Tuesday, July 2, 2019

Water Crystals

ผลึกน้ำ ผลึกธรรม 
Emoto Masaru [หม่าซ้ารึ เอ๊ะโมโตะ] (江本 , 1943-2014) สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Yokohama Municipal University ในแขนงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ. ต่อมาได้ประกาศนียบัตรและทำงานในฐานะของแพทย์ทางเลือกอยู่ระยะหนึ่ง. เกือบตลอดชีวิต เขาศึกษาผลกระทบที่มีต่อน้ำ ที่เกิดจากระบบนิเวศ มลภาวะ รวมทั้งอุปนิสัยใจคอ อารมณ์ความรู้สึก จิตสำนึกฯลฯ. เขาใช้ชื่อเรียกผลกระทบดังกล่าวว่า Hado [หะโด๊] เจาะจงใช้อักษรจีนสองตัวนี้ ตัวแรกแปลว่า คลื่น ตัวที่สองแปลว่า การเคลื่อนไหว รวมกันในความหมายนัยของ พลังขับเคลื่อน (ตามความเข้าใจของโชติรส).
เขาอธิบายวิสัยทัศน์ของการตั้งสถาบันฮาโด ว่า « ฮาโดเป็นแพ็ตเทิร์นความถี่ในระดับอะตอมของสสาร เป็นพลังงานหน่วยเล็กที่สุด. เป็นพลังงานที่เกิดจากพลังจิตสำนึกของคน ».  เขาได้ศึกษาวิเคราะห์และทดลองด้วยการใช้น้ำเป็นตัวกลาง เพื่อพิสูจน์ว่า ความคิดและความรู้สึกของคน ส่งผลกระทบต่อความจริงทางกายภาพของคนและต่อสภาพแวดล้อม.  
         น้ำเป็นหัวข้อที่เขาสนใจเสมอมา และเมื่อนึกถึงผลึกหิมะที่ฝังใจเขามาในวัยเด็ก ทำให้เขาเริ่มสะสมน้ำจากที่ต่างๆ นำมาแช่แข็งและถ่ายรูปผลึกน้ำแข็งออกมา (เท่ากับได้พัฒนาเทคโนโลยีการถ่ายภาพไปด้วย) นำภาพทั้งหมด มาเปรียบเทียบกันเป็นจำนวนมาก และดึงข้อสรุปจากภาพทั้งหมดของเขา (จนถึงปัจจุบันนี้ สถาบันยังรับซื้อภาพผลึกหยดน้ำจากทั่วโลก รวมทั้งขายเครื่องประดับรูปผลึกน้ำสารพัดแบบด้วย). เขาตั้งข้อเสนอแนะว่า หากคนพัฒนาระดับจิตใจให้ดี มีศีลธรรม มีความรักเอื้อเฟื้อต่อกัน โลกรอบข้างย่อมดีไปด้วย เพราะพลังจิตของคน เสริมและปรับเปลี่ยนพลังของจักรวาลได้.


ดูวิดีโอเรื่องผลึกน้ำที่เอโมโตแพร่ออกไปสู่ชาวโลก (เพื่อนพรรณงาม เง่าธรรมสาร ส่งมาให้) รุ่นพี่อักษร อาจารย์ศศิธร รัชนี เป็นผู้แปลจากคลิปภาษาอังกฤษ เป็นเวอชั่นปี 2007.
https://www.youtube.com/watch?v=tru4PyM0bEA&fbclid=IwAR10GM_ZcSLUwwduq60czHAJSQuEXcaE4p6Xrdsf7pjMyqzO8oETNqOXU0Y

          เอโมโตะไม่ใช่นักฟิสิกส์ ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งแขนงใด ตรงตามความหมายนัย academic ที่เราเข้าใจกัน  แต่ความมีจินตนาการลึกล้ำ พาเขาไปสู่การทดลองเพื่อนำ สารจากน้ำ มาสู่มวลชน (หนังสือเล่มแรกของเขาชื่อ The Message from Water).  เขาไม่มีความรู้ระดับนักวิทยาศาสตร์-ฟิสิกส์ควอนตัมเพียงพอ ที่จะอธิบายด้วยการวัด การคำนวณเป็นเลขคณิต หรือด้วยสูตรเคมี ฯลฯ ตามหลักการวิทยาศาสตร์สากล.  ความคิดดั้งเดิมที่ดีของเขารวมทั้งข้อมูลและหนังสือที่เขาเขียน มองในเชิงวิชาการนั้น ไม่ได้มาตรฐานสากล.  เอโมโตะเอง ในฐานะคนญี่ปุ่น คิดอย่างญี่ปุ่น ภาษาญี่ปุ่นก็ไม่เอื้อต่อการคิดตรงไปตรงมา แต่วนอ้อมไปมา จึงพูดซ้ำไปซ้ำมา ไม่ทันตรรกะตะวันตกที่ภาษาเป็นแบบ linear  จึงไม่อาจต่อกรการซักไซ้ไล่เลียงของนักวิทยาศาสตร์ตัวจริงของฝรั่งเศสได้ ภาษาเป็นอุปสรรคด้วย เพราะไม่พูดภาษาอื่น.

ชมภาพผลึกน้ำในแบบต่างๆได้ในเพจนี้ >>

ดูแล้วคิดตาม >> 
ดังที่รู้กันดีว่า ภาพผลึกหิมะเป็นหกเหลี่ยมเสมอไม่เปลี่ยนแปลง รูปลักษณ์ของผลึกหิมะเป็นผลมาจากอุณหภูมิและความชื้นในบรรยากาศ. ผลึกหกเหลี่ยมเกิดจากการรวมตัวของโมเลกุลน้ำแปดโมเลกุล เชื่อกันว่าโครงสร้างหกเหลี่ยมแบบนี้มั่นคงที่สุด (แบบนี้หรือเปล่านะที่ทำให้พูดกันว่า ตัดน้ำไม่ขาด).
รูปผลึกน้ำที่ถูกตรึงไว้ในเสี้ยววินาทีบนภาพถ่าย. วินาทีต่อไป  ผลึกเหมือนเดิมไหม?
และจะอยู่ในสภาพนั้นนานแค่ไหน ฯลฯ ไม่มีรายละเอียดยืนยัน.
ควอนตัมฟิสิกส์สอนมาแล้วว่า สายใยในโมเลกุลน้ำผนึกรวมตัว สลายลง รวมตัวกันขึ้นใหม่อย่างไม่หยุดทุกๆ 10-12 วินาที ทุกอย่างเกิดขึ้นในความเร็วสูง (การถ่ายภาพจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย).  ดังนั้นรูปผลึกภายนอกอาจดูเหมือนเดิม แต่การรวมตัวภายในโมเลกุลนั้น ไม่มีวันเหมือนเดิม (เป็นข้อมูลที่พิสูจน์และยอมรับกันแล้ว). กระบวนการถ่ายภาพของเอโมโตะ สอดคล้องหรือไม่กับข้อเท็จจริงดังกล่าว ไม่มีการยืนยัน.

** บริบทเสริมที่เอโมโตะ เติมเข้าไปให้แก่น้ำ มีประเภทต่างๆเช่น เสียงดนตรี คำพูด เสียงสวด จนถึงตัวอักษรและภาพ  ล้วนมีผลกระทบต่อการแปรรูปของผลึกน้ำให้สวยงามมากน้อยจนน่าเกลียดน่ากลัว.  เสนอแต่ผล ไม่มีรายละเอียดอื่น. โชติรสคิดว่า อาจต้องแยกประเภทของสิ่งกระตุ้นหรือสิ่งเร้าที่เป็นคลื่นเสียง กับสิ่งเร้าที่เป็นภาพ. สิ่งเร้าที่เป็นภาพ ผลไม่ชัดเจน เกี่ยวกับแสง การสะท้อนแสงด้วยไหมอย่างไร. ไม่มีคำอธิบาย.

** เมื่อคนพูดคำว่า ความรัก ขอบคุณ หรือ ไอ้โง่ ฯลฯ เป็นคำญี่ปุ่นออกเสียงญี่ปุ่นในการทดลองของเอโมโตะ. น้ำมิได้ตอบรับหรือมีปฏิกิริยากับคำพูดญี่ปุ่น ไม่ว่าเป็นคำดีหรือไม่ดี. น้ำตอบรับกับเสียง และหรือจิตสำนึกของผู้ออกเสียงคำนั้นๆ.  การใช้ตัวอักษรเขียนติดบนขวดน้ำ อย่าหลงคิดว่าน้ำอ่านออก ไม่ว่าภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาใด, หรือการติดภาพเข้าที่ขวดน้ำ น้ำเห็นหรืออย่างไร? สรุปประเด็นเดิมเดียวกัน. ประเด็นภาพ มีปัจจัยเรื่องแสงเข้าไปเกี่ยวข้องไหม?

** สิ่งเร้าที่เป็นเสียง ดนตรีประเภทต่างๆ มีจังหวะ ลีลาไม่เหมือนกัน เป็นความถี่คลื่นระดับต่างๆกัน เสียงดนตรีจึงผ่านเข้าไปสัมผัสหรือกระทบความถี่ภายในน้ำได้ทันที. ข้อนี้ชัดเจน. (ดังตัวอย่างแผ่นทรายที่เคลื่อนไปตามความถี่ของคลื่นเสียง ในวีดีโอเรื่อง Coherence ที่นำลงให้ดู) 

** เสียงสวดมนต์ก็เช่นกัน เสียงสวดมนต์นอกจากเป็นเสียงพร้อมเพรียง ยังเป็นเสียงอยู่ในระดับเสียงต่ำเพียงพอที่ทำให้สบายหู ทำให้จิตสงบ. เสียงสวดมนต์ไม่ว่าในศาสนาใดมีสมบัติของเสียงคล้ายๆกัน  คือเสียงลื่นไหล มีจังหวะสม่ำเสมอสอดคล้องกัน ไม่ว่าเป็นเสียงสวดมนต์ของพระสงฆ์ หรือของชาวมุสลิมเมื่อท่องบทสวดในคัมภีร์อัลกุรอ่าน. เสียงก้องจากลำคอผู้อ่าน เสียงใสกังวาน เป็นเสียงที่มีคุณภาพ สร้างคลื่นเสียงที่มีพลังเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่แทรกเข้าไปกระเทือนโมเลกุลน้ำ.
เพิ่มเติมว่า ไม่เฉพาะเรื่องผลึกน้ำ เสียงส่งผลกระทบต่อโมเลกุลน้ำในร่างกายคนอย่างมากเช่นกัน คุณภาพเสียง(สวด) เพิ่มความตื่นตัว เกิดพลังดีๆแก่คน ในขณะเดียวกัน เสียงสวดนั้น ก็แผ่กระจายเป็นคลื่นไปในบรรยากาศโดยรอบ. (เคยมีประสบการณ์ได้ยินเสียงสวดในยามเช้าตรู่หรือยามค่ำ ที่กังวานมาจากสุเหร่าที่อยู่ไกลออกไป เหมือนได้เห็นคลื่นเสียงนั้น ล่องลอยเหนือแม่น้ำไนล์มาเข้าหู ทำให้ตื้นตัน สบายใจมาก).   
ในทำนองเดียวกับการสวดมนต์เจริญน้ำพระพุทธมนต์(บทรัตนปริตร) จิตสำนึกและความตั้งใจของผู้สวด บวกจังหวะและการต่อเนื่องของเสียงสวด คือคลื่นพลังดีๆในตัวผู้สวด ที่ถ่ายทอดออกให้แก่น้ำ (ให้แก่คนฟังที่ใจเปิดรับด้วย) และทำให้น้ำเกิดพลังดีๆ เป็นน้ำมนต์ที่พระท่านใช้. จิตสำนึกของคนจึงส่งผลต่อทุกสิ่ง ตามหลักการของควอนตัมฟิสิกส์ อย่าหลงติดอยู่กับความเชื่อเรื่องปาฏิหาริย์. ปาฏิหาริย์ใดคือปาฏิหาริย์ของพลังจิตของคน.

*** เพิ่มเติมเป็นแง่คิดว่า น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฏอยู่ตามสถานที่ต่างๆในโลก มีการนำมาวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ เช่นน้ำจากเมือง Lourdes ประเทศฝรั่งเศส, น้ำ Zam Zam Water จากเม็กกะ, น้ำของชุมชนชาว Hunzas ทางเหนือของปากีสถาน ฯลฯ. พบว่า น้ำทั้งหลายมีสมบัติพิเศษกว่าน้ำทั่วๆไป เช่นมีคุณสมบัติเป็นด่างสูงกว่า และมีสารอนุมูลอิสระจำนวนมาก มีความตึงผิวต่ำเป็นต้น. สมบัติเหล่านี้(ดีต่อร่างกายคน) พิสูจน์ได้ด้วยหลักการชีวเคมี โดยไม่ต้องโยงไปถึงเรื่องปาฏิหาริย์ก็ได้.

       ดังที่ได้เล่ามาแล้วว่า ทฤษฎี «น้ำมีความทรงจำ» ที่เป็นผลการวิเคราะห์วิจัยออกจากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์จริงๆครั้งแรกในประวัติศาสตร์  คือการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อ บ็นเวอนิสต์ ในปี 1980  (Jacques Benveniste, 1935-2004) ก่อนหน้านั้นในราวปี 1970 มีนักวิทยาศาสตร์รัสเซียที่ก็คิดเรื่องนี้ และพบปัญหาคือกำแพงความไม่เชื่อจากวงการวิทยาศาตร์. cf.  ติดตามอ่านกรณีเบ็นเวอนิสต์ได้ตามลิงค์เบ็นเวอนิสต์ยืนยันว่าน้ำมีความทรงจำ สิบกว่าปีก่อนที่เอโมโตะจะรวบรวมภาพผลึกน้ำของเขาพิมพ์เป็นเล่มพร้อมคำอธิบายเล็กน้อยในปี 1999.
(水からの伝言: 世界初!! 水の結晶写真集 (Mizu kara no dengon: sekaihatsu!! mizu no kesshō shashinshū) [Messages from Water] (in Japanese). 1. Tokyo: Hado. 1999. ISBN 9784939098000.
English edition: The Message from Water: The Message from Water is Telling Us to Take a Look at Ourselves. 1. Hado. 2000ISBN 9784939098000.)

สถาบันฮาโดที่เอโมโตะสถาปนาขึ้น เริ่มด้วยวิสัยทัศน์ที่น่าสรรเสริญของเอโมโตะ ที่อยากให้เป็นสถาบันวิจัยเรื่องน้ำ. ต่อมาพัฒนาทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำ และโดยเฉพาะมุ่งประเทศด้อยพัฒนา เพื่อช่วยเหลือชุมชน ปรับระบบนิเวศ สร้างสันติภาพ และพัฒนาเทคโนโลยีอุปกรณ์น้ำจำหน่ายด้วย รวมทั้งขายเทคโนโลยีการถ่ายภาพน้ำในสภาพแข็งและแห้ง (freeze-dried water photographic technology). การพัฒนาเป็นธุรกิจเริ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2008 ที่มีการประชุมหรืออบรมสมาชิกจากทุกชาติ ทั้งศึกษาอุปกรณ์จากเทคโนโลยีน้ำของสถาบันนี้ด้วย รวมทั้งการนำหนังสือ สารจากน้ำ เวอชั่นการ์ตูนไปแจกเด็กๆทุกชาติที่ไป. ตั้งแต่ปี 2008 ทุกอย่างของสถาบันมีบุตรชายของเอโมโตะ(สำเร็จการศึกษาจากสหรัฐฯ)และคนรุ่นใหม่เป็นผู้ดำเนินงาน รวมถึงการออกวีดีโอใหม่ในหัวข้อเดิม เปลี่ยนการเขียนอธิบายงานทดลองให้มีเนื้อหาแน่นขึ้นในเว็บภาษาอังกฤษของสถาบัน ตลอดจนการนำบทวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงของนักวิทยาศาสตร์นานาชาติมาลงเป็นภาษาอังกฤษด้วย. วีดีโอรุ่นแรกที่เอโมโตะทำออกเผยแพร่ เป็นหนังสือรวมภาพมากกว่าหนังสือวิชาความรู้ เป็นหนังสือแนะให้คิดมากกว่าอื่น จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์ตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์กันมากในเชิงลบ. วีดีโอรุ่นใหม่ จ้างคนเขียนเรียบเรียงความคิดใหม่ และแปลเป็นหลายภาษา ค่อยมีเนื้อหนังมากขึ้น แต่ยังขาดรายละเอียดข้อมูลความรู้เชิงวิทยาศาตร์ตามมาตรฐานสากล.  
        จุดมุ่งหมายของเอโมโตะ เน้นอุดมการณ์เชิงมานุษยวิทยาและนิเวศศาสตร์เป็นสำคัญ  นับเป็นบริการสังคมประเภทหนึ่งด้วย.  เพื่อให้เข้ากับบริบทสังคมประเภทต่างๆ  บางครั้ง อุดมการณ์ถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นเครื่องมือเผยแพร่ศาสนาด้วย กรณีกลุ่มชุมชนมุสลิม แทรกข้อความจากคัมภีร์อัลกุรอ่านหรือการขานเรียกพระนามให้กึกก้อง เพื่อรับพลังดีๆ ฯลฯ กระชับความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ต่อคัมภีร์อัลกุรอ่าน ของพระนามศักดิ์สิทธิ์  แทนการใช้หลักฟิสิกส์อธิบาย.  การให้ความรู้เรื่องใดแบบใด ย่อมมีประเด็นของระดับความรู้(และสติปัญญา)ของผู้รับ กับบริบทสังคมที่ตอบรับได้มากน้อยเพียงใด.  การเล่าเรื่องเดียวกันซ้ำๆมาสิบกว่าปี ตลอดจนการเพิ่มเป้าหมายเรื่องธุรกิจ (ดูได้จาก company profile) ได้เปลี่ยนทีท่าของเอโมโตะ เป็นการโปรโหมดตนเองมากขึ้นๆ (เป็นข้อสังเกตส่วนตัว). 

เท่าที่รู้เห็นจากวงวิชาการของญี่ปุ่นเอง การจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา เขียนเรียบเรียงเนื้อหาให้เป็นภาษาญี่ปุ่นที่สละสลวยต่อเนื่อง มีตรรกะ(อย่างน้อยก็พอสมควร) กระตุ้นความน่าเชื่อถือ เป็นเรื่องธรรมดาในญี่ปุ่น. การจ้างชาวต่างชาติให้แปลให้เขียนแต่งเติมให้ดูดีเพื่อเผยแพร่ จึงเป็นเรื่องธรรมดาในญี่ปุ่น ไม่ถือว่าผิดกฎ แม้การจ้างคนเขียนวิทยานิพนธ์ จากข้อมูลที่ผู้จ้างให้ก็เป็นเรื่องธรรมดา. (นึกถึงท่านอาจารย์จินตนา ที่เคยเล่าว่า เขียนคำปราศรัยให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์. ท่านอาจารย์บอกว่า เสียงของจอมพลสฤษดิ์มีพลังทีเดียว).  สถาบันเอโมโตะฮาโด ก็จ้างชาวต่างชาติแปล ทำวีดีโอขึ้นใหม่.  เมื่อได้เห็นคลิปแรกๆ เทียบกับคลิปหลังๆที่สถาบันนำออกเผยแพร่ช่วงทศวรรษที่ 2010 เป็นต้นมา คำพูดเสริมชวนให้คล้อยตามดีขึ้น และมีตัวอย่างภาพมากขึ้น. อีกประการหนึ่ง เราต่างตระหนักกันดีว่า การเขียนเพื่อโปรโหมด เหมือนการโฆษณา(ชวนเชื่อ) รวมถึงการทำ résumé เปลี่ยนแปลงปรับปรุงไปตามจุดประสงค์ (และระดับผู้อ่าน). นักเขียน (นักแต่ง) มืออาชีพ จากประเด็นความจริงนิดเดียว แต่งให้เป็นนวนิยายขายดีได้! นี่เป็นวิถีสังคมสมัยใหม่ มิได้วิจารณ์ใครอย่างเฉพาะเจาะจง.


       พบรายการ ทันโลกทันธรรม ตอน เรื่องมหัศจรรย์แห่งน้ำ  ที่พูดถึงงานของเอโมโต (รายการปี 2012)  ผู้สนใจอาจย้อนกลับไปดูได้ตามลิงค์นี้ >>

หากสนใจจะเปรียบเทียบวิดีโอภาคภาษาไทยสำหรับคนไทย (เวอชั่น 2007) กับวิดีโอภาษาไทยสำหรับชาวมุสลิม ตามไปดูคลิปนี้ เนื้อหาตอนต้นเหมือนกัน แต่ฟังไปๆกลายเป็นการกระชับจิตสำนึกทางศาสนา (ดีไปอีกแบบหนึ่ง) >> https://www.youtube.com/watch?v=xxqau_Q30bM  (เวอชั่น 2014)

          ขอจบลงตรงนี้ว่า ความคิดของเอโมโตะและผลึกน้ำของเขายังคงเป็นที่กล่าวถึง. เนื้อหาเรื่องน้ำในฐานะของสสาร เป็นปริศนาข้อใหญ่ที่วิทยาศาสตร์คลาซสิกไม่อาจอธิบายได้  จึงไม่มีความก้าวหน้าในงานวิจัยเรื่องน้ำ เพราะธรรมชาติและพฤติกรรมน้ำขัดกับหลักการวิทยาศาสตร์เกือบทุกประเด็น.  ทฤษฎีควอนตัมที่ Max Planck นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน สถาปนาขึ้นในปี 1900 เป็นก้าวกระโดดสำคัญที่สุดในวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ เจาะดูธรรมชาติและพฤติกรรมของสสารและพลังงานในระดับอะตอม โฟตอนหรืออิเล็กตรอน. ทฤษฎีนี้ได้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่นั้น และนักวิทยาศาสตร์เห็นพิสูจน์นับครั้งไม่ถ้วนแล้วว่า จิตสำนึก(ความตั้งใจของคน) มีอิทธิพลเหนือสสาร มวลสาร (matter) ที่อาจส่งผลกระทบต่อๆออกไปจากระดับเล็กที่สุดไปถึงระดับจักรวาลที่ไร้ขอบเขต. ภาพผลึกน้ำของเอโมโตเป็นตัวอย่างหนึ่งในระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคน.
         ทฤษฎีควอนตัมเข้าไปพัฒนาการศึกษาวิจัยในวิทยาศาสตร์เกือบทุกแขนงทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา รวมถึงการแพทย์ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับน้ำ. การแพทย์ควอนตัม ที่รักษาด้วยเสียง ความถี่ ด้วยข้อมูลจากน้ำ ได้เริ่มขึ้นแล้วและได้ผลดีมีพยานหลักฐานยืนยันและพิสูจน์ได้.  แต่หลายทศวรรษผ่านไป ยังมีฝ่ายผู้ไม่ยอมรับรู้การเปลี่ยนแปลง หรือมองความเป็นไปได้ เพราะขัดผลประโยชน์ที่รู้เห็นกันเหลือคณา จึงมักบิดเบือนหรือปิดบังความสำเร็จหรือความก้าวหน้าของทฤษฎีควอนตัม ที่ตอบโจทย์ได้มากกว่าในเกือบทุกเรื่อง ที่นับวันพลิกความเข้าใจเรื่องโลก จักรวาล เรื่องชีวิต เรื่องจิตอย่างสิ้นเชิง. ผู้สนใจติดตามหาอ่านเอกสารวีดีทัศน์ที่มีจำนวนมากในอินเตอเน็ตต่อได้.

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะก้าวไปไกลแค่ไหน เราจะตามทันหรือไม่ ไม่สำคัญ.   
การมีจิตสำนึกที่ดี  คิดดี พูดดีและทำดี คือการเสริมสร้างพลังบวกให้แก่ชีวิตของตัวเอง. 
นี่สิดีแน่ แลนา... 

โชติรส รายงาน
๒ กรกฎาคม ๒๕๖๒.
-----------------------------------------
หากตามไปดูการค้นคว้าเรื่องน้ำในยุโรป บุคคลแรกที่โลกจารึกไว้ต้นศตวรรษที่ 20 คือ Viktor Schauberger (1885-1958 ชาวออสเตรีย) เขาทำงานให้กับกรมการป่าไม้ของออสเตรีย เป็นคนช่างสังเกตและเข้าใจธรรมชาติของน้ำเหนือคนร่วมยุคเดียวกัน. น้ำเคลื่อนไหวเหมือนกับไอน้ำที่ลอยขึ้นจากถ้วยกาแฟร้อน หรือเหมือนลมหายใจออกของทั้งพืชและสัตว์. เลือดในร่างกายคนก็เช่นกัน ไม่ได้ไหลเป็นเส้นตรงแต่ไหลวน (ตามแนวเส้นในตัวเลข 8) ไปตามเส้นเลือดใหญ่น้อย วนไปทั่วร่าง โดยมีการเต้นของหัวใจเหมือนเครื่องยนต์ที่ผลักให้เลือดไหลไปไม่หยุดยั้ง. นั่นคือน้ำหมุนวนออกจากใจกลางและไหลวนเช่นนั้นไปเหนือท้องน้ำ หาได้ไหลไปเป็นเส้นตรงไม่ (กรณีเดียวที่น้ำไหลเป็นเส้นตรงในธรรมชาติ คือเมื่อมันจะเข้าทำละลายสารอื่นหรือจะดูดซึมสารอื่น).  โดยธรรมชาติ น้ำจะพยายามกลับเข้าสู่รูปร่างกลมของมันเสมอ(หยดน้ำไม่มีเหลี่ยมหรือมุม). ถ้าสังเกตสรรพสิ่งรอบข้าง เราก็เห็นว่าลักษณะเวียนและวน (vortex) เป็นวิธีวิวัฒนาพลังงานภายในของสรรพชีวิต แนวเส้นโค้งมนเวียนไปเป็นวงๆบนเปลือกหอย หรือโครงสร้างดีเอ็นเอของคนก็เช่นกัน หมุนวนเกลียวกันแบบนี้.
       ข้อสังเกตของ Viktor Schauberger ไปกระทบกับเทคโนโลยีในวงการอุตสาหกรรมและแน่นอนรวมทั้งที่เกี่ยวกับการผลิต การวางท่อและการนำส่งน้ำในโลก เพราะ ท่อน้ำทั้งหลายสร้างเป็นท่อตรงและกลวง เท่ากับจำกัดให้น้ำอยู่ในสภาวะของตัวทำละลายหรือตัวดูดซึม แทนการรักษาสรรพคุณของน้ำในแง่ที่เป็นตัวสร้างพลังงาน. การนำส่งน้ำหรือการจัดการธารน้ำไหล (แม่น้ำ น้ำตก ทะเลสาบฯลฯ) ในธรรมชาติ จำเป็นต้องคำนึงถึงธรรมชาติของน้ำและวิธีการไหลของน้ำ. ความคิดนี้จึงไม่สบอารมณ์ฝ่ายอุตสาหกรรมนัก  ยิ่งระบบการวางท่อน้ำนั้นแผ่กระจายไปบนพื้นที่นับเป็นสิบๆถึงร้อยๆกิโลเมตรด้วยแล้ว  สรรพคุณน้ำถูกทำลายลงไปมาก  และแม้ว่าประชาชนจะได้ผลประโยชน์มากมายจากการมีน้ำใช้แพร่ไปทั้งประเทศเพียงใดก็ตาม  ก็ไม่อาจลบล้างความจริงที่ว่าคุณสมบัติและเอกลักษณ์ที่สำคัญของน้ำสูญเสียไปกับการส่งน้ำ. เดี๋ยวนี้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจการเคลื่อนไหวของน้ำอย่างแน่นอนแล้วว่า น้ำในธารน้ำธรรมชาติทั้งหลายไหลวนจากภายในลงสู่พื้นน้ำแล้วเวียนผ่านขึ้นสู่ผิวน้ำเป็นเกลียวโซ่ต่อกันไป โดยที่เกลียวตรงกลางมวลน้ำ เป็นเกลียวถี่แน่นกว่าเกลียวรอบๆมวลน้ำ ซึ่งหมายถึงความเร็วในการหมุนตัวของโมเลกุลภายในน้ำไม่เหมือนกันด้วย.  นอกจากนี้ความเร็วในการหมุนตัวของน้ำยังขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่น้ำไหลผ่าน เช่นมวลน้ำที่อยู่ชิดฝั่งไหลช้ากว่ามวลน้ำที่อยู่ตรงกลาง  แต่ในที่สุดก็จะเวียนเข้าสู่ใจกลาง เกาะเกี่ยวเข้าไปในจังหวะการไหลของมวลน้ำทั้งมวล.
       ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาดินและน้ำของ Viktor Schauberger ไปกระทบและพลิกเทคนิคที่ปฏิบัติกันมา  จึงขัดกับผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมที่วางรากฐานกันมาแล้ว. น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟฉันใด  ความคิดอันถูกต้องของเขาจึงเป็นเพียงข้อเสนอแนะที่คนพยายามลืม (บันทึกข้อสังเกตเขียนด้วยลายมือของเขาเอง ที่ส่งเป็นรายงานต่อรัฐบาล ถูกเก็บปิดเงียบเป็นความลับห้าสิบปี). บุตรชายและหลานชายได้ศึกษาและนำเทคโนโลยีของเขาสู่วงการวิทยาศาสตร์ และเป็นที่ยอมรับและชื่นชมอย่างแท้จริงเกือบหกสิบปีต่อมา. โลกทุกวันนี้ยอมรับว่า เขาเป็นผู้กรุยทางสู่เทคโนโลยีพลังน้ำสมัยใหม่ เป็นผู้วางรากฐานของ vortex technology (เน้นให้เห็นพลังน้ำที่ไหลวน เหมือนการหมุนของหลุมดำสู่ความมืดมิดสนิทที่คนยังอธิบายไม่ได้. ลมทอร์นาโดก็เช่นกันที่พัดหมุนดูดสรรพสิ่งรอบข้างเข้าสู่ศูนย์กลางเพื่ออนุรักษ์คุณสมบัติของน้ำ เพื่อให้ชาวโลกมีน้ำคุณภาพดีใช้ ควบคู่ไปกับการดูแลทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ. ติดตามอ่านผลงานของเขาได้ตามลิงค์นี้ >>

หรือติดตามไปดูเอกสารวีดีทัศน์อีกแห่งหนึ่งในหัวข้อว่า Viktor Schauberger : Comprehend and Copy Nature (Documentary of 2008) ที่นี่ >>
https://www.youtube.com/watch?v=yXPrLGUGZsw  

เอกสารเรื่องน้ำอีกเรื่องหนึ่งที่ฟังง่าย เข้าใจง่าย ที่ทำให้ตระหนักว่า ความรู้เกี่ยวกับน้ำที่มีมาจนถึงวันนี้นั้น เทียบได้กับหยดน้ำเพียงหยดเดียว ในความไพศาลของมหาสมุทรที่คือความไม่รู้ของคน. เรื่อง The Mystery of Water – What we know is a drop >> 

หรือติดตามชีวิตและอุดมการณ์ของนักปรัชญาชาวออสเตรีย Rudolf Steiner (1861-1925 ดูวิกิพีเดีย) ผู้ได้ให้แง่คิดไว้เมื่อร้อยปีกว่ามาแล้วว่า การศึกษาต้องไม่จำกัดอยู่ที่การพัฒนาสติปัญญา แต่ต้องรวมถึงการปลูกฝังความมุ่งมั่น ความตั้งใจและการเรียนรู้เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกของคนด้วย.
ฯลฯ

No comments:

Post a Comment