ตีเวลาให้แตก
ตั้งแต่โบราณกาล นักปราชญ์ทุกผู้ทุกนาม คิดพินิจพิจารณาวิเคราะห์และสังเคราะห์ความเข้าใจเรื่อง «เวลา» อยู่เสมอ. พบแง่คิดและกระบวนการวิเคราะห์จำนวนมาก แทรกอยู่ในวรรณกรรมของทุกชาติ ในจารึก บันทึกหรือในคำสอน. วิธีการคิด การถกปัญหาตามแนวตะวันตก น่าติดตาม.
ทุกคนมีประสบการณ์เรื่องเวลา ใช้เวลา จับเวลา คอยเวลา พูดถึงเวลาฯลฯ. หลายคนดูนาฬิกาเสมอๆ. เราพูดถึงเวลา ตลอดเวลาโดยไม่เคยตั้งคำถาม ไม่เคยเข้าใจอย่างถ่องแท้. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้คำอธิบาย «เวลา» ว่า น. ชั่วขณะความยาวนานที่มีอยู่หรือเป็นอยู่ โดยนิยมกำหนดขึ้นเป็นครู่ คราว วัน เดือน ปี เป็นต้น เช่น เวลาเป็นเงินเป็นทอง ขอเวลาสักครู่. (ป., ส.). เป็นคำอธิบาย duration ไม่ใช่คำจำกัดความของ «เวลา» Time.
การให้คำจำกัดความอะไร คือการสร้างกรอบของสิ่งนั้น.
สิ่งที่อยู่ในกรอบ มีรูปลักษณ์. มีรูปคือสัมผัสได้, มีมวล (เช่นอากาศ). «เวลา» ไม่มีรูปให้เห็นหรือจับต้องได้. เป็นสิ่งไม่แน่นอน ไม่คงที่
ไม่เคยหยุดนิ่ง. เวลาไม่เป็นคลื่น, ไม่มีความถี่. จับ«เวลา» ให้เข้าอยู่ในกรอบรูปแบบใด ก็ไม่ได้. จัด «เวลา» อยู่ในระบบความคิดใด ก็ยังไม่ลงตัว, ถูกต้องในบางประเด็น
แต่ไม่ทุกประเด็นเป็นต้น. อธิบาย«เวลา» ตรงจุดไหนของมัน ยึดจุดนั้นไว้ก็ไม่ได้ เพราะมันต่อเนื่องกันไป,
ผันเปลี่ยนไปทุกขณะ.
นักบุญออกุซติน (Augustin of Hippo, 354AD-430AD. นักเทววิทยาและนักปรัชญา, เป็นหนึ่งในสี่มหาปราชญ์ในศาสนาคริสต์) สรุปว่า ไม่มีเวลา เวลาไม่มีตัวตน ไม่มีที่ตั้งที่อยู่ถาวร. แต่ทุกคนบนโลก เกิดมาอยู่ในกรอบของเวลาที่สังคมมนุษย์สมมุติและเสกสรรค์ขึ้นเป็นระบบวินาที นาที ชั่วโมง วัน เดือน ปีเป็นต้น. เราเชื่อว่า จากจุดปัจจุบันที่เรายืนอยู่ เรามีอดีตและมีอนาคต. ทุกคนมีชีวิตมาตั้งแต่เกิดถึงวันนี้ เป็นอดีตของแต่ละคน และพรุ่งนี้เป็นต้นไป คืออนาคตของเขา.
ในความเป็นจริง อดีต ปัจจุบันหรืออนาคต มีในความคิด,
ในจิตสำนึกของเราเท่านั้น. เราอยู่ในปัจจุบันตลอดเวลา
มีความคิดที่เชื่อมความทรงจำในอดีต กับความคาดหมายหรือการรอคอยในอนาคต.
ความคิดและจิตสำนึกดังกล่าว สร้างและห่อหุ้มตัวเราให้เป็นตัวตนในสังคมคน
และทำให้คนอื่นๆสัมผัสตัวเราได้(อย่างน้อยก็ส่วนหนึ่ง). ดังนั้น อดีต
ปัจจุบันและอนาคต ไม่ใช่ เป็นสามเวลาหรือสามกาลที่เราเคยท่องเคยจำตั้งแต่เด็กเมื่อเรียนอ่าน
พูดและเขียน, มันคือ สามสถานะหรือสามมิติของระยะเวลา (เป็น duration
ไม่ใช่ time). สามสถานะดังกล่าว
ทำให้ตัวตนปัจจุบันของเรา ผ่านกลับไปในอดีตได้ด้วยความทรงจำ
และตัวตนปัจจุบันของเราที่รอคอยทางผ่านไปยังอนาคตา.
คนจึงเขียนอัตชีวประวัติของตัวเองได้ และคาดคะเนหรือวางแผนชีวิตในอนาคตได้.
ปัจจุบันจึงอยู่ในอดีตและอยู่ในอนาคต. ชีวิตคนจึงอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น
เพราะอดีตหายวับไปแล้ว และอนาคตไม่มีจริง เพราะทันทีที่ถึง “พรุ่งนี้” ก็กลายเป็น “วันนี้” ไปแล้ว.
ทุกคนถูกเวลาครอบงำตั้งแต่เกิด แม้จะไม่ขยับตัวไปไหน
ชีวิตแต่ละขณะก็จากไปแล้ว.
หากคิดจะยึดเวลาให้อยู่กับที่เพื่อเสพสุขของขณะดีๆในปัจจุบัน หรือยืดเวลานั้นให้นานออกไป
เราก็ทำไม่ได้ มันเป็นไปได้ในความฝัน ในจินตนาการเท่านั้น.
ประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคนเกี่ยวกับเวลา เป็นประสบการณ์ในมิติที่จำกัดมาก
แม้จะช่วยเปิดตาเปิดใจให้จับธรรมชาติตัวตนของตัวเองได้บ้าง
และอาจกระตุ้นให้ตระหนักว่าการตั้งอยู่ของคนนั้น เปราะบางเวิ้งว้าง.
ความรู้สึกนี้กระมัง ที่ผลักให้คนพยายามหากรอบให้ชีวิต ทุกทางทุกวิธี.
โดยปริยายคนไม่อาจคิด, สัมผัสหรือเข้าใจอะไรได้นอกกาลเวลา จึงไม่มีทางเข้าใจสภาวะนิรันดร.
ความคิดของนักบุญออกุซตินว่า แท้จริงแล้ว ไม่มีเวลา.
นักฟิสิกส์ปัจจุบันได้วิเคราะห์วิจัยกันตามกระบวนการวิทยาศาสตร์
ไม่ว่าเป็นเหตุการณ์ในชีวิต หรือปรากฏการณ์ทุกอย่างไปจนถึงจักรวาล ต่างยืนยันว่า
แท้จริงแล้วไม่มีเวลา. สิ่งที่คนสมมุติให้เป็นเวลา ประดิษฐ์นาฬิกาสารพัดแบบ
สร้างมายาคติว่าจับได้, ตั้งได้, ควบคุมได้. คนพูดถึงระยะเวลา (duration) ของเหตุการณ์หนึ่ง, ของพฤติกรรมหนึ่ง, ของชีวิตหนึ่ง,
ในแง่นี้เท่านั้นเพราะมีจุดเริ่มต้นและจุดจบของแต่ละประสบการณ์ (เช่นมีวันเดือนปี).
เอเตียน ไกลน์ Étienne Klein (นักควอนตัมฟิสิก์ นักปรัชญา อาจารย์วิชาฟิสิกส์ผู้มีชื่อเสียงชาวฝรั่งเศส) อรรถาธิบายว่า «เวลา» ที่ใช้กันสามัญอย่างคุ้นเคย เมื่อคิดถามว่า «เวลา» คืออะไร. คำตอบที่ได้ต่างๆกัน และมีนัยหลากหลาย. ความหมายของ «เวลา» มาจากประโยค, จากบริบทแวดล้อมการพูดประโยคนั้น ที่แต่ละคนเอานัยส่วนตัว, จากประสบการณ์ส่วนตัว ใส่เข้าไปในประโยคของเขา. เวลาที่สามัญชนคุ้นเคย คือเวลาที่เราเคยอยู่ เคยเป็น.
ตามคำจำกัดความเชิงภาวะวิสัย
«เวลา» หมายถึงการต่อเนื่อง แต่ก็หมายถึงการเกิดขึ้นพร้อมกัน (succession & simultaneity). «เวลา»
หมายถึงการเปลี่ยนแปลง และก็หมายถึงสิ่งที่กำลังผันแปรไป (change and becoming). «เวลา»
หมายถึงขณะ ชั่วครู่ และก็หมายถึงระยะเวลา (moment
& duration). «เวลา» สำหรับหลายคนหมายถึง เงิน และสำหรับอีกหลายคน
หมายถึงความตาย.
คำเพียงคำเดียว มีหลายนัยถึงเพียงนี้ จนจับความหมายแท้จริงไม่ได้, สูญเสียนัยแกนไปแล้ว. แต่ทำไมคำที่มีนัยไม่แน่นอนเจาะจง จึงถูกเอาไปเป็นตัวแปรคณิตศาสตร์ (une variable mathematique / a variable in mathematics) ในสมการของฟิสิกส์, นำไปใช้อธิบายปรากฏการณ์ด้านชีววิทยา, ด้านธรณีวิทยา, ด้านจิตวิทยา, ดาราศาสตร์เป็นต้น.
กาลิเลโอ (Galileo Galilei 1564–1642) เป็นคนแรกที่นำ
«เวลา» เข้าไปในวิชาฟิสิกส์
เมื่อเขาเอาเวลาเป็นตัววัดและอธิบายหลักการที่เขาค้นพบว่า
ความเร็วของวัตถุที่ตกลงสู่พื้น เป็นสัดส่วนโดยตรงกับระยะเวลาที่มันตกลง. ความคิดเรื่องเวลาของเขายังอยู่ในภาวะแรกเริ่ม.
วัตถุที่ตกลงในความว่างเมื่อสามวินาทีก่อน
ตกลงเร็วกว่าวัตถุที่เพิ่งตกเมื่อหนึ่งวินาทีก่อน (จริงหรือ?).
นิวตัน (Isaac Newton, 1642-1727) นำหลักการไปพิจารณาต่อ และเกลี่ยทุกขณะของเวลาให้เท่ากันให้เสมอกัน. กระบวนการคิดของนิวตัน บอกว่า เวลาไม่เปลี่ยนไปตามกระแสเวลา, เป็นความคิดที่คลุมเคลือ. นิวตันยืนยันว่า มีเวลาที่ผ่านไปเพราะมีกระแสเวลา(ช่วงเวลา) และมีเวลาที่ไม่ผ่านไป อยู่กับที่เพราะเป็นเวลาเดียวกัน. คิดอย่างนิวตันยิ่งคิดจึงยิ่งสับสน... ทฤษฎีของนิวตันใช้อธิบายเหตุการณ์มาได้ด้วยดีจนถึงปลายศตวรรษที่ 19 ต้นศตวรรษที่ 20 ก็สะดุดหยุดอยู่กับที่ เมื่อไอนสไตนเสนอทฤษฎีสัมพัทธภาพ, เมื่อฟิสิกส์คลาซสิกต้องถอยออกให้ควอนตัมฟิสิกส์ขึ้นหน้า. เวลาแบบนิวตัน ไม่ตรงกับความหมายที่นักฟิสิกส์สมัยนี้ค้นพบที่ถูกต้องกว่าและครอบคลุมกว่า.
ในความเห็นของผม (Étienne Klein) ศาสตร์เรื่องเวลา คือฟิสิกส์, เวลาฟิสิกส์ เป็นเวลาเดียว
ไม่เปลี่ยนแปลง ทำหน้าที่ของมันไป ไม่เกี่ยวอะไรกับประสบการณ์ของใคร. ใน concept ของเวลาฟิสิกส์ดังกล่าว มีพฤติกรรมของเวลาหลากหลาย ทั้งเชิงจิตวิทยา
ชีววิทยา ธรณีวิทยาเป็นต้น. นั่นคือประสบการณ์เกี่ยวกับเวลาในสภาวแวดล้อมต่างๆ.
เรารู้กันแล้วว่าฟิสิกส์คลาซสิก ไม่เหมือนหลักการของทฤษฎีสัมพัทธภาพ(ของไอนสไตน),
ไม่ใช่หลักการของควอนตัมฟิสิกส์, ไม่ใช่หลักการเดียวกับธรรมชาติ หรือของบันทึกลำดับเหตุการณ์. วิธีการของผม ใช้หลักสมการในฟิสิกส์
ที่ต่างจากของนิวตัน. นักฟิสิกส์ ไม่ใช่นักปรัชญา
(กระบวนการคิดของนักบุญออกุซตินเป็นปรัชญา).
นักฟิสิกส์จับเข้าสมการที่ทำให้กระจ่างเข้าใจได้ดี แต่ก็มีที่เข้าใจยาก.
ตัวอย่างสมการเช่น ความเร็วของวัตถุหนึ่ง คูณด้วยน้ำหนักของวัตถุนั้น
จะเท่ากับปริมาณกำลังที่ไปเร่งความเร็วของวัตถุนั้น. หรือตัวอย่างสมการของไอนสไตน
ที่สั้น(แต่เข้าใจจริงๆนั้น ไม่ง่าย)
E=mc2 โดยที่ E=energy พลังงาน, m=mass มวล, c
= speed of light ความเร็วของแสง แล้วยกกำลังสอง
(c เป็นอักษรตัวแรกของคำละติน
celeritas ที่แปลว่า speed/ความเร็ว) เป็นต้น.
เมื่อพูดถึงเรื่องเวลากับนักฟิสิกส์ จึงต้องอ้างให้ชัดเจนว่า
เวลาที่เขาคิดนั้น มันตามหลักการแนวไหน เพราะเวลาของนิวตัน ไม่ใช่เวลาของไอนสไตน
แต่จะไม่โยงไปถึงแบบแผนพื้นฐานเชิงวิทยาศาสตร์ ก็ไม่ได้, กลายเป็นการเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับเวลา
กลายเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่การจำกัดความตามแนววิทยาศาสตร์.
เราพูดกันจนชินว่า “เวลาผ่านไป”, ไม่เคยหยุดคิดลึกซึ้งลงไป,
ยิ่งมองละเอียดยิ่งเกิดปัญหา. เมื่อผมคิดๆไป หน้าที่หลักของ“การเป็นเวลา” คือการสร้างปัจจุบันขณะขึ้นใหม่
ที่ทำให้ผมอยู่ในปัจจุบันขณะ เป็น ปัจจุบันขณะ ที่ไม่ใช่
ปัจจุบันขณะ เดียวกัน. มันเป็นการสร้างขณะใหม่ๆที่ไม่สิ้นสุด และต่อ
ปัจจุบันขณะ ไปไม่สิ้นสุดเช่นกัน. ทันทีที่มี ปัจจุบันขณะ เกิดขึ้น
ก็ถูก ปัจจุบันขณะ อีกตัวเข้าแทนที่. เวลาจึงเป็นมอเตอร์ของกระบวนการสร้างขณะขึ้นใหม่ เป็นกระบวนการที่ไม่จบสิ้น.
ดังนั้นเมื่อผมพูดว่า “เวลาผ่านไป” ในความเป็นจริงแล้ว เวลาไม่ผ่านไป
มันอยู่ของมันตรงปัจจุบันเสมอและทำหน้าที่ของมันซึ่งคือการสร้างปัจจุบันขณะ.
ตามเหตุปัจจัย ผมจึงพูดว่า “เวลาผ่านไป” ไม่ได้. « เวลาไม่ได้ผ่านไป ความจริงของแต่ละขณะต่างหาก ที่ผ่านไปๆ ».
สำนวนเกี่ยวกับเวลาในภาษาที่เราใช้กัน เมื่อนึกถึงข้อเท็จจริงเชิงวิทยาศาสตร์ จึงเป็นปัญหาขึ้น
(แต่ไม่มีใครคิดแก้ไขสำนวน ถือว่าเป็นวิธีการเปรียบเทียบ เช่นวิ่งตามเวลา). เวลาฟิสิกส์ หรือ เวลาสำหรับนักฟิสิกส์ ไม่ยินดียินร้ายใดๆกับนัยของเวลาที่แต่ละคนสัมผัสได้
ในชีวิตสามัญในสังคม.
ที่เขียนมาสั้นๆนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการมอง«เวลา» ยังมีอีกมากมายที่นักวิทยาศาสตร์อธิบายไว้.
ประสบการณ์การติดตามฟังนักฟิสิกส์ นักดาราศาสตร์ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ นอกจากทำให้ทึ่งและชื่นชมในความช่างคิด, ในความละเอียดของการคิดและกระบวนการอรรถาธิบาย ยังสร้างกำลังใจให้อยู่เพื่อเรียนสิ่งใหม่ๆ ประเด็นใหม่ๆต่อไป. การตามไปฟังในแขนงวิชาที่ข้าพเจ้าไม่เคยรู้ ไม่เคยเรียน, ไม่ได้ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจสูตรหรือสมการฟิสิกส์ต่างๆดีขึ้น แต่เป็นโอกาสให้ติดตามตรรกะของนักวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะของชาวฝรั่งเศสที่ปัญญาชนชั้นแนวหน้ารุ่นก่อน มีฐานความรู้ทางศิลปศาสตร์มาอย่างดี ทำให้พวกเขารู้จักนำความรู้จากโลกวิทยาศาสตร์ มาอธิบายและโยงผ่านทางวรรณกรรม ทางศิลปะ ทางปรัชญา ทางศาสนาที่เข้าถึงคนหมู่มาก, กระจายเป็นเครือข่าย, คลี่เป็นพัดประดับลวดลายมหัศจรรย์, เห็นเส้นทางการค้นหา การจัดสรร การพัฒนาและกระจายความรู้ ได้อย่างวิเศษยิ่ง. สั้นๆคือสอนขั้นตอนให้คิด ให้วิเคราะห์เจาะลึก พัฒนาทักษะการใช้ภาษาที่หลุดจากสำนวนเบ็ดเสร็จที่คุ้นชินและออกนอกกรอบวิสัยทัศน์แบบไทยๆ. ต้องยอมรับว่า ภาษาไทยใช้อธิบายวิทยาศาสตร์ได้ไม่กระชับเท่า ไม่เพียงพอเท่า, ไม่ตรงใจกลางของประเด็น. ใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษและโดยเฉพาะภาษาฝรั่งเศส (เพราะต่อติดได้เลยกับที่มาของคำจากภาษากรีก ละติน บางทีอาหรับด้วย) เข้าใจง่ายกว่า ตรงประเด็นกว่ามาก, และไม่เยิ่นเย้อ.
สุดวิเศษที่มีอินเตอเน็ตเปิดทางสู่ห้องบรรยายของสถาบันต่างๆ
ทำให้ได้สัมผัสคนเก่งๆ ที่นำธรรมชาติ ศาสตร์วิชาและปรัชญา เปิดจักรวาลให้ท่องไปได้ไม่สิ้นสุด. ขอคารวะครูจากโลกไซเบอร์ที่ข้าพเจ้าได้เรียนด้วยทุกคน.
โชติรส รายงาน
๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔.
No comments:
Post a Comment