Thursday, August 15, 2019

WaterMass

น้ำในร่างกาย
      70-80% ของน้ำหนักร่างกายคน คือน้ำหนักน้ำภายในร่างกายคน. นักวิทยาศาสตร์คิดคำนวณย่อยๆลงถึงขั้นอนุภาค แล้วให้ตัวเลขว่า ร่างกายคนประกอบด้วยเซลล์จำนวน3.72 ล้านล้านเซลล์ (หรือ 3.72×1013 เซลล์).  ในหนึ่งเซลล์ มีจำนวนโมเลกุลประมาณ 6x1011 โมเลกุล. ในร่างกายคนจึงมีโมเลกุลเท่ากับ (3.72×1013 ) X (6x1011) = 2 x 1025 โมเลกุล (อ่านตัวเลขเหล่านี้เป็นภาษาไทยเองนะคะ). จำนวนโมเลกุลของแต่ละคน ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ เช่น น้ำหนักตัว อายุ  เพศ.
        แต่ที่แน่นอนเหมือนกันคือ  99.1% ในจำนวนโมเลกุลทั้งหมดในร่างกายคน คือโมเลกุลน้ำ. (นี่คือฐานข้อมูลที่นักวิทยาศาสตร์ได้นับกันมา และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้ว. ศาสตราจารย์ Marc Henry ก็เป็นอีกคนหนึ่ง ที่ได้ลงมือนับเอง ตามที่เขาเล่าไว้ในปาฐกถาเรื่อง L’eau, passeuse de conscience

        2/3  ของปริมาณน้ำในร่างกาย  เป็นน้ำที่อยู่ภายในเซลล์ทั้งหมดของคนที่มีประมาณ 37.2 ล้านล้านเซลล์ดังกล่าวมาข้างต้น และอีก 1/3 เป็นน้ำที่หล่อเลี้ยงระหว่างเซลล์ทั้งหลายนี้. น้ำจึงแทรกอยู่ในทุกอณูของร่างกาย ในสัดส่วนต่างๆกัน เช่น ในหัวใจและสมอง 73%, ในปอด 83%, ในไตและกล้ามเนื้อ 79%, ในผิวหนัง 64%, ในเลือด 85%,  ในตับมี 70%, ในกระดูกมี 22 %, ในฟัน(ซึ่งเป็นส่วนที่แข็งที่สุดของร่างกายมนุษย์) ก็ยังมี 2-10 %.
        ในหนึ่งเซลล์ประกอบด้วยโมเลกุลอะไรบ้าง มาดูตัวเลขไว้เป็นแง่คิดคร่าวๆว่า
หากคนหนึ่งมีน้ำหนักตัว 57 กิโลกรัม ในร่างกายเขามี
น้ำ 34.8 kg. (= 61%)
ไขมัน 9.12 kg. (= 16%)
โปรตีน 9.12 kg. (= 16%)
คาร์โบไฮเดรด 0.57 kg. (= 1%)
และเกลือแร่ 3.4 kg. (= 6%) (ตัวเลขของเกลือแร่ รวมเอามวลไอออนอนินทรีย์หรือinorganic ions ที่ไม่นับเป็นโมเลกุล เข้าไปด้วย ที่มีปริมาณประมาณ 4% ภายในหนึ่งเซลล์. ไอออนเหล่านี้คือโซเดียม, โปตัสเซียม, คลอไรด์, ไฮโดรเจนคาร์บอเนตและฟอสเฟต) (ref. https://socratic.org/questions/how-many-molecules-are-in-the-human-body )

อีกแผนภูมิหนึ่งให้รายละเอียดองค์ประกอบถาวรภายในเซลล์มนุษย์หนึ่งเซลล์ จากเว็บเพจ >>
แผนภูมินี้ ยืนยันปริมาณน้ำในแต่ละเซลล์  ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 98.73% ซึ่งเปลี่ยนแปรไปตามรูปร่างคน อายุ เพศ น้ำหนัก.  แผนภูมินี้ยังโยงไปถึงประชาชนในประเทศพัฒนาด้วย. บวกลบคูณหารจากน้ำหนักเฉลี่ย เปอเซ็นต์น้ำสำหรับผู้หญิงอยู่ที่ 48 (บวกลบ) 6% และสำหรับผู้ชายอยู่ที่ 58 (บวกลบ) 8%. จะเห็นว่า การคำนวณปริมาณน้ำตามน้ำหนักตัวนั้น มีตัวแปรมาก. ศาสตราจารย์ Marc Henry (ฝรั่งเศส) เลือกเสนอปริมาณน้ำในร่างกาย ด้วยการลงมือนับปริมาณของโมเลกุลน้ำในเซลล์ทั้งหมดของร่างกายแทน. ตามสูตรการคำนวญของเขา ดังแสดงไว้ในแผนภูมิข้างล่างนี้
ภาพข้างบนนี้ เห็นอัตราสัดส่วนชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ร่างกายคนประกอบด้วย
1) โมเลกุลน้ำ 99.1 mol% 
2) ไอออนเกลือแร่ 0.5 mol%
3) มวลอินทรีย์สาร อีก 0.4 mol%. (M.O. หรือ matière grasse / fat ในภาษาอังกฤษ เช่น กรดอะมิโน, ไขมัน-ลิปิด, โปรตีน, ดีเอ็นเอ. อาร์เอ็นเอ, พอลิแซ็กคาไรด์- polysaccharide)
(Mole หรือย่อเป็น mol เป็นหน่วยวัดอนุภาคขนาดเล็กที่สุดเช่นอะตอมหรือโมเลกุล. หนึ่ง mol เท่ากับ 6.02214179 x 1023 อะตอม).

         หากชีวิตคนประกอบด้วยน้ำถึง 99.1% แล้ว คนก็คือน้ำหรือมิใช่?      
à เช่นนี้ การทำงานของระบบอวัยวะทั้งหลายในร่างกายคนนั้น อยู่ในบริบทแวดล้อมของน้ำตลอดเวลา. แต่น้อยนักที่คนจะนำเรื่องน้ำขึ้นพิจารณาเมื่อศึกษาร่างกายทั้งทางสรีรวิทยาหรือทางชีวเคมี ตลอดจนการรักษาเยียวยาร่างกาย ทุกอย่างติดอยู่กับมวลสารที่เป็นเนื้อ หนัง กระดูก เส้นเลือด เส้นประสาท ต่อมฯลฯเท่านั้น โดยไม่เคยนำเรื่องน้ำเข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งๆที่อวัยวะทั้งหมดอยู่ในน้ำ.

         พึงสำเหนียกไว้ว่า ร่างกายคนสูญเสียน้ำหรือขับน้ำออกในลักษณะต่างๆตลอดเวลาเหมือนกัน เช่น ทุกครั้งที่เราหายใจเรากักตุนอากาศเข้าไว้ในปอดครั้งละครึ่งลิตร แต่เมื่อเราหายใจออก ลมหายใจเป็นน้ำในสภาพของไอน้ำ เราจึงสูญเสียน้ำจากภายในไปกับการหายใจออกเฉลี่ยประมาณครึ่งลิตรต่อวัน.  
     ต่อมน้ำลายสามคู่ที่อยู่ใต้ลิ้นพ่นน้ำลายออกหล่อเลี้ยงปากวันละหนึ่งลิตร (คนช่างพูดช่างคุยสูญเสียน้ำมาก ทำให้กระหายน้ำ). ตั้งแต่เกิดจนอายุขวบหนึ่ง ทารกมีน้ำลายไหลฟูมออกมาแล้วไม่น้อยกว่า 38.5 แกลลอน.
     เส้นโลหิตฝอยพันๆเส้นภายในลำไส้ ดูดซึมน้ำวันละ 5 ลิตร.
      2/3 ของมวลสารอาหารที่ย่อยเรียบร้อยแล้วจากกระเพาะและลำไส้เล็กเป็นน้ำ. น้ำนี้เซลล์ในผนังลำไส้ใหญ่จะทำหน้าที่กรองออก. น้ำที่ลำไส้ใหญ่กรองออกมานี้ ไปอยู่ตามผิวหนัง ออกมาเป็นเหงื่อเมื่อเราออกกำลังหรือเมื่ออากาศร้อน.  การที่ร่างกายขับเหงื่อออก ก็เพื่อช่วยลดความร้อนในร่างกายเรา เราจะรู้สึกเย็นสบายขึ้น แต่เท่ากับเราสูญเสียน้ำในร่างกายไปอีก โดยเฉลี่ยหนึ่งลิตรต่อวันโดยไม่รู้ตัว.
     สารอาหารและน้ำออกจากลำไส้เพื่อเข้าสู่เส้นเลือด เป็นเลือดใหม่ ที่จะผ่านเข้าไปในม้าม ผู้กรองและเก็บเม็ดเลือดแดงส่วนหนึ่งไว้สำหรับใช้ยามต้องการ และม้ามจะกำจัดเซลล์ที่เสียๆออก รวมทั้งเม็ดเลือดแดงเก่าๆและเม็ดเพล็ตเต็ท.
     ส่วนไตก็ทำหน้าที่ฟอกโลหิตเช่นกัน. ระบบการย่อยอาหารและการหมุนเวียนของโลหิตในร่างกาย ทำให้เกิดเศษเซลล์เสียๆ ซึ่งถ้าร่างกายไม่มีทางกำจัดออก ก็จะตกค้างสะสมอยู่ในร่างกาย เป็นปัญหาจนถึงอันตรายได้. ไตเป็นโรงงานกำจัดน้ำเสียของคน เป็นอวัยวะที่ควบคุมความสมดุลของน้ำในร่างกายและกรองสิ่งสกปรกในเลือด เสร็จแล้วจึงส่งเลือดดีๆสะอาดๆออกมา. ถ้าไตทำงานล้มเหลว ร่างกายคนจะอ่อนแอ เพราะเชื้อโรคต่างๆแข็งแรงขึ้นและลุกลามไปยังเนื้อเยื่ออื่นทั่วร่างกาย. ในกรณีอย่างนี้ จึงมีการล้างไตโดยใช้วิทยาการสมัยใหม่เข้าไปทำหน้าที่กรองและกำจัดของเสียในเลือดทั้งร่างกาย. ส่วนพิษที่เหลือร่างกายจะขับออกเป็นปัสสาวะ ประมาณ 2-3 ลิตรต่อวันแล้วแต่ปริมาณน้ำที่ดื่มและปริมาณเหงื่อของแต่ละคน.

       ตัวเลขและข้อมูลเหล่านี้อธิบายให้เข้าใจว่า ถ้าร่างกายเราสูญเสียน้ำมากกว่า 15 % ของจำนวนน้ำในอวัยวะต่างๆ(ในสัดส่วนดังที่กล่าวมาข้างต้น) ก็จะเป็นอันตรายถึงชีวิต หรือหากจำนวนน้ำที่หล่อเลี้ยงอยู่ระหว่างเซลล์ในร่างกายคนลดลงไปเพียง 2%  คนจะเสียพลังงาน(หรือหมดแรง) ลงไป 20%.  เรารู้กันแล้วว่าคนยังมีชีวิตรอดได้แม้อดอาหารหลายสัปดาห์ แต่หากอดน้ำเขาจะตายภายในสองสามวัน ทั้งนี้เพราะน้ำในร่างกายแห้งลงๆ หรือถูกขับออกไปเรื่อยๆ (ในลมหายใจออก, เหงื่อ, น้ำตา, น้ำมูก, ปัสสาวะ, อุจจาระ, การขากถ่ม ฯลฯ) หากไม่มีการเติมเข้าอย่างสม่ำเสมอ เราจะแห้งลงๆแบบเดียวกับที่ต้นไม้เหี่ยว เฉาและร่วงเมื่อขาดน้ำ. น้ำจึงเป็นปัจจัยอันดับสองรองจากก๊าซออกซิเจนที่ทำให้คนคงชีวิตไว้ได้. (เราอาจเคยได้ยินว่า มีผู้ทดลองอดอาหารและน้ำ ให้นานที่สุด เช่นในอินเดีย และใช้ชีวิตนั่งๆนอนๆเฉยๆ. ถ้าเขาทำได้ เราจะทำไหม เราจะใช้ชีวิตเรานั่งๆนอนๆไปเท่านั้นหรือไฉน).

        ปริมาณน้ำในร่างกายที่ลดลงตามอายุ เทียบกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ดังต่อไปนี้
(ref. Prof. Marc Henry)
* เมื่อยังอยู่ในครรภ์ มีปริมาตรน้ำเท่ากับ 99.9 ลูกบาศก์เซนติเมตร (C/C หรือ cubic centimeter) เทียบได้กับปริมาตรน้ำในแมงกะพรุน
* ทารกอายุหนึ่งเดือน มีน้ำ 95 ลูกบาศก์เซนติเมตร เทียบได้กับปริมาตรน้ำในแตงกวา หรือผักสลัด
* อายุ 3-4 เดือน มีปริมาตรน้ำ 93 ลูกบาศก์เซนติเมตร เทียบได้กับปริมาตรน้ำในมะเขือสีม่วง  aubergines, ผักสลัดชนิดหนึ่ง (endives), กะหล่ำปลี (chou)
* อายุ 5 เดือน มีปริมาตรน้ำ 91 ลูกบาศก์เซนติเมตร เทียบได้กับปริมาตรน้ำในสมอง หรือในเห็ด champignons
* อายุ 6 เดือน มีปริมาตรน้ำ 87 ลูกบาศก์เซนติเมตร เทียบได้กับปริมาตรน้ำในเนื้อ
ผลไม้
* อายุ 9 เดือน มีปริมาตรน้ำ 80 ลูกบาศก์เซนติเมตร เทียบได้กับปริมาตรน้ำในตัวปลา
* วัยผู้ใหญ่ มีปริมาตรน้ำ 72 ลูกบาศก์เซนติเมตร เท่ากับปริมาตรน้ำตามผิวหนังของคน หรือในเนื้อสีแดงๆ(ของสัตว์)
* คนแก่ มีปริมาตรน้ำ 65 ลูกบาศก์เซนติเมตร เทียบได้กับปริมาตรน้ำในเนื้อสีขาวๆ(ของสัตว์)
* เมื่อตาย ร่างกายเหลือปริมาตรน้ำ น้อยกว่า 50 ลูกบาศก์เซนติเมตร เทียบได้กับปริมาตรน้ำในเมล็ดธัญญพืช หรือในเนยแข็ง
สรุปได้ว่า เมื่ออายุ 30 มีมวลน้ำในร่างกายประมาณ 41 ลิตร เมื่ออายุ 70 มีมวลน้ำในร่างกายประมาณ 35 ลิตร
การแก่ตัวลงของคน คือการสูญเสียน้ำในร่างกาย เพราะพฤติกรรมชีวเคมีตลอดชั่วชีวิตของคน คือ การคายน้ำอย่างช้าๆ (dehydration) จึงต้องหมั่นเติมเข้าไปเสมอๆ.

สิงหาคม ๒๕๖๒

No comments:

Post a Comment