Wednesday, April 1, 2020

The Cosmic Dance

รูปแบบและความหมายของรูปปั้นมหาเทพศิวะนาฏราช มีผู้อธิบายรายละเอียดไว้ในเว็บหลายแห่ง เช่นในเว็บไทยที่นี่ หรือในเว็บของต่างชาติ เช่น ที่นี่ หรือที่ เว็บเพจนี้
       แต่ละเว็บทั้งของไทย อินเดียหรือชาติอื่น มีเนื้อหาข้อมูลต่างกันและเหมือนกัน, ลีลาการเล่าก็เน้นต่างกันไปเล็กน้อย. ในเว็บเวอชั่นภาษาอังกฤษ(quora.com) มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจติดตาม อ่านสนุก จึงนำมาเล่า ให้เพลินๆไปกับจินตนาการของชาวฮินดู ที่ผู้เล่าถ่ายทอดมา. ความดังนี้
        เมื่อพระนางปารวตีน้อยใจพระศิวะ (ด้วยเรื่องใดมิได้เจาะจงไว้), พระศิวะวางแผนจะร้องรำทำเพลง เป็นการงอนง้อและเอาใจนางต่อหน้าเทวะทั้งหมด. ได้เชิญเทพเทวีองค์อื่นๆทั้งพระพรหม วิษณุ นางลักษมี นางสรัสวตี เหล่านางอัปสร คนธรรพ์ รวมทั้งยักษ์ทั้งหลายด้วย ให้ไปรวมกันที่บนเขา Mandala โดยด่วน, กลายเป็นการชุมนุมเทพเทวาทั้งจักรวาล(ฮินดู).  เทวีปารวตีก็ไปด้วยโดยไม่รู้จุดประสงค์ของพระศิวะ. เมื่ออยู่กันพร้อมหน้า พระศิวะปรากฏตัว แต่งองค์งดงาม ประดับด้วยงู ท่อนล่างนุ่งหนังเสือ ผมเกล้ายกสูงเป็นมวยเหมือนเจดีย์บนศีรษะ ตรึงด้วยพระจันทร์เสี้ยว หน้าผากมีสัญลักษณ์ ตรีปุณทระ (Tripundra เป็นรอยขีดสีขาวสามเส้นบนหน้าผาก ตัดด้วยเส้นตั้งสีแดงตรงเหนือหว่างคิ้ว เป็นตำแหน่งของดวงตาที่สามของพระศิวะ เป็นตาของผู้รู้แจ้ง บางตำราบอกว่า เมื่อพระศิวะเปิดตาดวงนี้ ไฟจะพ่นออกมาเผาไหม้โลก. หากมองลึกทะลุเข้าไปในกะโหลกศีรษะ คือตำแหน่งของ pineal gland ตรงกลางสมอง ที่มีเซลล์ประสาทรับแสงได้ และเป็นแหล่งสร้างฮอร์โมนหลายตัว รวมถึงเมลาโทนิน. ในขนบความเชื่อโบราณ เป็นจุดเชื่อมโลกกายภาพกับโลกของจิตวิญญาณ เช่นในขนบอีจิปต์ ตาของเทพฮอรัส หรือของเทพรา ที่คนโบราณเชื่อว่า มีพลังอำนาจ ปกป้องและรักษา). พระศิวะมีมาลัยร้อยเมล็ด รุทรักษะ (Rudraksha ที่ถือว่า คือเมล็ดน้ำตาของพระศิวะ) คล้องคอ ทอดแผ่ลงบนหน้าอก.
      เมื่อมากันพร้อมหน้า พระศิวะพยักหน้าให้สัญญาณ  เทวีสรัสวตี เริ่มดีดพิณวีณา (veena พิณอินเดีย), พระวิษณุเริ่มรัวกลองยาว (mridangam มีหน้ากลองสองด้าน), พระพรหมเล่นฉิ่งฉับ, พระอินทร์เป่าขลุ่ย. เทวีปารวตี เบิกบานใจมากเมื่อเห็นเช่นนั้น. มหาเทพศิวะ เรียกนักดนตรีชายและหญิงพร้อมเครื่องดนตรีประจำบันไดเสียงต่างๆ (ragas ที่เขียนว่า ราก้า, ราคะ หรือร้าก คือการสร้างสรรค์ทำนองดนตรีที่สอดคล้องกับแต่ละช่วงเวลาในหนึ่งวัน ตามหลักการของการบรรเลงถูกเวลาและถูกสถานที่ นอกจากไพเราะยังเป็นศิริมงคล) ออกมาร่วมวง. วงมโหรีเริ่มเล่น กระจายเป็นคลื่นเสียงเพราะเสนาะหู ก้องไปทั่วทั้งพิภพ. พระขัณฑกุมารและพระพิฆเนศ ก็ร่วมเล่นด้วยแทบเท้าของมหาเทพพระบิดา. พระศิวะรื่นเริงกับวงมโหรีของเทพเทวาและเทวีทั้งหลาย ได้เวลาที่พระองค์จะร่ายรำ.
      ทรงปลดมวย ผมสยายยาวลงไปถึงเข่า (ผมยาวเฟื้อยเช่นนั้น เป็นสัญลักษณ์ประจำของโยคี). งูที่พันบนตัว เลื้อยไปประดับเศียรเหมือนมงกุฎ, ทั้งกำไลแขน สร้อยคอทองอร่ามส่องประกายบนร่างของมหาเทพ.  สัดส่วนและผิวพรรณของพระองค์ งามเปล่งปลั่งเหมือนดวงอาทิตย์พันดวง. ช่างเป็นภาพงามตรึงตาตรึงใจยิ่งนัก. ใครจะนึกว่า มหาเทพในร่างของนาฏราชนี้ คือพระศิวะผู้ครองตนเป็นนักพรตในป่าช้า.
ในระหว่างการร่ายรำของมหาเทพ  ภารตะมุนี (Bharat Muni, คนที่นั่งในมุมล่างซ้ายในภาพนี้) ได้โอกาสพิจารณา เรียนและเรียบเรียง นาฏยศาสตร์ (Natya-Shastra) ที่จักเป็นหนังสือคู่มือเกี่ยวกับศิลปะการละครทุกแง่มุมในการละครคลาซสิกสันสกฤต.  ความสำคัญเหนือกว่าศิลปะการละครและการร่ายรำ คือ การยืนยันบทบาทของการละครในฐานะเป็นกลไกที่นำไปสู่ความเข้าใจและการรู้แจ้งในพระเวทและในศาสนา.  ผู้สนใจอ่าน นาฏยศาสตร์ ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ ตามลิงค์นี้ไปค่ะ. เครดิตภาพ ที่นี่ 
ในภาพที่ชัดเจนคือพระพรหมสี่หน้าเล่นฉิ่งฉับ, ถัดไปทางขวาคือพระวิษณุตีกลองยาว, ตรงกลางคือพระศิวะ, พระอินทร์เป่าขลุ่ย, พระพิฆเนศ ทรงร่ายรำตามพระบิดาด้วย เห็นหนูตัวสีดำเล็กๆใกล้เท้าพระพิฆเนศ, พระนางปารวตีนั่งบนบัลลังก์, พระสรัสวตีดีดพิณวีณา, โคนนทิหมอบเฝ้าดูอยู่ด้วย, นกยูงก็เช่นกันผู้ติดตามพระสรัสวตี. ด้านหลังเห็นยอดเขาสูง. 
ภาพวาดนี้มีรายละเอียดดี จึงนำมาลงอีกภาพหนึ่ง. 
ในมุมล่างขวา ภารตะมุนี กำลังสังเกตท่าร่ายรำ
เพื่อจารึกลง เป็นหนังสือนาฏยศาสตร์
      พระศิวะเริ่มร่ายรำบนยอดเขา Mandara. ผมของมหาเทพกระจายพริ้วในสายลม, พระศิวะ ยักย้ายส่ายสะโพก เสียงกระดิ่งที่ประดับเอว ดังกรุ๊งกริ๊งชวนให้สนุกเบิกบานใจ, เท้าข้างหนึ่งยกขึ้น หมุนไป เปลี่ยนทิศทางไปตามท่าต่างๆ. พระนางปารวตีมองตามด้วยความชื่นชมยิ่งนัก เพราะไม่เคยเห็นหรือจินตนาการพระสวามีนักพรตของพระนาง เป็นนักร่ายรำเชี่ยวชาญถึงเพียงนั้น.  ศิวะนาฏราช หมุนแขนเป็นวงกลม บังเกิดเป็นแสงแปล็บปลาบ ดอกบัวงามปรากฏขึ้น พระศิวะนำไปมอบแด่พระนางปารวตี ผู้รับไว้ด้วยความซาบซึ้งสุดเสน่หา.  ลีลาการร่ายรำของพระศิวะงดงามยิ่งนัก แม้แต่เหล่านางอัปสรก็เคลิบเคลิ้ม. พื้นที่ทั้งบริเวณห้อมล้อมตรลบด้วยคลื่นเสียงดีๆเสนาะหู. ลีลาของพระศิวะตามจังหวะกลองยาวของพระวิษณุ ตรึงตาตรึงใจ.  ณ ขณะหนึ่ง พระศิวะมีเศียรเพิ่มขึ้นอีกหนึ่ง กับอีกสองแขน.  เช่นนี้ไปเรื่อยๆตลอดการร่ายรำ จนในที่สุด พระศิวะปรากฏองค์พร้อมห้าหน้าและสิบแขน.  ลีลาของศิวะนาฏราชในขณะนั้น แม้แต่พระแม่คงคาก็อาย เมื่อได้ยลความอ่อนช้อยลื่นไหลของการร่ายรำ.  เม็ดเหงื่อที่ตกลงจากองค์ศิวะนาฏราชขณะนั้น กลายเป็นนักประพันธ์ กวี นักดนตรี นาฏศิลปิน. เหล่ากินนรและกินนรี โปรยปรายดอกไม้คารวะองค์ศิวะนาฏราช ด้วยความปิติยิ่ง.
       พระศิวะร่ายรำอยู่เช่นนั้นสี่เดือน โดยไม่มีท่าเหน็ดเหนื่อยเลย. พระนางปารวตีน้ำตาคลอด้วยความตื้นตันที่เห็นพระสวามีทำทุกอย่างเพื่องอนง้อเธอ. ยามนั้น ศิวะนาฏราช เท้าขวายืนอยู่กับที่ มหาเทพยกเท้าซ้ายขึ้น งอและเบี่ยงขาซ้ายไปเบื้องหน้าขาขวา  มือซ้ายก็ยื่นออกไปเกือบขนานกับขาซ้าย ในขณะที่ฝ่ามือขวาตั้งตรง นิ้วเหยียดตรง ในท่าไม่กลัวใคร (เรียกว่าท่า อภัยมุทรา-abhaya mudra) ด้านหลัง มีเปลวไฟลุกเป็นวงล้อมเหมือนกงล้อ (เรียกว่าท่า Jwala Prabha Mandalam) ที่จักกลายเป็นภาพลักษณ์ถาวรของรูปปั้นศิวะนาฏราช. พระศิวะในวงล้อมของไฟที่หมายถึงการเนรมิตและการทำลายควบกันไปในจักรวาลมิได้หยุด. คือการเกิดการตายที่วนเวียนไปไม่มีสิ้นสุด. เปลวไฟทั้งวง รวมโลกของมวลสาร เวลา และพื้นที่ หมุนไประหว่างการปราบล้างกับการสถาปนาใหม่ตามจังหวะบัณเฑาะว์ในมือบนขวาและฝีเท้าของพระศิวะ. บัณเฑาะว์นั้นเจาะจงการสร้างและบอกเวลาที่ผ่านไป ระหว่างการเนรมิตโลกและจักรวาล กระจายเป็นความถี่และความกว้างของคลื่นเสียง. บัณเฑาะว์ ยังอาจมองว่า คือหลักการคู่ชายหญิง เพราะมีหน้ากลองสองด้าน ขาดด้านใดไปก็ไม่สมบูรณ์. อัคนีในมือบนซ้ายของพระศิวะ คือไฟบรรลัยกัลป์ ไฟแห่งการเผาไหม้จนราบคาบ.
      ศิวะนาฏราชในท่านี้ แสดงทิพยพลังให้ประจักษ์แก่ตาในฐานะของผู้ธำรงและผู้ทำลายในขณะเดียวกัน. การร่ายรำของพระศิวะครั้งนี้ ทำให้เกิดจักรวาลใหม่ๆเป็นจำนวนพัน บ้างคงอยู่, บ้างถูกทำลายลง. ยามนั้น พระนางปารวตีลงจากบัลลังก์ แล้วน้อมตัวลงคารวะมหาเทพ.
The Cosmic Dance หรือ อนันดา ตาณฑวะนาฏราช (Ananda Tandava)
รวมพลังนิรันดร์ขององค์มหาเทพในการเนรมิต การทำลายล้าง การธำรง การช่วยให้พ้นบาป และมายาคติ. เป็นภาพลักษณ์ที่เห็นชัดเจนของพลังที่หมุนและเคลื่อนไหวมิได้หยุดของภายนอก ที่ตรงข้ามกับความสงบภายในของผู้รู้แจ้ง ของผู้อยู่เหนือการเปลี่ยนแปลง. เครดิตภาพ : Pinterest.ph
การร่ายรำยังคงมีต่อไป พระนางปารวตีเข้าร่วมร่ายรำกับพระศิวะ ณขณะหนึ่ง มหาเทพและองค์เทวี หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว โดยมีครึ่งขวาเป็นชายและครึ่งซ้ายเป็นหญิง (เรียกว่า ปาง อรรธนารีศวร- Ardhnarishvara).
การร่ายรำคู่ พระศิวะกับพระนางปารวตี
เครดิตภาพ : exoticindiaart.com
ในรูปปั้นปางนี้ จะเห็นการตกแต่งรูปปั้นครึ่งขวา เหมือนภาพลักษณ์ปกติของพระศิวะเช่นห่มหนังเสือ มีงูเลื้อยที่คอ ถือตรีศูลและบัณเฑาะว์ โคนนทิประกอบอยู่ข้างๆ และครึ่งซ้ายคือพระนางปารวตี ห่มส่าหรี มือถือดอกบัว ที่พระศิวะนาฏราชมอบให้ มีสิงโตยืนประกบข้างๆ. 
ภาพลักษณ์ของพระศิวะ ปางอรรธนารีศวร ครึ่งขวาคือพระศิวะมหาเทพแห่งเขาไกรลาศ ครึ่งซ้ายคือพระนางปารวตีพระมเหสี. โคนนทิ เป็นเทพรักษาประตูบนเขาไกรลาส ที่สถิตของพระศิวะ และเป็นพาหนะของพระศิวะด้วย. สิงโต สัญลักษณ์ของธรรมชาติที่ควบคุมยาก เช่นความโกรธ ความอวดเก่ง ความเห็นแก่ตัว ความจะกละ ความอิจฉา ฯลฯ. พระนางปารวตีมีสิงโตเป็นพาหนะ เท่ากับว่านางมีพลังอำนาจและใช้พลังนั้นปกป้องคุณธรรมและขจัดความเลวร้าย. งู ที่เลื้อยออกไปจากมือ เท้าและผมของพระศิวะ หมายถึงการสลัดความเห็นแก่ตัวออกไป. เห็นสายน้ำพุ่งออกจากมวยผม แทนพระแม่คงคา ผู้เป็นพระชายาของพระศิวะด้วย. เครดิตภาพ จากเว็บเพจนี้ 
       พระศิวะเป็นหนึ่งในสามทิพยพลังในจักรวาลฮินดู มีพระพรหมผู้สร้างจักรวาล พระวิษณุผู้ปกป้องรักษาและพระศิวะผู้ทำลายล้าง. การทำลายล้าง มิได้มีนัยลบทั้งหมด แต่เพราะมีการทำลายล้าง จึงมีการสร้างใหม่ มีการเกิดใหม่ ตามหลักปรัชญาฮินดูว่า ทุกอย่างมีจุดจบตามธรรมชาติเพื่อการเกิดใหม่ และพระศิวะเป็นผู้พาไปยังจุดจบเพื่อให้วงจรใหม่เริ่มขึ้น.
      เล่ากันว่า ตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา ชาวฮินดู แบกรูปปั้นพระศิวะนาฏราชสี่มือที่แทนสี่ทิศ แห่ไปในขบวนตามพิธีกรรม โดยมีพราหมณ์ร้องเพลงสวดและให้ศีลให้พรแด่ศาสนิกผู้ติดตาม. บางทีมีการตกแต่งรูปปั้นด้วยผ้าสีสดๆเช่นสีแดง เขียวและประดับด้วยเพชรนิลจินดา ให้ศาสนิกชื่นชมมหาเทพในร่างคนอันงามสง่า. ในความเชื่อของชาวฮินดู  ศรัทธาของศาสนิกที่สวดต่อพระศิวะ กระตุ้นพลังที่อยู่ในรูปปั้น, ยามนั้นแล พระศิวะมาอยู่สถิตในหมู่ศาสนิก.
ภาพกำกับไว้ว่า : Let the universe boogie: Natesha, 
Thanjavur district, Tamil Nadu, 11th century CE.

        รูปปั้นของศิวะนาฏราช มีสัดส่วนเจาะจงไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 ดังปรากฏจารึกรายละเอียดไว้ใน Shilpa Shastras หรือศิลปศาสตร์ ที่รวมอุดมการณ์แห่งความงามและความสมสัดส่วนในขนบฮินดูโบราณ เช่นเจาะจงว่า มือยาวเหมือนปล้องไม่ไผ่ หน้ากลมเหมือนดวงจันทร์  ตาเหมือนผลอัลมอนด์ ฯลฯ
         เอกลักษณ์ที่ศิลปินอินเดียนำมารวมไว้ในปางศิวะนาฏราชอีกหนึ่งอย่าง คือพระบาทขวาของพระศิวะ เหยียบเหนือร่างของมารมุยะละกะ (Muyalaka บางทีก็เรียกว่า Apasmara) ที่เป็นสัญลักษณ์ของความโง่เขลา, ความเห็นแก่ตัว, ความขี้เกียจ รวมถึงอีโก้ที่มีในตัวคน. ถูกสร้างขึ้นให้ตัวเล็กเหมือนคนแคระ สยบอยู่ใต้พระบาทของศิวะมหาเทพ ตัวเล็กตัวแคระยังบอกนัยของการไม่เจริญเติบโต ไม่สมบูรณ์ทั้งทางกาย สติปัญญาและทางจิตสำนึก. การผนวกร่างของมารมุยะละกะ ย้อนโยงไปถึงปางพระศิวะและพระนารายณ์ เสด็จไปปราบฤาษีกลุ่มหนึ่งบนโลกมนุษย์ ที่ประพฤติตัวออกนอกลู่นอกทางของเทวบัญชา.  มุยะละกะเข้าไปช่วยฝ่ายฤาษี ถูกพระศิวะเหยียบไว้ใต้พระบาท. (บางตำราบอกว่า นั่นเป็นครั้งแรกที่พระศิวะทรงร่ายรำ เมื่อปราบมาร น่าจะเป็นปางพระศิวะพิโรธ. ไม่ใช่เป็นการร่ายรำครั้งเดียวกับการรำงอนง้อพระนางปารวตีที่เล่ามาข้างบน.)
        ตลอดเวลาการร่ายรำ พระพักตร์ของพระศิวะ นิ่งสงบ ไม่มีร่องรอยของความหวั่นไหวจากอารมณ์ใด, เบื้องหน้าการดับการเกิดที่เป็นความจริงแท้ความจริงเดียว. ความสงบเย็นบนใบหน้า ดังที่เห็นในประติมากรรมชั้นครู โดยเฉพาะรูปปั้นสมัยศตวรรษที่ 11 (ยุคราชวงศ์ Chola ที่ปกครองอินเดียภาคใต้รวมทั้งเกาะศรีลังกา ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 9-13), เป็นสิ่งที่ประทับใจชาวตะวันตกมาก เพราะตรงข้ามกับกิริยาท่าทางการเคลื่อนไหวของร่างกาย ดังศิลปินได้ถ่ายทอดไว้. นักวิจารณ์ศิลป์ชาวตะวันตกหรือประติมากรเช่น ออกุสต์ โรแด็ง ชาวฝรั่งเศส (Auguste Rodin, 1840-1917) กล่าวว่า ลีลาตลอดจนการแสดงออกในปางศิวะนาฏราช เป็นการแสดงออกที่งามสมบูรณ์ที่สุดของการเคลื่อนไหว แฝงความลึกล้ำที่เป็นแกนของชีวิตอยู่ภายในลีลา ที่หลายคนอาจมองไม่เห็น. เบื้องหลังความสง่างาม คือความบรรสานที่สมดุลและสมบูรณ์.  Aldoux Husley (1894-1963, นักเขียนเสียดสีสังคม และนักปรัชญาชาวอังกฤษ, ผู้สนใจปรัชญาฮินดูและไสยศาสตร์ของอินเดีย (mysticism), ก็กล่าวถึงรูปปั้นศิวะนาฏราชว่า
« เราชาวตะวันตก ไม่มีรูปลักษณ์ใดที่พอเทียบได้แม้แต่น้อยนิด กับรูปปั้นศิวะนาฏราช ช่างเป็นสัญลักษณ์ที่เพียบด้วยนัยทั้งในด้านจักรภพ ด้านจิตวิทยาและด้านจิตวิญญาณ. ทุกอย่างรวมอยู่ในรูปลักษณ์ของพระศิวะนาฏราช โลกกายภาพ, สำนึกของกาลเวลา, โลกของวัตถุกับพลังงาน, โลกของการสร้างสรรค์กับโลกของการทำลายล้าง, โลกของจิตวิทยา...»                                                                         
The whole thing is there, you see. The world of space and time, and matter and energy, the world of creation and destruction, the world of psychology…We (the West) don’t have anything remotely approaching such a comprehensive symbol, which is both cosmic and psychological, and spiritual. Aldous Huxley, 1961. 
        สำหรับชาวต่างชาติที่ไม่มีภูมิหลังเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ มองชื่นชมรูปปั้นศิวะนาฏราช ในฐานะของผลงานประติมากรรม ว่าสื่อความงามสุนทรีย์ได้มากน้อยและลึกซึ้งเพียงใด. สำหรับชาวฮินดู  ศิวะนาฏราช คือสัญลักษณ์ศาสนา คือคำสอน. เน้นให้เข้าใจว่า พลังของมหาเทพ (นั่นคือของจักรวาล) ไม่ใช่เป็นสิ่งที่สร้างได้หรือทำลายได้ เพราะคือการเปลี่ยนสภาวะจากเกิดเป็นดับ จากดับไปเกิดใหม่นั่นเอง. ในยุคปัจจุบัน นักฟิสิกส์ได้อาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อสร้างภาพแบบฉบับของจักรวาลที่ไม่หยุดนิ่ง. ภาพลักษณ์ของศิวะนาฏราช มองในเชิงอุปมาอุปไมย จึงอาจเป็นภาพที่ดีที่สุด ที่ยังรวมเทพตำนานโบราณกับศาสนศิลป์ของอินเดียเข้าด้วยกัน.
หินแกรนิตจำหลักเป็นรูป ศิวะนาฏราช ขนาดสูงสองเมตร ที่รัฐบาลอินเดียมอบ
ให้แก่ CERN (Centre Européen pour la Recherche Nucléaire,
สถาปนาขึ้นในปี 1952) ศูนย์วิจัยนิวเคลียของยุโรปที่กรุงเจนีวา, ในปี 2004.
เครดิตภาพ : Kenneth Lu
แผ่นจารึกข้อความในภาษาอังกฤษว่า : « O Omnipresent, the embodiment of all virtues, the creator of this cosmic universe, the king of dancers, who dances the Ananda in the twilight, I salute thee.»
ประเด็นหลักของรูปปั้นหินแกรนิตนี้ คือความสมดุล น้ำหนักของทั้งมวลหิน ลงที่เท้าขวาเพียงจุดเดียว. ศิลปินต้องรู้จักแบ่งน้ำหนักของหินให้ได้พอดี จำหลักตามเส้นแนวดิ่ง ศีรษะต้องอยู่ในแนวเดียวกับเท้าขวา. ทำให้รูปปั้นตั้งตรงทรงตัวได้อย่างงดงาม. รูปปั้นนี้มีชื่อเสียงมากในหมู่นักฟิสิกส์และนักวิทยาศาสตร์ชาวยุโรป. ความงามสมดุลและมั่นคงของประติมากรรมศิวะนาฏราชฝีมือชาวอินเดียนี้ เป็นบทอุปมาอุปไมยที่ชัดเจนที่สุด ตอกย้ำทวิภาวะของธรรมชาติ, ของมวลสารกับของจักรวาล และวงจรของสรรพสิ่งและของจักรวาล ที่หมุนต่อไปชั่วกัปชั่วกัลป์. (Ref. ที่นี่) 

       ปรัชญาศาสนาพราหมณ์ ชวนให้คิดตรึกตรองสภาวการณ์ของสังคมมนุษย์ในยามที่เชื้อโควิด19 ระบาดไปทั่วโลก. คนอาจเริ่มตระหนักว่าโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยสิ่งประดิษฐ์สารพัดสารพัน กับเทคโนโลยีที่เร็วขึ้น แรงขึ้น, ขยะเทคโนโลยี มีมากพอๆกับขยะจากวิถีชีวิตของคนที่หลงใหลในโภคทรัพย์. สรรพสิ่งกองทับถมเป็นเนินขยะ หรือสุมๆกลบไว้ทั้งใต้พื้นดินและบนดิน, รวมทั้งขยะที่ไปทิ้งลงในมหาสมุทร และที่นำออกไปทิ้งในอวกาศอีกนับไม่ถ้วน โดยที่ยังไม่มีใครคิดไปถึงการกวาดล้างให้โลกและจักรวาลสวยสะอาดและหมดจด.
       โควิด19 ที่มาปลิดชีวิตคนในทุกประเทศ  ข้าพเจ้าหวังจะให้พลังมหาเทพศิวะ มาทำลายค่านิยมผิดๆของมวลมหาชน เพื่อว่าหลังวิกฤตครั้งนี้ โลก ธรรมชาติ สรรพสัตว์ จักพบชีวิตใหม่  คนจักได้บทเรียนและสร้างสังคมมนุษย์ในแนวใหม่ที่ดีกว่าเดิม เปลี่ยนทัศนคติ พัฒนาขนบประเพณีเพื่อการอยู่ร่วมกันในความเอื้อเฟื้อและสมานฉันท์ สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และความก้าวหน้าบนพื้นฐานของความยุติธรรมและศีลธรรม.
ขออย่าให้สังคมโลกเหมือนเดิมอีกเลย...

โชติรส รายงาน
๑ เมษายน ๒๕๖๓.

2 comments:

  1. very good written article it will be a good support to anyone who utilizes it including me keep doing what you're doing can't wait to read more post very nice article 토토사이트

    ReplyDelete
    Replies
    1. Glad you have read this article. So you understand Thai language. I have to write in Thai for Thai young generations. Thank you to let me know that you appreciate the story. You can also have your own cosmic dance within yourself, with your mind.

      Delete