ศาสตร์ลับช่างหิน
บทนี้เล่าที่มาที่ไปของสหการช่างหินอย่างย่อๆ
ให้เห็นพันธสัญญาและอุดมการณ์การก่อสร้างของกลุ่มนายช่างหิน. สหการช่างหินในที่นี้
หมายถึง Freemasonry ในภาษาอังกฤษ หรือ ฟร็องมาซอนเนอรี Franc-maçonnerie ในภาษาฝรั่งเศส. เพื่อความสะดวกในบทนี้
จะใช้คำ «สหการฟร็องมาซง» หรือใช้ทับศัพท์ฝรั่งเศสว่า « ฟร็องมาซอนเนอรี » เพราะภาษาฝรั่งเศส
เป็นภาษาที่ใช้ทั่วไปทั้งในราชสำนักและในหมู่ปัญญาชนชั้นสูงและผู้มีการศึกษา(เกือบ)ทุกคนในยุโรป
(รวมถึงในสหราชอาณาจักร)ในยุคกลางเรื่อยมาจนถึงยุคใหม่.
อธิบายระบบสัญลักษณ์ของสหการฟร็องมาซง
ละเอียดเพียงพอเพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับฟร็องมาซอนเนอรีในทุกประเทศ. ส่วนประวัติวิวัฒนาการของสหการฟร็องมาซงในแต่ละชาตินั้น
ยาวและเกี่ยวกับบุคคลสำคัญหรือมีชื่อเสียงของแต่ละชาติในแต่ละยุค. การจะอธิบายแนะนำภูมิหลังของบุคคลเหล่านั้น
ทำในบริบทของข้อเขียนนี้ไม่ได้. ผู้สนใจต้องเข้าไปศึกษาประวัติศาสตร์ของแต่ละชาติ.
ตามไปอ่านต่อเองได้ ตามตัวอย่างลิงค์ที่ให้ไว้ท้ายเรื่อง
หรือเปิดเข้าไปอ่านเวอชั่นภาษาอังกฤษได้ในเน็ต.
เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ
เป็นคำขวัญที่ปรากฏบนหน้าบันของที่ทำการรัฐบาล(เกือบทุกแห่ง). คำขวัญนี้
มิใช่เพิ่งมีในยุคปฏิวัติฝรั่งเศส แต่ย้อนหลังไปนานมากในประวัติศาสตร์
ที่เกี่ยวกับสหการฟร็องมาซง. ปกติคนกำหนดว่าสหการฟร็องมาซง เริ่มในยุคกลาง,
ในความเป็นจริงมันมีมาแล้วในยุคอีจิปต์โบราณ ราวปี 1300
BCE แต่เนื่องจากขาดหลักฐานลายลักษณ์ยืนยัน
จึงจัดไว้ในหมวดข้อเท็จจริงนักไม่ได้ (แม้ว่าข้อมูลปัจจุบัน
ยังโยงไปถึงขนบและพิธีกรรมในอีจิปต์อยู่เสมอ). ในหมู่บ้านหนึ่งราว 1300 BCE คนที่เป็นนายช่างหิน
เซ้นส์ sense ได้ว่าใครเป็นนายช่างหินเหมือนกัน. ยุคนั้น
หมู่บ้านช่างหิน ชื่อ Deir el-Médineh ตั้งอยู่ตรงข้ามเมืองโบราณชื่อ Thebes ที่คือเมือง Luxor ในปัจจุบัน,
เป็นเมืองรวมวิหารและสุสานจำนวนมาก เช่น วิหารของ Amenhotep III, เสา Memnon, วิหาร Ramses III, หุบเขาราชินี เช่น วิหารของ Hatchepsout,
ไกลไปทางเหนือ
เป็นหุบเขาของกษัตริย์. ในหมู่บ้านจึงมีสมาคมนายช่างและผู้รับใช้.
สมาคมนายช่างมีหน้าที่เกี่ยวกับงานก่อสร้างสุสานและวิหารของฟาโรห์. เมื่อพิจารณาดู มีอะไรคล้ายๆกับสหการฟร็องมาซงในยุคกลางของยุโรป ที่ชวนให้คิดว่า นายช่างอีจิปต์โบราณเหล่านั้น เป็นต้นแบบของสหการฟร็องมาซงในยุโรป เป็นต้นว่า ๑) มีพื้นที่จัดเฉพาะสำหรับการประกอบพิธีกรรม.
๒) พวกเขามิได้มาชุมนุมกันเพื่อพูดถกเถียงปัญหาการก่อสร้างเท่านั้น หากแต่เพื่อการแลกเปลี่ยนศิลปะการครองชีวิตด้วย.
๓) พวกเขาให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อพิธีการอบรมเพื่อปลูกปั้นสมาชิกใหม่ ที่พวกเขาถือว่าสำคัญไม่น้อยกว่าการสร้างวิหาร.
๔) พวกเขามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับองค์ฟาโรห์ แม้พระนักบวชเองยังไม่มีอภิสิทธิ์เช่นนั้น, เป็นอภิสิทธิ์ที่เกิดจากการที่พวกเขาเป็นผู้สร้างวิหาร.
๕) การรักษาความลับประดุจชีวิต ถือเป็นเกียรติยศสูงสุด.
คนงานของหมู่บ้าน Deir el-Médineh สักการะบูชาเทวี
Mereretseger (นามของเทวีองค์นี้ แปลว่า ผู้รักความเงียบ หมายถึงการเก็บความลับ). เชื่อกันว่า ธรรมเนียมการบูชาเทวีองค์นี้
กับพิธีกรรมของชุมชนนายช่างที่นั่น น่าจะเป็นต้นเค้าของการสถาปนาสหการฟร็องมาซงในยุโรป
เนื่องจากมีกระบวนการที่คล้ายคลึงกัน แต่ไม่มีหลักฐานลายลักษณ์ที่เชื่อมโยงหมู่บ้านนี้กับฟร็องมาซอนเนอรีในยุโรปตะวันตก
แม้ว่าหมู่บ้านนายช่างอีจิปต์ที่นั่น ยังคงตั้งอยู่ต่อมาจนถึงราวปี 1000 BCE. งานวิจัยยุคปัจจุบัน
มักโยงกลับไปยังขนบประเพณีอีจิปต์โบราณเสมอ. อุปรากรเรื่องขลุ่ยวิเศษ The Magic Flute ของโมสาร์ทก็เช่นกัน โยงพิธีกรรมและกระบวนการทดสอบคนตามหลักการของฟร็องมาซงเป็นฉากหนึ่งด้วย.
โมสาร์ทเองเป็นฟร็องมาซงคนหนึ่งและได้รับเลื่อนสถานะขึ้นเป็นหัวหน้าของกลุ่ม (เป็น master mason).
คำ ฟร็องมาซง ในยุคกลาง หมายถึง นายช่างหินที่รู้จักสะกัดหินจากธรรมชาติ (pierre brute / pierre franche) นำมาตัดให้เป็นก้อนสี่เหลี่ยมตามขนาดที่ต้องการ. นำไปเป็นฐานของสิ่งก่อสร้าง. ช่างหินมีสถานะสังคม สูงกว่าสามัญชนทั่วไปเล็กน้อย. เมื่อศาสนาคริสต์เจริญรุ่งเรืองขึ้นในยุโรปตะวันตก ความต้องการสร้างวัดวาอาราม โบสถ์ วิหารและคอนแวนต์ แผ่ไปทั่วทั้งทวีป. ความต้องการคนงานที่มีฝีมือสำหรับเขตก่อสร้างเพิ่มขึ้นเท่าตัว. เหล่าฟร็องมาซงเห็นเป็นโอกาสที่จะรวมกลุ่มกันเพื่อรับมือ รับงานก่อสร้างอย่างมีประสิทธิภาพ จึงสถาปนาเป็นสหการช่างหิน (เหมือนสมาพันธ์กลุ่มอาชีพในยุคปัจจุบัน) ที่รับสมัครสมาชิกใหม่ๆเข้าไปเพิ่ม. แต่ละคนต้องผ่านการอบรมฝึกฝนและเรียนรู้หลักการทั้งการก่อสร้างและภราดรภาพภายในสหการฟร็องมาซง. สหการฟร็องมาซงกลุ่มใหญ่ อาจรวมกลุ่มย่อยอื่นๆหลายกลุ่ม ที่ดูแลรับผิดชอบงานก่อสร้างของเขตหนึ่ง (เรียกว่า loge / lodge ลอดจ์). แต่ละกลุ่มอาจมีนายช่างหิน 20-40 คน. สมาชิกเท่านั้นที่มีสิทธิ์เข้าไปในคูหาที่ตั้งของฟร็องมาซง ตำรวจหรือแม้แต่พระนักบวชของวัดก็เข้าไปภายในพื้นที่เฉพาะ(ที่กั้นปิดล้อมอย่างแน่นหนา)ไม่ได้.
สมาชิกในกลุ่มก่อสร้างเดียวกัน
แบ่งเป็นสามระดับ ๑) ระดับช่างฝึกงาน (apprentice)
ใช้สัญลักษณ์ดังนี้
ขาวงเวียนอยู่ด้านหลังไม้ฉาก, ที่หมายความว่า ผู้ฝึกงานกำลังเรียนวิชาชีพ,
วัตถุยังครอบงำจิตสำนึก. ผู้ฝึกงานเรียนรู้, จัดการและควบคุมวัสดุก่อสร้าง.
๒) ระดับช่างฝีมือ (fellow/fellowcraft หรือ compagnon ในภาษาฝรั่งเศส) ใช้สัญลักษณ์ของวงเวียนกับไม้ฉากที่ขาไขว้สลับกัน, เพื่อสื่อว่า ในระดับนี้
นายช่างทั้งหลายมีความรู้ความชำนาญกับวิจารณญาณที่สมดุลแล้ว
เขาเป็นผู้ช่วยนายช่าง(ใหญ่) (master mason
หัวหน้าของกลุ่ม) ตลอดระยะเวลาการก่อสร้าง.
๓) ระดับนายช่าง (master mason/maître). สัญลักษณ์ของนายช่าง ขาวงเวียนวางทับอยู่บนไม้ฉาก หมายความว่า วิจารณญาณและจิตสำนึกของนายช่าง อยู่เหนือวัสดุและสิ่งก่อสร้างทั้งหมด.
นายช่างเป็นนายงานผู้บริหารงานก่อสร้างทั้งสิ้นทั้งปวงตลอดระยะเวลาตั้งแต่เริ่มต้นสร้างจนงานเสร็จสมบูรณ์ลง.
สัญลักษณ์ฟร็องมาซง
สามระดับ จากซ้ายคือสัญลักษณ์ของนายช่าง, ตรงกลางของช่างฝีมือ,และด้านขวาของช่างฝึกงาน.
ตำแหน่งสมาชิกจึงขึ้นอยู่กับระดับความรู้ความสามารถของแต่ละคน
รวมถึงระดับความคิดปรัชญาและระดับจิตสำนึกในสิ่งที่เขาทำ. ขณะทำงานไป สมาชิกฟร็องมาซงก็พัฒนาจิตวิญญาณของเขาไปด้วย.
ดังตัวอย่างเรื่องเล่านี้ว่า คนสามคนกำลังตัดหินในเขตก่อสร้าง. ต่างคน ตัดหินก้อนใหญ่ตรงหน้าเขาไปเรื่อยๆ.
งานตรงหน้ายังไม่มีอะไรต่างกันนัก. คนหนึ่งเดินผ่านไป ถามนายคนหนึ่งว่าทำอะไรอยู่,
เขาตอบว่า ผมตัดหิน ผมต้องหาเงินเลี้ยงชีพ ทำมานานเหลือเกินแล้ว งานหนักแต่ทำอย่างอื่นไม่เป็น.
ผ่านไปยังคนที่สอง คำตอบคือ ผมเป็นช่างตัดหิน
ครอบครัวผมเป็นช่างตัดหินและผมก็ภูมิใจที่สืบทอดอาชีพต่อจากบิดา แต่งานหนักไม่น้อยเลย.
ผ่านยังคนที่สาม ผู้มีหน้าตาแจ่มใส
เมื่อถูกถาม เขาตอบว่า ผมกำลังสร้างโบสถ์.
คนแรกเห็นแต่งานตรงหน้า คนที่สองสืบทอดอาชีพของตระกูล ส่วนคนที่สาม มีมโนสำนึกไกลออกจากวัสดุตรงหน้า
ไปถึงภาพลักษณ์ภาพรวมสุดท้าย
ที่เป็นความยิ่งใหญ่ของอาคารสถาปัตยกรรมที่เขาเป็นผู้สร้าง. ชัดเจนว่า
นอกเหนือจากความรู้ ความชำนาญและเทคนิคของสมาชิก, ปรัชญาในการทำงานของเขา
เป็นตัวแยกแยะ จัดระดับสมาชิกว่าเป็นช่างฝึกงาน, ช่างฝีมือ หรือนายช่าง.
ในยุคกลางนั้น ศูนย์รวมสมาชิก
อยู่ในเขตก่อสร้าง เป็นคูหาใหญ่ หรือห้องใหญ่ห้องหนึ่ง
ที่นายช่างเก็บเครื่องมือและอุปกรณ์ทุกชนิดรวมทั้งหินก้อนงามๆที่มีค่า.
มีห้องเล็กอีกห้องติดกัน ที่ใช้เป็นที่ประชุม. ในห้องเล็กนี้ที่สมาชิกคนใหม่ต้องผ่านการทดสอบ,
การอบรมและรับคำสั่งสอนเพื่อเป็นสมาชิกฟร็องมาซงที่ดีและซื่อสัตย์สุจริต.
นายช่างผู้เป็นหัวหน้ากลุ่ม ประกาศว่า ใครก็ตามที่ปรารถนาจะเป็นนายช่าง
เขาเป็นได้ เมื่อเขาได้เรียนรู้วิชาชีพของเขาอย่างแท้จริงแล้ว. ในยุคนั้น
นายช่างเป็นผู้สอนศาสตร์เรขาคณิตของปีทากอรัส (Pythagorean
Theorem, Pythagoras มีชีวิตอยู่ในราวปี
570 BC-495BC), รวมทั้งสอนเทวศาสตร์และจริยธรรมตามคัมภีร์ไบเบิล.
การสั่งสอนสืบทอดด้วยปาก ไม่มีหนังสือคู่มือใดๆ.
แต่ละคนต้องเข้าใจและจดจำไว้ในตัวเขา. ฟร็องมาซงถือว่า โบสถ์ทั้งหลายคือหนังสือ (นักเขียนรุ่นหลังๆ
หลายคน ก็เคยพูดไว้ว่า โบสถ์คือไบเบิลหิน เช่น John
Ruskin
นักสุนทรียศาสตร์ชาวอังกฤษ
ผู้แต่งหนังสือ The Bible of Amiens ว่ามหาวิหารทั้งหลังของเมืองอาเมียงส์คือไบเบิล).
ปกติ นายช่างหัวหน้ากลุ่มฟร็องมาซง
ต้องเป็นคนถ่อมตนและมีจิตสำนึกละเอียดประณีต
เมื่อทำงานก่อสร้างเสร็จไปโครงการหนึ่งแล้ว, ก่อนเริ่มโครงการใหม่ เขาต้องไปช่วยงานในเขตก่อสร้างอื่นๆของนายช่างคนอื่นๆ,
คือยอมตนอยู่ใต้อำนาจของนายช่างคนอื่น ซึ่งบางทีอาจไปพบนายช่างที่ไม่มีชื่อเสียงหรือเก่งน้อยกว่าเขาก็ได้.
ประเด็นอยู่การกระชับความถ่อมตน เตือนให้ตระหนักว่า
หากมาเป็นนายช่างที่กลุ่มนี้ เพราะว่าเคยเป็นช่างฝึกงานมาก่อนในกลุ่มอื่น. ดังนั้น
ในความเป็นจริงและในจิตสำนึก
แต่ละคนยังเป็นช่างฝึกงานเพราะต้องฝึกหัดต่อไปเรื่อยๆจากกลุ่มหนึ่งไปอีกกลุ่มหนึ่ง.
ไม่มีการย้ายตำแหน่งที่เคยครอง เข้าไปในกลุ่มอื่น.
ทุกคนเริ่มด้วยการเป็นช่างฝึกงานในทุกกลุ่ม. เท่ากับว่า
ในยุคนั้น นายช่างต้องไม่หยุดทำงาน.
นายช่างที่ร่ำรวยและมีชื่อเสียงจากผลงานที่เขาทำติดต่อกันมา
ไม่มีสิทธิ์หยุดงานเพื่อไปใช้ชีวิตในความสุขสบายที่เขาคู่ควรและควรมีสิทธิ์ทำได้. แต่หลักการฟร็องมาซง
ระบุว่าเขาต้องไปทำหน้าที่ในเขตก่อสร้างอีกเขตหนึ่งต่อไปเรื่อยๆ(เมื่อยังมีงานก่อสร้างอยู่).
เมื่อมีช่างหินแปลกหน้าผู้ประสงค์เข้าไปเป็นสมาชิกในสหการหนึ่ง
เขาไปยืนตรงหน้าประตู, เคาะประตูสามครั้ง และถามขึ้นว่า มีช่างหินทำงานในถิ่นนี้ไหม,
หลังจากนั้น เขาจะต้องตอบคำถามต่างๆของนายช่างถิ่นนั้น,
อาจมีการทดสอบอื่นๆเช่นความอดทนเป็นต้น จนเป็นที่พอใจแล้ว
เขาจึงได้รับอนุญาตให้เข้าไปร่วมในสหการฟร็องมาซงนั้นได้. หลังจากจับมือทักทายกันแล้ว คนแปลกหน้าผู้มาขอเป็นสมาชิกใหม่
พูดขึ้นว่า ขอแสดงความเคารพต่อช่างหินทุกคน และหัวหน้าตอบว่า ขอให้พระเจ้าประทานพรแก่ช่างหินผู้น่าเลื่อมใสคนนี้.
คนแปลกหน้าพูดต่อไปว่า ช่างหินที่น่าเคารพของสหการที่ผมเพิ่งออกมา
ฝากข้าพเจ้ามาคารวะท่านด้วย. หลังจากนั้น เขาไปนั่งในหมู่สมาชิกอื่นๆ
เป็นอันว่าได้รับการยอมรับ, เป็นสมาชิกเต็มตัวแล้ว. ที่นั่งในสหการฟร็องมาซง ที่เป็นที่ชุมนุมของสมาชิก
เรียกว่า คอลัมภ์. เน้นนัยเปรียบ ว่าสมาชิกทุกคนจักเป็นฐาน เป็นพลังอันมั่นคงของอาคาร.
คัมภีร์เล่าว่า วิหารของซาโลมอน หรือที่รู้จักกันในนามว่า วิหารแห่งแรกในเมืองเยรูซาเล็ม สร้างขึ้นในสมัยของกษัตริย์ซาโลมอนผู้เป็นบรรพบุรุษของพระเยซู, สร้างแล้วเสร็จในปี 957 BCE. ก่อนหน้านั้น ชาวยิวใช้ชีวิตเร่ร่อน ต้อนฝูงสัตว์ไปเล็มหญ้าตามทุ่ง จากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง. ชีวิตอยู่ในกระโจม ไม่มีสิ่งก่อสร้างใด. มีการจัดกระโจมพิเศษ สำหรับเป็นที่ประดิษฐานหีบศักดิ์สิทธิ์ที่บรรจุแผ่นศิลาจารึกบัญญัติสิบประการ. ในกระโจมนี้ หัวหน้าพระนักบวชเท่านั้นที่มีสิทธิ์เข้าไปในนั้นคนเดียว, เป็นส่วนที่เรียกว่า Holy of Holies ที่ที่(ยาเว่)พระเจ้ามาปรากฏตัว สอนหรือสั่งให้ทำอะไร. เมื่อย้ายถิ่นฐานก็เก็บกระโจม หอบต่อไปยังถิ่นใหม่. การคิดสร้างวิหารเริ่มขึ้นเมื่อชาวยิวตั้งถิ่นฐานมั่นคงที่เมืองเยรูซาเล็มในรัชสมัยของซาโลมอน, จึงเป็นสถาปัตยกรรมศาสนาสถานจริงแห่งแรก. นอกจากใช้เป็นที่บูชาพระเจ้า ยังใช้เป็นสถานที่ฆ่าสังเวยสัตว์เพื่อบวงสรวงพระเจ้า. ดังที่เห็นในภาพด้านซ้าย บนฐานสี่เหลี่ยมสองชั้น เห็นควันไฟเป็นลำสูง เพราะเผาสังเวยสัตว์. ส่วนภาพด้านขวา ภาชนะโลหะขนาดใหญ่มากบนฐานรูปปั้นวัวสิบสองตัว (ที่หมายถึงชาวยิวสิบสองเผ่า) (ข้าพเจ้าเข้าใจว่า)ใช้เป็นที่เผาเครื่องหอมสรรเสริญพระเจ้า. วิหารของซาโลมอน จึงเป็น บ้านของพระเจ้าบนโลก. ในปี 586 BCE. เมื่อกษัตริย์ Nebuchadnezza แห่งอาณาจักรบาบีโลน เข้ายึดเมืองเยรูซาเล็มได้ทำลายวิหารนี้. (Wikipedia.org)
เสาคอลัมภ์ สัญลักษณ์ของพละกำลัง ขนาบทางเข้าวิหาร จึงถูกนำมาเป็นแบบประดับในระบบสัญลักษณ์ฟร็องมาซง, นอกจากโยงไปถึงวิหารแห่งแรกนี้ ยังเป็นอนุสรณ์แก่ ปรมาจารย์ฮีรัมผู้สร้างวิหารตามคำขอของกษัตริย์ซาโลมอน. (ดูคำอธิบายเกี่ยวกับเสาคอลัมภ์ต่อไปข้างล่าง). เสาคอลัมภ์สองเสาสองข้าง ที่สมาคมฟร็องมาซงรับเข้าไปใช้เป็นสัญลักษณ์ สื่อคนงานสองระดับ คือช่างฝึกงาน กับช่างฝีมือ. ภาพนี้จากปี 1800 เป็นโค้ดสัญลักษณ์ฟร็องมาซงฉบับย่อที่ผนวกสัญลักษณ์สำคัญเด่นๆ. บนสุด ดวงตาของพระเจ้ากวาดสายตามองไปทั่วโลกและจักรวาล. ลูกกลมบนสองเสา หมายถึงลูกกลมของจักรวาลและลูกกลมของโลก. ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และดวงดาว, วงเวียนกับไม้ฉาก, มีอักษร G ในช่องกลาง. (ดูความหมายของสัญลักษณ์อื่นๆต่อไปในบทความข้างล่างนี้)
ตั้งแต่ต้นยุคกลาง ชาวฟร็องมาซงรวมกันเป็นกลุ่มและพัฒนาเทคนิคการก่อสร้างของพวกเขาอยู่เสมอ.
เล่ากันว่า สันตะปาปาโบนิเฟสที่สี่ (Pope
Boniface IV, 550-615 AD) ตื่นทึ่งกับผลงานของฟร็องมาซงชาวอังกฤษผู้สร้างมหาวิหารที่เมืองแคนเทอเบอรี
(Canterbury)
ถึงกับสั่งยกเลิกการเก็บเงิน(ภาษี)ทุกชนิดในเมืองนั้น และยังอนุญาตให้ชาวฟร็องมาซงเดินทางฟรีโดยไม่ต้องเสียภาษีเดินทางใดๆด้วย.
ระหว่างยุคกลาง สหการฟร็องมาซงพัฒนาขึ้นอย่างจริงจังบนเกาะอังกฤษและในฝรั่งเศส.
พิธีกรรมและขนบฟร็องมาซง จึงสืบทอดต่อมาไม่ขาดระยะ. มีการจัดชุมนุมฟร็องมาซงเป็นคองเกรสด้วยตั้งแต่ปี
1150 เป็นต้นมา.
ศตวรรษที่ 13 เป็นยุคทองของสหการฟร็องมาซง,
เป็นยุคสิ้นสุดของศิลปะโรมาเนสก์และเป็นจุดเริ่มต้นของศิลปะกอติค.
ความสำเร็จของกลุ่มฟร็องมาซง โดยเฉพาะความลับที่เป็นออร่าโอบล้อมฟร็องมาซอนเนอรี เริ่มทำให้องค์การศาสนาคริสต์ต้องคิดหนัก.
ยุคนั้นฟร็องมาซงทุกคนเป็นคริสต์ศาสนิกชน, พวกเขากำความรู้ในการก่อสร้างไว้ภายในกลุ่ม
และสมาชิกแต่ละคนก็สาบานตนว่าจะไม่เปิดเผยความลับใดแก่ใคร. ยิ่งที
ศาสนาคริสต์อยากเลิกจ้างกลุ่มฟร็องมาซงเพราะค่าจ้างสูงมาก
แต่องค์การศาสนาในตอนนั้น ไม่มีความรู้เพียงพอที่จะสร้างวัดเองได้. ฝ่ายสหการฟร็องมาซงก็เก็บความลับการก่อสร้างไว้อย่างแน่นหนา,
เป็นตัวต่อรองราคาด้วย, พวกเขาเป็นผู้กำหนดค่าจ้างค่างานเป็นต้น.
นอกจากความรู้ด้านการก่อสร้าง การเก็บรักษาพิธีกรรมและขนบฟร็องมาซง ก็สืบทอดต่อกันมาด้วย
เพื่อธำรงจิตวิญญาณของสหการไว้ในระดับสูง. หากสามัญชนอื่นๆเข้าถึงองค์ความรู้ทั้งหมด
ทุกอย่างจะเริ่มผ่อนคลาย ความเข้มงวดลดลง จนหมดความศักดิ์สิทธิ์ไปได้
เป็นกระแสเช่นนี้ในสังคมมนุษย์แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว.
ด้านทิศใต้ของมหาวิหารน็อตเตรอดามเมืองสตร๊าสบูร์ก มีอนุสาวรีย์อนุสรณ์อุทิศแก่อัจฉริยภาพของผู้สร้างโบสถ์
และความช่ำชองชำนาญของช่างหิน. ช่างหินสะกัดหินจากแหล่งหินในธรรมชาติ,
จัดแยกวางเป็นกลุ่ม(เช่นตามสีที่คล้ายกันหรือตามลวดลายของหินที่ต่อเนื่องกันไปได้),
สลักเสลาหินแต่ละก้อนที่จะนำไปใช้ ณตำแหน่งใด, บนอาคารโบสถ์ จากก้อนหนึ่งไปอีกก้อนหนึ่ง
สร้างความต่อเนื่องของเนื้อหา อย่างมีเอกภาพเพื่อถ่ายทอดข้อความในคัมภีร์, เป็นประติมากรรมประดับโบสถ์และก่อเป็นอาคารทั้งหลัง.
หินที่ใช้สำหรับมหาวิหารที่เมืองสตร๊าสบูร์ก ประเทศฝรั่งเศส มาจากแหล่งหินในแถบเทือกเขาโวจส์
Vosges ที่เป็นแหล่งหินสีแดงๆจนถึงสีเหลืองๆ.
สัญลักษณ์เล็กๆที่เห็นบนพื้นราบ รวมสัญลักษณ์ของฟร็องมาซง ช่างหินที่ทำงานในเขตก่อสร้างนั้น. ปกติฟร็องมาซงจำหลักสัญลักษณ์ส่วนตัวของเขา ณมุมใดมุมหนึ่งบนหิน(บางทีบนฐาน หรือบริเวณที่ไม่เด่นเตะตา เหมือนซ่อนไว้). สัญลักษณ์ที่พวกเขาคิดขึ้นจากรูปลักษณ์เรขาคณิตบ้าง จากตัวอักษรบ้าง. ที่นั่น มีนักวิจัยตามเก็บรวบรวมสัญลักษณ์ของช่างหิน มารวมกันให้เห็นบนหน้าราบของอนุสาวรีย์นี้. หากติดตามไปในโบสถ์วิหารหลังอื่นๆ ที่สร้างในยุคเดียวกัน, อาจพบสัญลักษณ์เดียวกัน ที่บอกให้รู้ว่า ช่างหินคนนั้น เคยทำงานในเขตก่อสร้างของวิหารหนึ่ง ต่อไปยังวิหารหนึ่ง ที่ใดบ้าง.
ไม่ช้าไม่นาน ฝ่ายศาสนาและฝ่ายฟร็องมาซง
เริ่มขัดข้อกัน. เพื่อเตือนฝ่ายฟร็องมาซงว่า ศาสนาเป็นนายจ้าง มีการลงโทษสมาชิกฟร็องมาซงเล็กๆน้อยๆ
เช่นจับสมาชิกบางคนไปขังคุกเป็นครั้งเป็นคราว. อะไรๆไม่ราบรื่นเหมือนเมื่อก่อน,
ยิ่งเมื่อมีพระลิขิตของสันตปาปาเคลเม็นต์ที่ห้า (Pope Clement V, 1264-1314) ผู้สั่งยุบกลุ่มนักบวชอัศวิน (Les Templiers) เมื่อวันที่ 13 เดือนมีนาคม ปี 1312, ยิ่งส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของกลุ่มฟร็องมาซง
เพราะสหการฟร็องมาซง มีความสัมพันธ์ฉันมิตรกับกลุ่มนักบวชอัศวิน ผู้ปกป้องพวกฟร็องมาซง
และพวกฟร็องมาซงก็สร้างวัดอารามให้นักบวชกลุ่มนี้เป็นการตอบแทน. ทั้งสองกลุ่ม
มีขนบประเพณีที่สืบทอดมาจากอดีต ที่คล้ายๆกัน.
ดังนั้นเมื่อกลุ่มนักบวชอัศวินถูกยุบไป สถานะและความมั่นคงของสหการฟร็องมาซง
ตกในภาวะวิกฤติ. งานว่าจ้างก่อสร้างลดน้อยลงไปเรื่อยๆ, อีกทั้งเกิดปัญหาภายในหมู่สมาชิกฟร็องมาซงด้วยกันเอง.
เมื่อเทียบกับทีมงานก่อสร้างในปัจจุบัน
นายช่างฟร็องมาซง คือหัวหน้าผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง. เขาว่าจ้างคนงานจากอาชีพต่างๆที่รวมกันเป็นกลุ่มอาชีพเฉพาะกิจ
เช่นกลุ่มขนย้ายหิน, กลุ่มยกหิน, กลุ่มช่างกระจกหน้าต่างเป็นต้น.
กลุ่มอาชีพบางกลุ่ม เริ่มอยากเข้าไปแย่งงานของนายช่างหิน. พวกเขามีประสบการณ์และมีความรู้อยู่บ้างแม้จะไม่เป็นระบบนัก
แต่พวกเขาเชื่อว่า มีความสามารถพอ ที่จะบริหารเขตก่อสร้างได้โดยไม่ต้องอาศัยนายช่างหิน.
ยิ่งไปกว่านี้
ช่างฝีมือทั้งหลายอยากยกระดับตัวเองขึ้นเป็นนายช่างและรับงานเป็นอิสระ.
ในศตวรรษที่ 14 ถึง 15
วิกฤติกาลดังกล่าวภายในเขตก่อสร้าง ผลักดันให้นายช่างปรับเปลี่ยนวิธีรับสมาชิกใหม่
เปลี่ยนขนบและพิธีกรรม เช่นนี้ อุดมการณ์และคุณค่าที่สหการยึดถือมานาน จึงคลอนแคลนลง.
ในศตวรรษที่ 16 สมาชิกฟร็องมาซง ผละออกจากกลุ่ม
และสร้างองค์กรใหม่ในชื่อใหม่ ในลักษณะของสหพันธ์แรงงานยุคปัจจุบัน (compagnonnage/workers’guild
รวมคนงานหลายประเภท
ช่างฝีมือทั้งหลาย, ยึดการพัฒนาอาชีพ, สร้างความสามัคคีและช่วยเหลือกัน). องค์กรนี้ รับพิธีบางอย่างไปใช้
แต่เลิกยึดว่าตัวเองเป็นผู้สืบทอดมาจากฟร็องมาซอนเนอรี. เปิดรับสมาชิกจากทุกอาชีพ
รับมือกับสภาวการณ์ของยุค. ส่วนสหการฟร็องมาซง
เปิดรับสมาชิกจากชนชั้นปัญญาชนอื่นๆเป็นจำนวนมาก ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นวิศวกร
นายช่าง หรือเกี่ยวกับการก่อสร้างใดๆ เช่นรับแพทย์ ทนาย นักธุรกิจ นายทุน ทุกคนที่จักให้ประโยชน์แก่สมาคม
เพื่อแลกกับการเป็นสมาชิกทรงเกียรติของสหการฟร็องมาซง. ยุคนั้น กลุ่มฟร็องมาซงหมดงานการก่อสร้างวัดวาอารามแล้ว
แต่สมาคมกลับขยายใหญ่เพราะมีสมาชิกอื่นๆจำนวนมาก. หมดยุคของการถ่ายทอดศาสตร์วิชาเรขาคณิตของปิทากอรัส.
นโยบายเปลี่ยนไป, วิชาความรู้ไม่สำคัญเท่ากับการมีพรรคพวก รวมจำนวนคนให้มากขึ้นเพื่อแสดงพลังของหมู่คณะ.
อุดมการณ์ตอนนี้ ไม่ใช่อยู่ที่การสร้างโบสถ์วิหารอารามด้วยหิน
และ ตั้งเป้าหมายสร้างโลกด้วยความคิด. มีอุดมการณ์(ที่ฟังดูน่าเลื่อมใส)เช่น
ความร่วมมือในหมู่คนเสรี, อบรมศีลธรรมและจริยธรรม, เสนอแนวทางดำรงชีวิต,
ปลูกฝังภราดลภาพ ความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ความใจกว้างยอมรับความต่าง,
เรียนระบบสัญลักษณ์ที่นำไปสู่การพัฒนาจิตวิญญาณ,
ยอมรับขนบและพิธีกรรมเพื่อสร้างสมาชิกใหม่ๆที่มีคุณภาพ เป็นต้น. เช่นนี้สหการฟร็องมาซง
เบนไปสร้างพลังใหม่ๆที่เปลี่ยนจุดยืนหลายอย่างในสังคมตะวันตก.
การพัฒนาสหการฟร็องมาซง เกิดขึ้นในหลายประเทศในยุโรป
ที่โดดเด่นมากคือในสหราชอาณาจักร เมื่อมีการรวมตัวของสมาคมฟรีเมสันย่อยสี่แห่งของลอนดอนและเวสต์มินสเตอร์ เข้าด้วยกัน
ณภัตตาคารใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน วันที่ 24
มิถุนายน 1717 และจัดตั้งเป็นสมาคมฟรีเมสันใหญ่ประจำกรุงลอนดอน เรียกว่า The Premier Grand Lodge of England ปัจจุบันมีชื่อว่า
The United Grand Lodge of England (UGLE, ref. Douglas Knoop, The Genesis of Freemasonry, Manchester
University Press, 1947). ในปี 1717 นั้น ยกเลิกเป้าหมายของการเป็นผู้ลงมือสร้างสถาปัตยกรรม
(operative freemasonry)
และเบนไปสู่การพัฒนาจิตวิญญาณให้อยู่ในระดับสูง ให้เหมือนการสร้างวัดไว้ในใจคน (speculative
freemasonry). สมาชิกเป็น “ภราดา” (brother) แต่ละคนนำความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆที่ร่วมกันพัฒนาจรรโลงจริยธรรมในสังคม
(เช่น tolerance, understanding)
ควบคู่กับการพัฒนาจิตสำนึกของตนเอง และศึกษาทำความเข้าใจกับการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ที่เริ่มขึ้นในศตวรรษที่
17. ก่อนหน้านั้น สมาชิกฟรีเมสันแบ่งออกเป็นสามระดับคือช่างฝึกงาน,
ช่างฝีมือและนายช่าง, ตั้งแต่ปี 1736 การแยกแยะสมาชิกเกือบไม่มีข้อจำกัดใดๆ
เปิดให้แต่ละกลุ่มย่อยบริหารจัดการอย่างอิสระ. นี่เป็นแบบสมาคมฟรีเมสันของลอนดอน. (สนใจฟังรายละเอียดจากวีดีโอนี้
https://www.ugle.org.uk/about-freemasonry). โดยเฉพาะในปี 1736 เมื่อ Michael Ramsay สมาชิกจากตระกูลผู้ดีเก่า, พูดกระตุ้นและกระชับอุดมการณ์ของฟรีเมสัน
ทำให้สมาคมฟรีเมสันของลอนดอนมีชื่อเสียงโด่งดังมาก ที่มีส่วนนำการพัฒนาสหการฟร็องมาซงยุคใหม่ในฝรั่งเศส.
ในปี 1737 เขาได้แต่งสุนทรพจน์ที่รู้จักและอ้างอิงกันเสมอมาตั้งแต่นั้น ด้วยการเชื่อมสหการฟรีเมสันกับอัศวินครูเสด (Ref. Discourse pronounced at the reception of Freemasons by
Monsieur de Ramsay, Grand Orator of the Order).
สหการฟร็องมาซงในประเทศอื่นๆ
โผล่ขึ้นทั่วไปอย่างรวดเร็ว บางแห่งไม่มีการบริหารจัดการที่ดีหรือมีอุดมการณ์ที่ชัดเจนนัก
ได้สร้างความหงุดหงิดรำคาญใจแก่องค์การศาสนาคริสต์. ในที่สุดสันตะปาปาเคลเม็นต์ที่สิบสอง
ออกพระลิขิตประณามสหการฟร็องมาซงและห้ามคริสต์ศาสนิกชนเข้าไปร่วมหรือยุ่งเกี่ยวใดๆกับสหการฟร็องมาซง.
ฝรั่งเศสรอดตัวมาได้ เพราะสมาคมอยู่ในความคุ้มครองของดยุ๊คแห่งอ็องแต็ง (Louis PARDAILLAN DE GONDRIN, Le Duc d’Antin,
1722-1743) ผู้เป็น “นายใหญ่”
คนแรกของสหการฟร็องมาซงในฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 1738 (le
Grand Maître général et perpétuel des Maçons), เขาบริหารจัดการสมาคมจากปราสาทที่เมือง
Aubigny. กลุ่มฟร็องมาซงฝรั่งเศสจึงรอดตัวมาได้, ไม่ตกอยู่ใต้กฎบังคมของสันตะปาปา.
การประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา แยกตนออกจากสหราชอาณาจักร
จนกลายเป็นการปฏิวัติอเมริกาในปี 1776
(American Revolution) ได้ยึดหลักการมนุษยชนของฟร็องมาซอนเนอรีฝรั่งเศส.
ในฝรั่งเศสมีสมาชิกรวมกันประมาณ 70.000 คน กระจายไปอยู่ในสหการย่อยทั้งหมดราว
700 แห่ง. พวกเขาตระหนักแล้วว่า เมื่อรวมตัวกันเป็นหนึ่ง สหการฟร็องมาซงจักมีอำนาจทางการเมืองด้วย.
เมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789
หลายคนเชื่อว่า เบื้องหลังเป็นการยุยงและสมรู้ร่วมคิดของสหการฟร็องมาซงฝรั่งเศส
ที่มีอำนาจบริหารและควบคุมอำนาจในยุคนั้น. จะเท็จจริงหรือไม่ นโปเลียนเอง
ประกาศรับรองสหการฟร็องมาซงอย่างเป็นทางการตลอดยุคสมัยของเขา.
เขารู้ว่าเป็นการดีที่เอาสมาคมลับทั้งหลาย มาเป็นพวกแทนการเป็นปริปักษ์.
นี่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการแข่งดีแข่งเด่น จนกลายเป็นความเกลียดชังระหว่างศาสนาคริสต์กับกลุ่มฟร็องมาซง.
อย่างไรก็ดี เบื้องหลังอุดมการณ์ที่ประกาศไว้, ในความเป็นจริง
การบริหารภายในสหการเอง ค่อยๆเบนห่างออกไปสู่ปัญหาปากท้อง (เงินเดือน เงินบำนาญ),
ปัญหาสังคม (การหย่าร้าง), ปัญหาโรคพิษสุราเรื้อรังเป็นต้น.
จิตสำนึกด้านมานุษยธรรมถูกละเลย, นโยบายของสมาคมบางอย่าง ก็ไม่ถูกทำนองคลองธรรมนัก,
ยิ่งไปเกาะตามกระแสการเมือง โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 1870 ในกระทรวงกลาโหม
ที่สมาชิกระดับผู้นำเป็นฟร็องมาซง 8
ใน 12 คน. ไม่นานต่อมา Jules Ferry เข้าร่วมเป็นสมาชิกฟร็องมาซง (1875)
และ Jules Favre (1877) เท่ากับว่า 10 ใน 12 เจ้าหน้าที่รัฐสูงสุด
เป็นฟร็องมาซง ย่อมมีอำนาจตัดสินใจสูง. โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 1904 กลุ่มฟร็องมาซง ต่อต้านศาสนาคริสต์อย่างเปิดเผยและรุนแรงยิ่งขึ้นอีก
และในที่สุดกำหนดทิศทางการเมืองของฝรั่งเศสอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่นั้นมา. นั่นคือ ตั้งแต่วันที่
9 ธันวาคม 1905
มีกฎหมายแยกศาสนาออกจากรัฐอย่างเด็ดขาด, ประกาศให้ฝรั่งเศสเป็นรัฐปลอดอิทธิพลศาสนา
(secularism)
แยกการปกครองออกจากสถาบันศาสนาไม่ว่าศาสนาใด, ห้ามลัทธิใดเช่นแคทอลิก
เข้าไปแทรกแซงในระบบการเรียนการสอนในทุกโรงเรียน. นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 1894 และสืบต่อมาตลอดระยะเวลาอันยาวนานถึง 12 ปี เกิดกรณีที่สร้างความแตกร้าวแบบฉีกอกชาวประชาออกเป็นสองฝ่าย
คือกรณีถอดถอนยศนายทหาร กัปตันอัลเฟรด เดรฟุส (Alfred
Dreyfus)
เชื้อสายยิวในกองทัพฝรั่งเศส
ด้วยข้ออ้างทรยศต่อชาติ
(บนฐานอคติสุดโต่งว่า กัปตันเดรฟุสมีเชื้อสายยิว. ผลการต่อสู้คดี เดรฟุสเป็นผู้บริสุทธิ์และได้รับการคืนยศในกองทหารในปี
1906). เรื่องนี้สร้างความอื้อฉาวมากในสังคมฝรั่งเศสยุคนั้น
ที่เป็นผลการกระทำ การสอดแนมของสมาชิกฟร็องมาซงในกองทหารฝรั่งเศส.
ชื่อเสียงของสมาคมฟร็องมาซง
ด่างพร้อยมาตั้งแต่นั้น.
ยุคทองของสมาคมฟร็องมาซง จบลงในศตวรรษที่ 18 ค่อยๆกลายเป็นคลับชนชั้นผู้ดีและปัญญาชนชั้นสูงเช่นนักวิทยาศาสตร์และศิลปิน
ทั้งหมดรวมกันเป็นชนกลุ่มน้อย แม้จะมีอิทธิพลในสังคม. ยิ่งในศตวรรษที่ 21 นี้
กลายเป็นคลับรวมผู้สนใจประวัติศาสตร์ ผู้ยังสนุกกับการร่วมพิธีตามขนบอัศวินสมัยก่อน, หรือเป็นสมาคมเพื่อการกุศล. มีรายการออกในโทรทัศน์อย่างต่อเนื่อง
เนื้อหาแนวศาสตร์ลึกลับ, ข่าวอื้อฉาว, แฉเบื้องหลังหรือข่าวสืบสวนสอบสวนนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามเป็นต้น, โดยเฉพาะเมื่อคนรุ่นใหม่เข้าไปร่วมเป็นสมาชิก มีนักธุรกิจ, ผู้ทำงานด้านประชาสัมพันธ์,
ด้านเทคโนโลยีดิจิตัลเป็นต้น. ปัจจุบันมีประมาณ 6200 กลุ่มในฝรั่งเศสและรวมสมาชิกกว่า
140.000 คน.
สหการฟร็องมาซงที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส คือ Le Grand Orient de France ที่ใช้อักษรย่อว่า GODF. Orient ในที่นี้หมายถึงอีจิปต์. ตั้งแต่ที่นโปเลียนเข้าไปยึดครองกรุงไคโรและจัดตั้งสถาบันอีจิปต์ขึ้นที่นั่นในเดือนสิงหาคมปี
1798 การวิจัยด้านอีจิปต์เป็นที่สนใจอย่างยิ่งยวดในหมู่ปัญญาชนชั้นสูง. (ติดตามอ่านบทบาทและประสบการณ์จากการไปสงครามที่อีจิปต์ของกองเรือรบของนโปเลียน
ในเชิงอรรถหมายเลข [1] ข้างล่างนี้)
สหการ GODF
ในปัจจุบัน ประกาศว่าต้องการให้เป็นพื้นที่เพื่อการตรึกตรอง,
พัฒนศักยภาพส่วนบุคคล ทั้งด้านจิตวิญญาณและปรัชญา,
ให้แต่ละสมาชิกค้นพบความจริงในตัวตนของเขาเอง, จึงเน้นย้ำอย่างไม่ลดละว่า ฝรั่งเศสต้องเป็นรัฐอิสระจากอิทธิพลของทุกศาสนาในทุกสถาบัน,
ให้ทุกคนมีเสรีภาพของจิตสำนึกเกี่ยวกับศาสนาอย่างแท้จริง
และต่อต้านการถือผิวชังพันธุ์. นอกจากนี้ ยังเป็นผู้โปรโหมดเสรีภาพ
ความเสมอภาคและภราดรภาพในระดับโลก, กระชับภราดรภาพในระดับโลก,
ต่อต้านการกระทำใดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยทุกรูปแบบ,
และส่งเสริมมนุษยธรรมในสังคมและในโลก เป็นต้น.
คนภายนอกมองฟร็องมาซอนเนอรี ยังไม่ค่อยเข้าใจหรือวางใจนัก
อาจเป็นเพราะอุดมการณ์ด้านจิตวิญญาณที่ประกาศกันไว้ ค่อยๆมลายหายไปในโลกยุคใหม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสมาชิกฟร็องมาซง ไปสมรู้ร่วมคิดกับนโยบายการเมืองหรือเศรษฐกิจของชาติ.
ระบบสัญลักษณ์ที่ใช้ในฟร็องมาซอนเนอรี
ยุคกลาง ทุกอย่างเป็นสัญลักษณ์. สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรม
ไม่สักแต่ว่าเห็น ต้องมองไปถึงนามธรรมที่แฝงอยู่ในรูปลักษณ์นั้นด้วย. เช่นตัวอย่างในขนบศาสนาคริสต์
ดวงอาทิตย์ นอกจากเป็นแสงสว่าง ความร้อน ยังโยงไปถึงพระผู้สร้าง พระผู้ช่วยส่องทางให้ศาสนิกเดินออกจากทางที่มืดมัวเป็นต้น.
ในฟร็องมาซอนเนอรีก็เช่นกัน รูปลักษณ์หนึ่ง ยังเก็บนัยอื่น ซ่อนแทรกอยู่ภายใน
ที่สมาชิกกลุ่มเดียวกันได้เคยกำหนดไว้ จึงเป็นที่เข้าใจในหมู่สมาชิกด้วยกัน.
เกือบทั้งหมดเป็นระบบเขียนหรือภาพ.
วิธีการหนึ่ง
คือการใช้จุดสามจุดต่อท้ายอักษรตัวแรกของคำ. สามจุดที่เอามาใช้
จัดเรียงให้เป็นสามเหลี่ยมดังนี้ ؞ การใช้สามจุด อาจหมายถึง ตรีเอกานุภาพ (Trinity
ในศาสนาคริสต์), หรือหมายถึงแสงสว่าง ที่เห็นเป็นรูปสามเหลี่ยมทรงสูงในท้องฟ้า
ด้านทิศตะวันออกก่อนอรุณรุ่งหรือด้านทิศตะวันตกหลังอาทิตย์อัสดง เรียกกันทั่วไปว่า
เป็นแสง zodiacal light. สามเหลี่ยมยังอาจโยงไปถึงอักษรเดลต้า Δ ในภาษากรีกที่ตรงกับอักษรละติน
D. รูปลักษณ์สามเหลี่ยมใช้เป็นกรอบหรือแบบประดับบนกำแพงของอาคาร
วัดวิหารเป็นต้น.
ฟร็องมาซง นำสามจุดมาใช้ เติมหลังอักษรตัวแรกของคำๆหนึ่ง
เปลี่ยนทั้งคำเป็นอักษรย่อ. เช่นคำว่า frère (ภราดร)
เอาอักษร F ต่อด้วยสามจุด ได้คำ F؞ ถ้าเป็นคำพหูพจน์ frères ซ้ำอักษรตัวแรก ตามด้วยสามจุด จึงเป็น
FF؞ ในสำนวนที่มีสองคำเช่น respectables loges จะเขียนว่า RR؞ LL؞ อักษรหนึ่ง อาจขึ้นต้นคำอื่นๆอีกหลายคำ
บางทีเดาไม่ออกว่ามาจากคำอะไร เพื่อเจาะจงให้ชัดเจน อาจเลือกอักษรสองสามตัวแรกมาเป็นคำย่อ
เช่น apprentice เขียนย่อเป็น App؞ ในจารึกฟร็องมาซง มักเห็นข้อความ A la Gloire du Grand Architecte de l’Univers ในความหมายของการ สรรเสริญสถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ของจักรวาล เขียนเป็นอักษรย่อดังนี้ A؞ L؞ G؞ D؞ G؞ A؞ D؞ L’U؞ การเขียนอักษรย่อแบบนี้
ง่ายแต่มีข้อจำกัด หากเป็นประโยคยาวๆ ก็สับสนได้
(แต่เขาต้องการให้คนนอกกลุ่มสับสนอยู่แล้ว). ความที่กลุ่มฟร็องมาซง ใช้สามจุดนี้กันบ่อยมาก
จึงได้สมญานามว่าเป็นกลุ่ม ภราดาสามจุด.
นอกจากการเขียนด้วยสามจุด วิธีหนึ่งคือการใช้ anagramme หรือคำผวนแทนการพูดตรงๆ (เข้าใจว่าเรื่องนี้คนไทยชำนาญเป็นพิเศษ) เช่นลงนามจดหมายว่า Monsieur Carpidie เพื่อบอกว่า ส่งไปจากกลุ่ม Loge de Picardie หรือ ลงนามว่า Monsieur Lanniecase เพื่อบอกว่าไปจาก Loge Alsacienne เป็นต้น. (การผวนคำแบบตะวันตก ไม่เกี่ยวกับคำหยาบหรือเรื่องลามก). นอกจากชื่อ ยังมีเรื่องวันที่ ที่ทำให้คนนอกงงงวย ทั้งนี้เพราะกลุ่มฟร็องมาซง มีปฏิทินที่ไม่เหมือนปฏิทินสากลที่ใช้กัน. มีนาคมเป็นเดือนแรกของปีฟร็องมาซง โยงไปถึงกลุ่มดาวลูกแกะ ตรงกับราศีเมษ ที่เป็นราศีแรกในจักรราศี, แล้วบวกตัวเลขเข้าไปในปีอีก 4000 เป็น 4000 ปีเพิ่มขึ้นจากปฏิทินสากล เช่น วันที่ 5 มีนาคมปี 2020 พวกฟร็องมาซงเขียนว่า วันที่ 5 เดือนแรกของปี 6020. พวกเขาถือว่าปฏิทินสากล (Gregorian calendar) เป็นระบบปฏิทินที่ต่ำต้อย. วันที่ 20 มกราคมปี 2020 จะเขียนเป็นวันที่ 20 ของเดือนที่ 11 ปี 6019 (ในเมื่อมีนาคมเป็นเดือนแรกของปี เดือนมกราคมจึงเป็นเดือนที่สิบเอ็ดของปีก่อน). สมาชิกฟร็องมาซง พอได้เพลินกับการปั่นหัวคนนอกกลุ่มแบบนี้. การเขียนชื่อหรือวันที่ดังที่เล่ามา ค่อยๆหยุดลง.
เรียกผังนี้ว่า mémotechnique ผังอักษรในกรอบเรขาคณิต
อาจไม่เหมือนกันสำหรับทุกกลุ่มฟร็องมาซง, ผังข้างบนนี้เป็นตัวอย่างแบบหนึ่ง
ที่ใช้แพร่หลายในฝรั่งเศส แต่ยังมีผังอื่นเช่นตัวอย่างภาพต่อไปข้างล่างนี้,
อักษรตัวเล็กกับอักษรตัวใหญ่ก็เขียนต่างกันด้วย. แทนการเขียนตัวอักษร
เขาเขียนเพียงกรอบเรขาคณิตที่ตัวอักษรนั้นตั้งอยู่ตามผังนี้ เช่น ชื่อ CHOTIROS เขียนเป็นรูปเรขาฟร็องมาซงได้ดังนี้
ดวงตา เป็นสัญลักษณ์ในฟร็องมาซอนเนอรี เรียกว่า The Eye of Providence ซึ่งอาจหมายถึงพระเจ้า, ผู้เป็นใหญ่หรือผู้สร้างจักรวาล. ต่อมาสหการฟรีเมสันในสหราชอาณาจักร เปลี่ยนไปใช้อักษร G แทนคำว่า God และในที่สุด G ผนวกนัยอื่นๆ ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของกลุ่มฟร็องมาซงในทุกประเทศ โดยเฉพาะเน้นนัยของสถาปนิกผู้สร้าง มากกว่าจำกัดให้เป็นพระเจ้าในศาสนาคริสต์เท่านั้น และเปิดให้ผู้นับถือศาสนาอื่นด้วย. นัยของการก่อสร้างจึงถูกยกระดับขึ้นสูงที่สุด. แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว สถาปัตยกรรม คือสุดยอดของศิลปะ ที่รวมจิตรกรรม ประติมากรรมและเนรมิตศิลป์อื่นๆที่รังสรรค์ขึ้นเพื่อประกอบหรือประดับสถาปัตยกรรม. G จึงอาจเป็นอักษรย่อของ Geometry เรขาคณิต, Geometer นักเรขาคณิต ที่เป็นศาสตร์ของตัวเลขบนพื้นที่, G ของแรงโน้มถ่วง Gravitation, G ของคำ Gnosticism ลัทธินอซติก (ลัทธินอกรีตที่เชื่อในญาณหยั่งรู้จักรวาล) จนอาจเป็น G จากคำ Generation เป็นต้น. อักษร G จึงอาจโยงไปยังสำนวน สถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ของจักรวาล (Grand Architecte de l’Univers / Great Architect of the Universe) ขยายนัยของ G ออกไปกว้างเพื่อรวมหลักปรัชญาอื่นๆเข้าไปด้วย.
รูปวงเวียน กับไม้ฉาก สามเหลี่ยม สายดิ่งกับไม้บรรทัด กับอักษร G รวมกันในวงกลม รวมสัญลักษณ์อย่างย่อที่สุดของช่างฟร็องมาซง. อักษร G มองลึกลงไป ยังมีนัยแฝงอีก. อักษรละติน G คืออักษรตัว กัมม่า gamma ในภาษากรีก เมื่อเป็นอักษรตัวเล็ก เขียนเป็น γ และอักษรตัวใหญ่เขียนดังนี้ Г . กัมม่า ตัวเล็ก γ เหมือนอักษรโรมัน วาย Y ที่มีนัยซ้อนจากสัญลักษณ์ที่ใช้ในภราดรภาพกลุ่มปิทากอรัส (Brotherhood of Pythagoreans ผู้ศึกษาศาสตร์ของตัวเลขตามทฤษฎีของปิทากอรัส), เป็นกลุ่มนักคณิตศาสตร์ ที่มีขนบและพิธีกรรมเฉพาะกลุ่ม. เป็นที่เข้าใจกันว่า ศาสตร์ของตัวเลขคือ ศาสตร์ของการก่อสร้างในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการรังสฤษฎ์ในมิติของเวลา (ดนตรี musica), มิติของพื้นที่ (เรขาคณิต geometry) และมิติของกาลเทศะ (ดาราศาสตร์ astrology). ตัวกัมม่า γ คือทางสองทางที่แยกออกจากแกนเดียวกัน (หมายถึงการเป็นทวิภาวะ duality ที่แบ่งแยกออกจากเอกภาพเดียวกัน). เมื่อมาใช้ในบริบทของฟร็องมาซง ทางหนึ่งคือเส้นทางของสามัญชนผู้ไม่มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์นี้ กับเส้นทางของผู้ที่เป็นสมาชิกกลุ่มแล้ว ได้เรียนรู้ศาสตร์และศักยภาพของศาสตร์แห่งตัวเลข ที่เป็นฐานสำคัญของสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม. ส่วนอักษรกัมม่าตัวใหญ่ Г คือ ไม้ฉาก เครื่องมือคู่ชีพของฟร็องมาซง.
มีบทสนทนาที่เล่ากันสืบต่อมาระหว่างนายช่างใหญ่สองคน
คนหนึ่งยังอยู่ในตำแหน่ง
(Venerable master)
และบริหารเขตก่อสร้าง, ส่วนอีกคนหนึ่งนั้น หน้าที่การงานสิ้นสุดลงแล้ว (Past master).
ทั้งสองพูดคุยกันในทำนองนี้
นายช่างใหญ่ : ภราดาผู้เคยเป็นใหญ่
มีอะไรอยู่ตรงกลางของดาวที่สว่างกระจ่างตาดวงนั้น
นายช่างผู้เคยเป็นใหญ่ : คือกัมม่าของปีทากอรัส
ท่านผู้เป็นใหญ่
นายช่างใหญ่ : มันหมายถึงอะไร
นายช่างผู้เคยเป็นใหญ่ :
กัมม่า สะท้อนมุมลึกลับที่ตาคนอื่นมองไม่เห็น และถ่ายทอดลงในไม้ฉากของผู้เป็นนายช่างใหญ่.
อักษรกัมม่า ภายในดวงดาวห้าแฉกที่มีทุกด้านยาวเท่ากัน (pentagram ไม่ว่าจะลากเส้นจากจุดไหน จะกลับไปบรรจบตรงจุดเริ่มต้น). มีผู้มองว่า ปลายห้ามุม เป็นสามเหลี่ยมห้ารูป แผ่ออกไปจากรูปห้าเหลี่ยมตรงกลาง. อาจสื่อนัยของจักรวาลที่ประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศธาตุ (ที่แทรกอยู่ในที่ว่างของสสาร เรียกว่า อีเธอร์/Ether).
ภาพซ้ายเป็นประติมากรรมจำหลักนูน ศิลปะโรมาเนสก์ในราวปี 1195 บนหน้าบันวัดแห่งหนึ่ง (Church of Our Lady of the Assumption) ที่เมือง Leache ห่างจากเมือง Pamplona ห้าสิบกิโลเมตร ในจังหวัด Navarra ประเทศสเปน. เมืองนี้ตั้งอยู่บนเส้นทางจาริกสู่เมืองซันติอาโก เด กมโป๊สเตลา (Santiago de Compostela). ร่างคนในวงกลม สอดเป็นพื้น เป็นฐานซ้อนเข้าไปในดวงดาวห้าด้านเท่า เป็นภาพของ มนุษย์สากลหรือคนจักรวาล Universal Man ที่ทำให้นึกถึงภาพ Vitruvian Man ของเลโอนาร์โด ดาวินชี (ภาพขวา) ที่เขาวาดขึ้นในปี 1490. คนและจักรวาลสะท้อนกันและกัน คนเป็นจักรวาลฉบับจิ๋ว (microcosm) ในจักรวาลใหญ่ (macrocosm). เครดิตภาพที่นี่.
ชาวฟร็องมาซง มักจัดอักษรกัมม่าลงในจุดใจกลางของดวงดาวห้ามุมด้านเท้า (pentagram ตามขนบคริสต์ โยงไปถึงบาดแผลห้าแห่งบนร่างของพระเยซูเมื่อถูกตรึงกางเขน เนื่องจากฟร็องมาซงสร้างวัดวิหารโบสถ์คริสต์. ดวงดาวบนธงชาติอเมริกันก็เป็นดาวห้าแฉก ดั้งเดิมอาจโยงไปถึงพระเจ้า ดังที่เจาะจงในสำนวน in God we trust เมื่อเริ่มสถาปนาประเทศสหรัฐฯ) เช่นนี้ ช่วยให้คนค้นพบศูนย์กลางบนพื้นที่เรขาคณิต และศูนย์กลางของวิญญาณสำนึกที่แทนด้วยดวงดาว, จึงเหมือนเชื่อมโยงพื้นที่โลกกับจักรวาล. แต่นัยนี้ค่อยๆหายไปจากความทรงจำของคนรุ่นหลังๆ ตั้งแต่ที่นำอักษรโรมัน G เข้าไปแทนที่. (G7 ที่ใช้เรียกกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมระบอบประชาธิปไตย เพื่อพิจารณาปัญหาเศรษฐกิจ, ความมั่นคงระหว่างประเทศและนโยบายพลังงาน, ประกอบด้วยประเทศแคนาดา, เยอรมนี, อิตาลี, ญี่ปุ่น, สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา. การใช้อักษรย่อ G อาจได้แนวโน้มมาจากขนบฟร็องมาซงก็เป็นได้ นอกจากนี้ อักษร G ยังเป็นอักษรตัวที่เจ็ด. เลข 7 มีนัยซ้อนและนัยแฝงสำคัญมากมาแต่โบราณกาล. มีเรื่องเล่าต่อๆไปอีกมากจึงจะหยุดลงตรงนี้.)
นอกจากระบบอักษร, ระบบปฏิทิน, กลุ่มฟร็องมาซงใช้เครื่องมืออาชีพของช่างเป็นสัญลักษณ์ด้วย เพราะสหการฟร็องมาซง เริ่มสถาปนาขึ้นเพื่อการก่อสร้างวัดวาอารามโบสถ์วิหารในยุคที่ศาสนาคริสต์ครอบงำสังคมตะวันตกอย่างสิ้นเชิง. แต่เมื่องานการก่อสร้างยุติลง เพราะองค์การศาสนาตระหนักถึงอิทธิพลของกลุ่มนายช่างที่เพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ศรัทธาของชาวคริสต์คลอนแคลน. สมาชิกฟร็องมาซง ยังคงใช้รูปแบบของเครื่องมืออาชีพ เป็นแบบประดับสถานที่ประชุม เครื่องแบบเครื่องแต่งกาย เครื่องใช้เป็นต้น. นำตัวอย่างเครื่องมือของนายช่างฟร็องมาซงมาอธิบายเพื่อให้เข้าใจว่า เครื่องมือแต่ละชิ้น มีนัยสำคัญทั้งในแง่การก่อสร้างสถาปัตยกรรมและในแง่การสร้าง « วัดภายในวิญญาณสำนึก » ของสมาชิก.
เครื่องมือที่รู้จักกันดีที่สุดคือ วงเวียนกับไม้ฉาก (compass & square) ที่ช่วยให้ช่างตัดหินตรวจสอบว่าหินแต่ละก้อน
เสมอกันดีเป็นเส้นเป็นมุมตั้งฉากกัน
และนำไปเข้าที่ณตำแหน่งของมันได้อย่างพอดิบพอดี.
หินที่ตัดมาอย่างดีมีสัดส่วนสมบูรณ์
ย่อมเป็นฐานที่มั่นคงแก่สถาปัตยกรรมที่ก่อร่างทะยานขึ้นสู่เบื้องบน,
ไม้ฉากจึงเป็นแผ่นดิน. เปรียบได้กับการวางฐานมั่นคงในการยกระดับจิตสำนึกของช่าง.
ไม้ฉากช่วยขจัดมุมหรือส่วนเกินที่ไม่พึงประสงค์ออกทิ้งไป
เช่นอารมณ์ความรู้สึกหรืออคติที่อาจเกิดขึ้นในใจ. แต่ไม้ฉากเท่านั้น ยังไม่เพียงพอ,
วงเวียนต้องเข้าไปเป็นตัวช่วย. สองขาของวงเวียนที่ข้างหนึ่งตรึงมั่นบนแผ่นดิน (passive) และอีกข้างหนึ่งวาดกำหนดพื้นที่ (active). วงกลมที่วงเวียนวาดลง คือท้องฟ้า, คือภาพของความสมดุลกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียว.
วงเวียนจึงสะท้อนทวิภาวะทั้งของการลงมือทำและจิตสำนึกขณะทำงาน
เป็นต้น.
สายดิ่ง (plumb line ที่มักตรึงอยู่กับแท่นสามเหลี่ยม) ที่ใช้ตรวจสอบความตรงดิ่งของสิ่งก่อสร้าง,
โดยปริยายจึงเชื่อมท้องฟ้ากับพื้นดิน และสะท้อนกันและกัน. สายดิ่งยังเชิญชวนให้คนดำดิ่งลงสู่ก้นบึ้งของหัวใจ
เท่ากับการรู้จักสำรวจจิตวิญญาณของตัวเอง. ผู้ที่สำรวจจิตใจของตัวเองเสมอ เมื่อรู้ตัว
มีสติ ย่อมไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ กิเลสหรือตัณหาใด, เกิดความสงบสันติ.
ค้อนกับสิ่ว (mallet & chisel) เป็นเครื่องมืออีกคู่หนึ่งที่สื่อทวิภาวะ ค้อนเป็นตัวลงมือ
สิ่วเป็นตัวตรึง ปักหมุดให้ค้อนทุบลง. หากช่างลงแรงมากเกินไป หินถูกทำลาย
แตกแยกออกมากเกิน. เมื่อตอกหินลงไป ผิดพลาดไป แก้ไขไม่ได้แล้ว. ช่างจึงต้องรู้จักควบคุมแรงทุบแรงตอกค้อน
เพื่อไม่ทำลายหินก้อนนั้น. ค้อนจึงอาจเหมือนการปลดปล่อยหรือความดึงดันในจิตสำนึก.
ไม้บรรทัดกับเกรียงโบกปูน
(ruler & trowel) มีหน้าที่เสริมการทำงานของนายช่าง
เพื่อเชื่อมหิน(เช่นด้วยซีเมนต์) ให้เข้าด้วยกันและเสมอกันอย่างพอดิบพอดี.
ทั้งเกรียงและไม้บรรทัดสะท้อนความร่วมมือในการงาน. การโบกปูนเป็นงานอันดับท้ายๆเมื่อสิ่งก่อสร้างเป็นรูปเป็นร่างแล้ว,
ทำให้งานปรากฏเรียบร้อยแบบ “สะอาดหมดจด”
ที่สะท้อนความสัมพันธ์อันดีระหว่างช่างด้วยกัน.
ภาพนี้รวมสัญลักษณ์ฟร็องมาซงไว้หลายชนิด (แต่ยังมีสัญลักษณ์อื่นๆอีกที่แต่ละกลุ่มย่อยอาจเพิ่มเข้าไปตามความเห็นชอบเฉพาะ) รูปลักษณ์ภายในห่วงโซ่วงกลม จากมุมบนซ้าย ตรงลง, ต่อไปตามแนวล่างของภาพ แล้วขึ้นไปตามขอบขวา เลี้ยวซ้ายไปตามแนวบนของภาพจนถึงจุดเริ่มต้น มีดังนี้ : ไม้ฉาก, สองมือจับกัน(ร่วมมือกัน), อักษร J (ดูคำอธิบายต่อไป), นาฬิกาทราย (เวลาที่ผ่านไป ไม่กลับคืน, เตือนให้ตระหนักว่าทุกอย่างมีเวลาเป็นตัวกำหนด, เวลากระตุ้นความเพียร ความตื่นตัวและความอดทนในการฝึก การเรียนรู้ กว่าจะได้เป็นคนสมบูรณ์), เกรียง, หินที่สะกัดจากธรรมชาติ แร่ธาตุของแผ่นดิน ความแข็งแกร่งของพระเจ้า, หินที่สลักเสลาเป็นลูกบาศก์ แร่ธาตุของแผ่นดิน มีศักดิ์ศรีพิเศษขึ้นอีกระดับหนึ่ง, ค้อน, กะโหลกหัวกับกระดูก ในคัมภีร์โยงไปถึงเขากอลก็อตตาที่พระเยซูถูกตรึง สื่อพันธสัญญากับความถ่อมตน, อักษร B (ดูคำอธิบายต่อไป), สายดิ่ง, วงเวียน, ดวงอาทิตย์, อักษร G ภายในสามเหลี่ยมเดลตาที่มีรังสีแผ่กระจาย, ดวงจันทร์ในหมู่ดวงดาว, จบลงที่ไม้ฉาก.
อักษร J อักษรย่อของชื่อ Jakin (Jachim) บุคคลในคัมภีร์เก่า บุตรชายคนที่สี่ของซีเมอง (Simeon เป็นลูกชายคนที่สองของจาค็อบ ผู้มีลูกชายทั้งหมด 12 คน คือสิบสองเผ่าของอิสราเอล) Jakin ผู้สถาปนาเผ่า Jakinites. (Ref. Numbers: 26:12). เสาพร้อมอักษร J จะเป็นเสาขวาหน้าวิหารซาโลมอน. คู่กับเสาที่มีอักษร B ที่เป็นอักษรย่อของชื่อ Boaz บุคคลในคัมภีร์เก่า (เล่าไว้ในเล่ม Ruth) ที่เป็นเสาซ้ายหน้าวิหาร. ทั้งสองเสารวมกันสื่อพลังอำนาจ(นัยของ B) กับความมั่นคง(นัยของ J) ของวิหารซาโลมอน. ในเขตก่อสร้างวิหารนี้ เมื่อถึงเวลาแจกเงินเดือน ช่างฝึกงานไปยืนรับเงินและพิสูจน์ตน ตรงเสา J ส่วนช่างฝีมือไปยืนรับเงินเดือนตรงเสา B. (นี่คือความหมายดั้งเดิมของเสาคอลัมภ์ J และ B ในงานก่อสร้างวิหารซาโลมอน. ตามที่เล่าไว้ในคัมภีร์เล่ม Kings 7:13-22. ความหมายนัยอื่นๆอาจเพิ่มเข้าไปในภายหลังได้) (อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับโค้ดมาโซนิก หรือประมวลคำสอนจริยธรรมที่ต้องการปลูกฝังในหมู่สมาชิกของฟร็องมาซอนเนอรีฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 19 ในเชิงอรรถ [2] ท้ายบท)
เครื่องแต่งกายของฟร็องมาซงในงานพิธีกรรม
มีอะไรพิเศษที่ต้องกล่าวถึง คือผ้ากันเปื้อน ซึ่งสมาชิกสวมทับเสื้อผ้า(ชุดสากล)ของเขา.
ดั้งเดิม เป็นแบบที่ปิดด้านหน้าของตัวตั้งแต่หน้าอกลงไปถึงเข่า
หรือแบบที่ปิดตั้งแต่เอวลงถึงเข่า. การต้องมีผ้ากันเปื้อนนั้น เพื่อกันและหยุดสะเก็ดหินที่หลุดกระเด็นเข้าตัวช่างตัดหิน.
ในยุคกลางนั้น ผ้ากันเปื้อนชิ้นนี้ เป็นหนังสัตว์ หนา
ทนและคุ้มภัยจากสะเก็ดหินได้จริง. ปัจจุบัน
เนื่องจากไม่มีสมาชิกฟร็องมาซง ทำหน้าที่ช่างก่อสร้างหรือช่างหินแล้ว
จึงเปลี่ยนไปใช้ผ้าสีขาวๆแทนและขนาดก็ยาวจากเอวปิดส่วนหน้าท้องเท่านั้น.
บนผ้ากันเปื้อน มีรูปลักษณ์ปักไว้บ้าง สมาชิกบางกลุ่ม มีภาพเครื่องมืออาชีพของนายช่างก่อสร้างปักไว้อย่างสวยงาม
เพื่อเป็นอนุสรณ์ความทรงจำของศิลปะการก่อสร้างของฟร็องมาซงในอดีต.
เครื่องแบบของสมาชิกฟร็องมาซงอังกฤษในศตวรรษที่
19 จากภาพถ่ายของสมาชิกผู้หนึ่งในยุคนั้น.
สิ่งประดับบนเสื้อด้านหน้า เป็นสัญลักษณ์เครื่องมืออาชีพของนายช่าง. สวมถุงมือขาว.
มือซ้ายวางลงบนหนังสือที่อาจเป็นหนังสือ(หรือคัมภีร์)ในหมู่สมาชิกฟร็องมาซงอังกฤษ.
มือขวาจับไม้บาตงหรือคทาเพื่อบอกจังหวะในการเดินเป็นขบวน. เครดิตภาพของ © Roby 22 janvier 2005. Licence GFDL
ขบวนฟรีเมสันชาวอังกฤษ กลุ่ม Provincial Grand
Lodge Nottinghamshire ให้ดูผ้าที่คาดปิดพุงของสมาชิก.
สมาชิกกลุ่มนี้ ตัดขนบการสวมถุงมือขาวออกไป (เพราะถือว่าไม่เกี่ยวกับฆาตรกรรมของฮีรัมแล้ว). คนนำที่อยู่ต้นขบวนแห่
ถือไม้บาตงด้ามยาว.
รายละเอียดผ้าปักปิดหน้าท้อง
(แบบผ้ากันเปื้อน) ที่มีสัญลักษณ์และเครื่องมืออาชีพช่างก่อสร้างที่ปักไว้อย่างสวยงาม.
สมาชิกยังสวมถุงมือสีขาว และสวมสร้อยที่ห้อยไม้ฉากขนาดเล็กๆ เหมือนจี้ประดับ.
ไม้ฉากของฟร็องมาซงจริงๆ ขาขวาจะยาวกว่าขาซ้าย ขาขวาจัดอยู่ด้านขวามือของผู้สวม.
ตอนบนในช่องสามเหลี่ยมสีขาว มีประกายแสงสว่างแผ่ออกไปรอบด้าน เป็นตำแหน่งของตา
ผู้ส่องจักรวาล ที่เรียกกันว่า The Eye of Providence.
ในยุคหลังที่สมาคมฟร็องมาซง
เป็นปฏิปักษ์กับศาสนาคริสต์, เปลี่ยนดวงตาเป็นอักษร G เพื่อสื่อนัยที่ครอบจักรวาลกว่า (ดังได้อธิบายมาข้างบน). ใต้ลงมา
มีรูปดวงอาทิตย์ด้านขวา และพระจันทร์เสี้ยวเล็กๆด้านซ้าย. สื่อนัยของทวิภาวะ (duality สรรพสิ่งในจักรวาล มีแสงสว่างก็มีความมืด,
มีบวกต้องมีลบเป็นของคู่กันเสมอ, หลักการเดียวกับ หยินหยัง Ying-Yang ในปรัชญาจีน). เห็นอักษรย่อสองตัว M؞ B؞
ที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า
ย่อมาจากคำใดแน่, ณขณะนี้ หลายคนเทียบว่าน่าจะมาจากคำ MoaBon (ชื่อจากคัมภีร์เก่า) และเลือกความหมายที่ว่า ชีวิตใหม่
หรือจากคำ Mac Benac ที่แปลว่า ผู้สร้างถูกทำร้าย
(โยงไปถึงฆาตรกรรมของปรมาจารย์ฮีรัม ดูต่อข้างล่างนี้). มีเส้นเชือกที่ผูกเป็นปมห่างๆ
วางเป็นครึ่งวงกลม (เชือกเป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างหนึ่งในเขตก่อสร้าง. รวมนัยที่ผูกเชื่อมสมาชิก
และการผูกเกี่ยวกันระหว่างร่างกายกับจิตสำนึก).
คอลัมภ์แบบกรีกโรมันสองข้าง ดังเล่ามา
ประดับอยู่หน้าวิหารซาโลมอน เป็นสองเสาที่รวมคนงานในวันจ่ายเงินเดือน
ช่างฝึกงานเข้าแถวหน้าคอลัมภ์หนึ่ง และช่างฝีมือเข้าแถวหน้าอีกคอลัมภ์หนึ่ง.
แยกกันสองแถว,
นอกจากเพื่อควบคุมการจ่ายเงินเดือนที่สมน้ำสมเนื้อกับคุณสมบัติของช่างแล้ว
ยังเป็นการตรวจสอบสมาชิกด้วย เพราะแต่ละคนมีรหัสลับประจำตัว
ที่เขาจะบอกแก่เจ้าหน้าที่ผู้จ่ายเงินเดือนเท่านั้น.
ตรงกลาง
เห็นสัญลักษณ์ของวงเวียนกับไม้ฉาก, ขาวงเวียนทับขาไม้ฉาก
เพื่อเน้นนัยของวิญญาณสำนึกที่อยู่เหนือสสารหรือวัสดุก่อสร้าง. แถวล่างด้านซ้าย
คือค้อนกับสิ่ว, ตรงกลางคือสายดิ่ง, และมุมขวาคือ ไม้บรรทัดกับเกรียงโบกปูน.
เครดิตภาพ จากคลิปวีดีโอเรื่อง Compredre la Symbolique Maçonnique, émission de Mysteria.
นอกจากนี้ ยังมีถุงมือขาวที่สมาชิกทุกคนต้องมี
(สมัยนี้บางกลุ่มยกเลิกไป) ดั้งเดิมมิใช่เพื่อความโก้เก๋อันใด แต่เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ.
การสวมถุงมือ ในเขตก่อสร้าง หมายถึง การพร้อมปฏิบัติหน้าที่ และเมื่อถอดถุงมือออก
เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ เช่นในกรณีสาบานตัว หรือเมื่อให้เงินเป็นทาน.
แต่กรณีสวมถุงมือขาวเริ่มขึ้นหลังจากเกิดคดีฆาตรกรรมฮีรัม
Hiram ผู้ที่สมาชิกฟร็องมาซงที่ผู้คนเคารพนับถือเยี่ยงปรมาจารย์
เพราะเขาคือสถาปนิกและหัวหน้านายงานของวิหารซาโลมอน
ที่เป็นวิหารแห่งแรกในคัมภีร์ที่เมืองเยรูซาเล็ม.
ขนบการก่อร่างสร้างตัวเป็นกลุ่มนายช่างนักก่อสร้างวัดอารามโบสถ์วิหาร
เกิดขึ้นเพราะการเริ่มสร้างวิหารซาโลมอนนี้. ดังนั้นการตายของฮีรัมจึงเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงมากในประวัติศาสตร์.
ฮีรัมได้รับมอบหมายจากกษัตริย์ซาโลมอนให้สร้างวิหารที่งามประเสริฐที่สุดให้เป็นบทสดุดีความยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า.
เขาจึงรวบรวมคนงาน แบ่งเป็นสามระดับ คือช่างฝึกงาน ช่างฝีมือ และนายช่าง.
แต่ละคนมีรหัสประจำตัว ที่เขาให้เปลี่ยนสม่ำเสมอเพื่อรักษาระดับการงานที่ได้รับมอบหมาย
เช่นเมื่อคนงานจะรับเงินเดือน คนนั้นไปยืนตรงหน้าเสาคอลัมภ์. เสาหนึ่งสำหรับช่างฝึกงาน
อีกเสาหนึ่งสำหรับช่างฝีมือ. เขาบอกรหัสของตัวเองต่อเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเรื่องจ่ายเงินเดือน
เช่นนี้ ไม่มีการผิดตัวหรือผิดพลาดในการจ่ายเงิน แต่ละคนได้รับเงินถูกต้องเหมาะกับคุณสมบัติ
ระดับชั้นและการทำงานของเขา. การก่อสร้างวิหารเยรูซาเล็ม ใช้เวลานานเจ็ดปี
และจะเสร็จสิ้นในไม่ช้า. มีช่างฝีมือสามคน ที่ปรึกษากันว่า งานก็ใกล้เสร็จแล้ว พวกเขายังไม่ได้เลื่อนขั้นขึ้นเป็นนายช่างนายงานเลย.
ทั้งสามจึงตรงไปพบฮีรัมผู้กำลังสำรวจตรวจตราความเรียบร้อยในเขตก่อสร้าง
และพยายามล้วงรหัสประจำตัวของฮีรัมเอง. ปกติฮีรัมเข้าไปในเขตก่อสร้างทางประตูทิศตะวันตกและจะออกไปทางประตูทิศใต้.
ช่างหนึ่งในสามคนไปขวางทางออกของฮีรัม ขอรหัสส่วนตัวของเขา. ฮีรัมไม่ให้
ช่างคนนั้นใช้ไม้บรรทัดฟาดลงที่คอหอยของฮีรัม. ฮีรัมพยายามหนีไปทางประตูทิศเหนือ
แต่ช่างอีกคนหนึ่งไปรอตรงนั้นอยู่แล้ว เมื่อฮีรัมไม่ยอมบอกรหัสลับของเขา
คนนั้นใช้ไม้ฉากฟาดลงที่ต้นคอของฮีรัม. ฮีรัมกระเสือกกระสนไปทางประตูทิศตะวันออก
ช่างคนที่สามไปคอยดักตรงนั้นอยู่แล้ว, เมื่อฮีรัมไม่ยอมให้รหัสลับ
คนที่สามใช้ค้อนทุบลงตรงหน้าผากของฮีรัม. ฮีรัมสิ้นใจตรงนั้น.
(ยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีก แต่จบสั้นๆตรงนี้). การตายของฮีรัมสถาปนิกปรมาจารย์
ทำให้ชาวฟร็องมาซงโศกสลดใจมาก. ตั้งแต่นั้น ถือเป็นธรรมเนียมว่า
ฟร็องมาซงจะสวมถุงมือขาว เพื่อยืนยันว่าพวกเขามีมือสะอาดและไม่ได้ร่วมลงมือฆ่าฮีรัมปรมาจารย์.
ทุกคนสวมถุงมือสีขาว ผ้ากันเปื้อนแบบเรียบง่าย ปักรูปวงเวียนกับไม้ฉาก และอักษรย่อ M؞ B؞ภาพถ่ายจากคลิปวีดีโอเรื่อง Compredre la Symbolique Maçonnique, émission de Mysteria.
แบบปักสัญลักษณ์ฟร็องมาซง ให้สังเกตว่า
ขาวงเวียนข้างหนึ่งเท่านั้น ที่ทับบนไม้ฉาก เพื่อเน้นนัยของความสมดุลระหว่างการบริหารวัสดุก่อสร้างกับการบริหารวิญญาณสำนึก.
นี่เป็นคุณสมบัติที่ดีของช่างฝีมือในสหการฟร็องมาซง(สมัยก่อน).
สองมือที่ยื่นออกมาจับกัน ก็บอกให้เข้าใจว่า ในระดับช่างฝีมือ
ความร่วมมือกันในการทำงานก่อสร้างสำคัญมาก.
ช่างฝีมือคนเดียวไม่อาจเนรมิตผลงานที่ยิ่งใหญ่ได้. กิ่งใบลอเรลรับนัยจากขนบกรีก
เป็นความสำเร็จหรือชัยชนะ. อักษร G ตามที่อธิบายข้างต้น.
ดวงตาในสามเหลี่ยมเดลตา The Eye of Providence ผู้เป็นใหญ่ในจักรวาล ผู้สอดส่องดูแล
แผ่รังสีออกไปรอบด้าน.
เป็นแบบประดับคริสต์ศิลป์แบบหนึ่งที่แพร่หลายมากในวัดวิหารบาร็อค. ในหมู่ฟร็องมาซง
ใช้เจาะจง สถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ในจักรวาล (The Great Architect of the Universe)
The Great Architect by William Blake, 1794. สถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ในจักรวาล อยู่ใจกลางวงกลม ที่คือ cosmos วงเวียนเชื่อมใจกลางของจักรวาลกับเส้นรอบวง, เชื่อมความตั้งใจกับการกระทำ,
เชื่อมสิ่งที่ตาคนมองไม่เห็นกับสิ่งที่ตาคนมองเห็น. วงเวียนเป็นอุปกรณ์ที่ทำให้สื่อนัยดังกล่าวได้.
เครดิตภาพ > William Blake, Public domain, via Wikimedia Commons.
William Blake เคยวาดภาพของนิวตัน ในฐานะของสถาปนิกจากสวรรค์ ในทศวรรษที่ 1790. ดังเห็นในภาพข้างล่างนี้
Blake ยกรูปลักษณ์อื่นๆออกหมด เก็บไว้เพียงมิติด้านคณิตศาสตร์
เพื่อสื่อการบริหาร วางแผนผังพื้นที่. ภาพนี้จาก William Blake,
Public domain, via Wikimedia Commons.
Eduardo Paollozzi เสนอภาพของ Isaac Newton ในท่า Newton in search of knowledge (นิวตันใฝ่หาความรู้). เขาสร้างเป็นประติมากรรมขนาดใหญ่ (ปี 1995) บนสนามด้านติดหอสมุด British Library เมื่อเข้าจากถนน Euston ตอนเหนือ ที่กรุงลอนดอน. ศิลปินได้ใช้ต้นแบบของ William Blake (ดังที่เห็นในภาพบนนี้) ท่าทางของนิวตันที่ก้มลงจับวงเวียน ตรึงขาลงบนพื้นที่. ศิลปินต้องการรวมอัตลักษณ์ในจิตรกรรมงานของ William Blake กับความคิดวิทยาศาสตร์ของนิวตัน มารวมไว้ในประติมากรรมชิ้นนี้ เชื่อมธรรมชาติกับวิทยาศาสตร์, กวีนิพนธ์, ศิลปะ, สถาปัตยกรรม ว่าต่างเชื่อมโยงถึงกันและพึ่งกันและกันด้วย. ร่างกายของนิวตันในประติมากรรมนี้ ชวนให้นึกถึงการประกอบรูปร่างหุ่นกลสมัยปัจจุบัน จากชิ้นส่วนกลไกมาต่อเข้าด้วยกัน ให้ดูเหมือนคนจริง คนสวมแว่นตา ที่เราเห็นจนคุ้นเคยในสังคมสมัยปัจจุบัน. ศิลปินจึงเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์กับความเป็นมนุษย์. ในมุมมองดังกล่าว ประติมากรรมนี้สอดคล้องกับเป้าหมายของหอสมุดแห่งชาติของอังกฤษ ที่ต้องการให้เป็นแหล่งบริการความรู้สู่การค้นหาความจริงที่ไร้ที่สิ้นสุดทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และด้านมานุษยวิทยา. (cf. https://www.bl.uk/about-us/our-story/explore-the-building/isaac-newton-sculpture). เครดิตภาพ จาก Eduardo Paolozzi, CC BY-SA 4.0 via Wikimedia Commons.
ภาพถ่ายจากชั้นเก้า (Observation Deck) ของอนุสรณ์สถาน ที่เปิดออกเห็นภูมิทัศน์รอบๆ Alexandria, District of Columbia. เห็นวงเวียนกับไม้ฉากประดับบนสนามด้านหน้าของอนุสรณ์สถานฯ. สมแล้วที่ยอร์ช วอชิงตันเป็นเมสัน ในฐานะประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา เขาเป็นผู้ก่อร่างสร้างประเทศที่แท้จริงคนหนึ่ง ด้วยความหวังอันสูงส่งในหัวใจ. เครดิตภาพจากเว็บนี้.
ห้องนิทรรศการห้องหนึ่งด้านทิศใต้ชั้นที่หนึ่ง บอกเล่าประวัติการสถาปนาฟรีเมสันในอาณานิคมอเมริกันและบทบาทของระบบฟรีเมสันในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา. จะเห็นในภาพว่ายังมีประธานาธิบดีและรัฐบุรุษคนอื่นๆอีกมากที่เป็นเมสัน. ในภาพนี้เห็นภาพของเบนจามิน แฟรงค์กลิน, แอนดรู แจ็กสัน และแฮรี ทรูมัน. เปิดเข้าไปดูภาพอื่นๆในอนุสรณ์สถานนี้ ตามลิงค์นี้
ดูความสลับซับซ้อนของภาพ Structure of Freemasonry. สมาคมนี้ แบ่งสมาชิกออกเป็นสามสิบสามระดับหรือ 33 เกรด (ขั้นหรือบันได คือการไต่เต้าสูงขึ้นๆ สู่ท้องฟ้า เพื่อไปถึงพระผู้เป็นใหญ่ในจักรวาล), จากตอนล่างหมายเลขหนึ่ง ที่เขียนว่า 1. Entered Apprentice สามัญชนผู้ฝึกงาน, ไป 2. Fellowcraft ช่างฝีมือ จากนั้นยังต้องไต่เต้าไปตามขาวงเวียนด้านขวากว่าจะขึ้นไปอยู่ขั้นสูงสุด (ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นราชนิกูลและหรืออัศวิน). บนขาวงเวียนด้านซ้ายก็เช่นกัน จากตำแหน่งที่ 3 Master Mason ไปสู่ขั้น Marx Master ต่อไปยัง Past Master, Most Excellent Master, จนถึงสุดท้ายที่ Royal Architect Master. บนขาวงเวียนด้านซ้าย เกี่ยวกับสมาคมนักบวชหรือนักบวชอัศวิน. เนื้อหามากเกินกว่าจะอธิบายในที่นี้. เครดิตภาพของ Jack O'Toole, CC BY-SA 3.0 via Wikimedia Commons. ผู้สนใจฟังเล็คเชอร์เรื่องนี้ได้ (ภาษาอังกฤษ) จากเว็บนี้ >> https://youtu.be/N44LQu7R_l0 (1:14:50 min)
รูปปั้นฟร็องมาซง ที่ชาวเมืองพร้อมใจกันสร้างขึ้นประดับกลางเมืองเก่า Quedlinburg (ในเยอรมนี ขึ้นทะเบียนมรดกของยูเนสโก) เพื่อเป็นอนุสรณ์ความทรงจำเกี่ยวกับสมาชิกฟร็องมาซงในอดีต. คนนั่งเป็นนายช่างใหญ่ผู้น่านับถือ มือถือค้อน มีไม้ฉากเล็กๆห้อยตรงหน้าอก และคนยืนเป็นผู้ประกอบพิธีในการชุมนุมแต่ละครั้ง. เขาถือไม้บาตงยาว บนยอดเป็นสามเหลี่ยมเล็กในสามเหลี่ยมใหญ่. ให้สังเกตว่า มีผ้ากันเปื้อนปิดหน้าท้องทั้งสองคน มีรายละเอียดสัญลักษณ์อื่นอีก. เครดิตภาพจากที่นี่.
เชิงอรรถ
[1] ในปี 1798 รัฐบาลฝรั่งเศส (Le
Directoire ยุคสาธารณรัฐที่หนึ่งของฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี
1789) สนับสนุนให้นโปเลียนนำกองทัพเรือออกไปยึดอีจิปต์
เพื่อใช้เป็นฐานสะกัดกั้นเส้นทางเดินเรือค้าขายของอังกฤษสู่อินเดียและเอเชีย.
เป็นการรักษาผลประโยชน์ของฝรั่งเศสบนดินแดนแถบฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอเรเนียน (Levant).
ดังนั้น ปี
1798 จึงเป็นปีศึกสงครามระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส
(The French Campaign in Egypt). ด้านการทหาร ฝรั่งเศสต้องประสบความหายนะ
โดยเฉพาะตั้งแต่สงครามที่เมือง Aboukir (เมืองท่าทางตะวันออกเฉียงเหนือบนฝั่งทะเลฝั่งเดียวกับเมืองอเล็กซานเดรียห่างออกไปราวสามสิบกิโลเมตร)
กองเรือรบของฝรั่งเศสถูกกองทัพเรืออังกฤษที่นายพลเนลสันเป็นผู้บัญชาการ
ทำลายย่อยยับเหลือรอดมาไม่กี่ลำ. การศึกกับอังกฤษยังไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ.
ในที่สุดฝรั่งเศสประกาศยอมแพ้และถอยทัพออกจากอีจิปต์ตั้งแต่วันที่ 31เดือนสิงหาคม ปี1801. ในฐานะผู้ชนะสงคราม อังกฤษได้ขนสรรพสิ่งอีจิปต์ที่ทีมนักวิจัยชาวฝรั่งเศสค้นพบและเก็บรักษาอย่างดี
รวมทั้งหินโรเซ็ตตา (Rosetta Stone) เอากลับไปอังกฤษ.
อย่างไรก็ดี
ระหว่างนั้น ฝรั่งเศสได้เข้าไปยึดและตั้งมั่นที่กรุงไคโร บริหารปกครองกรุงไคโรและจังหวัดในปริมณฑลตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี
1798.
กองเรือรบของนโปเลียนเมื่อออกจากฝรั่งเศสที่เมืองตูลง Toulon วันที่
4 พฤษภาคม
1798
นั้น ประกอบด้วยเรือ 280 ลำ,
ทหารบกและทหารเรือรวมกัน 54.000 คน, นักวิจัยและศิลปินแขนงต่างๆ 160 คน, ม้า 800 ตัว.
ทีมนักวิจัยนักวิทยาศาสตร์ที่ไปด้วยเช่น นักคณิตศาสตร์, นักเคมี, นักวาดเขียนและแกะภาพ, นักธรรมชาติวิทยา,
วิศวกรด้านศิลปะและอาชีพ. ปัญญาชนฝรั่งเศสยุคนั้น หลงใหลคลั่งใคล้อยากรู้อยากเรียนเกี่ยวกับอีจิปต์อย่างไม่มีอะไรจะยั้งอยู่.
พวกเขาเชื่อว่า อีจิปต์เป็นอู่อารยธรรมโบราณของตะวันตก จึงสมควรนำความคิด, เทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ๆไปหนุนนำการบริหารด้านยุทโธปกรณ์
ตัวอย่างเช่นในโครงการขุดคลองสุเอซ, การสร้างเส้นทางบกเป็นต้น. ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีเดียวกันนั้น
มีการสถาปนาสถาบันอีจิปต์ที่กรุงไคโร
โดยมีนักคณิตศาสตร์คนดังของฝรั่งเศสที่เดินทางไปด้วยชื่อ Gaspard
Monge (ชื่อเขาใช้เรียกชื่อถนนในเขตห้ากรุงปารีส)
เป็นผู้อำนวยการสถาบัน และมีนโปเลียนเป็นรองประธาน.
สถาบันนี้รวมกลุ่มนักวิจัยนักวิทยาศาสตร์ทั้งหมด จัดแบ่งออกเป็นสี่แผนกคือ
แผนกคณิตศาสตร์, แผนกฟิสิกส์,
แผนกเศรษฐกิจและการเมือง,และแผนกอักษรศาสตร์และศิลปะ. นักวิจัยต่างจับหัวข้อศึกษาตามความถนัดและความสนใจ ทั้งด้านสถาปัตยกรรม,
วิศวกรรม, พันธุ์สัตว์น้ำ, ภูมิธรณีฯลฯ. การค้นพบสรรพสิ่งและความรู้ใหม่ๆที่ทีมนักวิจัยได้เรียนรู้จากอีจิปต์
รวมกันเขียนเป็นบทความ สร้างวารสารเฉพาะชื่อ Le Courrier d’Egypte เพื่อให้ชาวฝรั่งเศสทั้งประเทศได้อ่านและมีผู้ติดตามอ่านกันมาก.
กรุงไคโรกลายเป็นศูนย์รวมนักวิจัยจากฝรั่งเศส
(มีนักเดินทางอื่นๆที่ติดตามกันไปอีจิปต์). มีเขตเมืองหน้าตาเหมือนเมืองยุโรป
คือมีหอสมุด, ห้องแล็บเคมี, สวนพฤกษศาสตร์, ห้องสะสมสิ่งต่างๆจากอีจิปต์,
ห้องสังเกตการณ์, พิพิธภัณฑ์วัตถุโบราณเป็นต้น. ยิ่งเมื่อทหารฝรั่งเศสคนหนึ่ง(ชื่อ Bouchard/Boussard ) ค้นพบแผ่นบะซอลต์
ที่มีอักษรจารึกไว้เต็ม (รู้จักกันต่อมาในนามว่า
โรเซ็ตตา Rosetta Stone) เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมปี 1799, สร้างความตื่นเต้นอย่างยิ่งในวงการนักวิจัย
เพราะเต็มไปด้วยอักษรจารึกโบราณ(hieroglyphs) ที่ไม่มีใครอ่านออก. แผ่นศิลาจารึกนี้ ถูกอังกฤษยึดเอาไป (ปัจจุบันอยู่ที่ British Museum, London). โชคยังดีที่ Jean-François Champollion ได้หล่อแผ่นโรเซ็ตตาจำลองไว้เพื่อใช้ศึกษา
จนเขาสามารถแกะระบบอักษรอีจิปต์โบราณได้ทั้งหมด และทำให้รู้ว่า เนื้อหาบนแผ่นศิลโรเซ็ตตา คือบัญญัติกฎหมายในยุคของ Ptolemy V, ทำขึ้นในปี 196 BC เป็นระบบอักษรอีจิปต์โบราณสามระบบ เล่าเนื้อหาเดียวกัน. Champollion
จึงเป็นผู้แกะอักษรอีจิปต์โบราณได้คนแรกและพิมพ์ออกมาให้โลกได้รับรู้ในปี
1822.
อีจิปต์ยุคนั้นยังไม่รู้จักการพิมพ์
ชาวฝรั่งเศสได้ไปจัดตั้งโรงพิมพ์ที่นั่น เพื่อพิมพ์วารสาร ออกหนังสือพิมพ์รายงานการค้นพบสรรพสิ่งในอีจิปต์.
นอกจากนี้ยังพิมพ์พจนานุกรม แผ่นพับและแผ่นโปสเตอร์
เพื่อเป็นข้อมูลแก่ทั้งชาวฝรั่งเศสและชาวอีจิปต์
มีการประดิษฐ์อักษรอาหรับขึ้นใช้อย่างเฉพาะเจาะจงที่นั่น.
นักวิจัยยังได้ทำตารางเปรียบเทียบมาตราชั่ง ตวง วัด
ตามระบบอีจิปต์และระบบฝรั่งเศส, คำนวณและทำปฏิทินเปรียบเทียบสามชนิดคือ
ปฏิทินอีจิปต์ ปฏิทินค้อปและปฏิทินยุโรป.
ต่อมา ที่ปารีสระหว่างปี 1809-1829 ทางการให้จัดทำสารานุกรมเกี่ยวกับอีจิปต์โดยเฉพาะ,
ชื่อว่า Description de l’Egypte สารานุกรมรุ่นแรกนี้เรียกกันว่าเป็นรุ่นจักรพรรดิ
(นโปเลียนได้รับการแต่งตั้งเป็นจักรพรรดิของชาวฝรั่งเศสในวันที่
2 ธันวาคมปี 1804 โดยสันตะปาปา Pie VII ณมหาวิหารน็อตเตรอดามกรุงปารีส), รวมเนื้อหาบทเขียนทั้งหมด
9 เล่ม และอีก 13
เล่มที่เป็นภาพจากอีจิปต์. สารานุกรมรุ่นนั้น Dominique
Vivant Denon เป็นผู้บริหารจัดทำสารานุกรมชุดนี้
ที่เป็นดั่งอนุสาวรีย์อย่างเต็มศักดิ์ศรีในตัวเอง. Dominique V.
Denon ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เลอลูวร์คนแรก
(Le Louvre, ชื่อของเขายังใช้เป็นชื่อเรียกปีกหนึ่งอาคารหนึ่ง
Denon Wing ในหมู่พิพิธภัณฑ์). สารานุกรมชุดนี้
ประกอบด้วยรายการสรรพวัตถุ อนุสาวรีย์ สถานที่ฯลฯ เกี่ยวกับอีจิปต์ต้นศตวรรษที่ 19 มีแผนผัง การ์ด
ภาพวาดต่างๆเป็นจำนวนมาก จนถึงปัจจุบันนี้
ยังคงเป็นสารานุกรมแหล่งข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับอีจิปต์สำหรับนักวิจัยอีจิปต์ศึกษาทั่วโลก.
[2] ตัวอย่างประมวลจริยธรรมของฟร็องมาซอนเนอรีฝรั่งเศส ฉบับศตวรรษที่ 19 ดังนี้
**เทิดเกียรติและศักดิ์ศรีของสถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ในจักรวาล.
จงรักผู้คนที่อยู่รอบข้างเจ้า (เพื่อนบ้านของเจ้า).
อย่าทำความชั่วใดๆ.
จงทำความดี.
ให้โอกาสทุกคนได้พูด (รับฟังทุกคน).
**ขนบที่แท้จริงของสถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่
อยู่ที่การดำรงชีวิตที่ดีและถูกต้อง.
จงทำความดี เพราะชื่นชมความดีนั้น.
จงทำจิตวิญญาณให้บริสุทธิ์ผ่องใสเพื่อพร้อมปรากฏตัวอย่างสง่างาม เบื้องหน้าสถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ในจักรวาล.
ยกย่องคนดี, เห็นใจคนอ่อนแอ, หลีกเลี่ยงคนใจร้าย แต่อย่าเกลียดผู้ใด.
ไม่พูดอ้อมค้อมกับผู้เป็นใหญ่กว่า, ระวังวาจากับผู้เสมอกัน,
พูดด้วยความจริงใจกับมิตรสหาย, พูดช้าและค่อยๆกับเด็กๆ,
พูดอ่อนโยนกับคนตกยากหรือคนจน.
อย่าประจบสอพลอภราดาร่วมกลุ่ม นั่นคือการทรยศ. ถ้าภราดาผู้ใดประจบเจ้า
ให้หวั่นใจเถิดว่าเขากำลังติดสินบนเจ้า.
จงฟังเสียงของจิตสำนึกเจ้าเสมอ.
**จงเป็นบิดาของคนยากไร้ : ความแข็งกร้าวของเจ้าที่ทำให้พวกเขาทอดถอนใจแต่ละครั้ง คือจำนวนคำสาปแช่งที่จะตกบนหัวเจ้า.
จงเคารพผู้เดินทางมาจากต่างถิ่น, ช่วยเขา,
ร่างกายของเขาดุจดั่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับเจ้า.
จงหลีกเลี่ยงการทะเลาะวิวาท, ระวังการสบประมาท,
เอาเหตุผลมาอยู่ข้างตัวเจ้าเสมอ.
จงเคารพสตรี, อย่าเอาเปรียบความอ่อนแอของพวกเธอ
และยอมตายดีกว่าทำให้พวกเธอเสื่อมเกียรติ.
**ถ้าสถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ มอบบุตรชายให้เจ้า, ขอบคุณพระองค์ แต่ให้หวาดหวั่นระมัดระวังต่อสิ่งที่พระองค์มอบให้เจ้าดูแล.
เจ้าจงเป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้าสำหรับเด็กคนนี้.
จงปฏิบัติต่อเด็กให้เด็กกลัวเจ้าไปจนถึงอายุสิบขวบ,
ให้เด็กรักเจ้าไปจนถึงอายุยี่สิบปี, ให้เขาเคารพเจ้าไปจนตาย.
จงเป็นเยี่ยงนายของลูกเจ้าไปจนถึงลูกอายุสิบขวบ,
เป็นบิดาของเขาไปจนถึงอายุยี่สิบ, เป็นเพื่อนเขาไปจนตาย.
จงคิดมอบหลักการดีๆให้ลูกเจ้า มากกว่าการสอนให้มีกิริยามารยาทดี,
ให้ลูกเจ้ายึดหลักความเที่ยงธรรมอันโปร่งใส แทนความสง่างามที่ฉาบฉวย.
ทำให้เขาเป็นคนตรงคนซื่อ แทนการเป็นคนช่ำชอง.
ถ้าสถานภาพของเจ้า ทำให้เจ้าอาย นั่นคือความหยิ่งผยอง. ให้คิดว่า ไม่ใช่สถานที่นั้น
ที่ทำให้เจ้าหลงตัวเองมากขึ้นหรือที่ด้อยค่าเจ้า, แต่อยู่ที่วิธีการรับมือสถานะนั้นของเจ้าเอง.
**เจ้าจงอ่านและหาประโยชน์จากสิ่งที่อ่าน, คิดตรึกตรองและลงมือทำงาน, นึกเพียงเพื่อผลประโยชน์ของภราดาคนอื่นๆ และนั่นเท่ากับเจ้าทำงานเพื่อตัวเจ้าเอง.
จงพอใจในทุกที่ ในทุกอย่าง กับทุกอย่าง.
ยินดีกับความยุติธรรม, ประณามตัวเจ้าเองเมื่อเผชิญความอยุติธรรม,
ทนทุกข์โดยไม่ปริปากบ่น.
**อย่าด่วนตัดสินการกระทำของคนอื่น, อย่าโทษใครหรืออะไร, เยินยอให้น้อยลงไปอีก.
เพราะสถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ในจักรวาล เป็นผู้หยั่งจิตใจของทุกคนและรู้ค่าคุณงามความดีของแต่ละคน.
[3] «To inspire humanity through education to emulate and promote the virtues, character, and vision of Goerge Washington, the Man, the Mason, and the Father of our Country.» (Ref. https://gwmemorial.org/)
รายละเอียดอื่นๆ ยังมีอีกมาก แล้วแต่กลุ่มในแต่ละประเทศ นี่เป็นตัวอย่างที่พอจะเป็นฐาน สำหรับไปศึกษาต่อยอดความรู้ความสนใจออกไป.
โชติรส รายงาน
๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔.
นอกจากลิงต์ต่างๆที่ให้ไว้ในบทความ อาจติดตามไปดูรายละเอียดอื่นๆได้ตามเว็บข้างล่างนี้
***
https://fr.wikipedia.org/wiki/Franc-maçonnerie
***https://www.youtube.com/watch?v=lkcU9LdNkUQ&t=2s
La Véritable Histoire des Francs-maçons (Apr.6,
2020)
***http://www.franc-maconnerie.org/origines-de-la-franc-maconnerie.html
Origines de la Franc-maçonnerie
อธิบายสัญลักษณ์ที่ใช้ในหมู่ฟร็องมาซง
***https://www.trusatiles.org/
Le
Blog du Rite Français
***https://oginski.by/fr/s-chem-mirovoe-masonstvo-vstupaet-v-sledueshee-desytiletie/
L’état actuel de la franc-maçonnerie en Europe.
***https://www.youtube.com/watch?v=LEde5b3i3Gs
Comprendre la SYMBOLIQUE MAÇONNIQUE (Apr 23, 2020)
นโปเลียนกับอีจิปต์ เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ Isabelle Bernier, ปรากฏในเว็บเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2020.
Grand Orient de France
No comments:
Post a Comment