Tuesday, June 9, 2020

The Dancing Salome

ตอนที่ ๖ เริงระบำของซาโลเม่
เรื่องนี้เกี่ยวกับจอห์นบัพติซ (John the Baptist) โดยเฉพาะ ปรากฏเล่าไว้ในคัมภีร์ใหม่เล่มของมาร์ค (Marc 6, 17-29). องค์การศาสนามองว่า จอห์นคนนี้เป็นศาสดาพยากรณ์-prophet คนสุดท้าย. เขาเป็นผู้มากรุยทาง ป่าวประกาศแก่ชาวยิวว่า พระมหาไถ่จะมาจุติ จักเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่. เขาออกสั่งสอนคน เบนคนให้เชื่อในพระเจ้าองค์เดียว ให้ประพฤติตนตามทำนองคลองธรรม เขาทำพิธีล้างบาปให้คนในแม่น้ำจอร์แดน. พระเยซูได้ไปร่วมในพิธีล้างบาปกับคนอื่นๆด้วย.
จิตรกรรมบนแผ่นไม้โอ๊ค สามตอนต่อกัน ดั้งเดิมเพื่อประดับเป็นฉากของแท่นบูชา
ผลงานของ Rogier van der Weyden  ปัจจุบันอยู่ที่หอศิลป์กรุงแบร์ลิน
( Gemäldegalerie )
ฉากสามตอนนี้ สรุปเหตุการณ์สำคัญที่สุดในชีวิตของจอห์นบัพติซ. ฉากแรก(จากซ้ายไปขวา) เมื่อจอห์นเกิด, ฉากที่สอง เมื่อจอห์นทำพิธีล้างบาปแก่เยซู, และฉากที่สาม เมื่อจอห์นถูกตัดหัว. การนำเสนอเหตุการณ์ ภายในสถาปัตยกรรมโครงสร้างของซุ้มประตูทางเข้าโบสถ์กอติคใหญ่ๆ จึงเหมือนว่า เรื่องเกิดขึ้นภายในโบสถ์.
ฉากที่หนึ่ง กาเบรียล อัครเทวทูตมาบอกแก่เซกาเรีย Zechariah พระเฒ่าชาวยิวผู้เป็นคนดีนอบน้อม ว่าเอลิซาเบธภรรยาเฒ่าของเขา จะตั้งครรภ์และคลอดลูกชาย ให้เรียกลูกว่าจอห์น, เขาจักเป็นผู้ที่พระเจ้าเลือกให้มากรุยทาง, เขาจะเทศน์สอน เปลี่ยนคนให้เป็นคนดีคนตรง... เซกาเรียพระเฒ่า ไม่เชื่อ อายุปูนนี้แล้ว ไม่มีลูก. กาเบรียลบอกว่า ต่อนี้ไปเจ้าจะเป็นใบ้ จนกว่าจะได้เห็นความจริงที่จักเกิดขึ้นด้วยตาตัวเอง. เอลิซาเบธตั้งครรภ์ สามเดือนก่อนคลอด(พระแม่)มารีลูกพี่ลูกน้องของเอลิซาเบธไปเยี่ยมเธอ บอกว่ากาเบรียลได้บอกเธอว่า เธอเป็นผู้ที่พระเจ้าเลือกให้อุ้มท้องพระบุตร. (เหตุการณ์การไปเยือนครั้งนั้น เรียกกันว่า Visitation) (Luke 1:12-17) นี่คือเรื่องราวกำเนิดของจอห์นบัพติซ.
ฉากที่สอง จอห์นเติบใหญ่ แรงดลใจจากพระเจ้า ทำให้เขาออกสั่งสอนผู้คน เตือนให้ทำดีมีศีลธรรม ให้เชื่อมั่นในพระเจ้าองค์เดียว. เขาทำพิธีล้างบาปให้ฝูงชนที่แม่น้ำจอร์แดน. พระเยซูก็ไปที่นั่นด้วย เห็นว่าอะไรที่จอห์นทำ ดีแล้ว และให้จอห์นล้างบาปให้ด้วย. พระเจ้ามาปรากฏ(ในมโนทัศน์ของจอห์น) เหนือพระเยซู บอกให้จอห์นรู้ว่า นี่คือบุตรสุดที่รักของพระองค์. (Matthew 17:5). จอห์นรู้ทันทีว่า พระเยซูไม่มีบาปกำเนิด. ในภาพมีทั้งพระบิดาในก้อนเมฆ มีนกเขาสีขาวแทนพระจิต มีคำพูดที่ทอดเชื่อมวนลงมาจากเบื้องบนผ่านพระจิต ลอยอยู่เหนือพระเยซู. เทวทูตองค์หนึ่งคุกเข่าอยู่ข้างๆบนฝั่ง เตรียมผ้า(เสื้อคลุม)ห่มกายให้พระเยซู.
ฉากที่สาม คือฉากเมื่อจอห์นถูกเฮโรด อันตีปัซ (Herod Antipas) สั่งตัดหัว ดังจะเล่ารายละเอียดต่อไปนี้. เป็นเนื้อหาของตอนที่ ๖ นี้.
 
    ยามนั้น ชาวโรมันเข้าปกครองทั่วไปในแดนจูดา. เฮโรด อันตีปัส (Herod Antipas) เป็นข้าหลวงใหญ่ที่กรุงโรมส่งไปประจำที่นั่น(บ้างเรียกเขาว่ากษัตริย์). ผู้คนร่ำลือถึงจอห์นหนาหู เขานึกหวั่นๆในใจเกี่ยวกับคำประกาศและพระเจ้าที่จอห์นพูดถึง ว่าจักเป็นพระมหาไถ่ เป็นกษัตริย์ของชาวโลก. แต่เขารีรอ ไม่ทำอะไรรุนแรง กลัวว่าชาวเมืองผู้ติดตามฟังจอห์น จะประท้วง ลุกฮือ แตกแยกแล้วต่อต้านอำนาจของโรมได้. แต่ช่วงเดียวกันนั้น เฮโรเดียส์ (Herodias) ขอหย่าจากสามีคนแรก Herod II (พี่น้องต่างมารดาของ เฮโรด อันตีปัส Herod Antipas) และมาแต่งงานกับเฮโรดอันตีปัส. ข้าหลวงคนนี้ก็หย่าภรรยาคนแรกเพื่อแต่งงานกับเฮโรเดียส์. จอห์นประณามพฤติกรรมที่ไม่สมควรของทั้งสอง ยิ่งทำให้ทั้งเฮโรดและเฮโรเดียส์ไม่พอใจ จนในที่สุด เฮโรดอันตีปัสสั่งจับจอห์น.
 
จอห์นต่อว่าเฮโรดอันตีปัส และเฮโรเดียส์ ที่หย่าคู่ครองคนแรกแล้วมาแต่งงานกัน.
สองคนบนแท่นสูง หน้าเครียดเพราะถูกบริภาษ. มือของเฮโรดอันตีปัส ยังจับข้อมือของเฮโรเดียส์อยู่ บอกความเป็นเจ้าของ. อีกมือหนึ่งจับบนหัวสิงโตที่เป็นพนักวางมือ บอกความมีอำนาจ. กลุ่มคนคือชาวเมืองคละกัน(ยิวหรือไม่). จอห์นบัพติซในคริสต์ศิลป์ มักมีหนังแกะคลุมกาย สวมเสื้อคลุมแบบเรียบง่าย ที่เน้นให้รู้ว่าใช้ชีวิตเยี่ยงนักบวชพเนจร. ขนหนังแกะเพื่อเจาะจงตัวเองว่า คือลูกแกะของพระเจ้า, แกะเป็นสัตว์ที่ถูกฆ่าสังเวยพระเจ้าเสมอในคัมภีร์เก่า. มือถือไม้ท่อนยาว ในภาพนี้ ตอนบนมีกากบาท มีแถบกระดาษพาดอยู่ ที่หมายถึงคำพยากรณ์. จอห์นบัพติซ เป็นศาสดาพยากรณ์คนสุดท้ายในขนบศานาคริสต์. ภาพนี้ผลงานของ Antoine Ansiaux ปี 1822.  อยู่ที่หอศิลป์ Palais des Beaux-Arts de Lille เมืองลีล ฝรั่งเศส. ภาพสาธารณะ จากวิกีมีเดีย.

เฮโรเดียส์มีลูกสาวหนึ่งคนกับสามีคนแรก ชื่อ ซาโลเม่ Salomé เป็นเด็กสาวชอบระบำรำฟ้อน. ในคืนเลี้ยงฉลองวันเกิดของเฮโรดอันตีปัส ที่รวมแขกคนใหญ่คนโตทั้งเมือง, ซาโลเม่ ได้เริงรำบะเป็นเกียรติแก่พ่อเลี้ยงของเธอ. เธอเต้นรำได้สวยงาม เป็นที่ชื่นชมของทุกคน และเฮโรดพอใจมาก ถึงกับตกปากจะให้รางวัลแก่เธอ ทุกอย่างที่เธอปรารถนา.
ซาโลเม่ ร่ายรำต่อหน้าเฮโรดอันตีปัส ในท้องพระโรง. รายละเอียดมีเพียงพอ ทั้งชัดและเหมือนมองผ่านม่านบางๆ. จิตรกรรมผลงานของกุสตาฟ โมโร (Gustave Moreau)
ปี 1886 อยู่ที่หอศิลป์ Musée d'Orsay กรุงปารีส.
ภาพเพื่อสาธารณะประโยชน์ จากวิกิมีเดีย.
เนื้อหาของการร่ายรำยั่วยวนใจของสตรี เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการอันเป็นเป้าหมายสุดท้าย, จูงใจจิตรกร นักเขียน นักประพันธ์ นักดนตรีและนักสร้างภาพยนต์มากมายเรื่อยมา. เป็นที่นิยมแพร่หลายมากในยุโรป. เช่น Gustave Flaubert นักเขียนฝรั่งเศส ประพันธ์นวนิยายชื่อ Salomé. Oscar Wilde แต่งบทละครชื่อ Salome เดียวกัน. และตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 มีหนังเงียบขาวดำ ตามด้วยภาพยนตร์สมัยใหม่ๆ เรื่องซาโลเม่เดียวกันนี้ อีกจำนวนไม่น้อยเลย นำแสดงโดยดาราคนเด่นคนดังในแต่ละยุค.
ภาพลักษณ์ของสตรีสาวสวย เรือนร่างงดงาม ลีลาอ่อนช้อย บิดตัว ส่ายสะโพกไปมา ในจินตนาการเกี่ยวกับซาโลเม่ ได้ปลูกฝังเป็นแบบฉบับของการร่ายรำของตะวันออกกลาง (และของอินเดีย ไทย เขมร อินโดนีเซียด้วย) ที่พัฒนาลีลาทั้งสวยงามและยั่วยวนใจ มาจนทุกวันนี้.
จิตรกรรมของ Mattia Preti ผลงานระหว่างปี 1656-1661 ชื่อภาพว่า The Feast of Herod อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Toledo Museum. เครดิตภาพจากวิกิมีเดียภาพเพื่อสาธารณะประโยชน์.
ในภาพนี้ เฮโรดอันตีปัส นั่งเป็นประธานอยู่ทางขวา ตรงกลางภาพคือเฮโรเดียส์. ทั้งสองแต่งองค์ทรงเครื่อง หรูหราด้วยอาภรณ์เนื้อดีสีทองเงางาม สมกับตำแหน่งข้าหลวงผู้ครองเมือง. เด็กสาวทางขวาคือ ซาโลเม่ ในวัยของเด็กหญิง ใบหน้าพอใจภูมิใจ มือประคองถาดเงินมีหัวของจอห์นบัพติซ มามอบให้ ตามองไปที่เฮโรด เหมือนพอใจที่ได้รางวัลตามคำขอ. ห้าคนด้านหลังชะโงกมาดูถาดหัวของจอห์นด้วยความสนใจ. จิตรกรไม่ลืมแทรกหิ้งเป็นขั้นบันไดเพื่อวางถาดและเหยือกน้ำเหยือกไวน์แบบต่างๆ, มีผู้คอยจัดความเรียบร้อยอยู่.องค์ประกอบภาพจึงสอดคล้องกับบริบทที่เป็นงานเลี้ยงฉลอง แม้ถาดหนึ่งที่ใช้ มีหัวของจอห์นที่เพิ่งถูกตัดมาก็ตาม. จิตรกรเทียบความรุนแรงน่าพรั่นพรึงของเหตุการณ์ กับความสงบโดยรวมของฉากและคนในฉาก. ภาพนี้ ไม่เน้นประเด็นการร่ายรำ แต่สรุปจบเหตุการณ์.

ซาโลเม่ถามมารดาเป็นการส่วนตัวว่าขออะไรดี. มารดาบอกให้ ขอหัวของจอห์น. ซาโลเม่ จึงพูดขอเฮโรดอันตีปัส ในงานเลี้ยงเลย ว่าขอหัวของจอห์นใส่ถาดมาให้เธอเดี๋ยวนั้น. จอห์นถูกตัดหัว ใส่บนถาด นำมาให้ซาโลเม่ และซาโลเม่ มอบให้มารดา. เป็นอันว่า ทั้งเฮโรดอันตีปัสและโฮโรเดียส์ ได้แก้แค้นจอห์นบัพติซสาสมแก่ใจ โดยไม่มีใครตำหนิได้. 
จิตรกรรมของ Lucas Cranach the Elder ผลงานในราวปี 1530 ภาพนี้อยู่ที่
พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์เมืองบูดาเปชต์ ประเทศฮังการี (Museum of Fine Arts,
Budapest, Hungary) ภาพเพื่อสาธารระประโยชน์ จากวิกิมีเดีย
จิตรกรเสนอใบหน้าเด็กสาวสวยเกลี้ยงเกลา สงบนิ่ง ไม่ตื่นเต้นกับการถือถาดหัวคนตาย, ตามองต่ำลง อาจครุ่นคิดนิดหน่อย แต่แทบจะไร้อารมณ์. เธอสวมอาภรณ์ที่สวยประณีต ประดับตกแต่งอย่างมีรสนิยมตั้งแต่หัว(จรดเท้า). ซาโลเม่ ในมโนทัศน์ของจิตรกร จึงมีความบริสุทธิ์เกือบไร้เดียงสา ทั้งๆที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและจบลง เป็นเรื่องรุนแรง ปั่นป่วน. อาจเพราะเธอเป็นเพียงเครื่องมือของเฮโรเดียส์มารดา เท่ากับเธอไม่มีความรับผิดชอบในเรื่องที่เกิดขึ้น. ภูมิทัศน์นอกหน้าต่าง สงบในบรรยากาศรุ่งสาง ทิวเขายิ่งใหญ่ ปราสาทมั่นคง. วันหนึ่งคืนหนึ่งผ่านไป วันใหม่กำลังเริ่มขึ้น.

จิตรกรรมผลงานของกุสตาฟ โมโร ตั้งชื่อไว้ว่า Apparition (ภาพปรากฏ)
เป็นหนึ่งในคอเล็กชั่นของพิพิธภัณฑ์กุสตาฟ โมโร
(Musée Gustave Moreau, Paris).
ภาพเพื่อสาธารณะประโยชน์ จากวิกิมีเดีย.
ภาพนี้เป็นจินตนาการของจิตรกร ที่ผนวกการร่ายรำของซาโลเม่ กับ มโนทัศน์ของซาโลเม่ ที่เห็นหัวของจอห์นบัพติซ ลอยอยู่ตรงหน้า (เป็นมโนทัศน์นอกบริบทของคัมภีร์). ศตวรรษที่ 19 นั้น กระแสโรแมนติคยังคุกกรุ่น, มีผลงานของจิตรกรชั้นครูคนอื่นๆเป็นตัวอย่างที่ประจักษ์ชัด เช่นของ Eugène Delacroix หรือของ Théodore Chassériau.
ที่ต่างออกไป คือผลงานของ Gustave Moreau ประกอบด้วยรูปลักษณ์บุคคลที่ยั่วยวน แต่เหมือนเคลือบด้วยออร่าของความลึกลับเหลือเชื่อ.  กุสตาฟโมโร เป็นอาจารย์สอนในสถาบันวิจิตรศิลป์ที่ปารีส มีลูกศิษย์เช่น Albert Marquet, Henri Matisse หรือ Georges Rouault เป็นต้น. นักวิจารณ์ศิลป์เช่น André Breton มองว่ากุสตาฟโมโร เป็นผู้กรุยทางคนสำคัญสู่กระแสศิลป์เซอเรียลิซึมในเวลาต่อมา.

เนื้อหาในคัมภีร์เก่าหรือใหม่ นำจินตนาการของศิลปินไปได้หลายทิศทาง. แต่ละคนนำไปต่อยอด สร้างผลงานส่วนตัวตามอุดมการณ์สุนทรีย์ส่วนตัว.

โชติรส รายงาน
๙ มิถุนายน ๒๕๖๓.

No comments:

Post a Comment