Tuesday, October 6, 2020

Good&Bad Government

 เมืองซีเอ๊นา มีสมบัติล้ำค่าที่หาดูที่อื่นไม่ได้ นั่นคือจิตรกรรมฝาผนังหรือเฟรสโก้ที่เลื่องชื่อลือนามมาตั้งแต่ ต้นศตวรรษที่ 14 ของ Ambrogio Lorenzetti (1285/1290-1348). เขารังสรรค์ขึ้นระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ปี 1338 ถึงเดือนพฤษภาคมปี 1339. เนื้อหาของเฟรสโก้ รู้จักกันในนามว่า บทเปรียบเทียบของรัฐบาลที่ดีกับที่ไม่ดี.  เฟรสโก้แบ่งเป็นสามตอน ประดับบนผนังกำแพงสามด้าน ในห้อง Sala dei Nove (สภาเก้า หรือเคยเรียกว่า ห้องสันติภาพ) ที่เป็นห้องหนึ่งในกรมเมือง, ภายในศาลากลางจังหวัด (Palazzo Pubblico) เมือง ซีเอ๊นา Siena.

       อิตาลีในศตวรรษที่ 14 นั้น ประกอบด้วยรัฐอิสระที่ปกครองตนเอง จังหวัดซีเอ๊นาเป็นรัฐอิสระ รัฐหนึ่ง ที่เจริญรุ่งเรืองและมีอำนาจมากรัฐหนึ่งบนคาบสมุทรอิตาลี. พลเมืองส่วนใหญ่เป็นนายธนาคาร (ที่บริหารจัดการเรื่องเงินทองอย่างมีผล รวมถึงการทำหน้าที่เป็นนายธนาคารของสำนักสันตะปาปาที่กรุงโรมด้วย), พ่อค้าคหบดี มีเครือข่ายการค้าแผ่ออกไปสู่นานาประเทศ, และนักการผลิต การค้าขายผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นเช่นไวร์คีอานติ Chianti กับรัฐอิสระอื่นๆ. นอกจากนี้ ที่ตั้งของซีเอ๊นา อยู่ตรงกลางคาบสมุทรอิตาลี บนเส้นทางสายหลักจากภาคเหนือลงสู่กรุงโรมที่อยู่ใต้ลงไป. ไม่ว่าจะลงไปจากเมืองเวนิส, มิลาน, ลูกกะ Lucca, ปีสะ Pisa, ฟลอเรนซ์ Florence ฯลฯ จึงเป็นศูนย์ที่พักแวะเวียนของผู้เดินทาง รวมทั้งผู้คนที่เดินทางลงอิตาลีจากอังกฤษ ฝรั่งเศส สู่กรุงโรม. ยุคนั้นชาวคริสต์เดินทางแสวงบุญจากมุมต่างๆในยุโรปสู่กรุงโรม. เมืองซีเอ๊นาจึงมีรายได้จากนักเดินทางตั้งแต่ยุคกลาง.

         ผู้นำผู้ปกครองเมืองซีเอ๊นา ตระหนักว่า ศิลปะและสถาปัตยกรรมของเมือง สร้างหน้าตาและดึงดูดชาวเมืองอื่น ที่เดินทางผ่านเข้าไป. สภาเก้าเป็นผู้ควบคุมผังเมืองและเป็นผู้ออกแบบอาคารสำคัญๆใหญ่ๆของเมือง.  อาณาเขตเมืองซีเอ๊นา ทอดไปเหนือเนินเขาใหญ่สามลูก. เมื่อมองจากชนบทสู่เมืองซีเอ๊นา จะเห็นมหาวิหารอันยิ่งใหญ่ และศาลากลางจังหวัดที่โดดเด่น เป็นเส้นขอบฟ้าของเมืองซีเอ๊นาที่ตรึงตาตรึงใจผู้เดินทาง. ชาวเมืองจึงสนับสนุนและอุปถัมภ์ศิลปะ และชอบที่จะส่งเสริมศิลปินลูกหลานที่เกิดและเติบโตของเมือง เป็นความภูมิใจของเมือง และในที่สุด ฝีมือของศิลปินก็เป็นที่รู้จักและยอมรับกันทั่วอิตาลี.

     แต่ความเจริญของเมืองซีเอ๊นา ก็มิได้ยั่งยืน. มิช้ามินานต่อมา ปี 1348  เกิดกาฬโรคระบาด (the bubonic plaque)  เมืองไม่มีทุนรอนเพื่อส่งเสริมงานสร้างสรรค์โครงการอื่นๆอีก. ภายในเวลาสิบกว่ายี่สิบปี โรคระบาดตามด้วยความอดอยาก แพร่ไปทั่วยุโรป ฆ่าคนตายไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งจิตรกร Lorenzetti ผู้ก็ตายเพราะกาฬโรคครั้งนั้น. 

      ยุคสมัยนั้น ที่รัฐซีเอ๊นา อำนาจการปกครองแบ่งออกเป็นสองสาย คืออำนาจศาสนาและอำนาจชุมชน. ศูนย์กลางอำนาจในแต่ละสาย มีที่ตั้งที่สะท้อนบทบาทของสังคมยุคนั้น ได้ดีพอสมควรทีเดียว. นั่นคือ มหาวิหารของเมือง (Il Duomo) ตั้งอยู่บนเนินสูงสุดของเมือง และอำนาจชุมชนมีศาลากลางจังหวัด Palazzo Pubblico ตั้งอยู่ปลายเนิน.

       ศาลากลางจังหวัด เป็นที่ทำงานของกรมเมือง มีสมาชิกเก้าคน รวมกันเป็น สภาบริหารและตุลาการ ของเมือง, ทำงานเป็นทีมเก้าคน เป็นทีมรัฐบาล (โดยไม่มีใครเป็นหัวหน้ารัฐบาล).  สมาชิกสภาเก้า เลือกจากประชากรของเมืองซีเอ๊นา(ยุคนั้นมีประมาณห้าหมื่นคน) ส่วนใหญ่มาจากชนชั้นกลางที่เป็นนายธนาคาร, พ่อค้า(ทางไกล), นักการผลิต. ระบบการบริหารงานยังเปิดโอกาสให้มีพลเมืองหลายร้อยคนมีส่วนรู้เห็นและตรวจสอบอยู่เสมอ เพื่อมิให้เกิดคอรัปชั่นขึ้นได้, การกำหนดให้ผู้บริหารเก้าคนมีอายุทำงานเพียงสองเดือนเท่านั้น เป็นวิธีหนึ่งในการควบคุมความทุจริตแบบต่างๆ.  ห้องทำงานที่สภาเก้า ไปประชุมพิจารณา บริหารและตัดสินกิจการงานทุกเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการศาสนาของรัฐซีเอ๊นา เรียกว่า Sala dei Nove (สภาเก้า). ในห้องนี้เอง ที่จิตรกรลอเร็นเซ็ตตี Lorenzetti รังสรรค์เฟรสโก้ประดับผนังกำแพงสามด้าน ในเนื้อหาของ บทเปรียบเทียบรัฐบาลที่ดีและที่ไม่ดี.

         ที่น่ารู้อีกประเด็นหนึ่งคือ สภาเก้านี้เอง เป็นผู้จัดจ้างศิลปิน. จนถึงยุคเรอแนสซ็องส์ ศาสนาคริสต์คือนายผู้ว่าจ้างและผู้อุปถัมภ์ศิลปินทั้งหมด, นั่นคือในตะวันตก ศิลปะเกิดขึ้นเพื่อรับใช้ศาสนาก่อนอื่นใด. เนื้อหาของศิลปะ ย่อมเป็นไปตามความต้องการขององค์การศาสนา. แต่ผลงานศิลปะชิ้นนี้ที่ซีเอ๊นา เป็นการจัดหาจัดจ้างศิลปินโดยฝ่ายพลเรือน และเนื้อหาก็มิได้เกี่ยวกับเหตุการณ์ตอนใดตอนหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลเก่าหรือใหม่. สภาเก้า ผู้ว่าจ้าง Lorenzetti คงระบุคร่าวๆว่า ต้องการให้เนื้อหาของเฟรสโก้ เกี่ยวกับการเมืองการปกครองในสังคม, ให้เป็นภาพเตือนสภาเก้าว่า การตัดสินใจไม่ว่าเรื่องใดของรัฐบาล ส่งผลอย่างไรต่อสังคม, เตือนให้มีความรับผิดชอบ ซื่อตรงและยุติธรรม.

        เฟรสโก้ของ Lorenzetti บอกให้รู้ว่า เขามีอิสระในการนำเสนอและจัดภาพตามที่เขาเห็นดีเห็นชอบ, เป็นความคิดริเริ่มของเขาเอง. การเล่าเนื้อหาด้วยภาพอาคารบ้านช่องในเมือง หรือด้วยภูมิประเทศ ยังไม่เคยมีมาก่อนในประวัติจิตรกรรม. จนถึงยุคนั้น ภาพในตัวเมืองหรือภูมิประเทศในชนบท ไม่เคยถูกนำเข้าไปเป็นองค์ประกอบใหญ่ในจิตรกรรม จะมีก็เพียงส่วนเล็กๆ เช่นที่เห็นจากช่องหน้าต่างหรือประตู และคนยุคนั้นก็ไม่ใส่ใจบันทึกภูมิประเทศกัน.

จิตรกรรมฝาผนังชุดนี้ ถือกันว่า เป็นงานชิ้นเลิศของ Lorenzetti เนื้อหามีหกฉาก ดังนี้ ๑)  ภาพอุปมาของรัฐบาลที่ดี   ๒) ผลกระทบของรัฐบาลที่ดีต่อเมือง และ ๓)  ผลกระทบของรัฐบาลที่ดีต่อประเทศ   ๔)  ภาพอุปมาของรัฐบาลที่ไม่ดี   ๕)  ผลกระทบของรัฐบาลที่ไม่ดีต่อเมือง   ๖)  ผลกระทบของรัฐบาลที่ไม่ดีต่อประเทศ

ภาพประกอบ A สภาเก้า  เจ้าหน้าที่สภาเก้า เข้าห้องนี้ทางประตูสีขาวๆ, เฟรสโก้ที่อยู่เหนือผนังตรงนั้น คือภาพของความยุติธรรม(1a). ภาพรัฐบาลที่ดี (1) แผ่เต็มผนังตรงหน้า. เป็นการดีที่สมาชิกสภาฯทั้งเก้าคน จักสำนึกว่า พวกเขาต้องเป็นความยุติธรรม (ติดตามคำอธิบายต่อไปข้างล่างนี้). ผนังกำแพงด้านขวา(2) เป็นเฟรสโก้ ชีวิตภายในเมืองเมื่อมีรัฐบาลที่ดี, ถัดออกมาเป็นภาพชีวิตในชนบทนอกกำแพงเมือง(2b). ผนังกำแพงด้านซ้าย (3) ลึกเข้าไปติดมุม คือภาพรัฐบาลที่ไม่ดี ถัดออกมาเป็นภาพของเมืองที่ได้ผลกระทบจากการมีรัฐบาลที่ไม่ดี(3a). เฟรสโก้ด้านนี้ ชำรุดเสื่อมโทรมมาก จนแทบมองไม่เห็นอะไร.   

ในที่นี้ จะชี้ให้เห็นว่า วิสัยทัศน์ของจิตรกร Lorenzetti เสนอภาพลักษณ์ของรัฐบาลที่ดีในศตวรรษที่ 14 ว่าเป็นอย่างไร, และของรัฐบาลที่ไม่ดี ต่างกันอย่างไร.  

ภาพประกอบ B >> รายละเอียดในภาพนี้ ประกอบกันเป็นบทอธิบายว่ารัฐบาลที่ดี(1) เป็นเช่นใด และเมื่อรวมเฟรสโก้ที่แสดงผลกระทบที่มีต่อบ้านเมืองและต่อประเทศ  เฟรสโก้ชุดรัฐบาลที่ดี รวมกันยาวถึง 14 เมตร.

ภาพประกอบ C >> รัฐบาล คือชายชรา คนนั่งบนบัลลังก์สูงกว่าคนอื่นๆ, ต้องเป็นคนที่พร้อมทั้งด้านวัยวุฒิ, คุณวุฒิ,และมีคุณธรรมสูง. ในกรณีของรัฐซีเอ๊นา คือทีมสภาเก้าที่ปฏิบัติหน้าที่เหมือนคนหนึ่งคน เป็นรัฐบาล.  อักษรย่อสี่ตัวรอบๆศีรษะของรัฐบาล C S C V ที่ย่อมาจาก Commune Saenorum Civitatis Virginis ยืนยันว่าชายชราคนนี้คือสัญลักษณ์ของรัฐบาลที่ดี. มือข้างหนึ่งของรัฐบาลถือคทา (หมายถึงอำนาจการปกครอง) เห็นเชือกพันอยู่ที่ข้อมือนั่นด้วย (ดูต่อไปในภาพประกอบ G), อีกข้างหนึ่งถือโล่กลมๆสีเหลืองทองๆ, มีรูปพระแม่มารีอุ้มพระเยซูองค์น้อย. แนะให้เข้าใจว่า การปกครองที่ดี มาจากการมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีอำนาจเด็ดขาด ปกป้องประเทศในยามวิกฤตดุจแม่ทัพ, ในขณะเดียวกัน ก็มีอำนาจจากคุณธรรมศาสนา เป็นสิ่งหนุนนำและถ่วงการใช้กำลังให้อยู่ในความบรรสานสมดุล (มิใช่การใช้อำนาจอย่างบ้าคลั่ง).

เหนือหัวรัฐบาล มีนางฟ้าความรักเอื้ออาทร Caritas ผู้ถือด้ามยาวๆ(อาจเป็นคทา) อีกมือหนึ่งถือหัวใจที่เหมือนเพิ่งควักออกจากร่าง ยังคุกกรุ่นด้วยความรู้สึก, ลอยอยู่ในอากาศ เยื้องไปทางซ้าย คือ นางฟ้าศรัทธา Fides ผู้กอดไม้กางเขนที่เป็นสัญลักษณ์ของพระเยซูคริสต์, และลอยเยื้องไปทางขวาคือนางฟ้าความหวังอันสูงส่ง Spes ผู้ยกมือทั้งสองขึ้นในท่ายอมรับ ต้อนรับ, ตามองขึ้นไปในท้องฟ้า, รำลึกถึงพระเยซูคริสต์ พระผู้ไถ่บาป. นางฟ้าทั้งสามสวมมงกุฎ  มีปีก, สื่อนัยของคุณธรรมอันสูงส่ง, เป็นคุณธรรมสามประการหลักที่มีพระเจ้าเป็นศูนย์กลางและเป็นเป้าหมาย (Vertus théologales). เป็นคุณธรรมนิรันดรที่พึงมี (ตามอรรถาธิบายของนักบุญปอล)

ภาพประกอบ D >> ที่ปลายเท้าของรัฐบาล มีเด็กเล็กๆ ตัวล่อนจ้อนสองคนบนแท่น กำลังดูดนมจากแม่หมาป่า, เห็นหัวหมาป่าเหนือเด็กคนขวา. โยงถึงเรื่องราวของแม่หมาป่าที่เลี้ยงดูลูกแฝดของ Remus (Aschius และ Senius. เด็กสองคนหนีออกจากรุงโรมเข้าไปอยู่ในป่า เมื่อ Remus ผู้พ่อถูก Romulus ฆ่า) โยงไปยังตำนานว่า ทั้งสองต่อมาเป็นผู้สถาปนาเมืองซีเอ๊นา Siena. ชายชราตัวแทนของรัฐบาล ตั้งขึ้นบนฐานที่เด็กสองคนดังกล่าวเป็นผู้สถาปนาขึ้นที่เมืองซีเอ๊นา.

ภาพประกอบ E >> รัฐบาล มีสตรีสาวนั่งขนาบข้างซ้ายและข้างขวา ข้างละสามคน พวกเธอเหล่านี้ คือใคร. สตรีหกนางนี้ เป็นตัวแทนของคุณธรรม. ทุกคนสวมมงกุฎแห่งคุณงามความดี.

สามคนทางขวา จากคนที่นั่งติดรัฐบาล ตามที่กำกับชื่อไว้ บนกำแพงเหนือหัวของพวกเธอ คือ Magnanimitas คำละตินที่หมายถึง ความมีจิตใจสูง ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่. นางถือตะกร้าสิ่งของที่น่าจะเป็นเครื่องเงินทอง หรือเพชรพลอย ที่พร้อมจะยกให้เพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น. บนหน้าตัก ยังมีถาด ที่อาจเป็นเหรียญเงิน หรือ อาหาร (เหมือนขนมปังก้อนกลม). รัฐบาลที่ดีต้องสอดส่องดูแลสารทุกข์สุกดิบของชาวเมือง และช่วยบรรเทาทุกข์ของทุกคน.  

สตรีคนถัดออกไปทางขวา คือ Temperantia ที่อาจแปลในความหมายกว้างๆว่า ความพอเพียง การรู้จักประมาณตน ความพอเหมาะพอดี (หรืออาจเทียบกับ “การตั้งอยู่บนทางสายกลาง” ในวิถีพุทธ). นางชี้นิ้วไปที่นาฬิกาทรายที่นางถือไว้ในอีกมือหนึ่ง, ตามองไปที่นาฬิกาทรายนั้น. การใช้ภาพลักษณ์ของเวลา (นาฬิกาทราย) มาเป็นตัวกำหนดคุณธรรม ของความพอเพียงนั้น คือการเอา “ความตาย การมีจุดจบ” มาขีดเส้นตายของความประพฤติ. เตือนว่า ชีวิตนั้นสั้น อย่าปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์. เตือนรัฐบาลให้บริหารเวลาให้ถูกต้องเพื่อประโยชน์สูงสุดของบ้านเมือง. การรู้จักบริหารเวลา เวลาทำกิน เวลาทำเงิน เวลาทำประโยชน์ เวลาพัก ฯลฯ เป็นผลดีต่อบ้านเมือง นำไปสู่การบริหารอำนาจการผลิต สร้างสภาวะเศรษฐกิจที่ดี. มีผู้วิเคราะห์เกี่ยวกับการใช้รูปนาฬิกาทรายในบริบทนี้ว่า เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดของเทคโนโลยียุคนั้น ที่จะแพร่หลายต่อไปในศตวรรษหลังๆ. (นาฬิกาทรายประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรกในศตวรรษที่ 8 โดยนักบวชฝรั่งเศสชื่อ Liutprand, cf. guinnessworldrecords.  แต่ปรากฏนำมาใช้และเห็นในจิตรกรรมของ ลอเร็นเซ็ตตีนี้เอง)  การใช้นาฬิกาทรายให้เป็นสิ่งเตือนใจในการควบคุมความประพฤติ ความพอเพียง ของทั้งคนและรัฐบาล, ชี้ให้เข้าใจว่า  รัฐบาลที่ดี ย่อมต้องก้าวไปกับยุคสมัยและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อความเจริญวัฒนาของบ้านเมือง.   

และสตรีคนที่นั่งริมขวาสุด คือตัวแทนของความยุติธรรม Justitia. เธอถือดาบที่ตั้งตรงพร้อมในมือ, มีหัวคน วางอยู่บนตักด้านหนึ่ง เหมือนจะบอกว่า ความยุติธรรม ได้สำเร็จโทษ ตัดหัวของคนเลวไปแล้ว. บนตักอีกข้างหนึง มีมงกุฎวางอยู่. ที่อาจหมายถึง มงกุฎที่หลุดจากหัวคนเลวคนนั้น หรืออาจหมายถึงมงกุฎที่ความยุติธรรมจะมอบให้แก่คนดีคนหนึ่งต่อไป. ความยุติธรรมนั่งในหมู่คุณธรรมที่รัฐบาลต้องมีและขนาบสองข้างรัฐบาล เน้นคุณสมบัติและคุณวุฒิของรัฐบาล.

สตรีสามนางที่นั่งอยู่ทางซ้าย จากคนที่นั่งใกล้รัฐบาล คนแรกคือความไม่ประมาท Prudentia ที่มาจากศัพท์ Providentia ในความหมายของ การมองไปข้างหน้า ความฉลาดสุขุม, เป็นคุณธรรมที่เอื้อในการฝึกระเบียบวินัยตามหลักของเหตุผล. คุณธรรมข้อนี้ ชี้นำให้รัฐบาลรู้จักตัดสินใจทำอะไรในแต่ละสภาวการณ์. ใบหน้าของนาง ขรึมเอาจริงเอาจัง.  เธอชี้นิ้วให้ดูแป้นที่คลี่เป็นวงกลมเสี้ยวหนึ่ง ชวนให้นึกถึงตาชั่งแบบหนึ่งในสมัยก่อนที่ใช้ชั่งตวง. เหมือนว่าเธอกำลังเตือนให้รัฐบาลรู้จักเก็บหอมรอมริบเมล็ดธัญญาหาร เข้าคลังเผื่อเกิดข้าวยากหมากแพงอันเนื่องมาจากความผันผวนของดินฟ้าอากาศเป็นต้น.

นั่งถัดไปทางซ้ายคือความเข้มแข็ง Fortitudo (หมายถึง พลังจิตที่เข้มแข็งไม่หวั่นไหว โลเล) มือข้างหนึ่งจับโล่ตั้งกับพื้น อีกข้างหนึ่งถือคทาด้ามทอง. นางแสดงความพร้อมสู้ มุ่งมั่น เข้มแข็ง. รัฐบาลที่ดีต้องมีความพร้อมในการรับสถานการณ์แบบต่างๆที่อาจเกิดขึ้นฉับพลัน, การเตรียมความพร้อมทั้งทางกายและใจอย่างไม่ลดละ จึงจำเป็น.

และคนที่อยู่ซ้ายสุดในภาพ คือตัวแทนของสันติภาพ Pax. อิริยาบถของเธอ ผ่อนคลาย ปล่อยตัวสบายๆ สวมเสื้อคลุมตัวกว้างเบาบางสีขาวๆ (ในขณะที่สตรีคนอื่นๆสวมที่ดูเป็นพธีการกว่า เป็นชุดสีเข้มสีอื่น)  ยาวกรอมเท้า เหมือนอยู่ในบ้านส่วนตัว. มีกิ่งใบมะกอก ดัดเป็นวง สวมบนศีรษะ (ไม่เหมือนมงกุฎเพชรพลอยที่สตรีอีกห้าคนสวมอยู่). ใต้หมอนอิงใบใหญ่ มีเสื้อสีดำๆคล้ำๆ (เดิมเป็นสีเงินเงางาม แต่กาลเวลาได้ทำให้สีเปลี่ยนไป) คือเกราะที่เธอถอดออกแล้ว ที่หมายถึงการต่อสู้ได้สิ้นสุดลงแล้ว, มีสันติภาพแล้ว. ใต้เท้าเธอก็เช่นกัน น่าจะเป็นเครื่องแบบออกศึกออกรบ เพื่อช่วงชิงสันติภาพให้คืนมา. มือข้างหนึ่งถือช่อใบมะกอก(สัญลักษณ์ของชัยชนะ). ในเฟรสโก้นี้ สันติภาพเด่นที่สุด (ที่เคยใช้เป็นชื่อเรียกสภาเก้า ว่าเป็นห้องสันติภาพ). 

สันติภาพทำให้ประชาชนทำมาหากินได้ตามถนัด. ประชาชนอยู่ดีกินดี. สันติภาพนำให้คิดว่า หากรัฐบาลใด บริหารบ้านเมืองด้วยคุณธรรมทั้งหมดดังกล่าว บ้านเมืองย่อมสงบสุข, ประชาชนมีกินมีใช้และมีสุขกันถ้วนหน้า.

รัฐบาลที่ดี จึงต้องมีคุณธรรมทั้งหลายดังกล่าวหนุนนำอย่างต่อเนื่อง  การบริหารและการตุลาการ ต้องสอดคล้องตามหลักการทั้งทางโลกและทางธรรม. เช่นนี้รัฐบาลได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ ผู้คนยินดีเสียภาษี ร่วมมือกับรัฐบาลในการทำสิ่งดีๆเพื่อสังคม.

ภาพประกอบ F >> ถัดจากกลุ่มสตรีคุณธรรม ไปทางซ้าย มีสตรีในชุดสีส้มๆน้ำตาลๆ นั่งบนบัลลังก์ใหญ่ เธอคือ ความยุติธรรม สวมมงกุฎประดับเพชรพลอยเม็ดใหญ่ๆสามเม็ด.

ภาพประกอบ G >> เฟรสโก้ส่วนนี้ อธิบายว่า ความยุติธรรมบริหารเมืองอย่างไร

ความยุติธรรมภาพนี้ เป็นความยุติธรรมคนละแบบกับความยุติธรรมในฐานะคุณธรรมที่นั่งในหมู่คุณธรรมอื่นๆที่รัฐบาลต้องมี (ในภาพประกอบ E). ความยุติธรรมตรงนี้ คือ ความยุติธรรมในการบริหารอำนาจการปกครอง. เฟรสโก้ชุดรัฐบาลที่ดี จึงมีภาพสัญลักษณ์ความยุติธรรมสองภาพ ในฐานะต่างกัน. ที่นี่ ความยุติธรรมนั่งนิ่ง ใบหน้าเฉย ตามองขึ้นเบื้องบน. เธอนึกถึงปรัชญาเมธี Sapientia ปราชญ์ตัวแทนของความรู้เจนจบ, ผู้เป็นดั่งเทพที่ดลใจความยุติธรรม. ปัญญาความเจนจบติดปีก บินอยู่เหนือหัวเธอ สวมมงกุฎที่สวยงามกว่ามงกุฎใดในเฟรสโก้ชุดนี้. ยอดมงกุฎมีเครื่องหมายกางเขน. ทั้งหมดเพื่อบอกว่า ปรัชญาเมธีนั้น เป็นพรสวรรค์ของพระเจ้า อยู่เหนือโลกธาตุ, จึงเป็นผู้ถือคันชั่งคุณงามความดีในมือขวา ส่วนมือซ้ายประคองหนังสือเล่มหนึ่ง ที่คือคัมภีร์ศาสนา, นัยว่าปัญญาและความรู้เจนจบทั้งหลายทั้งปวงนั้น เป็นสิ่งที่พระเจ้าบันดาลให้อุบัติขึ้น.  

       จานชั่งลงมาอยู่ระดับเดียวกับความยุติธรรม. มีเทวดาอยู่ในจานชั่งทั้งสอง เพื่อปฏิบัติตามสั่งของปัญญาและความยุติธรรม. เห็นนิ้วหัวแม่มือของความยุติธรรมแตะที่ขอบจานชั่งทั้งสอง.  ความยุติธรรมที่มีปรัชญาเมธีดลใจ ทำหน้าที่พิพากษา. การตัดสินคดี คือการรู้แยกแยะความรุนแรงของความผิด (มีคำ distributiva กำกับไว้เหนือจานชั่งด้านซ้าย). เทวดาในชุดสีแดงๆเป็นผู้ปฏิบัติตามสั่ง. มือหนึ่งกำลังฟันคอคนผิด ที่ถูกพิพากษาว่าได้ทำผิดอุกฉกรรจ์ โทษหนักถึงขั้นประหารชีวิต. มืออีกข้างของเทวดา ยึดมงกุฎจากหัวของคนที่คุกเข่าอยู่ข้างๆ เพราะถูกตัดสินว่าไม่คู่ควรกับมงกุฎ.  เหนือจานชั่งด้านขวา อีกหน้าที่หนึ่งของความยุติธรรม คือการตรวจสอบความถูกต้อง (มีคำ commutativa กำกับไว้). เทวดาในชุดสีขาวๆ มือถือไม้เมตรยาวๆ(เพื่อวัดความยาว) และกล่องทรงกระบอกเพื่อวัดปริมาตร. เทวดานี้เป็นตัวแทนของความยุติธรรมที่ชั่ง ตวง วัด เพื่อความถูกต้องและความเป็นธรรมในกระบวนการค้าขาย มิให้เกิดการฉ้อโกง. กระบวนการตรวสอบดังกล่าว คือสิ่งที่ปรัชญาเมธีดลใจให้ความยุติธรรมดำเนินการ.

      เห็นเชือกผูกจานชั่งสองข้าง. มีเชือกลากจานชั่งทั้งสอง ลงมารวมกันที่ความยุติธรรม และเกลียวเข้าเป็นเชือกเส้นเดียว ลงสู่มือของความกลมเกลียว Concordia ที่นั่งในระดับล่างตรงกับความยุติธรรม. อะไรที่ดูเหมือนถาดบนตักของความกลมเกลียวนั้น เขาเรียกว่า carpenter’s plane ของช่างไม้ คือกบไส้ไม้สมัยก่อน ที่วางบนตัก ใช้ในการปรับผิวหน้าของเส้นเชือกให้กลมกลึง (เส้นเชือกที่รวมมาจากจานชั่งสองด้าน) เมื่อเกลียวแล้ว จึงส่งต่อไปในหมู่พลเมือง (ตัวแทน 24 คน) ผู้คอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย. พวกเขาเข้าคิว บ่ายหน้าไปสู่รัฐบาล. ทุกคนจับเชือกเส้นนั้น ที่ทอดยาวต่อไปจนถึงคนสุดท้ายที่ยืนอยู่ติดชายชราผู้เป็นตัวแทนของรัฐบาลบาลที่ดี. เชือกนั้นขึ้นไปพันที่ข้อมือของรัฐบาล. ให้ความหมายว่า ความยุติธรรมส่งต่อผ่านมาที่ ความกลมเกลียว ที่รวมหมู่พลเมืองในความยุติธรรมมาตรฐานเดียวกัน ที่รัฐบาลต้องคำนึงถึง (เชือกพันมือของรัฐบาลไว้). 

        สรุปใจความเตือนรัฐบาลว่า ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากความยุติธรรม ให้ปกครองแทนเธอ จึงต้องให้ความเที่ยงธรรมเสมอหน้าแก่ทุกคน.  มองไปให้ทั่วรอบตัว รอบเมืองว่า มีอะไรดีๆเกิดขึ้น, ทุกคนสุขกายสบายใจเมื่อทุกหย่อมหญ้ามีสันติภาพ, เมื่อความยุติธรรมเป็นผู้นำเหนือคุณธรรมอื่นใด. เฉกเช่นพระแม่มารีผู้ปกป้องคุ้มครองผู้ที่มีศรัทธาในตัวแม่นาง จักได้รับการเลี้ยงดูเอาใจใส่ ให้รางวัลแก่คนดีและลงโทษคนชั่ว. (ที่อ้างโยงไปถึงพระแม่มารี เพราะมีภาพจิตรกรรมที่ตั้งตรงกับห้องสภาเก้า เตือนให้ระลึกถึงบทบาทของแม่นางในการจรรโลงความดีและความยุติธรรมในบริบทของศาสนาคริสต์). 

ภาพประกอบ H >> เมื่อมีรัฐบาลที่ดี บ้านเมืองสงบสุข ทั้งภายในเมืองและในชนบท.

อาคารบ้านเมืองสวยงาม ตึกรามบ้านช่องดูงามตา เรียบร้อย มุมหนึ่งเห็นการก่อสร้าง (1). ผู้คนขวักไขว่ ไปๆมาๆ ทำธุรกิจ ใช้ชีวิตตามจริต มีกิจกรรมต่างๆ, เป็นเมืองที่คึกคัก.  ผู้คนออกมาพบปะสังสันทน์ หรือวางแผนธุรกิจ (2), ขี่ม้าชมเมือง หรือออกไปเดินเล่นในชนบท (3).  ประชาชนบันเทิงใจ ตั้งวงเต้นรำ, ทำให้นึกถึงเทพธิดา muses ที่ดลใจให้เกิดการรังสรรค์ศิลปวิชาการต่างๆ หรืออาจเป็นเทศกาลรื่นเริงต้นฤดูใบไม้ผลิ (4), ร้านขายของ ขายรองเท้าและบู๊ต (5),  โรงเรียน (6) ข้างโรงเรียนก็เป็นร้านอะไรร้านหนึ่ง, บ้านเมืองสงบ คนต้อนฝูงแกะออกไปปล่อยให้เล็มหญ้าในทุ่งนอกเมืองได้ (7), หรือพ่อค้าบรรทุกสินค้าเต็มบนหลังม้า เข้ามาในเมือง (8) เป็นต้น.

ภาพประกอบ I >> เฟรสโก้ส่วนที่แสดงความบันเทิงของชาวเมือง  ที่ยังชัดเจนสวยงามมาก

ภาพประกอบ J >> ภาพนอกกำแพงเมือง ภูมิประเทศในชนบท เป็นภาพมุมสูง ที่อาจเห็นได้จากหอระฆังสูงๆในเมืองซีเอ๊นา.  แคว้นทัสคานี มีพื้นที่สวยงาม เป็นเนินคลื่น. เป็นเนินเพาะปลูกต้นมะกอกฝรั่ง ไร่องุ่นเป็นต้น.

เทพธิดาในมุมบนซ้าย เธอเป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคง (มีคำ securitas เขียนอยู่เหนือตัวเธอ). มือหนึ่งถือเครื่องลงทัณฑ์ (ตะแลงแกง ขนาดย่อส่วน มีคนหนึ่งถูกแขวนคออยู่ในนั้น), อีกมือหนึ่งถือแผ่นจารึกที่คลี่ออก เผยให้เห็นข้อความที่บ่งบอกจุดยืนทางการเมืองของชุมชน, ให้เป็นเหมือนคำมั่นสัญญาต่อทุกคนว่า ผู้ทำตัวอยู่ใต้กฎหมาย จักอยู่ได้อย่างปลอดภัย. « เมื่อไม่มีความหวาดกลัว ทุกคนเดินทางไปมาอย่างอิสระเสรี, เดินทางออกไปค้าขายต่างถิ่น หรือเดินทางมาจากที่อื่น. ใครใคร่ทำนาทำไร่ ก็หว่านเมล็ดพืชพรรณธัญญาหาร, (ใครใคร่ค้าหมู ก็ทำได้). ตราบเท่าที่ชุมชนนี้ ยกย่องความยุติธรรมว่าเป็นราชินี เพราะความยุติธรรม จักขจัดคนเลวออกจากอำนาจ ».

ลอเร็นเซ็ตตี เน้นว่า สันติภาพจะตามมาแน่นอน เมื่อพลเมืองประพฤติตนสอดคล้องกับธรรมชาติ และตามวิถีแห่งผู้นำที่ดี.  การมีชีวิตในความสงบสุขนั้น จำเป็นต้องมีหลักการสองประเด็น คือการมีรัฐบาลที่ดี ที่บริหารตามกฎหมายและขนบประเพณีของชุมชน กับการมีสมาชิกของสภาบริหารและตุลาการ ที่มีความสามารถ รับผิดชอบหน้าที่ด้วยใจเป็นกลางและสัตย์ซื่อ.

      รายละเอียดที่เห็นในภูมิประเทศนอกกำแพงเมือง ล้วนสื่อการทำมาหากิน กิจการงานของชาวนาชาวไร่ในยามบ้านเมืองสงบ, ที่เห็นชัดเจน ส่วนใหญ่เป็นกิจการงานในนาไร่ในฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ถึงต้นฤดูใบไม้ร่วง. พลเมืองทำการประมง ดูแลไร่องุ่น ในเดือนมีนาคม, พรวนดินและเพาะปลูกในเดือนเมษายน, ขี่ม้าออกไปในชนบทเดือนพฤษภาคม, ไถดินให้เป็นร่องและเลี้ยงสัตว์ในเดือนมิถุนายน, เก็บเกี่ยวธัญญพืชในเดือนกรกฎาคม, หวดข้าวในเดือนสิงหาคมและล่าสัตว์ในเดือนกันยายน ฯลฯ (มีผู้ตั้งประเด็นว่า ภาพทิวทัศน์ในและนอกกำแพงเมือง ดังที่เห็นในเฟรสโก้ชุดรัฐบาลที่ดีนี้ ตรงกับความเป็นจริงของเมืองซีเอ๊นาหรือไม่. ข้าพเจ้าไม่เห็นประโยชน์ในการเจาะประเด็นนี้. ศิลปินอาจสร้างงานของเขาตามวิสัยทัศน์ว่าเมืองที่สงบสันติเป็นเช่นใด, โดยแต่งแต้มและใช้ความเป็นจริงของพื้นที่เป็นฐานในการสร้างสรรค์. อีกประการหนึ่ง ภูมิประเทศในและนอกเมืองซีเอ๊นาในศตวรรษที่ 14 ของลอเร็นเซ็ตตี กับในศตวรรษปัจจุบันของนักวิจารณ์ เป็นภูมิประเทศเดียวกันทุกประการหรือหกร้อยกว่าปีต่อมา?)

ภาพประกอบ K >> เฟรสโก้ตรงข้ามกับเนื้อหา «รัฐบาลที่ดี» คือ «รัฐบาลที่ไม่ดี». รัฐบาลที่ไม่ดี เป็นเช่นใด?  เฟรสโก้ชุดนี้ เสียหายมาก จึงหาภาพชัดๆมาให้ดูไม่ได้ แต่ก็นำให้เข้าใจว่า รัฐบาลที่อยู่ในแวดล้อมของอธรรมเหล่านี้ ประชาชนเดือดร้อน บ้านเมืองระส่ำระสาย การทำมาหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง.

สัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลที่ไม่ดี นั่งบนบัลลังก์สูง นุ่งห่มสีดำ มีเสื้อคลุมปักดิ้นทองเพื่อบอกว่าเป็นคนมีอำนาจ. เห็นสองเขาชัดเจนบนหัว เขี้ยวก็แหลมคมไม่แพ้กัน ตาเหล่ๆ น่าเกลียดเหมือนยักษ์มาร. เท้าวางบนตัวแพะ (ตามขนบคริสต์ แพะเป็นสัญลักษณ์ของผู้กดขี่ข่มเหง คนเลวหรืออำนาจมืด. อาจหมายถึงคนบาปหนักที่ไม่ยอมสำนึกผิด). มือข้างหนึ่งถือกริช. อีกข้างถือพานเงินทอง,  มีอักษรเขียนกำกับคนนี้ว่า Tyrammides หรือทรราช.

ภาพประกอบ L >> เหนือหัวของทรราช  มีอธรรมตัวแทนของความหยิ่งทรนง Superbia สวมชุดสีแดงสด ใบหน้าเชิดขึ้น. ด้านซ้ายคือ อธรรมตัวแทนของความตระหนี่ถี่เหนียว Avaritia และด้านขวา อธรรมตัวแทนของความลุ่มหลงในเกียรติยศชื่อเสียง Vanagloria (พจนานุกรมบางเล่มแปลว่า ความโอ้อวด).

ภาพประกอบ M >> สองข้างของทรราช เรียงจากขอบภาพด้านซ้าย มีตัวแทนของ ความหฤโหด Crudelitas, การทรยศหักหลัง Proditio, การคดโกง Fraus. (ทรราชบนบัลลังก์ ต่อไปด้านขวาเป็น) ความคลุ้มคลั่ง Furor (เป็นมาร มีลำตัวเหมือนคน, หัวเป็นหมูป่า, มือหนึ่งถือกริช อีกมือถือก้อนหิน, กำลังโกรธจัด. เน้นความหมายของผู้ทำลายบ้านเมือง เอาหินขว้างไปยังตึกอาคารสาธารณะด้วยความคลุ้มคลั่ง. มารตัวนี้อยู่ติดทรราช สื่อพฤติกรรมของทรราชที่ทำร้ายผู้คนและทำลายบ้านเมือง), ความแบ่งแยก ที่ถือเลื่อย เลื่อยตัวเอง Divisio, และสงคราม Bellum. อุปนิสัยหกประเภทนี้ จารึกไว้ในหนังสือตุลาการของเมืองว่า เป็นศัตรูของชีวิต.

ใต้ลงมาจากบัลลังก์ของทรราช มีรูปร่างสีขาวๆ ที่ถูกมัดไว้ มีอักษรกำกับว่า ความยุติธรรม Justitia. เมื่อทรราชเข้าครองเมือง ไม่มีความยุติธรรมเหลือแล้ว.

ถัดจากกลุ่มที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลที่ไม่ดี เห็นส่วนหนึ่งของบ้านเมือง. ดูรายละเอียดณ ตำแหน่งของ 1, 2 และ 3 ต่อไปข้างล่างนี้

ภาพประกอบ N >> สตรีถูกบังคับ นำตัวไป, คนหนึ่งนอนอยู่บนพื้น, เกิดเหตุการณ์ไม่ดีในเมือง, ฆาตรกรรมในชุมชน

ภาพประกอบ O >> อาคารบ้านเมืองทรุดโทรม กำแพง ประตู หน้าต่าง ผุพัง


ภาพประกอบ P >> ไกลออกไปนอกกำแพงเมือง ชวนให้คิดว่า ทุ่งนาป่าเขา แห้งแล้ง ว่างเปล่า ขาดคนเพาะปลูก. ความกลัวที่มีชื่อกำกับว่า Timor ในภาพนี้ เป็นหญิงชราผอมแห้ง ถือดาบพร้อมจะทิ่มแทงฟาดฟันทันที ข่มขู่ชาวเมือง. บ้านเมืองไม่มีความสงบ. ความหวาดกลัวทำให้คนไม่กล้าออกจากบ้าน หรือเก็บตัวหลบซ่อนเพื่อหนีภัย. ความกลัวถือแถบข้อความบอกเล่าสภาพการณ์ของเมือง ว่ารัฐบาลที่ไม่ดี ส่งผลกระทบต่อชีวิตชาวเมือง ต่อภูมิประเทศอย่างไร. ไกลออกไป (ไม่เห็นในภาพนี้) มีกองทัพสองกองทัพ กำลังเคลื่อนมุ่งหน้าเข้าหากัน ชาวเมืองจะหนีสงครามไปได้ไหม?

 

รายละเอียดที่นำมาเสนอจากเฟรสโก้เรื่องรัฐบาลที่ดีกับไม่ดี ของ Ambrogio Lorenzetti เป็นเพียงเล็กน้อย. มีนักวิจารณ์ศิลปะ ศึกษาวิเคราะห์เฟรสโก้นี้ไว้หลายคน,  แทรกข้อมูลอื่นๆเข้าไปในบริบทการสร้างเฟรสโก้ของลอเร็นเซ็ตตี เทียบกับผลงานศิลปะในยุโรปยุคเดียวกัน. ผู้สนใจและต้องการศึกษาต่อ ติดตามไปอ่านในสองลิงค์ข้างหน้านี้ >>

*https://en.wikipedia.org/wiki/The_Allegory_of_Good_and_Bad_Government#Cosmic_allegories

** https://www.cairn-int.info/article-E_ANNA_606_1137--turn-your-eyes-to-behold-her-you-who-are.htm#

เป็นตอนหนึ่งจากบทความของ Patrick Boucheron, in Annales. Histoires, Sciences Sociales, Volume 60, Issue 6, 2005. Pp. 1137-1199.   

เฟรสโก้ของ Ambrogio Lorenzetti ยังเป็นบทเรียนมาถึงยุคสมัยปัจจุบัน. ตัวอย่างของรัฐบาลที่ไม่ดี เห็นชัดๆในสังคมโลก, ตัวอย่างของรัฐบาลที่ดี ก็ยังถูกวิจารณ์ว่าไม่ดีจริงหรือดีพอ.

ในรัฐสภาไทย และในสถานที่ราชการทุกแห่ง น่าจะมีภาพทำนองเดียวกันนี้ เตือนเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน, สมาชิกผู้แทนราษฎรทั้งหลาย, และโดยเฉพาะหัวหน้ารัฐบาล ว่าความสุขและความเจริญของประเทศ อยู่ที่ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบและความยุติธรรมในใจของพวกเขาทุกคน.

เราอาจต้องสร้างสรรค์ภาพและสื่อ เตือนทุกคนอยู่เสมอ ว่าได้พัฒนาปลูกฝังคุณธรรมดีๆอะไรบ้างในฐานะพลเมืองที่ดี และโดยเฉพาะเมื่อไปรับตำแหน่งหน้าที่การงานในรัฐบาล.

โชติรส รายงาน

๖ ตุลาคม ๒๕๖๓.

No comments:

Post a Comment