เมื่อเยอรมนีเข้าปล้นไวน์ในฝรั่งเศส
ศตวรรษที่
20 คุกรุ่นด้วยสงครามโลกสองครั้ง ที่ส่งผลกระทบออกไปทั่วโลก
แต่ละประเทศถูกผลักให้เข้าร่วมสงครามไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง. ต่างต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด
ด้วยความหวังอนุรักษ์และจรรโลงวิถีชีวิตที่พวกเขาเลือก. สำหรับชาวฝรั่งเศส
สงครามกับเยอรมนี คือสงครามเพื่อปกป้องไวน์.
เมื่อเยอรมนียกทัพเข้ารุกรานโปแลนด์ในวันที่
1 กันยายนปี 1939 ที่เป็นชนวนเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง.
อังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมนีในวันที่ 3 กันยายนปี 1939 ตามสนธิสัญญาณว่าจะร่วมมือปกป้องพรมแดนของโปแลนด์. ต้นปี
1940 เยอรมนีแผ่แสนยานุภาพไปยังประเทศฟินแลนด์
เดนมาร์กและนอร์เวย์ แล้วไล่รุกลงสู่กลุ่มประเทศเบเนลักส์ และเข้ายึดกรุงปารีสได้ในเดือนพฤษภาคมปี 1940. วันที่ 22 มิถุนายน 1940 ฝรั่งเศสลงนามในสัญญาสงบศึก เพียงในเวลาไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ครึ่งบนของประเทศฝรั่งเศส
ตกอยู่ใต้การควบคุมของกองทัพไรช Reich เยอรมัน ที่ตั้งศูนย์บัญชาการที่ปารีสและตามเมืองสำคัญๆอื่นๆ.
ฝรั่งเศสไปจัดตั้งรัฐบาลที่เมืองวิชี Vichy ในภาคใต้ โดยมีพันธสัญญาว่ายินดีให้ความร่วมมือกับการปกครองของฝ่ายนาซี.
ตั้งแต่นั้น ภายในฝรั่งเศสเอง คือการต่อสู้ต่อต้านทหารนาซีด้วยวิธีการต่างๆ
เป็นเครือข่ายใต้ดิน. ทั้งนี้เพราะพื้นที่ที่อยู่ในอาณัติของกองทัพไรช
รวมดินแดนถิ่นไวน์ที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศสจำนวนมากเช่น แดนช็องปาญ Champagne, บูร์กอนญ์ Bourgogne, กอญัก Cognac และบอร์โด Bordeaux. ชาวไร่องุ่นและพ่อค้าไวน์ทั้งหลาย คาดเดาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น. ความทรงจำเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่เพิ่งจบลงเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน
ยังหลอกหลอนใจไม่ลืมเลือน.
ปี 1940
นั้น
ประชากรฝรั่งเศสประมาณ 7 ล้านคน
มีอาชีพเกี่ยวกับการปลูกองุ่นและทำไวน์
เป็นเครือข่ายเศรษฐกิจสำคัญยิ่งของฝรั่งเศส. พวกเขารู้สึกเกลียดชังทหารนาซี (และเรียกทหารนาซีว่า
Boche [โบ๊ช] จากคำ caboche ที่แปลว่า
กะหล่ำปลี เน้นภาพหัวกลมๆเกลี้ยงๆของทหาร). ปฎิบัติการของกองทหารนาซีในยุโรปตะวันตก
สร้างความแตกตื่นไปทั่วทั้งฝรั่งเศส. ผลจากสงครามและการยึดครองฝรั่งเศส
ทำให้มีไร่องุ่นเช่นในแดนช็องปาญ, อัลซ้าส, หรือในบูรกอนญ์ ได้รับความเสียหายมาก,
ส่วนไร่องุ่นในแถบอื่นๆของประเทศเช่นแถบอ็องจู Anjou, ตูแรน Touraine, หรือที่บอร์โด ขาดแรงงาน และสถานการณ์เลวร้ายลงไปเรื่อยๆ, โดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ปี
1943 เมื่อกองทหารไรช บังคับให้รัฐบาลวิชี ใช้กฎหมายบังคับใช้แรงงานฝรั่งเศส
(เรียกว่า บัญญัติ STO หรือ Service du travail obligatoire). ชาวฝรั่งเศสมากกว่าเจ็ดหมื่นคนถูกบังคับ
ถูกส่งไปเป็นกรรมกรที่เยอรมนี. ดังนั้นในฝรั่งเศสเอง ผู้หญิง, เด็กและคนแก่ต้องรับงานไร่องุ่นต่อ.
หลายบริษัทลดกิจกรรมลง.
อีกหลายแห่งเลิกกิจการเพราะรังเกียจที่จะมีธุรกรรมใดๆกับทหารนาซี.
ชาวไร่องุ่นจำนวนมาก ตั้งขบวนการใต้ดิน เพื่อปกป้องและต่อต้านการปล้นไวน์.
ในความเป็นจริง เหตุการณ์ซับซ้อนกว่านั้นมาก.
เจ้าของไร่บางแห่งหาทางต่อรองกับฝ่ายนาซี ขอให้ปลดปล่อยชาวไร่และคนงานกลับฝรั่งเศสไปทำงานในไร่องุ่น.
คนอื่นๆคิดว่า ชาวเยอรมันอาจอยู่ในฝรั่งเศสอย่างน้อยสิบปี,
ควรหาประโยชน์จากพวกเยอรมันให้มากที่สุดด้วย แทนการให้ทหารนาซีมาปล้นทุกอย่างไปเฉยๆ
ทำไมไม่ขายให้แทน. หลายบริษัทพร้อมจะร่วมมือกับฝ่ายเยอรมันอย่างเปิดเผย.
ฮิตเลอภาคภูมิใจนักหนา
เมื่อได้มาเหยียบกรุงปารีส
ทหารนาซีเข้ายึดไวน์ในคลังไวน์ตามโรงแรมใหญ่หรูหราของกรุงปารีส
เช่นได้ไวน์ชั้นเลิศที่เก็บรักษาไว้ในคลังใต้ดินของโรงแรมระดับห้าดาว ลูเตเซีย
Hôtel Lutetia ไป 75,000 ขวด. ภัตตาคาร ลาตูร์
ดาร์ฌ็อง La Tour d’Argent หรือภัตตาคารฟูเก้ Fouquet’s Paris ก็เจอชะตากรรมแบบเดียวกัน. (สำนักข่าวกรองของเยอรมนี Abwehr ตั้งศูนย์บัญชาการอยู่ในโรงแรมลูเตเซีย
Hôtel Lutetia ที่ปารีสเลย).
คลังไวน์ของภัตตาคารนามกระเดื่องว่า ลา ตูร์ ดาร์ฌ็อง La Tour d’Argent เครดิตภาพที่นี่.
กรณีของภัตตาคาร
La Tour d’Argent ที่คุยว่ามีไวน์ในครอบครองกว่าหนึ่งแสนขวด
เมื่อทหารนาซีเข้ายึดปารีส พวกเขาไม่มีเวลาซ่อนขวดไวน์ทั้งหมด เลือกขวดไวน์เก็บซ่อนได้เพียงสองหมื่นขวด.
หนึ่งเดือนต่อมา นายพล Hermann Göring ส่งนายทหารผู้แทนไปที่ภัตตาคาร
ขอดูขวดไวน์ปี 1867 ที่เป็นไวน์สุดปลื้มของเจ้าของร้าน.
เจ้าของตอบไปว่า ไม่มีเหลือแล้ว ทหารนาซีเข้าไปคุ้ยทั้งคลังใต้ดินและไม่พบ
เพราะขวดไวน์ปี 1867 นั้น
ถูกย้ายไปซ่อนหลังกำแพงถ้ำ. เมื่อไม่พบ ทหารนาซียึดแปดหมื่นขวดที่เหลือไปแทน.
ที่ปารีส ชาวเยอรมันกระจายไปทั่วเมืองหลวง
ไปนั่งกินนั่งดื่มตามร้านกาแฟ ภัตตาคาร ในคลังไวน์ของร้านมีชื่อ ร้านหรูๆ เช่น
ที่ภัตตาคาร La
Rotonde หรือ La Coupole. ปีนั้น
ไวน์ฝรั่งเศสไหลบริการทหารนาซี เหมือนแม่น้ำแซนที่หลั่งไหลรดแดนองุ่นสองฝั่ง. ทหารเยอรมันเรียกร้องไวน์ที่ดีที่สุด
พวกเขาเลือกเสพไวน์ชั้นดี จากแดนช็องปาญ แดนบอร์โดและแดนบูร์กอนญ์. ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 1940 เมื่อมีการเซ็นสัญญาสงบศึกแล้ว
เจ้าหน้าที่เยอรมันจัดกระบวนการยึดไวน์ครั้งใหญ่ทั่วไปในทุกถิ่น.
ทางการนาซีประกาศให้ฝรั่งเศสเป็นประเทศซัพพลายเออร์ทางเกษตรของกองทัพไรช.
พวกเยอรมันหวังจะลดค่าและศักดิ์ศรีของประเทศฝรั่งเศส
ให้เหลือเพียงผู้จัดหาวัตถุดิบแก่เยอรมนี. เพื่อให้เป้าหมายดังกล่าวเป็นจริง
มีการแต่งตั้งไวน์ฟูเรอ Weinführer ไปประจำทุกเมืองที่ปลูกองุ่นและผลิตไวน์.
ไวน์ฟูเรอเป็นพ่อค้าไวน์ในชุดทหารนาซี,
ส่วนใหญ่เคยเป็นเจ้าหน้าที่หรือพ่อค้าผู้กว้านซื้อวัตถุดิบหรือโภคภัณฑ์ของกองทัพเยอรมันมาก่อน
(เช่น Otto Klaebisch ถูกส่งไปประจำในแดนช็องปาญที่เมืองแร็งซ์ Reims, Adolf Segnitz ประจำในแดนบูร์กอนญ์ และ Heinz Bömers ไปประจำที่แดนบอร์โด). ไวน์ฟูเรอมีหน้าที่วางแผน รวบรวม
จัดระเบียบการนำส่งไวน์ ไปยังศูนย์กลางกองบัญชาการที่เยอรมนี.
การเข้ายึดและปล้นไวน์นั้น เกิดขึ้นในสองสามเดือนแรกหลังจากที่กองทหารนาซีเข้ายึดกรุงปารีส. เฉพาะสองสามสัปดาห์แรก ทหารนาซี ขโมยไวน์จากแดนช็องปาญไปแล้วมากกว่าสองล้านขวด (ยังไม่นับสรรพสิ่งมีค่าทางศิลปะ). ไวน์ฟูเรอ Otto Klaebisch ต้องรีบจัดระบบการบริหารไวน์ฝรั่งเศสอย่างรวดเร็ว เพื่อนำส่งขวดไวน์ชั้นเยี่ยมกลับไปยังหัวหน้าใหญ่ในเยอรมนีไรช. แน่นอน เยอรมนีต้องการมีส่วนในผลิตผลไวน์ฝรั่งเศสทั้งหมด. เขาเรียกร้องให้ฝรั่งเศสจัดส่งไวน์จำนวนสี่แสนขวดต่อสัปดาห์ไปเยอรมนี.
มาตรการดังกล่าว ยังไม่ได้ผลนัก
เพราะกองทหารเยอรมันด้วยกันเองต้องการเก็บกักไวน์ฝรั่งเศสเพื่อตัวเองและเพื่อกรมกองของเขาในฝรั่งเศส.
ปริมาณไวน์จำนวนมากถูกลอบนำไปบริโภคภายในกองทหารนาซีเอง. ทั้ง Hermann
Göring ผู้บัญชาการทหารที่มีอำนาจเต็ม และ Joseph Goebbels รัฐมนตรีว่าการกระทรวงข่าวสารและการโฆษณา(ชวนเชื่อ)
เป็นนักสะสมไวน์. ตัวแทนของกองทหารนาซีแผนกต่างๆ
ได้สั่งซื้อไวน์จากฝรั่งเศสเป็นจำนวนมาก ทุ่มทุนซื้อโดยไม่เกี่ยงราคาแม้แต่น้อย. การซื้อขายในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมปี
1940 รวมกันเป็นมูลค่ามหาศาล
เกินรายได้จากการค้าขายตลอดปีที่เคยมีมา ก่อนสงคราม. ฝ่ายบัญชาการไรชที่ปารีสจึงต้องเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่,
ได้จัดตั้งคณะกรรมการ ให้เป็นผู้มีสิทธิ์ซื้อไวน์จากไร่องุ่นโดยตรงแต่ผู้เดียว.
ในแดนช็องปาญ ศูนย์บัญชาการดังกล่าว ไปตั้งที่เมืองแร็งซ์.
เข้าไปติดตามการทำแชมเปญอย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอนในไร่องุ่นดังๆของถิ่นช็องปาญ. แต่ยังมีเจ้าหน้าที่แผนกอื่นๆในกองทหารเยอรมันเอง
ที่ลักลอบซื้อและเก็บไวน์แข่งกันอย่างลับๆ. เช่นนี้เบื้องหลังหลักการ
กฎควบคุมเคร่งครัดที่มีในตอนนั้น เกิดตลาดมืดคู่ขนานกันไป
ที่ขยายตัวไปได้ด้วยดีจนถึงปี 1944.
ปริมาณไวน์ดีๆคุณภาพเยี่ยม
รวมทั้งเหล้าและแชมเปญ ถูกจัดส่งไปยังเจ้าหน้าที่ชั้นสูง,
นายทหารชั้นสูงและชนชั้นกลางผู้ร่ำรวยในเยอรมนีก่อน
ส่วนที่เหลือจึงส่งต่อไปยังกองทหารและพลเมือง.
ภายในสี่ปีที่เยอรมนีเข้ายึดครองฝรั่งเศส แชมเปญมากกว่า 65 ล้านขวดถูกส่งไปยังเยอรมนี.
ปริมาณไวน์ที่ส่งไปให้ฮิตเลอ ที่บ้านพักที่เป็นป้อมบนเนินสูง (Eagle’s
Nest, Obersalzberg) ก็มากกว่าห้าแสนขวดแล้ว ทั้งๆที่มีข้อมูลระบุว่า ฮิตเลอเองไม่ดื่มไวน์ (ref. Kristin Harmel).
อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้ การซื้อไวน์ของฝ่ายนาซี
เป็นไปอย่างคล่องตัว คือการประกาศลดค่าเงินแฟร็งค์ฝรั่งเศส
ให้หนึ่งมาร์คมีค่าถึงยี่สิบแฟร็งฝรั่งเศส (1
reichmark = 20 francs. ก่อนที่เยอรมนีและฝรั่งเศสจะใช้เงินยูโร หนึ่งมาร์คเยอรมันอยู่ระหว่าง
3-6 แฟร็งค์) เช่นนี้ ทำให้ชาวเยอรมัน มีกำลังซื้อมากเหลือคณาและทหารนาซีที่ประจำอยู่ในฝรั่งเศสทุกคนก็ได้ผลประโยชน์.
ตั้งแต่ปี 1940 พวกพ่อค้าไวน์มืออาชีพแอบกักและซ่อนขวดไวน์
เช่นมีการสร้างถ้ำไวน์ที่พรางตาไว้ตามจุดต่างๆ หรือซ่อนไว้ในบ่อน้ำเก่าที่แห้งสนิทกลบปากบ่อด้วยหญ้าหรือกิ่งไม้.
หลายคนใช้เส้นทางอุโมงค์ที่ทอดยาวใต้พื้นเมืองแร็งซ์
Reims หรือเมืองเอแปร์เน Épernay ที่เป็นเมืองใต้ดินที่แท้จริง เพื่อซ่อนขวดไวน์คุณภาพเลิศที่พวกเขาเก็บบ่มไว้ด้วยความหวงแหน. บางทีก็ไปเก็บหยักไย่จำนวนมากมาปิดอำพรางปากถ้ำ.
บางคนนำรูปปั้นพระแม่มารีฝังเข้าไปในกำแพงพรางตา บอกให้รู้ถ้ำสิ้นสุดลงณจุดนั้น,
อาจแอบหวังว่า พระแม่จะช่วยป้องกันพื้นที่บริเวณนั้นไว้.
แต่บริษัทใหญ่ๆที่มีคลังไวน์ขนาดใหญ่ ก็มิอาจซ่อนทุกอย่างจากสายตาทหารนาซีได้.
อีกด้านหนึ่ง พ่อค้าไวน์ฝรั่งเศส
สู้เต็มตามกำลังและสติปัญญา
เช่นแอบเก็บไวน์ดีๆไว้แล้วส่งไวน์ชั้นเลวหรือผสมไวน์เลวๆบรรจุขวดส่งไปให้.
หลายคนถูกจับเข้าคุกนาซี. เจ้าของภัตตาคารใหญ่ๆที่มีไวน์ชั้นเลิศ
ได้ร่วมมือกับคนทำความสะอาดพรม ให้นำฝุ่นสกปรกๆจากพรมไปส่งให้
เพื่อโปรยหรือคลุกไปบนขวดไวน์อ่อนวัยหรือที่มีคุณภาพไม่ดี เพื่อตบตาทหารนาซี
ว่าเป็นขวดไวน์เก่าอายุมาก.
กลยุทธ์การซ่อนขวดไวน์ ในความเป็นจริง
มิใช่เพื่อพรางตาทหารนาซีเท่านั้น แต่เพื่อเก็งกำไรต่อไปด้วย
เช่นเพื่อปล่อยขายในราคาสูงเมื่อไวน์ขาดตลาดเป็นต้น. ตัวอย่างที่รู้กันดีคือ
ฌ็องรู Jean Roux ชาวไร่องุ่นและพ่อค้าไวน์ที่ Santenay (ถิ่น Côte d’Or)
ผู้ชำนาญกระบวนการแบบนี้. เขาร่วมกินร่วมดื่มกับนายทหารนาซีบ่อยๆ
และไปร่วมงานเลี้ยงงานรื่นเริง ไปร่วมงานดื่มอย่างไม่ลดละ.
ได้รับการคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ของกองทหารนาซี. เขาประกาศว่ามีไวน์ในครอบครองเป็นปริมาณเท่านั้นเท่านี้
ที่เป็นเพียงส่วนน้อย, ในความเป็นจริงเขามีไวน์ซ่อนไว้อีกมาก.
สงครามไม่มีทีท่าจะจบลงง่ายๆ
พ่อค้าไวน์หลายคนเปลี่ยนไปรวมกลุ่มต่อต้านใต้ดิน (เช่นสมาพันธ์ Comité Interprofessionnel du vin de Champagne ในแดนช็องปาญ มี Count Robert-Jean de Vogüé [โวกูเอ้], หัวหน้าผู้นำของบริษัทแชมเปญ โมแอ๊ต เอ
ช็องดง Moët & Chandon) และพยายามทุกทางที่จะกลั่นแกล้งทหารนาซี.
เช่นเติมน้ำมันเชื้อเพลิงลงในถังไวน์, บางรายก็แอบดึงไวน์ดีๆออกจากถังโอ๊ค
แล้วเติมน้ำเข้าไปแทนที่. ถังไวน์ดีๆถูกลักลอบออกจากเขตควบคุมของทหารนาซี
และอุโมงค์ใต้ดินก็ใช้เป็นที่เก็บอาวุธเพื่อการต่อต้าน. กระบวนการเหล่านี้
มีความเสี่ยงสูง บ้างถูกจับขังคุกนาซี บ้างถูกยิงทิ้ง.
ระบบข่าวกรองของกองทัพเยอรมัน (Abwehr) ติดตามไล่ล่ากิจกรรมทุกชนิดที่ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของนายทหารผู้ใด, ทั้งยังเกณฑ์ผู้ค้าไวน์เถื่อนคนสำคัญๆในหมู่ชาวเมืองฝรั่งเศสเอง มาเป็นสายสืบให้. กรณีตัวอย่างของอ็องรี ลาฟง Henri Lafont (ชื่อจริงว่า Henri Chamberlin) รู้จักกันในนามว่าเมอซิเออ อ็องรี Monsieur Henri ผู้เป็นอาชญากรตัวยง เคยถูกจับเข้าคุกหลายครั้ง เพราะการขโมยหรือการโกงแบบต่างๆ. เมื่อฝ่ายข่าวกรองเยอรมันใช้เขาเป็นสายสืบ เขาขอแลกกับการให้ปล่อยผู้สมรู้ร่วมคิดของเขาหลายคน แล้วก่อตั้งเครือข่ายจับตาและตามจับกลุ่มต่อต้านชาวฝรั่งเศส. เขาชวน Pierre Bonny ผู้เคยมีตำแหน่งเป็นพลตำรวจมาก่อน, สองคนรวมกันเป็นคู่หู บอนนี-ลาฟง Bonny-Lafont ที่ทำให้ตลาดมืดของไวน์ ยิ่งขยายออกไปอย่างกว้างขวาง. ทั้งสองมีบัตรเกสตาโป มีอาวุธคู่มือและทำงานให้กับฝ่ายข่าวกรองและกองทหาร SS (Schutzstaffel ที่เคยเป็นทีมทหารคุ้มครองประจำตัวของฮิตเลอ ต่อมาเป็นองค์กรที่มีอิทธิพลสูงสุดและเป็นที่หวาดกลัวที่สุดในหมู่ทหารนาซีของเยอรมนี). ลาฟงชอบสวมเครื่องแบบของทหาร SS เดินอวดตัวไปมา, ทั้งสองได้รับการคุ้มครองจากกองทหารนาซี. ลูกน้องของสองคนนี้ ทำทุกอย่างผิดกฎหมาย ปล้น ยึดของโดยไม่เคยถูกลงโทษใดๆ. ลาฟงรับผิดชอบจัดหาไวน์จากไร่องุ่นต่างๆอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง. ชื่อลาฟงจึงติดกับธุรกิจการซื้อขายไวน์, เหล้า, กอญัก cognac, หรืออาร์มาญัก armagnac.
ยังมีชาวฝรั่งเศสอื่นๆอีก (เช่นกรณี Maurius Clerget) ที่เกี่ยวข้องในการซื้อขายไวน์ ต่างอ้างว่า จะไปทำอะไรพวกเยอรมันได้
เราต้องกอบโกยเอาผลประโยชน์จากพวกเขาให้มากที่สุดแทน, พวกเขาแต่ละคนร่ำรวยขึ้นมาก
และใช้ชีวิตหรูฟู่ เป็นที่โมโหโกรธาของชาวเมือง.
ในหมู่ผู้ขายไวน์ให้แก่เยอรมนี มีบริษัท โมแอ๊ต
เอ ช็องดง Moët & Chandon (เมืองเอแปร์เน Épernay) ที่ได้บริการแชมเปญมากกว่าหนึ่งล้านขวด, บริษัท เวอว์กลิ๊โก Veuve Clicquot ที่เมืองแร็งซ์ Reims ได้ขายแชมเปญไปประมาณ 800 000 ขวด, บริษัทปอมเมอรี
Pommery เมืองแร็งซ์ Reims ขายไป 700 000 ขวด. อุตสาหกรรมไวน์ชั้นเลิศของฝรั่งเศส
ได้กอบโกยผลประโยชน์มหาศาล เอาใจและร่วมมือกับข้าศึก
ด้วยการมองข้ามผลประโยชน์และศักดิ์ศรีของชาติอย่างสิ้นเชิง.
บริษัทที่ร่ำรวยขึ้นมากในยุคนั้น เช่น หลุย โรแดแรร์ Louis Roederer ได้เงินกำไรกว่า 51 ล้านแฟร็งค์, Moët & Chandon กำไรราว 46 ล้านแฟร็งค์.
กล่าวโดยรวม การค้าให้ผลกำไรระหว่าง 20
%-100% เมื่อเทียบกับรายได้ก่อนสงคราม.
ในช่วงสี่ห้าปีที่เยอรมนีเข้ายึดครองฝรั่งเศสนี้
โมนาโคกลายเป็นศูนย์การค้าขายไวน์ที่ดีที่สุด และทำได้อย่างเปิดเผย
เพราะประกาศตนเป็นกลางทางการเมือง, รัฐบาลวิชี (Vichy) ให้การคุ้มครองการค้ากับโมนาโค.
โมนาโคเสียภาษีน้อยมากเมื่อเทียบกับผลกำไรมหาศาล. ระหว่างปี 1941-1943 นักธนาคาร, นักลงทุนอุตสาหกรรมรายใหญ่ๆและพ่อค้าไปรวมกันอยู่ที่โมนาโค, ไปเป็นคนกลางของการซื้อขายไวน์และเหล้าแอลกอฮอล์ทุกชนิด
ก่อนจะขายต่อไปยังมือผู้ซื้อจริงในขั้นสุดท้าย. การเงินสะพัดที่ประมาณ 700 ถึง 1000 ล้านแฟรงค์ในแต่ละปี.
ผลประโยชน์มากมายเช่นนี้ ทำให้เกิดการคอรัปชั่นในทุกระดับแม้ภายในรัฐบาลฝรั่งเศสเองที่วิชีด้วย.
แต่ตลาดธุรกิจแบบนี้ ไม่ช้าถึงจุดล่มสลาย.
ฤดร้อนปี 1944 ฝ่ายพันธมิตรเคลื่อนเข้าสู่ฝรั่งเศส
เพื่อปลดปล่อยปารีสจากทหารนาซี.
เริ่มมีการจับตัวพ่อค้าผู้เคยร่วมมือค้าขายกับฝ่ายทหารนาซี
มาพิพากษาโทษในฐานะทรยศต่อชาติ. กรณีของ Henri
Lafont และ Pierre Bonny ที่เล่ามาข้างต้น ทั้งสองถูกจับและถูกพิพากษาประหารชีวิตเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 1944.
ส่วนคนอื่นๆอีกจำนวนมาก หลุดคดีไปได้หรือถูกปรับถูกจำคุก. มักมีการแอบอ้างว่า
ทำไปเพราะรักชาติ ขายไวน์ให้เยอรมนีเพื่อสาวไส้กลศึกต่างๆ ช่วยกระบวนการต่อต้านนาซีเป็นต้น.
หลังสงคราม บางบริษัทติดสลากบนขวดยืนยัน « ไม่มีไวน์แม้เพียงหยดเดียว ถูกขายให้แก่เยอรมันนาซีระหว่างสงคราม
หรือ บริษัทไม่เคยร่วมงานใดๆกับทหารเยอรมันในระหว่างสงคราม ». (cf. Paul Naudin-Varrault เจ้าของไร่องุ่น ผู้ผลิตและผู้ค้าไวน์บูร์กอนญ์ )
การสั่งซื้อไวน์ของฝ่ายนาซี บางทีเป็นกุญแจสำคัญที่พวกฝรั่งเศสค้นพบและเรียนรู้ตั้งแต่ต้นสงคราม เช่น ฝ่ายเยอรมันสั่งซื้อไวน์จำนวนมากและเจาะจงให้ส่งไปที่ประเทศโรเมเนียในปี 1940 ซึ่งขัดกับข้อเท็จจริงในตอนนั้น เพราะมีกองทหารนาซีที่โรเมเนียเพียงหยิบมือเดียว. ไม่นานต่อมา กองทัพนาซี บุกเข้ารุกรานโรเมเนีย. ในปี 1941 ฝ่ายนาซีสั่งไวน์จำนวนมากพร้อมคำสั่งให้บรรจุหีบห่อเป็นพิเศษ สำหรับ ประเทศที่ร้อนมาก. นี่ได้ให้ข้อมูลว่านายพลรอมเมล (Rommel) เตรียมการบุกอีจิปต์. ข้อมูลนี้ฝ่ายฝรั่งเศสได้ส่งต่อไปยังหน่วยข่าวกรองของสหราชอาณาจักร.
เล่ากันอีกว่า เมื่อฝ่ายพันธมิตรเริ่มมีชัย กองทัพฝรั่งเศสรีบเข้าไปเยอรมนี ไปที่บ้านพักของฮิตเลอ (Berghof หรือที่เรียกกันว่า Eagle’s Nest เมือง Obersalzberg ในเทือกเขาแอล์ป แคว้นบาวาเรีย ใกล้เมือง Berchtesgaden), ฝรั่งเศสต้องรีบไปถึงที่นั่นก่อนกองทัพอเมริกัน เพราะที่นั่น รวมถังไวน์ขวดไวน์จำนวนมากที่ทหารนาซีปล้นและขนไปจากฝรั่งเศส.
ทหารอเมริกันกองทหารราบที่เจ็ด (7th Infantry Regiment, 3rd Infantry Division) กำลังดื่มไวน์จากคลังไวน์ของฮิตเลอที่ Eagle’s Nest (นี่อาจเป็นการดื่มแชมเปญครั้งแรกของทหารกลุ่มนี้ จับขวดแชมเปญเหมือนจับขวดโซดา, ด้อยค่าสิ่งที่ถือในมือ, เล่นกันคนละขวดเลย, คงได้เมาในหน้าที่) เครดิตภาพจากที่นี่.
มีข้อมูลหนึ่งระบุด้วยว่า สิบเอกทหารฝรั่งเศสคนหนึ่งอายุ 23 จากแดนช็องปาญ
เป็นคนแรกที่เบียดตัวแทรกผ่านประตูเกราะเข้าไปในถ้ำไวน์ของฮิตเลอ และตกตะลึงเมื่อ เห็นขวดไวน์คุณภาพเลิศ(ติดอันดับ vintage wine) จำนวนมากมาย
(ห้าแสนขวด) กับลังแชมเปญรุ่น
1928 Salon Champagne อีกหลายร้อยลัง.
ไวน์ที่ตัวเขา(ในวัยสิบแปดสิบเก้า) ได้เห็นกับตาเมื่อทหารนาซีไปปล้นมาจากแดนช็องปาญ.
(ฝรั่งเศสคงไปขนคืนแน่นอน จึงต้องไปให้ถึงที่นั่นก่อนกองทหารอเมริกัน.
เป็นพันธมิตรด้วยกันก็เถอะ ไวน์ใครไวน์เขา ของรักของหวง...)
กล่าวโดยรวม ยุคที่เยอรมันนาซี เข้าควบคุมฝรั่งเศส แม้จะเป็นยุคเศร้า เป็นยุคที่ชาวฝรั่งเศสรังเกียจชนชาติเยอรมันเป็นที่สุด, อีกด้านหนึ่งกลับเป็นยุคทองของพ่อค้าไวน์ฝรั่งเศสจำนวนมาก. ในที่สุด “คนทรยศ” ต่อชาติส่วนน้อยเท่านั้น ที่ถูกประณามและถูกลงโทษ.
ภาพเล่าเรื่อง
เมืองแร็งซ์ที่ถูกทหารนาซีถล่ม เมื่อวันที่ 4 เดือนกันยายนปี 1914
แดนช็องปาญของฝรั่งเศส
เป็นที่ตั้งของบริษัทไวน์ชั้นนำของโลก เช่น Taittinger [เต๊ะแต็งเจ], Veuve Clicquot-Ponsardin [เวอวฺ กลิ๊โก-ปงซารฺแด็ง], Krug [กรุ๊ก], Pommery [ป็อมเมอรี], Ruinart [รุยนารฺ] กับไร่องุ่นขนาดเล็กอีกหลายสิบแห่ง.
ผลผลิตแชมเปญของถิ่นนี้ ที่ทำให้แชมเปญฝรั่งเศส ขึ้นชื่อไปทั่วโลก.
ใต้พื้นเขียวชะอุ่มเป็นล็อนๆของเนินเขาอันอุดมสมบูรณ์ มีโลกลับไร้ที่ใดเสมอเหมือน.
เป็นอุโมงค์ใต้ดินที่ซับซ้อนดั่งเขาวงกต เป็นถ้ำลึกลับ, บางแห่งมีมาแล้วตั้งแต่ศตวรรษที่หนึ่งในยุคโรมัน.
อุโมงค์ใต้ดินเหล่านี้ ขุดเข้าไปในแนวหินชอล์ก เป็นเส้นทาง เป็นถ้ำเป็นห้องๆ (les crayères) และใช้เป็นที่บ่มไวน์แชมเปญในอุณหภูมิที่เย็นคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง. ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
เมืองอุโมงค์ใต้ดินของถิ่นช็องปาญ เป็นที่เก็บไวน์ชั้นเลิศ
และได้กลายเป็นเมืองใต้ดินหนีภัยสงครามสำหรับพลเมือง.
บันไดยาวที่ทอดลงสู่เมืองอุโมงค์ใต้พื้นไร่องุ่นป็อมเมอรี (Pommery) ที่เมืองแร็งซ์ Reims. © Delcampe
ป็อมเมอรีเป็นบริษัทแชมเปญ ที่มีชื่อเสียงโดดเด่นมากแห่งหนึ่งของฝรั่งเศส
ตั้งขึ้นในปี 1857. เจ้าของถึงแก่กรรมในปี 1860, ภรรยา
(Madame Louise Pommery,
1819-1890) จึงรับช่วงทำต่อตั้งแต่นั้น ด้วยความเข้มแข็งและทุ่มเทอย่างแท้จริง.
หลายคนปรามาสว่า ผู้หญิงจะดำเนินกิจการ สรรค์สร้างบริษัทต่อไปได้อย่างไร, แต่เธอทำได้
และสร้างชื่อเสียงแก่การผลิตแชมเปญที่คนอื่นๆต้องคารวะยกย่องและทำตาม. เช่น * เดือนกรกฎาคมปี 1868 เธอได้ซื้อพื้นที่ใต้ดินที่เป็นหินปูนขาวและหินชอล์กกว่า
120 แห่ง
ที่ทอดยาวเหยียดอยู่ใต้พื้นเมืองแร็งซ์
และได้ให้คนงานขุดเป็นเส้นทางเชื่อมต่อเป็นแกลลอรียาวทั้งหมด 18 กิโลเมตร และใช้เป็นคลังเก็บบ่มไวน์ของบริษัท เพราะอุณหภูมิภายในคงที่สม่ำเสมอที่
10 องศาเซนติเกรด
เหมาะกับการบ่มไวน์ที่ดีที่สุด. บริษัทอื่นๆได้ทำตามในเวลาต่อมา.
** บริษัทเธอผลิตแชมเปญรสแห้งสำเร็จเป็นครั้งแรกในโลก.
แชมเปญในยุคนั้นมีรสออกหวานนำ มีปริมาณน้ำตาลสูงถึง 300g ต่อลิตร และถูกลดลงไปเหลือเพียง 12g ต่อลิตร ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบกันทันที. บริษัทของเธอจึงได้รังสรรค์แชมเปญรสแห้ง brut ตั้งชื่อไว้ว่า Pommery Nature 1874 และขายในตลาดไวน์ที่อังกฤษในราคาแพงสูงสุดในประวัติศาสตร์แชมเปญ.
*** เธอยังเป็นผู้ริเริ่มโครงการความรับผิดชอบร่วมกันของเจ้าหน้าที่และคนงานของบริษัท.
เมื่อเธอเริ่มเข้าไปบริหารงานของป็อมเมอรี ผลผลิตของบริษัทอยู่ที่สองหมื่นขวดต่อปี,
45 ปีต่อมา เธอได้สร้างบริษัท
ผลักศักยภาพการผลิตไปถึง สองล้านขวดต่อปี. และที่น่าสรรเสริญคือ
เธอใช้เงินที่ได้ ก่อตั้งระบบเงินทดแทนและสวัสดิการสังคมของคนงานทุกคน,
ได้ก่อตั้งสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าและสนับสนุนโครงการสงเคราะห์แม่เด็ก.
กระบวนความคิดและกิจกรรมของเธอ
จึงเป็นจุดเริ่มต้นของระบบความร่วมมือระหว่างนายจ้างลูกจ้างที่นำความสุขความสำเร็จและการทุ่มเททำงานภายในบริษัท.
Ref.
https://www.linkedin.com/pulse/women-history-champagne-madame-pommery-cynthia-coutu
บันไดลงสู่อุโมงค์ใต้พื้นอีกแห่งหนึ่ง ของบริษัทแชมเปญป็อมเมอรี Pommery ที่เมืองแร็งซ์. © Seb Bakaert / Flickr
แผงตั้งขวดไวน์ต่อๆกันไป ดูไม่สิ้นสุด ภายในอุโมงค์ของบริษัทป็อมเมอรีนี้. สมัยใหม่ ใช้รถไฟเล็กเชื่อมต่อถึงกัน สะดวกและรวดเร็ว. มีทัวร์จัดนำคนลงไปชม. มาดามป็อมเมอรี เป็นคนแรกที่คิดเรื่องไวน์กับการท่องเที่ยว นำชมอุโมงค์ใต้ดินเมืองแห่งแชมเปญ. เป็นที่นิยมกันมากและยังมีต่อมาจนทุกวันนี้. © Delcampe
มุมไวน์ขวดอายุมากๆ ที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี เป็นอนุสรณ์ความสำเร็จ ขวดอายุมากที่สุดคือขวดที่ผลิตในปี 1874 อาจเป็นแชมเปญบรุ๊ต Champagne Brut ขวดแรกๆของโลก. เครดิตภาพที่นี่. © Pommery
เมืองใต้พิภพที่แร็งซ์ Reims, ชาวเมืองจัดเป็นที่พักอาศัยตลอดสี่ห้าปีระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง, หนีจากภัยสงครามที่ระอุคุกรุ่นอยู่เหนือพื้น. นอกจากเป็นที่พักอาศัย ยังมีมุมโรงเรียน, โรงพยาบาล, มุมนอน, มุมพักผ่อน. ดูภาพประกอบต่อไปข้างล่างนี้. เครดิตภาพที่นี่. © Delcampeการเรียนการสอน ยังมีต่อระหว่างสงคราม. ไม่มีอะไรดีไปกว่า การรวมเด็กๆมาเรียนหนังสือ, ไม่ว่ายามใด สถานการณ์บ้านเมืองเป็นเช่นใด. ให้การศึกษา คือสร้างอนาคตของชาติ, คือสร้างพลังความมั่นคงของชาติ. เครดิตภาพจากที่นี่.
แผนกบรรจุแชมเปญลงขวด ที่บริษัทโมแอ๊ต เอ ช็องดง Moët & Chandon เมืองเอแปร์เน Épernay. ภาพในปี 1914 แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ยังมีการเก็บเกี่ยวผลองุ่นเพื่อไปทำไวน์ และนั่นเป็นครั้งสุดท้ายก่อนสิ้นสุดสงคราม. เด็กๆ, พ่อแม่และปู่ย่าตายาย เป็นคนเก็บองุ่น. กว่าจะเก็บเกี่ยวเสร็จหมดทั้งไร่ เด็กเล็กถูกลูกหลงจากการกราดยิงของทหารนาซี ตายไปกว่ายี่สิบคน. © Delcampeชาวไร่องุ่นบนพื้นที่ของบริษัทโมแอ็ต เอ ช็องดง เมืองเอแปร์เน. เครดิตภาพที่นี่.
นายทหารเยอรมันฉลองวันขึ้นปีใหม่ 1940 พร้อมแชมเปญ. เครดิตภาพที่นี่.
ทหารนาซี ขนงานศิลป์ทั้งหลายจากที่ต่างๆในฝรั่งเศสไปเป็นจำนวนมาก.
คนสวมเสื้อสูทคือ โรแบร์ เดอ โวกูเอ้ Robert de Vogüé (1870-1976) ผู้อำนวยการบริษัทแชมเปญ โมแอ็ต เอ ช็องดง Moët et Chandon เมืองเอแปร์เน Épernay, ในหมู่เจ้าหน้าที่คนงานของบริษัท. ชะตาชีวิตต้องไปใกล้ชิดเกี่ยวพันกับไวน์ในระหว่างที่กองทหารนาซีเข้ายึดครองฝรั่งเศส. ร่วมรู้และเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐบาลวิชี ถือว่าเป็นบุคคลยิ่งใหญ่ที่ปกป้องแดนช็องปาญ (ในฐานะผู้ต่อต้านนาซี). ถูกจับไปเข้าค่ายกักกัน ถูกตัดสินประหารชีวิต แต่หลายคนพยายามช่วยไว้ และรอดชีวิตมาได้จนเมื่อสงครามยุติลง. อ่านเรื่องราวของคนนี้ได้ที่นี่. เครดิตภาพที่นี่.
ผู้สนใจติดตามอ่านรายละเอียดได้จากลิงค์ในภาพต่างๆที่ให้ในบทความนี้.
บทนี้สรุปเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเรื่องไวน์ฝรั่งเศสในสมรภูมิ.
ยังมีเรื่องเล่าอีกมากจากชาวไร่องุ่นในยุคนั้น.
หนุ่มสาวรุ่นใหม่ชาวฝรั่งเศส คงไม่ตื่นเต้นนักกับความผูกพันที่บรรพบุรุษเคยมีต่อไวน์ ผลผลิตของแผ่นดินแม่ที่พวกเขาหวงแหนยิ่ง.
โชติรส รายงาน
๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๓.
หนังสือแนะนำ Wine and War: The French, the Nazis and the Battle for France’s Greatest Treasure by Donald and Petie Kladstrup.
The Winemaker’s Wife by Kristin Harmel.
No comments:
Post a Comment