Tuesday, March 9, 2021

Multiple Intelligences

 ฉลาดไม่เหมือนกัน

     เคยคิดกันมาว่า สติปัญญาเป็นสมรรถพล (ศัพท์ของ รบ. ในความหมายของความถนัด) และวัดได้ด้วยบททดสอบไอคิว IQ   จากจุดนั้น เกิดการคิดแบ่งแยก(ระบุ)คนด้วยระดับไอคิว.  ยังผลให้ชะตากรรมของเหล่านักเรียนนักศึกษา, กลุ่มประกอบอาชีพต่างๆและกลุ่มสังคมต่างๆ ปั่นป่วนจนถูกด้อยค่า.  ระบบไอคิว มีผู้คัดค้านกันมาก, แม้ในปัจจุบัน คนก็ยังไม่วายที่จะถามตัวเลขไอคิวของคนเก่งคนดังของโลก. การคาดคะเนความรู้ความสามารถและปัญญาของใครด้วยตัวเลขไอคิว (ที่ไม่ผิดจากตัวเลขนักโทษในคุก) โดยแยกคนนั้นออกจากบริบทชีวิต ไม่เป็นที่เชื่อถือกันแล้ว, ไม่อาจนำไปอ้างในวงวิทยาศาสตร์หรือในวงสังคม.

     ตามค่านิยมไทย คนเก่งคนฉลาด คือคนที่เรียนหมอ สถาปัตย์ วิศวะ หากเป็นผู้หญิงก็ต้องจบจากคณะอักษรศาสตร์ อย่างน้อยจบจากจุฬาฯ. เดี๋ยวนี้ทุกคนน่าจะรู้แล้วว่า ชื่อเสียงคณะหรือสถาบันไม่ได้ประกันความฉลาดของใครเลย แม้ยังมีคนยึดติดกับมายาคตินี้อยู่อีกมาก.

     คนเราถนัดไม่เหมือนกัน ชอบหรือสนใจไม่เหมือนกัน จะเอาเครื่องมือหนึ่งใดเครื่องมือเดียวกัน หรือระบบทดสอบเบ็ดเสร็จ มาวัดความหลากหลาย ย่อมไม่ให้ข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้. เครื่องมือที่ใช้ต้องสอดคล้องและเหมาะกับสิ่งที่ต้องการวัดเป็นต้น. แต่ละคน มีมวลรวมของปัญญาจากด้านต่างๆเฉพาะตัว ที่ไม่เหมือนกับมวลรวมปัญญาของคนอื่น. แต่ละคนมีวิธีเรียนรู้ของตัวเอง. หากตระหนักถึงประเด็นนี้ ย่อมปูทางไปสู่การพัฒนาสติปัญญาของเด็กได้เป็นกรณีๆไป.

      สรุปเป็นนัยกว้างๆว่า สติปัญญา คือศักยภาพของคน(และสัตว์)ในการรับรู้และเข้าใจโลกรอบข้าง ที่ช่วยให้เขาแก้ปัญหาต่างๆในวิถีชีวิตของเขาและช่วยให้เขาปรับตัวอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมต่างๆ. สติปัญญา ไม่เกี่ยวนักกับสิ่งที่รู้หรือความรู้ที่มี ที่เรียนมา, แต่เกี่ยวกับพฤติกรรมตอบโต้หรือการแสดงออกเมื่อเจอสิ่งที่ไม่รู้หรืออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน (Jean Piaget). นั่นคือ ปัญญาหรือความฉลาดอยู่ที่ความสามารถในการปรับตัว. 

      เป็นที่รู้กันว่า แบบทดสอบไอคิวมีข้อจำกัดอยู่มาก ยังไม่อาจครอบคลุมเครือข่ายความคิด จินตนาการหรือความพร้อมในด้านอื่นๆของคนๆหนึ่งได้ครบ. ราวยี่สิบกว่าปีก่อน (1983, 1993) เฮาเวิร์ด การ์ดเนอ Howard Gardner (ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด) เสนอทฤษฎีความหลากหลายทางสติปัญญา (Theory of Multiple Intelligences) ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก และถูกนำไปอ้างอิงต่อมาจนทุกวันนี้.  เฮาเวิร์ด การ์ดเนอ อธิบายว่า ไม่มีปัญญาแบบหนึ่งแบบเดียว แต่ปัญญาพัฒนาออกไปหลายด้านแตกต่างกันและอาจไม่เกี่ยวกันเลย. หลักการของเฮาเวิร์ด การ์ดเนอ นำไปสู่การปฏิรูปการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับเด็กปฐมวัย. ตามทฤษฎีนี้ คนที่เก่งคำนวณ อาจไม่เก่งเรื่องอื่น, นักดนตรีชั้นครูผู้มีชื่อเสียงระดับโลก อาจไม่รู้จักพูดคุยกับคนอื่น หรือขาดทักษะด้านสังคมเป็นต้น.  การเรียนการสอนจำต้องนำประเด็นความพร้อมความถนัดของผู้เรียนแต่ละคนไปพิจารณาด้วย, ต้องไม่ด้อยค่าทักษะ ความชำนาญหรือสติปัญญาของเด็กคนใด เพียงแค่เขามีระดับไอคิวต่ำหรือทำอะไรไม่ได้ดีเท่าเด็กคนอื่นเป็นต้น. เฮาเวิร์ด การ์ดเนอ จัดหมวดหมู่สติปัญญาออกเป็นด้านต่างๆดังนี้

ดูคำอธิบายประกอบ ตามหมายเลขที่กำกับไว้

1.Visuospatial Intelligence

ฉลาดในการมองกวาดพื้นที่ จับทิศทาง รู้จักมองและสร้างเป็นภาพพาโนรามาหรือทัศนมิติของพื้นที่, รวมถึงความเกี่ยวพันของสรรพสิ่ง(ที่มีหรือจะมี)บนพื้นที่นั้นในมโนสำนึกของเขา. ความฉลาดด้านนี้ ส่งเสริมให้เขาเป็นศิลปินที่รู้จักวางผลงานของเขาในบริบทที่เขาเห็นว่าเหมาะสมที่สุด. เช่นนี้เขาเข้าใจแยกแยะความต่างและความเหมือนของสรรพสิ่ง. เขามองเห็นในมโนสำนึก ภาพพาโนรามาของพื้นที่และสรรพสิ่งณตำแหนงของมัน ว่าอะไรควรอยู่ที่ไหน, เชื่อมโยงต่อไปถึงองค์ประกอบอื่นๆที่ควรจะนำไปแทรกไว้ตรงไหน จุดใด หรือมีปัญหาตรงไหน. จึงรู้จักเสริมความโดดเด่นหรือแต่งเติมพื้นที่ด้วยการแทรกเครื่องตกแต่งอื่นๆ เช่น รูปปั้น เครื่องเรือน เครื่องใช้หรือแม้เสื้อผ้าให้กับคนในบริบทเฉพาะนั้น. คนที่ไวในด้านนี้ ส่วนใหญ่เป็นนักภูมิศาสตร์, จิตรกร, นักออกแบบ, สถาปนิก, นักถ่ายภาพ(ยนต์) เป็นต้น เขารู้จักใช้พื้นที่ที่เห็น ให้เป็นสื่อนำความคิดออกไปไกลถึงขอบฟ้าได้. ในทางกลับกัน คนฉลาดในด้านนี้ สามารถปรับเปลี่ยนการเรียนรู้หรือข้อมูลใดก็ตาม ให้เป็นภาพมุมกว้างในมโนสำนึกสร้างเครือข่ายของสิ่งที่รู้, มักเข้าใจและจดจำรายละเอียดของสิ่งที่เห็นหรือสัมผัส.  คนฉลาดด้านนี้ มีจินตนาการสูงที่เป็นประโยชน์ต่อเขามาก. ทุกเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ กลายเป็นหัวข้อความรู้ ที่เขาเรียกว่า saper vedere (รู้จักมอง หรือ knowing how to see)

2. Musical Intelligence

ฉลาดด้านดนตรี มีความสามารถในการคิดเป็นจังหวะเป็นทำนองดนตรี, จำรูปแบบดนตรีต่างๆได้, ไวต่อเสียงดนตรี, ถ่ายทอดทำนองดนตรี จนถึงคิดทำนองดนตรีใหม่.  คนฉลาดด้านนี้ ยังไวต่อเสียงคำ เสียงประโยค เสียงในภาษา. ความที่ชอบดนตรี ดนตรีจึงทำให้เขาผ่อนคลาย และรู้จักใช้ทำนองและจังหวะ เป็นฐานสู่การเรียนรู้อื่นๆ.

 3. Linguistic Intelligence

ฉลาดด้านภาษา ฉลาดเรียบเรียบความคิดเป็นคำเป็นสำนวนและประโยค เพื่อสื่อความซับซ้อนของเรื่องหนึ่งได้, เข้าถึงความซับซ้อนของความคิดของตัวเองและของคนอื่น และเข้าใจคนอื่นๆที่ขาดทักษะหรือพูดไม่ออกบอกไม่ถูก. เป็นคนฉลาดรู้เรื่องเสียงด้วย เพราะภาษาเหมือนการผสมเสียง, ให้ทั้งเสียงและความหมายเด่นชัด. จึงฉลาดแยกแยะ เลือกสรรการใช้คำและความหมายของคำกับประโยค เพื่อการสื่อสารทั้งในภาษาเขียนและภาษาพูด. คนฉลาดด้านภาษานี้ ชอบคำและสำนวนสละสลวย.

 4. Logical-mathematical Intelligence

ฉลาดคิดอย่างมีเหตุมีผล, มีตรรกะ, ฉลาดคำนวณ, ฉลาดเรื่องชั่งตวงวัด, เก่งในการแก้โจทย์คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์. สามารถวิเคราะห์ต้นเหตุและผลจากเหตุการณ์หรือปฏิกิริยาหนึ่ง, ตั้งสมมุติฐาน, เข้าใจเหตุการณ์ที่ซับซ้อน. ชอบตัวเลขและรู้จักวิเคราะห์ตัวเลขและจัดการไปตามกระบวนการคณิตศาสตร์.  เช่นนี้ จึงสามารถอธิบายเรื่อง ทำไมนั่น ทำไมนี่ในกระแสโลก. มีแนวโน้มในเรื่องการจัดระบบระเบียบทุกอย่าง, แยกแยะแบ่งกลุ่มตามตรรกะ, วิเคราะห์, สังเกตและเห็นเครือข่ายปัญหา. ความฉลาดแบบนี้ เป็นความฉลาดที่อาจไม่อิงทักษะทางภาษา  เพราะมักแก้ปัญหาได้ก่อนการลงมือพิสูจน์.

5. Bodily-kinesthetic Intelligence

ฉลาดเคลื่อนไหว รู้จักใช้ร่างกายหรือส่วนของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหรือใช้ร่างกายสื่อความหมายที่ต้องการได้, ไม่ว่าในกรอบของชีวิตประจำวัน หรือในบริบทการแสดงออกเชิงศิลปะ, รวมถึงความคล่องตัวในการกีฬา.  มักเป็นนักกีฬาที่ดี หรือเป็นนักแสดงบนเวที หรือเป็นนักเต้นรำที่คล่องตัว.  ยังฉลาดรู้จักแสดงออกทางอารมณ์ด้วยร่างกายหรือส่วนของร่างกาย. ทั้งหมดบอกให้รู้ว่าเป็นคนมีปัญญาชาญฉลาดทีเดียว.

6. Naturalistic Intelligence

ฉลาดเชิงธรรมชาติวิจักษ์ ที่ทำให้เข้าใจแยกแยะ จัดกลุ่ม สนใจและจดจำสรรพสัตว์ พืชพรรณหรือแร่ธาตุ. ยังเป็นคนไวต่อเสียง. เมื่อเห็นอะไร ก็มองอย่างละเอียดรอบด้าน สังเกตเห็นอัตลักษณ์ของแต่ละสิ่งในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ. คนที่ไวในด้านนี้ ช่างจด, ช่างสังเกตและช่างจำ, เอื้อให้เห็นภาพเล็กจนถึงภาพรวมของการวิวัฒน์พัฒนาของคนในสภาพแวดล้อมของโลก และสามารถเข้าถึงวิวัฒนาการของคนในโลกวัฒนธรรมด้วย. เป็นคนที่เอาใจใสดูแลสัตว์ ปลูกสวนและสนับสนุนการตั้งสวนสาธารณะ.

7. Interpersonal Intelligence

ฉลาดเข้าสังคมและเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ที่ช่วยให้ตอบโต้กับคนอื่นๆได้ถูกต้องในแต่ละกรณี. ช่วยให้รู้จักแยกแยะอุปนิสัย, ธรรมชาติ, แรงกระตุ้นของแต่ละคนที่แตกต่างกัน. คนฉลาดในด้านนี้ มีความเห็นใจ ให้ความร่วมมือและยอมรับความแตกต่าง. ฉลาดด้านนี้ช่วยให้รู้จักจับความตั้งใจ (หรือความคิดแอบแฝง) ของคนอื่น, และมีส่วนช่วยแก้ปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างคน. มักเป็นคนที่สานความเข้าใจ, แก้ปัญหาและตัดสินใจได้ถูกต้องเพื่อช่วยเหลือคนอื่น. คนฉลาดด้านนี้ จึงไวต่อปฏิกิริยาและความต้องการของคนรอบข้าง, รู้จักเข้าร่วมมือกับคนอื่น, ฟังความคิดอ่านของคนอื่น, จึงผูกไมตรีกับคนอื่นๆได้ง่ายกว่า. คนใหญ่คนโตที่มีบุคลิกพิเศษผู้ประสบความสำเร็จสูง มักฉลาดเรื่องสังคมมากกว่าใคร.

8. Intrapersonal Intelligence

ฉลาดรู้คิดวิเคราะห์ตัวเองจากภายใน อย่างเจาะจงและซื่อตรง และใช้ความพร้อมนี้อย่างมีประสิทธิผลในชีวิต. ความฉลาดเชิงนี้ เป็นความฉลาดในทำนองของจิตวิเคราะห์ คือรู้จักย้อนมองพฤติกรรมของตัวเอง และเห็นอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองในแต่ละขณะด้วยความซื่อตรง, เข้าใจตัวเองและตระหนักถึงความพร้อมของตัวเองในด้านศักยภาพ, ข้อจำกัดและกำลังอำนาจของตัวเอง ในฐานะที่เข้าใจความต้องการ ความฝันและปฏิกิริยาของตัวเองดี, ยังอาจรวมถึงความสามารถในการเดินหน้าเพื่อหาความช่วยเหลือในกรณีจำเป็น. ความฉลาดเชิงนี้ เหมือนญาณหยั่งรู้อะไรต่ออะไรล่วงหน้า ทำให้เขาวางเป้าหมายพฤติกรรมในอนาคตได้ตามระดับความสำเหนียกที่เขามี.  เป็นคนชอบการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอๆ, เป็นคนที่มีสมาธิสูงเมื่ออยู่คนเดียว และไม่ชอบให้ใครรบกวนเมื่อทำงาน.

9. Existential Intelligence (and spiritual intelligence)

ฉลาดคิดตรึกตรองเกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานของการตั้งอยู่ของชีวิตคน, กำเนิดของสรรพสิ่ง, กำเนิดของคนและเป้าหมายของการมีชีวิต.  ผู้ฉลาดคิดในด้านนี้ รู้จักจุดยืนของคนในกรอบของสังคม, ของโลกและของจักรวาล. นั่นคือ ระหว่างหน่วยที่เล็กที่สุดกับหน่วยที่กว้างไพศาลที่สุด. แต่การรู้จักตัวเองนั้น ยังไม่พอ ยังต้องรู้จักกฎของบริบทแวดล้อมที่ครอบงำคนและส่งอิทธิพลต่อการวิวัฒน์พัฒนาของแต่ละคน(เป็นบุคลิกต่างๆกัน), ทั้งกาย, จิตสำนึก(อารมณ์ความรู้สึก) และจิตวิญญาณซึ่งเป็นขั้นลึกล้ำที่สุด ที่ช่วยให้คนรู้จักยกระดับจิตสำนึกและวิญญาณตัวเองขึ้นสูง. ความฉลาดด้านนี้ จึงอาจเรียกว่าเป็นความฉลาดด้านจิตวิญญาณ. ในชีวิตปกติสามัญ คนฉลาดรู้คิดตรึกตรองแบบนี้ นำให้เขาเห็นคุณค่าของจริยธรรมและนัยของความยุติธรรม.

     นอกจากเก้าด้าน ที่เฮาเวิร์ด การ์ดเนอได้วางไว้  ยังมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความฉลาดด้านอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นตามบริบทวิวัฒนาการของพฤติกรรมในสังคม เช่น ฉลาดเรื่องเซ็กส์ (sexual intelligence เข้าใจความต้องการของตนเองและของคนอื่น, มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์เชิงวิทยาศาสตร์ ที่รวมถึงบริบทวัฒนธรรมหรือขนบประเพณีและค่านิยมในสังคม), ฉลาดเรื่องอารมณ์ (emotional intelligence ฉลาดรู้ทันอารมณ์ตัวเองและรู้จักควบคุมอารมณ์ของตน ที่อาจรวมไปถึงคนอื่นและกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง).  นอกจากนี้บางคนมีความฉลาดสร้างสรรค์หลายด้านในคนๆเดียว, มีความรู้เจาะลึกในหัวข้อต่างๆจำนวนมากโดยเฉพาะในด้านศิลปะและด้านวิทยาศาสตร์. ตัวอย่างของบุคคลพหูสูตร (polymath) ที่รู้จักกันดีเช่น มิเกลลานเจโล Michelangelo (ประติมากร, จิตรกร, สถาปนิก, กวี) หรือเลโอนาร์โด ดาวินชี (ดาวินชี นอกจากเป็นจิตรกร นักวาดเขียน, ช่างกล, วิศวกร, นักประดิษฐ์เช่นเสื้อชูชีพ, เฮลิค็อปเตอ, ออกแบบรถถัง, ออกแบบแผงรับพลังแสงอาทิตย์ฯลฯ, ฯลฯ.

เครือข่ายความฉลาดรู้ที่แตกแขนงออกไป

       มีผู้วิเคราะห์ทฤษฎีความหลากหลายของสติปัญญาของ เฮาเวิร์ด การ์ดเนอ ว่าการแบ่งแยกอย่างเด็ดขาดเป็นแปดเก้าด้านนั้น บางทีก็เป็นปัญหาได้. ทางที่ดี เมื่อมีการจัดสติปัญญาด้านต่างๆไว้ ให้ยึดเป็นกรอบ แต่ก็ควรมีประตูเปิดกว้าง สู่การปรับเปลี่ยนมุมมองได้ตามยุคสมัยและบริบทสังคมที่ผันแปรอยู่เสมอ. (Ref. ผลงานการวิเคราะห์ร่วมกันจากมหาวิทยาลัย Montreal และมหาวิทยาลัยที่ Ottawa ในคานาดา, Serge Larivée และ Carole Senéchal ในหัวข้อเรื่องว่า Que dit la science à propos des intelligences multiples?) ดูตัวอย่างสามสี่ประเด็นต่อไปนี้

) ความฉลาดด้านหนึ่ง อาจเป็นองค์ประกอบในความฉลาดด้านอื่นๆได้ ตัวอย่างฉลาดการกีฬา อาจฉลาดทางอื่นด้วย เช่นฉลาดคำนวณ ฉลาดควบคุมอารมณ์ฯลฯ.

๒) ฉลาดรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ อาจเป็นสมบัตินำให้ฉลาดรู้อารมณ์ (รู้จำ รู้คิด ศรัทธา), หรือเสริมความฉลาดด้านจริยธรรม (ethics)

๓) เฮาเวิร์ด การ์ดเนอ แยกระหว่างปัญญากับพรสวรรค์หรือความถนัดเฉพาะทาง. เขาคิดว่า ปัญญากับพรสวรรค์นั้นต่างกัน. พรสวรรค์เป็นเรื่องของวัฒนธรรม ค่านิยมในสังคม, มิได้เจาะจงเรื่องปัญญาในการพัฒนาพรสวรรค์นั้น.  

) การกำกับพรสวรรค์ด้านกีฬาหรือการดนตรี ว่าเป็น ปัญญา อาจนำไปสู่ความหวังลมๆแล้งๆ.

การ์ดเนอยกตัวอย่าง นักบวชเซนที่ใช้มือสับหรือผ่าก้อนอิฐเป็นสองท่อน หรือพราหมณ์ฮินดูเดินเหยียบไปบนกองเท้าถ่านที่มิได้ดับสนิท ว่าเป็นปัญญาด้านจิตวิญญาณ รู้รับพลังจักรวาล. มีผู้ท้วงว่า อาจจริงในเชิงความตั้งใจมุ่งมั่นในการฝึกความเร็วจนคล่องตัวและสม่ำเสมอ. (อธิบายสั้นๆได้ว่า) การผ่าก้อนอิฐเป็นสองท่อน วิเคราะห์ตามหลักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ได้ง่ายๆว่า การจัดวางก้อนอิฐบนฐานแบบไหน พื้นที่วางเป็นอย่างไร (ต้องเป็นพื้นซีเมนต์ นั่นคือความหนาแน่นมั่นคงของพื้นที่วางอิฐ ที่ไม่ใช่บนเก้าอี้เป็นต้น) บวกความเร็วของมือ ซึ่งทำให้กำลังที่ตกลงบนก้อนอิฐเร็วและแรงมากพอทำให้ก้อนอิฐแตกง่ายขึ้น (ไม่ว่าใคร จะเป็นนักบวชเซนหรือไม่ หากฝึกในบริบทนี้ ก็ทำได้เหมือนกัน ไม่เกี่ยวกับการมีปัญญาเข้าถึงพลังจักรวาล). ส่วนกรณีของการเดินเหยียบบนกองไฟที่มีขี้เถ้าโรยอยู่บนผิวหน้า, ขี้เถ้าที่โปรยไว้สร้างแผ่นฟิลม์ที่เป็นฉนวนบนกองไฟ, เท้าของคนที่เหยียบ จะล้างน้ำก่อนด้วย เหมือนเคลือบเท้าไว้ชั้นหนึ่ง จึงป้องกันและชะลอการติดไฟ, รวมทั้งเวลาที่เหยียบลงบนกองไฟนั้นสั้นมาก ไม่ทันให้ผิวเท้าพุพอง ฯลฯ.

       ทฤษฎีต่างๆที่คนคิดขึ้นมาในแต่ละบริบทสังคม เป็นทางออกที่ดีในสถานการณ์นั้นยุคนั้น.  เวลาผ่านไป สถานการณ์, ความรู้ทางวิทยาศาสตร์, ความเข้าใจในชีวิต ในสังคม เปลี่ยนไป จำต้องใช้วิจารณญาณ สำรวจข้อดีและข้อบกพร่อง และช่วยกันพัฒนาเพิ่มพูนหาทางออก, อธิบายเนื้อหาเดียวกันนั้นให้ถูกต้องและต่อยอดเป็นทฤษฎีที่ครอบคลุมกว้างไกลยิ่งขึ้น. การเรียนการพัฒนาไม่ว่าความรู้ด้านใดแขนงใด จึงไม่มีวันสิ้นสุด. และนี่คือปัญญาสุดยอดที่มนุษย์มี ที่เอื้อให้สามารถพัฒนาทุกอย่างให้ดีขึ้นๆได้อยู่เสมอ.

โชติรส รายงาน

๙ มีนาคม ๒๕๖๔.

ผู้สนใจ ติดตามอ่านบทความต่างๆทั้งในภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน ได้ในอินเตอเน็ต เพียงคีย์ ชื่อ Howard Gardner และหรือ Multiple Intelligences. 

หนังสือหล่อเลี้ยงสมอง Feed the brain

ภาพจาก flickr.com

No comments:

Post a Comment