Saturday, September 19, 2020

Hôtel-Dieu-Beaune

คำฝรั่งเศส Hospice [โอ๊สปี๊ส] เกิดขึ้นในยุคกลาง มาจากคำละติน hospis [โฮ้สปี๊ส] ที่แปลว่า host เจ้าบ้าน, เจ้าของที่พัก หรือ guest ผู้มาเยือน. เป็นรากศัพท์ของคำที่รู้จักและใช้กันแพร่หลายมาถึงวันนี้ เช่น hospitality, hospital, hotel, hostel, hospice.

     เรารู้กันว่าสงครามครูเสด เกิดขึ้นยืดเยื้อ ยาวนาน ครั้งแล้วครั้งเล่า(1095-1291) ระหว่างกองทัพคริสต์กับกองทัพมุสลิม โดยที่ฝ่ายคริสต์ต้องการปลดแอกเมืองเยรูซาเล็มจากการยึดครองของฝ่ายมุสลิม, เพื่อให้ชาวคริสต์เดินทางไปสักการะณสังเวชนียสถานที่สืบเนื่องกับชีวิตของพระเยซูในตะวันออกกลางได้. ครูเซเดอ crusaders ผู้ไปสงครามศาสนา ได้อาศัยอารามนักบวชต่างๆ บนเส้นทาง  เป็นที่พักเยียวยา หรือฟื้นฟูพละกำลัง. หลายคนตายในอารามเหล่านั้น.

       ในแต่ละเมือง บาทหลวงจะช่วยกันสร้างบ้านสงเคราะห์ที่เรียกกันในฝรั่งเศสว่า เมซง-ดีเออ Maison-Dieu, หรือ โอเตล-ดีเออ Hôtel-Dieu, หรือโอ๊สปี๊ส Hospices. มีเตียงสำหรับคนเจ็บ, คนแก่, ผู้ทุพพลภาพ, คนยากไร้, สตรีมีครรภ์, เด็กกำพร้าหรือเด็กที่ถูกทอดทิ้งเป็นต้น. มีส่วนที่พักแยกต่างหาก สำหรับคนป่วยเป็นโรค เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อ. ยุคกลาง สิ่งที่กลัวกันนักหนา คือโรคเรื้อน, กาฬโรคและโรคระบาดอื่นๆ.

       ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 11 โรงพยาบาลและบ้านพักคนชรา หรือศูนย์ผู้ดูแลผู้สูงอายุ โผล่ขึ้นทั่วไปในยุโรป. ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายการค้าขาย, การยืดเยื้อของสงครามครูเสด, การมีผู้ออกเดินทางจาริกแสวง, ศูนย์ศาสนาหลายแห่ง ไม่ว่าลัทธิใดนิกายใด, ต่างสร้างอาคารที่พักแรมพร้อมบริการอาหาร, บนเส้นทางใหญ่ๆที่เชื่อมยุโรป. นอกจากผู้เดินทาง ทหารนักรบ ฯลฯ การขยายเมืองทำให้มีคนยากจนในเมืองมากขึ้น จนในที่สุดโรงพยาบาล ศูนย์พยาบาลต่างๆ ต้องรับภาระเลี้ยงดูผู้ตกทุกข์ได้ยากทั้งหลาย.

        โอ๊สปี๊ส เกิดขึ้นด้วยพันธสัญญาที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล ดูแลคนเจ็บคนป่วย คนแก่ในระยะสุดท้ายของชีวิต  เพื่อให้คนเหล่านั้น ตายอย่างมีศักดิ์ศรี ตายอย่างคน, ในสถานที่ที่ให้ความอบอุ่นทางใจไปจวบลมหายใจสุดท้าย. 

       แม่ชีที่ทำงานที่นั่น อยู่ร่วมกันเป็นชุมชนเล็กๆในนั้น ทำหน้าที่ดูแลพยาบาลคนเจ็บป่วย เป็นพยาบาลรู้งานจริง, บ้างดูแลเรื่องอาหารการกิน, บ้างดูแลเรื่องความสะอาด,  บางแห่ง แม่ชียังมีหน้าที่สอนเด็กๆ ลูกกำพร้าที่อยู่ในบ้านสงเคราะห์นั้นด้วย. โดยทั่วไป ชาวบ้านชาวเมือง ชื่นชมเคารพการอุทิศตนของแม่ชีเหล่านี้มาก.

       ตามอุดมการณ์ของศาสนาคริสต์ โอ๊สปี๊สหรือศูนย์สงเคราะห์ เป็นมากกว่าสถานีอนามัยที่เยียวยารักษา, เป็น พื้นที่ของการบำเพ็ญกุศล พื้นที่ของการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะชาวคริสต์ที่ดี ที่คือการแสดงความรัก ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเมตตา แก่ผู้อื่น. โอ๊สปี๊ส จึงเหมือนที่ปฏิบัติธรรม เป็นหนทางยกระดับจิตสำนึกให้สูงขึ้นๆ สู่พระเจ้า.

โอเตล-ดีเออ Hôtel-Dieu, เมืองโบน Beaune

ทางเข้าสู่โอเตลดีเออ Hôtel-Dieu บนถนน Rue de l’Hôtel-Dieu

ลานกว้างและยาว ระหว่างสองอาคารใหญ่ของโอเตลดีเออ หรือ โอ๊สปี๊ส เดอ โบน. อาคารด้านซ้ายในภาพ ติดถนนที่มีประตูทางเข้า. เป็นห้องโถงยาวใหญ่ จัดเป็นห้องรับรองคนป่วยผู้ยากไร้, วัดเล็กๆ, และที่อยู่ของเหล่าสตรีพยาบาลผู้ดูแลคนป่วย. ส่วนอาคารรูปตัวอักษรแอล L ที่มีหลังคาปูด้วยกระเบื้อหลากสี เป็นที่ตั้งของหน่วยบริการต่างๆเช่น ครัว ห้องทำขนมปัง ห้องซักรีด ห้องสมุนไพร ห้องปรุงยา ห้องพยาบาลและห้องพักผู้ป่วยที่ร่ำรวย ผู้มีเงินจ่ายค่าบริการเอง และยังมีถ้ำเก็บไวน์กับเครื่องบีบผลองุ่น.

      โอเตลดีเออ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคมปี 1443. สงครามร้อยปี (1337-1453 เกิดขึ้นระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส เพราะกษัตริย์อังกฤษอ้างว่ามีสิทธิ์ปกครองฝรั่งเศส) ยังไม่สิ้นสุดลง. ชาวเมืองโบนตกระกำลำบาก อดอยากเพราะสงครามและโรคระบาด มีกองโจรเข้าปล้นชาวบ้านและทำลายพื้นที่นาไร่, สามในสี่ของชาวเมืองไม่มีรายได้ ไม่มีอะไรจะกิน. โดยเฉพาะในช่วงปี 1440 ชาวเมืองรวมตัวต่อต้านเจ้าผู้ครอง Philippe le Bon และ Nicolas Rolin (1376-1462 เป็น chancellor เสนาบดีของ Philippe le Bon เจ้าผู้ครองแคว้นบูรกอนญ์).  เพื่อช่วยเหลือชาวเมือง นิกอลา โรแล็ง Nicolas Rodin กับภรรยาของเขาชื่อ กีกอน เดอ ซาแล็ง Guigone de Salins ตัดสินใจสร้างศูนย์พยาบาลเพื่อคนยากจน, สร้างอาคารโอเตลดีเออ Hôtel-Dieu กลางชุมชน ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวเมือง. เขาวางแผนผังของศูนย์ฯ ได้ศึกษาแบบอย่างจากโรงพยาบาล Saint-Jacques de Valenciennes และหรือจากโรงพยาบาล Saint-Esprit de Besançon. เขาให้เริ่มก่อสร้างทันที, ทุ่มเทติดตามงานก่อสร้างด้วยตัวเอง. ใช้เวลาสร้างแปดปีกว่า ก็แล้วเสร็จและเปิดรับคนป่วยคนแรกเมื่อวันที่ 1 มกราคม 1452.

      ตอนนั้นมีเตียงสำหรับคนป่วยสามสิบเตียง ส่วนใหญ่เข้าไปพักรักษาตัวแบบช่วงสั้น เมื่อคนป่วยหายดีหรือแข็งแรงพอแล้ว จึงออกไป และคนป่วยคนอื่น เข้าไปแทน. เริ่มต้น นิกอลา โรแล็ง ได้จัดบุคลากรจากโรงพยาบาล Saint-Jacques de Valenciennes ให้มาช่วยที่โอเตลดีเออ ด้วยเห็นว่าเป็นกลุ่มสตรีผู้อุทิศตนและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ (และได้ช่วยฝึกนางพยาบาลหรือผู้ช่วยคนใหม่ๆจากเมืองโบนด้วย. ไม่นาน เมืองโบนก็มีศูนย์สอนวิชาพยาบาล). ตั้งแต่นั้นมาจนถึงศตวรรษที่ 20 ทีมแม่ชีและพยาบาลของศูนย์ได้ทำหน้าที่รักษาพยาบาลคนเจ็บคนป่วยเป็นจำนวนมาก, พวกเธอทำงานหกวันต่อสัปดาห์ รวม 45 ชั่วโมง และมีวันหยุด 15 วันต่อปี. การเปิดบริการรักษาคนป่วยประเภทพักช่วงสั้น เป็นบริการสาธารณะที่สำคัญมากสำหรับเมืองที่มีประชากร 23 000 คนในยุคนั้น,  ยังมีหน่วยบริการฉุกเฉิน, หน่วยอภิบาลผู้ป่วยหนัก (ICU), แผนกสูตินรีเวช, แผนกกุมารเวช, การแพทย์, ศัลยกรรม เป็นต้น (ตามประสิทธิภาพที่พัฒนาขึ้นต่อมาตามยุคสมัย).

        นิกอลา โรแล็ง ได้จัดตั้งกองทุนประจำปี 1000 ปอนด์ สำหรับเป็นค่าใช้จ่าย เพื่อให้ศูนย์สงเคราะห์นี้ตั้งอยู่ได้อย่างเป็นเอกเทศทางการเงิน.  เงินจำนวนนี้เป็นรายได้จากการผลิตและการค้าขายเกลือ (สมัยนั้น เกลือคือทองคำขาว เพื่อรักษาอาหาร ยังไม่มีตู้เย็นใช้).  นิกอลา โรแล็ง ยังได้รับอภิสิทธิ์จากดยุ้คและจากองค์การสันตะปาปา ให้โอเตลดีเออของเขา อยู่นอกอำนาจหน้าที่ทั้งทางศาสนาและจากขุนนางศักดินาท้องถิ่น. นั่นคือ จะไม่ตกไปเป็นสมบัติของศาสนาหรือของขุนนางผู้หนึ่งผู้ใด. ดยุ้คแห่งบูรกอนญ์ยังอนุมัติให้คนป่วยหรือผู้ใด มีสิทธิ์บริจาคแก่โอเตลดีเอออย่างอิสระเสรี ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่ดิน ไร่นา หรือไร่องุ่น. ความพร้อมด้านการเงินเช่นนี้ นิกอลา โรแล็ง จึงให้สร้างโอเตลดีเออด้วยวัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพ ที่ยั่งยืนคงทนผ่านมากว่าห้าศตวรรษ และทำให้เขาบริหารพันธกิจของโอเตลดีเออตามที่เขาตั้งใจจนบรรลุเป้าหมาย. เขายังมีรายได้จากการทำไร่องุ่นและไวน์ มาเป็นค่าใช้จ่ายของศูนย์ฯด้วย.

การจัดแบ่งพื้นที่วางเตียง เรียงไปตลอดสองข้างกำแพงของห้องโถงที่รับผู้ป่วยยากไร้. สุดห้องที่เห็นบานหน้าต่างกระจกสี เป็นมุมกั้นให้เป็นวัดพร้อมแท่นบูชา. เน้นการเยียวรักษาทั้งทางกายและทางจิตวิญญาณ. ห้องรองรับคนป่วยผู้ยากไร้ เป็นเพียงสองในสามของพื้นที่ทั้งหมดของศูนย์สงเคราะห์เมืองโบน. ในอาคารเดียวกันนี้ มีที่พักของเหล่าสตรีพยาบาล ยังมีคลังไวน์ใต้ดิน (ไวน์เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาเยียวยา), และห้องเก็บอาหาร.



รายละเอียดเพดานของห้อง (la charpente lambrisée) ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่.  Maurice Ouradou นำศิลปะและฝีมือช่างของเมืองโบน ออกมาให้ได้ชื่นชมกันถ้วนหน้า. เขาเป็นผู้บูรณะฟื้นฟู ทั้งส่วนสถาปัตยกรรม (เช่นเพดาน) และด้านศิลปะวัตถุทั้งหลายทั้งปวงของโอเตลดีเออ ด้วยการยึดแบบ รูปลักษณ์ สีสันที่เคยมีมาให้เหมือนเดิมมากที่สุด. 

เตียงคนป่วย หัวเตียงมีโต๊ะวางถ้วยชาม โถน้ำดื่ม ปรอทวัดไข้... เครื่องใช้เหล่านี้ทำจากพิวเตอร์หรือโลหะกันสนิม. 

ข้างปลายเตียง มีเก้าอี้นั่งอุจจาระ เจาะรูตรงแผ่นนั่ง ข้างล่างมีที่ให้วางกระโถงรองรับอุจจาระ. แม่ชีพยาบาลชำระล้างเช็ดตัวคนป่วยที่เตียง.

บนเตียง คือก้อนเหล็กทรงกระบอก หนา หนักที่เผาจนร้อน ตั้งไว้บนเลื่อน แล้วเอามาวางบนเตียง เป็นวิธีการอุ่นเตียงสมัยก่อน (ยังไม่มีผ้าห่มไฟฟ้าใช้).

เหล่าแม่ชียึดหลักการทำงานด้วยใจที่ให้เกียรติคนป่วย ไม่ทำให้คนป่วยคนยากไร้ รู้สึกเสียหน้าที่เข้าไปขอความช่วยเหลือ และพยายามจัดระบบระเบียบของสถานที่พักรักษาให้สะอาด งามตา. ปรัชญาและพันธกิจของคณะทำงานที่นั้น สะท้อนค่านิยมที่ว่า การดูแลผู้เจ็บป่วยนั้น เหมือนการช่วยเหลือปรนนิบัติพระเยซูคริสต์ตอนถูกตรึงให้ทุกข์ทรมาน. ส่วนนี้ของห้อง(ภาพขวา) ทำให้เข้าใจว่า ด้านหลังของแต่ละบล็อกที่จัดเป็นที่นอนของคนป่วย อาจเป็นทางเดินยาว มีอ่างน้ำยาวเชื่อมต่อกัน สำหรับสุขอนามัยของคนป่วยและของสถานที่. 

(ภาพซ้าย) แพทย์เป็นบาทหลวง มาเยี่ยมคนป่วย กำลังพิจารณาวินิจฉัยสภาวะร่างกายของคนป่วยจากปัสสาวะในคนโท. ภาพวาดจากหนังสือจดหมายเหตุ Chronique de France ปลายศตวรรษที่ 16 (British Museum) 

(ภาพขวา) แพทย์จัดยาใส่ช้อน ให้คนป่วยกิน. ภาพวาดจากหนังสือจดหมายเหตุ  Chronique de France หรือจากจดหมายเหตุของ St. Denis ต้นศตวรรษที่ 16 (British Museum)

ในห้องโถงอีกแห่งหนึ่ง ที่พักผ่อนของแม่ชีผู้พยาบาล. มีตู้ขนาดใหญ่ เก็บผ้าปูเตียง ผ้าเช็ดตัว ผ้าที่ต้องใช้ทุกชนิดขนาดต่างๆ ส่วนใหญ่สีขาว. บนกำแพงมีภาพจิตรกรรมเต็ม. แท่นบูชา, โต๊ะอาหาร. พื้นที่ใต้ดินของอาคารที่ใช้เป็นที่พำนักของชุมชนแม่ชี ที่เรียกว่า “ maison du dorteur มีคลังไวน์ใต้ดิน ตามรายการสมบัติและสรรพสิ่งที่มีในโอเตลดีเออ ปี 1501 นอกจากเครื่องเรือน มีถังไวน์ น้ำมัน หมูเค็มติดมันเป็นต้น. ระหว่างปี 1776-1777 มีการบูรณะพื้นที่เพื่อคุณภาพชีวิตของแม่ชี ให้เป็นไปตามาตรฐานสูงของโอเตลดีเออเมืองโบน. 


ถาดอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการพยาบาลคนเจ็บคนป่วย

      โอเตลดีเออมีชื่อเสียงอย่างรวดเร็ว มิใช่ในหมู่คนยากจนเท่านั้น แต่ในหมู่คหบดีและชนชั้นสูง ที่ชื่นชมยกย่องกุศลจิตของผู้ก่อตั้ง และทำให้ต่างฝ่ายต่างต้องการร่วมบริจาค หรือมีส่วนในการทำความดี ช่วยเหลือคนอื่นตามหลักของชาวคริสต์ที่ดี. เช่นนี้ โอเตลดีเออ มีรายได้จากการบริจาค (ไม่ว่าจะสิ่งของ เงินทอง หรือที่ดิน ไร่องุ่น) ทำให้ได้ขยายศูนย์สงเคราะห์ออกไป สร้างห้องโถงใหญ่ๆ ให้เป็นที่พักฟื้น ห้องโถงสำหรับคนจน, ห้องปรุงยา, ห้องครัว มีมุมสำหรับสวดมนต์ภาวนา. ทั้งยังมีการนำศิลปวัตถุมาประดับสถานที่ เช่นพรมทอประดับผนังผืนใหญ่ๆ, จิตรกรรมบนแผ่นไม้หลายตอน ผลงานของ Rogier van der Weyden. ศิลปวัตถุต่างๆที่มีคนบริจาคให้ หรือจากสองตระกูลของผู้ก่อตั้ง ประดับตกแต่งโอเตลดีเอออย่างงดงาม จนพูดได้ว่า โอเตลดีเออ คือพระราชวังของคนจน. และใช้ชื่อใหม่รวมกันว่า Hospices Civils de Beaune (ศูนย์อนามัยสงเคราะห์พลเรือนเมืองโบน)

แม่ชีตระเตรียมอาหารในครัว. เตรียมต้มซุป. ส่วนประเภทเนื้อสัตว์ ชำแหละ แล้วเสียบต่อกันในแท่งเหล็กยาวๆ เอาไปย่างเหนือกองฟืนตรงเตาผิง เป็นบาร์บีคิวสมัยนั้น.

สังเกตหม้อต้มอาหารขนาดใหญ่ ห้อยเหนือกองฟืนใต้เตาผิง (ไฟมอดแล้ว) วิธีการต้มเหนือกองไฟที่เตาผิง น่าจะใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะสุก ส่วนใหญ่เป็นการต้มซุปถั่ว ซุปผัก ซุปมันฝรั่งฯลฯ


เตาไฟใหญ่สมัยก่อนเหมือนตู้ ใส่ฟืนเข้าไป ปิดให้ลุกไหม้อยู่ภายใน เท่ากับเก็บกักความร้อนไว้ในพื้นที่จำกัด จึงร้อนเร็ว(และไฟแรงกว่า). ให้สังเกตคอห่านยาว เป็นท่อน้ำใช้ (น้ำก๊อก)

อุปกรณ์หม้อ กะทะ กระปุกปรุงซอส ขนาดต่างๆ เครื่องครัวสมัยก่อน ทำจากทองแดง.

ห้องปรุงยา
นอกจากชั่ง ตวง วัด สกัดสมุนไพรเอาน้ำมันระเหย (เครื่องกลั่นทองแดงสองเครื่องด้านซ้าย-alambics ) โต๊ะตรงกลางวางเครื่องชั่งตวงแบบต่างๆ. ภาพบนผนังกำแพง เป็นภาพเกี่ยวกับร้านขายยา. ประตูที่เปิดออกตรงกลางของภาพ เผยให้เห็นไร่พืชผักสมุนไพร (เป็นแบบสวนสมุนไพร Jardin des Simples เป็นสวนยุคกลางที่นักบวชในอารามเป็นผู้ปลูกและดูแล แล้วสกัดมาเป็นยาบ้าง มาปรุงอาหารบ้าง)

ตาชั่งของคนปรุงยา

กระปุกใส่ยาชนิดต่างๆ ครกตำยาขนาดใหญ่

      ปี 1955 ห้องโถงรับรองผู้ป่วยยากไร้ปิดลง. บริการด้านศัลยกรรมย้ายออกไปอยู่ที่คอนแวนต์นักบวชกอร์เดอลีเอ (Couvent des Cordeliers ที่อยู่ไม่ไกลจากโอเตลดีเออ). ยุคนั้นอุปกรณ์การแพทย์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งนั้น ไม่มี. ซีรินจ์กระบอกฉีดยาและเข็มฉีดยา มีดหรือกรรไกรผ่าตัด จะนำไปต้มทำความสะอาดในกล่องโลหะและอบฆ่าเชื้อโรคด้วยความร้อนสูงในแต่ละครั้ง. เข็มฉีดยายังมีการฝนกับหิน ให้แหลมคมอยู่เสมอ. พวกผ้าพันแผลชนิดต่างๆและสำลี ก็ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยเช่นกัน. ถุงมือและวัสดุทำจากยาง ถูกนำไปต้มแล้วเอาเข้าอบฟอร์มาลินฆ่าเชื้อในกล่องโลหะ.

     ต่อมาในปี 1971 บริการด้านการแพทย์ เริ่มย้ายออกไปจากโอเตลดีเออ ไปอยู่ในโรงพยาบาลทันสมัย ที่คือ Centre Hospitalier Phillippe le Bon ชานเมืองโบน เหลือไว้เพียงบ้านพักคนชราหลังเดียว ที่จะย้ายออกไปในปี 1980. และตั้งแต่วันที่ 21 เดือนเมษายนปี 1971 โรงพยาบาลแห่งใหม่นี้ รวมงานบริการด้านแพทย์และเทคนิคการแพทย์แขนงต่างๆเข้าด้วยกัน ทั้งงานด้านบริหาร การจัดระบบเครือข่ายเป็นขั้นเป็นตอน. รวมหน่วยบริการการพักรักษาตัวณโรงพยาบาลในระยะสั้น. ที่นี่ มีเตียงพร้อมบริการ 217 เตียง. ฝ่ายบริการฉุกเฉินของโรงพยาบาล เปิดรับและพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง. ระบบการปรึกษาแพทย์และการรักษาพยาบาล พัฒนาด้วยเครือข่ายเทคโนโลยีที่ทันสมัย, ถูกต้องตามมาตรฐานสมัยใหม่ พร้อมทีมแพทย์พยาบาลมืออาชีพ, รวมทั้งมีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุกับผู้ป่วยในระยะสุดท้าย. ต่อมาในช่วงปี 2015-2016   โรงพยาบาลได้ผนวกควบตัวกับศูนย์พยาบาลอีกสามแห่งในปริมณฑลใกล้เคียง (ที่ Arnay-le-Duc, Nuits-St-Georges และที่ Seurre). รวมกันเป็นหน่วยบริการที่มีเตียงพร้อมรับ 982 เตียง. นับว่าเป็นการเจริญเติบโตไปในทางที่ดียิ่ง.

     ส่วนโอเตลดีเออ ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นพิพิธภัณฑ์, กลายเป็นอนุสาวรีย์ทางประวัติศาสตร์. มีการจัดนิทรรศการถาวร บอกเล่าความเป็นมาของโอ๊สปี๊ส, ห้องคนป่วย, ห้องพักฟื้น, อนุรักษ์บริบทของศูนย์พยาบาลไว้ให้เป็นตัวอย่าง, มีข้อมูลของยุคสมัย, เอกสารโบราณประเภทต่างๆ เกี่ยวกับการก่อสร้างโอเตลดีเออ, เครื่องมือแพทย์, เตียงและเครื่องใช้ไม้สอยของคนป่วย, ห้องปรุงยา, ห้องครัว. สรรพสิ่งทั้งหมดของโอเตลดีเออ สมบัติส่วนตัวของผู้ก่อตั้งโอเตลดีเออ กับสิ่งที่คนบริจาคทั้งในยุคแรกๆของการก่อตั้งและยุคหลังต่อๆมา กับพรมประดับผนัง, ภาพจิตรกรรม, กระปุกยาขนาดต่างๆฯลฯ รวมกันมีไม่ต่ำกว่า 2500 ชิ้น. เครื่องเรือน เตียง ตู้ โต๊ะ อีกไม่ต่ำกว่า 2500 ชิ้น. ในบรรดาสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวง พรมทอประดับผนังผืนใหญ่ๆ และจิตรกรรมบนแผ่นไม้สามตอนอันเลื่องชื่อของ Rogier van der Weyden สำคัญมากในสายตาคนทั่วไป. มีกำกับไว้ด้วยว่า สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ได้รับการดูแล อนุรักษ์ และบูรณะซ่อมแซมอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง (เขาบริหารจัดการดีมาก). ทั้งหมดรวมกันทำให้โอเตลดีเออ หรือ โอ๊สปี๊สเดอโบน กลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก (ไม่ต่ำกว่าสี่แสนคนต่อปี) ที่มีโอกาสเห็นและชื่นชมแบบสถาปัตยกรรมกอติคสไตล์บูรกอนญ์ของศตวรรษที่ 15, หลังคาปูกระเบื้องเคลือบหลากสีที่โดดเด่น ที่ทางการอนุรักษ์มาได้อย่างวิเศษไม่มีที่ใดเหมือน. ที่นั่นเปิดให้เข้าชมทุกวันไม่มีวันหยุด. ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ประมาณร้อยคน ดูแลอำนวยความสะดวก, พวกเขาอาศัยอยู่ใกล้ๆโอเตลดีเออ.


ห้องนิทรรศการพรมทอประดับบนผนัง (เข้าใจว่าเป็นสมบัติของ Guigone de Salins)


ฉากไม้โอ๊คหลายตอนหรือโปลีติค (polyptych) ประกอบด้วยจิตรกรรมบนแผ่นไม้สี่เหลี่ยมทั้งหมดสิบห้าแผ่นขนาดต่างๆกัน, ต่อกันเป็นฉากใหญ่ สำหรับตั้งบนแท่นบูชา ในห้องคนป่วยผู้ยากไร้. Rogier van der Weyden ได้สร้างผลงานศิลปะชิ้นเลิศ (1443-1450) ในหมวดจิตรกรรมเฟลมิชยุคทอง. เนื้อหาคือ วันพิพากษาสุดท้าย. พระเยซูคริสต์นั่งเด่นเป็นประธานเหนือวงกลมๆที่คือรุ้งกินน้ำ. เท้าเหยียบลงบนลูกโลก. มือหนึ่งถือช่อดอกลิลลี สื่อพระมหากรุณาอันเลิศล้ำของพระองค์, อีกมือหนึ่งถือดาบแห่งความยุติธรรม. ภาพตอนบนสองแผ่น, สองข้างพระคริสต์ มีเทวทูตถือไม้กางเขน ตะปูเป็นต้น เพื่อยืนยันว่าพระคริสต์ในสวรรค์ คือคนเดียวกับพระเยซูผู้ถูกตรึงจนตาย. ใต้เท้าสองข้างของพระคริสต์ เทวทูตเป่าแตร ปลุกคนตายให้ฟื้นขึ้น, ออกจากโลง(หรือใต้พื้น). ตรงกลางใต้ลูกโลก อัครเทวทูตไมเคิล กำลังชั่งวิญญาณ. คนดีแยกไปทางซ้าย(ของภาพ) เห็นเทวทูต(ชุดสีขาว)สุดขอบซ้าย พาคนดีไปเข้าประตูสวรรค์. คนเลวเดินระทดระทวยไปทางขวา ไปลงสู่เหวนรกที่เห็นเปลวไฟลุกอยู่ภายใน. จิตรกรรมสองแผ่นด้านซ้าย พระแม่มารีนั่งพนมมือ ด้านหลังเธอคือหมู่คนดีที่ไปอยู่ในสวรรค์. ส่วนด้านขวา จอห์นบั๊บติสต์กับกลุ่มคนดีอื่นๆในสวรรค์ ทั้งหมดรวมกันเป็นราชสำนักที่ล้อมรอบพระคริสต์ในสวรรค์ ที่มาเป็นสักขีพยานในวันพิพากษาสุดท้าย. (Rogier van der Weyden, public domain)
ด้านหลังของฉากวันพิพากษาสุดท้าย, สองสามีภรรยา นิกอลา โรแล็ง และกีกอน เดอซาแล็ง คุกเข่า พนมมือ อยู่สองข้าง สื่อความศรัทธาในศาสนา. ทั้งสองสวมชุดสีดำ(สีของผู้ดีในสมัยนั้น). การอุทิศตนของทั้งสองในการสร้างโอเตลดีเออ เป็นวิถีปฏิบัติธรรม สั่งสมความงามความดี เพื่อบูชาพระเจ้า. นิกอลา โรแล็ง เป็นเสนาบดีสูงสุด(และเป็นที่ปรึกษา เป็นทูต) ของดยุ้คแห่งบูรกอนญ์ จึงได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์วุ่นวายยุคศตวรรษที่ 15. เขามีบทบาทสำคัญยิ่งในการทำสนธิสัญญาสงบศึกกับอังกฤษ (Traité d’Arras, 1435) ยุติสงครามร้อยปี. ส่วนกีกอน เดอ ซาแล็ง แต่งงานกับนิกอลา โรแล็งในปี 1423 เป็นภรรยาคนที่สาม และเมื่อนิกอลา โรแล็งถึงแก่อนิจกรรม เธออุทิศตนทำงานให้กับโอเตลดีเออจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต.

ตอนบนเป็นฉากพระแม่รับสาร (Annonciation). ใต้ลงมาเป็นรูปนักบุญเซบาสเตียน Sebastian (เป็นนายทหารโรมันผู้หันมานับถือพระคริสต์ ไม่ยอมเปลี่ยนใจ จักรพรรดิโรมัน Diocletian สั่งให้ประหาร จึงผู้ถูกทหารโรมันยิงธนูหมายจะปลิดชีวิต. ภาพนักบุญผู้นี้ จึงมีธนูปักบนตัวเป็นสัญลักษณ์) และนักบุญอันโตนีโอ (Antonio Abate). เป็นสองนักบุญคู่จิตวิญญาณของนิกอลา โรแล็งและกีกอน เดอ ซาแล็ง. ในยุคที่ทั้งสองกำลังสร้างโอเตลดีเออนั้น เป็นยุคที่โรคระบาดโรคร้ายเกิดขึ้นบ่อยๆ ที่ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก (นอกเหนือจากสงคราม).  คนสมัยก่อนเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ว่า นักบุญทั้งสอง จักเป็นผู้ช่วยคนจากกาฬโรคและโรคเรื้อน, หรือช่วยลดความทุกข์ทรมานจากโรคร้ายต่างๆ. การเลือกนำเสนอสองนักบุญดังกล่าว จึงสร้างขวัญกำลังใจแก่คนป่วย. ให้สังเกตว่า ข้างๆใกล้เท้าของอันโตนีโอ เห็นหัวหมูป่าโผล่อออกมา. ตามตำนานที่เล่ากันว่า มาร(ซาตาน) ปลอมตัวเป็นหมูป่า มาหลอกล่ออันโตนีโอ ชักจูงไปในทางบาป แต่ไม่อาจเอาชนะความมุ่งมั่นและศรัทธาของอันโตนีโอได้. ในที่สุด หมูป่ายอมแพ้และกลายเป็นสัตว์เชื่องติดตามอันโตนีโอไปทุกหนทุกแห่ง. อันโตนีโอ มักถือระฆังเล็กๆในมือ เสียงระฆังคือสาร, เตือนให้นึกถึงพระเจ้า. ในสมัยก่อน เสียงระฆังของวัด คือเสียงเรียกประชุม เสียงเตือนภัยฯลฯ. ต่อมานักบุญอันโตนีโอ เป็นนักบุญอุปถัมภ์ของช่างหล่อระฆังของวัดวิหาร.

แท่นบูชา สุดห้องโถงที่พักคนป่วยผู้ยากไร้ (Salle des Pauvres) สมัยที่โอเตลดีเออยังเป็นศูนย์พยาบาลสงเคราะห์ที่ปฏิบัติหน้าที่เต็ม, ฉากของ Rogier van der Weyden ตั้งอยู่บนแท่นบูชาหินอ่อนนี้. ปัจจุบันผืนผ้าทอสีฟ้าเขียวที่เห็น มีตราสัญลักษณ์ของตระกูลผู้ดีเก่าของกีกอน เดอ ซาแล็ง (ป้อมปราการสีทองบนพื้นสีฟ้าๆเขียวๆ) ส่วนรูปกุญแจประตู คือสัญลักษณ์ของการฟื้นคืนชีวิต (ในแดนของพระเจ้า).

ตู้นิทรรศการ tastevin [ต๊าสเตอะแว็ง] ที่ใช้ชิมไวน์, ทำจากเงิน, เป็นของสะสมของ Monsieur Colomb MARECHAL de Meursault (ไวน์ premier cru ของถิ่น  Meursault มีชื่อทีเดียวในบูรกอนญ์) ที่มอบให้โอเตลดีเออ.

แผ่นป้ายทองแดง ที่เขียนบอกว่า ตรงนี้เป็นหลุมศพของ Guigone de Salins ภรรยาหม้ายของ Nicolas Rolin, Chancelier de Bourgogne ผู้สถาปนาโรงพยาบาลแห่งนี้ ร่วมกับเขา. เสียชีวิตในปี 1470. อังคารถูกนำมาฝังที่นี่เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ปี 1877. (ก่อนหน้านั้น อัฐิอังคารของนาง ไปฝังไว้ที่ Collégiale Notre-Dame du Châtel à Autun ข้างนิกอลา โรแล็ง สามี แต่นางต้องการให้ฝังที่โอเตลดีเออ).

(ภาพซ้าย) ตะแกรงปิดปากท่อระบายอากาศร้อนในห้องโถงใหญ่ๆเช่นห้องพักของคนจน. ปี 1876 Maurice Ouradou เป็นผู้ออกแบบแผ่นเหล็กประดับสำหรับปิดปากท่อระบายอากาศร้อน จากลวดลายของแผ่นกระเบื้องปูพื้นที่โอเตลดีเออนั่นเอง. ตรงใจกลางแผ่นเหล็กดัด มีอักษรย่อ IHS ที่เป็นอักษรย่อของพระคริสต์ จากภาษากรีกเป็นภาษาละติน Iesus Hominum Salvator (= Jesus, Savior of Men) ในระหว่างวงกลมสองวงตรงกลางแผ่นเหล็กดัด มีสำนวน Seule étoile (ดาวดวงเดียว). ตะแกรงแบบนี้ ยังคงอยู่ในสภาพดี และใช้มาจนทุกวันนี้.

(ภาพขวา) กระเบื้องปูพื้นดั้งเดิมของที่นั่น ปูเกือบทุกห้องมาหลายศตวรรษแล้ว ยังอยู่ในสภาพที่ดีมาก. ในวงกลมกลาง กิ่งต้นโอ๊คเกี่ยวอักษรทางซ้าย คือ n และทางขวา คือ g (n = อักษรตัวแรกของชื่อ Nicolas และ g อักษรตัวแรกของชื่อ Guigone สองสามีภรรยาผู้ให้สร้างโอเตลดีเออเมืองโบน. ต้นโอ๊คเป็นต้นไม้ประจำตระกูลของนิกอลา โรแล็ง). ในวงกลมวงนอก เขียนคำว่า seule สลับด้วยรูปดาว รวมเป็นสำนวน Seule étoile (ดาวดวงเดียว). เป็นคำขวัญที่นิกอลา โรแล็ง คิดขึ้นในวาระแต่งงานกับกีกอน เดอ ซาแล็ง ยกย่องเธอว่าเป็นดาวดวงเดียวในใจเขา.

แผ่นประกาศขายไวน์และมาร์(ไวน์กลั่น) Eau-de-vie de Marc ที่จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน ปี 1898 ที่โอเตลดีเออ เวลา 14 นาฬิกาตรง. ขายไวน์ชั้นดีจากปีเก็บเกี่ยวปี 1897 และปี 1898. ไวน์ที่ขายจากถิ่นต่างๆที่โอ๊สปี๊ส ซีวีล เดอ โบน เป็นจ้าของ คือจากถิ่น Volnay, Pommard, Beaune, Aloxe-Corton, Savigny-les-Beaune และจากถิ่น Meursault. (จากแผ่นดินทองของไร่องุ่นทีเดียว). ที่น่าสนใจในประกาศนี้ คือ ระบุไว้ว่า เปิดให้ชิมไวน์(ที่จะขาย) ในวันศุกร์ที่ 11 และวันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน ตั้งแต่บ่ายสองถึงบ่ายสี่ และอีกรอบหนึ่งในเช้าวันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน ตั้งแต่สิบนาฬิกาถึงเที่ยง. เสียค่าชิม 2 แฟร็ง francs สำหรับวันศุกร์ และ 1 แฟร็ง สำหรับวันอื่นๆ. ฯลฯ

 

ประกาศรายชื่อเจ้าของไร่องุ่น จากถิ่นใด นำมาขายจำนวนกี่ถัง (fût ประมาณ 228 ลิตร. ความจุในถังโอ๊คไม้ แต่ละถิ่น อาจไม่เหมือนกัน, สมัยใหม่ก็จุปริมาณต่างกันได้) และใครประมูลซื้อไปได้ เป็นปริมาณเท่าใด.

       ปัจจุบัน โอเตลดีเออ จึงมีรายได้จากนักท่องเที่ยวผู้เข้าไปชมสถานที่ และโชคอนันต์ที่ยังมีรายได้จากไร่องุ่นอีก 60 กว่าเฮกตาร์. รู้กันดีในหมู่คนรักไวน์ว่า แผ่นดินบูรกอนญ์นั้น เป็นแผ่นดินทองของไวน์ ผลิตไวน์ที่มีคุณภาพสูง (เช่นจาก grandes appellations de la Côte de Beaune, de la Côte de Nuits et de Pouilly-Fuissé). ดังกล่าวมาแล้วว่า ไร่องุ่นของโอเตลดีเออนั้น ได้จากการบริจาค เป็นมรดกที่เจ้าของไร่องุ่นทำพินัยกรรมยกให้ตั้งแต่ต้นแล้วอย่างมีหลักมีฐาน. มีเจ้าหน้าที่ชาวไร่องุ่นอาชีพ ที่ดูแลเรื่องการเพาะปลูกจนถึงการผลิตไวน์ บรรจุในถังไม้โอ๊คขนาดใหญ่ตามขนบท้องถิ่น บ่มอยู่ในถ้ำใต้ดิน. ตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 เริ่มมีการขายไวน์ของโอ๊สปี๊ส ด้วยการเปิดประมูลแก่คนทั่วไป ในวันอาทิตย์ที่สามของเดือนพฤศจิกายนทุกปี. เป็นการขายประมูลไวน์ของโอ๊สปี๊ส เดอ โบน ที่บริษัท Christie เป็นผู้ดำเนินจัดการ. รู้กันดีว่า เป็นการประมูลขายไวน์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ที่มีผู้รักไวน์รวมพ่อค้าไวน์เดินทางจากนานาประเทศ ไปร่วมประมูล. การขายไวน์แบบนี้ ทำให้มีรายได้มาอนุรักษ์และธำรงพันธกิจด้านการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลทั้งหลายในเครือข่ายของโอ๊สปี๊ส ดังได้กล่าวมา.

ติดตามดูประวัติและบริบทเกี่ยวกับโอเตลดีเออ ได้ตามลิงค์นี้

ดูดินแดนแคว้นบูรกอนญ์ แผ่นดินทองของไวน์ฝรั่งเศส ตามคลิปนี้

หาความรู้เรื่องไวน์จากดินแดนบูรกอนญ์ ตามลิงค์นี้

และชมวิดีโอ ภูมิอากาศแดนองุ่นของบูรกอนญ์ Climats du vignoble de Bourgogne ที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโก ได้ตามลิงค์นี้


      จากขนบโอ๊สปี๊สเพื่อมนุษยธรรม สู่การสถาปนาเครือข่ายโรงพยาบาลสมัยใหม่ที่มีมาตรฐานสูง พร้อมบริการประชาชนถิ่นบูรกอนญ์,  และจากขนบการทำไร่องุ่นและทำไวน์ที่ก็สืบทอดต่อมาตั้งแต่ยุคกลาง(เป็นอย่างน้อย),  เมืองโบน เป็นตัวอย่างสุดยอดของการพัฒนาที่มั่นคงและมั่งคั่ง สืบทอดอุดมการณ์และพันธสัญญา ของผู้ก่อตั้งศูนย์โอเตลดีเออ ได้อย่างไม่ขาดระยะมาจนถึงทุกวันนี้. การท่องเที่ยวและไวน์ เป็นธุรกรรมทำเงินของเมืองโบนตั้งแต่นั้นมา.

ตรงข้ามทางเข้าโอเตลดีเออ มีร้าน Athenaeum รวมข้อมูลและสรรพสิ่งเกี่ยวกับไร่องุ่นและไวน์ของบูรกอนญ์เลือกซื้อขวดไวน์จากที่นั่นได้ด้วย. มีสำนวนเชิญชวนว่า ร้านของผู้รักไวน์ Des amoureux du vinมีคำไทย ไวน์ บนผืนผ้าใบกันสาดด้วยนะ เขาพยายามเขียนไว้หลายภาษา.

โปสเตอร์ข้อมูลเกี่ยวกับกลิ่นหอมแบบต่างๆของไวน์ กระบอกสามสี่กระบอกที่ติดเอียงๆบนแท่น คือที่ให้คายไวน์หลังการดื่มเพื่อดมกลิ่นไวน์. การชิมไวน์ ประการแรกคือการดมเอากลิ่นไวน์ว่าเป็นอย่างไร กลิ่นผลไม้ใด หรือกลิ่นอายของแผ่นดินที่ปลูกฯลฯ กลั้วไว้ในคอ แล้วคายทิ้ง ไม่ดื่มล่วงลำคอ.


ห้าหกชั่วโมง เดินชมโอเตลดีเออ ออกจากที่นั่น เดินไปเจอถนนนรก Rue d’Enfer. ตัดสินใจเดินไปสำรวจถนนนรก อาจมีอะไรเป็นมรณานุสติ

แวะเข้าร้านแรกตรงหัวมุมถนนเลย ชื่อ La P’tite Cave. เขาใช้คำ cave เท่ากับว่า ต้องเดินลงไปชั้นใต้ดิน. ปีนั้นยังไหว ตามลงไปดู. เป็นร้านอาหารและขายไวน์เป็นขวดๆด้วย. เขาหยุดขายมื้อเที่ยงแล้ว. ดีเหมือนกัน ได้ถ่ายรูปหลายใบ.

ถ้านรกคล้ายๆร้านนี้ คนคงเลือกไปนรกกันมาก

ขับรถชมไร่องุ่นของถิ่นนี้ ก็เบิกบานใจยิ่ง. จะเห็นว่า คนถิ่นนี้ ดูแลอนุรักษ์ที่ดินของพวกเขามาอย่างดีจากรุ่นถึงรุ่น อีกทั้งยังรักษากระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมไว้ได้มาก. กลิ่นอายของไวน์จากถิ่นนี้ คนคอไวน์ดื่ม จะรู้ว่า มาจากดินแถบใดในปริมณฑลนี้ เพราะพื้นดินแต่ละผืน มีเนื้อดินและกลิ่นดินต่างกัน ที่มีส่วนจากอนุภูมิอากาศ (microclimate) เหนือดินแดนแต่ละผืน ที่ไม่เหมือนกัน. ความเฉพาะเจาะจงของอนุภูมิอากาศ ของพื้นที่ไร่องุ่นบนเนินเขาที่ทอดยาวราว 60 กิโลเมตร ระหว่างเมืองดีฌง Dijon ถึงเมืองโบน Beaune และเมืองซ็องเตอเน Santenay นั้น บนเส้นทางนี้ ชาวไร่องุ่น ได้แยกแยะลักษณะอนุภูมิอากาศออกเป็น 1247 แบบ จึงมีการจัดพื้นที่ไร่องุ่นให้เป็นเขตๆตามลักษณะอากาศออกเป็น 1247 แบบ (จัดระบบ appellation contrôlée ของแต่ละเขต). ไม่มีที่ใดในโลกทำอย่างฝรั่งเศสได้ เท่ากับเขาอนุรักษ์รสและกลิ่นไวน์ที่ตรงกับสภาพดินและสภาพอากาศของพื้นที่ที่ต้นองุ่นขึ้น. (ฝรั่งเศสเท่านั้นที่ทำได้!)   

จึงเป็นอะไรพิเศษที่องค์การมรดกโลกยอมรับและประกาศขึ้นทะเบียนในนามว่า ภูมิอากาศแดนองุ่นของบูรกอนญ์  Climats du vignoble de Bourgogne ให้เป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมปี 2015. นอกจากนี้แผ่นดินไวน์ที่นั่น รวมกันเป็นภูมิทัศน์ที่น่าทึ่ง เป็นสมบัติโลกที่พิเศษสุด บวกความรู้ความทุ่มเทของชนชาวไร่องุ่นของแถบนี้ ในการรังสรรค์พื้นที่และทนุถนอมพื้นที่เพื่อการปลูกองุ่น ได้อย่างไม่มีที่ใดเหมือนในโลก.  เพียงแค่บอกชื่อไวน์จากแดนบูรกอนญ์ เช่น Chambertin, Romanée-Conti, Clos de Vougeot, Montrachet, Corton, Musigny…

คนรักไวน์ก็เคลิ้มแล้ว. ถ้าจะผิดศีลข้อห้า ขอให้ผิดเพราะไวน์ดังกล่าวเถิด...

พูดถึงไวน์ ชวนให้มึน จึงจบรายงานนี้ ด้วยการสำนึกรู้คุณสตรีผู้อุทิศตนช่วยเหลือคนอื่นๆ. คำพูดหนึ่งที่ติดอยู่ในใจมานาน, ของ Marcel Proust ที่ได้เขียนวิจารณ์ ตัดพ้อตรงๆ เกี่ยวกับบุคคลในอาชีพพยาบาลว่า 

« Ce visage où ne se lit aucune commisération, aucun attendrissement devant la souffrance humaine, aucune crainte de la heurter, et qui est le visage sans douceur, le visage antipathique et sublime de la vraie bonté.» Marcel Proust, A la Recherche du temps perdu, Du côté de chez Swann (1913).

ใบหน้าของพยาบาลไม่มีแววของความเห็นอกเห็นใจ ไม่มีแววของความอ่อนโยนเบื้องหน้าความทุกข์ทรมานของคนป่วย, เธอไม่กังวลเลยว่าการทำแผล ตัด เย็บแผล จะทำให้คนป่วยเจ็บ, และนั่นคือใบหน้าเฉยเมย ขวางๆ สุดมหัศจรรย์, ใบหน้าที่แท้จริงของความดี.

ข้าพเจ้าชอบประโยคนี้มาก จี้ใจดี. คารวะนักเขียนว่า มองลึกไปกว่าสิ่งที่ตาเห็น พ้นความรู้สึกชั่วแล่น. 

บนเตียงผ่าตัด ข้าพเจ้ามองใบหน้ารอบๆเตียง นึกถึงประโยคนี้ของพรู้สต์ แล้วหลับตา...

บันทึกเดินทางของโชติรส 

๑๙ กันยายน ๒๕๖๓. 

No comments:

Post a Comment