Friday, August 28, 2020

Pelican


Luisenpark, Manheim, Germany

นั่งเรือล่องไปตามน้ำที่เมืองอาเมียงและลุบเบเนาแล้ว ตามไปนั่งเรือที่แล่นไปโดยไม่มีคนพายคนถ่อที่สวน Luisenpark เมือง Mannheim ประเทศเยอรมนี. เทคนิคสมัยใหม่ ช่วยให้จัดระบบการเดินเรือไปได้ ทีละลำ เรียงๆกันไป เคารพระยะห่างอย่างสมบูรณ์ เข้าสมัยโควิด19. อีกประการหนึ่ง จะลงเรือคนเดียวสองคน หรือไปเป็นกลุ่ม ก็ตามใจชอบ. ไปคนเดียว ก็นั่งไปคนเดียว เบิกบานใจจริงๆ. สวน Luisenpark เป็นหนึ่งในสวนที่น่าเดิน น่าไปพักผ่อน นับเป็นโชคมหันต์ของชาวเมืองมานไฮม ที่มีสวนใหญ่กลางเมือง เป็นปอดที่ดีที่สุดของทุกคน.
เส้นทางเรือที่เขาจัดให้ล่องไป ผ่านไปยังสวนนกกระเรียน-ฟลามิงโก และสวนนกกระทุง ที่อยู่ใกล้ๆกัน แชร์พื้นน้ำกว้างใหญ่ในสวนอย่างเพื่อนบ้านที่ดี.
นกขาวและนกดำ อยู่ด้วยกัน ไม่เคยมีปัญหาสี
สีดำคือนกกาน้ำทะเล Cormorant สีขาวคือนกกระทุง Pelican
ที่สวนสัตว์-พฤกษศาสตร์ Wilhema เมือง Stuttgart

นกกระทุง (pelican [เพ็ลหลิเขิ่น]) มีชีวิตในเขตร้อนชื้นและเขตอบอุ่น. เป็นนกที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ไม่มีการแบ่ง “ชนชั้น” ทุกตัวมีศักดิ์ศรีเสมอกัน อาจจะยอมกันนิดหน่อยแก่นกตัวเฒ่ากว่า. นกกระทุงเป็นนกขนาดใหญ่ หนักได้ถึง 10 กิโลกรัม มีปีกยาวราว 3.5 เมตร. มีจะงอยปากยาวและใหญ่ จะงอยปากล่าง เชื่อมกับกระเปาะที่ยืดขยายใหญ่ได้ ตามปริมาณอาหารที่นกจับได้ ด้วยการอ้าปากช้อนปลาขึ้นจากน้ำ (จากแม่น้ำหรือทะเล).
ไม่มีปัญหาเรื่องสี แต่อาจมีปัญหาการจับจองพื้นที่กระมัง
คู่นกผัวเมีย มีลูกสองสามตัว ช่วยกันกกไข่. ทั้งพ่อและแม่นกเป็นผู้ให้อาหาร เมื่อจะให้อาหารลูก พ่อนกหรือแม่นก ใช้ปากกดทับลงบนหน้าอกของตัวเอง คายอาหารออกมา. เติบโตออกจากรังได้ นกกระทุงตัวน้อยๆจะอยู่รวมกันหลายครอบครัว มีนกกระทุงพ่อแม่ที่ผลัดเปลี่ยนกันดูแลนกน้อยทั้งทีม. เมื่อเดินได้ นกน้อยทั้งหลาย จะตรงไปหาอาหารกินจากปาก จากกระเปาะใต้จะงอยปากของพ่อแม่นกเลย  บางทีก็ยื่นลึกเข้าไปในลำคอนกพ่อนกแม่.  เมื่อไม่ออกไปหาปลา นกกระทุงชอบนอนในสายลมแสงแดด ไซ้ขนของมันอย่างสบายอกสบายใจ.
เมื่อนกกระทุงช้อนปลาเข้าปาก มีที่เก็บเป็นถุงที่ส่วนล่างของปากนก ที่ต่อกับลำคอลงไปถึงกระเพาะอาหาร. ภาพจาก pinterest.com
ภาพนกกระทุงจำหลักบนกำแพงหินในหมู่ภาพวิถีชีวิตของชาวอีจิปต์โบราณ ดูเหมือนว่า นกกระทุงเป็นนกประดับสวนในวัง. นักบวชอีจิปต์ถือว่านกกระทุงมีศักดิ์ศรีเสมอหงส์ “เป็นแสงสว่างกกไข่ของโลก”.
ตามตำนานกรีกและโรมัน, พฤติกรรมของนกที่เหมือน “ตีอก” ตัวเอง ทำให้เกิดมโนว่า นกกระทุงจิกหน้าอกตัวเอง ยิ่งเมื่อเห็นเลือดติดปลาที่ขย้อนออกมาจากกระเพาะผ่านลำคอออกมาเลี้ยงลูกนก ยิ่งทำให้ตระหนักถึงความเสียสละของพ่อแม่นกกระทุง จึงยกนกกระทุงให้เป็นสัญลักษณ์ของความรักความเสียสละของพ่อแม่. (ณนาทีนี้ นึกถึงเพลง “ค่าน้ำนม”)
โมเสกภาพนกกระทุงที่จิกหน้าอกตัวเองจนเลือดไหล เลี้ยงลูกนกกระทุง 
ภาพที่เห็นบ่อย ประดับวัด วิหาร โบสถ์.
http://lieuxsacres.canalblog.com/archives/2016/02/05/33325008.html
ตำนานและศรัทธาในตัวนกกระทุง สืบต่อมาในยุคกลาง และได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งในระบบสัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์ ที่เสนอภาพของนกกระทุงกำลังจิกหน้าอกตัวเอง เห็นเลือดไหลหยดลง ให้เป็นอาหารเลี้ยงดูลูกนก(เมื่อจับปลามาให้ลูกนกทั้งหลายไม่ได้หรือไม่พอ). และเมื่อลูกนกถูกงูรัดจนตาย พ่อนกหรือแม่นก จะบินขึ้นสูง จิกหน้าอกตัวเองให้เลือดหลั่งไหลเหมือนสายฝน ตกลงต้องตัวลูกนก และทำให้ลูกนกฟื้นคืนชีวิต.
นกกระทุงจึงเป็นสัญลักษณ์ของการเสียสละ การยอมทนทุกข์ทรมานตัวเองและการฟื้นคืนชีวิต ทาบเป็นฉากหลังที่วิเศษยิ่งของชีวิตพระเยซู ผู้เสียสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อไถ่บาปคน. นกกระทุงจึงเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญในอุดมการณ์ศาสนาคริสต์. (ยังมีเกร็ดอื่นๆเกี่ยวกับนกกระทุง ที่ทำให้นกชนิดนี้ มีอะไรพิเศษกว่านกอื่นใด หาอ่านต่อได้ในเน็ต).
ในมุมยอดบานหน้าต่างกระจกสีที่วิหารหนึ่ง

ธงพื้นสีฟ้าปนะดับตรงกลางด้วยดอกลิลลี
เพื่อให้สอดคล้องกับคำขวัญ มีนกกระทุง ทาบลงบนดอกลิลลีด้วย
motto ที่เขียนไว้ : Preserve and Protect
ภาพจาก https://www.craftoutlet.com/pelican-fleur-de-lis-large-flag
 มุมนกกระทุงที่สวนสัตว์ Wilhema เมืองสตุ๊ดการ์ด Stuttgart เยอรมนี.
อาคารสถาปัตยกรรมแบบอาหรับมัวร์ กำกับชื่อไว้ว่า Damaszenerhalle หรือ Damascus Hall (เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เมือง Damascus ในซีเรียปัจจุบัน ที่เป็นศูนย์สถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมอาหรับมัวร์). อาคารนี้ในสมัยที่สร้างนั้น ใช้เป็นที่เลี้ยงนกไก่ฟ้าและไก่ประดับ. ปัจจุบันให้เช่าใช้เป็นที่จัดงานมงคลสมรส. สวนนกกระทุงที่เคยไปเห็นและเดินเข้าไปชมได้อย่างใกล้ชิด อยู่ในบริเวณสวนสัตว์ ที่จัดอย่างมีศิลป์ทั้งด้านพื้นที่(สวนบัวขนาดใหญ่ บัวกระด้งและบัวอื่นๆ พร้อมข้อมูลเกี่ยวกับบัว, สวนกุหลาบ, แปลงดอกไม้อีกมากมาย. ยังมีสวนนกกระเรียน-ฟลามิงโก, นกเพ็นกวินฯลฯ) และสถาปัตยกรรมแบบอาหรับ โดดเด่นเข้ากับบรรยากาศ. เป็นสวนสัตว์บวกสวนดอกไม้ สวนพฤกษศาสตร์ ที่ร่มรื่น น่าเดิน น่าดู. อยู่ที่เมือง สตุ๊ดการ์ต Stuttgart (Wilhema, Der Zoologische-Botanische Garten).

สำหรับผู้ที่เรียนภาษาฝรั่งเศสมา มีบทประพันธ์ของกวีฝรั่งเศส Alfred de Musst ชื่อ Le Pélican ที่รู้จักกันดี ที่มีส่วนสอดคล้องกับค่านิยมและตำนานนกกระทุงที่เล่าสืบกันมาตั้งแต่ยุคโบราณจากอีจิปต์ กรีซ โรม มาถึงยุคกลางในยุโรป.
ภาพจาก pinterest.com
โชติรส รายงาน
๘ สิงหาคม ๒๕๖๓

Owl-Chouette


สระน้ำพุนกเค้าเหยี่ยว
เครดิตภาพ https://www.germany.travel/de/freizeit-erholung/schloesser-parks-gaerten/galerie-schloss-schwetzingen.html
ภาพนกกระทุงจากสวนสัตว์ในเยอรมนี ชวนให้นึกถึงน้ำพุนกที่ไม่น่าจะมีที่ใดเหมือน ในปราสาท Schloss und Schlossgarten Schwetzingen ติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับปราสาทนี้ได้ที่ schloss-schwetzingen.de (ปราสาทที่เห็นในปัจจุบัน สร้างขึ้นใหม่บนพื้นที่ตั้งของปราสาทเก่าที่มีมาแล้วในศตวรรษที่ 8) 
ตั้งแต่ปี 1749 สถาปนิกชาวฝรั่งเศส Nicolas de Pigage (1723-1796) ได้ไปช่วยวางแผนและก่อสร้างอาคารหลังใหม่และสวนที่ปราสาทสเว็ตซิงเงอ  Schwetzingen สำหรับ Elector Carl Theodor (1724-1799). ในปี 1752 เขาเนรมิตอาคารเวทีละคร Rokokotheater ที่ทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับกันมาก. ตั้งแต่ปี 1762 ในฐานะผู้อำนวยการสวน เขาเริ่มขยายแผนการพัฒนาสวนบนพื้นที่ปราสาททั้งหมด. เขาสร้างสวนที่เรียกที่นั่นว่า Arborium Theodoricum ซึ่งคือสวนภูมิทัศน์แบบอังกฤษ เป็นตัวอย่างแบบแรกๆในเยอรมนี. ปราสาทสเว็ตซิงเงอประดับด้วยประติมากรรมแบบต่างๆกว่าหนึ่งร้อยชิ้น (รวมตัวสฟิงค์ใบหน้างามกว่าที่ใดที่เคยเห็น, เสาโอเบลิซก์ เป็นต้น) ยังมีอาคารสถาปัตยกรรมแบบคลาซสิก (ex. aqueduct, grotto) หรือวิหารอพอลโล Apollotempel, สร้างอาคารสรงน้ำ Badhaus พร้อมสวนส่วนตัว ให้เป็นอาคารพักร้อน ตามแบบสถาปัตยกรรมวิลลาอิตาเลียน, และที่แปลกในเชิงความคิด คือสร้างสวนตุรกี Türkischer Garten รวมสุเหร่ากับอาคารแนวบาร็อคประดับตกแต่งตามศิลปะอาหรับ และกลายเป็นองค์ประกอบประดับสวนที่มีโครงสร้างใหญ่ที่สุด ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การสร้างสวนในเยอรมนี. อาคารแบบตุรกีนี้ มิได้เพื่อจุดประสงค์ทางศาสนาแต่อย่างใด แต่แสดงความใจกว้าง การยอมรับและเห็นค่าของอารยธรรมอื่น.

ภาพวาดจากศตวรรษก่อน. จากเพจ vialibri.net
ในส่วนที่เป็นอาคารสรงน้ำ Badhaus มีสวนน้ำพุนก (Bassins der wasserspeienden Vögel) ดังภาพที่เห็น. กลางสระน้ำพุ มีรูปปั้นของนกเค้าเหยี่ยว (eagle owl) เหยียบตะครุบนกไก่ฟ้า. มีน้ำพุ่งออกจากปากนกหลายสาย. มีทางเดินรอบๆสระน้ำ, เหนือขึ้นไป สร้างเป็นโครงเหล็กตาข่ายในแบบของกรงนกแต่เปิดสู่ท้องฟ้า ตรงขอบมีนกชนิดต่างๆเรียงรายเป็นวงกลม ปากนกแต่ละตัวคือท่อน้ำพุ ที่ไหลพุ่งลงสู่สระน้ำตรงกลาง. การจัดนกเค้าแมวเป็นจุดโฟกัสของสระน้ำ รวมทั้งการรวมนกสารพัดชนิดไว้ในสระน้ำพุนี้ ชวนให้คิดว่าทำไม หรือมีที่มาอย่างไร.


        เวอชั่นหนึ่งเล่าว่า การสร้างสระน้ำพุนกนี้ ได้ความคิดจากนิทานอีสปเรื่องนกเค้าแมวกับเหยี่ยว. นกสองชนิดเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมานาน.  ในที่สุด ทั้งสองตกลงว่าจะไม่ทำร้ายลูกนกของกันและกัน. นกเค้าเหยี่ยวถามเหยี่ยวว่า เคยเห็นหน้าตาของลูกตัวเองไหม. เหยี่ยวบอกว่ายังไม่เคย. แม่นกเค้าเหยี่ยวจึงสาธยายความน่ารักของลูกของตัว ตาใสแป๋ว ขนละเอียดอ่อนนุ่ม เป็นลูกนกที่น่ารักที่สุดในโลก. ต่อมาเหยี่ยวไปเห็นลูกนกหน้าตาน่าเกลียดสามตัวในโพรงต้นไม้ คิดว่าไม่น่าจะเป็นลูกน่ารักของนกเค้าเหยี่ยว จึงจับกินเป็นอาหาร. แม่นกกลับมาเห็นลูกหายไป เหลือเศษกระดูก จึงคร่ำครวญโกรธแค้นเหยี่ยว เหยี่ยวตอบว่า เธอผิดเอง ที่พรรณนาลูกตัวเองซะเลอเลิศ มันไม่ตรงกับความจริงเลย.
      อีกเวอชั่นหนึ่ง ค้างคาวเกาะอยู่ในบริเวณนั้นและเห็นเหตุการณ์ว่าเหยี่ยวกินลูกนกเค้าไป, เมื่อได้ยินแม่นกเค้าพร่ำรำพัน ก็บอกเธอว่า เธอเองผิดเพราะตาบอดหลงใหลลูกตัวเอง สร้างภาพลูกดีเกินความเป็นจริง.
      อีกเวอชั่นหนึ่ง ยึดตามนิทานของลาฟงแตน La Fontaine ที่เล่าว่า นกเค้าเหยี่ยวติดใจผู้หญิง และร้องเพลงเพื่อเอาชนะใจเธอ แต่เสียงไม่ดี ไม่น่าฟัง นกอื่นๆได้ยิน รวมกลุ่มรุมกันหยอกล้อเยาะเย้ยนกเค้าแมว. ลาฟงแตนจบลงว่า จะชนะใจสตรี ต้องรู้จักเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับสภาวะของตัวเอง. 
      สรุปแล้ว น้ำพุนกนี้น่าจะได้แง่คิดมาจากนิทานของลาฟงแตนมากกว่า และบรรดานกที่เกาะบนขอบกรงเหล็ก รวมตัวกัน ปล่อยน้ำพุ่งออกจากปากลงสู่สระ, อาจเปรียบได้กับการระบายคายขาก ประท้วงเยาะเย้ยนกเค้าแมว.
     นิทานเรื่องนี้เตือนสติบิดามารดาที่หลงลูกและยกย่องชื่นชมว่า ลูกตัวเองสวยที่สุด หล่อที่สุด เก่งที่สุด ฉลาดที่สุดฯลฯ ควรตระหนักว่า คำชมเชยไม่หยุดตลอดเวลา อาจสร้างความมั่นใจแก่เด็ก แต่ก็อาจปลูกฝังความหลงตัวเองด้วย...
Wow! C’est chouette!
นกเค้า หัวมนเรียบ ภาพจาก Flickr.com
รุ่นเราคุ้นเคยกับการดูหนังการ์ตูนที่มีนกเค้าแมวเป็นหัวหน้าวงดนตรี (maestro) หรือเป็นครูสวมแว่นตาใหญ่และหมวกปริญญา. พวกเราจึงติดใจนกเค้าแมวกันมาตั้งแต่เด็กๆ และพลอยสะสมอะไรเกี่ยวกับนกเค้าแมวไปด้วย. จบอักษรศาสตร์พวกเราก็เป็นครูกันมาก. นกเค้าแมวจึงตรึงนัยของความฉลาด ความมีปัญญา ยิ่งเมื่อรู้ว่า นกชนิดนี้ เป็นสัญลักษณ์ของเทวีอาเธนา Athena ในเทพปกรณัมกรีก ก็ยิ่งถูกใจ.
       เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับนกตระกูลเค้า ที่มีสิบเก้าชนิด อาจแบ่งง่ายๆสั้นๆเป็นสองพวก คือ พวกที่มีหัวเกลี้ยงเรียบมน กับ พวกที่มีขนนกตั้งชันขึ้นสองข้างหัว ที่อาจทำให้คิดว่าเป็นหู ความจริงไม่เกี่ยวกับหูเลย ใช้ฟังอะไรไม่ได้. (ref. ๑๐๘ ซองคำถาม สำนักพิมพ์สารคดี)
Je suis un hibou! มีคิ้วดกดำ ตั้งชันเป็นเสาอากาศเลย
ภาพจาก Pinterest.com
       ส่วนตัว เห็นขนนกตั้งชันขึ้นสองข้างเหมือนสองเขา นึกถึงโมเสสในภาพจิตรกรรม ที่มีลำแสงพุ่งขึ้นเหมือนเขาสองข้าง ตามค่านิยมของศาสนาคริสต์ ว่าเป็นลำแสงแห่งสติปัญญาอันเฉียบแหลม เพราะพระเจ้าประทับอยู่บนตัวเขาและทำให้ทุกอย่างสำเร็จเป็นปาฏิหาริย์. สรุปแล้วเท่ากับนำพวกเราไปมองนกเค้าแมวในทางดีไปด้วย.  ทั้งๆที่ในค่านิยมศาสนาคริสต์ นกเค้าแมวถูกจัดว่าเป็นนกไม่บริสุทธิ์ มีราคี (ศาสนาห้ามกินนกชนิดนี้).
     แต่ชนหลายเผ่า รวมถึงขนบคริสต์ ยังเห็นว่า เป็นนกที่นำนิมิตรร้าย เสียงร้องที่ไม่เสนาะหู แฝงตัวในความมืด ออกหากินตอนกลางคืน (มีผู้ยืนยันว่า บางชนิดมิใช่พันธุ์นกราตรี), ยิ่งหากไปส่องเจอหน้านกเค้าแมวในความมืด เห็นแล้วก็คงผวากับลูกตากลมโต(ยิ่งเป็นสีเหลืองๆแดงๆยิ่งน่ากลัว), มองแน่นิ่งไม่หลบ, ทั้งหมดกระตุ้นความหวาดหวั่น ความกลัวตายในสิ่งที่ตาคนมองไม่เห็น
      ในความเป็นจริง นกเค้าแมวมีคุณประโยชน์ต่อชาวนาชาวไรมาก ช่วยจับหนู ตั๊กแตน สัตว์และแมลงอีกหลายชนิดที่เป็นศัตรูพืช.

      อีกเรื่องหนึ่งที่น่ารู้ เกี่ยวกับภาษาฝรั่งเศส เขามีสองคำใช้ เมื่อพูดถึงนกตระกูลเค้า พวกที่มีหัวเรียบมน ภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า chouette.  คำนี้ยังมีนัยที่ดี เหมือนคำว่า นิ๊ง ที่เคยพูดกันอยู่พักหนึ่ง หรือ ดีจัง เยี่ยม เป็นต้น. ส่วนนกเค้าแมวที่มีขนตั้งชัน(สูงมากน้อยไม่เหมือนกันทุกชนิด) เขาใช้คำว่า hibou แทน.  คำ chouette จึงไม่ใช่คำเพศหญิงของคำ hibou. นี่เป็นกรณีในภาษาฝรั่งเศส. ในภาษาอังกฤษใช้คำเดียวเรียกนกตระกูลนี้คือ owl โดยไม่สนใจความแตกต่าง.   
       พบในอินเตอเน็ตว่า เขามีหนังเรื่อง The Legend of the Guardians : The Owls of Ga’hoole ที่ดูเหมือนจะรวมนกตระกูลเค้าไว้มากหน้าหลายตาและหลากอุปนิสัย. ยังไม่เคยดู.

โชติรส รายงาน
๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๓.

Phoenix-Simorgh


 ภาพจาก pinterest.com
ภาพจาก Art Resource, New York – The Piepont Morgan Library via aminoapps.com/
ภาพนกที่ใครๆมองรู้ว่าคือนกฟีนิกซ์  ในตำนานเปอเชียเทียบกับซีมอร์ก Simorgh ในตำนานชาติอื่นๆก็มีชื่อเรียกอื่นๆตามท้องถิ่น.  พออนุโลมสรุปเรื่องเล่าเกี่ยวกับนกรูปลักษณ์เช่นนี้ไว้ด้วยกัน. เป็นนกที่รอบรู้  ทำรังบนกิ่งต้นไม้แห่งความรู้ บางคนว่าบนต้นไม้โลก. 
      ฟีนิกซ์อยู่ได้นานถึงพันเจ็ดร้อยปี, บ้างว่าระหว่าง 500-1000 ปี. ตามความเชื่อโบราณ ในโลกจะมีนกฟินิกซ์เพียงตัวเดียว อยู่ในสวรรค์ ที่เป็นดินแดนงามเกินจะพรรณนาได้ ไกลณสุดขอบฟ้าทางทิศตะวันออก. ไม่มีอะไรตายในสวรรค์ เมื่อนกฟีนิกซ์อายุมากขึ้นๆ ใกล้ถึงเวลาตาย นกนี้จะบินลงสู่ผิวโลก ไปในทิศตะวันตกในป่าของประเทศพม่า (sic) ผ่านทุ่งร้อนระอุของอินเดีย ไปจนถึงป่าละเมาะที่มีพันธุ์ไม้หอมและสมุนไพรในอาเรเบีย  ฟีนิกซ์ จะรวบรวมกิ่งไม้จากต้นสมนุไพรที่นั่น แล้วบินเลียบฝั่ง Phoenicia ในประเทศซีเรีย. ไปอยู่เหนือกิ่งบนสุดของต้นปาล์ม สร้างรังด้วยกิ่งและใบหญ้าที่นำมา แล้วคอยตะวันรุ่ง หน้าหันไปมองดวงอาทิตย์. เมื่อดวงอาทิตย์ปรากฏณเส้นขอบฟ้า นกฟีนิกซ์อ้าปากร้องเพลง เสียงที่เสนาะหู ตรึงดวงอาทิตย์ไว้ครู่หนึ่ง เพลงไพเราะเหมือนประกาศลาตาย. ดวงอาทิตย์ขับรถเทียมม้าต่อไป พร้อมกับบันดาลให้ประกายไฟตกลงที่รังนกที่ลุกไหม้ขึ้น. เช่นนี้ ชีวิตพันปีของนกฟีนิกซ์จบลงในกองเพลิง. ในกองเถ้าถ่าน มีหนอน(sic) ตัวเล็กๆเริ่มกระดุกกระดิก, ภายในสามวัน หนอนเติบใหญ่เป็นนกฟีนิกซ์ตัวใหม่ แข็งแรงและแข็งแกร่ง กระพือปีกบินขึ้นจากรัง มุ่งสู่ทิศตะวันออก มีมวลนกอื่นๆแห่ตามไป. (ในตำนานเจาะจงว่า เป็น “หนอน” ในเมื่อเชื่อว่า มีตัวเดียว ไม่มีการสืบพันธุ์ ไม่มีไข่นก). นกฟีนิกซ์จึงคือสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่ ของวัฏจักรชีวิต.
นกฟีนิกซ์ กัด เด็ดก้านสมุนไพร นำก่อเป็นกองไฟ ตัวนกเองลงไปอยู่บนกองไฟ เพื่อเกิดใหม่จากกองเถ้าถ่าน คำอธิบายในสารานุกรม Britannica. ภาพวาดจิตรกรรมน้อยศตวรรษที่ 12 จาก Robana Picture Library/age fotostock
      ชาวอีจิปต์มองนกนี้ว่า เป็นสัญลักษณ์ของวิญญาณจักรวาล ของเทพโอไซริส Osiris ผู้เนรมิตตัวเองใหม่ได้ไม่สิ้นสุด และเชื่อมโยงไปถึงเมือง Heliopolis (helio แปลว่า ดวงอาทิตย์, เมืองนี้จึงแปลว่า เมืองแห่งดวงอาทิตย์) รวมทั้งเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์น้ำท่วมน้ำหลากประจำปีในลุ่มแม่น้ำไนล์  เป็นนัยของชีวิตที่มีการฟื้นตัวเองอยู่เสมอ. หลายชาติหลายวัฒนธรรม ต่างเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า ฟีนิกซ์เป็นสัญลักษณ์ของความอมตะ.
     ชาวจีนเทียบนกฟีนิกซ์กับทิศใต้ ที่เป็นทิศของฤดูร้อน. ขนนกสีแดง สีไฟ จึงเหมือนสีดวงอาทิตย์. สุริยะเทพทำให้ชีวิตอุบัติขึ้น. ฟีนิกซ์ตัวผู้เป็นสัญลักษณ์ของความสุขและตัวเมียเป็นสัญลักษณ์คู่จักรพรรดินี ตรงข้ามกับตัวมังกรคู่จักรพรรดิ.  ฟีนิกซ์คู่ตัวผู้ตัวเมีย เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตคู่ที่ราบรื่นและเปี่ยมสุข, นกฟีนิกซ์ยังอาจนำคู่แต่งงานไปบนเส้นทางสู่สวรรค์ที่สถิตของคนอมตะ. (สำหรับคนจีน ฟีนิกซ์จึงมีอย่างน้อยสองตัว เพศละตัว)
     ศาสนาคริสต์นำนกฟีนิกซ์ไปใช้หมายถึงพระเยซูคริสต์เมื่อฟื้นคืนชีวิต เป็นชีวิตของจิตวิญญาณอมตะ ในขณะที่นกกระทุง pelican สะท้อนภาพของชีวิตในโลกธาตุ.
ตำนานเล่ามาเล่าไป ยังมีอีกมากตามจินตนาการคนและเจตจำนงที่จะนำไปใช้ในบริบทใดเป็นต้น.

ติดตามอ่านบทบาทของนกฟีนิกซ์ในวรรณกรรมเปอเชียเรื่อง ปักษาสัมมนา The Conference of the Birds ตามลิงค์ที่ให้นี้.  
โชติรส รายงาน
๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๓. 

Follow the Hoopoe

ปักษาสัมมนา  
ศิลปินและปัญญาชนในศตวรรษที่ 17 น่าจะมีความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมอาหรับมากขึ้นแล้ว จากยุคอ็อตโตมันในตุรกีที่แผ่ออกไปทั่วตะวันออกไกล แล้วเข้าสู่ตะวันตกไปถึงครึ่งคาบสมุทรไอบีเรีย (สเปนและปอร์ตุกัล) และตอนบนของแอฟริกา, ดังหลักฐานศิลปวัตถุ สถาปัตยกรรม ที่วิวัฒน์มาจากขนบศิลปะในโลกอาหรับ. เมื่อ Frans Snyders [ฟร้านซ สเนเดอส] (1579-1657 ชาวเฟลมิช) เนรมิตจิตรกรรม ปักษีมโหรี Concert of Birds ที่นำไปสู่การเลี้ยงดูและสะสมนกสายพันธุ์ต่างๆตามพระราชวังในยุโรปตะวันตก, เขาน่าจะเคยรู้ อ่านหรือได้ยินวรรณกรรมเปอเชียเรื่อง Canticle of the Birds หรือบางคนแปลจากภาษาอิหร่านว่า Conference of the Birds, ผู้ประพันธ์คือ Farîd-ud-Dîn 'Attâr (เรียกกันสั้นว่า อัตทาร์, circa 1158-1221). ทั้งสองชื่อหมายถึงวรรณกรรมเล่มเดียวกัน. งานประพันธ์เรื่องนี้ เป็นวรรณกรรมสำคัญยิ่งเล่มหนึ่งของเปอเชีย และได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในวรรณกรรมอันทรงคุณค่าของโลก. ไหนๆพูดถึง ปักษีมโหรี แล้ว จึงต้องต่อไปเก็บข้อมูลจากเรื่อง Conference  of the Birds ด้วย.
ภาพวาดประดับหนังสือ manuscript เรื่อง ปักษาสัมมนา
Conference of the Birds ผลงานภาพวาดของ Habiballah of Sava
(ca. 1610) ภาพจาก wikimedia.org [Public domain]

       เรื่องเริ่มขึ้นเมื่อฝูงนกพันๆชนิดมารวมตัวกัน ต่างเห็นว่า จำเป็นที่พวกเขาต้องมีผู้นำ ให้เป็นมิ่งขวัญ ปกปักษ์รักษาชีวิตมวลนกทั้งหลายให้อยู่เย็นเป็นสุข. แต่การจะเลือกนกตัวใดตัวหนึ่งในหมู่นกให้เป็นผู้นำ ไม่ลงเอยกัน. นกฮูพู Hoopoe หรือ นกกะรางหัวขวาน เสนอให้ไปอัญเชิญนกซีมอร์ก Simorgh (อาจเทียบได้กับนกฟีนิกซ์ phoenix) ที่อยู่บนยอดเขาสูง (ยอด Qâf).  มวลนกต่างรู้ดีว่า นกซีมอร์กเป็นพญานกผู้งามสง่า รอบรู้ ฉลาดสุขุมฯลฯ แต่การเดินทางไปที่นั่น ใช้เวลานานมาก ต้องผ่านทะเลทราย แล้วบินข้ามหุบเขาอีกเจ็ดแห่งกว่าจะไปถึงนิวาสสถานหรือพระราชวังของนกซีมอร์ก. การเดินทางไปจึงเป็นการพิสูจน์พละกำลังของนกแต่ละตัว. นกทั้งหลายตั้งใจฟังนกกะรางเป็นอย่างดี. ในค่านิยมของชาวเปอเชีย นกกะรางได้ชื่อว่าฉลาดที่สุดในบรรดานกบนภาคพื้นโลก.
นกฮูพู Hoopoe หรือนกกะรางหัวขวาน 
ภาพจากเพจ https://justbirding.com/hoopoe-facts/
       ตามที่เล่าไว้ในตำนานยิวเกี่ยวกับกษัตริย์ซาโลมอน ผู้เป็นกษัตริย์เหนือสัตว์ปีกทั้งปวงด้วย ซาโลมอนเข้าใจและสื่อสารกับนกได้. เรื่องตอนหนึ่งเล่าถึงซาโลมอนขี่บนหลังเหยี่ยวท่องไปในเวหา เหยี่ยวพาบินขึ้นสูงมุ่งหน้าสู้แสงอาทิตย์ (ตามความเชื่อโบราณว่า เหยี่ยวเป็นนกชนิดเดียวที่กล้าบินมุ่งหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์ และเมื่อมันมีลูกโตพอที่จะบินได้ มันจะพาลูกบินขึ้นหลัง บินทะยานเข้าหาแสงอาทิตย์ ถ้าลูกนกตัวใด ตาไม่กล้าแข็งพอ ย่อมตกร่วงลงดิน ตัวที่แข็งแกร่งจริงเท่านั้น จึงอยู่รอดและเป็นเจ้าเวหาที่แท้จริง). แสงอาทิตย์แรงกล้าส่องเข้าตาซาโลมอน ฝูงนกกะรางบินไปรอบๆ กางปีกออก สร้างร่มเงาบังแสงกล้าให้ซาโลมอน. เพื่อขอบคุณนกเหล่านี้ ซาโลมอนบอกให้นกขอพรได้หนึ่งอย่าง. ฝูงนกขอมงกุฎประดับหัว ซาโลมอนเตือนว่าขออย่างนี้ออกจะประมาท แต่เมื่อเป็นความต้องการ ซาโลมอนก็มอบให้ตามคำขอ คือจัดทำมงกุฎทองสวมบนหัวนกให้ทุกตัว. ฝูงนกกะรางต่างปลาบปลื้ม บินว่อนไปมาอวดมงกุฎงามบนหัวและชื่นชมเงาสะท้อนงามงดของตัวเองเหนือผืนน้ำในทะเลสาบ. ระหว่างนี้นายพรานได้แอบดูพฤติกรรมของฝูงนกกะราง จับจุดอ่อนของนกกะราง และเริ่มทำกับดักที่ติดกระจกไว้ล่อ, จึงจับนกกะรางไปได้ทีละตัว ฆ่าทิ้งและยึดมงกุฎทองไป จนเหลือพญานกกะรางตัวเดียว ที่หดหู่เป็นที่สุด. นกจึงกลับไปหาซาโลมอนเพื่อคืนมงกุฎที่หนักหัวและทำให้หนักใจมานาน. ซาโลมอนทำตามและบันดาลให้มีขนหงอนแผ่ตั้งชันสวยงามบนหัวนกกะรางแทน. ขนหงอนนี้จะไม่มีวันหลุดหายไปได้อีกเลย. นกกะรางจึงเป็นนกกะรางหัวขวานตั้งแต่นั้น. 
       ยังมีเรื่องเล่าต่อในคัมภีร์กุรอ่านบทที่ 27 ว่า ยามเมื่อซาโลมอนเดินตรวจแถวมวลนกทั้งหลาย นกกะรางมาล่าช้ามาก.  เมื่อมาถึงได้นำข่าวสารบางประการจากเมือง Sheba (หรือ Saba) มาบอกซาโลมอน. นกกะรางในฐานะผู้รู้ต้นตออะไรบางเรื่องที่ซาโลมอนผู้รอบรู้ทุกอย่าง ยังไม่รู้ จึงมีส่วนยกวิทยฐานะของนกกะรางเหนือมวลนกอื่น. ได้เป็นนกนำสารของซาโลมอน.  เวทมนตร์โบราณยุคนั้น ยกย่องผู้ที่ค้นพบตาน้ำและช่วยดับกระหายของคนได้, นำคนไปยังแหล่งน้ำที่ดี, หรือนำคนที่หลงผิด สู่เส้นทางที่ควรไป เช่นกรณีของพระนางชีบา Sheba ที่นกกะรางได้ไปดลใจให้เสด็จมา “สนทนาธรรม” กับซาโลมอน, มาให้เห็นกับตาความรุ่งเรืองของอาณาจักรของซาโลมอน กับทดสอบสติปัญญาด้วยการตั้งคำถามยากๆที่ซาโลมอนตอบได้ถูกใจนาง. นางได้ถวายเครื่องราชบรรณาการกับเครื่องเทศจำนวนมากก่อนกลับ และยังได้สรรเสริญพระเจ้าของซาโลมอนว่าเลือกกษัตริย์ที่ดีที่สุดให้อิสราเอลฯลฯ.
พระนางชีบาเสด็จมาเยือนกษัตริย์ซาโลมอนที่เมืองเยรูซาเล็ม
เครดิตภาพ : https://fineartamerica.com/
        นอกจากนี้ ยังมีระบุอีกว่า นกกะรางพูดด้วยภาษาปริศนาในหมู่นก ที่เป็นภาษาของจิตวิญญาณ ที่ไม่ใช้คำแต่เป็นภาษาที่สื่อนัยความหมายของสิ่งที่ตามองไม่เห็น. ซาโลมอนได้ชื่อว่า เป็นผู้พูดคุยและเข้าใจภาษานก (เหมือนที่นักบุญฟรันซิสเมืองอัสซีสิที่เทศนาให้ฝูงนก). เช่นนี้เมื่อนกกะรางเสนอว่าควรไปอัญเชิญนกซีมอร์กมาเป็นผู้นำของนกทั้งมวล, นกทั้งหลายจึงเชื่อถือว่านกกะรางรู้เส้นทาง. ในที่สุด นกกะรางเป็นจ่าฝูงนำนกทั้งหลายออกเดินทางไปหาซีมอร์ก.
      ตำนานเรื่องนกกะรางกับซาโลมอนนี้เอง ที่ทำให้นักวิจัยโยงบทกวีของอัตทาร์ ว่าเหมือนกวีนิพนธ์ของซาโลมอนที่มีชื่อว่า Cantique des Cantiques (ที่ไพเราะกินใจมากในเวอชั่นภาษาฝรั่งเศสที่ปรากฏในคัมภีร์คาทอลิก La Bible Osty) และที่ผู้แปลเป็นเวอชั่นภาษาอังกฤษว่า Song of Songs. เมื่อโยงบทกวีของอัตทาร์ไปถึงบทกวีของซาโลมอน นักวิจัยชาวอาหรับอเมริกันจึงเลือกที่จะใช้ชื่อ Canticle of the Birds ในความหมายของ บทโศลกของมวลวิหค แทนชื่อ Conference of the Birds ที่เราแปลว่า ปักษาสัมมนา. เมื่อพิจารณาเนื้อหาการเล่าเรื่อง เรายึดชื่อหลังนี้มากกว่า เพราะเรื่องเริ่มต้นด้วยการถกเถียงในหมู่นกพันๆตัว ว่าควรจะพากันเดินทางไปไหม. นกแต่ละตัวยังคงยึดมั่นกับชีวิตบนโลก จองจำตัวเองในกรงของความคุ้นชิน, จึงยังขี้ขลาดหรือขี้กลัว. ต่างให้เหตุผลข้ออ้างต่างๆนานา ซึ่งนกกะรางจ่าฝูงจะตอบโต้ ด้วยการเล่านิทานธรรม ตอบข้อกังขาสงสัยหรือข้อโต้แย้งผิดๆให้สิ้นไป,  ยืนยันและเอาชนะข้ออ้างข้อแก้ตัว, ปลุกกระตุ้นให้ฮึกเหิมและยอมสลัดตัวตนของตน เพื่อออกสรรหาสิ่งที่เหนือกว่างามกว่า นั่นคือการไปหาพญานกซีมอร์ก ผู้เป็นสุดยอดของความงามมหัศจรรย์ ของ “ผู้เป็นหนึ่ง” ที่ควรแก่ความรักความเคารพสูงสุด.  การสัมมนาพาทีในหมู่นก ครอบเนื้อหาเกือบทั้งหมดของกวีนิพนธ์ของอัตทาร์ จึงสมควรที่จะเน้นใจความของการหว่านล้อม โต้ตอบในที่ประชุมนกทั้งหมด.
        เรื่องปักษาสัมมนา จึงดำเนินเรื่องในแบบแทรกนิทานในนิทาน ตามวรรณกรรมเรื่องพันหนึ่งทิวา. เมื่อนกกะรางโต้ตอบข้อกระทู้ของนกแต่ละตัว ตอบด้วยการสอดแทรกนิทานธรรมที่มาจากปรัชญาตะวันออกหรือปรัชญาตะวันตก, หรือเป็นคำถามย้อนคำถาม, หรือแบบปุจฉาวิสัชนา.  
         เหมือนชาวถ้ำในสมัยโบราณ นกทั้งหลายมารวมกันในยามค่ำคืน (นึกถึงถ้ำหรือโพรงไม้ในป่า grove ที่เป็นสถานศึกษาที่เรียกกันว่า Plato Academy และที่นักศึกษามารวมกัน แสดงความคิด อ่านบทกวี บทละคร ด้วยความฝันความหวังในชีวิต ดังตัวอย่างในภาพยนต์เรื่อง Dead Poets Society ปี 1989) ได้เห็นแต่เงาสะท้อนของตัวเอง. แต่ด้วยความรักความหวังที่ยังมีพลังปลุกจิตสำนึก จึงตัดสินใจผละจากสภาพสังคมเดิมที่เคยอยู่ ออกไปสู่แสงสว่างและหลอมตัวเข้าในอุดมการณ์เดียวกัน เพื่อมุ่งไปยังเป้าหมายสุดท้ายเดียวกัน.   
         ในที่สุดเมื่อฝูงนกตกลงใจออกไปตามหาพญานกซีมอร์ก  นกกะรางบอกให้รู้ว่า เส้นทางที่จะไปนั้น ยาว ยากและเต็มไปด้วยหลุมพราง กับดัก, มีอันตรายนานัปการและหลากรูปแบบ และคงไม่ใช่ทุกตัวที่จะไปถึงจุดหมายปลายทาง. นกกะรางบอกเพื่อให้นกทุกตัว เสริมพลังความกล้าในตัวเอง เอาชนะความกลัว ออกจากกรงทองที่เคยอยู่ หรือผละจากสภาพแวดล้อมที่พลิกผันตามพฤติกรรมของผู้ครองอำนาจในโลก ผู้บังคับใช้หลักการที่ไม่ตรงกับระบบจริยธรรม(วิจารณ์สังคมยุคนั้นด้วย).
         เส้นทางเพื่อไปยังหุบเขาเจ็ดชั้น พวกเขาต้องผ่านทะเลทรายแห่งความหิวโหยและหิวกระหาย. ผ่านช่วงนี้ไปได้ จิตสำนึกของผู้เดินทาง ตื่นรู้และยึดมั่นในเป้าหมายสุดท้ายมากขึ้น ผู้เดินทางจะหันหลังย้อนกลับไปสู่โลกที่จากมาไม่ได้แล้ว.
        หุบเขาเจ็ดแห่งเต็มไปด้วยอันตราย เป็นสนามทดสอบที่ดีเยี่ยม. นกทั้งมวลบินข้ามทีละหุบเขา ที่มีชื่อว่า 
หุบเขาแห่งความหลง (ผู้เดินทางต้องตัดความหลง ความเชื่อ ความงมงายออก),
หุบเขาแห่งความรัก (ในหุบเขานี้ เหตุผลทั้งหลายไม่มีที่ยืน เพราะความรักครอบทุกอย่าง เป็นใหญ่เหนือสติปัญญา),
หุบเขาแห่งความรู้ (ณที่นั้น ความรู้ทางโลกแขนงใดบทใด ไม่มีประโยชน์),
หุบเขาแห่งการละเว้น (เมื่อผู้เดินทาง ตัดความยึดมั่น ความผูกพันใดๆบนโลกออกแล้ว ทุกอย่างที่เคยคิดเคยเชื่อว่าเป็นความจริง สลายสิ้นไป),
หุบเขาแห่งเอกภาพ (เมื่อคนเดินทางตระหนักชัดว่า ทุกสิ่งเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย และพญานกซีมอร์ก “ผู้เป็นหนึ่ง” อยู่เหนือสรรพสิ่งรวมทั้งความสมดุลบรรสาน ความหลากหลายหรือความไม่จีรังยั่งยืน),
หุบเขาแห่งความพิศวงงงงวย (เมื่อผู้เดินทางตระหนักว่า ตัวเองไม่เคยรู้หรือเข้าใจอะไรอย่างแท้จริงเลยในชีวิตที่ผ่านมา),
และสิ้นสุดลงที่หุบเขาแห่งความว่างเปล่า (เมื่อไม่มีตัวตน เมื่ออัตตา หลอมเข้าสู่จักรวาล ตัวผู้เดินทางกลายเป็นผู้ไม่รู้ตาย ไม่อยู่ในความจำกัดของกาลเวลา ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต) และแล้วผู้เดินทางจะไปถึงเบื้องหน้าบัลลังก์ของพญานก ที่งามไม่ต่างจากบัลลังก์ของกษัตริย์ซาโลมอน.  
        เมื่อนกทั้งหลายได้ยินคำพรรณนาหุบเขาทั้งเจ็ด ต่างอกสั่นขวัญแขวน บ้างหดหู่ใจ  บางตัวผวาตกใจและหัวใจวายในบัดดลนั้น. อีกหลายตัวฮึดสู้ และตัดสินใจออกเดินทาง. หลังจากผ่านเข้าไปในทะเลทราย สู้กับความอดอยาก หิวโหยและหิวกระหาย, ออกจากทะเลทรายได้ ผ่านเข้าไปในหุบเขาแต่ละแห่ง เหนือเทือกเขาสูง บางตัวล้มเลิกความตั้งใจ. ถึงกระนั้น ยังมีนกหลายตัวที่ยังใจสู้ อดกลั้น อดทน ยืนหยัด. นกผู้ร่วมทางล้มตายลงไปเรื่อยๆ เป็นเหยื่อสัตว์อื่นบ้าง ตายด้วยความกลัว หรือเมื่อเผชิญความรุนแรงแบบต่างๆ.  เช่นนี้จากหุบเขาหนึ่งผ่านไปยังอีกหุบเขาหนึ่ง และข้ามไปจนถึงปลายทาง. มวลนก อ่อนล้ามาก แต่กลับมีนิมิตรใหม่ในชีวิต ยืดอกเมื่อพบจุดยืนของตัวเองในจักรวาล. นกที่ไปถึงจุดหมาย เหลือเพียงสามสิบตัว ต่างระทึกในหัวใจว่า ในที่สุดพวกมันจะได้พบพญานกที่จักเป็นผู้นำให้พวกเขา.  
        นกทั้งสามสิบตัว เดินทางไปไกลมากเพื่อหาผู้อื่น “ผู้เป็นหนึ่ง”, เข้าไปในท้องพระโรง กลับไม่เห็นใคร นอกจากตัวเอง เห็นภาพสะท้อนของพวกนกเอง. ไม่มีพญานก ไม่มีใครอื่นที่จะปกป้องดูแลพวกเขาให้มีความสงบสุขได้ นอกจากตัวเขาเอง. หรืออาจพูดได้ว่า พวกนกมองเห็นพญานกซีมอร์กในภาพสะท้อนของตัวเอง  มีพญานกเท่าจำนวนนกสามสิบตัว.
ภาพจาก pinterest.ch
นับเป็นภาพที่ประกอบขึ้นได้ตรงตามประเด็นของเรื่อง รวมนกสามสิบตัว
เป็นร่างของพญานกซีมอร์ก โดยมีนกกะรางหัวขวานเป็นส่วนหัว
        หากมองในมุมของซูฟิซึม ซีมอร์กคือพระเจ้าของฝูงนก เป็นผู้ไม่มีรูปร่าง ไม่มีกรอบจำกัด และไม่ใช่มวลอะไรมวลใด แต่แฝงอยู่ในสรรพชีวิตบนโลกมนุษย์นี่เอง, เป็นแสงสว่างที่ส่องประกายในจิตวิญญาณของนกแต่ละตัว. ส่วนนกกะรางทำหน้าที่ของซูฟิเชอิค Sufi sheikh ผู้นำจิตวิญญาณสู่การเข้าถึงพระเจ้า.
        สุดท้ายแล้ว การเดินทางของมวลนก จึงคือการชำระล้างทางจิตวิญญาณ ตามอุดมการณ์ของลัทธิซูฟิซึม ที่ว่า คนต้องรู้จักสลัดตัวตนของตนทิ้ง หากต้องการใฝ่หาพระผู้เป็นเจ้า. การผ่านหุบเขาแต่ละแห่งมาได้ จึงเป็นขั้นตอนของการค้นหา การสลัดอุปสรรคของการยึดติดตัวตนของตน ที่เป็นสิ่งกีดขวางการเข้าถึงพระเจ้า. การเดินทางไปหาซีมอร์ก จึงเป็นการเดินทางสู่การรู้แจ้ง สู่การพบตัวตนในพระเจ้า เฉกเช่นซูฟิเดอวิช Sufi dervish ผู้ร่ายรำเป็นวงไปไม่สิ้นสุด จิตเคลิ้มหลุดจากร่าง ไปอยู่หน้าบัลลังก์ของพระเจ้าของเขา.
       นักวิจารณ์ผู้รู้ภาษาเปอเชียอย่างดี ได้เขียนชื่นชมอย่างเป็นเอกฉันท์ ยืนยันความสามารถในการใช้ภาษาของกวีอัตทาร์ ผู้รจนาด้วยวัจนลีลาที่กระชับ ไพเราะ มีจังหวะ มีสัมผัส น่าประทับใจยิ่ง. เรื่องจบลงได้อย่างงดงามด้วยการเล่นคำพ้องเสียง เมื่อนกสามสิบตัวที่ไปถึงจุดหมายปลายทาง  คำ “นกสามสิบตัว sî morghในภาษาเปอเชีย พ้องเสียงและพ้องรูปกับคำ morgh ที่คือพญานกในเรื่องนี้  เป็นบทสรุปที่สั้นและนัยกระจ่างชัด.
         ด้วยอานุภาพความงามของภาษาที่เลือกใช้ และเสียงดนตรีในภาษาเปอเชีย (ที่ผู้รู้ยืนยันเช่นนั้น ข้าพเจ้าไม่สามารถอ่านภาษาเปอเชียได้) กวีอัตทาร์ได้แบ่งปันประสบการณ์ของจิตวิญญาณส่วนตัวของเขาในการใฝ่หาพระเจ้า ทำให้กวีนิพนธ์ของเขา มีพลังบรรลุนัยที่พูดไม่ได้ อธิบายไม่ถูก, ให้ภาพของสิ่งที่ตามองไม่เห็น. ผู้อ่านยังเหมือนได้สัมผัสความถ่อมตน ความอ่อนโยน ความเห็นใจกับศรัทธาจากกวีนิพนธ์ของ. 
อ่านเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับนกซีมอร์กหรือฟีนิกซ์ได้ตามลิงค์นี้ >> 
https://blogchotiros.blogspot.com/2020/08/phoenix-simorgh.html

ผู้สนใจติดตามปาฐกถาเรื่องนี้ จากมหาวิทยาลัย Stanford ในสหรัฐฯ จากคลิบนี้ >> https://www.youtube.com/watch?v=IQmlCG2cvgc
(Part 1 = 1:26:52, Part 2 = 1:20:44)
หรือเข้าไปดูหนังได้ที่นี่ (1:07:01) >> https://www.youtube.com/watch?time_continue=30&v=-FRXdOn4v6A&feature=emb_logo
หรืออ่านเวอชั่นฉบับภาษาอังกฤษเป็นพีดีเอฟไฟล์ได้ในเน็ต
(เพียงแค่พิมพ์ชื่อหนังสือลง)
https://94.citoyens.com/evenement/la-conference-des-oiseaux-au-theatre-des-quartiers-divry
ฝรั่งเศสเคยจัดละครบนเวทีเรื่อง ปักษาสัมมนา ใช้คนแสดงสิบคน สวมหัวนกชนิดต่างๆ ดูเหมือนว่า มีคนสนใจมากพอควรทีเดียว

โชติรส รายงาน
๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๓.
ภาพแถมท้าย
พระนางชีบา (หรือ ซาบา) เดินทางมาคารวะกษัตริย์ซาโลมอน. ภาพผลงานของ Hans Holbein the Younger (ภาพในราวปี 1534).  ภาพนี้ จิตรกร(จงใจ)ให้ใบหน้าของซาโลมอนเหมือนพระเจ้าเฮนรีที่แปด (Henry VIII).  ซาโลมอนนั่งบนบัลลังก์ที่ยกขึ้นสูงมาก. ทางเว็บไซต์ (Royal Collection Trust) อธิบายว่า เนื้อหานี้มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ของอังกฤษมาก เพราะโยงไปถึงการสถาปนา Church of England โดยมีพระเจ้าเฮนรีที่แปดเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด (Supreme Governor) ทั้งในด้านอำนาจการปกครอง(ทางโลก) และอำนาจทางจิตวิญญาณ(ทางศาสนา). การสถาปนาครั้งนี้ ตรงกับยุคการปฏิรูปศาสนาทั่วไปในยุโรป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความยุ่งยากที่พระเจ้าเนรีไม่ได้รับความเห็นชอบหรือไม่ได้รับอนุมัติให้หย่าจาก Catherine of Aragon พระมเหสีคนแรก เพราะความเข้มงวดในระบบอำนาจของสันตะปาปาที่กรุงวาติกัน. อย่างไรก็ดี พระเจ้าเฮนรีประกาศหย่าพระมเหสีจนได้ในเดือนพฤษภาคมปี 1533 และสถาปนาสถาบันศาสนา Church of England อย่างเด็ดขาดตั้งแต่ปีถัดไป. เท่ากับเปลี่ยนพระราชอำนาจของกษัตริย์อังกฤษพระเจ้าเฮนรีที่แปด.
ในภาพข้างบนนี้ ตามเนื้อหาของศาสนา ซาโลมอนนั่งบนบัลลังก์ สวมมงกุฎ มือถือคทา. พระนางชีบาอยู่บนขั้นบันได แสดงให้รู้ว่าเพิ่งมาถึงและมาเข้าเฝ้า.  พระนางกล่าวทักทายซาโลมอน. คำทักทายของพระนางเขียนไว้เป็นภาษาละตินสองข้างบัลลังก์และบนม่าน (ดูรายละเอียดข้างล่างนี้). ยืนยันว่า พระเจ้าเท่านั้น เป็นผู้กำหนดอำนาจของซาโลมอน (และโดยนัยของพระเจ้าเฮนรีที่แปด). บุคคลในแถวหน้าของภาพ คือผู้ติดตามพระนางชีบา ส่วนผู้ที่อยู่รอบบัลลังก์คือราชสำนักของซาโลมอน.
บนพื้นด้านหน้า มีสำนวน REGINA SABA หมายถึง พระราชินีแห่งซาบา (หรือชีบา)
บนม่านสีฟ้าที่อยู่สองข้างบัลลังก์ ประดับด้วยดอกลิลลีสีทอง (ดอกลิลลีเป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์ฝรั่งเศส - Fleur de lis), มีข้อความที่ค่อนข้างเลือนลาง เขียนไว้เป็นตัวอักษรสีทอง. อ่านข้อความบนม่านทางซ้ายต่อไปบนม่านทางขวา แล้วจึงลงบันทัดที่สอง อ่านจากซ้ายไปขวาเช่นกัน. ข้อความเขียนว่า
BEATI VIRI TVI ... ET BEATI SERVI HI TVI
QVI ASSISTVNT CORAM TE ... OMNITPE ET AVDIVNT
SAPIENTIAM ... TVAM
(Happy are thy men, and happy are these thy servants, who stand continually before thee, and hear thy wisdom: II Chronicles 9: 7)
คนของพระองค์ มีความสุข, ข้าราชบริพารทั้งหลายเหล่านี้ของพระองค์ มีความสุข,
พวกเขาทั้งหมด ยืนอยู่เบื้องหน้าพระองค์ตลอดเวลา และได้ยินได้ฟังพระปัญญาญาณของพระองค์. (จากคัมภีร์เล่ม II Chronicles 9:7)
บนม่านด้านหลังของซาโลมอน มีข้อความเขียนว่า  
SIT DOMINVS DEVS TVVS BENEDICTVS,
CVI COMPLACIT IN TE, VT PONERET TE
SVPER THRONVM SVVM, VT ESSES REX
CONSTITVTVS DOMINO DEO TVO
(Blessed be the Lord thy God, who delighted in thee, to set thee upon his throne to be King elected by the Lord thy God: adapted from II Chronicles 9: 8)
ขอให้พระเจ้าของพระองค์ทรงพระเจริญ, พระเจ้าผู้ชื่นชมพระองค์, ผู้วางพระองค์บนบัลลังก์ ให้เป็นกษัตริย์ กษัตริย์ที่พระเจ้าของพระองค์เป็นผู้เลือก.
(จากเล่ม II Chronicles 9:8)
บนผ้าที่ปูลงใต้ฝ่าเท้าของผู้นั่งบนบัลลังก์ มีข้อความว่า
VICISTI FAMAM
VIRTVTIBVS TVIS
(By your virtues you have exceeded your reputation: II Chronicles 9: 6) 
คุณธรรมและคุณสมบัติของพระองค์ มีมากกว่าชื่อเสียงที่เขาเล่าลือกันมากนัก.
(จากเล่ม II Chronicles 9:6)
ข้อความทั้งหลายนี้ คือคำพูดของพระนางชีบา ยืนยันความเคารพนับถือของพระนาง
หลังจากได้เดินทางมาคารวะซาโลมอนด้วยตนเอง ได้เห็นกับตา ได้ฟังได้ถามได้รับคำตอบจนเป็นที่พอใจที่สุดของพระนางแล้ว  ทรงปลาบปลื้มยินดียิ่งนักและทูลลากลับ.