Tuesday, August 20, 2019

Matter is illusion

รูป สสาร เป็นเพียงเปลือก สิ่งที่ตาเห็น คือมายา
        ก่อนการสถาปนาควอนตัมฟิสิกส์อย่างชัดเจน การค้นพบที่เปลี่ยนความคิดและทิศทางของฟิสิกส์อย่างมีนัยสำคัญยิ่ง คือ การจำกัดความว่า แสงเป็นคลื่น [1] ที่ Thomas Young (1773-1829 นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ) ในระหว่างปี 1801-1802 ได้อภิปรายและพิสูจน์อย่างชัดเจนว่า แสงเป็นคลื่น มิใช่เป็นการรวมตัวของอนุภาคดังที่ Sir Isaac Newton เข้าใจ. แสงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพราะเกิดขึ้นจากไฟฟ้าและสนามแม่เหล็ก.  กระแสไฟฟ้าเกิดจากการไหลของอิเล็กตรอน. การทดลองที่ Young นำเสนอ รู้จักกันในนามว่า the double-slit experiment (หรือ Young's light-interference experiment) เป็นการทดลองโดยการฉายแสงให้ผ่านช่องเล็กยาวบนกำแพงผ่านไปยังฉากทึบด้านหลังที่ติดเครื่องรับสัญญาณไว้ ที่บันทึกพฤติกรรมของแสงและจุดกระทบบนฉากทึบนี้ เมื่อแสงผ่านช่องว่างสองช่องนั้น. ดูภาพข้างล่างนี้
ภาพจาก researchgate.net
เมื่อให้แสงผ่านจากรูหนึ่งบนฉากแรกทางซ้ายสุด(light source) ลำแสงแผ่กระจายไปกระทบฉากตรงกลางที่มีรูสองช่อง (slits) และมีฉากทึบที่สาม (screen) เพื่อบันทึกพฤติกรรมของคลื่น เห็นการกระจายของแสงที่ผ่านเข้าไปในแต่ละช่อง แผ่เป็นคลื่น เห็นสนามคลื่นของแสงจากสองช่อง คาบเกี่ยวหรือแทรกซ้อนกันไป. Young เรียกพฤติกรรมของคลื่นแสงแบบนี้ว่า interference หรือ light interference. บนฉากทึบที่สามทางขวานั้น มีเครื่องจับแสง บันทึกส่วนสว่าง (bright) และส่วนทึบ (dark) เมื่อคลื่นแสงทั้งสองไปกระทบฉากทึบนั้น. ความสนใจของ Young อยู่ที่พฤติกรรมของคลื่นเมื่อผ่านสิ่งกีดขวาง. การทดลองของ Young เป็นหลักฐานชิ้นแรกที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เมื่อ แสงซ้อนแสง จะมืด. การแทรกซ้อนของลำแสงหลายลำทำให้การแผ่กระจายความเข้มของแสงเปลี่ยนไป โดยมิได้เปลี่ยนกำลังของแสงที่คงที่ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่ฉากที่หนึ่งทางซ้าย.  การทดลองของ Young ยืนยันความคิดของ Christiaan Huygens ที่เคยพูดไว้เกี่ยวกับธรรมชาติของแสงตั้งแต่ปี 1678 (Huygens, 1629-1695, นักคณิตศาสตร์, นักดาราศาสตร์และนักฟิสิกส์ชาวดัตช์ ผู้วางรากฐานทฤษฎีแสง) ว่าคลื่นแสงเคลื่อนที่เป็นสามมิติ ยอดแต่ละคลื่น (สันคลื่น หรือ crest) ซ้อนกันเป็นชั้นๆเหมือนหัวหอมใหญ่. ในสุญญากาศ การเดินทางของคลื่นแสง แผ่กระจายเป็นระลอกกลมๆ  ดังนั้นเมื่อแสงเดินทางผ่านช่องบนฉาก จึงมิได้เป็นเส้นตรง (หากเราตีลูกเทนนิสผ่านช่องโหว่ใหญ่ในกำแพงไปได้ ลูกเทนนิสผ่านช่องนั้นออกไปเป็นเส้นตรงก่อนจะตกลง). ทฤษฎีของนิวตันที่บอกว่า แสงคือมวลอนุภาคนั้น ไม่อาจอธิบายการเดินทางของแสง และการคาบเกี่ยวสอดแทรกของคลื่นแสงนี้ได้ (light interference).  นักวิทยาศาสตร์ยุคนั้นเชื่อว่า แสงเดินทางขนานไปกับทิศทาง แต่การค้นพบในภายหลังบอกให้รู้ว่า แสงเคลื่อนที่ในทิศตั้งฉากกับทิศทางของคลื่น (cf. transverse wave หรือคลื่นตามขวาง)
(อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับ Thomas Young ได้ในเว็บเพจนี้ >>
     
       การค้นพบเรื่องแสงเป็นคลื่นของ Thomas Young เป็นก้าวกระโดดของฟิสิกส์ ที่จะพัฒนาต่อไปเป็นทฤษฎีควอนตัมของแสง ดังที่ Max Planck เสนอในปี 1900 ว่าแสงเป็นพลังงานที่ขึ้นอยู่กับความถี่และความเร็วในการเคลื่อนที่. สืบเนื่องกับงานวิจัยของ Planck ไอนสไตนได้เสนอว่า แสงประกอบด้วยอนุภาคที่เรียกว่าโฟตอน แต่ละโฟตอนคือพลังงาน. โฟตอนเดินทางในความเร็วแสงได้ [2] เพราะโฟตอนไม่มีมวล (คือไม่มีปริมาณเนื้อสาร) ดังนั้นสมการของไอนสไตน (E=MC2) จึงใช้ไม่ได้ในกรณีนี้. ส่วนสมการของ Planck (E=hF) อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างพลังงานโฟตอนกับความถี่ได้ชัดเจนกว่า เพราะไม่เกี่ยวกับมวล.[3]
      ภาพแสดงการยิงเม็ดสีผ่านช่องว่างบนฉาก เม็ดสี(มีมวล)ที่ผ่านไปได้ เดินทางเป็นเส้นตรง ไปปะทะเป็นรอยบนฉากทึบด้านหลัง จะยิงเม็ดสีกี่เม็ด เล็งผ่านตอนบนหรือตอนล่างของช่องบนกำแพง ก็ไปประทับรอยของมันตรงตามจุดที่มันทะลุออก เคลื่อนที่ไปเป็นเส้นตรงจนถึงฉากหลัง(ภาพจาก EEWeb)

ในภาพนี้ ตอนบน แสดงให้เห็นพฤติกรรมของคลื่นแสง เมื่อผ่านฉากที่มีช่องโหว่สองช่อง การแผ่กระจายของคลื่นแสง เป็นไปตามที่ Thomas Young สาธิตไว้อย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก (ดูที่หน้าหนึ่ง).
ตอนกลาง เมื่อส่งอนุภาค(มวลสารใดเช่น เม็ดสี) ให้ผ่านช่องโหว่สองช่องบนกำแพงกั้น อนุภาคเดินทางเป็นเส้นตรงผ่านช่องหนึ่งช่องใดช่องเดียว ไปปะทะกับฉากหลัง.
ตอนล่าง เมื่อยิงอิเล็กตรอนผ่านไปยังช่องโหว่สองช่องบนฉากกั้น อิเล็กตรอนแต่ละตัว ผ่านเข้าช่องสองช่อง(หรือหลายช่องถ้ามี) ได้พร้อมกันและไปปรากฏบนฉากหลังได้หลายจุดพร้อมๆกัน เวลาเดียวกัน. อิเล็กตรอนในบริบทนี้ ถูกบันทึกไว้ในสถานะของอนุภาค.  
(ภาพแสดงเปรียบเทียบของ Schrödinger's equation จาก pinterest.com)
          การเดินทางของแสงผ่านสองช่องดังกล่าวมาข้างต้นนั้น  เมื่อมีการเพิ่ม "คนดู ที่อาจเป็นคนหรือเป็นเครื่องมือเก็บภาพเช่นกล้องถ่ายรูปทุกชนิด" ผลที่ได้ยิ่งเกินความคาดหมาย นั่นคือแสงมีพฤติกรรมต่างกันเมื่อมีคนดูมัน หรือเมื่อคนตั้งใจจะวัดความถี่คลื่นหรือความเร็วคลื่นของมัน เหมือนกับมันเลือกเองได้ว่า จะเสนอตัวเองเป็นอะไรเมื่อใด. โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 1978  การทดลองครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ได้ผลเช่นเดียวกันนี้  คือเมื่อมีคนสังเกต หรือคนตั้งใจจะวัดแสง แสงแสดงตัวเป็นอนุภาค นั่นคือโฟตอนของแสงจะผ่านช่องบนกำแพงไปทีละโฟตอน มันเลือกจะเข้าช่องใดช่องหนึ่งช่องเดียว และไปประทับรอยบนฉากทึบรับแสงที่อยู่ด้านหลัง. ส่วนในสถานะปกติ เมื่อไม่มีใครไปสังเกต อิเล็กตรอนเป็นคลื่น.
       ตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1900 มีนักวิทยาศาสตร์พูดกันแล้วว่า สสารหรือมวลสารทุกชนิด มีการสั่นกระเพื่อมและรับแสง, ว่าสสารคือคลื่นการสั่นกระเพื่อม, ทุกอย่างคือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า.
          Max Planck [มักสฺ พลั้งคฺ](1858-1947) นักทฤษฎีฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ผู้เก่งคำนวณและดนตรี เป็นคนแรกที่ใช้คำ energy quanta หรือพลังงานควอนตัม (quanta เป็นคำพหูพจน์ของ quantum).  เขาเป็นผู้ก่อตั้งทฤษฎีควอนตัมในทศวรรษที่ 1900 สิบกว่าปีต่อมา เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 1918.
เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่เข้าใจอัจฉริยะของไอนสไตน เมื่อไอสไตนส่งงานห้าหน้าเกี่ยวกับฟิสิกส์ไปให้เขาพิจารณาในฐานะที่เขาเป็นบรรณาธิการของวารสารฟิสิกส์ที่กรุงแบร์ลิน. Planck อ่านและสั่งพิมพ์ทันที โดยไม่ส่งต่อให้ผู้อื่นพิจารณาหรือตรวจสอบ. เขาเป็นผู้ปูทางให้ไอนสไตน (ตอนนั้นเป็นเพียงเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของสำนักงานจดสิทธิบัตรของสมาพันธรัฐสวิส ที่กรุงแบร์น ประเทศสวิตเซอแลนด์) นำไอนสไตนไปสอนที่กรุงแบร์ลินในปี 1914. ทั้งสองเป็นเพื่อน ไปมาหาสู่กัน และยามว่าง เล่นดนตรีด้วยกันอย่างรื่นเริงใจ.(ref. FREEMAN DYSON, 2015 : The New York Review of Books)
         Planck พบว่า ในบริบทแวดล้อมเดียวกันทุกประการ ธรรมชาติมีระบบเลือกตอบรับหรือไม่ และแสดงออกต่างกัน. ฟิสิกส์คลาซสิกยอมรับไม่ได้ ทุกอย่างเกิดขึ้นในบริบทเหมือนกันทุกประการเมื่อวัดแล้ว ย่อมต้องมีผลเหมือนกัน คงที่ทุกครั้ง มิฉะนั้นก็ถือว่ามันไม่เกิดขึ้นจริง หากไม่มีทางแก้ ก็ถือว่าปัญหานั้นไม่มีจริง. แต่มันเป็นไปได้และเป็นไปแล้วที่ฟิสิกส์คลาซสิกอธิบายไม่ได้. (ดังพฤติกรรมของแสงที่เป็นคลื่นเมื่อไม่มีคนสังเกต และเป็นอนุภาคเมื่อคนจะวัดมัน).
       « วิทยาศาสตร์ไม่อาจไขความลึกลับของธรรมชาติได้หมด นี่เป็นเพราะเมื่อวิเคราะห์ไปจนถึงขั้นสุดท้าย คนวิเคราะห์เองเป็นส่วนหนึ่งของความลึกลับที่เขาพยายามจะเจาะเข้าไป ». « กฎฟิสิกส์ไม่เคยนำประเด็น "ความเป็นคน หรือการมีประสาทสัมผัสรับรู้ประเภทต่างๆของคน" เข้าไปพิจารณาการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์เลย มุ่งการศึกษาไปที่ข้อมูลจริงที่จับต้องได้ (facts) เท่านั้น และไม่สนใจกับการประจักษ์หรือการรับรู้ของคนเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากข้อมูลจริงเหล่านั้น ». « การเสนอทฤษฎีควอนตัม มิใช่เพื่อทำลายลบล้างวิชาฟิสิกส์ แต่เป็นการสร้างวิชาฟิสิกส์ในแนวที่เจาะลึกและกว้างไกลออกไป » (ref. Max Planck, 1931. The Universe in the light of modern physics).
        ไอนสไตนพูดถึง Planck ว่า การค้นพบของ Planck กลายเป็นฐานการค้นคว้าทั้งหลายในสาขาฟิสิกส์ตลอดศตวรรษที่ 20 และได้เป็นกรอบของการพัฒนาวิทยาศาสตร์เกือบทั้งสิ้นทั้งปวงตั้งแต่นั้นมา. หากไม่มีการค้นพบของ Planck ก็ไม่มีทฤษฎีใดเกี่ยวกับโมเลกุล อะตอมและพลังงานที่ใช้การได้จริง ที่อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ที่มีกำเนิดมาจากโมเลกุล อะตอมและพลังงานได้เลย. นอกเหนือจากนี้ การค้นพบของ Planck ได้ทำลายกรอบการศึกษาวิจัยแบบคลาซสิก ของวิชากลศาสตร์และวิชาอิเล็กโทรไดนามิคอย่างสิ้นเชิง  ตั้งประเด็นการค้นคว้าขึ้นในแนวใหม่ นั่นคือ การหาฐานความคิดใหม่ที่ครอบคลุมฟิสิกส์ทุกแขนง. (Albert Einstein, 1948. Max Planck in Memorium)
        Planck เป็นหนึ่งในนักฟิสิกส์หรือนักวิทยาศาสตร์ที่สรุปหลังจากผ่านงานวิจัยทั้งปวงในห้องแล็บมาตลอดชีวิตว่า สสารโดยเนื้อแท้แล้ว ไม่มีอยู่จริง. การเจาะจงว่าสสารคือเปลือก ไม่ใช่ความจริงแท้ หรือสิ่งที่เห็นคือมายา ด้วยข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์นั้น  ต้องผ่านการคิดการเจาะลึกลงไปในระดับอะตอม จึงเข้าใจได้. 
(ดูรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตและผลงานของ Max Planck ได้จากบทความเรื่อง "Max Planck" Famous Scientists, 17 May, 2016 ในเว็บเพจเวอชั่น 8/7/2019 : famousscientists.org/max-planck )  
          ควอนตัมฟิสิกส์ ได้เปลี่ยนโลกของการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์แบบกลับตาละปัตร. ทฤษฎีควอนตัม ส่งผลกระทบอย่างหาที่สุดมิได้ต่อความรู้เกี่ยวกับโลก เกี่ยวกับจักรภพ และเกี่ยวกับชีวิต ในศตวรรษที่ 21 นี้.

Henri Poincaré [อ็องรี ปวงกาเร่] (1854-1912, นักคณิตศาสตร์คนสำคัญของโลกคนหนึ่ง เป็นชาวฝรั่งเศส เขายังเป็นนักฟิสิกส์ วิศวกร นักปรัชญา) ยืนยันตั้งแต่ปี 1902 ว่า สสารไม่มีจริง (La matière n'existe pas) ในหนังสือ La Science et l'Hypothèse (Chapter XIV, La Fin de la Matière. Flammarion : 1902). เพราะในที่สุด สสารคือการสั่นกระเพื่อม ทุกอย่างคือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า. จะอธิบายสสารได้อย่างถ่องแท้ จึงไม่ใช่การวัดสสารสามมิติ ต้องอาศัยควอนตัมฟิสิกส์เท่านั้น. จะเข้าใจน้ำ ก็ด้วยควอนตัมฟิสิกส์เช่นกัน.
        Niels Bohr นักฟิสิกส์ชาวเดนมาร์ก (1885-1962) ผู้วางพื้นฐานสำคัญเกี่ยวกับโครงสร้างอะตอมและทฤษฎีควอนตัมคนหนึ่ง. เป็นนักปรัชญาและผู้สนับสนุนส่งเสริมการวิจัยวิทยาศาสตร์คนสำคัญ. ได้รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 1922. เขากล่าวไว้ว่า  « เป็นการเข้าใจผิดที่คิดว่า หน้าที่ของฟิสิกส์ คือการค้นหาว่า ธรรมชาติเป็นอย่างไร.  ฟิสิกส์ไม่มีคำอธิบายสรรพสิ่งในธรรมชาติ แต่สอนให้สังเกตพฤติกรรมในธรรมชาติ ว่าเกิดขึ้นตามขั้นตอนอย่างไร ».[4]
     เช่นกันที่ Werner Heisenberg (1901-1976. นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน หนึ่งในผู้วางรากฐานของควอนตัมฟิสิกส์. เป็นผู้ค้นพบ allotropes of hydrogen นั่นคือการเชื่อมต่อกันระหว่างอะตอมไฮโดรเจนด้วยกัน มีหลายแบบ แต่ละแบบทำให้รูปร่างลักษณะโมเลกุลไฮโดรเจนเปลี่ยนไป. เขาได้รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 1932) ชี้แจงไว้ว่า เมื่อวิชาฟิสิกส์คลาซสิก กลายเป็นควอนตัมฟิสิกส์ ได้สูญเสียมายาคติลงไปเป็นจำนวนมาก เช่นความเชื่อในเรื่องวัตถุวิสัย (objectivity  เช่น สสาร หมายถึงสิ่งที่มีรูปร่าง จับต้องได้ วัดได้ มีพฤติกรรมเป็นเอกลักษณ์คงที่ประจำแต่ละสสาร), ในเรื่องเหตุทำให้เกิดผลหรือผลเกิดจากเหตุ (causality เช่นเมื่อมีการเคลื่อนไหว-movement ต้องมีเหตุที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว. ความคิดนี้ฝังรากมาตั้งแต่โบราณยุคอริสโตเติล และกาลิเลโอเป็นคนแรกที่ปฏิเสธหลักการนี้ บอกว่า มีการเคลื่อนไหว โดยไม่มีสาเหตุได้ )ฯลฯ.  หลักการเดิมๆของฟิสิกส์แตกสลายเป็นผุยผง  เมื่อควอนตัมฟิสิกส์ พิสูจน์ให้ประจักษ์ว่า สมบัติและการมีอยู่ของมวลสารหนึ่งที่คนต้องการวัด ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการวัด(ของคนวัด เครื่องวัด หรือเจตนาในการวัด).  
ในที่สุด ฟิสิกส์และโดยเฉพาะควอนตัมฟิสิกส์ ไม่ให้คำจำกัดความของความจริง แต่ให้คำอธิบายที่ดีที่สุดของสิ่งที่คนเห็น(และสังเกต)หรือสิ่งที่ปรากฏแก่เรา. ควอนตัมฟิสิกส์ เท่านั้นที่นำเราไปสู่เส้นทางวิทยาศาสตร์สายใหม่ หาหลักการใหม่ และที่ทำให้ตระหนักว่า วิญญาณสำนึกของคน อยู่เหนือสสาร ควบคุมสสาร ตั้งแต่ระดับอะตอมไปยังระดับโครงสร้างซับซ้อนมากขึ้นๆ.[5]
        อีกหลักการหนึ่งที่ John Archibald Wheeler (1911-2008 นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน อาจารย์สอนวิชาฟิสิกส์ที่ Princeton University) สรุปไว้เป็นสำนวนพ้องเสียงที่จำง่ายว่า It from bit (1988) ก็เสริมความเข้าใจว่า ทุกสิ่งในโลกของฟิสิกส์ เมื่อเจาะลึกลงไปเรื่อยๆถึงก้นบึ้งของสสาร พบต้นกำเนิดที่ไม่ใช่สสาร ไม่ใช่วัตถุ ไม่ใช่มวลสารใดๆ (immaterial).  สิ่งที่เราเรียกว่าความจริง เมื่อวิเคราะห์ไปถึงขั้นสุดท้าย ด้วยกระบวนการตั้งคำถาม ใช่/ไม่ใช่ (binary investigation) ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ และจดคำตอบไว้, ในที่สุด จะเห็นว่า สรรพสิ่งที่เห็นจับต้องได้ในโลกของฟิสิกส์ ณจุดต้นตอ คือ ข้อมูล (information / data). ทุกอย่างเกิดจากข้อมูล และการเก็บข้อมูลตามกระบวนการนี้ เท่ากับมีส่วนร่วมในการสร้างจักรวาล.
        Wheeler สรุปการเรียนการวิจัยในแขนงฟิสิกส์ว่า  « ชีวิตผมในวงจรของฟิสิกส์ แบ่งออกได้เป็นสามระยะ... เริ่มต้น ผมเชื่อว่า (สสาร)ทุกอย่างประกอบขึ้นจากอนุภาค (Everything is Particles)…
ต่อมาในการศึกษาระยะที่สอง ผมค้นพบว่า ทุกอย่างเกิดจากการรวมตัวของพื้นที่ ของสนามที่เกิดของพฤติกรรมชีวเคมีในสสาร (Everything is Fields)…
ในระยะที่สาม ผมมีความรู้สึกว่า ทุกอย่างคือการรวมของข้อมูล (Everything is Information)… เพราะสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทำวิจัยออกมา ล้วนตั้งอยู่บน "ข้อมูล" ที่ได้มา ไม่ว่าด้วยวิธีใด ».
        ในสำนวน It from bit, bit เป็นหน่วยข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ ที่มีค่าเป็น 0 หรือ 1 (เหมือนการตอบคำถามแบบ ถูกหรือผิด หรือ ใช่/ไม่ใช่ à yes/no question : ถูกเท่ากับ 1 ผิดเท่ากับ 0. เช่น มีวัตถุ A ตั้งอยู่ที่จุด X, ใช่/ไม่ใช่. การตั้งคำถามแบบ binary question มีคำตอบให้เลือกสองคำตอบ ต้องเลือกหนึ่งคำตอบ. ถ้าคนถามรู้จักถาม ตั้งคำถามเป็นชุดๆ ซักไซ้ไล่เรียงต่อไปเรื่อยๆ  ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งนั้น (information/data) มากขึ้นๆ รวมคำตอบเข้ากันเป็นข้อมูลของวัตถุ A. การซักไซ้พยานหรือโจทก์จำเลยในศาล ก็มักใช้วิธีการแนวนี้ด้วย ซักกันไปจนถึงที่สุด). ระบบคอมพิวเตอร์หรือสมองกลทั้งหลาย สร้างขึ้นบนตรรกะของ ใช่/ไม่ใช่. นั่นคือ output เป็นผลของ input ไม่มีอะไรเป็นเรื่องบังเอิญ.
        แต่ในจักรวาล ทุกอย่างเกิดขึ้นได้และเป็นไปได้ เรื่องบังเอิญ เรื่องประจวบกันเกิดได้เสมอ. การบอกว่าแกนกลางของฟิสิกส์ เป็นที่ตั้งของข้อมูลหรือ data จึงมีมูล. ใจกลางของคอมพิวเตอร์หรือสมองกลคือ ระบบข้อมูลหรือ data เหมือนกัน มิใช่หรือ.
อักษร ยู U แทนคำ Universe วิญญาณสำนึกของคน และตา(การสังเกต) โผล่ขึ้นตั้งแต่จุดเริ่มต้นของจักรวาล ตามองย้อนกลับไป 13.8 ล้านล้านปี และถามว่า เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไรและทำไม. ภาพสรุปความคิดของ Wheeler จากกำเนิดจักรวาลมาถึงจิตวิทยาของมนุษย์  เขาเชื่อว่า คนมีส่วนในการสร้างจักรวาล.
        นี่ป็นความพยายามตอบคำถามเกี่ยวกับการตั้งอยู่ของสรรพสิ่ง(ตามที่เห็นบนโลกเรา) มันเกิดขึ้นและเป็นมาจนถึงจุดนี้ ได้อย่างไร. เขาสรุปความคิดของเขา(พิมพ์ในปี 1989) ว่า It from bit  ดังกล่าวมาข้างต้น. ย้ำอีกครั้งว่า ควอนตัมฟิสิกส์ มิได้อธิบายความจริงดังที่มันเป็น แต่อธิบายความจริงดังที่ปรากฏแก่สายตาผู้สังเกตการณ์ จึงไม่ได้ตอบโจทย์ว่า ความจริงเป็นเช่นใดเมื่อไม่มีคนดูคนเห็น.[6]
           ประเด็นสำคัญของประโยค It from bit คือบทบาทของผู้สังเกตการณ์ (observer ย้ำอีกครั้งว่า ผู้สังเกตในที่นี้ อาจเป็นผู้ดู อาจไม่ใช่คนก็ได้ เป็นฟิล์มบันทึกภาพจากกล้อง หรือเป็นเครื่องมือบันทึกแบบอื่นใด). ความจริงใดมีอยู่เพราะมีผู้สังเกต แต่ผู้สังเกตในสภาวะแวดล้อมบางอย่าง อาจเป็นผู้กำหนดความจริง หรือผู้ทำให้เกิดความจริงหนึ่งขึ้น. แล้วความจริงกับข้อมูล เหมือนกันหรือเป็นสิ่งเดียวกันไหม? นักวิทยาศาสตร์บางคนคิดว่า ไม่เหมือนกัน แต่ยากที่จะระบุว่าแตกต่างกันอย่างไร.
         นักฟิสิกส์ต้องพิจารณาวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเจาะลึกและรอบด้านพร้อมกันและควบคู่กันไป จึงอาจได้ความจริงสุดท้าย วางเป็นฐานใหม่ๆต่อไปในโลกของการวิจัย.
         ควอนตัมฟิสิกส์เป็นลูกของศตวรรษที่ 20 ความสำเร็จและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่เป็นผลจากวิทยาศาสตร์แขนงนี้ ได้เป็นหินหลักในประวัติศาสตร์โลกตลอดร้อยปีที่ผ่านมา และเปิดตาคน ในการรับรู้โลกในแนวใหม่ ที่ไม่มีอะไรกำหนดไว้ล่วงหน้า และทุกอย่างในโลกเชื่อมต่อกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ.
       สรุปหลักการเด่นสองประการเกี่ยวกับควอนตัมฟิสิกส์
๑. การเป็นทวิภาวะของอนุภาคควอนตัม ไม่ว่าจะเป็นโฟตอน อิเล็กตรอน หรือโปรตอน ต่างเป็นคลื่นด้วย.
๒. กฎปฏิทรรศน์ EPR หรือ the Paradox EPR ที่เป็นผลการทดลองหนึ่งของ Albert Einstein และ Boris Podolsky กับ Nathan Rosen ในปี 1935 (EPR เป็นอักษรตัวแรกของนามสกุลของนักฟิสิกส์ทั้งสามคน) ที่สรุปว่า
« เมื่ออนุภาคจำนวนหนึ่งที่เคยมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันในอดีต(ในการทดลองใดมาก่อน) อนุภาคเหล่านั้นจะยังคงเชื่อมต่อติดกันได้ แม้ว่าอนุภาพเหล่านั้นจะอยู่ห่างไกลกันสุดขอบฟ้า  (พูดง่ายๆว่า) มิอาจแยกหรือตัดความทรงจำที่มีมาก่อนระหว่างกันได้เลย ».
นั่นคือพวกเขาค้นพบว่า  สสารก็มีความทรงจำด้วย  เป็นความทรงจำของอนุภาคควอนตัม ที่มิอาจตัดทิ้งออกไปได้ หรือแยกออกจากมวลอนุภาคเหล่านั้นได้.
(ref. บทความของ Dr. Béatrice Milbert นายแพทย์และนักวิจัยชาวฝรั่งเศส)[7]
       นายแพทย์ผู้นี้ กล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า  « เมื่อเริ่มต้นเรียนแพทย์ ข้าพเจ้าสนใจงานศิลป์. เมื่ออายุ 15 ข้าพเจ้าได้ไปชมนิทรรศการงานศิลป์ของศิลปินชาวสวิส ที่หอศิลป์สมัยใหม่ที่ปารีส (Musée d'Art Moderne de la ville de Paris) ข้าพเจ้าเกิดมโนสำนึกว่า จักเข้าใจร่างกายมนุษย์ได้ด้วยทางศิลปะ. สำนึกดังกล่าวยังคงติดตรึงในใจข้าพเจ้าเรื่อยมาจนทุกวันนี้.»
« เหนือสิ่งอื่นใด ร่างกายคน มีความงามภายในที่ยากจะปฏิเสธได้ และการทำงานของร่างกาย ก็มิอาจสรุปรวบรัดด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์ล้วนๆได้. ร่างกายคือพลังงาน แสง เสียงและการสั่นกระเพื่อม ดังที่ควอนตัมฟิสิกส์ ได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนยิ่งแล้วณนาทีปัจจุบัน ที่นำไปปรับใช้ได้ทั้งในแขนงชีววิทยา การแพทย์และการเสริมความงาม.»

อย่าพลาดตอนสุดท้าย หน่วยความจำของคนกับการระลึกชาติ

๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๒



[1] Austin Fresnel ได้เสนอต่อสถาบันวิทยาศาสตร์ (Académie des Sciences) ที่ปารีส ในบทความเรื่อง Premier Mémoire sur la Diffraction de la Lumière เมื่อวันที่ 15 เดือนตุลาคมปี 1815 เกี่ยวกับการเดินทางของแสงเมื่อผ่านสิ่งกีดขวาง ชี้ให้เห็นด้วยวิธีคำนวณทางคณิตศาสตร์ว่า แสงมิได้เดินทางเป็นเส้นตรง. การคำนวณของเขาสอดคล้องกับการทดลองของ Thomas Young.

[2] ความเร็วของแสงในสุญญากาศ คงที่เสมอ อยู่ที่ 299,792.458 กิโลเมตรต่อวินาที (พูดรวมๆว่า สามแสนกิโลเมตรต่อวินาที). หากยึดระยะทางจากดวงอาทิตย์มาถึงโลกว่าคือ 150,000,000 กิโลเมตร และแสงเดินทางในความเร็วอยู่ที่ 300,000 กิโลเมตรต่อวินาที แสงจากดวงอาทิตย์มาถึงโลกใช้เวลาเดินทาง 8.3 นาที. สรุปกันว่า ไม่มีอะไรเดินทางเร็วไปกว่าเสียงได้.

[3] สมการของ Planck เป็นดังนี้ E=hF โดยที่ E คือ พลังงานของโฟตอน มีหน่วยเป็น Joules. h เป็นค่ามาตรฐานคงที่ของ Planck เท่ากับ 6.63 x 10-34 มีหน่วยเป็น Joules/second. F คือความถี่มีหน่วยเป็น Hz.
ทฤษฎีแสงจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งในแขนงกลศาสตร์ควอนตัม(ที่อธิบายพฤติกรรมของธรรมชาติในระดับของอะตอมหรือเล็กกว่าอะตอม) ที่จะพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในศตวรรษที่ 20. อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับแสงได้ที่เว็บเพจนี้ >> http://www.nightlase.com.au/education/optics/light.htm

[4] อ่านเกี่ยวกับ Niels Bohr ได้ในเพจตัวอย่างนี้ >>

[5] นำข้อความบางตอนจากนักวิทยาศาสตร์มีชื่อมาลงให้ครุ่นคิดต่อไป จาก เว็บ https://www.quora.com/
Max Plank's Insight
"All  matter originates and exists only by virtue of a force... We must  assume behind this force the existence of a conscious and intelligent  Mind. This Mind is the matrix of all matter."
"I  regard consciousness as fundamental. I regard matter as derivative from  consciousness. We cannot get behind consciousness. Everything that we  talk about, everything that we regard as existing, postulates  consciousness."
     But Max is not an isoltated case among the fathers of quantum  mechanics. There are other brilliant minds that our less talented  proponents of naive realism have to contend with.
 Neils Bohr
     Neils Bohr was an avid reader of the Vedic texts and observed that  their experiments in quantum physics were consistent with what he had  read in the Vedas.  Here is a sampling of his wisdom:
"Everything we call real is made of things that cannot be regarded as real."
"Nothing exists until it is measured."
"When  we measure something we are forcing an undetermined, undefined world to  assume an experimental value. We are not measuring the world, we are  creating it."
"Isolated  material particles are abstractions, their properties being definable  and observable only through their interaction with other systems ."
Erwin Schrödinger
     Erwin Schrödinger, in speaking of a universe in which particles are  represented by wave functions, said, “The unity and continuity of  Vedanta are reflected in the unity and continuity of wave mechanics.   This is entirely consistent with the Vedanta concept of All in One.”
"Multiplicity is only apparent, in truth, there is only one mind..."
"Quantum physics thus reveals a basic oneness of the universe."
"There  is no kind of framework within which we can find consciousness in the  plural; this is simply something we construct because of the temporal  plurality of individuals, but it is a false construction The only  solution to this conflict insofar as any is available to us at all lies  in the ancient wisdom of the Upanishad."
"The  world is a construct of our sensations, perceptions, memories. It is  convenient to regard it as existing objectively on its own. But it  certainly does not become manifest by its mere existence."
Werner Heisenberg
     Werner Heisenberg, on conversations with Rabindranath Tagore, as quoted  in Uncommon Wisdom: Conversations With Remarkable People (1988) by  Fritjof Capra, who states that after these "He began to see that the  recognition of relativity, interconnectedness, and impermanence as  fundamental aspects of physical reality, which had been so difficult for  himself and his fellow physicists, was the very basis of the Indian  spiritual traditions."
"I  think that modern physics has definitely decided in favor of Plato. In  fact the smallest units of matter are not physical objects in the  ordinary sense; they are forms, ideas which can be expressed  unambiguously only in mathematical language."

[6] อ่านเกี่ยวกับ John Wheeler เพิ่มเติมได้เช่นในเพจนี้ >>

[7] Dr. Béatrice Milbert นายแพทย์และนักวิจัยชาวฝรั่งเศส ผู้เคยทำงานวิจัยร่วมกับ Jacques Benveniste ผู้ค้นพบความทรงจำของน้ำ และกับศาสตราจารย์ Luc Montagnier ผู้คนพบไวรัสเอชไอวี ตัวการที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ (ผู้ได้รางวัลโนเบลในปี 2008). ผู้สนใจตามอ่านได้ในเพจนี้เป็นต้น >> http://www.levivant.org/site_files/13413/upload_files/blog/1801Lamemoiredel'eau-DrMilbert.pdf?dl=1
อ่านรายละเอียดชีวิตและการวิจัยค้นคว้าของแพทย์สตรีคนนี้ต่อได้ที่ >> https://freyparis.com/pages/dr-beatrice-milbert  
ตอนหนึ่งในเว็บเพจข้างต้น เธอเล่าว่า ชอบเข้าพิจารณาร่างกายคนด้วยกระบวนการของชีวฟิสิกส์ แทนกระบวนการชีวเคมี. ชีวฟิสิกส์นั้น เป็นแขนงที่แทบไม่มีการเรียนการสอนเลยในคณะแพทยศาสตร์.
การที่เธอตั้งเป้าเป็นแพทย์ทั่วไป นำเธอให้ติดตามค้นคว้าเพื่อการเยียวยาผู้ป่วยเป็นโรคเอดส์ และโรคติดเชื้ออื่นๆที่มากับโรคเอดส์. เพื่อบรรลุความตั้งใจดังกล่าว เธอเดินทางไปทั่วโลก เพื่อไปพบนักวิจัยคนอื่นๆที่ประเทศจีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา รัสเซีย แอฟริกาและอเมริกาใต้. ได้พบนักวิจัยคนอื่นๆจำนวนมาก มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้.  ทั้งยังติดตามไปอยู่ในหมู่ชนเผ่าโบราณอื่นๆเช่นเผ่าเมารี ชนชาวกูนัส(ชนเผ่าดั้งเดิมในปานามาและโคลัมเบีย)  เพื่อเรียนรู้แพทย์แผนโบราณที่พวกเขาสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ  และในยุโรป ก็ได้พบนักควอนตัมฟิสิกส์คนอื่นๆอีกหลายคน. ทั้งหมดนี้ ทำให้แพทย์คนนี้ เข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการแพทย์แผนจีน โฮมีโอปาธีย์และประโยชน์ของพืชต่างๆที่ใช้เป็นยารักษาโรคได้. 

No comments:

Post a Comment