Sunday, August 18, 2019

Oxygen

ออกซิเจน เกราะกันโรค

น้ำเป็นสารประกอบ(compound) โมเลกุลน้ำประกอบด้วยอะตอมไฮโดรเจนสองอะตอมและอะตอมออกซิเจนหนึ่งอะตอม.
      ออกซิเจน  Oxygen มาจากคำฝรั่งเศส principe oxygène ที่นักเคมีฝรั่งเศส Antoine Lavoisier เป็นผู้คิดคำขึ้นในปลายศตวรรษที่ 18 เพราะเชื่อว่าเป็นธาตุที่ทำให้เกิดกรด และใช้กันต่อมา โดยตัดใช้คำเดียว oxygène มาเป็นคำ oxygen ในภาษาอังกฤษ. 
แผนภูมิอะตอมออกซิเจน ใจกลางอะตอมหรือนิวเคลียส ประกอบด้วย อนุภาคโปรตอนแปดตัว มีประจุบวก (เม็ดเล็กๆสีแดง เรื่องสีที่เห็นในภาพนั้น เพื่อความชัดเจนเท่านั้น ในความเป็นจริงอนุภาคเล็กขนาดนี้ภายในอะตอม ไม่มีสี. ก๊าซออกซิเจนเอง ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส แต่ออกซิเจนเหลว หรือออกซิเจนในสภาพแข็ง มีสีออกฟ้าๆ) และอนุภาคนิวตรอน (เม็ดเล็กๆสีน้ำเงิน) แปดตัว มีประจุไฟฟ้าเป็นกลาง (เป็นบวกหรือลบ). นิวเคลียสออกซิเจน มีวงล้อมสองชั้น ชั้นในมีอนุภาคอิเล็กตรอนสองตัว และชั้นนอกมีหกตัว รวมกันเป็นอนุภาคอิเล็กตรอน แปดตัว มีประจุลบ. เพราะมีอิเล็กตรอนชั้นนอกมาก จึงทำให้ออกซิเจนมีประจุไฟฟ้าลบมากกว่า.
(ภาพจากเพ็จ Electricalwiringcircuit.me แสดงไดอาแกรมออกซิเจนตามที่ Bohr & Rutherford ได้เสนอไว้)
        การวาดแผนภูมิแสดงอะตอมนั้น โดยเฉพาะเมื่อเจาะจงจำนวนอิเล็กตรอน อาจวาดเป็นวงกลมหลายวง ที่ขยายใหญ่ขึ้นๆ ซ้อนลง ดังภาพข้างบนนี้. วงล้อมอิเล็กตรอนรอบนิวเคลียสนั้น มีหลายชั้นได้แล้วแต่ธาตุชนิดต่างๆ ยิ่งมีอิเล็กตรอนมาก ก็แบ่งอิเล็กตรอนออกไปในวงล้อมชั้นนอกๆออกไป. เพราะแต่ละชั้น มีศักยภาพในการรับจำนวนอิเล็กตรอนไม่เท่ากัน. ชั้นที่อยู่ใกล้นิวเคลียสที่สุด รับได้ไม่เกินสองอิเล็กตรอนเป็นต้น.
เมื่อต้องการแสดงเส้นทางโคจรของอิเล็กตรอนรอบๆนิวเคลียสหรือใจกลางของอะตอม ก็เปลี่ยนไปวาดเส้นวงรีซ้อนลงไปดังภาพข้างล่างนี้
ภาพวาดแบบนี้ มักไม่เจาะจงอนุภาคนิวเคลียส ละไว้ในฐานเข้าใจว่าประกอบด้วยโปรตอน(และนิวตรอนที่อาจมีหรือไม่ก็ได้) แต่ต้องการเจาะจงเส้นทางเดินของอิเล็กตรอน เพื่อประโยชน์ในการสาธิตเรื่องอื่นเป็นต้น. แบบนี้จึงเห็นเส้นทางโคจรของอิเล็กตรอนเหมือนเส้นทางโคจรของดวงดาวในระบบสุริยะ.
        บรรยากาศโลกประกอบด้วยออกซิเจนประมาณ 21% ของปริมาตร ปริมาณออกซิเจนนี้ เป็นปริมาณเฉลี่ยกึ่งกลางที่พอเหมาะกับคน. นั่นคือหากปริมาณของออกซิเจน มีน้อยกว่า17% ของปริมาตรแล้ว คนหายใจติดขัด  หรือหากมีปริมาณมากกว่า 25% ของปริมาตร สารประกอบอินทรีย์หรือสารออแกนิคจำนวนมากอาจลุกไหม้ได้.  ธาตุออกซิเจนและสารประกอบที่มีออกซิเจน รวมกันเป็น 49.2% ของเปลือกโลกชั้นนอก.
        เข้าใจกันว่า ออกซิเจนปรากฏขึ้นในบรรยากาศโลกเมื่อประมาณสองพันล้านปีก่อน จากการสังเคราะห์แสงของสาหร่ายทะเลสีน้ำเงินเขียวๆ.  การสังเคราะห์แสงดังที่รู้กัน ใช้พลังแสงแดดที่ทำให้น้ำแตกแยกตัวเป็นออกซิเจนและไฮโดรเจน. ออกซิเจนเข้าสู่บรรยากาศโลก ส่วนไฮโดรเจนที่ไม่ชอบอยู่ตามลำพัง(เพราะเป็นก๊าซที่เบามาก) เข้ารวมกับคาร์บอนไดออกไซด์ สร้างมวลชีวภาพขึ้น. ออกซิเจนละลายในน้ำได้ดีพอสมควรจึงเอื้อต่อการธำรงวงจรอากาศ วงจรชีวิตในน้ำ ตามแม่น้ำ ทะเลสาบและมหาสมุทร. สิ่งมีชีวิตรับออกซิเจนเข้าไปในร่างกายด้วยการหายใจเข้า และเมื่อหายใจออก คายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์. สองในสามของมวลร่างคน คือออกซิเจนและหรือสารประกอบที่มีออกซิเจนเช่นน้ำ.
       การหายใจเข้าเป็นพฤติกรรมแรกของทารกแรกเกิดและจักเป็นพฤติกรรมอัตโนมัติของคนไปจนถึงนาทีสุดท้ายของชีวิต. เราหายใจเข้าออกอย่างอัตโนมัติ โดยมิได้ใส่ใจนัก. แต่การหายใจที่ถูกต้อง นักคิดนักปราชญ์โบราณ ได้วางหลักการหายใจที่ถูกวิธีมานานสองพันกว่าปีแล้ว  เพราะการหายใจที่ถูกต้อง สร้างความสมดุลและพัฒนาสุขภาพ.    ศาสตร์โยคะของอินเดียก็เน้นสอนให้รู้จักควบคุมลมหายใจทุกวินาที ในทุกสภาพบริบทแวดล้อม. คนที่รู้จักควบคุมลมปราณหรือ Prana ของตนเอง เท่ากับเสริมสร้างพลังชีวิตแก่ตนเอง, ลมปราณจึงคือพลังชีวิต. อารยธรรมกรีกมองว่า การหายใจเป็นการเชื่อมร่างกายกับจิตวิญญาณ หากทั้งสามปัจจัยสมดุลกัน ก็เท่ากับมีสุขภาพดี. Thích Nhất Hạnh [ทิช เนี้ยด หั่น] (เกิดปี 1926 เป็นพระครูชาวเวียตนาม ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านพลัมหรือ Plum Village เป็นพระภิกษุนักสู้เพื่อสันติภาพ) ได้กล่าวไว้เช่นกันว่า  การหายใจเป็นสะพานเชื่อมชีวิตกับวิญญาณสำนึก, เชื่อมร่างกายกับความคิด.  ประสาทวิทยา งมอยู่นานพันปี กว่าจะกวดตามภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่รู้จักพลังอำนาจของการหายใจกับการมีสติ.
        ในแพทย์แผนจีน ใช้ศิลปะ Qigong 氣功 [คี่กง][1] เพื่อทำให้ร่างกายผ่อนคลาย สมดุลและทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะดีขึ้น เช่นระบบย่อยอาหาร.  ลมหายใจเหมือนเข้าไปบีบนวดอวัยวะต่างๆให้กระฉับกระเฉง ช่วยให้เลือดไหลดี  อีกทั้งเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้เสถียรด้วย. ไม่ว่าแบบอินเดียหรือแบบจีนหรือแบบอื่นใด เทคนิคการหายใจมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสุขภาพ. พูดสั้นๆง่ายๆว่าเลือดดูดออกซิเจนจากลมหายใจเข้าและนำส่งไปสู่เซลล์ทั่วทั้งร่าง.
        มลภาวะสมัยปัจจุบันทำให้อากาศไม่บริสุทธิ์. ในฝรั่งเศส มีการนำอากาศบนเขาสูง ไปตรวจสอบคุณภาพ และพบอนุภาคของปลาสติกขนาดจิ๋วในจำนวนใกล้เคียงกับที่ปนในอากาศบนที่ราบกลางเมือง ทั้งๆที่บนเขาสูงนั้น ไร้คนอาศัย ไร้ควันหรือโรงงาน. จึงไม่น่าแปลกใจว่า ควันบุหรี่ ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม จากยานพาหนะบนท้องถนนในเมือง โดยเฉพาะที่กรุงเทพมหานคร จะมีปริมาณมลพิษมากเพียงใด.
         อากาศบริสุทธิ์ในบรรยากาศโลก ควรประกอบด้วยไนโตรเจน 78%  ออกซิเจน 21% และก๊าซมีตระกูลอื่นๆอีก 1% (ก๊าซมีตระกูล-noble gas คือก๊าซที่ไม่ทำปฏิกิริยากับธาตุอื่นๆ ไม่ทำให้เกิดสารประกอบคลอไรด์ ออกไซด์และซัลไฟด์ เช่นฮีเลียม นีออน). ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศไม่ควรเกิน 0.04 %.  
         ตราบใดที่ปริมาณออกซิเจนในอากาศไม่ต่ำลงกว่า 18% อากาศนั้นดีใช้ได้สำหรับมนุษย์. แต่หากมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมาก โดยเฉพาะมากกว่า 0.1% ถือว่าเป็นอากาศเลว และเมื่อเกินเลยไปถึง 1% คนจะปวดศีรษะ เหนื่อยล้าหมดแรง.  ยิ่งอากาศแห้งเพราะเครื่องปรับอากาศ อีกทั้งกลิ่นอับชื้น ยิ่งทำลายคุณภาพของอากาศ. คาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นอีกมากด้วยเมื่ออยู่ในฝูงคนกลุ่มใหญ่.
         อากาศที่หายใจผ่านจมูก มีปริมาณออกซิเจนสูงสุดอยู่ที่ 21% ของปริมาตร แต่ปริมาณออกซิเจนที่เหลือภายในร่างกายหลังจากหายใจออก  มีเพียงประมาณ 4% เท่านั้น. นั่นหมายความว่า อากาศในลมหายใจออกมีออกซิเจน 17% และคาร์บอนไดออกไซด์ 4%. ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในลมหายใจออก ยิ่งสูงขึ้นเป็นร้อยเท่า ถ้าคนหายใจคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปมาก.  
        หากนับการหายใจปกติของคนอยู่ที่ 17 ครั้งต่อหนึ่งนาที (เด็กๆหายใจเข้ามากครั้งกว่าผู้ใหญ่) และปริมาตรของอากาศอยู่ที่ 0.5 ลิตรต่อการหายใจแต่ละครั้ง เท่ากับเราหายใจอากาศเข้าไปในร่างกายประมาณ 8.5 ลิตรต่อนาที หรือประมาณ 12,200 ลิตรต่อวัน และประมาณสี่ร้อยกว่าล้านครั้งในชั่วชีวิตหนึ่ง. อากาศผ่านเข้าสู่ปอดเราประมาณ 370,000 ลูกบาศก์เมตรตัวเลขดังกล่าวเป็นค่าเฉลี่ย เพราะปริมาตรที่แท้จริงนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดรูปร่างคน หรือความถี่ในการหายใจที่แตกต่างกันในแต่ละคน. ดังนั้น แต่ละวันปริมาณออกซิเจนที่หายใจเข้า อยู่ระหว่าง 500-2000 ลิตร. 
          วิถีชีวิตของแต่ละคน ส่งผลต่อความต้องการออกซิเจนของร่างกาย, คนที่มีกิจกรรมมาก ออกกำลังมาก ต้องการออกซิเจนมากกว่าคนที่อยู่เหย้าเฝ้าเรือน. คนที่ออกกำลังมาก ก็มีสมรรถภาพในการเก็บกักอากาศได้ดีกว่า. ปอดของผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี กักอากาศไว้ภายในหน้าอกเราประมาณ 5-6 ลิตรนักว่ายน้ำนักดำน้ำทั้งหลาย ฝึกหายใจเข้านานๆอย่างสม่ำเสมอให้เป็นนิสัย เพื่อกักอากาศให้ได้มากที่สุด (สถิติสูงสุดอยู่ที่ 6.5 ลิตร). ยิ่งเขาเก็บอากาศไว้ในร่างกายมากเท่าใด เขายิ่งว่ายน้ำดำน้ำได้เร็วขึ้นเพราะกลั้นหายใจได้นานขึ้น
          ปอดกักอากาศ ลิตรไว้เสมอในร่างกาย. ลมปริมาตรนี้เรียกกันว่าเป็น the dead volume เป็นลมปราณมวลสุดท้ายที่จะออกจากตัวเมื่อคนสิ้นใจหรือสิ้นลม. การที่หมอให้คนไข้เข้าอบในตู้ออกซิเจนเป็นความพยายามที่จะอัดออกซิเจนเข้าไปในร่างกาย ผยุงปริมาณต่ำสุดของอากาศภายในร่างกาย เพื่อที่เลือดจะได้ดูดออกซิเจนส่งไปยังปอด หัวใจ สมอง ทำให้มีกระบวนการผดุงชีวิตต่อไปในร่างกาย.[2]  
        จมูก ปากและปอดนำออกซิเจนเข้าไปในเลือด เพื่อให้หัวใจแจกจ่ายออกซิเจนไปสู่เซลล์ทุกเซลล์ในร่างกาย. ดังที่รู้กันแล้วว่า ออกซิเจนเข้าไปทำปฏิกิริยาชีวเคมีในร่างกาย เช่นเปลี่ยนอาหารให้เป็นพลังงาน เผาไขมัน โปรตีน คาร์โบไฮเดรตให้เป็นกลูโคสและน้ำตาลเป็นต้น.
ดูแผนภูมิข้างล่างนี้ แสดงปริมาณของออกซิเจนเทียบกับธาตุอื่นๆที่เป็นองค์ประกอบของชีวิตคน

         ออกซิเจน เป็นเกราะสำคัญในการต่อสู้พิษ เชื้อโรคต่างๆที่ร่างกายรับไว้ไม่ได้ เหมือนอาหารไม่ย่อย ร่างกายจึงพยายามกำจัดออก. ความเจ็บปวดของร่างกาย เกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในร่างกาย  เป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับระบบธรรมชาติในร่างกาย และร่างกายขจัดมันออกไปไม่หมดหรือไม่ได้. หากเราปรับหรือหยุดนำเข้าสิ่งที่ไม่เป็นมิตรกับร่างกาย ร่างกายก็ฟื้นฟูตัวเอง กลับมีสุขภาพดีขึ้นได้.
        ออกซิเจน ณอุณหภูมิ 20 ⁰C อยู่ในสถานะของก๊าซ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น. คนใช้ออกซิเจนมากที่สุดในอุตสาหกรรมเหล็กกล้า และในการผลิตสารเคมีหลายชนิด รวมถึงกรดไนตริกและไฮโดรเจนเพอรอคไซด์ (oxygen peroxide) ที่ใช้ในการสกัดกั้นโรคติดต่อ หรือในการทำยาฟอก เช่นยาฟอกผม.  ออกซิเจน เป็นองค์ประกอบในสารอื่นๆอีกหลายประเภท. ก๊าซออกซิเจนถูกนำมาใช้มากขึ้นในกระบวนการกำจัดน้ำเสียและในท่อระบายน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม.
        อากาศ หรือคำ ฮวง ในสำนวน 風水 หรือ Feng Shui. จุ้ย คือ คำ น้ำ. คำฮวงจุ้ยที่คนไทยใช้กัน มักเน้นไปถึงพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ในการตั้งสุสสานของบรรพบุรุษ แต่ความหมายของคำนี้ มิได้จำกัดอยู่ที่การจัดทิศทางหรือตำแหน่งบนพื้นที่หนึ่งเท่านั้น แต่รวมถึงสภาพแวดล้อมธรรมชาติในทุกมิติ. ในมิติของร่างกายคนก็เช่นกัน หากร่างกายได้รับอากาศดี ได้ดื่มน้ำดี ฮวงจุ้ยของร่างกายย่อมดี และจักเอื้อต่อการเจริญพัฒนาไปในทิศทางที่ดี.  เดี๋ยวนี้การแพทย์ตระหนักรู้แล้วว่า การต่อสู้โรคร้ายเช่นมะเร็ง คือการเพิ่มปริมาณออกซิเจนในร่างกาย และการมีน้ำดื่มที่สะอาดบริสุทธิ์ จักเข้าไปเป็นตัวชำระล้างขับสารพิษหรือสิ่งโสโครกให้ออกไปจากร่างกาย. 
พยายามอยู่ในที่อากาศบริสุทธิ์ อากาศดีทำให้สุขภาพดี จิตใจเบิกบาน

โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์
๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๒



[1]  คี่กง เป็นกระบวนการออกกำลังและการทำสมาธิแบบหนึ่ง ที่ผนึกปรัชญาจีน หยินหยัง เข้าไปด้วย ในทำนองว่า หยิน Ying คือการตั้งอยู่ และ หยัง Yang คือการทำ. หยินคี่กง เป็นท่วงท่าที่ผ่อนคลาย ยืดออก มองไกล หายใจยาวๆ. ส่วน หยังคี่กง มีท่วงท่าที่กระฉับกระเฉงกว่า. เชื่อกันว่า ทั้งสองกระบวนการช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย. ในประเทศจีน คี่กง เป็นหนึ่งในกระบวนการป้องกันโรคมะเร็ง. ถ้าคนป่วยเป็นมะเร็งแล้ว  มีกำลังพอลุกขึ้นออกกำลังได้ ก็คงจะดีมาก อาจช่วยยับยั้งการลุกลามของโรคได้.
          การเคลื่อนไหวทั้งร่างกายและจิตสำนึกไปพร้อมกัน ตามวิถีของ คี่กง นั้น ทำให้พลังงาน คี่ Qi ไหลผ่านไปตามช่องทางเดิน(เลือด, ลม)สิบสองช่องสำคัญๆของร่างกาย และอีกแปดช่องพิเศษ (นึกภาพกันเองนะคะ). เชื่อกันว่าการเคลื่อนไหวร่างกายทั้งด้วยท่วงท่าช้าๆอย่างสม่ำเสมอและท่ากระฉับกระเฉงสลับกันนั้น กระตุ้นให้พลังลื่นไหล และกระชับสมรรถภาพของอวัยวะต่างๆ. แพทย์แผนจีนใช้การออกกำลังแบบคี่กง เพื่อธำรงสุขภาพ ป้องกันการเจ็บป่วย และยืดอายุ.
        เมื่อระบบอวัยวะต่างๆทำงานสอดคล้องกันดี ไม่สะดุด สร้างความสมดุลขึ้นทั้งภายในและภายนอก  เพราะไม่มีท่วงท่าการเคลื่อนไหวใดใน คี่กง ที่เน้นอยู่เฉพาะจุดใดจุดหนึ่งของร่างกาย แต่เป็นการเคลื่อนตัวสอดคล้องกันตั้งแต่หัวจรดเท้า.  คนที่ฝึกคี่กง หากบรรลุความสงบได้ ก็เท่ากับว่า พลังคี่ในตัวพบความสมดุล.  เหมือนแนวพุทธปรัชญา ประเด็นหลักคือการปล่อยวาง ปล่อยความคิด ปล่อยอารมณ์ต่างๆ ออกไปจากร่างกาย.  นอกกรอบของการแพทย์  คี่กงยังเป็นศิลปะการต่อสู้และการป้องกันตัวแบบหนึ่ง และเป็นการทำสมาธิด้วย นำไปสู่การมีสติ ไปจนถึงการเจริญปัญญา. อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ >> https://www.consciouslifestylemag.com/qigong-exercises-healing-energy/

[2] ตั้งแต่โบราณกาลมาแล้ว มีลมในร่างกาย คือมีชีวิต, เมื่อหมดลมหรือสิ้นลม คือตาย. เมื่อหยุดหายใจแล้ว ร่างยังอุ่นๆ คนก็ยังมีความคิดที่จะรักษาลมปราณที่ยังเหลืออยู่ในร่างกาย ด้วยการอุดทวารทั้งเก้า ด้วยความหวังว่าลมที่มีนีหละที่จะทำให้คนนั้นกลับมีชีวิตใหม่ได้.  
         ในวิสัยทัศน์ของชาวจีน  เมื่อคนเกิดจะได้รับส่วนแบ่งหนึ่งส่วนของลมแห่งชีวิตที่ครอบจักรวาลเราอยู่ และจะตายเมื่อใช้ลมส่วนนี้หมดไป. นั่นคือ แต่ละคนมีส่วนปันจำกัดของลมแห่งชีวิต จึงจำเป็นต้องพยายามเก็บรักษาลมส่วนนี้ของตน ไม่ปล่อยให้มันสูญเสียไปเปล่าๆ. ด้วยเหตุนี้ผู้ที่หวังจะมีชีวิตยืนนาน  หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่ทำให้เรอและผายลม. นอกจากต้องคอยพยุงรักษาลมแห่งชีวิต” ไว้ในร่างกายแล้ว ยังต้องรักษาน้ำแห่งชีวิต” (น้ำอสุจิไว้ให้ดีด้วย โดยเฉพาะเมื่อผู้นั้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินผู้หวังชนะความตาย. นอกเหนือจากการมีบุตรสืบราชบัลลังก์ การมีนางสนมจำนวนมากมายนั้น ก็เป็นพฤติกรรมการเสริมสร้างพลังชีวิตที่สำคัญ แต่ในการร่วมประเวณีมากครั้งอย่างไรก็ตาม เขารู้ว่าต้องไม่ปล่อยให้ถึงจุดขับน้ำอสุจิออกมา เพื่ออนุรักษ์น้ำแห่งชีวิตไว้  ซึ่งหมายถึงการยืดชีวิตตนเองออกไปอีกนั่นเอง. ผู้ใหญ่รุ่นก่อนๆจึงมักพูดว่า สามีภรรยาที่รักกันมาก สามีจะอายุสั้น (โดยที่ไม่เคยเจาะจงหรืออธิบายว่าทำไม นั่นคือเขาไม่ถนอมน้ำแห่งชีวิตของเขา. ตัวเขาซีดเซียวอ่อนเพลียลงเรื่อยๆ ทั้งๆที่ไม่มีโรคมีภัยใดๆมาก่อน). เมื่อมาคิดๆดู คติของ “ลมและน้ำแห่งชีวิต” นี้คือระบบ “ฮวงจุ้ย” (ฮวงคือลม และจุ้ยคือน้ำในร่างกายคนนั่นเอง. 
          การรักษาแบบฝังเข็มของคนจีนก็คือการเข้าไปจัดระบบฮวงจุ้ยในร่างกายให้สมพงศ์สมดุลกันที่สุด. ศิลปะการป้องกันตัวของจีนที่ใช้กำลังภายในเป็นอาวุธสำคัญนั้น ก็คือศิลปะการควบคุมการหมุนเวียนของลมภายในร่างกาย. ลมนี้ในภาษาจีนเรียกว่า    หรือ qi หรือ /คี่หรือ /ขี้/. 
         ไทยรับคำนี้มาใช้โดยใช้อักษร ข-ไข่ ถ่ายเสียงจึงทำให้ไปพ้องรูปและเสียงกับคำ “ขี้ ที่แปลว่ามูล. คำ “ขี้-qi” เป็นที่มาของคำประสมหลายคำในภาษาไทยที่แสดงอารมณ์ความรู้สึก เช่นในสำนวน “ขี้โมโหขี้กลัวขี้คุย ฯลฯ. ความที่ภาษาไทยใช้คำ “ขี้” ที่หมายถึงสิ่งสกปรก เมื่อใช้คำ qi - ขี้ กับอารมณ์ความรู้สึก จึงมักใช้บอกอารมณ์ในแง่ลบมากกว่า.
       
สัญชาตญาณของชาวจีนเกี่ยวกับชีวิตดังกล่าว ดูไม่ผิดไปจากจิตสำนึกของชาวตะวันตกเกี่ยวกับกำเนิดชีวิตนัก  ดังที่ปรากฏเล่าไว้ในคัมภีร์ไบเบิลเก่า ตอนพระเจ้าเนรมิตมนุษย์ว่า  พระเจ้าสร้างคนด้วยการเอาดินผสมกับน้ำมาปั้นให้เป็นรูปเป็นร่าง แล้วพระองค์ก็เป่าลมเข้าไป ร่างนั้นมีชีวิตขึ้นมา. ดินคือแร่ธาตุเก้าชนิด : 99% ของผิวนอกของโลกประกอบด้วยธาตุเก้าชนิดเป็นสำคัญในอัตราส่วนเฉลี่ยดังนี้ : 99% ของผิวนอกของโลกประกอบด้วยธาตุเก้าชนิดเป็นสำคัญในอัตราส่วนเฉลี่ยดังนี้ : ก๊าซออกซิเจน 45.0%, ซิลิคอน 27.0% (กึ่งโลหะหรือกึ่งตัวนำ), อลูมีเนียม 8.0%, เหล็ก %.8%, คัลเซียม 5.1%, แม็กนีเซียม 2.8%, โซเดียม 2.3%, โปตัสเซียม 1.7%, ไฮโดรเจน 1.5% (ref. Science Desk Reference, p. 376-9).  
        ร่างกายคนก็มีส่วนประกอบจากธาตุเหล่านี้.  ความจริงเชิงวิทยาศาสตร์นี้จึงยืนยันคติที่ว่า คนเกิดจากดินเมื่อตายก็กลับคืนสู่ดิน. เมื่อมีน้ำกับลมมาช่วยทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีขึ้นระหว่างแร่ธาตุเหล่านี้  ชีวิตจึงอุบัติขึ้น. กรรมวิธีการอธิบายดังกล่าวจึงเหมือนกันในแง่ขององค์ประกอบพื้นฐานของชีวิต.

No comments:

Post a Comment