Sunday, December 20, 2020

The Eames

Charles Eames (1907-78) และ Ray Eames (1912-88) นักดีไซน์คู่สามีภรรยา น่าจะเป็นนักออกแบบคนแรกๆของครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เพราะมีผลงานออกแบบและงานสร้างสรรค์หลากหลายแขนงมาก ทั้งด้านเฟอนิเจอร์ ผ้า ผลิตภัณฑ์สิ่งประดับตกแต่งบ้านหรือสวนอื่นๆจำนวนมาก รวมทั้งการทดลองสร้างหนังถ่ายทอดเนื้อหายากๆของวิทยาศาสตร์ให้เป็นภาพชุดที่เข้าใจง่ายสำหรับทุกคน, รวมกันเป็นหนังสั้นๆอีกไม่ต่ำกว่า 125 เรื่อง ระหว่างปี 1950-1982. (หนังสั้นเรื่อง ยกกำลังสิบ ที่นำมาให้ดูในเฟสบุ๊ค คือผลงานปี 1977 ของเขาเช่นกัน)

      นักวิจารณ์กล่าวไว้ว่า ชีวิตและงานของทั้งสอง สะท้อนกระแสสังคมที่กำลังหาคำจำกัดความ ตัวตนของชนชาติอเมริกัน, สะท้อนวิถีเศรษฐกิจที่ย้ายจากการผลิตสินค้า สู่การผลิตและการบริการข้อมูล, และในที่สุดสะท้อนการขยายตัวของวัฒนธรรมอเมริกันออกสู่ทั่วโลก. ทั้งสองโอบรับวิสัยทัศน์ใหม่ในการออกแบบ, ให้ดีไซนใหม่ๆเป็นตัวผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมในระดับประเทศเลยทีเดียว. ความสามารถที่ไร้ข้อจำกัดและการเชื่อมความสนใจส่วนตัวให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ  ทำให้ทั้งสองเป็นยิ่งกว่านักออกแบบ(ที่เริ่มต้นด้วยเฟอนิเจอร์) ไปเป็นทูตวัฒนธรรมของสหรัฐฯ.  อีมส์ Eames ร่วมมือกับรัฐบาลกลางของสหรัฐฯและบริษัทธุรกิจชั้นแนวหน้าของประเทศ ในการพัฒนาสหรัฐฯตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไปสู่การเป็นประเทศนิวโมเดิร์น.

        อีมส์อยากกระตุ้นความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยาการเทคนิคทั้งหลาย ว่านำมาใช้เป็นประโยชน์ได้ในการพัฒนาสังคม.  เขาอยากช่วยให้สามัญชนเข้าใจเทคโนโลยีใหม่ๆและศักยภาพของวิทยาการทั้งหลาย. อีมส์ได้สร้างหนังกว่า 60 เรื่อง จัดนิทรรศการ และเขียนหนังสืออีกมากมายให้บริษัทใหญ่ๆเช่น IBM, Boeing, Polaroid, และ Westinghouse, ถ่ายทอดความคิดอันซับซ้อน ให้เป็นภาพง่ายๆ เข้าใจได้ทันทีแก่สามัญชนทั่วไป (ที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ หรือปัญญาชนระดับสูงของสังคม). ยืนยันความเชื่อมโยงสอดคล้องกัน ระหว่างเทคโนโลยีสมัยใหม่ กับศิลปะ, ปรัชญา, และธรรมชาติ.

      ตลอดชีวิตการรังสรรค์งานต่างๆ  ทำให้อีมส์มีนักวิทยาศาสตร์เป็นเพื่อนจำนวนมาก ในฐานะของผู้ร่วมงานและในฐานะของเพื่อน.  ทั้งสองจึงมีจุดยืนในวงการนักวิทยาศาสตร์ ในฐานะเป็นผู้สื่อเนื้อหาข้อมูลความรู้วิทยาศาสตร์ด้วยภาพ (เช่นภาพยนต์ สไลด์ ประดิษฐ์ภัณฑ์ ภาพวาดเป็นต้น), อีกทั้งยังแนะให้เห็นว่า มีความงามในสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัว, ให้รู้จักมองและจินตนาการไปไกลกว่ารูปลักษณ์ผิวหน้า. หนังสั้นๆทั้งหลายและสไลด์อีกจำนวนนับไม่ถ้วน ได้เป็นพาหนะนำสายตาคนดู ปรับ ร่นระยะทางและเชื่อมบริบทสังคมคนที่อยู่ในกรอบของเวลา สถานที่และวัฒนธรรม ให้มาถึงจุดของ ที่นี่และเดี๋ยวนี้.

       สำหรับการออกแบบเก้าอี้ในแนวใหม่ที่อีมส์เป็นผู้นำในกึ่งศตวรรษที่ 20 นั้น  เกิดจากหลักการที่ว่า สิ่งของเครื่องใช้หรือเครื่องเรือน ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ต้องหาซื้อได้ในราคาที่เหมาะกับฐานะโดยเฉลี่ยของคนในสังคม, ในขณะเดียวกันต้องมีคุณภาพสูงและอาจใช้ประโยชน์ได้หลายแบบ.  หลักการออกแบบดังกล่าว นำการออกแบบของอีมส์ ตลอดเวลาสี่สิบกว่าปี. ได้สร้างแบบเครื่องเรือนที่ปรับได้ พับเก็บได้ หรือพลิกแพลงได้.  อีมส์ออกแบบเก้าอี้ทั้งหลายให้บริษัท Herman Miller (ที่ยังคงบริษัทค้าขายเครื่องเรือน โดยเฉพาะเฟอนิเจอร์ในสำนักงาน ที่โฆษณาไว้ว่า เป็น ergonomic chairs ที่ดีที่สุดของโลก, ในแง่ว่า เมื่อนั่งทำงานได้อย่างสบายตัว ไม่ปวดเมื่อย, โต๊ะทำงาน ตู้เอกสาร หรือทุกอย่างในสำนักงาน เอื้อให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูง).  อีมส์เลือกใช้วัสดุสี่ประเภท คือ ไม้อัดที่ดัดเป็นรูปทรงสัณฐานได้ตามต้องการ, ปลาสติกไยแก้วที่เสริมความแข็งแรงแล้ว, โลหะหรือลวดเหล็กที่ดัดได้งอได้ สานเป็นตาข่ายได้, และอลูมีเนียมหล่อให้เป็นรูปร่างตามต้องการได้. อีมส์ให้ความสำคัญแก่แผ่นสำหรับนั่งและแผ่นพิงหลัง ที่ต้องสอดคล้องกับสรีระของคน.  เขาสร้าง ดัดและจัดเก้าอี้ให้มีรูปร่างสามมิติ แทนการทำหมอนหนุนหรือการบุเบาะ. เครื่องเรือนที่อีมส์เป็นผู้ออกแบบและรังสรรค์ขึ้น ชี้ชัดถึงอุดมการณ์ของการมีประโยชน์ใช้สอย ที่เหมาะกับวิถีความเป็นอยู่.  อะไรที่ใช้ได้ดีกว่า ย่อมดีกว่าอะไรที่ดูดี.  รูปร่างหน้าตา เปลี่ยนได้ แต่สิ่งที่ใช้ได้ดี ต้องให้ใช้ดีตลอดไป.  

       แนวการออกแบบของ Charles & Ray Eames สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน และการออกแบบกลายเป็นศิลปะแขนงหนึ่งอย่างจริงจัง, แต่ละชาติต่างแข่งกัน. สำหรับคนในฐานะสูง เครื่องเรือนเป็นทั้งสิ่งอำนวยประโยชน์และสิ่งประดับบ้าน จนอาจเป็นประติมากรรมชนิดหนึ่ง.

       ดูตัวอย่างเก้าอี้ของ Charles & Ray Eames ในกลางศตวรรษที่ 20. เริ่มด้วยภาพประติมากรรมเก้าอี้และแบบอื่นๆ ที่ประดับรอบๆสวนในบริเวณ Library of Congress กรุงวอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกา ปีที่ข้าพเจ้าไปเยือน (ขออภัย ภาพเมื่อสิบกว่าปีก่อน คุณภาพได้เท่าที่เห็น).

ภาพที่ถ่ายมาเองปีนั้น มีผืนผ้าขึงประกาศนิทรรศการของ EAMES อยู่นอกอาคารใหญ่ของ Library of Congress (ชื่ออาคารหลักที่เห็นนี้คือ Thomas Jefferson Building). 
ปิรามิดเก้าอี้
บันไดเก้าอี้
เหล็กเดิน
ถมึงทึง
สามใบเถา
ศาลาพักในสวน

Charles & Ray Eames

ภาพนี้จากนิทรรศการเก้าอี้ที่หอศิลป์ Barbican Art Gallery, Barbican Centre, London. Photo by Tristan Fewings/Getty Images for Barbican Art Gallery). ดูวีดีโอนี้เพิ่มเติม. น่าสนใจค่ะ
สองภาพนี้ จากนิทรรศการที่ Library of Congress

https://shop.eamesoffice.com/home-accessories/prints/black-white-prototype-print.html
เก้าอี้ขนาดย่อส่วน วัสดุและคุณภาพเหมือนขนาดจริงทุกประการ. เขามีขายด้วยนะ แต่ละตัวไม่ต่ำกว่าสองร้อยดอลลาร์. ซื้อเก้าอี้จริงที่ไม่ใช่ของแท้จากนักดีไซน์ Eames ได้หลายตัว.

เก้าอี้เหล็กดัด /wire chairs

จากแบบง่าย เป็นแบบประติมากรรม เช่นเก้าอี้ไม้อัดและดัดตัวนี้ เป็นประติมากรรมชื้นหนึ่ง. เครดิตภาพจากที่นี่.

การจัดเรียง สีสันเก้าอี้สีต่างๆ กลายเป็นองค์ประกอบของธรรมชาติไปได้ไม่เลวเลย.

*** ติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับนักออกแบบ Charles & Ray Eames (ชาร์ล และ เร อีมส์) ได้ตามลิงค์นี้ ที่ Library of Congress, Washington DC., USA  >> https://www.loc.gov/exhibits/eames/

*** Evolution of Chairs ǀ The Henry Ford’s Innovation Nation (Feb 21, 2017. 03:50 min) >> https://www.youtube.com/watch?v=3_hihdn264k

*** Chair Times · A History of Seating – From 1800 to Today. (May 19, 2020. 08:17 min) >>  https://www.youtube.com/watch?v=EXN1rLQNRC8 

โชติรส รายงาน

๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๓.

No comments:

Post a Comment