Wednesday, April 29, 2020

From wheel to stair

หลุดจากกงล้อ ไปขึ้นบันไดกัน
ภาพบันไดที่สำคัญที่สุดภาพหนึ่งในศิลปะตะวันตก เป็นประติมากรรมจำหลักนูน (ศิลปะศตวรรษที่ 12) ประดับฐานรูปปั้นของพระคริสต์ ตรงกลางประตูใหญ่ด้านหน้า(ทิศตะวันตก) ของมหาวิหารน็อตเตรอดามกรุงปารีส. ดังภาพที่นำมาให้ชมข้างล่างนี้
ประติมากรรมจำหลักนูน (ศิลปะศตวรรษที่ 12) ประดับอยู่ที่ฐานรูปปั้นพระเยซูคริสต์ตรงเสากลางประตูใหญ่ทางเข้าด้านหน้าทิศตะวันตกของมหาวิหารน็อตเตรอดามกรุงปารีส สตรีในวงกลมตรงกลางภาพ นั่งบนบัลลังก์ มีบันไดพาดจากพื้นขึ้นไปถึงต้นคอ. ใบหน้าขรึม. ครึ่งบนของศีรษะ อยู่ในคลื่น ที่อาจมองได้ว่า เป็นคลื่นแสง คลื่นความถี่ไฟฟ้า หรือเป็นกลุ่มเมฆ. มือซ้ายถือคทา สัญลักษณ์ของอำนาจ. มือขวาถือหนังสือสองเล่ม เล่มในปิดอยู่ เล่มนอกอ้าออกกว้าง.

ประตูใหญ่ทิศตะวันตกของมหาวิหารน็อตเตรอดามกรุงปารีส, ลูกศรชี้ตำแหน่งของรูปปั้นพระคริสต์บนเสาที่แบ่งครึ่งทางเข้าเป็นสองประตู
รูปปั้นพระคริสต์ตรงเสากลางประตูใหญ่ ด้านหน้าของมหาวิหารน็อตเตรอดาม. ลูกศรชี้ตำแหน่งของประติมากรรมจำหลักนูน “สตรีในวงกลม” ตรงฐาน.

นักวิจารณ์ศิลป์ต่างได้พยายามตีความหมายของรูปแบบการจำหลักนี้. บ้างคิดว่าอาจเป็นสัญลักษณ์ของอัลเคมี (Alchemy) ที่เคยเป็นวิทยาศาสตร์เคมีและปรัชญาแขนงหนึ่งในยุคกลาง (ในนี้จะตัดประเด็นอัลเคมีออกไป). บ้างว่า น่าจะเป็น สัญลักษณ์ของเทวศาสตร์ (Theologia). หนังสือที่ปิดอยู่ หมายถึงคัมภีร์ไบเบิลเก่า, เล่มที่เปิดอ้าไว้ คือคัมภีร์ไบเบิลใหม่. บันไดหมายถึงขั้นตอนต่างๆที่มนุษย์ต้องไต่เต้าขึ้นไป, ก่อนที่จะบรรลุความรู้ขั้นสูง ที่คือการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า. ศีรษะในหมู่เมฆหรือในท้องฟ้า ยืนยันความสัมพันธ์กับสวรรค์ กับ “เบื้องบน”. ตามมุมมองนี้ ดูสมจริงและมีเหตุผล, เทวศาสตร์เป็นราชินีแห่งศาสตร์ทั้งปวง(ตั้งแต่ยุคโบราณมาจนสิ้นยุคกลาง).

     แต่มีผู้ตีความว่า ควรจะเป็น ภาพสัญลักษณ์ของปรัชญา เพราะมีหลักฐานลายลักษณ์ยืนยันที่มาของการจำหลักภาพปรัชญาแบบนี้  ในงานเขียนของโบเอ๊ตีอุส (Boethius)งานเล่มนั้นชื่อ บทปลอบใจจากปรัชญา (De consolatione philosophiae หรือ On Consolation of Philosophy).
      หนังสือเล่มนี้ เริ่มด้วยการคร่ำครวญของโบเอ๊ตีอุส ผู้ระทมโศกสลดกับชะตากรรมที่พลิกผันของเขา จากการเป็นรัฐบุรุษ เป็นกงศุล มีเกียรติสูงคนหนึ่งในราชอาณาจักร Ostrogoths สมัยของพระเจ้าเตโอโดริก-Theodoric แล้วจู่ๆถูกกล่าวหาว่าเป็นขบถ ถูกจับขังคุก (ปี 523 AD).  ขณะที่จิตใจหมดอาลัยตายอยาก เขาเห็นผู้หญิงนางหนึ่งมาปรากฏต่อหน้าเขา โบเอ๊ตีอุสพรรณนาว่า
นางมีใบหน้าสงบ มีสง่าราศียิ่ง สายตาของนางทอแสงเป็นประกายสว่างสุกใส ผิดสายตาคนเดินดินทั่วไป. เขารู้สึกว่านางเป็นเหมือน(แก้วผลึก)ที่รวมแสงสีต่างๆ  เป็นภาพของวัยหนุ่มและวัยสาวพร้อมกันในตัว แม้จะเห็นได้ชัดเจนว่านางได้ผ่านวัยทุกวัยมาแล้ว, แต่ไม่อาจกำหนดอายุของนางตามเกณฑ์วัยของมนุษย์ได้. รูปร่างของนาง บางครั้งดูขนาดเท่าคนเดินดินทั่วไป, บางทีก็ดูสูงใหญ่จนศีรษะเฉียดหมู่เมฆในท้องฟ้า, หรือสูงท่วมท้นจนหายลับตาไป. เครื่องแต่งกายของนางทอขึ้นอย่างมีศิลป์และแสดงรสนิยมสูงของนาง, ทอด้วยเส้นใยที่ละเอียดและไม่เปื่อยยุ่ย, เป็นฝีมือของนางเองด้วย. ตรงชายกระโปรงมีอักษรกรีกตัว π (pi) ปักอยู่, ตอนบนก็มีอักษรกรีกตัว θ (theta) ปักไว้. ระหว่างอักษรทั้งสองตัวนี้ มีแนวระบายไล่ระดับกันขึ้นไปบนตัว, เหมือนบันไดที่เชื่อมสิ่งที่อยู่ข้างล่างกับสิ่งที่อยู่ข้างบน... (cf. Emile Mâle : L’art religieux du XIIIe siècle en France, p. 86). สตรีที่มาปรากฏตัวต่อหน้าเขา ไม่ใช่ใครอื่น คือเทวีแห่งปรัชญา ผู้มาปลอบโยนเขาในคุก.
      คำพรรณนาของโบเอ๊ตีอุส อาจดลใจศิลปินและถ่ายทอด “ปรัชญา” ดังที่เห็นในภาพนี้. เราไม่ลืมว่า ในยุคกลาง ประติมากรรม(หิน)ทั้งหลาย มีการเคลือบสีต่างๆด้วย (polychrome) ซึ่งยิ่งเน้นความแปลกพิสดารหรือความงามขององค์ประกอบภาพ.
      เพราะ เขาได้เห็นปรัชญา และพูดคุยกับเธอ. เทวีปรัชญา รู้เรื่องและอ่านจิตใจของเขาได้ทะลุปรุโปร่ง. เธอเตือนให้เขานึกถึงความจริงพื้นฐานในปรัชญาสโตอิก (stoicism) ว่า หลักปรัชญา เป็นเครื่องมือ เพื่อช่วยให้คนอยู่ดีและตายดี โดยเฉพาะในยามที่ตกระกำลำบาก. เธอเตือนว่าอย่าไปโกรธชะตากรรมเลย เพราะเหตุการณ์ส่วนใหญ่ในชีวิตคนๆหนึ่ง คนนั้นไม่อาจควบคุมได้, คนอยู่ในอำนาจของเทวีฟอร์ตูนา ที่ยั่วยวนให้คนตกในกับดักเธอ, ให้ปีนไปบนกงล้อเพราะหมายสูง. เทวีปรัชญากล่าวย้ำว่า นักปรัชญาที่แท้จริงคือ ผู้ที่เข้าใจเล่ห์กลของฟอร์ตูนา รู้ว่าเขาจะวางใจทั้งหมดเป็นเดิมพันตามฟอร์ตูนานั้น ไม่ได้. สิ่งปรุงแต่งของความสุขในชีวิต ที่ทุกคนเชื่อว่าคือความรัก ครอบครัว ลูก ความเจริญมั่งมี ชื่อเสียงหรืออาชีพการงาน ในความเป็นจริง เป็นเพียงมายาที่ฟอร์ตูนาปั่นไปอย่างไร้เมตตาและโหดเหี้ยม. คนฉลาดมีปัญญา ย่อมไม่ยึดสิ่งมายาไว้เต็มหัวใจ. นักปรัชญาที่แท้จริง ต้องทะยานขึ้นจากสภาวการณ์ที่เลวร้ายที่ดึงเขาจมลงไป, ต้องไม่ยินดียินร้ายกับชะตากรรม, สร้างพลังของเหตุผลและการรู้คิดที่จะนำเขาไปเสพความงาม ความลึกลับซับซ้อนของจักรภพ, และนำให้เขาเสกสรรค์ตัวเอง ให้เป็นพลังอิสระที่ยิ่งใหญ่ และอยู่เหนือชะตากรรม และนี่จักเป็นสิ่งที่ฟอร์ตูนาเอาไปจากเขาไม่ได้. (cf. On the Consideration of Philosophy)
     โบเอ๊ตีอุส ปรับความคิดของเขา, ค้นพบวิธีเอาชนะความเศร้าสลดเมื่อเคราะห์กรรมมารุมเร้า, หาทางออกด้วยการไม่ยึดติดกับความจริงบนโลก, มุ่งความคิด, ตั้งมั่นในศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า ผู้เดียวที่สามารถปลดความยึดเหนี่ยวกับโลกสมบัติ. และเมื่อปล่อยใจให้เป็นอิสระ ก็พบความสงบสันติภายใน ไม่ว่าในสถานการณ์ใด.
      เราคงสรุปได้ว่า เมื่อหลุดจากกงล้อของฟอร์ตูนา เขาพบปรัชญาที่เป็นบันไดพาเขาขึ้นสวรรค์. การตระหนักอย่างถ่องแท้ถึงสัจธรรม ทำให้โบเอ๊ตีอุส จิตใจสงบ ยอมรับชะตากรรม (as a stoic) และตายเยี่ยงคนเหนือคน (as a superman). 
  โบเอ๊ตีอุสถูกประหารสามสี่เดือนต่อมา, ทิ้งหนังสือ On the Consolation of Philosophy เป็นมรดกให้มนุษยชาติ ที่ได้ดลใจนักเขียนและกวีคนอื่นๆต่อมาเช่นดั๊นเต้ (Dante)
  การที่ โบเอ๊ตีอุส มองฟอร์ตูนาว่าเป็นปีศาจ ใจรวนเรและโหดเหี้ยม. ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับฟอร์ตูนา ว่าเทวีทำอะไรตามอำเภอใจ, เล่นกับชะตาชีวิตคนโดยไม่เลือก, ไม่เมตตาปราณี. หรือเพราะเธอเองเป็นเครื่องมือของพระเจ้าที่อยู่เหนือเธอ. สิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้น เป็นไปตามบัญชาของพระเจ้าเพื่อให้เป็นบทสอนหรือเพื่อลงโทษคนมัวเมา ลุ่มหลงหลงในลาภยศสรรเสริญหรือเปล่า.  
        มีผู้กล่าวว่า ข้อบกพร่องในชีวิตของโบเอ๊ตีอุส มีส่วนส่งเสริมให้เขาโด่งดัง มากพอๆกับคุณสมบัติต่างๆของเขา. คนชื่นชมความรอบรู้ของเขาในแทบทุกเรื่อง, เชื่อและศรัทธาในตัวเขามาก. ใบหน้าที่อมเศร้ากับวิญญาณกวี ประทับใจคนร่วมสมัยอย่างยิ่ง. งานเขียนของเขาถือว่า เป็นงานสำคัญชิ้นหนึ่งในโลกยุคโบราณถึงยุคกลาง และมีอิทธิพลต่อความคิดอ่านของคนในยุคนั้น. คนคารวะเขาในฐานะเป็นตัวแทนของความฉลาดสุขุมของโลกยุคโบราณ, ในขณะเดียวกัน ก็เป็นผู้กรุยทางสู่ความคิดแนวใหม่ เพราะเขาเป็นหนึ่งในหมู่ชาวโรมันรุ่นสุดท้ายในประวัติศาสตร์ และเป็นหนึ่งในหมู่ชาวคริสต์รุ่นแรก, จึงเหมือนกับว่าเขายืนอยู่บนพรมแดนของโลกสองโลก. งานเขียนของโบเอ๊ตีอุส เป็นหนึ่งในหนังสือที่ต้องอ่านสำหรับนักบวชและปัญญาชนตั้งแต่นั้นมา. 


หากหลุดจากกงล้อของฟอร์ตูนาและยังมีชีวิตรอด ประสบการณ์คงนำให้ไปขึ้นบันได. ตั้งแต่ยุคกลางจนถึงยุคปัจจุบัน บันไดเป็นองค์ประกอบในการเนรมิตภาพหรือเรื่องราวในศิลปะเสมอมา. การขึ้นบันได ต้องใช้แรง เหนื่อยกว่าการเดินไปบนพื้นราบ เป็นบทอุปมาที่ดี ของการใฝ่ดี. บันไดคุณธรรม เป็นเนื้อหาในศิลปะตั้งแต่ราวปีคศ. 250 ที่จารึกค่านิยมของการเป็นเส้นทางไต่เต้าสู่คุณธรรมขั้นสูงขึ้นไป. โอโนรีอุสเมืองโอเติง (Honorius d’Autun) ในศตวรรษที่ 12 เป็นผู้หนึ่งที่ได้กำกับคุณธรรมแต่ละชนิดบนบันไดแต่ละขั้น. เขากำหนดไว้ 15 ขั้น ที่ได้เป็นฐานและบทอ้างอิงเกี่ยวกับบันไดคุณธรรมเรื่อยมา. (ปราชญ์แต่ละคนในยุคหลัง สร้างบันไดคุณธรรมที่แตกต่างออกไปบ้าง ตามบริบทสังคมและสภาวการณ์ของแต่ละยุคสมัย)
      ในคัมภีร์ใหม่ นักบุญ Evangelist John (1:51) ได้ตีความหมายของบันไดว่า พระคริสต์ คือบันไดที่เชื่อมสวรรค์กับโลกมนุษย์ ในฐานะที่พระองค์เป็นทั้งพระบุตรและเป็นบุตรของมนุษย์เดินดิน. นักเทวศาสตร์ผู้หนึ่ง (Adam Clarke) ตีความว่า การที่เทวทูตขึ้นๆลงๆบนบันได หมายถึงมีการติดต่อแลกเปลี่ยนอยู่เสมอ ระหว่างสวรรค์กับโลกมนุษย์, โดยผ่านไปบนตัวของพระคริสต์ ที่เป็นพระเจ้าในร่างของคนเดินดิน ที่มีเนื้อมีหนัง. พระคริสต์จึงเป็นตัวกลางที่มีพลังสูง.

     แต่ละคนต้องหาเส้นทางสู่จุดหมายปลายทางของตัวเอง. แต่ละคนต้องสร้างบันไดของตัวเอง ต้องหาบันไดที่เหมาะกับกำลังและอุดมการณ์ของตัวเอง. แต่ละคนมีบันไดสู่ความสำเร็จของตัวเอง. 
อย่าไปยืมบันไดของใคร และก็ไม่ไปขวางบันไดของใคร.  
บันไดจึงมีความหมายมากดังนี้แล.
โชติรส รายงาน
๒๙ เมษายน ๒๕๖๓.
ผู้สนใจอ่านรายละเอียดเรื่อง “บันได” ตามไปอ่านต่อได้ตามลิงค์นี้ >>

Wednesday, April 8, 2020

The underground network

พลังเร้นลับของเครือข่ายใต้ดิน 
Peter Wohlleben [ปีเตอ โวลเลเบ็น] เป็นวิศกรป่าไม้ชาวเยอรมัน, เป็นผู้ดูแลป่าไม้ในชุมชนเล็กๆชื่อ Hümmel [อู๊เมิล] ในเมือง Eiffel [เอเฟล]. เขาได้ประพันธ์หนังสือ « Das geheime Leben der Bäume » แปลเป็นภาษาไทยว่า ชีวิตลับของต้นไม้  อุทิศแก่สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรพืชพรรณ. หนังสือของโวลเลเบ็นเป็นหนังสือยอดฮิต แปลออกเป็น 32 ภาษา(แล้วอย่างน้อย) และมีจำนวนขายกว่าล้านเล่ม. กลายเป็นหนังสือคลาซสิกที่เป็นที่กล่าวขานกันไปทั่วโลก (ขึ้นในรายชื่อหนังสือของ Washington Post และ New York Times bestseller lists) เป็นปรากฏการณ์ในโลกหนังสือ โลกของป่าไม้และโลกของธรรมชาติ. หนังสือเล่มนี้เบนความคิดของคน เปลี่ยนวิสัยทัศน์ของคนเกี่ยวกับต้นไม้และป่าไม้ไปอย่างสิ้นเชิง.
Peter Wohlleben ในป่าไม้ beech ในความดูแลของเขา.
เครดิตภาพ : Le Point
      พูดกันว่า Peter Wohlleben ได้คืนป่าไม้แก่ชาวเยอรมัน. ความผูกพันของคนเยอรมันกับป่าไม้ มีนักเขียนและกวี เคยพูดไว้ไม่น้อย (เช่น Goethe, Tieck, Eichendorff). Tieck กล่าวถึงป่าไม้ที่พักพิงว่า มนุษย์พัฒนาความเป็นคน ใต้ร่มไม้ในป่าใหญ่.  ปีเตอ โวลเลเบ็น บอกว่า เขาไม่ได้คืนป่าไม้แก่ชาวเยอรมันหรอก เขาเพียงอยากเล่าเรื่องของต้นไม้ในป่าเพื่อให้คนเข้าใจป่าไม้มากขึ้น ด้วยการนำคนเข้าไปในป่า ชี้ให้เห็น อธิบาย และเล่าเรื่องของต้นไม้ป่าไม้ ด้วยความผูกพันและรู้จริง. เขาทำเช่นนี้มานานกว่ายี่สิบปีแล้ว. ผู้คนสนใจ ติดตาม อยากรู้อยากฟังเรื่องราวของต้นไม้ ของป่าไม้. ลีลาการเล่าเรื่องของเขา ประทับใจ เขาเปรียบต้นไม้กับคน มองดูป่าไม้เหมือนชุมชน เหมือนสังคมคน ทำให้คนจินตนาการได้ชัดเจนจากข้อมูลและข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับต้นไม้และระบบนิเวศในป่าไม้. หนังสือเล่มนี้ของเขาจึงน่าอ่าน ภาษาสละสลวยดั่งบทกวี แทรกด้วยอารมณ์ขัน.
      โวลเลเบ็นเจาะจงด้วยว่า เขามิได้ใฝ่คิด(ตามกระแสโรแมนติค) ว่า ต้นไม้หรือป่าไม้ นำทางคนไปสู่การปลดปล่อยตัวเองจากโลกของวัตถุอย่างไร (ในทำนองเช่นที่ J.J.Rousseau เขียนไว้ในหนังสือ « Les Rêveries du promeneur ­solitaire » ความฝันของคนเดินเล่นผู้โดดเดี่ยว ว่า ธรรมชาติให้ความอิ่มเอิบปราโมทย์แก่ประสาทสัมผัสและจิตใจ จนไปถึงจุดเคลิบเคลิ้มหลงใหลได้). เขาเพียงอยากให้คนเข้าใจว่า จำเป็นอย่างไรที่คนต้องปลดปล่อยป่าไม้ให้เป็นอิสระ,  ให้ธรรมชาติได้เติบโตงดงามตามพัฒนาการของมัน, ให้หยุดมองต้นไม้เป็นตัวเลขของผลประโยชน์ เหมือนที่เขาเคยมองป่าไม้ แล้วเห็นแผ่นไม้วัสดุก่อสร้างแบบต่างๆ. เขาเคยมองต้นไม้และตีค่าของต้นบีช (beech) ต้นสนสายพันธุ์ต่างๆและคาดคะเนเป็นเงินตรา, ต้นไหนจะได้ราคาดี, ต้นไหนเหมาะเป็นเชื้อเพลิงเท่านั้น. ดีขึ้นมาอีกหน่อย คือมองป่าไม้ว่าเป็นปอด เป็นระบบสร้างออกซิเจน, เป็นสิ่งช่วยให้น้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์, ระบบนิเวศที่สมดุลเป็นต้น. เขาไม่เคยมองตัวตนของต้นไม้มาก่อนเลย จนวันหนึ่งได้ยินคนเทียบต้นไม้หนึ่งว่า รูปลักษณ์กิ่งก้านของต้นนั้น มันเหมือนเส้นทางชีวิตของเขา. เขาสะดุดหยุดกึกตั้งแต่นั้น. เราถูกสอนกันมาว่า โลกของคนกับโลกของพืชพรรณนั้น คนละโลก แยกจากกันอย่างสิ้นเชิง. แต่ในโลกของความจริง มันมิได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป. จากนั้นแทนการมองแต่ลำต้นสูงใหญ่และกิ่งก้านสาขาของต้นไม้ เขาก้มลงดูพื้นป่าที่ต้นไม้แต่ละต้นยืนอยู่, ไม่นาน ป่าไม้นั้นไม่เหมือนป่าไม้เดิมที่เขาคิดว่าเขารู้จักอีกต่อไป. เขาตระหนักถึงข้อผิดพลาดในหลักการดูแลบริหารป่าไม้ที่ทำกันมา. ต้องมีกระบวนการบริหารป่าไม้ที่เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมของป่าไม้เอง ที่จักเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่ไม่เพียงสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจที่ยั่งยืนแล้ว ยังช่วยรักษาสุขภาพของโลกของเรา สร้างสุขอนามัยที่ดีต่อสรรพชีวิตบนโลกทั้งทางกายและทางใจ.
      เขาพบตอไม้เก่า ที่ลำต้นถูกโค่นไปแล้ว นำไปพิสูจน์อายุ จึงรู้ว่า ตอนั้นคือต้นใหญ่ที่ถูกโค่นไปเมื่อ 450 ปีก่อน จนบัดนี้ตอนั้นยังมีชีวิต ยังเขียวๆและหายใจ. เขาจึงสืบเสาะสำรวจต่อว่า ตอนี้ได้พลังชีวิตมาจากไหน. มีคณะนักวิทยาศาสตร์ตามวิเคราะห์ตรวจสอบจนรู้อย่างแน่ชัดว่า ต้นไม้ที่อยู่ในแวดล้อมนั้น เป็นผู้ช่วยกู้และธำรงชีวิตของตอนั้นไว้. ใจกลางของตอหรือของต้นไม้ที่เคยมีชีวิตนั้น ตายสนิทแล้ว ตอนั้นไม่ผิดโครงกระดูกที่ยังค้างอยู่บนดิน ภายในตอก็เน่าเปื่อยไปแล้ว แต่ยังมีรากและเนื้อไม้ของตอนั้น (เมื่อตัดขวาง ส่วนของเนื้อไม้สีอ่อน l’aubier, และเปลือกต้นไม้ชั้นใน la cambium) ที่ยังมีชีวิต. มันไม่น่าเชื่อว่ามีชีวิตได้อย่างไร ในเมื่อมันไม่มีใบไม้ทำหน้าที่สังเคราะห์แสงเพื่อผลิตอาหาร(กลูโคส)เลี้ยงดูตอนั้นได้. ตอนั้นได้สารอาหารมาจากไหน มีหญ้าเขียวขึ้นอาศัยบนตัวมันอย่างมีความสุข. การสำรวจวิจัยด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้รู้ว่า ต้นไม้ข้างๆ เป็นผู้ส่งสารอาหารเลี้ยงดูตอไม้นั้นทางรากที่เชื่อมต่อถึงกัน. (ทีมวิจัยป่าไม้แห่งมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียของแคนาดา นำโดยศาสตราจารย์ Suzanne Simard หัวหน้าทีมวิจัยโครงการ The Mother Tree Project, ก็พบพฤติกรรมแบบเดียวกัน ที่มีข้อพิสูจน์ยืนยันทางวิทยาศาสตร์ชัดเจนว่า ต้นไม้ใหญ่ที่เติบโตเต็มที่แล้ว ช่วยต้นไม้ลูกๆด้วยการสละคาร์บอนให้ ส่งไปตามเครือข่ายของเห็ดราใต้ดิน ในแบบของการให้อาหาร.) เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกมากมายที่เขาได้เรียนรู้และสังเกต บวกความรู้และการตรวจสอบจากสถาบันวิทยาศาสตร์ (เช่นจากมหาวิทยาลัยกรุงบอนน์) ทำให้เขามองป่าไม้เหมือนชุมชน เหมือนครอบครัวคนครอบครัวหนึ่ง นำไปสู่วิธีการเล่าเรื่องต้นไม้ป่าไม้ ที่ไม่เหมือนใคร.
       ทำไมหนังสือของโวลเลเบ็นจึงกลายเป็นหนังสือยอดนิยมได้นั้น อธิบายได้ง่ายๆว่า “ ชนรุ่นเราตระหนักชัดเจนแล้วว่า ธรรมชาตินั้นเปราะบาง ไม่ว่าสัตว์ น้ำ หิน ภูมิอากาศ หรือต้นไม้ ที่รวมกันอยู่ในเนื้อหาในหนังสือของโวลเลเบ็น... การที่เขาเป็นวิศวกรป่าไม้ และเป็นนักเล่าเรื่องที่ชาญฉลาด อีกทั้งมีความเป็นครูในสายเลือด ที่ทำให้เขาถ่ายทอดข้อมูลวิทยาศาสตร์อันซับซ้อนเกี่ยวกับต้นไม้และป่าไม้ ให้เป็นเรื่องเข้าใจง่ายสำหรับชนทุกชั้น.” (ref.  « Sagesse des arbres » (ต้นไม้ฉลาดรู้) ที่ลงพิมพ์ในวารสาร La Vie ฉบับวันที่ 15 มิถุนายน 2017.)
        เขามองต้นไม้เหมือนมองคน พฤติกรรม ปฏิกิริยาของต้นไม้ เปรียบเป็นปฏิกิริยาของคน. ต้นไม้เหมือนครอบครัวของคน พวกมันอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว บ่มเลี้ยงลูกหลานมาด้วยกัน สื่อสารเล่าสารทุกข์สุกดิบแก่กัน และประคับประคองต้นลูกให้เจริญวัย อีกทั้งแบ่งปันอาหารแก่ต้นไม้ต้นอื่นที่บาดเจ็บหรือเจ็บป่วย สร้างระบบนิเวศคุ้มกัน เหมือนเป็นกันชนให้ยามเกิดอากาศวิปริตร้อนจัดหรือหนาวจัด เพื่อให้ทั้งชุมชนต้นไม้อยู่รอดไปด้วยกัน. ผลจากการอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวนี้เอง ที่ทำให้ต้นไม้มีชีวิตยืนนานมาก.
ต้นแม่ ดูแลต้นลูกๆ
https://rside.org/youngauthors/tree-chatter-by-justin-h/
งานวิจัยของมหาวิทยาลัยกรุงบอนน์เรื่องหนึ่งระบุว่า ต้นไม้มีโครงสร้างคล้ายโครงสร้างของสมอง โดยเฉพาะตรงปลายรากแต่ละเส้น ที่ทำหน้าที่วิเคราะห์สารพิษและสภาพดิน แล้วส่งข้อมูลเป็นสัญญาณไฟฟ้าเพื่อจัดและบริหารการเจริญของราก. นักวิทยาศาสตร์หลายคนยังไม่อยากเรียกสมรรถภาพเช่นนี้ของต้นไม้ว่าเหมือน “สมอง” (คนหรือสัตว์) ตามความเข้าใจปัจจุบัน. สำหรับโวลเลเบ็น เขาเห็นว่าไม่จำเป็นที่ต้องปักพรมแดนชัดเจนระหว่างพืชพรรณกับสัตว์อย่างแตกหักลงไป. เพราะในที่สุด คน สัตว์ พืชคือสิ่งมีชีวิตในบริบทโลกเดียวกัน. ปฏิกิริยาของแต่ละชีวิต สะท้อนความทรงจำร่วมกัน (collective memory หรือ morphic resonance ในวิวัฒนาการของโลก.)

เครือข่าย wood wide web คืออะไร
      เป็นที่รู้กันแล้วว่า พืชพรรณส่งสัญญาณสื่อสารกันและกัน ทั้งบนดินและใต้ดิน. กรณีบนดินเป็นหัวข้อวิจัยที่ยืนยันกันมานานหลายสิบปีแล้ว. ต้นไม้เมื่อถูกรุกรานจากสัตว์หรือเชื้อโรค จะส่งสัญญาณเคมีกระจายไปในอากาศ ซึ่งเป็นการเตือนภัยเบื้องต้นแก่ต้นไม้ที่อยู่โดยรอบ ให้โอกาสต้นอื่นๆสร้างอะไรขึ้นปกป้องตัวมันเอง. กรณีที่โด่งดังน่าจะเป็นเหตุที่เกิดขึ้นในแอฟริกาใต้ (เล่าเพียงย่อๆ เพราะเคยเขียนเล่ามาแล้ว ref. ที่นี่ ) ในทศวรรษที่ 1980 ฟาร์มปศุสัตว์บนดินแดน Transvaal จำนวนมากที่มีละมั่งสายพันธุ์หนึ่ง (เรียกกันที่นั่นว่า koudous เป็นพันธุ์ที่เลี้ยงสำหรับเกมส์ล่าสัตว์) ตายลงๆโดยหาสาเหตุไม่ได้. หลังการชันสูตรศพ พบว่าละมั่งทั้งหลายตายเพราะความหิว แต่ที่แปลกคือในกระเพาะของสัตว์ที่ตายๆลงไปนั้น กลับมีใบ acacia เต็ม ซึ่งเท่ากับว่า มันมีอาหารกินเพียงพอ ทำไมจึงตายเพราะขาดอาหารได้. เมื่อวิเคราะห์ต่อไป พบว่า ใบไม้ที่พวกมันกินเข้าไปนั้น มีระดับสารแทนินสูงมากที่ไปหยุดการย่อยอาหาร. ละมั่งไปกินใบไม้ของต้นไม้มากเกินไป จนต้นไม้ต้องผลิตสารแทนินเข้มข้นส่งออกไปที่ใบ เมื่อละมั่งกินเข้าไปแล้ว ไม่ย่อยจึงล้มตาย. ละมั่งมีชีวิตอย่างอิสระในฟาร์ม  มันเปลี่ยนไปกินต้นไม้อื่นได้. แต่ความฉลาดของต้นไม้คือ ต้นไม้ acacia ในฟาร์มทั้งหมด ต่างส่งสัญญาณบอกต่อๆกันไปถึงอันตรายจากละมั่ง และทำให้ทุกต้นผลิตสารแทนินจำนวนมากในใบของมัน เพื่อปกป้องตัวมันเอง. ละมั่งแม้ย้ายไปกินต้นอื่นก็ตายลงเหมือนกัน. กว่านักวิจัยจะเข้าใจใช้เวลาสะกดรอย สืบสวนกรณีฆาตรกรรมนี้อยู่นาน. ต้นไม้ยังรู้จักแยกแยะน้ำลายของแมลงหรือเพลี้ยที่ไปรบกวนมัน, มันมีวิธีกำจัดศัตรูของมันอย่างชาญฉลาด ด้วยการสร้างสารเคมีเฟอโรโมน (pheromones). สารนี้มีประสิทธิภาพคล้ายฮอร์โมน ชักจูงแมลงสายพันธุ์ที่กินเพลี้ยชนิดนั้น. ในที่สุดแมลงนั้นไปช่วยกำจัดศัตรูของต้นไม้ต้นนั้นลงไปได้. เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเหล่านี้ มีมากที่คนเริ่มค้นพบและเข้าใจในที่สุด.  
       ใต้พื้นดินลงไป ตามรากของต้นไม้ทั้งหลาย เป็นที่อยู่ของเห็ดรา ตัวที่รู้จักกันดีคือ mycorrhizal fungi (มาจากศัพท์ mykós ที่แปลว่า เห็ดรา และคำ riza ที่แปลว่า ราก ในภาษากรีก) ที่แผ่กระจายเป็นเครือข่ายเห็ดรา. เป็นเครือข่ายสายใยที่เปราะบางและถี่ยิบ ที่ถักทอเข้าเป็นผืนยาวและเชื่อมต่อๆกันไปอยู่ใต้พื้นดินและเชื่อมต้นไม้พืชพรรณเกือบ 90% ที่เห็นบนดิน. เครือข่ายนี้ส่งข้อมูลและแหล่งอาหารไปถึงกัน นักวิทยาศาสตร์เรียกเครือข่ายเห็ดราเหล่านี้ว่า เป็น wood wide web. เห็ดราเหล่านี้ไม่ทำอันตรายต้นไม้หรือ คำตอบคือเป็นการอยู่ร่วมกันถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน. เห็ดราพวกนี้มีเอนไซม์พิเศษที่สกัดสารอาหารอื่นๆจากเนื้อดิน เช่นสารฟอสฟอรัสและไนโตรเจน มอบให้แก่ต้นไม้ เพื่อแลกกับสารน้ำตาลกลูโคสที่มีธาตุคาร์บอนสูงที่ต้นไม้ผลิตเองได้จากกระบวนการสังเคราะห์แสง (เห็ดราไม่มีใบไม้ จึงสังเคราะห์แสงไม่ได้, ส่วนต้นไม้ไม่มีเอนไซม์ย่อยสารอาหารหลายชนิดในดิน เห็ดราทำแทนให้ต้นไม้). สองชีวิตต่างสายพันธุ์จึงเกื้อกูลกันและกันเป็นอย่างดี. ความสัมพันธ์ดังกล่าวที่คนเพิ่งเข้าใจ ความจริงเป็นเช่นนี้มาแล้วตั้งแต่ปรากฏมีพืชพรรณบนโลก อย่างน้อยเมื่อ 40-50 ล้านปีก่อน เป็นความร่วมมือเกื้อกูลต่อกันในโลกของพืชพรรณ ที่ทั้งผู้ให้และผู้รับต่างได้ประโยชน์ และที่มิได้จำกัดอยู่ในวงของสายพันธุ์เดียวกัน แต่ยังข้ามสายพันธุ์ด้วย.
เครดิตภาพ : Pinterest
      เครือข่ายเห็ดรานี้แหละ เป็นช่องทางสื่อสารภาคใต้ดินระหว่างต้นไม้. ต้นไม้ที่เจริญวัยกว่า แชร์น้ำตาลให้แก่ต้นไม้อายุยังน้อย หรือต้นไม้ที่ป่วย. พวกมันส่งอาหารที่เหลือในตัวมัน ตามช่องทางเส้นใยของเห็ดรา ต่อไปถึงต้นไม้อื่นๆ. ดังกรณีตอไม้ที่เล่ามาข้างต้น. มีความจำเป็นอะไรหรือที่ต้นไม้ต้นอื่นส่งอาหารไปช่วยผดุงชีวิตของตอไม้นั้น. โวลเลเบ็น นึกไปถึงว่า ตอนั้นเนื่องจากมีอายุมากกว่าต้นไม้อื่นรอบข้าง มันอาจมีความทรงจำอะไรของโลกเก่าที่ยังเหลืออยู่ที่ต้นไม้อื่นยังไม่รู้ก็เป็นได้. มันอาจเป็นตอไม้เฒ่าเหมือนปูชนียบุคคลที่ควรอนุรักษ์ไว้. ทฤษฎีของโวลเลเบ็น ได้รับการยืนยันและพิสูจน์จากงานวิจัยค้นคว้าของมหาวิทยาลัยบริทิชโคลัมเบียที่แคนาดา.
ต้นกลางที่เฉาปวกเปียกกำลังจะตาย ส่งมอบสารอาหารที่เหลือไปให้สองต้นข้างๆ

      ทีมนักวิจัยโดยมี Suzanne Simard เป็นผู้นำ (มหาวิทยาลัยบริทิชโคลัมเบียในแคนาดา, ref. 2015) ได้ทดลองเลี้ยงต้นอ่อนของต้นสนดั๊กลัสเฟอร์ (Douglas Fir tree) คู่กับต้นสน (ponderosa pine)ต้นอ่อนๆ ในบริเวณใกล้เคียงกัน มีตาข่ายขนาดเล็กฝังลงในดินเพื่อกันไม่ให้รากของสองต้นนี้สัมผัสกันได้ แต่ตาข่ายเล็กอย่างไร เครือข่ายเห็ดรา mycorrhizal fungi ยังสามารถเชื่อมถึงกันอยู่ใต้ดิน. ปลูกทิ้งไว้เช่นนี้ระยะหนึ่ง เมื่อนักวิจัยดึงเข็มสนออกจากต้นดั๊กลัสเฟอร์จนหมด เท่ากับว่า จะปล่อยให้ต้นนั้นตาย เพราะไม่มีเข็มช่วยผลิตสารอาหารให้มัน, ต้นดั๊กลัสเฟอร์ได้ส่งสารเตือนภัยผ่านเครือข่ายเห็ดราไปยังต้นสน ทำให้ต้นสนเร่งรีบผลิตเอนไซม์(ที่ทีมงานวิจัยดักจับได้) เพื่อปกป้องตัวมันทันที. อีกกรณีศึกษาหนึ่งที่พลิกความคาดหมาย คือ เมื่อปลูกต้นดั๊กลัสเฟอร์ (A) คู่กับต้นไม้อีกต้นหนึ่ง (B) แล้วเมื่อนักวิจัยไปดึงเข็มของต้น A นหมดต้น ต้นนั้นจะตายลงในไม่ช้าแน่นอนอยู่แล้ว แต่ก่อนตาย มันส่งสารอาหารที่ยังเหลือในตัวมันไปกับเครือข่ายเห็ดรา ไปให้ต้น B ที่คนเลี้ยงคู่กับมันมา โดยที่ต้น B มีสุขภาพดีแข็งแรง มีความสุขเพราะไม่มีใครทำร้ายมัน. ต้น A รู้หรือไม่ว่าเป็นต้นไม้คนละสายพันธุ์กัน (เราคงไม่มีทางรู้ความจริง แต่ต้น A อาจหวังเช่นนั้น). ในโลกของคนโดยเฉพาะยุคโรคระบาดโควิด19 ผู้เฒ่าผู้แก่ของครอบครัว รีบมอบสมบัติให้ลูกหลานเมื่อรู้ว่าตัวเองติดเชื้อไวรัสโควิด19 และคงไม่รอดแน่แล้ว โลกของพืชพรรณก็เป็นเช่นนั้นหรือนี่. ต้น A ส่งย้ายสมบัติที่เหลือของมันไปให้แก่ต้น B เมื่อรู้ว่าตัวเองกำลังจะตาย. ตัวอย่างเหล่านี้ คงทำให้ชาร์ล ดาร์วิน เจ้าของทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ประหลาดใจเป็นที่สุด. เพราะจนเดี๋ยวนี้ หลักการข้อแรกและข้อสำคัญที่สุดของต้นไม้และป่าไม้ คือ การแก่งแย่งชิงแสงสว่างและอาหาร เพื่อความอยู่รอด, ไม่เคยมีการพูดถึงการแบ่งปัน การช่วยเหลือในหมู่ต้นไม้เลย.
     เชื่อกันเสมอมาว่า เห็ดราที่ขึ้นติดอยู่กับรากของต้นไม้ต้นใด เกี่ยวกับต้นไม้นั้นเท่านั้น แต่ความรู้ใหม่ๆบอกให้รู้ว่า สายใยของเห็ดรา เชื่อมต่อไปถึงต้นไม้อื่นๆด้วยทั้งที่เป็นต้นไม้สายพันธุ์เดียวกันหรือต่างสายพันธุ์กัน. การวิจัยจากทีมของศาสตราจารย์ Suzanne Simard ก็ยืนยันให้เห็น ดังตัวอย่างข้างล่างนี้
วงกลมสีเขียวอ่อน แสดงต้นดั๊กลัสเฟอร์หนึ่งต้น ขนาดของวงกลมเป็นสัดส่วนกับเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้น. จุดเล็กสีดำ บอกต้นตอสายใยเห็ดราที่เรียกว่า Rhizopogon ectomychorrhiza. เส้นสีฟ้าอ่อนๆและพื้นที่สีฟ้าอ่อนๆ บอกบริเวณที่เห็ดราเกาะกัน เป็นกลุ่มราชนิด Rhizopogon vesiculosus colonies และการเชื่อมต่อกับต้นอื่นๆ. เส้นสีชมพูอ่อนๆและพื้นที่สีชมพูอ่อนๆนั้น บอกการมีอยู่, การเชื่อมต่อกับต้นอื่นๆและการกระจายของเห็ดรา Rhizopogon vinicolor coloniesเครดิตภาพที่นี่ 
     จะเห็นว่า เครือข่ายเห็ดรา(ที่เห็นเป็นเส้นตรงสีฟ้าหรือสีชมพู) แผ่กระจายไปเชื่อมกับต้นไม้จำนวนมาก. ในพื้นที่ป่าที่เป็นพื้นที่ศึกษาเกี่ยวกับต้นดั๊กลัสเฟอร์นั้น มีต้นหนึ่งที่เครือข่ายเห็ดราส่งไปเชื่อมต่อถึง 47 ต้น (อยู่ตอนล่างด้านขวาของภาพที่เจาะจงไว้ว่า “most highly connected tree”). ต้นดารานี้ มีเครือข่ายเห็ดราสายพันธุ์เดียวกันที่กระจายออกไปแปดกลุ่ม กับเครือข่ายเห็ดราอีกสายพันธุ์หนึ่งที่กระจายออกไปเป็นสามกลุ่ม จึงทำให้เครือข่ายออกไปอย่างกว้างขวางและไกลมาก. นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มราเดี่ยวๆกลุ่มหนึ่ง ไปเชื่อมถึงต้นอื่นๆอีก 19 ต้น ทั้งต้นอายุมากกับต้นอายุน้อย.
      งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาพฤติกรรมของต้นไม้สายพันธุ์เดียวกันเท่านั้น (คือต้นดั๊กลัสเฟอร์) และศึกษาเครือข่ายเห็ดราจากเห็ดราสองชนิดดังระบุไว้ข้างบน. บนพื้นที่ศึกษา ยังมีต้นไม้อื่นและเห็ดราสายพันธุ์อื่น. ความซับซ้อนของเครือข่ายใต้ดิน หากสามารถเจาะลึกไปถึงทุกจุดปลายสุดของแต่ละเครือข่ายใต้ดิน คงจะยิ่งทำให้ตกตะลึงแน่นอน.
       ในโลกของพืชพรรณ สงครามระหว่างกันก็มีเช่นกัน ต้นไม้บางต้น เช่นต้น sycamores, acacias, eucalyptus ปล่อยสารเชื้อไปในอากาศเพื่อไปบีบการแตกหน่อของต้นไม้คู่แข่ง. เป็นสงครามชีวเคมี. นอกจากนี้ ยังมีการลักขโมยแบบหน้าด้านๆระหว่างพืชพรรณ เช่น กล้วยไม้หลายชนิดสังเคราะห์แสงได้ด้วยตัวเอง สร้างอาหารของมันได้ แต่มันก็ไม่ทำ กลับไปขโมยสารคาร์บอนที่ได้มาอย่างยากเย็นจากต้นอื่น ที่มีช่องทางลำเลียงของเครื่อข่ายเห็ดราร่วมกัน.
บนดิน รับคาร์บอนไดออกไซด์, ใต้ดินแบ่งปันธาตุคาร์บอนที่เกิดจากการสังเคราะห์แสงให้แก่กัน. เครดิตภาพที่นี่ 

think-like-a-tree-wired-oak-trees-new-orleans
การลอกเลียนชีวิตหรือการก็อปปี้ตัวอย่างหรือกลไกจากสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติหรือจากระบบนิเวศ (biomimicry) ดลใจและนำทางคนสู่การสร้างสรรค์ ไม่ว่าการออกแบบอาคารบ้านเรือน ยานพาหนะและวัสดุอุปกรณ์ใด. เพราะรูปลักษณ์ของสิ่งที่เห็นในธรรมชาติ วิวัฒน์ขึ้นมาเพื่อให้มันเป็นแหล่งพลังงานที่ดีที่สุดและเป็นมวลสารที่มีประสิทธิภาพสูงสุด. ตัวอย่างที่รู้จักกันดี คือ การบิน. โลเอนาร์ดโด ดา วินชี เป็นคนแรกที่ออกแบบยานที่จะช่วยให้คนบินได้เหมือนนกในทศวรรษที่ 1480 ที่ปูทางสู่การพัฒนาเครื่องบินและการบิน. หวนย้อนหลังไปถึงเหตุการณ์พายุเฮอริเคนกาตรีนา ที่ทำลายบ้านเมืองถล่มเสียหายยับเยินในรัฐนิวออร์ลีน สหรัฐฯ. แต่ต้นโอ๊คจำนวนมากของพื้นที่ ไม่ถูกพายุโค่นลง เพราะใต้พื้นดิน รากของมันพันเกี่ยวไปกับรากของต้นอื่นๆอีกหลายต้น อีกทั้งกิ่งก้านสาขา ก็เป็นแบบพลิกตัว ซ้อนไขว้ไปมา เสริมกำลังแก่กัน. เป็นประเด็นให้สถาปนิกและวิศวกร เริ่มคิดเอาอย่างต้นไม้ หาทางออกแบบโครงสร้างอาคารที่ยืดหยุ่น ฐานที่แผ่กว้างออกไปยึดกับสิ่งอื่นๆเป็นต้น เพื่อรับมือสภาพอากาศรุนแรงต่างๆอย่างมีประสิทธิผล.
        ตัวอย่างที่นำมาเล่านี้ จึงค้านกับทฤษฎีที่ยึดกันมาจนถึงทุกวันนี้ (โดยเฉพาะในสถาบันวิจัยฝรั่งเศส) ว่า ต้นไม้ทำทุกอย่างเพื่อแย่งแสงและอาหาร เป็นพฤติกรรมแรกและจำเป็นที่สุดของการอยู่รอดในป่าไม้.
      เช่นนี้เกิดคำถามขึ้นใหม่ว่า พรมแดนระหว่างสายพันธุ์อยู่ที่ไหน เริ่มที่ไหนและสิ้นสุดที่ไหน, หรือเราควรมองป่าไม้เป็นระบบสิ่งมีชีวิตขนาดยักษ์มวลเดียวกันหรือไม่, แทนการจำแนกแยกแยะเป็นกลุ่มตามอัตลัษณ์ที่แตกต่างกัน, จะไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยน การแบ่งปัน หรือมิตรภาพในหมู่พืชพรรณเลยหรือ, อาจต้องขยายการวิจัยเรื่องการเป็นศัตรูคู่แข่งกับการเป็นมิตร ในหมู่ต้นไม้ชนิดต่างๆในป่าไม้ ทั้งในสายพันธุ์เดียวกันกับในหมู่ต้นไม้ต่างสายพันธุ์ที่ขึ้นคละกันเป็นจำนวนมาก. (การแลกเปลี่ยน การแบ่งปัน หรือมิตรภาพ ในหมู่พืชพรรณ, ภาษา(แห้งแล้ง)ในสังคมศาสตร์หรือในวิทยาศาสตร์ใช้คำว่า interaction, facilitation).
       การได้รู้เห็นเรื่องชีวิตภายในของพืชพรรณแนวนี้ เปลี่ยนการมองชุมชนพืชพรรณ เหมือนการมองสังคมคน  สิ่งดีและสิ่งเลวร้ายมักเกิดขึ้นใต้ดิน มันข้องเกี่ยวผูกมัดกันไปในกระแสต่างๆหลายกระแส มากกว่าที่เราเคยจินตนาการ. 
      ทั้งหมดนี้ยืนยันว่า ประการหลักและประการเด่นเหนือสิ่งอื่นใดในอาณาจักรสิ่งมีชีวิตอาณาจักรใด คือ ประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อระหว่างกันเป็นเครือข่าย เพื่อการอยู่รอดของตัวเองและของผู้ร่วมโลก.  

รักชีวิต รักษ์ต้นไม้
โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์

* * * * * * * *

ข้อมูลอ้างอิง
Envoyé spécial. Le secret des arbres. 26 octobre 2017 (France 2)

« La vie secrète des arbres » de Peter Wohlleben, ouvrage 100% naturel. Dec 15, 2017 La Grande Librairie

L’effet Wohlleben souffle sur la forêt. Olivier Nouaillas. 18/06/2018.

L’homme et l’arbre font société.

The secret of wood wide web, by Robert Macfarland


Think like a tree.

Tree chatter, by Justin. H

Forests have their own information superhighway, and it works much like ours, carrying information, trade—and cybercrime. By Dave Hansford, Nov-Dec 2017.

Communication between Trees : Dr. Suzanne Simund. Aug.18, 2017.

How trees talk to each other. Suzanne Simund. TED Aug.31, 2018.

หัวข้อศึกษาวิจัยของคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยบริทิชโคลัมเบีย (แคนาดา)

Wednesday, April 1, 2020

The Cosmic Dance

รูปแบบและความหมายของรูปปั้นมหาเทพศิวะนาฏราช มีผู้อธิบายรายละเอียดไว้ในเว็บหลายแห่ง เช่นในเว็บไทยที่นี่ หรือในเว็บของต่างชาติ เช่น ที่นี่ หรือที่ เว็บเพจนี้
       แต่ละเว็บทั้งของไทย อินเดียหรือชาติอื่น มีเนื้อหาข้อมูลต่างกันและเหมือนกัน, ลีลาการเล่าก็เน้นต่างกันไปเล็กน้อย. ในเว็บเวอชั่นภาษาอังกฤษ(quora.com) มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจติดตาม อ่านสนุก จึงนำมาเล่า ให้เพลินๆไปกับจินตนาการของชาวฮินดู ที่ผู้เล่าถ่ายทอดมา. ความดังนี้
        เมื่อพระนางปารวตีน้อยใจพระศิวะ (ด้วยเรื่องใดมิได้เจาะจงไว้), พระศิวะวางแผนจะร้องรำทำเพลง เป็นการงอนง้อและเอาใจนางต่อหน้าเทวะทั้งหมด. ได้เชิญเทพเทวีองค์อื่นๆทั้งพระพรหม วิษณุ นางลักษมี นางสรัสวตี เหล่านางอัปสร คนธรรพ์ รวมทั้งยักษ์ทั้งหลายด้วย ให้ไปรวมกันที่บนเขา Mandala โดยด่วน, กลายเป็นการชุมนุมเทพเทวาทั้งจักรวาล(ฮินดู).  เทวีปารวตีก็ไปด้วยโดยไม่รู้จุดประสงค์ของพระศิวะ. เมื่ออยู่กันพร้อมหน้า พระศิวะปรากฏตัว แต่งองค์งดงาม ประดับด้วยงู ท่อนล่างนุ่งหนังเสือ ผมเกล้ายกสูงเป็นมวยเหมือนเจดีย์บนศีรษะ ตรึงด้วยพระจันทร์เสี้ยว หน้าผากมีสัญลักษณ์ ตรีปุณทระ (Tripundra เป็นรอยขีดสีขาวสามเส้นบนหน้าผาก ตัดด้วยเส้นตั้งสีแดงตรงเหนือหว่างคิ้ว เป็นตำแหน่งของดวงตาที่สามของพระศิวะ เป็นตาของผู้รู้แจ้ง บางตำราบอกว่า เมื่อพระศิวะเปิดตาดวงนี้ ไฟจะพ่นออกมาเผาไหม้โลก. หากมองลึกทะลุเข้าไปในกะโหลกศีรษะ คือตำแหน่งของ pineal gland ตรงกลางสมอง ที่มีเซลล์ประสาทรับแสงได้ และเป็นแหล่งสร้างฮอร์โมนหลายตัว รวมถึงเมลาโทนิน. ในขนบความเชื่อโบราณ เป็นจุดเชื่อมโลกกายภาพกับโลกของจิตวิญญาณ เช่นในขนบอีจิปต์ ตาของเทพฮอรัส หรือของเทพรา ที่คนโบราณเชื่อว่า มีพลังอำนาจ ปกป้องและรักษา). พระศิวะมีมาลัยร้อยเมล็ด รุทรักษะ (Rudraksha ที่ถือว่า คือเมล็ดน้ำตาของพระศิวะ) คล้องคอ ทอดแผ่ลงบนหน้าอก.
      เมื่อมากันพร้อมหน้า พระศิวะพยักหน้าให้สัญญาณ  เทวีสรัสวตี เริ่มดีดพิณวีณา (veena พิณอินเดีย), พระวิษณุเริ่มรัวกลองยาว (mridangam มีหน้ากลองสองด้าน), พระพรหมเล่นฉิ่งฉับ, พระอินทร์เป่าขลุ่ย. เทวีปารวตี เบิกบานใจมากเมื่อเห็นเช่นนั้น. มหาเทพศิวะ เรียกนักดนตรีชายและหญิงพร้อมเครื่องดนตรีประจำบันไดเสียงต่างๆ (ragas ที่เขียนว่า ราก้า, ราคะ หรือร้าก คือการสร้างสรรค์ทำนองดนตรีที่สอดคล้องกับแต่ละช่วงเวลาในหนึ่งวัน ตามหลักการของการบรรเลงถูกเวลาและถูกสถานที่ นอกจากไพเราะยังเป็นศิริมงคล) ออกมาร่วมวง. วงมโหรีเริ่มเล่น กระจายเป็นคลื่นเสียงเพราะเสนาะหู ก้องไปทั่วทั้งพิภพ. พระขัณฑกุมารและพระพิฆเนศ ก็ร่วมเล่นด้วยแทบเท้าของมหาเทพพระบิดา. พระศิวะรื่นเริงกับวงมโหรีของเทพเทวาและเทวีทั้งหลาย ได้เวลาที่พระองค์จะร่ายรำ.
      ทรงปลดมวย ผมสยายยาวลงไปถึงเข่า (ผมยาวเฟื้อยเช่นนั้น เป็นสัญลักษณ์ประจำของโยคี). งูที่พันบนตัว เลื้อยไปประดับเศียรเหมือนมงกุฎ, ทั้งกำไลแขน สร้อยคอทองอร่ามส่องประกายบนร่างของมหาเทพ.  สัดส่วนและผิวพรรณของพระองค์ งามเปล่งปลั่งเหมือนดวงอาทิตย์พันดวง. ช่างเป็นภาพงามตรึงตาตรึงใจยิ่งนัก. ใครจะนึกว่า มหาเทพในร่างของนาฏราชนี้ คือพระศิวะผู้ครองตนเป็นนักพรตในป่าช้า.
ในระหว่างการร่ายรำของมหาเทพ  ภารตะมุนี (Bharat Muni, คนที่นั่งในมุมล่างซ้ายในภาพนี้) ได้โอกาสพิจารณา เรียนและเรียบเรียง นาฏยศาสตร์ (Natya-Shastra) ที่จักเป็นหนังสือคู่มือเกี่ยวกับศิลปะการละครทุกแง่มุมในการละครคลาซสิกสันสกฤต.  ความสำคัญเหนือกว่าศิลปะการละครและการร่ายรำ คือ การยืนยันบทบาทของการละครในฐานะเป็นกลไกที่นำไปสู่ความเข้าใจและการรู้แจ้งในพระเวทและในศาสนา.  ผู้สนใจอ่าน นาฏยศาสตร์ ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ ตามลิงค์นี้ไปค่ะ. เครดิตภาพ ที่นี่ 
ในภาพที่ชัดเจนคือพระพรหมสี่หน้าเล่นฉิ่งฉับ, ถัดไปทางขวาคือพระวิษณุตีกลองยาว, ตรงกลางคือพระศิวะ, พระอินทร์เป่าขลุ่ย, พระพิฆเนศ ทรงร่ายรำตามพระบิดาด้วย เห็นหนูตัวสีดำเล็กๆใกล้เท้าพระพิฆเนศ, พระนางปารวตีนั่งบนบัลลังก์, พระสรัสวตีดีดพิณวีณา, โคนนทิหมอบเฝ้าดูอยู่ด้วย, นกยูงก็เช่นกันผู้ติดตามพระสรัสวตี. ด้านหลังเห็นยอดเขาสูง. 
ภาพวาดนี้มีรายละเอียดดี จึงนำมาลงอีกภาพหนึ่ง. 
ในมุมล่างขวา ภารตะมุนี กำลังสังเกตท่าร่ายรำ
เพื่อจารึกลง เป็นหนังสือนาฏยศาสตร์
      พระศิวะเริ่มร่ายรำบนยอดเขา Mandara. ผมของมหาเทพกระจายพริ้วในสายลม, พระศิวะ ยักย้ายส่ายสะโพก เสียงกระดิ่งที่ประดับเอว ดังกรุ๊งกริ๊งชวนให้สนุกเบิกบานใจ, เท้าข้างหนึ่งยกขึ้น หมุนไป เปลี่ยนทิศทางไปตามท่าต่างๆ. พระนางปารวตีมองตามด้วยความชื่นชมยิ่งนัก เพราะไม่เคยเห็นหรือจินตนาการพระสวามีนักพรตของพระนาง เป็นนักร่ายรำเชี่ยวชาญถึงเพียงนั้น.  ศิวะนาฏราช หมุนแขนเป็นวงกลม บังเกิดเป็นแสงแปล็บปลาบ ดอกบัวงามปรากฏขึ้น พระศิวะนำไปมอบแด่พระนางปารวตี ผู้รับไว้ด้วยความซาบซึ้งสุดเสน่หา.  ลีลาการร่ายรำของพระศิวะงดงามยิ่งนัก แม้แต่เหล่านางอัปสรก็เคลิบเคลิ้ม. พื้นที่ทั้งบริเวณห้อมล้อมตรลบด้วยคลื่นเสียงดีๆเสนาะหู. ลีลาของพระศิวะตามจังหวะกลองยาวของพระวิษณุ ตรึงตาตรึงใจ.  ณ ขณะหนึ่ง พระศิวะมีเศียรเพิ่มขึ้นอีกหนึ่ง กับอีกสองแขน.  เช่นนี้ไปเรื่อยๆตลอดการร่ายรำ จนในที่สุด พระศิวะปรากฏองค์พร้อมห้าหน้าและสิบแขน.  ลีลาของศิวะนาฏราชในขณะนั้น แม้แต่พระแม่คงคาก็อาย เมื่อได้ยลความอ่อนช้อยลื่นไหลของการร่ายรำ.  เม็ดเหงื่อที่ตกลงจากองค์ศิวะนาฏราชขณะนั้น กลายเป็นนักประพันธ์ กวี นักดนตรี นาฏศิลปิน. เหล่ากินนรและกินนรี โปรยปรายดอกไม้คารวะองค์ศิวะนาฏราช ด้วยความปิติยิ่ง.
       พระศิวะร่ายรำอยู่เช่นนั้นสี่เดือน โดยไม่มีท่าเหน็ดเหนื่อยเลย. พระนางปารวตีน้ำตาคลอด้วยความตื้นตันที่เห็นพระสวามีทำทุกอย่างเพื่องอนง้อเธอ. ยามนั้น ศิวะนาฏราช เท้าขวายืนอยู่กับที่ มหาเทพยกเท้าซ้ายขึ้น งอและเบี่ยงขาซ้ายไปเบื้องหน้าขาขวา  มือซ้ายก็ยื่นออกไปเกือบขนานกับขาซ้าย ในขณะที่ฝ่ามือขวาตั้งตรง นิ้วเหยียดตรง ในท่าไม่กลัวใคร (เรียกว่าท่า อภัยมุทรา-abhaya mudra) ด้านหลัง มีเปลวไฟลุกเป็นวงล้อมเหมือนกงล้อ (เรียกว่าท่า Jwala Prabha Mandalam) ที่จักกลายเป็นภาพลักษณ์ถาวรของรูปปั้นศิวะนาฏราช. พระศิวะในวงล้อมของไฟที่หมายถึงการเนรมิตและการทำลายควบกันไปในจักรวาลมิได้หยุด. คือการเกิดการตายที่วนเวียนไปไม่มีสิ้นสุด. เปลวไฟทั้งวง รวมโลกของมวลสาร เวลา และพื้นที่ หมุนไประหว่างการปราบล้างกับการสถาปนาใหม่ตามจังหวะบัณเฑาะว์ในมือบนขวาและฝีเท้าของพระศิวะ. บัณเฑาะว์นั้นเจาะจงการสร้างและบอกเวลาที่ผ่านไป ระหว่างการเนรมิตโลกและจักรวาล กระจายเป็นความถี่และความกว้างของคลื่นเสียง. บัณเฑาะว์ ยังอาจมองว่า คือหลักการคู่ชายหญิง เพราะมีหน้ากลองสองด้าน ขาดด้านใดไปก็ไม่สมบูรณ์. อัคนีในมือบนซ้ายของพระศิวะ คือไฟบรรลัยกัลป์ ไฟแห่งการเผาไหม้จนราบคาบ.
      ศิวะนาฏราชในท่านี้ แสดงทิพยพลังให้ประจักษ์แก่ตาในฐานะของผู้ธำรงและผู้ทำลายในขณะเดียวกัน. การร่ายรำของพระศิวะครั้งนี้ ทำให้เกิดจักรวาลใหม่ๆเป็นจำนวนพัน บ้างคงอยู่, บ้างถูกทำลายลง. ยามนั้น พระนางปารวตีลงจากบัลลังก์ แล้วน้อมตัวลงคารวะมหาเทพ.
The Cosmic Dance หรือ อนันดา ตาณฑวะนาฏราช (Ananda Tandava)
รวมพลังนิรันดร์ขององค์มหาเทพในการเนรมิต การทำลายล้าง การธำรง การช่วยให้พ้นบาป และมายาคติ. เป็นภาพลักษณ์ที่เห็นชัดเจนของพลังที่หมุนและเคลื่อนไหวมิได้หยุดของภายนอก ที่ตรงข้ามกับความสงบภายในของผู้รู้แจ้ง ของผู้อยู่เหนือการเปลี่ยนแปลง. เครดิตภาพ : Pinterest.ph
การร่ายรำยังคงมีต่อไป พระนางปารวตีเข้าร่วมร่ายรำกับพระศิวะ ณขณะหนึ่ง มหาเทพและองค์เทวี หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว โดยมีครึ่งขวาเป็นชายและครึ่งซ้ายเป็นหญิง (เรียกว่า ปาง อรรธนารีศวร- Ardhnarishvara).
การร่ายรำคู่ พระศิวะกับพระนางปารวตี
เครดิตภาพ : exoticindiaart.com
ในรูปปั้นปางนี้ จะเห็นการตกแต่งรูปปั้นครึ่งขวา เหมือนภาพลักษณ์ปกติของพระศิวะเช่นห่มหนังเสือ มีงูเลื้อยที่คอ ถือตรีศูลและบัณเฑาะว์ โคนนทิประกอบอยู่ข้างๆ และครึ่งซ้ายคือพระนางปารวตี ห่มส่าหรี มือถือดอกบัว ที่พระศิวะนาฏราชมอบให้ มีสิงโตยืนประกบข้างๆ. 
ภาพลักษณ์ของพระศิวะ ปางอรรธนารีศวร ครึ่งขวาคือพระศิวะมหาเทพแห่งเขาไกรลาศ ครึ่งซ้ายคือพระนางปารวตีพระมเหสี. โคนนทิ เป็นเทพรักษาประตูบนเขาไกรลาส ที่สถิตของพระศิวะ และเป็นพาหนะของพระศิวะด้วย. สิงโต สัญลักษณ์ของธรรมชาติที่ควบคุมยาก เช่นความโกรธ ความอวดเก่ง ความเห็นแก่ตัว ความจะกละ ความอิจฉา ฯลฯ. พระนางปารวตีมีสิงโตเป็นพาหนะ เท่ากับว่านางมีพลังอำนาจและใช้พลังนั้นปกป้องคุณธรรมและขจัดความเลวร้าย. งู ที่เลื้อยออกไปจากมือ เท้าและผมของพระศิวะ หมายถึงการสลัดความเห็นแก่ตัวออกไป. เห็นสายน้ำพุ่งออกจากมวยผม แทนพระแม่คงคา ผู้เป็นพระชายาของพระศิวะด้วย. เครดิตภาพ จากเว็บเพจนี้ 
       พระศิวะเป็นหนึ่งในสามทิพยพลังในจักรวาลฮินดู มีพระพรหมผู้สร้างจักรวาล พระวิษณุผู้ปกป้องรักษาและพระศิวะผู้ทำลายล้าง. การทำลายล้าง มิได้มีนัยลบทั้งหมด แต่เพราะมีการทำลายล้าง จึงมีการสร้างใหม่ มีการเกิดใหม่ ตามหลักปรัชญาฮินดูว่า ทุกอย่างมีจุดจบตามธรรมชาติเพื่อการเกิดใหม่ และพระศิวะเป็นผู้พาไปยังจุดจบเพื่อให้วงจรใหม่เริ่มขึ้น.
      เล่ากันว่า ตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา ชาวฮินดู แบกรูปปั้นพระศิวะนาฏราชสี่มือที่แทนสี่ทิศ แห่ไปในขบวนตามพิธีกรรม โดยมีพราหมณ์ร้องเพลงสวดและให้ศีลให้พรแด่ศาสนิกผู้ติดตาม. บางทีมีการตกแต่งรูปปั้นด้วยผ้าสีสดๆเช่นสีแดง เขียวและประดับด้วยเพชรนิลจินดา ให้ศาสนิกชื่นชมมหาเทพในร่างคนอันงามสง่า. ในความเชื่อของชาวฮินดู  ศรัทธาของศาสนิกที่สวดต่อพระศิวะ กระตุ้นพลังที่อยู่ในรูปปั้น, ยามนั้นแล พระศิวะมาอยู่สถิตในหมู่ศาสนิก.
ภาพกำกับไว้ว่า : Let the universe boogie: Natesha, 
Thanjavur district, Tamil Nadu, 11th century CE.

        รูปปั้นของศิวะนาฏราช มีสัดส่วนเจาะจงไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 ดังปรากฏจารึกรายละเอียดไว้ใน Shilpa Shastras หรือศิลปศาสตร์ ที่รวมอุดมการณ์แห่งความงามและความสมสัดส่วนในขนบฮินดูโบราณ เช่นเจาะจงว่า มือยาวเหมือนปล้องไม่ไผ่ หน้ากลมเหมือนดวงจันทร์  ตาเหมือนผลอัลมอนด์ ฯลฯ
         เอกลักษณ์ที่ศิลปินอินเดียนำมารวมไว้ในปางศิวะนาฏราชอีกหนึ่งอย่าง คือพระบาทขวาของพระศิวะ เหยียบเหนือร่างของมารมุยะละกะ (Muyalaka บางทีก็เรียกว่า Apasmara) ที่เป็นสัญลักษณ์ของความโง่เขลา, ความเห็นแก่ตัว, ความขี้เกียจ รวมถึงอีโก้ที่มีในตัวคน. ถูกสร้างขึ้นให้ตัวเล็กเหมือนคนแคระ สยบอยู่ใต้พระบาทของศิวะมหาเทพ ตัวเล็กตัวแคระยังบอกนัยของการไม่เจริญเติบโต ไม่สมบูรณ์ทั้งทางกาย สติปัญญาและทางจิตสำนึก. การผนวกร่างของมารมุยะละกะ ย้อนโยงไปถึงปางพระศิวะและพระนารายณ์ เสด็จไปปราบฤาษีกลุ่มหนึ่งบนโลกมนุษย์ ที่ประพฤติตัวออกนอกลู่นอกทางของเทวบัญชา.  มุยะละกะเข้าไปช่วยฝ่ายฤาษี ถูกพระศิวะเหยียบไว้ใต้พระบาท. (บางตำราบอกว่า นั่นเป็นครั้งแรกที่พระศิวะทรงร่ายรำ เมื่อปราบมาร น่าจะเป็นปางพระศิวะพิโรธ. ไม่ใช่เป็นการร่ายรำครั้งเดียวกับการรำงอนง้อพระนางปารวตีที่เล่ามาข้างบน.)
        ตลอดเวลาการร่ายรำ พระพักตร์ของพระศิวะ นิ่งสงบ ไม่มีร่องรอยของความหวั่นไหวจากอารมณ์ใด, เบื้องหน้าการดับการเกิดที่เป็นความจริงแท้ความจริงเดียว. ความสงบเย็นบนใบหน้า ดังที่เห็นในประติมากรรมชั้นครู โดยเฉพาะรูปปั้นสมัยศตวรรษที่ 11 (ยุคราชวงศ์ Chola ที่ปกครองอินเดียภาคใต้รวมทั้งเกาะศรีลังกา ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 9-13), เป็นสิ่งที่ประทับใจชาวตะวันตกมาก เพราะตรงข้ามกับกิริยาท่าทางการเคลื่อนไหวของร่างกาย ดังศิลปินได้ถ่ายทอดไว้. นักวิจารณ์ศิลป์ชาวตะวันตกหรือประติมากรเช่น ออกุสต์ โรแด็ง ชาวฝรั่งเศส (Auguste Rodin, 1840-1917) กล่าวว่า ลีลาตลอดจนการแสดงออกในปางศิวะนาฏราช เป็นการแสดงออกที่งามสมบูรณ์ที่สุดของการเคลื่อนไหว แฝงความลึกล้ำที่เป็นแกนของชีวิตอยู่ภายในลีลา ที่หลายคนอาจมองไม่เห็น. เบื้องหลังความสง่างาม คือความบรรสานที่สมดุลและสมบูรณ์.  Aldoux Husley (1894-1963, นักเขียนเสียดสีสังคม และนักปรัชญาชาวอังกฤษ, ผู้สนใจปรัชญาฮินดูและไสยศาสตร์ของอินเดีย (mysticism), ก็กล่าวถึงรูปปั้นศิวะนาฏราชว่า
« เราชาวตะวันตก ไม่มีรูปลักษณ์ใดที่พอเทียบได้แม้แต่น้อยนิด กับรูปปั้นศิวะนาฏราช ช่างเป็นสัญลักษณ์ที่เพียบด้วยนัยทั้งในด้านจักรภพ ด้านจิตวิทยาและด้านจิตวิญญาณ. ทุกอย่างรวมอยู่ในรูปลักษณ์ของพระศิวะนาฏราช โลกกายภาพ, สำนึกของกาลเวลา, โลกของวัตถุกับพลังงาน, โลกของการสร้างสรรค์กับโลกของการทำลายล้าง, โลกของจิตวิทยา...»                                                                         
The whole thing is there, you see. The world of space and time, and matter and energy, the world of creation and destruction, the world of psychology…We (the West) don’t have anything remotely approaching such a comprehensive symbol, which is both cosmic and psychological, and spiritual. Aldous Huxley, 1961. 
        สำหรับชาวต่างชาติที่ไม่มีภูมิหลังเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ มองชื่นชมรูปปั้นศิวะนาฏราช ในฐานะของผลงานประติมากรรม ว่าสื่อความงามสุนทรีย์ได้มากน้อยและลึกซึ้งเพียงใด. สำหรับชาวฮินดู  ศิวะนาฏราช คือสัญลักษณ์ศาสนา คือคำสอน. เน้นให้เข้าใจว่า พลังของมหาเทพ (นั่นคือของจักรวาล) ไม่ใช่เป็นสิ่งที่สร้างได้หรือทำลายได้ เพราะคือการเปลี่ยนสภาวะจากเกิดเป็นดับ จากดับไปเกิดใหม่นั่นเอง. ในยุคปัจจุบัน นักฟิสิกส์ได้อาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อสร้างภาพแบบฉบับของจักรวาลที่ไม่หยุดนิ่ง. ภาพลักษณ์ของศิวะนาฏราช มองในเชิงอุปมาอุปไมย จึงอาจเป็นภาพที่ดีที่สุด ที่ยังรวมเทพตำนานโบราณกับศาสนศิลป์ของอินเดียเข้าด้วยกัน.
หินแกรนิตจำหลักเป็นรูป ศิวะนาฏราช ขนาดสูงสองเมตร ที่รัฐบาลอินเดียมอบ
ให้แก่ CERN (Centre Européen pour la Recherche Nucléaire,
สถาปนาขึ้นในปี 1952) ศูนย์วิจัยนิวเคลียของยุโรปที่กรุงเจนีวา, ในปี 2004.
เครดิตภาพ : Kenneth Lu
แผ่นจารึกข้อความในภาษาอังกฤษว่า : « O Omnipresent, the embodiment of all virtues, the creator of this cosmic universe, the king of dancers, who dances the Ananda in the twilight, I salute thee.»
ประเด็นหลักของรูปปั้นหินแกรนิตนี้ คือความสมดุล น้ำหนักของทั้งมวลหิน ลงที่เท้าขวาเพียงจุดเดียว. ศิลปินต้องรู้จักแบ่งน้ำหนักของหินให้ได้พอดี จำหลักตามเส้นแนวดิ่ง ศีรษะต้องอยู่ในแนวเดียวกับเท้าขวา. ทำให้รูปปั้นตั้งตรงทรงตัวได้อย่างงดงาม. รูปปั้นนี้มีชื่อเสียงมากในหมู่นักฟิสิกส์และนักวิทยาศาสตร์ชาวยุโรป. ความงามสมดุลและมั่นคงของประติมากรรมศิวะนาฏราชฝีมือชาวอินเดียนี้ เป็นบทอุปมาอุปไมยที่ชัดเจนที่สุด ตอกย้ำทวิภาวะของธรรมชาติ, ของมวลสารกับของจักรวาล และวงจรของสรรพสิ่งและของจักรวาล ที่หมุนต่อไปชั่วกัปชั่วกัลป์. (Ref. ที่นี่) 

       ปรัชญาศาสนาพราหมณ์ ชวนให้คิดตรึกตรองสภาวการณ์ของสังคมมนุษย์ในยามที่เชื้อโควิด19 ระบาดไปทั่วโลก. คนอาจเริ่มตระหนักว่าโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยสิ่งประดิษฐ์สารพัดสารพัน กับเทคโนโลยีที่เร็วขึ้น แรงขึ้น, ขยะเทคโนโลยี มีมากพอๆกับขยะจากวิถีชีวิตของคนที่หลงใหลในโภคทรัพย์. สรรพสิ่งกองทับถมเป็นเนินขยะ หรือสุมๆกลบไว้ทั้งใต้พื้นดินและบนดิน, รวมทั้งขยะที่ไปทิ้งลงในมหาสมุทร และที่นำออกไปทิ้งในอวกาศอีกนับไม่ถ้วน โดยที่ยังไม่มีใครคิดไปถึงการกวาดล้างให้โลกและจักรวาลสวยสะอาดและหมดจด.
       โควิด19 ที่มาปลิดชีวิตคนในทุกประเทศ  ข้าพเจ้าหวังจะให้พลังมหาเทพศิวะ มาทำลายค่านิยมผิดๆของมวลมหาชน เพื่อว่าหลังวิกฤตครั้งนี้ โลก ธรรมชาติ สรรพสัตว์ จักพบชีวิตใหม่  คนจักได้บทเรียนและสร้างสังคมมนุษย์ในแนวใหม่ที่ดีกว่าเดิม เปลี่ยนทัศนคติ พัฒนาขนบประเพณีเพื่อการอยู่ร่วมกันในความเอื้อเฟื้อและสมานฉันท์ สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และความก้าวหน้าบนพื้นฐานของความยุติธรรมและศีลธรรม.
ขออย่าให้สังคมโลกเหมือนเดิมอีกเลย...

โชติรส รายงาน
๑ เมษายน ๒๕๖๓.