Friday, January 15, 2021

Light & Hope

 ข้าพเจ้าเรียบเรียงบทนี้ ในวาระวันครู (๑๖ มกราคม) ด้วยสำนึกว่า ครูดีเป็นแสงสว่างและเป็นความหวังของมนุษยชาติ.

      นึกถึงคำพูดของท่านอาจารย์ ฉลวย วุธาทิตย์ ตั้งแต่ชั่วโมงแรกว่า ให้ตาเบิ่ง หูกาง   ข้าพเจ้าไม่เคยลืม. ทักษะนี้ ติดตัวข้าพเจ้าเรื่อยมา นอกห้องเรียน ในเมืองหรือในธรรมชาติ. เบิ่งตาดูให้ละเอียด ให้ทั่ว ให้รอบด้าน ใช้ทั้งตาในและตานอก. ให้เสียงทะลุไปถึงสมองและใจ ปิ๊งขึ้นเป็นภาพเงียบที่มีสีสันในจินตนาการ. การรู้จักฟังสำคัญมาก จับทุกความถี่คลื่นให้ได้ จะได้ยินแม้เสียงของความเงียบ. ตาและหูเป็นสองประสาทสัมผัสแนวหน้าของคนที่นำไปสู่การเรียนรู้ คิดพินิจโลกรอบตัวฯลฯ ก่อนกาย จมูกและลิ้น.

       ข้าพเจ้าใช้เวลาอยู่นานกว่าจะเข้าใจคำสอนของท่านอาจารย์ฉลวยอย่างลึกซึ้ง. ยามนี้ในวัยเกษียณ จึงต้องเขียนบอกกล่าวและส่งต่อสู่รุ่นลูกหลาน. อย่าละเลยมองหาโอกาสเพื่อเรียนสิ่งใหม่ๆจากคนหรือจากทุกสิ่ง. นี่คือท่าทีที่เราต้องมีติดตัวไป ทุกเมื่อทุกที่ เพราะในความเป็นจริงแล้ว มีตัวเราสอดแทรกในสรรพสิ่ง, ในหนังสือ, ภาพยนต์, ในสภาพแวดล้อมฯลฯ  ทุกอย่างมีส่วนผลักดันให้เราก้าวหน้า ทั้งทางโลกหรือทางธรรม.

      นึกถึงคุณครูบาอาจารย์ของข้าพเจ้า  แต่ละท่านเป็นแสงเทียนสุกสว่างด้วยพลังความรักและความทุ่มเทเพื่อบอกทางที่ดีที่สุดแก่ศิษย์. ศิษย์ต้องเดินไปบนทางนั้นตามลำพัง, รู้หลบรู้หลีกอุปสรรค.  สำหรับข้าพเจ้า รำลึกถึงคุณครูบาอาจารย์ คือการสืบทอดการเป็นครูดีต่อไป.  และเมื่อผ่านวัยต่างๆมา ได้สั่งสมความรู้และประสบการณ์ ก็ต้องเป็นแสงสว่างส่องทางให้ผู้อื่นต่อไป.  เป็นหน้าที่พลเมือง, เป็นหน้าที่ที่ต้องตอบแทนสังคม แม้ในวงเล็กๆวงเดียว. หากมีเพียงคนเดียวมาต่อไฟจากเทียนที่กำลังจะมอดลงในมือ, ข้าพเจ้าถือว่าได้ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว.

ขอคารวะพระคุณครู ตั้งแต่พระรัตนตรัย บิดามารดา ครูอาจารย์ นักปราชญ์ นักเขียน ศิลปิน ผู้ที่ข้าพเจ้าได้เรียน ได้สัมผัสผลงาน ความคิด อุดมการณ์, ทั้งหมดเป็นครู ผู้ได้สั่งสอน เตือนสติและชี้ทางแก่ข้าพเจ้ามาทั้งทางตรงและทางอ้อม...

ไปเรื่อยๆ ช้าแต่มั่นคง, สองเสาอากาศ บันทึกคลื่นพลังดีๆใส่ตัว

Each day I live I want to be

A day to give the best of me

I’ll seize one moment in Time

When I’m racing with Destiny

Then in that one moment of Time

I will feel Eternity. 

เพื่อนสัญชัยส่งเพลง One Moment in Time คำร้องของ Albert Hammond ขับร้องโดยนักร้องชาวเบลเยี่ยมชื่อ Dana Winner. ทำนองคุ้นหู แต่ไม่เคยฟังเต็มๆทั้งเพลง, คลิปของนักร้องคนนี้ฟังแล้วชอบมาก. เห็นอารมณ์น่ารัก หลับตาอ้อนและสัญญาของผู้ขับร้อง. ตัดตอนจับใจความ ว่า ขอนาทีหนึ่ง(จากพระเจ้า) นาทีที่เธอจักทุ่มเทพลังทั้งหมดของเธอ ทำให้เป็นนาทีแห่งความสุขความสำเร็จ และเปลี่ยนนาทีนั้นให้เป็นนาทีนิรันดร...Give me one moment in time

ฟังแล้วสรุปว่า ไม่ใช่วิสัยของข้าพเจ้าที่จะขออะไรจากใคร หรือคอยลาภลอย, สมควรที่ I’ll seize that moment, myself... ข้าพเจ้าจะก้าวออกไปไขว่คว้าโอกาส จับนาทีหนึ่งมาเป็นนาทีทองของข้าพเจ้า และด้วยพลังความมุ่งมั่นและสติปัญญา เปลี่ยนนาทีทองนั้น ให้เป็นนาทีอมตะ.

แสงสว่างและความหวัง - ตำนานโปรเมเตอุซ

      ตำนานไม่ใช่เพียงเรื่องเล่าสนุกๆ แต่เป็นสื่อการเรียนที่สำคัญ. ตำนานถ่ายทอดวิสัยทัศน์ของโลกโบราณ เพราะเล่าถึงการจัดตั้งอาณาจักร, รวมความหลากหลายของอุปนิสัย อารมณ์ความสนใจ ความหลง ความอิจฉาริษยาฯลฯ. ในเมื่อ (เกือบทุกลัทธิ ความเชื่อ) มนุษย์ถูกสร้างขึ้นตามรูปลักษณ์และอุปนิสัยอารมณ์ ทั้งดีและร้ายของทวยเทพ, ตำนานให้ตัวอย่างของความเป็นคน ชี้ให้เห็นความดีและความชั่ว, ความถ่อมตนหรือความทรนงโอ้อวดฯลฯ. สอนให้มีจริยธรรมครองใจ, สอนให้รู้จักยกย่องและให้เกียรติคนที่คู่ควรและไม่ไปด้อยค่าใคร. ตำนานจึงเป็นตัวมาเสริมและยกระดับคุณค่าของระบบสังคม.  นอกจากนี้ เราก็ไม่ลืมว่า ผู้แต่งตำนาน เป็นมนุษย์เดินดิน. ตำนานสะท้อนชะตากรรมของมนุษยชาติ ตามที่คนจินตนาการ และสอนให้ประจักษ์ว่าความยิ่งใหญ่ของคน มิได้อยู่ที่การมีอำนาจมากกว่าหรือร่ำรวยกว่าคนอื่น. ในแง่นี้ นักเขียน นักปราชญ์ตั้งแต่สมัยโบราณ ต่างเป็นครู out of personal conviction ผู้ตั้งใจชี้ทางให้คนใช้ชีวิตให้ดีที่สุดในทุกสถานการณ์, ให้ตำนานเรื่องเล่ามาปลุกจิตสำนึกสู่คุณธรรมที่จะอุ้มชูมนุษยชาติ.

ปี 2020 ชาวโลกต้องเผชิญกับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์โควิด19. จนถึงวันที่ 15 เดือนมกราคมปี 2021 ประชากรจำนวน 93,557,099 คนติดเชื้อ และมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 2,002,982 คน ณวันที่ 15 มกราคม 2021 เฉพาะในสหรัฐอเมริกา มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 23.848.410 คน และเสียชีวิตไปแล้ว 397.994 คน (worldometers.info/coronavirus/). ถึงกระนั้น รัฐบาลกลางของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ สนใจที่จะรักษาอำนาจ, ประท้วงผลการเลือกตั้งที่ Joe Biden เป็นผู้ชนะและจะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป, ละเลยการแพร่ระบาดของโควิด 19, โดยเฉพาะตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2020 เป็นต้นมา สหรัฐฯเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลกและมีผู้เสียชีวิตจากจำนวนร้อยเป็นจำนวนสองแสนกว่า. สหรัฐฯประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลก ล้มเหลวในการบริหารจัดการเรื่องโคโรนาไวรัสได้ถึงเพียงนี้. พฤติกรรมที่ไม่เข้าท่า ผิดสมบัติความเป็นผู้นำของโดนัล ทรัมป์  เป็นบทเรียนของชาวโลกในยุคศตวรรษที่ 21 นี้. (He’s the best example ever of human comedy!)

       ศิลปินผู้เชี่ยวชาญศิลปะภาพวาดประดับกำแพงชาวอเมริกัน ชื่อ Frank Shephard Fairey (1970-) ได้สร้างโปสเตอร์นี้ขึ้น เพื่อสรรเสริญเจ้าหน้าสาธารณสุขตามโรงพยาบาลต่างๆ ว่าพวกเขาเป็นอัศวินเสื้อขาวและนักรบเสื้อกาวน์ ผู้มอบพลังศรัทธาและความหวังแก่ชาวอเมริกัน.

โปสเตอร์เทวทูตแห่งความหวังและความเข้มแข็ง Angel of Hope and Strength (2020) ของ Frank Shepard Fairey  เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์สู้กับโควิด 19. แพทย์และพยาบาลทั้งหลายคือพลังและความหวังของชาวอเมริกันในตอนนี้, พวกเธอเข้าแทนที่เทพีเสรีภาพ ส่องแสงเป็นพลังความเข้มแข็งและความหวังสู่ชาวอเมริกัน. เครดิตภาพจากเว็บนี้.

นึกถึงประติมากรรมรูปปั้น เทพีเสรีภาพ บนเกาะเล็กปากอ่าวแม่น้ำฮัดสัน Hudson, ห่างจากเกาะเอลิซ Ellis Island ไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตร. รูปปั้นตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออก กรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา หันหน้าออกสู่ทะเล, จึงหันไปในทิศตรงข้าม คือทิศตะวันตก มองไปเหนือมหาสมุทรแอ็ตแลนติก, โดยปริยาย อาจพูด(แหยมๆ)ได้ว่า มองไปถึงประเทศฝรั่งเศสผู้มอบรูปปั้นนี้เป็นของขวัญแก่สหรัฐอเมริกาประเทศเกิดใหม่,  เชื่อมอุดมการณ์ของการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ. ชาวอเมริกันส่วนใหญ่จดจำนัยของการกู้อิสรภาพจากการเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษเป็นสำคัญ.

ชาวอเมริกันเรียกว่า Statue of Liberty หรือเรียกสั้นๆว่า Lady Liberty. ทุกคนจดจำนัยของการประกาศอิสรภาพ การปลดแอกตัวเองออกจากประเทศผู้เข้ายึดครอง. สหรัฐฯประกาศอิสรภาพจากประเทศอังกฤษ (Great Britain ชื่อเรียกในยุคนั้น) ลงจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรใน Declaration of Independence เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 1776 (จารึกลงในแผ่นศิลาที่อยู่ในมือของรูปปั้น)โดยกลุ่มผู้ร่างที่สภาคองเกรสแต่งตั้งขึ้น ที่ประกอบด้วยสมาชิกห้าคนจากห้ารัฐ (Committee of Five มี Thomas Jefferson ผู้แทนจากรัฐ Virginia, John Adams จากรัฐ Massachusetts, Benjamin Franklin จากรัฐ Pennsylvania, Roger Sherman จากรัฐ Connecticut และ Robert R. Livingston จากรัฐ New York). เครดิตภาพจากที่นี่.  

รูปปั้นนี้เป็นผลงานของช่างประติมากรรมชาวฝรั่งเศสชื่อ โอกุซ บาร์ตอลดิ Auguste Bartholdi เป็นรูปปั้นที่สูงใหญ่ที่สุดที่คนเคยรังสฤษฎ์ขึ้นจนถึงปีนั้น. มีพิธีเปิดสถานที่ตั้งของรูปปั้นเทพีแห่งเสรีภาพ ในวันที่ 28 เดือนตุลาคม ปี 1886. รูปปั้นนี้ ฝรั่งเศสตั้งชื่อไว้ว่า La Liberté éclairant le monde ในความหมายว่า เสรีภาพส่องสว่างแก่โลก.  มีคบเพลิงในมือของรูปปั้น.

        คบเพลิง คือแสงไฟ แสงสว่าง. คำแสงสว่างในภาษาละติน คือ luz ที่มาเป็นคำ lucid, lucidity นั่นเอง.  แสงสว่าง ทำให้เห็นอะไรชัดเจน, นำให้เห็นเหตุปัจจัย, ยิ่งเห็นไกลออกไป, เห็นคนอื่น, ประสบการณ์อื่น, นำให้คิดและจินตนาการไกลออกไปจากจุดที่ยืนอยู่, ขยายอาณาจักรของตัวเอง, เสริมพลังให้สังคมที่อยู่ฯลฯ. แสงสว่างในที่สุดให้นัยสำคัญกว่า, ครอบคลุมไปไกลกว่าเสรีภาพส่วนตัวหรือของชาติมากนัก.  แสงสว่างส่องนำทางคนไปในโลก, นำคนให้ใฝ่หาความรู้และเสริมสร้างคุณธรรม เพื่อร่วมกันสร้างโลกให้เป็นบ้าน ให้เป็นที่พักพิงอันอบอุ่นใจ, เกิดความเข้าใจร่วมมือกัน, เห็นอกเห็นใจกัน, ตระหนักถึงภัยของอคติจากการมีสีผิวต่างกัน และปรับตัวอยู่ด้วยกัน, สร้างประเทศและสร้างโลกไปด้วยกัน.

      นอกจากแสงอาทิตย์ แสงสว่างที่อยู่ในมือคน คือไฟ, คบไฟก่อนสิ่งอื่น. ในวิสัยทัศน์ตะวันตก ไฟโยงไปถึงตำนานกรีกโบราณเรื่องของ โปรเมเตอุซ Prometheus. ไม่ใช่เพราะชาวตะวันตกหลงงมงายในเทพปกรณัมกรีกหรือโรมัน แต่เพราะตำนานทั้งหลายไม่ว่าจะเหลือเชื่อเพียงใด สะท้อนธรรมชาติของความเป็นคน.

        ตำนานเรื่องโปรเมเตอุซ เผยวิสัยทัศน์อันไกลของโปรเมเตอุซที่เห็นว่า ไฟจักเป็นอาวุธที่ดีของมนุษย์. ไฟคือแสงสว่าง คือการเรียนรู้ ที่จักเป็นคุณลักษณะหนึ่งของความเป็นคน. ตำนานนี้มีเล่าไว้ในวรรณกรรมกรีกโบราณ (cf. เช่นในงานของ Hesiod, Eschyle, Plato เป็นต้น).  เราสรุปประเด็นที่น่าสนใจ ว่า โปรเมเตอุซในตำนานนี้ เกี่ยวกับธรรมชาติความเป็นคนของเราอย่างไร.

      ทำไมโปรเมเตอุซต้องไปขโมยไฟมาให้คน?

เรื่องมีอยู่ว่า ทวยเทพที่สถิตบนเขาโอลิมปัส (Mount Olympus) ไม่มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย, อยู่เซ็งๆไปวันๆ จึงอยากให้มีอะไรสนุกๆดูแก้เบื่อ. คิดว่าถ้าเสกสรรค์สิ่งมีชีวิตขึ้นมา สิ่งมีชีวิตเหล่านั้น คงจะทำให้เพลินได้บ้าง (เหมือนคนเลี้ยงน้องหมา น้องแมว หรือเลี้ยงปลาในตู้). ตอนนั้นในตำนานกรีก ยังไม่มีสิ่งมีชีวิต(ที่รู้ตาย)บนโลก. ปัญหาเดียวคือ ทวยเทพขี้เกียจดูแลสิ่งมีชีวิตที่จะให้เสกสรรค์ขึ้น ไม่อยากให้ใครหรืออะไรมารบกวนเวลากินอาหารทิพย์อัมโบรเซีย ambrosia หรือเวลาดื่มน้ำทิพย์เน็กตาร์ nectar.  เซอุสนึกถึงไทเทิ่นสองพี่น้อง โปรเมเตอุซ-Prometheus และเอพิเมเตอุซ-Epimetheus ผู้เคยมาช่วยเซอุส-Zeus ทำสงครามแย่งชิงอำนาจจากพ่อโครโนส-Chronos (เป็นเทพ ก็อกตัญญูได้ เมื่อความหลงความอยากเป็นใหญ่เกาะกินใจ).

      ชื่อโปรเมเตอุซ แปลว่า คนที่เห็นล่วงหน้า, เขาเป็นคนไม่ประมาท, เป็นคนคิดก่อนทำ. เซอุสตัดสินใจให้สองไทเทิ่น เป็นผู้รังสรรค์สิ่งมีชีวิต(ที่รู้ตาย) เพื่อสร้างความบันเทิงใจแก่เหล่าทวยเทพ, ในแบบเดียวกับที่คนเลี้ยงดูสัตว์เพื่อความเบิกบานใจของตัวเอง.  เอพิเมเตอุซ ขอเป็นผู้บริหารจัดการด้วยตัวเองคนเดียว ซึ่งโปรเมเตอุซไม่ขัดข้อง. งานนี้ คือการจัดระเบียบระบบสิ่งมีชีวิตและคุณลักษณะของสัตว์แต่ละสายพันธุ์ให้เหมาะสม เพื่อให้สรรพชีวิตอยู่ด้วยกันได้. การแจกจ่ายคุณลักษณะให้มวลสิ่งมีชีวิตนั้น ต้องทำอย่างถูกต้องเพื่อรักษาความสมดุลของจักรวาล. (คำจักรวาล หรือ cosmos ในภาษากรีกแปลว่า ระเบียบ, ความสมดุลบริบูรณ์.) ดังนั้นการกระจายคุณลักษณะต่างๆให้แก่สัตว์ทั้งหลายนั้น จึงต้องคำนึงถึงความสมดุลธรรมชาติด้วย. บางสายพันธุ์จัดให้มีพละกำลังสูง, บางสายพันธุ์ให้มีความเร็ว, บ้างให้มีกรงเล็บ, บ้างให้มีกีบ, บ้างให้มีขนแน่นฟู, บ้างมีหนังหนาและหยาบ, ให้นกมีปีก, ให้ปลามีครีบเป็นต้น. เอพิเมเตอุซได้จัดคุณลักษณะต่างๆให้ทุกสายพันธุ์อย่างทั่วถึง สมน้ำสมเนื้อกันในภาพรวม. ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าในหมู่สรรพชีวิต จะไม่มีสัตว์ที่เป็นผู้ล่าสัตว์อื่น หรือไม่มีผู้ตกเป็นเหยื่อ. อย่างไรก็ดี แต่ละสายพันธุ์มีศักยภาพเพียงพอในการธำรงวัฏจักรชีวิตของสายพันธุ์ให้คงอยู่ได้.  เช่นนี้ เอพิเมเตอุซ จึงพออกพอใจกับผลงานของตัวเองยิ่งนัก.  แต่เอพิเมเตอุซ ลืมสายพันธุ์มนุษย์ไปสิ้นเชิง. นึกเห็นภาพกล่องสมบัติ ที่เอพิเมเตอุซหยิบออกแจกไปๆแก่แต่ละกลุ่มจนหมด, ไม่เหลืออะไรให้มนุษย์เสียแล้ว. (เท่ากับว่า คุณลักษณะต่างๆของสิ่งมีชีวิต มีจำกัด!)

       โปรเมเตอุซ เห็นเช่นนั้น ตระหนักว่า คนตายตั้งแต่เกิด ผิวบาง ล่อนจ้อน อ่อนแอ, จะตกเป็นเหยื่อของสรรพสัตว์ เพราะคนไม่มีสมบัติใดติดตัว เพื่อปกป้องตัวเอง, เขาจะมีชีวิตไม่รอดแน่นอน. โปรเมเตอุซเป็นผู้มองเห็นอนาคตของคน จึงต้องเข้าไปช่วยแก้ไขสถานการณ์ และเขาไม่เห็นวิธีอื่นที่จะช่วยให้คนเอาตัวรอดได้ในทุกสถานการณ์  จำเป็นที่เขาต้องให้อาวุธแก่คน. เขาเล็ดลอดเข้าไปในพระราชวังที่อยู่ของเหล่าทวยเทพ(โดยมีเทวีอาเธนาช่วย) และเอากิ่งไม้ไปจ่อติดไฟออกมาจากวัง, ขโมยไฟศักดิ์สิทธิ์ของทวยเทพได้สำเร็จและนำไปให้เป็นอาวุธของคน. เขาถูกเทพบดีเซอุสลงโทษอย่างโหดเหี้ยม.  เทพบดีเซอุส โกรธจัด สั่งให้พันธนาการโปรเมเตอุซ บนเทือกเขาคอเคซัส. ทุกวัน จะมีเหยี่ยว (หรือแร้ง) บินมาเจาะจิกตับของเขาไปกิน. ตกกลางคืน ตับของโปรเมเตอุซ งอกขึ้นใหม่. รุ่งเช้า เหยี่ยวก็มากินตับอีก เป็นวงจรตายแล้วเกิดเช่นนี้ตลอดไป. โทษนี้แสนสาหัส โปรเมเตอุซทนทุกข์ทรมานเช่นนี้ปีแล้วปีเล่า (โปรเมเตอุซ ไม่ตายเพราะเกิดเป็นเทพไทเทิ่น-a Titan god เทพแห่งไฟ) จนในที่สุด เซอุซสั่งให้เฮอคิวลิซ ไปยิงเหยี่ยวและทุบโซ่ตรวนที่จองจำโปรเมเตอุสให้หลุดออก.

จิตรกรรมภาพโปรเมเตอุซถูกโซ่ตรวนจองจำไว้บนเขาคอเคซัส ผลงานของ Gustave Moreau, Public domain, via Wikimedia Commons. ให้สังเกตว่า มีเปลวไฟเหนือหัวของโปรเมเตอุซ. นอกจากชี้ไปถึงมูลเหตุที่เทพบดีเซอุซลงโทษเขาแล้ว ยังอาจหมายถึง ไฟแห่งสติปัญญาที่ชาญฉลาดของเขา หรือไฟแห่งความเห็นอกเห็นใจที่มีต่อคนที่ถูกสร้างมาให้อ่อนแอเกินกว่าจะสู้รบตบมือกับสรรพสัตว์อื่นๆได้.  จิตรกร กุซต๊าฟ โมโร เสนอใบหน้าที่งดงาม, จิตสำนึกที่แจ่มกระจ่างและความมุ่งมั่นในสิ่งที่เขาตัดสินใจทำ...เพื่อคน. หากนึกไกลออกไป ภาพยังอาจโยงไปพระเยซูผู้ถูกตรึงบนไม้กางเขนเพื่อช่วยไถ่บาปให้มนุษยชาติ.  การนึกเปรียบเทียบดังกล่าว มิใช่เป็นเรื่องเลื่อนลอย, เป็นไปตามกระบวนการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมโบราณ มาใช้จรรโลงคุณธรรมที่วัฒนธรรมและค่านิยมยุคหลังต้องการปลูกฝังต่อ.

      โปรเมเตอุซ เป็นผู้ขโมย “ไฟ” ศักดิ์สิทธิ์ของทวยเทพกรีกมาให้คน. เขาไม่ได้ขโมยเพื่อตัวเขาเอง แต่เพื่อให้คนนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ เหมือนให้เครื่องมือในการดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัยในธรรมชาติและในหมู่สัตว์ทั้งหลาย.

      ทำไมเทพบดีถึงได้ลงโทษโปรเมเตอุซอย่างโหดเหี้ยมถึงเพียงนั้น เพียงเพราะเขาเอากิ่งไม้ไปจ่อ ติดไฟศักดิ์สิทธิ์มา แล้วนำกิ่งนั้นไปให้คน. ไฟศักดิ์สิทธิ์มิได้ลดน้อยหรือมอดดับไปเลย. มองลึกต่อไป คือการทบทวีแสงไฟ เพิ่มพูนความสว่างให้กระจายออกไป มิใช่หรือ. (การแบ่งปัน เป็นคุณธรรมที่ต้องฝึกต้องเพียรสะสม, ทวยเทพเองก็ต้องเพียรฝึก)

     ไฟคืออะไร?  

๑) ไฟให้ความร้อน ให้ความอบอุ่น สู้กับความรุนแรงของอากาศในฤดูหนาว (เพราะผิวคนบางเกินไป). ไฟจึงเป็นอุปกรณ์เพื่อการอยู่รอด.

๒) ไฟใช้ในการหุงต้ม อาหารสุกดีต่อระบบย่อยอาหารของคน จึงเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อธำรงสุขอนามัยของคน.

๓) ไฟเป็นอาวุธ กำจัดสัตว์อื่นที่อาจคอยจ้องจับคน. ในสมัยก่อน เมื่อคนออกไปสำรวจพื้นที่ในต่างถิ่น คนใช้ไฟเผาพื้นที่ป่าให้ราบเป็นหน้ากลอง ให้มองเห็นทุกอย่างชัดเจนทั้งใกล้และไกล, ขับไล่สัตว์ป่าออกไปจากพื้นที่ ก่อนจะลงมือปักหลัก สร้างบ้านแปงเมือง.

๔) ไฟเป็นอาวุธล่าสัตว์ชนิดหนึ่ง และทำให้คนกลายเป็นผู้ล่าเหนือสัตว์นักล่าสายพันธุ์ใด.

๕) ไฟเป็นอุปกรณ์สำคัญเพื่อการรังสรรค์สรรพสิ่ง เพราะไฟหลอมโลหะ ละลายและสะกัดแร่ธาตุมาใช้ประดิษฐ์อาวุธ อุปกรณ์ เครื่องใช้อื่นๆ.

๖) ไฟเป็นเครื่องมือที่เอื้อให้คนสยบชีวิตอื่นๆ รวมทั้งทำร้าย ทำลายคนด้วยกันเอง, จนถึงการทำลายตัวเอง, ทำลายสิ่งที่ตัวเองสร้างสรรค์ขึ้น เพราะไฟเผาผลาญและทำลายสรรพสิ่งเป็นจุณได้.

      ไฟจึงเชื่อมโยงไปถึงชีวิต มากพอๆกับความตาย. ผู้ใช้ไฟคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบ, ต้องมีความรู้ ต้องรู้จักควบคุมทั้งกองไฟภายนอกและไฟแห่งความปรารถนาในใจของเขาเอง(ซึ่งอาจร้อนแรงยิ่งกว่าไฟนรกได้). เกิดผลเลวร้ายอะไร ไฟไม่ใช่จำเลย, คนผู้ใช้เท่านั้นที่ประมาทหรือหลงตัว. เมื่อโปรเมเตอุซ มอบไฟให้คน เท่ากับเขามอบความรู้ให้คน, ความรู้ที่จะทำให้คนยกระดับตัวเองขึ้นเสมอเทพเจ้าได้.  คิดให้ดี ไฟนี่แหละที่พลิกชะตาชีวิตของคน สยบสรรพชีวิตอื่นบนโลกเดียวกัน, มีปัญญาเพิ่มพูนจากประสบการณ์, เกิดความรู้สึกอิสระและคล่องตัวเพราะไม่ต้องพึ่งผู้ใด, ไม่ต้องอ้อนวอนเทพยาดาฟ้าดิน, ในที่สุดมีศักยภาพเสมอด้วยเทพเจ้า.  นี่เองที่ทำให้เทพบดีเซอุซพิโรธนักหนา ในทำนองเดียวกับที่พระเจ้าลงโทษขับไล่อาดัมกับอีฟออกจากสวรรค์ เพราะไปกินผลไม้ต้องห้าม, ผลไม้ที่ทำให้ทั้งสองรู้บาปบุญคุณโทษ รู้ผิดรู้ถูก. ในเมื่อคิดเองได้ พระเจ้าจึงขับไล่ทั้งสองให้ออกไปสู้กับชะตาชีวิตด้วยลำแข้งแขนขา, ด้วยจิตสำนึกและปัญญาของตัวเอง.

      เมื่อโปรเมเตอุซมอบไฟให้คน เท่ากับเขามอบความรู้ให้คน ด้วยความหวังว่า คนจะใช้ความรู้ในทางสร้างสรรค์มากกว่าการทำลาย. ความรู้ที่โปรเมเตอุซมอบให้คน ยังรวมความรู้ในการใช้อาวุธสงครามจากเทวีอาเธนา (ความหมายดั้งเดิมของคำละติน ars/art แปลว่า การรู้จักใช้เทคนิค  นัยเดิมจึงไม่เกี่ยวกับวิจิตรศิลป์โดยตรง ดังที่เราเข้าใจกัน). ความจำเป็นในการดำรงชีวิต นำไปสู่การขุด เจาะ ทุบ เคาะ ตี ที่ทำให้คนรู้จักประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้, เริ่มงานหัตถกรรมทุกชนิด, การเก็บเกี่ยว, การทอผ้า, การเย็บปักถักร้อย, จนประดิษฐ์อาวุธป้องกันตัวเองได้. คนพัฒนาเทคนิคประเภทต่างๆ, ยกระดับสถานะของตัวเอง ขึ้นอยู่เหนืออาณาจักรสัตว์และเข้าควบคุมสภาพแวดล้อม. คนแบ่งบาน ก้าวออกจากกรอบจำกัดที่บีบคั้นแบบต่างๆได้โดยอาศัยความรู้ วิทยาศาสตร์และเทคนิค, กลายเป็นนายเข้ายึดครองธรรมชาติ. นี่คือ ผลแห่งความเอื้ออาทรของโปรเมเตอุซต่อมนุษยชาติ.

โปรเมเตอุซ อยู่ข้างรูปปั้นมนุษย์เพศชายที่เซอุซให้เนรมิตขึ้น เห็นมือข้างที่ถือคบเพลิงโอบรูปปั้นคนไว้. ต่อมาเมื่อเฮอมิซพาปันโดราไปถึงที่พัก เขาผลักไสนางออกไป. จิตรกรรมผลงานก่อนปี 1818 ของ Joseph Abel (1768-1818 จิตรกรภาพประวัติศาสตร์ชาวออสเตรีย). Josef Abel, Public domain, via Wikimedia Commons.

     จนถึงยามนั้น ในจักรวาลของเทพบดีเซอุซ มีแต่คนเพศชายที่ถูกสร้างขึ้นตามที่เล่ามาข้างต้น เพื่อให้เป็นผู้รับใช้และผู้บันเทิงทวยเทพ. บ้างเล่าว่า พวกเขาขยายพันธุ์เหมือนพืชผัก, เป็นผู้ไม่รู้จักเหนื่อย หนุ่มแน่น ไม่แก่ ไม่เจ็บและตายลงในความสงบเหมือนนอนหลับไป. (ดังเล่าไว้ในหนังสือเรื่อง Works and Days งานกับวัน  ของ Hesiod, ราว 750 BCE. งานและวัน หมายถึง เหตุการณ์ในตำนาน, การงานในปฏิทินชาวนาชาวไร่, ปฏิทินการเดินเรือและการตระเตรียมเดินทาง, การบริหารจัดการชีวิตในครัวเรือน, การงานที่ควรทำในชีวิตประจำวัน, วันดีวันร้ายในปฏิทินเป็นต้น. แกนหลักของหนังสือที่อยู่เบื้องหลังเนื้อหาที่ดูเหมือนเป็นเรื่องชีวิตการงาน คือบทสอนศีลธรรมหรือจริยธรรม ที่เน้นให้เห็นว่า การทำชั่วนั้น ง่ายเพียงใด และการสั่งสมคุณงามความดีนั้นยากยิ่งนัก.).

     สั่งลงโทษโปรเมเตอุซไปแล้ว เทพบดีเซอุซยังไม่สะใจนัก. เนรมิตคนเพศหญิงคนแรกขึ้น เพื่อถ่วงศักยภาพของคนเพศชายที่ได้ไฟไปครอง, ทั้งยังแอบวางแผนสร้างความทุกข์ทรมาน,โรคภัยไข้เจ็บต่างๆให้คน. เทพบดีเซอุซ ให้ Hephaistos (เทพช่างเหล็กของสวรรค์ ผู้เนรมิตวัง เกราะงาม อาวุธและอุปกรณ์สารพัดที่ทวยเทพกรีกปรารถนา) ปั้นร่างของเพศหญิง จากดินเหนียวและน้ำ ให้เป็นผู้หญิงที่งามดุจเทพธิดาในสวรรค์.

      ทวยเทพทั้งหลาย ต่างมอบสมบัติแบบใดแบบหนึ่งให้รูปปั้นนี้. เป็นต้นว่า เทวีอาเธนา เป่าลมใส่รูปปั้น ให้ลมปราณ รูปปั้นจึงมีชีวิตขึ้นมา.  อาเธนาแต่งตัวให้ และยังสอนเทคนิคต่างๆให้เช่นการทอผ้า. เทวี Aphrodite [อั๊ฟเฟรอไดดิ] (หรือวีนัสชื่อโรมันที่คุ้นเคยกว่า) มอบความสวยและศิลปะการยั่วยวนให้, Peitho [เพอิโท] มอบศิลปะการหว่านล้อม สยบใจคนอื่น, The Three Graces สามเทวีแห่งคุณสมบัติประเสริฐต่างๆ ร้อยรวมสมบัติดีๆเข้าเป็นสร้อยคอ เสริมความงามให้นาง, เทพธิดาประจำโมงยามสวมมาลัยดอกไม้บนหัวของนาง, เทพอพอลโล Apollo มอบพรสวรรค์ด้านดนตรีให้นาง, เฮอมิซ Hermes เป็นผู้ตั้งชื่อ ปันโดรา Pandora (อ่านตามละติน), มอบศิลปะการพูดจาปราศรัยให้เธอ และตามคำสั่งของเซอุซ มอบศิลปะการโกหกให้ด้วย. เช่นนี้ปันโดราผู้หญิงคนแรก อุบัติขึ้นพร้อมด้วยคุณสมบัติต่างๆ (ชื่อปันโดรา มีความหมายเช่นนั้น). เทพบดีเซอุซ ให้เฮอมิซพานางไปส่ง ให้เป็นของขวัญแก่เอพิเมเตอุซ ไทเทิ่นผู้น้องของโปรเมเตอุซ ทั้งยังแถมโถ (pithos) ปิดผนึกแน่น งามลึกลับให้หนึ่งโถ ให้ปันโดรานำติดตัวไปเหมือนสินสมรสแก่เอพิเมเตอุซ, เซอุซห้ามเธอเปิดดู. (ตั้งแต่ศตวรรษที่ 15,  Desiderius Erasmus แปลคำ โถ เป็น กล่อง, ความคลาดเคลื่อนจึงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน). โปรเมเตอุซเตือนเอพิเมเตอุซว่า อย่ารับนางไปเพราะเซอุซมีแผนร้ายๆในใจ แต่เอพิเมเตอุซไม่ฟัง รับนางไปเป็นภรรยา.

Hermes พานางปันโดราไปถึงที่อยู่ของเอพิเมเตอุซ, โปรเมเตอุซ(คนมีหนวดเครา) พยายามกันตัวเอพิเมเตอุซให้ห่างจากนาง. เฮอมิสยืนเท้าสะเอว ดูเหตุการณ์อยู่ด้านหลัง. นางปันโดราถือกระปุกหรือผะอบในมือ (ให้เข้าใจตามเนื้อเรื่องว่าคือโถที่เทพบดีเซอุซมอบให้เป็นสินสมรส). จิตรกรรมผลงานของ Hermann Julius Schlösser (1878) ภาพนี้อยู่ที่หอศิลป์ กรุงแบร์ลิน Nationalgalerie, Staatliche Museen zu Berlin. Hermann Julius Schlösser, Public domain, via Wikimedia Commons.

กวีกรีกเฮซีเอิด Hesiod ผู้มีชีวิตในยุคก่อนคริสตกาล ราวปี 700 BC กล่าวถึงปันโดราครั้งแรกในตอนต้นของหนังสือกำเนิดทวยเทพ (Theogony) ของเขาว่า  « เริ่มจากตัวเธอ เผ่าพันธุ์ผู้หญิงและเพศเมีย, จากตัวเธอ มาเป็นเผ่าพันธุ์อันตราย, เกิดผู้หญิงในหมู่ผู้ชาย นำความเดือดร้อน ความโกลาหนสารพัดชนิดมาสู่คน...» ในหนังสือเรื่อง Works and Days งานและวันเวลา  กวีเฮซีเอิดเล่าว่า มนุษย์(เพศชาย)มีอายุห้ายุค. สี่ยุคแรก อยู่อย่างสงบราบรื่น จนเมื่อมีปันโดราเข้ามาปนในหมู่ผู้ชาย เริ่มยุคที่ห้าที่เป็นยุคสุดท้าย. คือยุคที่เฮซีเอิดมีชีวิต, เป็นยุคยากลำเค็ญ เกิดความขัดแย้งในหมู่คนไม่รู้จบ. สรุปว่าผู้หญิงคือความพินาศของผู้ชาย.

      ปันโดราแม้จะงามดุจเทพธิดา แต่เธอเป็นคนเดินดินและเป็นผู้หญิง (อยากรู้อยากเห็นและมีแนวโน้มที่จะไม่เชื่อฟัง). ในที่สุดเธอแอบเปิดโถออก. โถนั้นเทพบดีเซอุซ เจาะจงให้บรรจุความเลวร้ายประเภทต่างๆของมนุษยชาติไว้  เป็นต้นว่า ความแก่, โรคภัยไข้เจ็บ, สงคราม, ความอดอยาก, ความทุกข์ทรมาน, ความบ้าคลั่ง, ความชั่ว, การหลอกลวง, ความลุ่มหลง, ความหยิ่งยะโส. อย่างไรก็ตาม เทพบดีเซอุซ(ยังใจอ่อนอยู่บ้าง เพราะ)ได้เติมความหวังชื่อเอลปิซ Elpis ลงไปในโถด้วย. (แปลให้ตรงตามนัยคือ การรอคอยอะไรสักอย่าง”).

เมื่อเปิดโถ (ในภาพเป็นหีบสมบัติ) ความเลวร้ายประเภทต่างๆ จึงหลุดออกมา แผ่กระจายไปในโลก. ปันโดราตระหนกตกใจและพยายามปิดฝา แต่ช้าไปแล้ว เหลือเพียง Elpis (ความหวัง) ที่ก้นโถ/หีบ. ภาพนี้เป็นผลงานของ Arthur Rackham (1867-1939. นักวาดภาพประกอบหนังสือชาวอังกฤษ ในแนวของอาร์นูโวสไตล์อังกฤษ). เครดิตภาพจาที่นี่.

ความหวังในเทพปกรณัมกรีก เป็นวิญญาณสุดท้ายที่ติดอยู่ในโถของปันโดรา. ตำนานเรื่องโถของปันโดรา สืบทอดและติดอยู่ในค่านิยมของสังคมข้ามยุคข้ามสมัยมา, คนมีความหวังและรอคอยมัน. เทพบดีเซอุซ ไม่มีเจตจำนงจะลบคนให้หมดไปจากโลก จึงยังใส่ความหวังลงไปในโถ. (มองอีกมุมหนึ่ง เทพบดีอาจอยากรู้ว่า มนุษย์จะจัดการชีวิตในความรุนแรง ในสภาวการณ์เลวร้ายทุกแบบได้อย่างไร) เมื่อปันโดราเปิดโถ เอลปิซไม่รีบร้อนออกจากโถ ในขณะที่ความชั่วร้ายอื่นๆเร่งรีบออกไปครองโลก, ความหวังยังอ้อยอิ่งอยู่ที่ก้นโถ และเหลือเพียงเธอเท่านั้นในโถ. ทำไม?

รูปปั้น ปันโดรา นี้ถือเพียงดอกไม้เล็กๆหนึ่งดอก ความหวังริบหรี่ถึงเพียงนั้นหรือ? ภาพจาก twitter.com 

ใบหน้าของเอลปิซในภาพนี้หรือในภาพบน ขรึมปนกังวล. 

เครดิตภาพจากที่นี่

       นักวิจารณ์ตีความหมายต่างกันไป. บ้างบอกว่า ชาวกรีกไม่มองว่าเอลปิซหรือความหวัง เป็นเทพธิดา, กลับเห็นว่า ความหวังเป็นส่วนต่อของความทุกข์ทรมาน. บ้างเห็นว่า การที่เธออ้อยอิ่งไม่รีบออกจากโถแล้วหายวับไป เพราะเธอต้องการช่วยคน, พาใจคนให้สูงขึ้น, ไม่จมปลักอยู่ในความทุกข์ความสิ้นหวัง. รูปปั้นของเอลปิซในสมัยก่อน มักให้เธอหอบเขาแพะขนาดใหญ่ในวงแขน (เขาแพะที่เป็นเหมือนกรวยรูปโค้งใช้บรรจุของ, เรียกในภาษาศิลปะว่า กอร์นูโกเปีย cornucopia หรือเป็นสำนวน the horn of plenty ในภาษาอังกฤษ. ถือเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์) มีดอกไม้เต็ม. ดอกไม้จึงอาจโยงไปถึงการเกิดใหม่, ถึงฤดูใบไม้ผลิ. ชวนให้คิดว่า เอลปิซยังยืนหยัดประโยชน์ของการรอคอย ว่าวันหนึ่งความหวังจะแบ่งบานให้ชื่นใจได้. มองในแง่จิตวิทยา ความหวังจึงเป็นมากกว่าการรอคอย มันเติมพลังให้คนทนต่อปัจจุบันขณะ, มันต่อชีวิตคนไปเรื่อยๆ. ในค่านิยมจากโบราณ สมอเรือเป็นสัญลักษณ์ของความหวัง (ตั้งแต่สมัยโบราณมา การเดินเรือไปในทะเลกว้าง ที่มองเส้นขอบฟ้าไม่เห็น, เป็นการผจญภัยที่เสี่ยงอันตรายที่สุด). สมอเรือช่วยตรึงเรือมิให้หลุดล่องลอยไปตามคลื่นลมพายุ.  ความหวังก็อาจเป็นสมอชีวิต ไม่ให้จิตใจเวิ้งว้างในความหวาดกลัว, หมกมุ่นหรือจมปลักในความทุกข์.

       เมื่อวันที่ 12 กันยายน ปี 1860 นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อ ฌ็อง ชากอร์นัก Jean Chacornac ค้นพบดาวเคราะห์ขนาดเล็กและเขาตั้งชื่อให้ว่า เอลปิซ Elpis ตามชื่อกรีกที่แปลว่าความหวัง. นั่นเป็นดาวเคราะห์น้อยลูกที่หกและลูกสุดท้ายที่นักดาราศาสตร์คนนี้เป็นผู้ค้นพบ ที่หมุนรอบดวงอาทิตย์. (มีรหัสว่า asteroid # 59). ดาวเคราะห์น้อยเบอร์ 59 นี้ จึงหนีไปจากระบบสุริยะไม่ได้ อาจเป็นความหวังของนักดาราศาสตร์ที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบสุริยะต่อไป. นับว่าเขาเลือกชื่อดี.

สัญลักษณ์ดาราศาสตร์ที่ใช้เมื่อเจาะจงดาวเคราะห์น้อยเอลปิซ คือสมอเรือนั่นเอง.

ให้สังเกตว่า เส้นสายพิณที่พันอยู่ตอนบนนั้น ขาดลงมากองอยู่ใกล้ข้อมือของเอลปิซ,  เหลือเพียงเส้นเดียว. นางกำลังดีดพิณเส้นนั้น, แนบหูเข้าไปฟังใกล้ๆ. ภาพ “ความหวัง” ผลงานปี 1885 ของ George Frederic Watts (1817-1904) ภาพจาก Wikimedia Commons – public domain. 

มีผู้วิจารณ์ไว้ว่า ภาพความหวังภาพนี้ของ George Frederic Watts น่าทึ่งที่สุด. ความหวังนั่งห่อตัวบนลูกโลก มีผ้าปิดตา ถือพิณในมือ, พิณที่เส้นพิณขาดไปหมดแล้ว เหลือเพียงเส้นเดียว, ถึงกระนั้น เส้นเดียวนี้ก็อาจถ่ายทอดเสียงโน้ตสุดท้ายได้. เธอยังจะเล่นโน้ตนั้นและขับร้องให้ก้องกังวาน. ความหวังจะพบหนทางเสมอ. จิตรกรเองก็บอกว่า ความหวังไม่ใช่ความคาดหวังก็ได้. จิตรกรต้องการแสดงให้เห็นว่า ความหวังนำให้สรรค์สร้างดนตรีจากสายพิณเดียวที่เหลือได้. 

ข้าพเจ้าขอเติมว่า ใช้ความถี่จากคลื่นความรู้สึกภายในใจ ให้เป็นสายพิณ ถ่ายทอดความหวังให้เป็นเพลงเสนาะจากใจได้เช่นกัน. เฉกเช่นครูอาจารย์ เสียงสุดท้ายของท่าน ยังคงก้องเป็นคำสอนคำเตือน ติดหูติดใจตลอดไป...

โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์

๑๖ มกราคม ๒๕๖๔.

ที่นำมาเล่าเป็นเพียงฉบับย่นย่อพอให้เพลิน ผู้สนใจติดตามอ่านรายละเอียดต่อไปได้ตามลิงค์ข้างล่างนี้

สารคดีเรื่อง Prométhée – Le don de la connaissance ตามลิงค์นี้ (เป็นภาษาฝรั่งเศส) >> https://www.youtube.com/watch?v=OUM2UKRQLEU

เกี่ยวกับ Pandora เช่นที่เว็บเพจนี้ >>

https://mythologica.fr/grec/pandore.htm

Ref. อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับวรรณกรรมสองเล่มของ Hesiod คือ Theogony และ Works and Days ได้ตามลิงค์นี้ >> https://study.com/academy/lesson/works-and-days-by-hesiod-summary-analysis.html

แง่คิดจากอาจารย์คนหนึ่ง >>

นีล เดอ-กร๊าส ไทเสิ่น Neil deGrasse Tyson นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน (ยังเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและ science communicator ที่มีผู้ติดตามมาก) ตอบข้อถามของ Larry King ว่าเขาอยากบอกอะไรแก่นักเรียนนักศึกษา

     « ผมอยากให้คนที่เรียนจากผม ได้กำลังและแรงดลใจจากสิ่งที่ผมสอน. เมื่อเขาคิดถึงสิ่งที่เขาได้เรียนไปจากผม เขาหยุดคิดถึงผม เขามุ่งคิดถึงฐานความรู้ความเข้าใจ ว่าโลกนี้เป็นเช่นใด มันไม่เกี่ยวอะไรกับครูผู้สอนอีกแล้ว. หากมีคนบอกว่า นี่เป็นเรื่องจริงนะ เพราะไทเสิ่นบอกอย่างนั้น, เท่ากับว่า ผมในฐานะครูผู้สอน ผมสอบตก คือสอนไม่ถูกวิธี. เท่ากับว่าผมสอนด้วยอำนาจในฐานะของผู้ทรงความรู้และคนเรียนก็เชื่อตาม. ผมอยากสอนให้คนคิดเกี่ยวกับโลก และเมื่อเขาพบว่า เขามีวิธีเข้าใจโลกวิธีใหม่วิธีหนึ่ง, เรียนจบแล้วจากไป สู่สังคม สู่โลกโดยไม่เหลียวหลังกลับ เพราะเกิดความกระหายอยากรู้อยากเรียนสิ่งใหม่ๆขึ้นมา. เขาจะพบหลักการใหม่ เครื่องมือใหม่ที่เติมเต็มความกระหายของเขาได้. และนั่นคือวิธีการเรียนการสอนที่ถูกต้องสำหรับผม.

       ทุกคนรู้ว่า เกิดมาต้องตาย ตายเมื่อใดก็ไม่รู้, วันนี้พรุ่งนี้หรือวันไหน. หลายคนพยายามคิดค้นหาความหมายในชีวิต ราวกับว่ามันซ่อนอยู่ใต้หินผาหรือในโพรงต้นไม้ใหญ่. ผมคิดว่า คนมีอะไรเหนือกว่านั้น. คนมีอำนาจ พลังความคิดและจินตนาการ ตลอดจนความเข้าใจ เพียงพอที่จะเสกสรรค์ความหมายให้ชีวิตของเราเอง และเอาชนะอารมณ์ความรู้สึกเชิงลบทั้งหลาย ไปจับตรรกะของจักรวาลได้. ผมจึงไม่ถามตัวเองว่า ความหมายของชีวิตอยู่ที่ไหน แต่ผมเริ่มสร้างความหมายให้ชีวิตผม. ความหมายของชีวิต สำหรับผม ง่ายและชัด, คือถามตนเองว่า วันนี้ผมรู้เกี่ยวกับโลกดีกว่าเมื่อวานนี้ไหม.

       หากเรามีไอนสไตนมานั่งคุยกับเราที่นี่ ไอนสไตนอาจดลใจ กระชับความมุ่งมั่น ความอยากรู้อยากเรียนในหมู่ผู้ฟัง. แต่อาจมีคนอยากถามว่า เขาจบมาจากสถาบันไหน. (เอเชียส่วนมาก คิดได้แค่นี้. มันเกี่ยวกันหรือ ราวกับว่าเรียนที่เดียวกัน จะทำให้เขาเก่งเหมือนไอนสไตน). โรงเรียนมักมองว่านักเรียนคือเรือเปล่าที่โรงเรียนเทข้อมูลบรรทุกจนเต็มลำ, นักเรียนถูกสอบถูกถาม, แล้วได้คะแนนไป. หากได้เกรดดี คนเขาก็ยกย่อง. นักเรียนแบบนั้นหรือ ที่จะเป็นคนขับเคลื่อนโลก. ผมไม่คิดเช่นนั้น.

        โรงเรียนต้องเป็นที่เก็บรักษา ปลูกฝังความกระตือรือร้นอยากรู้อยากเรียนของนักเรียนไว้ให้ได้. หากใครสูญเสียความกระตือรือร้นดังกล่าวไป ครูต้องหาทางนำมันกลับคืนมาให้นักเรียน. ครูคือผู้สอนให้รู้จักคิด ฝึกให้มองโลกจากมุมมองอื่นๆ นำให้นักเรียนค้นพบวิถีของเขาเอง. ดังนั้น เมื่อเรียนจบ มิใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้น. นักเรียนที่ฉลาด เข้าใจถูกต้อง รู้แล้วว่า เขาจะเรียนสิ่งใหม่ๆได้อย่างไร. เขาจะมีความอยากรู้อยากเรียนสิ่งใหม่ๆเป็นรายการยาวเหยียด, เขาจะเป็นนักเรียนไปชั่วชีวิต. หากไม่มีความอยากรู้อยากเรียนแบบนี้ ชีวิตจักเหมือนโครงกระดูก ที่มัวแต่มองกลับไปยังอดีต, มัวแต่ยึดติดกับชื่อเสียงหรือตัวอาคารสถาบัน และมองย้อนหลังไปในอดีตนั้นเสมอ โดยไม่เจริญเติบโตเป็นคนหรือเป็นอะไรที่เขามีศักยภาพจะเป็นได้. น่าเสียดายเวลาที่ผ่านไป...สำหรับนักเรียนแบบนี้.»

ชอบอุดมการณ์การเรียนการสอนของไทเสิ่น ดีใจที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ส่วนตัว. หากครูอาจารย์ได้ทำหน้าที่เต็มที่  นักศึกษาที่จบใหม่ เหมือนเพิ่งเกิดใหม่ในโลกมหัศจรรย์ที่รอเขาอยู่เบื้องหน้า, เขารู้ว่าเขาอยากรู้อยากเรียนอะไรต่อไป, และด้วยความถ่อมตนในดวงจิต เขาตระหนักว่ามีอะไรที่เขายังไม่รู้อีกมาก และพร้อมจะก้าวออกไปเพื่อไขว่คว้าหาความรู้และพัฒนาสติปัญญาต่อไป.  เริ่มต้นชีวิตนอกสถาบันแบบนี้ ให้ความรู้สึกที่ดีมาก เหมือนได้พลังใหม่ๆ ที่เป็นทั้งความมุ่งมั่นและความเบิกบานใจ.

Up up and away! ครูบอกลูกศิษย์ให้ตามฝันไป ออกผจญโลก ภายนอกรั้วสถาบัน. 

ไม่เสียใจที่ต้องก้าวออกจากกรอบ จากรั้วจุฬาฯ

ไม่เสียใจที่ได้ก้าวออกมาและจะก้าวต่อไป 

เพราะยังมีอะไรอีกมากให้เรียนรู้ นอกรั้วเหล็กรั้วปูน 

เพราะยังมีความดีและความงามอีกหลากหลายรูปแบบให้สัมผัสในโลกนี้ 

ทั้งหมดเพราะครูอาจารย์ได้วางกระดานสปริงให้ 

ได้สอนทักษะในภาษาต่างๆ  นำทางให้ข้าพเจ้าไปเรียนไปอ่าน หาความรู้ใหม่ๆต่อไป...

(เขียนไว้เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2560 ในวาระครบรอบ 50 ปีรุ่นอักษรศาสตร์ 2510)

โชติรส คิดถึงคุณครู

๑๖ มกราคม ๒๕๖๔.

No comments:

Post a Comment