ศาสตราจารย์อาร์นอยด์ โบ๊ด Arnold Bode (1900-1977) เป็นสถาปนิก จิตรกร นักออกแบบและภัณฑารักษ์ชาวเยอรมัน.
เกิดที่เมือง Kassel [คะเซิล] ในเยอรมนี.
ทำงานในฐานะจิตรกรและครูสอนที่กรุงแบร์ลิน ระหว่างปี 1928-1933. เมื่อนาซีมีอำนาจ
ถูกปลดจากอาชีพ, เขากลับไปอยู่บ้านเกิดเมื่อเกิดสงคราม. ปี 1955 เป็นคิวของเมืองคะเซิล
Kassel จัดมหกรรมพืชสวนของสหพันธรัฐเยอรมนี (Bundesgartenschau
หรือ German Federal Horticultural Show)
จึงเป็นโอกาสเหมาะที่จะรวมสองมหกรรมไว้ในเมืองคะเซิล. โบ๊ด เป็นผู้จัดนิทรรศการ Documenta ครั้งแรกในปีนั้น แสดงพาโนรามาของศิลปะศตวรรษที่
20
ให้เห็นการผันเปลี่ยน พัฒนา ขยายและกระจายศิลปะออกไปอย่างกว้างขวางในหลากหลายมิติ,
อีกทั้งให้เป็นการก้าวผ่านความทรงจำอันหฤโหดของสงครามโลกที่ได้ทำลายศิลปะต่างๆลงไปมาก
โดยเฉพาะสถาปัตยกรรม (เช่นที่กรุงแบร์ลิน). เขาเสนอใช้พื้นที่กว้างๆในลักษณะใหม่. โบ๊ด
ใช้อาคารสลักหักพังของพิพิธภัณฑ์ Museums Fridericianum ที่เมืองคะเซิล
เป็นอาคารหลักของ Documenta 1 ให้เป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นคืนชีวิตจากเถ้าถ่านของสงครามโลกครั้งที่สอง.(อาคารนี้ยังคงใช้เป็นอาคารหลักอาคารหนึ่งในมหกรรม
Documenta
ครั้งต่อๆมาจนถึงปัจจุบัน).
อาคารพิพิธภัณฑ์ Museums Fridericianum อาคารหลักของมหกรรมศิลปะร่วมสมัย
Documenta
ตั้งแต่แรกจัด จนถึงปัจจุบัน. เครดิตภาพที่นี่.
ชมคลิปวีดีโอเกี่ยวกับศิลปะที่นำออกแสดงในปี 1955 ตามลิงค์ที่ให้.
ติดตามดูภาพตัวอย่างของการจัดแสดง Documenta ครั้งต่างๆได้ ตามลิงค์ที่ให้.
ในปี 1945 เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ยุโรปเป็นซากปรักหักพัง. ยามนั้น องค์การยูเนสโก ยังเป็นเด็กน้อย. แต่ความคิดในการรวมยุโรปให้เป็นหนึ่งเดียวตามระบอบประชาธิปไตย ปะทุขึ้นในใจชาวยุโรป. ระหว่างปี 1948-1960 ความต้องการปรับยุคให้ทันสมัย ติดปีกโบยบิน, ก่อร่างสร้างกระแส Modernism แทรกไปในนิทรรศการสำคัญๆและในสิ่งตีพิมพ์ทั้งหลายเป็นจำนวนมาก. ตั้งแต่เริ่มปีแรก (1955) โบ๊ด เชื่อมโยงศิลปะ สถาปัตยกรรม ดึงใจผู้ชมให้ต่อติดกับศิลปะร่วมสมัย กับศิลปะปัจจุบัน. “ปัจจุบัน” ในความคิดของ โบ๊ด ไม่ใช่อะไรที่เกิดขึ้นเมื่อวันสองวันหรือปีสองปีนี้ แต่เป็นสิ่งที่ยังมีความหมายต่อเราในปัจจุบัน. นิทรรศการครั้งนั้น เป็นความสำเร็จยิ่งยวดที่เกินความคาดหมาย. โบ๊ด ยังจัดนิทรรศการครั้งต่อๆมาอีกสามครั้งจนถึงครั้งที่สี่. นิทรรศการมิได้จำกัดอยู่ภายในอาคาร แต่ออกมานอกอาคารในบริเวณใกล้เคียงด้วย. ดังกล่าวมาแล้ว โบ๊ด นำเสนอการใช้พื้นที่โล่งกว้างภายนอกอาคาร ใช้พื้นที่ในแนวใหม่ เพื่อจัดนิทรรศการ (ซึ่งจะเป็นแบบอย่างต่อมาจนถึงปัจจุบัน). พื้นที่โล่งรวมเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่มาตั้งแสดง.
ภาพจากหอจดหมายเหตุ Documenta ครั้งที่ 1 เครดิตภาพที่นี่.
ภาพจากหอจดหมายเหตุ Documenta ครั้งที่
3 เครดิตภาพที่นี่.
หลังจาก โบ๊ด คนอื่นๆได้สืบสานการจัดนิทรรศการ Documenta ต่อมา. Documenta 5 จัดขึ้นในปี 1972 และตั้งแต่นั้น จัดทุกห้าปี (Quinquennial Contemporary Art Exhibition) ที่เมือง Kassel เช่นเดิม. ทุกครั้งเลือกผู้อำนวยการศิลปะคนใหม่ และสร้างสรรค์ thema ใหม่ทุกครั้ง. หลายปี เป็นผลงานของศิลปินชาวยุโรปและชาวอเมริกันเป็นส่วนมาก แต่หลังยุคนาซี หลักการของการจัดนิทรรศการ มุ่งสานสัมพันธุ์ที่ดีใหม่ๆระหว่างชีวิตสามัญของชาวเยอรมัน กับศิลปะยุคสมัยใหม่ในระดับนานาชาติ.
นิทรรศการ Documenta กลายเป็นงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยที่รู้จักกันไปทั่วโลก ไม่แพ้ Venice Art Biennale, หรือ มหกรรมศิลปะ(ที่มีขนาดมหึมา) ชื่อ Monumenta ที่ Grand Palais กรุงปารีส.
การจัดแสดงศิลปะร่วมสมัยหรือศิลปะยุคใหม่ ผู้จัดมองว่า เป็นการจัดพื้นที่การเรียนรู้แบบหนึ่ง.
ทีมผู้จัดเอง อยู่ในกลุ่มของผู้มาเรียนด้วย เพื่อค้นหาประสบการณ์และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ,
เรียนจากปฏิสัมพันธ์ของผู้ไปชม, เรียนจากศิลปะของผู้นำไปแสดง. ผู้ไปชมการแสดง ต้องรับมือกับศิลปะที่ไม่เคยสัมผัมมาก่อน,
บางทียากจะเข้าใจ. บางทีไม่เข้าใจเลย. บางทีใช้เพียงเสี้ยววินาที.
บางทีใช้ชั่วชีวิต.
ในที่สุด ต้องเข้าใจศิลปะไหม? คำถามยังเปิดอยู่...
Oscar Wilde (1890) เขียนไว้ในบทนำหนังสือเรื่อง The Picture of Dorian Gray ว่า All art is quite useless. เขาเทียบเป็นตัวอย่างว่า ไร้ประโยชน์ เหมือนดอกไม้. ดอกไม้พืชพันธุ์เกิดมา แตกหน่อ ออกดอกออกผลก่อนจะตายลง. พืชพรรณและสัตว์(ส่วนใหญ่) เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป ตามสภาวะของมัน, มันมีปัญญาในการอยู่รอดโดยไม่มีสมอง(ดังที่คนสรุปไว้). คนเห็นดอกไม้ อาจเอาไปใช้, เอาไปขายเพื่อผลประโยชน์ของคน. นั่นไม่เกี่ยวอะไรกับ “ความเป็นดอกไม้ ”เลย, ดอกไม้ไม่ได้ประโยชน์จากการมีค่าทางเศรษฐกิจของคน. Bob Dylan พูดว่า The best art is meaningless (2009). สิ่งที่เขารำคาญมากที่สุด คือการคิดว่าเนื้อหาของศิลปะสำคัญกว่าสไตล์. ศิลปะที่แท้จริงไม่สื่ออะไร, ไม่จำเป็นต้องบอกอะไร. เป็นเพียงการจัดวางรูปลักษณ์ หรือการเรียงคำ(กรณีของบทกวี). Michael Craig-Martin ใช้วิธีตั้งชื่อ เช่นเรียก แก้วน้ำ ว่า ต้นโอ๊ค. แก้วน้ำหลุดจากความหมายปกติ, ศิลปินปลดเปลื้องหน้าที่ของแก้ว. การตั้งชื่อยืนยันการตั้งอยู่ของสิ่งนั้นในออร่าใหม่. ส่วนนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ Neil deGrasse Tyson เลือกที่จะมองว่า ไม่ต้องค้นหาความหมายหรือประโยชน์จากใครหรืออะไร จงเป็นคนสร้างความหมายและประโยชน์ของสิ่งต่างๆรอบตัว, ของประสบการณ์ของตัวเอง, และให้ความหมายนั้น นำไปสู่ความสุขความพอใจของตัวเอง.
การไปชมนิทรรศการศิลปะ ยิ่งศิลปะสมัยใหม่ศตวรรษที่ 21 จึงเป็นการท้าทายตัวเอง (อาจต้องพกที่ลับมีดไป) เพื่อลับปัญญา, หรือเปิดตัวเองทุกรูขุมขน เพื่อซึมซับอณู“รังสี”ของสิ่งที่ไปตั้งโชว์.
ข้าพเจ้าผ่านไปชม Documenta 12
เมื่อเดือนกันยายนปี 2007 ตอนนั้นไม่รู้อะไรเกี่ยวกับ Documenta เลย. ที่ไปเมืองนั้น
เพื่อไปชมสวนภูมิทัศน์ในอุทยานขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Bergpark Wilhelmshöhe
ของเยอรมนี. ปีนั้น เขากำลังซ่อมอาคารน้ำตกเฮอคิวลิซที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองคะเซิล,
หลายส่วนถูกห่อปิดไป. อุทยานนี้ต่อมาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 2013. ข้าพเจ้ากลับไปที่นั่นอีกในเดือนกรกฎาคมปี
2014. ได้ขึ้นไปถึงชั้นสูงสุดของอาคารน้ำตกเฮอคิวลิซ
แล้วเดินตามขั้นบันไดของน้ำตกขนาดมหึมานั้น จนถึงระดับพื้น. ปี 2014 ไม่มีมหกรรม Documenta.
ปี 2007 จึงได้ไปเดินดูศิลปะที่จัดโชว์ไว้
ทั้งภายในอาคารหลายอาคาร, บนพื้นที่สาธารณะในเมือง รวมถึงเกาะกลางถนน
และแน่นอนในบริเวณสนามหญ้าผืนมหึมาของที่นั่น. ดังที่ Arnold Bode ได้ริเริ่มความคิดในการนำพื้นที่กว้างๆโล่งๆ
มาใช้แสดงศิลปะวัตถุที่นับวันมีขนาดมหึมาสุดประมาณได้. (ชักไม่แน่ใจว่า
เอาขนาดมาข่มหรือมาเป็นนายหน้าประกาศความยิ่งใหญ่ของศิลปินหรือเปล่า. ปัจจุบัน
มีโดรนใช้กันแล้ว ต่อไปอาจปราบภูเขาทั้งลูก ขุดเจาะให้เป็นศิลปะชิ้นหนึ่ง
แล้วให้ดูจากภาพถ่ายจากกล้องโดรน).
นิทรรศการเริ่มตั้งแต่หน้าสถานีรถไฟเมืองคะเซิล Kassel. หมายสูง ไต่เต้าต่อไป ไปถึงจุดสุดแล้ว จะลงมาไหม? เคยเห็นสิ่งก่อสร้างแบบเดียวกันนี้ หลายแห่งในยุโรป เช่นที่เมือง Salzburg ออสเตรีย
มุมใหม่
ที่ตั้งใหม่ คนยังคนเดิมๆของเผ่าพันธุ์ Homo erectus
เอาเป็นแบบจัดแจกันดอกไม้นิวลุคได้นะ
เส้นโค้ง เป็นเส้นหลายนัยเสมอ.
ศิลปินไม่ได้ตั้งชื่อ บอกเพียงว่าใช้วัสดุ โพลีคาร์บอเนตโปร่งใสและโปร่งแสง.
ผลงานของประติมากรจากบราซิลชื่อ Iole de Freitas.
“กาน้ำชาสวรรค์” The Celestial Teapot ผลงานของ Lukas Duwenhögger. เขานำเสนองานชิ้นนี้ ให้เป็นอนุสรณ์แก่ผู้รักร่วมเพศที่ถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายจากกระแสการเมือง Nationalsozialismus (หรือ National Socialism) ที่กรุงแบร์ลินในยุคที่ฮิตเลอมีอำนาจ.
นี่คือ Humming stone ผลงานของ Thomas Hofer. เขาเจาะช่องกลมลึกเข้าไปในก้อนหิน(หน้าตาเหมือนหัวปลาหมึก), ใหญ่พอให้ศีรษะคนยื่นเข้าไปได้เต็มที่. เมื่อหัวเข้าไปภายในแล้ว ให้ร้องฮัมเสียง ระดับเสียงต่างๆ เสียงจะก้องสะท้อน ได้ยินทั้งภายในหินและออกมานอกหิน. คลื่นเสียงนั้น ผ่อนคลายและส่งผลต่อร่างทั้งร่าง ตามเสียงก้องมากน้อยที่ได้ยิน. หินเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ความแข็งแกร่งของหิน มิได้ไร้ชีวิต เพราะทุกอณูภายในเนื้อหินเคลื่อนไหวตลอดเวลา (วิทยาศาสตร์ยืนยันกันแล้ว)
สองภาพนี้ เป็นผลงานของศิลปินชาวจีนชื่อ Ai Weiwei (艾未未,1957-) ตั้งแต่ปี 2005 ออกมาอยู่ที่กรุงแบร์ลิน และตั้งแต่ปี 2019 พักอาศัยอยู่ที่เมือง Cambridge สหราชอาณาจักร. ดังภาพที่ไปถ่ายมา งานชิ้นนี้ประกอบด้วยประตูหน้าต่าง. ทั้งหมดเก็บมาจากหมู่บ้านโบราณสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์จิ๋น(ฉิน) ในแคว้นชานสี ภาคเหนือของประเทศจีน. หมู่บ้านดังกล่าวถูกรื้อถอนทิ้งเพื่อสร้างอาคารตามสถาปัตยกรรมยุคใหม่. (มีข้อความระบุไว้ว่า โครงสร้างที่ Ai Weiwei จัดไว้นั้น ล้มพังลงไม่กี่วันหลังจากวันเปิดงาน. ไม่รู้ว่าเท็จจริงประการใด. ศิลปินกะไว้เช่นนั้นหรือเปล่า เพราะสภาพรวมที่เห็นทั้งส่วนที่ล้มลงหรือส่วนที่ยังตั้งยืนอยู่ ก็มีอะไรน่าทึ่งไม่น้อย)
ครั้งหนึ่งข้ามถนน ไปบนเกาะ เห็นอะไรกองๆไว้. ฤาจะเป็นศิลปะชิ้นหนึ่ง. ข้าพเจ้ายืนมองกองนั้น ณสี่ทิศ. เดินเวียนขวาไปครบ 360 องศา หยุดดูทุก 30 องศา และเดินเวียนซ้ายไปอีก 360 องศา หยุดดูทุกสามก้าว. (ศิลปินเขาแนะกันมาเสมอว่า ต้องให้เวลา พิจารณาให้ละเอียด...) หันไปเห็นตายิ้มๆคู่หนึ่งในรถยนต์ที่จอดติดไฟอยู่แถวนั้น. นึกถึง Roger Scruton ที่บอกว่า Beauty is Home. (ดูโพสต์ก่อนเรื่อง Beauty&Religion ข้างล่าง)
ข้าพเจ้าพึมพำในใจ เบื้องหน้ากองอะไรนั้น...
Sorry!
You don’t appeal to me. I am going Home. Bye Bye!
บันทึกเดินทางของโชติรส
๔ ธันวาคม ๒๕๖๓.
----------------
อ่านรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับมหกรรมศิลปะได้ตามลิงค์ต่อไปนี้
*** Arnold Bode คือใคร
https://ifworlddesignguide.com/juror/7245-arnold-bode
*** รายละเอียดเกี่ยวกับ
Documenta ได้ตามลิงค์นี้
https://www.biennialfoundation.org/biennials/documenta/
*** รายละเอียดเกี่ยวกับ
Monumenta ได้ตามลิงค์นี้
https://www.grandpalais.fr/en/article/monumenta
*** รายละเอียดเกี่ยวกับ Venice Art Biennale ได้ตามลิงค์นี้
*** เพจไทยเกี่ยวกับ Documenta ตามลิงค์นี้
https://www.designer.co.th/1293
เขาใช้หนังสือจริงทุกเล่ม และเอาปลาสติกใสคลุมทั้งอาคาร ปิดทุกส่วนเลย
เพราะตั้งแสดง 100 วันในทุกสภาวะอากาศของเมืองคะเซิล Kassel ที่เยอรมนี.
เมืองอาเธนส์ในปี 2018. เห็นอย่างนี้ เข้าใจชัดเจนว่า คำ acropolis แปลว่า เมืองป้อมปราการที่ตั้งบนเนินสูง. ปีนั้นเป็นครั้งสุดท้ายที่ไปกรีซ, ปีนขึ้นไม่ไหวแล้ว นั่งคอยเทวีอาเธนาตรงเชิงเนิน.
การเลือกเมืองอาเธนส์ให้เป็นเมืองคู่แฝดจัดมหกรรม Documenta 14 ปี 2017 จึงชัดเจนว่า โยงไปถึงมรดกวัฒนธรรมที่ถักทอเป็นประวัติศาสตร์การสร้างบ้านแปงเมืองของเกือบทุกชาติในยุโรป.
เมืองอาเธนส์ในปีนั้น ยังเป็นศูนย์รวมความกังวลของสหภาพยุโรป ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง
(ข้อมูลสั้นที่สุด
คือ กรีซเข้าเป็นสมาชิกของ EU ในปี 1981 ในทศวรรษต่อมา
กรีซเป็นหนี้สหภาพยุโรปจำนวนมหาศาลเพราะการเมือง คอรัปชั่น และระบบเศรษฐกิจที่ล้มเหลว.
ปี 2018 กรีซยังมีหนี้อีกไม่ต่ำ
375.74 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ.
รายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว. โควิด 19 ยังเข้าซ้ำเติมในปี 2020 นี้ด้วย).
กรุงอาเธนส์ ได้รวมเครือข่ายความร่วมมือจากศิลปินนานาชาติ 160 ประเทศ และจากสถาบันชาติต่างๆ. มีการเปิดอภิปรายเกี่ยวกับทางออกของสังคมประเด็นสำคัญๆ. มหกรรม Documenta 14 ที่กรุงอาเธนส์ จัดแสดงศิลปะวัตถุทุกรูปแบบ เกือบทุกแขนง(รวมถึงศิลปะการแสดง) กระจายไปตามสถานที่สาธารณะสี่สิบแห่ง เช่น Kotzia, Syntagma, Avid Squares, Aeropagitou pedestrian walkway, university locations, libraries, cinemas, etc.
นายกเทศมนตรีเมือง Kassel (Bertrand Hilgen) กล่าวว่า << มหกรรมศิลปะ Documenta 14 ยิ่งกว่าการบรรลุเป้าหมายที่งดงามเกินคาด ได้สร้างฐานใหม่เพื่อการอยู่เคียงข้างกัน, เรียนรู้จากกันและกัน. ข้าพเจ้าเชื่อว่า นี่คือความสำเร็จของศิลปะ. >> คลิปน่าคิดจาก DW Documentary (42:25 min) สำหรับผู้สนใจประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองในกรีซ เรื่อง Documenta 14 – learning from Athens
มหกรรมศิลปะร่วมสมัยครั้งต่อไปคือ Documenta 15 ในปี
2022.
นึกถึงกรุงอาเธนส์ที่เคยไป ครั้งแรกในปี 1988 ได้ขึ้นไปบน Acropolis และตกค่ำ ก็ไปชมการแสดงแสงเสียง ใต้เนินสูง Acropolis เล่าประวัติศาสตร์การก่อสร้าง ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและระบอบประชาธิปไตย. เนื้อหาจบลงในยุคโรมันและตามด้วยชนชาติอื่นๆที่ต่างเข้าไปชิงเมือง (ชาวฟร็องค์ Francs, ชาวกะตะลันจากคาบสมุทรไอบีเรีย ก็เข้าไปครองอยู่ระยะเวลาหนึ่งในช่วงปลายศตวรรษที่ 12 ถึงต้นศตวรรษที่ 13) และโดยเฉพาะชาวเติร์ก ที่เข้าไปทำลายศักดิศรีของกรีซเสียย่อยยับ. กรีซได้อิสรภาพคืนมาในปี 1827 และกรุงอาเธนส์เป็นเมืองหลวงของกรีซตั้งแต่ปี 1835.
เสียงเล่าประวัติศาสตร์ที่ควบคู่ไปกับการฉายแสงส่องไปบนอาคารต่างๆบนเนินสูง Acropolis ประทับใจยิ่งนัก, อดสะเทือนใจไม่ได้เลย...ยิ่งฟังคำพูดทิ้งท้ายของเทวีอาเธนา ว่า...
(ไม่ว่าอีกกี่ปีข้างหน้า) ฉันจะยังเป็นบรรทัดฐานของระเบียบ ของกฎหมายและของความรักความเมตตา. ฉันจะยังเป็นวิธีคิด วิธีรู้สึกและวิธีหาเหตุผล. เสียงของฉันจะดังก้องประนามความอวดดีและความบ้าคลั่งของคน. เมื่อเงยหน้ามองมาที่ฉัน มองมาที่สถาปัตยกรรมบนอะโครโปลิส ปราชญ์ต้องหยุดชั่งความคิดของตน ว่าถูกต้องครอบคลุมเพียงพอแล้วหรือไม่. นายช่างฝีมือทั้งหลาย กระหายอยากสร้างวังของตนเอง ให้ยิ่งใหญ่แบบเดียวกัน.
เชิญขึ้นมาหาฉันบนอะโครโปลิสอันศักดิ์สิทธิ์นี้ ที่เคยเป็นพยานของความกล้าหาญ ของคุณธรรม ของความงาม. ทั้งหมดนี้ ทำให้มนุษย์ตื่นตัว ตระหนักถึงจิตสำนึกแห่งตนและความรับผิดชอบชั่วดีต่อมนุษยชาติ. ไม่ว่าในกี่ศตวรรษข้างหน้า ฉันจะยังเป็น อาเธนาปัลลัส (Athena Pallas) ผู้มีชัยเหนือพลังมืด ฉันนี่แหละจะปราบและสยบความชั่วทุกชนิด…
(cf.
Son et Lumière, Athènes – Acropolis, 1 juillet 1988)
มาวันนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ความงามของจิตวิญญาณ บวกความงามของการแสดงออกเป็นภาษา, คำพูดที่ตรึงใจ อาจเป็นความงามเหนือชั้น ลุ่มลึกยิ่งกว่างานศิลป์รูปลักษณ์ใด... ภาษาที่ประณีต อบอวลด้วยความหวัง แฝงสัจธรรม สะเทือนอารมณ์สุนทรีย์ได้ไม่ลืมเลือน. ใครได้สัมผัส อิ่มเอม เบิกบาน โปร่งโล่งเบา ในโซนส่วนตัวที่คุ้นเคย. และนั่นเป็นความทรงจำเมื่อไปเยือนกรุงอาเธนส์ครั้งแรกในปี 1988
ภาพเขียนผลงานของ Karl Friedrich Schinkel (1781-1841, สถาปนิกชาวเยอรมัน) ที่เขาเสนอเพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์ Acropolis เมืองอาเธนส์.
เราเห็นรูปปั้นของอาเธนา สวมเกราะเหล็กแบบนักรบกรีก
กับหมวกที่มีพู่ตั้งเป็นแนวกลางศีรษะ, มือหนึ่งถือหอกแหลม, อีกมือหนึ่ง
ถือรูปปั้นขนาดเล็ก ติดปีกยืนบนลูกโลกของ Nike เทพแห่งชัยชนะ, มือขวาของ Nike ถือพวงมาลัยวงกลม พร้อมจะสวมให้บนศีรษะของผู้รบชัยชนะ.
ในภาพนี้
เทวียกสองมือขึ้นในท่าพร้อมรบ (มีรูปปั้นอาเธนา ที่ยกขึ้นข้างเดียว
แล้วแต่ศิลปินจะเสกสรรค์ขึ้นตามบทบาทในตำนานเทพปกรณัมกรีก
รวมทั้งบริบทที่ตั้งของรูปปั้นด้วย). หากไม่ยกมือในท่าพร้อมจะขว้างหอกด้ามยาวไปยังศัตรู
หอกจะหยุดนิ่งบนพื้น ข้างโล่เหล็กที่มีงูตัวใหญ่เลื้อยพันหอกเหล็กนั้น. การจำหลักแบบนี้ ต้องการโยงไปถึงเรื่องราวของ Medusa ที่ถูกอาเธนาสาบให้มีผมเป็นงูเลื้อยเต็มบนหัว
หน้าตาที่เคยสวยน่ารักจึงน่าเกลียดน่ากลัว. ในที่สุด อาเธนาสังหาร Medusa และนำหัวของนางมาประดับบนเกราะ
หรือคลุมบนหน้าอก. (ติดตามตำนานกรีกกันเอาเองนะคะ มีให้อ่านเพลินๆ).
ตำนานต่างๆเป็นบ่อจินตนาการการสร้างรูปปั้นพร้อมองค์ประกอบแตกต่างกัน
แล้วแต่ศิลปินต้องการเน้นประเด็นใด. ส่วนอาเธนาบนอาโครโปลิสนั้น เขาเรียกว่าเป็น
อาเธนา-ปัลลัส Athena-Pallas
โดยยึดนัยว่า เป็นผู้ฉลาดรอบรู้ และเก่งการศึก
และมาเป็นชื่อของเมืองหลวงกรีกว่า อาเธนส์. (Pallas เป็นชื่อของเทพกรีก เล็กๆใหญ่ๆจำนวนมาก.
รวมทั้งเทวีที่ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Minerva ในเทพตำนานโรมัน). หลายชาติในยุโรป
สร้างรูปปั้นอาเธนาประดับอยู่หน้ารัฐสภา ด้วยความหวังว่า
สมาชิกที่นั่งทำงานอยู่ภายในรัฐสภา จะฉลาดรอบรู้
สุขุมและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตั้งใจ บรรลุผลสำเร็จต่อประเทศชาติ.
จบสรุปเกี่ยวกับ Documenta แต่เพียงเท่านี้.
โชติรส รายงาน
๖ ธันวาคม ๒๕๖๓.
No comments:
Post a Comment