Hesiod ชาวกรีก (ผู้มีชีวิตอยู่ในราวปี 750-650 BC.) เป็นกวีและนักปรัชญา
แต่งหนังสือที่มีผู้รู้จักดีและเป็นที่อ้างอิงถึงเสมอหลายเล่ม เช่น Theogony, Works and Days โดยเฉพาะเล่มหลังนี้
เกี่ยวกับการทำงานในทุ่งนาไร่. Hesiod สรรเสริญการทำงาน ว่าคือการสะสมคุณงามความดี, ว่าการทำงานของคนที่ผนึกทั้งกายและใจ
เป็นแก่นแท้ของความมั่งคั่ง และความอุดมสมบูรณ์.
การทำงานยังเป็นหลักการของสิทธิทางการเมืองและจริยธรรมประชาชน สานศีลธรรมและศรัทธาของเอกบุคคล
และก่อกันเป็นระบบศีลธรรมของหมู่คณะ.
กวียังสอนชาวนาชาวไร่ด้วยว่าควรทำอะไรเมื่อใดในแต่ละฤดูกาล หากเกิดความผิดพลาด
ผลเป็นอย่างไร แก้ไขได้หรือไม่อย่างไร. Hesiod สอนไว้เมื่อราว 700 BC. (2720 ปีมาแล้ว). หนังสือเล่ม งานและวัน (Works and Days / Les Travaux et les Jours) เป็นหนังสือคู่มือของจิตรกร, ช่าง,
ปัญญาชนในยุคกลางเรื่อยมา และเป็นต้นแบบให้สร้างสรรค์ภาพวงจรฤดูกาล
ที่เป็นวงจรของการทำงานในท้องทุ่งไร่นา.
« บนโลกมนุษย์เรานี้
คนต้องทนทุกข์ทรมานเพื่อผลิตอาหารเพื่อความอยู่รอดของตนเอง.
พระเจ้าปล่อยให้คนเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ, การลงมือเพาะปลูก ผ่านหนาวผ่านร้อน,
กินเหงื่อต่างน้ำ, หน้าสู้ดินหลังสู้ฟ้า, ผ่านอารมณ์ความรู้สึกทุกชนิด,
ทำให้คนค้นพบธาตุแท้ของเขาเอง. เส้นทางสู่คุณธรรม เป็นเส้นทางที่แคบ ขรุขระ, ตะเกียกตะกายไปด้วยความยากลำบาก แต่พบความสุขในบั้นปลาย.
เส้นทางที่สะดวกกว่า กว้างใหญ่กว่า, เป็นเส้นทางที่นำไปสู่ความขี้เกียจ.
การปล่อยปละละเลย, ความเฉื่อยชา เรื่อยๆเปื่อย, ทำให้คนเลวลงๆ
นำความหายนะมาสู่ตัวเอง. นี่คือบัญญัติของสวรรค์. ไม่ว่าพระเจ้าหรือทวยเทพใด
ประณามความขี้เกียจ ว่าเป็นปรสิต เป็นกาฝาก, เป็นต้นกำเนิดของความชั่วร้ายทุกชนิด.
ความลำเค็ญในการหาเลี้ยงชีพ ไม่ใช่สิ่งน่าอาย ทวยเทพเอ็นดูความอดทน สรรเสริญความพยายาม.
การทำงานสร้างความร่ำรวย ความสุข ความภูมิใจ, ยกระดับให้คนสูงขึ้นๆจนอาจเทียบเท่าเทพได้
เช่นผู้สร้างสรรค์งานที่ยั่งยืน, แม้ตัวตายไปแต่งานที่ทำไว้ยังส่งผลดีต่อคนอื่นๆต่อมา.» (Hésiode
: Les Travaux et les Jours, traduction de Leconte de Lisle)
วงจรฤดูกาลบนดินแดนที่มีภูมิอากาศอบอุ่นถึงอากาศหนาว เป็นเนื้อหายอดนิยมของจิตรกรจำนวนมาก. มีวาดไว้เป็นจำนวนมากในจิตรกรรมน้อยที่ประดับหนังสือสวดของกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ และจำหลักไว้อย่างถาวรบนกำแพงด้านนอกของโบสถ์ใหญ่ๆและวิหาร, ที่ยังคงสวยเกือบสมบูรณ์มาจนทุกวันนี้, เช่นที่มหาวิหารน็อตเตรอดามกรุงปารีส หรือเมืองอาเมียงส์. ฤดูกาลเป็นองค์ประกอบถาวรที่ประดับศาสนสถานในยุคกลาง ยุคที่ศาสนาคริสต์ครอบงำทุกมิติของชีวิต, ของชนทุกระดับชั้น. เพราะฤดูกาลคือภาพสะท้อนของพระเจ้า. นอกจากเป็นวงจรของดินฟ้าอากาศ, ฤดูกาลสะท้อนวงจรชีวิตจากการเกิดในฤดูใบไม้ผลิ สู่การตายในฤดูหนาว, กำหนดวงจรการทำงาน(วัฏจักรเกษตรกรรม) และความเป็นอยู่ของชาวไร่ชาวนา ผู้เลี้ยงดูปากท้องคนทั้งประเทศ. คริสต์ศิลป์ ให้ความสำคัญแก่ชีวิตชาวนาชาวไร่ ยกย่องการทำงานของพวกเขา ที่เป็นงานอาชีพสุจริตที่พระเจ้ากำหนดให้เมื่ออาดัมกับอีฟถูกขับออกจากสวนอีเด็น. เป็นอาชีพที่ช่วยให้เขามีกิน เลี้ยงดูครอบครัว และสร้างสุขอนามัย ให้อยู่สู้รับมือสภาวะอากาศทุกชนิด. ฉากการทำงานของพวกเขาจึงแพร่หลายมาก ซึ่งเท่ากับช่วยโปรโหมดอาชีพเกษตรกรรมในสังคมมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย. ยิ่งในยุคโรคโควิดระบาด การปลูกพืชผักทำนาทำไร่ เป็นทางรอดที่ดีกว่าธุรกิจใด.
มีตัวอย่างจิตรกรรมสี่ฤดูของศิลปินคนอื่นๆอีกจำนวนมาก ที่ยืนยันเสมอมาว่าฤดูกาลเป็นกรอบของชีวิตของสรรพสิ่งบนโลก. ตัวอย่างจิตรกรรมสี่ฤดูของ Pieter Bruegel (พ่อและลูก) รวมภาพกิจการงานในชีวิตชาวบ้านบนดินแดนประเทศฮอลแลนด์สมัยศตวรรษที่ 16. ภาพสี่ฤดูชุดนี้ เนรมิตขึ้นระหว่างปี 1565 (ดั้งเดิมมิได้จัดเสนอติดกันเป็นชุด)
ภาพบนซ้าย กลางฤดูร้อน งานในไร่นา เก็บเกี่ยวข้าว งานหนัก นานๆก็พักดื่มน้ำกัน หรือกินอาหารในกลางทุ่งเลย. ภาพบนขวา เป็นฤดูเพาะปลูก เตรียมพื้นที่ ปลูกผักหรือสมุนไพร. ไม่นานแปลงผักเหล่านี้เปลี่ยนไปเป็นแปลงดอกไม้ เมื่อดอกไม้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ. ภาพล่างซ้าย เป็นภาพฆ่าหมู หลังจากที่ขุนหมูจนอ้วนแล้ว เตรียมทำขาหมูแฮม ไส้กรอก หมูตากแห้งในความเย็นของอากาศ เก็บไว้กินระหว่างฤดูหนาว. ภาพล่างขวา ฤดูหนาว หากอยู่ในบ้านติดต่อกันหลายวัน ก็เบื่อได้ จึงเป็นโอกาสให้ออกไปเล่นสเก็ตบนลานหรือในธารน้ำที่แข็งเป็นน้ำแข็งแล้ว แม้จะหนาวแต่ทุกคนดูจะสนุกตามวัย. ในปัจจุบันมีน้อยครั้งมากที่ธารน้ำทั้งหลายจะกลายเป็นน้ำแข็ง หนาเพียงพอให้เล่นสเก็ตได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงในบรรยากาศโลก.
จิตรกรรมสี่ฤดูของ Nicolas Poussin (1594-1665) ถ่ายทอดฉากเหตุการณ์ในคัมภีร์ไบเบิล. ผลงานระหว่างปี 1660-1664) เป็นระยะสุดท้ายของชีวิตจิตรกร. สี่ภาพนี้เสกสรรค์ขึ้นเพื่อ Cardinal Richelieu (ผู้มีฉายานามว่า รัฐบุรุษเสื้อคลุมแดง). ภาพบนซ้าย เป็นฤดูใบไม้ผลิ หรือที่กำกับไว้ว่า สวรรค์บนดิน. เรื่องของอาดัมกับอีฟในสวนสวรรค์. ภาพบนขวา เป็นฤดูร้อน จากเรื่องของ Ruth & Booz ในคัมภีร์ใหม่. เป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าว. ภาพล่างซ้าย เป็นฤดูใบไม้ร่วง หรือ พวงองุ่นที่นำมาจากแดน Canaan ที่เป็นหลักฐานความอุดมสมบูรณ์ของดินแดนกานาน ที่ต่อมาชาวอิสราเอลจะเข้าไปตั้งรกราก. ภาพล่างขวา เป็นฤดูหนาว หรือเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ปกคลุมโลก เมื่อสรรพชีวิตตายหายสูญไปจากแผ่นดิน. ในคัมภีร์เก่าบอกว่าน้ำท่วมอยู่ 40 วัน แต่มีนักวิจัยที่นับรวมวันกันใหม่จากข้อความในคัมภีร์ประกอบกับหลักฐานทางโบราณคดี เสนอว่า น้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้นนานไม่น้อยกว่าสิบเดือน (ref. http://www.bibleinsight.com/floodp1.html)
การหวนกลับไปเอาเหตุการณ์ในคัมภีร์มาถ่ายทอดให้เป็นสัญลักษณ์ของฤดูกาล
นอกจากสื่อความหวัง ศรัทธาหรือความสงบปลงชีวิตภายในใจของจิตรกร, เนื้อหาเชิงประวัติศาสตร์และศาสนาเยี่ยงนี้
เป็นเนื้อหา “ผู้ดี” ที่สุดและถูกจัดอยู่บนบันไดขั้นสูงสุดของศิลปะ.
งานชิ้นนี้ให้โอกาสเขาเชื่อมโยงภูมิทัศน์, พฤติกรรมของคนกับความลึกลับในศาสนา, กลายเป็นตัวอย่างจิตรกรรมชั้นเลิศของทัศนียภาพแนวคลาซสิก.
ตั้งแต่ปี 1665, Richelieu
ได้มอบคอเล็กชั่นจิตรกรรมที่เขามี(เกือบ)ทั้งหมดรวมทั้งภาพชุดสี่ฤดู
ถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 เมื่อเล่นเกมส์บอล(คล้ายเทนนิส)แพ้.
จิตรกรรมสี่ฤดูของ Giuseppe Arcimboldo (1526-1593) เสนอภาพของดอกไม้ในฤดูใบไม้ผลิ, และผลผลิตทางเกษตร, พืชผักผลไม้ในฤดูต่างๆ. ความหมายชัดเจน แต่หากดูรายละเอียดลึกลงไป จะเห็นว่าจิตรกร ยกย่องจักรพรรดิ Maximilian II (Arcimboldo เป็นจิตรกรประจำราชสำนัก) ว่าอยู่เหนือธรรมชาติ(และดินน้ำลมไฟด้วย) ว่าเป็นผู้นำความอุดมสมบูรณ์สู่แผ่นดิน. ภาพที่นำมาลงนี้ ผู้จัดเรียงภาพเริ่มด้วยฤดูหนาวและจบลงที่ฤดูใบไม้ร่วง.
ในสมัยหลัง จิตรกรรมสี่ฤดูของ Alfons Mucha (1860-1939, ชาวเช้ค) เสนอภาพสตรีสาวสวยในธรรมชาติ มีลีลาท่าทางยั่วยวนใจ. เริ่มด้วยฤดูร้อนและจบลงเป็นยุคที่สตรีกลายเป็นแบบของความงาม, เป็นศูนย์กลางของชีวิตสังคม, และเป็นกลไกกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกชนิดต่างๆในบริบทสังคมยุคหรูฟู่ที่เรียกว่า แบลเลป๊อก (La Belle Époque) ระหว่างปี 1880 จนถึงเมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งระเบิดขึ้น.
ดนตรีสี่ฤดู Four
Seasons ที่ Antonio
Vivaldi ประพันธ์ขึ้นในปีราว 1720, ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง, สะท้อนบรรยากาศ, การเคลื่อนไหวของน้ำ
ลม ไฟในท้องฟ้าและบนพื้นแผ่นดิน, นำจินตนาการล่องลอยไปในสภาพภูมิประเทศแบบต่างๆ.
เครดิตภาพจากเว็บนี้ >> https://webneel.com/tree-paintings
สมัยใหม่ การสรรค์สร้างฤดูกาลยังคงมีเรื่อยมา ทั้งในแบบจิตรกรรม แบบโปสเตอร์ หรือด้วยวัสดุใด. มีเว็บจำนวนมากที่แนะความคิดให้นำไปสร้างภาพประดับที่อยู่ของตัวเองอย่างเฉพาะเจาะจงเป็นการส่วนตัว. ส่วนใหญ่ยึดต้นไม้ดอกในธรรมชาติเป็นสำคัญ. คนส่วนใหญ่เห็นพ้องว่า ต้นไม้จำเป็นสำหรับการอนุรักษ์ความสะอาดในสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงแต่ดูสวย น่าทึ่งเมื่อมีดอกไม้ผลิบาน, ใบไม้ รูปลักษณ์ ทรวดทรงของต้นไม้ กิ่งไม้, ใบไม้, ล้วนมีอานุภาพเติมเต็มจิตวิญญาณ, สร้างบรรยากาศที่สงบสันติ.
เครดิตภาพจากเว็บนี้ >> https://webneel.com/tree-paintings
นัยของการทำงานที่เป็นประเด็นในภาพสี่ฤดูในอดีต ก็มีเช่นกันในระบบปฏิทินไทยสมัยก่อน ที่เกี่ยวกับวัฏจักรเกษตรกรรม ก่อนที่จะถูกสมัยใหม่ลบเลือนไปเมื่อควบทุกอย่างเข้าไปในระบบปฏิทินเกรกอเรียนสากล. หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ พระพรหมมังคลาจารย์ (2454-2550 / 1911-2007) เคยพูดนำการบรรยายธรรมของท่านเสมอ ว่า « งานคือชีวิต ชีวิตคืองานบันดาลสุข ทำงานให้สนุก เป็นสุขเมื่อทำงาน ». หลวงพ่อท่านเห็นความสำคัญของการทำงาน, สยบความขี้เกียจเพื่อมิให้ชีวิตจมลงในอบายมุขต่างๆ. หลวงพ่อเองก็ได้ทำงานเผยแผ่พระศาสนาไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต. (ยังมีคลิปที่เข้าไปฟังได้เสมอมาจนทุกวันนี้. แม้ว่าหลวงพ่อท่านมรณภาพไปสิบกว่าปีแล้ว แต่ธรรมบรรยายของท่าน ยังทันสมัยอยู่เสมอ ทั้งสะใจและกินใจ).
นัยความหมายของการทำงาน ถูกไปใช้เป็นคำขวัญในยุครัฐบาลของสฤษดิ์ ธนะรัชต์.
เขาตัดเหลือสั้นๆว่า งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข. เริ่มยุคบุกแหลก สู้ตายเพื่อสะสมเงินตรา.
เกิด วัฎจักรเทศกาล ตามด้วย วัฎจักรโรคระบาด (ตั้งแต่โรควัวบ้า), สร้างเครือข่ายเป็นวงจรธุรกิจ
เหมือนกงล้อแห่งโชคลาภที่หมุนเวียนต่อไปไม่รู้จบ จากเฟืองหนึ่งไปอีกเฟืองหนึ่ง...
โชติรส รายงาน
๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔.
ปล. มีผู้นำคำพูดของหลวงพ่อปัญญาและของท่านพุทธทาส แต่งเป็นเพลง ชื่อว่า อุดมการณ์ชีวิต, มีนักร้องหลายคน เป็นหลายเวอชั่น. เลือกเวอชั่นนี้มาที่นี่ เผื่อสนใจฟัง >> https://www.youtube.com/watch?v=zJyVYldlIc8
No comments:
Post a Comment