Wednesday, March 10, 2021

Ma Normandie

 นอร์ม็องดีที่ไม่ลืม

จุดยกพลขึ้นบกของกองทหารพันธมิตร นอกฝั่งแคว้นนอร์ม็องดี

แผนที่แคว้นน็อร์ม็องดี Normandie / Normandy  ชื่อนี้อาจติดหูคนรุ่นก่อนและรุ่นอายุหกสิบขึ้น เพราะเคยได้รู้เห็นหรือได้ยินเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สอง. วัน D-Day (6 June 1944) เมื่อกองทหารพันธมิตรหกกองร้อย จากสหรัฐฯ 3 กองร้อย, อังกฤษ 2 กองร้อยและคานาดา 1 กองร้อย ยกพลมาขึ้นฝั่งที่แคว้นนี้ และต่อสู้จนขับไล่กองทหาร Reich เยอรมันที่เข้ายึดประเทศฝรั่งเศสในตอนนั้น ออกไป ในที่สุดเยอรมนียอมจำนน. (Ref. https://www.army.mil/d-day/history.html ) เพลง วันเผด็จศึก ยังคงอยู่ในความทรงจำของเรา จากภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่อง The Longest Day มากกว่าจากหน้าหนังสือประวัติศาสตร์. (น่าจะเอามาฉายอีกบ่อยๆ ให้คนไทยรุ่นนี้และรุ่นต่อๆไป ได้สำเหนียกถึงก้นบึ้งของจิตสำนึกว่า พวกเขาโชคดีเพียงใด ที่เกิดมาบนแดนไทยที่เป็นดั่งสวรรค์บนดิน)

ผู้สนใจตามไปอ่านและดูภาพได้จากตัวอย่างสองแหล่งนี้ :

https://www.army.mil/d-day/history.html

https://www.herodote.net/6_juin_1944-evenement-19440606.php

The Longest Day

Paul Anka, writer and singer (ออกอากาศครั้งแรกในปี 1962)

เปิดฟังเพลงและดูประมวลภาพการยกพลขึ้นบก >>

https://www.youtube.com/watch?v=hpaTwpWt8BQ

Many men came here as soldiers
Many men will pass this way
Many men will count the hours
As they live the longest day
Many men are tired and weary
Many men are here to stay
Many men won't see the sunset
When it ends the longest day
The longest day the longest day

This will be the longest day
Filled with hopes and filled with fears
Filled with blood and sweat and tears
Many men the mighty thousands
Many men to victory
Marching on right into battle
In the longest day in history

เนื้อเพลงสะเทือนใจ ผู้ประพันธ์นึกภาพหนุ่มๆจำนวนมาก (หลายคนเพิ่งเป็นทหาร) เดินทางมาขึ้นบกบนต่างแดน หัวใจตุ้มๆตั่มๆ กลัวอยู่ลึกๆ แต่ยังฮึดหวังว่า การเสียสละของพวกเขา จักช่วยให้เพื่อนพันธมิตรทวงคืนเสรีภาพจากผู้เข้ายึดครองประเทศได้. (หรือเพื่อจุดยืนที่ยิ่งใหญ่กว่า ระหว่างระบอบเผด็จการกับระบอบประชาธิปไตย).  มองดูเลือดเนื้อของคนจำนวนมากที่ต้องตายลง สังเวยความกระหายอำนาจ ความอยุติธรรม... คนยังไม่ได้เรียนรู้จากอดีต ทหารหนุ่มๆทั้งหลายยังคงตายลง ร่วงเหมือนใบไม้ในสนามรบอีกหลายแห่งบนโลก. มันยุติธรรมกับพวกเขาหรือ ที่ having to die without having lived ?

เบื้องหน้าความทุกข์ทรมาน ความขมขื่นของเพื่อนร่วมโลก เราผิดด้วยกันทุกคน. ความขลาดทำให้เราเมินหน้าหนี ไม่สนใจ It’s none of my business!

ไปมาน็องม็องดีหลายครั้งในหลายปี  ส่วนตัวพบอะไรที่น่าประทับใจหลายอย่าง ไปแวะเมืองชายฝั่งด้านติดช่องแคบอังกฤษ ตระเวนตามเมืองต่างๆ จากเมือง Dieppe, Fécamp, Etretat, Honfleur, Trouville, Deauville, Le Havre, Caen, Bayeux  และ Cherburg ก่อนจะตามเส้นทางสู่ตะวันตกของฝรั่งเศส แวะ Mont St-Michel, St-Malo, แล้วโลดไปยังเมืองปลายแหลมสุดตะวันตกที่เมืองเบรสต์ Brest เพื่อไปเดินบนถนนสยาม สัมผัสเมืองที่คณะทูตไทยนำโดยโกษาปานไปขึ้นฝั่งที่นั่น.

     ไปถึงนอร์ม็องดีแล้ว ก็ต้องต่อไปถึงแคว้นเบรอตาญ Bretagne (Brittany) ที่ทอดต่อไปจนถึงชายฝั่งตะวันตกที่ยื่นลงทะเล ที่ชาวฝรั่งเศสหลายคนบอกว่า เหมือนจมูกของนายพลเดอโกล ผู้เป็นชาวเบรอตง (จากแคว้นเบรอตาญ ที่อยู่ติดกับแคว้นน็องม็องดีไปทางฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก). คุณพ่อเดอนี Denis ที่เคยสอนภาษาฝรั่งเศสที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ก็เป็นชาวเบรอตง. ครั้งหนึ่งเคยถูกลอบตีหัวที่ชายฝั่งไหนสักแห่งในเมืองไทย โชคดีที่ศีรษะไม่แตก. พ่อเดอนีบอกว่า เพราะคนเบรอตง หัวแข็งมาก.

     จากเบรสต์ Brest, ต่อไปยัง Douarnez, Quimper, Cancarneau, Lorient, แล้วขึ้นไปเมือง Rennes เพื่อกลับปารีส. เส้นทางดังกล่าวไม่ได้ไปรวดเดียว แม้แต่ละครั้งที่ไปๆเดือนกว่า ก็ไม่ครบ ต้องกลับไปหลายครั้งด้วยความผูกพัน ติดใจเมืองชายฝั่งทะเลและวิถีชีวิตคนที่นั่น. ไปยืนดูทะเลจากหน้าผาบนมุมแหลมสุด มีประภาคารสุดท้ายของแผ่นดินฝรั่งเศส และจินตนาการว่าเรืออับปางตรงช่องแคบนั้นเสมอๆ เพราะคลื่นลมแรงมากตลอดเวลา. เคยนั่งเรือข้ามช่องแคบอังกฤษจากเมือง Pas de Calais ในฝรั่งเศส ไปยังเมือง Dover บนเกาะอังกฤษ. ทะเลคลื่นลมแรง นั่นเป็นวันปกติ ยังวิงเวียนหน้ามืด, นึกถึงจำนวนเรืออับปางบนเส้นทางเดินเรือระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษในวันที่เกิดพายุ. ใครหรือจะเอาชนะทะเลได้ ?

เส้นทางแนะนำสำหรับขับรถ motor-home จากเพจ https://camperstop.com/en/blogs/motorhome-route-normandy-brittany-france

       แคว้นนอร์ม็องดี ขึ้นชื่อเรื่องเป็นแดนแอปเปิล ให้นึกว่ายามดอกแอปเปิลบาน จะขาวสะพรั่ง (สีชมพูอ่อนๆ) ไปทั่วทุ่งและเนินเขา. คนแถบนี้กินแอปเปิลทุกวัน แก้มใสแดง ผิวสวย. ทำฟาร์มเลี้ยงวัว ทำเนยแข็ง. เลี้ยงหมูหรือไก่ด้วยเป็นอาหาร (หมูไว้ทำไส้กรอกแบบต่างๆ รวมทั้งไส้กรอกเลือดหมูที่เรียกว่า บูแด็ง boudin). แอปเปิลมีจำนวนมาก จึงทำน้ำแอปเปิล น้ำสดๆ หรือหมักนิดหน่อยให้พอมีฟองเล็กๆ กลายเป็น ซี้ดร์ cidre หรือที่ออกเสียงกันว่า ไซเดอร์ คือน้ำแอปเปิลโซดา ยังมีประเภทไม่อัดแก๊ซด้วย. ดื่มชื่นใจแต่มีปริมาณแอลกอฮอลปนอยู่ด้วย (5% ของปริมาตร) ดื่มมากทำให้มึนได้. นอกจากทำน้ำแอปเปิล น้ำส้มสายชูจากแอปเปิล ยังนำไปทำเหล้ากลั่นจากแอปเปิล เรียกว่า กัลวาโดซ calvados ถูกจัดอยู่ในกลุ่มบรั่นดี (ปริมาณแอลกอฮอล คือ 40% ปริมาตร) ดื่มเป็นเหล้าเจริญอาหาร หรือเหล้าช่วยย่อยอาหาร หรือเป็นค็อกเทล (on the rock). เป็นเครื่องดื่มที่ไปได้ดีกับเนยแข็ง หรือขนมหวานเช่นช็อกโกแล็ต ไอศกรีม. ที่นิยมกันทั่วไป คือดื่มกับ แคร้ป crêpe หรือขนมแผ่นบางๆกว่าแพนเค้ก ทาเนย หรือแยม พับเป็นรูปสามเหลี่ยมทรงโคนแบนๆ (กินแคร้ปกับชากาแฟก็อร่อยมาก). แคร้ปมีแบบคาวหวาน. แบบหวานคือทาแยมผลไม้ชนิดต่างๆ (ที่ชอบเป็นพิเศษ คือทาแยมเกาลัด). แบบคาว ก็เติมชี้ส cheese ขูดฝอยๆ เพิ่มแฮม หรือเบคอน เห็ด (มะเขือเทศ) ในแบบคล้ายๆกับการกินพิซซาอิตาเลียน. แต่เนื้อแคร้ปละเอียดนุ่มนวลกว่ามาก. ขนมขึ้นชื่ออีกอย่างของแดนแอปเปิล คือขนมต๊าร์ตที่อบขึ้นมาพร้อมแอปเปิลที่หั่นเป็นแว่นๆเรียงเต็ม แต่งบนหน้าแป้งสำหรับต๊าร์ต เรียกในภาษาฝรั่งเศสว่า ต๊าร์โตป็อม tarte aux pommes. (จบรายงานอาหารสั้นๆเท่านี้)

     ภาคตะวันตกของฝรั่งเศส ดูเหมือนจะมีชาวอังกฤษอพยพไปอยู่กันมาก เพราะใกล้เกาะอังกฤษที่สุด โดยเฉพาะเบรอตาญและนอร์ม็องดี ที่มีลูกหลานชาวอังกฤษมาตายในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง. ชาวฝรั่งเศสแถบนี้ ดูเหมือนจะมีทักษะภาษาอังกฤษดีพอใช้จนดีมาก เนื่องจากการมาอยู่ของชาวอังกฤษ.   

ครั้งแรกที่ไป พบโพสต์การ์ดแผ่นนี้ กวาดตาอ่านว่าเขียนอะไร แล้วก็ตัดสินใจซื้อทันที. อ่านแล้วตื่นรู้ขึ้นมาว่า วันหนึ่งต้องกลับบ้านเกิดเมืองนอน... มารู้ทีหลังว่า เป็นเพลงพื้นบ้านของแคว้นน็องม็องดี บทประพันธ์คำร้องและทำนองของ Fréderic Bérat (1836). พบบทแปลเป็นภาษาอังกฤษของ Tony Provencher จึงนำมาเทียบให้ดู จะเห็นว่าบทฝรั่งเศสเรียบง่าย ชัดและตรงเป้ากว่ามาก.  มีหลายตอนที่ในบทอังกฤษไม่ดลใจนัก (เช่นท้องฟ้าอิตาลี ไม่เป็นสีทอง) โดยเฉพาะ ประโยคว่า The land that gave to me the light of day ประโยคฝรั่งเศส ใจความว่า เป็นประเทศที่ฉันเกิด.  ในบทอังกฤษ เขาพยายามหาคำให้ได้สัมผัสกับวรรคอื่นๆ...

Quand tout renaît à l'espérance,             When far from us the winter flies,
Et que l'hiver fuit loin de nous,                 And the world is born to hope anew,
Sous le beau ciel de notre France,           Under France’s lovely skies,
Quand le soleil revient plus doux,           When the sun returns in sweeter hue,
Quand la nature est reverdie,                  When nature ‘round us greener be,
Quand l'hirondelle est de retour,            When swallows homeward wing their way,
J'aime à revoir ma Normandie !               I love to see my Normandy,
C'est le pays qui m'a donné le jour.         The land that gave to me the light of day.

J'ai vu les champs de l'Helvétie,                Switzerland’s dales I did behold,
Et ses chalets et ses glaciers ;                    And her chalets and glaciers blue;
J'ai vu le ciel de l'Italie,                               I’ve seen Italian skies of gold,
Et Venise et ses gondoliers.                       And the gondoliers of Venice too.
En saluant chaque patrie,                          Although these lands enchanted me,
Je me disais : aucun séjour                        I knew there was no hideaway
N'est plus beau que ma Normandie !      More lovely than my Normandy,
C'est le pays qui m'a donné le jour.          The land that gave to me the light of day.

Il est un âge dans la vie,                              There comes a time, as life unfolds,
Où chaque rêve doit finir,                           That brings an end to reveries.
Un âge où l'âme recueillie                           A time when must the ransomed soul
A besoin de se souvenir.                              Revisit cherished memories.
Lorsque ma muse refroidie                        When time has chilled my muse and me,
Aura fini ses chants d'amour,                     And songs of love are sung away,
J'irai revoir ma Normandie !                       Again I’ll see my Normandy,
C'est le pays qui m'a donné le jour.          The land that gave to me the light of day.

เปิดฟังเพลงนี้ นอร์ม็องดีของผม Ma Normandie ตามลิงค์ที่ให้ เพลงทำนองนี้ คงหาฟังอีกไม่ได้แล้ว. 

Ma Normandie Paroles et musique : Frédéric Bérat (1836) >>

https://www.youtube.com/watch?v=xttQ76fD5gM

(เวอชั่น Antoine Provencher)

พลงนี้ยังคงฝังในส่วนลึกของชาวนอร์ม็องดีรุ่นใหม่ ผู้อพยพไปอยู่ที่ปารีสหรือเมืองใหญ่อื่นๆ เพื่อไปศึกษาหรือหางานทำ แต่ไม่นานก็ย้ายกลับถิ่นฐานเดิม. พอใจที่จะอยู่กับธรรมชาติสบายใจกว่า. คนแถบนี้ จึงยังมีความผูกพันกับบ้านเกิดอยู่มาก.

ฟังเพลงจากเครื่องดนตรีขิมฝรั่งแบบหนึ่ง ทำนองเหมือนเพลงในสมัยก่อนที่มีนักดนตรีพเนจร ผู้เร่ร่อนเล่าเรื่องประกอบเพลงโน้ตสิบกว่าตัว ร้องตามตลาดในเมืองชนบท. เสียงผู้ชาย เหมือนจะแหบๆ สั่นด้วยความรู้สึกภายในหรือเปล่านะ. ดนตรีแบบนี้ คนรุ่นใหม่ไม่ฟังกัน.    

อ่านเนื้อเพลงครั้งแรกจากโพสต์การ์ดที่ซื้อ ต่อมาก็อ่านแล้วอ่านอีก ราวกับจะจารึกไว้ในหัวใจว่า จะถึงวัยหนึ่งในชีวิต เมื่อทุกฝันต้องจบลง วันหนึ่งเมื่อหัวใจบรรเลงเพลงรักจบลง จิตสงบ โล่งเบา ใสเย็นดั่งธารน้ำในร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ หวนรำลึกถึงสถานที่ต่างๆที่ได้ไปมา ย้อนเห็นสีสันของกาลเวลาผ่านเลนส์แว่นตา... ยามนั้น ฉันจะกลับบ้าน สู่แผ่นดินเกิด ให้ร่างเป็นปุ๋ยบำรุงแผ่นดินแม่ต่อไป.

โชติรส รายงาน

๑๐ มีนาคม ๒๕๖๔.

 

No comments:

Post a Comment