Friday, August 28, 2020

Owl-Chouette


สระน้ำพุนกเค้าเหยี่ยว
เครดิตภาพ https://www.germany.travel/de/freizeit-erholung/schloesser-parks-gaerten/galerie-schloss-schwetzingen.html
ภาพนกกระทุงจากสวนสัตว์ในเยอรมนี ชวนให้นึกถึงน้ำพุนกที่ไม่น่าจะมีที่ใดเหมือน ในปราสาท Schloss und Schlossgarten Schwetzingen ติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับปราสาทนี้ได้ที่ schloss-schwetzingen.de (ปราสาทที่เห็นในปัจจุบัน สร้างขึ้นใหม่บนพื้นที่ตั้งของปราสาทเก่าที่มีมาแล้วในศตวรรษที่ 8) 
ตั้งแต่ปี 1749 สถาปนิกชาวฝรั่งเศส Nicolas de Pigage (1723-1796) ได้ไปช่วยวางแผนและก่อสร้างอาคารหลังใหม่และสวนที่ปราสาทสเว็ตซิงเงอ  Schwetzingen สำหรับ Elector Carl Theodor (1724-1799). ในปี 1752 เขาเนรมิตอาคารเวทีละคร Rokokotheater ที่ทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับกันมาก. ตั้งแต่ปี 1762 ในฐานะผู้อำนวยการสวน เขาเริ่มขยายแผนการพัฒนาสวนบนพื้นที่ปราสาททั้งหมด. เขาสร้างสวนที่เรียกที่นั่นว่า Arborium Theodoricum ซึ่งคือสวนภูมิทัศน์แบบอังกฤษ เป็นตัวอย่างแบบแรกๆในเยอรมนี. ปราสาทสเว็ตซิงเงอประดับด้วยประติมากรรมแบบต่างๆกว่าหนึ่งร้อยชิ้น (รวมตัวสฟิงค์ใบหน้างามกว่าที่ใดที่เคยเห็น, เสาโอเบลิซก์ เป็นต้น) ยังมีอาคารสถาปัตยกรรมแบบคลาซสิก (ex. aqueduct, grotto) หรือวิหารอพอลโล Apollotempel, สร้างอาคารสรงน้ำ Badhaus พร้อมสวนส่วนตัว ให้เป็นอาคารพักร้อน ตามแบบสถาปัตยกรรมวิลลาอิตาเลียน, และที่แปลกในเชิงความคิด คือสร้างสวนตุรกี Türkischer Garten รวมสุเหร่ากับอาคารแนวบาร็อคประดับตกแต่งตามศิลปะอาหรับ และกลายเป็นองค์ประกอบประดับสวนที่มีโครงสร้างใหญ่ที่สุด ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การสร้างสวนในเยอรมนี. อาคารแบบตุรกีนี้ มิได้เพื่อจุดประสงค์ทางศาสนาแต่อย่างใด แต่แสดงความใจกว้าง การยอมรับและเห็นค่าของอารยธรรมอื่น.

ภาพวาดจากศตวรรษก่อน. จากเพจ vialibri.net
ในส่วนที่เป็นอาคารสรงน้ำ Badhaus มีสวนน้ำพุนก (Bassins der wasserspeienden Vögel) ดังภาพที่เห็น. กลางสระน้ำพุ มีรูปปั้นของนกเค้าเหยี่ยว (eagle owl) เหยียบตะครุบนกไก่ฟ้า. มีน้ำพุ่งออกจากปากนกหลายสาย. มีทางเดินรอบๆสระน้ำ, เหนือขึ้นไป สร้างเป็นโครงเหล็กตาข่ายในแบบของกรงนกแต่เปิดสู่ท้องฟ้า ตรงขอบมีนกชนิดต่างๆเรียงรายเป็นวงกลม ปากนกแต่ละตัวคือท่อน้ำพุ ที่ไหลพุ่งลงสู่สระน้ำตรงกลาง. การจัดนกเค้าแมวเป็นจุดโฟกัสของสระน้ำ รวมทั้งการรวมนกสารพัดชนิดไว้ในสระน้ำพุนี้ ชวนให้คิดว่าทำไม หรือมีที่มาอย่างไร.


        เวอชั่นหนึ่งเล่าว่า การสร้างสระน้ำพุนกนี้ ได้ความคิดจากนิทานอีสปเรื่องนกเค้าแมวกับเหยี่ยว. นกสองชนิดเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมานาน.  ในที่สุด ทั้งสองตกลงว่าจะไม่ทำร้ายลูกนกของกันและกัน. นกเค้าเหยี่ยวถามเหยี่ยวว่า เคยเห็นหน้าตาของลูกตัวเองไหม. เหยี่ยวบอกว่ายังไม่เคย. แม่นกเค้าเหยี่ยวจึงสาธยายความน่ารักของลูกของตัว ตาใสแป๋ว ขนละเอียดอ่อนนุ่ม เป็นลูกนกที่น่ารักที่สุดในโลก. ต่อมาเหยี่ยวไปเห็นลูกนกหน้าตาน่าเกลียดสามตัวในโพรงต้นไม้ คิดว่าไม่น่าจะเป็นลูกน่ารักของนกเค้าเหยี่ยว จึงจับกินเป็นอาหาร. แม่นกกลับมาเห็นลูกหายไป เหลือเศษกระดูก จึงคร่ำครวญโกรธแค้นเหยี่ยว เหยี่ยวตอบว่า เธอผิดเอง ที่พรรณนาลูกตัวเองซะเลอเลิศ มันไม่ตรงกับความจริงเลย.
      อีกเวอชั่นหนึ่ง ค้างคาวเกาะอยู่ในบริเวณนั้นและเห็นเหตุการณ์ว่าเหยี่ยวกินลูกนกเค้าไป, เมื่อได้ยินแม่นกเค้าพร่ำรำพัน ก็บอกเธอว่า เธอเองผิดเพราะตาบอดหลงใหลลูกตัวเอง สร้างภาพลูกดีเกินความเป็นจริง.
      อีกเวอชั่นหนึ่ง ยึดตามนิทานของลาฟงแตน La Fontaine ที่เล่าว่า นกเค้าเหยี่ยวติดใจผู้หญิง และร้องเพลงเพื่อเอาชนะใจเธอ แต่เสียงไม่ดี ไม่น่าฟัง นกอื่นๆได้ยิน รวมกลุ่มรุมกันหยอกล้อเยาะเย้ยนกเค้าแมว. ลาฟงแตนจบลงว่า จะชนะใจสตรี ต้องรู้จักเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับสภาวะของตัวเอง. 
      สรุปแล้ว น้ำพุนกนี้น่าจะได้แง่คิดมาจากนิทานของลาฟงแตนมากกว่า และบรรดานกที่เกาะบนขอบกรงเหล็ก รวมตัวกัน ปล่อยน้ำพุ่งออกจากปากลงสู่สระ, อาจเปรียบได้กับการระบายคายขาก ประท้วงเยาะเย้ยนกเค้าแมว.
     นิทานเรื่องนี้เตือนสติบิดามารดาที่หลงลูกและยกย่องชื่นชมว่า ลูกตัวเองสวยที่สุด หล่อที่สุด เก่งที่สุด ฉลาดที่สุดฯลฯ ควรตระหนักว่า คำชมเชยไม่หยุดตลอดเวลา อาจสร้างความมั่นใจแก่เด็ก แต่ก็อาจปลูกฝังความหลงตัวเองด้วย...
Wow! C’est chouette!
นกเค้า หัวมนเรียบ ภาพจาก Flickr.com
รุ่นเราคุ้นเคยกับการดูหนังการ์ตูนที่มีนกเค้าแมวเป็นหัวหน้าวงดนตรี (maestro) หรือเป็นครูสวมแว่นตาใหญ่และหมวกปริญญา. พวกเราจึงติดใจนกเค้าแมวกันมาตั้งแต่เด็กๆ และพลอยสะสมอะไรเกี่ยวกับนกเค้าแมวไปด้วย. จบอักษรศาสตร์พวกเราก็เป็นครูกันมาก. นกเค้าแมวจึงตรึงนัยของความฉลาด ความมีปัญญา ยิ่งเมื่อรู้ว่า นกชนิดนี้ เป็นสัญลักษณ์ของเทวีอาเธนา Athena ในเทพปกรณัมกรีก ก็ยิ่งถูกใจ.
       เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับนกตระกูลเค้า ที่มีสิบเก้าชนิด อาจแบ่งง่ายๆสั้นๆเป็นสองพวก คือ พวกที่มีหัวเกลี้ยงเรียบมน กับ พวกที่มีขนนกตั้งชันขึ้นสองข้างหัว ที่อาจทำให้คิดว่าเป็นหู ความจริงไม่เกี่ยวกับหูเลย ใช้ฟังอะไรไม่ได้. (ref. ๑๐๘ ซองคำถาม สำนักพิมพ์สารคดี)
Je suis un hibou! มีคิ้วดกดำ ตั้งชันเป็นเสาอากาศเลย
ภาพจาก Pinterest.com
       ส่วนตัว เห็นขนนกตั้งชันขึ้นสองข้างเหมือนสองเขา นึกถึงโมเสสในภาพจิตรกรรม ที่มีลำแสงพุ่งขึ้นเหมือนเขาสองข้าง ตามค่านิยมของศาสนาคริสต์ ว่าเป็นลำแสงแห่งสติปัญญาอันเฉียบแหลม เพราะพระเจ้าประทับอยู่บนตัวเขาและทำให้ทุกอย่างสำเร็จเป็นปาฏิหาริย์. สรุปแล้วเท่ากับนำพวกเราไปมองนกเค้าแมวในทางดีไปด้วย.  ทั้งๆที่ในค่านิยมศาสนาคริสต์ นกเค้าแมวถูกจัดว่าเป็นนกไม่บริสุทธิ์ มีราคี (ศาสนาห้ามกินนกชนิดนี้).
     แต่ชนหลายเผ่า รวมถึงขนบคริสต์ ยังเห็นว่า เป็นนกที่นำนิมิตรร้าย เสียงร้องที่ไม่เสนาะหู แฝงตัวในความมืด ออกหากินตอนกลางคืน (มีผู้ยืนยันว่า บางชนิดมิใช่พันธุ์นกราตรี), ยิ่งหากไปส่องเจอหน้านกเค้าแมวในความมืด เห็นแล้วก็คงผวากับลูกตากลมโต(ยิ่งเป็นสีเหลืองๆแดงๆยิ่งน่ากลัว), มองแน่นิ่งไม่หลบ, ทั้งหมดกระตุ้นความหวาดหวั่น ความกลัวตายในสิ่งที่ตาคนมองไม่เห็น
      ในความเป็นจริง นกเค้าแมวมีคุณประโยชน์ต่อชาวนาชาวไรมาก ช่วยจับหนู ตั๊กแตน สัตว์และแมลงอีกหลายชนิดที่เป็นศัตรูพืช.

      อีกเรื่องหนึ่งที่น่ารู้ เกี่ยวกับภาษาฝรั่งเศส เขามีสองคำใช้ เมื่อพูดถึงนกตระกูลเค้า พวกที่มีหัวเรียบมน ภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า chouette.  คำนี้ยังมีนัยที่ดี เหมือนคำว่า นิ๊ง ที่เคยพูดกันอยู่พักหนึ่ง หรือ ดีจัง เยี่ยม เป็นต้น. ส่วนนกเค้าแมวที่มีขนตั้งชัน(สูงมากน้อยไม่เหมือนกันทุกชนิด) เขาใช้คำว่า hibou แทน.  คำ chouette จึงไม่ใช่คำเพศหญิงของคำ hibou. นี่เป็นกรณีในภาษาฝรั่งเศส. ในภาษาอังกฤษใช้คำเดียวเรียกนกตระกูลนี้คือ owl โดยไม่สนใจความแตกต่าง.   
       พบในอินเตอเน็ตว่า เขามีหนังเรื่อง The Legend of the Guardians : The Owls of Ga’hoole ที่ดูเหมือนจะรวมนกตระกูลเค้าไว้มากหน้าหลายตาและหลากอุปนิสัย. ยังไม่เคยดู.

โชติรส รายงาน
๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๓.

No comments:

Post a Comment