Friday, July 31, 2020

Active versus Contemplative

เนื้อหาที่จำหลักลงบนกำแพงโบสถ์วิหารใหญ่ๆ มีหัวข้อหนึ่งที่ชวนคิดและที่สะท้อนค่านิยมในสังคมที่ฝังรากมาจนถึงทุกวันนี้.  เนื้อหานั้น จับคู่เปรียบ ชีวิตในกิจการงาน กับ ชีวิตในการภาวนาไตร่ตรอง  ในทำนอง ชีวิตทางโลกย์ กับชีวิตทางธรรม. ในภาษาศาสนาคริสต์ เขาเจาะจงด้วยสำนวน vita activa กับ vita contemplativa (หรือ la vie active กับ la vie contemplative หรือ temporal life กับ spiritual life).
      ประติมากรรมชุดนี้ มีจำหลักไว้ชัดเจนไม่มีที่ใดเทียบ ที่มหาวิหารน็อตเตรอดามเมืองช้าตร์ (Cathédrale Notre-Dame de Chartres, France). มหาวิหารแห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมกอติคที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งแรกในฝรั่งเศส. เริ่มสร้างในปี 1194 ทันทีที่วิหารโรมาเนสก์ในศตวรรษที่ 11 ที่เคยมี ตรงนั้น ถูกไฟทำลายเสียหาย. ปัจจุบันยังมีส่วนของโบสถ์ที่อยู่ใต้พื้น-crypt ที่เป็นพยานหลักฐานของการตั้งอยู่ของวิหารโรมาเนสก์ในศตวรรษก่อนๆ.  
      หากไปยืนดูรายละเอียดและพิจารณาสถาปัตยกรรมและประติมากรรมของมหาวิหารเมืองช้าตร์, หากเข้าใจรูปปั้น ประติมากรรมใหญ่น้อย รูปจำหลักนูนทั้งหลายทั้งปวงที่นั่น อาจได้ขอบเขตของเนื้อหาทั้งหมด ที่ไม่ใช่มีเพียงแต่ชีวประวัติของพระเยซู พระแม่มารีหรือนักบุญต่างๆในยุคนั้น หรือเรื่องราวในคัมภีร์เก่า, แต่ยังมีอะไรที่สำคัญกว่าประวัติของศาสนามากนัก. สำหรับข้าพเจ้า(ในฐานะที่ไม่ใช่คริสต์ศาสนิกชน) ออร่าของมหาวิหารน็อตเตรอดามเมืองช้าตร์ อยู่ที่มิติระบบนิเวศ ระบบสังคม ระบบความรู้ ระบบธรรมจริยา และอุดมการณ์ ตลอดจนถึงอารมณ์ขันของนายช่างที่ทำงานสืบสานสืบทอดต่อกันมาตลอด อย่างไม่ขาดระยะในเวลายี่สิบกว่าปี.  มหาวิหารนี้ จึงมีเอกภาพที่สมดุลสมบูรณ์ยิ่งกว่ามหาวิหารใดในฝรั่งเศส(ที่มักใช้เวลาก่อสร้างหลายศตวรรษ). แม้ในปัจจุบัน มลภาวะได้ทำลายความชัดเจนขององค์ประกอบส่วนต่างๆ(ส่วนใหญ่ประติมากรรม) ลงไปมาก โดยเฉพาะรอบนอกของมหาวิหาร แต่ร่องรอยที่เหลือให้เห็นในปลายศตวรรษที่ 20 ต้นศตวรรษที่ 21 นี้ ยังประทับเป็นความปิติ ที่นำจินตนาการย้อนอดีตไปสิบศตวรรษก่อน.
         หัวข้อในประติมากรรมจำหลักนูนหัวข้อหนึ่ง ที่อยากนำมาเสนอ คือชุดวิถีชีวิตในกิจการงานที่จัดตั้งเป็นคู่ตรงข้ามของวิถีชีวิตในการสำรวมภาวนา. พิจารณาดูภาพประติมากรรมข้างล่างนี้ ที่ซุ้มประตูด้านทิศใต้ (transept porche sud) ขอบซุ้มประตู มีการจำหลักรูปปั้นขนาดเล็ก เรียงไปเป็นกรอบซุ้มประตู. รูปลักษณ์แต่ละรูปมีความหมายชัดเจน.
ซุ้มประตูด้านทิศใต้ (portail sud du transept) บนหน้าบันจำหลักประตูนี้ เล่ากำเนิดพระเยซู, เทวดาดลใจคนเลี้ยงแกะให้ตามไปดูทารกน้อยที่เกิดในคอกสัตว์, และสามกษัตริย์จากต่างแดนที่เดินทางตามดวงดาวมาถึงคอกสัตว์. ประติมากรรมภายในบริเวณซุ้มนี้ ตรงหมายเลข 1 และหมายเลข 2 จำหลักวิถีชีวิตสองแบบ ที่ไปบรรจบกันบนยอดโค้ง.หมายเลข 1 ชีวิตในการงาน และหมายเลข 2 ชีวิตในทางใฝ่ธรรม. ดังรายละเอียดในภาพข้างล่างนี้
ตัวอย่างของสตรีในกิจการงาน (ภาพลักษณ์ของ la vie active) รูปปั้นแต่ละรูปกำลังทำกิจกรรมหนึ่ง เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการสางเส้นใย หวีเส้นใย รีดปุย ปั่นเป็นเส้น ม้วนเป็นใจ และทอเป็นผืน เพื่อทำเสื้อคลุม เครื่องนุ่งห่มต่อไป.
ตัวอย่างของสตรีผู้ใช้ชีวิตภาวนาพิจารณาธรรม (ภาพลักษณ์ของ la vie contemplative) รูปปั้นแต่ละรูปแสดงกิริยาของการคิด การอ่าน การไตร่ตรอง การสวดภาวนา. หนังสือเป็นสัญลักษณ์ของความรู้ ของความจริง ของคุณธรรมที่พระเจ้าดลใจ.
       การจับคู่ชีวิตสองแบบนี้ เกี่ยวกับผู้หญิงเป็นสำคัญ ดังปรากฏเจาะจงไว้ในคัมภีร์เก่า เมื่อพระเจ้าขับไล่อาดีมกับอีฟออกจากสวรรค์ พระเจ้าได้กำหนดไว้แล้วว่า ต่อแต่นั้น คนต้องลงแรงเพาะปลูก มีอาหารกินจากหยาดเหงื่อของตัวเอง นั่นคือผู้ชายต้องทำไร่ไถนา หน้าสู้ดิน หลังสู้ฟ้า. ส่วนผู้หญิงต้องอุ้มท้อง เพราะตั้งครรภ์อยู่เสมอ และคลอดลูกด้วยความเจ็บปวด, ต้องทำงานบ้าน ทอผ้า เตรียมเครื่องนุ่งห่มเป็นต้น. ในศิลปะศาสนา สรุปชีวิตของอาดัมกับอีฟเมื่อออกจากสวนสวรรค์ ด้วยภาพของอาดัมจับจอบพรวนดิน และอีฟกรอด้าย ดังตัวอย่างภาพข้างล่างนี้
ภาพจำหลักนูนบนเสากลางประตูขวา (Portail de la Mère Dieu) ด้านหน้าของมหาวิหารน็อตเตรอดามเมืองอาเมียง. ภาพบนบอกเล่าเหตุการณ์มาร(หน้าผู้หญิงเกือบเชยหน้าอีฟ) มาล่ออีฟ(คนซ้าย) ให้กินผลไม้ต้องห้าม. อีฟเอาเข้าปาก อีกมือส่งต่อให้อาดัม(คนขวา). นี่เป็นสาเหตุของการถูกขับออกจากสวนสวรรค์อีเด็น. ภาพตอนล่างสรุปวิถีชีวิตของอาดัมกับอีฟ อาดัมพรวนดิน เริ่มเพาะปลูก, อีฟทอผ้า. ทั้งสองมีขนสัตว์ห่อหุ้มร่างท่อนล่าง.
       การเจาะจงกิจกรรมการทอผ้าของผู้หญิง เป็นประเด็นหลักในชีวิตของผู้หญิงสมัยก่อน (การทำอาหารก็เป็นกิจกรรมหลัก แต่การถ่ายทอดการทำอาหารเป็นประติมากรรมในพื้นที่จำกัดนั้นยากกว่าการจำหลักอุปกรณ์การทอผ้า). ความจำเป็นของการทอผ้าในชีวิตนอกสวนสวรรค์ ตอกย้ำประเด็นของสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวนและ ร่างกายต้องปรับรับสภาพอุณหภูมิขึ้นๆลงๆ. ในสวรรค์อีเด็น น่าจะมีอุณหภูมิพอเหมาะกับสรรพชีวิต ไม่ว่าคน สัตว์หรือพืชพรรณ, ต่างเติบโตเจริญแบ่งบานตามธรรมชาติ. น่าจะเป็นฤดูใบไม้ผลิต้นฤดูร้อนตลอดกาล. อาดัมกับอีฟกินอยู่เหมือนสัตว์ในธรรมชาติ ไม่มีเครื่องนุ่งห่ม ไม่เคยอายเรื่องการเปลือยกาย. พอกินผลไม้ต้องห้าม เกิดความตระหนักรู้, โลกธรรมชาติที่อยู่มาอย่างคุ้นเคย, มีจิตสำนึก มีตัวตนเข้าไปแทรกซึม, ความอายเกิดขึ้นเพราะการตระหนักว่ามีคนอื่นมองดูตน เพราะคนไม่อายเมื่อมองร่างเปลือยของตัวเอง, สายตาคนอื่นกลายเป็นตัวกำหนดวิธีคิดและวิถีชีวิตให้คน ฯลฯ

       ประติมากรรมชุดชีวิตในกิจการงานกับชีวิตในการสวดมนต์ภาวนา จักเป็นเนื้อหาของจิตรกรรมฝีมือชั้นครู จำนวนมากในตะวันตก ที่เปิดช่องทางให้เบนออกจากกิจการงานทอผ้า ไปเป็นการทำอาหารแทน, ที่ต่อมา เปิดโอกาสให้นำภาพความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร มาเรียงเสนอในแบบของจิตรกรรมชีวิตนิ่ง (Still Life) และจัดเทียบพฤติกรรมในชีวิตหน้าที่การงานกับการฝักใฝ่ในธรรม. ศิลปะศาสนา นำเสนอชีวิตสองแบบของสองพี่น้องมาร์ธาและมารี (Martha & Mary) แห่งเมืองเบทานี(Bethany) เมื่อต้อนรับพระเยซู ตามที่เล่าไว้ในคัมภีร์ฉบับของลุค (Luke 10 : 38-42) ใจความว่า
         พระเยซูไปเยือนบ้านของลาซาร์ ผู้มีน้องสาวสองคนชื่อมาร์ธาและมารี. มาร์ธากุลีกุจอเตรียมอาหารเพื่อเลี้ยงพระเยซูกับคณะ, ส่วนมารีไปนั่งอยู่แทบเท้าพระเยซู ตั้งใจฟังทุกคำพูดของพระเยซู. มาร์ธาสาละวนกับการตระเตรียมทุกอย่างเพื่อบริการพระเยซู  เห็นมารีนั่งเฉยๆ จึงท้วงขึ้น ถามพระเยซูว่า คิดอย่างไรที่มารีปล่อยให้เธอยุ่งตระเตรียมอาหารอยู่คนเดียว ขอให้พระเยซูบอกแก่มารีให้ไปช่วยเธอในครัว. พระเยซูตอบว่า มาร์ธา เธอกังวลมาก เธอวุ่นวายกับเรื่องต่างๆหลายเรื่องมาก แต่สิ่งเดียวที่สำคัญ... มารีได้เลือกทางที่ดีที่สุด ข้าไม่ลิดรอนสิทธิ์ของเธอ.
       พระเยซูพูดในเชิงให้เข้าใจเองว่า งานที่ควรทำที่สุด คือการฟังคำสอนของพระผู้เป็นเจ้า การฟังพระองค์ ย่อมนำแสงสว่าง ความเข้าใจ เป็นการเดินเข้าสู่พระเจ้า. การทุ่มเทเตรียมการต้อนรับพระเยซู กับการฟังพระองค์พูดหรือสอน ในความเป็นจริง ไม่ใช่สองทางที่ขัดแย้งกัน หากทำด้วยความเต็มใจและศรัทธา ย่อมได้ปิติเท่ากัน แม้จะเหนื่อยกายต่างกัน แต่ละคนมีหนทางเข้าถึงพระเจ้าต่างกัน.
      นักบุญหลายคนสอน(ปลอบใจคนทำงาน)ว่า จุดมุ่งหมายของการกระทำ ของพฤติกรรมในการดำรงชีวิต หรือของการปฏิบัติหน้าที่ในความรับผิดชอบ คือการสั่งสมคุณธรรม การเข้าใจชีวิต และการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นในบั้นปลายนั่นเอง. 
      นักเทวศาสตร์ขยายความคำพูดของพระเยซูในบริบทนี้ แตกต่างกันไปบ้าง. ประเด็นเด่นๆ คือ มาร์ธาเป็นคนใจดีเอื้อเฟื้อ ตั้งใจบริการพระเยซู วุ่นกับงานในฐานะเจ้าบ้าน จนลืมกอบโกยโอกาส ละเลยการกระชับศรัทธาในพระเจ้า. ประเด็นจึงอยู่ที่การจัดอันดับความสำคัญของกิจกรรมในชีวิตให้เหมาะกับเวลาและสถานที่. ฤาพระเยซูจะเห็นว่าการทำอาหารไม่ใช่สิ่งสำคัญ. ในฐานะพระบุตร อาหารไม่น่าจะใช่สิ่งสำคัญ แต่การสั่งสอนคนให้เชื่อในพระเจ้า, สร้างศรัทธาในพระเจ้า สำคัญกว่ามาก. พระเยซูจึงพูดว่า มารีเลือกสิ่งที่สำคัญที่สุด (คือการฟังธรรมจากปากของพระเยซู). โดยปริยาย การใช้เวลาฟังธรรมไตร่ตรองคำสอน (la vie contemplative) จึงถูกยกขึ้นเหนือเวลาที่หมดไปในกิจการงาน (la vie active). เช่นนี้ชัดเจนว่า มารีใกล้ชิดพระเยซูมากกว่ามาร์ธา. แม้ในอาหารมื้อสุดท้าย ความหลากหลายของอาหารไม่ใช่ประเด็นสำคัญ พระเยซูเลือกเพียงขนมปังกับไวน์เท่านั้น และสถาปนาพิธิยูการิทเธีย(ทางเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า) กับอาหารทั้งสองชนิด.
ตัวอย่างจิตรกรรมที่นำเสนอวิถีชีวิตสองแบบในคัมภีร์ ตอนพระเยซูไปเยือนบ้านมาร์ธาและมารี.
ภาพพิมพ์จาก wellcomecollection.org
ห้องโถงในบ้านใหญ่ กว้างและสว่าง. พระเยซูนั่ง บนตั่งติดผนัง มีโต๊ะตรงหน้า. มาร์ธายืนหันหน้าไปทางพระเยซูและมารี ผู้ก้มหน้าดูหนังสือบนตัก. หนังสือนั้นเป็นเพียงสัญลักษณ์เพื่อสื่อความตั้งใจไตร่ตรอง มิได้อ่านจริงๆ. จากช่องประตู เห็นครัวขนาดใหญ่ กองไม้กำลังเผาใต้ปล่องไฟขนาดใหญ่ (ก่อกองไฟเพื่อทำอาหารและให้ความร้อนด้วย).  มีหม้อเหล็กใบใหญ่ สองคนยืนอยู่ใกล้หม้อ อีกคนนั่งอยู่ข้างปล่องไฟ. มาร์ธาเพิ่งเดินออกมาที่ห้องโถง เมื่อมารีไม่เข้าไปช่วยเธอ จึงมาร้องเรียนพระเยซู.

ภาพผลงานของ Jan Vermeer (1632-1675) ในราวปี 1656. เครดิตภาพ : commons.wilimedia.org [Public domain]. ปัจจุบันอยู่ที่หอศิลป์ National Galleries of Scotland. จิตรกรใช้แสงเพื่อเน้นบุคลิกและกิริยาท่าทางของทั้งสามคนในเหตุการณ์นี้. มาร์ธาถือเพียงตะกร้าใส่ขนมปังเพื่อสื่อการเตรียมอาหาร. มารีนั่งเท้าคางมองพระเยซูไม่วางตา.

Diego Velásquez (1599-1660) : Cristo en casa de Marta y María. National Gallery, London. Commons.wilimedia.org [Public domain]
ช่องเปิดบนกำแพงทำให้เห็นผู้ชายนั่งอยู่ ผู้หญิงคนหนึ่งนั่งที่พื้นใกล้ๆ ผู้หญิงอีกคนยืนข้างหลัง มองไปที่ผู้ชาย. ส่วนใหญ่สรุปว่า น่าจะเป็นเนื้อหาของพระเยซูไปเยือนบ้านของมาร์ธาและมารี ดังที่เล่ามาข้างต้น. พื้นหน้าของภาพ เห็นผู้หญิงกำลังโขลก (กระเทียม) ในครก ปากเม้มนิดๆ ไม่พอใจ มองคนที่มองเธอ. หญิงชราที่ยืนอยู่ข้างหลัง ทำมือชี้และแตะที่แขนเธอ. หากเข้าใจว่า ภาพซ้อนภาพคือเหตุการณ์ในคัมภีร์ ภาพผู้หญิงบนพื้นหน้า จึงอาจเป็นมาร์ธาที่กำลังเตรียมอาหาร และเมื่อมารีไม่มาช่วยเธอ จึงเข้าไปฟ้องพระเยซู. หญิงชรากับนิ้วชี้ที่แตะแขนของมาร์ธา อาจเตือนหรือตำหนิมาร์ธาว่า ชีวิตที่สมบูรณ์ไม่ใช่การทุ่มเททำงานบ้าน ต้องมีการพัฒนาด้านสติปัญญา(การใฝ่ธรรม)ด้วย. ภาพของเวลัสเก็ส เน้นการแสดงออกของบุคคล, ฉากเรียบง่าย. จิตรกรยังให้ความสำคัญแก่รายละเอียดของอาหารบนโต๊ะ ที่เหมือนจริงมาก.  มีข้อมูลอธิบายด้วยว่า มาร์ธากำลังโขลกกระเทียมเพื่อเตรียมซอสสำหรับกินกับปลา (ที่เรียกว่า Aioli ในภาษาสเปน).

ผลงานจาก Atelier Frans II Francken ศตวรรษที่ 17 ฮอลแลนด์. จิตรกรสร้างฉากพื้นหลังที่ออกจากบริบทของห้องครัว. เห็นธรรมชาติที่งามร่มรื่น สวยดั่งภาพธรรมชาติที่นิยมกันในจิตรกรรมเฟลมมิชยุคนั้น. สร้างออร่าแก่บ้านหลังใหญ่นี้และเน้นความสำคัญของเหตุการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่. ครัวที่เห็นไกลไปด้านหลังทางซ้ายของภาพสว่างไสว มีลูกมือสองคนในครัว. กิริยาท่าทางของบุคคลทั้งสามตรงหน้า ทำให้เข้าใจเหตุการณ์. มาร์ธายืนมือข้างหนึ่งเท้าบนโต๊ะที่มีอาหาร. จิตรกรกระจายอาหารชนิดต่างๆทั้งบนโต๊ะและบนพื้นในมุมซ้ายของภาพ. ทั้งหมดยืนยันบทบาทของเธอในเหตุการณ์นี้ ส่วนมารีนั่งเรียบร้อยไม่พูดไม่เถียง. ภาพที่แขวนบนกำแพงตรงกลาง เล่าเหตุการณ์ตอนอับราฮัมพาไอแซ็คขึ้นไปบนเขา เตรียมฆ่าสังเวยพระเจ้าตามคำสั่งของพระเจ้า เทวทูตมายึดมือเขาไว้ และบอกให้ฆ่าลูกแกะที่อยู่ตรงนั้นแทน. การที่จิตรกรเพิ่มภาพเหตุการณ์อับราฮัมกับไอแซ็ค ติดอยู่บนกำแพงด้านหลังตำแหน่งที่พระเยซูนั่ง เป็นการยืนยันการต่อเนื่องของคัมภีร์เก่ามาถึงเหตุการณ์ในคัมภีร์ใหม่ในยุคของพระเยซู, อีกทั้งนำให้เห็นภาพในอนาคตว่า พระเยซูก็จะเป็นลูกแกะที่จะถูกสังเวยเช่นกัน(เมื่อถูกตรึงบนไม้กางเขน). ขนบศาสนาคริสต์ ลูกแกะเป็นสัญลักษณ์ของพระเยซู.

ภาพผลงานของ Joachim Beuckelaer ปี 1568. อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Museo del Prado, Madrid. จิตรกรคนนี้นิยมและเชี่ยวชาญการแสดงภาพชีวิตนิ่งของสัตว์ที่เป็นอาหารของคน ทั้งสัตว์ปีก สัตว์น้ำและสัตว์บก รวมทั้งผักต่างๆ. สตรีสาวคนหนึ่ง(มาร์ธา) และคนสูงวัยกว่าอีกคน ในกองอาหาร เตรียมพร้อมจะแปลงวัตถุดิบทั้งหลายที่เห็นให้เป็นอาหารเพื่อบริการพระเยซู. ไกลออกไปด้านหลัง เห็นพระเยซูนั่งอยู่, มารีนั่งอยู่แทบเท้า และผู้หญิงยืนในช่องแสงสว่างของประตู คือมาร์ธา (เมื่อเธอเห็นว่ามารีไม่มาในครัวช่วยเธอเตรียมอาหาร จึงเดินไปร้องเรียนต่อพระเยซู). เหตุการณ์ในคัมภีร์ถูกลดไว้ในพื้นที่น้อยนิดแต่สว่างเพียงพอให้เดาปฏิกิริยาและการตอบโต้ระหว่างมาร์ธากับพระเยซู.
     ความอุดมสมบูรณ์ของอาหารที่กระจายเต็มเกือบเต็มพื้นที่ เป็นตัวชี้บอกยุคสมัยอันรุ่งเรืองของฮอลแลนด์ในศตวรรษที่ 16, เหตุการณ์ศาสนาถูกลดไปอยู่พื้นที่ไกลออกไปด้านหลัง. นี่เป็นกระบวนการสร้างภาพที่พลิกขนบการสร้างภาพที่เคยมีมา และกลายเป็นกระแสศิลป์แนวใหม่ของยุโรปภาคเหนือ ในหมู่ศิลปินชาวเฟลมมิชในยุคนั้น. จิตรกรแสดงความสามารถในการถ่ายทอดอาหารและสรรพวัสดุได้อย่างสมจริง (realistic) และรู้จักใช้ส่วนสถาปัตยกรรมคลาซสิก มาเป็นองค์ประกอบในการจัดฉาก สร้างมิติของความลึก. 
      การรวมฉากอาหารการครัวเข้าไปในภาพเนื้อหาศาสนานั้น แพร่หลายในศาสนศิลป์ จนถึงปลายศตวรรษที่ 17, ส่วนใหญ่โยงไปถึงเหตุการณ์ในคัมภีร์ใหม่ ดังเช่นเหตุการณ์ตอนพระเยซูมาเยือนบ้านของมาร์ธาและมารี.
     ประเด็นสำคัญที่เป็นบทสอนใจ คือ การเทียบความหมกมุ่นในโภคทรัพย์ กับความหวังที่วิญญาณจะได้รับการไถ่บาปและไปสวรรค์. นี่เป็นปัญหาสองแง่สองมุมที่เกลียวผันกัน ยากจะแยกออกจากกันได้. สังคมชนชั้นกลางโดยเฉพาะ ได้อาศัยโภคทรัพย์ไต่เต้าขึ้นสู่บันไดสังคม จนเกือบเคียงบ่าเคียงไหล่กับชนชั้นสูง ในขณะเดียวกันก็เป็นชนชั้นที่นับถือศาสนาอย่างเคร่งครัด และกลายเป็นผู้ส่งเสริม ผู้ว่าจ้างศิลปินเพื่อผลิตงานศิลป์ประเภทต่างๆให้ เพื่อเสริมหน้าตาศักดิ์ศรีของตนเอง.

      เนื้อหาตอนนี้ เตือนให้ตระหนักว่า การทำงานหาเงิน สร้างตัวสร้างครอบครัว ไม่ใช่วิถีชีวิตที่จักนำความสุขมาให้อย่างถาวร จำต้องมีวิถีอื่นมาคอยประคับประคองเพื่อความไม่ประมาท เพราะชีวิตหรือโภคทรัพย์ไม่ยั่งยืน...

จุดหมายสุดท้ายของชีวิตแบบใดก็ตาม คือการเข้าถึงสัจธรรม. สัจจะหรือความจริงมีหนึ่งเดียวในวิถีชีวิตคน เป็นฐานเหมือนกันในทุกศาสนา. วิธีเข้าถึงสัจธรรมต่างกัน แปรไปตามความพร้อมทางปัญญาของฝูงชน ณที่หนึ่ง ยุคหนึ่ง.
      ความสำเร็จของแต่ละคน น่าจะอยู่ที่การบอกตัวเองก่อนตายว่า ฉันเป็นคนดีขึ้น และได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าเพื่อประโยชน์สุขของตัวเองและของแผ่นดินเกิด. 

โชติรส รายงาน
๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓.

No comments:

Post a Comment