สำนวน เสรีภาพหรือความตาย La Liberté ou la Mort หรือ Liberty or Death บ่งชัดถึงความมุ่งมั่นไม่ถอย
ถูกนำไปใช้เสมอตั้งแต่ยุคที่ชาวตะวันตกไปตั้งรกรากบนทวีปอเมริกาเหนือ ประกาศตั้งตนเป็นอิสระ
ไม่ยอมขึ้นกับรัฐบาลสหราชอาณาจักร ที่ทำให้เกิดสงครามปฏิวัติอเมริกาขึ้นระหว่าง ปี 1765-1783 (American
Revolution). ฝรั่งเศสได้มอบรูปปั้น Statue of Liberty แก่สหรัฐฯประเทศเกิดใหม่เป็นอนุสรณ์แห่งการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ.
หกปีต่อจากการปฏิวัติอเมริกา เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789
ที่กระเทือนไปทั่วทุกประเทศในยุโรป.
สำนวน “เสรีภาพ หรือ ความตาย” ติดปากชาวฝรั่งเศสเช่นกัน
เป็นสำนวนปลุกระดมเพื่อชาติ และโดยเฉพาะตั้งแต่ คืนวันที่ 10 สิงหาคม 1792 เมื่อฝ่ายผู้ร่างกฎหมาย (สมาชิกสภานิติบัญญัติ)
นำสำนวนมาใช้ในเหตุการณ์ยึดพระราชวังตุยเลอรี สั่งให้สมาชิกทุกคนรวมกันที่นั่นเพื่อ
“กู้ประเทศหรือตายเพื่อประเทศ” และให้ทุกสมาชิกปฏิญาณตนว่า “ข้าพเจ้าขอสาบานว่าจะธำรงไว้ซึ่งเสรีภาพและความเสมอภาค
หรือยอมตายณตำแหน่งประจำการ”. ประกาศนี้ยืนยันความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะระบอบทรราชหรือการยอมตายเพื่อเสรีภาพ
ด้วยการปกป้องการปฏิวัติด้วยชีวิตและเลือดเนื้อของเขา.
ในระหว่างปีแรกๆของสาธารณรัฐฝรั่งเศส คำขวัญ “เสรีภาพหรือความตาย”
ปรากฏเป็นปกหนังสือหรือประทับบนหัวกระดาษ, บนธงชาติของอาสาสมัครผู้ปกป้องประเทศในยามอันตราย.
ฌ็อง บาติ๊ซต์ เรอโญ Jean Baptiste Regnault เป็นจิตรกรชาวปารีสในศตวรรษที่ 18. เขาวาดภาพนี้ในปี 1795 หกปีหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส และถูกนำไปออกแสดงในนิทรรศการ ซาลงเดอปารี Salon de Paris ปี 1795. เป็นที่สนใจอย่างกว้างขวาง, ถือว่าเป็นความสำเร็จงดงาม. มีบุคคลโดดเด่นกลางภาพสามคน. ตรงกลางคือ จิตวิญญาณของฝรั่งเศส (génie / genius) ด้านซ้ายของภาพคือ สัญลักษณ์ของเสรีภาพ และด้านขวาคือ สัญลักษณ์ของความตาย.
เทวดาตรงกลางภาพ คือ จิตวิญญาณของฝรั่งเศส (Génie de la France) ร่างตั้งตรงเหนือส่วนโค้งตอนล่างของภาพ หมายถึงเหนือโลกและเหนือยุโรป. ปีกแผ่ออกกว้างเกือบสุดขอบ. (ภาพดั้งเดิม) ปีกสีออกน้ำเงินและแดงๆ, ลำตัวของเทวดาสีขาวๆ รวมกันคือเอกภาพของฝรั่งเศส (สามสีของธงชาติ). เปลวไฟเหนือหัว คือเปลวชำระล้างจิตวิญญาณให้บริสุทธิ์ และลำแสงแห่งศรัทธา. แขนทั้งสองเหยียดออก เหมือนแขนคันชั่ง. กางออกกว้างเพื่อต้อนรับหรือรับรู้เหตุการณ์และปกป้องอุดมการณ์. แขนขวาสูงกว่าเล็กน้อย ยื่นไปในทิศทางของเสรีภาพ, ส่วนอีกข้างหนึ่งต่ำกว่า ยื่นไปในทิศทางของความตาย. เสรีภาพนั่งอยู่ในตำแหน่งสูงกว่าความตาย. เทวดาคือผู้นำสารแห่งจิตวิญญาณประจำชาติ, เป็นผู้มาประกาศและนำแสงสว่างแก่โลกและแก่ยุโรป.
เสรีภาพ เป็นภาพสตรี
มีริบบิ้นคาดผม(ริบบิ้นนี้มีสามสี น้ำเงินขาวแดง มองไม่เห็นชัดเจนนัก),
เธอเป็นสัญลักษณ์ของการรวมกันเป็นเอกภาพที่มิอาจแบ่งแยกได้. นางยกมือทั้งสองขึ้นสูง.
มือซ้ายชูหมวกผ้าสีแดง ทรงโคน ปลายบนงอลง (เป็นแบบหมวกที่ใช้กันมาแต่โบราณในหมู่ชาวยุโรปตะวันออกหลายชาติ
เรียกว่า phrygian
cap และกลายเป็นหมวกสัญลักษณ์ของเสรีภาพที่ปรากฏในจิตรกรรมฝรั่งเศสเสมอ.
หมวกสีแดง, มองเห็นชัดเจน สื่อความเข้มข้นคุกกรุ่นของวิญญาณแห่งเสรีภาพ).
ส่วนมือขวาชูรูปสามเหลี่ยม(บางทีวาดเหมือนวงเวียนกางขาออก
เป็นเครื่องมือของผู้ก่อสร้าง) สื่อนัยของการก่อร่างสร้างสาธารณรัฐ เช่นเดียวกับสายดิ่ง
ติดตุ้มน้ำหนักเล็กๆ (เครื่องมือเพื่อหาแนวดิ่งตั้งฉากของพื้นที่
plumb line) สัญลักษณ์ของความเสมอภาค.
เหนือหัวของผู้หญิง มีดวงดาวขาวสว่าง เธอจึงเป็นความหวังยิ่งใหญ่ของมวลชน.
เสรีภาพนั่งเหนือบันไดหินมั่นคง. หัวเสากลมๆ ชวนให้นึกถึงคอลัมภ์ในสถาปัตยกรรมกรีก
(กรีซ เป็นบิดาของประชาธิปไตย). ข้างๆบันได เห็นมัดไม้กระบองรอบหอกหรือทวน
มีริบบิ้นสามสีผูกรวมเข้าด้วยกัน หมายถึงการรวมกำลังพร้อมสู้เพื่อเสรีภาพ.
ในที่สุด เสรีภาพหมายถึงระบอบสาธารณรัฐ.
ความตาย คือโครงกระดูก
ห่มด้วยผ้าสีดำ นั่งบนก้อนเมฆ. สองแขนที่เป็นโครงกระดูกมือ
เกี่ยวเคียวด้ามยาวและใหญ่. มีพวงหรีดใบลอเรล สัญลักษณ์ของชัยชนะ,
หมายถึงรางวัลที่ความตายจะมอบให้, เป็นความตายที่มีเกียรติ.
บุคคลทั้งสามในภาพ
มองตรงมาที่คนดูภาพ บอกให้คิดพิจารณา เหมือนให้โอกาสเลือกด้วย. หากเลือกเสรีภาพ
ก็ต้องพร้อมที่จะตายเพื่อเป้าหมายดังกล่าว. เป็นการตายอย่างมีศักดิ์ศรี. ภาพของเรอโญจึงเล่าเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของชนชาติฝรั่งเศส. ที่น่าสนใจคือ ภาพนี้ อยู่ที่หอศิลป์เมืองฮัมบูร์ก ทำไมจึงไปอยู่ที่นั่น.
ตามบันทึกระบุว่าผลงานชิ้นนี้ได้นำออกแสดงในนิทรรศการ
ซาลงปารีส ระหว่างปี 1795-1799 ก่อนถูกย้ายไปประดับที่วังบูร์บง
(Palais Bourbon, Paris)
จนถึงปี
1805.
หลังจากนั้น ไม่มีข้อมูลใดๆเกี่ยวกับภาพนี้อีกเลยตลอดระยะเวลา 13 ปี. ต่อมา จึงไปปรากฏในตลาดศิลปะที่เมืองฮัมบูร์ก
และ Otto Christian
Gaedechens นักสะสมชาวเมืองได้ซื้อไปและเก็บไว้ตลอด
30 ปีต่อมา
ก่อนจะมอบให้เป็นของขวัญแก่เมืองฮัมบูร์กในปี 1846 แล้วจึงย้ายไปที่หอศิลป์ Kunsthalle เมื่อหอศิลป์สร้างเสร็จและเปิดให้เข้าชม.
ภาพนี้เป็นหนึ่งในหกภาพแรกที่นำออกแสดง. ตั้งแต่นั้น
ภาพไม่เคยถูกย้ายออกไปไหนอีกเลย.
น่าคิดว่า ทำไมพิพิธภัณฑ์ฝรั่งเศสแห่งใดแห่งหนึ่ง จึงไม่สนใจเก็บรักษาภาพนี้ไว้ในประเทศฝรั่งเศสเอง. เหตุผลคือ เพราะเป็นภาพจำลองขนาดย่อส่วน. เรอโญได้วาดภาพนี้สองภาพ. ภาพแรกของเขาวาดไว้ในปี 1792 สามปีก่อนภาพนี้ที่ฮัมบูร์ก. ภาพแรกต้นฉบับ เป็นภาพที่มีขนาดใหญ่เป็นสามเท่าของภาพที่อยู่ที่หอศิลป์เมืองฮัมบูร์ก (ที่มีขนาด 60 x 49 ซม.) จิตรกรเรอโญได้มอบภาพแรกของเขาแก่พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในต่างจังหวัดในปี 1872. หลังจากนั้น ภาพหายสาบสูญไป, มีผู้พบเศษชิ้นส่วนของภาพแรก จึงรู้ว่าภาพแรกนี้ถูกทำลายไปในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง. เช่นนี้ภาพจริงภาพแรกจึงไม่มีใครรู้จักและทำให้เชื่อว่า ภาพที่อยู่ที่เมืองฮัมบูร์กเป็นภาพจริงภาพเดียวของจิตรกร. (บทความของ Lucas L. ปรากฏเล่าไว้ในโครงการทัศนมิติฝรั่งเศสในเยอรมนีของมหาวิทยาลัยเมืองฮัมบูร์กปี 2019 อันเป็นปีครบรอบร้อยปีของการสถาปนามหาวิทยาลัย)
คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับภาพ La Liberté guidant le peuple หรือ เสรีภาพนำมวลชน ของ Eugène Delacroix ที่วาดขึ้นเป็นอนุสรณ์ความทรงจำเกี่ยวกับการปฏิวัติวันที่ 28 เดือนกรกฎาคมปี 1830. นักวิจารณ์ศิลป์บอกว่า ภาพนี้ของเดอลาครัวนับเป็นภาพการเมืองภาพแรกในจิตรกรรมสมัยใหม่ จนกลายเป็นภาพสัญลักษณ์ของการปฏิวัติทุกแบบ.
Eugène Delacroix, Public domain, via Wikimedia Commons.(ติดตามรายละเอียดภาพได้ที่ลิงค์นี้)
เนื้อหาของการปฏิวัติปี 1830 นั้น
ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของฉากการต่อสู้ของกลุ่มนักศึกษาและชาวเมืองปารีสในนวนิยายเรื่อง
Les
Misérables ของ Victor Hugo ที่มีการนำไปสร้างเป็นละครเพลง
และภาพยนตร์ที่แพร่หลายไปทั่วโลก.
สำนวน “เสรีภาพหรือความตาย” ถูกนำมาใช้ในรายการชีวิตเกี่ยวกับโมสาร์ท (Secrets d’Histoire de France 2 - Mozart : la liberté ou la mort. Stéphane Bern นักจัดรายการชื่อดังของฝรั่งเศส นำเสนอชีวิต อัจฉริยภาพ การรังสฤษฎ์ดนตรีของโมสาร์ทตั้งแต่เกิดจนตาย, รวมความเห็นของนักดนตรี นักคีตศิลป์ นักดุริยางคศาสตร์คนสำคัญๆในยุโรป, มาเสริมให้เข้าใจเทคนิคการประพันธ์ดนตรี, การเปลี่ยนแปลงในลีลาการประพันธ์โอเปร่าที่ต่างจากยุคสมัยนั้น, ความสามารถในการพลิกแพลงดนตรี ที่ยืนยันอัจฉริยภาพของโมสาร์ทที่ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน. เป็นรายการที่น่าสนใจมาก. มีภาพประกอบจากจารึกประวัติศาสตร์ตามพระราชวังต่างๆที่โมสาร์ทเคยไปแสดงต่อหน้ากษัตริย์และราชสำนักต่างๆในยุโรป รวมทั้งราชสำนักที่ Schönbrunn กรุงเวียนนาในออสเตรีย หรือที่พระราชวังแวร์ซายส์ในฝรั่งเศส, ยังรวมฉากจากภาพยนต์เรื่อง Amadeus ของ Miloš Forman ที่ออกสู่จอใหญ่ในโลกเมื่อวันที่ 19 กันยายน 1984 (ภาพยนต์ Amadeus ได้รางวัลตุ๊กตาทองภาพยนต์ยอดเยี่ยม-Academy Award, 1984).
การใช้สำนวน เสรีภาพหรือความตาย กำกับเนื้อหาของรายการ ต้องการเน้นความเป็นโมสาร์ทว่า
เขาเป็นคนที่พิเศษผิดยุคสมัย ผิดขนบนักดนตรีทั่วไป. คนอย่างโมสาร์ท ไม่ยอมตน, ไม่ยอมสยบเสรีภาพในการรังสรรค์ดนตรีของเขา
เพื่อปรับให้เข้ากับความต้องการของพระราชาคณะเมืองซัลสบูร์ก หรือข้าราชสำนักขี้อิจฉาที่กรุงเวียนนา (สมัยจักรพรรดิ Joseph
II). เพราะความไม่ยอมโอนอ่อนผ่อนตามผู้ใด
โมสาร์ทถอนตัวออกจากวงการของชนชั้นสูง, ไปเป็นนักดนตรีอิสระ, ไม่มีงานหรือตำแหน่งประจำที่ใด
ซึ่งคือไม่มีรายได้ประจำ. ต้องตกระกำลำบาก ต้องขอยืมเงินจากเพื่อน แต่ได้สร้างสรรค์ดนตรีตามใจรักและสนุกสนานกับสามัญชนชั้นกลาง
นักร้อง นักแสดงคนอื่นๆที่รู้ค่าของเขา. ในแง่นี้ที่สำนวน เสรีภาพหรือความตาย
จึงสอดคล้องกับอุดมการณ์และการอุทิศชีวิตเพื่อดนตรีของโมสาร์ท. ทุกคนลงความเห็นว่า
โมสาร์ทเป็นนักดนตรีแบบฟรีแลนซ์คนแรกของโลก.
เราไม่ลืมเช่นกันว่า
โมสาร์ทเป็นสมาชิกของสมาคม Freemasonry.
เพียงสามปีหลังจากย้ายเข้าไปอยู่ที่กรุงเวียนนาในปี
1784,
ตอนนั้นเขามีอายุ 28 ปี,
โมสาร์ทได้เป็นสมาชิกสมาคมเมโซนิกของเวียนนาที่รวมปัญญาชนชั้นกลาง กับคนเก่งผู้รู้แจ้งกว่าคนอื่นอยู่สองสามคน.
เขาเป็นหนึ่งในสมาชิก 32 คน. เป็นสมาชิกนานเจ็ดปีและได้ขึ้นอยู่ในตำแหน่งของ
มาสเตอร์เมเซิน (Master Mason เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 1785). ระหว่างเจ็ดปี เขาประพันธ์ดนตรีหลายบทแสดงสปิริตภราดลภาพที่เขามีต่อสมาคม.
ทุกวันนี้ ดนตรีของโมสาร์ทยังคงใช้ในพิธีของสมาคมเมโซนิกอยู่อีก.
โอเปร่าเรื่อง ขลุ่ยวิเศษ The Magic Flute เป็นเรื่องสุดท้ายของโมสาร์ท
ที่ประกอบด้วยสัญลักษณ์ พิธีกรรม เนื้อหาและความเชื่อในหมู่สมาชิกสมาคมเมโซนิก. ถือกันว่า
เป็นบทอุปอุปมัยของการรู้แจ้งภายใต้พิธีกรรมเมโซนิก.
เนื้อหาโยงไปถึงการบูชาเทพเจ้าไอซิสตามขนบความเชื่อของอีจิปต์โบราณ และมีนัยซ้อน ซ่อนอยู่ใต้ฉากที่แปลกๆแทบไร้สาระสำหรับผู้ที่ไม่ใช่สมาชิก.
สามัญชนทั่วไป ก็ยังสนุกสนานกับดนตรีและตัวละครที่เป็นพรานนกได้.
ดนตรีในยุคคลาซสิกระหว่างปลายศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 19 สะท้อนกระแสปรัชญาสู่ความรู้แจ้ง(หรือแสงสว่างส่องปัญญา)ในยุโรป, ที่เชื่อในจริยธรรมและเหตุผลที่อาจเอาชนะความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมและร่วมกันสร้างสังคมที่ยุติธรรมมากขึ้น. โมสาร์ทตระหนักเรื่องความไม่เสมอภาคในสังคมอย่างถึงพริกถึงขิง ในเมื่อเขาเองตกระกำลำบากในสังคมสมัยนั้น. ช่วงชีวิตแสนสั้นเพียง 35 ปี โมสาร์ทได้สร้างผลงานทั้งหมด 626 ชิ้น. (ผู้สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่อง ขลุ่ยวิเศษ ของโมสาร์ท ตามไปอ่านได้จากลิงค์นี้).
คำขวัญ เสรีภาพหรือความตาย ในยุคปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 ถูกนำขึ้นมาพิจารณาสังคมฝรั่งเศสในยุคโรคระบาดโควิด19 ดังปรากฏในบทความของ Jean Noviel เมื่อวันที่ 20 เมษายนปี 2020 ในบล็อกนี้.
ผู้เขียนรวมพฤติกรรมต่างๆของคนในสังคม
ที่สืบเนื่องกับความโกลาหน, การประท้วง, การไม่ยอมรับกระบวนการกักบริเวณ,
การปิดโรงเรียน, ร้านค้า, ร้านอาหาร, สถานชุมนุมประเภทต่างๆ
ที่รัฐบาลได้ประกาศใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้วในระยะหนึ่ง, ตามด้วยระยะที่สองบางส่วนของประเทศ
และกำลังจะมีระยะที่สามในเดือนสองเดือนปีนี้อีก, เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อมิได้ลดลง
และการควบคุมการระบาดไม่ได้ผลเพราะประชาชนไม่ร่วมมือนัก. ชีวิตยุคโควิด19 ทำลายเสรีภาพส่วนตัวไปเกือบหมด.
ชาวฝรั่งเศสจำนวนมาก ไม่ยอมแลกผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อสังคมโดยรวม.
ประเด็นที่เป็นพื้นฐานของความขัดแย้ง, ชัดเจนไม่ว่าในสังคมฝรั่งเศสหรือในสังคมชาติใดในโลกปัจจุบัน
คือ ประเด็นเศษรฐกิจเหนือสิ่งอื่นใด.
ธุรกิจต้องมาก่อนเสมอ.
ผู้เขียนได้วิเคราะห์สถานการณ์และจิตวิทยาของชาวฝรั่งเศสอย่างเจาะลึกและกว้างไกล.
โยงไปถึงวิถีการดำรงชีวิต,
การมุ่งทำสถิติรายได้จากธุรกิจและเทคโนโลยีทุกประเภทรวมถึงอุตสาหกรรมยา,
การทำลายป่าเพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม, การขุดเจาะน้ำมัน, การทำเหมือง, ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและการล้มตายของพืชพรรณและสัตว์,
ภาวะโลกร้อน, ความหลากหลายทางชีวภาพถูกทำลาย, พื้นแผ่นดินที่แห้งกรัง,
ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น, ธารน้ำแข็งที่ละลายลงเรื่อยๆ,
เชื้อโรคพันธุ์ใหม่ๆยังจะเกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ ฯลฯ.
ปัญหาสารพัดในโลกปัจจุบัน เป็นผลจากการทำมาหากินที่เอาเปรียบ, ตักตวงแบบขูดรีดธรรมชาติอย่างไม่มีจิตสำนึก. ทั้งหมดนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้เตือนไว้นานมากแล้วว่า ดาวเคราะห์โลกกำลังตายแบบผ่อนส่ง, ไม่นานสรรพชีวิตจะไม่มีที่ยืนปลอดภัยบนโลกนี้. นักวิทยาศาสตร์ได้เสนอทางออกเพื่อแก้ไขสถานการณ์ เช่น ลดการใช้คาร์บอน, ลงทุนในพลังงานเขียว, ลดการเดินทางทางอากาศ, ย้ายโรงงานอุตสาหกรรม, เปลี่ยนเครือข่ายการอุปโภคบริโภค, เพิ่มภาษีคนร่ำรวย, เปลี่ยนกลับไปใช้การเกษตรแบบยั่งยืน, รายการยังมีอีกยาวทีเดียว. แต่คนส่วนใหญ่ ไม่มีปัญญามองการณ์ไกลไปถึงความหายนะที่รออยู่ข้างหน้า. ต่างคอยให้เกิดปัญหาขึ้นก่อนแล้วจึงหาทางแก้ที่ปลายเหตุ. เป็นเช่นนี้แต่ไหนแต่ไรมาในสังคมมนุษย์. คนไม่ตระหนักว่า ชีวิตมนุษย์นั้นสั้นและเปราะบาง, ว่าเสรีภาพที่คนคิดว่ามีนั้น ไม่ว่าเสรีภาพของเอกบุคคลหรือของส่วนรวม เป็นมายา, เป็นสิ่งฟุ่มเฟือย. ส่วนผู้ที่ตระหนักว่า ชีวิตตนนั้นไม่ยั่งยืนนาน, ย่อมไม่เสียเวลาคิดไปไกลเกินความสุขความร่ำรวยส่วนตัวตรงหน้า ที่นี่และเดี๋ยวนี้. เขาพร้อมป้องกันเสรีภาพส่วนตัว และปล่อยให้คนอื่นตาย.
คำขวัญที่ดังในใจคนเห็นแก่ตัวในขณะนี้ คือ « เสรีภาพของกู ความตายของแก ».
โชติรส รายงาน
๒๓ มกราคม ๒๕๖๔.
ผู้สนใจอาจติดตามไปอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับจิตรกรรมของเรอโญได้จากตัวอย่างลิงค์ข้างล่างนี้ >>
*** https://hal.archives-ouvertes.fr/hal-02932801/document
*** https://blogs.mediapart.fr/jean-noviel/blog/230420/la-liberte-ou-la-mort-ou-le-moment-des-choix
*** https://bu.univ-amu.libguides.com/c.php?g=679422&p=4843649
*** https://ethnographiecovid19.blogspot.com/2020/05/on-peut-parfois-penser-quune-crise-ou.html
No comments:
Post a Comment