Friday, March 12, 2021

Fritz the magnificent

หนึ่งชีวิตช้าง เปลี่ยนค่าของคน 

วันนี้จะแนะนำให้รู้จักช้างสัญลักษณ์ของเมืองน็องต์ ชื่อ ฟริตส์ Fritz หรือเรียกกันติดปากว่า เอเลฟ็องฟริตส์ Éléphant Fritz เป็นช้างอินเดีย. อยู่กับคณะละครสัตว์อเมริกันชื่อ Barnum & Bailey. คณะละครสัตว์เจ้านี้ ได้เดินทางมาแสดงในยุโรป แวะเมืองตูร์ Tours ในฝรั่งเศสด้วย. นำช้างมาแสดงถึง 16-20 ตัว(ข้อมูลหลายแห่งให้ไว้ไม่ตรงกัน) และม้าอีก 200 ตัว. ฟริตส์เป็นช้างจ่าฝูง, ตัวมหึมาที่สุด สูง 2.9 เมตร(วัดจากจุดลำคอต่อกับลำตัว), หนักประมาณ 7 ตัน, มีงายาว 1.5 เมตร สวยเป็นพิเศษ. ปีนั้นฟริตส์มีอายุ 32 ปี. การมีคณะละครสัตว์มาตั้งแสดง สำหรับยุคนั้น เป็นเหตุการณ์สำคัญของเมืองเลยทีเดียว, คณะนี้ต้องใช้รถไฟพิเศษสี่ขบวน, รวมทั้งหมด 67 ตู้. ผู้คนติดตามข่าวของคณะละครสัตว์อย่างตื่นเต้น. เมื่อการแสดงนัดสุดท้ายสิ้นสุดลงในวันที่ 11 มิถุนายน 1902, ระหว่างเดินตามกันเป็นขบวนสัตว์ขบวนยาว ไปยังสถานีรถไฟเมืองตูร์ เพื่อต่อไปยังเมืองโซมูร์ Saumur, เอเลฟ็องฟริตส์ เกิดตกมัน อารมณ์เสีย ออกจากฝูง ทำอันตรายผู้คนและต้นไม้ข้างทาง. ผู้คนแตกตื่น. เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายมากไปกว่านั้น (เพราะฟริตส์เคยทำร้ายคนบาดเจ็บ ตายไปก็มี) เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบละครสัตว์ สั่งให้เอาฟริตส์ลงให้ได้. คนจำนวนมากช่วยกันดึงฟริตส์จนล้มคว่ำและถูกคนรุมเอาเชือกคล้องคอ ดึงรัดคอฟริตส์จนหมดลมลงไปเรื่อยๆและสิ้นใจในราวเที่ยงคืน. Bailey ผู้จัดการคณะละครสัตว์ตัดสินใจมอบศพฟริตส์ให้แก่เมืองตูร์วันเดียวกันนั้นเอง.

ฟริตส์ถูกทรมานจนตายที่เมืองตูร์. ภาพจาก Le Petit Parisien, supplément littéraire illustré du 29 juin 1902. 

การเก็บร่างของฟริตส์โดยให้ภายนอกมีลักษณะเหมือนตัวจริงทุกอย่างนั้น ทำกันที่เมืองน็องต์ Nantes. ทีมคณะแพทย์และเภสัชเฉพาะกิจเมืองน็องต์ เป็นผู้จัดการผ่าตัดร่างของฟริตส์ (La Maison Sautot de Nantes) บอกว่าใช้เวลานานมาก กว่าจะแล่หนังของฟริตส์ออกทั้งตัว, หนังหนาประมาณ 4 ซม. น้ำหนัก 600 กิโลกรัม (ก่อนฟอก) และใช้ช่างฟอกหนังทำงาน 6 คน วันละสี่ชั่วโมงตลอดหนึ่งสัปดาห์จึงแล้วเสร็จ. ร่างของฟริตส์ กลับกลายเหมือนจริงทุกอย่าง และถูกส่งลำเลียงมาทางแม่น้ำลัวร์ กลับไปที่เมืองตูร์ในวันที่ 4 พฤษภาคม 1903 ดังภาพข่าวยุคนั้น.

เมื่อทำสต๊าฟเสร็จแล้วจากเมืองน็องต์ ฟริตส์ถูกส่งลงเรือล่องมาตามแม่น้ำลัวร์ กลับมาประดิษฐานที่พิพิธภัณฑ์เมืองตูร์. เครดิตภาพ : G.L.T. Jacques Gabon (1857-1925), Nicolas Lafay, Tours, Public domain, via Wikimedia Commons.

ภาพถ่ายตรงของฟริตส์ ยืนโชว์เต็มตัวในตู้กระจก ในพิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์ เมืองตูร์. เครดิตภาพ : Etienne3734, CC BY-SA 4.0 creativecommons.org via Wikimedia Commons.

ร่างของฟริตส์ถูกจัดแสดงไว้ที่ห้องโถงชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์เมืองตูร์. ส่วนกระดูกถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา และถูกไฟไหม้ทำลายหมดไปกับอาคารในเดือนมิถุนายน ปี 1940.

     เพิ่งปีที่แล้วนี่เอง วันที่ 4 ตุลาคม ปี 2020 เมืองตูร์เปลี่ยนชื่อสวน Jardin de la place Nicolas-Frumeaud ให้เป็นชื่อ จาร์แด็ง เดอ เลเลฟ็อง ฟริตส์  Jardin de l’Éléphant Fritz. สวนนี้ คือบริเวณที่ฟริตส์ถูกดึงล้มและทนทุกข์ทรมานนานกว่าสามชั่วโมงกว่าจะสิ้นใจ.

     วันที่ 4 ตุลาคม เป็นวันสัตว์โลก. ทางการฝรั่งเศส กำลังรณรงค์ต่อต้านการแสดงละครสัตว์ โดยเฉพาะการนำสัตว์ต่างถิ่นมาฝึก, มาแสดง. กระตุ้นความตระหนักรู้เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของสัตว์ที่ถูกคนนำมาใช้ มากักบริเวณ ฯลฯ.

(Ref. https://www.lanouvellerepublique.fr/tours/a-tours-l-elephant-fritz-symbole-d-une-prise-de-conscience )

น็องต์ Nantes เป็นเมืองใหญ่อันดับหกของฝรั่งเศส ในแถบลุ่มแม่น้ำลัวร์  นั่งรถไฟความเร็วสูง 2 ชั่วโมง 30 นาทีจากปารีส ขับรถต่อไปสบายๆอีก 30 นาทีก็ถึงฝั่งทะเล. จึงเป็นทั้งเมืองใหญ่และเมืองริมทะเล. มีอาหารการกินหลากหลาย กับไวน์ขาวมุซกาเด Muscadet ที่ขึ้นชื่อจากถิ่นแม่น้ำลัวร์โดยเฉพาะ (เป็นไวน์รสแห้งสนิท bone-dry, มีปริมาณแอลกอฮอลอยู่ที่หรือต่ำกว่า 12.5% ปริมาตร light-bodied). หาอ่านข้อมูลการท่องเที่ยวได้ไม่ยากในอินเตอเน็ต.

      เรื่องช้างฟริตส์ กลับมีชีวิตชีวาขึ้นใหม่ที่เมืองน็องต์ เมื่อศิลปินและนักประดิษฐ์ François Delarozière (1963- ) สร้างช้างกลฟริตส์ขึ้น. หากติดตามดูงานประดิษฐ์สร้างสรรค์หุ่นกลแบบต่างๆของเขา เช่น ช้างฟริตส์ นกกะเรียน ปลาหมึกยักษ์ฯลฯ นำให้คิดถึงสัตว์ประหลาดขนาดยักษ์ที่ปรากฏเล่าไว้ในวรรณกรรมของฌูร์ แวร์น Jules Verne (1828-1905, นักเขียนฝรั่งเศส ผู้แต่งนวนิยายผจญภัย นวนิยายวิทยาศาสตร์ เช่น เรื่องแปดสิบวันรอบโลก, ใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์, จากโลกถึงดวงจันทร์) ที่เขาติดตามอ่านมาตั้งแต่วัยเด็ก บวกแรงบันดาลใจจากจินตนาการสร้างสรรค์เครื่องกลไกแบบต่างๆของเลโอนาร์โด ดา วินชี.

     F. Delarozière เป็นผู้บริหารบริษัทชื่อ ลามาชีน La Machine ที่รวมศิลปิน, นักออกแบบ, นักประดิษฐ์และช่างเทคนิค เพื่อสร้างสัตว์หุ่นยนต์ขนาดยักษ์ รวมกันเป็นแดนเนรมิตที่ไม่มีที่ใดเหมือน. โดยเฉพาะเมื่อได้ร่วมงานกับ Jean-Luc Courcoult ผู้จัดการด้านศิลป์ของบริษัทการแสดง Royal de Luxe ระหว่างปี 1991-2008, ทั้งคู่ได้ผลักขีดการสร้างสรรค์สู่การนำสัตว์หุ่นกลทั้งหลายออกแสดงบนเวทีละคร. ยังได้นำสัตว์กลทั้งหลาย ไปออกแสดงในประเทศอื่นๆในยุโรปด้วย. การเสกสรรค์ของทั้งคู่ ต่อไปถึงการแสดงสตรีทอาร์ต Street art, การแสดงละครและศิลปะ. พาผู้คนย้อนกลับไปในแดนเนรมิตสมัยก่อนยุคดิจิตอล.  

       ฟริตส์กลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองน็องต์. ช้างกลฟริตส์สูง 12 เมตร ประมาณตึกสี่ชั้น, กว้าง 8 เมตร, ลำตัวยาวทั้งสิ้น 21 เมตร, รวมกันเป็นช้างกลที่หนักประมาณ 48.4 ตัน. เคลื่อนที่ด้วยกลไกทั้งหมด 62 เครื่อง แบบไฮดรอลิก 46 เครื่อง, แบบยางอัดลม 6 เครื่อง, และแบบก๊าซอีก 10 เครื่อง. ภายในจัดเป็นพื้นที่นั่ง ที่ยืนให้ชมวิว ชั้นบนสุดเหมือนลานเปิดโล่ง มีลูกกรงให้เกาะเพื่อยืนชมเมือง ในขณะที่ช้างเดินไปรอบเมือง ด้วยความเร็วประมาณ 1-3 กม/ชม.  จุคนแต่ละเที่ยวประมาณ 50 คน และพาเดินชมเมืองหนึ่งรอบประมาณ 45 นาที. ช้างสร้างขึ้นแบบมีที่ให้คนขับควบคุมการเดิน มีล้อเครื่องจักรแบบห้องเครื่องขนาดเล็กติดล้อประกบทั้งด้านหน้าและด้านหลังของช้าง. เท้าช้างทั้งสี่ เคลื่อนไหว เดินไปได้สมจริง. ชมภาพช้างกลสัญลักษณ์ของเมืองน็องต์ ข้างล่างนี้




อาคารที่เห็นในภาพ เป็นอาคารม้าหมุนในสวนสนุก เรียกกันที่นั่นว่า ม้าหมุนโลกสัตว์ทะเล (Carrousel des Mondes Marins) เป็นพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ รวมสัตว์น้ำชนิดต่างๆจากใต้ทะเลลึกจนถึงผิวน้ำ. ทั้งหมดสร้างให้เสมือนจริง แต่ขนาดใหญ่กว่ามากและเป็นสัตว์หุ่นกลที่เคลื่อนไหวได้.  

นักประดิษฐ์หรือศิลปินสองคนนี้ ยังร่วมมือกันสร้างสัตว์กลขนาดใหญ่ๆแบบเดียวกัน และเปิดให้ประชาชนชม รวมทั้งให้ขึ้นไปขี่บนหุ่นกลสัตว์ทั้งหลายได้ด้วย. นับเป็นของเล่นที่ไม่เหมือนที่ใด ให้คนร่วมวงรู้จักสนุกในจังหวะช้าค่อยเป็นค่อยไป ไม่เน้นเรื่องความเร็วความหวือหวาของเครื่องเล่นสมัยใหม่ตามสวนสนุกสมัยนี้. เครื่องกลขนาดยักษ์ รวมกันในบริเวณที่จัดเป็นพิเศษ เรียกว่า Les Machines de l’ Île de Nantes (ในความหมายว่า เครื่องกลไกของเกาะเมืองน็องต์). ศูนย์นี้ได้กลายเป็นศูนย์ดึงดูดนักท่องเที่ยวและกลายเป็นแหล่งบันเทิงของเมืองและของผู้ไปเที่ยวเมืองน็องต์.

แดนเนรมิตในศูนย์ Les Machines de l’Île de Nantes

รายละเอียดเกี่ยวกับศูนย์การเรียนรู้สร้างปัญญา ติดตามไปชมได้จากเว็บเพจข้างล่างนี้เป็นตัวอย่าง >> https://www.lanouvellerepublique.fr/tours/a-tours-l-elephant-fritz-symbole-d-une-prise-de-conscience ***https://www.lesmachines-nantes.fr/ ***https://www.iledenantes.com/***(ภาพสัตว์กลตัวยักษ์ๆอื่นๆของที่นั่น) ***https://www.google.com/search?rlz=1C1EKKP_enTH827TH827&sxsrf=ALeKk01-bEikalyT4jWOswHRTSNMkZv5vQ:1615541835421&source=univ&tbm=isch&q=fran%C3%A7ois+delarozi%C3%A8re&sa=X&ved=2ahUKEwiyzeCpuqrvAhUCzjgGHTu3B5sQiR56BAgMEAI&biw=1208&bih=585#imgrc=tVelbZOAEaqTEM 

จบรายงานเรื่องช้าง. คนมักคิดว่าชีวิตสัตว์ไร้ค่าในตัวเอง มีค่าเมื่อทำประโยชน์ให้คน, ไม่ไยดีว่า สัตว์ก็มีอารมณ์ความรู้สึก มีความรัก ความทรงจำ ความกลัวตายเหมือนคน.

เราต่างรู้จักหนังสือ The Jungle Book ของ Rudyard Kipling (1865-1936) เป็นนักประพันธ์, นักหนังสือพิมพ์, นักแต่งเรื่องสั้น, กวีชาวอังกฤษ. ได้รางวัลโนเบลปี 1907 สาขาวรรณกรรมคนแรกของอังกฤษ. เขาเกิดที่อินเดีย แหล่งบันดาลใจในงานเขียนของเขาจำนวนมาก. ผลงานของเขาน่าจะเสริมจินตนาการและความตระหนักรู้ของคนเกี่ยวกับป่าและสัตว์ป่า เช่น The Jungle Book, Just So Stories, Kim, etc. The Jungle Book แต่งขึ้นในปี 1894 ถูกนำมาทำเป็นหนังการ์ตูนวอล์ทดิสนีย์ในปี 1967 และเป็นภาพยนต์ในปี 2016. ยังมีการ์ตูนเรื่องทาร์ซาน Tarzan (หนังสือออกครั้งแรกปี 1974) ที่ดลใจ Jane Goodall (1934-) ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชิมแพนซีอย่างต่อเนื่องทั้งในป่าอินเดียและแอฟริกา (โดยเฉพาะที่ประเทศ Tanzania) ติดต่อมากว่า 60 ปีในชีวิต, เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องชิมแพนซีที่ชาวโลกยกย่องและนับถือ. ผลงานของเธอสร้างแรงบันดาลใจแก่คนจำนวนมาก ที่เริ่มจับเรื่องสัตว์ขึ้นเป็นหัวข้อศึกษา ไปจนถึงการตั้งองค์กรพิทักษ์สัตว์ป่าเป็นต้น.

เราต่างไม่ลืม impact จากภาพยนต์เรื่อง Born Free (1966) ที่มีอิทธิพลต่อความคิดอ่านของคนอย่างยิ่ง. หนังการ์ตูนและภาพยนต์ที่เกี่ยวกับสัตว์จะทะยอยออกมาหลังจากนั้น เช่น The Lion King (1994), Finding Nemo (2003) ที่ทำให้นึกถึงกัปตัน Nemo ในนวนิยายของ Jules Verne เรื่องใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์ (1870), หนังการ์ตูนและต่อมาสร้างเป็นละครเพลง The Beauty and the Beast (2017) ฯลฯ เรื่องเหล่านี้มีส่วนสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับสัตว์แก่เด็กและผู้ใหญ่ในวงกว้างมากขึ้นๆ ที่สืบสานต่อไปถึงการอนุรักษ์ป่าสงวนและพันธุ์สัตว์ต่างๆด้วย.

     จบสั้นๆตรงนี้กับเพลง Born Free ขับร้องโดย Matt Monro (1966) ทำนองดนตรีของ John Barry คำร้องของ Don Black เพลงนี้ที่ใช้ประกอบภาพยนต์เรื่อง Born Free ได้รางวัลตุ๊กตาทองในฐานะเพลงยอดเยี่ยม Best Original Song

https://www.youtube.com/watch?v=ISWOrI0WaLs

Born free

As free as the wind blows
As free as the grass grows
Born free to follow your heart

Live free
And beauty surrounds you
The world still astounds you
Each time you look at a star

Stay free
Where no walls divide you
You're free as a roaring tide so there's no need to hide

Born free
And life is worth living
But only worth living
‘Cause you're born free

** Stay free
Where no walls divide you
You're free as a roaring tide so there's no need to hide

Born free
And life is worth living
But only worth living
‘Cause you're born free

ทุกชีวิตมีค่า แต่สังคมที่ขยายใหญ่ขึ้นๆ สร้างกรงขังสัตว์และคน. เราแต่ละคนยังสร้างกรงขังตัวเอง ปิดกักตัวเองในกรงของอวิชชา...

ฉันอยากมาเกิดหรือเปล่า ฉันไม่ได้เลือกมาเกิดเอง จึงไม่ได้เกิดอย่างเป็นไทแก่ตัว แต่ฉันเห็นว่า life is worth living และฉันก็ได้สัมผัสชีวิตที่เป็น a joy to live, to love, to give…

โชติรส รายงาน

๑๒ มีนาคม ๒๕๖๔.

No comments:

Post a Comment