอัลฟาเป็นคลื่นที่ทำให้ผ่อนคลาย เป็นคลื่นฟื้นฟู เอื้อให้เกิดความคิดในแง่บวก ในเชิงสงบ เป็นความคิดที่ชัดเจน. เมื่อสมองสร้างคลื่นแบบนี้  เรารู้สึกมีพลังสร้างสรรค์ เพราะสมองหลั่งสาร Acetylcholine (ใช้อักษรย่อว่า ACh) ที่เป็นสารเคมีออแกนิคในระบบประสาท ที่กระตุ้นเนอรอนให้ไปดันไปปลุกการทำงานของกล้ามเนื้อ ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตรวมทั้งคน. (ในยามนอน คลื่นอัลฟาอาจทำให้รู้สึกสบายใจว่าได้ทำงานเสร็จไป หรือเกิดความคิดใหม่ๆที่ต่อเนื่องกับงานที่กำลังทำหรือจะทำต่อไป ทำให้หลับไปด้วยความพอใจ)

3) การนอนระยะนี้ คนนอนยังได้ยินเสียง แต่สมองไม่รับรู้ ไม่เข้าใจเนื้อหาแล้ว. หลับตื้นๆแล้ว หากมีประตูปิดดังปัง ก็ตกใจตื่น. จิตมีพฤติกรรมบางอย่าง เหมือนฝันแบบเลือนลาง ใกล้เคียงกับสภาพของสมองที่กำลังคิดอะไรสักอย่าง มากกว่าการฝันเป็นภาพ. อาจนับเป็นการฝัน/ความคิด ที่มีเหตุปัจจัยชัดเจน เกี่ยวเนื่องกัน (ในระยะนี้ จึงไม่เรียกว่า ฝัน). คลื่นสมองในสภาวะการนอนระยะนี้ ช้าลงไปเรื่อยๆ เป็นคลื่นเธตา (Theta) เดินทางในความเร็วระหว่าง 4-8 Hz ต่อวินาที. คลื่นเธตา ทำให้เราง่วง เป็นคลื่นฟื้นฟูระบบประสาท จัดระบบการทำงานของสมองซีกซ้ายซีกขวาให้ประสานกัน เป็นคลื่นที่ทำให้เคลิ้มให้ฝัน เป็นคลื่นของจิตใต้สำนึก. การนอนในตู้ที่ 2 และ 3 รวมกันเท่ากับ 50% ของการนอนทั้งคืน คือประมาณ 4 ชั่วโมงต่อคืน.
ผู้สูงวัยที่เป็นโรคนอนไม่หลับ ความจริงแล้ว เป็นเพียงความรู้สึกว่านอนไม่อิ่ม เนื่องจากเป็นการหลับช้าและหลับตื้น (การหลับของผู้สูงวัย หลับแบบอ้อยอิ่งอยู่ในตู้ที่ 2 และตู้ที่ 3) เมื่อรวมเวลานอนทั้งหมดในแต่ละคืน เพียงพอแล้วหรือมากขึ้นด้วยซ้ำ.

4) การนอนระยะนี้ เป็นการหลับลึก ไม่ได้ยินอะไรแล้ว ตัดตัวเองออกจากโลกภายนอก. ร่างกายแน่นิ่งเกือบสมบูรณ์ ใบหน้าไม่มีความรู้สึก พฤติกรรมทางจิตก็น่าจะน้อยมาก. ลูกตาใต้หนังตาที่ปิดสนิท นิ่งไม่เคลื่อนไหว (non-rapid eyes movement, NREM) หัวใจและจังหวะการหายใจ ช้าและสม่ำเสมอ. แต่ความตึงของกล้ามเนื้อยังคงอยู่ กล้ามเนื้อแน่น(ตามปกติเหมือนในยามตื่น) ร่างงอครึ่งตัว กำนิ้วกำมือ หากหลับไปในท่ายืน ตัวก็ไม่ล้มลง. คลื่นสมองในสภาวะการนอนระยะนี้ ช้าและคลื่นกว้าง. สมองส่งคลื่นเดลตาเป็นจำนวนมาก (Delta) เดินทางในความเร็วระหว่าง 0.5-4 Hz  ต่อวินาที. คลื่นเดลตากระตุ้นเนอรอนบางตัว ให้ตื่นขึ้นรับช่วงทำหน้าที่ต่อ. ในระยะนี้มีการหลั่ง serotonin ที่มักพูดกันว่าเป็นสารนำความรู้สึกเป็นสุข, ในความเป็นจริง ยังมีบทบาทอื่นๆ เช่นกระตุ้นการรับรู้ การเรียน ความจำ เป็นต้น). ในระยะนี้ คนหลับลึก หลับสนิทและไม่ฝัน. (การนอนหลับลึกๆ ลดลงไปเมื่ออายุมากขึ้น). การนอนในตู้ 4 และ 5 รวมกันเท่ากับ 25% โดยประมาณของการนอนแต่ละคืน คือสองชั่วโมงต่อคืน.

5) การนอนระยะนี้ เป็นช่วงหลับสนิท. ผู้นอนอยู่ในสภาวะไร้ความสำนึก. คลื่นสมอง(ภาพจาก EEG) ในสภาวะการนอนระยะนี้ เป็นคลื่นเดลตา (Delta) เดินทางในความเร็วระหว่าง 0.5-4 Hz  ต่อวินาที. (คลื่นความถี่ต่ำที่สุดที่เกิดขึ้นในสมองอยู่ระหว่าง 0.1-4 Hz). นานมากแล้วที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่า คลื่นเดลตาในสมอง เป็นตัวบอกให้รู้ว่าสมองในยามนั้นเงียบสนิท. (คลื่นสมองมีบทบาทน่าทึ่งต่างๆ ที่คนยังไม่เข้าใจนัก). คลื่นเดลตาปกติ เชื่อมต่อไปถึงฮอร์โมนต้านความชรา เช่น DHEA (ฮอร์โมนในกลุ่มสเตรอยด์ ที่ช่วยควบคุมความสมดุลทางอารมณ์) กับ melatonin (ฮอร์โมนธรรมชาติที่ช่วยควบคุมสมดุลในการเจริญพันธุ์มิให้เร็วเกินไป เช่นช่วยยับยั้งการแก่ก่อนวัยอันควร หรือกระตุ้นการเจริญเติบโตตามวัยในเด็กเป็นต้น) และช่วยยับยั้งการสร้างฮอร์โมนคอร์ติซอลที่รับมือกับความเครียด (cortisol) เป็นต้น.

6) การนอนระยะนี้ สมองกลับมาอยู่ในพฤติกรรมที่ใกล้เคียงกับสมองยามตื่น จึงทำให้คนฝันในช่วงนี้. คนนอนหลับสนิท ร่างกายผ่อนคลาย. แต่ใบหน้าสะท้อนพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในความฝัน แม้จะนิ่งแต่แสดงความรู้สึกให้เห็น. หนังตาปิดสนิท แต่ลูกนัยน์ตาเคลื่อนไหวกรอกไปมาเร็วมาก ที่เห็นได้ชัดเจนใต้หนังตา (การนอนในระยะนี้เรียกในภาษาอังกฤษว่า REM) การเต้นของหัวใจและการหายใจเร็วพอๆกับในยามตื่น แต่จังหวะไม่สม่ำเสมอเท่า. ในระหว่างนอน อาจมีการไหวตัวนิดหน่อย สั้นๆ. ร่างกายยืดตัว นอนแผ่ ผ่อนคลาย กล้ามเนื้อคลายความตึงหมด นิ้วมือแผ่ออก หากหลับไปในท่าที่ไม่มั่นคง หัวตกหมอน ตัวก็อาจตกจากเตียง. อาจเทียบได้ว่าเป็นสภาวะของอัมพาตชั่วคราวที่หายไปเมื่อตื่น หรือเมื่อย้อนกลับไปสู่การนอนในระยะแรกของรถไฟขบวนต่อไป. การเป็นอัมพาตชั่วคราวในการหลับระยะนี้ อาจมีส่วนที่ทำให้คนนอนไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้กับพฤติกรรมที่ดำเนินอยู่ในความฝันที่เกิดขึ้นระหว่างหลับลึกระยะนี้.
       คลื่นสมองสะท้อนพฤติกรรมทางจิตที่เข้มข้นในความฝัน เทียบเท่ากับสมองยามตื่น. หากปลุกคนนอนที่อยู่ในระยะนี้ให้ตื่นขึ้น   80% ของคนนอนที่ถูกปลุก จะเล่าความฝันของเขาเป็นเรื่องเป็นราวได้อย่างชัดเจน พร้อมรายละเอียดทุกอย่าง. แต่หากคนนอนรู้ตัวตื่นเอง เขามักจำอะไรไม่ได้และมักคิดว่าเขาไม่ได้ฝัน เพราะความฝันแบบนี้เลือนหายไปทันที.  ส่วนความฝันที่คนนอนยังจำได้ คือความฝันในช่วงนาทีท้ายๆก่อนรู้ตัวตื่นเต็มตา. การตื่นในตอนเช้าโดยทั่วไป ตรงกับจุดจบของการนอนในรถไฟตู้ที่ 6 ในรถไฟขบวนสุดท้ายของคืนนั้น.
        พฤติกรรมของสมองในช่วงนี้ กลับแข็งขันมาก เมื่อเทียบกับสภาพร่างกายที่นอนแผ่ปล่อยตัวเต็มที่ (ลักษณะที่ขัดแย้งกันเช่นนี้ ทำให้ Michel Jouvet นักประสาทวิทยาและนักวิจัยทางการแพทย์ชาวฝรั่งเศส ตั้งชื่อเรียกการนอนในระยะนี้ว่า sommeil paradoxal หรือ the paradox of sleep แต่ในภาษาอังกฤษนิยมใช้คำ REM sleep แทน). สมองใช้เวลาช่วงนี้ช้าร์ตแบ็ตเตอรี และบันทึกสิ่งที่ได้รับรู้ได้เห็นมาตลอดทั้งวัน (รวมทั้งคัดกรองข้อมูล กำจัดขยะข้อมูล). การนอนระยะนี้นานประมาณ 10-15 นาที. คลื่นสมองในสภาวะการนอนระยะนี้ เป็นคลื่นแกมมา (Gamma) เดินทางด้วยความเร็วระหว่าง 20-45 Hz ต่อวินาที. การนอนในระยะนี้ มักยืดนานขึ้น จากรถไฟขบวนแรกไปถึงรถไฟขบวนสุดท้าย. เมื่อสมองนำส่งคลื่นแกมมามาก เท่ากับสมองและเนอรอน กำลังตื่นตัวสูงสุด เทียบกับสภาวะสมองในยามตื่นและกำลังมีพฤติกรรมแข็งขัน เช่นกำลังคิดจัดโครงการอะไรสักอย่าง หรือกำลังเผชิญปัญหาที่ยุ่งยากและซับซ้อน.
       การนอนในระยะที่ 6 นี้เกี่ยวกับจำนวนชั่วโมงที่นอนในแต่ละคืน นั่นคือ ยิ่งนอนมาก ยิ่งฝันมาก. หากอดนอนมา จนกว่าร่างกายจะได้หลับลึกชดเชยที่อดนอนมาเพียงพอแล้ว  จึงมีการหลับเพื่อฝัน.
       ตามหลักการวิทยาศาสตร์ มีที่ระบุว่า การรำลึกถึงสิ่งที่ฝันได้ เป็นสัญลักษณ์บอกว่าสมองทำงานดี มีประสิทธิภาพ. มีสถิติบอกว่า คนที่จดจำความฝันได้ดี มักเป็นคนที่มีหัวสร้างสรรค์มากด้วย. ในมุมมองของประสาทวิทยา การฝันเป็นสิ่งที่ขาดเสียมิได้ เป็นเครื่องหมายบอกว่าระบบสมองทำงานเป็นปกติดี. (โอกาสหน้า จะศึกษาเรื่องฝันต่อ ในมุมมองต่างๆที่รวมถึงศาสนา จิตวิทยา ชีววิทยาเป็นต้น)
       สรุปการนอนกว้างๆออกเป็นสองช่วง ตามพฤติกรรมของร่างกายที่แตกต่างกันชัดเจน
๑)  พฤติกรรมคนนอน ในตู้นอน 2-5 ใบหน้าไม่แสดงความรู้สึก การหายใจช้าและสม่ำเสมอ หัวใจเต้นช้าและสม่ำเสมอ ลูกตานิ่ง ความตึงของกล้ามเนื้อเท่าเดิม คลื่นไฟฟ้าในสมองช้าลงๆ ความยาวคลื่นกว้าง ความถี่ต่ำ.  (Non REM sleep)
๒)  พฤติกรรมคนนอน ในตู้นอน 6 ใบหน้ามีการแสดงออก การหายใจเร็วและไม่สม่ำเสมอ หัวใจเต้นเร็วและไม่สม่ำเสมอ ลูกตากรอกไปมาเร็ว ทั้งกรอกตาขึ้นลงและกรอกตาไปซ้ายไปขวา กล้ามเนื้อคลายตัว ตัวแน่นิ่งไม่ไหวติง คลื่นไฟฟ้าในสมองเร็วและแรง. (REM sleep)
เป็นอันครบวงจรการนอนหนึ่งรอบ (one sleep cycle) เป็นรถไฟขบวนที่หนึ่งตั้งแต่หัวรถจักรไปถึงตู้สุดท้าย กินเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง. จากเมื่อหลับตาเริ่มหลับตื้นไปจนถึงช่วงหลับสนิทหลับลึก เป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 10 นาทีถึง 1 ชั่วโมง 40 นาที. การนอนเป็นเวลาที่ร่างกายพักและผ่อนคลายลงเรื่อยๆ. สิ่งมีชีวิตจะสร้างแอนตี้บอดี้ และสร้างฮอร์โมนของการเจริญเติบโต (growth hormone). เมื่อตื่นจากฝัน อาจตื่นขึ้นเลยหรือนอนต่อ, การนอนต่อก็เหมือนขึ้นขบวนรถไฟขบวนที่ 2, แล้ว 3, 4, 5, 6 ตามลำดับ จนฟ้าสาง ลุกขึ้นจากเตียงเต็มที่.
(วงจรการนอนที่เล่ามาข้างบน แม้จะอ่านมาจากเอกสารหลายสถาบัน แต่ส่วนใหญ่สรุปมาจากบทความในเว็บเพจนี้ ที่มีข้อมูลเรื่องการนอนและประเด็นที่เกี่ยวข้องทั้งในเชิงเทคนิค การวิเคราะห์และการอธิบายเนื้อหาทุกขั้นตอน ที่ละเอียดชัดเจนที่สุดที่พบในเน็ต (เป็นภาษาฝรั่งเศส). ส่วนตัวคิดว่าน่าเป็นแบบอย่างของพัฒนาความเข้าใจ การอธิบายและการบรรยายในเรื่องของการนอน โดยเฉพาะสำหรับนักศึกษาแพทย์ และแพทย์ด้านประสาทวิทยา. น่าจะนำมาแปล เผยแพร่เป็นความรู้สำหรับประชาชนทั่วไป. ติดตามไปอ่านได้ตามลิงค์นี้ของศูนย์ศึกษา มหาวิทยาลัยเมืองลียงประเทศฝรั่งเศส >> http://sommeil.univ-lyon1.fr/articles/challamel/sommenf/print.php )   

คนยังไม่เข้าใจอะไรมากนักเกี่ยวกับการนอน ยังมีประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับการนอน และโดยเฉพาะการฝัน ที่ก็เป็นเรื่องซับซ้อนมาก.
ณนาทีนี้ พิจารณาข้อมูลที่นำมาเล่า ควรทำให้การนอนของเราแต่ละวัน เป็นการนอนที่มีคุณภาพ ที่ช่วยให้สมองคล่องแคล่วว่องไว และในที่สุดเสริมสร้างสุขอนามัยแก่เรา...
นอนหลับ ฝันดีค่ะ
   ภาพจาก istockphoto.com เครดิตภาพ : Tetiana Lazunova

โชติรส รายงาน
๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๒.

Sunday, October 20, 2019

Forget to remember

เลือกจำและรู้จักลืม 
       ศาสตราจารย์ Pierre-Marie Lledo ผู้อำนวยการแผนกประสาทวิทยา สถาบันปาสเตอร์ และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (CNRS ของฝรั่งเศส) เสนอหลักหกประการที่ควรตระหนักและปฏิบัติตามเพื่อรักษาสมองของเราให้อ่อนวัยไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่. สมองคนวิวัฒน์ตลอดชั่วอายุของคน. สมองปรับตัวและบริหารหน้าที่กับปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้รับจากประสาทสัมผัสและจากประสบการณ์ทุกแบบจากทุกมิติที่คนเปิดรับ... การกระตุ้นให้สมองสร้างเนอรอนใหม่ๆคือการผดุงรักษาสมองให้อ่อนวัยไปจนวันสุดท้ายของชีวิต.
๑) ให้หลีกเลี่ยงความจำเจ (routine) เพราะสมองเหมือนคนช่างกิน ชอบชิม ชอบลองอาหารใหม่ๆ. การเปลี่ยนแปลง กระตุ้นให้สเต็มเซลล์ในสมองสร้างเนอรอนตัวใหม่ๆขึ้น. « จงปลูกฝังความกระหายอยากเข้าใจและอยากเรียน».   
๒) ต่อสู้เอาชนะ infobesity (คำนี้สร้างจากคำว่า info + obesity นั่นคือ “ ข้อมูล ” บวกกับ “ ความอ้วนฉุ ” ให้ภาพพจน์ของคนอ้วนตัวใหญ่หนาหนัก ที่อาจกลายเป็นความพิการแบบหนึ่ง  ในที่นี้ สมองอ้วนฉุพุงโร เพราะเขมือบข้อมูล ยัดข้อมูลสารพัดสารพันลงในสมองจนสมองพิการได้). สมองเป็นสิ่งที่ดัดได้ปั้นได้ เหมือนดินน้ำมันที่เราเล่น ปั้นให้เป็นรูปลักษณ์ต่างๆ. ข้อมูลเป็นเหมือนมือที่ปั้นสมอง สร้างวงจรภายในสมอง. จำเป็นต้องรู้ว่า ควรจะใส่ข้อมูลอะไรลงในสมอง อย่าสุมๆกองๆลง ต้องมีการจัดระบบนิเวศภายในพื้นที่สมองให้เป็นระเบียบเรียบร้อย แบบหยิบใช้ก็ง่าย ดูก็งามตา.  เหมือนกองสมบัติที่วางระเกะระกะทั่วพื้น กีดขวางทางเดิน และทำให้สะดุดหกล้มบาดเจ็บได้.  เช่นกันสมองอยากเก็บเฉพาะข้อมูลที่สอดคล้องกับการธำรงอยู่ของคนนั้นๆ. ข้อมูลจำนวนมากที่ไม่จำเป็นและไม่กระตุ้นให้สมองสร้างเนอรอนใหม่ๆ กลับสร้างความเครียดขึ้นแทน. จึงจำเป็นต้องรู้จักเลือกข้อมูล ที่เป็นประโยชน์ ที่เสริมสร้างความเข้าใจ เพื่อวิวัฒนาการของแต่ละคน.
๓) หยุดใช้ยาระงับประสาทและยานอนหลับ. เมื่อกินยาประเภทนี้ สมองเหมือนรถยนต์ที่เดินด้วยเกียร์อัตโนมัติ แต่ไม่มีคนถือพวงมาลัย. เท่ากับไปหยุดกระบวนการทำงานตามปกติของสมองที่เคยเป็นผู้รับมือทำความเข้าใจอะไรต่ออะไรที่ผ่านเข้าไป. การกินยาประเภทนี้ติดต่อกันเป็นระยะนานๆ ทำให้สมองหมดสมรรถภาพในการสร้างเนอรอนตัวใหม่ๆ.
รถยนต์วันนี้ที่เป็นรถไร้คนขับ ไม่มีคนขับจริงที่พวงมาลัย แต่ยังมีศูนย์ควบคุมดูแลรถคันนั้นอยู่ หรือถูกใส่โปรแกรมในเครื่องยนต์ ให้เดินตามเส้นทางที่กำหนดไว้ มิใช่ไปตามใจชอบ. อนาคตรถไร้คนขับอาจไปที่ไหนก็ได้อย่างอิสระเสรี.
๔) เคลื่อนไหวร่างกาย ให้มากกว่าการนั่งนิ่งแช่อยู่กับที่. เมื่อร่างกายออกกำลัง กล้ามเนื้อสร้างสารเคมีหลายตัว (trophic factors) ที่ส่งผลต่อทอดไปทางสายเลือดสู่สมองและไปถึงสเต็มเซลล์. การทำงาน(ความว่องไว)ของกล้ามเนื้อ จึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสร้างเนอรอนตัวใหม่ๆ.
๕) มีบางส่วนในสมอง ที่สมองควบคุมไม่ได้.  มันอาจนิ่งเฉยไม่มีปฏิกิริยาใดๆ จนเมื่อคนนั้นเผชิญกับ “ ความเป็นอื่น ” (otherness). ความแตกต่างทั้งหลายทั้งปวง กระตุ้นให้สมองสร้างเนอรอนใหม่ๆ เพื่อเรียนรู้และรับมือกับความแปลกแยกนั้น. คล้ายๆกับพัฒนา “ สมองสังคม ” เหมือนพ่อแม่พาลูกๆออกงานสังคม เพื่อเสริมสร้างทักษะในการวางตัว การพูดคุยกับคนแปลกหน้า.
๖) ดูแลระบบไมโครชีววิทยาในร่างกาย.  งานวิจัยปัจจุบัน บอกให้รู้ว่า ลำไส้ของคนมีการติดต่อสื่อสารกับสมองตลอดเวลา.  นั่นคือการกินอาหารมีบทบาทสำคัญมากในการรักษาสมองให้แข็งแรงกระฉับกระเฉง. การกินอาหารหลากหลายชนิด กินอาหารที่มีใยอาหารมาก กระตุ้นให้สร้างแบ็คทีเรียบางชนิด. ใยอาหารนอกจากมีประโยชน์ต่อระบบการย่อยอาหารของร่างกายแล้ว ยังมีส่วนไปช่วยการสร้างเนอรอนในสมอง (ไยอาหารดีต่อร่างกาย แต่ก็มีข้อเสียเช่นกัน). การเลือกกินอาหารบางชนิดเท่านั้น หรือกินอาหารที่มีน้ำตาลสูง ไขมันสูง ทำให้เกิดแบ็คทีเรียหลายชนิดที่ไม่ช่วยให้สร้างเนอรอนตัวใหม่ๆ ไม่ว่าในวัยใด. จึงแนะนำให้กินอาหารหลายๆชนิด (หากเป็นไปได้) เปลี่ยนเมนูอาหารบ่อยๆ ดีกว่ากินอาหารซ้ำๆจำเจ แบบเดิมๆตลอดเวลา.
(ติดตามหาความรู้เพิ่มเติมจากนักวิจัยคนนี้ได้ตามลิงค์นี้ เป็นภาษาฝรั่งเศส >>

         นักประสาทวิทยาบางค่าย เสนอแนะให้อ่านหรือทำอะไรใหม่ๆที่ไม่เคยอ่าน ไม่เคยทำ เพื่อดึงตัวออกจากความจำเจ ความคุ้นชิน. การเลือกหัวข้อ(เช่นในกรณีของเราชาวอักษรฯ)วิทยาศาสตร์มาอ่าน แน่นอนเราคงอ่านไม่เข้าใจนักหรือไม่ชอบ แค่คิดว่าต้องไปอ่านเช่นเรื่องกลศาสตร์วิศวกรรม ก็เครียดแล้ว. เป็นการคิดเครียดก่อนเวลาจริง เมื่อลงมืออ่านจริงๆ โดยเฉพาะหากคนเขียน คนสอนเก่ง ก็อาจสร้างความสนใจใหม่ๆกับเราได้.  นั่นคือ ระหว่างที่เริ่มอ่านสิ่งที่ไม่เคยรู้ สมองคนสร้างเซลล์ตัวใหม่ๆเข้ารับมืออย่างฉับพลัน. ทีนี้อ่านไปอ่านไป ยังไม่รู้เรื่องหรือไม่สนใจ ก็หยุด.  เมื่อออกกำลังกาย เหนื่อยแล้วเราก็หยุดพัก ก็เท่านั้นเอง อย่าไปปริวิตกว่า อ่านแล้วเครียด. 
        คำแนะนำที่เขาเน้น คือ หาอะไรให้สมองทำในเรื่องใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นให้สร้างเซลล์สมองใหม่ๆ. งานวิจัยปัจจุบันยืนยันว่า สมองสร้างเซลล์ใหม่ๆได้ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด. หลักธรรมชาติถาวรคือ การสร้างเกิดขึ้นเพราะมีสิ่งกระตุ้น (motivation) เป็นประเด็นหลัก ในทำนองเดียวกับที่ความกลัวทำให้คนหาที่หลบซ่อน สร้างที่พักพิง ผลิตอาวุธฯลฯ.  ความกลัวทำให้เครียดได้ แต่ความเครียดผลักให้คิดค้นหาทางออกได้เช่นกัน. เมื่อสมองสร้างเซลล์ใหม่ๆเรื่อยๆ มันก็มีสุขภาพดี. วิธีการกระตุ้นเซลล์สมองให้คึกคักว่องไวอยู่เสมอ เราก็เลือกวิธีที่ถูกกับจริตของเราตามจังหวะชีวิตของเราเอง.
(ติดตามหาความรู้เกี่ยวกับเนอรอน เกี่ยวกับการสร้างเซลล์ประสาทหรือเนอรอน  neurogenesis. เซลล์ประสาทจำเป็นยิ่งเพื่อการธำรงชีวิต. เพจนี้จากสถาบันทางการของรัฐบาลสหรัฐฯชื่อ National Institute of Neurological Disorders and Stroke ข้อมูลภาษาอังกฤษ >> https://www.ninds.nih.gov/Disorders/patient-caregiver-education/life-and-death-neuron )

       นอกเหนือจากกิจกรรมที่กระตุ้นการสร้างเนอรอนใหม่ๆให้สมองแล้ว การนอนที่เพียงพอก็สำคัญยิ่งด้วย เพื่อให้สมองปลอดโปร่ง สดชื่น. (โปรดติดตามเรื่องการนอนในฉบับหน้า).
       ตลอดทั้งวัน ข้อมูลใหม่ๆหลั่งไหลท่วมท้นสมอง. ในคอมพิวเตอร์ หรือในมือถือ เมื่อมีข้อมูลเต็มจนไม่เหลือพื้นที่หน่วยความจำ  เราต้องลบข้อมูลอื่นๆทิ้งไป เพื่อหาพื้นที่สำหรับข้อมูลใหม่ที่เราจะใส่ลงไป. ฉันใดฉันนั้น สมองรับข้อมูลจำนวนมาก จนล้นและแออัดอยู่ภายใน บางข้อมูลสำคัญมาก บางข้อมูลไม่สำคัญ. สมองคัดกรองข้อมูลบ่อยๆทุกวัน เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ สมองจัดแยกแยะข้อมูลให้เหลือเท่าที่จำเป็น และลบข้อมูลที่สำคัญน้อย ที่ไม่เกี่ยวกับ “การอยู่รอด” โดยตรงออกไป เพื่อมิให้ข้อมูลล้นสมองจนเกินไป. เวลานอนเป็นเวลาที่สมองกำจัดข้อมูลที่ไม่จำเป็นออกไปในแต่ละวัน. เมื่อสมองกำจัดขยะข้อมูลใด คนลืมข้อมูลนั้น.  นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบเนอรอนบางตัวที่มีหน้าที่ช่วยคัดกรองความจำใหม่ๆที่เก็บมาตลอดทั้งวัน.  
      การกำจัดข้อมูลใด สมองเลือกอย่างไร น่าจะเป็นระบบที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน ดังที่เคยพูดมาแล้วว่า อะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งทางด้านกายภาพ(ตั้งแต่ดีเอ็นเอ เพศ โครงสร้างของร่างกายฯลฯ), ด้านอุปนิสัย(รวมจิตสำนึกและจิตวิญญาณ),  สภาพแวดล้อมในครอบครัว, ด้านการศึกษา, การประกอบอาชีพ, ด้านสังคม, ด้านวัฒนธรรมฯลฯ ทั้งหมดทุกๆด้านที่รวมตัวกันเป็นคนๆหนึ่ง. ฝรั่งเขาพูดว่า แม้แต่พระเจ้ายังเนรมิตสองคนให้เหมือนกันทุกประการไม่ได้ ทั้งภายนอกและภายใน. บางคนจำตัวเลขเก่ง เช่นจำเบอร์โทรศัพท์ของเพื่อนทุกคน ของญาติทุกคนได้เป็นต้น. บางคนจำรายละเอียดของสถานที่ต่างๆได้แม่นยำ. ความสนใจของแต่ละคนไม่เหมือนกัน มองอะไรไม่เหมือนกัน รู้สึกไม่เหมือนกัน. ส่วนตัวแล้ว จำประสบการณ์ในอดีตอย่างไม่มีวันลืม หากประสบการณ์นั้น ได้เข้าไปสั่นสะเทือนความคิดอ่าน อารมณ์ความรู้สึก อุดมการณ์ เป็นความจำที่ประทับลงในผัสสะ หรืออะไรที่โดนใจและดลใจให้ทำอะไรต่อมา ที่กระตุ้นให้มีพัฒนาการอะไรในตัวเรา (cf. mémoire involontaire : Marcel Proust ). อะไรที่ไม่สนใจ มันก็เลือนหายไป. เราอาจจำนวนิยายที่ทำให้เราร้องไห้ได้ไม่ลืม แต่ลืมวีรกรรมของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์(โดยเฉพาะเมื่อสอบเสร็จแล้ว).

      เมื่อคิดถึงความจำ เราต่างคิดว่า คือความสามารถในการเก็บบันทึกข้อมูล (เชื่อกันมาตลอดว่าเก็บไว้ในสมอง แต่มีงานวิจัยใหม่ๆให้ข้อมูลใหม่ว่า อาจไม่ใช่ที่สมอง. พักเรื่องนี้ไปก่อน) ให้มากที่สุดที่จะมากได้  ด้วยความแม่นยำถูกต้องที่สุด และให้คงอยู่(ในสมอง)นานที่สุดที่เป็นไปได้.  เราคิดว่า คนที่มีความจำแบบนี้ เป็นคนสมองใสสมองดี จำเก่ง. แต่การศึกษาวิจัยในเชิงประสาทชีววิทยาทั้งเรื่องความจำกับเรื่องการลืม ให้ข้อเท็จจริงที่พลิกความคิดความเชื่อที่เราเคยมีกันมาจนถึงทุกวันนี้. 
        สองนักวิจัย Paul Frankland et Blake Richards แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต ประเทศแคนาดา ได้นำประเด็นเรื่องการ(หลง)ลืม มาพิจารณาควบคู่ไปกับความจำอย่างละเอียดลออทางวิทยาศาสตร์ และลงพิมพ์ในวารสารประสาทวิทยา Neuron (Publisher : Cell Press). ผลสรุปจากการวิจัย ได้ทุบจนแหลกละเอียดหลักการเดิมๆที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันมา เกี่ยวกับบทบาทของความทรงจำและความสำคัญของการลืม.
        ในงานวิจัยนี้ ความสำคัญไม่ใช่การจำข้อมูลมากๆ แต่อยู่ที่ว่าข้อมูลที่จำได้นั้น มันช่วยการใช้ชีวิต และโดยเฉพาะการตัดสินใจในแต่ละขณะของชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด. ในมุมมองนี้ ความจำเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนสติและปัญญา มิใช่เป็นข้อมูลที่เรียงๆเต็มหน้าเต็มเล่มเต็มสมอง (ที่เป็นข้อมูลแบบ passive ในนัยที่ตรงข้ามกับ active).
       นักวิจัยทั้งสอง ยังได้ย้อนกลับไปพิจารณาการทดลองและงานวิจัยจำนวนมากที่ทำกันไว้และที่พิมพ์ออกมาก่อนหน้านั้น ทั้งทางด้านประสาทวิทยา ชีววิทยา และประสาทชีววิทยา และเสนอให้เห็นว่า ส่วนของสมองที่เรียกว่า hippocampus (ที่เป็นสมองส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการจำของคนนั้น) มิได้มีพฤติกรรมดังที่คนคิดและเชื่อกันมา. Paul Frankland ยืนยันว่า มีหลักฐานจำนวนมากที่บ่งบอกให้รู้ว่า กลไกที่ทำให้เกิดการสูญเสียความทรงจำนั้น ไม่ใช่กลไกเดียวกับที่สมองใช้เมื่อสะสมข้อมูล. แต่กระบวนการทำงานของสองกลไกนั้นเชื่อมโยงกัน. ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีการสร้างเนอรอนตัวใหม่ๆ ในสมองส่วน hippocampus  เท่ากับการกระตุ้นการลืมเพื่อให้มีพื้นที่สำหรับเนอรอนตัวใหม่ๆ เก็บข้อมูลใหม่ๆ.
        สองนักวิจัยได้ยกตัวอย่างพร้อมการวิเคราะห์อย่างละเอียด สรุปสั้นๆได้ว่า สมองลืมรายละเอียดเกร็ดย่อยของห้องหนึ่งหรืออาคารหนึ่ง แต่จำภาพรวมของพื้นที่บริเวณนั้น สร้างภาพรวมของเขตนั้นที่กว้างขยายออกไป. วิธีนี้เท่ากับพัฒนาเครือข่ายการรับรู้ให้กว้างออกไป. เหมือนมองโลกในมุมกว้างขึ้น. การลบความจำเก่าๆออกไป สร้างความยืดหยุ่นให้สมอง (ทดลองกับหนูในห้องแล็บอย่างเป็นหลักเป็นฐาน) สมองสร้างเนอรอนใหม่ๆเพราะต้องจำสิ่งใหม่ๆ. งานวิจัยของทั้งสอง ได้เปิดแขนงการศึกษาเรื่อง ประสาทชีววิทยาของการลืม.

      การลืม กลายเป็นกลไกพื้นฐานที่เกี่ยวโยงไปถึงการเกิดเนอรอนตัวใหม่ๆในสมอง. เมื่อเป้าหมายของการมีความทรงจำ คือ ทำให้บุคคลหนึ่งสามารถตัดสินใจได้ถูกต้องในบริบทแวดล้อมของแต่ละขณะ  จำเป็นต้องลืมข้อมูลบางอย่างเพื่อให้บรรลุศักยภาพที่ต้องการ เพื่อให้สมองพัฒนาประสิทธิภาพของการตัดสินใจ. เช่นนี้ ความจำและการลืมมีความสำคัญพอๆกันและจำเป็นเพื่อให้สติปัญญารู้จักวินิจฉัยและตัดสินใจทำในสิ่งที่ดีที่สุด. การลืมช่วยให้สมองยืดหยุ่น ด้วยการลบอิทธิพลจากข้อมูลล้าสมัยที่ติดอยู่ และป้องกันการยึดติดกับเหตุการณ์จำเพาะเจาะจงในอดีต เช่นนี้ทำให้คนนั้นมองเหตุการณ์ปัจจุบันในมุมกว้างออกไปจากมุมเดิมๆที่เขาคุ้นชิน. ในมุมมองนี้ ความจำกับการลืมมีความสำคัญเสมอกันในระบบความทรงจำของคน.
        สรุปแล้ว การลืมทำให้มีพื้นที่เพื่อบรรจุข้อมูลใหม่.  Francis Eustache นักประสาทจิตวิทยาแห่งสถาบัน INSERM ได้สรุปสถานะของการวิจัยปัจจุบันว่า « การกระตุ้นอย่างสม่ำเสมอของเครือข่ายกระทำงานในสมอง น่าจะเป็นการกระชับหรือตัดเกลียวสายใยวงจรในสมอง ซึ่งคือการกระชับหรือตัดความจำ (แล้วแต่กรณี). จำเป็นที่ต้องย้ำเจาะจงว่า ยกเว้นคนที่เป็นโรคหรือสมองพิการ การลืมเกี่ยวพันกับสมรรถภาพที่สมบูรณ์ดีของความจำ.»

        การศึกษาวิจัยที่ผ่านมา ทำให้สองนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต สรุปว่า เมื่อสมองบริหารความจำกับการลืมเข้าด้วยกันได้อย่างพอเหมาะ คนนั้นจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทั้งทางสติปัญญาและจิตวิญญาณ.
        ความยืดหยุ่นเป็นกุญแจของการทรงตัวที่สมดุล ไม่แข็งทื่อ ทั้งร่างกายและจิตใจ.  นึกถึงต้นอ้อที่ลู่ไปตามทิศทางลม เอาตัวรอดได้ในพายุ แต่ต้นไม้ที่รากไม่หยั่งลึกไปไกลพอ ถูกพายุถอนขึ้นทั้งรากทั้งโคน. การก่อสร้างอาคารตึกรามบ้านช่องทุกตึกในญี่ปุ่น ต้องสร้างพร้อมกระบวนการวิศวกรรม ที่ช่วยพยุงทั้งตึกให้โยกเอียงเมื่อเกิดแผ่นดินไหว โดยไม่ทำให้ตัวอาคารร้าวหรือแตกลงตรงไหน เช่นนี้ อาคารมิได้ตั้งต้านแรงกระเทือน แต่โอนอ่อนผ่อนตามไปบ้าง ลดความเสียหายของอาคารบ้านเรือนได้มากที่สุดจนถึงระดับหนึ่ง.
         การลืมเหมือนการปล่อยวางสิ่งที่ผ่านไปให้ผ่านไปเลย ส่วนการจำข้อมูลใหม่ๆ เป็นการท้าทายสมองมิให้เฉื่อยชาอยู่ในความจำเจ. เซลล์สมองเกิดขึ้น ตั้งอยู่และเสื่อมไป ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ.  การลืมจึงเป็นกระบวนการปกติของคนปกติ. การมีกิจกรรมใหม่ๆคือการสร้างเซลล์สมองเข้าไปทำหน้าที่พิเศษใหม่ๆ.  สมองคนฟิตทำกิจกรรมตลอดเวลา และชอบพเนจร อย่าปล่อยให้มันขี้เกียจ เหมือนคนไม่มีอะไรทำ ไม่มีเป้าหมาย อยู่ไปวันๆ เรื่อยๆเปื่อยๆ แล้วอืดๆอาดๆ เหนื่อยหน่าย ในที่สุดสมองเสื่อม หมดสภาพ.  สมองฟิตสมองที่คล่องตัว สังเคราะห์ประสบการณ์ใหม่ๆ เปิดเส้นทางสู่ความคิดสร้างสรรค์และหรือการเรียนรู้ใหม่ๆ.
( ผู้สนใจอยากรู้รายละเอียดในงานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์อย่างเจาะลึก เรื่องความจำกับการลืม ติดตามไปอ่านงานวิจัยเรื่อง The Persistence and Transcience of Memory ของ Balke A. Richards และ Paul W. Frankland ตามลิงค์นี้ >>
ในบทความนี้ คำ persistence หมายรวมๆถึงความจำ ส่วนคำ transcience หมายรวมๆถึง การลืม)

        มีกรณีของคนที่มีความจำสมบูรณ์ จำได้ทุกอย่าง ที่จำมาก็ไม่เคยลืม. ความจำสมบูรณ์เช่นนั้นเมื่อเกินขีดจนกลายเป็นนิสัยถาวร เขาเรียกว่า ไฮเปอ-มเนเซีย (hypermnesia) เป็นโรคจิตแบบหนึ่ง โรคนี้เกิดขึ้นกับชนกลุ่มน้อย.  A. R. Luria นักประสาทจิตวิทยาผู้ศึกษาวิเคราะห์เรื่องนี้ติดต่อกันมานาน เล่าตัวอย่างของคนเป็นโรคความจำดีเกินในหนังสือของเขาชื่อ L’esprit d’un mnémoniste (1968). เขาสรุปว่า คนไข้ไม่เคยลืมอะไรที่เขาจำมาเลย ความจำเหนือมนุษย์ของเขา กลายเป็นความพิการแบบหนึ่งในชีวิตของเขาผู้นั้น. เขาไม่อาจสร้างภาพรวมจากข้อมูลเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย คือรู้แต่เรื่องปลีกย่อย แต่ไม่อาจโยงไปถึงภาพรวม ถึงเนื้อหากว้างขึ้นๆ. ความจำกลายเป็นขยะสุมกองอยู่ในหัว  ทำให้คิดวนเวียนกับสิ่งที่เขาจำได้ และไม่ว่าใครกำลังเล่าเรื่องอะไร หากเผอิญมีชื่อที่คนความจำดีเกิน เคยฟังเคยรู้มาก็จะแทรกเล่าถึงความจำเกี่ยวกับคนนั้น เหมือนเสริมเชิงอรรถให้ (โดยไม่จำเป็น, โดยไม่มีใครขอให้เล่า และที่เขารู้ก็ไม่เกี่ยวกับประเด็นของเรื่องที่อีกคนกำลังเล่าเป็นต้น). ไม่ว่าอะไรเมื่อใด จะย้อนเอาความจำเดิมๆของเขา ออกมาบอกเล่า หรือโยงไปถึงเรื่องเก่าๆที่เขาจำได้ตลอดเวลา. มักทำให้เขาชอบพูดมากกว่าฟัง ทำให้เขาไม่มีสมาธิเจาะลึกถึงปัญหาอื่นหรือปัญหาใหม่ เนื้อหาใหม่ๆ จนอาจกลายเป็นคนไม่รับรู้หรือสนใจเรื่องใหม่ๆ  ปิดอยู่ในความจำของตัวเองและภูมิใจที่จำอะไรต่ออะไรได้มากมาย. อาจเหมือนการเคี้ยวเอื้อง ไม่สนใจหาอาหารสมองใหม่ๆ.
     
      สมองคนเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่สุดในร่างกายคนและในจักรภพ. คนยังเข้าใจไม่ถึงครึ่ง. การวิจัยใหม่ๆที่ทำกันมาอย่างไม่ลดละในช่วงสิบปีหลัง ให้ข้อมูลความรู้ใหม่ๆเป็นปริมาณมากกว่าความรู้ที่เคยมีและสืบทอดกันมาตลอดหลายสิบศตวรรษที่ผ่านมา.
        เนอรอนส่วนใหญ่มีอยู่แล้วในสมองตั้งแต่เราเกิด มันเกิดอยู่ในส่วนของสมองที่เป็นศูนย์รวมของสเต็มเซลล์ประสาท. สเต็มเซลล์ประสาทเหล่านั้น ส่วนใหญ่มีศักยภาพในการสร้างเนอรอนชนิดต่างๆและเซลล์เกลีย (glia หรือ glial cells ที่มีจำนวนมากในสมอง เป็นเซลล์ที่ห้อมล้อมประคองเนอรอนและแบ่งแยกเซลล์เนอรอนออกเป็นเอกเทศ). การศึกษาเรื่องสเต็มเซลล์ยังนับว่าอยู่ในขั้นเริ่มต้น มีการทดลองเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ในห้องแล็บเรื่อยมา และได้ให้ข้อสรุปใหม่ๆออกมา. ข้อเท็จจริงข้อหนึ่งคือ สเต็มเซลล์เพาะเลี้ยงได้ แต่จะให้ได้สเต็มเซลล์ที่มีประสิทธิภาพเต็มนั้น ขึ้นอยู่กับพื้นที่เพาะปลูก, เหมือนปลูกต้นไม้ในดินต่างชนิดกันเช่นดินทราย ดินเหนียว ดินร่วนซุยฯลฯ ต้นไม้ที่ปลูกเจริญไม่เท่ากัน. สเต็มเซลล์ปลูกขึ้นงามเมื่ออยู่ในพื้นที่ อ่อนโยนที่แนะให้คิดว่า หากปรับพื้นที่แห้งเหี่ยว ที่แข็งตัวในสมอง(อันเกิดจากความชรา) ให้เป็นพื้นที่อ่อนนุ่มน่าอยู่ สเต็มเซลล์ก็เจริญเบิกบานและสร้างเนอรอนใหม่ๆได้ต่อไปอีก.   
         ที่น่ายินดียิ่งคือ งานวิจัยปัจจุบันยืนยันว่า เนอรอน (neurogenesis) เกิดใหม่ได้ตลอดอายุขัยของคน. เนอรอนสมองโดยเฉพาะอยู่ติดตัวเราตลอดชีวิต เมื่อเนอรอนตาย ไม่มีเนอรอนใหม่เข้าแทนที่ตัวเก่า แต่สมองสร้างเนอรอนใหม่ๆขึ้นได้แบบเฉพาะกิจ. นักประสาทวิทยาจึงแนะนำการกระตุ้นให้สมองทำงาน ให้สร้างเนอรอนตัวใหม่ๆเสมอๆ (แทนการไปยึดติดกับเนอรอนตัวเก่าๆที่จักสลายลงไปเรื่อยๆ) สมองก็คล่องแคล่วฉับไวเหมือนหนุ่มสาว.

ส่วนตัวมีอะไรคาค้างใจอยู่ข้อหนึ่ง คืองานวิเคราะห์วิจัยในแขนงประสาทชีววิทยา (และในวิทยาศาสตร์แขนงอื่นๆอีกมาก รวมทั้งการแพทย์) หยุดอยู่ที่เป้าหมาย เช่นหยุดอยู่ที่การศึกษาเซลล์ประสาท โดยไม่โยงไปถึง “ระบบนิเวศฉบับส่วนตัวที่เป็นฉบับจิ๋ว” ที่เป็นที่เกิด ที่ตั้งและที่สลายลงของเซลล์ประสาทเหล่านั้น. เหมือนเราศึกษาวิเคราะห์ผลแอปเปิลที่เราปลูกในสวน ว่ามันมีรสชาติอย่างไร ดอกผลิเมื่อไร มันหอมกว่าผลอื่นไหม มีแมลงมากัดแทะที่ไหน ฯลฯ โดยไม่เคยสนใจว่า ดินที่ต้นแอปเปิลขึ้นอยู่นั้น เป็นอย่างไร, มีชั้นดินแบบไหน, รากไปถึงไหน, ใต้ดินลึกๆลงไปมีสารอาหารอะไรฯลฯ. ในกรณีของสมอง นักวิทยาศาสตร์ศึกษาอวัยวะที่เรียกว่า สมอง เปลือกสมอง ส่วนต่างๆของสมองเป็นต้น ดูเหมือนยังไม่มีใครจับประเด็นพื้นที่ที่สมองตั้งอยู่ ขึ้นมาพิจารณาควบคู่กันไป ว่าน้ำที่หล่อเลี้ยงสมองอยู่ 75% นั้นไม่มีบทบาทใดๆหรือในกระบวนการทำงานของเซลล์ประสาท. ดูเหมือนว่า กระบวนการวิเคราะห์ตามหลักการของควอนตัมฟิสิกส์ยังถูกละเลย.

ที่เขียนสรุปย่อๆมานี้ ผู้สรุปหวังให้โอกาสสมองสร้างเนอรอนตัวใหม่ๆ
ส่วนผู้อ่านที่ตั้งใจอ่านก็ให้โอกาสสมองสร้างเนอรอนใหม่ๆเช่นกัน.
มาถึงจุดนี้ คงเข้าใจแล้วว่า
Forget to remember คือ forget in order to remember
Forget what in order to remember what?
ลืมข้อมูลเก่าๆที่ไม่สำคัญ เพื่อจำข้อมูลใหม่ๆ
àหาข้อมูลดีๆใหม่ๆ เลี้ยงดูเนอรอนซะนะ
แล้ว who forgets ? ใครเลือกจำ ใครรู้จักลืม?
We, I, everyone ?  ตัวฉันหรือ 
Neurons ต่างหากที่บริหารจัดการตัวฉัน
แล้ว who am I ? 
ฉันอยากจำก็ไม่ได้ อยากลืมก็ไม่ได้ เพราะความจำไม่ได้ขึ้นอยู่กับความอยากของฉัน 
ฉันจะหาตัวฉันได้ที่ไหนล่ะ ฉันคือเนอรอนตัวไหนหรือ
who am I ?


โชติรส รายงาน
๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๒.