Wednesday, December 25, 2019

Cherish freedom & share joy

จากบทกวีในวงไวน์ มาเป็นเพลงประจำสัญลักษณ์ของสหภาพยุโรป
      ดนตรีที่นำมาฟังเพื่อฉลองปีใหม่ เป็นบทร้อง (choral) ในช่วงที่สี่ของซิมโฟนีหมายเลข 9 ของ Ludwig van Beethoven (1770-1827) ที่ประพันธ์ขึ้นในปี 1816 ตามคำขอของวงดนตรีลอนดอนฟิลามอนิก (London Philhamonic Society) แต่นำออกแสดงครั้งแรกที่กรุงเวียนนาในเดือนพฤษภาคมปี 1824 เท่านั้น. บทร้องที่แทรกในท่อนสุดท้าย ทำให้ซิมโฟนีหมายเลข 9 ผิดไปจากขนบการประพันธ์ซิมโฟนีที่มีมา และกลายเป็น choral symphony.
คำบรรยายประกอบระบุว่า อังกฤษเป็นผู้ขอให้ Beethoven ประพันธ์ซิมโฟนีหมายเลข 9. เครดิตภาพ : Deutschlandfunk Kultur (imago / A. Temple)
    บทร้องในท่อนนี้ เรียกกันว่า Ode to Joy [โอ๊ด ทู จอย] เป็นกวีนิพนธ์ของ Friedrich von Schiller (1759-1805, กวี, นักปรัชญา, นักประวัติศาสตร์, นักแต่งบทละครฯลฯ) แต่งขึ้นในปี 1785 เมื่อเขามีอายุ 25  แต่งขึ้นในแวดวงของเพื่อนใหม่ผู้ชื่นชมและช่วยเหลือเขาผ่านวิกฤติอารมณ์ของวัยหนุ่มที่เมือง Leipzig บทกวีสรรเสริญมิตรภาพและภราดรภาพ. Beethoven ก็มีจุดยืนที่คล้ายกัน.
รูปปั้นเหมือนของ Schiller หน้าคอนเสิร์ตฮอล กรุงแบร์ลิน
เครดิตภาพ : Wikipedia.
       ตลอดระยะเวลาร้อยกว่าปี ผ่านความคุกกรุ่นทั้งทางวัฒนธรรมการดนตรี สังคมและการเมือง รวมทั้งสงครามโลกสองครั้ง, ซิมโฟนีหมายเลข 9 นี้ เปลี่ยนจากเพลงร้องในกลุ่มมิตรสหายวงไวน์ กลายเป็นเพลงนำร่องระดับชาติ แผ่ออราของอุดมการณ์แห่งความเป็นมนุษย์ ที่ไม่ควรมีอะไรมาแบ่งแยก ไม่ว่าเพศ ผิวพันธุ์หรือชนชั้นอาชีพใด เพราะทุกคนมีความหวังในความสุขเหมือนกัน จึงควรอยู่ด้วยกันได้ในความรัก ความเห็นอกเห็นใจ ความร่วมมือต่อกัน.
        หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อบรรยากาศของอิสรภาพและสันติภาพเริ่มแบ่งบานขึ้นใหม่  วงออเคสตรา The Leipzig Gewandhaus Orchestra นำดนตรีท่อนนี้ของ Beethoven มาแสดงและขับร้องเฉลิมฉลองการขึ้นปีใหม่ปี 1918 ที่เมือง Leipzig กระตุ้นความเบิกบานและความหวังในมนุษยชาติ.  เชื่อกันว่า นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของขนบการนำดนตรีท่อนนี้ มาบรรเลงและร้องประสานเสียงกันอย่างกึกก้องตั้งแต่นั้น เหมือนเป็นการประกาศ « สิทธิของการมีชีวิตในความรัก ความหวังและความสุข ».
         เกือบสามสิบปีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เยอรมนีเสนอให้นำ ดนตรีท่อนที่สี่ของซิมโฟนีหมายเลข 9 (Fourth Movement of Beethoven’s Ninth Symphony) เป็นเพลงสดุดีสหภาพยุโรป. ในปี 1972 สหภาพยุโรป มีมติยอมรับตามข้อเสนอและได้มอบหมายให้ Herbert von Karajan เป็นผู้เอดิตดนตรีท่อนนี้ และให้ตัดบทร้องดั้งเดิมที่ติดมาในซิมโฟนีหมายเลข 9 ของ Beethoven ออก, เก็บภาษาดนตรีล้วนๆ ที่เป็นภาษาสากล ดีกว่าและเหนือกว่าภาษาใดของชาติยุโรปชาติใด.
      ตั้งแต่ปี 1985 บรรดาผู้นำของกลุ่มประเทศในเครือสหภาพยุโรป ได้ลงมติใช้ดนตรีท่อนนี้ เป็นเพลงประจำและเพลงสัญลักษณ์ของสหภาพยุโรป เป็นเออโรปาฮีม-Europahymne. การมีเพลง Europahymne นี้ มิได้ต้องการให้ไปแทนที่เพลงชาติของชาติใด เป็นเพียงการฉลองค่านิยมร่วมกัน ให้เป็นอุดมการณ์ที่รวมความหลากหลาย และสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน (unity in diversity).
Berstein กำลังทุบกำแพงแบร์ลิน ปี 1989. ปีนั้น คนจำนวนมาก ไปเจาะไปแกะหินจากกำแพงแบร์ลิน เอาไปเก็บเป็นที่ระลึก. หลายปีต่อมา มีการขายชิ้นส่วนกำแพงเลย. เครดิตภาพ : https://www.classicalwcrb.org/post/bernstein-beethoven-and-berlin-wall#stream/0
     
พฤศจิกายน ปี 1989 กำแพงเบอร์ลินที่แบ่งเยอรมนีออกเป็นสองส่วนตั้งแต่ปี 1961 ถึงจุดจบ รวมเวลา 29 ปีของสงครามเย็น. (แต่การทำลายกำแพงนั้น ให้หมดเหลือเพียงซากอนุสรณ์นั้นอยู่ในเดือนพฤศจิกายนปี 1991.)  ปีนั้น โรงละคร East Berlin Schauspielhaus ที่ตั้งอยู่ที่ Gendarmenmarkt ในกรุงแบร์ลินตะวันออก (ปัจจุบันเรียกว่า คอนเสิร์ตฮอล Konzerthaus) ได้จัดการแสดงดนตรีเพื่อฉลองการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินในวันที่ 25 ธันวาคม 1989 มี Leonard Bernstein เป็นวาทยากรและผู้บริหารการแสดงทั้งหมด. เขาเจาะจงเสนอซิมโฟนีหมายเลข 9 ทั้งบทของ Beethoven. ในท่อนท้ายที่เป็นบทร้อง Bernstein ได้เปลี่ยนชื่อจาก Ode to Joy เป็น Ode to Freedom.
ภาพการแสดงดนตรีวันคริสต์มาส ปี 1989 (picture-alliance / dpa) เมื่อจบลง ทุกคนยืนปรบมือนานๆๆ (standing ovation) เป็นนาทีสุดตื้นตัน, ปรบมือให้กับ Bernstein ที่ได้ประกาศว่า ตั้งแต่นี้ไป Let freedom sing! ปรบมือต้อนรับเสรีภาพที่เกิดใหม่ ฟื้นคืนสู่เยอรมนี, ปรบมือด้วยความปิติที่กำแพงสงครามเย็นได้พังทลายลง.
การแสดงครั้งนั้น รวมคณะนักร้องประสานเสียงสามคณะจาก Bavarian Radio Chorus หนึ่ง, สมาชิกจากวง Radio Chorus (East Berlin) อีกหนึ่ง และคณะนักร้องเด็กของ Dresden Philharmonie และได้เชิญนักดนตรีจากวงออเคสตร้าของเมือง Dresden, Leningrad, New York, Paris และ London มาร่วมวงด้วย. ยังมีการถ่ายทอดการแสดงออกไปยังยี่สิบประเทศทั่วโลก นอกจากการถ่ายทอดบนจอยักษ์ที่ลานกว้างใหญ่ Gendarmenmarkt นอกคอนเสิร์ตฮอล ที่มีรูปปั้นของ Schiller ตั้งเด่นหน้าคอนเสิร์ตฮอล.
      นับเป็นการแสดงครั้งประวัติศาสตร์ที่จารึกลงในจิตสำนึกของชาวเยอรมันและชาวโลก. เป็นการประกาศอิสรภาพแบบหนึ่ง ซิมโฟนีหมายเลข 9 จึงกลายเป็นอนุสาวรีย์อนุสรณ์ประวัติศาสตร์หน้าสำคัญหน้าหนึ่งของยุโรป. (คลิกดู Ode to Freedom, IV Allegro assai vivace – Bernstein, 25 December 1989)
Gendarmenmarkt ลานกว้างใหญ่ในกรุงแบร์ลิน ประกอบด้วยอาคารสถาปัตยกรรมสำคัญสามแห่ง ตรงกลางคือ คอนเสิร์ตฮอล Konzerthaus ตรงหน้าอาคาร มีรูปปั้นหินอ่อนสีขาวของ Schiller. อาคารด้านซ้ายในภาพ คือโบสถ์เยอรมัน Deutscher Dom ด้านขวาของภาพคือโบสถ์ฝรั่งเศส ที่สร้างเป็นอาคารคู่แฝด. บนพื้นที่จริง อาคารโบสถ์ทั้งสองตั้งเผชิญหน้า สุดสองข้างของพื้นที่ลาน Gendarmenmarkt.

ด้านหน้าของคอนเสิร์ตฮอล กรุงแบร์ลิน พร้อมรูปปั้นหินอ่อนสีขาวของ Schiller.
เครดิตภาพ : My Guide Berlin : classicalwcrb.org

       ต่อมาในปี 1995 สหภาพยุโรปได้ให้ Peter Diem ดัดแปลงเนื้อเพลงเพื่อให้สอดคล้องกับอุดมการณ์ของยุโรป ที่เน้นคุณค่าสูงส่งของอิสรภาพ สันติภาพ ความร่วมมือกันในยุโรป. คำร้องใหม่นี้ แปลเป็นภาษาต่างๆของชาติสมาชิก. โดยปกติแล้ว Europahymne ใช้เป็นเพลงบรรเลง (ไม่ใช้ขับร้อง) ในงานพิธีการและโอกาสต่างๆที่รวมสมาชิกจากทุกประเทศ.

      ในวาระที่ญี่ปุ่นจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิคฤดูหนาวปี 1998 ที่เมืองนางาโน Nagano ญี่ปุ่นได้เลือกใช้บทร้อง Ode to Joy เป็นดนตรีเปิดงานโอลิมปิค การแสดงดนตรีเกิดขึ้นพร้อมกับวงออเคสตร้าของชาติต่างๆ ด้วยกระบวนการถ่ายทอดผ่านดาวเทียมไปทั่วโลก.

      ซิมโฟนีหมายเลข 9 ของ Beethoven นี้ มีประวัติความเป็นมา และการนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ หรือเป็นดนตรีประกอบในเหตุการณ์ หรือบริบททั้งสังคมและการเมืองของเยอรมนี ที่มีผู้ศึกษาวิเคระห์ไว้ ให้มุมมองเกี่ยวกับซิมโฟนีนี้อย่างละเอียด. ติดตามไปอ่านได้ในเพจนี้ ของ Tobias Barth & Lorenz Hoffmann ที่ตั้งชื่อไว้ในทำนองว่า จากเพลงร้องในวงไวน์ สู่เพลงสดุดีสหภาพยุโรป.

      ย้อนหลังไปในปี 1902 ในวาระเฉลิมฉลองการสถาปนาหอศิลป์ Secession ที่กรุงเวียนนา  Richard Wagner ได้นำซิมโฟนีหมายเลข 9 ไปแสดง ยืนยันความสำคัญของ Ode to Joy ทั้งของ Schiller และของ Beethoven ในฐานะตัวแทนของอัจฉริยะยุคใหม่ที่กอบกู้และเชิดชูอุดมการณ์ของความเป็นมนุษย์และของสังคม. จิตรกร Gustav Klimt [กุ้สตั๊ฟ คลิ้มตฺ] (1862-1918) ผู้เป็นประธานสหพันธ์ Secession (กระแสศิลปะเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม) คนแรก, ได้รังสรรค์ Beethoven Frieze ประดับในห้องโถงอาคารหอศิลป์ Secession ในนิทรรศการปี 1902 นั้นด้วย. เขาถ่ายทอดอุดมการณ์ของ Beethoven ตามลีลาการประพันธ์ดนตรีในซิมโฟนีหมายเลข 9 ด้วยจิตรกรรมแถบยาว (frieze)
ผู้สนใจติดตามไปอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับจิตรกรรมของ Gustav Klimt และเรื่องราวการสถาปนาหอศิลป์ Secession ที่กรุงเวียนนาได้ตามลิงค์นี้ >>

เมื่อดนตรีมาอยู่ในหมู่คน ในท้องถนนที่ทุกคนร่วมร้องกัน สนุกด้วยกัน 
เมื่อนั้น ดนตรีร้อยหัวใจและรอยยิ้มของทุกคน 
ตราบใดที่คนร่วมร้องเพลงกันได้ ทุกปัญหาจะมีทางออก
รักกันไว้เถิด เราเกิดร่วมโลกเดียวกัน
โชติรส รายงาน
๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๒.

No comments:

Post a Comment