Monday, November 30, 2020

Beauty&Religion

      รอเจอ สกรูเทิน Roger Scruton (1944-2020 นักเขียนและนักปรัชญาชาวอังกฤษ) อภิปรายว่า ศิลปะเคยเป็นผู้วางลัทธิความงาม แต่ศตวรรษที่ 20 โลกกำลังสับสนอลหม่าน ศิลปะก็เป็นเช่นนั้น. ใครที่ยังมองหาความงามในศิลปะ คนนั้นหลุดออกจากบริบทความเป็นจริงสมัยใหม่. สถาปัตยกรรมและดนตรี หันหลังให้ความงาม และเบนไปปลูกฝังลัทธิความน่าเกลียด ที่นำผู้คนเข้าสู่ความเวิ้งว้างของทะเลทราย. สถาปัตยกรรมแห้งแล้ง, ไร้วิญญาณ. บริบทแวดล้อมทางกายภาพของคนน่าเกลียดมากขึ้นๆ. ภาษา ดนตรีและพฤติกรรมของคน อึกทึกครึกโครม, มุ่งเน้นตัวตนของตนและปกป้องอีโก้ไว้. ความงาม รสนิยมดีๆ ไม่มีจุดยืนในชีวิตของคนแล้ว. คำเดียวที่โดดเด่น ประกาศชูหราเป็นอักษรตัวใหญ่บนสรรพสิ่ง คือคำว่า กู (ความต้องการของกู ความสุขความพอใจของกู).

      สกรูเทินกล่าวย้อนไปในอดีต โยงไปถึงนักปราชญ์คนสำคัญๆ เช่น Plato, Kant และเชื่อมต่อมาถึงศิลปินยุคใหม่ เช่น Marcel Duchamp, Michael Craig-Martin หรือ Jeff Koons. เขาชี้ให้เห็นว่า ศิลปะพลาดท่าไปอย่างไร และเสนอมุมมองส่วนตัวของเขาเพื่อฟื้นฟูความงามสู่สถานะที่เคยมีมาก่อนในใจกลางของวัฒนธรรมตะวันตก.

      ในเมื่อความงามอยู่ในวัฒนธรรมตะวันตกมาตลอดสองพันกว่าปี ชาวตะวันตกย่อมคุ้นชินกับความงาม เขาจึงได้ตั้งคำถาม สำรวจความเห็นจากผู้คน เกี่ยวกับความงาม ติดต่อมานานนับปี. ตั้งแต่ยุคกรีซโบราณ ปรัชญากรีกสะท้อนในความงามทั้งศิลปะ, กวีนิพนธ์, ดนตรี, สถาปัตยกรรมและในชีวิตประจำวัน. นักปรัชญาได้เน้นกันมาเสมอว่า เมื่อคนเราสรรหาและรังสฤษดิ์ความงาม เท่ากับกำลังสร้างโลกให้เป็นบ้าน, ที่นำให้เข้าใจธรรมชาติของคนในฐานะของสิ่งที่มีจิตวิญญาณ. มาบัดนี้ โลกได้หันหลังให้กับความงาม, เมื่อเป็นเช่นนั้น คนจึงถูกห้อมล้อมในความน่าเกลียดและความผิดที่ผิดทาง. ศิลปะหมดความหมาย หมดคำพูด. คนกำลังสูญเสียความงาม และนั่นอันตรายมาก เพราะเท่ากับคนกำลังสูญเสียความหมายของชีวิต. สกรูเทินตอกย้ำว่า ความงามมีความหมายสำคัญ มากกว่าการเป็นความรู้สึกส่วนตัว, เป็นความจำเป็นสากลของมนุษย์. หากเราไม่ใส่ใจความจำเป็นนี้  จิตวิญญาณของเราเหมือนตกอยู่กลางทะเลทราย. เขาอยากเสนอทางออกจากทะเลทรายดังกล่าว และทางออกนั้น เป็นเส้นทางสู่ «บ้าน» ด้วย.

        ศิลปินสำคัญๆในอดีต ตระหนักชัดเจนว่า ชีวิตคนเต็มไปด้วยความทุกข์ ความเจ็บปวดและความสับสนอลหม่าน. พวกเขามียาแก้ ยานั้นคือ ความงาม. ผลงานสวยงามของศิลปะ ปลอบประโลมใจในยามเศร้าโศก และกระชับความปลื้มปิติ, ยืนยันว่า ชีวิตคนนั้นมีค่าควรแก่การอยู่ การต่อสู้เพื่อบรรลุความสุขความปิติ.  ศิลปินสมัยใหม่หลายคน เหนื่อยล้าเกินไปสำหรับหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์เยี่ยงนี้. พวกเขาคิดว่า ศิลปะมิอาจกลบความลุ่มๆดอนๆของชีวิตสมัยใหม่ได้.      

        Marcel Duchamp (1887-1968 ศิลปินฝรั่งเศส-อเมริกัน) ได้สร้างผลงานให้เห็นเป็นตัวอย่างเมื่อร้อยปีกว่ามาแล้ว ใช้นามแฝง ว่า R.Mutt, 1917 และตั้งชื่องานศิลป์ที่เป็น โถปัสสาวะ วางนอนราบลงว่า น้ำพุ Fountain และส่งเข้าแสดงในงานนิทรรศการศิลป์ที่กรุงนิวยอร์ค (Society of Independent Artists’ salon, New York). ผลงานชิ้นนี้ถูกปฏิเสธ และถูกตราว่า นี่ไม่ใช่งานศิลป์.  ดูช็องผู้เป็นสมาชิกหนึ่งในคณะกรรมการของสมาคมดังกล่าว ลาออกจากสมาคมเพื่อประท้วง. งานศิลป์ดังกล่าวของเขา แน่นอน! ล้อเลียนและถากถางโลกศิลปะกับความหลงตัวของศิลปินที่มักเกิดคู่ขนานกัน. 

เครดิตภาพที่นี่.

มีผู้วิเคราะห์ว่า เจ้าของผลงานที่ลงชื่อว่า Mutt ได้สร้างโถปัสสาวะด้วยมือเขาเองหรือไม่ ไม่สำคัญ. สำคัญคือ เขาเป็นคนเลือกโถปัสสาวะนั้น. ได้นำวัตถุธรรมดาๆในชีวิตประจำวัน จัดวางมันในที่แสดง,  วางนอนลงในมุมใหม่, ตั้งชื่อใหม่เรียกวัตถุนั้น, สร้างความคิดใหม่เกี่ยวกับโถปัสสาวะนั้น. ด้วยวิธีการดังกล่าว นัยใช้สอยของวัตถุนั้น ถูกลบหายไปสิ้น. (cf. Beatrice Wood).

       งานชิ้นนี้ของดูช็อง สื่อความชาญฉลาดที่ไม่มีใครคิดมาก่อน. เขาได้สร้างศิลปะที่เตะตาและท้าทายคนดู, สกรูเทินเห็นว่า นั่นเป็นสุดยอดของศิลปะในศตวรรษที่ 20. งานของดูช็อง เปิดตาทุกคนให้เข้าใจในบัดดลว่า ทุกอย่างเป็นศิลปะได้ ไม่ว่าจะเป็นแค่กระป๋องสิ่งโสโครก หรือกองอิฐ. ตั้งแต่นั้น ศิลปะปลีกตัวออกจากสถานะศักดิ์สิทธิ์ที่คนเคยจัดกรอบให้, มันไม่มีบทบาทในการยกระดับศีลธรรมและจิตวิญญาณอีกต่อไป. มันเป็นเพียงพฤติกรรมหนึ่งของคนหนึ่ง, ไม่มีนัยแฝงนัยลึก แต่กำลังหลอกล่อยั่วเย้าคนดู.

      บางทีศิลปะยุคใหม่นี้ ต้องการช็อคเรา แต่อะไรที่ช็อคเราในครั้งแรก หากเกิดขึ้นซ้ำๆ ก็น่าเบื่อ. ศิลปะที่ถูกสร้างให้เหมือนเรื่องตลก แต่เห็นซ้ำๆ ก็ไม่ทำให้ขัน. การจินตนาการสร้างงานศิลป์, กระบวนการอาจน่าสนใจและชวนสนุก แต่นั่นไม่เพียงพอที่จะประกาศว่า การมีจินตนาการเกี่ยวกับศิลปะ คือศิลปะ. หากงานศิลป์ ไม่เป็นอะไรมากไปกว่าความคิดแล้วล่ะก็  ไม่ว่าใครก็เป็นศิลปิน และไม่ว่าวัตถุใดก็เป็นศิลปะชิ้นหนึ่ง. เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องมีความชำนาญ, รสนิยมหรือวิธีการเสกสรรค์ปั้นแต่ง. คนกำลังตีค่าศิลปะต่ำลงๆ ให้เป็นเพียงวัตถุชิ้นหนึ่ง ด้วยการประกาศว่า นั่นเป็นงานศิลป์ แล้วให้ทุกคนเห็นว่า มันคืองานศิลป์.

      งานของดูช็องยังคงมีอิทธิพลต่อมา เช่น Michael Craig Martin (1941- , ศิลปินและจิตรกร ชาวไอริช) ได้สร้างงานตามวิสัยทัศน์ของดูช็อง. ผลงานที่มีชื่อเสียงคือ An Oak Tree ที่เขายืนยันและอธิบายว่ามันเป็นงานศิลป์.

An Oak Tree by Michael Craig-Martin. 1973; เครดิตภาพที่นี่.

ไมเคิล เครก มาร์ติน ตั้งแก้วน้ำใส บนหิ้งกระจกใสที่มีกรอบเป็นโลหะ ทั้งหมดติดอยู่บนผนังกำแพง. ใต้ลงมามีแผ่นกระดาษให้คำอธิบายว่า สิ่งที่เขาจัดแสดงนั้นคือต้นโอ๊ค. (ไอ้หยา! พึมพำอยู่ในใจ)

       เมื่อคนดู เห็นโถปัสสาวะของดูช็อง หรือต้นโอ๊คของเครก มาร์ติน ไม่มีใครคิดว่ามันสวย แต่มีอะไรบางอย่างที่ตรึงความสนใจขึ้นมา. งานศิลป์ต้องการจับจินตนาการของคน และนั่นคือกุญแจของศิลปะหรือไม่. แก่นของศิลปะคือความคิดที่คนหนึ่งจินตนาการขึ้นมาหรือ? ความจริงของศิลปะ มิได้อยู่ที่ผลิตผลที่มีรูปมีร่าง ที่ถ่ายทอดความคิดนั้นมาหรือ?  

       ดูช็องอาจเห็นว่า ศิลปะชักเบนไปสนใจเรื่องเทคนิคมากเกินไป มุ่งเรื่องมุมมองมากเกินไป จนไปกัดกร่อนมิติทางปัญญาและทางจิตญญาณในศิลปะ. ดูช็องดูเหมือนต้องการเนรมิตรศิลปะ โดยไม่ยึดหลักการเก่าๆที่หลายคนเชื่อว่า ศิลปะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้, เขาตัดบริบทเหล่านั้นออก, เขาคิดว่า ประเด็นของศิลปะไม่เกี่ยวกับสิ่งที่ศิลปะควรมีหรือควรเป็น. ศิลปะควรขยายออกไปรวมสรรพสิ่งที่คนไม่เคยคิดหรือสนใจมาก่อน. นั่นน่าจะเป็นหน้าที่ของศิลปิน คือทำอะไรให้ดูสวย ทำให้คนเห็นอะไรที่สวยน่าทึ่งในสิ่งที่ไม่เคยมีผู้ใดเห็นสวยมาก่อนเป็นต้น.

       อีกตัวอย่างหนึ่งของเจฟ คูนซ์ Jeff Koons (1955-  ศิลปินชาวอเมริกัน สร้างสรรค์ประติมากรรมเกี่ยวกับสรรพสิ่งในชีวิตประจำวัน รวมทั้งบัลลูนรูปสัตว์เป็นต้น).

สุนัข Puppy (1992 ที่ใช้ต้นไม้ดอกสีต่างๆประกอบกันเป็นรูปสุนัข) หน้าหอศิลป์ Guggenheim Museums ที่เมือง Bilbao ประเทศสเปน. เครดิตภาพที่นี่. 

บัลลูนลูกสุนัขสีส้มๆ  เครดิตภาพจากที่นี่.

ศิลปะมีประโยชน์อะไร ศิลปะช่วยคนอย่างไร

      สกรูเทินเชื่อและหวังว่า ศิลปะจะช่วยให้คนมองโลก แล้วเห็นความหมาย, มองให้เห็นโลกปัจจุบัน ณที่นี่และเดี๋ยวนี้, เห็นโลกที่เราอยู่จริง, ตามความเป็นจริงที่ไม่สมบูรณ์ ที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่องและความน่าเกลียด, โลกที่เราต้องอยู่ และพยายามอยู่ให้ดีที่สุด ให้สบายใจที่สุด, ไม่ใช่โลกในอุดมการณ์ที่ดีกว่า. ในแง่นี้ ศิลปะคือการแบ่งปัน, เป็นเสียงร้องเรียกให้คนอื่นมองโลกตามที่ศิลปินเห็น. ในแบบเดียวกับงานวาดเขียนของเด็กๆ ที่วาดภาพ ยืนยันโลกตามที่เขาเห็นและบอกเล่าความรู้สึกที่พวกเขามีในโลกที่เขาอยู่และเห็น. สายลมเย็นสดชื่นที่เกิดจากภาพของเด็กเยี่ยงนี้เอง มีแทรกอยู่ในงานศิลป์ที่แท้จริง. แต่ความคิดสร้างสรรค์ยังไม่เพียงพอ ความชำนาญของศิลปินที่แท้จริง อยู่ที่การนำเสนอความจริงในแสงสว่างของอุดมการณ์. หากทำเช่นนี้ได้ เท่ากับศิลปินบรรลุเป้าสูงสุดของศิลปะ ตามแบบอย่างของไมเคล แอนเจโลเมื่อรังสรรค์รูปปั้นเดวิด. รูปปั้นจำลองของเดวิดที่ไปตั้งประดับสวนหรือที่ใด มันไม่งามเท่า ไม่ตรึงใจเลย เพราะรูปปั้นจำลองเหล่านั้น ขาดมิติของความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน.

       สกรูเทินเตือนว่า อย่าเสี่ยงไปตัดสินรสนิยมของคนอื่น มันไม่ช่วยอะไรให้ดีขึ้น. มีมาตรฐานของความงามที่มีฐานมั่นคงในธรรมชาติมนุษย์กันอยู่แล้ว. เราต้องมองหาฐานนั้นและนำมันเข้ามาในชีวิตเรา. หลายคนได้สูญเสียศรัทธาในความงาม เพราะพวกเขาได้สูญเสียความเชื่อในอุดมการณ์ต่างๆไปแล้ว. พวกเขาจึงพยายามคิดถึงโลกของการเสพ. ค่าของสรรพสิ่ง เหลืออยู่ที่การเป็นสิ่งอำนวยประโยช์เท่านั้น ไม่มีค่าอะไรอื่นอีก. คนคุ้นชินกับ « สิ่งใดมีประโยชน์ สิ่งนั้นมีค่า »

      Oscar Wilde เคยเขียนไว้ว่า ศิลปะเป็นสิ่งไร้ประโยชน์จริงๆ. ที่เขาพูดอย่างนี้ เขาต้องการสรรเสริญความงามดิบ ความงามธรรมชาติ ว่ามีค่ามากกว่าการมีประโยชน์. สกรูเทินยืนยันว่า คนต้องการสิ่งไม่มีประโยชน์มากพอๆกัน บางทีมากกว่าด้วยซ้ำ. ลองคิดหาประโยชน์ของความรัก,  มิตรภาพ, ศรัทธา/การบูชา, หรือความงาม. สังคมบริโภคของเรา เอาประโยชน์ขึ้นตั้งก่อน,  ความงามเป็นเพียงผลพลอยได้นิดๆหน่อยๆ. เมื่อศิลปะไม่มีประโยชน์ มันจึงหมดความสำคัญสำหรับคนยุคใหม่. ข้อมูลรอบตัว รุกเร้าเราตลอดเวลาให้เสพ เสพและเสพ. นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ความงามกำลังหายไปจากโลกของเรา. (ในภาษาญี่ปุ่น มีคำพังเพยหรือสุภาษิตสอนใจว่า 花より団子 - Hana yori dango [ฮะหนะ โยริ ดังโกะ สิ่งที่เป็นประโยชน์ย่อมต้องมาก่อนสิ่งที่สวยอย่างเดียว.  สำนวนนี้ทำให้นึกถึงสภาพความเป็นจริงในชุมชน, นึกถึงพฤติกรรมของชาวญี่ปุ่นเมื่อออกไปออกันในสวน ในวัดหรือศาลเจ้า, ว่าทุกคนดูจะสนใจ มุ่งอยู่กับการกินการดื่มเหล้าใต้ต้นซากุระหรือร้องรำทำเพลง มากกว่าการไปนั่งพินิจพิจารณาชื่นชมความงามของดอกไม้, หรือคิดลุ่มลึกเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของชีวิต ดังที่ชาวญี่ปุ่นพูดย้ำชวนเชื่อไว้. ความจริงคือคนสนใจไปกินไปดื่มและสนุกกับเพื่อนๆมากกว่าสิ่งอื่นใด.  อุดมการณ์เป็นเรื่องสูงส่ง แต่ชีวิตจริงในแต่ละวันต้องมาก่อน ).

       Wordsworth เขียนไว้ว่า เราใช้กำลังของเราให้สูญเปล่าไปกับการซื้อ การจ่ายในวัฒนธรรมบริโภคปัจจุบัน. งานโฆษณา สำคัญกว่างานศิลป์มากนัก และงานศิลป์ก็มักมุ่งไปจับความสนใจของเรา ไม่ผิดแผ่นป้ายโฆษณาสินค้า. ดังตัวอย่างของหัวกะโหลกปลาตินัมฝังเพชร (ผลงานปี 2007) ของเดเมียน เฮิร์ส Damien Hirst (1965-  , ศิลปินร่วมสมัยชาวอังกฤษ ศิลปะของเขาสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะ, ศาสนา, วิทยาศาสตร์, ชีวิตและความตาย)

เดเมียน เฮิร์ส ตั้งชื่อกะโหลกศีรษะนี้ว่า เพื่อเห็นแก่พระเจ้า จงหัวเราะ For the love of God, laugh. กะโหลกเหมือนกำลังหัวเราะเบื้องหน้าความตาย. สื่อนัยย้อนกลับไปยังสำนวนละตินว่า memento mori จำไว้ว่า วันหนึ่งเจ้าต้องตาย. ศิลปินดูเหมือนต้องการเน้นให้เห็นเกมและความบ้าคลั่งในตลาดเสพศิลปะ. เครดิตภาพที่นี่. 

       สกรูเทินวิจารณ์ต่อไปว่า การโฆษณาในตลาดซื้อขายศิลปะทุกวันนี้ เป้าหมายคือการสร้างแบรนด์ ทั้งๆที่บางทีไม่มีอะไรขายด้วยซ้ำ นอกจากภาพโฆษณานั้น. ความงามถูกโจมตีจากสองทิศทาง คือ จากลัทธิของความน่าเกลียดในศิลปะ (รสนิยมของคนยุคปัจจุบัน ใฝ่ความน่าเกลียด สยดสยอง เหมือนเพื่ออวดตัวว่า มีจิตวิญญาณที่อยู่เหนือหรือสยบความสยดสยองนั้นได้).  อีกทิศทางหนึ่ง คือจากลัทธิของความเป็นประโยชน์ใช้สอยจริงในชีวิตประจำวัน.  สองลัทธินี้ มารวมกันอยู่ในโลกของสถาปัตยกรรมยุคใหม่.

        ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของศตวรรษที่ 20 สถาปนิกเหมือนศิลปิน เริ่มไม่ยี่หระกับความงามและเอาประโยชน์ขึ้นก่อน. หลุยซ์ซัลลีเวิน Louis Sullivan (1856-1924, สถาปนิกอเมริกัน. ติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับสถาปนิกอเมริกันคนนี้ได้ที่นี่. ได้พูดถึงลัทธิสำหรับคนยุคใหม่ว่า รูปลักษณ์ต้องเป็นไปตามหน้าที่ (form ever follows function).  หยุดคิดเรื่องหน้าตาของอาคารสถาปัตยกรรม แต่ให้คิดว่าอาคารนั้นจะใช้ทำอะไร. สกรูเทินวิจารณ์ว่า ซัลลีเวิน มีหลักการที่กลายเป็นฆาตรกรรมความงาม ที่ยังส่งผลกระทบสืบต่อมาจนทุกวันนี้, เป็นอาชญากรรมต่อสถาปัตยกรรมยุคใหม่ (อาคารหรือตึกรามบ้านช่องสี่เหลี่ยมตั้งสูง ดุ้นๆเป็นกล่องไม้ขีดไฟ ทะยานสูงขึ้นๆ เป็นพยานหลักฐานของผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจเหนือสิ่งอื่นใด). เมื่อคนออกแบบอาคาร โดยไม่คำนึงถึงความงาม, ผลที่ออกมา พิสูจน์ให้เห็นมากต่อมากรายแล้วว่า หากยึดแต่ประโยชน์ใช้สอยของสรรพสิ่ง, ไม่ช้าไม่นาน สิ่งที่สร้างจะกลายเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ และจะถูกปิดลงในที่สุด. เมืองส่วนใหญ่มีตึกที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยอย่างเร่งด่วน และกลายเป็นตึกที่ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้จริง. สถาปนิกรุ่นใหม่ๆ ไม่เคยเรียนจากข้อผิดพลาดในทศวรรษที่ 1960 ยังคงออกแบบตึกใหม่ๆ คอนโดมากมาย ตามความคิดเดิมๆ ที่จบลงด้วยการรื้อถอนในอนาคต...

       อ้อสกา ไวด์ที่เคยบอกว่าศิลปะทั้งหลายทั้งปวงนั้น ไม่มีประโยชน์. หากนำประเด็นประโยชน์ใช้สอยขึ้นหน้า ไม่ช้าก็จะสูญเสียสิ่งนั้น หากนำความงามขึ้นหน้า, สิ่งที่ได้ จะเป็นประโยชน์สืบต่อไปยั่งยืนนาน เพราะในที่สุด ไม่มีอะไรที่มีประโยชน์มากกว่าสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์. สถาปัตยกรรมแบบเก่า ปลดปล่อยคนจากความบีบคั้นของการต้องมีประโยชน์ และสนองความต้องการความสมดุลในธรรมชาติของเรา ที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนอยู่ในบ้านตัวเอง และเตือนเราว่า เรามีความต้องการอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับการเสพเช่นการกิน การนอน, เรายังมีจิตวิญญาณและความต้องการด้านอื่นด้วย และเมื่อไม่มีการตอบสนองด้านอื่นที่จิตวิญญาณโหยหา เราย่อมอยู่ไม่เป็นสุข.

       เราต่างรู้ว่าแม้ในโลกประจำวัน บัดดลเรารู้สึกเหมือนหลุดออกจากโลกธรรมดาของการเสพ ไปยังโซนสว่างของความคิดคำนึง ดั่งแสงแปล็บปลาบของแสงแดด, เหมือนทำนองเพลงหนึ่งที่จำได้, ใบหน้าของคนที่เรารัก. นาทีที่รู้สึกปลาบปลื้มเช่นนั้น เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ที่ยืนยันว่า ชีวิตนี้มีค่า. นาทีอมตะเยี่ยงนี้ ทำให้เรารู้สึกว่า มีโลกอีกโลกหนึ่งที่อยู่เหนือโลกปัจจุบันเบื้องหน้าเรา. ตั้งแต่เริ่มต้นของอารยธรรมตะวันตก กวีและนักปราชญ์ ได้สัมผัสความงาม ว่าเป็นสิ่งที่เชิญชวนจิตใจไปสู่เบื้องบน (เรียกสะดวกๆว่า พระเจ้า). เปลโตเขียนไว้ในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาลแล้วว่า ความงามเป็นตราของระเบียบที่เหนือกว่าแบบหนึ่ง. ให้มองดูความงามด้วยดวงตาของจิตใจ แล้วเจ้าจะสามารถหล่อเลี้ยงคุณธรรมและเป็นเพื่อนของพระเจ้า. เปลโตเป็นผู้ยึดมั่นในอุดมคติ เขาเชื่อว่า มนุษย์เป็นผู้จาริกและผู้โดยสารของโลกนี้ ที่บ่ายหน้าสู่สิ่งที่อยู่ไกลออกไปจากโลกที่เห็น, ไปยังอาณาจักรนิรันดร์ที่แต่ละคน จะเข้ารวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระผู้เป็นเจ้า. พระเจ้าอยู่เหนือโลกของวัตถุ (เรียกง่ายๆเพื่อความสะดวกว่า) โลกสวรรค์, โลกที่มนุษย์อยากไป แต่ไม่รู้ว่าจะไปได้อย่างไร. แต่มีทางสัมผัสโลกสวรรค์จากที่นี่ จากโลกนี้ เมื่อคนสามารถสัมผัส ดื่มด่ำกับความงาม.

      สกรูเทินบอกว่า สำหรับเปลโต เหนือสิ่งอื่นใด ความงามคือความงามของใบหน้ามนุษย์และรูปร่างมนุษย์ (สุนทรีย์กรีก). ความรักความงามน่าจะเริ่มขึ้นใน เอโรซ eros คือกัมมภาวะ (emotion) ที่คนแต่ละคนรู้สึกได้ ที่เราอาจเรียกความรู้สึกดังกล่าวว่า เป็นความรักโรแมนติก.  สำหรับเปลโต เอโรซคือพลังจักรวาลที่ไหลผ่านตัวคน, คือกามฉันทะ. แต่หากความงามกระตุ้นกามฉันทะ มันจะไปเกี่ยวกับความเป็นเทพได้อย่างไร (กามฉันทะนั้น สำหรับมนุษย์เดินดิน คือความรักใคร่, ความปรารถนาทางเพศ, ความลุ่มหลงในกามหรือราคะ) ในเมื่อราคะเกี่ยวกับการเอา การยึดมาครอง.  เปลโตจึงเสนอ platonic love หรือ ความรักฉันท์มิตร เป็นทางออกสู่(พระเจ้า/เทพ) เบื้องบน, ว่าเป็นความปรารถนาที่ไม่มีราคะเจือปน เช่นเมื่อเห็นความงามของเด็กหนุ่มสาว ที่ทำให้เหมือนได้สัมผัสแสงเรืองรองของนิรันดร ที่ส่องมาจากโลกอื่น. ความงามของร่างคน เป็นคำเชิญชวนให้หลอมตัวเชื่อมกับความงามนั้นทางจิตวิญญาณ มิใช่ทางกาย. เป็นความงามเพื่อการชื่นชม มิใช่เพื่อการจับจองเป็นเจ้าของ. ความรู้สึกต่อความงามดังกล่าว จึงเป็น «อารมณ์ศาสนา» มิใช่กามารมณ์. เปลโต้จึงสรุปว่า ความงามที่แท้จริงอยู่เหนือความรักใคร่. ดังนั้น เราอาจเห็นความงามในร่างของเด็กรุ่นๆ หรือในใบหน้าที่เหี่ยวชราด้วยวัย ด้วยทุกข์เวทนา หรือด้วยความสงบสุขุม ดังที่เรมแบรนด์ได้วาดไว้, แสดงให้เห็นความงามของใบหน้าหนึ่ง ที่ชีวิตได้ประทับรอยของมันบนเลือดเนื้อนั้น, กลายเป็นภาพของจิตวิญญาณ. และเมื่อเรามองใบหน้านั้น เราเหมือนได้สัมผัสจิตวิญญาณของคนนั้น.

       ทฤษฎีของเปลโต้นี้น่าทึ่งจริงๆ เขาคิดว่า ความงามเหมือนอาคันตุกะจากอีกโลกหนึ่ง, เราทำอะไรกับมันไม่ได้ นอกจากชื่นชมความงามกระจ่างผุดผ่องนั้น. หากลงมือทำอะไรกับความงามนั้น จะกลายเป็นการทำลาย เป็นการล่วงละเมิดออร่าศักดิ์สิทธิ์. คนยุคปัจจุบัน อาจคิดว่าแปลกประหลาด แต่เป็นทฤษฎีที่ส่งอิทธิพลอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์อารยธรรมตะวันตก, ได้ดลใจมุมมองเกี่ยวกับเพศและความรัก แก่กวี นักเล่านิทาน จิตรกร นักบวชและนักปรัชญา. วรรณกรรมจำนวนมากได้ถ่ายทอดวิสัยทัศน์ของกามฉันทะตามมุมมองของเปลโต (Thomas Malory, John Donne, Guido Cavacanti, Spencer Johnson, Christina Rossetti, รวมทั้งจิตรกรเช่น Sandro Botticelli)

       จิตรกรเช่นเรมแบรนด์ได้เสนอและนำเราให้เห็นว่า ความงามเป็นสิ่งธรรมดาๆในชีวิตประจำวัน, อยู่รอบตัวเรา. เราเพียงมีตามอง มีหัวใจที่มีความรู้สึก ก็จะเห็นว่า แม้สิ่งแสนสามัญที่สุด อาจกลายเป็นสิ่งที่งามได้ โดยเฉพาะเมื่อจิตรกรสามารถเจาะทะลุเข้าถึงใจกลางของสิ่งนั้น. ศิลปะจะยังอยู่ นานตราบเท่าที่ใจกลางของอารยธรรมของเรา ยังมีความเชื่อในสิ่งที่ตามองไม่เห็นหรือสัมผัสได้ ที่อาจเรียกว่า พระเจ้า(เพื่อความสะดวก).  ศิลปินและนักปรัชญา ยังคงคิดถึงความงามตามแนวของเปลโต, เป็นความงามที่เปิดเผยการมีอยู่ของพระเจ้าเบื้องบนในโลกปัจจุบันของที่นี่และเดี๋ยวนี้. การเข้าถึงความงามตาม “แนวศาสนา” นี้ สืบทอดมานานกว่าสองพันปีแล้ว.

       แต่ในศตวรรษที่ 17 การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ ได้หว่านเมล็ดแห่งความสงสัยไปทั่วยุโรป. คริสตจักรยุคกลางยอมรับมุมมองจากยุคโบราณว่า โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล. โคแปร์นิกุส กับกาลิเลโอ กลับพิสูจน์ให้เห็นว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์, ตามด้วยนิวตันที่อธิบายว่า จักรวาลหมุนไปเหมือนระบบนาฬิกา, แต่ละนาทีตามหลังนาทีก่อนอย่างอัตโนมัติ. นี่เป็นวิสัยทัศน์ยุคแสงสว่างนำปัญญาในอารยธรรมตะวันตก. จุดยืนดังกล่าว ไม่เหลือพื้นที่ให้พระเจ้าหรือวิญญาณใดๆอีกเลย, ไม่มีที่สำหรับคุณค่า, อุดมคติอื่นใด, ไม่มีพื้นที่สำหรับเรื่องอื่นใด, นอกจากการเคลื่อนไหวสม่ำเสมอของระบบนาฬิกา ที่ทำให้ดวงจันทร์หมุนไปรอบโลกและโลกหมุนไปรอบดวงอาทิตย์. ทุกอย่างเป็นไปเช่นนั้นอย่างอัตโนมัติ โดยไม่มีเป้าหมายใดๆเลย. 

        ความคิดที่ว่าโลกตั้งอยู่และวิวัฒน์เต็มศักยภาพของมันอย่างอัตโนมัติอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีลัทธิศาสนาใด มาจัดระบบโลกและจักรวาล. พระเจ้าไม่ได้เป็นผู้ปลูกความงามลงในโลก, คนต้องค้นพบความงามนั้นเอง. การค้นพบความงาม จักยกระดับความชื่นชมในศิลปะและธรรมชาติ, ยกขึ้นสูงบนที่ตั้งที่เคยเป็นที่สถิตของพระเจ้า. ความงามเข้าเติมเต็มหลุมโหว่ที่วิทยาศาสตร์เป็นผู้ขุด. ความงามมาช่วยให้คนมองเห็นมนตร์เสน่ห์ของชีวิต. สกรูเทินบอกว่า คิดอย่างนี้ ตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ได้ลึกซึ้งกว่า.

       ศิลปินยุคปัจจุบัน ไม่ได้เป็นผู้วาดภาพประกอบเรื่องราวศักดิ์สิทธิ์ ดังที่เคยรับใช้ศาสนามาก่อนในอดีต. มาบัดนี้พวกเขาเป็นผู้ค้นหาเรื่องราวต่างๆ, หาความลับจากธรรมชาติ, เจาะลึกทัศนียภาพที่เคยเป็นเพียงฉากหลังของภาพเนื้อหาศาสนามาก่อน แล้วถอยคนออกไปเป็นเพียงองค์ประกอบย่อยๆในหลืบของภูมิประเทศ. Anthony Ashley Cooper, 3rd Earl of Shaftesbury (1671-1713, นักการเมือง, นักปรัชญาและนักเขียน) บอกว่า การนำเสนอความงามของโลก ไม่จำเป็นต้องมีเทคนิคกลไกขั้นสูง, คนเพียงเปิดตามองให้กระจ่าง, สังเกตอย่างละเอียด, ไร้อารมณ์, หยุดคิดถึงประโยชน์, หยุดอธิบาย, ให้สิ่งที่เห็นนำจิตวิญญาณไปสู่ความงาม. แล้วจะเข้าใจสารของดอกไม้. พุทธศาสนาเซนก็พูดไว้ในทำนองเดียวกัน ปล่อยวางความสนใจหรือธุรกรรมใดลงเสีย เพื่อเผชิญสัจจะของดอกไม้, มองดูทุกอย่างตามที่มันเป็น, เราจะค้นพบความงาม.

       อิมมานูเอล คั้นต์ Immanuel Kant (1724-1804, นักปรัชญาชาวเยอรมัน นักคิดหลักในยุคแสงสว่างส่องปัญญาศตวรรษที่ 18 ผู้มีอิทธิพลต่อความคิดและปรัชญาของคนรุ่นต่อๆมาอย่างยิ่ง) สนใจปรัชญาของ Shaftbury มากและวิเคราะห์ไปในแนวเดียวกันว่า เพียงเราปล่อยตัวซึมซับสรรพสิ่งและเห็นความจริงตามที่มันเป็น, ความงามจะอุบัติขึ้น. หยุดคำนึงถึงความสนใจของเราเอง, ว่าจะใช้มันทำอะไรได้บ้าง, หรืออธิบายว่ามันทำงานอย่างไรเพื่อจะใช้มันตามความต้องการ. เปรียบได้กับความรู้สึกเมื่ออุ้มเด็กทารกในมือ เราไม่ได้จะทำอะไรกับเด็ก ไม่ได้จะกินเด็ก หรือเอาไปใช้ทำอะไรทั้งสิ้น เราเพียงต้องการมอง สัมผัสตัวทารกนั้น. ความปิติบังเกิด ซาบซ่านใจ.

       ส่วนใหญ่ในชีวิต คนวนเวียนอยู่กับความกังวล, ความผูกพันในชีวิตประจำวัน แต่บางครั้งบางคราว เราถูกสั่นคลอนไปกับความอิ่มเอมใจเมื่ออยู่ต่อหน้าบางสิ่งที่กว้างกว่าและสำคัญกว่าความต้องการและความสนใจปัจจุบัน. หลายคนมีประสบการณ์มาแล้ว เช่นในขณะฟังดนตรี, ในขณะยืนชมภูมิทัศน์ที่สวยตรึงใจ, หรือเมื่ออ่านบทกวีที่เจาะลึกถึงแก่นของสิ่งหนึ่งหรือความรู้สึกหนึ่ง. การเผชิญกับความงามเป็นไปอย่างฉับพลัน รุนแรง ส่วนตัว. ความงามส่องประกายมาถึงเรา ดั่งลำแสงสาดส่อง สว่างขึ้นในบัดดล, ดั่ง เสียงจากพระเจ้า. เป็นประสบการณ์ที่อยู่เหนือสามัญสำนึก นำเราไปอยู่เบื้องหน้าอะไรที่ศักดิ์สิทธิ์ ทำให้อกระทึกเหมือนเมื่อตกหลุมรัก. เป็นประสบการณ์ที่แปลกที่สุด ที่กวีและปราชญ์ได้พยายามบอกว่า การปะทะกับความรู้สึกดังกล่าว เป็นนาทีศักดิ์สิทธิ์ และยืนยันว่า มีความงามจริงในโลกนี้ ที่เชื่อมตัวตนของเรากับความลึกลับของความเป็นคน.

      นักปรัชญาและศิลปิน มีเหตุผลดีทีเดียวที่เชื่อมความงามกับความศักดิ์สิทธิ์, มีเหตุผลดีทีเดียวที่เราต้องการความงาม และโหยหาสิ่งปลอบใจในโลกที่เต็มไปด้วยอันตราย, ความเสียใจและความเครียด. ตั้งแต่เริ่มอารยธรรมของมนุษย์ ศิลปะเป็นสิ่งปลอบประโลมใจและกระตุ้นอารมณ์สุนทรีย์.  การค้นพบความงาม แม้ในสภาพชีวิตจริงที่เลวร้ายที่สุด อาจช่วยดึงทุกข์เวทนาออกไปจากคนได้. ดังตัวอย่างภาพตรึงกางเขนของ มันเตญา Mantegna ที่นำเสนอความตายที่โหดเหี้ยมที่สุด ที่น่าเกลียดที่สุด. แต่ศิลปะของมันเตญา บรรลุความสง่าและความขรึม ชดเชยความน่ากลัวของความตาย และธำรงศักดิ์ศรีของคนไว้ได้.

ส่วนหนึ่งของจิตรกรรม Lamentation over the Dead Christ (1480), ผลงานของ Andrea Mantegna ที่ Pinacoteca di Brera เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี. เครดิตภาพที่นี่.

        ความงามเป็นอิฐ. เมื่อเราติดตามหาความงาม เท่ากับเรากำลังก่อร่างสร้างโลกให้เป็นบ้าน, บ้านที่คือวิมานของเรา. สกรูเทินสรุปว่า ศิลปะและดนตรี ส่องไปบนชีวิต(เซ็งๆ)ประจำวัน เป็นลำแสงที่เติมพลังแก่เราในการแก้ไขปัญหา หรือเป็นประกายของสันติสุขอันอบอุ่นใจ. พลังอำนาจเช่นนี้เอง ที่ทำให้ ความงามเป็นสิ่งทดแทนศาสนาได้.  

       สกรูเทินบอกอย่าถามเลยว่า ทำไมถึงเน้นศาสนาทำไมไม่พูดว่า ศาสนาเข้าแทนที่ความงามได้?  ทำไมจึงพูดถึงความงามกับศาสนา เหมือนเป็นคู่แข่งกัน.  คำตอบคือ ทั้งสองเหมือนสองประตูที่อยู่เคียงข้างกัน และที่เปิดไปสู่พื้นที่เดียวกัน...ที่เป็นที่ตั้งบ้านของเรา.

    « บ้านคือวิมานของเรา ยามพบความเศร้า  รีบกลับบ้านเรา จะเปรมปรีดา เพราะบ้านมีรัก น้ำใจ อภัย กรุณา  คอยเราอยู่ทุกเวลา ในชายคาเขตบ้านของเรา » (แว่วเสียงยืนยันจาก สวลี ผกาพันธุ์)

ชอบใจ Beauty is Home ความงามคือบ้าน 

หากโลกยังมีความงาม จะขอให้กูเกิลแม็ปปัดหมุด 

locate my Home and pinpoint my Living Room!

โชติรส รายงาน

๑ ธันวาคม ๒๕๖๓. 

--------------------------------

*** ติดตามอ่านประวัติของ Roger Scruton  ได้ที่นี่ >>

https://www.theguardian.com/books/2020/jan/14/sir-roger-scruton-obituary

*** ติดตามดูผลงานและอิทธิพลของ Michael Craig-Martin ในวงการศิลปะร่วมสมัย >>

https://www.youtube.com/watch?v=Xd7w8X0Ym9o

*** ดูสารคดีเรื่อง Why Beauty Matters ได้ที่ลิงค์นี้ >>

https://topdocumentaryfilms.com/why-beauty-matters/

No comments:

Post a Comment