Sunday, June 7, 2020

Judith Heroic Pattern

5. วีรกรรมแบบจูดิต ประโยชน์สูง ประหยัดสุด
คัมภีร์เก่ารวมหนังสือต่างๆตั้งแต่กำเนิดโลก มนุษย์คนแรก รุ่นแรกๆ สภาพสังคม ศาสดาพยากรณ์ บันทึกเหตุการณ์ในยุคสมัยของกษัตริย์จูดา รวมกันไม่ต่ำกว่า 72-73 เล่ม. อ่านเป็นวรรณกรรมบันเทิง เป็นบ่อจินตนาการที่ไม่มีที่สุด โดยไม่นับถือพระเจ้าเลย ก็ได้แน่นอน. ประเด็นนี้ จึงทำให้คัมภีร์ไบเบิลเป็นวรรณกรรมอมตะของโลกเล่มสำคัญเล่มหนึ่งในตะวันตก. จูดิต เป็นชื่อหนังสือเล่มหนึ่งในเล่ม Deuteronomy (เล่มที่ห้าของคัมภีร์เก่า) ใช้ชื่อของสตรีนามจูดิตเลย. เธอเป็นหนึ่งในสตรีน้อยคนที่มีบทบาทกล่าวถึงอย่างละเอียดเจาะจงในคัมภีร์เก่า.  ในที่นี้ จับแค่ประเด็นที่ดลใจงานจิตรกรรมของศิลปินยุโรป.
    เหตุการณ์เกิดขึ้นในราวศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล. สตรีหม้ายสาวงามนางหนึ่งแห่งเมืองเบตูเลียในอิสราเอล ชื่อ จูดิต Judith (ชื่อแปลว่า หญิงชาวยิว).  จูดิตเป็นหม้ายมาสามปีแล้ว รับมรดกทรัพย์สินของสามี ทำให้เธอคล่องตัวทางการเงิน. เธอเป็นคนสวย แม้จะมีทรัพย์สินเงินทองมาก แต่ใช้ชีวิตสมถะ สวดมนตร์ภาวนาเป็นเนืองนิจ.
       ยามนั้น กองทัพของกษัตริย์อัสซีเรียยกทัพมารุกรานอิสราเอล เมืองเบตูเลียเป็นทางผ่านแคบๆสู่เยรูซาเล็ม. ทหารมาล้อมเมืองเบตูเลียทุกด้านแล้ว 34 วัน. ชาวเมืองหวาดหวั่น เดือดร้อน หิวโหย ขาดน้ำดื่ม และขมขื่น. กรมเมืองรับมือความบีบคั้นไม่ไหว ชาวเมืองทนความลำบากต่อไปไม่ได้ พร้อมจะยอมจำนน ต่างโอดครวญว่า หากพระเจ้าไม่เมตตามาช่วยพวกเขาภายในห้าวัน พวกเขาจักยอมเปิดประตูเมือง จำนนแก่ศัตรู. เมื่อรู้ข่าวเช่นนั้น จูดิตส่งสาวใช้ไปเชิญนายทหารเสนาบดีฝ่ายกรมเมืองให้ไปรวมกันที่บ้านของเธอ.
      เธอประณามเสนาบดีทุกคนว่า คิดเช่นนั้น เป็นการท้าทาย ต่อลองกับพระเจ้า ทำได้อย่างไร.
« พระเจ้าไม่ใช่ปุถุชนที่เราจะต่อลองด้วยได้ หรือนำมาพิสูจน์ หรือแม้หวังจะเข้าใจสิ่งที่อยู่ในใจของพระองค์. คนอย่างเราๆ ไม่รู้ว่าคนที่นั่งข้างเรากำลังคิดอะไร, แม้เป็นคนที่เรารัก เรายังไม่รู้ความคิดของเขา มากพอๆกับที่เขาไม่รู้ว่าเรากำลังคิดอะไร. เช่นนี้แล้ว เราจะหวังเข้าใจสิ่งที่พระเจ้าคิดอยู่ในใจได้อย่างไรเล่า » (Judith 8:12-17)
คนเดินดิน นึกถึงหัวอกของพระเจ้า ตามหัวอกของตัวเอง ในระดับสามัญชนเรี่ยดินได้หรือ?  ถ้าพระเจ้าเป็นเหมือนตน ก็ย่อมมีความอ่อนแอ ทำอะไรไม่เป็น ผิดพลาดเหมือนตน แล้วไปวิงวอนขอนั่นขอนี่จากพระเจ้าคนเยี่ยงตน ได้หรือ?  คำต่อว่าของเธอ มีเหตุผลตรึงจิตสำนึกของเสนาบดีกรมเมือง. แล้วเธอประกาศว่า เธอมีแผนช่วยเมืองเบตูเลีย, ช่วย เยรูซาเล็ม, วิหารใหญ่ของชาวยิวและมวลชน. แต่ไม่ยอมเปิดเผยแผนของเธอ เพียงแต่บอกว่า สิ่งที่เธอทำ จักเป็นที่จดจำไปชั่วลูกชั่วหลาน.  ทุกคนฟังอย่างตั้งใจและชมเชยความกล้ากับความฉลาดของเธอ.  เธอบอกให้เปิดประตูเมือง อนุญาตให้เธอกับหญิงรับใช้ออกไปนอกเมือง (Judith 7-8) เท่านั้น.
       เมื่อพูดเอาชนะใจกรมเมืองให้เธอออกไปนอกเมือง ให้เธอออกไปช่วยชาติแล้ว เธอเตรียมตัวชำระล้างร่างกาย แต่งผิวพรรณให้ผุดผ่อง เพื่อไปเผชิญหน้ากับ Holopherne นายพลแม่ทัพ (ในราชการของ Nabuchodonosor II ผู้ครองบาบีโลนระหว่างปี 605-562 BC).  จูดิตและหญิงรับใช้ ออกไปจากเมือง (แบกกระสอบอาหารไปด้วย)  เดินไปในหุบเขาที่ตั้งของกองทัพอัสซีเรียที่ล้อมอยู่นอกเมืองเบตูเลีย, ตั้งใจให้ทหารจับตัวเข้าไปในค่าย. ทหารเห็นหญิงสาวสวย แต่งตัวดี ดูเรียบร้อยอ่อนโยน รีบพาตัวทั้งสองไปรายงานต่อหน้านายพลโฮโลแฟร์น. 
       จูดิตใช้วาทศิลป์ กล่าวแก่ท่านแม่ทัพว่า เธอได้ยินกิตติศัพท์ของกษัตริย์นาบูโกโดโนซอร์ ว่าเป็นกษัตริย์เก่งกล้า ปกครองบ้านเมืองอย่างชาญฉลาดและเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่ชาติ, ได้ยินชื่อเสียงของท่านแม่ทัพผู้เอาชนะ ปราบกองทัพอื่นๆมามากต่อมากแล้วฯลฯ และบอกว่าเธอรู้เส้นทางข้ามเนินเขาไปถึงเมืองเยรูซาเล็มได้อย่างง่ายและสะดวก ทุ่นเวลาและชีวิตทหาร. โฮโลแฟร์นทึ่งไปกับใบหน้าแสนสวย พูดจาฉะฉาน, แม่ทัพและหัวหน้านายกองทั้งหลายที่ฟังอยู่ด้วย ต่างชื่นชมเธอ. ท่านแม่ทัพสั่งอนุญาตให้ปล่อยเธอเป็นอิสระในค่ายทหารนั้น และเมื่อนางจะไปอาบน้ำแช่น้ำพุร้อน ก็ให้เป็นไปตามที่นางต้องการ. เช่นนี้ จูดิตเป็นคนแปลกหน้าในค่ายทหาร แต่เป็นอิสระ ไม่มีผู้ติดตามควบคุมเธอ และเธอก็เก็บตัวอยู่ในเต๊นต์ตอนกลางวัน ทานอาหารที่นำไปเอง. จูดิตอยู่เช่นนี้สามวันในค่ายทหาร, วันที่สี่ ท่านแม่ทัพโฮโลแฟร์น เชิญเธอไปร่วมทานอาหารด้วยกันในเต๊นต์ที่พักส่วนตัวของเขา. จูดิตรับคำเชิญ.
       จูดิตเป็นหม้ายสาวสวยและรวยทรัพย์  เธอรู้จักธรรมชาติของผู้ชาย. เธอเลือกสวมอาภรณ์ชุดราตรีที่งดงามพร้อมเครื่องประดับทั้งแหวน สร้อยคอ สร้อยข้อมือ กำไลข้อเท้า แถบคาดผมฝังเพชรพลอย (ตามที่พรรณนาไว้ในคัมภีร์).  เธอรู้จักแต่งองค์ทรงเครื่อง เน้นกระตุ้นทั้งจักษุสัมผัสและกลิ่นสัมผัส. แต่งให้สวยงามเตะตา และอบตัวด้วยเครื่องหอมจรุงใจ. ใครที่ได้เห็นเธอเข้าใกล้เธอ หลงใหล เคลิบเคลิ้มในทันที (ยิ่งในค่ายทหารที่ไม่น่าจะมีหญิง งามหรือไม่ มากนัก). คัมภีร์เขียนว่า เพียงแค่เธอยิ้มเท่านั้น ผู้ชายก็ตกหลุม. (Judith 10).
       โอกาสปฏิบัติการกู้ชาติมาถึงแล้ว หญิงรับใช้เตรียมอาหารและเครื่องดื่มให้เธอ นำผืนหนังแกะไปปูให้เธอนั่งหรือนอน, โฮโลแฟร์นเชิญดื่ม เธอก็ดื่มแต่น้ำ(ไวน์)ของเธอเอง. จูดิตชวนเจรจาให้ผ่อนคลาย ท่านแม่ทัพหรือจะไม่เคลิ้มไปกับภาพความงามของสตรีที่อยู่ตรงหน้า, ยิ่งดื่มยิ่งเพลิน จนลืมตัว. ถึงเวลา จูดิตหยิบดาบของนายพลเอง เชือดคอหอยและเฉือนหัวนายพลหลุดอย่างง่ายดาย. ร่างของนายพลกลิ้งตกลงที่พื้น เธอดึงผ้าคลุมเตียงเนื้อดีที่ปักลวดลายสวยงาม ลงปิดร่างนายพลไว้. หญิงรับใช้ นำกระสอบที่ใช้บรรจุอาหารตอนมา ใส่ศีรษะของนายพลลงไป (Judith 12). 
ภาพนี้ผลงานของ คาราวาจีโอ ราวปี 1508-1599
ภาพอยู่ที่หอศิลปะโบราณแห่งชาติในพระราชวังบาร์เบรีนี กรุงโรม
(Caravaggio, Judith beheading Holofernes,
Galleria Nazionale d’Arte Antica, Palazzo Barberini, Rome)  
การนำเสนอภาพของสตรีที่มีชัยชนะเหนือบุรุษ เป็นที่นิยมหรือสะใจคนยุคนั้นหรือยุคไหนๆ. ในที่นี้ จิตรกรไม่สนใจเน้นภาพลักษณ์ร่างหรือความงามของอาภรณ์ของจูดิตหรือสภาพห้อง แต่เน้นความรู้สึกทีท่าของนาทีปฏิบัติการเป็นสำคัญ. นาทีวิกฤตที่จูดิตต้องลงมือ เธอขมวดคิ้ว ปากเม้ม มือเชือดลง. ส่วนหญิงรับใช้ด้านหลัง ก็จ้องเขม็ง ตัวเกร็ง มือกำผ้าที่จะใช้ห่อหัวของแม่ทัพ ตรึงนิ่งอยู่กับที่. เครดิตภาพจากเว็บนี้. 
ทั้งสองออกจากเต๊นต์ เดินผ่านแนวทหารอัสซีเรียที่ยืนประจำการบนเส้นทางออกไปจากค่ายทหารอย่างสงบ เหมือนในคืนวันที่เธอสองคนเดินมาที่ค่าย. เธอกลับไปถึงประตูเมืองเบตูเลีย ตะโกนให้ทหารเปิดประตูให้เธอเข้าไป. เช่นนี้ แม่ทัพใหญ่ของกองทัพอัสซีเรียสิ้นชีวิตด้วยมือของสตรีชื่อจูดิต (Judith 13) แบบประโยชน์สูง ประหยัดสุด. เธอประกาศว่า เพราะพระเจ้าอยู่กับเธอ ปกป้องเธอ จึงไม่เปลืองเนื้อเปลืองตัวนัก. บรรดาเสนาธิการของกรมเมืองต่างสรรเสริญ ว่าเธอเหนือกว่าสตรีนางใดในปัถพี. กรมเมืองเอาหัวของโฮโลแฟร์น เสียบไว้บนกำแพงเมือง. ฝ่ายทหารอัสซีเรียเห็นดังนั้น แตกตื่น. ความอลหม่านทำให้กองทหารชาวอิสราเอล เข้าจู่โจมขับไล่กองทัพอัสซีเรียไปได้.
จูดิตและหญิงสาวใช้ พากันออกจากค่ายทหารอัสซีเรีย กลับเมืองเบตูเลีย Mission accomplished! ภาพของ Sandro Botticelli, The Return of Judith to Bethulia, ผลงานระหว่างปี 1470-1473. ภาพอยู่ที่หอศิลป์ อุฟฟีศิ (Galleria degli Uffizi, Florence)
สตรีในภาพเป็นแบบฉบับของจิตรกร บ็อตตีเชลลี.  เสื้อผ้าพลิ้วลม ผมสีทอง ปอยผมเป็นคลื่นน้อยๆ และที่สำคัญคือ สีหน้าที่อมเศร้านิดๆ ปากเม้ม ทอดสายตาลงต่ำ ถ่อมตนในที. จูดิตคงอดเศร้าใจไม่ได้ที่ต้องฆ่าแม่ทัพศัตรู แม้จะถือกิ่งใบโอลีฟที่แสดงนัยของชัยชนะ แต่การที่ต้องลงมือฆ่าเองนั้น ต้องข่มใจมากทีเดียว ต้องมีพลังใจสูงจากเบื้องบน. ดาบในมือ เป็นดาบของนายพลแม่ทัพเอง. ความตั้งใจเพื่อกู้ชาติของจูดิต จึงต้องคมกว่าดาบ. หญิงสาวผู้ติดตามของเธอก็มีทีท่ามุ่งมั่นไม่น้อย จึงช่วยนายหญิงให้ทำหน้าที่ได้จนสำเร็จ. เครดิตภาพจากเว็บนี้. 

ตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน บุรุษชาติอาชาไนย ตกหลุมพรางความงามความยั่วยวนของสตรีเสมอมา... ยิ่งเมื่อมีไวน์เป็นสื่อด้วยแล้ว ทุกอย่างไหลลื่นไปตามเป้าตามแผนของอิสตรี. ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกและออร์ธอด็อกส์ เห็นว่าเรื่องนี้สอนธรรมได้บทหนึ่ง. พระเจ้ามีแผนการช่วยคนของพระองค์ด้วยวิธีต่างๆ, ใช้คนของพระองค์เป็นเครื่องมือ เช่นในกรณีนี้ จูดิตคือเครื่องมือของพระเจ้า. มีสำนวนพูดกันมาว่า มนุษย์เดินดิน จะหยั่งแผนต่างๆของพระเจ้าได้อย่างไร เหมือนที่พระเจ้าบันดาลให้เกิดมหาภัยทั้งหลายทั้งปวง ถ้ามองว่าพระเจ้าคือความเมตตาสูงสุด ทำไมพระเจ้าจึงทำให้คนล้มตาย ทำให้คนดีๆต้องตายฯลฯ. พระเจ้าคงไม่ได้มองผลของการกระทำ แค่หลักเมตรหรือกิโลเมตรกระมัง..
จูดิตเบนสายตาไม่มองหัวนายพลในมือเธอ. ภาพพิมพ์นี้ ดูจะสรุปเหตุการณ์เรื่องจูดิตได้ดี จากหอศิลป์ The Art Institute of Chicago, Department of Prints and Drawings. เครดิตภาพจาก pxhere.com
เรื่องจบลง จูดิตนำขบวนหญิงชาวเมืองเบตูเลีย ร้องรำสรรเสริญพระเจ้า ไปบนเส้นทางสู่วิหารใหญ่เมืองเยรูซาเล็ม. เธอปล่อยให้หญิงรับใช้ผู้ซื่อสัตย์ของเธอเป็นอิสระ. ไม่ได้แต่งงานใหม่ และใช้ชีวิตอย่างสงบเยี่ยงสตรีผู้ครองตนในศีลธรรม เป็นที่เคารพยำเกรงของมวลชน และมีชีวิตต่อไปจนอายุ 105 ปี.   

     ในประวัติศาสตร์(นอกตำนานศาสนา) เมืองเยรูซาเล็มก็ยังถูกรุกรานจากชนเผ่าอื่น. มีงานวิจัยยุคหลังที่ระบุว่า นายพลแม่ทัพอัสซีเรียยุคนั้น ไม่ใช่โฮโลแฟร์น. ความคลาดเคลื่อนเรื่องชื่อหรือวันเวลาในคัมภีร์กับข้อมูลประวัติศาสตร์ในยุคหลัง สำหรับเราไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เป็นเพียงกรอบ. เนื้อหาที่ศาสนาต้องการ และที่เราเอามาพูดถึง คือพฤติกรรมของคนในสภาวการณ์ต่างๆ ที่กระตุ้นให้นึกถึงพระเจ้า หรือชี้มุมมองศีลธรรม, น่าสนใจกว่าการขุดคุ้ยว่าเรื่องเกิดขึ้นจริงไหมเมื่อไร.
    ดังที่เคยพูดเสมอว่า เรื่องราวมากมายในคัมภีร์ เป็นแหล่งจินตนาการที่คนตักตวงไปใช้ เป็นฐานสร้างงานอื่นๆต่อไป. จิตรกรรมเนื้อหาเรื่องนี้ ในศิลปะตะวันตกมีไม่ต่ำกว่าสามสิบภาพ ในมุมมองของศิลปินต่างๆ. ผู้สนใจตามไปดูภาพเด่นๆได้ตามลิงค์นี้ >> https://www.dailyartmagazine.com/best-judith-head-holofernes-paintings/

** จูดิตและสตรีคนอื่นๆในคัมภีร์ ผู้สนใจตามไปอ่านหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ลิงค์นี้

** ดูหนังเงียบ ขาวดำ เรื่อง จูดิตแห่งเบตูเลีย  ปี 1914 ของผู้กำกับ D.W. Griffith

** หรือภาพยนต์ชื่อ Judith (1966) นำแสดงโดย Sophia Loren เนื้อหาการกู้ชาติ ใช้ชื่อในคัมภีร์เก่า เล่าพฤติกรรมการกู้ชาติในยุคของฮิตเลอร์. ผู้สนใจตามไปดูได้ที่ลิงค์นี้

โชติรส รายงาน
๗ มิถุนายน ๒๕๖๓.


No comments:

Post a Comment