ภาพจากอัลบัม St. Petersburg album อยู่ที่ The Smithsonian’s Museums of Asian Art, Smithsonian Institution, Freer Gallery of Art, Washington DC. เครดิตภาพ Bichitr, Public domain, via Wikimedia Commons.
มหาราชาผู้ประทับบนบัลลังก์ในภาพนี้ คือ พระราชา Jahangir (ในความหมายว่า ผู้ยึดครองโลก) นั่งพิงหมอนหนุนขนาดใหญ่สีแดงๆน้ำตาลๆ. บัลลังก์บนพื้น ที่ปูพรมสีฟ้าสวย ลวดลายละเอียดประณีต. แสงสีเหลืองทอง กระจายเป็นแฉกรัศมีรอบศีรษะ ภายในวงกลมใหญ่สีทองเข้มกว่า ที่คือวงรัศมีดวงอาทิตย์. มีวงรีเล็กๆสีขาวโอบประคองวงกลมดวงอาทิตย์ไว้ คือแสงเรืองรองอ่อนโยนของดวงจันทร์. วงรัศมีหลังองค์มหาราชา รวมกันเป็นองค์ประกอบที่ใหญ่และเด่นที่สุดของภาพทั้งภาพ. กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งองค์ราชากับดวงดาวที่มีอิทธิพลต่อโลก. จิตรกรยกพระราชาของเขาขึ้นเป็นศูนย์กลางของแสงสว่างที่สาดส่องอินเดียและโลก.
เบื้องหน้าพระราชา Jahangir เป็นคิวของผู้คอยเข้าเฝ้า เรียงลำดับความสำคัญในวิสัยทัศน์ของมหาราชาแห่งมูกัล. คนแรกหยุดยืนบนพื้น ที่เกือบอยู่ระดับเดียวกับบัลลังก์, กำลังรับหนังสือจากพระหัตถ์ของมหาราชา, ใบหน้าเชอิค ยิ้มนิดๆด้วยความปลื้มปิติ.
คนที่ยืนถัดจากเชอิคซูฟิลงมา คือสุลต่านอ็อตโตมัน, สวมหมวกที่เป็นผ้าโพกผมชั้นดี พันเป็นทรงกลม. การยืนพนมมือ ยืนยันว่า แม้สุลต่านแห่งอ็อตโตมัน ยังมาเยือนคารวะมหาราชาอินเดีย. ความสำคัญของสุลต่าน ยังด้อยกว่าความสำคัญของเชอิคซูฟิ ตรงตามข้อความกำกับภาพว่า มหาราชา Jahangir ให้ความสำคัญแก่นักบวชของศาสนากว่ากษัตริย์. ส่วนคนที่ถัดลงมา ในเครื่องแต่งกายแนวยุโรป ปกลูกไม้เนื้อดี ฟูรอบคอตามแฟชั่นยุโรปยุคนั้น. นี่คือภาพเสมือนของพระเจ้าเจมส์ที่หนึ่งแห่งอังกฤษ. เขาหันหน้าตรงมาที่ผู้มอง, ขรึม เหมือนจะเบื่อหรือไม่ไยดีนัก.
ตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
พระเจ้าเจมส์ที่หนึ่งไม่ได้เดินทางไปอินเดีย. เชื่อกันว่า จิตรกรได้เห็นภาพเสมือนของพระเจ้าเจมส์
จาก Sir Thomas Roe (ภาพวาดดั้งเดิมที่เป็นต้นแบบ ของ John de Critz) เอกอัครราชทูตคนแรกจากอังกฤษมาประจำที่ราชสำนักมูกัล
(Mughal) สามปี ระหว่างปี 1615 ถึงปี 1619. การมอบภาพเสมือน
(หรือการแลกภาพเสมือนระหว่างเจ้าผู้ครอง) เป็นซีเมนต์เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองราชสำนักตะวันตกกับตะวันออก.
จิตรกร Bichitr แทรกภาพของพระเจ้าเจมส์ที่หนึ่ง โดยให้เห็นเพียงมือซ้ายที่ทอดลงต่ำ
ไม่แตะดาบประจำพระองค์, ส่วนมือขวา(มือข้างที่ชักดาบเพื่อข่มขู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน)
ถูกร่างของจิตรกร(คนสุดท้ายในคิว) ปิดไว้เสียสิ้น
เพื่อมิให้มองเห็นนัยของการข่มขู่. การนำภาพพระเจ้าเจมส์มาแทรกในภาพนี้
เป็นการสรรเสริญ Jahangir ว่ามีอานุภาพกว้างไปในแดนไกล. ภาพของสุลต่านอ็อตโตมันและกษัตริย์อังกฤษ สอดคล้องกับหน้าที่ของจิตรกรประจำราชสำนัก
ที่ต้องเสนอภาพความยิ่งใหญ่ของพระราชาให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก.
จิตรกร Bichitr เสนอภาพของตัวเองในชุดเสื้อคลุมนอกสีเหลืองๆ
อยู่คนสุดท้ายมุมเล็กๆในคิว. เอาตัวเขา ปิดบทบาทของมือขวาของพระเจ้าเจมส์.
มือขวาของจิตรกร จับภาพจิตรกรรมน้อยในกรอบสีแดงๆ
เห็นภาพของจิตรกรในชุดเสื้อคลุมสีเหลืองๆ หัวก้มลงต่ำมากแสดงความนอบน้อม,
ช้างตัวใหญ่และม้าสีขาวหนึ่งตัว สีน้ำตาลหนึ่งตัว
อาจเป็นของที่มหาราชาพระราชทานแก่เขา (หรืออาจมองได้ว่า
เขาเป็นเสมือนช้างม้าผู้รับใช้ของพระองค์). จิตรกร ยังได้จารึกลายเซ็นของเขา
บนพื้นราบของที่วางเท้า (สำหรับเหยียบขึ้นหรือลงจากบัลลังก์,
ดูตรงดอกจันสีขาวในภาพล่างนี้) แสดงความถ่อมตนที่เหมาะสมที่สุดในวิธีการจัดภาพ.
ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ ใต้แผ่นที่นั่งลงไปเป็นนาฬิกาทรายขนาดใหญ่.
เทวดาองค์น้อยสององค์กำลังชี้ชวนกันดูแนวทรายที่ไหลลง, แนวหนึ่ง(สีขาว)
เหมือนไหลปริออกจากรอยร้าว. เทวดาเสื้อแดง
เอาโถเล็กๆเหมือนจะไปรองรับทรายที่ไหลออก. ชัดเจนว่า เทวดา
เป็นรูปลักษณ์จากตะวันตก ไม่ใช่แบบในศิลปะอาหรับหรืออินเดีย, บอกให้รู้ว่าจิตรกรได้เห็นได้เรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะตะวันตกโดยเฉพาะคริสต์ศิลป์.
จนถึงยุคนั้น วัฒนธรรมอินเดีย คือส่วนหนึ่งของอารยธรรมอาหรับ
และศาสนาอิสลามเป็นศาสนาเด่น เกือบจะข่มศาสนาฮินดูของอินเดีย.
ตามประวัติศาสตร์ นักเดินทางค้าขายชาวโปรตุเกส
ไปถึงอินเดียเป็นกลุ่มแรก รุดหน้าเดินเรือข้ามน้ำข้ามทะเลสู่อินเดีย,
หลังจากการเดินทางของวาสโก ดากามา ผู้ไปอ้อมแหลม Cape of Good Hope ในปี 1498 ได้สำเร็จ.
ชาวโปรตุเกสไปตั้งสถานีค้าขายครั้งแรกบนฝั่งตะวันตกของอินเดียและต่อมาขยายไปยังฝั่งตะวันออกแถบเบงกอล
(แถบกัลกัตตาปัจจุบัน). อินเดียยุคมูกัลจึงรู้จักชาวตะวันตกหลายชาติแล้ว.
ส่วนอารยธรรมอาหรับนั้น ครอบงำประเทศอินเดียติดต่อกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7. การรังสฤษฎ์จิตรกรรมน้อย
ก็เป็นขนบศิลป์ของชาวอาหรับก่อน อินเดียจึงมีภาพวาดจิตรกรรมน้อยแบบนี้มานานมากแล้ว.
หลังการเดินทางไปทำสงครามครูเสด (ศตวรรษที่ 11) ชาวยุโรปจึงได้เห็นความรุ่งเรืองหาที่เปรียบมิได้ของอารยธรรมอาหรับ
และเริ่มนำสิ่งดีๆหลายอย่างรวมวิทยาการความรู้ที่นำหน้ายุโรปไปไกล กลับไปพัฒนาต่อยอดในยุโรป.
ชาวอังกฤษกลุ่มแรก(ที่มีหลักฐานจารึกไว้)
เดินทางไปถึงอินเดียในปี 1584. มีนายช่างทองคนหนึ่งในนามว่า
William Leeds ไปด้วยและได้เข้ารับใช้ในราชสำนีกของพระราชา Akbar พระราชบิดาของ Jahangir. คงมีผลงานเป็นที่โปรดปราน,
มีจารึกระบุว่าได้รับพระราชทานที่ดิน บริวารผู้รับใช้และม้า. นาฬิกาทรายในภาพนี้
จึงน่าจะได้แบบจากผลงานของนายช่างทอง William
Leeds ที่แน่นอนเป็นแบบตะวันตก.
รูปแบบและลวดลายของนาฬิกาทราย ดูเหมือนจะแพร่ไปในยุโรป. พบนาฬิกาทรายคล้ายๆกันที่เมือง
Ausburg, เป็นผลงานของ Matthis Zoller ปี 1671. เมือง Ausburg ในศตวรรษที่ 16-17 เป็นหนึ่งในเมืองสำคัญๆ
(Innsbruck, Vienna) ที่ผลิตนาฬิกาตั้งโต๊ะสวยงาม. นาฬิกาตั้งโต๊ะเรือนทองเรือนเงิน เป็นสมบัติมีค่าประดับพระราชวังและเป็นสมบัติสะสมของชนชั้นสูงและคหบดีผู้มั่งคั่ง.
รู้กันดีว่า นาฬิกาทราย สื่อนัยของเวลาที่ล่วงผ่านไปๆ
(แถมยังมีแนวทรายที่ไหลออกจากรอยปริด้วย), เหมือนจะเตือนว่า อำนาจ
ทรัพย์สมบัติหรือแม้ชีวิต ก็จะผ่านไปตามวาระ, ตั้งอยู่บนความไม่เที่ยง.
นับเป็นความกล้าหาญของจิตรกรที่นำนัยของ “ความตาย” ลงควบคู่กับนัยของแสนยานุภาพของพระราชา
Jahangir,
ในขณะเดียวกันก็แสดงความใจกว้างของพระราชา Jahangir. จารึกข้อความเป็นภาษาอาหรับ
บนขอบภาพล่างซ้าย ระบุว่า “โอ้ มหาราช ขอจงทรงพระเจริญไปถึงพันปี”
นัยของอนิจจัง
ยังเห็นได้จากรูปเทวดาองค์น้อยอีกสององค์ ตรงมุมบนของภาพ,
ที่ก็มาจากแบบคริสต์ศิลป์เมื่อทวยเทพเทวดาในสวรรค์ ตีอกชกหัว
แสดงท่าสุดสลดใจเมื่อพระเยซูถูกตรึงจนสิ้นใจ, ดังตัวอย่างที่มีชื่อเสียงมากในเฟรสโก้ผลงานของ
Giotto ศตวรรษที่ 14.
ในภาพนี้ เทวดาในมุมบนซ้าย
มือหนึ่งถือคันธนู อีกมือหนึ่งถือธนูที่ปลายหักลง,
ทำให้นึกถึงคิวปิดเทพแห่งความรัก ธนูหักเสียแล้ว มิอาจดลใจใครให้รักใครได้อีก.
เทวดาในมุมบนขวา เอาสองมือปิดหน้า เหมือนกำลังคร่ำครวญเสียใจ.
Jahangir ครองราชย์เป็นมหาราชาแห่งราชวงศ์มูกัล (Mughal) ระหว่างปี 1602 ถึงปี 1627 จิตรกรน้อยภาพนี้เนรมิตรขึ้นในระหว่างปี
1615-1618. การแทรกนัยของความตายในอนาคตของพระราชา ผู้ยังครองบัลลังก์ต่อไปอีกสิบเอ็ดสิบสองปี
นับว่าอุกอาจมาก(ในวิสัยทัศน์ไทยๆ). อิทธิพลจากตะวันตกยุคนั้น
น่าจะมีส่วนในการขยายวิสัยทัศน์ โลกทัศน์และเนื้อหาในศิลปะภาพวาดของอินเดียยุคนั้น.
เรื่องราวอินเดีย มากไม่สิ้นสุดในทุกแง่มุม
ทุกแขนงความรู้. อินเดีย เป็นบ่ออารยธรรมที่สำคัญยิ่งของมนุษยชาติ.
จึงนำมาพูดได้เพียงตัวอย่างเล็กๆตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น. เพื่อเชื่อมวิสัยทัศน์ที่คนไทยคุ้นเคย
เจาะจงเพิ่มว่า Jahangir เป็นพระราชบิดาของ Shah Jahan ผู้จะขึ้นครองราชย์ต่อ (1628-1658)
และเป็นผู้สั่งสร้างทัชมาฮาล.
เวลา (Time และ Duration) ยังคงเป็นกรอบสมมุติของชีวิตคน ไม่ว่าใคร ที่ไหนบนโลกนี้. อย่าพลาดแง่คิดตะวันตกเรื่องเวลาที่ได้เสนอมาก่อน. ติดตามได้ตามลิงค์นี้.
>> https://blogchotiros.blogspot.com/2021/02/breaking-time.html
โชติรส รายงาน
๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔.
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ ด้วยคีย์ copy & paste ลิงค์ต่อไปนี้ >>
*** https://smarthistory.org/bichitr-jahangir-preferring-a-sufi
shaikh-to-kings/
*** https://www.britannica.com/biography/Jahangir
*** https://www.thebritishacademy.ac.uk/blog/closer-look-mughal-emperor-jahangir-depicted-hourglass-throne/
No comments:
Post a Comment