Friday, July 31, 2020

Active versus Contemplative

เนื้อหาที่จำหลักลงบนกำแพงโบสถ์วิหารใหญ่ๆ มีหัวข้อหนึ่งที่ชวนคิดและที่สะท้อนค่านิยมในสังคมที่ฝังรากมาจนถึงทุกวันนี้.  เนื้อหานั้น จับคู่เปรียบ ชีวิตในกิจการงาน กับ ชีวิตในการภาวนาไตร่ตรอง  ในทำนอง ชีวิตทางโลกย์ กับชีวิตทางธรรม. ในภาษาศาสนาคริสต์ เขาเจาะจงด้วยสำนวน vita activa กับ vita contemplativa (หรือ la vie active กับ la vie contemplative หรือ temporal life กับ spiritual life).
      ประติมากรรมชุดนี้ มีจำหลักไว้ชัดเจนไม่มีที่ใดเทียบ ที่มหาวิหารน็อตเตรอดามเมืองช้าตร์ (Cathédrale Notre-Dame de Chartres, France). มหาวิหารแห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมกอติคที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งแรกในฝรั่งเศส. เริ่มสร้างในปี 1194 ทันทีที่วิหารโรมาเนสก์ในศตวรรษที่ 11 ที่เคยมี ตรงนั้น ถูกไฟทำลายเสียหาย. ปัจจุบันยังมีส่วนของโบสถ์ที่อยู่ใต้พื้น-crypt ที่เป็นพยานหลักฐานของการตั้งอยู่ของวิหารโรมาเนสก์ในศตวรรษก่อนๆ.  
      หากไปยืนดูรายละเอียดและพิจารณาสถาปัตยกรรมและประติมากรรมของมหาวิหารเมืองช้าตร์, หากเข้าใจรูปปั้น ประติมากรรมใหญ่น้อย รูปจำหลักนูนทั้งหลายทั้งปวงที่นั่น อาจได้ขอบเขตของเนื้อหาทั้งหมด ที่ไม่ใช่มีเพียงแต่ชีวประวัติของพระเยซู พระแม่มารีหรือนักบุญต่างๆในยุคนั้น หรือเรื่องราวในคัมภีร์เก่า, แต่ยังมีอะไรที่สำคัญกว่าประวัติของศาสนามากนัก. สำหรับข้าพเจ้า(ในฐานะที่ไม่ใช่คริสต์ศาสนิกชน) ออร่าของมหาวิหารน็อตเตรอดามเมืองช้าตร์ อยู่ที่มิติระบบนิเวศ ระบบสังคม ระบบความรู้ ระบบธรรมจริยา และอุดมการณ์ ตลอดจนถึงอารมณ์ขันของนายช่างที่ทำงานสืบสานสืบทอดต่อกันมาตลอด อย่างไม่ขาดระยะในเวลายี่สิบกว่าปี.  มหาวิหารนี้ จึงมีเอกภาพที่สมดุลสมบูรณ์ยิ่งกว่ามหาวิหารใดในฝรั่งเศส(ที่มักใช้เวลาก่อสร้างหลายศตวรรษ). แม้ในปัจจุบัน มลภาวะได้ทำลายความชัดเจนขององค์ประกอบส่วนต่างๆ(ส่วนใหญ่ประติมากรรม) ลงไปมาก โดยเฉพาะรอบนอกของมหาวิหาร แต่ร่องรอยที่เหลือให้เห็นในปลายศตวรรษที่ 20 ต้นศตวรรษที่ 21 นี้ ยังประทับเป็นความปิติ ที่นำจินตนาการย้อนอดีตไปสิบศตวรรษก่อน.
         หัวข้อในประติมากรรมจำหลักนูนหัวข้อหนึ่ง ที่อยากนำมาเสนอ คือชุดวิถีชีวิตในกิจการงานที่จัดตั้งเป็นคู่ตรงข้ามของวิถีชีวิตในการสำรวมภาวนา. พิจารณาดูภาพประติมากรรมข้างล่างนี้ ที่ซุ้มประตูด้านทิศใต้ (transept porche sud) ขอบซุ้มประตู มีการจำหลักรูปปั้นขนาดเล็ก เรียงไปเป็นกรอบซุ้มประตู. รูปลักษณ์แต่ละรูปมีความหมายชัดเจน.
ซุ้มประตูด้านทิศใต้ (portail sud du transept) บนหน้าบันจำหลักประตูนี้ เล่ากำเนิดพระเยซู, เทวดาดลใจคนเลี้ยงแกะให้ตามไปดูทารกน้อยที่เกิดในคอกสัตว์, และสามกษัตริย์จากต่างแดนที่เดินทางตามดวงดาวมาถึงคอกสัตว์. ประติมากรรมภายในบริเวณซุ้มนี้ ตรงหมายเลข 1 และหมายเลข 2 จำหลักวิถีชีวิตสองแบบ ที่ไปบรรจบกันบนยอดโค้ง.หมายเลข 1 ชีวิตในการงาน และหมายเลข 2 ชีวิตในทางใฝ่ธรรม. ดังรายละเอียดในภาพข้างล่างนี้
ตัวอย่างของสตรีในกิจการงาน (ภาพลักษณ์ของ la vie active) รูปปั้นแต่ละรูปกำลังทำกิจกรรมหนึ่ง เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการสางเส้นใย หวีเส้นใย รีดปุย ปั่นเป็นเส้น ม้วนเป็นใจ และทอเป็นผืน เพื่อทำเสื้อคลุม เครื่องนุ่งห่มต่อไป.
ตัวอย่างของสตรีผู้ใช้ชีวิตภาวนาพิจารณาธรรม (ภาพลักษณ์ของ la vie contemplative) รูปปั้นแต่ละรูปแสดงกิริยาของการคิด การอ่าน การไตร่ตรอง การสวดภาวนา. หนังสือเป็นสัญลักษณ์ของความรู้ ของความจริง ของคุณธรรมที่พระเจ้าดลใจ.
       การจับคู่ชีวิตสองแบบนี้ เกี่ยวกับผู้หญิงเป็นสำคัญ ดังปรากฏเจาะจงไว้ในคัมภีร์เก่า เมื่อพระเจ้าขับไล่อาดีมกับอีฟออกจากสวรรค์ พระเจ้าได้กำหนดไว้แล้วว่า ต่อแต่นั้น คนต้องลงแรงเพาะปลูก มีอาหารกินจากหยาดเหงื่อของตัวเอง นั่นคือผู้ชายต้องทำไร่ไถนา หน้าสู้ดิน หลังสู้ฟ้า. ส่วนผู้หญิงต้องอุ้มท้อง เพราะตั้งครรภ์อยู่เสมอ และคลอดลูกด้วยความเจ็บปวด, ต้องทำงานบ้าน ทอผ้า เตรียมเครื่องนุ่งห่มเป็นต้น. ในศิลปะศาสนา สรุปชีวิตของอาดัมกับอีฟเมื่อออกจากสวนสวรรค์ ด้วยภาพของอาดัมจับจอบพรวนดิน และอีฟกรอด้าย ดังตัวอย่างภาพข้างล่างนี้
ภาพจำหลักนูนบนเสากลางประตูขวา (Portail de la Mère Dieu) ด้านหน้าของมหาวิหารน็อตเตรอดามเมืองอาเมียง. ภาพบนบอกเล่าเหตุการณ์มาร(หน้าผู้หญิงเกือบเชยหน้าอีฟ) มาล่ออีฟ(คนซ้าย) ให้กินผลไม้ต้องห้าม. อีฟเอาเข้าปาก อีกมือส่งต่อให้อาดัม(คนขวา). นี่เป็นสาเหตุของการถูกขับออกจากสวนสวรรค์อีเด็น. ภาพตอนล่างสรุปวิถีชีวิตของอาดัมกับอีฟ อาดัมพรวนดิน เริ่มเพาะปลูก, อีฟทอผ้า. ทั้งสองมีขนสัตว์ห่อหุ้มร่างท่อนล่าง.
       การเจาะจงกิจกรรมการทอผ้าของผู้หญิง เป็นประเด็นหลักในชีวิตของผู้หญิงสมัยก่อน (การทำอาหารก็เป็นกิจกรรมหลัก แต่การถ่ายทอดการทำอาหารเป็นประติมากรรมในพื้นที่จำกัดนั้นยากกว่าการจำหลักอุปกรณ์การทอผ้า). ความจำเป็นของการทอผ้าในชีวิตนอกสวนสวรรค์ ตอกย้ำประเด็นของสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวนและ ร่างกายต้องปรับรับสภาพอุณหภูมิขึ้นๆลงๆ. ในสวรรค์อีเด็น น่าจะมีอุณหภูมิพอเหมาะกับสรรพชีวิต ไม่ว่าคน สัตว์หรือพืชพรรณ, ต่างเติบโตเจริญแบ่งบานตามธรรมชาติ. น่าจะเป็นฤดูใบไม้ผลิต้นฤดูร้อนตลอดกาล. อาดัมกับอีฟกินอยู่เหมือนสัตว์ในธรรมชาติ ไม่มีเครื่องนุ่งห่ม ไม่เคยอายเรื่องการเปลือยกาย. พอกินผลไม้ต้องห้าม เกิดความตระหนักรู้, โลกธรรมชาติที่อยู่มาอย่างคุ้นเคย, มีจิตสำนึก มีตัวตนเข้าไปแทรกซึม, ความอายเกิดขึ้นเพราะการตระหนักว่ามีคนอื่นมองดูตน เพราะคนไม่อายเมื่อมองร่างเปลือยของตัวเอง, สายตาคนอื่นกลายเป็นตัวกำหนดวิธีคิดและวิถีชีวิตให้คน ฯลฯ

       ประติมากรรมชุดชีวิตในกิจการงานกับชีวิตในการสวดมนต์ภาวนา จักเป็นเนื้อหาของจิตรกรรมฝีมือชั้นครู จำนวนมากในตะวันตก ที่เปิดช่องทางให้เบนออกจากกิจการงานทอผ้า ไปเป็นการทำอาหารแทน, ที่ต่อมา เปิดโอกาสให้นำภาพความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร มาเรียงเสนอในแบบของจิตรกรรมชีวิตนิ่ง (Still Life) และจัดเทียบพฤติกรรมในชีวิตหน้าที่การงานกับการฝักใฝ่ในธรรม. ศิลปะศาสนา นำเสนอชีวิตสองแบบของสองพี่น้องมาร์ธาและมารี (Martha & Mary) แห่งเมืองเบทานี(Bethany) เมื่อต้อนรับพระเยซู ตามที่เล่าไว้ในคัมภีร์ฉบับของลุค (Luke 10 : 38-42) ใจความว่า
         พระเยซูไปเยือนบ้านของลาซาร์ ผู้มีน้องสาวสองคนชื่อมาร์ธาและมารี. มาร์ธากุลีกุจอเตรียมอาหารเพื่อเลี้ยงพระเยซูกับคณะ, ส่วนมารีไปนั่งอยู่แทบเท้าพระเยซู ตั้งใจฟังทุกคำพูดของพระเยซู. มาร์ธาสาละวนกับการตระเตรียมทุกอย่างเพื่อบริการพระเยซู  เห็นมารีนั่งเฉยๆ จึงท้วงขึ้น ถามพระเยซูว่า คิดอย่างไรที่มารีปล่อยให้เธอยุ่งตระเตรียมอาหารอยู่คนเดียว ขอให้พระเยซูบอกแก่มารีให้ไปช่วยเธอในครัว. พระเยซูตอบว่า มาร์ธา เธอกังวลมาก เธอวุ่นวายกับเรื่องต่างๆหลายเรื่องมาก แต่สิ่งเดียวที่สำคัญ... มารีได้เลือกทางที่ดีที่สุด ข้าไม่ลิดรอนสิทธิ์ของเธอ.
       พระเยซูพูดในเชิงให้เข้าใจเองว่า งานที่ควรทำที่สุด คือการฟังคำสอนของพระผู้เป็นเจ้า การฟังพระองค์ ย่อมนำแสงสว่าง ความเข้าใจ เป็นการเดินเข้าสู่พระเจ้า. การทุ่มเทเตรียมการต้อนรับพระเยซู กับการฟังพระองค์พูดหรือสอน ในความเป็นจริง ไม่ใช่สองทางที่ขัดแย้งกัน หากทำด้วยความเต็มใจและศรัทธา ย่อมได้ปิติเท่ากัน แม้จะเหนื่อยกายต่างกัน แต่ละคนมีหนทางเข้าถึงพระเจ้าต่างกัน.
      นักบุญหลายคนสอน(ปลอบใจคนทำงาน)ว่า จุดมุ่งหมายของการกระทำ ของพฤติกรรมในการดำรงชีวิต หรือของการปฏิบัติหน้าที่ในความรับผิดชอบ คือการสั่งสมคุณธรรม การเข้าใจชีวิต และการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นในบั้นปลายนั่นเอง. 
      นักเทวศาสตร์ขยายความคำพูดของพระเยซูในบริบทนี้ แตกต่างกันไปบ้าง. ประเด็นเด่นๆ คือ มาร์ธาเป็นคนใจดีเอื้อเฟื้อ ตั้งใจบริการพระเยซู วุ่นกับงานในฐานะเจ้าบ้าน จนลืมกอบโกยโอกาส ละเลยการกระชับศรัทธาในพระเจ้า. ประเด็นจึงอยู่ที่การจัดอันดับความสำคัญของกิจกรรมในชีวิตให้เหมาะกับเวลาและสถานที่. ฤาพระเยซูจะเห็นว่าการทำอาหารไม่ใช่สิ่งสำคัญ. ในฐานะพระบุตร อาหารไม่น่าจะใช่สิ่งสำคัญ แต่การสั่งสอนคนให้เชื่อในพระเจ้า, สร้างศรัทธาในพระเจ้า สำคัญกว่ามาก. พระเยซูจึงพูดว่า มารีเลือกสิ่งที่สำคัญที่สุด (คือการฟังธรรมจากปากของพระเยซู). โดยปริยาย การใช้เวลาฟังธรรมไตร่ตรองคำสอน (la vie contemplative) จึงถูกยกขึ้นเหนือเวลาที่หมดไปในกิจการงาน (la vie active). เช่นนี้ชัดเจนว่า มารีใกล้ชิดพระเยซูมากกว่ามาร์ธา. แม้ในอาหารมื้อสุดท้าย ความหลากหลายของอาหารไม่ใช่ประเด็นสำคัญ พระเยซูเลือกเพียงขนมปังกับไวน์เท่านั้น และสถาปนาพิธิยูการิทเธีย(ทางเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า) กับอาหารทั้งสองชนิด.
ตัวอย่างจิตรกรรมที่นำเสนอวิถีชีวิตสองแบบในคัมภีร์ ตอนพระเยซูไปเยือนบ้านมาร์ธาและมารี.
ภาพพิมพ์จาก wellcomecollection.org
ห้องโถงในบ้านใหญ่ กว้างและสว่าง. พระเยซูนั่ง บนตั่งติดผนัง มีโต๊ะตรงหน้า. มาร์ธายืนหันหน้าไปทางพระเยซูและมารี ผู้ก้มหน้าดูหนังสือบนตัก. หนังสือนั้นเป็นเพียงสัญลักษณ์เพื่อสื่อความตั้งใจไตร่ตรอง มิได้อ่านจริงๆ. จากช่องประตู เห็นครัวขนาดใหญ่ กองไม้กำลังเผาใต้ปล่องไฟขนาดใหญ่ (ก่อกองไฟเพื่อทำอาหารและให้ความร้อนด้วย).  มีหม้อเหล็กใบใหญ่ สองคนยืนอยู่ใกล้หม้อ อีกคนนั่งอยู่ข้างปล่องไฟ. มาร์ธาเพิ่งเดินออกมาที่ห้องโถง เมื่อมารีไม่เข้าไปช่วยเธอ จึงมาร้องเรียนพระเยซู.

ภาพผลงานของ Jan Vermeer (1632-1675) ในราวปี 1656. เครดิตภาพ : commons.wilimedia.org [Public domain]. ปัจจุบันอยู่ที่หอศิลป์ National Galleries of Scotland. จิตรกรใช้แสงเพื่อเน้นบุคลิกและกิริยาท่าทางของทั้งสามคนในเหตุการณ์นี้. มาร์ธาถือเพียงตะกร้าใส่ขนมปังเพื่อสื่อการเตรียมอาหาร. มารีนั่งเท้าคางมองพระเยซูไม่วางตา.

Diego Velásquez (1599-1660) : Cristo en casa de Marta y María. National Gallery, London. Commons.wilimedia.org [Public domain]
ช่องเปิดบนกำแพงทำให้เห็นผู้ชายนั่งอยู่ ผู้หญิงคนหนึ่งนั่งที่พื้นใกล้ๆ ผู้หญิงอีกคนยืนข้างหลัง มองไปที่ผู้ชาย. ส่วนใหญ่สรุปว่า น่าจะเป็นเนื้อหาของพระเยซูไปเยือนบ้านของมาร์ธาและมารี ดังที่เล่ามาข้างต้น. พื้นหน้าของภาพ เห็นผู้หญิงกำลังโขลก (กระเทียม) ในครก ปากเม้มนิดๆ ไม่พอใจ มองคนที่มองเธอ. หญิงชราที่ยืนอยู่ข้างหลัง ทำมือชี้และแตะที่แขนเธอ. หากเข้าใจว่า ภาพซ้อนภาพคือเหตุการณ์ในคัมภีร์ ภาพผู้หญิงบนพื้นหน้า จึงอาจเป็นมาร์ธาที่กำลังเตรียมอาหาร และเมื่อมารีไม่มาช่วยเธอ จึงเข้าไปฟ้องพระเยซู. หญิงชรากับนิ้วชี้ที่แตะแขนของมาร์ธา อาจเตือนหรือตำหนิมาร์ธาว่า ชีวิตที่สมบูรณ์ไม่ใช่การทุ่มเททำงานบ้าน ต้องมีการพัฒนาด้านสติปัญญา(การใฝ่ธรรม)ด้วย. ภาพของเวลัสเก็ส เน้นการแสดงออกของบุคคล, ฉากเรียบง่าย. จิตรกรยังให้ความสำคัญแก่รายละเอียดของอาหารบนโต๊ะ ที่เหมือนจริงมาก.  มีข้อมูลอธิบายด้วยว่า มาร์ธากำลังโขลกกระเทียมเพื่อเตรียมซอสสำหรับกินกับปลา (ที่เรียกว่า Aioli ในภาษาสเปน).

ผลงานจาก Atelier Frans II Francken ศตวรรษที่ 17 ฮอลแลนด์. จิตรกรสร้างฉากพื้นหลังที่ออกจากบริบทของห้องครัว. เห็นธรรมชาติที่งามร่มรื่น สวยดั่งภาพธรรมชาติที่นิยมกันในจิตรกรรมเฟลมมิชยุคนั้น. สร้างออร่าแก่บ้านหลังใหญ่นี้และเน้นความสำคัญของเหตุการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่. ครัวที่เห็นไกลไปด้านหลังทางซ้ายของภาพสว่างไสว มีลูกมือสองคนในครัว. กิริยาท่าทางของบุคคลทั้งสามตรงหน้า ทำให้เข้าใจเหตุการณ์. มาร์ธายืนมือข้างหนึ่งเท้าบนโต๊ะที่มีอาหาร. จิตรกรกระจายอาหารชนิดต่างๆทั้งบนโต๊ะและบนพื้นในมุมซ้ายของภาพ. ทั้งหมดยืนยันบทบาทของเธอในเหตุการณ์นี้ ส่วนมารีนั่งเรียบร้อยไม่พูดไม่เถียง. ภาพที่แขวนบนกำแพงตรงกลาง เล่าเหตุการณ์ตอนอับราฮัมพาไอแซ็คขึ้นไปบนเขา เตรียมฆ่าสังเวยพระเจ้าตามคำสั่งของพระเจ้า เทวทูตมายึดมือเขาไว้ และบอกให้ฆ่าลูกแกะที่อยู่ตรงนั้นแทน. การที่จิตรกรเพิ่มภาพเหตุการณ์อับราฮัมกับไอแซ็ค ติดอยู่บนกำแพงด้านหลังตำแหน่งที่พระเยซูนั่ง เป็นการยืนยันการต่อเนื่องของคัมภีร์เก่ามาถึงเหตุการณ์ในคัมภีร์ใหม่ในยุคของพระเยซู, อีกทั้งนำให้เห็นภาพในอนาคตว่า พระเยซูก็จะเป็นลูกแกะที่จะถูกสังเวยเช่นกัน(เมื่อถูกตรึงบนไม้กางเขน). ขนบศาสนาคริสต์ ลูกแกะเป็นสัญลักษณ์ของพระเยซู.

ภาพผลงานของ Joachim Beuckelaer ปี 1568. อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Museo del Prado, Madrid. จิตรกรคนนี้นิยมและเชี่ยวชาญการแสดงภาพชีวิตนิ่งของสัตว์ที่เป็นอาหารของคน ทั้งสัตว์ปีก สัตว์น้ำและสัตว์บก รวมทั้งผักต่างๆ. สตรีสาวคนหนึ่ง(มาร์ธา) และคนสูงวัยกว่าอีกคน ในกองอาหาร เตรียมพร้อมจะแปลงวัตถุดิบทั้งหลายที่เห็นให้เป็นอาหารเพื่อบริการพระเยซู. ไกลออกไปด้านหลัง เห็นพระเยซูนั่งอยู่, มารีนั่งอยู่แทบเท้า และผู้หญิงยืนในช่องแสงสว่างของประตู คือมาร์ธา (เมื่อเธอเห็นว่ามารีไม่มาในครัวช่วยเธอเตรียมอาหาร จึงเดินไปร้องเรียนต่อพระเยซู). เหตุการณ์ในคัมภีร์ถูกลดไว้ในพื้นที่น้อยนิดแต่สว่างเพียงพอให้เดาปฏิกิริยาและการตอบโต้ระหว่างมาร์ธากับพระเยซู.
     ความอุดมสมบูรณ์ของอาหารที่กระจายเต็มเกือบเต็มพื้นที่ เป็นตัวชี้บอกยุคสมัยอันรุ่งเรืองของฮอลแลนด์ในศตวรรษที่ 16, เหตุการณ์ศาสนาถูกลดไปอยู่พื้นที่ไกลออกไปด้านหลัง. นี่เป็นกระบวนการสร้างภาพที่พลิกขนบการสร้างภาพที่เคยมีมา และกลายเป็นกระแสศิลป์แนวใหม่ของยุโรปภาคเหนือ ในหมู่ศิลปินชาวเฟลมมิชในยุคนั้น. จิตรกรแสดงความสามารถในการถ่ายทอดอาหารและสรรพวัสดุได้อย่างสมจริง (realistic) และรู้จักใช้ส่วนสถาปัตยกรรมคลาซสิก มาเป็นองค์ประกอบในการจัดฉาก สร้างมิติของความลึก. 
      การรวมฉากอาหารการครัวเข้าไปในภาพเนื้อหาศาสนานั้น แพร่หลายในศาสนศิลป์ จนถึงปลายศตวรรษที่ 17, ส่วนใหญ่โยงไปถึงเหตุการณ์ในคัมภีร์ใหม่ ดังเช่นเหตุการณ์ตอนพระเยซูมาเยือนบ้านของมาร์ธาและมารี.
     ประเด็นสำคัญที่เป็นบทสอนใจ คือ การเทียบความหมกมุ่นในโภคทรัพย์ กับความหวังที่วิญญาณจะได้รับการไถ่บาปและไปสวรรค์. นี่เป็นปัญหาสองแง่สองมุมที่เกลียวผันกัน ยากจะแยกออกจากกันได้. สังคมชนชั้นกลางโดยเฉพาะ ได้อาศัยโภคทรัพย์ไต่เต้าขึ้นสู่บันไดสังคม จนเกือบเคียงบ่าเคียงไหล่กับชนชั้นสูง ในขณะเดียวกันก็เป็นชนชั้นที่นับถือศาสนาอย่างเคร่งครัด และกลายเป็นผู้ส่งเสริม ผู้ว่าจ้างศิลปินเพื่อผลิตงานศิลป์ประเภทต่างๆให้ เพื่อเสริมหน้าตาศักดิ์ศรีของตนเอง.

      เนื้อหาตอนนี้ เตือนให้ตระหนักว่า การทำงานหาเงิน สร้างตัวสร้างครอบครัว ไม่ใช่วิถีชีวิตที่จักนำความสุขมาให้อย่างถาวร จำต้องมีวิถีอื่นมาคอยประคับประคองเพื่อความไม่ประมาท เพราะชีวิตหรือโภคทรัพย์ไม่ยั่งยืน...

จุดหมายสุดท้ายของชีวิตแบบใดก็ตาม คือการเข้าถึงสัจธรรม. สัจจะหรือความจริงมีหนึ่งเดียวในวิถีชีวิตคน เป็นฐานเหมือนกันในทุกศาสนา. วิธีเข้าถึงสัจธรรมต่างกัน แปรไปตามความพร้อมทางปัญญาของฝูงชน ณที่หนึ่ง ยุคหนึ่ง.
      ความสำเร็จของแต่ละคน น่าจะอยู่ที่การบอกตัวเองก่อนตายว่า ฉันเป็นคนดีขึ้น และได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าเพื่อประโยชน์สุขของตัวเองและของแผ่นดินเกิด. 

โชติรส รายงาน
๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓.

Saturday, July 25, 2020

The Bridal Portal

ประตูเจ้าสาว - Brautportal
ที่โบสถ์นักบุญเซบัล Sebalduskirche เมืองนูร์นแบร์ก Nürnberg ประเทศเยอรมนี มีประตูด้านทิศเหนือ (the north transept portal) ที่เรียกกันว่า ประตูเจ้าสาว. คู่บ่าวสาวที่ไปประกอบพิธีมงคลสมรสในวัดนักบุญเซบัล จะออกจากวัดทางประตูเจ้าสาวนี้ ด้วยความหวังว่า ทั้งคู่จะอยู่ด้วยกัน มีความอดทน ยึดมั่นในศรัทธา และใช้ชีวิตด้วยกันอย่างเป็นสุข.
รู้แล้วให้ข้องใจ ต้องตามไปแกะรอยที่มา ตามไปที่เมืองนูร์นแบร์ก ที่ต่อมากลายเป็นเมืองโปรดของฉัน. ไปยืนพิจารณาประตูเจ้าสาวที่นั่น เป็นดังนี้
เครดิตภาพ : Ferdinand Schmidt. Commons.wikimedia.org (Public domain) 
ประตูเจ้าสาว (Brautportal) อยู่ทางทิศเหนือของโบสถ์ Sebalduskirche. เริ่มสร้างในปี 1225 และเสร็จสิ้นลงในราวปี 1273-75. บนกำแพงสองข้างประตูทางเข้า มีรูปปั้นสตรีด้านละห้ารูป. รูปปั้นชุดนี้รังสรรค์ขึ้นในราวปี 1320.  ในราวปี 1360 เพิ่มส่วนโค้งเหมือนลายฉลุ สไตล์กอติคบนกำแพงด้านนอก ที่ไปบดบังรูปปั้นพระคริสต์ที่อยู่บนยอดของประตูโค้งด้านในเสียสิ้น. ต่อมาในปี 1440 ได้เพิ่มรูปปั้นพระแม่มารีอุ้มพระเยซูองค์น้อย และรูปปั้นของนักบุญเซบัล Sebald ในชุดนักจาริกแสวงบุญ (สวมหมวกที่มีหอยเชลล์ประดับ เท่ากับยืนยันว่าได้เดินทางหรือเป็นผู้จาริกไปสู่เมืองซันติอาโก เด กมโปซเตลา ในประเทศสเปน, มือขวาประคองแบบสถาปัตยกรรมโบสถ์ของโบสถ์ Sebalduskirche (ดังในภาพ).
จากนั้น ก็พิจารณารายละเอียดของรูปปั้น
รูปปั้นกลุ่มนี้ บนกำแพงด้ายซ้าย เป็นเด็กสาววัยเยาว์ หน้าตาจิ้มลิ้ม น่ารัก
ถือถ้วยตะเกียงตั้งขึ้น
ส่วนอีกห้าคน บนกำแพงด้านขวา ยืนคอบิดไปข้างหนึ่ง
ถ้วย(ตะเกียง)ในมือคว่ำลง จะหลุดจากมือ
ทั้งหมดโยงไปถึงบทอุปมาอุปมัยบทหนึ่งในคัมภีร์ของแม็ทธิว (Matthew 25: 1-13, ที่รู้จักกันว่า บท Parable of the wise and Foolish Virgins ในภาษาฝรั่งเศสใช้สำนวนว่า Les Vierges Sages et les Vierges Folles). เนื้อเรื่องเล่าถึงสาวพรหมจรรย์สิบนางที่คอยการมาของเจ้าบ่าว. ห้านางได้เตรียมตะเกียงเติมน้ำมันมาเรียบร้อย ยืนยันความมุ่งมั่นที่จะรอคอยไม่ว่านานเท่าใดก็จะรอ, ส่วนอีกห้านางไม่ได้เตรียมน้ำมันตะเกียงมา แต่มีตะเกียงติดตัว. เมื่อเจ้าบ่าวมาช้า เวลาล่วงไปเรื่อยๆ จากกลางวันเป็นกลางคืน น้ำมันตะเกียงของกลุ่มหลังหมดลง ต้องกลับ ในที่สุดห้านางนี้ไม่ได้พบเจ้าบ่าว. ส่วนแม่นางห้าคนผู้ได้เตรียมตัวมาอย่างดี เติมน้ำมันมาเต็มที่ รอคอยการมาอย่างสงบ อยู่จนพบเจ้าบ่าว และได้รับรางวัลตอบแทน.
      เรื่องที่เล่าไว้ในคัมภีร์ของนักบุญแม็ทธิว ดูเหมือนโยงไปถึงสภาพการณ์ทั่วไปก่อนคริสตกาล ยุคที่คนคอยการมาของพระมหาไถ่ จึงไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นในยุคของพระเยซู. ชาวคริสต์รุ่นแรกๆ เชื่อว่า พระเยซูจะกลับมาจุติในโลกครั้งที่สอง เพื่อสถาปนาอาณาจักรของพระเจ้า, การมาของพระเยซูครั้งหน้า จะเกิดขึ้นในไม่ช้า.  เจ้าบ่าวที่สตรีทั้งหลายรอคอย  คือการมาของพระมหาไถ่. แต่เจ้าบ่าวยังมาไม่ถึง สตรีผู้มุ่งมั่น เตรียมพร้อมคอย ตั้งตาคอย ตั้งใจคอยอย่างสงบ, ส่วนสตรีผู้ฉาบฉวยคอยเหมือนกัน คอยเพราะไม่รู้จะทำอะไร คอยเหมือนคนอื่นๆ คอยไปเนือยๆ จนหมดไฟ.
     นักเทวศาสตร์วิเคราะห์ว่า สตรีทั้งสิบคน สะท้อนจิตสำนึกและชีวิตของคน ที่มีทั้งฉลาดและโง่. ผู้มีจิตศรัทธามั่นคง ใช้ชีวิตมุ่งมั่น อุทิศตน ถือศีลกินเจ สวดมนตร์ภาวนา เตรียมตัวเตรียมใจพร้อมเพื่อต้อนรับพระมหาไถ่ ย่อมได้รางวัลตอบแทน คือการได้ “สัมผัส” พระเจ้า. นักเทววิทยา ยังโยงนัยไปถึงวันพิพากษาสุดท้าย เมื่อคนดีจะได้รางวัล ได้ไปสวรรค์.
     อุปมาอุปมัยเรื่องนี้ เป็นที่นิยมกันมากในยุคกลาง และได้แทรกเข้าเป็นเนื้อหาหนึ่งในศิลปะยุคกลางทั้งจิตรกรรม, ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม ดังหลักฐานจากผลงานศิลปะยุคกลางที่เจริญแบ่งบานในเยอรมนีและฝรั่งเศส เช่นที่ วัด Sebalduskirche ที่นำมาให้ดูในตอนต้น.
      มีประเด็นถกเถียงกันว่า ทำไมสตรีห้าคนที่มีน้ำมันเต็มตะเกียง ไม่แบ่งน้ำมันให้สตรีอีกห้าคน? มันใจร้ายไปไหม? นึกถึงสำนวนหนึ่งว่า จงให้แสงสว่าง แต่อย่าให้น้ำมันตะเกียง, หรือช่วยส่องทางให้ แต่ให้น้ำมันตะเกียงไม่ได้. น้ำมันตะเกียงเหมือนศรัทธา, ความมุ่งมั่น เป็นสิ่งที่หยิบยื่นหรือแบ่งให้ไม่ได้ แต่ละคนต้องพัฒนาสั่งสมด้วยตัวเอง.
     ที่วัดนักบุญเซบัล ใกล้ๆประติมากรรมกลุ่มสตรีสิบนาง ยังมีรูปปั้นเดี่ยวอีกรูปหนึ่ง ที่เรียกกันว่า Fürst der Welt หรือ Prince of the World ฉันขอแปลว่า เจ้าชายแห่งโลกย์  ดูภาพข้างล่างนี้
รูปปั้นเจ้าชายหนุ่ม ยิ้มแย้ม ที่เสกสรรค์ขึ้นในราวปี 1330 เป็นรูปปั้นที่ต้องมองสองด้าน ทั้งด้านหน้าที่เป็นหนุ่มวัยคะนอง ชำนาญโลกชำนาญล่อหลอกให้คนหลง, หากมองด้านหลังของรูปปั้นเดียวกันนี้ จะเห็นว่า มีงู กบ เขียดกัดแทะร่างกายและอวัยวะ. นัยที่ต้องการสื่อ ชัดเจน ว่าหน้าตาภายนอกอาจไม่ใช่ตัวตนแท้จริงของคน อาจมีสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใน, ซ่อนความคิดมุ่งร้ายต่างๆได้. คนจึงต้องตระหนักรู้อยู่เสมอ. ดังภาพข้างล่างนี้
(รูปปั้นนี้ปัจจุบันเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์)
การจำหลักรูปปั้นสองด้าน สื่อนัยผิวและนัยแฝงในศิลปะยุคกลาง นับว่าเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพทีเดียว. นึกถึงวรรณกรรมเรื่อง The Portrait of Dorian Gray ของ Oscar Wilde ที่อาจได้แรงบันดาลใจจากรูปปั้นยุคกลางแบบนี้ ซึ่งมีปรากฏประดับโบสถ์ใหญ่ๆหลายแห่งในยุโรป ตั้งแต่ยุคกลางมาแล้ว  เช่นรูปปั้นจากมหาวิหารเมืองสต๊าซบูร์กดังภาพข้างล่างนี้
ที่มหาวิหารเมืองสตร๊าซบูร์ก เจ้าชายแห่งโลกย์ พยายามล่อสตรีคนโง่ ด้วยการอวดผลแอปเปิลทอง จูงคนไปบนเส้นทางของโลกียวิสัย. ด้านหลังของรูปปั้น ก็จำหลักภาพงู กบ เขียด กำลังกัดแทะเช่นกัน (มิอาจปีนกำแพงไปถ่ายรูปด้านหลังของรูปปั้นนี้ได้). ในศิละยุคกลาง มักใช้งู กบและเขียดเป็นสัญลักษณ์ยืนยันความเละเทะในจิตสำนึกของคน. ปัจจุบัน รูปปั้นจริงถูกเก็บไปไว้ในพิพิธภัณฑ์เช่นกัน.
นำกลุ่มสตรีคนฉลาด นักบุญ(หรือพระเจ้า?) ชี้มือไปในท่าประทานพร
เจ้าชายแห่งโลกย์ ถือแอปเปิลทองล่อใจสตรีคนโง่อยู่ทางซ้าย และมีรูปปั้นนักบุญชี้มือไปทางสตรีคนฉลาดทางขวา ที่เพิ่มเข้ามาเป็นผู้แนะนำสตรีสองกลุ่มในประติมากรรมชุดนี้.  การนับจำนวนสตรีคนฉลาดทางขวาและสตรีคนโง่ทางซ้าย ต้องนับต่อไปยังกำแพงด้านข้างๆด้วย ที่เห็นรูปปั้นแฝงอยู่สองรูป ก็จะครบสิบคนตามที่เล่าในคัมภีร์ของแม็ทธิว.

ที่โบสถ์ประจำเมืองแบร์น Bern ประเทศสวิตเซอแลนด์ กลุ่มประติมากรรมตรงด้านหน้าของโบสถ์ ก็มีรูปปั้นของสตรีคนฉลาดและสตรีคนโง่เหมือนกัน. โบสถ์ประจำเมืองแบร์น (Berner Münster) สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมกอติครุ่นสุดท้าย. โบสถ์ที่เห็นในวันนี้ เป็นหลังที่สามที่สร้างขึ้นในปี 1421 บนพื้นที่เดียวกันที่เคยมีวัดขนาดเล็กตรงนั้นเมื่อสองร้อยปีก่อนหน้านั้น ที่รู้จักกันในนามว่า Leutkirche (ที่แปลว่า วัดของมวลชน).  จากปี 1421 ใช้เวลาสร้างติดต่อกันหลักๆ 150 ปี (แล้วยังบูรณะตกแต่งเพิ่มเติมต่อมาจนถึงปี 1893) มีนายช่างหลายรุ่นในแขนงต่างๆที่สืบทอดการก่อสร้าง โดยยึดหลักการเดียวกัน คือให้เป็นสถาปัตยกรรมกอติค(รุ่นสุดท้าย)ที่ยิ่งใหญ่และในขณะเดียวกันก็ดูโปร่งเบา. โบสถ์เมืองแบร์นมีหอคอยเดียวโดดเด่น สูงที่สุดในประเทศ สูงกว่าหนึ่งร้อยเมตร มีบันได 312 ขั้นพาไปถึงชั้นชมวิวได้ (มีหลายชั้นให้หยุดชม ตามกำลังขา).
Berner Münster ดูเครดิตภาพที่นี่
ด้านหน้าของโบสถ์เมืองแบร์น มีซุ้มประตูสามประตู ประตูใหญ่และประตูหลัก คือประตูกลาง (บางทีปิดไว้ ให้คนเข้าทางประตูข้างด้านหนึ่งและออกทางประตูข้างอีกด้านหนึ่ง). มีประติมากรรมทั้งหมดในบริเวณนี้ 294 รูป. เนื้อหาของประติมากรรมบนหน้าบัน (tympanum) คือฉากการพิพากษาสุดท้าย. ตรงเสาที่แบ่งช่องประตูออกเป็นสองประตู มีรูปปั้นผู้หญิงสัญลักษณ์ของความยุติธรรม มือถือดาบ เทวทูตสองข้างคลี่กระดาษที่(อาจเป็นคำเตือนให้ยึดมั่นในการทำดีละเว้นความชั่ว) ใต้ลงไปเป็นนายช่างสองคนที่โผล่ออกมา มือจับกระดาษที่บอกเล่าเกี่ยวกับการวางศิลาฤกษ์เพื่อสร้างโบสถ์นี้ในปี 1421. (ผู้สนใจติดตามอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับเนื้อหาของประติมากรรมด้านหน้าของโบสถ์นี้ได้ที่นี่ 
      
สิ่งที่เราสนใจในที่นี้ คือรูปปั้นสิบรูปบนกำแพงสองข้างประตูใหญ่นี้ ซึ่งก็คือรูปปั้นของสตรีคนฉลาด(ด้านซ้าย) กับสตรีคนโง่(ด้านขวา) ที่ถ่ายทอดบทอุปมาอุปมัยตามที่แม็ทธิวเล่าไว้ ดังได้กล่าวมาข้างต้น.
รูปปั้นเสนอภาพสตรีคนฉลาดห้าคน หน้าตายิ้มแย้ม ถือถ้วย(ตะเกียง)ตั้งตรง, ส่วนรูปปั้นครึ่งตัวที่โผล่ออกมาใต้รูปปั้นยืน คือพระนางชีบาและกษัตริย์ซาโลมอน ตัวแทนของบุคคลผู้มีศีลธรรมจรรยาในคัมภีร์เก่า
สตรีคนโง่ห้าคน (รูปปั้นที่สองจากซ้าย ดูเหมือนจะเป็นสาวผิวสี ไม่ธรรมดาเลย) ส่วนรูปปั้นครึ่งตัวที่โผล่ออกมา คิดกันว่า Zephaniah กับ Isaiah พระผู้เผยวัจนะในคัมภีร์เก่า
ตรงกลางเสา คือรูปปั้นสตรี สัญลักษณ์ของความยุติธรรม
(ไปยืนดูใกล้ๆ ออกจะประหลาดใจว่า หน้าตารูปปั้นดูจีนๆ)
ตัวอย่างประติมากรรมชุดสตรีคนฉลาดและสตรีคนโง่ที่ประดับโบสถ์มหาวิหารใหญ่ๆในยุโรป ที่มหาวิหารน็อตเตรอดามกรุงปารีสและเมืองอาเมียงก็มีเช่นกัน. ยืนยันความสำคัญของบทอุปมาอุปมัยในคัมภีร์ของแม็ทธิว. ในค่านิยมขนบคริสต์ การเข้าถึงพระเยซูคริสต์ เหมือนการรวมเป็นหนึ่งเดียวในพระองค์  จึงมีแม่ชีที่ใช้นามต่อท้ายชื่อตัว ว่า de Jesus ยืนยันว่าตนเป็นสมบัติของพระองค์ (พระเจ้าสร้างคน โดยปริยายคนจึงเป็นส่วนหนึ่งของพระองค์).
ลองดูตัวอย่างด้านจิตรกรรมบ้าง ดังนี้
จิตรกรรมของ Francken, Hieronymus the Younger เสนอภาพเชิงเปรียบของสตรีคนฉลาดกับคนโง่ (ภาพราวปี 1616) จาก commons.wikimedia.org [public domain].
สตรีห้านางทางซ้าย ใช้เวลาบันเทิงเริงรมณ์ กิน ดื่ม เล่นดนตรี เล่มไพ่ หรือหลับใหล, ส่วนสตรีอีกห้าคนด้านขวา อ่านหนังสือธรรม สวดภาวนา เห็นตะเกียงที่พื้นจุดสว่างไว้. คนที่สวมชุดสีดำๆ กำลังเติมน้ำมันลงตะเกียง. ทั้งหมดตื่นและรู้ตัวตลอดเวลา. เหนือขึ้นไปตรงกลางภาพบนเนิน ในท้องฟ้า(สวรรค์) มีอาคารทรงกลม แสงสว่างเรืองรอง แนะว่าอาจเป็นทางเข้าสู่อาณาจักรของพระเจ้า.
ภาพนี้ของ William Blake (1826) สตรีโง่ห้าคนกำลังโวยวายที่ขอน้ำมันตะเกียงจากสตรีผู้ฉลาดห้าคนไม่ได้  เครดิตภาพ 

เกร็ดเล็กน้อย เรื่องสตรีคนฉลาดและคนโง่  รู้ไว้ใช่ว่า 
ช่วยให้เข้าใจศิลปะตะวันตกมากขึ้น
บางคนอาจได้แรงบันดาลใจจากเรื่องนี้...
น่าคิดว่า ทำไมต้องเป็นผู้หญิง ผู้ชายฉลาดและโง่ก็มี
คิดต่อไปให้ถ้วนถี่ คุณธรรมทั้งหลายในพจนานุกรมภาษาที่พัฒนาจากภาษาละติน (Romance languages) ทั้งหมดเป็นคำเพศหญิง. สรุปได้เลยว่า ในเชิงวัฒนธรรม ผู้หญิงเป็นผู้ให้กำเนิด ปลูกฝังและสืบทอดคุณธรรม. ผู้ชายต้องรับใช้คุณธรรม เพื่อยกระดับตัวเอง.  

โชติรส รายงาน
๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๓.

Thursday, July 2, 2020

Healing Water

ฝรั่งเศส มีแหล่งน้ำแร่ประมาณหนึ่ง 1200แห่ง ที่กระจายอยู่ตามสถานีน้ำบาดาล ที่กระทรวงสุขภาพได้รับการอนุมัติให้นำมาใช้. น้ำเหล่านี้มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับการบำบัดรักษา. 95% ของแหล่งน้ำดังกล่าวอยู่ในเขตภูเทือกเขา เช่น เทือกเขาโว้สจ์(Vosges), จูรา(Jura), ซาวัว(Savoie), แอลป์(Alps), ปีเรเน่(Pyrénées), มาสซิฟ ซ็องทรัล(Massif Central) และ บัสแซ็งอากีแต็ง(Bassin Aquitain). แหล่งน้ำแร่หรือน้ำใต้บาดาล มีเอกลักษณ์ตามสภาพอุณหธรณีแวดล้อมของแต่ละแหล่ง.
ตัวอย่างแผนที่ตั้งของศูนย์น้ำแร่บำบัด(ยังไม่ทุกแห่งในฝรั่งเศส) 
จุดสีต่างๆเจาะจงว่า แต่ละแห่งมีน้ำแร่ที่เหมาะสำหรับการบำบัดด้านใด
อุณหภูมิของน้ำบาดาลขึ้นอยู่ที่ความลึกใต้ระดับพื้น ยิ่งลึกเข้าสู่ใจกลางโลก ก็ยิ่งร้อน แต่น้ำบาดาลร้อนๆนั้น กว่าจะไหลขึ้นสู่ผิวดิน ผ่านชั้นหินชั้นดินชนิดต่าง, ยิ่งขึ้นใกล้ผิวดิน อุณหภูมิน้ำลดลง. อุณหภูมิของแหล่งน้ำใต้ดินอยู่ระหว่าง 16-66°C. หากอุณหภูมิของแหล่งน้ำอยู่ที่ 60°C บอกให้รู้ว่าน้ำนั้นมาจากพื้นที่ลึกลงไป 3-4 กิโลเมตร. หากอุณหภูมิต่ำลง อยู่ในระดับต่ำกว่า 30°C จัดว่าเป็นน้ำบาดาลเย็น. กระแสน้ำไหลของน้ำบาดาลบางทีก็พุ่งขึ้นจากความลึกทะลักออกทางช่องโหว่ในชั้นหินชั้นดินขึ้นสู่ผิวดินในเวลาอันรวดเร็ว ในกรณีนี้น้ำบาดาลนั้นยังคงมีอุณหภูมิสูง เป็นน้ำบาดาลร้อน ที่เรียกกันทั่วไปว่า น้ำพุร้อน. บางทีน้ำบาดาลมิได้พุ่งขึ้นเหมือนน้ำพุ ดังน้ำพุร้อนที่ Yellowstone National Park, USA แต่ไหลทะลักออกที่ช่องโหว่ในซอกหิน เช่นน้ำบาดาลร้อนของวิชี. (ในนี้ จึงเลือกใช้คำว่า น้ำบาดาล ร้อนหรือเย็น. ตามคำกำจัดความของราชบัณฑิตยสภาที่เจาะจงว่า เป็นน้ำที่อยู่ใต้ระดับผิวดิน ลึกลงไปไม่ต่ำกว่าสิบเมตร)
     เส้นทางไหลของน้ำบาดาล กว่าจะขึ้นมาถึงผิวโลกนั้น ช้ามาก ประมาณหลายร้อยปี อาจถึงหมื่นห้าพันปี(กรณีของน้ำบาดาลวิชี). บนเส้นทางน้ำไหล น้ำได้ละลายองค์ประกอบของภูมิธรณีบางอย่างติดตัวไปด้วย. ความร้อนของน้ำหนึ่งและระยะเวลาที่น้ำบาดาลสัมผัสชั้นหินชั้นดินอีกหนึ่ง เป็นสองปัจจัยที่ทำให้น้ำบาดาล ดูดซึมสมบัติทางเคมีและสกัดเกลือแร่ในชั้นหินชั้นดินที่มันไหลผ่าน. การวิเคราะห์น้ำประการหนึ่งและการที่มีตะกอนจับเกาะตรงจุดที่น้ำแร่ไหลออกมา ยืนยันว่ามีเกลือแร่ละลายปนอยู่ในน้ำนั้น. น้ำแร่มักมีรสของเกลือแร่ที่ละลายปนอยู่ในน้ำนั้น (ปกติน้ำบริสุทธิ์ไม่มีรส). นอกจากเกลือแร่ การเคลื่อนตัวของพื้นที่ใต้พื้นโลก ทำให้มีก๊าซร้อนจำนวนมากพุ่งหรือพ่นออกจากใต้พื้นสู่บรรยากาศ ซึ่งมักตามด้วยน้ำใต้ดินที่ทะลักออกมา (เช่นที่เมือง Rotorua, New Zealand). ส่วนใหญ่เป็นก๊าซอุดมด้วยกำมะถันและคาร์บอเนต. หากเป็นก๊าซคาร์บอนิก ที่แทรกอยู่ในผลึกหิน ในโซนลึกๆของเปลือกโลก, ก๊าซหลุดออกจากผลึกหินและลอยตัวขึ้นสู่ผิวโลกแล้วกระจายไปในบรรยากาศ. บนเส้นทาง เมื่อไปพบกับน้ำและหลอมตัวเข้าไปในน้ำนั้น จนถึงจุดที่ความดันลดลง เกิดฟองปุดๆในน้ำนั้น (ที่มาเป็น sparkling mineral water).

การจำแนกหมวดหมู่ทางเคมีของน้ำแร่ จัดตามองค์ประกอบเกลือแร่ในน้ำบาดาลแต่ละแหล่ง น้ำแต่ละกลุ่มมีสมบัติที่นำไปใช้ในการบำบัดเยียวยาต่างกัน. สรุปย่อๆของน้ำแต่ละกลุ่มดังนี้
กลุ่มน้ำปนกรดกำมะถัน มีปริมาณกรดกำมะถันสูง ที่เอื้อต่อการบำบัดเกี่ยวกับเนื้อเยื่อที่เป็นแหล่งติดเชื้อเรื้อรัง. น้ำกลุ่มนี้นำไปใช้เพื่อบำบัดบรรเทาโรคเรื้อรังในระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบ หรือโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดในหัวใจและปัญหาของเส้นเลือดที่เข้าออกหัวใจ.
น้ำกลุ่มปนกำมะถันสูง สำหรับปัญหาไตและในโรคเกี่ยวกับระบบเมทาบอลิซึม. หากน้ำกลุ่มนี้ผสมกับแคลเซียมและแมกนีเซียม จักนำไปใช้ในการบำบัดโรคเรื้อนกวาง (eczema), อาการและแผลไหม้พุพอง.
กลุ่มน้ำที่อุดมด้วยโซเดียมคลอไรด์สูง ที่มักมาจากถิ่นอุดมผลึกเกลือ น้ำกลุ่มนี้กระตุ้นความเจริญเติบโต และนำไปใช้ในการบำบัดปัญหาฉี่ลาดโดยไม่รู้ตัวเป็นต้น
กลุ่มน้ำอุดมด้วยไบคาร์บอเนต น้ำโซดาไบคาร์บอเนต ช่วยการบำบัดอาการผิดปกติในกระเพาะอาหารและลำไส้ และในตับกับถุงน้ำดี. น้ำกลุ่มนี้ช่วยปรับระบบทางเดินอาหารให้เป็นปกติ ลดการหดเกร็งในเวลาย่อยอาหาร และยังช่วยสมานแผลในเมือกของเยื่อบุลำไส้. น้ำไบคาร์บอเนตที่มีแคลเซียมเจือปน ช่วยต้านการอักเสบ คลายและสมานแผลของผิวหนัง โดยเฉพาะในการบำบัดสิวและแผลพุพอง.
น้ำที่มีสมบัติอันเกิดจากสารแร่ที่หายากอื่นๆ กลุ่ม oligoelements[1] เช่นน้ำที่อุดมด้วยทองแดง เหล็ก หรือสารหนู (arsenic). น้ำที่มีทองแดงปนใช้ในการบำบัดปัญหาผิว, ส่วนน้ำที่มีสารเหล็กปน นำไปใช้ในการบำบัดโรคโลหิตจาง และน้ำที่มีสารหนูปน เหมาะสำหรับโรคภูมิแพ้. โดยทั่วไปน้ำกลุ่มนี้ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกัน.
     น้ำแร่บางชนิดที่มีอุณหภูมิสูงมาก ช่วยให้ผ่อนคลายและลดความเจ็บปวดจากโรครูมาติสซึม และต้านการอักเสบในนรีเวชกรรม. อ่านรายละเอียดได้ในเว็บเพจนี้ 

น้ำแร่เป็นแหล่งสุขอนามัย ตั้งแต่ยุคโบราณ ชาวโรมันใช้น้ำและโคลนเพื่อบำบัดความเจ็บปวดตามข้อกระดูก, ในการบำบัดปัญหาทางนรีเวชศาสตร์ รวมทั้งแผลไหม้พุพองต่างๆ. ระบบการบำบัดด้วยน้ำบาดาล(ร้อนหรือเย็น)ในปัจจุบันที่ได้พัฒนาด้านเทคนิคไปอย่างมาก เหมาะกับทุกเพศทุกวัย. 

การรักษาบำบัดด้วยน้ำบาดาล (ร้อน/เย็น) ใช้เทคนิคเฉพาะที่แยกออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ คือ

หนึ่ง - การบำบัดด้วยน้ำหรือวารีบำบัดภายนอกหรือทั่วไป การแช่ตัวในน้ำและการอาบน้ำด้วยฝักบัว (hydrotherapy)
สอง - การบำบัดภายใน หรือเฉพาะส่วน อันมีการบำบัดด้วยละอองน้ำฝอยๆ (aerosoltherapy), การสูดหายใจ (inhalations), การกลั้วคอ (gargarismes),  การพ่นละอองน้ำ(แร่) เข้าไปในปอด (nebullisation)
สาม – การบำบัดด้วยการดื่มน้ำแร่ (ingestion)
ศูนย์บำบัดด้วยน้ำแร่ในฝรั่งเศส ต้องมีบริการด้วยเทคนิคทั้งสามประเภทดังกล่าว ที่ปรับให้เข้ากับโรคเฉพาะของแต่ละคนที่มาใช้บริการ. การแช่น้ำแร่ณอุณหภูมิเฉพาะเจาะจง ช่วยลดความเจ็บปวด และระงับประสาท (sedative). การพ่นก๊าซจากน้ำแร่ ช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้การหมุนเวียนของโลหิตง่ายขึ้น (vasodilation). ส่วนการบำบัดด้วยละอองน้ำฝอยๆณอวัยวะหนึ่ง ส่งผลให้บริเวณนั้นสะอาดสดชื่นและปรับสภาพการอักเสบของเนื้อเยื่อ เช่นในระบบทางเดินหายใจ (จมูก ลำคอ หู)
แพทย์ประจำศูนย์บำบัด เป็นผู้กำหนดระยะเวลาและขั้นตอนในการเยียวยาตั้งแต่วันแรก นี่เป็นปัจจัยสำคัญเพื่อประสิทธิผลของการบำบัด. อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเว็บเพจนี้ 

วิชี-Vichy เป็นเมืองสง่า มีคนอาศัยอยู่ที่นั่น 25.000 คน มองดูจากภาพในศตวรรษก่อนๆ มี “ออร่า”ของกรุงปารีส. เคยเป็นเมืองหลวงของฝรั่งเศสระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะความที่มีโรงแรมใหญ่ๆ และอยู่ใกล้เส้นแบ่งเขตในฝรั่งเศส ส่วนที่เยอรมนีเข้ายึดครอง กับส่วนที่เป็นอิสระที่รัฐบาลฝรั่งเศสของเปแต็ง (Philippe Pétain) ตั้งบัญชาการอยู่. ตอนนั้น จำเป็นที่ต้องมีที่อยู่ให้คนจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว. โรงแรมใหญ่ๆ กลายเป็นที่ตั้งของกระทรวงต่างๆ.
ในที่นี้ จะนำข้อมูลจากแหล่งน้ำบาดาลเมืองวิชี-Vichy ในฝรั่งเศส มาเป็นตัวอย่างเพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับน้ำแร่ที่นำมาใช้ในการบำบัดรักษาโรคในฝรั่งเศส.
      Vichy เป็นเมืองน้ำบาดาลน้ำแร่ที่อยู่ในการควบคุม ดูแลและตรวจการณ์ของรัฐ. กว่า 250 แห่งของแหล่งน้ำใต้ดินในอ่างน้ำวิชี (Bassin de Vichy) ทางการได้รับอนุมัติให้นำออกมาใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์. ตัวเลขนี้ยืนยันความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ และตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เกิดกระแส “ตื่นน้ำ” (water rush) ครอบครัวจำนวนหนึ่งได้เป็นเจ้าของพื้นที่ในทำเลดีของเมือง. แต่ปัจจุบัน แหล่งน้ำแร่ส่วนใหญ่ถูกละเลยและอุดตันไปแล้ว.
      ในจำนวนแหล่งน้ำบาดาลที่มีทั้งหมด 12 แห่งที่น้ำไหลออกมาในปริมณฑลของเมืองวิชี มีการบริหารน้ำบาดาลเพียงหกแห่ง คือ น้ำเซเลสแต็งส์ (Célestins), น้ำโชเมล (Chomel), น้ำกร็องกรีย์ (Grande Grille), น้ำโอปีตัล (Hôpital), น้ำลูกาส์ (Lucas), และน้ำปาร์ค (Parc).
อีกสามแหล่งไม่มีการนำมาใช้ คือ น้ำเอตัวล์ (Etoile), น้ำเจเนเรอซ (Généreuse), น้ำลาร์โบ (Larbaud). อีกสามแหล่ง ปากทางน้ำอุดตันหรือหายไปไม่มีร่องรอยแล้ว คือแหล่งน้ำที่ดูบัว (Dubois), ที่ลาร์ดี (Lardy) และที่พรูแนล (Prunelle).

น้ำวิชีแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม
กลุ่มน้ำบาดาลเย็น เช่น น้ำเซเลสแต็งส์-Célestins (อุณหภูมิณปากน้ำอยู่ที่ 22°C), น้ำลูกาส์-Lucas (อุณหภูมิณปากน้ำอยู่ที่ 27°C),  น้ำแร่ ปาร์ค-Parc (อุณหภูมิณปากน้ำอยู่ที่ 23.8°C).
กลุ่มน้ำบาดาลร้อน เช่น น้ำโอปีตัล-Hôpital (อุณหภูมิณปากน้ำอยู่ที่ 34°C), น้ำโชเมล-Chomel (อุณหภูมิณปากน้ำอยู่ที่ 43.5°C), น้ำกร็องกรีย์-Grande Grille (อุณหภูมิณปากน้ำอยู่ที่ 39°C).
      น้ำบาดาลบางชนิดถูกนำไปใช้เพื่อการบำบัดเยียวยาเท่านั้น เป็นน้ำแร่ที่มีอุณหภูมิ 60°C น้ำบาดาลกลุ่มร้อน นำไปใช้บ่มโคลนที่จะถูกนำไปใช้ในกระบวนการรักษาบำบัดอย่างเฉพาะเจาะจง.  น้ำวิชีบางชนิดที่อุดมเกลือแร่ นำไปใช้ทำยาอม. น้ำวิชีอื่นๆที่มีปริมาณเกลือแร่น้อยกว่า เหมาะเป็นน้ำดื่มประจำวัน. ทุกวันนี้ มีแต่น้ำวิชี-เซเลซแต็งส์ (Vichy-Célestins) และน้ำแซ็งตีอร์ (Saint-Yorre) ที่เป็นน้ำจากอ่างน้ำวิชี.

ข้อมูลทางการของศูนย์บำบัดบรรเทาโรคที่เมืองวิชี เกี่ยวกับน้ำแร่วิชีเด่นๆ เป็นข้อมูลของศูนย์บำบัดฯวิชี เช่น
น้ำแร่โอปีตัล (Hôpital) ชื่อตั้งขึ้นในทศวรรษหลังจากที่มีการสถาปนาโรงพยาบาลที่ใช้ความร้อนในวิถีการบำบัดเยียวยาในกลางศตวรรษที่ 18. เป็นน้ำแร่ที่ไหลออกมาตามธรรมชาติ ใต้อาคารที่ชื่อว่า Source de l’Hôpital. อุณหภูมิของน้ำแร่โอปีตัลณปากท่ออยู่ที่ 34°C. อุดมด้วยก๊าซคาร์บอนิค. มีค่ากรดด่าง (pH) ที่ 6.8  มีอัตราการไหลอยู่ที่ 47 ลิตรต่อนาที. น้ำแร่นี้อุดมด้วยสารแอนฮายดรายด์คารบอเนต (หรือ carbonate anhydrous) ที่มีสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ยอมรับกันทั่วไป. ใช้น้ำแร่นี้เพื่อบำบัดปัญหาในระบบการย่อยอาหาร อันเกิดจากทางเดินอาหาร กระเพาะและโดยเฉพาะลำไส้. ทางการประกาศให้เป็นสมบัตเพื่อสาธารณะประโยชน์เมื่อวันที่ 23 เดือนมกราคม 1861 (ข้อมูลจากเมืองวิชี).
น้ำแร่โชเมล (Chomel) เดิมเรียกว่า ปุยส์กาเร่ – Puits carré  ต่อมาเปลี่ยนไปใช้ชื่อเพื่อเป็นอนุสรณ์ความทรงจำของนายแพทย์ผู้ตรวจการณ์และควบคุมดูแลน้ำแร่ของเมืองวิชี ที่เขาได้บริหารตั้งแต่ปี 1750. เป็นน้ำแร่ธรรมชาติ ไหลออกในอัตราความเร็ว 40 ลิตรต่อนาที มีอุณหภูมิอยู่ที่ 43.5°C. เป็นน้ำที่อุดมด้วยแคลเซียมฟลูออไรด์. เป็นน้ำแร่ที่ใช้มากที่สุดในกระบวนการบำบัด มีประสิทธิภาพคงตัวพอเหมาะที่สุด.  
น้ำแร่กร็องกรีย์ (Grande Grille) ชื่อมาจากในสมัยก่อนที่เขาต้องสร้างตาข่ายกั้นสัตว์ทั้งหลายมิให้เข้าไปดื่มน้ำจากต้นน้ำ พวกสัตว์ชอบน้ำแร่ชนิดนี้มาก. เป็นแหล่งน้ำแร่ธรรมชาติ ไหลออกมาที่วิชี ด้วยอุณหภูมิ 39°C. เป็นน้ำแร่ที่มีแคลเซียมฟลูออไรด์มากที่สุด และมีสมบัติชัดเจนที่สุด. มีปฏิกิริยาสำคัญต่อตับ ดื่มในปริมาณน้อยแต่ต่อเนื่องตามกำหนดเวลาหนึ่ง.
น้ำแร่โดมและน้ำแร่เอลิซ (Dôme et Lys) ตั้งอยู่ใกล้กันไม่กี่เมตร ห่างจากเมืองวิชี 3 กิโลเมตร ในชุมชนอาเบรสท์-Abrest. คนค้นพบแหล่งน้ำแร่สองแห่งนี้เมื่อร้อยปีก่อน. เจาะลึกลงไปใต้พื้น 160 เมตร น้ำแร่ทั้งสองร้อน ที่อุณหภูมิ 66°C และ 60°C ตามลำดับ. เป็นน้ำแร่โซเดียมไบคาร์บอเนต ใช้ในการเพาะเลี้ยงสาหร่าย. เมื่อผสมกับแร่กาโอลิน(ดินเคลือบ) นำไปใช้ในโคลนเพื่อการแช่ตัวตามศูนย์สปา.
น้ำแร่บูสซ็องจ์ และน้ำแร่อ็องตวน (Boussange & Antoine) น้ำแร่ทั้งสองหล่อเลี้ยงศูนย์สปาเพื่อการบำบัดด้วยน้ำแร่บูสซ็องจ์. ขุดค้นพบตาน้ำแร่นี้ในปี 1901 ด้วยการเจาะลึกลงใต้พื้น 160 เมตรในปริมณฑลของชุมชนแบลรีฟ (Bellerive). ส่วนน้ำแร่อ็องตวน ได้จากการขุดเจาะเช่นกันในปี 1991 มีปริมาตรการไหลออกที่ 18 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง และมีอุณหภูมที่ 75°C . น้ำแร่ทั้งสอง ทำให้ปริมาณน้ำบาดาลเพิ่มขึ้นมากในศูนย์บำบัดฯของวิชี.   

การดูดซึมน้ำแร่วิชี กระตุ้นให้ตับปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ ด้วยการคลายกล้ามเนื้อหูรูดของทวารหนัก (ศัพท์ทางแพทย์เรียกว่า sphincter of Oddi). น้ำแร่วิชีจึงเป็นตัวจัดระบบการผลิตน้ำดีให้เป็นปกติ และส่งผลดียิ่งต่อเอนไซมในตับ. เมื่อเกิดภาวะภูมิแพ้ โดยเฉพาะอาการแพ้อาหาร ร่างกายหลั่งสารพิษฮิสตามิน ที่ส่งผลกระทบต่อระบบร่างกายได้ น้ำแร่วิชีปกป้องร่างกายจากผลกระทบของฮิสตามินนั้น. น้ำแร่วิชีช่วยเร่งความเร็วในการขับลมออกและเพิ่มความต้านทานของเยื่อบุเมือกที่เคลือบกระเพาะ เมื่อเกิดการรุกรานจากยาหรือสารพิษ. น้ำแร่วิชียังช่วยกระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งสารออก.
     เป็นการดีที่จะดื่มน้ำแร่วิชีสดสะอาดโดยตรงจากต้นตอของแหล่งน้ำ และอมน้ำไว้ในปากชั่วขณะก่อนกลืนน้ำลง. เพราะผลประโยชน์ของน้ำลดลงเร็วมาก ตามการแก่ตัวของน้ำ ในกรณีนี้ คือตัวเกลือแร่ที่มีประโยชน์จะตกลงที่ก้นภาชนะ ทำให้สมบัติดีๆส่วนหนึ่งเสียไป. ไม่เพียงทำให้ก๊าซคาร์บอนิคในน้ำแร่ที่มีประสิทธิภาพในการขยายหลอดเลือดสูญเสียไป ยังทำให้คุณสมบัติการเยียวยาส่วนหนึ่งลดหายไปด้วย. พึงระลึกอยู่เสมอว่า น้ำแร่เป็นยา การดูดซึมและความกลมกลืนของน้ำมีอำนาจจริงและส่งผลรวดเร็วในกระบวนการแลกเปลี่ยนและการหมุนเวียนของน้ำภายในร่างกาย. (เราจำไว้ว่า 99% ของจำนวนโมเลกุลในร่างกาย เป็นโมเลกุลน้ำ)
     การดื่มน้ำแร่วิชีโดยไม่ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ ทำให้การรักษาไม่มีประสิทธิผล, ร่างกายอาจมีปฏิกิริยารุนแรง. เราต้องไม่เพิกเฉย ต้องใส่ใจในบทบาทของโซเดียมที่เชื่อมรวมกับสารไบคาร์บอเนตตามธรรมชาติของมัน. โซเดียมจำเป็นสำหรับร่างกาย โซเดียมส่งผลดีต่อความสมดุลด้านความชุ่มชื้นภายในร่างกาย. น้ำวิชีมีเกลือโซเดียมปนอยู่ในตัวตามธรรมชาติอยู่แล้ว ดื่มแล้วได้คุณสมบัติเสริมจากโซเดียมโดยเฉพาะหลังการเล่นกีฬา. ปริมาณน้ำแร่วิชีที่ร่างกายดูดซึมเป็นประจำวันในระหว่างการบำบัดด้วยน้ำดื่ม ไม่สร้างความเสี่ยงใดๆทางการแพทย์ ยกเว้นกรณีที่แพทย์สั่งงดเกลือในอาหารที่กิน.

ประสิทธิผลของน้ำบาดาลชนิดต่างๆของวิชี
*ปฏิกิริยาต่อเซลล์ตับและน้ำดี
การวิเคราะห์วิจัยชี้บอกว่าปฏิกิริยาจากน้ำวิชีส่งผลอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือช่วยกระตุ้นการปล่อยน้ำดีลงสู่ลำไส้เล็กให้เป็นปกติ ช่วยลดเมื่อถุงน้ำดีปล่อยน้ำดีมากเกินไป หรือเพิ่มปริมาณเมื่อน้ำดีไม่เพียงพอ. นอกจากนี้ การศึกษาผลกระทบของน้ำวิชีเกี่ยวกับตับ เป็นหัวข้อหนึ่งที่นำไปสู่การวิเคราะห์ทดลองทางการแพทย์อย่างมาก ผลการวิจัยที่มีนัยสำคัญที่พิสูจน์ให้เห็นว่า น้ำบาดาลร้อนของวิชี ส่งผลดีมากต่อการหลั่งและการทำงานของเอนไซมในตับ.
*ผลต่อตับอ่อน
ได้มีการทดลองทางคลีนิคแล้วว่าน้ำบาดาลของวิชี กระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งน้ำย่อยไขมัน แป้งและโปรตีนชนิดหนึ่ง(ที่พบในพลาสมาเลือด ในไข่ขาวหรือสารอื่นๆ)
*ผลต่อโคลอนหรือปลายลำไส้ใหญ่ (colon)
น้ำโซเดียมไบคาร์บอเนตของวิชี และโดยเฉพาะน้ำจากแหล่งโอปีตัล (Source Hôpital) ช่วยบรรเทาหรือป้องกันการหดเกร็งหรือชักกระตุกของลำไส้ (antispasmodic) ด้วยการลดความถี่ของการหดเกร็งและเสริม/เพิ่มกำลังการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบในลำไส้ (smooth muscle)
*ผลต่อกระเพาะอาหาร
ในคนปกติหรือในคนที่กระเพาะทำงานล่าช้าหรือไม่มีประสิทธิผลเต็ม น้ำบาดาลของวิชีทำให้การลำเลียงออกในกระเพาะเร็วขึ้นเท่าตัว. น้ำวิชีช่วยสร้างความทนทานของเยื่อบุกระเพาะอาหารเมื่อมีสารยาหรือสารพิษเข้าสู่ร่างกาย.
*ผลกระทบต่อโรคภูมิแพ้
ผลจากการวิเคราะห์ทดลองทางการแพทย์ พบว่าน้ำบาดาลของวิชี ป้องกันร่างกายจากสารฮิสตามิน (histamine) ที่เป็นสารพิษที่เกิดจากการปะทะกับอาการแพ้. การศึกษาวิจัยพบว่า สมบัติต้านฮิสตามินที่มีในน้ำบาดาลของวิชี ส่งผลดีต่อร่างกายเมื่อเกิดอาการแพ้ต่างๆที่เนื่องกับอาหาร.
นอกจากนี้ เกลือแร่ในน้ำบาดาลรวมเกลือแร่ที่พบในความชื้นธรรมชาติของผิวคน (natural moisturing factor หรือ NMF) เช่น คลอไรด์ โซเดียม โปตัสเซียม แคลเซียม และแมกนีเซียม.

     เหมือนน้ำชนิดต่างๆจากแหล่งน้ำบาดาลวิชี ที่นำไปใช้ในกระบวนการบำบัดบรรเทาโรคที่ศูนย์บำบัดของเมืองวิชี  น้ำวิชี-เซเลสแตงส์เป็นน้ำแร่วิชีที่คนรู้จักและมีชื่อเสียงที่สุด เป็นน้ำแร่ที่บรรจุขวดขายส่งออกไปกว่าสี่สิบประเทศ, สถิติการขายอยู่ที่ 40 ล้านขวดในแต่ละปี. (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)

ประวัติและสมบัติของน้ำวิชี-เซเลสแต็งส์
ตั้งแต่ยุคโรมันแล้ว วิชีมีชื่อเสียงเรื่องน้ำบาดาล ตอนนั้นเรียกชื่อง่ายๆชัดเจนว่า Aqua Calidae (ที่แปลว่า น้ำร้อน). ชาวโรมันเห็นประโยชน์ของน้ำบาดาลร้อนๆสำหรับการอาบน้ำการแช่ตัว มากกว่าสมบัติด้านบรรเทาเยียวยาเมื่อดื่ม. หลังจากนั้น ก็ถูกลืมไปตามกาลเวลาและกลับมีชื่อเสียงขึ้นในศตวรรษที่ 17. พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 คุ้นชินกับการเยียวยารักษาโรคต่างๆในศูนย์บำบัดด้วยน้ำแร่. มาร์กีซ เดอ เซวีเญ่ (Marquise de Sévigné) ไปรักษาปัญหาไขข้ออักเสบที่เมืองวิชีบ่อยๆ โดยเฉพาะได้ไปอยู่ที่เมืองวิชีด้วยในปี 1676 และปี 1677.  ในศตวรรษที่ 17 คนจึงเริ่มพูดถึงน้ำเซเลสแต็งส์. ยิ่งในสมัยของนโปเลียนที่สามผู้หลงรักการบำบัดบรรเทาด้วยน้ำแร่ และกิจกรรมสันทนาการแบบต่างๆที่มีที่นั่น พระองค์จึงเป็นผู้ให้สร้างตึกอาคารและโรงแรมใหญ่ๆตามด้วยกาสิโน ศูนย์บำบัดบรรเทา โรงละครเป็นต้น. ถือกันว่า พระองค์มีอุปการคุณต่อเมืองวิชีอย่างยิ่ง.
   ชื่อน้ำ เซเลสแต็งส์ (Célectins) เป็นชื่อของคอนแวนต์เซเลสแต็งส์ที่หลุยส์ที่สอง ดุ๊คแห่งบูรบง (Louis II, Duc de Bourbon) สถาปนาขึ้นในปี 1410 บนพื้นที่ที่อยู่เหนือแหล่งน้ำใต้ดิน นอกกำแพงเมือง.
คอนแวนต์เซเลสแต็งส์สมัยนั้น
นักบวชเซเลสแต็งส์ เป็นสมาชิกของคติศาสนาที่เกิดจากกลุ่มนักบวชสายนักบุญดาเมียง (Ermites de Saint-Damien) หรือจากกลุ่มบราเธอร์สายเอสพรีแซ็งต์ (Esprit Saint ณสำนักอาราม Saint-Esprit ที่เมืองซุลโมนา-Sulmona ในจังหวัดอาบรุสโซ-Abruzzo ประเทศอิตาลี). บราเธอร์กลุ่มนี้ตั้งสาขาทรงพรตคติเบเนดิคตินเมื่อปีแยร์เดอมอร์โรน ผู้นำการเคลื่อนไหว ได้ขึ้นเป็นสันตะปาปาในปี 1294 ในนามว่า เซเลสแต็งที่ห้า (Célestin V). ชื่อเซเลสแต็ง จึงใช้เรียกสมาชิกของคตินักบวชกลุ่มนี้ไปด้วย สมาชิกทั้งหมดกระจายออกไปในวัดยี่สิบกว่าแห่ง.
    เล่ากันว่า กลุ่มนักบวชนี้ถูกยกเลิกไปในปี 1777 ตามราชสารของสันตะปาปา เพราะถูกมองว่า ไม่ปฏิบัติตามบัญญัติและปฏิเสธการปฏิรูปขององค์การศาสนา. เหล่าบาทหลวงเซเลสแต็งส์ ใช้น้ำใต้ดินเซเลสแต็งส์เหมือนน้ำอมฤทธิ และสร้างปาฏิหาริย์ต่างๆ จึงเป็นที่เพ่งเล็ง. ด้วยเหตุนี้ คอนแวนต์สุดวิเศษที่มีห้องหับหรูหราดั่งห้องพระราชา(ในสมัยหลังที่ก่อสร้างขึ้นตามสถาปัตยกรรมนีโอคลาซสิก) จึงทนทุกข์ทรมานกับการที่มีกองทัพผ่านเข้าออกเป็นประจำ ทั้งยังไม่อาจต่อต้านคณะบริหารจัดการ(ของคนภายนอก)หลายแบบหลายอย่างที่เกี่ยวกับแหล่งน้ำเซเลสแต็งส์. นักบวชของคอนแวนต์นี้จึงสลายตัวลงในศตวรรษที่ 18.
      จนถึงตอนนั้น แหล่งน้ำนี้เปิด ไม่มีรั้วหรือกำแพงใดๆปกป้อง, ในปี 1817 ทางการยุคนั้นตัดสินใจสร้างศาลาแห่งแรกขึ้นเพื่อปกป้องแหล่งน้ำ เพราะมีผู้คนไปดื่มน้ำที่นั่นมากขึ้นๆ. น้ำวิชีได้ทำรายได้มากมาย ทำให้จำเป็นต้องมีองค์กรบริหารทางการค้าขึ้น.
      นอกจากนี้ ยังมีการแอบผลิตน้ำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย. คือการขาย น้ำวิชี-Eau de Vichy” เป็นขวดๆ ด้วยการใช้น้ำจากก๊อกน้ำธรรมดาๆครึ่งขวดแล้วเติมน้ำเซเลสแต็งส์จริงๆให้เต็มขวด ออกขาย...ยังผลให้ผู้ซื้อไปดื่มเกิดการติดเชื้อ ผู้เคราะห์ร้ายที่ไปถึงที่นั่นด้วยความหวังในสรรพคุณของน้ำ หมดศรัทธาไปเลย. พระเจ้าแผ่นดินจึงแต่งตั้งหัวหน้าผู้ตรวจการน้ำ (Surintendant des Eaux) ไปทำหน้าที่บริหารจัดการแหล่งน้ำเซเลสแต็งส์และรัฐถือกรรมสิทธิ์การแจกจ่ายน้ำแต่เพียงผู้เดียว. ต่อมาในปี 1905 ทางการออกบัญญัติทางกฎหมายนิยามสมบัติของน้ำแร่อย่างเป็นทางการ เพื่อหยุดการแอบอ้างและการทำน้ำเจือปนชนิดต่างๆแล้วหลอกขายว่าน้ำเซเลสแต็งส์.
     ในศตวรรษที่ 18 ไม่ใช่ใครก็ตามจะมีสิทธิ์ขายน้ำวิชีได้ ต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐก่อน. มีแผ่นย่อของจารึกทางการที่ยืนยันแหล่งที่มาของน้ำในขวด ติดอยู่บนทุกขวดน้ำวิชี. การติดแผ่นกำกับบนขวดวิชียุคนั้น คือต้นแบบของการทำแผ่นสติ๊กเกอร์ติดขวด ติดผลิตภัณฑ์ ที่เราเห็นในทุกวันนี้. เหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านมานี้ ทำให้ผู้คนจำนวนล้านๆคนดื่มน้ำวิชี-เซเลสแต็งส์ได้อย่างมั่นใจในปัจจุบัน.
ภูมิทัศน์ของเมืองวิชีในยุคศตวรรษที่ 18, 19 บนฝั่งแม่น้ำอัลลีเอ-Allier.
ระหว่างกลุ่มสถาปัตยกรรมทางซ้าย กับกลุ่มอาคารศูนย์บำบัดทางขวา เป็นพื้นที่สวน ที่เรียกว่า Parc des Sources ที่รวมเส้นทางเดินเล่นที่เรียกกันว่า Esplanade de Napoléon III.
      คำนิยามของแหล่งน้ำเซเลสแต็งส์ : ข้อสังเกตทางกายภาพของน้ำบาดาลชนิดต่างของวิชี ในบันทึกความทรงจำของราชบัญฑิตยสถานด้านวิทยาศาสตร์, ปี 1753 ความว่า
«แหล่งน้ำเซเลสแต็งส์อยู่บนทางลาดของหินผาที่กว้างใหญ่ ด้านหนึ่งของหินผานี้เป็นที่ตั้งของคอนแวนต์เซเลสแต็งส์. หินผานี้อยู่ริมฝั่งแม่น้ำอัลลีเอ-Allier ที่ทำให้หินผานี้ชุ่มชื้น. อ่างรองรับน้ำเซเลสแต็งส์ มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกินหนึ่งฟุตหรือประมาณ 30.48 เซ็นติเมตร และมีการเจาะขุดหินผานั้นประมาณสองฟุตให้แหล่งน้ำไหลออกที่ก้นของอ่างน้ำ. การไปถึงต้นตอของน้ำเซเลสแต็งส์ค่อนข้างลำบาก เดินไปบนทางเล็กๆเลียบทางลาดของหินผานั้นริมฝั่งแม่น้ำอัลลีเอ. เส้นทางเดินนี้ไม่มั่นคงนัก ไปเรือในแม่น้ำอัลลีเอสะดวกกว่ามาก» 

      ศตวรรษที่ 19 เป็นยุคเฟื่องฟูของศูนย์บรรเทาบำบัดด้วยน้ำแร่ของวิชี. การสร้างทางรถไฟเป็นผลจากนโยบายสนับสนุนของนโปเลียนที่ 3 พระองค์เสด็จไปที่เมืองวิชในปี 1862, 1862, 1863, 1864 และ 1866. จากจุดเริ่มต้นที่วิชีเป็นศูนย์บรรเทาบำบัดด้วยน้ำแร่, ในปี 1865 ทางการได้สร้างสถานกาสิโนเพื่อให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ, ในปี 1866 สร้างเวทีสำหรับการแสดงดนตรี, ในปี 1869 สร้างเครือข่ายการบริการด้านโภชนาการ และร้านค้าต่างๆบนถนนบ็งวีล (Bonville). จึงอาจพูดได้ว่า วิชีที่เรารู้จักกันในวันนี้ เกิดขึ้นในยุคนั้น. พื้นที่ตั้งของแหล่งน้ำตามจุดต่างๆ รวมกันเป็นภูมิทัศน์ของเมืองวิชี และโดยเฉพาะพาร์คกว้างใหญ่ (Parc des Sources) เห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาตามลำดับ จนมาเป็นพาร์คปัจจุบันที่งามตา ร่มรื่น ที่รวม Esplanade de Napoléon III, เชื่อมแหล่งน้ำ ศูนย์บำบัด กาสิโน โรงละคร และร้านค้ารอบนอกของพาร์ค.
นโปเลียนที่สามกับพระจักรพรรดินี เมื่อคราไปเยือนเมืองวิชี
 กาสิโนในศตวรรษที่ 19 เทียบกับที่เห็นในปัจจุบัน
 อาคารกาสิโน ต่อมาเพิ่มโรงละครต่อออกไปทางด้านขวาของภาพ
โรงละครติดกับกาสิโน Théâtre du Casino, Vichy
บรรยากาศเมืองวิชีในศตวรรษที่ 19 ยุคเฟื่องฟูของเมืองวิชี
Lithographie de Duruy - source des Célestins - 1866. Collections particulières Pascal Chambriard

     «ผู้คนที่ไปรักษาตัวที่วิชี ตื่นแต่เช้าตรู่ เพื่อไปแช่น้ำอาบน้ำ. ผู้ที่ต้องดื่มน้ำแร่ในตอนเช้า ก็ตรงไปที่แหล่งน้ำแร่ที่หมอสั่งอย่างเฉพาะเจาะจง (แหล่งน้ำใดที่หมอสั่งก็ต้องไป ดื่มปริมาณน้ำแร่ตามหมอสั่งไม่มากหรือน้อย. ไม่ใช่ทุกคนไปแหล่งน้ำเดียวกัน เพราะไปรักษาตัวด้วยปัญหาต่างกัน). เก้านาฬิกา เป็นเวลาแจกจดหมายและหนังสือพิมพ์. สิบนาฬิกา รับประทานแคร็อต, แคร็อตเป็นผักในเมนูอาหารของคนป่วย. สิบเอ็ด-สิบสี่นาฬิกา เป็นเวลาสันทนาการ เล่นไพ่วิสท์ ผู้หญิงเย็บปักถักร้อยไป สาวๆหัดเปียโน. สิบสี่นาฬิกา อาบน้ำแร่แล้วแต่งตัว. สิบห้านาฬิกา ไปดื่มน้ำที่แหล่งน้ำอีกครั้ง. สิบห้านาฬิกาสามสิบนาทีถึงสิบหกนาฬิกาสามสิบนาที(...) ไปฟังดนตรีในพาร์ค. ทันทีที่ดนตรีพอลก้า(ดนตรีปิดรายการจบลง) ไปดื่มที่แหล่งน้ำแร่เป็นครั้งที่สาม. ระฆังของโรงแรมต่างๆดังขึ้นบอกเวลาอาหารเย็น บริการอาหารเริ่มขึ้นสิบเจ็ดนาฬิกาตรง แน่นอนต้องกินแคร็อตตามสูตรที่หมอจัดให้. สิบแปดถึงสิบเก้านาฬิกา เล่นตีลูกบอล, ทุกคนออกหาเหรียญสิบซ็องตีมที่เจ้าหน้าที่ซ่อนไว้ตามจุดต่างๆ(ร้อยซ็องตีมเท่ากับหนึ่งฟร็องค์) บางคนหาเจอ บางคนหาไม่เจอ, ใครเจอเหรียญก็ได้ไป. มีการเล่นเกมส์พื้นบ้าน (ของยุคนั้นที่ชื่อว่า La marmotte en vie ). โดยเฉพาะไปนั่งนินทาคนอื่น บนม้านั่งไม้ที่ทาสีเขียวที่จัดเรียงไว้หน้าโรมแรม (...). สิบเก้าถึงยี่สิบนาฬิกา ไปฟังดนตรีวงทหาร. ยี่สิบนาฬิกาถึงยี่สิบสองนาฬิกา ทุกคนรวมกันในห้องโถงใหญ่ เต้นรำ ฟังดนตรี หรือชมการแสดง. เมืองวิชีทั้งเมือง เข้านอนยี่สิบสามนาฬิกา » (Ref. Albéric Second, Casimir Daumas, Vichy-Sévigné, Vichy-Napoléon. Paris, Henri Plon éditeur, vers 1864).
 อาคารดื่มน้ำแร่ที่วิชี (Hall des Sources ในภาพเขียนว่า Le Trinkhall) ในศตวรรษ18-19
 อาคารดื่มน้ำแร่วิชี (Hall des Sources) ในปัจจุบัน
อาคารสร้างเป็นห้องโถงใหญ่ เหมือนเรือนกะจก ภายในมีน้ำก๊อกต่อมาจากแหล่งน้ำต่างๆของวิชี มีชื่อกำกับว่าจากแหล่งใด. ผู้ไปใช้บริการ เข้าไปดื่มน้ำแร่ชนิดที่หมอสั่ง ในปริมาณที่หมอสั่ง ณเวลาที่เฉพาะเจาะจงตามหมอสั่งอาคารนี้เปิดให้สำหรับผู้ไปรับบริการที่ศูนย์บำบัดของวิชี มีข้อความเจาะจงไว้ที่ประตูว่าสงวนให้ผู้มารับบริการบำบัดจากศูนย์ฯเท่านั้น.
 มีก็อกน้ำเรียงราย จากแหล่งน้ำแต่ละแห่ง
 อาคารดื่มน้ำแร่ อยู่ในบริเวณสวน Esplanade de Napoléon III เป็นที่พักผ่อนเดินเล่น
Kiosque ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองและผลิตภัณฑ์จากน้ำบาดาลวิชี พร้อมขาย
 แนวต้นเกาลัดดอกสีขาวในบริเวณพาร์ค ที่เชื่อมอาคารศูนย์บำบัดกับอาคารกาสิโน

     จากน้ำพุของเหล่านักบวชเซเลสแต็งส์ จนถึงยุคเรา แหล่งน้ำได้ลดเลี้ยวแตกแขนงไปหลายสาย อัตราความเร็วของน้ำลดลง หลายแขนงหายไป. ต่อมาเกิดค้นพบตาน้ำอีกครั้งในบริเวณใกล้เคียง.
ปัจจุบันมีถนนตัดผ่านพาร์ค อาคารแหล่งน้ำเซเลสแต็ส์ตรงปากน้ำที่ไหลออกในเมืองวิชี

 

 
อาคารน้ำเซเลสแต็งส์ที่เห็นในปัจจุบัน สร้างขึ้นในปี 1908 ตามสไตล์พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ก่อประกบเข้าไปในหินผาที่ประกอบด้วยพลอยอารากนไนต์.[2] บริเวณตาน้ำบาดาลนี้ มีตะกอนเกลือแร่จากน้ำ เกาะทับถมอยู่ที่นั่นวันแล้ววันเล่าจนหนาถึง 18 เมตร. ณปากน้ำ อุณหภูมิน้ำเซเลสแต็งส์อยู่ที่ 22°C มีก๊าซคาร์บอเนตตามธรรมชาติ. เป็นน้ำใต้ดินที่มีเกลือแร่เจือปนน้อยที่สุดในบรรดาน้ำบาดาลที่ไหลออกที่เมืองวิชี. เช่นนี้ น้ำวิชี-เซเลสแต็งส์ ดื่มได้สบายๆ และทำให้ชื่อวิชีเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก. คุณสมบัติพิเศษที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป คือช่วยในการย่อยอาหาร อีกทั้งยังดีต่อผิว กระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนของสารเหลวลึกลงไปจากผิวให้ดีขึ้น. เช่นนี้ทำให้ผิวหน้าสว่างใส.  
แผ่นป้ายในอาคารดื่มน้ำแร่ (le Hall des Sources) กำกับเป็นข้อมูลสั้นๆเกี่ยวกับน้ำวิชี-เซเลสแต็งส์ดังนี้
อุณหภูมิณปากตาน้ำอยู่ที่ 22°C
ค่าระดับกรดด่าง (pH) ที่ 6.7
เป็นแอ่งน้ำธรรมชาติ อยู่ลึกลงใต้พื้น 30 เมตร ใต้พื้นที่สูงของพาร์คเซเลสแต็งส์
อัตราการไหลออกอยู่ที่ 167 ลิตรต่อนาที
ทางการประกาศให้เป็นแหล่งน้ำแร่เพื่อสาธารณะประโยชน์ เมื่อวันที่ 23 เดือนมกราคม ปี1861
เป็นน้ำแร่วิชีชนิดเดียวที่บรรจุใส่ขวด(ขาย) (sic)
ชื่อมาจากคอนแวนต์นักบวชเซเลสแต็งส์ที่ตั้งขึ้นในปี 1410  ทางการประกาศยกคอนแวนต์นี้เป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์

แหล่งน้ำบาดาล กร็องกรีย์ (Source de la Grande Grille) เจาะจงว่า ณต้นน้ำมีอุณหภูมิที่ 41°C (ข้อมูลปัจจุบันอยู่ที่ 39°C) อัตราการไหลออกของน้ำอยู่ที่ 3000 ลิตรต่อชั่วโมง
ตาน้ำบาดาล กร็องกรีย์ ต้นศตวรรษที่ 19 (คำว่า กรีย์-Grille หมายถึงรั้วเหล็กดัดโปร่ง
มองทะลุเข้าไปดูได้) ทางการทำรั้วและหลังคาปกป้องตาน้ำไว้
ปัจจุบันเป็นแบบนี้ ยังคงมีรั้วเหล็กซี่ๆ กั้นรอบๆแหล่งน้ำกร็องกรีย์ อยู่ภายในอาคารดื่มน้ำแร่เรือนกระจก (Hall des Sources)
จากแหล่งน้ำกร็องกรีย์ต่อท่อมาและเปิดจากก๊อกได้เลยดังในภาพ

 แช่และอาบน้ำวิชีในบ้านตัวเอง ข้อความที่เขียนกำกับตรงกลางตอนล่าง เจาะจงว่า
« น้ำแช่ตัวทำจากเกลือแร่ที่สกัดออกจากน้ำแร่วิชี ภายใต้การควบคุมดูแลตรวจการของรัฐ. เกลือแร่เหล่านี้ถูกบรรจุเก็บปิดเป็นหลอดขนาดปริมาตร 250 กรัม. เมื่อบวกกับการดื่มน้ำแร่ จักเป็นการบำบัดแนวหนึ่งของวิชี ภายใต้การควบคุมของนายแพทย์ สำหรับบุคคลที่ไม่อาจเดินทางไปถึงศูนย์บำบัดฯของวิชี. แต่ละหลอดใช้สำหรับการแช่ตัวหนึ่งครั้ง.»
     การขุดเจาะแหล่งน้ำใต้ดิน การจัดส่ง และการสกัดเกลือแร่ที่เป็นองค์ประกอบของน้ำแร่วิชี ตลอดจนการผลิดยาอมของสถาบันวิชี ทั้งหมดอยู่ใต้การควบคุมดุแลตรวจการของรัฐ. รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตัดสี่มุม คือรูปลักษณ์ของแผ่นยาอมวิชี.

มีข้อความกำกับไว้ว่า ปัญหาอาหารไม่ย่อยหรือถามหายาอมพิเศษ SPECIALES PHARMACIES ที่ประกอบด้วยเกลือแร่สกัดจากน้ำวิชี 3%.
  
 
ขวดน้ำวิชีสมัยแรก ทำจากดินทรายปิดด้วยจุกก๊อกห่อในแผ่นหนังและตรึงไว้ด้วยเทียน. ปัจจุบันมีขวดลักษณะอื่นๆอีกมาก และ Vichy Saint-Yorre ก็มีบรรจุขวดขายเป็นน้ำดื่ม. นอกจากน้ำดื่ม, วิชียังนำน้ำบาดาลมาใช้ในผลิตภัณฑ์เชิงบำรุงผิวตัวผิวหน้า ที่ทางการผลิตออกจำหน่ายและส่งออกไปทั่วโลก รวมทั้งเกลือแร่ที่สกัดจากน้ำวิชีชนิดต่างๆ สำหรับนำไปละลายในน้ำอาบ ใช้ในบ้านส่วนตัว. ดูตารางเทียบองค์ประกอบและปริมาณเกลือแร่ของน้ำวิชีสองชนิดนี้

Compositions (mg.L-1) องค์ประกอบเป็นมิลลิกรัมต่อหนึ่งลิตร

                             Vichy Saint-Yorre                   Vichy Célestins
Calcium                       90         แคลเซี่ยม                      103
Magnésium                 11        แมกนีเซียม                      10
Sodium                  1 708         โซเดียม                       1 172
Bicarbonates         4 368        ไบคาร์บอเนต               2 989
Potassium                132          โปตัสเซียม                        66
การจะดื่มเป็นประจำ ต้องรู้ปริมาณเกลือแร่เหล่านี้ในร่างกายของตัวเอง เพื่อรักษาความสมดุลภายในให้ดีที่สุด. โดยทั่วไป น้ำวิชี-เซเลสแต็งส์ ดื่มได้ง่ายกว่า สบายๆสำหรับทุกผู้ทุกวัย.

 สองภาพนี้ คือหมู่อาคารของศูนย์บำบัด “โดม” Thermes des Dômes

Vichy-Célestins Spa Hotel บริการเรื่องการบำบัด บรรเทาและฟื้นฟูอย่างครบวงจร
เครดิตภาพจากเว็บ seevisit.fr

ไปเดินเล่นในสวนกัน
 ประตูพาร์ค (Parc des Célestins) ที่อยู่ตรงข้ามแหล่งน้ำเซเลสแต็งส์ 
ต้นที่มีใบสีแดงๆ คือต้น Copper Beech มีมากในสวนนี้
 Parc des Célestins
รูปปั้นเหมือนของจักรพรรดินโปเลียนที่สาม ในพาร์คเซเลสแต็งส์
(Parc des Célestinsจำหลักลงบนฐานหินด้วยว่า ผู้มีอุปการคุณต่อเมืองวิชี

ในพาร์คเดียวกัน มีรูปปั้นของ Marie de Rabutin Chantal
(Marquise de Sévigné) 1626-1696
ผู้ไปใช้บริการและอยู่เมืองวิชีในปี 1676 และปี 1677
พาร์คมีต้นไม้ใหญ่ๆจำนวนมาก เช่น Californian Sequoia 
 Weymouth Pine from North America
Lebanese Cedar
Hêtre pleureur Weeping beech
แนวต้นเกาลัดดอกสีแดง (marronnier / horse-chestnut) เลียบริมแม่น้ำอัลลีเอ-Allier
ฝั่งตรงข้ามก็สวย แค่เห็น ก็ชุ่มชื่นใจ.
แม่น้ำอัลลีเอ เป็นเส้นทางสัญจรทางเรือที่สำคัญมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15. ในศตวรรษที่ 19 มีการปราบพื้นที่และหนุนสองฝั่งน้ำให้มั่นคง เพื่อสร้างพาร์คนโปเลียนที่สาม. ในปี 1960 ดำเนินโครงการควบคุมควบคุมการไหลและปริมาณน้ำเพื่อหยุดการไหล่เอ่อท่วมเข้าสู่เมืองวิชี.
ทางเดินริมฝั่งแม่น้ำอัลลีเอ-Allier ในพาร์คเซเลสแต็งส์


มีมินิกอล์ฟสิบแปดหลุมให้เล่นด้วย
 ป้ายบอกว่า หาดเซเลสแต็งส์ ริมฝั่งแม่น้ำ จัดเป็นที่พักผ่อน ออกกำลัง เล่นกีฬา

 หรือที่นัดพบสองต่อสอง
 มุมอาหารบุฟเฟ บริการอาหารและเครื่องดื่ม
 เป็นพาร์คที่น่าอภิรมย์มาก
แนวต้นไม้ปลูกติดๆกันไป เป็นม่านต้านลมและฝนที่พัดจากแม่น้ำสู่ตัวเมืองได้เป็นอย่างดี 

อากาศดี น้ำดี ชีวิตไปได้สวย
สัปปายะพร้อม ปัญญาเกิด
โชติรส รายงาน
๒ กรกฎาคม ๒๕๖๓.



[1] สารอาหารประเภทเกลือแร่กลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า oligoelements เป็นสารอาหารที่ธำรงสุขภาพและความสมดุลของร่างกาย แต่ต้องการในปริมาณน้อยนิดเท่านั้น หากมีมากเกินไป เป็นอันตรายจนอาจเป็นพิษได้ หากไม่พอก็ทำให้เกิดปัญหาตามมา. กลุ่ม oligoelements ที่สำคัญๆเช่น arsenic, boron, chromium, cobalt, copper, fluoride, iodine, iron, magnesium, manganese, nickel, molybdenum. จะเห็นว่า มีธาตุโลหะเช่น โครเมียม, โคบอลต์, ทองแดง, เหล็กม นิเกล (ร่างกายคงต้องการธาตุโลหะเหล่านี้เล็กน้อย เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของโครงกระดูกและข้อ) ส่วนฟลูออไรด์ แม็กนีเซียม แม็งกานีส ไอโอดีน คุ้นหูเรากันพอสมควร. ตัวอย่างที่เรารู้กัน เช่น หากขาดไอโดดีน อาจทำให้คอบวมเพราะต่อมไทรอยด์ขยายใหญ่ หรือปัญญาอ่อนและเป็นหมัน. แต่หากมีไอโอดีนมากเกินไป อาจทำให้เกิดสภาวะต่อมไทรอยด์หยุดผลิตฮอร์โมนไทรอยด์(ที่มีหน้าที่ปรับระบบเมทาบิลิซึม), คนที่อยู่ในสภาวะแบบนี้ มีอาการต่างๆที่เกิดจากระบบเมทาบอลิซึมชะลอตัวลงผิดปกติ ที่เขาเรียกว่า hypothyroidism.

ติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับ oligoelements ได้ในเว็บเพจนี้ 

[2] aragonite เป็นพลอยคาร์บอเนตสีเหลืองๆส้มๆ ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของความจริงและความเข้าใจ. พลอยนี้ค้นพบครั้งแรกในปี 1788 ที่ลุ่มน้ำอาราก้น Río Aragón ในประเทศสเปน. แม่น้ำนี้ไหลมาจากเทือกเขาปีเรนิส, ยาว 129 กิโลเมตรและมีปากแม่น้ำอยู่ที่เมืองมิล้าโกร-Milagro (ในความหมายของ miracle) ในประเทศสเปน. คนจึงนำแม่น้ำแหล่งพลอยอารากนไนต์ มาเป็นชื่อเรียกพลอยนี้ด้วย.