Saturday, August 15, 2020

Concert of Birds

ปักษีมโหรี
Frans Snyders [ฟร้านซ สเนเดอส] (1579-1657 ชาวเฟลมิช), เป็นหนึ่งในจิตรกรชั้นครูชาวเฟลมิช เป็นศิลปินบาร็อคแนวหน้าโดยเฉพาะในการนำเสนอจิตรกรรมชีวิตนิ่ง (Still Life) ของสัตว์. เขาเป็นคนแรกที่นำเสนอภาพนกหลายชนิด รวมกันในภาพเดียวกัน ที่เขาตั้งชื่อว่า Concert of Birds ที่เราแปลว่า ปักษีมโหรี. เขารวมนกหลายพันธุ์ เกาะบนกิ่งบนขอนไม้ในแบบการตั้งวงมโหรี. บางทีก็มีสมุดดนตรีประดับอยู่ด้วย. หัวข้อปักษีมโหรี มีขึ้นก่อน, ไม่นานต่อมาในราชสำนักเกิดกระแสแฟชั่นเลี้ยงและสะสมนก สร้างกรงนกประดับสวนและอุทยาน.
จิตรกรรม Concert of Birds ผลงานของ Frans Snyders ราวทศวรรษที่ 1630, อยู่ที่ Hermitage Museum. ภาพจาก Commons.wikimedia.org [Public domain]
     หัวข้อปักษีมโหรีนี้ มีที่มาจากตำนานกรีกโบราณ เกี่ยวกับเทพเจ้าชั้นผู้น้อย ผู้เป็นเทพแห่งลมชื่อ Aeolus ผู้เก็บกักลมพายุรุนแรงชนิดต่างๆไว้ภายในถ้ำบนเกาะที่เทพองค์นี้อยู่ และจะปล่อยลมพวกนี้ออกมาเมื่อเทพเจ้าชั้นผู้ใหญ่สั่งให้ทำลายโลก. (ชื่อเทพคนนี้ Aeolus ได้มาเป็นคำ aeolian ที่ใช้ประกอบคำนามอื่นๆอีกจำนวนมาก ล้วนมีอะไรเกี่ยวกับลมทั้งสิ้น).
    ในส่วนที่เกี่ยวกับนก มีตำนานที่เล่าถึงลูกสาวของเทพแห่งลม ลูกที่ชื่อ Alcyone [อัลกีโอเน] ที่อยากฆ่าตัวตายตามสามี (Ceyx [เซอิกสฺ]) ที่เสียชีวิตในทะเล. เทพเจ้าอื่นๆพากันสงสารและเปลี่ยนคนทั้งคู่เป็นนก kingfisher หรือ halcyon birds. ต่อมาเกิดสำนวน halcyon days ที่หมายถึงช่วงระยะ 7-14 วันในฤดูหนาวที่จะไม่มีพายุใดๆเลย. เชื่อกันว่าเป็นไปตามอำนาจของ Aeolus ผู้พ่อที่จะเก็บกักลมพายุทั้งหมดไว้ในช่วงนั้น ท้องทะเลก็จะสงบ เพื่อให้ Alcyone ทำรัง วางไข่และเลี้ยงดูลูกของนาง. สำนวนนี้จึงมีนัยสื่อระยะเวลาสงบสุขในความโกลาหล(ของชีวิต) เหมือนช่วงเวลาที่อากาศกลับอบอุ่นสบายกลางฤดูหนาว. เรื่องเล่าๆกันมา ถ่ายทอดกันมา ตีความกันมาจากยุคโบราณนั้น จะตรงกับชีวิตจริงของนก kingfisher ไหมนั้น เป็นสิ่งที่ผู้สนใจต้องไปค้นศึกษากันต่อไป. ในที่นี้ ชวนให้คิดว่า เพราะมีช่วงเวลาสงบสุขสบายใจดังกล่าว เหล่านกทั้งหลายจึงมารวมกันร้องเพลง. เราต่างเคยมองว่า นกเป็นภาพลักษณ์ของเสรีภาพ ของอิสรภาพ ( นึกถึงเพลง วิหคเหินลม ).  
     หัวข้อ ปักษีมโหรี เป็นที่นิยมกันแพร่หลายตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 16. พูดถึงนก ชาวตะวันตกส่วนใหญ่ในยุคนั้น ยังจำเรื่องราวชีวิตของนักบุญฟรันเชสโกแห่งเมืองอัสซีสิ (Francesco d’Assisi, ราวปี 1180-1226) ได้. รู้กันดีว่า นักบุญคนนี้พูดคุยกับนกและยังเทศนาให้นกฟังด้วย, ดังปรากฏเป็นหลักฐานในจิตรกรรมหลายภาพเกี่ยวกับนักบุญคนนี้. หัวข้อนี้ ยังผูกโยงไปถึงอีกตำนานหนึ่งที่เกิดขึ้นในยุคศตวรรษที่ 13 นั้น นอกเมืองบรัสเซล ว่ามีนกฝูงใหญ่มารวมกัน ในดงต้นบีช-Beech นอกเมืองบรัสเซล-Brussels เพราะมีภาพของพระแม่มารี ติดคาอยู่ระหว่างกิ่งของต้นบีช. ต่อมามีการสร้างวัดฟรันซิสกันขึ้นตรงนั้น อุทิศให้พระแม่มารี (Our Lady of the Birds). วัดนี้ถูกทำลายไปในศตวรรษที่ 16 ตามกระแสต่อต้านการบูชารูปเคารพแบบต่างๆ (iconoclasm, ในภาษาดัตช์ที่อธิบายเหตุการณ์นี้ในยุคนั้น ใช้คำว่า Beeldenstorm ในความหมายคร่าวๆว่า “พายุภาพ, พายุรูปปั้น” ดูรายละเอียดเรื่องนี้ได้ที่นี่
     ปลายศตวรรษที่ 16 มีการสร้างวัดขึ้นใหม่ วัดนั้นมีเอกลักษณ์พิเศษอย่างหนึ่ง คือมีกรงนกหลายกรงแขวนห้อยลงจากเพดาน. เสียงร้องเพลงของนกในกรงเหล่านั้น ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับร้องเพลงสวดสรรเสริญพระเจ้าของวัดนั้น. เสียงร้องเพลงของนก (อย่างน้อยในวิสัยทัศน์ของนักบุญฟรันซิสและของนักบวช) คือเสียงสรรเสริญพระเจ้า. สเนเดอส์เหมือนจะคุ้นเคยและมีศรัทธาเป็นพิเศษกับนักบวชฟรันซิสกัน และคงได้รับรู้เรื่องราวของฝูงนกและนกที่ร้องเพลงในอารามนักบวชฟรันซิสกันแห่งนั้นด้วย ถึงกับเจาะจงว่า เมื่อเขาตาย ขอให้ฝังร่างของเขาสวมชุดนักบวชฟรันซิสกัน (a Franciscan habit คำสุดท้ายทับศัพท์จากคำ อาบี ในภาษาฝรั่งเศส ที่แปลว่าเสื้อผ้า, คนละความหมายกับคำ habit ที่แปลว่า นิสัย ความเคยชิน. ชุดนักบวชนี้มีสีน้ำตาลหรือสีเทา ตัวยาวกรอมเท้า มีเชือกสีขาวผูกสองรอบที่เอว ปล่อยชายเชือกลง ที่ผูกเป็นปมเป็นระยะๆ).
     บางคนมองว่า ปักษีมโหรี หมายสื่อนัยของปัญญา เพราะมีนกเค้าแมวสัญลักษณ์ของปัญญารวมอยู่ในหมู่นก ที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าวงมโหรีด้วย (ดังที่รู้กันว่า เสียงนกฮูกไม่เสนาะหู เพื่อให้นกฮูกหยุดร้องเพลง เลยให้เป็นหัวหน้าวง. รู้กันว่า นกฮูกมีหูดีมาก จับเสียงเหยื่อของมันได้ในความมืด และบินตรงไปที่เสียงนั้น โดยไม่ต้องลืมตามองด้วยซ้ำ. นึกถึงวาทยากร Herbert von Karajan ผู้มักหลับตาเมื่อนำการบรรเลงของวงดนตรี. วาทยากรต้องมีหูดี แยกแยะเสียงได้จากทุกทิศของวง). หากคิดไกลออกไป ปักษีมโหรี ยังกระตุ้นเตือนให้ตระหนักถึงเสียงธรรมชาติอันสมดุล บรรสานสรรพสิ่งในจักรวาลอย่างแท้จริง. เสียงร้องเพลงของนกเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดของธรรมชาติที่นำพาคน สัมผัสและจินตนาการดนตรีที่คงจะยิ่งไพเราะเสนาะหูในสวรรค์.
     ในบริบทของยุคนั้น ภาคใต้ของเนเธอแลนด์อยู่ใต้การบริหารปกครองออสเตรีย (cf. Albert & Isabella Clara Eugenia) เนื้อหาของปักษีมโหรี จึงเชื่อมโยงไปถึงความสมดุลบรรสานทางการเมืองและสังคม. ประเด็นนี้น่าจะมีส่วนเสริมความนิยมชมชื่นในหมู่ชนชั้นสูง. พวกเขานำภาพปักษีมโหรี ไปประดับเหนือประตูหรือหน้าต่างหรือเหนือเตาผิง. ความนิยมนี้แพร่ออกไปสู่ประเทศสเปน. ในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 17 ยังมีนักสะสมภาพน้อยคนในกรุงมาดริดที่เป็นเจ้าของภาพของสเนเดอส์ แต่ตอนปลายศตวรรษ ภาพของเขาแพร่หลายไปทั่วทั้งในบ้านคหบดีและในพระราชวัง. จิตรกรรุ่นหลังหลายคนก็ได้สร้างสรรค์ภาพในหัวข้อเดียวกันนี้ เช่น Paul de Vos, Jan Fyt, Jan van Kessel the Elder เป็นต้น
Concert of Birds ผลงานของ Frans Snyders (ภาพในราวปี 1629-30)
ที่พิพิธภัณฑ์ เอลปราโด กรุงมาดริดประเทศสปน. เครดิตภาพจาก wikiart.org  
ในภาพนี้ มีนกเค้าแมวบนกิ่งไม้ เท้าเกี่ยวสมุดดนตรี นำวงมโหรีของนกต่างชนิดกัน 15 ชนิด. มีผู้เจาะจงว่า ในหมู่นกเหล่านี้ มีนกที่ไม่ใช่พันธุ์ที่พบในยุโรป เช่นนก Raggiana bird-of-paradise (ทำให้นึกถึงการเดินเรือค้าขายออกไปทั่วโลกยุคนั้น กับการขนสรรพสิ่งจากแดนไกลมายังยุโรป)
นักวิจารณ์ศิลป์ชาวสเปนคนหนึ่ง เจาะลึกเพ่งดูรายละเอียดที่ปรากฏบนหน้าโน้ตดนตรีที่นกเค้าแมวยึดไว้ เห็นชื่อเพลงเป็นภาษาฝรั่งเศส แต่ไม่มีใครเจาะจงได้ว่าเป็นเพลงอะไร ใครเป็นผู้ประพันธ์, ดูเหมือนว่าจะเป็นเพลงสี่เสียง และน่าจะเป็นเพลงฝรั่งเศส. (ref. Pérez Preciado, J. J.: Arte y Diplomacia de la Monarquía Hispánica en el siglo XVII, 2003. pp. 281-285).

     นักบวชผู้ติดตามฟรันซิสออกเผยแพร่คำสอนและแสดงแบบอย่างของการครองตนตามวิถีธรรมของพระเจ้า ได้บันทึกเรื่องนกไว้ว่า เมื่อพวกเขาเดินทางผ่านในหุบเขาสปอเลโต-Spoleto ในอิตาลี ฟรันซิสสังเกตเห็นนกฝูงใหญ่รวมกัน เกาะบนกิ่งต้นไม้ใกล้ๆกันข้างทุ่งนา. ฟรันซิสรู้สึกว่า พวกนกกำลังสังเกตเขาอยู่. ทันใดนั้น เหมือนพระเจ้าดลใจ เขาเดินเข้าไปใกล้บริเวณที่นกฝูงนั้นเกาะพักอยู่ และเริ่มเทศน์แก่นก. นักบวชผู้ติดตามได้จดบันทึกคำพูดของฟรันซิส ต่อมามีการรวบรวมพิมพ์ลงเป็นหนังสือ ในชื่อว่า Fioretti di San Francesco (The Little Flowers of St. Francis, รวบรวมแต่งขึ้นในราวปลายศตวรรษที่ 14).
ภาพของ Frans Hogenberg (before 1540-1590), ในราวปี 1566.
Public domain via commons.wikimedia.org
      
ฟรันซิสเริ่มพูดกับฝูงนกดังนี้
«น้องหญิงผู้อ่อนหวานทั้งหลาย พวกเจ้าเป็นนกประดับท้องฟ้า พวกเจ้าอยู่ในสวรรค์ชั้นฟ้า ใกล้ชิดกับพระเจ้าผู้เนรมิตเจ้า. เสียงกระพือปีกและเสียงโน้ตทุกตัวของเพลงเจ้า สรรเสริญพระองค์. พระองค์ได้ให้ของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแก่พวกเจ้า ที่คืออิสรภาพในห้วงเวหา. พวกเจ้าไม่เคยหว่านพืชหรือเก็บเกี่ยว ถึงกระนั้นพระองค์ได้มอบอาหารที่อร่อยที่สุด แม่น้ำ ทะเลสาบ เพื่อคลายความกระหายของเจ้า, มีภูเขา หุบเขา ต้นไม้ใหญ่ที่สร้างรังของพวกเจ้า, และมีอาภรณ์ประดับกายที่สวยงามที่สุด, ขนของพวกเจ้าเปลี่ยนสีไปทุกฤดูกาล. พวกเจ้าได้รับการดูแลปกป้องในเรืออาร์คของโนอา. ชัดเจนทีเดียวว่า พระผู้สร้าง รักพวกเจ้ามากและได้มอบของขวัญหลากหลายแก่พวกเจ้า. ดังนั้น ขอให้น้องหญิงทั้งหลาย จงตระหนักถึงบาปของการเนรคุณ และขอให้ร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าเป็นนิจสินนะจ้ะ»
     นักบวชผู้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์บันทึกต่อว่า ในระหว่างที่ฟรันซิสกล่าวคำเหล่านี้แก่ฝูงนก เหล่านกฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ เมื่อฟังจบลง ทั้งหมดอ้าปาก ยืดลำคอ เหยียดและกางปีกออกแล้วก้มหัวลงต่ำ เหมือนจะแสดงให้รู้ว่า ติดใจในคำพูดของฟรันซิส. ฟรันซิสเห็นเช่นนั้นก็ยินดีและปลาบปลื้มว่า นกจำนวนมากกลุ่มนั้น ทั้งงดงาม จิตตั้งมั่นและเชื่อง. เขาแซ่ซ้องสรรเสริญพระเจ้าในนามของนกทั้งหมด. นกทั้งฝูงยังคงรวมกันรอบๆฟรันซิส และเมื่อฟรันซิสได้ให้พรแก่พวกนกแล้ว จึงพากันบินจากไป. บ้างไปทางเหนือ บ้างไปทางใต้ บ้างไปทางตะวันออก บ้างไปทางตะวันตก. พวกนกบินออกไปทุกทิศทาง ราวกับว่า พวกมันกำลังมุ่งไปแจ้งข่าวดี นำความรักจากพระเจ้า ไปบอกเล่าต่อๆกันไปแก่สรรพชีวิตอื่น. (ref. Hopler, Whitney. "Saint Francis of Assisi and His Sermon to Birds." Learn Religions, Feb. 11, 2020, in  learnreligions.com/saint-francis-assisi-sermon-to-birds-124321)

     ดนตรีได้เปลี่ยนโลกและเปลี่ยนคนมาแล้ว. ดนตรี มิใช่เป็นดนตรีที่มนุษย์สรรค์สร้างเท่านั้น. สรรพชีวิตอื่นๆที่แชร์โลกกับเรา ต่างก็มีเสียง-voices ของเขาด้วย. แม้แต่พืชก็มีเสียง. ที่ใดมีชีวิต ที่นั่นมีเสียง และที่ใดมีเสียง ที่นั่นมีดนตรี.  ผู้ที่สัมผัสเสียงในธรรมชาติ และฟังมันเป็นดนตรี จึงเหมือนผู้วิเศษ เป็นผู้มีหูทิพย์. อย่าปล่อยให้ความคุ้นชินในสารพัดเสียง(อึกทึก)-noises กลบความมหัศจรรย์ของเสียง-voices ที่แฝงอยู่ในทุกที่, อย่าให้เสียง(อึกทึก)-noises ลดศักยภาพของการรับรู้ การสัมผัสซิมโฟนีของแผ่นดิน.
      นักวิทยาศาสตร์รู้มานานแล้วว่าพืชตอบรับคลื่นความถี่ที่ไปกระทบมัน ในปี 2019 มีงานวิจัยเรื่องหนึ่งที่เผยให้เห็นว่า พืชสามารถส่งคลื่นความถี่สูง เมื่อตกอยู่ในภาวะเครียดเช่นความแห้งแล้ง หรือเมื่อถูกตัด ถูกเก็บถูกเกี่ยว. พืชกรีดร้องได้.
(Cf. อ่านตัวอย่างเรื่องความถี่ของพืชได้ที่นี่ https://blogchotiros.blogspot.com/2019/06/the-sound-of-molecules.html )

     ปัจจุบันมีแขนงศึกษาแขนงใหม่เกี่ยวกับดนตรีที่ไม่ใช่ผลงานของคน เป็นแขนงสัตวดุริยางค์ศาสตร์ zoomusicology. ศัพท์คำนี้นักประพันธ์ดนตรีชาวฝรั่งเศสชื่อ François-Bernard Mâche เป็นผู้คิดขึ้นใช้ในหนังสือของเขาเรื่อง Musique, mythe, nature ou les dauphins d’Arion. (Éd. Klincksieck, Paris : 1980. 138 หน้า) (หรือในภาษาอังกฤษว่า Music, Myth and Nature or The Dolphins of Arion) เขาพูดไว้ว่า << ถ้าเรื่องกลับกลายเป็นว่า ดนตรีเป็นปรากฏการณ์ที่แพร่ออกไปจากหมู่คน ไปในสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆได้ (มีตัวอย่างมากมายของสัตว์ที่ชอบดนตรี, ของอิทธพลของดนตรีที่มีต่อสัตว์) เท่ากับเป็นสัญญาณเรียกให้คน พิจารณาคำจำกัดความใหม่ของ “ดนตรี” และในมุมกว้างออกไป ต้องคิดคำจำกัดความใหม่ของ “คน” กับ “วัฒนธรรมของคน” >>.
      มาช Mâche ตั้งคำถามใหม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรม, สองแขนงที่คนเคยจัดแยกจากกันอย่างเด็ดขาด. เขาเชื่อว่า ดนตรีไม่ใช่ส่วนหนึ่งของภาษาเพื่อการสื่อสารตามที่ยึดถือกันมา เพราะสนามความหมายของดนตรีกว้างไกลและไม่มีพรมแดน ภาษาต่างหาก(ด้วยความจำกัดของคำ) เป็นส่วนหนึ่งของดนตรี ฯลฯ และในที่สุด ดนตรีคือภาษาสากลของมวลมนุษย์.
       คนตั้งกฎเกณฑ์หรือพัฒนาหลักการ วัฒนธรรมหรือศิลปะ ที่มุ่งจัดคนให้อยู่ในกรอบพิเศษเฉพาะคนเท่านั้น โดยลืมไปว่าคนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง เหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกจำนวนมาก, เป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่งในหมู่สรรพชีวิตมากมายนับไม่ถ้วนบนโลกเดียวกันนี้. แต่ไหนแต่ไรมา ตามชนบท คนและสัตว์ใช้ชีวิตร่วมกัน ใกล้ชิดกัน คนจึงมีโอกาสสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ ที่ให้แง่คิด เตือนสติเกี่ยวกับธรรมชาตินิสัยของคน เพราะสัตว์สะท้อนส่วนหนึ่งของความเป็นคน. ชีวิตสัตว์ได้เป็นแบบอย่าง ดลใจให้คิดประดิษฐ์อะไรต่ออะไรมากมายมาแล้วเช่นเครื่องบินหรือเรือดำน้ำเป็นต้น (cf.Leonardo da Vinci).

       นักปรัชญา นักเทววิทยา กวี ศิลปิน นักรณรงค์และพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย ได้พยายามนำคนกลับเข้าไปมองและพิจารณาตนเองในวัฏจักรของจักรวาล แทนการปักหมุดตัวเองในโลกอันจำกัดของกิเลส ตัณหาและอุปาทานส่วนตัว.
     ภาพปักษีมโหรี มาเตือนใจข้าพเจ้าในวันนี้ ว่าต้องฝึกสติให้เกิดปัญญา ลับประสาทสัมผัส เพื่อหลอมตัวเองเข้าเป็นหนึ่งเดียวในซิมโฟนีของจักรวาล...

โชติรส รายงาน
๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๓.

No comments:

Post a Comment