Wednesday, November 20, 2019

The Wave

กระแสคลื่น 
พิพิธภัณฑ์เดียวที่ไปเยือนครั้งนี้ คือพิพิธภัณฑ์ที่อุทิศแก่จิตรกรและช่างแกะสลักภาพพิมพ์ชื่อ Katsushika Hokusai (葛飾 北斎 [ขัดซื้อฉิกะ ฮก(กึ)ไซ], 1760-1849). ฮกไซกั่ง 北斎 หรือพิพิธภัณฑ์ฮกไซ อยู่ที่เมือง Obuse (小布施 [โอบึเสะ]) ในจังหวัดนางาโน.
ด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ฮกไซ
ด้านข้าง
ขวาสุดในภาพ คือภาพเสมือนของฮกไซที่เขาเป็นผู้วาดเอง ตามอุดมการณ์ที่เขาเจาะจงจำกัดความตัวเขาเองว่า “คนแก่ผู้หลงใหลการวาดภาพ”
บนผนังด้านหนึ่งตรงทางเข้าชมนิทรรศการในอาคารพิพิธภัณฑ์ฮกไซ
ในทศวรรษที่ 1780 ฮกไซได้รับเชิญจาก ตะกาอี โกซัง (Takai Kozan 高井鴻山) คหบดีผู้มั่งคั่งของเมือง ให้ไปพักที่เมืองโอบึเสะ. ระหว่างที่อยู่ที่นั่น เขาได้สร้างสรรค์ภาพจำนวนหนึ่ง. พิพิธภัณฑ์ที่นั่น มีผลงานดีเด่น ผลงานดั้งเดิมของฮกไซ รวมไว้เป็นจำนวนไม่น้อย.
ตัวอย่างภาพคลื่นพิเศษสองคลื่นนี้ ที่นำไปแสดง เทียบให้เห็นชัดเจนที่นั่นเท่านั้น
เครดิตภาพจาก hokusaikan.org 
ฮกไซสร้างสรรค์สองภาพนี้เพื่อประดับเพดานของหอสูงที่ใช้ในขบวนแห่ Kanmachi-matsuriyatai (町祭屋台) ของเมืองโอบึเสะโดยเฉพาะ ทั้งเจาะจงภาพคลื่นทั้งสองว่า เป็นภาพคลื่นบุรุษ (ภาพซ้าย เรียกว่า Onami 男浪) และภาพคลื่นสตรี (ภาพขวา เรียกว่า Menami 女浪). ข้าพเจ้ามองเห็นคลื่นคึกคัก ฟองแตกกระจาย พลังแรง พุ่งสูง กับคลื่นม้วนตัว คุกกรุ่น ฮึกเหิม ตะครุบและโอบล้อม. วางคู่กันเช่นนี้ เห็นง่ายขึ้นว่า คลื่นคู่นี้มีนัยชัดเจนของความกลมเกลียว การหมุนเวียนควบคู่กันไป เป็นพลังทวิภาคของชีวิตในจักรภพ. 
ชมภาพอื่นๆในคอเล็กชั่นที่นั่น ที่นำออกเผยแพร่ ตามลิงค์นี้ เวอชั่นญี่ปุ่นมีภาพที่อาจคลิกเปิดดูได้มากกว่าในเวอชั่นภาษาอังกฤษ >> https://hokusai-kan.com/en/
คลื่นของฮกไซ มีความหมายกว้างกว่าที่คิด และเมื่อเดินไปบนถนนในเมืองโอบึเสะ โดยเฉพาะบนเส้นทางสู่พิพิธภัณฑ์ เราอาจเดินเหยียบไปบนแผ่นโลหะแบนราบที่จำหลักลวดลายคลื่นบุรุษประดับบนทางเท้า. 
เลยได้เซลฟีอีกภาพอีกแบบ
เมืองโอบึเสะ ยังได้จัดพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์ความทรงจำแก่ ตะกาอี โกซัง 
ผู้ยกย่องและอุปถัมภ์ฮกไซ(ทางอ้อม)ด้วย.

     ฮกไซเกิดและตายที่เมืองเอโด Edo (คือเมืองโตเกียวในสมัยนี้) เขาชอบวาดเขียนตั้งแต่เด็ก. เมื่ออายุ 14-18 ได้เข้าฝึกเรียนและเป็นลูกมือของช่างแกะสลักไม้. ในปี 1811 เขาได้สร้างภาพพิมพ์การ์ตูนเป็นจำนวนพันๆภาพแล้วจากผลงานไม้แกะสลัก เป็นภาพนักบวช ซามูไร เกอิชา ชาวประมง ชาวนา ฉากชีวิตประจำวันของสามัญชนทั่วไปในบริบทต่างๆ ภาพสรรพสัตว์ พืชผัก และภาพทิวทัศน์ฯลฯ.
     ภาพเหล่านี้ รวมอยู่ในประเภทภาพที่เรียกกันในภาษาญี่ปุ่นว่า อุกีโย-เอะ (浮世絵 Ukiyo-e) ที่หมายถึงภาพพิมพ์ที่ผลิตจากแผ่นไม้แกะสลักเป็นภาพนั้นๆ ที่ทำให้พิมพ์ออกมาได้เป็นจำนวนไม่จำกัด. เป็นศิลปะที่แพร่หลายในญี่ปุ่นยุคเอโด (江戸時代 Edo Jidai, 1608-1867 ยุคของโชกุนตระกูล โตะกืองาวา (徳川). เริ่มต้นเป็นภาพสีเดียว และเริ่มมีสีน้ำเงินเข้ม(ที่เรียกกันว่า Prussian blue) และต่อมาสีอื่นๆแทรกเข้าไป ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 18.
     อุกีโย-เอะ แปลตามอักษรว่า ภาพของโลกที่ล่องลอย (ที่เจาะจงอย่างเป็นทางการในภาษาอังกฤษว่า painting of the floating world). เนื้อหาของภาพเกี่ยวกับชีวิตชาวเมืองที่รวมเกอิชา นักกล้ามซูโม นักแสดงคาบูกิ ฉากเอโรติค ชีวิตสามัญชนแบบอื่นๆ และต่อไปถึงภาพประวัติศาสตร์ ภาพจากนิทาน วรรณกรรมพื้นบ้าน ภาพภูมิประเทศ ภาพพืชพรรณ สรรพสัตว์ เป็นต้น. เนื้อหาจึงครอบจักรวาลมาก จนอาจพูดได้ว่าเป็นบทสรุปของสังคมญี่ปุ่น (และโดยเฉพาะผลงานของฮกไซที่มีจำนวนมากที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแทบทุกมิติของสังคมญี่ปุ่นยุคนั้น). ศิลปะพื้นบ้านแขนงนี้ ประกาศอุดมการณ์(สูงๆ)ไว้ว่า เพื่อตอกย้ำนัยของความฉาบฉวย ความสุขสนุกชั่วแล่น ความไม่ยั่งยืนของชีวิต สู่การไม่ยึดติดกับสิ่งเหล่านี้.
ติดตามรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับภาพอุกีโย-เอะ ได้ในเพจนี้ 

     ผลงานของฮกไซเป็นที่ชื่นชอบของสามัญชนชาวญี่ปุ่นถึงชนชั้นกลาง พวกเขาคงชอบใจที่ได้เห็นส่วนหนึ่งของความเป็นตัวตนของเขา ในสภาพแวดล้อมของเขาเอง ชวนให้เกิดอารมณ์ขันตามจิตรกรไปด้วย. ภาพวาดเหล่านั้นได้ไปประกอบหนังสือ อัลบัมต่างๆ หรือพิมพ์เป็นบัตรอวยพรเป็นต้น. ลูกศิษย์ของฮกไซ เช่น มากิ บ๊กกือเซ็ง (牧墨僊 Maki Bokusen ผู้เป็นศิลปินไม้แกะสลักคนหนึ่ง) เห็นคุณค่าของงานครู จึงรวบรวมทำเป็นหนังสือ จนกลายเป็นคอเล็กชั่น ที่ฮกไซเจาะจงให้เรียกว่า ฮกไซมังกะ ( 漫画 [ฮกไซมังหงะ] Hokusai Manga) ที่หมายความว่า ภาพแบบง่ายๆ วาดไว้เร็วๆ หรือภาพวาดเคร่าๆ.  และได้ทะยอยพิมพ์กันในช่วงปี 1814 เป็นคอเล็กชั่นสิบห้าเล่ม (สามเล่มสุดท้ายพิมพ์ภายหลังเมื่อฮกไซถึงแก่กรรมแล้ว) เพื่อให้เป็นคู่มือการเรียนการฝึกวาดเขียน.
ภาพตัวอย่างจาก ฮกไซมังกะ. ท่าทางของคนในอิริยาบถต่างๆ และท่าคนในน้ำ จับปลา(มือเดียว) ลอยตัวในน้ำเป็นต้น.
       เอกสารญี่ปุ่นมักไม่เอ่ยถึงข้อเท็จจริงว่า ภาพวาดหรือผลงานของฮกไซ ไม่เป็นที่นิยมหรือเป็นที่สนใจของคหบดี ชนชั้นสูงหรือของราชสำนัก ด้วยเห็นว่า เนื้อหาภาพไม่ “ผู้ดี” พอ. ชีวิตจริงของฮกไซจึงไม่รุ่งดังที่ควรเป็น ยากจนไปตลอดชีวิต. ภาพพิมพ์ผลงานของฮกไซ มีให้เห็นมาก เพราะพิมพ์ได้ไม่จำกัดจำนวนจากแผ่นไม้แกะสลักต้นฉบับ. (เล่ากันว่า) มีเกลื่อนขนาดคนเอาไปใช้เป็นกระดาษห่อของ.
       ในทศวรรษที่ 1850 ยุคที่ตะวันตกเดินทางค้าขาย(และสร้างอาณานิคม)ในเอเชียโดยเฉพาะกับจีน ต้องปะทะกับนโยบายปิดเมืองของญี่ปุ่น (鎖国令 Sakoku-rei หรือราชกฤษฎี กาสะโก๊ะกึ ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปี 1636-1885. กฎหมายนี้ใช้บังคับทั้งคนญี่ปุ่นมิให้ออกจากประเทศและชาวต่างชาติเข้าประเทศญี่ปุ่น. ขอบเขตของกฎหมายนี้มีรายละเอียดอีกมากที่ผู้สนใจติดตามต่อไปได้ในเน็ต). ประเทศยุโรปต่างพยายามเข้ามาประชิดญี่ปุ่นด้วยวิธีการต่างๆแต่ก็ไม่สำเร็จ. สหรัฐฯตัดสินใจส่งกองเรือ (ติดปืนใหญ่ 73 กระบอก) ในบัญชาการของนายพลเรือแม็ตธิว เพรี่ (Commodore Matthew C.Perry) มาข่มขวัญญี่ปุ่นอยู่นอกฝั่งทะเลบริเวณอ่าวเอโด (โตเกียว) ในเดือนกรกฎาคมปี 1853. มีการยิงปืนใหญ่ลอยๆเพื่อแสดงแสนยานุภาพของสหรัฐฯและบังคับทางใจ ในที่สุดได้รับอนุญาตให้ขึ้นฝั่งที่ Kurihama (Yokosuka ในปัจจุบัน). นายพลเรือเพรี่ได้ยื่นจดหมายแสดงความต้องการผูกสัมพันธไมตรีทางการค้ากับญี่ปุ่นต่อคณะผู้แทนของโชกุน(徳川 家慶 Tokugawa Iyeyoshi) และบอกว่าจะกลับไปญี่ปุ่นอีกในปีถัดไป.
ภาพพิมพ์ญี่ปุ่น แสดงภาพเสมือนของนายพลแม็ตธิว เพรี่ กับนายทหารอีกสองคน มีข้อความเขียนประกอบไว้ ระบุว่า เป็นคำพูดของนายพลแห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ
       วันที่ 31 เดือนมีนาคมปี 1854 นายพลเพรี่พร้อมกองเรือเจ็ดลำกลับไปญี่ปุ่นอีก. ญี่ปุ่นเรียกกองเรือสหรัฐฯ (และอาจรวมถึงเรือรบสัญชาติยุโรปอื่นๆด้วย) ที่ทอดสมอถมึงทึงนอกฝั่งอ่าวเอโดว่า Kurofune 黒船 [คือโหระ-ฟื้อเหนะ] ที่แปลว่า Black Ships. ในที่สุดมีการเซ็นสนธิสัญญา Treaty of Peace and Amity ที่เมือง Kanagawa และเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่น (ปลายปีเดียวกันนี้ สหราชอาณาจักรก็ทำสนธิสัญญาแบบเดียวกันกับญี่ปุ่น. ชาติยุโรปอื่นๆก็ทำตามในปีต่อๆมา). นโยบายปิดประเทศ ยุติลงอย่างเป็นทางการในปี 1868.
ภาพบันทึกเหตุการณ์ การขึ้นฝั่งประเทศญี่ปุ่นของกองทหารสหรัฐฯ กับนายพลแม็ตธิว เพรี่ ในปี 1854. ภาพพิมพ์ของ E.Brown, Jr. (New York)
สแตมป์ที่ทางการสหรัฐฯทำขึ้นเพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่นายพลแม็ตธิว เพรี่
ภาพพิมพ์ญี่ปุ่น ที่แฝงความกังวลเมื่อเห็นกองเรือรบของสหรัฐฯนอกฝั่งของพวกเขา ที่บอกให้เข้าใจว่า ทำไมพวกเขาจึงเรียกเรือต่างชาติว่า เป็นเรือดำ (ปีศาจร้าย!?)

        ญี่ปุ่นเริ่มนำเข้าสรรพสิ่งจากยุโรปรวมถึงวัฒนธรรมตะวันตก และตามด้วยการสร้างเลียนแบบยุโรป เพื่อยกระดับให้เท่าเทียมชาติมหาอำนาจตะวันตก. ก่อนหน้านั้น ชาวฮอลันดาที่เข้าไปค้าขายกลุ่มแรกในญี่ปุ่น(อยู่ที่เมืองนางาซากิเท่านั้น) เป็นชาวต่างชาติกลุ่มแรกที่เห็นคุณค่าของภาพพิมพ์ญี่ปุ่นและโดยเฉพาะผลงานของฮกไซ. พ่อค้าชาวดัชต์ได้นำติดไปกับสินค้าแพรไหมหรือเครื่องปั้นดินเผาแบบต่างๆจากญี่ปุ่น สู่ฮอลันดาในยุคนั้น. ภาพพิมพ์ญี่ปุ่นที่เข้าสู่ตะวันตก เป็นผลงานรุ่นหลังๆ ส่วนผลงานของฮกไซเอง เพิ่งแพร่หลายในยุโรปหลายปีหลังจากที่เขาถึงแก่กรรมแล้วในปี 1849.
       เหตุการณ์ที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญในการประกาศและยืนยันอัตลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่น คือมหกรรมโลกที่ปารีส (Exposition Universelle, Paris 1867). ปีนั้นญี่ปุ่นไปเปิดตัวและจัดตั้งอาคารญี่ปุ่น (Pavillon du Japon หรือ Le Pavillon Satsuma 薩摩) นำเสนอศิลปวัฒนธรรมสู่สายตาของชาวฝรั่งเศสและชาวโลก. 
อาคารสถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่น เรียกกันว่า Pavillon Satsuma ในมหกรรมโลกปี 1867 ที่กรุงปารีส. (ภาพจาก wikimedia.commons)
       ความโดดเด่นของผลงานของฮกไซเป็นที่ประจักษ์ในหมู่ศิลปินชั้นครูของยุโรป และได้สร้างกระแสคลั่งไคล้ญี่ปุ่น (Japanism ที่วันก๊อกเรียกว่าเป็น Japonaiserie เลียนแบบการสร้างคำจาก chinoiserie ความคลั่งไคล้ในศิลปะจีน)ในยุโรป. ภาพพิมพ์จากไม้แกะสลัก ได้เป็นแรงบันดาลใจสำหรับศิลปินยุโรปยุคนั้น ในหลายแขนงทั้งจิตรกรรมและประติมากรรม. ชาวยุโรปเห็นฮกไซเป็นตัวแทนโดดเด่นที่สุดของญี่ปุ่น.
คลื่นนอกฝั่งเมืองคานากะวา ของฮกไซ (Katsushika Hokusai [Public domain])
ในสภาพการณ์นี้เอง ที่ภาพ คลื่นนอกฝั่งเมือง Kanagawa [ขะน้ากะหว่า] หรือ Kanagawa oki nami ura (神奈川沖浪裏) ที่พิมพ์ออกมาในราวทศวรรษที่ 1820 ได้กลายเป็นไอคอนหนึ่งของญี่ปุ่น.
ติดตามรายงานข่าวของบีบีซีอังกฤษ เกี่ยวกับภาพนี้ได้ที่นี่ 
      ชาวตะวันตกค้นพบจิตรกรรมและศิลปะญี่ปุ่น จากภาพพิมพ์ผลงานของฮกไซเป็นสำคัญ ตามด้วยผลงานที่ดีเด่นไม่แพ้กันของจิตรกรอุกีโย-เอะ คนต่อจากฮกไซ คือ ฮิโรชิเกะ – (Utagawa Hiroshige 歌川 広重,1797-1858).  คลื่นนี้ของฮกไซ กลายเป็นสมญานามระบุตัวจิตรกรว่า  « เขาผู้เนรมิตร คลื่นโถมโลก ».
โถมโลกอย่างไร?  โถมความคิดของชาวยุโรปเกี่ยวกับตะวันออกไกล, เกี่ยวกับภูมิทัศน์, เกี่ยวกับเทคนิคของจิตรกรรมที่ทำกันมาในหมู่ชาวตะวันตก. ผลงานของฮกไซมีส่วนพลิกแนวโน้ม ขยายมิติของจิตรกรรม ยกระดับภาพวาดและภาพพิมพ์ในตะวันตก ฯลฯ  ถึงขนาดพูดว่า หากไม่มีฮกไซ อาจไม่มีศิลปอิมเพรสชันนิสซึม ฯลฯ.  
      ภาพคลื่นยักษ์ของฮกไซ ได้ไปเป็นส่วนหนึ่งในคอเล็กชั่นจิตรกรรมตามหอศิลป์หลายแห่งในตะวันตกและในอเมริกา รวมถึงคอเล็กชั่นส่วนตัวของศิลปินเช่นของโมเนต์(Monet), ของมาเนต์ (Manet), ของเดอกาส์ (Degas), ฯลฯ และมีอิทธิพลต่อกระแสศิลป์ที่พัฒนาขึ้นใหม่ในยุคนั้น (Impressionnism, Art-Nouveau) รวมทั้งเปลี่ยนวิถีการนำเสนอจิตรกรรมของศิลปิน (เช่น Toulouse-Lautrec ที่พลิกมาเสนอภาพแบบโปสเตอร์, Van Gogh ที่ได้สร้างภาพสอดแทรกภาพอุกีโยเอะเข้าไปในพื้นหลัง).  Frank Lloyd Wright สถาปนิกชาวอเมริกันต้นศตววรษที่ 20 ก็เป็นผู้หลงใหลแบบญี่ปุ่นอย่างมากคนหนึ่ง. งานออกแบบสถาปัตยกรรมของเขา ยืนยันอิทธิพลจากการได้สัมผัสสถาปัตยกรรมและขนบธรรมเนียมญี่ปุ่น.  
       หลายคนคงเคยได้เห็นหรือได้ยินภาพพิมพ์จากแผ่นไม้แกะสลักชุด ทิวทัศน์ฟูจิซังสามสิบหกแบบ ที่รู้จักอ้างถึงในภาษาญี่ปุ่นว่า 冨嶽三十六景  หรือ Fugaku Sanjūrokkei  เนรมิตขึ้นในทศวรรษที่ 1820-1830 (กล่าวโดยรวม ปีไม่ตรงกันในหลายข้อมูล). ภาพ คลื่นนอกฝั่งเมือง Kanagawa เป็นหนึ่งในภาพชุดนี้.
      ในยุคหลังๆมาที่ผู้คนรู้จักปรากฏการณ์ของคลื่นยักษ์สึนามิ ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร คลื่นในภาพนี้จึงถูกมองว่าเป็นคลื่นยักษ์สึนามิ (津波 tsunami). ฮกไซ อาจเพียงตั้งใจเสนอภาพคลื่นลูกโตๆ (沖波 okinami) นอกฝั่งเมืองคานากาวาเท่านั้น. มองในมุมเปรียบ อาจสื่อพลังความคิด ความมุ่งมั่นในการวาดภาพของฮกไซเองที่คุกกรุ่นอยู่ภายในใจเขา ก็เป็นได้. ภาพทิวทัศน์สามสิบหกมุมมองของฟูจิซัง ความจริงมีสี่สิบหกภาพ. ติดตามชมภาพทิวทัศน์สามสิบหกมุมมองของฟูจิซังได้ในเพจนี้ (ในหน้า Home) >>  http://www.katsushikahokusai.org/
หรือในยูทู้บที่นี่ >> https://www.youtube.com/watch?v=YutRrrjm9_Q

       แม้ว่าเนื้อหาของหนังสือฮกไซมังกะ(ที่เป็นภาพวาดสรรพสิ่งสรรพชีวิต ไม่มีเนื้อหาเป็นเรื่องราวหรือเรื่องเล่า เป็นคนละแบบกับหนังสือมังกะที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน) การเอาคำ มังกะ (漫画[มังหงะ] manga) มาใช้ ทำให้หลายคนคิดและยึดว่า นั่นเป็นต้นแบบของการวาดภาพมังกะ และมีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์หนังสือภาพวาดเล่าเรื่องด้วยการ์ตูนในยุคต่อมาจนถึงปัจจุบัน ที่กลายเป็นวรรณกรรมมังกะที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของชาวญี่ปุ่นอย่างไม่มีชาติใดเสมอเหมือน.

ทำไมภูเขาฟูจิ?
ตามความเชื่อโบราณในหมู่ชาว(พุทธ)ญี่ปุ่น ว่า ยอดเขา ฟูจิซัง (冨山) เป็นที่เก็บความลับของชีวิตนิรันดร์. ฮกไซเองหวังมีชีวิตยืนนานกว่า 110 ปี ดังปรากฏในบันทึกส่วนตัวแทรกเป็นเชิงอรรถ เป็นบทรำพึงความในใจของฮกไซ ที่เผยให้เห็นจิตสำนึกของจิตรกรที่ติดตามวิเคราะห์ผลงานของเขาเอง มองลึกหยั่งรู้เพื่อจับชีพจรชีวิต และใช้ศิลปะแสดงออกให้ตรงตามที่เขาได้สัมผัสตลอดชีวิต. 
« เมื่ออายุหกขวบ ผมชอบขีดเขียนวาดภาพชีวิต. ผมกลายเป็นศิลปิน และเมื่อผมอายุห้าสิบ ผมเริ่มสร้างสรรค์งานต่างๆที่ทำให้ผมมีชื่อเสียงขึ้นมา แต่ไม่มีอะไรที่ผมทำก่อนอายุเจ็ดสิบ มีค่าควรแก่ความสนใจ. เมื่ออายุหกสิบสาม ผมเริ่มเข้าใจและเห็นลึกถึงโครงสร้างของบรรดานกและสัตว์ แมลงและปลา ผมตระหนักถึงกระบวนการเติบโตของพืชผัก. หากผมพยายามต่อไป ผมคงจะเข้าใจดีขึ้นอีกมากเมื่อผมอายุแปดสิบหก  บนเส้นทางนี้ เมื่อผมอายุเก้าสิบ ผมจะเข้าถึงแก่นแท้ของธรรมชาติ. เมื่อผมอายุร้อยปี ผมคงจะได้เจาะลึกเข้าถึงวิถีแห่งสวรรค์ ในร้อยสามสิบ ร้อยสี่สิบปี หรือนานกว่านั้น  ผมคงจะได้บรรลุถึงศิลปะขั้นสูง เมื่อจุดหนึ่งหรือลายเส้นหนึ่งที่ผมวาดลง จะเป็นสิ่งมีชีวิตชีวาอย่างแท้จริง. ขอฟ้าดินประทานให้ผมมีชีวิตที่ยืนยาว เพื่อให้โอกาสผมพิสูจน์ว่า ผมไม่ใช่คนเพ้อเจ้อ. »
ในคำพูดสุดท้ายก่อนสิ้นใจ « หากฟ้าดินอนุญาตให้ผมมีชีวิตต่อไปอีกสิบปี หรือแม้เพียงห้าปี ผมคงจะได้เป็นจิตรกรจริงๆ »
และคำพูดที่สลักบนหินประดับเหนือหลุมศพของเขา  «โอ! อิสรภาพ...อิสรภาพอันบรรเจิด เมื่อผมย่ำเท้าเดินไปบนท้องทุ่งในฤดูร้อน เพื่อทิ้งร่างที่รู้เสื่อมรู้มลายของผม ไว้ที่นั่น »

        บันทึกส่วนตัวของฮกไซ นำเราสัมผัสความเรียบง่ายของชายเปล่าเปลือย ของผู้ที่ไม่มีอะไรจะสูญเสียนอกจากร่างของเขาเอง คำปรารภเหมือนจำนนต่อโชคชะตา แต่เปี่ยมด้วยสัจธรรม เป็นลำนำส่องประกายสุกใสของวันคืนในอดีตเอโด...ในยุคที่เมืองเอโดตระการตาไปด้วยความเจริญทางเศรษฐกิจ แม้จะถูกตรึงอยู่ในกรอบเคร่งครัดของนโยบายปิดประเทศ เขาคนเดียวมิได้หยุดใฝ่หาไกลออกไป ในมิติลึกล้ำของความสุนทรีย์  เขาคนเดียวไม่หยุดอยู่ที่ความพอใจหรือความจำนนของเพื่อนร่วมยุค และผลักตัวเองเพื่อบรรลุความจริงแห่งศิลปะด้วยความเพียรพัฒนาผลงานของเขาเอง.
(ภาพจาก WikiArt.org)
ภาพนี้ในปีสุดท้ายของชีวิตเขา (1849) ชวนให้คิดว่า ฮกไซได้พบความลับของชีวิตนิรันดร์แล้ว ในร่างของมังกรในกระแสควันที่เวียนขึ้นสู่ท้องฟ้า เหนือฟูจิซัง. ฟูจิซังที่นิ่ง แข็งแกร่ง บริสุทธิ์ใต้หิมะ ตระหง่านเหนือสรรพสิ่ง เหนือธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพร ตรงข้ามกับมวลควันดำที่กระจายขึ้นสู่ท้องฟ้า มวลควันที่มองดูเหมือนลำตัวมังกร ทั้งยังมีมังกรขนาดเล็กอีกตัวแทรกขึ้นไปในมวลควัน...
ข้าพเจ้าอยากเชื่อว่า ฮกไซได้ตระหนักอย่างถ่องแท้แล้ว ความไม่ยั่งยืนของชีวิตบนโลกคือสมบัตินิรันดร์ที่แท้จริง ส่วนจิตวิญญาณที่ลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า ถูกปลดปล่อยเป็นอิสระในที่สุด หลุดพ้นออกจากฟูจิซังที่เขาวาดและคารวะมาตลอดชีวิต. เงาดำๆ แน่นอน จะคลี่คลายสว่างขึ้นๆในท้องฟ้าในเวลาต่อมา.
        ฮกไซถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 89 ปี ทิ้งภาพวาดลายเส้นจำนวนพันๆภาพ จิตรกรรมและโดยเฉพาะภาพพิมพ์อีกนับไม่ถ้วน. นักวิจารณ์ศิลป์ชาวตะวันตกผู้หนึ่งกล่าวยกย่องว่า คลื่นยอดสูง ที่เป็นคลื่นโถมโลกของฮกไซ  เป็นโดมแห่งศิลปะของมนุษยชาติ...
ข้าพเจ้าอยากเสริมว่า ความถ่อมตน ความซื่อตรง จิตสำนึกที่ละเอียดและครอบคลุมเมื่อพิจารณาความเป็นคนด้วยอารมณ์ขันหรือด้วยความสงบ ทั้งหมดถักร้อยเป็นมาลัย งามและหอมอบอวล จรุงใจมวลประชามาจนทุกวันนี้...

ตัวอย่างผลงานของศิลปินตะวันตก :
ประติมากรรมชื่อ คลื่น ของกามีล โกลเดล (หรือในอีกชื่อว่า Les Baigneuses นัยของสาวๆเล่นน้ำโต้คลื่น)
La Vague by Camille Claudel (1897) เครดิตภาพของพิพิธภัณฑ์โรแด็ง ปารีส (Musée Rodin).

ภาพปกสมุดโน้ตเพลง “La Mer [ลาแมร์] หรือ ทะเลของโกล้ด เดอบุซซี อยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ แผนกดนตรี. (Cover of Claude Debussy's La mer : Bibliothèque Nationale de France, département Musique)
ระบุไว้ในมุมล่างซ้ายลิขสิทธิ์ของ A.Durand & Fils, 1905 ซึ่งเจาะจงการประพันธ์เพลงนี้ว่าเสร็จเรียบร้อยแล้ว.

      ภาพพิมพ์ญี่ปุ่นจากฮกไซ(และจิตรกรคนอื่นๆ) ที่ประดับเต็มกำแพงส่วนหนึ่งที่บ้านส่วนตัวของ Claude Monet ที่ Giverny ในฝรั่งเศส. เขามีภาพพิมพ์ 250 ภาพในครอบครอง ในจำนวนนี้เป็นผลงานของฮกไซ 23 ภาพ. ภรรยาของโมเนต์ยังชอบสวมกิโมโนในบ้าน. สวนบัวที่จีแวร์นีของเขา ทั้งสะพานโค้งและก่อไผ่ สร้างตามแบบญี่ปุ่นที่โมเนต์เห็นจากภาพพิมพ์ญี่ปุ่น. (ref. http://www.bbc.com/culture/story/20150409-the-wave-that-swept-the-world )
จิตรกรโมเนต์ในห้องอาหารที่บ้านเขาเอง ที่จีแวร์นี ประเทศฝรั่งเศส
ดูรายละเอียดเกี่ยวกับโมเนต์กับภาพพิมพ์ญี่ปุ่นต่อได้จากเพจนี้ >> http://www.intermonet.com/japan/estampe.htm
ภาพปัจจุบันของห้องอาหารที่บ้านจีแวร์นีของโมเนต์ที่กลายเป็นพิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมได้. ภาพพิมพ์ญี่ปุ่น ยังคงประดับเต็มผนังห้องอาหาร.
(เครดิตภาพจากเพจ academiedesbeauxarts.fr)

ตัวอย่างภาพของจิตรกรวันก๊อก (Van Gogh) ที่ได้ผนึกภาพพิมพ์ญี่ปุ่น หรือใช้แนวการสร้างภาพเลียนตามศิลปะอุกีโยเอะของญี่ปุ่น ในจิตรกรรมของเขา.
ภาพเสมือนของแปร์ต็องกี (Julien-François Tanguy, 1825-94, เรียกกันในหมู่ศิลปินว่า พ่อต็องกี). แปร์ต็องกี เป็นเจ้าของร้านขายอุปกรณ์วาดเขียนเช่นสี พู่กัน ผืนผ้าใบเป็นต้น เป็นร้านเล็กๆในเขตมงต์ม้าตร์ (Montmartre). เป็นผู้ที่ศิลปินยุคนั้นรักใคร่นับถือ เขาคงใจดีและเอื้อเฟื้อช่วยเหลือศิลปินตกยากทั้งหลาย. บางทียอมให้สีให้อุปกรณ์แก่ศิลปินไปฟรีๆ หรือไม่ก็รับภาพที่ศิลปินมอบให้เป็นการแลกเปลี่ยน. วันก๊อกเสนอภาพของแปร์ต็องกีที่เขารักเคารพ นั่งอยู่เบื้องหน้าภาพพิมพ์ญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งที่วันก๊อกและน้องชายได้สะสม มีมากกว่า 660 ภาพ. ภาพนี้เป็นผลงานภาพของวันก๊อกปี 1887.
ภาพซ้าย ผลงานของวันก๊อก สร้างเลียนแบบสะพานในภาพพิมพ์ญี่ปุ่นของฮิโรชิเกะ (歌川 広重 [อุต๊ากะวา ฮิโร้ชิเกะ] Utagawa Hiroshige1797-1858, จิตรกรภาพพิมพ์คนต่อจากฮกไซ ที่ถือกันว่าเป็นจิตรกรผู้ยิ่งใหญ่ในขนบภาพพิมพ์ อุกีโยเอะ คนสุดท้ายของญี่ปุ่น) เป็นหนึ่งในภาพชุด ร้อยทิวทัศน์ของสถานชื่อดังในเอโด. ภาพนี้จิตรกรฮิโรชิเกะ กำกับไว้ว่า ฝนตกฉับพลันยามค่ำ บนสะพานใหญ่ใกล้เมืองโอตาเกะ (ผลงานปี 1857). วันก๊อกให้ชื่อภาพของเขาว่า สะพานในสายฝน” (เสกสรรค์ขึ้นในปี 1887). วันก๊อกเพิ่มกรอบภาพเข้าไป ประดับด้วยตัวอักษรจีนเพื่อให้ดูขลังขึ้น.
ภาพเสมือนฝีมือวันก๊อกเอง เสนอภาพตัวเอง มีผ้าพันแผลปิดที่หูเป็นแถบลงไปเกือบถึงคาง. บนผนังด้านหลังมีส่วนหนึ่งของภาพพิมพ์ญี่ปุ่น ภาพเต็มที่เห็นทางขวา ภาพเกอิชาในภูมิประเทศคุ้นเคยของญี่ปุ่น (ฟูจิซัง เนินเขา แม่น้ำ สะพาน ต้นไม้ ดอกไม้ นกเป็นต้น). ภาพนี้เป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทผู้พิมพ์ Sato Torakiyo มิได้ระบุชื่อศิลปิน อันเป็นแนวโน้มในโลกซื้อขายผลงานศิลปะยุคนั้นในญี่ปุ่น ที่บริษัทผู้พิมพ์ผู้ซื้อภาพจากจิตรกรและกลายเป็นลิขสิทธิ์ของผู้พิมพ์ทันที โดยที่จิตรกรเองจะไม่ได้ประโยชน์อะไรอีกเลย บางทีไม่แม้แต่เห็นชื่อเขาระบุไว้.  
     สีน้ำเงินที่เข้าสู่ญี่ปุ่นและที่ฮกไซใช้การพิมพ์ภาพสี โดยเฉพาะภาพชุดทิวทัศน์ฟูจิซังสามสิบหกแบบของเขา เป็นสีที่เรียกกันว่า Prussian blue (ที่ชาวปรัสเซียนชื่อ Johann Conrad Dippel ค้นพบโดยบังเอิญในปี 1705 กลายเป็นรงควัตถุ (pigment) ที่สองศตวรรษต่อมา เป็นองค์ประกอบของอาวุธเคมีที่ใช้กันในสงครามโลกคั้งที่สอง). สีน้ำเงินเข้มดังกล่าว สร้างกระแสคลั่งสีน้ำเงินขึ้น (Blue fever) ในยุโรปก่อนที่จะเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นและฮกไซนำไปใช้อย่างจริงจัง.
(ข้อมูลละเอียดเกี่ยวกับสีน้ำเงินและเทคนิคการสร้างภาพของฮกไซในเพจนี้ >>

มาถึงจุดนี้ เข้าใจแล้วว่า ภาพคลื่นลูกใหญ่ กระแสคลื่นในทะเลของฮกไซ กับกระแสคลื่นความถี่ในท้องฟ้า ในภาพราตรีประดับดาว หรือ Starry Night ของวันก๊อก (New York’s Museum of Modern Art) ยืนยันจิตสำนึกของทั้งสองจิตรกรตะวันออก-ตะวันตกอย่างชัดเจน ที่ตระหนักถึงพลังที่หมุนวนอยู่ในจักรวาล.
จิตรกรรมของวันก๊อก ปี 1889-1890  ภาพนี้ เนรมิตขึ้นในห้องพักของโรงพยาบาลพักฟื้นของผู้ป่วยโรคจิตที่ Saint-Paul-de-Mausole ที่เมือง Saint-Rémy ภาคใต้ฝรั่งเศส. น่าคิดว่า ทุกคนเชื่อว่า วันก๊อกจิตฟั่นเฟือน จึงวาดภาพท้องฟ้าเป็นมวลวนเวียนแบบนั้น. ในความเป็นจริง คนอื่นๆอาจเข้าไม่ถึงพลังสังหรณ์หรือจินตนาการของจิตรกรมากกว่า.
ติดตามไปดูตัวอย่างอื่นๆเพื่อเข้าใจอิทธิพลของศิลปะภาพพิมพ์อุกีโยเอะในโลกสร้างสรรค์ของวันก๊อก ได้ตามลิงค์นี้ >>

ข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตและผลงานของฮกไซที่ละเอียดน่าสนใจ คือเพจภาษาฝรั่งเศสนี้ เป็นบล็อกของผู้เขียน AndoBushi 暗道武士 เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส ที่ชวนให้สงสัย เพราะสำนวนการเขียน การนำเสนอ ผิดแนวการเขียนของคนญี่ปุ่น และให้รายละเอียดปลีกย่อยที่ข้อมูลญี่ปุ่นไม่เอ่ยถึงนัก (อย่างน้อยที่แปลเป็นภาษาต่างประเทศเช่นภาษาอังกฤษ) ผู้ทำเพจนี้แสดงความสนใจ ความตั้งใจใฝ่รู้และค้นคว้าอย่างเจาะลึกจากบันทึกส่วนตัวของฮกไซและนำมาเผยแพร่เป็นภาษาฝรั่งเศส.


      บทเขียนของข้าพเจ้านี้ สังเคราะห์ขึ้นจากการอ่านบทวิจารณ์จากตะวันตก (ซึ่งก็มีประเภทน้ำกับประเภทเนื้อ). ที่พิพิธภัณฑ์ฮกไซ ไม่เอ่ยอะไรเกี่ยวกับอิทธิพลของฮกไซในหมู่ศิลปินตะวันตก. พิพิธภัณฑ์ญี่ปุ่น มักเป็นที่รวมงาน ให้ข้อมูลวันเวลา สถานที่ ชื่อ(ถ้ามี) เป็น data มากกว่าการอธิบายตีความให้กว้าง หรือแนะแนวการมองเพื่อปูทางคนดู. ไม่ใช่วิสัยหรือเป็นความสันทัดของชาวญี่ปุ่น. ส่วนชาวตะวันตกนั้น เพราะภูมิหลังของวัฒนธรรมของเขา การเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของศิลปิน บวกกับอุปนิสัยรักการบันทึกและการวิเคราะห์ ทั้งหมดรวมกัน เหมือนสีหลายชั้นที่จิตรกรป้ายลงบนผืนผ้าใบ หรือเหมือนการทอสลับเส้นด้ายสร้างคุณภาพและสีของเนื้อผ้า เหมือนการถักลวดลาย ในที่สุดเป็นโลกคู่ขนานของศิลปิน ที่นักวิจารณ์ศิลป์พยายามเจาะเข้าไปในทุกมิติ. สำหรับผู้ไม่มีพื้นฐานความรู้ใดทั้งวัฒนธรรมหรือประวัติชีวิตของศิลปิน จึงเป็นองค์ประกอบของการเรียนรู้ ขั้นเริ่มต้น ที่ดีวิธีหนึ่ง.

       จบรายงานการเยือนพิพิธภัณฑ์ฮกไซที่เมืองโอบึเสะในจังหวัดนางาโน แต่เพียงสั้นๆเท่านี้. ข้าพเจ้ามิได้ตั้งใจนำเสนอแนวศิลปะ วิถีการสร้างสรรค์ศิลปะประเภทอุกีโยเอะของญี่ปุ่น. การเข้าถึงศิลปะ เป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องสัมผัสด้วยตัวเอง จะชอบหรือไม่ ถูกจริตไหม เป็นเรื่องส่วนตัว. เมื่อสนใจ ย่อมติดตามไปหาความรู้คู่ขนานอื่นๆ แผ่เป็นภูมิทัศน์ของสิ่งที่ต้องการเรียน ต้องการรู้ ที่เชื่อมต่อไปได้อีกไม่มีที่สิ้นสุด.
        ข้าพเจ้าออกจะดีใจไม่น้อยที่มีโอกาสเข้าถึงมิติส่วนตัว ความเป็นคนของจิตรกร ฮกไซ ที่เป็นบทเรียนและแง่คิดแก่ข้าพเจ้ามากกว่า.  ความเป็นคนที่มีอะไรพิเศษอย่างไร ที่ทำให้เขาวาดภาพอย่างไม่ลดละตลอดแปดสิบกว่าปีของชีวิต โดยที่ไม่เคยได้ประโยชน์หรือร่ำรวยพอกินพออยู่อย่างสุขสบายจากสิ่งที่เขาทำเลย. ข้าพเจ้าคารวะคนเยี่ยงนี้... และทำให้คำนึงถึงบทบาทของศิลปะในชีวิตส่วนตัวเล็กๆของแต่ละคน.

บันทึกความสนใจของโชติรส
หลังจากไปเยือนพิพิธภัณฑ์ฮกไซเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒.

No comments:

Post a Comment