ในคัมภีร์เล่มของจอห์น (John
2: 1-11) เล่าไว้ว่า พระเยซู พระแม่มารีและเหล่าสาวก ได้รับเชิญให้ไปร่วมฉลองงานวิวาห์ของคู่บ่าวสาวคู่หนึ่ง
ที่เมืองกานา Cana ในแคว้นกาลีเล (Galilee). ไวน์หมดลง
ไม่พอบริการ พระแม่บอกพระเยซู. พระเยซูไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวเรื่องนี้ บอกว่า ยังไม่ถึงเวลา (ที่พระองค์จะแสดงตัว). พระแม่ขอร้อง
และสั่งให้เจ้าพนักงานทำตามที่พระเยซูบอก. เหยือก(หรือโอ่ง)น้ำหินขนาดใหญ่หกเหยือก
(แบบที่ชาวยิวใส่น้ำในพิธีล้างชำระ), แต่ละเหยือกจุน้ำได้ 20-30 แกลลอน. พระเยซูบอกพนักงานให้วิดน้ำจากบ่อ
เทลงในเหยือกจนเต็มทุกเหยือก. เสร็จแล้ว ให้เทน้ำจากเหยือกนำไปให้หัวหน้าผู้ประกอบพิธี.
เมื่อคนนั้นดื่มน้ำถ้วยนั้น น้ำนั้นกลายเป็นไวน์แล้ว. เขาไม่รู้ว่า
ไวน์นั้นมาจากไหน. เจ้าหน้าที่ผู้ดึงน้ำขึ้นจากบ่อ รู้เท่านั้น. หัวหน้าในพิธี
พูดกับเจ้าบ่าวว่า
“ ปกติ ผู้จัดงานให้ทุกคนที่มาในงาน ดื่มไวน์ชั้นเลิศก่อนจนพอใจ
จนเมื่อพวกเขาดื่มอย่างเพียงพอแล้ว จึงเอาไวน์คุณภาพด้อยกว่ามาบริการแทน,
แต่นี่เจ้าเสิร์ฟไวน์ชั้นดีตั้งแต่ต้นจนเดี๋ยวนี้. ”
วันนั้นเรื่องไวน์นั้น เป็นปาฏิหาริย์ครั้งแรกสุดของพระเยซู.
เหล่าสาวกได้รู้เห็นเหตุการณ์ ต่างยิ่งเชื่อในพระองค์มากขึ้น.
ข้อมูลประกอบภาพจากพิพิธภัณฑ์ Louvre มีใจความสำคัญดังนี้
ข้อมูลประกอบภาพจากพิพิธภัณฑ์ Louvre มีใจความสำคัญดังนี้
จิตรกรเวโรแนซ (Paolo Veronese [ปาโอ๊โล เวโรเนเศะ]) ถูกเรียกตัวไปที่เมืองเวนิสในปี 1553. เขามีผลงานในด้านการประดับตกแต่งอาคารด้วยจิตรกรรม
และพร้อมจะแสดงฝีมือบนพื้นที่ขนาดใหญ่มหึมา เขาชำนาญการจัดฉาก จัดเครื่องแต่งกายหรูหราของยุคใหม่ที่ทอแสงจรัสเงางามในสีสันต่างๆ.
ภาพ งานแต่งงานที่กานา ประดับโรงอาหารที่อันเดรอา ปะลาดีโอ (Andrea
Palladio) เป็นผู้สร้างให้แก่อารามเบเนดิคตินบนเกาะซันจิอ๊อจีโอ
มัดจีโอเร (San Giorgio Maggiore). เหตุการณ์ศักดิ์สิทธิ์ได้ถูกนำมาจัดลงในกรอบหรูหราอลังการตามวิถีชีวิตของเวนิสยุคนั้น
ตามจินตนาการอิสระและอุดมการณ์ของจิตรกร.
พระคริสต์ได้รับเชิญให้ไปงานเลี้ยงแต่งงาน
และที่นั่นพระองค์ได้แสดงปาฏิหาริย์ครั้งแรก. ในตอนท้ายๆของงานเลี้ยง เมื่อไวน์ที่บริการแขกเหรื่อหมดลง
เขาบอกให้เจ้าพนักงานเติมน้ำให้เต็มเหยือกหินขนาดใหญ่ แล้วให้เจ้าพนักงานนำไปบริการเจ้าบ้าน.
เจ้าของบ้านดื่ม น้ำนั้นได้เปลี่ยนเป็นไวน์แล้ว.
เหตุการณ์นี้อัครสาวกจอห์นเป็นผู้เล่า,
เป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่การสถาปนาพิธียูการิสต์ในศาสนาคริสต์ต่อมา.
คู่บ่าวสาวนั่งอยู่หัวโต๊ะ (ด้ายซ้ายของภาพ). ตรงกลางภาพ
กลางโต๊ะ พระเยซูคริสต์นั่งอยู่. เช่นนี้พระเยซูอยู่ในวงล้อมของพระแม่มารี
เหล่าสาวก นักบวช เจ้าชายเจ้าหญิง ชนชั้นสูงชาวเวนิส ชาวตะวันออกกลาง(ที่มีผ้าโพกผม)
หมู่เจ้าหน้าที่บริการจำนวนมาก และชาวเมือง. บางคนสวมเครื่องแต่งกายประจำชนเผ่าตามขนบโบราณ
บางคนโดยเฉพาะสตรี มีเครื่องสวมศีรษะที่ประดับตกแต่งอย่างงดงาม. ในหมู่คนจำนวนมากนี้
มีสุนัขหลายตัว นกแก้ว และแมวท่าทีประสาแมวที่ผ่อนคลายไม่กังวลกับคนจำนวนมากรอบข้างเลย, ส่วนหนึ่งของชีวิตชาวเมือง. หลังระเบียงลูกกรงชั้นบนเป็นกลุ่มผู้บริการและคนมุง,
หลายคนขึ้นไปอยู่ถึงดาดฟ้าอาคาร.
เวโรแนซจัดฉากได้อย่างยอดเยี่ยม. บริบทของงานเลี้ยงทำให้จิตรกรจัดภาพเป็นเวทีเพื่อวางตัวละครของเขาทั้งหมด
130 คน ปนบุคคลในคัมภีร์กับบุคคลแห่งยุค.
บริบทโลกย์กลืนบริบทศาสนาไปเกือบหมด. ถ้วยชาม โถ เหยือก ถ้วยเหล้า เครื่องแก้วคริสตัล
เครื่องเงิน เครื่องทอง ที่วิจิตรงดงาม ล้วนบ่งบอกความอลังการของงานเลี้ยง.
ผู้มาร่วมงานมีที่นั่งเป็นส่วนเป็นสัด ไปรอบๆโต๊ะ, แต่ละคนมีเครื่องใช้ส่วนตัว อันมีผ้าเช็ดปาก
ส้อม และจานแบน(สำหรับวางอาหาร). อะไรบ้างที่เป็นสารจากศาสนา นอกจากตัวตนของพระเยซูกับพระแม่มารีที่ชัดเจนกว่าคนอื่นใด, มองตามขนบสัญลักษณ์ศาสนา
คนตัดเฉือนเนื้อ(แกะย่าง)ที่อยู่บนระเบียงเหนือที่นั่งของพระเยซู
คือประเด็นหนึ่ง ที่อาจโยงไปถึงความทุกข์ทรมานของวันสุดท้ายของพระเยซู.
มุมมองนี้ คนที่รู้จักระบบสัญลักษณ์ศาสนาเท่านั้น จึงเข้าใจ (พระเยซูเปรียบตัวเองว่าเป็นลูกแกะของพระเจ้าเสมอ
ถูกส่งลงมาจุติเพื่อไถ่บาป เป็นแกะที่ถูกฆ่าสังเวยตามขนบยิว). กับไวน์ที่หมายถึงเลือดของพระคริสต์
ที่จักเป็นองค์ประกอบของพิธียูการิสต์ต่อมา.
ในบทอธิบายของพิพิธภัณฑ์เองยังบอกว่า มีความพยายามเจาะจงบุคคลในยุคศตวรรษที่
16 ที่อยู่ในภาพของเวโรแนซ
เช่น เวโรแนซได้แทรกตัวของเขาลงในภาพด้วย, คือคนแต่งชุดขาว
มีผ้าคลุมผืนยาวพาดไหล่ มือถือเครื่องดนตรี นั่งอยู่ข้าง ติซีอาโน (Tiziano/Titian,
ศิลปินเรอแนสซ็องส์ชาวอิตาเลียน
c.1488-1576) และบาซาโน (Basano
จิตรกรอิตาเลียน,
1510-1592) ในหมู่ผู้เล่นดนตรีเบื้องหน้าพระเยซู.
คำอธิบายจากพิพิธภัณฑ์บอกว่า ผู้ประกอบพิธีมีเครายาว อาจเป็น Pietro Aretino (นักประพันธ์ชาวอิตาเลียน, 1492-1556). ในศตวรรษหลังๆมา ทุกคนเห็นคล้อยตามว่า เวโรแนซ
คือคนแต่งชุดขาวในวงนักดนตรีดังกล่าว.
ติซีอาโน, บาซาโน หรือ ปิเยโตรอาเรตีโน
หน้าตาเป็นอย่างไร เราคนยุคนี้ไม่เคยเห็น. อาเรตีโน ตายก่อนที่เวโรแนซจะรังสรรค์ภาพนี้ของเขาด้วยซ้ำ.
ดังนั้นการพยายามเจาะจงด้วยการคาดเดาว่าใครบ้างอยู่ในภาพ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ.
จิตรกรอาจใช้รูปลักษณ์ของใครคนหนึ่งหรือหลายคน สร้างบุคคลิกคนใดคนหนึ่งในภาพได้เสมอ
เพราะนี่ไม่ใช่การถ่ายทอดภาพเหมือนของใคร ไม่ใช่ภาพประวัติศาสตร์ แต่ถ่ายทอดเหตุการณ์ความสับสนวุ่นวายในวิถีโลกย์ของคนเดินดินชาวเวนิสโดยเฉพาะ
ที่ลุ่มหลงอยู่ในความหรูหราฟุ้งเฟ้อ, เทียบกับเหตุการณ์ที่เป็นจุดก้าวกระโดดในชีวิตของพระเยซู.
บริบทของการเทไวน์เสิร์ฟไวน์ในมุมขวาของภาพ ที่จัดไว้ในมุมตรงข้ามกับที่นั่งของคู่บ่าวสาวทางซ้าย.
เด็กผิวดำนำแก้วไวน์ไปยื่นให้เจ้าบ่าว. ปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นที่เจ้าของบ้านรับรู้
แทบไม่มีใครสนใจ. มองดูใบหน้าสงบของพระเยซูและพระแม่มารี ชวนให้รำพึงว่า ที่นี่วุ่นวายหนอ.
พระเยซูในฐานะเพื่อนผู้ปลอบใจในยามทุกข์
มิตรของผู้ยากไร้ สหายผู้เปลี่ยนใจคนบาป, พระองค์ไปอยู่ในที่อย่างนั้น ได้อย่างไร?
คำอธิบายจากพิพิธภัณฑ์ บอกต่อไปว่า ภาพของเวโรแนซ
แบ่งเป็นสองตอน ตอนบนคือท้องฟ้าที่มีเมฆสีขาวๆผ่านไป กับตอนล่าง บนดินที่เต็มไปด้วยกลุ่มคน.
ริ้วของเสาคอลัมภ์ของอาคาร(ชั้นบน)ที่มีหัวบัวแบบคอรินเธียน
เตือนให้ระลึกถึงผลงานสถาปัตยกรรมของ Andrea Palladio ยุคนั้น.
จิตรกรได้เลือกใช้สารสีราคาแพงที่พ่อค้าชาวเวนิสนำเข้าจากตะวันออก เช่น สีเหลืองส้ม
สีแดงสด สีฟ้าสดของอัญมณี(แลพิซแลซิวลิ lapis lazuli)
ที่จิตรกรใช้เป็นจำนวนมากในการเนรมิตท้องฟ้าและเสื้อผ้าอาภรณ์ของแขกเหรื่อ. สีที่เขาเลือกใช้นี้
มีบทบทสำคัญที่เอื้อให้อ่านภาพได้ง่ายและชัดเจน. ความแตกต่างหรือการตัดกันของสี ก็ทำให้แยกแยะบุคคลิกของแต่ละคนได้ดี.
จิตรกรรมของเวโรแนซนี้ ได้ผ่านการบูรณะตลอดเวลาสามปี
ทำให้สีดั้งเดิมที่จิตรกรใช้โดดเด่นและเป็นประกายชัดเจน แต่บางครั้งเปลี่ยนสีของเสื้อคลุม(เช่นของพิธีกร)
ที่ดั้งเดิมเป็นสีแดง กลายเป็นสีเขียวไป.
คณะนักบวชเบเนดิคตินแห่งคอนแวนต์ซันจีอ๊อจีโอ มัดจีโอเร ที่เมืองเวนิส
เป็นผู้สั่งงานศิลป์ชิ้นมหึมานี้ในปี 1562 เพื่อประดับโรงอาหารโรงใหม่ (ที่เป็นผลงานสถาปัตยกรรมของ
Andrea
Palladio). สัญญาการว่าจ้างให้เนรมิตภาพงานแต่งงานที่กานานี้
มีรายละเอียดเจาะจงชัดเจน. คณะนักบวช ยืนยันว่าต้องการภาพขนาดใหญ่ที่สุด
เพื่อประดับปิดตลอดผนังกำแพงด้านในของโรงอาหาร, ติดไว้สูงจากพื้น 2.50 เมตร
ที่อาจสร้างทัศนมิติของพื้นที่ที่ทอดไกลออกไป. เวโรแนซ สนองความต้องการดังกล่าวด้วยการสร้างภาพขนาดพื้นที่
70 ตารางเมตรในเวลา
15 เดือน (อาจมีน้องชาย
Benedetto Caliari เป็นผู้ช่วยด้วย).
งานชิ้นนี้เป็นจุดพลิกผันชีวิตของเวโรแนซ เพราะหลังจากภาพนี้ ชุมชนหรืออารามอื่นๆ ต่างต้องการภาพแบบเดียวกันสำหรับอารามของพวกเขา.
แม้ว่าขนาดภาพจะใหญ่พิเศษเพียงใด
กองทหารของนโปเลียนได้ยึดภาพนี้ และม้วนส่งไปถึงกรุงปารีสทางเรือ ในปี 1797.
ปัจจุบันจึงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Le Louvre.
ภาพนี้ที่เลื่องลือกันมากในยุคนั้น ตรึงความหรูหราของเมืองเวนิส
ที่สะท้อนอำนาจ พลังเงินตราจากการค้าขาย ที่สร้างความรุ่งโรจน์ของอาณาจักรเวนิส
ดั่งหาที่ใดเปรียบมิได้ในยุโรปยุคเดียวกัน. กามสุขถูกยกขึ้นเป็นศิลปะ ศิลปะสนองการกินการดื่มด้วยเครื่องแก้วโปร่งแสงหลากสีสุดวิจิตรจากเมืองมูนาโน
(Murano). เวนิสเป็นแป้นขับเคลื่อนการค้าในแถบเมดิเตอเรเนียน.
ลักษณะหมวก ผ้าโพกผม อาภรณ์แบบอาหรับ กลุ่มคนรับใช้จากอัฟริกา
ล้วนเป็นปัจจัยชี้บอกเครือข่ายอำนาจการเงินของเวนิส. บริบทศาสนาเพียงสะกิดให้ตระหนักว่า
โภคทรัพย์ทั้งหลายบนโลก เกิดขึ้น ตั้งอยู่และวันหนึ่งก็จักดับไปเป็นธรรมดา.
ในหมู่นักบวชตามอาราม ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเสมอมา ว่าการกินดีอยู่ดี
กับความรุ่งเรืองของอารามเมื่อมีลาภสักการะไหลเข้าไปสู่อารามมากขึ้นๆ จบลงด้วยความเสื่อมของสำนักนักบวชเสมอ
แล้วก็นำไปสู่การปฏิรูปคติการครองตนของนักบวชแนวใหม่แนวอื่นต่อไป.
ปล. เราไม่ลืมว่า บทอธิบายภาพจาก(เจ้าหน้าที่)พิพิธภัณฑ์(ที่พิมพ์สีแดงทั้งหมดนั้น)
เขาพรรณนาภาพจากขนาดจริงคือ 70 ตารางเมตร (ซูมภาพดูได้ทุกตารางเมตร)
แต่เรามองเห็นภาพบนจอคอมพิวเตอร์ในขนาดประมาณ 7 x 5 นิ้ว ดังนั้นเราย่อมไม่เห็นรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ
ย่อมไม่เห็นความโปร่งแสงของเครื่องแก้วมูราโนที่เป็นที่กล่าวขวัญไปทั่วทั้งยุโรปในยุคนั้น.
เทคนิคจิตรกรรม(เรื่องแสงสี ความหนาบาง ความเข้มที่ไล่ระดับกันฯลฯ) ไม่ใช่หัวข้อที่จะพูดได้เต็มปากเต็มคำนัก
เพราะภาพตรงหน้าเรา เป็นก็อปปี้ของก็อปปี้ของก็อปปี้กี่รอบมาแล้ว ที่ได้ผ่านซอฟแวร์เวอชั่นตกแต่งรูปแบบอัตโนมัติ(หรือไม่)เวอชั่นต่างๆในยุคปัจจุบันมาแล้ว.
ส่วนตัว ข้าพเจ้าจึงเน้นเนื้อหาที่เป็นฐานของการสร้างภาพ และสนใจวิธีถ่ายทอดเนื้อหาของจิตรกร.
มีผู้วิเคราะห์วิจารณ์จิตรกรรม งานแต่งงานที่กานา ของเวโรแนซไว้หลายคน,
ผู้สนใจหาอ่านต่อไปได้เองในเน็ต.
โชติรส รายงาน
๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๓.
สรุปจบเรื่องเล่าไวน์ๆเจ็ดตอนจากคัมภีร์แต่เพียงเท่านี้.
No comments:
Post a Comment