Friday, August 28, 2020

Follow the Hoopoe

ปักษาสัมมนา  
ศิลปินและปัญญาชนในศตวรรษที่ 17 น่าจะมีความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมอาหรับมากขึ้นแล้ว จากยุคอ็อตโตมันในตุรกีที่แผ่ออกไปทั่วตะวันออกไกล แล้วเข้าสู่ตะวันตกไปถึงครึ่งคาบสมุทรไอบีเรีย (สเปนและปอร์ตุกัล) และตอนบนของแอฟริกา, ดังหลักฐานศิลปวัตถุ สถาปัตยกรรม ที่วิวัฒน์มาจากขนบศิลปะในโลกอาหรับ. เมื่อ Frans Snyders [ฟร้านซ สเนเดอส] (1579-1657 ชาวเฟลมิช) เนรมิตจิตรกรรม ปักษีมโหรี Concert of Birds ที่นำไปสู่การเลี้ยงดูและสะสมนกสายพันธุ์ต่างๆตามพระราชวังในยุโรปตะวันตก, เขาน่าจะเคยรู้ อ่านหรือได้ยินวรรณกรรมเปอเชียเรื่อง Canticle of the Birds หรือบางคนแปลจากภาษาอิหร่านว่า Conference of the Birds, ผู้ประพันธ์คือ Farîd-ud-Dîn 'Attâr (เรียกกันสั้นว่า อัตทาร์, circa 1158-1221). ทั้งสองชื่อหมายถึงวรรณกรรมเล่มเดียวกัน. งานประพันธ์เรื่องนี้ เป็นวรรณกรรมสำคัญยิ่งเล่มหนึ่งของเปอเชีย และได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในวรรณกรรมอันทรงคุณค่าของโลก. ไหนๆพูดถึง ปักษีมโหรี แล้ว จึงต้องต่อไปเก็บข้อมูลจากเรื่อง Conference  of the Birds ด้วย.
ภาพวาดประดับหนังสือ manuscript เรื่อง ปักษาสัมมนา
Conference of the Birds ผลงานภาพวาดของ Habiballah of Sava
(ca. 1610) ภาพจาก wikimedia.org [Public domain]

       เรื่องเริ่มขึ้นเมื่อฝูงนกพันๆชนิดมารวมตัวกัน ต่างเห็นว่า จำเป็นที่พวกเขาต้องมีผู้นำ ให้เป็นมิ่งขวัญ ปกปักษ์รักษาชีวิตมวลนกทั้งหลายให้อยู่เย็นเป็นสุข. แต่การจะเลือกนกตัวใดตัวหนึ่งในหมู่นกให้เป็นผู้นำ ไม่ลงเอยกัน. นกฮูพู Hoopoe หรือ นกกะรางหัวขวาน เสนอให้ไปอัญเชิญนกซีมอร์ก Simorgh (อาจเทียบได้กับนกฟีนิกซ์ phoenix) ที่อยู่บนยอดเขาสูง (ยอด Qâf).  มวลนกต่างรู้ดีว่า นกซีมอร์กเป็นพญานกผู้งามสง่า รอบรู้ ฉลาดสุขุมฯลฯ แต่การเดินทางไปที่นั่น ใช้เวลานานมาก ต้องผ่านทะเลทราย แล้วบินข้ามหุบเขาอีกเจ็ดแห่งกว่าจะไปถึงนิวาสสถานหรือพระราชวังของนกซีมอร์ก. การเดินทางไปจึงเป็นการพิสูจน์พละกำลังของนกแต่ละตัว. นกทั้งหลายตั้งใจฟังนกกะรางเป็นอย่างดี. ในค่านิยมของชาวเปอเชีย นกกะรางได้ชื่อว่าฉลาดที่สุดในบรรดานกบนภาคพื้นโลก.
นกฮูพู Hoopoe หรือนกกะรางหัวขวาน 
ภาพจากเพจ https://justbirding.com/hoopoe-facts/
       ตามที่เล่าไว้ในตำนานยิวเกี่ยวกับกษัตริย์ซาโลมอน ผู้เป็นกษัตริย์เหนือสัตว์ปีกทั้งปวงด้วย ซาโลมอนเข้าใจและสื่อสารกับนกได้. เรื่องตอนหนึ่งเล่าถึงซาโลมอนขี่บนหลังเหยี่ยวท่องไปในเวหา เหยี่ยวพาบินขึ้นสูงมุ่งหน้าสู้แสงอาทิตย์ (ตามความเชื่อโบราณว่า เหยี่ยวเป็นนกชนิดเดียวที่กล้าบินมุ่งหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์ และเมื่อมันมีลูกโตพอที่จะบินได้ มันจะพาลูกบินขึ้นหลัง บินทะยานเข้าหาแสงอาทิตย์ ถ้าลูกนกตัวใด ตาไม่กล้าแข็งพอ ย่อมตกร่วงลงดิน ตัวที่แข็งแกร่งจริงเท่านั้น จึงอยู่รอดและเป็นเจ้าเวหาที่แท้จริง). แสงอาทิตย์แรงกล้าส่องเข้าตาซาโลมอน ฝูงนกกะรางบินไปรอบๆ กางปีกออก สร้างร่มเงาบังแสงกล้าให้ซาโลมอน. เพื่อขอบคุณนกเหล่านี้ ซาโลมอนบอกให้นกขอพรได้หนึ่งอย่าง. ฝูงนกขอมงกุฎประดับหัว ซาโลมอนเตือนว่าขออย่างนี้ออกจะประมาท แต่เมื่อเป็นความต้องการ ซาโลมอนก็มอบให้ตามคำขอ คือจัดทำมงกุฎทองสวมบนหัวนกให้ทุกตัว. ฝูงนกกะรางต่างปลาบปลื้ม บินว่อนไปมาอวดมงกุฎงามบนหัวและชื่นชมเงาสะท้อนงามงดของตัวเองเหนือผืนน้ำในทะเลสาบ. ระหว่างนี้นายพรานได้แอบดูพฤติกรรมของฝูงนกกะราง จับจุดอ่อนของนกกะราง และเริ่มทำกับดักที่ติดกระจกไว้ล่อ, จึงจับนกกะรางไปได้ทีละตัว ฆ่าทิ้งและยึดมงกุฎทองไป จนเหลือพญานกกะรางตัวเดียว ที่หดหู่เป็นที่สุด. นกจึงกลับไปหาซาโลมอนเพื่อคืนมงกุฎที่หนักหัวและทำให้หนักใจมานาน. ซาโลมอนทำตามและบันดาลให้มีขนหงอนแผ่ตั้งชันสวยงามบนหัวนกกะรางแทน. ขนหงอนนี้จะไม่มีวันหลุดหายไปได้อีกเลย. นกกะรางจึงเป็นนกกะรางหัวขวานตั้งแต่นั้น. 
       ยังมีเรื่องเล่าต่อในคัมภีร์กุรอ่านบทที่ 27 ว่า ยามเมื่อซาโลมอนเดินตรวจแถวมวลนกทั้งหลาย นกกะรางมาล่าช้ามาก.  เมื่อมาถึงได้นำข่าวสารบางประการจากเมือง Sheba (หรือ Saba) มาบอกซาโลมอน. นกกะรางในฐานะผู้รู้ต้นตออะไรบางเรื่องที่ซาโลมอนผู้รอบรู้ทุกอย่าง ยังไม่รู้ จึงมีส่วนยกวิทยฐานะของนกกะรางเหนือมวลนกอื่น. ได้เป็นนกนำสารของซาโลมอน.  เวทมนตร์โบราณยุคนั้น ยกย่องผู้ที่ค้นพบตาน้ำและช่วยดับกระหายของคนได้, นำคนไปยังแหล่งน้ำที่ดี, หรือนำคนที่หลงผิด สู่เส้นทางที่ควรไป เช่นกรณีของพระนางชีบา Sheba ที่นกกะรางได้ไปดลใจให้เสด็จมา “สนทนาธรรม” กับซาโลมอน, มาให้เห็นกับตาความรุ่งเรืองของอาณาจักรของซาโลมอน กับทดสอบสติปัญญาด้วยการตั้งคำถามยากๆที่ซาโลมอนตอบได้ถูกใจนาง. นางได้ถวายเครื่องราชบรรณาการกับเครื่องเทศจำนวนมากก่อนกลับ และยังได้สรรเสริญพระเจ้าของซาโลมอนว่าเลือกกษัตริย์ที่ดีที่สุดให้อิสราเอลฯลฯ.
พระนางชีบาเสด็จมาเยือนกษัตริย์ซาโลมอนที่เมืองเยรูซาเล็ม
เครดิตภาพ : https://fineartamerica.com/
        นอกจากนี้ ยังมีระบุอีกว่า นกกะรางพูดด้วยภาษาปริศนาในหมู่นก ที่เป็นภาษาของจิตวิญญาณ ที่ไม่ใช้คำแต่เป็นภาษาที่สื่อนัยความหมายของสิ่งที่ตามองไม่เห็น. ซาโลมอนได้ชื่อว่า เป็นผู้พูดคุยและเข้าใจภาษานก (เหมือนที่นักบุญฟรันซิสเมืองอัสซีสิที่เทศนาให้ฝูงนก). เช่นนี้เมื่อนกกะรางเสนอว่าควรไปอัญเชิญนกซีมอร์กมาเป็นผู้นำของนกทั้งมวล, นกทั้งหลายจึงเชื่อถือว่านกกะรางรู้เส้นทาง. ในที่สุด นกกะรางเป็นจ่าฝูงนำนกทั้งหลายออกเดินทางไปหาซีมอร์ก.
      ตำนานเรื่องนกกะรางกับซาโลมอนนี้เอง ที่ทำให้นักวิจัยโยงบทกวีของอัตทาร์ ว่าเหมือนกวีนิพนธ์ของซาโลมอนที่มีชื่อว่า Cantique des Cantiques (ที่ไพเราะกินใจมากในเวอชั่นภาษาฝรั่งเศสที่ปรากฏในคัมภีร์คาทอลิก La Bible Osty) และที่ผู้แปลเป็นเวอชั่นภาษาอังกฤษว่า Song of Songs. เมื่อโยงบทกวีของอัตทาร์ไปถึงบทกวีของซาโลมอน นักวิจัยชาวอาหรับอเมริกันจึงเลือกที่จะใช้ชื่อ Canticle of the Birds ในความหมายของ บทโศลกของมวลวิหค แทนชื่อ Conference of the Birds ที่เราแปลว่า ปักษาสัมมนา. เมื่อพิจารณาเนื้อหาการเล่าเรื่อง เรายึดชื่อหลังนี้มากกว่า เพราะเรื่องเริ่มต้นด้วยการถกเถียงในหมู่นกพันๆตัว ว่าควรจะพากันเดินทางไปไหม. นกแต่ละตัวยังคงยึดมั่นกับชีวิตบนโลก จองจำตัวเองในกรงของความคุ้นชิน, จึงยังขี้ขลาดหรือขี้กลัว. ต่างให้เหตุผลข้ออ้างต่างๆนานา ซึ่งนกกะรางจ่าฝูงจะตอบโต้ ด้วยการเล่านิทานธรรม ตอบข้อกังขาสงสัยหรือข้อโต้แย้งผิดๆให้สิ้นไป,  ยืนยันและเอาชนะข้ออ้างข้อแก้ตัว, ปลุกกระตุ้นให้ฮึกเหิมและยอมสลัดตัวตนของตน เพื่อออกสรรหาสิ่งที่เหนือกว่างามกว่า นั่นคือการไปหาพญานกซีมอร์ก ผู้เป็นสุดยอดของความงามมหัศจรรย์ ของ “ผู้เป็นหนึ่ง” ที่ควรแก่ความรักความเคารพสูงสุด.  การสัมมนาพาทีในหมู่นก ครอบเนื้อหาเกือบทั้งหมดของกวีนิพนธ์ของอัตทาร์ จึงสมควรที่จะเน้นใจความของการหว่านล้อม โต้ตอบในที่ประชุมนกทั้งหมด.
        เรื่องปักษาสัมมนา จึงดำเนินเรื่องในแบบแทรกนิทานในนิทาน ตามวรรณกรรมเรื่องพันหนึ่งทิวา. เมื่อนกกะรางโต้ตอบข้อกระทู้ของนกแต่ละตัว ตอบด้วยการสอดแทรกนิทานธรรมที่มาจากปรัชญาตะวันออกหรือปรัชญาตะวันตก, หรือเป็นคำถามย้อนคำถาม, หรือแบบปุจฉาวิสัชนา.  
         เหมือนชาวถ้ำในสมัยโบราณ นกทั้งหลายมารวมกันในยามค่ำคืน (นึกถึงถ้ำหรือโพรงไม้ในป่า grove ที่เป็นสถานศึกษาที่เรียกกันว่า Plato Academy และที่นักศึกษามารวมกัน แสดงความคิด อ่านบทกวี บทละคร ด้วยความฝันความหวังในชีวิต ดังตัวอย่างในภาพยนต์เรื่อง Dead Poets Society ปี 1989) ได้เห็นแต่เงาสะท้อนของตัวเอง. แต่ด้วยความรักความหวังที่ยังมีพลังปลุกจิตสำนึก จึงตัดสินใจผละจากสภาพสังคมเดิมที่เคยอยู่ ออกไปสู่แสงสว่างและหลอมตัวเข้าในอุดมการณ์เดียวกัน เพื่อมุ่งไปยังเป้าหมายสุดท้ายเดียวกัน.   
         ในที่สุดเมื่อฝูงนกตกลงใจออกไปตามหาพญานกซีมอร์ก  นกกะรางบอกให้รู้ว่า เส้นทางที่จะไปนั้น ยาว ยากและเต็มไปด้วยหลุมพราง กับดัก, มีอันตรายนานัปการและหลากรูปแบบ และคงไม่ใช่ทุกตัวที่จะไปถึงจุดหมายปลายทาง. นกกะรางบอกเพื่อให้นกทุกตัว เสริมพลังความกล้าในตัวเอง เอาชนะความกลัว ออกจากกรงทองที่เคยอยู่ หรือผละจากสภาพแวดล้อมที่พลิกผันตามพฤติกรรมของผู้ครองอำนาจในโลก ผู้บังคับใช้หลักการที่ไม่ตรงกับระบบจริยธรรม(วิจารณ์สังคมยุคนั้นด้วย).
         เส้นทางเพื่อไปยังหุบเขาเจ็ดชั้น พวกเขาต้องผ่านทะเลทรายแห่งความหิวโหยและหิวกระหาย. ผ่านช่วงนี้ไปได้ จิตสำนึกของผู้เดินทาง ตื่นรู้และยึดมั่นในเป้าหมายสุดท้ายมากขึ้น ผู้เดินทางจะหันหลังย้อนกลับไปสู่โลกที่จากมาไม่ได้แล้ว.
        หุบเขาเจ็ดแห่งเต็มไปด้วยอันตราย เป็นสนามทดสอบที่ดีเยี่ยม. นกทั้งมวลบินข้ามทีละหุบเขา ที่มีชื่อว่า 
หุบเขาแห่งความหลง (ผู้เดินทางต้องตัดความหลง ความเชื่อ ความงมงายออก),
หุบเขาแห่งความรัก (ในหุบเขานี้ เหตุผลทั้งหลายไม่มีที่ยืน เพราะความรักครอบทุกอย่าง เป็นใหญ่เหนือสติปัญญา),
หุบเขาแห่งความรู้ (ณที่นั้น ความรู้ทางโลกแขนงใดบทใด ไม่มีประโยชน์),
หุบเขาแห่งการละเว้น (เมื่อผู้เดินทาง ตัดความยึดมั่น ความผูกพันใดๆบนโลกออกแล้ว ทุกอย่างที่เคยคิดเคยเชื่อว่าเป็นความจริง สลายสิ้นไป),
หุบเขาแห่งเอกภาพ (เมื่อคนเดินทางตระหนักชัดว่า ทุกสิ่งเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย และพญานกซีมอร์ก “ผู้เป็นหนึ่ง” อยู่เหนือสรรพสิ่งรวมทั้งความสมดุลบรรสาน ความหลากหลายหรือความไม่จีรังยั่งยืน),
หุบเขาแห่งความพิศวงงงงวย (เมื่อผู้เดินทางตระหนักว่า ตัวเองไม่เคยรู้หรือเข้าใจอะไรอย่างแท้จริงเลยในชีวิตที่ผ่านมา),
และสิ้นสุดลงที่หุบเขาแห่งความว่างเปล่า (เมื่อไม่มีตัวตน เมื่ออัตตา หลอมเข้าสู่จักรวาล ตัวผู้เดินทางกลายเป็นผู้ไม่รู้ตาย ไม่อยู่ในความจำกัดของกาลเวลา ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต) และแล้วผู้เดินทางจะไปถึงเบื้องหน้าบัลลังก์ของพญานก ที่งามไม่ต่างจากบัลลังก์ของกษัตริย์ซาโลมอน.  
        เมื่อนกทั้งหลายได้ยินคำพรรณนาหุบเขาทั้งเจ็ด ต่างอกสั่นขวัญแขวน บ้างหดหู่ใจ  บางตัวผวาตกใจและหัวใจวายในบัดดลนั้น. อีกหลายตัวฮึดสู้ และตัดสินใจออกเดินทาง. หลังจากผ่านเข้าไปในทะเลทราย สู้กับความอดอยาก หิวโหยและหิวกระหาย, ออกจากทะเลทรายได้ ผ่านเข้าไปในหุบเขาแต่ละแห่ง เหนือเทือกเขาสูง บางตัวล้มเลิกความตั้งใจ. ถึงกระนั้น ยังมีนกหลายตัวที่ยังใจสู้ อดกลั้น อดทน ยืนหยัด. นกผู้ร่วมทางล้มตายลงไปเรื่อยๆ เป็นเหยื่อสัตว์อื่นบ้าง ตายด้วยความกลัว หรือเมื่อเผชิญความรุนแรงแบบต่างๆ.  เช่นนี้จากหุบเขาหนึ่งผ่านไปยังอีกหุบเขาหนึ่ง และข้ามไปจนถึงปลายทาง. มวลนก อ่อนล้ามาก แต่กลับมีนิมิตรใหม่ในชีวิต ยืดอกเมื่อพบจุดยืนของตัวเองในจักรวาล. นกที่ไปถึงจุดหมาย เหลือเพียงสามสิบตัว ต่างระทึกในหัวใจว่า ในที่สุดพวกมันจะได้พบพญานกที่จักเป็นผู้นำให้พวกเขา.  
        นกทั้งสามสิบตัว เดินทางไปไกลมากเพื่อหาผู้อื่น “ผู้เป็นหนึ่ง”, เข้าไปในท้องพระโรง กลับไม่เห็นใคร นอกจากตัวเอง เห็นภาพสะท้อนของพวกนกเอง. ไม่มีพญานก ไม่มีใครอื่นที่จะปกป้องดูแลพวกเขาให้มีความสงบสุขได้ นอกจากตัวเขาเอง. หรืออาจพูดได้ว่า พวกนกมองเห็นพญานกซีมอร์กในภาพสะท้อนของตัวเอง  มีพญานกเท่าจำนวนนกสามสิบตัว.
ภาพจาก pinterest.ch
นับเป็นภาพที่ประกอบขึ้นได้ตรงตามประเด็นของเรื่อง รวมนกสามสิบตัว
เป็นร่างของพญานกซีมอร์ก โดยมีนกกะรางหัวขวานเป็นส่วนหัว
        หากมองในมุมของซูฟิซึม ซีมอร์กคือพระเจ้าของฝูงนก เป็นผู้ไม่มีรูปร่าง ไม่มีกรอบจำกัด และไม่ใช่มวลอะไรมวลใด แต่แฝงอยู่ในสรรพชีวิตบนโลกมนุษย์นี่เอง, เป็นแสงสว่างที่ส่องประกายในจิตวิญญาณของนกแต่ละตัว. ส่วนนกกะรางทำหน้าที่ของซูฟิเชอิค Sufi sheikh ผู้นำจิตวิญญาณสู่การเข้าถึงพระเจ้า.
        สุดท้ายแล้ว การเดินทางของมวลนก จึงคือการชำระล้างทางจิตวิญญาณ ตามอุดมการณ์ของลัทธิซูฟิซึม ที่ว่า คนต้องรู้จักสลัดตัวตนของตนทิ้ง หากต้องการใฝ่หาพระผู้เป็นเจ้า. การผ่านหุบเขาแต่ละแห่งมาได้ จึงเป็นขั้นตอนของการค้นหา การสลัดอุปสรรคของการยึดติดตัวตนของตน ที่เป็นสิ่งกีดขวางการเข้าถึงพระเจ้า. การเดินทางไปหาซีมอร์ก จึงเป็นการเดินทางสู่การรู้แจ้ง สู่การพบตัวตนในพระเจ้า เฉกเช่นซูฟิเดอวิช Sufi dervish ผู้ร่ายรำเป็นวงไปไม่สิ้นสุด จิตเคลิ้มหลุดจากร่าง ไปอยู่หน้าบัลลังก์ของพระเจ้าของเขา.
       นักวิจารณ์ผู้รู้ภาษาเปอเชียอย่างดี ได้เขียนชื่นชมอย่างเป็นเอกฉันท์ ยืนยันความสามารถในการใช้ภาษาของกวีอัตทาร์ ผู้รจนาด้วยวัจนลีลาที่กระชับ ไพเราะ มีจังหวะ มีสัมผัส น่าประทับใจยิ่ง. เรื่องจบลงได้อย่างงดงามด้วยการเล่นคำพ้องเสียง เมื่อนกสามสิบตัวที่ไปถึงจุดหมายปลายทาง  คำ “นกสามสิบตัว sî morghในภาษาเปอเชีย พ้องเสียงและพ้องรูปกับคำ morgh ที่คือพญานกในเรื่องนี้  เป็นบทสรุปที่สั้นและนัยกระจ่างชัด.
         ด้วยอานุภาพความงามของภาษาที่เลือกใช้ และเสียงดนตรีในภาษาเปอเชีย (ที่ผู้รู้ยืนยันเช่นนั้น ข้าพเจ้าไม่สามารถอ่านภาษาเปอเชียได้) กวีอัตทาร์ได้แบ่งปันประสบการณ์ของจิตวิญญาณส่วนตัวของเขาในการใฝ่หาพระเจ้า ทำให้กวีนิพนธ์ของเขา มีพลังบรรลุนัยที่พูดไม่ได้ อธิบายไม่ถูก, ให้ภาพของสิ่งที่ตามองไม่เห็น. ผู้อ่านยังเหมือนได้สัมผัสความถ่อมตน ความอ่อนโยน ความเห็นใจกับศรัทธาจากกวีนิพนธ์ของ. 
อ่านเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับนกซีมอร์กหรือฟีนิกซ์ได้ตามลิงค์นี้ >> 
https://blogchotiros.blogspot.com/2020/08/phoenix-simorgh.html

ผู้สนใจติดตามปาฐกถาเรื่องนี้ จากมหาวิทยาลัย Stanford ในสหรัฐฯ จากคลิบนี้ >> https://www.youtube.com/watch?v=IQmlCG2cvgc
(Part 1 = 1:26:52, Part 2 = 1:20:44)
หรือเข้าไปดูหนังได้ที่นี่ (1:07:01) >> https://www.youtube.com/watch?time_continue=30&v=-FRXdOn4v6A&feature=emb_logo
หรืออ่านเวอชั่นฉบับภาษาอังกฤษเป็นพีดีเอฟไฟล์ได้ในเน็ต
(เพียงแค่พิมพ์ชื่อหนังสือลง)
https://94.citoyens.com/evenement/la-conference-des-oiseaux-au-theatre-des-quartiers-divry
ฝรั่งเศสเคยจัดละครบนเวทีเรื่อง ปักษาสัมมนา ใช้คนแสดงสิบคน สวมหัวนกชนิดต่างๆ ดูเหมือนว่า มีคนสนใจมากพอควรทีเดียว

โชติรส รายงาน
๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๓.
ภาพแถมท้าย
พระนางชีบา (หรือ ซาบา) เดินทางมาคารวะกษัตริย์ซาโลมอน. ภาพผลงานของ Hans Holbein the Younger (ภาพในราวปี 1534).  ภาพนี้ จิตรกร(จงใจ)ให้ใบหน้าของซาโลมอนเหมือนพระเจ้าเฮนรีที่แปด (Henry VIII).  ซาโลมอนนั่งบนบัลลังก์ที่ยกขึ้นสูงมาก. ทางเว็บไซต์ (Royal Collection Trust) อธิบายว่า เนื้อหานี้มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ของอังกฤษมาก เพราะโยงไปถึงการสถาปนา Church of England โดยมีพระเจ้าเฮนรีที่แปดเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด (Supreme Governor) ทั้งในด้านอำนาจการปกครอง(ทางโลก) และอำนาจทางจิตวิญญาณ(ทางศาสนา). การสถาปนาครั้งนี้ ตรงกับยุคการปฏิรูปศาสนาทั่วไปในยุโรป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความยุ่งยากที่พระเจ้าเนรีไม่ได้รับความเห็นชอบหรือไม่ได้รับอนุมัติให้หย่าจาก Catherine of Aragon พระมเหสีคนแรก เพราะความเข้มงวดในระบบอำนาจของสันตะปาปาที่กรุงวาติกัน. อย่างไรก็ดี พระเจ้าเฮนรีประกาศหย่าพระมเหสีจนได้ในเดือนพฤษภาคมปี 1533 และสถาปนาสถาบันศาสนา Church of England อย่างเด็ดขาดตั้งแต่ปีถัดไป. เท่ากับเปลี่ยนพระราชอำนาจของกษัตริย์อังกฤษพระเจ้าเฮนรีที่แปด.
ในภาพข้างบนนี้ ตามเนื้อหาของศาสนา ซาโลมอนนั่งบนบัลลังก์ สวมมงกุฎ มือถือคทา. พระนางชีบาอยู่บนขั้นบันได แสดงให้รู้ว่าเพิ่งมาถึงและมาเข้าเฝ้า.  พระนางกล่าวทักทายซาโลมอน. คำทักทายของพระนางเขียนไว้เป็นภาษาละตินสองข้างบัลลังก์และบนม่าน (ดูรายละเอียดข้างล่างนี้). ยืนยันว่า พระเจ้าเท่านั้น เป็นผู้กำหนดอำนาจของซาโลมอน (และโดยนัยของพระเจ้าเฮนรีที่แปด). บุคคลในแถวหน้าของภาพ คือผู้ติดตามพระนางชีบา ส่วนผู้ที่อยู่รอบบัลลังก์คือราชสำนักของซาโลมอน.
บนพื้นด้านหน้า มีสำนวน REGINA SABA หมายถึง พระราชินีแห่งซาบา (หรือชีบา)
บนม่านสีฟ้าที่อยู่สองข้างบัลลังก์ ประดับด้วยดอกลิลลีสีทอง (ดอกลิลลีเป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์ฝรั่งเศส - Fleur de lis), มีข้อความที่ค่อนข้างเลือนลาง เขียนไว้เป็นตัวอักษรสีทอง. อ่านข้อความบนม่านทางซ้ายต่อไปบนม่านทางขวา แล้วจึงลงบันทัดที่สอง อ่านจากซ้ายไปขวาเช่นกัน. ข้อความเขียนว่า
BEATI VIRI TVI ... ET BEATI SERVI HI TVI
QVI ASSISTVNT CORAM TE ... OMNITPE ET AVDIVNT
SAPIENTIAM ... TVAM
(Happy are thy men, and happy are these thy servants, who stand continually before thee, and hear thy wisdom: II Chronicles 9: 7)
คนของพระองค์ มีความสุข, ข้าราชบริพารทั้งหลายเหล่านี้ของพระองค์ มีความสุข,
พวกเขาทั้งหมด ยืนอยู่เบื้องหน้าพระองค์ตลอดเวลา และได้ยินได้ฟังพระปัญญาญาณของพระองค์. (จากคัมภีร์เล่ม II Chronicles 9:7)
บนม่านด้านหลังของซาโลมอน มีข้อความเขียนว่า  
SIT DOMINVS DEVS TVVS BENEDICTVS,
CVI COMPLACIT IN TE, VT PONERET TE
SVPER THRONVM SVVM, VT ESSES REX
CONSTITVTVS DOMINO DEO TVO
(Blessed be the Lord thy God, who delighted in thee, to set thee upon his throne to be King elected by the Lord thy God: adapted from II Chronicles 9: 8)
ขอให้พระเจ้าของพระองค์ทรงพระเจริญ, พระเจ้าผู้ชื่นชมพระองค์, ผู้วางพระองค์บนบัลลังก์ ให้เป็นกษัตริย์ กษัตริย์ที่พระเจ้าของพระองค์เป็นผู้เลือก.
(จากเล่ม II Chronicles 9:8)
บนผ้าที่ปูลงใต้ฝ่าเท้าของผู้นั่งบนบัลลังก์ มีข้อความว่า
VICISTI FAMAM
VIRTVTIBVS TVIS
(By your virtues you have exceeded your reputation: II Chronicles 9: 6) 
คุณธรรมและคุณสมบัติของพระองค์ มีมากกว่าชื่อเสียงที่เขาเล่าลือกันมากนัก.
(จากเล่ม II Chronicles 9:6)
ข้อความทั้งหลายนี้ คือคำพูดของพระนางชีบา ยืนยันความเคารพนับถือของพระนาง
หลังจากได้เดินทางมาคารวะซาโลมอนด้วยตนเอง ได้เห็นกับตา ได้ฟังได้ถามได้รับคำตอบจนเป็นที่พอใจที่สุดของพระนางแล้ว  ทรงปลาบปลื้มยินดียิ่งนักและทูลลากลับ.

No comments:

Post a Comment