Sunday, August 11, 2019

ยุคเศร้าของไอนสไตน

        หลังจากอ่านอะไรต่ออะไรเกี่ยวกับน้ำจากข้อมูลไอทีแบบต่างๆ ที่ติดใจเป็นพิเศษ คือปาฐกถา การสัมมนาและหนังสือของศาสตราจารย์ Marc Henry นักเคมี นักควอนตัมฟิสิกส์ นักดนตรี ชาวฝรั่งเศส อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสตร๊าซบูร์ก (Strasbourg, France) และสังกัดสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติของฝรั่งเศส มีผลงานจำนวนมาก และขึ้นชื่อว่า เป็นผู้สอนเก่ง รู้จักอธิบายเรื่องยากๆให้เข้าใจกันได้. ในบรรยายเรื่องความทรงจำของน้ำ  เมื่อพูดถึงนักไวรัสวิทยา Jacques Benveniste (1935-2004 นักวิจัยผู้มีชื่อเสียง หัวหน้าทีมค้นคว้ายี่สิบกว่าคนในสถาบันวิจัยสุขภาพและการแพทย์แห่งชาติของฝรั่งเศส INSERM) ผู้ค้นพบว่า น้ำมีความทรงจำ ที่กลายเป็นข้อถกเถียงคุกกรุ่นรุนแรงมากในวงการศึกษาของฝรั่งเศสในช่วงกลางศตวรรษที่ 20. ทุกคนตื่นงงงวยว่า เป็นไปได้อย่างไร (ในยุคที่)ความทรงจำไม่ใช่ปัญหาสุขภาพ และไม่ใช่ประเด็นที่วิเคราะห์กันในห้องแล็บวิทยาศาสตร์.
        Marc Henry เล่าถึงนักศึกษาคนหนึ่งในอดีตชื่อ Louis Victor de Broglie [เดอ บรอย] (1892-1987) ผู้ศึกษาวิชาฟิสิกส์.  เดอ-บรอย  เสนอวิทยานิพนธ์ในปี 1924  เรื่องธรรมชาติของอิเล็กตรอน และสรุปว่า อิเล็กตรอนเป็นคลื่น สสารทั้งหลายมีสมบัติเป็นคลื่น และตั้งสมมุติฐานเกี่ยวกับสสารทั้งหลาย รู้จักกันในนามว่า หลักสมมุติฐานของบรอย Broglie hypotheses ที่แจกแจงสมบัติทวิภาวะของสสาร ที่เป็นทั้งอนุภาค (matter) และคลื่น (wave). สมมุติฐานนี้ที่ได้กลายมาเป็นทฤษฎีแกนกลางของควอนตัมฟิสิกส์. 
         วงวิทยาศาสตร์ ครูอาจารย์ยุคนั้นบอกว่า หมอนี่บ้าไปแล้ว คิดได้อย่างไรว่าอิเล็กตรอนเป็นคลื่น มันขัดกับทฤษฎีที่ยึดถือกันมาเกือบยี่สิบศตวรรษ. สถาบันฝรั่งเศสได้ส่งวิทยานิพนธ์ของเขาไปให้ไอนสไตนช่วยหาข้อผิดพลาดในงานวิจัยของเดอ-บรอย. ไอนสไตนอ่านแล้ว ส่งกลับและตอบคณะกรรมการผู้ตรวจวิทยานิพนธ์ว่า หาข้อผิดไม่ได้  สมมุติฐานของเดอ-บรอยถูกต้องตามตรรกะมีเหตุมีผลสนับสนุน (แม้ตัวเขาเองก็ไม่เคยคิดมาก่อน) แต่บอกให้เขาเสนอวิทยานิพนธ์และรับไว้.  เดอ-บรอยสอบผ่าน แต่ไม่ได้คำชมเชยจากคณะลูกขุน ซึ่งเท่ากับประกาศทางอ้อมว่า ให้ผ่านด้วยความจำยอม. ความที่วิทยานิพนธ์ไม่ถูกทิ้ง มีการพิมพ์ขึ้น(ในยุคนั้น มหาวิทยาลัยฝรั่งเศส พิมพ์วิทยานิพนธ์ทุกเล่มที่สอบผ่าน ยุคนี้ไม่ทำแล้ว เลือกพิมพ์บางเล่มเท่านั้น).  สี่ปีต่อมา นักวิทยาศาสตร์อเมริกันได้ทำการทดลองตามหลักการของเดอ-บรอย และเห็นจริงตามนั้น จึงปูทางเดอ-บรอยให้ได้รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 1929 ห้าปีต่อมา (นับว่าอเมริกันคนนั้นซื่อสัตย์พอ และคงชื่นชมเดอ-บรอยด้วย). คิดดูสิว่า ถ้าไม่มีการพิมพ์งานของเดอ-บรอย เท่ากับไปตัดอนาคตของคนที่สมควรจะได้รางวัลโนเบล.  
        โชคดีเพียงใดที่มีการพิมพ์วิทยานิพนธ์ของเขา  เปิดโอกาสให้คนอื่นนำไปต่อยอด. น่าเสียดายที่เบ็นเวอนิสต์ (ผู้ค้นพบความทรงจำของน้ำ) ไม่มีโอกาสพิมพ์ ถูกกำจัดไปตั้งแต่ต้น ด้วยคำพูดของนักชีววิทยาชาวอังกฤษ บรรณาธิการวารสารวิทยาศาสตร์ Nature ที่ให้ความเห็นในเชิงว่า เบ็นเวอนิสต์เล่นมายากล  เขาผู้ไม่รู้อะไรแต่อยู่ในตำแหน่งสำคัญบรรณาธิการผู้พิมพ์งานของเบ็นเวอนิสต์ได้. โลกจารึกชื่อเขาไว้ ท่าน เซ่อ John Maddox ในประวัติศาสตร์ ในฐานะเพชรฆาตผู้สั่งประหารเบ็นเวอนิสต์  ผู้ที่สมควรได้รางวัลโนเบลในฐานะผู้ค้นพบความจริงอันมหัศจรรย์ที่ส่งผลพลิกความรู้ทุกอย่างของวิทยาศาสตร์น้ำในศตวรรษที่ 20-21 ที่ไม่มีผู้อื่นในยุคเดียวกันคิดไปไกลเท่า. กว่าคนจะค้นพบว่าทฤษฎีของเบ็นเวอนิสต์ถูก กว่าคนจะ กล้าเชื่อ ว่าน้ำมีความทรงจำ ก็ช้าไปเสียแล้ว เบ็นเวอนิสต์ตรอมใจตาย...
         วงการวิทยาศาสตร์เหมือนทุกวงการมีจุดด่างดำในประวัติการคิด การค้นคว้า การล็อบบี้เสมอมาในทุกประเทศ. ไอนสไตนให้แง่คิดที่จักเป็นที่จดจำไปตลอดกาล, ยุคนั้นจนถึงยุคนี้, ว่า ช่างเป็นยุคแสนเศร้า ที่การแยกอะตอมให้เป็นหน่วยเล็กลงไป ง่ายกว่าการทำลายอคติ.
เรื่องความคิด การค้นพบข้อมูลใหม่ๆในวิทยาศาสตร์ ที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน จนถึงวันนี้ นักคิดนักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศส หากพบอะไรใหม่ๆ ก็ยังไม่ค่อยกล้านำมาพูด แม้รู้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ แต่หลายคนก็เก็บเงียบไว้ เพราะกลัวพบชะตากรรมแบบเดียวกับเบ็นเวอนิสต์.
ภาพของสองศาสตราจารย์ที่เชื่อในทฤษฎีความทรงจำของน้ำก่อนคนอื่นใด คนแรกในมุมบนซ้าย ศาสตราจารย์ Luc Montagnier ผู้ได้รางวังโนเบลในฐานะค้นพบเชื้อไวรัสเอชไววีที่เป็นต้นกำเนิดของโรคเอดส์ ได้ต่อยอดความรู้ของเบ็นเวอนิสต์ และนำไปใช้ในการวินิจฉัย บำบัดรักษาโรคอย่างมีประสิทธิผล. อีกท่านหนึ่งนักฟิสิกส์ชาว
อิตาเลียนประจำสถาบันวิจัยฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยซาแลร์โน (Salerno [ซะแลรฺโหน่]) ประเทศอิตาลี ผู้ได้ทดลองพิสูจน์ทฤษฎีของเบ็นเวอนิสต์ และร่วมมือกับศาสตราจารย์ Montagnier ยืนยันความถูกต้องของทฤษฎีเบ็นเวอนิสต์.
            ภาพวาดข้างบนนี้ของ ศ. Marc Henry บอกเล่าแก่นักศึกษาผู้จะเป็นนักวิจัยในอนาคต ให้ตระหนักว่า โอกาสการมีงานวิจัยของเขาพิมพ์ออกมาในวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศ ต้องผ่านใครหรืออะไรบ้าง.
*** ในมุมล่างซ้าย นักวิจัยมีผลงานในมือ มุ่งไปบนเส้นทาง สุดถนนมีคำว่า Publication หมายถึง ผลงานเขาได้พิมพ์ในที่สุด. บนเส้นทางที่เขาจะเดินไปนั้น ถนนฝั่งขวา คนแรกถือดาบคอยฟาดฟันอยู่ (collègues เพื่อนร่วมงาน ร่วมสถาบัน ร่วมงานวิจัย). พ้นจากคนแรก ยังมีคนที่สอง คนประเภทวัตถุนิยม (matérialistes) มีกระบองดุ้นใหญ่ในมือ คอยทุบคอยทำลายงานวิจัยและหรือผู้วิจัย  หากงานนั้นทำให้เขาเสียผลประโยชน์. คนสุดท้ายแต่งสีดำๆ มีเคียวด้ามมหึมาในมือ เป็นภาพลักษณ์ของความตายในจิตรกรรมตะวันตก (กำกับไว้ว่า Peurs แปลว่า ความหวาดหวั่น ความกลัวสารพัดชนิด) คอยเชือดเฉือนนักวิจัย ด้วยความกลัวว่าตนอาจถูกข่มถูกลดค่า เป็นต้น.
*** บนเส้นทางสู่โรงพิมพ์ ฝั่งซ้ายของถนน คนแรกถือไม้กระบอง กำกับด้วยคำ lobbies คนอาชีพนี้มีมาก ที่คอยล็อบบี้เพื่อหาผลประโยชน์แก่ตัวไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง. คนถัดไปถือขวานในมือ จะห้ำหั่นโค่นให้ล้ม กำกับด้วยคำ pessimistes ผู้มองโลกในแง่ร้าย ไม่สนใจใยดีอะไร ดีไม่ดีไม่สนใจนัก อย่าให้ตัวเองเดือนร้อนวุ่นวายใจ. คนสุดท้ายถืออะไรด้ามยาวๆในมือพร้อมขจัดปัญหาหรือขวากหนาม มีคำกำกับว่า dogmatiques ผู้เป็นทาสของระบบหรือความเชื่อใดอย่างสิ้นเชิง ยึดมั่นว่าอุดมการณ์ของระบบที่เขาเป็นสมาชิก ว่าคือความจริงแท้ความจริงเดียว.
        ศ. Marc Henry สรุปปลอบใจนักวิจัยรุ่นใหม่ว่า ไม่ว่าจะลำบากยากเย็นเพียงใด ก็มีผลงานที่ได้รับการพิมพ์ออกเผยแพร่ในที่สุด อย่าเสียกำลังใจ. ข้อความเหนือเนินเขาในภาพ เขียนเป็นใจความว่า ผู้ที่ไม่เชื่อในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ว่าเป็นไปได้ ขอจงอย่าทำลายความกล้าหาญของผู้ที่กำลังมุ่งทำเพื่อให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้.  
         สถาบันระดับสูงของประเทศ ไม่พ้นกรอบการเล่นพรรคเล่นพวก (รวมถึงการคำนึงถึงผลประโยชน์)  การยึดติดกับความรู้คลาซสิกฯลฯ.  สมาชิกในบัณฑิตยสภาที่ตามไม่ทันยุคสมัย แต่ไม่ยอมรับความจำกัดของตัวเอง  ปัญญาชนชั้นเอลิต เยี่ยงนี้  มีในทุกยุคทุกสมัย.  คำพูดของไอนสไตนยังคงเป็นความจริงที่น่าเศร้าในสังคมมนุษย์.
         แทนการตัดสินว่า ถูกหรือผิด ควรใช้คำว่า เป็นไปได้  คนพูดก็ไม่เสียหน้า ไม่เข้าข้าง ไม่มีสี แล้วให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์. สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ อาจเป็นจริงขึ้นมา สิ่งที่ถูกก็ถูกไป ผิดก็ผิดไป กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์. ต้องให้โอกาสความคิด การค้นพบใหม่ๆ เรื่องดีเรื่องร้าย เรื่องน่าสนใจหรือไม่ ถูกหรือผิด ไม่สำคัญ แต่ไม่ไปตัด ริดรอน เชือดเฉือน วันหนึ่งข้างหน้า อาจกลายเป็นจริง ถูกต้องขึ้นมา ให้ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องชี้ต่อไปเถิด.
ศาสตราจารย์ Marc Henry นำภาพนี้ขึ้นให้นักศึกษาดู เตือนสติว่า อย่าสร้างกรงขึ้นขังตัวเอง (รพินทรนาถ ฐากูร เคยพูดไว้ในทำนองนี้เช่นกัน) อย่าสร้างกรอบความคิดจำกัดตนเอง อย่าคิดตามคนอื่นๆ รวมทั้งขังความคิดของคนอื่น... คนเก่งจริง ปราชญ์จริง ต้องไม่เป็นเช่นนั้น. (ประโยคที่ขอบบนของภาพ คือคำพูดของไอนสไตนที่กล่าวมา
ข้างต้น เวอชั่นภาษาฝรั่งเศส)
        ตอนจบของปาฐกถาวันนั้น ยังมีภาพนี้ขึ้นมาให้ดู  ภาพของกวีอเมริกัน William  Arthur Ward (1921-1994) อยู่มุมบนซ้าย อีกสามภาพในมุมอื่นๆนั้น เป็นภาพนักวิทยาศาสตร์คนดังในกึ่งศตวรรษที่ 20 ตรงกลางตอนบนของภาพ เห็นหัวใจส่งคทาให้แก่สมองเหมือนกำลังวิ่งผลัด ใต้ภาพวาดนั้น มีคำว่า La mémoire de l'eau… (ความทรงจำของน้ำ)
        ใต้ลงไปกึ่งกลางภาพ คำพูดที่เขียนไว้ในภาพวาดหัวใจพื้นสีแดง คือคำพูดของ William Arthur Ward, ศาสตราจารย์ Marc Henry แปลเป็นภาษาฝรั่งเศส.  บทดั้งเดิมในภาษาอังกฤษ มีดังนี้
It's impossible, says Pride,    ความอวดดี  พูดว่า  เป็นไปไม่ได้
It's risky, says Experience,    ประสบการณ์  พูดว่า  เสี่ยงเกินไป
It's pointless, says Reason,    เหตุผล พูดว่า ไร้ประโยน์
Give it a try, says Heart.       หัวใจพึมพำว่า ลองดูสักตั้งเถอะ.
ไม่ว่าทำอะไร หากหัวใจกับสมอง ร่วมมือกัน อาจสร้างปาฏิหาริย์ได้. สังคมก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยี  แต่คนพัฒนาขึ้นด้วยหัวใจ ด้วยจิตสำนึก. อยากทำอะไรดีๆ ลองทำเลย ส่วนคนที่ไม่เชื่อในใครหรืออะไร ไม่เป็นไร แต่ขอให้เป็นอารยชนพอที่จะไม่ระราน ทำลายคนอื่น มือไม่พาย อย่าเอาเท้าราน้ำ  เท่านี้ก็เป็นสุภาพชนได้.

ที่เล่ามาข้างต้น เป็นตอนท้าย(10 นาที) ของการบรรยายเรื่องความทรงจำน้ำ วิเคราะห์ด้วยควอนตัมฟิสิกส์ที่ยาวสองชั่วโมง. ฟังปาฐกถาเรื่องควอนตัมฟิสิกส์ ไม่แห้งแล้งหรือละเหี่ยใจกับสูตรคำนวณ เคมี ฟิสิกส์แบบต่างๆนัก  เพราะไม่ต้องเอามาอธิบายให้ใครฟัง ไม่ใช่ประเด็นในการเรียนรู้ส่วนตัวของข้าพเจ้า.  ที่ติดใจ คือการเล่าการอธิบายที่ชาญฉลาด มีคำพูดสำนวนชวนขัน ไม่ขาดอรรถรสที่ถูกใจ แถมด้วยภาพที่ท่านคิดขึ้นเองอย่างผู้ชำนาญเทคโนโลยีสมัยใหม่.
ตัดตอนสิบนาทีสุดท้ายมาเล่าแบบกันเอง เป็นบันทึกความเรียนรู้ส่วนตัว ตามรสนิยมส่วนตัว ที่อาจให้แง่คิดแก่ผู้ใดผู้หนึ่งได้...

บันทึกความประทับใจของ โชติรส
๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๒.

No comments:

Post a Comment