Tuesday, December 8, 2020

ICH

กูเอง

บนถนนมุมหนึ่งของ Wilhelmshöher Allee ต่อกับถนน Friedrichsstrasse มีพื้นที่สวนตรงหัวมุมหย่อมเล็กและพอเพียงให้คนไปนั่งพักผ่อน (Brüder-Grimm-Platz), ใกล้พิพิธภัณฑ์พี่น้องตระกูลกริมม์.

อนุสาวรีย์พี่น้องตระกูลกริมม์ นักเขียนและนักเล่าเรื่องชาวเยอรมัน เมืองคะเซิล

      ไม่ไกลกัน มีเสาหินตันๆสี่เหลี่ยม เป็นหินทราย สร้างเหมือนฐานที่ตั้งของรูปปั้น(pedestal), ด้านบนราบเรียบ เพียงพอสำหรับจัดวางรูปปั้นตามมาตรฐานสากลและตามค่านิยมของตะวันตก. เขาตั้งชื่อเรียกฐานนั้นว่า Ich-Denkmal หรือ กู-ประติมากรรม ใช้ กูเอง ชัดเจนกว่า.

ข้าพเจ้าไปนั่งในสวนหย่อมเล็กแถวรูปปั้นพี่น้องตระกูลกริมม์, ชอบใจเมื่อเห็นฐานหินนั้น, ชอบใจมากกว่าสิ่งใดที่เห็นปีนั้นที่คะเซิล-Kassel.

นี่เป็นผลงานของ Hans Traxler [ฮันสฺ ทรักสเลอ] ร่วมกับช่างหินชื่อ Reiner Uhl. ด้านหน้าของฐาน ปกติเป็นที่จำหลักชื่อ วันที่สำคัญ หรือข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับรูปปั้นที่ตั้งบนฐานนั้น. ฐานหินนั้น มีคำเดียว ICH จำหลักไว้เป็นตัวอักษรใหญ่สีทอง (ที่แปลว่า ข้าพเจ้า / กู). เจาะจงอีกครั้งว่า ตัวอักษรเป็นสีทอง เท่ากับให้ความสำคัญของคำนั้น ดั่งชื่อกษัตริย์ ชื่อบุคคลสำคัญของชาติ. มีบันไดสามขั้นด้านหลัง ให้คนปีนขึ้นยืนบนฐาน ที่มีพื้นหน้าราบเรียบและใหญ่พอ. แผ่นป้ายวาดเป็นการ์ตูนตัวอย่าง เชิญชวนและเปิดโอกาสให้ขึ้นไปยืนบนฐานหินนั้น, คนหรือสัตว์เลี้ยง, ให้ขึ้นไปแสดงตัวตน ยืนหยัดตัวตน เหมือนกษัตริย์หรือคนดังคนเด่นของสังคม.
เจ้าของผลงานชิ้นนี้ เจาะจงไว้ชัดเจน ด้วยสามประโยคบนแผ่นป้ายว่า

Jeder Mensch ist einzigartig.

Every human is unique.

Das gilt natürlich auch für alle Tiere.

Of course, this also applies to all animals.

Halten Sie es fest für immer. Hier.

Hold it tight forever. Here.

กระชับให้ยึดตัวตน อัตลักษณ์ของตนเองไว้ตลอดไป. จัดท่าต่างๆตามจริตส่วนตัว กี่ท่ากี่แบบก็ได้. เช่นนี้แต่ละคนมโนได้ว่า ตัวเองก็มีรูปปั้น มีศักดิ์มีศรี หรือมีอนุสาวรีย์ของตัวเอง. คำ Hier ที่นี่” อาจหมายถึง บนฐานหินนั้น, ยืนและถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน (ด้วยหวังว่าจะ)ตรึง uniqueness ของแต่ละคน ณที่นั่น เวลานั้น... ศิลปินอาจอยากล้อเลียนคนใหญ่คนดังในอดีตและปัจจุบัน ที่ชอบให้สร้างรูปปั้นเสมือนหรืออนุสาวรีย์ ประกาศตัวตนและศักดาเหนือคนอื่นๆ.

มีสองสามคนผ่านไปแถวนั้น และปีนขึ้นไปยืนบนฐานหิน แสดงท่า ถ่ายรูปตามคำเชิญชวนของศิลปินดังกล่าวมา.

Hans Traxler สร้างและนำผลงานชิ้นนี้ ออกตั้งโชว์ครั้งแรกในเมืองแฟร็งค์เฟิต (Frankfurt am Main) เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2005. ต่อมายังสร้างงานเพิ่มขึ้นอีกสองชิ้นเหมือนกันทุกประการ. ชิ้นที่สองนำไปตั้งที่จัตุรัส Brüder-Grimm-Platz เมือง Kassel ในวาระที่มีนิทรรศการ Caricatura V ที่จัดขึ้นควบคู่ไปกับนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย Documenta 12 และตั้งอยู่ที่นั่นตั้งแต่วันที่ 29 เดือนกรกฎาคม ปี 2007 มาจนทุกวันนี้ (ดังภาพที่นำมาลงข้างต้น). ส่วนชิ้นที่สาม อยู่ที่กลางเมือง Bielefeld ในสวน Park der Menschenrechte (Park of Human Rights) ตั้งแต่วันที่ 27 เดือนกันยายน ปี 2019. ดูเหมือนว่า ผู้คนติดใจ. เจ้าของผลงานจึงทำซ้ำ. กูเอง เป็นผลงานชิ้นหนึ่งในบริบทของนิทรรศการ Caricatura V ปี 2007.

     ชาวตะวันตก ย้ำความสำคัญของตัวตน, ยกระดับอัตตาขึ้นสูง และพยายามปกป้องตัวตนของเขาให้คงอยู่. ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ มีเค้ามาแล้วตั้งแต่ราวสองพันปีก่อนคริสตกาลในยุคอารยธรรมซูเมเรียน. จารึกแรกที่ยึดถือกันเป็นหลักเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนคือ The Cyrus Cylinder (ราวปี 539 BC.) ของ Cyrus the Great ที่ประกาศปล่อยชาวบาบีโลนที่ตกเป็นทาสหลังจากที่เข้ายึดครองกรุงบาบีโลนได้แล้ว, ให้เป็นอิสระ กลับบ้านไปและมีสิทธิ์เลือกนับถือศาสนาของพวกเขา. ความคิดนี้แพร่กระจายออกไปในอินเดีย กรีซ โรม อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกาฯลฯ และตั้งเป็นกฎบัตรสหประชาชาติในปี 1948. ในหมู่ปัญญาชนยุโรป พัฒนาการเรื่องสิทธิมนุษยชน ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์เจาะลึก หา อัตตาของเอกบุคคล ด้วยกระบวนการต่างๆที่ก็วิวัฒน์มาตามยุคสมัย. กูเอง เป็นเพียงตัวอย่างผิวเผินของคนยุคใหม่ ที่หวังใช้การถ่ายภาพเก็บอัตลักษณ์ของแต่ละคนไว้ ซึ่งในที่สุดเป็นเพียงอัตลักษณ์ภายนอกแบบหนึ่งชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น. 

      วรรณศิลป์ฝรั่งเศส ศิลปะการพรรณนาคนก็ได้พัฒนาขึ้น เช่น มงแตนญ์ (Montaigne, 1533-1592) เป็นนักเขียนคนแรกๆผู้เริ่ม วาดภาพคนเสมือน ด้วยปากกา ในงานเขียนเรื่อง Essais (เอสเซ, 1580). คำพรรณนาและวิธีการนำเสนอภาพบุคคลหนึ่งของมงแตนญ์ ทำให้ผู้อ่านร่วมยุค นึกออกทันทีว่า นักเขียนหมายถึงใคร. วิธีการเขียนของมงแตนย์ กลายเป็นวัจนลีลาแบบใหม่ที่วิวัฒน์เป็นบรรทัดฐานในการพรรณนาคนในวรรณกรรมฝรั่งเศสตั้งแต่ศตวรรษที่ 17.  

      หนังสือเล่ม Les Caractères (1688) ของ La Bruyère (ลา-บรุยแยรฺ) รวมลักษณะอุปนิสัยใจคอของคนประเภทต่างๆ. ผู้แต่งเจาะจงใช้คำนาม caractère (ตรงกับคำ character ในภาษาอังกฤษ) ที่มีความหมายซ้อนว่า ตัวละคร และ อุปนิสัยใจคอ เท่ากับแนะให้อ่านเอานัยทั้งสองไปพร้อมกัน. หนังสือเล่มนี้ มีทั้งหมด 16 บท แต่ละบทเริ่มด้วยการยกศีลธรรมมาตั้งเป็นบทนำ(maximes) ต่อด้วยการพรรณนาคนๆหนึ่ง. วิธีการเขียน ทำให้คนอ่านเดาได้ว่าคือใครหรือคนประเภทใดในสังคมยุคนั้น. แม้จะเกี่ยวกับคนยุคนั้น เป็นข้อมูลของสังคมปลายศตวรรษที่ 17 แต่สะท้อนศีลธรรมลักษณะถาวรของมนุษยชาติ. หนังสือเล่มนี้อ่านกันแพร่หลายไปทั่วทั้งยุโรป.

       วรรณกรรมประเภทบันทึกความทรงจำ เช่นของ Cardinal de Retz หรือของ Saint Simon, วรรณกรรมประเภทจดหมายโต้ตอบ เช่นของ Madame de Sévigné, บทเทศนาของ Louis Bourdalone, หรือหนังสืออัตชีวประวัติ ก็เป็นแบบอย่างการประพันธ์ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในศตวรรษที่ 17, ไม่ว่าจะเป็นแบบตัวละครผู้เฒ่าเล่าชีวิตย้อนหลัง, หรือแบบเล่าประสบการณ์ส่วนตัวหรืออนุทินรายวัน แทรกซ้อนเข้าในเนื้อหาของเรื่อง, ทั้งหมดใช้ความรู้สึกส่วนตัวของผู้เขียน ยืนยันบุคลิกภาพของบุคคลในเรื่อง. ในศตวรรษที่ 19 Saint-Beuve พัฒนาวิธีการพรรณนาบุคคลได้แนบเนียนยิ่งขึ้นอีก ด้วยการเสริมบทแนะนำแบบอ้อมๆ. การพรรณนาบุคคล มีบทบาทสำคัญมากในงานประพันธ์ของ Balzac นอกจากตัวละคน เขาให้รายละเอียดของสถานที่ ฉากแต่ละฉากแบบเสมือนจริง ที่ปูทางและอธิบายโศกนาฏกรรมที่จะเกิดขึ้น.

       นอกจากวรรณกรรม ศิลปะแขนงอื่นๆก็ติดตามไปพรรณนาคนด้วย เช่น ใช้ลีลาดนตรี สื่ออุปนิสัยและจิตวิทยาของคน, ดังตัวอย่างที่ผู้รู้เจาะจงไว้ เช่น โมสาร์ต ประพันธ์จังหวะช้าใน Sonate pour piano en ut majeur (1777) ตามลักษณะนิสัยของ Rosa Cannabich ผู้เป็นลูกศิษย์ของเขา. เล่ากันว่า มีผู้ขอให้เบโทเฟน วาดลวยลายดนตรีเพื่อสื่ออุปนิสัยของคนที่รู้จักกันในสังคมยุคนั้น. Schumann แต่ง Carnaval ให้ท่วงทำนองของดนตรี พรรณนาภาพเสมือนของ Chopin, Ernestine von Fricken และ Clara Wieck เป็นต้น.

     Marcel Proust (1927) กลับเห็นว่า วิธีการนำเสนอภาพคนเสมือน ด้วยภาษา, ดนตรี หรือภาพดังกล่าวมาข้างต้น ให้ภาพของบุคคลนั้น นอกกรอบของเวลา เพราะเป็นภาพเบ็ดเสร็จภาพเดียวของคนนั้นที่ถูกตรึงอยู่กับที่. เขาบอกว่า เขาไม่อาจให้ภาพเดี่ยวๆของตัวละครตัวใดได้ อย่างน้อยต้องเสนอเป็นภาพชุดๆติดต่อกันไปของคนนั้น แต่ละชุดก็อาจไม่สอดคล้องกันเลยก็ได้ เพราะคนที่เป็นแบบ อารมณ์เปลี่ยนแปรไปแต่ละวัน, ตัวคนพรรณนาเอง(นักเขียน) ก็เปลี่ยนได้เสมอตามบริบทอารมณ์ของเขาเองเป็นต้น. การให้ภาพเดี่ยวภาพถาวรของใคร โดยปริยายจึงไม่มีวันจะตรงกับความเป็นคนนั้นอย่างแท้จริง. Nathalie Sarraute ใช้กระบวนการพรรณนาตามแนวของพรู้สต์ ในงานเขียนของเธอเรื่อง Portrait d’un inconnu (1948). ความคิดต้านภาพเสมือนของพรู้สต์ กลายเป็นแนวการประพันธ์แนวใหม่ที่ส่งอิทธิพลต่องานวรรณกรรมสมัยใหม่ต่อๆมา.

ภาพจำนวนมากที่เรามีตั้งแต่เกิด เราจะเลือกภาพไหนภาพเดียวแทนตัวตนที่แท้จริงของเราได้ไหม? ได้หรือ? ตัวเราในวันนี้ นาทีนี้, ตัวเราเมื่อวานนี้ สรีรสังขารเปลี่ยนไปแล้ว, สาอะไรกับภาพที่ถ่ายมาในแต่ละวัยของชีวิต, วัยวันวานต่างๆเหล่านั้น สิ้นสุดไปนานแล้ว. เราจะยังเอาใจไปครองกับสิ่งที่เกิด, แปรและดับไป อยู่อีกหรือ? หากเรารวมจิตวิญญาณของเราแต่ละขณะตลอดชีวิตที่ผ่านมา หากสามารถเอามันมาซ้อนๆกันขึ้นไป, จักเป็นลำสูง ทะลุบรรยากาศโลกออกไปไกล, สูงกว่าตึก Burj Khalifa ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมีเรตส์, ยิ่งเมื่อเทียบกับกายภาพของตัวเรา(ที่ก็หดตัว เล็กลงตามวัย), ที่กินพื้นที่น้อยนิดบนพื้นโลก (cf.Marcel Proust). ตัวกู ไม่มีอยู่จริง เป็นสิ่งสมมติเพื่อความสะดวกในสังคมโลกเท่านั้น.

     จากปีนั้นมาถึงปี 2020 นี้ คนสมัยนี้ถ่ายภาพตนเองอย่างอัตโนมัติเหมือนการกินการนอน. แต่ละคนมีอัลบัมภาพตัวเองมากมาย ตัวเองไม่มีเวลาดูนักหรอก แต่ส่งไปในคลื่นไฟฟ้าที่นับวันยิ่งรุนแรง เบียดกันหนาแน่น เสียดสีปะทะกันถี่ขึ้นๆ ในชั้นบรรยากาศโลก. คลื่นเหล่านั้นที่กำลังปั่นโลกเหมือนลูกข่าง... การแปรปรวนทั้งดิน น้ำ ลม ความร้อนของโลก เป็นผลจากคลื่นไฟฟ้าจำนวนมหาศาลที่คนสร้างขึ้นและที่ส่งผลต่อระบบนิเวศและสรรพชีวิตบนโลก...

โชติรส รายงาน

๘ ธันวาคม ๒๕๖๓.

----------------------------------------------

เลยได้รู้ว่า เมืองคะเซิล จัดนิทรรศการภาพล้อทุกปี ที่เขาหมุดหมายให้เป็นศูนย์ฝึกและสอนผู้สนใจและผู้มีพรสวรรค์ด้านทัศนศิลป์เชิงเสียดสีล้อเลียนสังคม สร้างและสืบทอดผู้ชำนาญรุ่นใหม่ต่อไป. (Caricatura Galerie für Komische Kunst, ตั้งอยู่ในพื้นที่ส่วนหนึ่งของอาคารสถานีรถไฟเมือง Kassel. ปี 2020 แกลลอรีนี้ ได้รับรางวัล Hessian Cultural Prize 2020).

การประกาศและการเผยแพร่กิจกรรมเชิงวัฒนธรรมยุคใหม่ดังกล่าว ดูเหมือนเป็นไปอย่างต่อเนื่องในวิถีชีวิตของชาวเยอรมัน. ผลที่ได้ดีหรือไม่ มาตรฐานสูงต่ำระดับไหน เป็นคนละประเด็น. อย่างน้อยเขาเปิดโอกาสให้หนุ่มสาว ได้เรียน ได้ลงมือทดลอง และถ่ายทอดความสนใจส่วนตัว. คนอื่นสนใจด้วยไหม เป็นเรื่องของคนอื่น.


ภาพพื้นที่ส่วนหนึ่งของศูนย์วัฒนธรรมภาพล้อที่เมืองคะเซิล-Kassel 

No comments:

Post a Comment