Wednesday, February 24, 2021

Honour the women

พรมเล่าเรื่อง...เทิดเกียรติสตรี 
ภาพนี้ เป็นพรมไหมทอ  เนรมิตขึ้นในราวปี 1912 ชื่อพรมว่า Ehret die Frauen (honour the women ยกย่องสตรี)  ผลงานของ Marianne Stokes (1855-1927) ทอขึ้นที่ Merton Abbey, อยู่ในคอเล็กชั่น Whitworth Art Gallery (ref. http://gallerysearch.ds.man.ac.uk/Detail/25809)

ข้อความที่ทอไว้เป็นแถบบนของพรม ดังนี้ « ehret die frauen sie flechten und weben himmlische rosen in's irdische leben. » ในความหมายว่า จงเทิดเกียรติสตรี พวกเธอเป็นดอกกุหลาบสวรรค์ ผู้ถักทอความรักแก่ชีวิตชาวโลก...

ข้อความนี้ เป็นส่วนหนึ่งของบทแรกในกวีนิพนธ์เรื่อง Würde der Frauen (คุณค่าของสตรี หรือศักดิ์ศรีของสตรี, 1796) ของ Friedrich Schiller (Ref. ผู้สนใจติดตามไปอ่านบนกวีของ Schiller และบทวิเคราะห์ได้ที่นี่. 

ส่วนขอบอีกสามด้าน เป็นลายใบโอลีฟ. มีแถบคลี่ยาวบนขอบล่าง พร้อมคำทอไว้สามคำ (จากซ้ายไปขวา)  pflege, liebe, wissen แต่ละคำตรงกับตำแหน่งยืนของสตรีสามคน เพื่อเจาะจงความหมายและอธิบายท่าทีของสตรีทั้งสาม, ดังจะกล่าวต่อไป.  

อัศวินสองคนประกบสตรีสามคนที่อยู่ตรงกลางของภาพ. มีเด็กอยู่ชิดสตรีทั้งสาม.

อัศวินคนริมซ้าย มือซ้ายถือธงที่มีแถบผ้าเขียนคำว่า Schutz (กล้าหาญพร้อมปกป้อง). มือขวาจับดาบ ยืนยันพันธกิจที่เจาะจงไว้. บนพื้น หลังเท้าอัศวิน กระต่ายป่าวิ่งผ่านไป.

สตรีคนแรก แต่งตัวเรียบร้อย เหมือนแม่ชี, กำลังให้เด็กดื่มน้ำนมจากชาม. เด็กมีเพียงหนังสัตว์ห่มตรงกลางตัว (ไม่ใช่เด็กในเมือง), ยืนดื่มนมจากชาม. ด้านหลังของสตรีคนนี้ ตรงไหล่ซ้ายของเธอ มีภาพของนกกระทุง (pelican) กำลังจิกหน้าอกตัวเอง ให้เลือดไหลลงเป็นอาหารให้ลูกนกสามตัวที่อ้าปากรับ (นกกระทุงแบบนี้ง เป็นภาพคุ้นเคยในคริสต์ศิลป์ ที่โยงนัยไปถึงพระเยซูผู้ยอมตายเพื่อไถ่บาปให้มนุษย์). ใต้ลงไปที่ขอบพรม ตรงกับคำว่า pflege การดูแลเอาใจใส่.

สตรีคนที่สอง (อยู่กลางภาพพอดี) สวมเสื้อชุดสีแดง ที่เป็นสีของชนชั้นผู้ดี. เสื้อคลุมตัวนอกเป็นสีอ่อนๆ มีลวดลายของดอกลิลี (lily สัญลักษณ์บอกสถานะกษัตริย์, เชื้อพระวงศ์ชั้นสูง) เธออุ้มทารกคนหนึ่งด้วยมือซ้าย มือขวาถือดอกกุหลาบ. ภาพแบบนี้ สื่อความรัก โยงไปถึงพระแม่มารีกับพระเยซูองค์น้อย. ใต้ลงไปที่ขอบพรม ตรงกับคำว่า liebe ความรัก.

สตรีคนที่สาม สวมชุดสีอ่อน ห่มด้วยเสื้อคลุมตัวยาวสีน้ำเงินเข้ม. มือซ้ายจับด้ามของแผ่นกระดานชนวน เขียนอักษรไว้ เพื่อสอนให้เด็กอ่าน. มือขวาถือตะเกียงที่จุดสว่าง. นัยของปัญญา ความรู้ที่ส่องแสงทาง. เด็กคนหนึ่งเงยหน้า นิ้วชี้ไปที่กระดานชนวน แสดงความตั้งใจเรียน. ด้านหลังใกล้ไหล่ขวาของสตรีคนนี้ นกเค้าแมวหนึ่งตัวเกาะบนกิ่งไม้. ทุกคนรู้ว่า ในบริบทนี้ โยงไปถึงนกเค้าแมวของอาเธนา Athena เทวีกรีกผู้รอบรู้ชาญฉลาด(ที่สุด)ในหมู่ทวยเทพกรีก. ใต้ลงไปที่ขอบพรม ตรงกับคำว่า wissen ปัญญา.

อัศวินคนริมขวา ถือธงที่มีผ้าเขียนคำว่า treue ในความหมายว่า ความจงรักภักดี. มือซ้ายเท้าบนสะโพก ใกล้ดาบคู่กาย.    

อัศวินสองคนจึงทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสตรี ด้วยความซื่อสัตย์และภักดี.

พรมนี้ทอขึ้นที่ Merton Abbey ในราวปี 1881. ปกติมีอักษรย่อของอารามนี้ ทอลงในพรมด้วย (ในภาพนี้ มองไม่เห็น). โมโนแกรม monogramme ของอารามนี้ คืออักษร ดี D ขนาดเล็ก เหนืออักษรดับเบิลยู W ทั้งสองตัวอยู่ภายในกรอบของอักษร ดี D ตัวใหญ่ ดังตัวอย่างนี้

บทกวี Würde der Frauen (คุณค่าของสตรี หรือศักดิ์ศรีของสตรี, 1796) เป็นส่วนหนึ่งในเรียงความเรื่อง  On Grace and Dignity  ของ Friedrich Schiller.  เฉพาะบทนี้ บทประกอบด้วยเก้าบท  เริ่มด้วยการพรรณนาสตรีห้าบท ตามด้วยการพรรณนาบุรุษอีกสี่บท. เนื้อความนำให้เห็นความตรงข้ามในหลักการของการเป็นสุภาพบุรุษกับสุภาพสตรี. เขาเชื่อว่า ความงามประภัสสร มีมากในสุภาพสตรี ยิ่งหากมีรูปร่างตรึงตาน่าประทับใจและนิสัยดีตรึงใจ ร่วมกันกระชับความชื่นชมให้สมดุล, ย่อมทำให้พวกเธอสวยเจิดจ้ายิ่งขึ้นอีกทวีคูณ. หากมีอุปนิสัยที่ดีเพียงอย่างเดียว ยังมิอาจประกันความมีศีลธรรมเลิศบริสุทธิ์ในใจเธอได้เต็มร้อย, ชิลเลอเห็นว่า เป็นสมบัติของสุภาพบุรุษมากกว่า... อย่างไรก็ดี ชิลเลอเชื่อว่า แต่ละคน ไม่ว่าเพศใด สั่งสม ความงามสง่าและศักดิ์ศรี ได้อย่างเพียงพอด้วยตัวเองให้ตัวเอง.  คุณสมบัติของสตรี เชื่อมนำไปสู่สันติภาพ ส่วนความหยิ่งภาคภูมิใจของบุรุษ มักลงเอยด้วยความแตกแยกในสงคราม.  เมื่อเชื่อมความงามกับศักดิ์ศรีของสุภาพสตรีเข้าด้วยกัน พวกเธอจึงมีคุณค่าสูงลอยฟ้า ที่สามัญชนมองข้ามไป.

(บทกวีของชิลเลอ ยังมีนัยอื่นๆต่อไปอีกมากเช่นกระแสนิยมสิทธิสตรี. ติดตามต่อไปอ่านข้อมูลการวิเคราะห์ผลงานของชิลเลอได้ เช่นจากเว็บนี้ >> https://archive.schillerinstitute.com/fid_91-96/933_dig_women.html)

      พรมในสมัยก่อนเหมือนภาพเล่าเรื่อง จารึกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ หรืออธิบายจริยธรรมศาสนา. ในสมัยก่อนสตรีต้องเรียนรู้การทอผ้าทุกคน ดังที่ศิลปินเสนอให้เห็นในศิลปะยุคกลาง ว่าตั้งแต่อีฟแล้ว พอออกจากสวรรค์ ก็ต้องทอผ้า (เรียนรู้ทุกขั้นตอนในศิลปะการทอผ้า). สตรีไม่ว่าชนชั้นไหนก็ต้องเรียนต้องทำให้เป็น ถือเป็นสมบัติที่ผู้หญิงต้องมี. พรมทอมักเป็นผืนใหญ่ๆ เพื่อประดับบนผนังกำแพง ช่วยลดอุณหภูมิภายในห้องได้ เพราะทอจากขนสัตว์ ต่อมาใช้ไหม นอกจากแขวนปิดบนผนังกำแพงห้อง ยังใช้ปูพื้น ปูโต๊ะ ม้านั่งตัวใหญ่และยาว. ปัจจุบันคนรู้จักใช้วัสดุอีกหลายอย่าง ป่าน ปอ ใยพันธุ์กก ผักตบชวา กระจูดฯลฯ  นำมาทอเป็นผืน ที่มีประโยชน์ใช้สอยมากในครัวเรือน เช่น ปูพื้น ทำกระเป๋า บรรจุภัณฑ์เก๋ๆ หรือเป็นองค์ประกอบตกแต่งเครื่องเรือน. บ้านเรามีทรัพยากรมากมาย ล้วนมีค่า, วัสดุจากธรรมชาติที่ย่อยสลายในธรรมชาติได้ง่ายกว่า แทนการผลิตสิ่งของที่เป็นขยะนิรันดร์! ดั่งปลาสติกที่นับวัน ต้องนำไปปล่อยในอวกาศชั้นนอก. (ถือโอกาสระบุว่า ณปัจจุบัน อวกาศคือที่ทิ้งขยะเทคโนโลยี, เฉพาะบนดวงจันทร์ มีอุปกรณ์เครื่องกลไก เครื่องจักรทั้งหลายทั้งปวงที่มนุษย์ได้ทิ้งไว้บนดวงจันทร์ระหว่างปี 1959 ถึงปี 2019 รวมกันถึง 189,494 ตัน, เทียบเท่ากับรถยนต์จำนวนสองร้อยคัน.)  

      การถักทอ น่าจะเป็นการฝึกนิสัยแบบหนึ่ง ช่วยให้คนทอมีสมาธิ สอนให้รู้จักควบคุมกำลังมือกำลังเท้าให้คงที่สม่ำเสมอ, ซึ่งเท่ากับขัดเกลาอารมณ์ความรู้สึกรุนแรงให้ลดลงด้วย. ไม่ง่ายเลย. ช่างทอที่มีทักษะ, จิตและสมาธิเสมอต้นเสมอปลาย ย่อมทอได้สวยเสมอกัน.

โชติรส รายงาน

๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔.    

Saturday, February 20, 2021

Above the hourglass

บัลลังก์จักรพรรดิ บนนาฬิกาทราย

ภาพจากอัลบัม St. Petersburg album อยู่ที่ The Smithsonian’s Museums of Asian Art, Smithsonian Institution, Freer Gallery of Art, Washington DC. เครดิตภาพ Bichitr, Public domain, via Wikimedia Commons.

มหาราชาผู้ประทับบนบัลลังก์ในภาพนี้ คือ พระราชา Jahangir (ในความหมายว่า ผู้ยึดครองโลก) นั่งพิงหมอนหนุนขนาดใหญ่สีแดงๆน้ำตาลๆ. บัลลังก์บนพื้น ที่ปูพรมสีฟ้าสวย ลวดลายละเอียดประณีต. แสงสีเหลืองทอง กระจายเป็นแฉกรัศมีรอบศีรษะ ภายในวงกลมใหญ่สีทองเข้มกว่า ที่คือวงรัศมีดวงอาทิตย์. มีวงรีเล็กๆสีขาวโอบประคองวงกลมดวงอาทิตย์ไว้ คือแสงเรืองรองอ่อนโยนของดวงจันทร์. วงรัศมีหลังองค์มหาราชา รวมกันเป็นองค์ประกอบที่ใหญ่และเด่นที่สุดของภาพทั้งภาพ. กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งองค์ราชากับดวงดาวที่มีอิทธิพลต่อโลก. จิตรกรยกพระราชาของเขาขึ้นเป็นศูนย์กลางของแสงสว่างที่สาดส่องอินเดียและโลก.

เบื้องหน้าพระราชา Jahangir เป็นคิวของผู้คอยเข้าเฝ้า เรียงลำดับความสำคัญในวิสัยทัศน์ของมหาราชาแห่งมูกัล. คนแรกหยุดยืนบนพื้น ที่เกือบอยู่ระดับเดียวกับบัลลังก์, กำลังรับหนังสือจากพระหัตถ์ของมหาราชา, ใบหน้าเชอิค ยิ้มนิดๆด้วยความปลื้มปิติ.

เชอิคซูฟิคนนี้ ยื่นมือสองข้างไปข้างหน้า จับผ้าคลุมสองด้าน เพื่อรับหนังสือจากมหาราชา, ในแบบที่คนไทยใช้พานวางของถวาย หรือรับของพระราชทานหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ จนสัมผัสมือขององค์มหาราชา เป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง. ให้สังเกตมือของพระราชา พราวด้วยแหวนและกำไลข้อมือประดับเพชรพลอย, มือของเชอิคนั้นไม่สวมเครื่องประดับใด.

คนที่ยืนถัดจากเชอิคซูฟิลงมา คือสุลต่านอ็อตโตมัน, สวมหมวกที่เป็นผ้าโพกผมชั้นดี พันเป็นทรงกลม. การยืนพนมมือ ยืนยันว่า แม้สุลต่านแห่งอ็อตโตมัน ยังมาเยือนคารวะมหาราชาอินเดีย. ความสำคัญของสุลต่าน ยังด้อยกว่าความสำคัญของเชอิคซูฟิ ตรงตามข้อความกำกับภาพว่า มหาราชา Jahangir ให้ความสำคัญแก่นักบวชของศาสนากว่ากษัตริย์. ส่วนคนที่ถัดลงมา ในเครื่องแต่งกายแนวยุโรป ปกลูกไม้เนื้อดี ฟูรอบคอตามแฟชั่นยุโรปยุคนั้น. นี่คือภาพเสมือนของพระเจ้าเจมส์ที่หนึ่งแห่งอังกฤษ. เขาหันหน้าตรงมาที่ผู้มอง, ขรึม เหมือนจะเบื่อหรือไม่ไยดีนัก. 

ตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ พระเจ้าเจมส์ที่หนึ่งไม่ได้เดินทางไปอินเดีย. เชื่อกันว่า จิตรกรได้เห็นภาพเสมือนของพระเจ้าเจมส์ จาก Sir Thomas Roe (ภาพวาดดั้งเดิมที่เป็นต้นแบบ ของ John de Critz) เอกอัครราชทูตคนแรกจากอังกฤษมาประจำที่ราชสำนักมูกัล (Mughal) สามปี ระหว่างปี 1615 ถึงปี 1619. การมอบภาพเสมือน (หรือการแลกภาพเสมือนระหว่างเจ้าผู้ครอง) เป็นซีเมนต์เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองราชสำนักตะวันตกกับตะวันออก. จิตรกร Bichitr แทรกภาพของพระเจ้าเจมส์ที่หนึ่ง โดยให้เห็นเพียงมือซ้ายที่ทอดลงต่ำ ไม่แตะดาบประจำพระองค์, ส่วนมือขวา(มือข้างที่ชักดาบเพื่อข่มขู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน) ถูกร่างของจิตรกร(คนสุดท้ายในคิว) ปิดไว้เสียสิ้น เพื่อมิให้มองเห็นนัยของการข่มขู่. การนำภาพพระเจ้าเจมส์มาแทรกในภาพนี้ เป็นการสรรเสริญ Jahangir ว่ามีอานุภาพกว้างไปในแดนไกล. ภาพของสุลต่านอ็อตโตมันและกษัตริย์อังกฤษ สอดคล้องกับหน้าที่ของจิตรกรประจำราชสำนัก ที่ต้องเสนอภาพความยิ่งใหญ่ของพระราชาให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก.

      จิตรกร Bichitr เสนอภาพของตัวเองในชุดเสื้อคลุมนอกสีเหลืองๆ อยู่คนสุดท้ายมุมเล็กๆในคิว. เอาตัวเขา ปิดบทบาทของมือขวาของพระเจ้าเจมส์. มือขวาของจิตรกร จับภาพจิตรกรรมน้อยในกรอบสีแดงๆ  เห็นภาพของจิตรกรในชุดเสื้อคลุมสีเหลืองๆ หัวก้มลงต่ำมากแสดงความนอบน้อม, ช้างตัวใหญ่และม้าสีขาวหนึ่งตัว สีน้ำตาลหนึ่งตัว อาจเป็นของที่มหาราชาพระราชทานแก่เขา (หรืออาจมองได้ว่า เขาเป็นเสมือนช้างม้าผู้รับใช้ของพระองค์). จิตรกร ยังได้จารึกลายเซ็นของเขา บนพื้นราบของที่วางเท้า (สำหรับเหยียบขึ้นหรือลงจากบัลลังก์, ดูตรงดอกจันสีขาวในภาพล่างนี้) แสดงความถ่อมตนที่เหมาะสมที่สุดในวิธีการจัดภาพ.

ดอกจันสีขาว ชี้ตำแหน่งของลายเซ็นจิตรกร บนหน้าเรียบของที่วางเท้า, รูปปั้นของคนสองหัว(ทำหน้าที่เหมือนยักษ์แบก) ยกมือขึ้นชูแผ่นหินสำหรับวางเท้า เป็นที่เหยียบขึ้นลงบัลลังก์. พื้นหน้าของบัลลังก็เป็นรูปทรงกลม เห็นช่องเปิดตรงขอบให้ก้าวขึ้นลง จากที่วางเท้า. บัลลังก์ทรงกลม รับกับรัศมีสีทองรอบศีรษะของ Jahangir. (บัลลังก์นี้ มีจริงไหม ไม่ทราบได้ อาจเป็นจินตนาการสร้างสรรค์ของจิตรกรเอง)

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ ใต้แผ่นที่นั่งลงไปเป็นนาฬิกาทรายขนาดใหญ่. เทวดาองค์น้อยสององค์กำลังชี้ชวนกันดูแนวทรายที่ไหลลง, แนวหนึ่ง(สีขาว) เหมือนไหลปริออกจากรอยร้าว. เทวดาเสื้อแดง เอาโถเล็กๆเหมือนจะไปรองรับทรายที่ไหลออก. ชัดเจนว่า เทวดา เป็นรูปลักษณ์จากตะวันตก ไม่ใช่แบบในศิลปะอาหรับหรืออินเดีย, บอกให้รู้ว่าจิตรกรได้เห็นได้เรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะตะวันตกโดยเฉพาะคริสต์ศิลป์. จนถึงยุคนั้น วัฒนธรรมอินเดีย คือส่วนหนึ่งของอารยธรรมอาหรับ และศาสนาอิสลามเป็นศาสนาเด่น เกือบจะข่มศาสนาฮินดูของอินเดีย.

ตามประวัติศาสตร์ นักเดินทางค้าขายชาวโปรตุเกส ไปถึงอินเดียเป็นกลุ่มแรก รุดหน้าเดินเรือข้ามน้ำข้ามทะเลสู่อินเดีย, หลังจากการเดินทางของวาสโก ดากามา ผู้ไปอ้อมแหลม Cape of Good Hope ในปี 1498 ได้สำเร็จ. ชาวโปรตุเกสไปตั้งสถานีค้าขายครั้งแรกบนฝั่งตะวันตกของอินเดียและต่อมาขยายไปยังฝั่งตะวันออกแถบเบงกอล (แถบกัลกัตตาปัจจุบัน). อินเดียยุคมูกัลจึงรู้จักชาวตะวันตกหลายชาติแล้ว. ส่วนอารยธรรมอาหรับนั้น ครอบงำประเทศอินเดียติดต่อกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7. การรังสฤษฎ์จิตรกรรมน้อย ก็เป็นขนบศิลป์ของชาวอาหรับก่อน อินเดียจึงมีภาพวาดจิตรกรรมน้อยแบบนี้มานานมากแล้ว. หลังการเดินทางไปทำสงครามครูเสด (ศตวรรษที่ 11) ชาวยุโรปจึงได้เห็นความรุ่งเรืองหาที่เปรียบมิได้ของอารยธรรมอาหรับ และเริ่มนำสิ่งดีๆหลายอย่างรวมวิทยาการความรู้ที่นำหน้ายุโรปไปไกล กลับไปพัฒนาต่อยอดในยุโรป.

ชาวอังกฤษกลุ่มแรก(ที่มีหลักฐานจารึกไว้) เดินทางไปถึงอินเดียในปี 1584. มีนายช่างทองคนหนึ่งในนามว่า William Leeds ไปด้วยและได้เข้ารับใช้ในราชสำนีกของพระราชา Akbar พระราชบิดาของ Jahangir. คงมีผลงานเป็นที่โปรดปราน, มีจารึกระบุว่าได้รับพระราชทานที่ดิน บริวารผู้รับใช้และม้า. นาฬิกาทรายในภาพนี้ จึงน่าจะได้แบบจากผลงานของนายช่างทอง William Leeds ที่แน่นอนเป็นแบบตะวันตก. รูปแบบและลวดลายของนาฬิกาทราย ดูเหมือนจะแพร่ไปในยุโรป. พบนาฬิกาทรายคล้ายๆกันที่เมือง Ausburg, เป็นผลงานของ Matthis Zoller ปี 1671. เมือง Ausburg ในศตวรรษที่ 16-17 เป็นหนึ่งในเมืองสำคัญๆ (Innsbruck, Vienna) ที่ผลิตนาฬิกาตั้งโต๊ะสวยงาม. นาฬิกาตั้งโต๊ะเรือนทองเรือนเงิน เป็นสมบัติมีค่าประดับพระราชวังและเป็นสมบัติสะสมของชนชั้นสูงและคหบดีผู้มั่งคั่ง.

รู้กันดีว่า นาฬิกาทราย สื่อนัยของเวลาที่ล่วงผ่านไปๆ (แถมยังมีแนวทรายที่ไหลออกจากรอยปริด้วย), เหมือนจะเตือนว่า อำนาจ ทรัพย์สมบัติหรือแม้ชีวิต ก็จะผ่านไปตามวาระ, ตั้งอยู่บนความไม่เที่ยง. นับเป็นความกล้าหาญของจิตรกรที่นำนัยของ ความตายลงควบคู่กับนัยของแสนยานุภาพของพระราชา Jahangir, ในขณะเดียวกันก็แสดงความใจกว้างของพระราชา Jahangir. จารึกข้อความเป็นภาษาอาหรับ บนขอบภาพล่างซ้าย ระบุว่า โอ้ มหาราช ขอจงทรงพระเจริญไปถึงพันปี

นัยของอนิจจัง ยังเห็นได้จากรูปเทวดาองค์น้อยอีกสององค์ ตรงมุมบนของภาพ, ที่ก็มาจากแบบคริสต์ศิลป์เมื่อทวยเทพเทวดาในสวรรค์ ตีอกชกหัว แสดงท่าสุดสลดใจเมื่อพระเยซูถูกตรึงจนสิ้นใจ, ดังตัวอย่างที่มีชื่อเสียงมากในเฟรสโก้ผลงานของ Giotto ศตวรรษที่ 14.

ในภาพนี้ เทวดาในมุมบนซ้าย มือหนึ่งถือคันธนู อีกมือหนึ่งถือธนูที่ปลายหักลง, ทำให้นึกถึงคิวปิดเทพแห่งความรัก ธนูหักเสียแล้ว มิอาจดลใจใครให้รักใครได้อีก. เทวดาในมุมบนขวา เอาสองมือปิดหน้า เหมือนกำลังคร่ำครวญเสียใจ.

Jahangir ครองราชย์เป็นมหาราชาแห่งราชวงศ์มูกัล (Mughal) ระหว่างปี 1602 ถึงปี 1627  จิตรกรน้อยภาพนี้เนรมิตรขึ้นในระหว่างปี 1615-1618. การแทรกนัยของความตายในอนาคตของพระราชา ผู้ยังครองบัลลังก์ต่อไปอีกสิบเอ็ดสิบสองปี นับว่าอุกอาจมาก(ในวิสัยทัศน์ไทยๆ). อิทธิพลจากตะวันตกยุคนั้น น่าจะมีส่วนในการขยายวิสัยทัศน์ โลกทัศน์และเนื้อหาในศิลปะภาพวาดของอินเดียยุคนั้น.

      เรื่องราวอินเดีย มากไม่สิ้นสุดในทุกแง่มุม ทุกแขนงความรู้. อินเดีย เป็นบ่ออารยธรรมที่สำคัญยิ่งของมนุษยชาติ. จึงนำมาพูดได้เพียงตัวอย่างเล็กๆตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น. เพื่อเชื่อมวิสัยทัศน์ที่คนไทยคุ้นเคย เจาะจงเพิ่มว่า Jahangir เป็นพระราชบิดาของ Shah Jahan ผู้จะขึ้นครองราชย์ต่อ (1628-1658) และเป็นผู้สั่งสร้างทัชมาฮาล.

       เวลา (Time และ Duration) ยังคงเป็นกรอบสมมุติของชีวิตคน ไม่ว่าใคร ที่ไหนบนโลกนี้. อย่าพลาดแง่คิดตะวันตกเรื่องเวลาที่ได้เสนอมาก่อน. ติดตามได้ตามลิงค์นี้.

>> https://blogchotiros.blogspot.com/2021/02/breaking-time.html

โชติรส รายงาน

๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔.

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ ด้วยคีย์ copy & paste ลิงค์ต่อไปนี้ >>

*** https://smarthistory.org/bichitr-jahangir-preferring-a-sufi shaikh-to-kings/ 

*** https://www.britannica.com/biography/Jahangir

*** https://www.thebritishacademy.ac.uk/blog/closer-look-mughal-emperor-jahangir-depicted-hourglass-throne/ 

Tuesday, February 16, 2021

Breaking Time

ตีเวลาให้แตก

ตั้งแต่โบราณกาล นักปราชญ์ทุกผู้ทุกนาม คิดพินิจพิจารณาวิเคราะห์และสังเคราะห์ความเข้าใจเรื่อง «เวลา» อยู่เสมอ. พบแง่คิดและกระบวนการวิเคราะห์จำนวนมาก แทรกอยู่ในวรรณกรรมของทุกชาติ ในจารึก บันทึกหรือในคำสอน. วิธีการคิด การถกปัญหาตามแนวตะวันตก น่าติดตาม.

      ทุกคนมีประสบการณ์เรื่องเวลา ใช้เวลา จับเวลา คอยเวลา พูดถึงเวลาฯลฯ. หลายคนดูนาฬิกาเสมอๆ. เราพูดถึงเวลา ตลอดเวลาโดยไม่เคยตั้งคำถาม ไม่เคยเข้าใจอย่างถ่องแท้. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้คำอธิบาย «เวลา» ว่า น. ชั่วขณะความยาวนานที่มีอยู่หรือเป็นอยู่ โดยนิยมกำหนดขึ้นเป็นครู่ คราว วัน เดือน ปี เป็นต้น เช่น เวลาเป็นเงินเป็นทอง ขอเวลาสักครู่. (ป., ส.). เป็นคำอธิบาย duration ไม่ใช่คำจำกัดความของ «เวลา» Time.

     การให้คำจำกัดความอะไร คือการสร้างกรอบของสิ่งนั้น. สิ่งที่อยู่ในกรอบ มีรูปลักษณ์. มีรูปคือสัมผัสได้, มีมวล (เช่นอากาศ). «เวลา» ไม่มีรูปให้เห็นหรือจับต้องได้. เป็นสิ่งไม่แน่นอน ไม่คงที่ ไม่เคยหยุดนิ่ง. เวลาไม่เป็นคลื่น, ไม่มีความถี่. จับ«เวลา» ให้เข้าอยู่ในกรอบรูปแบบใด ก็ไม่ได้. จัด «เวลา» อยู่ในระบบความคิดใด ก็ยังไม่ลงตัว, ถูกต้องในบางประเด็น แต่ไม่ทุกประเด็นเป็นต้น. อธิบาย«เวลา» ตรงจุดไหนของมัน ยึดจุดนั้นไว้ก็ไม่ได้ เพราะมันต่อเนื่องกันไป, ผันเปลี่ยนไปทุกขณะ.

      นักบุญออกุซติน (Augustin of Hippo, 354AD-430AD. นักเทววิทยาและนักปรัชญา, เป็นหนึ่งในสี่มหาปราชญ์ในศาสนาคริสต์) สรุปว่า ไม่มีเวลา เวลาไม่มีตัวตน ไม่มีที่ตั้งที่อยู่ถาวร. แต่ทุกคนบนโลก เกิดมาอยู่ในกรอบของเวลาที่สังคมมนุษย์สมมุติและเสกสรรค์ขึ้นเป็นระบบวินาที นาที ชั่วโมง วัน เดือน ปีเป็นต้น. เราเชื่อว่า จากจุดปัจจุบันที่เรายืนอยู่ เรามีอดีตและมีอนาคต. ทุกคนมีชีวิตมาตั้งแต่เกิดถึงวันนี้ เป็นอดีตของแต่ละคน และพรุ่งนี้เป็นต้นไป คืออนาคตของเขา.

     ในความเป็นจริง อดีต ปัจจุบันหรืออนาคต มีในความคิด, ในจิตสำนึกของเราเท่านั้น. เราอยู่ในปัจจุบันตลอดเวลา มีความคิดที่เชื่อมความทรงจำในอดีต กับความคาดหมายหรือการรอคอยในอนาคต. ความคิดและจิตสำนึกดังกล่าว สร้างและห่อหุ้มตัวเราให้เป็นตัวตนในสังคมคน และทำให้คนอื่นๆสัมผัสตัวเราได้(อย่างน้อยก็ส่วนหนึ่ง). ดังนั้น อดีต ปัจจุบันและอนาคต ไม่ใช่ เป็นสามเวลาหรือสามกาลที่เราเคยท่องเคยจำตั้งแต่เด็กเมื่อเรียนอ่าน พูดและเขียน, มันคือ สามสถานะหรือสามมิติของระยะเวลา (เป็น duration ไม่ใช่ time). สามสถานะดังกล่าว ทำให้ตัวตนปัจจุบันของเรา ผ่านกลับไปในอดีตได้ด้วยความทรงจำ และตัวตนปัจจุบันของเราที่รอคอยทางผ่านไปยังอนาคตา. คนจึงเขียนอัตชีวประวัติของตัวเองได้ และคาดคะเนหรือวางแผนชีวิตในอนาคตได้. ปัจจุบันจึงอยู่ในอดีตและอยู่ในอนาคต. ชีวิตคนจึงอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น เพราะอดีตหายวับไปแล้ว และอนาคตไม่มีจริง เพราะทันทีที่ถึง พรุ่งนี้ก็กลายเป็น วันนี้ไปแล้ว.

      ทุกคนถูกเวลาครอบงำตั้งแต่เกิด แม้จะไม่ขยับตัวไปไหน ชีวิตแต่ละขณะก็จากไปแล้ว. หากคิดจะยึดเวลาให้อยู่กับที่เพื่อเสพสุขของขณะดีๆในปัจจุบัน หรือยืดเวลานั้นให้นานออกไป เราก็ทำไม่ได้ มันเป็นไปได้ในความฝัน ในจินตนาการเท่านั้น. ประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคนเกี่ยวกับเวลา เป็นประสบการณ์ในมิติที่จำกัดมาก แม้จะช่วยเปิดตาเปิดใจให้จับธรรมชาติตัวตนของตัวเองได้บ้าง และอาจกระตุ้นให้ตระหนักว่าการตั้งอยู่ของคนนั้น เปราะบางเวิ้งว้าง. ความรู้สึกนี้กระมัง ที่ผลักให้คนพยายามหากรอบให้ชีวิต ทุกทางทุกวิธี. โดยปริยายคนไม่อาจคิด, สัมผัสหรือเข้าใจอะไรได้นอกกาลเวลา จึงไม่มีทางเข้าใจสภาวะนิรันดร.

     ความคิดของนักบุญออกุซตินว่า แท้จริงแล้ว ไม่มีเวลา. นักฟิสิกส์ปัจจุบันได้วิเคราะห์วิจัยกันตามกระบวนการวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าเป็นเหตุการณ์ในชีวิต หรือปรากฏการณ์ทุกอย่างไปจนถึงจักรวาล ต่างยืนยันว่า แท้จริงแล้วไม่มีเวลา. สิ่งที่คนสมมุติให้เป็นเวลา ประดิษฐ์นาฬิกาสารพัดแบบ สร้างมายาคติว่าจับได้, ตั้งได้, ควบคุมได้. คนพูดถึงระยะเวลา (duration) ของเหตุการณ์หนึ่ง, ของพฤติกรรมหนึ่ง, ของชีวิตหนึ่ง, ในแง่นี้เท่านั้นเพราะมีจุดเริ่มต้นและจุดจบของแต่ละประสบการณ์ (เช่นมีวันเดือนปี).

     เอเตียน ไกลน์ Étienne Klein (นักควอนตัมฟิสิก์ นักปรัชญา อาจารย์วิชาฟิสิกส์ผู้มีชื่อเสียงชาวฝรั่งเศส) อรรถาธิบายว่า «เวลา» ที่ใช้กันสามัญอย่างคุ้นเคย เมื่อคิดถามว่า «เวลา» คืออะไร. คำตอบที่ได้ต่างๆกัน และมีนัยหลากหลาย. ความหมายของ «เวลา» มาจากประโยค, จากบริบทแวดล้อมการพูดประโยคนั้น ที่แต่ละคนเอานัยส่วนตัว, จากประสบการณ์ส่วนตัว ใส่เข้าไปในประโยคของเขา. เวลาที่สามัญชนคุ้นเคย คือเวลาที่เราเคยอยู่ เคยเป็น.

     ตามคำจำกัดความเชิงภาวะวิสัย «เวลา» หมายถึงการต่อเนื่อง แต่ก็หมายถึงการเกิดขึ้นพร้อมกัน (succession & simultaneity). «เวลา» หมายถึงการเปลี่ยนแปลง และก็หมายถึงสิ่งที่กำลังผันแปรไป (change and becoming). «เวลา» หมายถึงขณะ ชั่วครู่ และก็หมายถึงระยะเวลา (moment & duration). «เวลา» สำหรับหลายคนหมายถึง เงิน และสำหรับอีกหลายคน หมายถึงความตาย.

     คำเพียงคำเดียว มีหลายนัยถึงเพียงนี้ จนจับความหมายแท้จริงไม่ได้, สูญเสียนัยแกนไปแล้ว. แต่ทำไมคำที่มีนัยไม่แน่นอนเจาะจง จึงถูกเอาไปเป็นตัวแปรคณิตศาสตร์ (une variable mathematique / a variable in mathematics) ในสมการของฟิสิกส์, นำไปใช้อธิบายปรากฏการณ์ด้านชีววิทยา, ด้านธรณีวิทยา, ด้านจิตวิทยา, ดาราศาสตร์เป็นต้น.

     กาลิเลโอ (Galileo Galilei 1564–1642) เป็นคนแรกที่นำ «เวลา» เข้าไปในวิชาฟิสิกส์ เมื่อเขาเอาเวลาเป็นตัววัดและอธิบายหลักการที่เขาค้นพบว่า ความเร็วของวัตถุที่ตกลงสู่พื้น เป็นสัดส่วนโดยตรงกับระยะเวลาที่มันตกลง. ความคิดเรื่องเวลาของเขายังอยู่ในภาวะแรกเริ่ม. วัตถุที่ตกลงในความว่างเมื่อสามวินาทีก่อน ตกลงเร็วกว่าวัตถุที่เพิ่งตกเมื่อหนึ่งวินาทีก่อน (จริงหรือ?).

     นิวตัน (Isaac Newton, 1642-1727) นำหลักการไปพิจารณาต่อ และเกลี่ยทุกขณะของเวลาให้เท่ากันให้เสมอกัน. กระบวนการคิดของนิวตัน บอกว่า เวลาไม่เปลี่ยนไปตามกระแสเวลา, เป็นความคิดที่คลุมเคลือ. นิวตันยืนยันว่า มีเวลาที่ผ่านไปเพราะมีกระแสเวลา(ช่วงเวลา) และมีเวลาที่ไม่ผ่านไป อยู่กับที่เพราะเป็นเวลาเดียวกัน. คิดอย่างนิวตันยิ่งคิดจึงยิ่งสับสน... ทฤษฎีของนิวตันใช้อธิบายเหตุการณ์มาได้ด้วยดีจนถึงปลายศตวรรษที่ 19 ต้นศตวรรษที่ 20 ก็สะดุดหยุดอยู่กับที่ เมื่อไอนสไตนเสนอทฤษฎีสัมพัทธภาพ, เมื่อฟิสิกส์คลาซสิกต้องถอยออกให้ควอนตัมฟิสิกส์ขึ้นหน้า. เวลาแบบนิวตัน ไม่ตรงกับความหมายที่นักฟิสิกส์สมัยนี้ค้นพบที่ถูกต้องกว่าและครอบคลุมกว่า. 

      ในความเห็นของผม (Étienne Klein) ศาสตร์เรื่องเวลา คือฟิสิกส์, เวลาฟิสิกส์ เป็นเวลาเดียว ไม่เปลี่ยนแปลง ทำหน้าที่ของมันไป ไม่เกี่ยวอะไรกับประสบการณ์ของใคร. ใน concept ของเวลาฟิสิกส์ดังกล่าว มีพฤติกรรมของเวลาหลากหลาย ทั้งเชิงจิตวิทยา ชีววิทยา ธรณีวิทยาเป็นต้น. นั่นคือประสบการณ์เกี่ยวกับเวลาในสภาวแวดล้อมต่างๆ. เรารู้กันแล้วว่าฟิสิกส์คลาซสิก ไม่เหมือนหลักการของทฤษฎีสัมพัทธภาพ(ของไอนสไตน), ไม่ใช่หลักการของควอนตัมฟิสิกส์, ไม่ใช่หลักการเดียวกับธรรมชาติ หรือของบันทึกลำดับเหตุการณ์. วิธีการของผม ใช้หลักสมการในฟิสิกส์ ที่ต่างจากของนิวตัน. นักฟิสิกส์ ไม่ใช่นักปรัชญา (กระบวนการคิดของนักบุญออกุซตินเป็นปรัชญา). นักฟิสิกส์จับเข้าสมการที่ทำให้กระจ่างเข้าใจได้ดี แต่ก็มีที่เข้าใจยาก. ตัวอย่างสมการเช่น ความเร็วของวัตถุหนึ่ง คูณด้วยน้ำหนักของวัตถุนั้น จะเท่ากับปริมาณกำลังที่ไปเร่งความเร็วของวัตถุนั้น. หรือตัวอย่างสมการของไอนสไตน ที่สั้น(แต่เข้าใจจริงๆนั้น ไม่ง่าย) E=mc2 โดยที่ E=energy พลังงาน, m=mass มวล, c = speed of light ความเร็วของแสง แล้วยกกำลังสอง (c เป็นอักษรตัวแรกของคำละติน celeritas ที่แปลว่า speed/ความเร็ว) เป็นต้น.  

       เมื่อพูดถึงเรื่องเวลากับนักฟิสิกส์ จึงต้องอ้างให้ชัดเจนว่า เวลาที่เขาคิดนั้น มันตามหลักการแนวไหน เพราะเวลาของนิวตัน ไม่ใช่เวลาของไอนสไตน แต่จะไม่โยงไปถึงแบบแผนพื้นฐานเชิงวิทยาศาสตร์ ก็ไม่ได้, กลายเป็นการเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับเวลา กลายเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่การจำกัดความตามแนววิทยาศาสตร์.

     เราพูดกันจนชินว่า เวลาผ่านไป, ไม่เคยหยุดคิดลึกซึ้งลงไป, ยิ่งมองละเอียดยิ่งเกิดปัญหา. เมื่อผมคิดๆไป หน้าที่หลักของ“การเป็นเวลา” คือการสร้างปัจจุบันขณะขึ้นใหม่ ที่ทำให้ผมอยู่ในปัจจุบันขณะ เป็น ปัจจุบันขณะ ที่ไม่ใช่ ปัจจุบันขณะ เดียวกัน. มันเป็นการสร้างขณะใหม่ๆที่ไม่สิ้นสุด และต่อ ปัจจุบันขณะ ไปไม่สิ้นสุดเช่นกัน. ทันทีที่มี ปัจจุบันขณะ เกิดขึ้น ก็ถูก ปัจจุบันขณะ อีกตัวเข้าแทนที่. เวลาจึงเป็นมอเตอร์ของกระบวนการสร้างขณะขึ้นใหม่ เป็นกระบวนการที่ไม่จบสิ้น. ดังนั้นเมื่อผมพูดว่า เวลาผ่านไป ในความเป็นจริงแล้ว เวลาไม่ผ่านไป มันอยู่ของมันตรงปัจจุบันเสมอและทำหน้าที่ของมันซึ่งคือการสร้างปัจจุบันขณะ. ตามเหตุปัจจัย ผมจึงพูดว่า เวลาผ่านไป ไม่ได้. « เวลาไม่ได้ผ่านไป ความจริงของแต่ละขณะต่างหาก ที่ผ่านไปๆ ». สำนวนเกี่ยวกับเวลาในภาษาที่เราใช้กัน เมื่อนึกถึงข้อเท็จจริงเชิงวิทยาศาสตร์ จึงเป็นปัญหาขึ้น (แต่ไม่มีใครคิดแก้ไขสำนวน ถือว่าเป็นวิธีการเปรียบเทียบ เช่นวิ่งตามเวลา).  เวลาฟิสิกส์ หรือ เวลาสำหรับนักฟิสิกส์  ไม่ยินดียินร้ายใดๆกับนัยของเวลาที่แต่ละคนสัมผัสได้ ในชีวิตสามัญในสังคม.

ที่เขียนมาสั้นๆนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการมอง«เวลา» ยังมีอีกมากมายที่นักวิทยาศาสตร์อธิบายไว้. 

ประสบการณ์การติดตามฟังนักฟิสิกส์ นักดาราศาสตร์ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ นอกจากทำให้ทึ่งและชื่นชมในความช่างคิด, ในความละเอียดของการคิดและกระบวนการอรรถาธิบาย ยังสร้างกำลังใจให้อยู่เพื่อเรียนสิ่งใหม่ๆ ประเด็นใหม่ๆต่อไป. การตามไปฟังในแขนงวิชาที่ข้าพเจ้าไม่เคยรู้ ไม่เคยเรียน, ไม่ได้ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจสูตรหรือสมการฟิสิกส์ต่างๆดีขึ้น แต่เป็นโอกาสให้ติดตามตรรกะของนักวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะของชาวฝรั่งเศสที่ปัญญาชนชั้นแนวหน้ารุ่นก่อน มีฐานความรู้ทางศิลปศาสตร์มาอย่างดี ทำให้พวกเขารู้จักนำความรู้จากโลกวิทยาศาสตร์ มาอธิบายและโยงผ่านทางวรรณกรรม ทางศิลปะ ทางปรัชญา ทางศาสนาที่เข้าถึงคนหมู่มาก, กระจายเป็นเครือข่าย, คลี่เป็นพัดประดับลวดลายมหัศจรรย์, เห็นเส้นทางการค้นหา การจัดสรร การพัฒนาและกระจายความรู้ ได้อย่างวิเศษยิ่ง. สั้นๆคือสอนขั้นตอนให้คิด ให้วิเคราะห์เจาะลึก พัฒนาทักษะการใช้ภาษาที่หลุดจากสำนวนเบ็ดเสร็จที่คุ้นชินและออกนอกกรอบวิสัยทัศน์แบบไทยๆ. ต้องยอมรับว่า ภาษาไทยใช้อธิบายวิทยาศาสตร์ได้ไม่กระชับเท่า ไม่เพียงพอเท่า, ไม่ตรงใจกลางของประเด็น. ใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษและโดยเฉพาะภาษาฝรั่งเศส (เพราะต่อติดได้เลยกับที่มาของคำจากภาษากรีก ละติน บางทีอาหรับด้วย) เข้าใจง่ายกว่า ตรงประเด็นกว่ามาก, และไม่เยิ่นเย้อ.

     สุดวิเศษที่มีอินเตอเน็ตเปิดทางสู่ห้องบรรยายของสถาบันต่างๆ ทำให้ได้สัมผัสคนเก่งๆ ที่นำธรรมชาติ ศาสตร์วิชาและปรัชญา เปิดจักรวาลให้ท่องไปได้ไม่สิ้นสุด. ขอคารวะครูจากโลกไซเบอร์ที่ข้าพเจ้าได้เรียนด้วยทุกคน.  

โชติรส รายงาน

๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔.