Tuesday, December 29, 2020

Habes anchor

ได้ติดตามสารคดีและกิจกรรมของกองทัพเรือไทย เครือข่ายการบริการ และการรับใช้ประชาชนในยามวิกฤตแบบต่างๆ (cf. เพจ navy.mi.th/index.php) ตื้นตันใจไม่น้อย ส่วนตัวชอบกองทัพเรือมาก.  ทหารเรืออาจหลงตัวเองน้อยกว่าทหารบกหรือตำรวจ เมื่อตระหนักว่า ตัวเขานั้นเล็กกระจิริดเพียงใดเหนือน่านน้ำผืนมหึมาและใต้น่านฟ้าอันไพศาล.

ได้ฟังเพลง ดอกประดู่ ที่ขึ้นต้นว่า ฮะเบสสมอพลัน บทเพลงพระนิพนธ์ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์. แรงบันดาลใจสำคัญในการทรงนิพนธ์เพลงนี้ คือเหตุการณ์วิกฤตการณ์ปากน้ำ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ซึ่งเป็นที่จดจำกันได้ดีทุกคนสำหรับคนไทยในยุคนั้น. สันนิษฐานว่าทรงนิพนธ์เพลงดอกประดู่เมื่อ พ.ศ. 2448.

ติดใจสำนวนขึ้นต้นว่า ฮะเบสสมอ (habes anchor) ที่เริ่มต้นเพลงดอกประดู่.  ตามไปค้นหาที่มาของศัพท์ เท่าที่ค้นมาได้ มาจากภาษาละติน Habeō [อ๊าเบ่โอ] ไปเป็น habēre (to have, to hold), ใช้ในภาษาเก่าในหมู่นักเดินเรือชาวยุโรปสมัยศตวรรษที่ 18 เช่นใน Old Galician และ Old Portuguses ว่า aver แล้วเป็น haber และกระจายผันคำไปตามการใช้เป็น habeš / habēs / habē  ดังคำสั่งให้กว้านสมอขึ้น เตรียมพร้อมสำหรับเดินทาง. เมื่อตรวจสอบการออกเสียงของคำดั้งเดิมตามนี้ หะเบสสมอ ควรเป็น ฮะเบสสมอ ดังที่ราชบัณฑิตยสภาเลือกใช้.

ทำนองเพลงดอกประดู่ เจาะจงไว้ว่า มาจากเพลง Comin thro’ th Rye ในภาษาสก็อต, มีชื่อเต็มว่า Coming though the Rye ที่เป็นบทกวีบทหนึ่งของ Roberts Burns (1759-1796, นักประพันธ์และกวีชาวสก็อต, ผู้เป็นกวีศิลปินแห่งชาติของสก็อตแลนด์, เขายังมีสมญานามที่คนตั้งให้เช่น Scotland’s favorite son, Ploughman’s poet). บทนี้ประพันธ์ขึ้นในปี 1782. บทกวีส่วนใหญ่ของ Robert Burns แต่งเป็นเพลงให้ร้องในหมู่เด็กๆ หมู่ลูกเสือเป็นต้น. จังหวะทำนองพื้นฐานคล้ายๆกันกับเพลงของนักร้องพเนจร (minstrel) ในยุคนั้น, อาจทอดจังหวะช้าหรือเร่งเร็วขึ้นแล้วแต่บริบท, ต่างกันไม่มากไม่น้อยจากเพลงหนึ่งไปอีกเพลงหนึ่ง. จากปีที่แต่งมาจนถึงทุกวันนี้  เนื้อร้องบทนี้มีหลายเวอชั่น การถอดความจากภาษาถิ่นสก็อตที่กวีใช้ เป็นภาษาอังกฤษปัจจุบัน ก็มีหลายเวอชั่น. ตัวอย่างที่นำมาให้ดูเป็นเวอชั่นหนึ่ง

เนื้อหาให้ภาพของทุ่งข้าวไรย์ (rye) มีหญิงสาวชาวนาที่เจาะจงชื่อไว้ว่า เจนนี่ (Jenny) เดินผ่านไปในทุ่ง ท่ามกลางสายฝน. เธอเปียกปอนทั้งตัว  กระโปรงผ้าหนาหนักชั้นนอก และเพ็ตติโค้ต (petticoats) ชั้นในหลายชั้น เปียกชุ่มน้ำ แนบตัว ทำให้เห็นสัดส่วนเรือนร่างของเธอชัดเจน. ผู้แต่งเห็นเธอในสภาพนี้บ่อยๆ เกิดความหลงใหลตามประสาหนุ่ม, เป็นความต้องตาต้องใจ. เนื้อหาเพลงจึงแฝงนัยของความรักใคร่ ดังท่อนที่แนะว่า gin (=should) a body meet a body หรือ gin a body kiss a body…

ในเวอชั่นอื่นๆ ยังมีเสริมกลอนอีกบทสองบทว่า หนุ่มอื่นๆ ต่างมีผู้หญิงของเขา   พวกเขาชี้เยาะว่าผมไม่มีสักคน   แต่สาวๆยิ้มๆให้ผม   เมื่อผมออกจากทุ่งไรย์   (เหมือนจะบอกว่า เขาได้รู้จักเธอแล้ว)

Ev'ry laddie has his lassie

None, they say, have I

Yet all the lassies smile on me

When comin' thro' the rye.

และจบลงเพราะผู้แต่งต้องจากไปว่า บนรถไฟมีหนุ่มเคลิ้มรัก  ผมรักตัวผมมาก  เธอชื่ออะไร อยู่ที่ไหน  ผมเลือกจะไม่บอก

Upon the train there is a swain

I dearly love myself

But what's her name or where's her name

I do not choose to tell

เนื้อเพลงเรียบง่าย สั้นๆ ตามสไตล์ของ Robert Burns เข้ากับทำนองเพลงพื้นบ้านชาวสก็อต. ทำนองยังนำไปใช้ประกอบเป็นเพลงอื่นๆต่อไปได้ เช่นกรณีเพลง ดอกประดู่  ของกองทัพเรือไทย, หรือเพลง Auld Lang Syne ที่มาเป็นเพลง สามัคคีชุมนุม , เพลง Skye Boat Song ที่ท่านอาจารย์นพคุณ ทองใหญ่ ใส่คำร้องใหม่ให้เป็นเพลงของนิสิตอักษรศาสตร์จุฬาฯเป็นต้น

เชิญฟังเพลง Coming through the rye เวอชั่นตัวอย่างสองสามเวอชั่นข้างล่างนี้ ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

1) https://www.youtube.com/watch?v=byAvP_pIXO0

เสียง Florence Easton, soprano sings "Comin' Thro' the Rye." Recorded on September 26, 1928

2) https://www.youtube.com/watch?v=yLrIG51x3Jg

Siobhan Miller - Comin' Thro' the Rye

3) https://www.youtube.com/watch?v=l1_YsTiYTsw

เสียงผู้ชาย

*** และจบลงที่เพลง ดอกประดู่ 

https://youtu.be/W0WSdJwKCaA

ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับกองทัพเรือ ประวัติ ขนบธรรมเนียม ศัพท์ ฯลฯ เชิญเข้าไปเปิดอ่านในทุกแขนง >> navy.mi.th/index.php  

และเกร็ดย่อยชีวิตประสบการณ์ของบุคคลสำคัญในกองทัพเรือไทยในอดีตตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สี่ ได้ที่นี่ >> https://siamnavy.blogspot.com/

ปลาบปลื้ม สงบและรู้คุณราชนาวีไทย

โชติรส รายงาน

๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๓.

ปล. คำประพันธ์ของ Robert Burns บทนี้ ยังได้ดลใจให้ J.D. Salinger แต่งนวนิยายเรื่อง The Catcher in the Rye (1951). รายละเอียดเกี่ยวกับบทกวีของ Burns และนวนิยายดังกล่าว ตามไปอ่านได้ตามลิงค์ข้างล่างนี้ 

https://beamingnotes.com/2016/05/04/comin-thro-the-r-by-robert-burns/  

No comments:

Post a Comment