Friday, December 27, 2019

Christmas meal

อาหารคริสต์มาส
เห็นในทีวี มีรายการอาหารสำหรับเทศกาลคริสต์มาสในฝรั่งเศสและในอิตาลี. อาหารมื้อสำคัญที่สุดของชาวคริสต์ คือมื้อคืนวันที่ 24 ธันวาคม มื้อระหว่างสมาชิกในครอบครัว (บางทีก็รวมญาติๆร่วมครอบครัวทั้งฝ่ายสามีและภรรยา แล้วแต่ว่ามีจำนวนมากน้อยแค่ไหน) เป็น family reunion ต่างมอบของขวัญให้แก่กัน(หรือไม่ก็ได้) ให้กับลูกหลาน. อาหารมื้อใหญ่นี้ ใช้เวลานานที่โต๊ะอาหาร กินไปคุยไป ถึงเรื่องต่างๆที่ผ่านมาในปีนั้นเป็นต้น  เสร็จแล้วอาจพากันไปร่วมมิสซาที่วัดใกล้บ้านหรือในหมู่บ้าน (มีมิสซาเที่ยงคืนด้วย).
        อาหารมื้อสำคัญของชาวฝรั่งเศส (ผู้วางมาตรฐานการกินอาหารจนกลายเป็นศิลปะประจำชาติที่เป็นข้ออ้างอิงของชาติต่างๆทั้งในยุโรปและเอเชีย) ในเทศกาลนี้ เช่น ฟัวกรา (le foie gras), หอยนางรมสดๆ, เป็ดกงฟี (confit de canard เป็ดตุ๋นช้าๆในน้ำมันของเป็ดเองที่สะกัดจากหนังเป็ด), ไก่งวง (dinde de Noël), เค้กช็อกโกแล็ต(หน้าผลไม้) (bûche de Noël), หมูตากเย็น(ตากเค็ม)แบบต่างๆ (assiette de charcuterie), ปังทำจากน้ำผึ้งปนสมุนไพร (pain d’épice [แป็งเดปี๊ซ]), หอยแมลงภู่สุก กินกับมันฝรั่งทอด (moules frites) เป็นต้น. การเลือกอาหารเป็นไปตามความนิยมในภาคต่างๆของฝรั่งเศส และจำกัดการเลือกอยู่ที่สองสามอย่างเท่านั้น. จะเห็นว่า อาหารเนื้อสัตว์เป็นสัตว์ปีก (เป็ด ไก่งวง) ไม่มีการกินเนื้อวัว, ส่วนผลิตภัณฑ์จากหมู เป็นหมูตากเย็นและเค็มที่ชาวนาทำกันมาแต่โบราณ เป็นวิธีการเก็บรักษาหมูให้มีอาหารโปรตีนกินในระหว่างฤดูหนาว(ที่ไม่มีการออกไปล่าสัตว์). ปัจจุบันมีแนวโน้ม ทำอาหารมังสะวิรัติมากขึ้นๆ สำหรับมื้อสำคัญในเทศกาลคริสต์มาสด้วย.
       ส่วนขนบอิตาเลียนโดยเฉพาะในปริมณฑลกรุงโรมนั้น อาจเนื่องกับอิทธิพลศาสนาด้วยเพราะสำนักวาติกันอยู่ที่นั่น อาหารมื้อสำคัญในเทศกาลคริสต์มาส เป็นอาหารปลา กุ้ง หอยเท่านั้น  มี spagetti alle vongole (สปาเก็ตตี้หน้าหอยลายประเภทหนึ่ง) ทั้งมื้อเที่ยงและมื้อเย็น และมีอาหารหวานเรียกว่า ปันเน็ตโตเหนะ (panettone) ที่เป็นเค้กหวาน(มาก)ใส่ลูกเก็ดและผิวส้ม ก้อนกลมทรงสูงมากกว่ากว้าง.  ไม่มีการกินเนื้อสัตว์อื่นใด ไม่มีฟัวกรา (le foie gras) หรือไก่งวงยัดไส้อบ หรือเป็ดกงฟี. ชาวอิตาเลียน(ผู้เคร่งศาสนา) ถือว่าอาหารมื้อคืนวันที่ 24 ธันวาคม ต้องเป็นอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ ต้องไม่ใช่อาหาร “มัน”.  อาหารปลา(หรืออาหารทะเล) ถือว่าเป็นอาหาร “ไม่มัน” (แต่พุงปลามันๆก็มีมาก เช่นพุงปลาทูนาเกรดเอ แพงกว่าเนื้อวัว เป็นมันดี คุณภาพเยี่ยมด้านโภชนาการ).  

          ศาสนาคริสต์ไม่มีการห้ามกินอาหารใดอาหารหนึ่งอย่างเข้มงวดกวดขัน เช่นอิสลามห้ามกินหมู ฮินดูไม่กินเนื้อ. แต่ตั้งแต่ต้นคริสตกาลการกำหนดวันงดอาหารมัน(พวกเนื้อสัตว์ทั้งหลายเป็นต้น) เพื่อให้เป็นการบำเพ็ญทุกรกิริยาแบบหนึ่ง เป็นโอกาสให้สำรวมและหวนรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญๆในชีวิตของพระเยซูและหรือของนักบุญ ถือเป็นกุศลกรรมแบบหนึ่ง. วันที่กินอาหารมันได้ตามปกติวิสัยของชาวตะวันตกนั้นในภาษาศาสนาเรียกว่า les jours gras (Fr. แปลตามตัวว่า วัน + มัน) และวันที่งดอาหารมัน เปลี่ยนมากินอาหารปลาแทนนั้น เรียกว่า les jours maigres (Fr. แปลตามตัวว่า วัน + ผอม/แห้ง/ไร้มัน).  การกินอาหารสลับกันตามแนวนี้ ช่วยสร้างสมดุลด้านโภชนาการ แต่ละยุคในแต่ละถิ่นกำหนดวันงดอาหารมันต่างกัน. ขนบนี้ทำให้เกิดพัฒนาการเลี้ยงและเพาะพันธุ์ปลาตลอดจนการเก็บรักษาปลาเพื่อให้มีอาหารปลาเพียงพอสำหรับบริโภคในวันงดอาหารมัน.
         จนถึงยุคกลาง ปฏิทินคริสต์ศาสนากำหนดไว้ว่าให้ชาวคริสต์ถือศีลอดตลอดระยะเวลาสี่สิบวันก่อนวันอีสเตอร์(Lent) และตลอดสี่สัปดาห์ก่อนคริสต์มาส (Advent) เป็นระยะเวลาที่มีวันงดอาหารมันหลายวันต่อสัปดาห์. ดังนั้นแต่ละสัปดาห์ในแต่ละปี มีหนึ่งหรือสองวันที่เป็นวันถือศีลอด โดยทั่วไปเป็นวันศุกร์ บางทีเพิ่มวันพุธกับวันเสาร์เข้าไปด้วย. โดยสรุปแล้ว ปฏิทินตามขนบคริสต์ การถือศีลอดคือการงดกินอาหารมัน(อาหารเนื้อสัวต์ใหญ่เป็นสำคัญ). รวมมีวันงดอาหารมันประมาณ 150 ถึง 250 วันต่อปี และในกรณีเข้มงวดที่สุด เหลือเพียง 100 วันที่ชาวคริสต์มีสิทธิ์กินอาหารตามใจปรารถนาได้.
     การปฏิรูปศาสนาในศตวรรษที่16 ได้ยกเลิกการถือศีลอดในหมู่ชาวโปรเตสแตนต์. การถือศีลอด ค่อยๆคลายความเข้มงวดลงไปเรื่อยๆในหมู่คาทอลิกตลอดหลายศตวรรษที่ตามมาและตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 เหลือวันถือศีลอดอย่างเป็นทางการเพียงสองวันคือวัน Ash Wednesday (ที่เป็นวันเริ่มต้นของระยะถือศีลอดในอดีตหรือ Lent มีพิธีเจิมหน้าผากด้วยขี้เถ้า เตือนให้รำลึกถึงบาปที่เคยทำ ให้สำนึกผิดและให้ตระหนักว่าความตายรอเจ้าอยู่ ดังปรากฏเขียนไว้ในคัมภีร์ว่า เจ้าเป็นฝุ่น/ดิน และจะกลับคืนสู่ฝุ่น/ดิน) และวัน Good Friday (วันที่พระเยซูถูกตรึงบนไม้กางเขนจนสิ้นชีวิต เพื่อให้ศาสนิกรำลึกถึงการตายการเสียสละของพระเยซู).
       กลุ่มนักบวชในคติคริสต์นั้น แบ่งออกเป็นสองประเภท : ประเภทแรกคือนักบวช พระ เจ้าอาวาส หมอสอนศาสนาฯลฯ ผู้ใช้ชีวิตใกล้ชิดในหมู่ประชาชน กินเนื้อได้ยกเว้นในวันงดอาหารมันเท่านั้น. ประเภทที่สอง คือพระ นักบวช แม่ชีที่สังกัดวัดหนึ่ง อารามหนึ่ง คอนแวนต์หนึ่งฯลฯ. กลุ่มนี้เนื่องจากได้ปฏิญาณตนให้กับศาสนา ว่าจะใช้ชีวิตอย่างคนยากไร้ รักษาพรหมจรรย์ จักเชื่อและปฏิบัติตามกฏหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด กลุ่มนี้งดอาหารเนื้อทั้งหมด.
       เนื้อสัตว์(เนื้อแดง) ถือกันมาแต่ไหนแต่ไรแล้วว่าเป็นอาหารที่น่ากินที่สุดและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง. เนื้อสัตว์เป็นสัญลักษณ์ของการกินดีอยู่ดี ของอำนาจ ของพลังอำนาจดิบ ของกามสุข. การกำหนดข้อห้ามกินอะไรนั้น แน่นอนต้องเลือกห้ามอาหารที่มีคุณค่าสูงในค่านิยมของสังคม อาหารที่ยั่วความตะกละ ทำให้น้ำลายสอ ดังนั้นเนื้อสัตว์ที่รวมเนื้อติดมันทุกประเภท จึงเป็นอาหารต้องห้ามในวันงดอาหารมัน. มีกรณียกเว้นสำหรับผู้ป่าย ผู้มีร่างกายอ่อนแอ ให้กินอาหารเนื้อได้เพื่อชูกำลัง.
     ในวันงดอาหารมันนั้น ไม่ห้ามกินเนื้อปลา เนื่องจากปลามีเลือดเย็นเมื่อเทียบกับเลือดของสัตว์บก. ปลาจึงเป็นอาหารหลักสำหรับผู้ที่มีฐานะพอที่จะหาซื้อปลามากินแทนเนื้อได้. ในถิ่นที่อยู่ห่างไกลทะเล แม่น้ำหรือทะเลสาบ การมีปลากินนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย. เพื่อให้มีปลาเก็บเป็นเสบียงสำหรับเป็นอาหารในวันงดอาหารมัน นักบวชเริ่มการเลี้ยงและเพาะพันธุ์ปลา หากเป็นไปได้ภายในบริเวณของอารามแต่ละแห่ง. ตั้งแต่ยุคกลางมานั้น มีการเลี้ยงปลาคาร์ป ปลาเทราท์และปลาน้ำจืดอีกสองสามชนิด. การมีปลาสดๆกินตลอดทั้งปี ยังคงเป็นอภิสิทธิ์ของคนร่ำรวยเท่านั้น. การพัฒนาเทคนิคการเก็บรักษาอาหารปลาสำหรับบริโภค ดีขึ้นเรื่อยๆเช่น การตากแห้ง การรมควันและการเก็บเค็มเป็นต้น เช่นนี้ปลาเฮริง(herring) ปลาค็อต (cod) จากทะเลในโซนหนาวในแดนไกล เช่นจากมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ จึงมาเป็นอาหารในยุโรป. ความคุ้นชินกับการกินปลาในวันศุกร์ ยังไม่หายไปจากวิถีกินอยู่ของชาวตะวันตกมาจนทุกวันนี้.
     ภาพวาดล้อบาทหลวงว่าวันพฤหัสต้องออกไปตกปลา เพื่อเป็นอาหารในวันศุกร์ ชื่อกำกับภาพว่า วันพฤหัส หรืออีกชื่อหนึ่งว่า พรุ่งนี้วันศุกร์ (ทำให้อดหัวเราะไม่ได้)
ภาพวาดผลงานของ Walter Dendy Sadler ผู้มีชื่อในด้านภาพล้อชีวิตนักบวช. กลุ่มนักบวชฟรันซิสแกนกำลังตกปลา เพราะวันศุกร์กินเนื้อไม่ได้. เห็นหอระฆังของอารามไกลออกไปด้านซ้าย.
ข้อมูลภาพ : Image released under Creative Commons CC-BY-NC-ND (3.0 Unported)

      การเลือกอาหารมันหรืออาหารปลาที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ไม่เกี่ยวกับสามัญชนชาวบ้านผู้ยากไร้ พวกเขามีอาหารจำกัดอยู่กับพืชผักหรือรากพืชในดินเท่านั้น. นักพรตผู้ออกไปบำเพ็ญธรรมในป่า กินพืชผักดิบๆในธรรมชาติ การทำเช่นนี้เหมือนต้องการยืนยันการตัดขาดจากทุกสิ่งที่เป็นวัฒนธรรม.
     การครองตนของนักบวชที่นักบุญเบอนัวต์(saint Benoît ตั้งคติเบเนดิคติน) ได้บัญญัติขึ้นและที่นักบวชได้ยึดถือและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดตลอดห้าศตวรรษ ข้อหนึ่งคือการกินอาหารเพียงสองมื้อต่อวัน. มื้อแรกตอนเที่ยง ให้เป็นซุปถั่ว(บด)ข้นกับสตูว์ผัก(เช่นแคร็อด มันฝรั่ง). บางทีอาจมีไข่ เนยแข็งและผลไม้ กับมีขนมปังและไวน์เป็นอาหารยืนพื้น. มื้อที่สอง อยู่หลังการทำวัตรตอนเย็นเมื่อตะวันบ่ายคล้อยไปแล้วและกิจการงานประจำวันสิ้นสุดลง. มื้อที่สองนี้ กินอาหารจากที่เหลือในมื้อแรก. ในวันถือศีลอด มีเพียงหนึ่งมื้อตอนบ่ายสามโมง. ในศตวรรษที่ 11 หลักการเรื่องอาหารเริ่มหย่อนลง มีการเพิ่มอีกมื้อหนึ่งแบบเบาๆ (เรียกว่าcollation) ในช่วงค่ำๆ.


โชติรส รายงาน
๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๒.

Wednesday, December 25, 2019

Cherish freedom & share joy

จากบทกวีในวงไวน์ มาเป็นเพลงประจำสัญลักษณ์ของสหภาพยุโรป
      ดนตรีที่นำมาฟังเพื่อฉลองปีใหม่ เป็นบทร้อง (choral) ในช่วงที่สี่ของซิมโฟนีหมายเลข 9 ของ Ludwig van Beethoven (1770-1827) ที่ประพันธ์ขึ้นในปี 1816 ตามคำขอของวงดนตรีลอนดอนฟิลามอนิก (London Philhamonic Society) แต่นำออกแสดงครั้งแรกที่กรุงเวียนนาในเดือนพฤษภาคมปี 1824 เท่านั้น. บทร้องที่แทรกในท่อนสุดท้าย ทำให้ซิมโฟนีหมายเลข 9 ผิดไปจากขนบการประพันธ์ซิมโฟนีที่มีมา และกลายเป็น choral symphony.
คำบรรยายประกอบระบุว่า อังกฤษเป็นผู้ขอให้ Beethoven ประพันธ์ซิมโฟนีหมายเลข 9. เครดิตภาพ : Deutschlandfunk Kultur (imago / A. Temple)
    บทร้องในท่อนนี้ เรียกกันว่า Ode to Joy [โอ๊ด ทู จอย] เป็นกวีนิพนธ์ของ Friedrich von Schiller (1759-1805, กวี, นักปรัชญา, นักประวัติศาสตร์, นักแต่งบทละครฯลฯ) แต่งขึ้นในปี 1785 เมื่อเขามีอายุ 25  แต่งขึ้นในแวดวงของเพื่อนใหม่ผู้ชื่นชมและช่วยเหลือเขาผ่านวิกฤติอารมณ์ของวัยหนุ่มที่เมือง Leipzig บทกวีสรรเสริญมิตรภาพและภราดรภาพ. Beethoven ก็มีจุดยืนที่คล้ายกัน.
รูปปั้นเหมือนของ Schiller หน้าคอนเสิร์ตฮอล กรุงแบร์ลิน
เครดิตภาพ : Wikipedia.
       ตลอดระยะเวลาร้อยกว่าปี ผ่านความคุกกรุ่นทั้งทางวัฒนธรรมการดนตรี สังคมและการเมือง รวมทั้งสงครามโลกสองครั้ง, ซิมโฟนีหมายเลข 9 นี้ เปลี่ยนจากเพลงร้องในกลุ่มมิตรสหายวงไวน์ กลายเป็นเพลงนำร่องระดับชาติ แผ่ออราของอุดมการณ์แห่งความเป็นมนุษย์ ที่ไม่ควรมีอะไรมาแบ่งแยก ไม่ว่าเพศ ผิวพันธุ์หรือชนชั้นอาชีพใด เพราะทุกคนมีความหวังในความสุขเหมือนกัน จึงควรอยู่ด้วยกันได้ในความรัก ความเห็นอกเห็นใจ ความร่วมมือต่อกัน.
        หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อบรรยากาศของอิสรภาพและสันติภาพเริ่มแบ่งบานขึ้นใหม่  วงออเคสตรา The Leipzig Gewandhaus Orchestra นำดนตรีท่อนนี้ของ Beethoven มาแสดงและขับร้องเฉลิมฉลองการขึ้นปีใหม่ปี 1918 ที่เมือง Leipzig กระตุ้นความเบิกบานและความหวังในมนุษยชาติ.  เชื่อกันว่า นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของขนบการนำดนตรีท่อนนี้ มาบรรเลงและร้องประสานเสียงกันอย่างกึกก้องตั้งแต่นั้น เหมือนเป็นการประกาศ « สิทธิของการมีชีวิตในความรัก ความหวังและความสุข ».
         เกือบสามสิบปีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เยอรมนีเสนอให้นำ ดนตรีท่อนที่สี่ของซิมโฟนีหมายเลข 9 (Fourth Movement of Beethoven’s Ninth Symphony) เป็นเพลงสดุดีสหภาพยุโรป. ในปี 1972 สหภาพยุโรป มีมติยอมรับตามข้อเสนอและได้มอบหมายให้ Herbert von Karajan เป็นผู้เอดิตดนตรีท่อนนี้ และให้ตัดบทร้องดั้งเดิมที่ติดมาในซิมโฟนีหมายเลข 9 ของ Beethoven ออก, เก็บภาษาดนตรีล้วนๆ ที่เป็นภาษาสากล ดีกว่าและเหนือกว่าภาษาใดของชาติยุโรปชาติใด.
      ตั้งแต่ปี 1985 บรรดาผู้นำของกลุ่มประเทศในเครือสหภาพยุโรป ได้ลงมติใช้ดนตรีท่อนนี้ เป็นเพลงประจำและเพลงสัญลักษณ์ของสหภาพยุโรป เป็นเออโรปาฮีม-Europahymne. การมีเพลง Europahymne นี้ มิได้ต้องการให้ไปแทนที่เพลงชาติของชาติใด เป็นเพียงการฉลองค่านิยมร่วมกัน ให้เป็นอุดมการณ์ที่รวมความหลากหลาย และสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน (unity in diversity).
Berstein กำลังทุบกำแพงแบร์ลิน ปี 1989. ปีนั้น คนจำนวนมาก ไปเจาะไปแกะหินจากกำแพงแบร์ลิน เอาไปเก็บเป็นที่ระลึก. หลายปีต่อมา มีการขายชิ้นส่วนกำแพงเลย. เครดิตภาพ : https://www.classicalwcrb.org/post/bernstein-beethoven-and-berlin-wall#stream/0
     
พฤศจิกายน ปี 1989 กำแพงเบอร์ลินที่แบ่งเยอรมนีออกเป็นสองส่วนตั้งแต่ปี 1961 ถึงจุดจบ รวมเวลา 29 ปีของสงครามเย็น. (แต่การทำลายกำแพงนั้น ให้หมดเหลือเพียงซากอนุสรณ์นั้นอยู่ในเดือนพฤศจิกายนปี 1991.)  ปีนั้น โรงละคร East Berlin Schauspielhaus ที่ตั้งอยู่ที่ Gendarmenmarkt ในกรุงแบร์ลินตะวันออก (ปัจจุบันเรียกว่า คอนเสิร์ตฮอล Konzerthaus) ได้จัดการแสดงดนตรีเพื่อฉลองการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินในวันที่ 25 ธันวาคม 1989 มี Leonard Bernstein เป็นวาทยากรและผู้บริหารการแสดงทั้งหมด. เขาเจาะจงเสนอซิมโฟนีหมายเลข 9 ทั้งบทของ Beethoven. ในท่อนท้ายที่เป็นบทร้อง Bernstein ได้เปลี่ยนชื่อจาก Ode to Joy เป็น Ode to Freedom.
ภาพการแสดงดนตรีวันคริสต์มาส ปี 1989 (picture-alliance / dpa) เมื่อจบลง ทุกคนยืนปรบมือนานๆๆ (standing ovation) เป็นนาทีสุดตื้นตัน, ปรบมือให้กับ Bernstein ที่ได้ประกาศว่า ตั้งแต่นี้ไป Let freedom sing! ปรบมือต้อนรับเสรีภาพที่เกิดใหม่ ฟื้นคืนสู่เยอรมนี, ปรบมือด้วยความปิติที่กำแพงสงครามเย็นได้พังทลายลง.
การแสดงครั้งนั้น รวมคณะนักร้องประสานเสียงสามคณะจาก Bavarian Radio Chorus หนึ่ง, สมาชิกจากวง Radio Chorus (East Berlin) อีกหนึ่ง และคณะนักร้องเด็กของ Dresden Philharmonie และได้เชิญนักดนตรีจากวงออเคสตร้าของเมือง Dresden, Leningrad, New York, Paris และ London มาร่วมวงด้วย. ยังมีการถ่ายทอดการแสดงออกไปยังยี่สิบประเทศทั่วโลก นอกจากการถ่ายทอดบนจอยักษ์ที่ลานกว้างใหญ่ Gendarmenmarkt นอกคอนเสิร์ตฮอล ที่มีรูปปั้นของ Schiller ตั้งเด่นหน้าคอนเสิร์ตฮอล.
      นับเป็นการแสดงครั้งประวัติศาสตร์ที่จารึกลงในจิตสำนึกของชาวเยอรมันและชาวโลก. เป็นการประกาศอิสรภาพแบบหนึ่ง ซิมโฟนีหมายเลข 9 จึงกลายเป็นอนุสาวรีย์อนุสรณ์ประวัติศาสตร์หน้าสำคัญหน้าหนึ่งของยุโรป. (คลิกดู Ode to Freedom, IV Allegro assai vivace – Bernstein, 25 December 1989)
Gendarmenmarkt ลานกว้างใหญ่ในกรุงแบร์ลิน ประกอบด้วยอาคารสถาปัตยกรรมสำคัญสามแห่ง ตรงกลางคือ คอนเสิร์ตฮอล Konzerthaus ตรงหน้าอาคาร มีรูปปั้นหินอ่อนสีขาวของ Schiller. อาคารด้านซ้ายในภาพ คือโบสถ์เยอรมัน Deutscher Dom ด้านขวาของภาพคือโบสถ์ฝรั่งเศส ที่สร้างเป็นอาคารคู่แฝด. บนพื้นที่จริง อาคารโบสถ์ทั้งสองตั้งเผชิญหน้า สุดสองข้างของพื้นที่ลาน Gendarmenmarkt.

ด้านหน้าของคอนเสิร์ตฮอล กรุงแบร์ลิน พร้อมรูปปั้นหินอ่อนสีขาวของ Schiller.
เครดิตภาพ : My Guide Berlin : classicalwcrb.org

       ต่อมาในปี 1995 สหภาพยุโรปได้ให้ Peter Diem ดัดแปลงเนื้อเพลงเพื่อให้สอดคล้องกับอุดมการณ์ของยุโรป ที่เน้นคุณค่าสูงส่งของอิสรภาพ สันติภาพ ความร่วมมือกันในยุโรป. คำร้องใหม่นี้ แปลเป็นภาษาต่างๆของชาติสมาชิก. โดยปกติแล้ว Europahymne ใช้เป็นเพลงบรรเลง (ไม่ใช้ขับร้อง) ในงานพิธีการและโอกาสต่างๆที่รวมสมาชิกจากทุกประเทศ.

      ในวาระที่ญี่ปุ่นจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิคฤดูหนาวปี 1998 ที่เมืองนางาโน Nagano ญี่ปุ่นได้เลือกใช้บทร้อง Ode to Joy เป็นดนตรีเปิดงานโอลิมปิค การแสดงดนตรีเกิดขึ้นพร้อมกับวงออเคสตร้าของชาติต่างๆ ด้วยกระบวนการถ่ายทอดผ่านดาวเทียมไปทั่วโลก.

      ซิมโฟนีหมายเลข 9 ของ Beethoven นี้ มีประวัติความเป็นมา และการนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ หรือเป็นดนตรีประกอบในเหตุการณ์ หรือบริบททั้งสังคมและการเมืองของเยอรมนี ที่มีผู้ศึกษาวิเคระห์ไว้ ให้มุมมองเกี่ยวกับซิมโฟนีนี้อย่างละเอียด. ติดตามไปอ่านได้ในเพจนี้ ของ Tobias Barth & Lorenz Hoffmann ที่ตั้งชื่อไว้ในทำนองว่า จากเพลงร้องในวงไวน์ สู่เพลงสดุดีสหภาพยุโรป.

      ย้อนหลังไปในปี 1902 ในวาระเฉลิมฉลองการสถาปนาหอศิลป์ Secession ที่กรุงเวียนนา  Richard Wagner ได้นำซิมโฟนีหมายเลข 9 ไปแสดง ยืนยันความสำคัญของ Ode to Joy ทั้งของ Schiller และของ Beethoven ในฐานะตัวแทนของอัจฉริยะยุคใหม่ที่กอบกู้และเชิดชูอุดมการณ์ของความเป็นมนุษย์และของสังคม. จิตรกร Gustav Klimt [กุ้สตั๊ฟ คลิ้มตฺ] (1862-1918) ผู้เป็นประธานสหพันธ์ Secession (กระแสศิลปะเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม) คนแรก, ได้รังสรรค์ Beethoven Frieze ประดับในห้องโถงอาคารหอศิลป์ Secession ในนิทรรศการปี 1902 นั้นด้วย. เขาถ่ายทอดอุดมการณ์ของ Beethoven ตามลีลาการประพันธ์ดนตรีในซิมโฟนีหมายเลข 9 ด้วยจิตรกรรมแถบยาว (frieze)
ผู้สนใจติดตามไปอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับจิตรกรรมของ Gustav Klimt และเรื่องราวการสถาปนาหอศิลป์ Secession ที่กรุงเวียนนาได้ตามลิงค์นี้ >>

เมื่อดนตรีมาอยู่ในหมู่คน ในท้องถนนที่ทุกคนร่วมร้องกัน สนุกด้วยกัน 
เมื่อนั้น ดนตรีร้อยหัวใจและรอยยิ้มของทุกคน 
ตราบใดที่คนร่วมร้องเพลงกันได้ ทุกปัญหาจะมีทางออก
รักกันไว้เถิด เราเกิดร่วมโลกเดียวกัน
โชติรส รายงาน
๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๒.

Thursday, December 19, 2019

Let's clean the cosmos

เก็บกวาดจักรภพ
ข่าวฝรั่งเศสเมื่อวันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม 2019 ประกาศว่า ศูนย์(สำรวจ)อวกาศยุโรป (Agence spatiale européenne, สถาปนาขึ้นในปี 1975 รวมสมาชิก 22 ประเทศ, มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปารีส) จะส่งดาวเทียมออกไปทำความสะอาดจักรภพ. (ฮะ!)
        ถึงเวลาแล้วที่ต้องทำความสะอาดเส้นทางโคจรของโลก เพราะท้องฟ้า(อวกาศ) เต็มไปด้วยขยะอันตราย ที่เป็นเศษซากเครื่องกลไกสารพัดชนิด ที่มนุษย์โลกได้ส่งไปตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา. ขยะหรือเศษซากที่เหลือ เป็นมรดกตกทอดมาจากการพิชิตอวกาศ. โครงการที่เขารายงานมา แรกฟังเหมือนความเพ้อฝัน แต่เป็นเรื่องจริงจังมากทีเดียว.
        ตั้งแต่ที่คนส่งยานอวกาศและดาวเทียมไปในจักรภพ เกิดขยะทุกประเภทที่สะสมอยู่ในอวกาศ. สถิติของศูนย์สำรวจอวกาศยุโรป กล่าวว่า
มีวัตถุที่มีขนาดเกินหนึ่งเมตรกว่า 5400 ชิ้น,
ขนาด 10 ซม. 34 000 ชิ้น,
ขนาดมากกว่า 1 ซม. 900 000 ชิ้น,
ขนาดมากกว่า 1 มม. 130 000 000 ชิ้น.
ขยะ เศษชิ้นส่วน หรือซากเครื่องกลไกทั้งหลายทั้งปวง รวมกันสร้างความหนาแน่นในอวกาศถึงขั้นวิกฤติแล้ว.
      ฟิลิป วิลล์เก้นส์ (Philippe Willekens Agence Spatiale Européenne, ESA ประจำศูนย์อวกาศยุโรป) กล่าวว่า เศษชิ้นส่วนขนาดเล็ก เท่าลูกบิลเลียด ที่ท่องไปในอวกาศด้วยความเร็วในทิศทางตรงกันข้ามกัน มากกว่า 20,000 กม.ต่อชั่วโมง เหมือนลูกระเบิดเลยแหละ ที่อาจไปกระทบหรือทำลายยานอวกาศมีค่าอื่นๆที่ยังโคจรปฏิบัติงานอยู่ในอวกาศ หรือไปกระทบกับสถานีอวกาศนานาชาติได้.   
          เพื่อทำความสะอาดอวกาศ  มีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษขึ้นแล้ว เรียกว่า หน่วย CleanSpace One และคาดจะเริ่มทำงานตั้งแต่ปี 2024.  ขณะนี้กำลังสร้างดาวเทียมเวอชั่นเก็บกวาดอวกาศ  ติดตั้งอุปกรณ์จับขยะชิ้นใหญ่ๆด้วยแขนพิเศษที่เคลื่อนไหวปรับเปลี่ยนทิศทางได้ และเมื่อรวมขยะได้แล้ว ก็จะผลักมันไปในบรรยากาศ ซึ่งมันจะลุกไหม้สลายตัวลงในที่สุด. ยานเก็บกวาดนี้ มีขยะเป้าหมายชิ้นแรกแล้ว คือยานโลหะรูปโคน หนักหนึ่ง 100 กิโลกรัม เป็นชิ้นส่วนจากยานอวกาศ Vega ที่ถูกยิงขึ้นสู่อวกาศในปี 2013 (จากฐานอวกาศในอิตาลี).
          Luc Piguet (ผู้สถาปนาศูนย์ Clearspace) เจาะจงว่าจะออกแบบให้ใช้ยานเก็บกวาดนี้ได้หลายครั้งและให้มีความคล่องตัวสูง. ความคิดนี้โดนใจบริษัทใหญ่ๆ เช่น Air Bus. กระบวนการเก็บขยะ อาจใช้หลายวิธี เช่น สร้างคีมหนีบและจับวัตถุมาทั้งชิ้น (ในแบบของหนวดปลาหมึก ยืดแผ่ออก เข้าล้อมและหุ้มขยะ โชเปรียบเองนะคะ), หรือแบบทอดแห(จับปลา) เหวี่ยงออกจากยานแม่ ไปยังยานเก็บขยะที่ลอยไกลออกไปในอวกาศ, หรือแบบฉมวกขนาดยักษ์  แล้วดึงขยะทั้งหลายมารวมๆไว้. จากนั้นก็จะดันกองขยะเข้าสู่บรรยากาศของโลก ทุกชิ้นจะสลายแหลกหมดในบรรยากาศโลก.
Ref. ที่เล่ามาข้างต้น ถอดความจากข่าวฝรั่งเศส เปิดเข้าไปดู simulation ได้ค่ะ.

ข้อสงสัยส่วนตัว >> แม้ว่าขยะเศษซากกลไกเหล่านี้ จะสลายตัวแหลกไปในบรรยากาศชั้นสูงๆของโลก (คิดคร่าวๆ คงอยู่ห่างจากพื้นโลกประมาณ 80-100 กิโลเมตร) ก็อดหวั่นใจไม่ได้ว่า ไม่ช้าไม่นาน มลภาวะคงมีฝุ่นโลหะปนมากขึ้นๆ  อีกทั้งอาจมีฝุ่นละอองเล็กกว่าฝุ่น PM 2.5 ในบรรยากาศที่คนหายใจเพิ่มขึ้น.  

ความคิดของศูนย์อวกาศยุโรปที่เพิ่งมาเป็นข่าวในวันสองวันนี้นั้น ไม่ใช่ความคิดใหม่. แต่ข่าวนี้นำให้ข้าพเจ้าเปิดเข้าไปดูโครงการ CleanSpace ของทีมนักศึกษานักวิจัยในสวิตเซอแลนด์ ผู้ได้เริ่มลงมือสร้างดาวเทียม “เครื่องดูดฝุ่น” ไปทำความสะอาดจักรภพตั้งแต่ปี 2009. (และนำข้าพเจ้าตามไปดูโครงการ ClearSpace ต่อไป ที่มีเป้าหมายสร้างยานเก็บกวาดออกใช้ ขยายเป็นธุรกิจอากาศยานได้ในอนาคต. เรื่องนี้ มิได้นำมาเล่าในที่นี้)
โครงการทำความสะอาดอวกาศ ในสวิตเซอแลนด์
ตั้งแต่ปี 2009 มียานอวกาศลูกเต๋าขนาดเล็ก 10 เซ็นติเมตร ที่ล่องลอยอยู่ในอวกาศเหนือพื้นโลกประมาณ 700 กิโลเมตร (นักดาราศาสตร์จินตนาการเส้นพรมแดนระหว่างโลกกับอวกาศและตั้งชื่อไว้ว่า The Kármán Line อยู่ห่างจากผิวโลกไม่เกิน 100 km. เส้นพรมแดนนี้เป็นที่ยอมรับของสมาพันธ์การบินนานาชาติ - Fédération Aéronautique Internationale หรือ FAI จึงเป็นข้ออ้างอิงเมื่อกล่าวถึงบรรยากาศโลกและอวกาศ). เป็นดาวเทียม (satellite) ทดลองทางวิทยาศาสตร์ของประเทศสวิตเซอแลนด์ ซึ่งใช้ไม่ได้แล้ว มันจึงกลายเป็นขยะอวกาศที่มิอาจควบคุมได้แล้ว. นักศึกษาศูนย์อวกาศ(ผู้สร้างดาวเทียมขนาดจิ๋วนั้น) ของสถาบันโปลีเทคนิคแห่งเมืองโลซานประเทศสวิตเซอแลนด์ ร่วมกันคิดหาทางเพื่อทำลายดาวเทียมขนาดเล็กนั้น รวมถึงขยะหรือเศษชิ้นส่วนอื่นๆจากยานอวกาศอื่นๆ ด้วยการสร้างดาวเทียมผู้เก็บกวาดขึ้น เพื่อส่งออกไปในอวกาศ ตามเก็บขยะต่างๆ. การติดตั้งอุปกรณ์เพื่อเก็บขยะอวกาศนั้น ไม่ง่ายเหมือนกวาดบ้าน. จะดันมันไปลงถังผงก็ไม่ได้ ต้องคิดวิธีเข้าล้อมและกักบริเวณมัน มิให้ถูกกระทบกระเทือนระหว่างการเก็บหรือดูดเอามา (ในแบบของเครื่องดูดฝุ่นตามบ้าน) มิฉะนั้น ซากหรือเศษเครื่องกลใด อาจหลุดลอยออก(หรือแตกกระจายออกเป็นหลายชิ้น ยากแก่การเก็บยิ่งขึ้น). จึงต้องคิดหาระบบที่เก็บชิ้นขยะแต่ละชิ้นแต่ละแบบ ล้อมให้รอบด้าน เมื่อได้มาแล้ว ก็ต้องเก็บยึดมันไว้ได้ ก่อนจะนำไปปล่อย.  
        ดาวเทียมตัวเก็บขยะ ทำอะไรกับขยะชิ้นนั้น จะทำลายมันหรือ? นำไปทิ้งลงในบรรยากาศ(ชั้นสูงๆของ)โลกให้มันสลายตัวหรือ?  หากเดินทางไปด้วยกันใกล้อย่างนั้น ดาวเทียมตัวเก็บขยะก็อาจสลายตามขยะไปด้วย. แม้ทำอย่างนี้ ถือว่าเพียงพอไหมในการกำจัดมลพิษในอวกาศ ยังยากที่จะบอกได้ เพราะการเก็บขยะชิ้นส่วนในอวกาศ  เก็บได้เพียงทีละชิ้น มีขยะอันตรายอยู่ประมาณ 20,000 ชิ้นที่มีขนาดเกิน 10 เซ็นติเมตร(สถิติสวิตฯ) ที่อาจก่อความเสียหายหรือทำอันตรายแก่ยานอวกาศ ดาวเทียมหรือเครือข่ายในอวกาศที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ รวมทั้งสถานีอวกาศนานาชาติ. มีตัวอย่างวิกฤติที่เกิดขึ้นกับยานชัตเตอร์ (space shuttle) ของสหรัฐฯที่สร้างให้กลับเข้าบรรยากาศโลกและเอามาใช้ได้อีก ที่เกือบจะสลายไปในอวกาศ.  Claude Nicollier (Professeur Ecole Polytechnique de Lausanne (Suisse) กล่าวว่า ขยะหรือซากเครื่องกลขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 เซ็นติเมตร ที่เดินทางสิบกิโลเมตรต่อวินาที หากชนกับยานชัตเตอร์ ก็ทำให้หายนะแน่นอน.  เศษหรือซากเหล่านี้ เกิดเมื่อดาวเทียมหรือยานอวกาศ(ที่ถูกทิ้งหรือใช้ไม่ได้ หรือควบคุมไม่ได้แล้ว) ยังโคจรอยู่ในอวกาศ เมื่อปะทะกัน ระเบิด สลายเป็นชิ้นส่วนต่างๆ ในจำนวนนี้ มีอุปกรณ์ที่นักอวกาศสูญเสียไป(หรือหลุดมือไป) เมื่อออกไปปฏิบัติการนอกยานอวกาศ.  ทั้งหมดน่าคิดและชวนให้วิตกไม่น้อยว่า ในช่วงระยะเวลาครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ปัญหาการเก็บกวาดขยะ ซาก ชิ้นส่วนต่างๆที่เหลือล่องลอยไปมาในอวกาศ กลับเป็นเรื่องยากแสนเข็ญ (ยากกว่าการส่งคนไปในอวกาศซะแล้ว).
Ref. เนื้อความตอนนี้ถอดตามจากข่าวฝรั่งเศสของสวิตเซอแลนด์ เปิดดูคลิป simulation ค่ะ.

เมื่อฟังข่าว อดหัวเราะไม่ได้ ความจริงไม่มีอะไรขำ แต่เรื่องนี้ทำให้ประหลาดใจอีก ว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตสิ่งเดียวบนโลกที่ทำอะไรได้เกือบทุกอย่าง ทั้งสิ่งที่เลิศประเสริฐสุด สิ่งที่เกินความคาดหมาย  จนถึงสิ่งที่เลวร้ายที่สุด โหดเหี้ยม ล้างผลาญ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ฯลฯ.
มนุษย์ยังมีจินตนาการที่ไร้พรมแดน และบทจะมีจิตสำนึกขึ้นมา ก็ทำให้ตาเหลือก อ้าปากค้าง.
เรื่องออกไปเก็บกวาดขยะในอวกาศนี่ เป็นหลักฐานยืนยันความสุดโต่งของคน.

โชติรสหัวเราะชอบใจ คิกคักคึกคะนอง จึงต้องแบ่งความปิติแก่กัน
๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๒.
อย่าลืมเปิดดูคลิปข่าว อธิบายแล้ว ดูภาพจะยิ่งชัดเจนและทึ่ง...