Thursday, September 10, 2020

Blue is everything

ภาพนี้ แสดงชัดเจนว่า คำ สีฟ้า สีน้ำเงิน ในภาษาไทย ที่ใช้ในบทเขียนนี้ เป็นเพียงคำหลวมๆที่รวมโทนสีฟ้าน้ำเงินอีกจำนวนมาก. เครดิตภาพจากที่นี่ 

เมื่อคนมองฟ้าไม่เป็นฟ้า
     ศาสตราจารย์มิเชล ปาสตูโร Michel Pastoureau นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญยุคกลาง medievalist ได้แกะรอยตามหา สีฟ้าจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ เรื่อยลงมาถึงยุคปัจจุบัน เปิดเส้นทางสู่รายละเอียดที่น่าทึ่งและมีสีสัน. ดังจะนำตัวอย่างประเด็นต่างๆ มากล่าวข้างล่างต่อไปนี้. 
    ปาสตูโร พบว่า หนังสือประวัติศาสตร์ของตะวันตก ไม่ว่าจะมอง เล่าหรืออธิบายสังคมยุคกลางในมิติใด เป็นสังคมที่ไม่มีสี เพราะไม่เคยมีใครสังเกต พาดพิงหรือเจาะจงสี(ไม่ว่าเกี่ยวกับเรื่องอะไร)มาก่อน จนเกือบพูดได้ว่า ประวัติศาสตร์ของตะวันตก เป็นประวัติศาสตร์เหมือนหนังขาวดำ, เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่มีสี มาจนถึงศตวรรษที่ 12.
       บทนี้กล่าวถึง สีฟ้าสีน้ำเงิน (BLUE) สีที่ทุกคนรู้จักดี เป็นสียอดนิยมของชาวยุโรป แต่เชื่อหรือไม่ว่า จนถึงศตวรรษที่ 12  สีน้ำเงินไม่มีที่ยืนในสังคม ศาสนาหรือในศิลปะ, เป็นลูกเมียน้อยที่ถูกเก็บไว้ก้นครัวหรือท้ายสวน...

      นักประวัติศาสตร์บอกว่า หลักฐานเก่าที่สุดที่ค้นพบ คือสีฟ้าที่เรียกกันว่า สีฟ้าอีจิปต์หรือ Egyptian Blue มีอายุอยู่ในราว 5000 ปี. เป็นสีที่ใช้กันแพร่หลายมากในจิตรกรรม,  พบร่องรอยบนรูปปั้น, ในสีที่ทาหลุมศพ โลงศพและสุสาน. นอกเหนือจากนี้ สีฟ้าอีจิปต์ยังถูกนำไปใช้ในการผลิตกระเบื้องเคลือบที่เรียกกันว่า เครื่องเคลือบดินเผาอีจิปต์ (Egyptian faience).  ชาวอีจิปต์เชื่อว่า สีฟ้าเป็นสีของสวรรค์ และโดยนัยสีของจักรภพ. สีฟ้ายังถูกโยงไปเชื่อมกับน้ำและแม่น้ำไนล์. ดังนั้น สีฟ้าจึงเป็นสีของชีวิต, ของการสืบทอดแพร่พันธุ์และการเกิดใหม่.
     เมื่อจักรวรรดิโรมันเสื่อมสลายตัวลง สีฟ้าอีจิปต์และกระบวนการผลิตถูกลืมไปสิ้น. ในทศวรรษที่ 1920 มีการขุดเมืองปอมเปอี จึงค้นพบสีฟ้าอีจิปต์อีกครั้ง. พบสารสีฟ้าอีจิปต์ในสีที่ใช้ทาผนังกำแพงบ้านเรือนที่ปอมเปอี (ก่อนถูกถล่มจมลงหลังการระเบิดของภูเขาไฟวิซูเวียสในปีคศ. 79) และยังได้ความรู้อีกว่า สีฟ้าอีจิปต์ได้แพร่หลายออกนอกพรมแดนประเทศอีจิปต์ และพบทั่วไปบนดินแดนรอบฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน. คนพบสีฟ้าอีจิปต์ในสรรพสิ่งกรีกและโรมัน รวมทั้งรูปปั้นทั้งหลายที่ประดับมหาวิหาร Parthenon ที่เมืองอาเธนส์. (ข้อมูลดังกล่าวจากเว็บ ancient-origins.net  ที่บอกให้รู้ว่า ชาวกรีกและโรมันเคยเห็น, เคยใช้สีฟ้าอีจิปต์มาแล้ว, แต่ทำไมจึงยังรังเกียจและไม่สนใจไยดีสีฟ้าเลย, ตามความเห็นของปาสตูโร)
สีฟ้าบนภาพหินจำหลักของรามเสสที่ 3 (1170 BC.) สารสีฟ้าของอีจิปต์. เครดิตภาพที่นี่.
รูปปั้นครึ่งตัวของพระราชินีเนแฟตีติ Nefertiti นำมาจากอีจิปต์ อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Neues Museum, Berlin. เครดิตภาพที่นี่(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องสีฟ้าอีจิปต์ องค์ประกอบ กระบวนการทำ และคุณสมบัติพิเศษที่นักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบ...ได้ในเว็บเพจนี้  หรือจากที่นี่

       การย้อมสีเกิดขึ้นแล้วอย่างน้อยเมื่อราว 4000 ปีก่อนคริสตกาล แต่ไม่เคยปรากฏว่ามีสีน้ำเงิน. สีแดง ขาวและดำ เป็นสีพื้นฐานสามสีในวัฒนธรรมโบราณ ส่วนสีน้ำเงิน เหลืองและเขียว ไม่มีความหมาย ไม่มีบทบาทในสังคมหรือในระบบสัญลักษณ์ใด. ภาพวาดโบราณในถ้ำหรือบนหินผาในศิลปะยุคก่อนประวัติศาสตร์ (เช่นที่ถ้ำ ลัสโก้ Lascaux) ไม่มีสีน้ำเงิน. ในศิลปะประเภทต่างๆที่วิวัฒน์ขึ้นภายหลัง เช่นในศิลปะการทำกระจกสี, การทำตราประจำตระกูล, การประดิษฐ์เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม, จิตรกรรมและในวัฒนธรรพื้นบ้าน ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เรื่อยลงมาถึงยุคกลาง ไม่เคยมีสีฟ้าเลย.
       ปาสตูโร ติดตามแกะรอยไปในจารึกโบราณ manuscripts, จากภาษาตะวันตกโบราณจนถึงภาษาในยุคกลาง ไม่พบคำ สีฟ้า ใช้ในภาษาใด. นักเขียนกรีกยุคคลาซสิกใช้คำว่า kyaneos ที่หมายถึงสีเข้ม ที่อาจเป็นสีม่วงหรือสีดำหรือสีน้ำตาล.
      ชาวกรีกโบราณมองสีฟ้าว่าเป็นสีน่าเกลียดและป่าเถื่อน. ชาวโรมันก็มองว่าเป็นสีเถื่อนสีหยาบ ตามหลักฐานที่มีผู้เจาะจงไว้ว่า ชาวเคลต์และชนกลุ่มเยอเมนิค ละเลงใบหน้าด้วยสีน้ำเงินเพื่อข่มขวัญคู่ต่อสู้. ชาวโรมันจึงมองว่าสองชนเผ่านี้เป็นชนเผ่าป่าเถื่อน. ยุคโรมโบราณ ไม่มีใครสวมเสื้อผ้าสีน้ำเงินหรือสีฟ้า, ยิ่งในยุคโรม-รีพับลิค ใครสวมเสื้อผ้าสีน้ำเงินถือว่าละเมิดกฎหมาย. ผู้ชายที่มีตาสีฟ้า ยังพอมีราศี, แต่ผู้หญิงตาสีฟ้า เป็นที่เย้ยหยัน. ชาวโรมันในยุคนั้น น่าจะมีตาสีเข้ม สีดำปนสีเหลืองออกเขียวหรือสีเทาแต่ไม่มีตาสีฟ้า(นัก). ในละคร มีหลักฐานบอกว่า ตัวละครตัวผู้ร้ายหรือตัวตลก ส่วนใหญ่มีตาสีฟ้า สีออกเทาๆ หรือสีออกแดงๆ เป็นตัวละครที่น่ารังเกียจทั้งสิ้น.
     ในศตวรรษที่ 3 ชาวเคลต์และชาวเยอเมนิค อพยพเข้าไปตั้งรกรากในจักรวรรดิโรมันมากขึ้น. ชนเผ่าทั้งสองนี้ มีความรู้และเชี่ยวชาญในเรื่องการย้อมสี พวกเขาสร้างแฟชั่นสีเขียว, ตามด้วยแฟชั่นสีฟ้า เพราะยุคนั้น คนชอบเสื้อผ้าหลายๆแบบ. เล่ากันมาว่า จักรพรรดิเนโร(37-68 AD) ชอบสวมเสื้อผ้าแบบตะวันออก(กลาง)หลากสีสัน. แต่หากผู้หญิงสวมเสื้อผ้าชุดสีเขียว สีน้ำเงินหรือสีม่วง กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวทันที, ถูกมองว่าเป็นคนฉาบฉวย.
     ในศตวรรษที่ 4 เกิดแฟชั่นการเอาผ้าขนสัตว์สีขาว (สีขาวนวลที่เป็นสีธรรมชาติของขนแกะ) ผืนหนา กว้างและยาว ห่ม(หรือพันตัว) ทับเสื้อทูนิคแขนสั้นตัวใน, เรียกผ้าคลุมที่ห่อและพันตัวในยุคโรมันนั้นว่า la toga [ต้อกะ] (เทียบได้กับผ้าสังฆาฏิ ที่ห่มพาดบ่าหรือห่มคลุม). (อาจขลิบขอบผ้าด้วยสีอื่นบ้างก็ได้ บางทีก็มีเข็มกลัดกลมขนาดใหญ่ตรึงผ้าไว้ตรงหัวไหล่). ผ้าผืนนี้ ยาวและกว้างพอให้ดึงขึ้นคลุมหัวได้ด้วย ในกรณีที่ภายนอกอาคารฝนตกหรือหนาว. ในสภาประชาชนโรมัน ทุกคนห่มผ้าคลุมแบบนี้ ถือว่าแสดงความเป็นลูกผู้ชาย. สามัญชนชาวโรมันจะห่มผ้าคลุมต้อกะนี้ได้ เมื่อบรรลุนิติภาวะแล้วเท่านั้น. สีขาว(สีธรรมชาติ) จึงเป็นสีบอกวุฒิภาวะในหมู่ชาวโรมัน.
การห่มต้อกะ toga แบบต่างๆของชาวโรมัน (ผ้าในภาพนี้ ขลิบสีด้านยาวด้านหนึ่ง เพื่อให้เห็นชัดเจน). เครดิตภาพที่นี่.
      แต่ไม่นานต่อมาโรมจะล่มสลาย. สิ่งที่คนยุคเราเห็นเป็นสีฟ้า ไม่ใช่สีฟ้าสำหรับคนยุคนั้น. เช่นสำหรับชาวกรีกและชาวโรมัน ท้องฟ้าเป็นสีเหลืองทอง บางทีขาว, ดำ, แดง, เป็นได้ทุกสีดังที่เห็นในภาพสมัยก่อนๆหรือในจารึกสมัยนั้น แต่น้อยมากที่ท้องฟ้าจะเป็นสีฟ้า. น่าสงสัยว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ในเมื่อประเทศกรีซ หรืออิตาลี ท้องฟ้าสีฟ้าใสกระจ่าง และทะเลเมดิเตอเรเนียน สี ultramarine ที่ไม่มีที่ใดเหมือน ทั้งในความเป็นจริงทางภูมิศาสตร์และในภาพลักษณ์ที่ฝังแน่นอยู่ในจินตนาการของมวลชน. การไม่มีคำเจาะจงสีน้ำเงินในยุคนั้น ทำให้มองว่า เป็นสีที่ไม่มีคุณสมบัติหรือคุณค่าใดหรือไร?  มีผู้ตั้งคำถามว่า หรือชาวกรีกโรมัน ตาบอดสีฟ้า?  เกิดประเด็นว่า การไม่มีคำสีน้ำเงินใช้ ไม่ได้หมายความว่าพวกเขามองไม่เห็นสีนั้น. การมอง(เห็นหรือไม่) กับสมรรถภาพการรับรู้สี มันคนละเรื่องกัน และซับซ้อนกว่าการติดอยู่แค่สีของสิ่งที่เห็น. มุมมองวิทยาการปัจจุบัน ไม่ว่าอะไรไม่มีสี หากไม่มีคนดู (คนดูที่ไม่ใช่คนตาบอด หมายถึง กระบวนการทำงานของประสาทสัมผัสที่เชื่อมต่อกับสมอง). หากชาวกรีกและชาวโรมัน ไม่พูดถึงสีน้ำเงินมากนัก เป็นเพราะในชีวิตประจำวันของพวกเขา, ในขนบประเพณี, ในโลกจินตนาการและในระบบสัญลักษณ์ของพวกเขา ไม่มีที่ให้สีน้ำเงินมากนัก. ทั้งสองชนชาติ ไม่มีคำที่เจาะจงสีน้ำเงิน. ปาสตูโร ติดตามแกะรอยไปในจารึกโบราณ จากภาษาตะวันตกโบราณจนถึงภาษาในยุคกลาง ไม่พบคำ สีน้ำเงิน ใช้ในภาษาใด.   
       ฝ่ายศาสนา เหล่าบาทหลวงก็ไม่พูดอะไรมากนักเกี่ยวกับสี. แน่นอนเพราะพวกเขายึดตามพระคัมภีร์. คัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือที่ไม่มีสีนัก ในแง่ที่ว่ามีศัพท์เกี่ยวกับสีน้อยมากหรือไม่มีการพูดถึงสี. คัมภีร์ไบเบิลเวอชั่นหลังๆ ค่อยมีสีสันขึ้นนิดหน่อย. การแปลสีน้ำเงิน เป็นภาษาใด จึงไม่ง่ายเลย เพราะไม่ชัดเจน ไม่เจาะจงและไม่คงที่. นักเขียนกรีกยุคคลาซสิกใช้คำว่า kyaneos ที่หมายถึงสีเข้ม ที่อาจเป็นสีม่วงหรือสีดำหรือสีน้ำตาล. การแปลคัมภีร์จากภาษากรีกเป็นละติน ตัวอย่างในภาษากรีกบอกว่า ผ้าที่ทอประณีต เมื่อแปลเป็นภาษาละติน จะกลายเป็นผ้าสีแดง หรือในเวอชั่นอื่น กลายเป็นผ้าสีแดงม่วงๆ (crimson/cramoisi).  ยุคนั้นคัมภีร์ภาษาอาร์เมเนียนหรือภาษาฮีบรู เกือบไม่มีศัพท์เกี่ยวกับสีเลย. ดังนั้นการแปลสีและการตีความเรื่องสี ที่ทำต่อๆกันมา จึงคลาดเคลื่อนได้มาก. โดยทั่วไปมีสีแดงกับสีดำ, สีเขียวและสีเหลือง มีน้อยมาก และไม่มีสีฟ้าสีน้ำเงินเลย.
      ในศตวรรษที่ 8 ศาสนาเริ่มใช้เครื่องแต่งกายสีทองและสีสดๆ. มีจารึกจากยุคนั้น ที่พูดถึงความหมายและสัญลักษณ์ของสี รวมกันถึง 12 สี.  สีน้ำเงิน ยังไม่ใช่หนึ่งในสีเหล่านั้น. อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปีคศ. 1000 ในงานศิลป์ เริ่มเห็นสีน้ำเงินอยู่บ้างในอัตราส่วนน้อยนิด เช่นในศิลปะโมเสกของชาวคริสต์และในภาพวาดลงสีประดับหนังสือโบราณ (จิตรกรรมน้อย).
      ปาสตูโร เล่าว่า ในสมัยกาโรแร็งเจียง (Carolingian dynasty, 751-888) เริ่มมีการสร้างคำศัพท์เกี่ยวกับสีต่างๆ. ในภาษาละตินท้องถิ่น (Vulgar Latin) ไม่มีคำใช้เรียกสีน้ำเงิน (หรือสีเหลือง) จึงต้องหันไปหาคำจากกลุ่มภาษาเยอเมนิคและภาษาอาหรับ และได้คำ blau, bleu, blue กับ azur. คำเหล่านี้เป็นที่มาของศัพท์สีฟ้าสีน้ำเงินในภาษาโรมานซ์ (ที่แตกแขนงเป็นภาษาอิตาเลียน ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส โรเมเนียในปัจจุบัน).   
     จนถึงปลายศตวรรษที่ 12 คาร์ดินัลโลแตร์ Lothaire (ต่อมาได้ขึ้นเป็นสันตะปาปา Innocent III ผู้ได้รับการยกย่องว่า เป็นสันตะปาปาผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติการสืบตำแหน่งสันตะปาปา) เมื่อเป็นหนุ่ม ได้เขียนบทบัญญัติเกี่ยวกับมิสซา พร้อมบทใหญ่บทหนึ่งว่าด้วยสีที่ใช้ในพิธีศาสนา. เขาอยากให้บทบัญญัตินั้นเป็นแบบอย่างสำหรับทุกวัดในคริสต์จักร. สีในพิธีศาสนาไม่มีสีฟ้า ทุกอย่างวนอยู่กับการใช้ สีขาว ในงานฉลองของพระคริสต์และของพระแม่มารี, ใช้ สีแดง ในงานฉลองกางเขนและพระจิต, แต่สำหรับผู้ตายเพื่อศาสนานั้น ใช้ สีดำ. คนแต่งสีดำในช่วงบำเพ็ญทุกรกิริยา เช่นในการลงโทษตัวเองในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ (Holy Friday). โลแตร์ ได้เพิ่มสีที่สี่ คือ สีเขียว สำหรับใช้ในวันที่ไม่ใช้สีขาว สีแดงหรือสีดำ. ไม่มีการใช้สีเหลือง หรือสีน้ำเงิน (ยกเว้นกรณีพิเศษ สำหรับวัดที่อยู่ห่างไกล). หากมองไกลออกไปถึงคุณธรรมศาสนาสามประการ (Vertus théologales คือคุณธรรมที่มี พระเจ้า เป็นเป้าหมายสุดท้าย) มีประเด็นให้นักเทววิทยาเชื่อมโยงสีกับคุณธรรมดังกล่าว เช่น สีเขียวเป็นสีของความหวัง (Esperance ความปลาบปลื้มในพระเจ้า), สีขาวเป็นสีของศรัทธา (Faith ความเชื่อในสิ่งที่ตามองไม่เห็นและที่จิตวิญญาณสัมผัสได้) และสีแดงเป็นสีของความรัก (Charity ความรักในพระเจ้า, ความรักคนอื่นเหมือนรักตัวเอง).

เมื่อพระแม่มารีห่มสีฟ้า... จัดลิลลีทองบนพื้นสีฟ้า
ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 12 ถึงปลายศตวรรษที่ 13  จู่ๆสีน้ำเงินโผล่ขึ้นราวกับว่าคนเพิ่งค้นพบ. เป็นเหตุการณ์สำคัญ ที่อาจเทียบว่าเป็นการปฏิวัติสีน้ำเงิน. ในเวลาเพียงไม่กี่สิบปี สีน้ำเงินได้กลายเป็นสีโดดเด่นในจิตรกรรม, ในศิลปะการทำตราประจำตระกูลและเป็นสีเสื้อผ้าอาภรณ์. มีการโปรโหมดสีน้ำเงินในหลายภาคส่วน. ก่อนหน้านั้น พระแม่มารีมักสวมชุดสีคล้ำๆ ดำ เทา ม่วง แดงเข้มหรือสีเขียวเข้ม สร้างภาพลักษณ์ของความสง่า ขรึม ความอุทิศตน.
จิตรกรรมบนหน้าต่างกระจกสี จากศตวรรษที่ 12 จากมหาวิหารน็อตเตรอดามเมืองช้าตร์ Cathédrale Notre-Dame de Chartres. พระแม่มารีบนบานหน้าต่างสีงามสว่าง สมดังที่เขาตั้งชื่อว่า Notre-Dame de la Belle-Verrière.
พระแม่มารีในภาพบนหน้าต่างนี้ ต่างจากหน้าต่างกระจกอื่นๆในศตวรรษที่ 13. พระแม่สวมเสื้อผ้าสีฟ้าใส เป็นสีสกัดมาจากโคบอลต์ออกไซด์ มาเป็น สีฟ้าโคบอลต์ หรือ cobalt blue และเรียกกันต่อมาว่า สีฟ้าเมืองช้าตร์ « bleu de Chartres » ที่สว่างใสมาก. เป็นภูมิปัญญาที่คนสมัยนี้ลืมไปแล้ว แต่ในยุคนั้น เป็นสีที่ทำขึ้นได้สำเร็จในราวปี 1140 ที่โรงงานของมหาวิหารแซ็งเดอนี (Basilique Saint-Denis. Ref. Diversarum artium schedula ของพระนักบวชชื่อ Théophile) และได้แพร่ออกไปยังเขตก่อสร้างวัดวิหารเมืองอื่นๆในฝรั่งเศสเช่นที่เมือง Chartres และเมืองเลอม็อง Le Mans. สีฟ้าโคบอลต์แบบนี้ เป็นสีทนนานกว่าสีแดงหรือสีเขียวที่ใช้ในยุคเดียวกันนั้น. การได้เห็นลำแสงแดดจากทิศใต้สาดส่องผ่านบานกระจกเข้าไปปรากฏภายในมหาวิหาร, เห็นรูปลักษณ์ เป็นเนื้อหาจากคัมภีร์ เหมือนปาฏิหาริย์จากสวรรค์ ที่คนไม่เคยคิดหรือเห็นมาก่อน. เป็นครั้งแรกที่เห็นสีฟ้าโดดเด่นมาก, สีฟ้ากลายเป็นคู่แข่งของสีแดง, กลายเป็นสีของพระแม่มารีตั้งแต่นั้น และเป็นสีของสวรรค์ในที่สุด. นักประพันธ์คนดังๆหลายคน ทั้งฝรั่งเศสและชาวยุโรป ได้เขียนพรรณนาความประทับใจ เมื่อได้ไปเยือนและเห็นพระแม่มารีเฉิดฉายในแสงสีสะท้อนผ่านกระจกแบบนั้น (เช่น Claudel, Malraux, Huymans, Proust, Dos Passos) เขาตระหนักชัดว่า ความสว่างเป็นรูปแบบหนึ่งของพระเจ้า.
     ยุคนั้น สีน้ำเงิน ได้มาจากธาตุโคบอลต์(โลหะชนิดหนึ่ง), สีแดงและสีเขียว ได้มาจากทองแดง, สีม่วงๆ มาจากแมงกานีส, สีเหลือง มาจากแร่พลวง. (ในศตวรรษที่ 19 และ 20 การค้นพบวัสดุใหม่ๆ, รงควัตถุใหม่ๆ, และนวตกรรมด้านเทคโนโลยี, การเสกสรรค์หน้าต่างกระจกสีเปลี่ยนไปจากกระบวนการดั้งเดิมในยุคกลาง). กล่าวได้ว่า ศิลปะการทำหน้าต่างกระจกสี (l’Art du vitrail) พร้อมภาพเล่าเรื่องราวในคัมภีร์ ได้เป็นต้นแบบของเนรมิตศิลป์แขนงใหม่ที่อยู่เหนือการทำกระจกทั่วไป, ที่ฝรั่งเศสเป็นผู้รังสรรค์ขึ้นประดับโลก.  
    นวตกรรมดังกล่าว รวมถึงวิวัฒนาการในเทคนิคการสกัดและย้อมสี ตลอดจนการวางระบบสัญลักษณ์ศาสนาที่เริ่มขึ้นในศิลปะโรมันเนสก์และชัดเจนยิ่งขึ้นในศตวรรษที่ 12 (และตลอดยุคกลาง) ได้ยกระดับสีฟ้าให้เป็นสีผู้ดี ในเมื่อเป็นสีเสื้อผ้าอาภรณ์ของพระแม่มารี. ในช่วงเวลานี้เอง ขนบศาสนาเบนไปเน้นพระแม่มารี ในฐานะของราชินีแห่งนภากาศ เคียงข้างพระเยซูคริสต์ในสวรรค์ทิฆัมพร. ในที่สุดเข้าไปแทนสตรีในดวงใจของอัศวินในระบบศักดินา เปลี่ยนความศรัทธาไปรวมอยู่ในขนบบูชาพระมามารีแทน (mariology). สีฟ้าใสกลายเป็นสียอดนิยมทันที. พระแม่มารีจึงเหมือนผู้นำในการโปรโหมดสีฟ้า. ตั้งแต่นั้น สีฟ้ากระจายไปยังงานศิลป์รูปแบบอื่น เช่นนำไปใช้เป็นสีกระจกหรือสีเคลือบน้ำยาชักเงา. ในศิลปะการทำตราประจำตระกูลก็เช่นกัน สีฟ้ามีสถานะใหม่ จากเดิมมีสีฟ้าราว 5% บนตราตระกูลในปี 1200, เพิ่มขึ้นถึง 40% ในศตวรรษที่ 15.
สีฟ้าเด่นชัด ดังเห็นในภาพนี้ จากหนังสือสวดต้นศตวรรษที่ 13 ที่เป็นแผ่นหนังประดับด้วยจิตรกรรมน้อย(27 ภาพ). เล่มนี้เรียกกันมาว่า Le Psautier de Blanche de Castille เหมือนจะเป็นหนังสือของขวัญแด่พระนางบล๊องช์ เดอ กัสตีย์ (ราชินีในพระเจ้าหลุยส์ที่ 8). ปัจจุบันเล่มนี้อยู่ที่หอสมุด Bibliothèque de l’Arsenal, Paris. ภาพหน้าซ้าย บนคือภาพเหตุการณ์พระเยซูขึ้นสวรรค์ (Ascension), ล่างคือภาพเหตุการณ์พระจิตแผ่พระเมตตาวิลาสล้ำแก่เหล่าอัครสาวก (Pentecost/Pentecôte). หน้าขวา พระคริสต์บนบัลลังก์ เป็นพระคริสต์ผู้งามสง่าเหนือโลก (Le Christ pantocrator มีสัญลักษณ์แทนอัครสาวกผู้แต่งคัมภีร์สี่องค์ อยู่สี่มุม). เครดิตภาพที่นี่
      แน่นอน กษัตริย์ฝรั่งเศสก็เริ่มสวมเครื่องแต่งกายสีฟ้าสีน้ำเงิน อีกทั้งเลือกดอกลิลลีสีทองบนพื้นสีฟ้าใส เป็นตราสัญลักษณ์ประจำองค์พระเจ้าแผ่นดินด้วย(ราวปี 1130) ตั้งแต่พระเจ้าฟิลิปออกุซต์ Phillipe Auguste ประกาศเรียกพระองค์เองว่า เป็นกษัตริย์ฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ. พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โดยเฉพาะ ชอบสีฟ้าน้ำเงินอยู่แล้ว. พระองค์ เป็นตัวอย่างสุดยอดของยุคคลาซสิกฝรั่งเศส, เป็นตัวแทนไร้ผู้เท่าเทียมในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงเป็นผู้นำการปฏิวัติสีฟ้าน้ำเงินในหมู่ราชวงศ์ยุโรป เช่น กษัตริย์ชาวคริสต์ในอังกฤษ, กษัตริย์บนคาบสมุทรไอบีเรีย. และเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงฉลองพระองค์สีฟ้าน้ำเงิน เจ้าชาย ขุนนางชั้นสูงเรื่อยลงไปในชนชั้นระดับล่าง ต่างเริ่มใช้เสื้อผ้าสีฟ้าน้ำเงินด้วย.
ภาพจากหนังสือ Le Miroir Historial (Vol.IV) ของ แว็งซ็อง เดอ โบแว Vincent de Beauvais จารึกพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าฟิลิป Philip II Augustus (1179-1223). พระเจ้าเฮนรีที่สอง (เสื้อคลุมสีแดง ซ้ายของภาพ) ร่วมอยู่ในพิธี. พระเจ้าฟิลิปออกุซต์ ประกาศให้ขนานนามพระองค์ว่า กษัตริย์ฝรั่งเศส Roi de France คนแรกในปี 1179. พระเจ้าฟิลิปออกุซต์ ทยอยยึดดินแดนในฝรั่งเศสที่อังกฤษปกครองกลับคืน. เครดิตภาพ Master of the City of Ladies,  Public domain.
พระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ พระชนมพรรษา ๕ พรรษาเมื่อขึ้นครองราชย์. จิตรกรรมทั้งสองภาพเป็นผลงานของ Hyacinthe Rigaud, Public domain. ภาพขวาปี 1702. ภาพบุคคลมีสีสันมากขึ้นก็จริง แต่ประเด็นสำคัญที่จิตรกรต้องการเน้น คือ ความหรูหรา ความสง่าภูมิฐาน บุคลิกที่แสดงอำนาจ ดังเช่นภาพนี้ของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่.
พระนางอันนาแห่งออสเตรีย Queen Anna of Austria พระมารดาของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่. ผลงานของ Peter Paul Rubens (c.1622-1625), Public domain via Commons.wikimedia.org

      ในส่วนของอาชีพย้อมสี พวกเขาไม่สามารถผลิตสีฟ้าน้ำเงินเฉดสวยๆมาตลอดหลายชั่วคนในอดีต แต่ภายในสองสามรุ่นระหว่างศตวรรษที่ 12-13 พวกเขาก้าวกระโดดไปมากในด้านการย้อมสีและในด้านเทคนิคการย้อม. เป็นเช่นนี้เสมอในประวัติศาสตร์ ความก้าวหน้าเกิดจากการมีอุปสงค์ (demand) ในสังคม, อุปทาน (supply) จึงเกิด. อุดมการณ์ใหม่, สัญลักษณ์ใหม่, การคิดค้นวิทยาการและเทคนิคใหม่ก็เกิดตามมาเสมอ. เป็นเช่นนี้สำหรับสีฟ้า ที่ถูกยกขึ้นเป็นสีที่มีค่า, เห็นได้ชัดในงานสร้างสรรค์ทางศิลปะ, ในศิลปะกระจกสี. ดังภาพตัวอย่างบานกระจกหน้าต่างที่เมืองช้าตร์ข้างบน.
      ตั้งแต่นั้นมา งานเนรมิตรหน้าต่างกระจกสี, งานเคลือบลงยา, งานภาพวาดประดับหนังสือ ได้ให้พื้นที่ “ใหญ่” แก่สีฟ้าน้ำเงิน อย่างที่ไม่เคยทำกันมาก่อน (ในอดีตที่ผ่านมา ในกรณีที่มีการใช้สีน้ำเงิน สีน้ำเงินก็มักอยู่รอบนอก ใกล้ขอบ ไม่เคยไปอยู่ตรงกลางภาพ). เมื่อเหตุการณ์กลับตาลปัตรเช่นนี้ จึงเหมือนการปฏิวัติสีฟ้า กลายเป็นการโปรโหมดสีฟ้าน้ำเงินอย่างแท้จริง. ถึงกระนั้นประเทศอิตาลีก็ยังไม่อยู่ในกระแสนี้ จนเมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไป. สิ่งที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี และภายหลังบนคาบสมุทรไอบีเรีย ไม่ได้ไปเปลี่ยนกระแสค่านิยมในอิตาลีเลย. กว่าที่กระแสนี้ จะข้ามเทือกเขาแอลป์ลงไปที่คาบสมุทรอิตาลี ก็ต้องรอไปถึงศตวรรษที่ 14 และเป็นไปอย่างช้าๆทีละขั้นตอน.
      ในช่วงปี 1343-1345 เกิดการบัญญัติกฏหมายฉบับพิเศษเกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค ควบคุมการใช้จ่าย (Sumptuary laws) ที่เป็นทั้งกฎหมายการเมืองและเศรษฐกิจ โดยมีจุดมุ่งหมายในการควบคุมและจำกัดความสุรุ่ยสุร่าย ลดความหรูหราฟุ่มเฟือย เท่ากับควบคุมค่าใช้จ่ายในวิถีการดำเนินชีวิตของพลเมืองหรือผู้อยู่ในบังคับบัญชา, หยุดการใช้จ่ายที่เกินขอบเขตทั้งในเรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย อาหาร เครื่องเรือนเป็นต้น. กฎหมายแบบนี้มีใช้กันมาแล้วตั้งแต่ยุคโบราณตามเมืองกรีกและที่กรุงโรม. กฎหมายนี้ ยืนยันอำนาจเด็ดขาดของรัฐ ในการจำกัดเสรีภาพของเอกบุคคลเพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะ. 
       ประจวบกับเป็นยุคกาฬโรคระบาดครั้งเลวร้ายที่สุด (ที่เรียกกันว่า โรคดำมรณะ หรือ The Black Death) ทางการบังคับให้สตรีในชนชั้นผู้ดีเมืองฟลอเรนซ์ นำทุกสิ่งที่เธอมีในตู้เสื้อผ้า,  เสื้อผ้าทุกอย่างทุกชิ้น ทั้งชั้นในและชั้นนอก ไปให้เจ้าหน้าที่สำรวจตรวจตรา. เอกสารบันทึกเครื่องแต่งกายของสตรีทั้งหลายเกือบ 6000 ชิ้นจากสตรีราว 2500 คนของเมืองฟลอเรนซ์ยุคนั้นที่มีพลเมืองราวแสนถึงแสนหนึ่งหมื่นคน, เหลือตกมาถึงทุกวันนี้ นับว่าเป็นปาฏิหาริย์อย่างหนึ่ง และได้กลายเป็นข้อมูลวิเศษสุด เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองและประวัติศาสตร์สี. เอกสารเหล่านี้ ถูกเก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุเมืองฟลอเรนซ์. สำหรับนักประวัติศาสตร์สี พวกเขาทำสถิติได้ว่า ในเมืองฟลอเรนซ์สตรีผู้ดียุคนั้น มีเครื่องแต่งกายอะไรบ้าง สีอะไรบ้าง. พบว่าสีเด่นที่ใช้กันมากที่สุด คือสีแดง, นอกจากนี้มีสีเหลือง สีเขียว สีขาว แต่สีดำและสีฟ้า มีน้อยมาก.
      แฟชั่นผ้าสีน้ำเงินได้แพร่หลายในฝรั่งเศสและอังกฤษแล้ว แต่ในอิตาลียังคงน้อยมาก และในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 14 ผ้าสีดำมีมากขึ้น ส่วนผ้าสีน้ำเงิน ยังคงอยู่ในระดับเดิมๆ. ข้อมูลดังกล่าว สำคัญมากสำหรับวงการศิลปะ. จิตรกรหลายคนได้พยายามใช้สีฟ้าน้ำเงินให้สอดคล้องกับรสนิยมของยุคสมัย เช่นจิตรกรจีอ็อตโต (Giotto di Bondone) น่าจะเป็นผู้นำอิตาเลียนคนแรกๆ ที่ใช้สีฟ้าน้ำเงินมาสร้างสรรค์เฟรสโกประดับฝาผนังกำแพงของวัดสครอเวนี (Cappella degli Scrovegni) ที่เมืองปาโดวา (Padova) ดังภาพข้างล่างนี้.
วัดสครอเวนี (Cappella degli Scrovegni) ที่เมืองปาโดวา (Padova) เฟรสโก้ผลงานของ จีอ็อตโต (Giotto di Bondone) ราวปี 1305. เครดิตภาพที่นี่
ห้าสิบปีต่อมา Fra Angelico (1395-1455) กับคนอื่นๆ เป็นผู้นำและสืบทอดการใช้สีน้ำเงิน.
จิตรกรรมผลงานของ Fra Angelico (ราวปี 1430-1434) เนื้อหา : การตายและการขึ้นสวรรค์ของพระแม่มารี. (สีฟ้าในภาพนี้ สีสว่างเกินไปหน่อย น่าจะอยู่ที่การจัดสีดิจิตัล).  ภาพอยู่ที่ Isabella Stewart Garden Museum, Boston, USA. ภาพจากเว็บที่นี่. 

      เกือบร้อยสามสิบปีผ่านไป ตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 กว่าที่อิตาลีเริ่มใช้สีน้ำเงินในเรื่องผ้า, เสื้อผ้าอาภรณ์และในงานศิลป์, ต้องติดตามไปดูข้อมูลจากกระบวนการสร้างอาชีพช่างย้อม จากฟลอเรนซ์ถึงเวนิส, มิลานและในเมืองที่ทำอุตสาหกรรมสิ่งทอ. อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปยุคกลาง, เมืองทอผ้า คือเมืองรวมอาชีพช่างย้อมสีด้วย. ตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 14 อาชีพย้อมสีผ้าแบ่งออกเป็นสองสาย สายหนึ่งรวมช่างย้อมสีแดงที่มีสิทธิ์ย้อมสีเหลืองและสีขาวได้ด้วย อีกสายหนึ่งเป็นช่างย้อมสีน้ำเงิน(ที่เป็นธุรกรรมใหม่สำหรับอิตาลีดังเล่ามา) และช่างย้อมสายสีน้ำเงินนี้ ก็ย้อมสีเขียวหรือสีดำได้ด้วย. นอกจากนี้ยังมีการแยกแยะกลุ่มสิ่งทอออกเป็นกลุ่มทอผ้าขนสัตว์, ผ้าไหม, ผ้าฝ้ายเป็นต้น, เป็นครั้งแรกที่สีน้ำเงินมีสถานะในกลุ่มอาชีพ เป็นสถานะที่ผนึกนัยสัญลักษณ์เฉพาะด้วย. ดังนั้น ในศตวรรษที่ 15 เจ้าชาย เจ้าหญิง สตรีชั้นสูง เริ่มสวมเสื้อผ้าสีน้ำเงิน ที่พัฒนาเป็นสีโทนฟ้าน้ำเงินที่สวยงามอีกหลายเฉด ที่ดูสวยงามและประณีต. เริ่มการสั่งเข้าวัสดุเพื่อมาสกัดสี ทั้งที่เมืองเจโนอา Genoa, เมืองปิซา Pisa และโดยเฉพาะเมืองเวนิส ที่เป็นศูนย์กลางใหญ่ในการค้าขายและเดินเรือติดต่อค้าขายกับต่างแดน เวนิสรวมการค้าและขายรงควัตถุ ที่จะแผ่กระจายออกไปทั่วทั้งยุโรป.
       ตั้งแต่ศตวรรษที่ 13-18 เวนิสจึงเป็นเมืองหลวงของสี เป็นแหล่งรวมรงควัตถุที่ใช้ในการย้อมสีและในศิลปะเช่นจิตรกรรม โดยเฉพาะเมื่อมีการนำเข้าสีคราม indigo จากเอเชียมาถึงเวนิส. เมื่อเริ่มต้นในศตวรรษที่ 13 ธุรกรรมนี้ยังเป็นขนาดเล็กและขยายใหญ่ขึ้นๆในศตวรรษที่ 14. เมื่อมีสีครามใช้ ทำให้ชนชั้นสูงสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์สีฟ้าๆกันมาก. สีครามให้สีที่เข้มข้น ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์และผ้าฝ้ายดูดซึมได้ดีโดยไม่ต้องใช้สีกัดผ้าช่วย. สีครามนี้ดีกว่าสีน้ำเงินที่ใช้มาก่อนเพราะสีน้ำเงินมีแนวโน้มจะซีดลงไปเรื่อยๆ. ในศตวรรษที่ 18 มีการนำสารสีครามจากทวีปอเมริกามาขายแข่งกับเอเชีย. ปลายยุคกลาง สีน้ำเงินกลายเป็นสีของพระราชา ส่วนสีแดงยังคงเป็นสีประจำของสำนักสันตะปาปา.
     นอกจาก indigo เกิดการซื้อขายหิน ลาปิซ ลาซูลิ (lapis lazuli) (ยุคนั้นนำเข้าจากประเทศแอฟกานิสถาน) ที่คนสกัดได้สีฟ้าที่สวยงามน่าอัศจรรย์ เป็นสีน้ำทะเลเข้ม ultramarine/ bleu d’outre mer  ชื่อนี้ส่วนหนึ่งมาจากการเป็นสี โพ้นทะเล ข้ามน้ำข้ามทะเลกว่าจะไปถึงเวนิสหรือยุโรป. ต่อมา ราคาหินชนิดนี้สูงขึ้นๆมาก เมื่อจักรวรรดิเติร์กแผ่อาณานิคมมายังดินแดนรอบทะเลเมดิเตอเรเนียนตะวันออก อันเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งผลิตภัณฑ์จากเอเชียมาถึงกรุงเวนิส. มีเอกสารราคาของหินลาปิซเทียบให้เห็นทุกสิบปี ที่ยืนยันว่ามีการสั่งเข้าหินลาปิซมากขึ้นๆ แม้ว่าราคาจะแพงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับราคาในศตวรรษก่อนหน้านั้น.

วิวัฒนาการสีและการค้นพบสเป็กตรัมรุ้งกินน้ำ
       ดังกล่าวมาแล้วว่า กษัตริย์ฝรั่งเศส ได้ยกระดับสีฟ้าขึ้นเป็นสีสัญลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดิน (โดยปริยายของราชวงศ์และสมบัติของพระเจ้าแผ่นดิน).  เมื่อสีฟ้าโลดลอยตัวโดดเด่นในยุคต่อๆมา มีการสร้างสรรค์สีฟ้าสีน้ำเงินเฉดใหม่ๆเป็นจำนวนมาก.
สีบลู BLUE ที่ไล่ระดับเช่นนี้ ยากที่จะใช้คำ สีฟ้า หรือสีน้ำเงิน เรียกสีใด จึงต้องมีคำนามหรือคุณศัพท์เพื่อเจาะจงเฉดสีที่ต้องการ

     ศตวรรษที่ 16 เป็นยุคของการปฏิรูปศาสนา วัดในกรุงโรมต่อต้านการปฏิรูปศาสนา ต่อต้านหลักศาสนาของโปรเตสแตนต์ได้ดีพอสมควร และดีกว่าประเทศยุโรปอื่นๆ,  นิกายนี้จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการเมือง การปกครองอิตาลีนัก, แต่ประเด็นนี้เหมือนกันที่ทำให้อิตาลีเหมือนถูกแยกออกจากยุโรป และถอยห่างจากสีฟ้าไปเรื่อยๆ เพราะนิกายโปรเตสแตนต์ชมชอบสีฟ้า. พวกเขาแยกแยะ สีดีสีซื่อ (les couleurs nettes) กับสีรุนแรงสีไม่ซื่อ (les couleurs deshonnêtes).
     สำหรับศาสนิก สีซื่อคือสีดำ, ขาว, เทา, น้ำตาล,และสีน้ำเงิน. ทั้งหมดนี้อยู่ในกลุ่มสีที่ดี. ส่วนสีไม่ซื่อ เป็นสีที่สดใสมากเกินไป เช่นสีแดง สีเหลืองและสีเขียว ที่นำมาเป็นสีเสื้อผ้าอาภรณ์ ผ้าทอ, เสื้อผ้าในชีวิตประจำวัน และสีในจิตรกรรม. เช่นนี้ จิตรกรรมในนิกายโปรเตสแตนส์และในนิกายคาทอลิก ไม่เหมือนกันเลยทีเดียว แม้เมื่อมีเนื้อหาเดียวกัน. ประเทศที่ยึดอุดมการณ์โปรเตสแตนต์ จึงเท่ากับโปรโหมดสีฟ้าไปด้วย.
      ในคู่มือสำหรับจิตรกรและช่างย้อมสี มีสูตรระบุวิธีการสร้างสรรค์สี เป็นเอกสารที่งดงามมากสำหรับนักประวัติศาสตร์สี. ถือได้ว่า เป็นเหมือนหนังสือเรียนเกี่ยวกับสีแต่ละสี เป็นบทๆไป. เอกสารเกี่ยวกับสีทั้งหลายที่มีในยุคกลางนั้น มักเริ่มต้นด้วยสีแดง. ส่วนเอกสารตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เริ่มต้นด้วยสีน้ำเงิน ที่ไปชิงตำแหน่งสีแดง. และเมื่อเทียบจำนวนหน้าที่พูดถึงสีแต่ละสี มันพอๆกัน. แต่เดิม เรื่องสีแดงนั้นมีจำนวนหน้ามากกว่า ที่เกี่ยวกับการย้อมสีและการใช้ในจิตรกรรม. ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เรื่องของสีน้ำเงินมีมากกว่า บอกวิธีการสร้างสีอย่างละเอียด (นี่เช่นกัน ไม่เกี่ยวกับอิตาลีเพราะจนถึงศตวรรษที่ 18 หนังสือเรื่องสีในอิตาลี เริ่มด้วยสีแดงแป็นบทแรกเสมอ).
      ศตวรรษที่ 17 สืบทอดอุดมการณ์ศิลปะเรอแนสซ็องส์อิตาเลียน มาบริการผู้มีอำนาจแห่งยุค และโดยเฉพาะกระชับอิทธิพลของนิกายโรมันคาทอลิก เพื่อชะลอการขยายตัวของนิกายโปรเตสแตนต์. ศิลปะบาร็อคเกิดขึ้นในยามนี้ ยามที่ผู้คนตื่นตัว คิดต่างเห็นตรงข้าม จิตสำนึกโลดแล่นแผ่ออกไปทุกทิศ สีเข้มข้นตามระดับความรู้สึก เพ่งและเน้นรายละเอียด ฯลฯ เพื่อบรรลุความมหัศจรรย์กับความยิ่งใหญ่ในแนวใหม่. บาร็อค แพร่จากอิตาลี ไปฝรั่งเศส สเปน ปอร์ตุกัล ออสเตรีย เยอรมนีตอนใต้และรัสเซีย. ศตวรรษที่ 17 เป็นยุคทองของฮอลแลนด์ ที่สะท้อนรสนิยมของชนชั้นกลางคหบดีผู้ร่ำรวยจากธุกิจการค้าขายจากการเดินเรือสู่โลกกว้าง. ตอนนี้ สีฟ้ามีที่ยืนข้างสีแดง สีเหลือง สีทอง สีขาว สีเขียว.
นิวตันกับการทดลองของเขา
      ปลายศตวรรษที่ 17 นิวตัน Sir Isaac Newton (1642-1727) ค้นพบสเป็กตรัมสีในรุ้งกินน้ำ นำไปสู่การกำหนดเจาะจงและจัดลำดับสีเป็นครั้งแรกในเชิงวิทยาศาสตร์ ที่ผิดไปจากทัศนวิสัยของคนยุคก่อนๆ ที่มีสีแดงเป็นศูนย์กลาง โดดเด่นไม่มีสีใดทาบติด ในขณะที่สีสเป็กตรัมของนิวตัน สีแดงไปอยู่ที่ขอบ. สีฟ้าสีอ่อนๆ ไม่มีที่อยู่ในสเป็กตรัมรุ้งกินน้ำแสนสวยของนิวตัน. (นิวตันค้นพบหลักการวิทยาศาสตร์อื่นๆด้วย เช่น แรงศูนย์ถ่วง วางพื้นฐานของหลักฟิสิกส์ใหม่ๆฯลฯ)
ตามคัมภีร์ของศาสนาคริสต์ (ในเมื่อเรากำลังพูดถึงวัฒนธรรมตะวันตก) รุ้งกินน้ำคือสิ่งที่พระเจ้าบันดาลให้ปรากฏแก่สายตาของโนอาและครอบครัวของเขา เมื่อออกจากเรืออาร์คและเห็นว่า น้ำท่วมมหากาฬที่พระเจ้าบันดาลให้เกิดขึ้น มันสุดสลดเพียงใด, ในขณะเดียวกันก็ตระหนักว่า ทำไมพระเจ้าต้องชำระล้างโลก ขจัดความสกปรกโสมมในใจคนให้สิ้นไป เพื่อให้มนุษยชาติเริ่มตั้งต้นชีวิตใหม่ (ที่พระเจ้าหวังว่าจะไม่ทำบาปกันอีก). พระเจ้าส่งรุ้งกินน้ำเหมือนเป็นคำมั่นสัญญาว่า จะไม่ทำลายล้างโลกเช่นนั้นอีก. เห็นรุ้งกินน้ำ ก็ให้รำลึกถึงพระเจ้าและคำสัญญาของพระองค์ พร้อมกับเตือนใจให้อยู่ในศีลธรรม. เครดิตภาพที่นี่

เสื้อแจ็กเก็ตสีน้ำเงินของ Werther เปิดกระแสแฟชั่นโรแมนติก
ในศตวรรษที่ 18 สีต่างๆสว่างขึ้น ให้โทนสีที่ชวนให้ผ่อนคลายและเบิกบาน กระตุ้นจินตนาการ และจิตวิทยาไปในทางบวก. ความโปร่งโล่งเบา เข้าแทนที่ความเคร่งขรึม, ความงามสง่าเข้าไปกลบความแข็งทื่อของกิริยาวางมาดถือตัว. ใบหน้าและสีหน้ามีความสำคัญไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชาย, แฝงความอ่อนโยน จนถึงยิ้มน้อยๆ(ในจิตรกรรมภาพเหมือน). ศิลปะในศตวรรษของแสงสว่าง เน้นสมบัติภายในที่ฉายออกบนใบหน้าและความประณีตของประสาทสัมผัส.
     กระแสศิลป์บาร็อค สง่า ขรึมอย่างมีชั้นเชิง ตามด้วยสไตล์โรโกโก Rococo คุกกรุ่นด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่จักไม่ถูกเก็บกดอีกต่อไป, เลียนรูปลักษณ์และสีสันในธรรมชาติ, ลับประสาทสัมผัสให้อ่อนไหว, อารมณ์พลิ้วไปตามสายลมแสงแดด ในบริบทของธรรมชาติป่าเขา, ทุ่งดอกไม้, ทุ่งหญ้า. ทั้งหมดปูทางสู่กระแสโรมันติซิซึม เมื่อธรรมชาติสะท้อนความในใจ หรือเมื่อความรู้สึกปรากฏเป็นสภาวะต่างๆในธรรมชาติ. แรงบันดาลใจ จุดยืนของเอกบุคคล จึงถูกยกขึ้นเป็นแนวหน้าของงานสร้างสรรค์ทุกประเภท.
     โรมันติซิซึมระรอกแรก เป็นยุคของความทุกข์ของหนุ่มแวร์เถอะ Werther ในกวีนิพนธ์เยอรมัน ของ J.W.Goethe (เรื่อง ความเศร้าของหนุ่มแวร์เถอะ Die Leiden des jungen Werthers หรือชื่อในภาษาอังกฤษว่า The Sorrows of Young Werther พิมพ์ออกมาครั้งแรกในปี 1774). สรุปเรื่องสั้นๆได้ว่า หนุ่มแวร์เถอะ ไปรักชาร์ล็อต Charlotte หญิงสาวที่มีคู่หมั้นและจะแต่งงานอยู่แล้ว. แวร์เถอะตกหลุมรักเธอ ส่วนชาร์ล็อตแม้จะชอบพอเขา แต่ไม่คิดจะทิ้งคู่หมั้นและหวังว่าจะเป็นเพื่อนกับแวร์เถอะต่อไปได้. แวร์เถอะแม้จะรู้ว่าเขาไม่มีวันจะได้เธอ ก็ยังคงรักเธออย่างหมดจิตหมดใจ. วัยหนุ่มอารมณ์รุนแรง เขาทนทุกข์ทรมานเหลือเกิน จนเห็นว่าการฆ่าตัวตายเพราะรักนั้น น่าสรรเสริญ เป็นความกล้าเยี่ยงวีรบุรุษ เป็นความหวานซึ้งในจิตวิญญาณ. ในที่สุดแวร์เถอะฆ่าตัวตาย.
     ในปลายศตวรรษที่ 18 ต้นศตวรรษที่ 19 ผู้ที่ตกอยู่ในสภาวะเช่นนั้น มักมีชีวิตไม่รอดโดยที่คนทั่วไปไม่เข้าใจความรู้สึกก้นบึ้งในดวงใจของพวกเขา. ความตายเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้. เป็นทางออกที่นุ่มนวลกว่าการทนทุกข์ทรมานที่ส่งผลต่อร่างกายและจิตใจอย่างยิ่งยวด. ดังประโยคของแวร์เถอะที่คร่ำครวญว่า เมื่อเราสูญเสียตัวเราเอง เท่ากับเราสูญสิ้นทุกอย่าง. ในยุคที่นักปรัชญาเทศนา ว่า เหตุผลและปัญญา เป็นแสงสว่างนำจิตวิญญาณ, จัดระบบค่านิยมและทัศนคติในสังคมและสร้างโลกที่ทุกชีวิตมีสุข. หนุ่มสาวผู้ยึดติดอยู่กับความรู้สึกจริงแท้ในจิตวิญญาณของตัวเอง, ผู้ฟังเสียงหัวใจมากกว่าเสียงของเหตุผล เท่ากับทวนกระแสสังคม, เป็นผู้ต่อต้านสังคม, ไม่ยอมอยู่ในกรอบสังคม กรอบศาสนา กรอบปรัชญา. ผู้ประพันธ์(เหมือนนำชีวิตรักสามเส้าของเขาเอง มาพร่ำระบาย) ตั้งประเด็นด้วยการโยงธรรมชาติคนกับธรรมชาติในชนบท ที่สังคมสมัยใหม่ละเลย. กระแสสังคมได้เปลี่ยนคนให้เป็นเครื่องจักร ขาดความลุ่มลึกของจิตวิญญาณบริสุทธิ์ ในระบบอุตสาหกรรมเบ็ดเสร็จ ดังที่ทุกคนเห็นประจักษ์ชัดแล้วว่า ผลกระทบยังต่อมาจนถึงศตววรรษที่ 21 นี้.
หนุ่มแวร์เถอะ นั่งคิดถึงคนรักและเขียนพร่ำรำพันความรู้สึกของเขาอย่างละเอียด ระบายความในใจในจดหมายถึงวิลเฮม Wilhelm เพื่อนสนิท. ผู้อ่านจึงเป็นวิลเฮม รับรู้ทุกระรอกความรู้สึกของแวร์เถอะ.
นี่คือแบบเสื้อผ้าที่แวร์เถอะสวมใส่ในเรื่องนี้ ในฐานะหนุ่ม(สำอาง)จากครอบครัวร่ำรวย.
      นวนิยายเรื่องนี้ อ่านกันไปทั่วทั้งยุโรปอย่างต่อเนื่องสามชั่วอายุคน (เล่ากันว่า นโปเลียนอ่านเล่มนี้เจ็ดรอบ). เป็นวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเล่มหนึ่งในตะวันตก. ที่เอาเรื่องนี้มาเล่า เพราะยุคนั้น หนุ่มๆแต่งตัวเหมือน แวร์เถอะ ทั่วไปทั้งเยอรมนี. ตามที่ Goethe ได้พรรณนาไว้ « แวร์เถอะ สวมเสื้อแจ็กเก็ตตัวนอกสีน้ำเงิน เสื้อตัวในสีน้ำตาลเหลือง และสวมบู๊ตที่สูงถึงเข่าของนักขี่ม้า », ผู้อ่านเห็นสีของแผ่นฟ้าและผืนดิน. ข้าพเจ้านึกถึงท้องฟ้าสีใส สูงโล่ง ปลอดโปร่ง เหนือทุ่งข้าวสาลีสีทองที่เห็นสองฝั่งเส้นทางที่ข้าพเจ้าไปในเยอรมนีเดือนสิงหาคม-กันยายน. นักประพันธ์เหมือนเอาธรรมชาติเป็นจุดยืน มองดูชีวิต. หนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ทั่วยุโรปแต่งตัวแบบนั้น ซึมซับความเห็นใจบวกความห้าวหาญ และเมื่อไม่สมหวังในความรัก ก็ฆ่าตัวตายแบบแวร์เถอะ ด้วยหวังให้การตายเพราะรักแท้ สะท้อนความสุนทรีย์ที่ลุ่มลึกและตรึงเป็นความซึ้งกินใจชั่วนิรันดร์.
     อาจพูดได้ว่า นวนิยายโรมันติกเรื่องแรกของเยอรมนีนี้ นำทางสู่การระบายสีสันในวรรณกรรมตะวันตก ที่ยังคงเป็นมรดกสืบทอดต่อมาในวงวรรณศิลป์. ที่น่าสนใจคือ เพื่อหยุดแนวโน้มการฆ่าตัวตายในสังคม มีการนำเสนออุปรากรเรื่อง ขลุ่ยวิเศษ หรือ The Magic Flute ของโมสาร์ท, ครั้งแรกในปี 1791 แต่มีการแสดงอีกนับครั้งไม่ถ้วนอย่างต่อเนื่องบนเวทีละครโลกมาจนทุกวันนี้ (และคนดูก็ไม่เคยเบื่อ). ละครอุปรากรเรื่องนี้ สร้างกระแส Papageno effect ตอบกลับกับนวนิยายเรื่องความเศ้าของแวร์เถอะ.
     เนื้อหาในเรื่องขลุ่ยวิเศษ พะพากีโน Papageno เป็นพรานนกผู้ติดตามพระเอก มีขลุ่ยของเทพแพน (Pan’s flute) เป็นคู่มือที่เขาใช้ในการล่อและจับนก. เขาเป็นแบบฉบับของตัวละครขี้เล่นบนเวทีละครเยอรมัน (singspiel) สะท้อนนิสัยของสามัญชนที่เท้าเหยียบดิน ดื่ม กิน คุย พอใจกับความสุขสนุกสนานง่ายๆพื้นๆตรงหน้า ไม่ยึดติดกับอุดมการณ์สูงส่งใด. ได้พบกับผู้หญิง พะพากีนา Papagena เหมือนพบเพื่อนคู่หู ที่ดลใจให้เขารัก ให้ใฝ่หาความสุขที่จับต้องได้ เดี๋ยวนั้นและตรงนั้น. เมื่อพะพากีนาหายตัวไป ก็คิดจะฆ่าตัวตาย. แต่ในที่สุดพะพากีนามาปรากฏตัว หัวใจทั้งสองเบิกบานกับความสุขความตื่นเต้นตามธรรมชาติในชีวิต.
ตัวละคร Papageno กับ Papagena ในชุดนก ภาพซ้ายจาก google.be ภาพขวาที่นี่
      ที่ข้าพเจ้าชอบใจคือ ตัวละครสองตัวนี้ (พะพากีโน กับ พะพากีนา) สวมเสื้อผ้าให้ดูเหมือนนก ประดับด้วยขนนกสีเขียว สีน้ำเงิน สีน้ำตาล หรือปนสีเหลืองสีแดงด้วย, บอกให้รู้ว่าเป็นคนที่ติดอยู่กับธรรมชาติ และยังกระชับความหมายของ Life is volatile, นำผู้ดูเข้าสู่สุมทุมพุ่มไม้ สู่ความร่มรื่นและรื่นเริงใจ. ส่วนราชินีแห่งราตรีกาล(ในเรื่องนี้) สวมชุดยาวกรอมเท้า สีดำหรือเทาเข้มๆ ประดับด้วยลูกปัดสีเงินแทนดวงดาวที่ส่องประกายวาววับ. นางเอกสวมชุดสีขาว, สีอ่อนๆเช่นสีเหลืองอ่อนหรือสีฟ้าจางๆ (เท่าที่เคยเห็น).
      ในที่สุด คนตระหนักถึงบทบาทของสีเสื้อผ้าและแบบเสื้อของนักแสดงแต่ละคน. ศิลปินหลายคน ได้เป็นผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายในบทละครต่างๆของยุโรป (เช่น Edvard Munch). การดีไซน์เครื่องแบบในวงการแสดง กลายเป็นเนรมิตศิลป์อีกประเภทหนึ่ง. (เรื่อง ขลุ่ยวิเศษ ยังมีรายละเอียดอีกมาก ปามีนา Pamina นางเอกของเรื่อง ก็มีแนวโน้มจะฆ่าตัวตายเพราะรัก แต่ในที่สุดเอาชนะอารมณ์วูบที่ทำให้ตามืดบอด และกลับเป็นผู้นำพระเอกสู่ความรักในมิติที่สูงส่งกว่า).
       ยุคเดียวกันในฝรั่งเศส โจเซฟ แวร์เน Joseph Vernet (1714-1789) เป็นจิตรกรภูมิทัศน์คนสำคัญผู้สืบต่อการสรรค์สร้างภูมิประเทศคลาซสิกที่เริ่มขึ้นแล้วในศตวรรษที่ 17. นักวิจารณ์ศิลป์กล่าวว่า ภาพภูมิทัศน์ของเขางามเหมือนกวีนิพนธ์บทหนึ่ง เป็นภูมิทัศน์ที่โรแมนติก. ส่วนภาพเมืองท่าต่างๆของฝรั่งเศสที่ราชสำนักต้องการ เก็บความเหมือนและรายละเอียดที่ถูกต้องเหมือนแผนที่.
      สีน้ำเงินในยุคใหม่มีเฉดสีต่างๆกันมาก กลายเป็นสีสามัญที่สุดของเสื้อผ้าสไตล์ตะวันตก. สีฟ้าเคยถูกมองว่าเป็นสีร้อน และกลับมาเป็นสีเย็นในปัจจุบัน.
      ตั้งแต่เริ่มมีการส่งแบบสอบถามในราวปี 1890 ว่า คุณชอบสีอะไร (Quelle est votre couleur préférée?), สีน้ำเงินยังคงเป็นสียอดนิยมทั่วไป ของหญิงและชาย ในทุกระดับสังคมและทุกอาชีพในตะวันตก : ในฝรั่งเศส, ซิซีลี, ในสหรัฐฯ,  นิวซีแลนด์. มากกว่า 50% เลือกสีน้ำเงิน, ตามด้วยสีเขียวอยู่ที่ 15-20%, สีแดงและสีดำอยู่ที่ 12%, ส่วนสีขาวและสีเหลืองอยู่ที่ 8%. ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างไรตลอดร้อยกว่าสองร้อยปีที่ผ่านมา (เช่นมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ, มีไฟฟ้าใช้). ทั้งหมดไม่ได้ส่งผลต่อความชอบสีฟ้าของมวลชน. พูดได้ว่า วัฒนธรรมตะวันตกทั้งหมด เลือกสีน้ำเงินเหนือสีอื่น.
       ในฝรั่งเศสโดยเฉพาะ สีฟ้าอยู่แนวหน้าในวงการแฟชั่น กลายเป็นสีสากล เกิดดีไซน์หรูและสง่าเกือบร้อยแบบ. ตั้งแต่ปี 1930 ทางการเปลี่ยนสีเครื่องแบบจากสีดำเป็นสีน้ำเงิน เช่นเครื่องแบบของเจ้าหน้าที่ศุลกากร, นายเรือ, เจ้าหน้าที่การไปรษณีย์, บุรุษไปรษณีย์, ทหารและกองทัพ. สีน้ำเงิน จึงเป็นสัญลักษณ์ของพลังการเมืองและการทหาร. ปาสตูโร ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสีฟ้าอีกมากมาย ผู้สนใจติดตามไปอ่านหนังสือของเขาได้ ตามข้อมูลจากปกหนังสือเล่มข้างล่างนี้.

แบบฟอร์มนักกีฬาทีมชาติ ทีมสีฟ้าของฝรั่งเศสและอิตาลี
มาดูเสื้อฟอร์มประจำทีมชาติของสองประเทศนี้.      
ทีมชาติฝรั่งเศส มีชื่อเรียกกันสามัญว่า เลเบลอ Les Bleus ที่หมายถึง สีฟ้า. มีสำนวนเชียร์ในหมู่ชาวฝรั่งเศสว่า อัลเล่ เลเบลอ! Allez les Bleus! ในความหมายว่า สู้ สู้ ทีมฟ้า. ชื่อที่คุ้นเคยอีกชื่อคือ เล-ทรี-กอ-ลอร์ Les Tricolores ที่แปลว่า สามสี คือ สีน้ำเงิน สีขาวและสีแดง. ชาวฝรั่งเศสเรียกธงชาติว่า Les Tricolores คือธงสามสี. ในโลโก้ประจำทีมชาติ บนพื้นสีน้ำเงิน มีไก่แจ้สีขาว  หงอนสีแดง. เจาะจงว่า คือไก่โกลัว le coq gaulois. Gaulois เป็นคำนามและคุณศัพท์ จากชื่อ ลา-โกล La Gaule ที่เป็นชื่อดั้งเดิม เรียกชนชาติที่ตั้งรกรากบนดินแดนฝรั่งเศส ก่อนที่จะเป็นชาวฟร็อง Franks. (ref. Gaul หรือ Gaule ในวิกิพีเดีย). FFF ย่อมาจาก Fédération française de football หรือสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งชาติ. เสื้อกีฬาของทีมชาติฝรั่งเศส มีสามสี น้ำเงิน ขาว แดง, ตรงตามสีธงชาติ. ส่วนเสื้อฟอร์มแขนยาวที่สวมทับด้านนอก มีสีน้ำเงินเข้มและขรึมกว่า. โดยทั่วไป ชุดกีฬาประจำชาติของฝรั่งเศส (และของชาติอื่นใด) ใช้สีของธงชาติเกือบทั้งสิ้น ยกเว้นอิตาลี.  ทีมชาติฝรั่งเศส นักกีฬาสวมชุดสีน้ำเงินเสมอในกีฬาทุกชนิด แต่ก็มีอะไรที่เป็นสีขาวและสีแดง เช่นถุงเท้า รองเท้า. ดังนั้นในการสำรวจความเห็นว่าชอบสีอะไรมากที่สุด สีฟ้าจึงเป็นคำตอบของคนฝรั่งเศสส่วนใหญ่. จำนวนคนชอบสีฟ้า มากกว่าในประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ.

   ในวงการกีฬาอิตาเลียน  อิตาลีใช้สีฟ้าเป็นสีทีมชาติ เป็นทีมสีฟ้า ในภาษาอิตาเลียนว่า  สกว๊า-ดรั้สซูรา La squadra azzurra ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19. ดูชุดนักกีฬาอิตาเลียนข้างล่างนี้
กางเกงกีฬาสีฟ้า หรือบางทีเป็นสีขาว  ถุงเท้ายาวสูงถึงเข่าเป็นสีฟ้า รองเท้ากีฬาเป็นสีขาวหรือสีน้ำเงิน. เกิดประเด็นว่า ทำไมทีมชาติอิตาลีใช้ชุดกีฬาสีฟ้า ในเมื่อธงชาติอิตาลี เป็นสีเขียว ขาว แดง, ไม่มีสีฟ้า. ดูเหมือนจะเป็นชาติเดียวที่สีทีมชาติ ไม่ใช้สีธงชาติเลย (นอกจากติดสติ้กเกอร์ธงชาติเล็กๆ เหนืออกเสื้อด้านซ้าย).
       กรณีที่ทีมอิตาลีต้องยอมเปลี่ยนสีชุดนักกีฬาเมื่อต้องแข่งกับทีมอื่น เช่นเมื่อทีมฝรั่งเศสไปแข่งกับทีมอิตาลีในอิตาลี, ฝ่ายอิตาลียอมให้ทีมฝรั่งเศสที่ไปเยือน ใช้เสื้อกีฬาสีฟ้าของฝรั่งเศส, ทีมอิตาลีจะยอมเปลี่ยนสีเสื้อ เป็นสีขาวเป็นต้น. แต่ในส่วนลึกชาวอิตาเลียนคิดว่านั่นเป็นลางไม่ดี ที่ต้องสละเสื้อกีฬาสีฟ้าของพวกเขา. ปาสตูโรบอกว่า หากดูตามสถิติการแข่งกีฬาแล้ว ดูเหมือนว่าอิตาลีชนะเสมอ เมื่อสวมเสื้อสีฟ้า, สถิติของทีมฝรั่งเศสก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน. ทั้งอิตาลีและฝรั่งเศส เชื่อโชคลางอย่างนั้นหรือ. อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ทีมอิตาเลียนจะยืนหยัดใช้เสื้อกีฬาสีฟ้าของเขา.
       ตามที่เล่ามาตั้งแต่ต้นบทความนี้ อิตาลีไม่เคยสนใจสีฟ้าเลย สีฟ้าเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของค่านิยมอิตาลีตั้งแต่เมื่อใด, จู่ๆปลายศตวรรษที่ 19 สีฟ้ากลายเป็นสีทีมชาติ และมีการโปรโหมดสีฟ้าอย่างไม่ลดละจนถึงทุกวันนี้. แล้วสีเขียวบนธงชาติอิตาลี มาจากไหน. ปาสตูโร แกะรอยตามหาข้อสันนิษฐาน ย้อนหลังไปหลายศตววรษ ได้เกร็ดเรื่องหลายกระแส แต่ทั้งหมดยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ข้าพเจ้าจึงไม่นำมาเล่าต่อ และจบบทความเรื่องสีฟ้าเพียงเท่านี้.
     แถมท้ายด้วยสีฟ้าพิเศษที่ชื่อว่า International Klein Blue (ย่อสั้นๆว่า IKB) ที่อีฟแกล็ง Yves Klein จิตรกรชาวฝรั่งเศส (1928-1962) เนรมิตขึ้น, มีสูตรสร้างสีฟ้าอัลตรามารีนของเขาอย่างเฉพาะเจาะจง ที่ไม่เคยมีศิลปินคนใดคิดทำ กำหนดเป็นสูตรสี และผลิตสีเอง. อีฟแกล็งได้นำไปจดสิทธิบัตรอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในเดือนพฤษภาคม ปี 1960.
ภาพ International Klein Blue ผลงานของ Yves Klein, 1957.

ข้าพเจ้าจับประเด็นบางประเด็นจากการบรรยายของท่าน เพิ่มเติมและขยายความบางประเด็นที่ข้าพเจ้าสนใจเป็นพิเศษ จากเพจอื่นๆ... ผู้สนใจสีฟ้า ตามไปฟังบรรยายบทนี้ได้จากลิงค์ข้างล่างนี้
Le bleu de l'Italie par Michel Pastoureau. Oct 30, 2019. (58:57 min)
บทบรรยายเรื่องนี้ จัดเสนอโดยองค์กร Rendez-vous de l’histoire เมื่อวันที่ 30 เดือนตุลาคมปี 2019 ณปราสาทพระราชวังบลัว Château royal de Blois ประเทศฝรั่งเศส.

สีไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่ตาเห็น, หรือเป็นอะไรที่มีสมบัติทางฟิสิกส์และเคมีเฉพาะของแต่ละสี, หรือเป็นอารมณ์สะเทือนแบบใดเมื่อประสาทสัมผัสและสมอง เชื่อมโยงประสานกับประสบการณ์ที่เคยมีมา รวมกันถ่ายทอดสู่จิตสำนึกของคนที่มองสีนั้น.
เหนือกว่าประเด็นเหล่านี้ คือคนในสังคมที่ดูสีนั้น, ใช้สีนั้นอย่างไรในบริบทแวดล้อมอะไร ทั้งทางการเมือง, เศรษฐกิจ, ศาสนา หรืออุดมการณ์ ที่ทำให้สีหนึ่งเพียบด้วยนัยที่เหมือนแป้นวางสีนั้นให้คงอยู่ ตั้งอยู่(อาจ)ตลอดไปในสังคมนั้น.
แต่ละคนเลือกสีที่ชอบ หรือสีเลือกเรา วางเราในแต่ละบริบท?
โชติรส รายงาน
๙ กันยายน ๒๕๖๓.

No comments:

Post a Comment