Tuesday, September 1, 2020

Pig trial

เมื่อหมูตกเป็นจำเลยในศาล  
เมื่อเริ่มฟังปาฐกถาเรื่อง Les procès faits aux animaux (XIIIe-XVIIe siècle) ของศาสตราจารย์ มิเชล ปาสตูโร Michel Pastoureau นักประวัติศาสตร์ยุคกลาง medievalist ผู้ศึกษาวิจัยยุคกลางในตะวันตกตลอดหกสิบกว่าปีของชีวิต, เป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยซอร์บอน Sorbonne และสถาบันการศึกษาขั้นสูง L’École pratique des Hautes Études ฯลฯ, ผู้มีผลงานจำนวนมากที่เจาะลึกสังคม วัฒนธรรม ค่านิยม ขนบประเพณี ระบบสัญลักษณ์ สัตว์ในประวัติศาสตร์และในศิลปะ บทบาทและบทเรียนฯลฯ, ผู้เป็นที่รู้จักในวงการศึกษาทั่วโลก(ญี่ปุ่นด้วย). เมื่อเริ่มฟัง ฟังเพราะขำ พึมพำกับตัวเองว่า ฝรั่งเศสเท่านั้นที่จะขุดคุ้ยเรื่องแบบนี้มาเล่าเป็นฉากๆ เป็นหนังสือหลายสิบเล่ม!  แต่ฟังไปๆ ชักไม่ขำ. ในที่สุด อยากสรุปมาเล่าสู่กันฟัง, อาจเป็นตัวอย่างของการศึกษาประวัติศาสตร์แบบหนึ่งสำหรับคนรุ่นใหม่. เรื่องที่ชวนขันกลับเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เล่มใหญ่ของฝรั่งเศสและของมนุษยชาติ.     
      เรื่องหมูที่ปาสตูโรนำมาเล่านั้น ไม่ใช่เรื่องหมูๆเลยที่จะเข้าถึงข้อมูลและหลักฐานลายลักษณ์จากยุคกลาง. ข้าพเจ้าสรุปเนื้อหาจากปาฐกถาของศาสตราจารย์ มิเชล ปาสตูโร โดยจัดขั้นตอนในรายงานของข้าพเจ้า ไม่เหมือนกับปาฐกถาของปาสตูโรนัก เพื่อความง่ายและชัดเจน และได้แทรกรายละเอียดเพิ่มเติมเล็กน้อย เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพรวมของสังคมยุคกลางดีขึ้น.
      การเจาะลึกถึงข้อมูลในแบบที่ปาสตูโรทำมาตลอดชีวิตของเขา ยืนยันอุปนิสัย ความละเอียดและความมุ่งมั่นใฝ่รู้ถึงรากเง่าของความรู้และข้อมูล ที่เป็นเอกลักษณ์หนึ่งของปัญญาชนชั้นสูงชาวฝรั่งเศส ที่ตรึงให้ข้าพเจ้าอ่าน ฟังและติดตามงานของปาสตูโร ด้วยความเคารพยกย่อง. ผู้สนใจติดตามฟังได้ปาฐกถาเรื่องนี้ได้ จากลิงค์ท้ายเรื่อง.
       กรอบงานวิจัยของปาสตูโร อยู่ระหว่างปี 1250 ถึงปี 1650. ยุคดังกล่าวในฝรั่งเศส มีคดีความตัดสินพฤติกรรมหรืออาชญากรรมของสัตว์ อันเป็นกระแสทั่วไปในยุโรปยุคนั้นด้วย.

โลกยุคกลาง มีสัตว์อะไรบ้าง
ยุคโบราณนานมาจนถึงยุคกลาง เขาจำแนกสัตว์ออกเป็นห้าประเภท เป็นสัตว์สี่เท้า สัตว์ปีก สัตว์น้ำ สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์อื่นๆที่ไม่เข้าข่ายสัตว์สี่ประเภทที่กล่าวมา.
     ความจริงแล้ว ยุคกลางยังมีสัตว์ประเภทที่หก ที่คือยักษ์ สัตว์ใหญ่หน้าตาประหลาด (ในตำนาน หรือในจินตนาการ) เรียกเป็น มอนสเตอ monsters.
     ยังมีประเภทที่เจ็ดที่เป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน ฟาร์ม เรือกสวนไร่นา ที่รวมในคำกว้างๆว่า domestic animals (จากรากศัพท์ละติน domus ที่แปลว่า ที่อยู่อาศัย) แต่ความหมายของสัตว์กลุ่มนี้ในปัจจุบัน รวมนัยที่ว่า เป็นสัตว์เลี้ยง(แบบอุตสาหกรรมหรือไม่) ที่คนเป็นผู้ควบคุมการขยายพันธุ์ของสัตว์.
     สุดท้าย มีสัตว์ที่คนจัดว่าเป็นสัตว์ที่นำมาจากต่างถิ่นต่างแดน exotic animals. ในความหมายปัจจุบัน สัตว์ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ อาจเป็นสัตว์ที่คนไม่เคยเห็น โดยไม่ได้มาจากต่างทวีปต่างพรมแดน, อาจมาจากป่าลึก จากถิ่นที่ไกลผู้คน จึงเป็นสัตว์ที่คนไม่เห็นบ่อย. 

สัตว์อะไรบ้างที่ตกเป็นจำเลย
นักวิจัยแยกแยะกลุ่มสัตว์ที่ตกเป็นจำเลยออกเป็นสามประเภท
1. คดีฟ้องสัตว์ทั้งกลุ่ม คดีเกี่ยวกับกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในดุลยพินิจขององค์การศาสนา ของตัวแทนเช่นเจ้าอาวาสของพื้นที่นั้น ผู้จักให้ความยุติธรรมแก่สัตว์. สัตว์ในกลุ่มนี้เช่น พวกแบ็คทีเรีย, แมลง, กุ้ง, หอย, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีฟันแทะ (rodent), พวกหนอนและแมลงที่เป็นศัตรูพืช (vermin) เป็นต้น. ในกลุ่มแรกนี้ ส่วนใหญ่เป็นสัตว์เล็ก ตัวอย่างแมลงปีกแข็งที่เขมือบผลผลิตของท้องที่เสียหายยับเยิน ดังกรณีที่เกิดขึ้นในปี 1516 ที่เมืองทรัว (Troyes) เจ้าอาวาสได้ประกาศข่มขู่ให้แมลงทั้งฝูงออกไปจากพื้นที่ภายในหกวัน มิฉะนั้นจะถูกขับไล่ออกจากศาสนา (excommunicated). หลายปีก่อนหน้านั้น ปลาไหลในทะเลสาบเลม็อง ทะลึ่งเหลิงตัวเกินขีดจำกัด เพราะออกลูกออกหลานมากเกินไปจนล้นทะเลสาบเลม็อง. ตอนนั้น เจ้าอาวาสเมืองโลซานต้องเข้าไปจัดการกับฝูงปลาไหลเพื่อ “นำปลาไหลกลับคืนสู่เหตุผล”, ให้ปลาไหลมอบพื้นน้ำแก่ปลาชนิดอื่นๆที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบเดียวกันนั้นบ้าง.  ปรากฏว่า คำขอวิงวอนของเจ้าอาวาสเมืองโลซานไม่ทำให้สถานกาณ์ดีขึ้น พวกปลาไหลทำหูทวนลม ไม่ใส่ใจในคำขอของศาสนา. เจ้าอาวาสในที่สุด ประกาศขับไล่ปลาไหลออกจากชุมชนคริสต์โดยไม่รีรออีกต่อไป. เรื่องนี้ เราฟังแล้วหัวเราะงอหาย แต่มันมีนัยยะสำคัญหลายประเด็น ชี้ให้เห็นว่า ในยุคนั้นคนกับสัตว์มีความสัมพันธ์กันแน่นแฟ้น. พระเจ้าเป็นผู้สร้างสรรพชีวิตไว้บนโลก รวมถึงคน. สัตว์และคน จึงขึ้นอยู่กับพระผู้สร้างองค์เดียวกัน. สัตว์จึงเป็นส่วนหนึ่งของสังคมคริสต์. เมื่อทำผิดกฎศาสนาหรือกฎของพระเจ้า  ก็ต้องถูกขับไล่ออกจากศาสนาไป (excommunication). ดังนั้นคดีสำหรับจำเลยในกลุ่มนี้ อยู่ในอำนาจของเจ้าอาวาส ตามกระบวนการยุติธรรมของศาสนาคริสต์เป็นสำคัญ.
2. คดีกลุ่มสัตว์เลี้ยงและสัตว์ขนาดใหญ่ ที่อยู่ในดุลยพินิจของฝ่ายความยุติธรรมของราชสำนักและฝ่ายพลเรือน. สัตว์ขนาดใหญ่ในกลุ่มนี้ เช่น ม้า หมู ลา วัว สุนัข เกือบทั้งหมดเป็นสัตว์เลี้ยงในครัวเรือน, ถูกตัดสินเป็นรายตัว ตามพระราชอำนาจของเจ้าผู้ครองหรือของเจ้าชายของเมืองนั้น. ความผิดของสัตว์ในกลุ่มนี้ เช่นทำลายเรือกสวนไร่นา, บุกรุกเข้าไปในร้านค้าขาย, ก่อความวุ่นวายและความเสียหายแก่ชาวบ้านร้านถิ่น, หรือบางทีทำให้เด็กตายหรือผู้คนบาดเจ็บ. จึงตกเป็นจำเลย ต้องคดีอาชญากรรม. คดีเหล่านี้มีจารึกในจดหมายเหตุ แม้จะไม่ละเอียดนัก. เช่นในปี 1415 เกิดคดีพิพากษาวัวตัวหนึ่ง ที่เมืองตูลูซ Toulouse เพราะวัวปฏิเสธที่จะลากเกวียน. เจ้าของจึงไปฟ้องร้องต่อศาล วัวถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการถูกตัดหัว ในฐานะที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ ผิดจริยธรรมของวัว(ที่คนกำหนดให้มัน). เช่นกันที่คนประดิษฐ์รถลากล้อเดียว ไม่ใช่เพื่อให้ตัวเองเข็นไปทำงานในไร่นา แต่เพื่อให้หมูเป็นผู้ลากไป. และหากสัตว์ไม่ทำตามหน้าที่ที่คนมอบให้ ก็ถูกฟ้องขึ้นศาล. ความผิดของสัตว์กลุ่มนี้มีหลายแบบ จำเลยแต่ละตัวถูกนำไปขึ้นศาลพลเรือน และเมื่อผู้พิพากษาได้ฟังข้อหาและตัดสินความแล้ว สัตว์ถูกลงโทษตามคำพิพากษาอย่างตรงไปตรงมา. มีบางกรณีเหมือนกันที่สัตว์ถูกภาคทัณฑ์ไว้เท่านั้น.
3. คดีกลุ่มสัตว์ที่ทำผิดกฎศาสนา เล่นเวทมนตร์คาถาหรือมายากล หรือเพราะความโหดร้ายป่าเถื่อน. ดังที่รู้กัน(หรืออาจไม่รู้กัน) ว่า การเล่นเวทมนตร์หรือใช้มายากล เป็นคดีที่เกิดขึ้นบ่อย มิใช่ในยุคกลางเท่านั้น เช่น การบูชายันตร์ การบูชาฝีสางยักษ์มาร บูชาสัตว์. ล้วนเป็นการทำผิดกฎศาสนา, ทำลายสัมพันธ์อันดีระหว่างคนกับสัตว์. คดีในกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มสุดท้ายที่สัตว์ตกเป็นจำเลย. ความผิดจากกลุ่มนี้ อยู่ในช่วงสุดท้ายของยุคกลาง ราวกลางศตวรรษที่ 15 (c.1430) และมีมากขึ้นในศตวรรษที่ 16-17.  ยุคนั้นศาสนาคริสต์แตกแยกออกเป็นสองนิกายแล้ว, คดีเกิดขึ้นมากพอๆกัน ในนิกายโปรเตสแตนต์และนิกายคาทอลิก.
    ตัวอย่างการไปเข้าร่วมงานวัน Sabbath เมื่อเหล่าแม่มดหมอผีพบกับเหล่าปีศาจ. มีการบูชาปีศาจที่แฝงมาในร่างของหมีบ้าง แมวยักษ์บ้าง หรือแพะ(ดำเป็นส่วนใหญ่). เหล่าแม่มดนั่งบนไม้กวาดไปงาน, ยังมีสัตว์ราตรีอีกหลายตัวที่อยู่ในกลุ่มปีศาจ เช่นนกเค้าแมว แมว อีกา.
    วัน Sabbath เล่ากันไว้เยอะมากในศตวรรษที่ 16-17 ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสกปรกตลบแตลง ที่จบลงด้วยการกล่าวหาคน ว่าป่าเถื่อนโหดร้ายกับสัตว์ โดยที่ในความเป็นจริง เกิดจากความอิจฉาริษยาของคู่ชีวิตของตัวเอง หรือของญาติ หรือของเพื่อนข้างบ้านเป็นต้น.
    ปาสตูโร เล่ากรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นที่เมืองตูลูซ Toulouse ในราวปี 1560/61 ว่า หมอปรุงยาถูกเพื่อนบ้านฟ้องว่า เขารักแกะของเขามากกว่าภรรยาและเสพเมถุนกับแกะตัวนั้น ที่ผิดกฎธรรมชาติ และผิดกฎศาสนาอย่างยิ่ง. หมอปรุงยาถูกตัดสินประหารชีวิต. หลายเดือนต่อมา แม่หม้ายสาวของหมอปรุงยา แต่งงานกับเลขานุการศาล. เรื่องนี้เป็นเรื่องกุขึ้นทั้งเพ. เรื่องกุแบบนี้กลับมีการเขียนเล่าต่อๆกันมา บันเทิงเริงรมย์กามแก่คนอ่านในศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20.

คดีที่สัตว์ตกเป็นจำเลยนั้น เกิดขึ้นที่ไหนบ้าง เกิดบ่อยไหม
ปาสตูโร ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ที่มีคดีเนื่องกับสัตว์. ดินแดนแถบเทือกเขาแอลป์ ดูเหมือนจะมีคดีเกิดขึ้นมากกว่าแถบใดในฝรั่งเศส. หนึ่งหรือสองศตวรรษผ่านไป ดินแดนแถบนั้น ยังเกิดคดีกลุ่มที่สามว่าด้วยเรื่องมายาเวทมนตร์ หลายคดีทีเดียว. ในฝรั่งเศส คดีที่มีสัตว์เป็นจำเลยเกิดขึ้นมากในดินแดบแถบนอร์ม็องดี Normandie, บูร์กอญ Bourgogne, ลอแรน Lorraine ส่วนที่อยู่ในพรมแดนฝรั่งเศส. กรณีที่เกิดขึ้นล้วนมีเอกสารบันทึกไว้. เมื่อปาสตูโร ค้นเจาะลึกลงไปในเอกสาร ยุคกลางจากแหล่งต่างๆ พบว่า คดีจริงๆที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสมีเพียง 64 คดี. กล่าวโดยรวมแล้ว คดีที่จำเลยเป็นสัตว์ ยังนับว่าน้อย.
ประเด็นของการบันทึกคดีต่างๆแบบนี้ เพื่อให้เห็นว่า ความยุติธรรมที่ถูกต้อง เกี่ยวกับทุกผู้ทุกนามและครอบคลุมไปถึงสัตว์ด้วย. ทั้งหมดชี้ให้เห็นถึง ความพยายามของภาครัฐ ในการธำรงความยุติธรรมทางกฎหมายให้อยู่ในระดับสูงสุด โดยยึดหลักความเมตตาค้ำจุนสังคม อย่างเสมอภาคและเสมอหน้ากัน.

ชีวิตหมูในยุคกลาง
ตามหลักฐานและภาพวาดที่ปรากฏในหนังสือ manuscript ยุคกลาง ช่วงฤดูใบไม้ร่วง เช่นเดือนพฤศจิกายน คนเลี้ยงหมู ต้อนหมูทั้งหมดไปในป่า ให้หมูกินผลของต้นโอ๊คที่จะร่วงหล่นเต็มพื้นป่า (acorns). เจ้าของปล่อยให้หมูกินจนอ้วนท้วน(นานเป็นเดือน) แล้วจึงต้อนกลับเข้าหมู่บ้าน. พวกหมูก็ถูกฆ่าเป็นอาหาร. ชาวบ้านทำหมูเค็มชนิดต่างๆ เช่นแฮม ไส้กรอกสารพัดชนิด แล้วแขวนขาหมูตากเย็นในความหนาว. หมูเป็นอาหารโปรตีนสำคัญที่สุดของคนยุคนั้น(และต่อมาจนถึงปัจจุบัน)
จิตรกรรมน้อยประดับหนังสือสวด Les Très Riches Heures ผลงานของสองพี่น้อง Limbourg  (1485/86) ภาพนี้เจาะจงไว้ว่า เดือนพฤศจิกายน. ชาวบ้านต้อนฝูงหมูออกไปในป่า ปล่อยให้หมูกินผล(นัต)จากต้นโอ๊ค.
เขาแขวนขาหมูแฮม ตากลมหนาวในยุ้งฉาง ถ้าเป็นชาวนา ก็ห้อยไว้ในบ้านเลย

ในยุคกลาง คนเลี้ยงหมู ปล่อยให้หมูบ้านไปปะปนกับหมูป่าบ้าง. หมูป่าและหมูบ้าน อยู่ในวงศ์เดียวกัน (Suidae) แม้จะคนละสปีชีส์ ในด้านชีววิทยาร่วมเพศสัมพันธ์กันได้. แต่ในด้านสัญลักษณ์นั้น ปะปนกันไม่ได้เลย. วัฒนธรรมและระบบค่านิยมในยุคศักดินานั้น ชัดเจนมาก ต้องไม่สับสนหมูป่ากับหมูบ้าน. หมูป่า (wild boar) เป็นสัตว์แกร่งกล้า. เมื่อชนชั้นสูงออกล่าสัตว์ หากได้สู้กับหมูป่านั้น เป็นความห้าวหาญ ความภูมิใจ ยิ่งต้องสู้กันแบบตัวต่อตัว และเอาชนะหมูป่าได้ ยิ่งเป็นวีรกรรม และแม้เสียชีวิตเพราะการต่อสู้กับหมูป่า ก็ยังถือว่าเป็นการตายอย่างมีศักดิ์ศรี เป็นการตายเยี่ยงนักสู้ เยี่ยงเจ้าชาย เยี่ยงกษัตริย์. แต่หมูบ้าน (pig) นั้น เป็นสัตว์ไม่บริสุทธิ์, เป็นสัญลักษณ์ของความสกปรกและความตะกละตะกลาม.

 
เกือบทุกส่วนของหมู pig กินได้ทั้งนั้น. เครดิตภาพที่นี่
ระหว่างปี ชาวบ้านต้องดูแลปลูกข้าว พืชผักและผลไม้ ไม่มีเวลามาดูแลหมูนัก หมูจึงเล็ดลอดออกจากคอก(หากมีคอก) หรือฟาร์ม ออกไปเดินเพ่นพ่นตามอัธยาศัยหมู ดมซูดๆหาอาหารกินไปตามเรื่องของมันอย่างเสรีพอควรทีเดียว. ตามธรรมชาติ หมูกินได้ทุกอย่างทั้งพืชและสัตว์. หมูเข้าไปในสวนครัว กัดกินพืชผักเป็นต้นๆก็มี, ไปในยุ้งฉางที่เก็บเมล็ดธัญพืช กินผลผลิตของชาวนาชาวไร่, เข้าไปในสุสาน ขุดซากศพฯลฯ. จากท้องนายังเลยเข้าไปในชุมชน เหมือนชาวบ้านนอกเข้ากรุง. หมูมีความดีอยู่เหมือนกัน มันช่วยกำจัดขยะเศษอาหารเหลือของชาวบ้านในตัวเมือง. แต่ในที่สุดพฤติกรรมของหมู ก่อให้เกิดความเดือดร้อน ทำลายทรัพย์สิน ก่อปัญหาต่างๆตามบ้าน. หมูจึงตกเป็นจำเลยของคน เป็นผู้ต้องหาหมายเลขหนึ่งเสมอ เกินหน้าสัตว์อื่นๆ ขึ้นหน้าแม้กระทั่งลา ล่อ ม้า. 9 ใน 10 คดีที่สัตว์เป็นผู้ต้องหาถูกนำขึ้นศาล คือหมู.

สถานะของหมูในสังคมคน
       ยุคกลางในยุโรป เป็นยุคที่อยู่ใต้อิทธิพลของศาสนาคริสต์ การเข้าใจยุคกลาง จึงต้องมองจากขนบศาสนาด้วยเสมอ. คัมภีร์ไบเบิลเจาะจงว่า หมูเป็นสัตว์ที่ไม่บริสุทธ์ (“เจ้าต้องไม่กินหมู... เจ้าต้องไม่กินเนื้อหมู และเจ้าต้องไม่ไปแตะต้องร่างหมูตาย. Deuteronomy 14:8). เนื้อหาดังกล่าว ปรากฏในคัมภีร์ของสามศาสนาใหญ่ คือจูดาอิซึม(ใน Torah), อิสลาม(ใน Koran) และศาสนาคริสต์(ใน Bible) (รวมทั้งลัทธิความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียว ในหมู่ชนเผ่าโบราณด้วย). ศาสนาคริสต์เท่านั้น ที่มิได้ยึดข้อห้ามนี้.
       ยุคนั้นคนมองว่าหมูเป็นสัตว์ไม่บริสุทธิ์ เพราะหมูกินอาหารไม่เลือก รวมเศษอาหารหรือขยะ แม้กระทั่งมูตรคูตของมันเอง. หมูมีพฤติกรรมลามก. เนื้อหมูมีมันมาก มีพยาธิและปรสิตในลำไส้, คนกินอาจรับเข้าไปและเป็นอันตรายถึงตายได้. นักวิทยาศาสตร์บอกว่าชนชาวโบราณอาจเห็นว่า หมูปรับตัวกับชีวิตเร่ร่อนไม่ได้. วิธีการเลี้ยงฝูงสัตว์กินหญ้าอื่นๆ คนต้อนฝูงสัตว์ขึ้นเขาในฤดูร้อน ปล่อยมันเล็มหญ้ากินบนเนินเขา แล้วต้อนกลับลงหมู่บ้านในฤดูหนาว. แต่ทำเช่นนี้กับหมูไม่ได้ เพราะหมูไม่กินหญ้า ทั้งที่สัตว์ที่มีกีบเท้าทุกชนิด กินหญ้า. ปัจจัยด้านอากาศก็มีส่วนด้วย ในเขตร้อน เนื้อหมูเก็บไม่ได้นาน ก็เริ่มบูดเน่า (ตู้เย็นเปิดตัวครั้งแรกในปลายศตวรรษที่ 18, คนมีตู้เย็นใช้ในบ้านต้นศตวรรษที่ 20 เท่านั้น). แต่ประเด็นนี้ก็ไม่ครอบคลุมไปทุกภาคของโลก เพราะมีคนในเขตร้อนหรือในเขตทะเลทราย ที่กินหมู. คนจัดหมูเข้ากลุ่มประเภทสัตว์ ไม่ได้ลงตัว. หมูกับคนมีอะไรคล้ายกันมากทั้งทางด้านกายวิภาค ด้านสรีรวิทยา ด้านโรคภัย แม้กระทั่งตา ตาหมูเหมือนตาคน (ดูต่อข้างล่างนี้).  
      ชาวยิวกับชาวมุสลิม มีกฎปฏิบัติในการฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหาร. ชาวยิวทำให้สัตว์ที่จะถูกฆ่าหมดสติก่อน เช่นจี้ด้วยไฟฟ้าหรือให้ดมก๊าซ แล้วเฉือนคอ ห้อยหัวลงต่ำให้เลือดไหลจนหมด, เนื้อที่ได้ตามกระบวนการนี้เรียกว่า kosher meat. ส่วนขนบอิสลาม คนฆ่าสัตว์เหมือนคนประกอบพิธีศาสนาพิธีหนึ่ง เขานำสัตว์หันไปในทิศทางของเมกกะ ร่ายบทสวดเหมือนพูดกับสัตว์ตัวนั้น  (ข้าพเจ้าคิดเดาว่า) โมทนาในการเสียสละเลือดเนื้อเพื่อสังเวยพระเจ้า และยอมตนเป็นอาหารเลี้ยงดูปากท้องของคน. (อาหารตามร้านอิสลามที่มีกำกับว่า halal เพื่อบอกว่า อาหารที่ทำ มาจากการเสียสละอุทิศของสัตว์ตัวนั้นๆ และคนที่ได้กิน เหมือนกินอาหารที่เซ่นไหว้พระเจ้า ย่อมเป็นสิริมงคลแก่ตัว). แล้วเฉือนคอสัตว์ทันควันและเด็ดขาด เพื่อให้สัตว์ตายเร็วที่สุดและทรมานน้อยที่สุด. คนฆ่าปล่อยให้เลือดไหลออกจนหมดตัว. เนื้อที่ได้เรียกว่า halal meat (การฆ่าสัตว์ตามแบบนี้ ยึดตามขนบที่สืบทอดมาจากเรื่องอับราฮัมเมื่อพาไอแซ็คลูกชาย ไปฆ่าสังเวยบูชาพระเจ้า ตามคำสั่งของพระเจ้า). ยุคใหม่ ความเสี่ยงจากการติดเชื้อโรคเพราะกินหมูนั้นไม่มีแล้ว เมื่อพิจารณาวิธีการเลี้ยงหมู, การเก็บรักษาเนื้อหมู หรือการตระเตรียมทำอาหารด้วยหมู ชนิดต่างๆ.
     อีกด้านหนึ่ง คนเชื่อกันว่า หมูเป็นสัตว์ที่เหมือนคนมากที่สุด, ดังจารึกไว้ในเอกสารลายลักษณ์ยุคกลาง ทั้งในเอกสารของศาสนาคริสต์, อิสลามหรือจูดาอิซึม. เป็นความเหมือนของระบบอวัยวะภายใน. เรื่องนี้มีจารึกไว้แล้วในการแพทย์แผนกรีก ที่สืบทอดผ่านมายังการแพทย์แผนอาหรับ(ซีเรียในยุคนั้น) และถ่ายทอดมาถึงศาสนาคริสต์ในยุคกลาง ว่าทุกอย่างในระบบอวัยวะของคนกับของหมู เหมือนกันทั้งในด้านกายวิภาค ด้านสรีรวิทยาและด้านชีวภาค. ความรู้ดังกล่าวจึงทำให้การแพทย์คริสต์ ห้ามชำแหละศพคนเพื่อการศึกษาทางการแพทย์ ให้ชำแหละแม่หมู หรือหนูแทน.
      การแพทย์ปัจจุบันบอกให้รู้ว่า ตำแหน่งและระบบการทำงานในอวัยวะปกติของหมูที่สุขภาพดีนั้น เหมือนระบบของคนมาก. นี่อธิบายว่า การแพทย์ปัจจุบันยังมีอะไรๆเกี่ยวกับหมูอยู่ เช่นในการปลูกหนัง เพาะเนื้อ ปลูกถ่ายหรือย้ายอวัยวะ ตับ หัวใจ ลิ้นหัวใจ, ร่างกายคนไม่รีเจ็คท์ชิ้นส่วนจากหมู เมื่อเทียบกับการใช้ชิ้นส่วนจากสัตว์อื่น. อินซูลินที่ใช้กันมานานในสมัยก่อน เป็นอินซูลินจากหมู. ความเกี่ยวพันระหว่างคนกับหมูนั้น จึงแน่นแฟ้นและชัดเจนมาก. วิทยาศาสตร์เน้นให้ตระหนักว่า ดีเอ็นเอของคนกับของลิงใหญ่เหมือนกันที่ราว 96%  แต่มักลืมให้ข้อมูลว่า ดีเอ็นเอของหมูตัวผู้ กับคน เหมือนกันถึง 95%. ดังนั้น ข้อห้ามต่างๆที่เคยมีในขนบธรรมเนียมเก่าๆเกี่ยวกับหมู จึงมีส่วนมาจากความเหมือนในเลือดเนื้อเดียวกันระหว่างคนกับหมู. แน่นอนไม่ใช่เหมือนในด้านรูปลักษณ์ภายนอก หรือในเรื่องการกินอยู่อย่างหมู.
     นึกให้ดี เมื่อคนกินหมู จึงอาจเทียบได้ว่า คนกำลังกินคนด้วยกัน (cannibal). มีพยานทั้งในอดีตและในปัจจุบันที่ยืนยันว่า การกินเนื้อคน ให้รสชาติเหมือนการกินเนื้อหมู. ในทศวรรษที่ 1970 เมื่อทีมนักรักบี้ชาวอุรุกวัยประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกในเทือกเขาแอนดิสนั้น ผู้ที่รอดชีวิตมาได้ ได้อาศัยกินเนื้อเพื่อนผู้ร่วมทีมสองคนที่ตายคาที่ เพื่อความอยู่รอด, พวกเขายืนยันว่า เนื้อคนมีรสชาติเหมือนเนื้อหมู.  
       นอกจากหมูแล้ว ปาสตูโร โยงไปถึงสัตว์อีกสองชนิดที่คนยุคกลางเชื่อกันมาว่า เหมือนคนมากที่สุด. นั่นคือ หมี. หมีเหมือนคนที่ลักษณะภายนอก หมียืนตั้งตรงได้ ว่ายน้ำได้. นักเขียนหลายคนได้อธิบายไว้ว่า เมื่อถลกหนังหมีออกทั้งหมดแล้ว ร่างหมีเหมือนร่างคน. (ลองนึกมองตัวเองดู!).
      สัตว์ตัวที่สามที่เหมือนคน คือ ลิง. ประเด็นนี้ นักเขียนชาวคริสต์ในยุคกลาง ยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะลิงเป็นสัตว์ที่น่าเกลียดที่สุดในหมู่สัตว์ประเภทดีตามค่านิยมยุคกลาง แถมยังเป็นสัตว์ที่น่าชัง ที่ชอบเลียนท่าทางของคน ทั้งๆที่รูปร่างหน้าตาไม่เหมือนคนเลย. ยิ่งคัมภีร์ไบเบิลระบุว่า พระเจ้าสร้างคนตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า หากคนเหมือนลิง แล้วพระเจ้าล่ะ?  มันทำให้ตะขิดตะขวงใจไม่น้อย. ศาสนาย่อมรับความคิดนี้ไม่ได้. เราต้องคอยไปจนถึงศตวรรษที่ 18 เมื่อนักวิทยาศาสตร์เริ่มจับประเด็นของลิงมาพิจารณาใหม่ ตามด้วยการค้นพบของ ชาร์ล ดาร์วิน Charles Darwin กับทฤษฎี On the Origin of Species ในศตวรรษที่ 19.
        สรุปแล้ว ยุคนั้น ศาสนามองว่า หมูกับคนเสมอกันในฐานะที่เป็นสัตว์ที่พระเจ้าเนรมิตขึ้นเหมือนกัน. สัตว์ทำผิดจึงต้องได้รับโทษเหมือนเมื่อคนทำผิด. ยิ่งเมื่อมองในมุมของกายภาค สรีรวิทยาและชีวภาค หมูกับคนเหมือนกันมากดังอธิบายมาข้างต้น หมูจึงมีศักดิ์ศรีพอสำหรับรับการพิพากษาในศาล.

ตัวอย่างคดีที่หมูเป็นจำเลย
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมในปี 1113 เมื่อเจ้าชายฟิลิปกษัติย์หนุ่มอายุเพียง 15 (พระโอรสองค์โตในพระเจ้าหลุยส์ที่หก Louis VI le Gros ราชวงศ์กาเปเซียง Capétien) ตกจากหลังม้าและสิ้นพระชนม์บนถนนสายหนึ่งในกรุงปารีส เพราะมีหมูตัวหนึ่งหนีออกจากสวนหรือจากฟาร์ม เข้าไปเพ่นพ่านกลางเมือง. ให้บังเอิญเป็นจังหวะที่เจ้าชายฟิลิปขี่ม้าผ่านถนนเส้นนั้น หมูไปขัดขาม้าทรง ม้าตื่น ตกใจ จนล้มลง. การตกม้าตายไม่ใช่เรื่องแปลก แต่การตายของเจ้าชายฟิลิปเป็นเรื่องเคราะห์ร้ายมาก. ปกติเจ้าชายหรือชนชั้นสูงตกม้าตายบ่อย ตกม้าเมื่อกวดตามสัตว์ที่ต้องการล่าเป็นต้น สังคมยุคนั้น ถือว่าตายเยี่ยงวีรบุรุษ, แต่ตายเพราะหมูที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ ทั้งยังเป็นสัตว์สกปรก เร่ร่อนมาในเมือง (Suger เจ้าอาวาสแห่งมหาวิหารแซ็งเดอนี Basilique Saint-Denis เขียนประณามหมูตัวนั้นว่าเป็นปีศาจ porcus diabolicus) จึงถือว่าเป็นเรื่องเลวร้ายยิ่งนัก, เป็นความเสื่อมเสียสำหรับราชวงศ์อย่างยิ่ง อีกทั้งได้พลิกประวัติการสืบราชบัลลังก์ด้วย. (รายละเอียดเกี่ยวกับบริบทแวดล้อมและผลกระทบที่เกิดตามมานั้น มีอีกมากที่จารึกในพงศาวดารของแผ่นดิน และในบันทึกเหตุการณ์ของศาสนาคริสต์ เพราะวันเวลานั้นเดือนนั้นปีนั้น สันตะปาปา Innocent II เสด็จไปเปิดสภาคณะสงฆ์ที่เมืองแร็งซ์ ถือว่าเป็นลางไม่ดีที่พระเจ้าแผ่นดินสิ้นพระชนม์. เรื่องนี้ ปาสตูโร เขียนเล่าเป็นหนังสือหนึ่งเล่มเลยทีเดียว ผู้สนใจติดตามไปอ่านในหนังสือดังกล่าว ตามข้อมูลจากปกหนังสือข้างล่างนี้). พระอนุชาได้ขึ้นครองราชย์แทนในนามของพระเจ้าหลุยส์ที่ 7.  หมูตัวนั้น ได้เปลี่ยนทิศทางของประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส. ยามนั้น ไม่มีผู้ใดคิดไปจับหมูตัวนั้นมาขึ้นศาลในฐานะฆาตรกร.
ปกหนังสือเรื่องหมูที่เป็นสาเหตุให้กษัตริย์หนุ่มตกจากหลังม้า
ของ Michel Pastoureau  Éd. Seuil
     
     กลางศตวรรษที่ 13 ตามหลักฐานของแผ่นดิน กระบวนการยุติธรรม มีกำหนดชัดเจนว่าสัตว์ก็ต้องนำมาขึ้นศาลพิพากษาโทษ. ยุคนั้น วัดถูกใช้เป็นศาล มีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีต่างๆ ไม่ว่าจำเลยหรือผู้ต้องหา เป็นคน เป็นองค์กร สถาบัน หรือเป็นสัตว์. คณะผู้พิพากษาไม่ใช่เจ้าอาวาสหรือนักบวชเท่านั้น บางครั้งเป็นผู้แทนจากราชสำนักหรือจากสถาบันพลเรือน.
     เอกสารอีกเรื่องหนึ่งจากปี 1386 ที่มีข้อมูลละเอียดและเป็นตัวอย่างที่ดีเกี่ยวกับการพิพากษาหมูในศาล คือเอกสารจากเมืองฟาแลซ Falaise (ในจังหวัดออรน์-Orne ฝรั่งเศส. ปาสตูโร รู้จักคุ้นเคยกับเพื่อนของบิดา คนนั้นเป็นประธานสมาคมประวัคิศาสตร์และโบราณคดีของจังหวัดออรน์). เรื่องเกิดขึ้นกับแม่หมูใกล้ๆฟาแลซ. แม่หมูตัวหนึ่งถูกนำไปขึ้นศาล ในข้อหาว่าทำให้เปลเด็กพลิกคว่ำ เด็กทารกสองคนที่นอนอยู่ในเปลตายคาที่. อุบัติเหตุเกิดขึ้นโดยมิใช่เจตนาของแม่หมูเลย. เมื่อทารกตาย แม่หมูเลยกินเนื้อของทารกที่อายุน้อยกว่า. กำลังกินแขนและส่วนของหน้าทารก ถูกจับได้และถูกนำไปขังคุก. ระหว่างเก้าวันในคุก ทางการจังหวัดได้เลี้ยงดูแม่หมู จึงมีเอกสารบันทึกค่าใช้จ่ายที่ทางการได้จ่ายไปเป็นลายลักษณ์อักษร. (เรื่องการทำบันทึกค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใด เขาจดไว้หมด เป็นเช่นนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว. ยุคดิจิตัล อาจช่วยทางการลดค่าใช้จ่ายเรื่องการทำสมุดบันทึกและการเก็บเข้าเป็นหลักฐานในหอจดหมายเหตุ ลงได้บ้าง). นักประวัติศาสตร์ได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากเอกสารนั้น ทำให้รู้ว่า ทารกคนอายุน้อยที่ถูกแม่หมูกินนั้นชื่อ ฌ็อง Jean, มีพ่อเป็นช่างปูน. เจ้าหน้าที่ของกรมการเมืองฟาแสซ ตัดสินคดีนี้, ได้ตำหนิพ่อของเด็กว่า เขาละเลยการดูแลลูก. ส่วนแม่หมู มีทนายสู้ความให้ แต่แพ้ความ แม่หมูถูกตัดสินประหารชีวิต.
      ยุคศตวรรษที่ 14 ตอนนั้น ผู้พิพากษาเป็นตัวแทนจากราชสำนัก. ชาวนาชาวบ้านทั้งหมดไปร่วมเป็นพยานในการตัดสิน. ผู้พิพากษาสั่งให้ชาวบ้านผู้เลี้ยงหมู นำหมูของตัวเองไปศาล ให้ไปฟังคำพิพากษาด้วย เพื่อให้เป็นบทเรียนแก่หมูทั้งหมด. ทางการยังสั่งให้นำเสื้อผ้าผู้หญิงมาสวมให้แม่หมู และสั่งให้นักวาดภาพบันทึกเหตุการณ์ในศาลไว้ ต่อมาให้ติดไว้ที่วัดเมืองฟาแลซ (Église de la Trinité) เป็นการบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนั้น. (วัดดังกล่าว ทรุดโทรม, มีการสร้างบูรณะขึ้นใหม่ในศตวรรษที่ 15.  Balzac นักเขียนฝรั่งเศส ตอนอายุ 20, ได้ไปเมืองฟาแลซ ได้พูดถึงภาพวาดเหตุการณ์หมูที่ฟาแลซ สองครั้งสองหน ว่าได้เห็นกับตาในปี 1820. ในศตวรรษที่ 20 ไม่เคยมีใครได้เห็นภาพวาดนั้นอีก).
      กระบวนการลงโทษ หากเป็นโทษฐานเบา สัตว์จะถูกทรมานให้เจ็บปวด ณบริเวณที่มันไปทำร้ายเด็กหรือคนที่ตกเป็นเหยื่อ (ในทำนองของ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน). ในกรณีที่ต้องโทษประหารชีวิต เช่นคดีแม่หมูเมืองฟาแลซนี้ หมูถูกล่ามโซ่แล้วถูกม้าลากไปตามถนนทุกสาย ประจานแก่สาธารณชน, ถูกแขวนคอ และเมื่อตายแล้ว ถูกเผาจนเป็นจุณ, และจุณนั้นนำไปโปรยปรายกระจายไปกับลมสี่ทิศในพื้นที่โล่ง. รายละเอียดดังกล่าว ไม่เคยปรากฏเขียนไว้ในเอกสารใดมาก่อน จึงเป็นข้อมูลที่วิเศษพิสดารยิ่งนักสำหรับนักประวัติศาสตร์.
      การที่แม่หมูถูกจับรวบตัวไว้ได้แบบคาหนังคาเขา แล้วนำไปขังคุก มีผู้คุม ให้อาหารกินตลอดเวลาที่ถูกจองจำ จัดทนายให้ ถูกพิพากษา ถูกลงโทษ ทั้งหมดจารึกไว้ในเอกสาร. อีกประเด็นที่พึงรู้คือ เจ้าของหมูหรือเจ้าของสัตว์ที่ตกเป็นจำเลย ถูกตัดสินเกือบทุกกรณีว่าไม่ผิด ที่ตรงข้ามกับความยุติธรรมในยุคปัจจุบัน (เจ้าของสัตว์เช่นเจ้าของสุนัขที่ถูกพิจารณาว่าทำผิด เจ้าของต้องเป็นผู้รับผิดชอบทางกฎหมาย). กรณีของแม่หมูตัวนั้น เจ้าของต้องเดินทางจาริกไปยังวัดน็อตเตรอดามที่เมืองอา-วร้องช์ (Église Notre-Dame-des-Champs d’Avranches) ให้เป็นการจารึกความทรงจำของเด็กทารกสองคนที่ตายเพราะหมูของเขา. อีกประเด็นที่ไม่ธรรมดา คือ การจัดให้สัตว์สวมเสื้อผ้าผู้หญิง ซึ่งโดยปกติในยุคนั้น คนไม่ไปจับตัวผู้หญิงที่ถูกโทษประหาร เพราะเท่ากับมีโอกาสเห็นใต้ร่มผ้าของเธอ. ดูเหมือนว่า นักโทษประหารหญิงจะถูกโยนเข้าในคุกเหมือนฝังเธอทั้งเป็นในนั้น.
     ในมุมมองของมานุษยวิทยา เรื่องราวคดีสัตว์เป็นจำเลยเหล่านี้ น่าทึ่งมาก ความสำคัญของพิธีกรรมในกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องจริงจังเข้มงวดมาก. ในกรณีที่จับผู้ต้องหาไม่ได้ มีการนำตัวสัตว์ในตระกลูเดียวกันมาเป็นนักโทษแทน. ผู้พิพากษาตัดสินความไปตามเหตุปัจจัย ส่วนนักโทษตัวแทนผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ก็ไปปรากฏตัวในศาลตามฟอร์ม มีทนายแก้ต่างให้ และแม้จะถูกตัดสินถึงตาย สัตว์ตัวนั้นก็ไม่ถูกประหาร เพราะมันไม่ได้ทำผิดประการใด. มีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้น เจ็ดแปดกรณี. การจับตัวผู้ต้องหาตัวจริงไม่ได้ มักเกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะเจ้าของสัตว์รีบนำสัตว์ไปซ่อน. บางกรณี ทางการจัดทำหุ่นของผู้ต้องหา ให้เจ้าของเป็นผู้ออกเงินค่าทำหุ่น จะเป็นหุ่นยัดฟาง หุ่นผ้า หรือหุ่นไม้ ทำรูปร่างให้เหมือนสัตว์ผู้ต้องหาที่คนจับไม่ได้ เอาหุ่นนั้นไปขึ้นศาล ไปรับการพิพากษาโทษ และหากถูกตัดสินประหารชีวิต ก็นำหุ่นนั้นไปแขวนคอและเผาทิ้ง. สรุปแล้ว ยุคนั้นเขาไม่ลงโทษผู้บริสุทธิ์  และเป็นพยานหลักฐานยืนยันว่า ในยุคกลางนั้น พิธีกรรมสำคัญเพียงใด.

      อีกคดีหนึ่ง เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 15 แม่หมูที่เมืองซาวีญี-เล-โบน Savigny-lès-Beaune ได้กินทารกคนหนึ่ง ที่สร้างความอื้อฉาวมาก. ทุกคนเห็นว่าน่ารังเกียจยิ่ง เพราะ เหตุเกิดในวันศุกร์ วันที่ศาสนาคริสต์ห้ามกินเนื้อสัตว์. แม่หมูยังชวนลูกหมูหกตัวมาร่วมวงกินเด็ก.
ภาพวาดคดีแม่หมูที่เมืองลาว์ญี (la truie de Lavegny) ที่เกิดขึ้นในปี 1457 เมื่อแม่หมูตัวหนึ่งพร้อมลูกหมูอีกหกตัว ถูกจับข้อหารุมกินเด็กน้อยคนหนึ่ง ในวันศุกร์. (ดังปรากฏเล่าและวาดไว้ใน The Book of days : a miscellany of popular antiquities, 1869)

ความสัมพันธ์ตึงๆระหว่างคนกับสัตว์
       ศาสนาคริสต์ในยุคกลาง แยกทีท่าของคนต่อสัตว์เป็นสองกระแส คือกระแสเทววิทยาและกระแสปรัชญา. กระแสแรก กระแสเทววิทยา เป็นกระแสคลาซสิก แยกแยะคนและสัตว์ออกจากกันอย่างชัดเจน. ไม่ผสมปนเปเรื่องคนเรื่องสัตว์. พระเจ้าเนรมิตคนให้เป็นภาพสะท้อนของพระเจ้า สัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่บริสุทธิ์. การมีความคิดสับสนเรื่องคนและสัตว์ เกือบจะถือว่าเป็นบาป. ศาสนาประณามและห้ามการแต่งและปลอมตัวเป็นสัตว์อย่างรุนแรงเสมอมา. และโดยเฉพาะห้ามปลอมแปลงตนเป็น หมี วัวกะทิง หมูป่า กระต่ายป่าเป็นต้น. ตัวอย่างชนิดสัตว์เหล่านี้ เกือบเป็นสัตว์กลุ่มเดียวนี้แหละ ที่ถูกห้ามถูกประณามเสมอมามากว่าสัตว์อื่นใด. ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น. เมื่อพิจารณาดู สัตว์เหล่านี้ มีส่วนของร่างกายที่ยื่นออกมา เช่นมีเขา มีอวัยวะเพศที่ยื่นเห็นชัด. อย่างน้อยสองลักษณะนี้ เป็นคำจำกัดความของ “ความเป็นสัตว์ป่า เถื่อนและโหดร้าย” ในวิสัยทัศน์ของคนยุคกลาง. คนจึงต้องไม่แปลงตัวเป็นสัตว์เหล่านี้.
ทีท่าของคนในกระแสที่สอง นุ่มนวลกว่าและเป็นมานานมากแล้ว คือกระแสปรัชญา ที่สืบทอดมาจากความคิดของอริสโตเติล ที่มองว่า สิ่งมีชีวิตทั้งหมด คือชุมชนเดียวกัน และถือว่า “สัตว์เป็นลูกของพระเจ้า”. ความคิดดังกล่าว นักบุญปอลได้ถ่ายทอดลงในข้อเขียนของเขา pitre aux Romains บทที่ 8) ว่า ในวันตาย สัตว์ทั้งหลายจะถูกปลดปล่อยจากการเป็นทาสรับใช้คน และทั้งหมดจะเข้าสู่บ้านเด็กของพระเจ้า. ข้อความนี้ทำให้นักเทววิทยาต่างคิดหนัก มีผู้เห็นด้วยและมีผู้ไม่เห็นด้วย. ผู้ที่เห็นด้วย ย้ำว่า พระเยซูเกิดในคอกสัตว์ พระองค์จึงมาเกิดเพื่อช่วยสัตว์ทั้งหลายด้วย. มุมมองดังกล่าวของกระแสนี้เอง ที่สร้างประเด็นให้ถกเถียงกัน ระหว่าลูกขุนและนักเทววิทยา ในการพิจารณาคดีความแม่หมูในเรื่องที่เล่ามาข้างบน เช่นโต้แย้งกันว่า สัตว์รู้สึกทุกข์ทรมานไหม? มีวิญญาณเหมือนคนไหม? สามารถแยกแยะความถูกความผิดไหม? มีสัตว์ชั้นสูงไหม?  ที่มหาวิทยาลัยปารีสในศตวรรษที่ 13 ก็มีการถกเถียงโต้วาทีกันเรื่องว่า เมื่อสัตว์ตายลง พวกมันไปสวรรค์หรือลงนรก, เป็นสวรรค์เป็นนรกเดียวกับที่คนไปไหม, หรือมีสวรรค์และนรกสำหรับสัตว์แต่ละชนิด. ยังมีประเด็นที่เป็นรูปธรรมกว่านั้น คือ คนมีสิทธิ์ใช้สัตว์ทำงานในวันอาทิตย์ไหม, หรือต้องให้สัตว์หยุดพักวันอาทิตย์, ต้องมีการกำหนดวันถือศีลอดให้สัตว์ด้วยไหม?
หรือโยงต่อไปถึงประเด็นอื่นๆเช่น คนมีสิทธิ์ใช้สัตว์ทำงานให้หรือไม่ การเอาสัตว์เป็นทาสรับใช้ ถูกไหม, คนก้าวล้ำสิทธิของสัตว์หรือไม่, สัตว์มีสิทธิ์ใช้ชีวิตตามธรรมชาตินิสัยของมันหรือไม่ เช่นการปฏิเสธไม่ยอมให้ถูกลากไปไถนา การไถนาไม่ใช่หน้าที่ในชีวิตธรรมชาติของวัวหรือควาย มิใช่หรือ, การจับสัตว์อื่นกินเป็นอาหาร ในเมื่อนั่นคือวิถีการอยู่รอดของพวกมัน ฯลฯ.
      บางคนมองว่าสัตว์เป็นเพียงเครื่องยนตร์ชนิดหนึ่ง (animal machine เหมือนหุ่นยนต์ชนิดหนึ่ง) ไม่มีปัญญาของมันเอง. ยิ่งนักเทววิทยาบอกว่า สัตว์ไม่มีบาปกำเนิดติดตัวมา (ไม่ได้เป็นลูกหลานของอาดัมกับอีฟ) จึงไม่น่าจะมีความรู้ดีรู้สมกับความทุกข์ความเจ็บปวดของคน หรือมิใช่. การนำสัตว์ไปขึ้นศาล ฟังคำพิพากษา ถูกลงโทษ ทั้งหมดจึงไม่มีประโยชน์อันใดต่อสัตว์ เป็นกระบวนการเป็นอยู่ในสังคมคน, จึงมองได้ว่าเป็นเรื่องตลก.
      ข้อขัดแย้งแบบนี้ ยังคงคาราคาซังต่อมาจนถึงศตวรรษที่ 18, เมื่อเกิดสมาคมคุ้มครองสัตว์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สก็อตแลนด์. พูดกันตามตรง แม้ในทุกวันนี้ คนมีหลายมุมมองมากกว่ายุคกลาง, ในเชิงปฏิบัติในชีวิตจริง ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ยังคงขัดแย้งอยู่เสมอ  ไม่ว่าเราจะคิดว่า คนเป็นส่วนหนึ่งของสรรพชีวิตบนโลก หรือเชื่อว่าคนอยู่เหนือมวลสัตว์ทั้งหมด.

หน้าที่และบทบาทของศาล
       เรื่องเล่าจากบันทึกและจารึกการสอบสวนในยุคกลาง ไม่มีประเด็นพาดพิงไปถึงผู้เป็นเจ้าของสัตว์. สัตว์ถูกฟ้องร้อง ถูกนำไปสอบสวนตามกระบวนการความยุติธรรมของสังคมยุคนั้น โดยไม่สนใจว่า สัตว์มีจิตสำนึก รู้ดีรู้ชั่วหรือไม่ เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับพวกมันหรือไม่. การตัดสินคดีแบบนั้น เป็นไปไม่ได้เลยในยุคปัจจุบัน เจ้าของสัตว์คือผู้รับผิดชอบตามกฎหมาย ชดใช้ค่าเสียหายที่สัตว์ของเขาเป็นผู้ก่อ. (ข้าพเจ้าเคยถูกปรับและต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนมาก เมื่อสุนัขที่เลี้ยง รี่ไปถึงกรงกระต่ายของเพื่อนบ้าน อยากทักทายเพื่อนสี่ขา ปุกปุย ต่างวงศต่างสายพันธุ์ หางกระดิกไปมาด้วยความตื่นเต้น. แต่กระต่ายตื่นตูม(จริงตามสำนวนพื้นบ้าน) หัวใจวายตายลงบัดดล. เป็นกระต่ายพันธุ์ Angora เจ้าของเลี้ยงเพื่อเอาขนฟูๆของกระต่าย ไปทอเป็นเสื้อขนกระต่าย).
     การถกเถียงระหว่างนักกฎหมายกับนักเทวศาสตร์ ไม่มีทางลงเอยได้ เพราะแต่ละฝ่ายมองสัตว์ผู้เป็นจำเลยบนฐานต่างกัน. ปลายศตวรรษที่ 13 นักกฎหมายฝรั่งเศส Philippe de Beaumanoir กล่าวไว้แล้วว่า การพิพากษาสัตว์นั้น ไม่เกิดประโยชน์ใดเลย. นักกฎหมายในศตวรรษที่ 16 ก็ประกาศว่า แท้จริงแล้ว กระบวนการยุติธรรมสำหรับสัตว์ คือการจัดฉากให้ทุกคนได้ประจักษ์ และให้เป็นแบบอย่างของความยุติธรรมที่ดีที่ถูกต้อง ไม่ว่าสัตว์จะรู้เรื่องหรือไม่. เป็นการรักษาหลักการทำงานของคน. จนกว่าจะมีการเปลี่ยนหลักการ แก้กฎหมาย คนก็ยังต้องเคารพกฎหมายที่มีมาก่อน แม้จะเสียเงินเสียเวลาก็ตาม.
     แต่ยุคกลางก็มีจารึกที่บอกให้รู้ว่า นักคิดสมัยนั้น จำแนกวิญญาณสัตว์ออกเป็นสามระดับ คือ วิญญาณระดับพืชผัก (vegetative) ดังนั้นพืชพรรณมีวิญญาณแบบนี้, วิญญาณระดับละเอียดอ่อน ที่มีสมรรถนะสูงในการรับสัมผัส (sensitive) เช่นพวกสัตว์ รู้หนาวรู้ร้อน รู้ภัยฯลฯ และวิญญาณระดับปัญญา (intellectual) ในหมู่สัตว์หลายสายพันธุ์ที่เป็นสัตว์ชั้นสูง.
     ในระดับสุดท้ายนี้ คนยุคนั้นไม่เชื่อนัก เพราะแม้สัตว์จะเห็นอะไร แล้วโยงสิ่งที่เห็นกับความหมายหนึ่ง เช่นเหยี่ยวเห็นกระต่ายในทุ่ง มันรู้ว่า กระต่ายคืออาหาร. คนยุคนั้นคิดว่า ปัญญาเหยี่ยวจบลงที่จุดนั้น. เป็นปัญญาหรือความรู้ที่สนองความต้องการเฉพาะหน้าได้อย่างแท้จริง. เหยี่ยวจะนึกต่อไปหรือว่า เมื่อมีกระต่ายหนึ่งตัว อาจมีหลายตัว อาจมีครอบครัวกระต่ายแอบอยู่ที่ไหนสักแห่ง มีลูกกระต่ายที่อาจกำลังคอยแม่กระต่ายกลับบ้าน เหยี่ยวไปดักจับกระต่ายอีกหลายตัวที่นั่นเลยดีกว่าไหมฯลฯ. คนยุคนั้นจึงมองว่า ปัญญาสัตว์นั้นจำกัดมาก (แต่เราอาจมองว่า เหยี่ยวไม่โลภมาก จับกินแต่พออิ่ม).

     ปัจจุบันนี้ ทีท่าของนักประวัติศาสตร์ต่อสัตว์ทั้งหลายนั้นเปลี่ยนไปมาก. งานวิจัยแนวหน้าที่นำทางในด้านนี้ ด้วยความร่วมมือของนักวิจัยจากหลายสาขาวิชา เช่นจากมานุษยวิทยา ภาษาศาสตร์ สัตวศาสตร์, เรื่องสัตว์ ได้กลายเป็นแขนงศึกษาที่มีศักดิ์และสิทธิ์เสมอเท่าการศึกษาวิจัยในศาสตร์แขนงอื่นใด. อาจพูดได้ว่าสัตว์อยู่ตรงกลางจัตุรัสของความรู้อีกหลายสาขา ยิ่งประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์แล้ว สัตว์เป็นกุญแจสำคัญในประวัติศาสตร์สังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากร กฎหมาย ศาสนา วัฒนธรรม. สัตว์อยู่ในทุกพื้นที่ ทุกยุคสมัย ทุกสภาพการณ์แวดล้อม และนำนักประวัติศาสตร์ สู่ประเด็นสำคัญๆที่หลากหลายและซับซ้อน.
     คนยุคใหม่ มีความรู้เพิ่มขึ้นมากจากวิทยาศาสตร์ จากสัตวศาสตร์ และตระหนักแล้วว่า สัตว์ไม่โง่อย่างที่เราคิด (คนเองคิดไม่เท่าทันสัตว์ เพราะคิดจากมุมมองของคนเท่านั้น). คนได้เรียนรู้จากการสังเกต จากการคลุกคลีกับสัตว์ ที่ทำให้ตาสว่าง เหมือนเห็นธรรมในธรรมชาติรอบข้าง. ดังนั้น แทนการเอาสัตว์มาขึ้นศาลในข้อหาที่ทำผิดต่อคน คนต้องปกป้องตัวเองด้วยการไม่ปล่อยตัวเองเป็นเหยื่อมากกว่า, หรือด้วยการปล่อยให้สัตว์ใช้ชีวิตตามธรรมชาติของมัน ในสภาพแวดล้อมที่มันเลือกเอง, ด้วยการหยุดเอาเปรียบสัตว์, ไม่ดีกว่าหรือ.
      กระบวนการตัดสินคดีที่มีสัตว์เป็นจำเลยที่ปรากฏในพงศาวดารและในจารึกประเภทต่างๆในฝรั่งเศส จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ในประวัติศาสตร์ ในระบบปรัชญาและเทววิทยา และไม่ใช่เรื่องชวนหัวเลย.

โชติรส รายงาน
๑ กันยายน ๒๕๖๓.

ติดตามคำบรรยายเรื่องนี้ของ Michel Pastoureau ได้จากลิงค์นี้ ยาว 1:03:15 ชั่วโมง
คดีพิพาษที่จำเลยเป็นสัตว์ ในสังคมยุคกลางระหว่างศตวรรษที่ 13-17
บทบรรยายประจำวันที่ 9 เมษายนปี 2019 ของ Michel Pastoureau นักประวัติศาสตร์ยุคกลางและศาสตราจารย์ประจำสถาบันการศึกษาขั้นสูง L’Ecole pratique des Hautes Etudes, ในวาระที่หอจดหมายเหตุประจำมณฑลเวียนในฝรั่งเศส (Archives départementales de la Vienne) จัดนิทรรศการในหัวข้อเรื่องบริบทความยุติธรรมในเวียน Scènes de justice en Vienne, ระหว่างวันที่  25 มีนาคมถึงวันที่ 21 มิถุนายน ปี 2019.
------------------------
ภาพจากเว็บ abouttans.com
หมูเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ เป็นสมบัติล้ำค่าของผู้เลี้ยง ดูเหมือนจะซื้อง่ายขายคล่องมาก. หมูเป็นอาหารโปรตีนของคน นึกถึงอาหารจากหมูที่กินกันมาตั้งแต่เกิด. 
ไหนๆ คนสรุปว่า หมูเกิดมาเป็นอาหารของคน คนควรใช้หมูให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำเป็นอาหารที่ดี น่ากินและอร่อยที่สุด ให้สมกับชีวิตหมูที่เสียไป และให้คนกินอย่างรู้คุณ...
ขอบคุณหมูทุกตัวที่ได้เลี้ยงดูเรามา ขอให้ดวงวิญญาณไปเกิดในภพภูมิสูงๆขึ้นไปเทอญ

ส่วนต่างๆของหมูที่นำมาทำเป็นอาหาร >> หมูสันใน สันนอก สันคอ หัวไหล่ มันคอ หมูชิ้น หมูสามชั้น พอร์ตฉ็อป กระดูกหมู ซี่โครงหมู สะโพก ขาหมู คากิ เท้าหมู หางหมู หูหมู คอหมู กระเพาะ ลำไส้ ไส้ตัน เซ่งจี้ ตับ หัวใจ ปอด ม้าม ผ้าขี้ริ้ว เลือด (กินได้เกือบทุกส่วน)
วิธีการปรุง >> ลวก รวน คั่ว ต้ม ตุ๋น ปิ้ง ย่าง อบ นึ่ง ยำ ผัด ทอด ตากแดด แกง หลน สับ
เมนูหมู >> แบบแห้งเช่น หมูหัน หมูปิ้ง หมูย่าง หมูทอด หมูกรอบ หมูอบ ยำหมู ลาบหมู หมูน้ำตก หมูตั้ง หมูเย็น หมูเค็ม หมูหวาน หมูยอ หมูแผ่น หมูหยอง หมูสะเต๊ะ หมูแดดเดียว ไส้กรอกหมู + ประเภทผัดมาเป็นจานๆอีกมากมาย 
หรือแบบน้ำเช่น หมูพะโล้ ต้มแซ็บ ต้นยำ แกงเผ็ด(ไม่เผ็ด) แกงป่า แกงจืด เป็นต้น

เมนูไส้กรอกหมูแบบต่างๆของฝรั่ง เกือบทุกชนิด มีรสเค็มนำ เพื่อให้เก็บกินได้นาน จึงต้องกินกับไวน์ (หรือเบียร์) >>

หมูแฮม หมูชิ้น หมูสามชั้นและไส้กรอกชนิดต่างๆ สีขาวๆจนถึงสีดำๆ, ไส้กรอกเลือดสีเข้มกว่า.
ไส้กรอกเลือด ที่เรียกว่า Black saussage หรือ Black pudding ฝรั่งเศสเรียกว่า boudin [บูแด็ง] ทำจากเลือดหมู มันหมู ครีมและส่วนผสมอื่นๆ. การทำไส้กรอกเลือดนี้ ค่อนข้างยุ่งยาก เพราะต้องใช้เลือดหมูสดๆของหมูที่เพิ่งฆ่า ผสมกับเครื่องปรุงอื่นๆ แล้วยัดเป็นไส้กรอกทันที นำไปต้ม. ไส้กรอกเลือด สีเข้มกว่าไส้กรอกเนื้อหมู.
ไส้กรอกเลือดสีดำ ความยาวของไส้กรอกสั้นยาว แล้วแต่คนทำเพื่อกินในวาระใดเป็นต้น.
จานนี้เตรียมให้กินไส้กรอกเลือดกับแอปเปิลชิ้นที่อบจนเหลืองน่ากิน กับมันบดผสมมัสตาด. เครดิตภาพที่นี่. 
อาหารจานมีชื่อในมณฑลอัลซ้าส Alsace ในฝรั่งเศส เรียกว่า choucroute à l’alsacienne (เรียกสั้นๆว่า ชูครุด). ดังในภาพ ประกอบด้วยหมูปรุงแบบต่างกัน เช่นหมูสามชั้น, ไส้กรอกสองสามชนิด กินกับกะหล่ำปลีดองใหม่ๆ(ดองนาน เปรี้ยวเกินไป) ซอยฝอยๆ และมันฝรั่งต้มสุก. ปกติกินไป ปาดมัสตาร์ดทาบนหมูไปทีละคำ.
โปสเตอโฆษณามัสตาร์ดที่คุ้นตาบนหิ้งในซุปเปอร์ฝรั่งเศส ยี่ห้อ Amora จากเมืองดีฌง Dijon. ดังในภาพ มัสตาร์ดกินกับอาหารหลายชนิดเช่นปลา, ชูครุด choucroute จากอัลซาส, ไก่งวง, กุ้งมังกร.
ในเขตปารีสหนึ่ง (75001) มีร้านอาหารที่ใช้ชื่อร้านว่า ที่ร้านขาหมู ตั้งขึ้นในปี 1947. ดูเหมือนเคยบริการอาหารที่ทำจากส่วนต่างๆของหมู(เท่านั้น) ต่อมามีเมนูอาหารอื่นๆอีกมาก รวมถาดอาหารทะเลด้วย. ราคาไม่มากไม่น้อย. ชื่อถูกใจ จึงจำได้.
นี่คือหน้าตาขาหมู ที่ขายที่ภัตตาคาร Au Pied de Cochon ปารีส
ดูแล้ว ชิมแล้ว นานๆกินครั้ง เพียงพอสำหรับการรับรู้รสชาติ 
เมนูหมูของไทยหลากหลายกว่ามากนัก.

No comments:

Post a Comment