Monday, December 9, 2019

Furoshiki

ผ้าห่อตะติ๊งโหน่ง
ฟังข่าวฝรั่งเศส ช่วงเทศกาลคริสต์มาสนี้ มีกระแสใหม่ คือแทนการใช้กระดาษห่อของขวัญ ที่คนเปิดกล่องแล้วก็ทิ้ง เป็นขยะและสิ้นเปลืองวัตถุดิบจำนวนมาก ชาวฝรั่งเศสหันไปใช้ผ้าผืนสี่เหลี่ยมห่อของขวัญ ตามแนวญี่ปุ่นที่ถือปฏิบัติกันมานาน. ญี่ปุ่นเรียกว่า ผ้า 風呂敷 furoshiki [ฟือร้อชิกิ]. 風呂 หมายถึง ถังแช่ตัว โดยนัยคือ(แช่ตัว)อาบน้ำ, แปลว่า ห่ม หรือ คลุม. (ขอแทรกตรงนี้ เพราะมันเกี่ยวข้องกันทางอ้อมว่า การแช่น้ำพุร้อนกลางแจ้ง ที่เขาเรีนกว่า 露天風呂 [โหละเท็มพือโหละ] Open-air bath เมื่อดูอักษรจีนแต่ละตัว เห็นภาพของการนุ่งลมห่มฟ้า).
        Furoshiki โดยรวมในปัจจุบันหมายถึง ผืนผ้าสี่เหลี่ยมที่ชาวญี่ปุ่นใช้ห่อของ. ผ้าผืนแบบนี้ปรากฏใช้ในราวปี 700-790 BC. สมัยนั้นใช้ห่อเสื้อผ้าที่ถอดออก เมื่อไปสถานอาบน้ำพุน้ำแร่สาธารณะ (ยุคนั้น น้อยคนมีห้องอาบน้ำส่วนตัวในบ้าน ทุกคนจึงไปอาบน้ำตามสถานอาบน้ำสาธารณะที่ใกล้บ้านที่สุด.  เมื่อถอดเสื้อผ้าออกแช่น้ำ จำเป็นต้องรวบรวมสิ่งของเสื้อผ้าของตัวเองให้เป็นส่วนสัด ไม่ปนกับของคนอื่น จึงใช้ผ้าผืนสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ห่อสมบัติส่วนตัว.
       ในหมู่ชนชั้นสูง ใช้ผ้าห่อสมบัติส่วนตัว เพื่อพกพาหรือนำติดตัวไปเมื่อย้ายนิวาสสถาน. หรือในหมู่พระสงฆ์ ห่อสมบัติมีค่าของวัดหรือคัมภีร์เป็นต้น. ผ้าที่ใช้สวย คุณภาพเยี่ยม เป็นไหมเนื้อละเอียด ลวดลายปักงดงาม, ลำพังผืนผ้า ก็มีค่ามากแล้ว. เห็นห่อแบบนั้น รู้ว่าต้องมีของสูงของแพงภายใน. (เขาไม่อำพรางตาใครไม่เหมือนวิสัยไทยที่ใช้ผ้าขี้ริ้วห่อทอง  ที่แนะให้คิดว่า ตัณหาความอยากได้ของคนอื่นมีมาแต่โบราณ).
       การใช้ผ้าห่อของแบบนี้ ทำกันเรื่อยมาในยุคเฮอัน (平安時代 Heian Jidai [เฮอัน จิได], 794-1185, ที่มีเกียวโตเป็นเมืองหลวง), ตามด้วยุค คามากุระ (鎌倉時代 Kamakura jidai [ขะมะกือระ จิได], 1185–1333) ต่อมาถึงยุคมูโรมาจิ (室町時代 [มูโรมาจิ จิได], 1336-1573). โชกุนอะชิกาวา โยชิมิตจึ (足利義 Ashikaga Yoshimitsu มีอำนาจระหว่างปี 1368-1394) โชกุนคนที่สามของตระกูลนี้ ได้ให้สร้างสถานอาบน้ำขนาดใหญ่ในเมืองเกียวโต และเชิญขุนนางศักดินาทั้งหลายจากทั่วญี่ปุ่นมาร่วมด้วยบ่อยๆ. ขุนนางแต่ละคนมาพร้อมผ้าห่อสมบัติและเสื้อผ้ากิโมโน. แต่ละคนมีตราประจำตระกูลปักชัดเจนบนผ้าห่อส่วนตัว. ผ้าผืนๆแบบนี้ขนาดใหญ่มาก ยังใช้เป็นผ้าปูรองนั่ง(หรือยิน)ได้ด้วย เช่นตอนผึ่งร่างกายให้แห้ง พื้นห้องก็ไม่เปียก จึงมาเป็นชื่อเรียกผ้าแบบนี้. Furoshiki นัยตามประโยชน์ใช้สอย จึงหมายถึง ผ้าปูสำหรับยืนหรือนั่งเมื่อลุกจากการแช่(และอาบ)น้ำ.
        ความนิยมการใช้ผ้านี้แพร่หลายไปเร็วในสังคมและไปทั่วทุกชนชั้น. พ่อค้าแม่ขายใช้ห่อสินค้า ป้องกันสินค้าและจัดแยกแยะประเภทสินค้าเป็นห่อๆไป. ผ้าผืนๆแบบนี้ ยังเอาไปใช้ห่อเครื่องมือ ของขวัญ หรือใช้ห่อของส่วนตัวผูกไปกับไม้ขึ้นพาดไหล่เมื่อเดินทาง. ความนิยมดังกล่าวสืบทอดต่อมาถึงยุคเอโด (江戸時代 [เอโด๊ะจีได] Edo jidai, 1603-1868, ชื่อเอโด คือโตเกียวในปัจจุบัน) และเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้.
ดูตัวอย่างการห่อของขวัญด้วยผ้า Furoshiki
      เครดิตภาพ : Pinterest.
เครดิตภาพ : Poshmark.
เครดิตภาพ : Jzool.
เครดิตภาพ : เว็บ vijayprasanna.me/furoshiki-bag/
เครดิตภาพ : My Poppet.
เมื่อเข้าสู่ยุคใหม่ ที่มีการประดิษฐ์กระเป๋าหนังขนาดใหญ่เล็ก กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือสารพัดทั้งแบบและขนาด, และโดยเฉพาะตั้งแต่หลังสงครามโลกที่สองในทศวรรษที่ 1960 เมื่อมีการผลิตกระเป๋าจับจ่ายซื้อของเป็นปลาสติก (cf. Sten Gustaf Thulin ชาวสวีดิช) และตามด้วยถุงปลาสติกแบบต่างๆ มากขึ้นๆ, คนก็ลืมผ้าผืนน้อยร้อยวิถีชีวิตในสมัยก่อน.
        มาในวันนี้ ทุกคนรู้ตระหนักแก่ใจแล้วว่า ผลิตภัณฑ์ปลาสติกนั้น กลายเป็นตัวการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงทำลายชีวิตสัตว์ในทะเล(และบนบก)เป็นจำนวนมาก  ทุกภาคส่วนและทุกประเทศ ต้องรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์และบูรณะระบบนิเวศ. กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นได้กระตุ้นให้กลับไปใช้ผ้า furoshiki มากขึ้นและลดการใช้ถุงปลาสติกหรือแม้ถุงกระดาษให้น้อยลง. ผ้า Furoshiki ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ Mottainai (勿体無い[หมดตายใน]. การออกเสียงของสำนวนนี้ นำให้เห็นภาพว่า (อะไรก็ตาม) ใช้ให้หมด จนสุด ไม่เหลือทิ้ง.
     ญี่ปุ่นเริ่มจัดระบบแยกแยะขยะอย่างเอาจริงเอาจัง แยกเกือบสิบประเภท (มากกว่าที่เขาระบุอย่างเป็นทางการว่ามีห้าประเภท). วันไหนทิ้งขยะอะไร ก็ต้องรู้และทำตามอย่างเคร่งครัด. มีการประชุมอบรมแม่บ้าน(พ่อบ้านด้วย) เพื่อให้เข้าใจกันอย่างทั่วถึงไปทุกหมู่บ้านทุกตำบลทั่วทั้งประเทศ. ทุกคนทำตาม ทุกอย่างจึงสะอาดตา เรียบร้อยหาที่ติมิได้. (เคยฟังหนุ่มอเมริกันคนหนึ่งที่ไปอยู่ญี่ปุ่นไม่นาน พูดออกทีวีญี่ปุ่นว่า เขาแทบจะเลียพื้นถนนญี่ปุ่นได้เลย! (ฟังแล้วอยากบอกว่า ก็เลียให้ดูสิ! แห๊ม!)
      เล่ากันว่า ในปี 2005 เมื่อนาง Wangari (Muta) Maathai [หว่างกะริ มาตัย] ชาวเคนยา (สตรีแอฟริกันคนแรกที่ได้รางวัลโนเบิลในปี 2004 ในฐานะนักรณรงค์เพื่อสังคม สิ่งแวดล้อม และการเมือง. เธอเป็นผู้ก่อตั้งกระบวนการ Green Belt Movement ในปี 1977 ที่มุ่งนำการปลูกต้นไม้ อนุรักษ์ระบบนิเวศ และต่อไปถึงสิทธิสตรี. เธอยังได้รับรางวัล Indira Gandhi Peace Prize 2006). เธอได้ไปเยือนประเทศญี่ปุ่น ได้เห็นระบบการบริหารจัดการขยะของญี่ปุ่น และเมื่อเข้าใจสำนวน Mottainai ของญี่ปุ่น ก็ชื่นชอบมาก บอกว่าอยากจะให้ชาวโลกได้รู้จักและยึดอุดมการณ์นี้ของญี่ปุ่น. เธอยังวิเคราะห์สำนวนญี่ปุ่นนี้ว่า นอกจากจะรวมนัยยะของ 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) แล้ว ยังสื่อให้เห็นความรักความถนอมธรรมชาติและสรรพสิ่งในธรรมชาติ. เธอได้นำอุดมการณ์ Mottainai Campaign เพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อมออกไปสู่โลก, การรณรงคนี้ยังคงมีอยู่จนทุกวันนี้.  
       ชาวญี่ปุ่นเล่าไว้ว่า ในยุคซามูไรสมัยเมืองเอโดเป็นเมืองหลวง ชีวิตผิดไปจากเมืองโตเกียวในปัจจุบัน. ยุคนั้น เมื่อคนซื้อกิโมโนชุดหนึ่ง (ซึ่งราคาแพงมาก) เขาจะใช้ชุดนั้นร่วมสิบถึงยี่สิบปี มีการชุนการปะครั้งแล้วครั้งเล่า. กิโมโนที่แม่ใช้ ก็ยังตกทอดไปสู่ลูกสาวและลูกของลูกต่อไปอีก. จนกว่ามันสวมไม่ได้แล้ว ก็จะนำไปเป็นผ้าขี้ริ้วถูพื้น และเมื่อใช้ถูพื้นต่อไปไม่ได้แล้ว ก็จะนำไปเป็นเชื้อเพลิงจุดไฟสำหรับทำอาหาร. ขี้เถ้าที่เหลือจากกิโมโนผืนเก่าที่ถูกเผาไหม้แล้ว ยังเอาไปเป็นผงขัดเครื่องถ้วยชาม.
       ชาวญี่ปุ่นสมัยก่อน ถูกฝึกให้รู้จักใช้สิ่งของไปจนถึงที่สุด ไม่ทิ้งๆขว้างๆ ซึ่งตรงข้ามกับในสมัยใหม่ ที่เห็นเอาเครื่องใช้ไฟฟ้า ทีวีรุ่นเก่า คอมพิวเตอร์รุ่นเก่า เครื่องพิมพ์ เครื่องซีร็อกส์ฯลฯ ออกไปทิ้งเมื่อซื้อรุ่นใหม่แล้ว ทั้งๆที่ทุกอย่างยังใช้การได้อยู่. (นักศีกษาไทยในญี่ปุ่นได้ไปเก็บเครื่องใช้ที่เขาทิ้ง ไปใช้ต่ออย่างสบายใจ). ต่อมา ก้าวไกลไปอีกหนึ่งก้าว (เพื่อชะลอการทิ้ง) ใครจะทิ้งเครื่องไฟฟ้าอะไร ต้องแจ้งไปยังหน่วยบริการในแต่ละตำบล, บางแห่งเขามาเก็บไปให้ ต้องเสียค่าบริการ, บางแห่งเขาบอกให้เอาไปส่งที่ศูนย์นั้นๆ พร้อมเอาเงินไปจ่ายเป็นค่าถอดเครื่องเอาไปรีไซเคิล. เขาคิดราคาตามขนาดสินค้าด้วย. (ก่อนย้ายกลับเมืองไทย ข้าพเจ้าต้องจ่ายเงินสองหมื่นเยน เพื่อมอบเครื่องคอมพิวเตอร์ desktop เครื่องใหญ่ให้เขาไปถอดทิ้งหรือรีไซเคิลเท่าที่เขาจะทำ.  สรุปคือ เอาไปทิ้งที่ไหนไม่ได้ นอกจากเอากลับมาไทย เมื่อเทียบค่าขนส่งแล้ว เสียค่าทิ้งถูกกว่า)  
(ข้อมูลเกี่ยวกับ “หมดตายใน” ดูได้ที่เว็บนี้) 
ส่วนสำนวน mottainai ยังมีความหมายอื่นในบริบทอื่น เช่นเมื่อเกี่ยวกับตัวเอง เหมือนถ่อมตนว่า ที่เขาทำหรือพูด ดีเกินไปสำหรับตัวเรา, เหมือนเราไม่คู่ควรกับคำชม(หรือของที่ได้รับ) นั้นเป็นต้น “ 私には、勿体無い Watashi niwa mottainai yo! ถ้าแปลกันตรงๆ เหมือน คุณใช้สิ้นเปลืองเกินความจำเป็น)
        คนญี่ปุ่นเคยบอกว่า ราคาของขวัญที่มอบให้แก่กันนั้น ไม่สำคัญเท่าวิธีการห่อของขวัญ เพราะแสดงถึงความตั้งใจ ความจริงใจของผู้ให้ รวมทั้งแสดงความรู้สึกดีๆที่มีต่อผู้รับ (แบบข้างนอกต๊ะติ๊งโหน่ง ข้างในเป็นโพรง ก็ไม่ว่ากัน). คิดไปคิดมา ถ้าต้องหาซื้อผ้าห่อสวยๆ เพื่อห่อของขวัญ ราคาผ้าห่ออาจแพงกว่าของขวัญ รวมกันแล้ว แพงขึ้นอีก. ส่วนการใช้ผ้าห่อไป แกะเอาของขวัญ “แบบล่อนจ้อน” ให้ใคร แล้วเอาผ้าคืนมาใช้เอง เขาก็คงไม่ทำกัน. สรุปว่าแค่ให้กันด้วยถ้อยคำ ส่งลายน์ไปแทน น่าจะดี. แต่แม้ถ้อยคำ เดี๋ยวนี้ ก็เขียนเองไม่เป็นหรือไม่ต้องคิดเองเลย มีเบ็ดเสร็จให้เลือกมาาาาากมาย. อะไรๆมันหมดความหมาย หมดสุนทรีย์ไปเยอะ!
        ผ้า Furoshiki สมัยนี้มีทุกขนาดต้องการ จะห่อสิ่งของขนาดใด. ใช้ผ้าได้ทุกชนิด ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าวิซโคซ ผ้าไนลอนฯลฯ ลวดลายก็มีสารพัด แล้วแต่จะชอบ. ในแรกเริ่มนี้ มักใช้ลวดลายแบบญี่ปุ่นเพื่อประกาศตัวแบบหนึ่ง. แบบญี่ปุ่นนั้น นิยมเป็นผ้าสองหน้าที่มีลวดลายและหรือสีสันต่างกัน เมื่อนำมาพับทำให้เห็นลายต่างกัน. สีนั้นเลือกตามขนบญี่ปุ่น ก็เป็นสีดอกไม้ตามฤดูกาล ลวดลายดอกไม้ตามฤดูกาล หรือลวดลายสัตว์ที่นิยมกัน ก็มีกระต่าย นกกะเรียน หรือเปลือกหอยแบบต่างๆ ทั้งหมดมีความหมายดี เป็นมงคลแก่ชีวิต. แต่ผ้าผืนสีเทาๆออกขาว หรือสีเงินๆ จะนำไปใช้เมื่อเกี่ยวกับงานศพเท่านั้น. คนไทย ก็เลือกใช้ผ้าไทยๆของเราได้ หรือลวดลายใดก็เอาไปทำได้.  
        การที่ฝรั่งเศสหันมารับขนบเดิมของญี่ปุ่นด้วยการเสนอให้ใช้ผ้าห่อของขวัญแทนการใช้กระดาษที่จะถูกฉีกและทิ้งไปทันที เขาก็เน้นว่าเพื่อนำผ้าไปใช้ประโยชน์อื่นๆต่อได้อีกนาน และ(คิดสรุปกันว่า) เป็นการช่วยลดขยะลงไปได้บ้าง. 
มองฝ่าหมอกมลพิษจากโรงงานทอผ้าแล้ว ยังไม่อยากนึกไปถึงฝุ่นผ้าที่คนงานสูดหายใจเข้าไปทุกวัน...
โลกจะมีขยะน้อยลงไหม มลพิษแบบแข็ง เหลวและก๊าซ...มันบ่แน่ดอกนาย!
ดูวิดีโอแนะนำการผูกผ้า Furoshiki แบบง่ายๆ ในคลิปตัวอย่างนี้ >>

ใครสนใจใช้ผ้า Furoshiki ทำเป็นกระเป๋าถือแบบญี่ปุ่น ก็เชิญตามสะดวกนะคะ
สำหรับข้าพเจ้า ยืนยันใช้เป้คู่ชีพต่อไป.    

โชติรส รายงาน
๙ ธันวาคม ๒๕๖๒.

No comments:

Post a Comment