รูปลักษณ์หนึ่งที่ติดตรึงตาจากศาสนาพราหมณ์
คือ ศิวะนาฏราช. ในยุโรปโดยเฉพาะ, อินเดียเป็นประเทศที่สร้างความมั่งคั่งทั้งทางเศราฐกิจ
การเมือง
การปกครอง สังคม และพัฒนาปลูกฝังจิตสำนึกแนวใหม่แก่ประเทศอังกฤษ ที่ยกระดับตัวเองขึ้นเป็นจักรวรรดิ
มีอาณานิคมไปทั่วโลก จนเป็นคำพูดติดปาก จากประวัติศาสตร์ศตวรรษที่ 19 ว่า “จักรวรรดิบริติชที่ดวงอาทิตย์ไม่เคยตก” (The sun never sets on the
Brtish Empire).
อินเดีย ได้เปิดหูเปิดตาปัญญาชนชั้นสูงของยุโรปตั้งแต่ยุคอาณานิคม.
ชาวตะวันตกค้นพบโลกอัศจรรย์โลกใหม่ที่พวกเขาไม่เคยคิดหรือจินตนาการมาก่อนในทุกๆด้าน
ที่สร้างความตื่นทึ่งอย่างสุดประมาณได้. การสถาปนาภาษาอังกฤษขึ้นใช้ในอินเดีย
มีส่วนสำคัญในการกระจายความรู้เรื่องพระเวท ศาสนาฮินดู พราหมณ์ พุทธศาสนา ตำนาน
เทพปกรณัมและขนบธรรมเนียมในสังคมอินเดีย ออกไปอย่างกว้างขวาง. มีปัญญาชนชั้นนำของอังกฤษ ฝรั่งเศส
เยอรมนีและในยุโรป ที่ทุ่มเทชีวิตจิตใจเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมอินเดีย
(ศึกษาภาษาสันสกฤตด้วย) รวมถึงพระเวท. มีนักวิจัยอินเดียศึกษา
คนเด่นคนสำคัญในสหราชอาณาจักรและในประเทศยุโรปอื่นๆที่มีผลงานเป็นที่น่าเชื่อถือและอ้างอิงถึง.
จนทุกวันนี้ ขนบประเพณีและวัฒนธรรมอินเดียบางลักษณะ เป็นที่ยอมรับและมีผู้สนใจศึกษา.
ปัญญาชนจำนวนไม่น้อย ย้อนกลับไปอินเดียเพื่อหาความรู้ในแขนงที่พวกเขาสนใจเป็นพิเศษ
เช่นศาสตร์ของโยคะ อายุรเวช พลังลมปราณ เป็นต้น. หลายคนนำไปต่อยอด
หาวิธีถ่ายทอดภูมิปัญญาอินเดียต่อไปได้อย่างลึกซึ้ง สร้างวิสัยทัศน์ใหม่เกี่ยวกับโลกและชีวิต
เพิ่มทางออกและทางเลือกใหม่ในหมู่ชาวตะวันตก ที่ตกอยู่ในวังวนของวัตถุนิยม.
ภาพพระศิวะหลายมือ
ดังภาพนี้ คงได้ดลใจนักวาดเขียนออกแบบรูปภาพฝรั่งหลายมือ ดังภาพข้างล่างนี้.
จิตรกรรม ศิวะนาฏราช สิบแขน,
พระนางปารวตีนั่งชื่นชมอยู่.
เท้าขวาเหยียบบนตัวยักษ์มุยะละกะ
ที่บังอาจมาต่อกรกับพระศิวะ.
ศิลปินตะวันวันตก สร้างภาพนี้ขึ้น ตั้งชื่อไว้ว่า Consciousness of all things.
ฝรั่งใช้ภาพหลายมือจากจินตนาการตะวันออก
(จากภาพของเจ้าแม่กวนอิน หรือภาพของพระศิวะนาฏราช) มาสร้างภาพแบบนิวลุคสมัยใหม่ เพื่ออธิบายข้อเขียนของเขา.
เขาคงหาภาพลักษณ์หรือสัญลักษณ์อื่นใดตามแนวตะวันตก
ที่สื่อนัยความหมายได้ดีเท่าภาพคนหลายมือของตะวันออกได้ไม่ชัดเจนเท่า. รายละเอียดออกจะเลือนลาง แต่ละมือถืออะไร ต้องการบอกอะไรอย่างเจาะจงหรือไม่.
อย่างไรก็ดี พอจะเดาได้ว่าเกี่ยวกับสรรพสิ่งในแวดล้อมของสังคมคนยุคนี้.
ต้นไม้ที่โผล่ขึ้นจากกลางกระหม่อม เหมือนจะบอกว่าจุดหมายของสรรพสิ่ง
คือความเจริญเติบโตของต้นไม้ หรือทางรอดเดียวคือการใส่ใจในธรรมชาติเป็นต้น.
นาฬิกาเหมือนเตือนให้ตระหนักว่า ทุกนาทีมีความหมาย. ชีวิตนี้ไม่จีรังยั่งยืน.
ภาพดังกล่าว ปรากฏประกอบบทความเกี่ยวกับ
morphic
resonance ของ Charles Eisenstein เมื่อวันที่ 27 เดือนตุลาคม 2019. Eisenstein วิเคราะห์ความหมายของคำ morphic resonance ที่ Rupert Sheldrake เป็นผู้สร้างคำนี้ขึ้น.
R. Sheldrake เป็นนักเขียนชาวอังกฤษ
ผู้เจาะเรื่อง parapsychology
(ศึกษาความมหัศจรรย์ของจิต ออกนอกกรอบของวิชาจิตศาสตร์ เช่นการสะกดจิต
การเป็นร่างทรงฯลฯ) ที่เขาเชื่อมต่อไปถึงความทรงจำร่วมกันของมนุษยชาติ
(Collective memory, ref. ที่นี่).
ในบทความเรื่องนี้ เนื้อหาไม่เกี่ยวอะไรกับมือโดยตรง.
ต้องการเน้นภาพของสังคมคน ในทำนองว่า สังคมคนจะอยู่ได้ดี มีบริบทหลากหลายที่เสริมความมั่นคงในทุกๆด้าน.
คนหนึ่งคน หาได้เป็นคนโดดเดี่ยว เป็นเอกเทศบนโลกนี้ไม่. เขาอยู่ได้ เติบโตมาได้หรือพัฒนาเป็นอะไรในโลกนี้ได้
ไม่ใช่เพราะตัวเขาเองที่ก่อร่างสร้างตัวมาเท่านั้น แต่มีอะไรอื่นๆไม่ว่าคน สัตว์ พืชพรรณ
ที่ต่างมีส่วนช่วยให้เขาเป็นตัวเขา. สิ่งที่ช่วยเขา อาจแฝงมาในรูปแบบต่างๆ ในบริบทต่างๆ
หรือแฝงซ่อนอยู่หลังฉากใหญ่. การกระทำของคนเล็กๆหนึ่งคน ที่ไม่มีคนรู้เห็น ล้วนเป็นสิ่งที่ดี
เป็นพลังสร้างโลก ที่สะท้อนและนำทางการสร้างสรรค์อื่นๆ. ในทำนองเดียวกัน อะไรที่คนทำเดี๋ยวนี้
มาจากสิ่งที่คนเคยทำมาแล้ว มาจากจิตสำนึกเรื่องนั้นในอดีต. พลังจากอดีตมาช่วยเสริมและนำทางไปสู่การสร้างในปัจจุบัน.
จึงพูดกันว่า จะเข้าใจปัจจุบัน ต้องศึกษาอดีต. สรุปคือมนุษยชาติมีความทรงจำร่วมกันมาก่อนแล้ว.
ภาพเดียวกันนี้ ยังเป็นภาพประกอบเว็บเพจของคนอินเดีย
(ตามลิงค์นี้) บทความเกี่ยวกับนักฟิสิกส์ชาวตะวันตกคนสำคัญๆที่เป็นผู้ริเริ่มและสถาปนา
ควอนตัมฟิสิกส์. เจ้าของบทความต้องการบอกว่า นักฟิสิกส์เหล่านั้น
อ่านและคุ้นเคยกับพระเวท และโดยเฉพาะเรื่อง อุปนิษัท - Upanishads.
อ่านไปอ่านไป เหมือนต้องการอ้างว่า
นักวิทยาศาสตร์คนดังคนสำคัญในยุโรป (รวมถึงไอนสไตน) ผู้ค้นพบทฤษฎีอะไรใหม่ๆนั้น พวกเขาได้ความคิดจากพระเวทอินเดีย.
การอ้างเช่นนี้ พิสูจน์ไม่ได้. นักฟิสิกส์ตะวันตกที่เขาอ้างถึง อาจเคยอ่านอุปนิษัท
แต่พัฒนาการรู้จักคิดของชาวตะวันตกนั้น มีบริบทและภูมิหลังจากหลายแหล่งหลายมิติมาก
และโดยเฉพาะจากระบบความคิดวิเคราะห์ที่พวกเขาพัฒนาขึ้นจากระบบการเรียนการสอนในวัยเด็ก
ที่เป็นพื้นฐานของปัญญา, จากการใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาหาความรู้ประเภทต่างๆ.
ภูมิหลังเหล่านี้ คงได้เอื้อให้พวกเขาเห็นและเข้าใจพระเวท
ที่เหมือนยืนยันความคิดของพวกเขาว่า มันเป็นไปได้เช่นนั้น. กุรุพรหมณ์ก็มีมาก ที่เข้าใจพระเวทสืบทอดมาหลายพันปี แต่ทำไมไม่เสนอเป็นทฤษฎีฟิสิกส์
หรือควอนตัมเมแคนิคล่ะ.
เมื่อพิจารณาปรัชญาให้เป็นวิทยาศาสตร์
ต้องมีระบบความคิดวิเคราะห์แบบวิทยาศาสตร์ ที่พิสูจน์ตรวจสอบได้
และเป็นจริงทุกเมื่อทุกสถานที่. กุรุอินเดียสมัยก่อนๆ ไม่ได้พัฒนาปรัชญาหรือความรู้จากพระเวทให้เป็นพื้นฐานของวิทยาศาสตร์
อาจเพราะไม่มีพื้นฐานของวิทยาศาสตร์เพียงพอเมื่อพันปีก่อนเป็นต้น. มาในต้นศตวรรรษที่
20 เมื่อมีนักฟิสิกส์
นักวิทยาศาสตร์ตะวันตก ด้วยจิตวิเคราะห์ของนักวิทยาศาสตร์และจากภูมิหลังของพวกเขา
ได้เล็งเห็นความเป็นไปได้ในการใช้ปรัชญาบางเรื่องในความเชื่อของฮินดู
มาอธิบายวิทยาศาสตร์. ในเว็บดังกล่าว
คนเขียนชาวอินเดียต้องการเสริมสร้างความคุ้นเคยเกี่ยวกับพระศิวะเพื่อโยงไปถึงพระเวทที่เขาเทิดทูน
ว่าเป็นต้นกำเนิดของศาสตร์สมัยใหม่ที่ชาวยุโรปค้นพบ.
พระเวทเหมือนคัมภีร์ศาสนาใด เขียนด้วยภาษาคนละยุคกับเรา วิธีการเขียน
การสอนหรือการเล่า ก็ไม่ใช่วิธีการของยุคเรา.
คนปัจจุบันจึงอ่านและตีความตามระดับสติปัญญาและภูมิหลังของเขา.
เช่นนี้ในแต่ละยุคสมัย แต่ละสำนัก การตีความจึงแตกต่างกัน. ยิ่งมีปัญญาชนต่างชาติที่สนใจศึกษาและเข้าใจตามภูมิหลังและสติปัญญาของเขา
ก็ยิ่งทำให้คัมภีร์ทั้งหลาย มีนัยหลากหลายจากหลายมุมมอง.
เช่นนี้งานเขียนหรือแง่คิดเกี่ยวกับอินเดีย จากชาวตะวันตก
จึงมีความหมายมากสำหรับชาวอินเดียเอง
เป็นประโยชน์และเสริมความเข้าใจกับเพิ่มมุมมองอื่นๆเกี่ยวกับพระเวทให้ชาวอินเดียเองด้วย
และมีส่วนช่วยให้พวกเขา พัฒนาการตีความ ความละเอียดในการจับความ
จนในที่สุดตั้งเป็นกระแสหลักในการเผยแพร่วัฒนธรรมอินเดียออกไปในโลก.
ติดตาม ศิวะนาฏราช เมื่อพระศิวะร่ายรำงอนง้อพระนางปารวตี ในตอนต่อไป.
โชติรส รายงาน
๓๑ มีนาคม ๒๕๖๓.
No comments:
Post a Comment