Saturday, September 12, 2020

Music to freedom

 สีฟ้าสีน้ำเงินโพสต์แล้ว วันนี้นึกถึงฟีนแลนด์ โดยเฉพาะเมื่อนั่งเรือเข้าเทียบท่า มองไปเบื้องหน้า คือด่านหน้าของเมืองท่าและเมืองหลวงเฮลซิงกิ. เรียงรายบนฝั่งระหว่างผืนฟ้าใสเบื้องบนที่ประปรายด้วยเมฆขาวสะอาด และน้ำทะเลสีเข้มเบื้องล่าง, อาคารตึกใหญ่ๆเหล่านี้ เป็นสถานที่ทำงานของสถาบัน องค์กรสำคัญๆของรัฐ รวมทั้งอาคารมหาวิทยาลัยฟีนแลนด์ และมหาวิหารเฮลซิงกิที่โดดเด่นเหนือแนวหลังคาอาคารรอบๆ.
เมืองเฮลซิงกิ เมืองหลวงของประเทศฟีนแลนด์ มองจากทะเลสู่ฝั่ง. เครดิตภาพจากที่นี่
คุ้ยหาภาพเก่าๆที่ไปถ่ายมา. จำได้ไม่ลืมว่า หกโมงเย็นวันหนึ่ง ลงเรือจากเมืองสต็อกโฮล์ม Stockholm ไปขึ้นฝั่งที่เมืองเฮลซิงกิ Helsinki หกนาฬิกาวันถัดไป. เป็นเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ แต่เหมือนเรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยา ในแง่ที่เป็นเรือข้ามทะเลปกติ ไปๆมาๆทุกวัน ระหว่างประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย. ค้างคืนบนเรือในห้องที่แสนจะสุขสบาย โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดเลย (เพราะมี Eurailpass. ได้อยู่ห้องเดี่ยว). บนเรือมีทุกอย่างที่ให้ความสำราญ ตลอดทั้งคืนสำหรับผู้ต้องการ. ร้านอาหารหลายประเภท ทุกระดับราคา. อาหารเช้าฟรีในห้องบุฟเฟ่ขนาดใหญ่. กุ้งนึ่งสุก สดๆ ตัวเล็กตัวใส รสหวานธรรมชาติกุ้ง. (ขออภัย) กินไปสิบกว่าตัว ได้สัมผัส เสพและกักกลิ่นอายบ้านเกิดของกุ้งน้อยในทะเลเหนือ. อร่อยในเพดานปาก ดื่มด่ำกับทะเลเหนือมาจนทุกวันนี้ไม่ลบเลือน. กุ้งมังกรที่หลายคนชอบกันนักหนา เหมือนหนุ่มสาววัยสามสิบมีจริตจะก้านที่ถูกปลูกและถูกตรึงไว้  ฤาจะสู้ความหวานของเด็กวัยสิบ... 
เรือเดินทะเลที่นำส่งผู้โดยสารและรถยนต์ข้ามฟากจากฝั่งประเทศสวีเดนสู่ฟีนแลนด์. (คือ Silja Line กับ Viking Line)
     เมืองเฮลซิงกิ เป็นเมืองหลวงของประเทศฟีนแลนด์ มีป่าไม้ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ พื้นที่ป่าไม้ที่เขาอนุรักษ์มาด้วยความหวงแหน. ข้าพเจ้าไปที่นั่น เพราะอยากไปเดินพาร์คซีเบลิอุส Sibelius Park. พอใจกับความสงบในธรรมชาติ สีเขียวเย็นตาของเดือนสิงหาคมปี 2007.  ถ่ายภาพต้นไม้มามาก แต่ให้ดูคลิปวีดีโอข้างล่างนี้แทน. เขามือโปร ถ่ายจากมุมสูง. ตอนที่เกี่ยวกับนก (goldeneye chicks) ต้องถ่ายด้วยความเร็วสูงมาก เพื่อให้ดูกิริยาอาการ ตอนลดความเร็วในแบบ slow motion. คลิปนี้ กองถ่ายของ Wild Scandinavia เขาถ่ายเกือบ 650 ภาพต่อวัน แล้วตัดต่อ รวมกันเป็นเอกสารวีดีทัศน์สู่สายตาประชาชนในปี 2011. (cf. Wildes Skandinavien / (2011) Directors: Oliver Goetzl ) เชิญชมวีดีทัศน์ชุดนี้ ได้ตามลิงค์นี้ >> https://www.youtube.com/watch?v=F5zg_af9b8c
       นักวิจารณ์ผู้หนึ่ง (cf. visitfinland.com) เล่าชีวิตในวัยเด็กของซีเบลิอุสว่า เขาชอบออกไปสำรวจป่าพร้อมไวโอลินคู่มือ. ในหมู่ต้นสน และต้นไม้ขนาดใหญ่ๆ เขารู้สึกสบายใจเหมือนอยู่ในบ้าน ในห้องส่วนตัวของเขาเอง. ธรรมชาติป่าสนดลบันดาลใจ ให้เสกสรรค์ดนตรี. วิญญาณสร้างสรรค์ของเขาจึงเป็นหนึ่งเดียวกับร่างกายที่หลอมแทรกซึมเข้าไปในร่างของธรรมชาติ. ธรรมชาติป่าเขา สวน ทะเลสาบ (หากผู้ใดไปสัมผัสมาในฟีนแลนด์) จะเข้าใจว่า ทุกอย่างอยู่ครบ มีแสงสีของมันในดนตรีของซีเบลิอุส.  ผู้เชี่ยวชาญการดนตรีและรู้จักดนตรีของซีเบลิอุส กล่าวเหมือนกันว่า ดนตรีของเขาเป็นบทกวีพรรณนาภูมิทัศน์ของฟีนแลนด์. เขายังใช้ชื่อต้นไม้ เช่น Birch หรือ Spruce หรือเสียงน้ำหยด เรียกดนตรีของเขาบางบท.  ดนตรีของเขาจึงเหมือนพุพุ่งขึ้นจากห้วงน้ำ, หรือแหวกมวลต้นไม้ออกมา, บางครั้งเหมือนเสียงระลอกคลื่นในทะเลสาบ หรือฟังเหมือนเสียงสายลมที่พัดลูบไล้กิ่งสน. ซีเบลิอุส แปลปรากฏการณ์ธรรมชาติของฟีนแลนด์ เป็นดนตรี. อาจไม่มีนักประพันธ์ดนตรีคนอื่น ที่สามารถจับธรรมชาติ, ประวัติศาสตร์และนิทานปรัมปราของชนชาติ, มารวมกันไว้ได้อย่างลงตัวและมีชีวิตชีวาสมจริงทุกประการ, เหมือนที่ซีเบลิอุสทำได้สำเร็จในบทประพันธ์ของเขา. คุณสมบัติของดนตรีที่ถอดวิญญาณภูมิประเทศของฟีนแลนด์ จึงมีบทบาทสำคัญมากในกระบวนการกู้อิสรภาพของฟีนแลนด์. ภาพธรรมชาติในคลิปวีดีโอที่นำมาให้ดู มีภาพงามสุดจะประทับใจ. ปีกนกที่กระพือแผ่ออกในตอนจบ ดั่งพลังความตั้งใจ จักพุ่งตัวขึ้นสูง...
      เมื่อได้ยลและสัมผัสความงามของดินแดนฟีนแลนด์. หากคลิกดูวีดีโออีกครั้ง เปิดหูและใจ รับเสียงดนตรีที่ประกอบคลิป อาจยิ่งชอบใจมากขึ้น. ดนตรีท่อนนี้ เป็นผลงานประพันธ์ของฌ็อง ซีเบลิอุส Jean Sibelius ประพันธ์ขึ้นในปี 1899. เป็นบทสุดท้ายในเจ็ดบทที่ซีเบลิอุสประพันธ์ขึ้นเพื่อฉลองฐานันดรศักดิ์ที่สี่ของฟีนแลนด์ Press Celebration 1899. บทที่เจ็ดนี้โดยเฉพาะชื่อฟีนลันเดีย Finlandia, Op.26. เป็นโคลงซิมโฟนิค ต่อต้านการเซ็นเซอร์ของจักรวรรดิรัสเซียที่หมายจะผนึก Grand Duchy of Finland เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย (ผู้สนใจกรุณาหาประวัติศาสตร์ของฟีนแลนด์อ่านต่อเองในเน็ต. ที่นี่ จะย่อเพียงว่า ดินแดนที่เป็นฟีนแลนด์ในปัจจุบัน เคยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสวีเดน, ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1700 มีกรณีพิพาทระหว่างสวีเดนกับรัสเซีย รุนแรงยิ่งขึ้นในทศวรรษที่ 1890 และเรื่อยลงมาจนถึงพระเจ้าซาร์คนสุดท้ายของรัสเซียในปี 1917 จึงมีการสถาปนาประเทศฟีนแลนด์. ถึงกระนั้น รัฐบาลของ USSR ก็ยังเข้าไปควบคุมฟีนแลนด์ จำกัดสิทธิเสรีภาพของชาวฟีนนิช). ซีเบลิอุส ใช้ดนตรีเหมือนจิตรกรรมเล่าฉากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของฟีนแลนด์. บทประพันธ์บทสุดท้ายชื่อ Finlandia นี้ (Axel Carpelan แฟนคลับผู้ชื่นชมหลงใหลดนตรีของซีเบลิอุส เป็นผู้เสนอแนะชื่อแก่ซีเบลิอุส) ถูกเปลี่ยนชื่อบ่อยๆ, ใช้นามแฝงแทน (เช่นใช้ชื่อ Happy Feelings) เมื่อเจาะจงในสูจิบัตรรายการ เพื่อมิให้รัสเซียจับได้ว่าเป็นดนตรีเดียวกัน เพราะคำร้องในเพลงฟีนลันเดีย สื่อนัยของความรักชาติ ปลุกจิตสำนึกของการถูกบีบคั้นจากรัสเซีย. คำร้องในฟีนลันเดีย ใจความว่า
«ฟีนแลนด์เอย เจ้าเห็นไหม ตะวันกำลังทอแสง, ความมืดของราตรีถูกขับไล่ออกไป. เสียงนกร้องโบยบินตามแสงตะวัน, ที่ทอดตัวไปในห้วงเวหา, แสงสว่างแผ่ไปทั่วแล้ว ความมืดหมดพลังลง. อรุณรุ่งแล้ว, โอ้ฟีนแลนด์ถิ่นของเรา!
ฟีนแลนด์เอย, เจ้าจงลุก, ผงาดไปให้สูงที่สุด, พลังความทรงจำดั่งมงกุฎส่องประกายบนหัวเจ้า. ฟีนแลนด์เอย, เจ้าจงลุกขึ้น ประกาศให้โลกรู้ เจ้ามิใช่ข้าทาสใครแล้ว, เจ้าได้ปลดแอกหลุดจากการบีบคั้นทั้งมวล. อรุณรุ่งมาถึงแล้ว, โอ้ฟีนแลนด์ถิ่นของเรา!»
      ทำนองดนตรีฟีนลันเดียนี้ แพร่หลายไปทั่วยุโรปเกือบทันที และยังถูกนำไปใช้เป็นเพลงสวด มีการแต่งคำร้องขึ้น ใช้ชื่อว่า Be Still, My Soul เนื้อเพลงปลอบขวัญกำลังใจแก่ทุกผู้ทุกนามที่มีศรัทธาในพระเจ้า ว่าพระเจ้ายังอยู่กับเขา ความทุกข์จะสิ้นสุด ความสงบสุขจะตามมาฯลฯ.
      ดนตรีฟนลันเดีย Finalandia ของซีเบลิอุส จึงถูกยกออกจากบริบทเดิม และขึ้นไปยืนโดดเด่นบนเวทีโลก ในฐานะดนตรีคลาซสิกบทงามที่สุดบทหนึ่ง ที่บรรลุอารมณ์สุนทรีย์สากล. มีผู้แต่งคำร้องอื่นๆขึ้นอีกมากมาย ตามทำนองของดนตรีเดียวกันนี้. ทั้งหมดล้วนปลอบขวัญ สรรเสริญศรัทธาและความหวัง จนกลายเป็นทำนองดนตรีนานาชาติไปแล้ว พ้นพรมแดนและความคับแค้นใจส่วนตัวของประเทศฟีนแลนด์ สู่ความรักความหวังในความสงบสุขร่วมกันของมนุษยชาติ.
ฟังการแสดงดนตรี Finlandia เวอชั่น Be Still, My Soul เป็นการแสดงในวาระครบรอบร้อยปีของอิสรภาพของประเทศฟีนแลนด์, ในมหกรรมดนตรี Prom 75 เมื่อวันที่ 9 กันยายนปี 2019 ของวงดนตรี BBC Symphony Chorus และ BBC Symphony Orchestra และ BBC singers, โดยมี Sakari Oramo เป็นวาทยากร. คำร้องของ : Jean Sibelius / Dan Bird  ชมจากคลิปข้างล่างนี้
Be still my soul the Lord is on thy side
Bear patiently the cross of grief or pain
Leave to thy God to order and provide
In every change He faithful will remain
Be still my soul thy best, thy heavenly friend
Through thorny ways leads to a joyful end

Be still, my soul, thy God doth undertake
To guide the future as He has the past
Thy hope, thy confidence let nothing shake
All now mysterious shall be bright at last

Be still, my soul, the waves and winds still know
His voice who ruled them while He dwelt below
ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคมชาวฟีนนิช มีจิตรกรรมโดดเด่นภาพนี้
จิตรกรรมนี้ชื่อว่า Attack (Hyökkäys ในภาษาฟีนนิช) ผลงานของ Edvard Isto ปี 1899 เป็นภาพอุปมาอุปไมยเหตุการณ์ที่รัสเซียเข้าปกครองฟีนแลนด์ ตอนนั้นยังใช้ชื่อว่า The Grand Duchy of Finland.  เหยี่ยวสองหัวคือรัสเซียกำลังจิก ฉีกหนังสือกฏหมายในมือของหญิงสาว ที่เป็นสัญลักษณ์ของประชาชาติชาวฟีนนิช. รัสเซียพยายามเข้าควบคุมฟีนแลนด์และต้องการผนวกฟีนแลนด์เข้าเป็นของรัสเซีย. ชาวเมืองรวมสื่อมวลชน ต่างถูกจำกัดสิทธิ์ แม้ในการแสดงออกทางศิลปะ. ภาพนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงนโยบายรัสเซียในการผนวกฟีนแลนด์เข้าเป็นของรัสเซีย.  ตอนนั้น วิญญาณขบถแพร่ออกไปทั่วฟีนแลนด์. ภาพนี้ถูกก็อปปี้เป็นพันๆใบ และถูกส่งออกไปทั่วประเทศ. ปีเดียวกันนี้ ที่ ฌ็องซีเบลิอุส Jean Sibelius ประพันธ์ดนตรี Finlandia ดังอธิบายมาข้างต้น. วิญญาณขบถใกล้ถึงจุดเดือด.

        เมื่อข้าพเจ้าเดินไปถึงสวน Sibelius Park แกะรอยตามไปดูอนุสาวรีย์อนุสรณ์แด่ซีเบลิอุส. มองโดยรวมจากที่ไกลๆ เหมือนคลื่นขึ้นๆลงๆ แทรกเข้าอย่างพอเหมาะในหมู่ต้นไม้ในสวน.  อนุสาวรีย์ซีเบลิอุส เป็นภูมิประติมากรรมเด่นที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองเฮลซิงกิ รังสรรค์ขึ้นเป็นเกียรติแด่ฌ็อง ซีเบลิอุส Jean Sibelius (1865-1957) นักประพันธ์ดนตรี ศิลปินแห่งชาติของฟีนแลนด์.
อนุสาวรีย์ซีเบลิอุส ที่ Sibelius Park เมืองเฮลซิงกิ Helsinki, ฟีนแลนด์
ใบหน้าเหมือนของ Jean Sibelius ชาวฟีนนิช
มองจากอีกด้านหนึ่งของสวน
ท่อสเตนเลสที่เชื่อมต่อกันทีละท่อในแนวดิ่ง
         การรังสรรค์ประติมากรรมชิ้นนี้ ตั้งแต่เริ่มต้น สร้างกระแสถกเถียงกันในหมู่สาธารณชนสองกระแส. กระแสหนึ่ง เป็นฝ่ายนิยมอุดมการณ์ที่ยึดแบบแผนดีงามที่เคยมีมา อยากให้งานอนุสรณ์ชิ้นนี้ มีรูปลักษณ์ในแนวอุปมาอุปไมย. ส่วนอีกกระแสหนึ่ง เป็นกลุ่มหัวสมัยใหม่ ยินดีและพร้อมรับงานรูปแบบใหม่ แบบนามธรรมก็ได้เช่นกัน. ในที่สุด อนุสาวรีย์ซีเบลิอุส เป็นแบบดังที่เห็น และเป็นอนุสาวรีย์แบบนามธรรมชิ้นแรกของฟีนแลนด์.  
      อนุสาวรีย์นี้ คือประติมากรรมขนาดมหึมา ยาว 10.5 เมตร, ลึก 6.5 เมตร, สูง 8.5 เมตร และหนัก 30 ตัน. ประกอบด้วยท่อสเตนเลสที่เคลือบกันการกัดกร่อนของกรด  รวมทั้งสิ้น 600 ท่อ, มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดต่างๆกัน บัดกรีเข้าด้วยกันทีละท่อด้วยมือของศิลปินเอง. และแม้ศิลปินจะได้อาศัยคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญหลายคนทั้งทางด้านโลหะศาสตร์, การคำนวณโครงสร้าง และกระบวนการบัดกรี, โครงสร้างทางกายภาพอันมหึมานี้ สำเร็จลงด้วยมือของศิลปินผู้ออกแบบและผู้สร้าง ที่คือ Eila Hiltunen กับผู้ช่วยของเธอผู้เป็นช่างโลหะชื่อ Emil Kukkonen.
ศิลปินผู้รังสรรค์อนุสาวรีย์ซีเบลิอุส เธอคือ Eila Hiltunen เครดิตภาพที่นี่
     งานชิ้นนี้ ใช้เวลาทำเกือบสี่ปี ในโรงสตูดิโอขนาดใหญ่ที่เคยเป็นที่สร้างรูปปั้นนายพล Marshall C.G.E. Mannerheim บนหลังม้า. โรงงานนี้กว้างใหญ่เพียงพอ แต่หนาวยะเยือกในฤดูหนาว. เคราะห์ดีที่ห้องสตูดิโอถ่ายภาพของสามีของ Eila ตั้งอยู่ติดกัน จึงได้อาศัยสิ่งอำนวยความสะดวกจากสตูดิโอข้างๆ. ศิลปินทำงานด้วยความยากลำบาก เพื่อเชื่อมให้ทุกท่อตั้งอยู่ในแนวดิ่ง. การต้องนั่งต่อบัดกรีทุกท่อๆ ทำให้เธอสูดละอองโลหะตลอดเวลา แม้จะสวมหน้ากากขณะทำงานก็ตาม เธอเป็นโรคหอบหืดเรื้อรังในที่สุด. นอกจากนี้ ศิลปินยังต้องสู้กับคำตำหนิวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ไม่เห็นด้วยกับโครงการของเธอ. ในปี 1967 เมื่อทุกคนได้เห็นเป็นประจักษ์กับสายตาว่า ผลงานของเธอ มีรูปร่างลักษณะอย่างไร มีพลังเพียงใด กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมของสวนที่ประดิษฐานประติมากรรมชิ้นนี้ อย่างใด, คำวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลายทั้งปวง ยุติลง. ทุกวันนี้อนุสาวรีย์นี้เป็นสถานที่ต้องไปดู ทางการพาแขกจากต่างประเทศทุกคนไปที่นั่น และบ่อยครั้งเข้าพบศิลปิน Eila Hiltunen ด้วย (เมื่อเธอยังมีชีวิต เธอถึงแก่กรรมในปี 2003). ซีเบลิอุสพาร์ค เป็นที่จัดกิจกรรมนานัปการและหลากหลายประเภทของเมืองเฮลซิงกิ. ส่วนหนึ่งของประติมากรรมขนาดเท่าของจริง ประดับด้านนอกของอาคารสหประชาชาติที่กรุงนิวยอร์ค สหรัฐฯ และที่เมืองมอนทรีออล Montreal ประเทศคานาดา. ยังมีประติมากรรมจำลองขนาดย่อส่วน 1/5 ของผลงานชิ้นนี้ของเธอ อยู่ที่อาคารสหประชาชาติกรุงปารีสด้วย.
      การเลือกใช้ท่อสเตนเลสนั้น ปรากฏว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะ 35 ปีต่อมา อนุสาวรีย์ซีเบลิอุส ยังคงยืนหยัดมั่นคง เนื้อโลหะมิได้เสื่อมหรือผุ, อากาศมิได้กัดกร่อนท่อเหล่านั้นเลย.
      ท่อสีเงินๆทั้งหมด เป็นกระจกส่องฤดูกาลที่ผันแปรในแต่ละนาทีแต่ละชั่วโมง, สะท้อนเสียงร้องกังวานของนก, เสียงทอดถอนใจของคลื่นทะเล, หรือปล่อยเสียงกระหึ่มกึกก้องในยามพายุฝน. ผู้คนเดินไปรอบทิศของอนุสาวรีย์, เอาศีรษะเข้าไปชิดท่อ ฟังเสียง, หรือไปยืนตั้งท่าเพื่อถ่ายภาพตัวเองไว้เป็นที่ระลึกกับอนุสาวรีย์นี้. คนอื่นๆไปนั่งตากลมสบายๆในวันอากาศดีในพาร์คนั้น  หรือนั่งชื่นชมความงามแต่ละฤดูกาล.
      คนหลายรุ่นหลายวัยผ่านไป, ความเห็นและทีท่าของคน เปลี่ยนไป. ต้นกำเนิดของประติมากรรมนี้ ผู้มีความคิดรุนแรงหลายคนไม่พอใจ, แต่ประติมากรรมชิ้นนี้ ได้ยืนหยัดต่อมา สืบทอดขนบเก่ามาประสานกับโครงสร้างยุคใหม่ สร้างสัญลักษณ์ของ ความถาวร ดั่งพลังอัจฉริยภาพของซีเบลิอุส (ที่ยังจะวนมากระตุ้นจิตสำนึกของมนุษยชาติ)อัจฉริยภาพที่ประชาชาติชาวฟีนนิชน้อมรับและรู้คุณค่า, ความถาวรมาจากศิลปินผู้สร้างอนุสรณ์สถานนั้นด้วย ผู้มุ่งมั่นไม่ท้อถอย ดึงความชำนาญมาปะติดปะต่อ สะท้อนแก่นสารในดนตรีของซีเบลิอุส แล้วเชื่อมกับวิสัยทัศน์ของเธอ, ออกมาเป็นงานที่มีค่าคู่ควรกับอัจฉริยภาพของนักประพันธ์ (พูดได้ว่า แรงสร้างสรรค์ของศิลปินถูกตรึงในวัสดุให้ประจักษ์อย่างถาวร)(cf. http://www.eilahiltunen.net/monument.html)
ท่อเหล็กรวมกันเป็นป่าซีเบลิอุสบนฐานหินแข็งแกร่งที่ผนึกพลังจิตชาวฟีนนิช. เครดิตภาพที่นี่.

สรุปจบบันทึกความทรงจำ...
พลันได้ยินประโยคของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ดังลอยมาว่า
คนไทยเป็นคนทันสมัย แต่ไม่พัฒนา...
เอวัง จึงเป็นประการฉะนี้
โชติรส รายงาน
๑๒ กันยายน ๒๕๖๓.

No comments:

Post a Comment