Monday, August 24, 2020

Free yourself by walking

into Schlossgarten Schwetzingen 
ชวนเดินชมสวน ปลอดโควิดแน่นอน
ได้พูดถึง น้ำพุนก ในโพสต์ก่อน ที่ปราสาทสเว็ตซิงเงอ Schwetzingen, เพิ่งมีโอกาสค้นหาภาพที่ถ่ายเองเมื่อไปเยือนที่นั่นในปี 2007. พระราชวังหรือปราสาทที่นั่น ขนาดเล็กเมื่อเทียบขนาดกับพระราชวังแวร์ซายส์ แต่การจัดสวน การสร้างภูมิทัศน์ภายในสวน นับว่าเป็นผลงานที่น่าทึ่งทีเดียว. สวนปลายยุคบาร็อค ยังมีแบบแผนชัดเจน ตามแนวแกนของสวน ที่นั่นทอดตรงจากใจกลางพื้นที่ตลาดนัดกลางเมืองสเว็ตซิงเงอ ผ่านเข้าอาณาบริเวณของปราสาทและตรงออกไปสู่ชนบทสุดสายตา. แม่น้ำ Leimbach ไหลผ่านเมืองนี้ เอื้อให้จัดเครือข่ายเส้นทางน้ำไหลและสระน้ำภายใน ให้เป็นกระจกเงาสะท้อนความงามของอาคารสถาปัตยกรรมและสภาพธรรมชาติแวดล้อมได้อย่างวิเศษ.
แนวบาร็อคแบบแผนนี้เป็นแกนหลักของปราสาท เป็นงานออกแบบของ Johann Ludwig Petri (ปี 1753) ตามทฤษฎีและหลักการของฝรั่งเศส. ต่อมาสถาปนิกฝรั่งเศส Nicolas de Pigage (1723-1796) ได้เข้ามาขยายพัฒนาสวนและได้สร้างอาคารประดับสวนที่โดดเด่นกลายเป็นจุดดึงดูดสายตาและเป็นเอกลักษณ์ของปราสาทที่นั่นมาจนถึงปัจจุบัน. ผลงานของเขาเช่น Rokokotheater, อาคารสรงน้ำ Badhaus, สุเหร่าในสวนตุรกี Türkische Moschee, วิหารอพอลโล Apollotempel,  วิหารเมอคิวรี Merkurtempel, สะพานส่งน้ำในแบบของซากโบราณสถานโรมัน Römisches Wasserkastell หรือในภาษาอังกฤษว่า (a ruined) Roman Aqueduct.
       รูปปั้นประดับอุทยานที่สเว็ตซิงเงอ มีมากกว่าร้อยชิ้น ก็มีส่วนมาจากระบบประติมากรรมของพระราชวังแวร์ซายส์ทั้งในด้านการจัดสร้างรูปปั้น เนื้อหาหรือตัวอย่างบุคคล จากเทพตำนานโบราณหรือจากชีวประวัติของจักรพรรดิโรมันคนเด่นๆ รวมทั้งเสาโอเบลิซก์, สฟิงซ์, แจกันหรือโถขนาดใหญ่ๆเป็นต้น. ความประณีตของรูปปั้น(โดยเฉพาะใบหน้า) ไม่งามแบบเทพเทวีกรีกหรือโรมัน ด้อยกว่าที่ได้เห็นในพระราชวังแวร์ซายส์. แต่เขามีตัวสฟิงค์ใบหน้าสวยๆหลายตัว.
      พึงรู้ว่ารูปปั้นหินและหรือประติมากรรมตะกั่วของจริงของดั้งเดิมในสวน ถูกนำเข้าไปเก็บในห้องรักษาอุณหภูมิ ที่เรียกที่นั่นว่า Lapidarium (หมายถึงอาคารรวมและเก็บรักษาดูแลหิน  ประติมากรรมหิน รวมแผ่นศิลาจำหลักหรือจารึกแบบต่างๆเป็นต้น) เพื่ออนุรักษ์จากสภาพอากาศ. ดังนั้น สิ่งที่เห็นในปัจจุบันจึงเป็นก็อปปี้ของดั้งเดิม ทำจากเรซินสังเคราะห์หรือเป็นทองสัมฤทธิ์หล่อขึ้น ในศตวรรษที่ 20. มีข้อมูลของปราสาทระบุว่า ดั้งเดิมรูปปั้นหรือประติมากรรมทั้งหลายในปีที่เสกสรรค์ขึ้นนั้น ทาเคลือบด้วยสีตะกั่วขาวซ้ำๆเสมอ จนทำให้ประติมากรรมแต่ละชิ้น เงางามเป็นประกาย เห็นชัดและโดดเด่น จึงเป็น “สิ่งดึงดูดสายตา”. การทาสีเคลือบอีกชั้นหรือหลายชั้น มีส่วนปกป้องเนื้อหินจากอากาศแปรปรวนแบบต่างๆ ทั้งฝน หิมะหรือน้ำค้างแข็ง. ต่อมาในศตวรรษที่ 19 ผู้คนชื่นชอบสีธรรมชาติของหินมากกว่า. ของจริงของแท้ดั้งเดิม อาจสวยกว่าของปลอมที่เห็นในสมัยนี้. ความสึกหลอของรูปปั้นและประติมากรรม ทำให้ต้องย้ายรูปปั้นจริงเข้าไปเก็บในพิพิธภัณฑ์ Lapidarium.
        ประติมากรรมทั้งหลายทั้งปวงที่ประดับสวนนั้น ประสานและจัดวางบนแนวแกนหลัก ตามขนบบาร็อค, แต่รูปลักษณ์สวนเมื่ออยู่รอบนอกๆไกลแกนหลักไปในชนบท จะแปรเปลี่ยนออกจากระเบียบ คลายความเคร่งครัดในการจัดสวนลง  เน้นให้พื้นที่สวนรอบนอกเป็นภูมิทัศน์ที่ดูเหมือนธรรมชาติมากกว่า (ตามแบบสวนอังกฤษ) และสถาปนิกสวนเขาทำได้อย่างเหมาะเจาะ สมดุล. นี่เป็นเอกลักษณ์ของการบริหารจัดสวนส่วนใหญ่ในเยอรมนี.
      เส้นทางเดินจากสวนแบบแผน ระเบียบสมดุลสองข้างแกนหลัก ทำให้จิตผ่อนคลายได้ และเมื่อเดินออกไปสุดถึงรอบสระน้ำใหญ่ เดินวนไปตามฝั่งน้ำ เห็นธรรมชาติป่าไม้, ภูมิทัศน์ที่แตกต่างกันไปทุกมุมมอง กับต้นไม้ใหญ่ๆต่างสายพันธุ์ เป็นสิ่งดึงดูดสายตา มากพอๆกับประติมากรรมสีขาวๆที่แทรกไว้ และที่ลอยโดดเด่นออกจากพื้นหลังสีเขียวๆของป่าไม้.  คนเดินเบิกบานใจแกมประหลาดใจ เพราะเมื่อเดินไปถึงจุดใหม่ในสวน มองไปรอบตัว แล้วมองไกลออกไป เห็นจุดเดิมที่เพิ่งเดินจากมาเมื่อสามสิบสี่สิบนาทีก่อน, เท่ากับมีการเชื่อมเครือข่าย vistas มุมมองของอาคารเด่นๆของสวนไปถึงกันและกัน (พระราชอุทยานแวร์ซายส์ ไม่มีลักษณะแบบนี้, แต่ละมุม แต่ละห้องสวน เกือบจะปิดล้อมหรือปิดตัวเอง มีเพียงทางเดินเข้าออกเท่านั้น).  
       สถาปนิกคนสำคัญๆ ได้นำแบบอย่างจากพระราชวังแวร์ซายส์มาและรู้จักจัดให้เข้ากับอุดมการณ์ของผู้เป็นเจ้าของ. พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส ต้องการเน้นอำนาจครอบจักรวาล ดั่งสุริยะเทพ, ส่วนเจ้านายที่สเว็ตซิงเงอ (Prince Elector คนสำคัญสองคนสำหรับปราสาทแห่งนี้ Johann Wilhelm และ Carl Theodor ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 17-18) ให้ความรู้สึกว่า แสวงหาความสงบผ่อนคลายในธรรมชาติ รับสิ่งดีๆจากอารยธรรมเตอร์กมาแทรกในวิถีการดำเนินชีวิต พร้อมพัฒนาอุดมการณ์กับขยายวิสัยทัศน์ออกไปนอกพรมแดนเยอรมนี นอกพรมแดนยุโรป. ความใจกว้างและความสนใจในอารยธรรมต่างแดนของชาวเยอรมัน ดูเหมือนจะยังคงอยู่มาจนทุกวันนี้. มีทีมนักโบราณคดีที่ไปทำวิจัยตามแหล่งโบราณสถานทั่วไปในโลก. เมื่อผนวกการเมืองเข้าไปด้วยโดยเฉพาะตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และต่อมาในยุคของฮิตเลอ, โบราณคดีศึกษาถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของ Nazi propaganda เพื่อเสริมนโยบายชาตินิยม nationalism และมุ่งหน้าไปสู่มุมมองชาติพันธุ์นิยมแบบ ethnocentric views. ในปัจจุบัน อุดมการณ์แบบฮิตเลอสิ้นสุดลง, นักโบราณคดีชาวเยอรมัน ยังคงมีและทำงานวิจัยบนพื้นที่ นำความรู้และวิทยาการใหม่ๆไปใช้ บวกความมุ่งมั่นที่ไม่สิ้นสุด ได้นำเสนอประเด็นใหม่ๆเกี่ยวกับเมืองโบราณ. พวกเขามีผลงานสืบต่อมา เพราะรัฐบาลยังสนับสนุนงานวิจัยด้านนี้ (ตัวอย่างเช่น Heinrich Schliemann ผู้เริ่มขุดหาซากเมือง Troy, Mycaenae และ Tiryns ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19, ทีมนักโบราณคดีเยอรมัน ได้ขุดกันต่อมา ให้ข้อมูลความรู้และประเด็นใหม่ๆเกี่ยวกับเมืองโบราณเหล่านั้น.
        เยอรมนีรู้จักคุณค่าของอารยธรรมเติร์ก-อาหรับ และเลือกรับสิ่งที่ดีที่สุดมา เช่นการสร้างสวนตุรกี พร้อมอาคารและอาร์เขตตามแบบสถาปัตยกรรมอาหรับมัวร์(ที่เข้ายึดครองสเปนติดต่อมาหลายศตวรรษ) คือการเรียนรู้เจาะลึกความลับของการก่อสร้างสุเหร่าหรือมิใช่.  สวนตุรกีที่นั่นได้กลายเป็นอาคารประดับสวนที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนี. การสร้างอาคารสรงน้ำ Badhaus ก็เพราะได้เห็นคุณประโยชน์ของการอาบน้ำชำระล้างร่างกาย, มรดกด้านสุขอนามัย จากขนบแช่น้ำพุร้อนของชาวโรมัน และการอาบน้ำล้างมือล้างหน้าเป็นประจำของชาวเติร์กและชาวอาหรับ. พระราชวังใหญ่ๆในเยอรมนี มักมีอาคารสรงน้ำด้วยเสมอ ที่ประกอบด้วยสระน้ำร้อนให้แช่ได้เต็มตัว บางแห่งลึกและใหญ่พอให้ว่ายน้ำได้ เช่น Badenburg ในบริเวณพระราชวัง Nymphenburg ชานเมืองมิวนิค ที่ได้เป็นตัวอย่างให้ปราสาทหรือวังอื่นๆในเยอรมนี.    
       ชาวตะวันตกเพิ่งได้รู้เห็นการอาบน้ำของชาวอาหรับ ตอนไปสงครามครูเสดในศตวรรษที่ 12. ตัวอย่างฝรั่งเศส การมีน้ำอาบ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจเงินตรา อ่างอาบน้ำเป็นสมบัติมีค่าที่ต้องจดบันทึกหรือทำรายการไว้, เป็นส่วนหนึ่งของโภคทรัพย์ส่วนบุคคล.
      คนที่ชอบเดินสวนและเดินเก่ง หากมีโอกาสเข้าไปชมปราสาทสเว็ตซิงเงอ จะรู้สึกสดชื่นเบิกบานใจไม่น้อย. เขาดูแลบริหารอาณาบริเวณได้อย่างดีเยี่ยม ทุกอย่างจึงยังคงเป็นไปตามแบบแปลนที่ตั้งเป้าไว้ในศตวรรษที่ 18. ต้นไม้ใหญ่ๆจำนวนมาก ชนิดและพันธุ์ต่างๆ ตระหง่านและงามสง่า. ยังมีสวนพฤกษศาสตร์เพาะเลี้ยงต้นส้มต้นมะนาว. เล่ากันว่า วอลแตร์ Voltaire นั่งประพันธ์เรื่องก็องดี๊ด Candide เมื่อได้รับเชิญให้ไปพักที่ปราสาทนี้ (cf. Gradenvisit.com). ข้าพเจ้าเองเข้าไปเดินสองวันเต็มๆ ยังเดินไปไม่ครบทุกพื้นที่ ไม่รู้สึกเบื่อหรือเหนื่อย.
เชิญชมสวนจากภาพตัวอย่างข้างล่างนี้
 
พระราชวังสเว็ตซิงเงอ เป็นพระราชวังฤดูร้อน
1.   Arionbrunnen สระน้ำอารีอน
2.   Apollotempel วิหารอพอลโล
3.   Tempel der Botanik วิหารพฤกษชาติ
4.   Römisches Wasserkastell สะพานส่งน้ำโรมัน Roman aqueduct
5.   Badhaus อาคารสรงน้ำ  ใกล้ๆกันคือ น้ำพุนก หรือ
Bassins der wasserspeienden Vögel
6.   Türkische Moschee สุเหร่าตุรกี
7.   Merkurtempel วิหารเมอคิวรี
8.      Minervatempel วิหารมิแนรวา (โรมัน หรือวิหารอาเธนาของกรีก)
9.   Orangerie อาคารอภิบาลพืชพรรณ
(สะกดตามชื่อในภาษาเยอรมัน)
สระน้ำอารีอน ทรงกลม เห็นกวางใหญ่สองตัวสีขาวๆอยู่ไกลๆ.  รูปปั้นกลางสระน้ำตรงหน้านี้ เป็นชายถือเครื่องดนตรีคล้ายกีร์ต้า, นั่งบนหลังปลาโลมา. อารีอน ร้องเพลงได้ไพเราะมาก ได้สมญานามว่า เป็นลูกอพอลโล เทพแห่งดนตรี. ถูกนายเรือและลูกเรือกรีก ทรยศจะฆ่าเพื่อเอาทรัพย์สินเงินทองที่เขาได้มาจากการร้องเพลงในซิซีลี(อิตาลี). เขาขออนุญาตร้องเพลงก่อนทิ้งตัวลงทะเล มีปลาโลมาที่ประทับใจในเสียงเพลงของเขา มาช่วยชีวิตเขาและพาเขาไปขึ้นฝั่ง. เขากลับมาถึงเมืองคอรินท์ Corinth ในกรีซได้ในที่สุด.

เมื่อมองกลับไปประตูทางเข้า เห็นปราสาทสีอิฐตั้งเด่น. เงาลางๆของเทือกเขา Odenwald ทอดยาวที่ขอบฟ้า. กวางตัวใหญ่มีเขาเป็นกิ่งสูงงาม สองข้างแนวแกนหลักของพื้นที่ ปากพ่นน้ำลงในสระ Stag Fountain.
หย่อมสวนน้ำกลางสนามหญ้าผืนยาว ที่ขนาบสองข้างแนวแกนของพื้นที่
 
ปาร์แตร์แบบเรียบ พื้นสนามกว้างใหญ่ มีสระน้ำตรงกลางผืนปาร์แตร์ใหญ่


ปราสาทสเว็ตซิงเงอ เป็นที่จัดงานฉลองงานรื่นเริงบันเทิงหลายแบบในแต่ละปี และที่พิเศษมากคือ จัดนิทรรศการโชว์และประกวดรถหรูโบราณ Concours d’Elégance Automobile ครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2001 เรียกกันว่า The Classic-Gala Schwetzingen และยังคงมีต่อมาทุกปี. ปี 2020 นี้ ก็มิได้งด (ตั้งแต่วันที่ 4-6 กันยายน 2020) บนพื้นที่อันกว้างใหญ่ของอุททยานที่นั่น จะมีรถเข้าแข่งความงามกันราว 150 คัน แต่ละคันขับโชว์ไปบนพื้นที่อุทยานให้คนดูได้ชื่นชมอย่างทั่วถึง. ในปี 2007 ข้าพเจ้าไปถึงหลังวันงาน เจ้าของรถได้ทะยอยขับรถกลับออกไปหมดแล้ว เหลือไม่กี่คัน. ปีนั้น ข้าพเจ้าไม่รู้เรื่องการประกวดรถยนต์. ผู้สนใจดูรถยนต์หรูรุ่นเก่า แค่คลิกเข้าไปในกูเกิลว่า Classic-Gala Schwetzingen ก็จะได้เห็นตัวอย่างรถหรูรุ่นเก่าๆจำนวนมาก (จากนิทรรศการปีก่อนๆ).

กวางใหญ่สองตัวนี้ (stags) ประดับสองข้างแกนกลางของพื้นที่ ปากเป็นท่อน้ำพุพุ่งออก. กวางทั้งสองจำนนต่อการรุมกัดของสุนัขล่าสัตว์. ชนชั้นสูงในยุโรปสมัยก่อน ต้องฝึกและเรียนศิลปะการล่าสัตว์ เป็นหนึ่งในทักษะที่ต้องรู้ และเป็นการฝึกความมุ่งมั่น ความกล้าหาญ สร้างนิสัยของผู้นำต่อไปในอนาคต. ในยุคศตวรรษก่อนๆ หากไม่มีสงคราม การล่าสัตว์เป็นสงครามแบบหนึ่ง สู้กับสัตว์และสู้กับจิตสำนึกของตัวเอง. ปัจจุบันในยุโรปการล่าสัตว์เป็นไปตามอำเภอใจไม่ได้แล้ว ไม่ว่าชนชั้นใด.

สระน้ำใหญ่สุดในพื้นที่ของอุทยาน ประดับด้วยรูปปั้นที่เป็นเทพประจำแม่น้ำในขนบตะวันตก. ที่นั่นมีรูปปั้นสองรูป แทนเทพประจำแม่น้ำไรน์ Rhein และแม่น้ำดานู้บ Danube, ไกลออกไปเห็นสะพานโค้งสีขาวๆ ต้น poplar สายพันธุ์อิตาลี ที่สูงตระหง่าน ตั้งตรง.
เขาบอกว่าเป็นเทพประจำแม่น้ำดานู้บ Danube แต่แม่น้ำดานู้บ ไม่ผ่านเมืองนี้ หรือเขาต้องการระบุชื่อแม่น้ำสำคัญๆในยุโรปแถบนี้. แม่น้ำดานู้บเป็นแม่น้ำสายสำคัญมากในยุโรป ไหลผ่าน 10 ประเทศรวมภาคใต้ของเยอรมนี.
รูปปั้นหน้าตาหนุ่มกว่า ชวนให้นึกถึงแม่น้ำ Leimbach ที่ไหลผ่านเมืองสเว็ตซิงเงอ และไหลลงสู่แม่น้ำไรน์. 
 
และเมื่อเดินห่างออกมา ลัดเลาะลดเลี้ยวไปตามฝั่งน้ำ หรือออกไปยังสวนมุมอื่นๆทางทิศเหนือ หากหันกลับ ก็ยังเห็นมุมของสองเทพแห่งแม่น้ำ แถมมีวิหารเมอคิวรี Merkurtempel โผล่เด่นแหวกมวลต้นไม้ บนฝั่งที่ไกลโพ้น. 
ภาพวิหารข้างล่างนี้ ไปถ่ายจากมุมอื่น เห็นใกล้เข้าไปอีก.

สุเหร่าพร้อมสวนแบบอาหรับมัวร์ สร้างเสร็จในปี 1785 เขาเรียกพื้นที่หรือห้องสวนบริเวณนี้ว่า สวนตุรกี. ห้องสวนนี้ เป็นองค์ประกอบประดับสวน ที่ใหญ่ที่สุดที่ไม่เคยมีมาก่อนในสถาปัตยกรรมสวนในเยอรมนี. 

สุเหร่าที่นั่น มิได้สร้างขึ้นใช้ประกอบพิธีศาสนาแต่อย่างใด แต่สื่อการรู้จักคุณค่าของสิ่งดีงามในวัฒนธรรมอื่น. แน่นอนอารยธรรมอาหรับ ศิลปะและวิถีชีวิตอาหรับในยุคอ็อตโตมันนั้น มีความสุนทรีย์แบบที่ชาวตะวันตกนึกไม่ถึง
 
ภาพจาก flickr.com
ภาพมุมสูงจากกล้องโดรน

วันที่ไปวันแรก จู่ๆฝนตกหนัก ได้อาศัยอาร์เขตที่สวนตุรกีหลบฝน. ออกจากบริเวณนี้ มีสวนต้นซากุระที่คุยไว้ว่า เป็นสวนที่รวมต้นซากุระจากญี่ปุ่นไว้มากที่สุดในเยอรมนี จึงเป็นจุดถ่ายรูปชมสวนของชาวเยอรมันระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน. ตอนที่ไปเดือนกันยายน ดอกร่วงหมดแล้ว.

 วิหารมีแนร์วา Minervatempel บนหน้าบัน เทวีมีแนร์วานั่งเป็นประธานในฐานะผู้ส่งเสริมศิลปวิทยา จำหลักกิจกรรมการเรียนรู้แบบต่างๆ เช่น ประติมากรรม สถาปัตยกรรม. อาคารนี้สร้างแล้วเสร็จในปี 1773. เล่ากันว่า มีห้องพิเศษที่ใช้เป็นที่พบลับๆในสมัยก่อน (แน่นอน เขาปิดเป็นความลับต่อไป)
ห้องสวนในอุทยานสเว็ตซิงเงอ มักมีโครงสร้างเป็นเหล็กดัดแลลเรียบง่าย ที่จัดทำให้เหมือนกรอบ เหมือนซุ้มด้านหน้าของห้องสวนนั้น พวกเขาจะปลูกไม้เลื้อยต่อไปปกคลุมโครงเหล็ก.
 
แปลงสวนบนพื้นสองข้างแกนหลักของพื้นที่ เขาจัดรูปแบบให้ต่างกัน
เช่นมุมนี้มีอุโมงค์ต้นไม้ทอดไปยาวเหยียด.
เห็นเจ้าหน้ากำลังสั่งการเล็มต้นไม้ให้เข้ารูปเข้าทรง  ได้ไปพูดชมกับเธอว่า สวนนี้มีการตัดเล็มต้นไม้แบบเรียบๆ แต่มองดูสวย โปร่งโล่ง สะอาดตามาก. เธอบอกว่าเป็นงานหนัก เพราะต้องคอยเล็มกันบ่อยๆ และที่นั่นก็ทำรั้วต้นไม้หรือตัดดัดต้นไม้ประดับเป็นจำนวนมาก. เธอบอกว่า เธอเป็นเพียงตาคอยดู คนออกแรงตัดเป็นแรงสำคัญ คือคนที่ปีนบันไดขึ้นไปตัดอย่างตั้งใจ ตามสายตาของคนมองคุมที่ยืนอยู่ที่พื้น จัดระเบียบดูความตรงเผงของกิ่งไม้ใบไม้. ในภาพเห็นแต่ขาบนบันได.

 สนามทรงกลม เรียกว่า รงป็วง (คำฝรั่งเศส) Rond Point ถือเป็นห้องสวนแบบหนึ่ง

ชอบอาร์เขตต้นไม้แบบนี้มาก ดูโปร่ง โล่ง อากาศถ่ายเทได้ดี ได้ชื่นชมความงามของใบไม้ด้วย. จัดเป็นรูปแบบหนึ่งในศิลปะการตัดต้นไม้ให้มีรูปลักษณ์ต่างๆ-topiary.
ไม่เหมือนในอังกฤษ รั้วต้นไม้หรือ hedges หนาและทึบ ทำหน้าที่ของกำแพงจริงๆจังๆ.

อาคารออร็องเจอรี Orangerie ที่อภิบาลพืชพรรณ โดยเฉพาะพืชพรรณที่ทนอากาศหนาวไม่ได้ ที่มักปลูกลงกระถาง นำออกมาตั้งรอบสวนเมื่ออากาศอบอุ่น. ออร็องเจอรีหลายแห่ง ในฤดูร้อน ใช้เป็นที่จัดนิทรรศการหรือการแสดงสำหรับเด็กและประชาชนเกี่ยวกับต้นไม้ดอก.
บริเวณพื้นที่สวนหน้าอาคารออร็องเจอรี
ประติมากรรมสมัยใหม่ มาเสริมสีสัน
สวนเยอรมนี มีรูปปั้นเด็กๆ ประดับสวนเสมอ ในกิริยาท่าทางต่างๆ เป็นหนูน้อยคนสวน ที่อาจดึงดูดใจเด็กๆ. การให้ความสำคัญกับการเล่นของเด็กในสวน เป็นการชักจูงเด็กให้สนใจพืชพรรณไม้ต่างๆด้วย.
 ใกล้กัน มีรูปปั้นของเทพเซเรส Ceres เทวีแห่งธัญพืช การเก็บเกี่ยว
อีกมุมหนึ่ง รูปปั้นของสปริง Spring ประคองพวงดอกไม้พวงยาว มีเด็กเกาะอยู่ข้างๆ. ฤดูใบไม้ผลิ สัญลักษณ์ของชีวิต ของศักยภาพในการฟื้นคืนชีวิต หลังจากที่ใบแห้งเหี่ยว ร่วงโกร๋นไปในฤดูหนาว ใบไม้ผลิดอกออกผล เหมือนเด็กผู้จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ. สิงโตสองข้างบันได ฤาจะคอยเฝ้าระวังชีวิตและศักดิ์ศรี...
  
 
วิหารอพอลโล Apollotempel รูปปั้นสตรีสองคน ประคองคนโทน้ำ มีน้ำไหลลงตามขั้นบันได
วิธีการจัดพื้นที่ ไล่ระดับจากบนยอดเนินลงมาเป็นสามตอน. ต้นไม้ทึบสองข้างที่ตัดให้ดูเหมือนหลืบหรือม่านสองข้างเวที, การจัดวางสฟิงซ์ เหมือนกำหนดพื้นที่ของห้องสวนใหญ่นี้.  ที่ตั้งวิหารอพอลโลบริเวณนี้ จัดเหมือนเวทีละครกลางแจ้ง. นับเป็นความสำเร็จของสถาปนิก. 
ใต้โดม อพอลโลในร่างของชายหนุ่ม มือขวาถือพิณคู่กาย มือซ้ายทำท่าเหมือนจะดีดพิณ จึงออกจะผิดปกติเพราะปกติ มือขวาดีดพิณ. ยอดโดมเป็นดวงอาทิตย์ส่องแสงประกายจ้า, ดวงอาทิตย์ใบหน้าคน หน้าเคร่งขรึม. นี่อาจจะต้องการพาดพิงไปถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในฐานะที่พระเจ้าหลุยส์ประกาศยกตัวเองเป็นสุริยะเทพ.
เมื่อมองจากบนวิหารอพอลโลลงไป เห็นการจัดพื้นที่บริเวณนี้ ที่ได้สัดส่วน งามสมดุล จากจุดที่ตั้งของรูปปั้นอพอลโล เป็นเส้นตรง ผ่านแปลงสวนหรือปาร์แตร์หน้าอาคารออร็องเจรี ดังภาพข้างล่างนี้
แนวตรงที่ทอดจากวิหารอพอลโลมาถึงแปลงสวนหน้าอาคารออร็องเจรี. เห็นอย่างนี้ นึกว่าใกล้ๆใช่ไหม
ด้านหลังของวิหารอพอลโล เดินขึ้นลงได้
ราวระเบียงเป็นเหล็กดัด ประดับด้วยใบหน้าของดวงอาทิตย์ ที่อมยิ้มนิดๆ

พิจารณารูปปั้นสฟังซ์ในบริเวณนี้ เห็นว่าหน้าตาดีกว่าสฟิงซ์ที่อุทยานหรือสวนใดในเยอรมนี. หน้าเป็นผู้หญิง ร่างเป็นสิงโต รูปปั้นเหล่านี้ มีทรงผมที่ไม่เหมือนกันเลย. นายช่างได้จัดแต่งทรงผมของสฟิงซ์ทุกตัวอย่างพิถีพิถันมาก.

ภาพซ้าย มองไกลออกไป ผ่านกำแพงต้นไม้ ไปถึงอาคารสวนอีกอาคารหนึ่ง เป็นอาคารเฉพาะกิจ ไม่เปิดให้เข้าไป. ภาพขวา มองไกลออกไป ผ่านกำแพงต้นไม้ ไปถึงน้ำพุเล็กๆ.
ตามหลักการว่า มองไปทิศทางใด จะเห็นสิ่งดึงดูดสายตาที่ปลายเส้นทางนั้น, เขาเรียกว่าเป็น eye-catcher เพื่อล่อให้คนสนใจเดินตามไปดูให้รู้แก่ใจ.


โครงสร้างเหล็กดัด ประดับเหมือนซุ้ม ตรงทางเข้าไปในบริเวณที่ตั้งของสระน้ำพุนก ใช้พันธุ์ไม้เลื้อยเลี้ยงให้ปกคลุมโรงเหล็ก และสร้างร่มเงาด้วย.
ทางเข้าสู่สระน้ำนกเค้าเหยี่ยว (eagle owl) เห็นสายน้ำพุ่งลงสู่สระ
นกเค้าเหยี่ยวยืนตะครุบบนนกไก่ฟ้าไว้ กางปีกกว้างอย่างผู้มีชัยกระมัง. นกทั้งหลายเกาะบนขอบกรงตอนบน ต่างพ่นน้ำลงสู่สระ. รอบๆสระน้ำทรงกลม มีประตูกระจก ยกเว้นประตูเดียวตรงกลางภาพ ที่มองดูลึกและมืด ไกลออกไปจนถึงจุดสว่าง. ความจริงประตูสีฟ้าเขียวๆที่เห็นนั้น อยู่รอบนอกของสระน้ำพุนกนี้. (ลิงค์ข้อมูลเกี่ยวกับนกเค้า)
ภาพซ้ายได้ปรับแสงให้สว่างเพื่อให้เห็นโครงสร้างของอุโมงค์เพื่อลวงตาว่า ภูมิทัศน์ที่เห็นตรงจุดสว่างนั้น อยู่ไกลออกไปมาก (trompe-l’oeil) เหมือน “สุดพรมแดนโลก” (Das Ende der Welt). ทิวทัศน์ที่คิดว่าเห็น ในที่สุดคือภาพวาดดังในภาพขวา. เขาเรียกห้องสวนตรงนี้ว่า Perspektiv (ผลงานของ Nicolas de Pigage, 1776-1778)
 
ออกจากสวนน้ำพุนก ถึงอาคารสรงน้ำ Badhaus ซึ่งใช้เป็นอาคารพักผ่อนส่วนตัว, ภายในมีสระน้ำอุ่นให้แช่ เป็นวิลลาเล็กๆในอุทยานใหญ่ของปราสาท
 
ภายในบางส่วน ตกแต่งด้วยหินหลากสี(อาจมีเปลือกหอยประดับ) ในแนวของกร็อตโต grotto อิตาเลียน
อีกส่วนหนึ่ง ประดับกำแพงด้วยแผ่นกระเบื้องลวดลายทิวทัศน์ชนบทในฮอลแลนด์เป็นส่วนใหญ่. กระเบื้องสีน้ำเงินขาวแบบนี้ เป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อจากเมืองเดลฟ์ Delft ในฮอลแลนด์ยุคนั้น.
  
ตัวอย่างกระเบื้องเคลือบภาพวาด จากเมืองเดลฟ์ ฮอลแลนด์

Tempel der Botanik มีสฟิงซ์ใบหน้าชายสองตัวเฝ้าตรงทางเข้า. เล็งกล้องเข้าไปข้างใน เห็นเขาจัดแบบเรียบๆ มีรูปปั้นสตรี สองข้างบนกำแพงจำหลักอุปกรณ์เกี่ยวกับการเพาะปลูก. รูปปั้นสตรีให้เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ เป็นเหมือนแม่พระธรณีผู้ปกป้องอภิบาลแผ่นดิน, หากเป็นเทพโรมัน เทียบได้กับเทวีเซเรส Ceres หากเป็นเทพกรีก เทียบได้กับเทวีเดเมเตร์ Demeter. สมัยก่อนดูเหมือนจะเรียกอาคารนี้ว่า วิหารเดเมเตร์ Demetertempel. ตำนานกรีกเล่าว่า เมื่อเทพแห่งบาดาลเฮดิส Hades มาอุ้มตัวลูกสาวของนางชื่อ Persephone ไป นางเศร้าเสียใจมาก ละเลยแผ่นดินที่นางอุ้มชูมา จนทำให้เกิดภัยแล้งทั่วไปบนโลก. ต่อมาเฮดิส ยอมให้ลูกสาวกลับมาอยู่กับแม่เดเมเตร์ปีละสามเดือน, ยามนั้น แผ่นดินเขียวชอุ่ม พืชพรรณงดงาม ออกดอกออกผล, คือช่วงหน้าฤดูใบไม้ผลิต่อฤดูร้อนนั่นเอง. นัยสุดท้าย คือวงจรฤดูกาล วัฏจักรชีวิต. 

 
เดินออกไปในพื้นที่บริเวณนั้น
  
เห็นอาคารที่สร้างให้เหมือนอาคารปรักหักพังจากยุคโรมัน พร้อมด้วยสะพานส่งน้ำมรดกวิศวกรรมจากชาวโรมัน. สร้างแล้วเสร็จในราวปี 1781. เห็นเสาโอเบลิซก์บนฝั่งขวาด้วย.  อาคารแบบซากโบราณสถาน เป็นองค์ประกอบยอดนิยมแบบหนึ่งในสวนยุโรป เพื่อสื่อการผ่านไปของกาลเวลา ที่เน้นความไม่ยั่งยืนของชีวิต เป็นมรณานุสติตามขนบตะวันตก (กะโหลกศีรษะของคน ที่มักเห็นวางไว้ในมุมหนึ่งของจิตรกรรม ก็เป็นไปตามขนบ Memento Mori เตือนใจว่า วันหนึ่งเจ้าต้องตาย, ลาภ ยศโภคทรัพย์ทั้งหลายทั้งปวง ก็จะสลายไปตามกาลเวลา, ก่อนหรือหลังวันตายของเจ้าได้เช่นกัน).
ภาพถ่ายจากอาคารข้างๆสะพานส่งน้ำ ที่ขึ้นไปชั้นบนชมวิวได้. สร้างให้ดูเหมือนสลักหักพัง แต่ความจริงสร้างอย่างมั่นคง.

เห็นทางน้ำไหลไม่ธรรมดา เหมือนเส้นทางชอนไชของไส้เดือนไหมนะ.  เป็นทางน้ำไหลที่ใช้งานได้จริง  เชื่อมต่อไปเป็นแนวยาว คั่นด้วยสระน้ำที่มีรูปปั้นเด็กเล่นบนหลังปลาโลมา. สุดสายตา เป็นที่ตั้งของรูปปั้น สีขาวมองเห็นแต่ไกล ดึงให้คนเดินไปดู. ในภาพขวา สุดสายตามุมนี้ มีรูปปั้นที่ข้าพเจ้าชอบมากเป็นพิเศษ. ดังกล่าวไว้ในอารัมภบทต้นเรื่องว่า มีประติมากรรมประดับอุทยานนี้ร้อยกว่าชิ้น. ไม่อาจนำมาให้ชมได้ จึงเลือกมาเป็นตัวอย่างสามสี่ภาพเท่านั้น.
ตามไปดูภาพเต็มของรูปปั้น สุดทางในภาพขวา ข้างล่างนี้...
เด็กเล็กๆสามคนเล่นกับแพะ ท่าทางสนุกสนานดี. 
 
นี่ก็เป็นรูปปั้นที่น่าทึ่งอีกรูปหนึ่ง ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับเนื้อหาของรูปปั้นเทพแพน Pan จากตำนานกรีก. หน้าเป็นชาย มีหนวดเครา เขาแพะสองข้างบนหัว เท้าเป็นสองกีบ. แพนเป็นเทพเจ้าป่า จ่าฝูงสัตว์ ผู้ปกป้อง ติดตามจนไล่กวดนางไม้ทั้งหลาย ชอบร้องรำทำเพลง (เป่าขลุ่ย แบบเพลงลูกทุ่ง) ฯลฯ มีนิสัยออกจะมุทะลุดุดัน เมื่อโผล่ไปที่ไหน ก็อาจทำให้คนขวัญหนี. ชื่อ Pan จึงเป็นต้นศัพท์ของคำว่า panic ที่แปลว่า กลัว, หวาดหวั่น.

เดินมานาน มาไกล กลับมาเจอด้านหลังของวิหารอพอลโลที่เห็นในด้านขวาของภาพ  ที่น่าสนใจคือ ด้านซ้าย มีรูปปั้นขาว เจาะจงมาตั้งตรงนี้. รูปปั้นนี้ น่าจะแทนและสรรเสริญสถาปนิกที่เป็นผู้ออกแบบและรังสรรค์สวนอันน่าอภิรมย์นี้. ดูรายละเอียดของรูปปั้นชื่อ “เรขาคณิต Geometria ข้างล่างนี้
 
มีไม้วัดไม้บันทัดหลายแบบ มือขวาถือสายลูกตุ้ม อุปกรณ์สมัยก่อนสำหรับการวัดแนวดิ่ง. เรขาคณิต ศาสตร์แห่งความสมดุล สู่ความสมบูรณ์บรรสาน. แต่ละคนอาจจัดระบบเรขาคณิตของขันธ์ได้เช่นกัน
 
ด้วยอำนาจจินตนาการและอำนาจเทพเมอคิวรี (ที่เห็นวิหารแหวกหมู่ไม้ ยืนยันว่ามาประจำที่นี่)  เดินเรียบฝั่งแม่น้ำ เพื่อกลับไปออกด้านหน้าของปราสาท

 
จบลงด้วยมุมนี้ พร้อมรูปปั้นที่ชอบอีกหนึ่ง
ช่างตอกสลักเวลา จารึกประสบการณ์
สบายอกสบายใจ ลาก่อน Auf Wiedersehen!

โชติรส รายงาน
๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๓.

No comments:

Post a Comment