Friday, June 12, 2020

Feasting with art

ตอน ๗ กามสุขกลบโศกนาฏกรรม
ในคัมภีร์เล่มของจอห์น (John 2: 1-11) เล่าไว้ว่า พระเยซู พระแม่มารีและเหล่าสาวก ได้รับเชิญให้ไปร่วมฉลองงานวิวาห์ของคู่บ่าวสาวคู่หนึ่ง ที่เมืองกานา Cana ในแคว้นกาลีเล (Galilee). ไวน์หมดลง ไม่พอบริการ พระแม่บอกพระเยซู. พระเยซูไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวเรื่องนี้ บอกว่า ยังไม่ถึงเวลา (ที่พระองค์จะแสดงตัว). พระแม่ขอร้อง และสั่งให้เจ้าพนักงานทำตามที่พระเยซูบอก. เหยือก(หรือโอ่ง)น้ำหินขนาดใหญ่หกเหยือก (แบบที่ชาวยิวใส่น้ำในพิธีล้างชำระ), แต่ละเหยือกจุน้ำได้ 20-30 แกลลอน. พระเยซูบอกพนักงานให้วิดน้ำจากบ่อ เทลงในเหยือกจนเต็มทุกเหยือก. เสร็จแล้ว ให้เทน้ำจากเหยือกนำไปให้หัวหน้าผู้ประกอบพิธี. เมื่อคนนั้นดื่มน้ำถ้วยนั้น น้ำนั้นกลายเป็นไวน์แล้ว. เขาไม่รู้ว่า ไวน์นั้นมาจากไหน. เจ้าหน้าที่ผู้ดึงน้ำขึ้นจากบ่อ รู้เท่านั้น. หัวหน้าในพิธี พูดกับเจ้าบ่าวว่า  
ปกติ ผู้จัดงานให้ทุกคนที่มาในงาน ดื่มไวน์ชั้นเลิศก่อนจนพอใจ จนเมื่อพวกเขาดื่มอย่างเพียงพอแล้ว จึงเอาไวน์คุณภาพด้อยกว่ามาบริการแทน, แต่นี่เจ้าเสิร์ฟไวน์ชั้นดีตั้งแต่ต้นจนเดี๋ยวนี้.
วันนั้นเรื่องไวน์นั้น เป็นปาฏิหาริย์ครั้งแรกสุดของพระเยซู. เหล่าสาวกได้รู้เห็นเหตุการณ์ ต่างยิ่งเชื่อในพระองค์มากขึ้น. 
    ข้อมูลประกอบภาพจากพิพิธภัณฑ์ Louvre มีใจความสำคัญดังนี้
จิตรกรเวโรแนซ (Paolo Veronese [ปาโอ๊โล เวโรเนเศะ]) ถูกเรียกตัวไปที่เมืองเวนิสในปี 1553. เขามีผลงานในด้านการประดับตกแต่งอาคารด้วยจิตรกรรม และพร้อมจะแสดงฝีมือบนพื้นที่ขนาดใหญ่มหึมา เขาชำนาญการจัดฉาก จัดเครื่องแต่งกายหรูหราของยุคใหม่ที่ทอแสงจรัสเงางามในสีสันต่างๆ. ภาพ งานแต่งงานที่กานา ประดับโรงอาหารที่อันเดรอา ปะลาดีโอ (Andrea Palladio) เป็นผู้สร้างให้แก่อารามเบเนดิคตินบนเกาะซันจิอ๊อจีโอ มัดจีโอเร (San Giorgio Maggiore). เหตุการณ์ศักดิ์สิทธิ์ได้ถูกนำมาจัดลงในกรอบหรูหราอลังการตามวิถีชีวิตของเวนิสยุคนั้น ตามจินตนาการอิสระและอุดมการณ์ของจิตรกร.
     พระคริสต์ได้รับเชิญให้ไปงานเลี้ยงแต่งงาน และที่นั่นพระองค์ได้แสดงปาฏิหาริย์ครั้งแรก. ในตอนท้ายๆของงานเลี้ยง เมื่อไวน์ที่บริการแขกเหรื่อหมดลง เขาบอกให้เจ้าพนักงานเติมน้ำให้เต็มเหยือกหินขนาดใหญ่ แล้วให้เจ้าพนักงานนำไปบริการเจ้าบ้าน. เจ้าของบ้านดื่ม น้ำนั้นได้เปลี่ยนเป็นไวน์แล้ว. เหตุการณ์นี้อัครสาวกจอห์นเป็นผู้เล่า, เป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่การสถาปนาพิธียูการิสต์ในศาสนาคริสต์ต่อมา.
     คู่บ่าวสาวนั่งอยู่หัวโต๊ะ (ด้ายซ้ายของภาพ). ตรงกลางภาพ กลางโต๊ะ พระเยซูคริสต์นั่งอยู่. เช่นนี้พระเยซูอยู่ในวงล้อมของพระแม่มารี เหล่าสาวก นักบวช เจ้าชายเจ้าหญิง ชนชั้นสูงชาวเวนิส ชาวตะวันออกกลาง(ที่มีผ้าโพกผม) หมู่เจ้าหน้าที่บริการจำนวนมาก และชาวเมือง. บางคนสวมเครื่องแต่งกายประจำชนเผ่าตามขนบโบราณ บางคนโดยเฉพาะสตรี มีเครื่องสวมศีรษะที่ประดับตกแต่งอย่างงดงาม. ในหมู่คนจำนวนมากนี้ มีสุนัขหลายตัว นกแก้ว และแมวท่าทีประสาแมวที่ผ่อนคลายไม่กังวลกับคนจำนวนมากรอบข้างเลย, ส่วนหนึ่งของชีวิตชาวเมือง. หลังระเบียงลูกกรงชั้นบนเป็นกลุ่มผู้บริการและคนมุง, หลายคนขึ้นไปอยู่ถึงดาดฟ้าอาคาร.
     เวโรแนซจัดฉากได้อย่างยอดเยี่ยม. บริบทของงานเลี้ยงทำให้จิตรกรจัดภาพเป็นเวทีเพื่อวางตัวละครของเขาทั้งหมด 130 คน ปนบุคคลในคัมภีร์กับบุคคลแห่งยุค. บริบทโลกย์กลืนบริบทศาสนาไปเกือบหมด. ถ้วยชาม โถ เหยือก ถ้วยเหล้า เครื่องแก้วคริสตัล เครื่องเงิน เครื่องทอง ที่วิจิตรงดงาม ล้วนบ่งบอกความอลังการของงานเลี้ยง. ผู้มาร่วมงานมีที่นั่งเป็นส่วนเป็นสัด ไปรอบๆโต๊ะ, แต่ละคนมีเครื่องใช้ส่วนตัว อันมีผ้าเช็ดปาก ส้อม และจานแบน(สำหรับวางอาหาร). อะไรบ้างที่เป็นสารจากศาสนา นอกจากตัวตนของพระเยซูกับพระแม่มารีที่ชัดเจนกว่าคนอื่นใด, มองตามขนบสัญลักษณ์ศาสนา คนตัดเฉือนเนื้อ(แกะย่าง)ที่อยู่บนระเบียงเหนือที่นั่งของพระเยซู คือประเด็นหนึ่ง ที่อาจโยงไปถึงความทุกข์ทรมานของวันสุดท้ายของพระเยซู. มุมมองนี้ คนที่รู้จักระบบสัญลักษณ์ศาสนาเท่านั้น จึงเข้าใจ (พระเยซูเปรียบตัวเองว่าเป็นลูกแกะของพระเจ้าเสมอ ถูกส่งลงมาจุติเพื่อไถ่บาป เป็นแกะที่ถูกฆ่าสังเวยตามขนบยิว). กับไวน์ที่หมายถึงเลือดของพระคริสต์ ที่จักเป็นองค์ประกอบของพิธียูการิสต์ต่อมา.
     ในบทอธิบายของพิพิธภัณฑ์เองยังบอกว่า มีความพยายามเจาะจงบุคคลในยุคศตวรรษที่ 16 ที่อยู่ในภาพของเวโรแนซ เช่น เวโรแนซได้แทรกตัวของเขาลงในภาพด้วย, คือคนแต่งชุดขาว มีผ้าคลุมผืนยาวพาดไหล่ มือถือเครื่องดนตรี นั่งอยู่ข้าง ติซีอาโน (Tiziano/Titian, ศิลปินเรอแนสซ็องส์ชาวอิตาเลียน c.1488-1576) และบาซาโน (Basano จิตรกรอิตาเลียน, 1510-1592) ในหมู่ผู้เล่นดนตรีเบื้องหน้าพระเยซู. คำอธิบายจากพิพิธภัณฑ์บอกว่า ผู้ประกอบพิธีมีเครายาว อาจเป็น Pietro Aretino (นักประพันธ์ชาวอิตาเลียน, 1492-1556). ในศตวรรษหลังๆมา ทุกคนเห็นคล้อยตามว่า เวโรแนซ คือคนแต่งชุดขาวในวงนักดนตรีดังกล่าว.
    ติซีอาโน, บาซาโน หรือ ปิเยโตรอาเรตีโน หน้าตาเป็นอย่างไร เราคนยุคนี้ไม่เคยเห็น. อาเรตีโน ตายก่อนที่เวโรแนซจะรังสรรค์ภาพนี้ของเขาด้วยซ้ำ. ดังนั้นการพยายามเจาะจงด้วยการคาดเดาว่าใครบ้างอยู่ในภาพ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ. จิตรกรอาจใช้รูปลักษณ์ของใครคนหนึ่งหรือหลายคน สร้างบุคคลิกคนใดคนหนึ่งในภาพได้เสมอ เพราะนี่ไม่ใช่การถ่ายทอดภาพเหมือนของใคร ไม่ใช่ภาพประวัติศาสตร์ แต่ถ่ายทอดเหตุการณ์ความสับสนวุ่นวายในวิถีโลกย์ของคนเดินดินชาวเวนิสโดยเฉพาะ ที่ลุ่มหลงอยู่ในความหรูหราฟุ้งเฟ้อ, เทียบกับเหตุการณ์ที่เป็นจุดก้าวกระโดดในชีวิตของพระเยซู. บริบทของการเทไวน์เสิร์ฟไวน์ในมุมขวาของภาพ ที่จัดไว้ในมุมตรงข้ามกับที่นั่งของคู่บ่าวสาวทางซ้าย. เด็กผิวดำนำแก้วไวน์ไปยื่นให้เจ้าบ่าว. ปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นที่เจ้าของบ้านรับรู้ แทบไม่มีใครสนใจ. มองดูใบหน้าสงบของพระเยซูและพระแม่มารี ชวนให้รำพึงว่า ที่นี่วุ่นวายหนอ. พระเยซูในฐานะเพื่อนผู้ปลอบใจในยามทุกข์ มิตรของผู้ยากไร้ สหายผู้เปลี่ยนใจคนบาป, พระองค์ไปอยู่ในที่อย่างนั้น ได้อย่างไร?
      คำอธิบายจากพิพิธภัณฑ์ บอกต่อไปว่า ภาพของเวโรแนซ แบ่งเป็นสองตอน ตอนบนคือท้องฟ้าที่มีเมฆสีขาวๆผ่านไป กับตอนล่าง บนดินที่เต็มไปด้วยกลุ่มคน. ริ้วของเสาคอลัมภ์ของอาคาร(ชั้นบน)ที่มีหัวบัวแบบคอรินเธียน เตือนให้ระลึกถึงผลงานสถาปัตยกรรมของ Andrea Palladio ยุคนั้น.
     จิตรกรได้เลือกใช้สารสีราคาแพงที่พ่อค้าชาวเวนิสนำเข้าจากตะวันออก เช่น สีเหลืองส้ม สีแดงสด สีฟ้าสดของอัญมณี(แลพิซแลซิวลิ lapis lazuli) ที่จิตรกรใช้เป็นจำนวนมากในการเนรมิตท้องฟ้าและเสื้อผ้าอาภรณ์ของแขกเหรื่อ. สีที่เขาเลือกใช้นี้ มีบทบทสำคัญที่เอื้อให้อ่านภาพได้ง่ายและชัดเจน. ความแตกต่างหรือการตัดกันของสี ก็ทำให้แยกแยะบุคคลิกของแต่ละคนได้ดี.
     จิตรกรรมของเวโรแนซนี้ ได้ผ่านการบูรณะตลอดเวลาสามปี ทำให้สีดั้งเดิมที่จิตรกรใช้โดดเด่นและเป็นประกายชัดเจน แต่บางครั้งเปลี่ยนสีของเสื้อคลุม(เช่นของพิธีกร) ที่ดั้งเดิมเป็นสีแดง กลายเป็นสีเขียวไป.
     คณะนักบวชเบเนดิคตินแห่งคอนแวนต์ซันจีอ๊อจีโอ มัดจีโอเร ที่เมืองเวนิส เป็นผู้สั่งงานศิลป์ชิ้นมหึมานี้ในปี 1562 เพื่อประดับโรงอาหารโรงใหม่ (ที่เป็นผลงานสถาปัตยกรรมของ Andrea Palladio). สัญญาการว่าจ้างให้เนรมิตภาพงานแต่งงานที่กานานี้ มีรายละเอียดเจาะจงชัดเจน. คณะนักบวช ยืนยันว่าต้องการภาพขนาดใหญ่ที่สุด เพื่อประดับปิดตลอดผนังกำแพงด้านในของโรงอาหาร, ติดไว้สูงจากพื้น 2.50 เมตร ที่อาจสร้างทัศนมิติของพื้นที่ที่ทอดไกลออกไป. เวโรแนซ สนองความต้องการดังกล่าวด้วยการสร้างภาพขนาดพื้นที่ 70 ตารางเมตรในเวลา 15 เดือน (อาจมีน้องชาย Benedetto Caliari เป็นผู้ช่วยด้วย). งานชิ้นนี้เป็นจุดพลิกผันชีวิตของเวโรแนซ เพราะหลังจากภาพนี้ ชุมชนหรืออารามอื่นๆ ต่างต้องการภาพแบบเดียวกันสำหรับอารามของพวกเขา. แม้ว่าขนาดภาพจะใหญ่พิเศษเพียงใด กองทหารของนโปเลียนได้ยึดภาพนี้ และม้วนส่งไปถึงกรุงปารีสทางเรือ ในปี 1797. ปัจจุบันจึงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Le Louvre.

     ภาพนี้ที่เลื่องลือกันมากในยุคนั้น ตรึงความหรูหราของเมืองเวนิส ที่สะท้อนอำนาจ พลังเงินตราจากการค้าขาย ที่สร้างความรุ่งโรจน์ของอาณาจักรเวนิส ดั่งหาที่ใดเปรียบมิได้ในยุโรปยุคเดียวกัน. กามสุขถูกยกขึ้นเป็นศิลปะ ศิลปะสนองการกินการดื่มด้วยเครื่องแก้วโปร่งแสงหลากสีสุดวิจิตรจากเมืองมูนาโน (Murano). เวนิสเป็นแป้นขับเคลื่อนการค้าในแถบเมดิเตอเรเนียน. ลักษณะหมวก ผ้าโพกผม อาภรณ์แบบอาหรับ กลุ่มคนรับใช้จากอัฟริกา ล้วนเป็นปัจจัยชี้บอกเครือข่ายอำนาจการเงินของเวนิส. บริบทศาสนาเพียงสะกิดให้ตระหนักว่า โภคทรัพย์ทั้งหลายบนโลก เกิดขึ้น ตั้งอยู่และวันหนึ่งก็จักดับไปเป็นธรรมดา.  
    ในหมู่นักบวชตามอาราม ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเสมอมา ว่าการกินดีอยู่ดี กับความรุ่งเรืองของอารามเมื่อมีลาภสักการะไหลเข้าไปสู่อารามมากขึ้นๆ จบลงด้วยความเสื่อมของสำนักนักบวชเสมอ  แล้วก็นำไปสู่การปฏิรูปคติการครองตนของนักบวชแนวใหม่แนวอื่นต่อไป.   

ปล. เราไม่ลืมว่า บทอธิบายภาพจาก(เจ้าหน้าที่)พิพิธภัณฑ์(ที่พิมพ์สีแดงทั้งหมดนั้น) เขาพรรณนาภาพจากขนาดจริงคือ 70 ตารางเมตร (ซูมภาพดูได้ทุกตารางเมตร) แต่เรามองเห็นภาพบนจอคอมพิวเตอร์ในขนาดประมาณ 7 x 5 นิ้ว ดังนั้นเราย่อมไม่เห็นรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ  ย่อมไม่เห็นความโปร่งแสงของเครื่องแก้วมูราโนที่เป็นที่กล่าวขวัญไปทั่วทั้งยุโรปในยุคนั้น. เทคนิคจิตรกรรม(เรื่องแสงสี ความหนาบาง ความเข้มที่ไล่ระดับกันฯลฯ) ไม่ใช่หัวข้อที่จะพูดได้เต็มปากเต็มคำนัก เพราะภาพตรงหน้าเรา เป็นก็อปปี้ของก็อปปี้ของก็อปปี้กี่รอบมาแล้ว ที่ได้ผ่านซอฟแวร์เวอชั่นตกแต่งรูปแบบอัตโนมัติ(หรือไม่)เวอชั่นต่างๆในยุคปัจจุบันมาแล้ว. ส่วนตัว ข้าพเจ้าจึงเน้นเนื้อหาที่เป็นฐานของการสร้างภาพ และสนใจวิธีถ่ายทอดเนื้อหาของจิตรกร.  
มีผู้วิเคราะห์วิจารณ์จิตรกรรม งานแต่งงานที่กานา ของเวโรแนซไว้หลายคน, ผู้สนใจหาอ่านต่อไปได้เองในเน็ต.
โชติรส รายงาน
๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๓.
สรุปจบเรื่องเล่าไวน์ๆเจ็ดตอนจากคัมภีร์แต่เพียงเท่านี้.

Tuesday, June 9, 2020

The Dancing Salome

ตอนที่ ๖ เริงระบำของซาโลเม่
เรื่องนี้เกี่ยวกับจอห์นบัพติซ (John the Baptist) โดยเฉพาะ ปรากฏเล่าไว้ในคัมภีร์ใหม่เล่มของมาร์ค (Marc 6, 17-29). องค์การศาสนามองว่า จอห์นคนนี้เป็นศาสดาพยากรณ์-prophet คนสุดท้าย. เขาเป็นผู้มากรุยทาง ป่าวประกาศแก่ชาวยิวว่า พระมหาไถ่จะมาจุติ จักเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่. เขาออกสั่งสอนคน เบนคนให้เชื่อในพระเจ้าองค์เดียว ให้ประพฤติตนตามทำนองคลองธรรม เขาทำพิธีล้างบาปให้คนในแม่น้ำจอร์แดน. พระเยซูได้ไปร่วมในพิธีล้างบาปกับคนอื่นๆด้วย.
จิตรกรรมบนแผ่นไม้โอ๊ค สามตอนต่อกัน ดั้งเดิมเพื่อประดับเป็นฉากของแท่นบูชา
ผลงานของ Rogier van der Weyden  ปัจจุบันอยู่ที่หอศิลป์กรุงแบร์ลิน
( Gemäldegalerie )
ฉากสามตอนนี้ สรุปเหตุการณ์สำคัญที่สุดในชีวิตของจอห์นบัพติซ. ฉากแรก(จากซ้ายไปขวา) เมื่อจอห์นเกิด, ฉากที่สอง เมื่อจอห์นทำพิธีล้างบาปแก่เยซู, และฉากที่สาม เมื่อจอห์นถูกตัดหัว. การนำเสนอเหตุการณ์ ภายในสถาปัตยกรรมโครงสร้างของซุ้มประตูทางเข้าโบสถ์กอติคใหญ่ๆ จึงเหมือนว่า เรื่องเกิดขึ้นภายในโบสถ์.
ฉากที่หนึ่ง กาเบรียล อัครเทวทูตมาบอกแก่เซกาเรีย Zechariah พระเฒ่าชาวยิวผู้เป็นคนดีนอบน้อม ว่าเอลิซาเบธภรรยาเฒ่าของเขา จะตั้งครรภ์และคลอดลูกชาย ให้เรียกลูกว่าจอห์น, เขาจักเป็นผู้ที่พระเจ้าเลือกให้มากรุยทาง, เขาจะเทศน์สอน เปลี่ยนคนให้เป็นคนดีคนตรง... เซกาเรียพระเฒ่า ไม่เชื่อ อายุปูนนี้แล้ว ไม่มีลูก. กาเบรียลบอกว่า ต่อนี้ไปเจ้าจะเป็นใบ้ จนกว่าจะได้เห็นความจริงที่จักเกิดขึ้นด้วยตาตัวเอง. เอลิซาเบธตั้งครรภ์ สามเดือนก่อนคลอด(พระแม่)มารีลูกพี่ลูกน้องของเอลิซาเบธไปเยี่ยมเธอ บอกว่ากาเบรียลได้บอกเธอว่า เธอเป็นผู้ที่พระเจ้าเลือกให้อุ้มท้องพระบุตร. (เหตุการณ์การไปเยือนครั้งนั้น เรียกกันว่า Visitation) (Luke 1:12-17) นี่คือเรื่องราวกำเนิดของจอห์นบัพติซ.
ฉากที่สอง จอห์นเติบใหญ่ แรงดลใจจากพระเจ้า ทำให้เขาออกสั่งสอนผู้คน เตือนให้ทำดีมีศีลธรรม ให้เชื่อมั่นในพระเจ้าองค์เดียว. เขาทำพิธีล้างบาปให้ฝูงชนที่แม่น้ำจอร์แดน. พระเยซูก็ไปที่นั่นด้วย เห็นว่าอะไรที่จอห์นทำ ดีแล้ว และให้จอห์นล้างบาปให้ด้วย. พระเจ้ามาปรากฏ(ในมโนทัศน์ของจอห์น) เหนือพระเยซู บอกให้จอห์นรู้ว่า นี่คือบุตรสุดที่รักของพระองค์. (Matthew 17:5). จอห์นรู้ทันทีว่า พระเยซูไม่มีบาปกำเนิด. ในภาพมีทั้งพระบิดาในก้อนเมฆ มีนกเขาสีขาวแทนพระจิต มีคำพูดที่ทอดเชื่อมวนลงมาจากเบื้องบนผ่านพระจิต ลอยอยู่เหนือพระเยซู. เทวทูตองค์หนึ่งคุกเข่าอยู่ข้างๆบนฝั่ง เตรียมผ้า(เสื้อคลุม)ห่มกายให้พระเยซู.
ฉากที่สาม คือฉากเมื่อจอห์นถูกเฮโรด อันตีปัซ (Herod Antipas) สั่งตัดหัว ดังจะเล่ารายละเอียดต่อไปนี้. เป็นเนื้อหาของตอนที่ ๖ นี้.
 
    ยามนั้น ชาวโรมันเข้าปกครองทั่วไปในแดนจูดา. เฮโรด อันตีปัส (Herod Antipas) เป็นข้าหลวงใหญ่ที่กรุงโรมส่งไปประจำที่นั่น(บ้างเรียกเขาว่ากษัตริย์). ผู้คนร่ำลือถึงจอห์นหนาหู เขานึกหวั่นๆในใจเกี่ยวกับคำประกาศและพระเจ้าที่จอห์นพูดถึง ว่าจักเป็นพระมหาไถ่ เป็นกษัตริย์ของชาวโลก. แต่เขารีรอ ไม่ทำอะไรรุนแรง กลัวว่าชาวเมืองผู้ติดตามฟังจอห์น จะประท้วง ลุกฮือ แตกแยกแล้วต่อต้านอำนาจของโรมได้. แต่ช่วงเดียวกันนั้น เฮโรเดียส์ (Herodias) ขอหย่าจากสามีคนแรก Herod II (พี่น้องต่างมารดาของ เฮโรด อันตีปัส Herod Antipas) และมาแต่งงานกับเฮโรดอันตีปัส. ข้าหลวงคนนี้ก็หย่าภรรยาคนแรกเพื่อแต่งงานกับเฮโรเดียส์. จอห์นประณามพฤติกรรมที่ไม่สมควรของทั้งสอง ยิ่งทำให้ทั้งเฮโรดและเฮโรเดียส์ไม่พอใจ จนในที่สุด เฮโรดอันตีปัสสั่งจับจอห์น.
 
จอห์นต่อว่าเฮโรดอันตีปัส และเฮโรเดียส์ ที่หย่าคู่ครองคนแรกแล้วมาแต่งงานกัน.
สองคนบนแท่นสูง หน้าเครียดเพราะถูกบริภาษ. มือของเฮโรดอันตีปัส ยังจับข้อมือของเฮโรเดียส์อยู่ บอกความเป็นเจ้าของ. อีกมือหนึ่งจับบนหัวสิงโตที่เป็นพนักวางมือ บอกความมีอำนาจ. กลุ่มคนคือชาวเมืองคละกัน(ยิวหรือไม่). จอห์นบัพติซในคริสต์ศิลป์ มักมีหนังแกะคลุมกาย สวมเสื้อคลุมแบบเรียบง่าย ที่เน้นให้รู้ว่าใช้ชีวิตเยี่ยงนักบวชพเนจร. ขนหนังแกะเพื่อเจาะจงตัวเองว่า คือลูกแกะของพระเจ้า, แกะเป็นสัตว์ที่ถูกฆ่าสังเวยพระเจ้าเสมอในคัมภีร์เก่า. มือถือไม้ท่อนยาว ในภาพนี้ ตอนบนมีกากบาท มีแถบกระดาษพาดอยู่ ที่หมายถึงคำพยากรณ์. จอห์นบัพติซ เป็นศาสดาพยากรณ์คนสุดท้ายในขนบศานาคริสต์. ภาพนี้ผลงานของ Antoine Ansiaux ปี 1822.  อยู่ที่หอศิลป์ Palais des Beaux-Arts de Lille เมืองลีล ฝรั่งเศส. ภาพสาธารณะ จากวิกีมีเดีย.

เฮโรเดียส์มีลูกสาวหนึ่งคนกับสามีคนแรก ชื่อ ซาโลเม่ Salomé เป็นเด็กสาวชอบระบำรำฟ้อน. ในคืนเลี้ยงฉลองวันเกิดของเฮโรดอันตีปัส ที่รวมแขกคนใหญ่คนโตทั้งเมือง, ซาโลเม่ ได้เริงรำบะเป็นเกียรติแก่พ่อเลี้ยงของเธอ. เธอเต้นรำได้สวยงาม เป็นที่ชื่นชมของทุกคน และเฮโรดพอใจมาก ถึงกับตกปากจะให้รางวัลแก่เธอ ทุกอย่างที่เธอปรารถนา.
ซาโลเม่ ร่ายรำต่อหน้าเฮโรดอันตีปัส ในท้องพระโรง. รายละเอียดมีเพียงพอ ทั้งชัดและเหมือนมองผ่านม่านบางๆ. จิตรกรรมผลงานของกุสตาฟ โมโร (Gustave Moreau)
ปี 1886 อยู่ที่หอศิลป์ Musée d'Orsay กรุงปารีส.
ภาพเพื่อสาธารณะประโยชน์ จากวิกิมีเดีย.
เนื้อหาของการร่ายรำยั่วยวนใจของสตรี เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการอันเป็นเป้าหมายสุดท้าย, จูงใจจิตรกร นักเขียน นักประพันธ์ นักดนตรีและนักสร้างภาพยนต์มากมายเรื่อยมา. เป็นที่นิยมแพร่หลายมากในยุโรป. เช่น Gustave Flaubert นักเขียนฝรั่งเศส ประพันธ์นวนิยายชื่อ Salomé. Oscar Wilde แต่งบทละครชื่อ Salome เดียวกัน. และตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 มีหนังเงียบขาวดำ ตามด้วยภาพยนตร์สมัยใหม่ๆ เรื่องซาโลเม่เดียวกันนี้ อีกจำนวนไม่น้อยเลย นำแสดงโดยดาราคนเด่นคนดังในแต่ละยุค.
ภาพลักษณ์ของสตรีสาวสวย เรือนร่างงดงาม ลีลาอ่อนช้อย บิดตัว ส่ายสะโพกไปมา ในจินตนาการเกี่ยวกับซาโลเม่ ได้ปลูกฝังเป็นแบบฉบับของการร่ายรำของตะวันออกกลาง (และของอินเดีย ไทย เขมร อินโดนีเซียด้วย) ที่พัฒนาลีลาทั้งสวยงามและยั่วยวนใจ มาจนทุกวันนี้.
จิตรกรรมของ Mattia Preti ผลงานระหว่างปี 1656-1661 ชื่อภาพว่า The Feast of Herod อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Toledo Museum. เครดิตภาพจากวิกิมีเดียภาพเพื่อสาธารณะประโยชน์.
ในภาพนี้ เฮโรดอันตีปัส นั่งเป็นประธานอยู่ทางขวา ตรงกลางภาพคือเฮโรเดียส์. ทั้งสองแต่งองค์ทรงเครื่อง หรูหราด้วยอาภรณ์เนื้อดีสีทองเงางาม สมกับตำแหน่งข้าหลวงผู้ครองเมือง. เด็กสาวทางขวาคือ ซาโลเม่ ในวัยของเด็กหญิง ใบหน้าพอใจภูมิใจ มือประคองถาดเงินมีหัวของจอห์นบัพติซ มามอบให้ ตามองไปที่เฮโรด เหมือนพอใจที่ได้รางวัลตามคำขอ. ห้าคนด้านหลังชะโงกมาดูถาดหัวของจอห์นด้วยความสนใจ. จิตรกรไม่ลืมแทรกหิ้งเป็นขั้นบันไดเพื่อวางถาดและเหยือกน้ำเหยือกไวน์แบบต่างๆ, มีผู้คอยจัดความเรียบร้อยอยู่.องค์ประกอบภาพจึงสอดคล้องกับบริบทที่เป็นงานเลี้ยงฉลอง แม้ถาดหนึ่งที่ใช้ มีหัวของจอห์นที่เพิ่งถูกตัดมาก็ตาม. จิตรกรเทียบความรุนแรงน่าพรั่นพรึงของเหตุการณ์ กับความสงบโดยรวมของฉากและคนในฉาก. ภาพนี้ ไม่เน้นประเด็นการร่ายรำ แต่สรุปจบเหตุการณ์.

ซาโลเม่ถามมารดาเป็นการส่วนตัวว่าขออะไรดี. มารดาบอกให้ ขอหัวของจอห์น. ซาโลเม่ จึงพูดขอเฮโรดอันตีปัส ในงานเลี้ยงเลย ว่าขอหัวของจอห์นใส่ถาดมาให้เธอเดี๋ยวนั้น. จอห์นถูกตัดหัว ใส่บนถาด นำมาให้ซาโลเม่ และซาโลเม่ มอบให้มารดา. เป็นอันว่า ทั้งเฮโรดอันตีปัสและโฮโรเดียส์ ได้แก้แค้นจอห์นบัพติซสาสมแก่ใจ โดยไม่มีใครตำหนิได้. 
จิตรกรรมของ Lucas Cranach the Elder ผลงานในราวปี 1530 ภาพนี้อยู่ที่
พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์เมืองบูดาเปชต์ ประเทศฮังการี (Museum of Fine Arts,
Budapest, Hungary) ภาพเพื่อสาธารระประโยชน์ จากวิกิมีเดีย
จิตรกรเสนอใบหน้าเด็กสาวสวยเกลี้ยงเกลา สงบนิ่ง ไม่ตื่นเต้นกับการถือถาดหัวคนตาย, ตามองต่ำลง อาจครุ่นคิดนิดหน่อย แต่แทบจะไร้อารมณ์. เธอสวมอาภรณ์ที่สวยประณีต ประดับตกแต่งอย่างมีรสนิยมตั้งแต่หัว(จรดเท้า). ซาโลเม่ ในมโนทัศน์ของจิตรกร จึงมีความบริสุทธิ์เกือบไร้เดียงสา ทั้งๆที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและจบลง เป็นเรื่องรุนแรง ปั่นป่วน. อาจเพราะเธอเป็นเพียงเครื่องมือของเฮโรเดียส์มารดา เท่ากับเธอไม่มีความรับผิดชอบในเรื่องที่เกิดขึ้น. ภูมิทัศน์นอกหน้าต่าง สงบในบรรยากาศรุ่งสาง ทิวเขายิ่งใหญ่ ปราสาทมั่นคง. วันหนึ่งคืนหนึ่งผ่านไป วันใหม่กำลังเริ่มขึ้น.

จิตรกรรมผลงานของกุสตาฟ โมโร ตั้งชื่อไว้ว่า Apparition (ภาพปรากฏ)
เป็นหนึ่งในคอเล็กชั่นของพิพิธภัณฑ์กุสตาฟ โมโร
(Musée Gustave Moreau, Paris).
ภาพเพื่อสาธารณะประโยชน์ จากวิกิมีเดีย.
ภาพนี้เป็นจินตนาการของจิตรกร ที่ผนวกการร่ายรำของซาโลเม่ กับ มโนทัศน์ของซาโลเม่ ที่เห็นหัวของจอห์นบัพติซ ลอยอยู่ตรงหน้า (เป็นมโนทัศน์นอกบริบทของคัมภีร์). ศตวรรษที่ 19 นั้น กระแสโรแมนติคยังคุกกรุ่น, มีผลงานของจิตรกรชั้นครูคนอื่นๆเป็นตัวอย่างที่ประจักษ์ชัด เช่นของ Eugène Delacroix หรือของ Théodore Chassériau.
ที่ต่างออกไป คือผลงานของ Gustave Moreau ประกอบด้วยรูปลักษณ์บุคคลที่ยั่วยวน แต่เหมือนเคลือบด้วยออร่าของความลึกลับเหลือเชื่อ.  กุสตาฟโมโร เป็นอาจารย์สอนในสถาบันวิจิตรศิลป์ที่ปารีส มีลูกศิษย์เช่น Albert Marquet, Henri Matisse หรือ Georges Rouault เป็นต้น. นักวิจารณ์ศิลป์เช่น André Breton มองว่ากุสตาฟโมโร เป็นผู้กรุยทางคนสำคัญสู่กระแสศิลป์เซอเรียลิซึมในเวลาต่อมา.

เนื้อหาในคัมภีร์เก่าหรือใหม่ นำจินตนาการของศิลปินไปได้หลายทิศทาง. แต่ละคนนำไปต่อยอด สร้างผลงานส่วนตัวตามอุดมการณ์สุนทรีย์ส่วนตัว.

โชติรส รายงาน
๙ มิถุนายน ๒๕๖๓.

Sunday, June 7, 2020

Judith Heroic Pattern

5. วีรกรรมแบบจูดิต ประโยชน์สูง ประหยัดสุด
คัมภีร์เก่ารวมหนังสือต่างๆตั้งแต่กำเนิดโลก มนุษย์คนแรก รุ่นแรกๆ สภาพสังคม ศาสดาพยากรณ์ บันทึกเหตุการณ์ในยุคสมัยของกษัตริย์จูดา รวมกันไม่ต่ำกว่า 72-73 เล่ม. อ่านเป็นวรรณกรรมบันเทิง เป็นบ่อจินตนาการที่ไม่มีที่สุด โดยไม่นับถือพระเจ้าเลย ก็ได้แน่นอน. ประเด็นนี้ จึงทำให้คัมภีร์ไบเบิลเป็นวรรณกรรมอมตะของโลกเล่มสำคัญเล่มหนึ่งในตะวันตก. จูดิต เป็นชื่อหนังสือเล่มหนึ่งในเล่ม Deuteronomy (เล่มที่ห้าของคัมภีร์เก่า) ใช้ชื่อของสตรีนามจูดิตเลย. เธอเป็นหนึ่งในสตรีน้อยคนที่มีบทบาทกล่าวถึงอย่างละเอียดเจาะจงในคัมภีร์เก่า.  ในที่นี้ จับแค่ประเด็นที่ดลใจงานจิตรกรรมของศิลปินยุโรป.
    เหตุการณ์เกิดขึ้นในราวศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล. สตรีหม้ายสาวงามนางหนึ่งแห่งเมืองเบตูเลียในอิสราเอล ชื่อ จูดิต Judith (ชื่อแปลว่า หญิงชาวยิว).  จูดิตเป็นหม้ายมาสามปีแล้ว รับมรดกทรัพย์สินของสามี ทำให้เธอคล่องตัวทางการเงิน. เธอเป็นคนสวย แม้จะมีทรัพย์สินเงินทองมาก แต่ใช้ชีวิตสมถะ สวดมนตร์ภาวนาเป็นเนืองนิจ.
       ยามนั้น กองทัพของกษัตริย์อัสซีเรียยกทัพมารุกรานอิสราเอล เมืองเบตูเลียเป็นทางผ่านแคบๆสู่เยรูซาเล็ม. ทหารมาล้อมเมืองเบตูเลียทุกด้านแล้ว 34 วัน. ชาวเมืองหวาดหวั่น เดือดร้อน หิวโหย ขาดน้ำดื่ม และขมขื่น. กรมเมืองรับมือความบีบคั้นไม่ไหว ชาวเมืองทนความลำบากต่อไปไม่ได้ พร้อมจะยอมจำนน ต่างโอดครวญว่า หากพระเจ้าไม่เมตตามาช่วยพวกเขาภายในห้าวัน พวกเขาจักยอมเปิดประตูเมือง จำนนแก่ศัตรู. เมื่อรู้ข่าวเช่นนั้น จูดิตส่งสาวใช้ไปเชิญนายทหารเสนาบดีฝ่ายกรมเมืองให้ไปรวมกันที่บ้านของเธอ.
      เธอประณามเสนาบดีทุกคนว่า คิดเช่นนั้น เป็นการท้าทาย ต่อลองกับพระเจ้า ทำได้อย่างไร.
« พระเจ้าไม่ใช่ปุถุชนที่เราจะต่อลองด้วยได้ หรือนำมาพิสูจน์ หรือแม้หวังจะเข้าใจสิ่งที่อยู่ในใจของพระองค์. คนอย่างเราๆ ไม่รู้ว่าคนที่นั่งข้างเรากำลังคิดอะไร, แม้เป็นคนที่เรารัก เรายังไม่รู้ความคิดของเขา มากพอๆกับที่เขาไม่รู้ว่าเรากำลังคิดอะไร. เช่นนี้แล้ว เราจะหวังเข้าใจสิ่งที่พระเจ้าคิดอยู่ในใจได้อย่างไรเล่า » (Judith 8:12-17)
คนเดินดิน นึกถึงหัวอกของพระเจ้า ตามหัวอกของตัวเอง ในระดับสามัญชนเรี่ยดินได้หรือ?  ถ้าพระเจ้าเป็นเหมือนตน ก็ย่อมมีความอ่อนแอ ทำอะไรไม่เป็น ผิดพลาดเหมือนตน แล้วไปวิงวอนขอนั่นขอนี่จากพระเจ้าคนเยี่ยงตน ได้หรือ?  คำต่อว่าของเธอ มีเหตุผลตรึงจิตสำนึกของเสนาบดีกรมเมือง. แล้วเธอประกาศว่า เธอมีแผนช่วยเมืองเบตูเลีย, ช่วย เยรูซาเล็ม, วิหารใหญ่ของชาวยิวและมวลชน. แต่ไม่ยอมเปิดเผยแผนของเธอ เพียงแต่บอกว่า สิ่งที่เธอทำ จักเป็นที่จดจำไปชั่วลูกชั่วหลาน.  ทุกคนฟังอย่างตั้งใจและชมเชยความกล้ากับความฉลาดของเธอ.  เธอบอกให้เปิดประตูเมือง อนุญาตให้เธอกับหญิงรับใช้ออกไปนอกเมือง (Judith 7-8) เท่านั้น.
       เมื่อพูดเอาชนะใจกรมเมืองให้เธอออกไปนอกเมือง ให้เธอออกไปช่วยชาติแล้ว เธอเตรียมตัวชำระล้างร่างกาย แต่งผิวพรรณให้ผุดผ่อง เพื่อไปเผชิญหน้ากับ Holopherne นายพลแม่ทัพ (ในราชการของ Nabuchodonosor II ผู้ครองบาบีโลนระหว่างปี 605-562 BC).  จูดิตและหญิงรับใช้ ออกไปจากเมือง (แบกกระสอบอาหารไปด้วย)  เดินไปในหุบเขาที่ตั้งของกองทัพอัสซีเรียที่ล้อมอยู่นอกเมืองเบตูเลีย, ตั้งใจให้ทหารจับตัวเข้าไปในค่าย. ทหารเห็นหญิงสาวสวย แต่งตัวดี ดูเรียบร้อยอ่อนโยน รีบพาตัวทั้งสองไปรายงานต่อหน้านายพลโฮโลแฟร์น. 
       จูดิตใช้วาทศิลป์ กล่าวแก่ท่านแม่ทัพว่า เธอได้ยินกิตติศัพท์ของกษัตริย์นาบูโกโดโนซอร์ ว่าเป็นกษัตริย์เก่งกล้า ปกครองบ้านเมืองอย่างชาญฉลาดและเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่ชาติ, ได้ยินชื่อเสียงของท่านแม่ทัพผู้เอาชนะ ปราบกองทัพอื่นๆมามากต่อมากแล้วฯลฯ และบอกว่าเธอรู้เส้นทางข้ามเนินเขาไปถึงเมืองเยรูซาเล็มได้อย่างง่ายและสะดวก ทุ่นเวลาและชีวิตทหาร. โฮโลแฟร์นทึ่งไปกับใบหน้าแสนสวย พูดจาฉะฉาน, แม่ทัพและหัวหน้านายกองทั้งหลายที่ฟังอยู่ด้วย ต่างชื่นชมเธอ. ท่านแม่ทัพสั่งอนุญาตให้ปล่อยเธอเป็นอิสระในค่ายทหารนั้น และเมื่อนางจะไปอาบน้ำแช่น้ำพุร้อน ก็ให้เป็นไปตามที่นางต้องการ. เช่นนี้ จูดิตเป็นคนแปลกหน้าในค่ายทหาร แต่เป็นอิสระ ไม่มีผู้ติดตามควบคุมเธอ และเธอก็เก็บตัวอยู่ในเต๊นต์ตอนกลางวัน ทานอาหารที่นำไปเอง. จูดิตอยู่เช่นนี้สามวันในค่ายทหาร, วันที่สี่ ท่านแม่ทัพโฮโลแฟร์น เชิญเธอไปร่วมทานอาหารด้วยกันในเต๊นต์ที่พักส่วนตัวของเขา. จูดิตรับคำเชิญ.
       จูดิตเป็นหม้ายสาวสวยและรวยทรัพย์  เธอรู้จักธรรมชาติของผู้ชาย. เธอเลือกสวมอาภรณ์ชุดราตรีที่งดงามพร้อมเครื่องประดับทั้งแหวน สร้อยคอ สร้อยข้อมือ กำไลข้อเท้า แถบคาดผมฝังเพชรพลอย (ตามที่พรรณนาไว้ในคัมภีร์).  เธอรู้จักแต่งองค์ทรงเครื่อง เน้นกระตุ้นทั้งจักษุสัมผัสและกลิ่นสัมผัส. แต่งให้สวยงามเตะตา และอบตัวด้วยเครื่องหอมจรุงใจ. ใครที่ได้เห็นเธอเข้าใกล้เธอ หลงใหล เคลิบเคลิ้มในทันที (ยิ่งในค่ายทหารที่ไม่น่าจะมีหญิง งามหรือไม่ มากนัก). คัมภีร์เขียนว่า เพียงแค่เธอยิ้มเท่านั้น ผู้ชายก็ตกหลุม. (Judith 10).
       โอกาสปฏิบัติการกู้ชาติมาถึงแล้ว หญิงรับใช้เตรียมอาหารและเครื่องดื่มให้เธอ นำผืนหนังแกะไปปูให้เธอนั่งหรือนอน, โฮโลแฟร์นเชิญดื่ม เธอก็ดื่มแต่น้ำ(ไวน์)ของเธอเอง. จูดิตชวนเจรจาให้ผ่อนคลาย ท่านแม่ทัพหรือจะไม่เคลิ้มไปกับภาพความงามของสตรีที่อยู่ตรงหน้า, ยิ่งดื่มยิ่งเพลิน จนลืมตัว. ถึงเวลา จูดิตหยิบดาบของนายพลเอง เชือดคอหอยและเฉือนหัวนายพลหลุดอย่างง่ายดาย. ร่างของนายพลกลิ้งตกลงที่พื้น เธอดึงผ้าคลุมเตียงเนื้อดีที่ปักลวดลายสวยงาม ลงปิดร่างนายพลไว้. หญิงรับใช้ นำกระสอบที่ใช้บรรจุอาหารตอนมา ใส่ศีรษะของนายพลลงไป (Judith 12). 
ภาพนี้ผลงานของ คาราวาจีโอ ราวปี 1508-1599
ภาพอยู่ที่หอศิลปะโบราณแห่งชาติในพระราชวังบาร์เบรีนี กรุงโรม
(Caravaggio, Judith beheading Holofernes,
Galleria Nazionale d’Arte Antica, Palazzo Barberini, Rome)  
การนำเสนอภาพของสตรีที่มีชัยชนะเหนือบุรุษ เป็นที่นิยมหรือสะใจคนยุคนั้นหรือยุคไหนๆ. ในที่นี้ จิตรกรไม่สนใจเน้นภาพลักษณ์ร่างหรือความงามของอาภรณ์ของจูดิตหรือสภาพห้อง แต่เน้นความรู้สึกทีท่าของนาทีปฏิบัติการเป็นสำคัญ. นาทีวิกฤตที่จูดิตต้องลงมือ เธอขมวดคิ้ว ปากเม้ม มือเชือดลง. ส่วนหญิงรับใช้ด้านหลัง ก็จ้องเขม็ง ตัวเกร็ง มือกำผ้าที่จะใช้ห่อหัวของแม่ทัพ ตรึงนิ่งอยู่กับที่. เครดิตภาพจากเว็บนี้. 
ทั้งสองออกจากเต๊นต์ เดินผ่านแนวทหารอัสซีเรียที่ยืนประจำการบนเส้นทางออกไปจากค่ายทหารอย่างสงบ เหมือนในคืนวันที่เธอสองคนเดินมาที่ค่าย. เธอกลับไปถึงประตูเมืองเบตูเลีย ตะโกนให้ทหารเปิดประตูให้เธอเข้าไป. เช่นนี้ แม่ทัพใหญ่ของกองทัพอัสซีเรียสิ้นชีวิตด้วยมือของสตรีชื่อจูดิต (Judith 13) แบบประโยชน์สูง ประหยัดสุด. เธอประกาศว่า เพราะพระเจ้าอยู่กับเธอ ปกป้องเธอ จึงไม่เปลืองเนื้อเปลืองตัวนัก. บรรดาเสนาธิการของกรมเมืองต่างสรรเสริญ ว่าเธอเหนือกว่าสตรีนางใดในปัถพี. กรมเมืองเอาหัวของโฮโลแฟร์น เสียบไว้บนกำแพงเมือง. ฝ่ายทหารอัสซีเรียเห็นดังนั้น แตกตื่น. ความอลหม่านทำให้กองทหารชาวอิสราเอล เข้าจู่โจมขับไล่กองทัพอัสซีเรียไปได้.
จูดิตและหญิงสาวใช้ พากันออกจากค่ายทหารอัสซีเรีย กลับเมืองเบตูเลีย Mission accomplished! ภาพของ Sandro Botticelli, The Return of Judith to Bethulia, ผลงานระหว่างปี 1470-1473. ภาพอยู่ที่หอศิลป์ อุฟฟีศิ (Galleria degli Uffizi, Florence)
สตรีในภาพเป็นแบบฉบับของจิตรกร บ็อตตีเชลลี.  เสื้อผ้าพลิ้วลม ผมสีทอง ปอยผมเป็นคลื่นน้อยๆ และที่สำคัญคือ สีหน้าที่อมเศร้านิดๆ ปากเม้ม ทอดสายตาลงต่ำ ถ่อมตนในที. จูดิตคงอดเศร้าใจไม่ได้ที่ต้องฆ่าแม่ทัพศัตรู แม้จะถือกิ่งใบโอลีฟที่แสดงนัยของชัยชนะ แต่การที่ต้องลงมือฆ่าเองนั้น ต้องข่มใจมากทีเดียว ต้องมีพลังใจสูงจากเบื้องบน. ดาบในมือ เป็นดาบของนายพลแม่ทัพเอง. ความตั้งใจเพื่อกู้ชาติของจูดิต จึงต้องคมกว่าดาบ. หญิงสาวผู้ติดตามของเธอก็มีทีท่ามุ่งมั่นไม่น้อย จึงช่วยนายหญิงให้ทำหน้าที่ได้จนสำเร็จ. เครดิตภาพจากเว็บนี้. 

ตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน บุรุษชาติอาชาไนย ตกหลุมพรางความงามความยั่วยวนของสตรีเสมอมา... ยิ่งเมื่อมีไวน์เป็นสื่อด้วยแล้ว ทุกอย่างไหลลื่นไปตามเป้าตามแผนของอิสตรี. ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกและออร์ธอด็อกส์ เห็นว่าเรื่องนี้สอนธรรมได้บทหนึ่ง. พระเจ้ามีแผนการช่วยคนของพระองค์ด้วยวิธีต่างๆ, ใช้คนของพระองค์เป็นเครื่องมือ เช่นในกรณีนี้ จูดิตคือเครื่องมือของพระเจ้า. มีสำนวนพูดกันมาว่า มนุษย์เดินดิน จะหยั่งแผนต่างๆของพระเจ้าได้อย่างไร เหมือนที่พระเจ้าบันดาลให้เกิดมหาภัยทั้งหลายทั้งปวง ถ้ามองว่าพระเจ้าคือความเมตตาสูงสุด ทำไมพระเจ้าจึงทำให้คนล้มตาย ทำให้คนดีๆต้องตายฯลฯ. พระเจ้าคงไม่ได้มองผลของการกระทำ แค่หลักเมตรหรือกิโลเมตรกระมัง..
จูดิตเบนสายตาไม่มองหัวนายพลในมือเธอ. ภาพพิมพ์นี้ ดูจะสรุปเหตุการณ์เรื่องจูดิตได้ดี จากหอศิลป์ The Art Institute of Chicago, Department of Prints and Drawings. เครดิตภาพจาก pxhere.com
เรื่องจบลง จูดิตนำขบวนหญิงชาวเมืองเบตูเลีย ร้องรำสรรเสริญพระเจ้า ไปบนเส้นทางสู่วิหารใหญ่เมืองเยรูซาเล็ม. เธอปล่อยให้หญิงรับใช้ผู้ซื่อสัตย์ของเธอเป็นอิสระ. ไม่ได้แต่งงานใหม่ และใช้ชีวิตอย่างสงบเยี่ยงสตรีผู้ครองตนในศีลธรรม เป็นที่เคารพยำเกรงของมวลชน และมีชีวิตต่อไปจนอายุ 105 ปี.   

     ในประวัติศาสตร์(นอกตำนานศาสนา) เมืองเยรูซาเล็มก็ยังถูกรุกรานจากชนเผ่าอื่น. มีงานวิจัยยุคหลังที่ระบุว่า นายพลแม่ทัพอัสซีเรียยุคนั้น ไม่ใช่โฮโลแฟร์น. ความคลาดเคลื่อนเรื่องชื่อหรือวันเวลาในคัมภีร์กับข้อมูลประวัติศาสตร์ในยุคหลัง สำหรับเราไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เป็นเพียงกรอบ. เนื้อหาที่ศาสนาต้องการ และที่เราเอามาพูดถึง คือพฤติกรรมของคนในสภาวการณ์ต่างๆ ที่กระตุ้นให้นึกถึงพระเจ้า หรือชี้มุมมองศีลธรรม, น่าสนใจกว่าการขุดคุ้ยว่าเรื่องเกิดขึ้นจริงไหมเมื่อไร.
    ดังที่เคยพูดเสมอว่า เรื่องราวมากมายในคัมภีร์ เป็นแหล่งจินตนาการที่คนตักตวงไปใช้ เป็นฐานสร้างงานอื่นๆต่อไป. จิตรกรรมเนื้อหาเรื่องนี้ ในศิลปะตะวันตกมีไม่ต่ำกว่าสามสิบภาพ ในมุมมองของศิลปินต่างๆ. ผู้สนใจตามไปดูภาพเด่นๆได้ตามลิงค์นี้ >> https://www.dailyartmagazine.com/best-judith-head-holofernes-paintings/

** จูดิตและสตรีคนอื่นๆในคัมภีร์ ผู้สนใจตามไปอ่านหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ลิงค์นี้

** ดูหนังเงียบ ขาวดำ เรื่อง จูดิตแห่งเบตูเลีย  ปี 1914 ของผู้กำกับ D.W. Griffith

** หรือภาพยนต์ชื่อ Judith (1966) นำแสดงโดย Sophia Loren เนื้อหาการกู้ชาติ ใช้ชื่อในคัมภีร์เก่า เล่าพฤติกรรมการกู้ชาติในยุคของฮิตเลอร์. ผู้สนใจตามไปดูได้ที่ลิงค์นี้

โชติรส รายงาน
๗ มิถุนายน ๒๕๖๓.


Thursday, June 4, 2020

The Two Biblical Cities

ตอน ๓  เมื่อพระเจ้าเผาเมือง Sodom & Gomorrah...
    เหตุการณ์ที่เกิดกับสองเมืองนี้ ใครที่นับถือพระเจ้า ไม่ว่าชาวยิว มุสลิมหรือชาวคริสต์ ไม่มีใครอยากเอ่ยถึง. บ้างบอกว่าเป็นตอนที่เศร้าที่สุดของคัมภีร์, บ้างบอกว่าเป็นตอนที่อื้อฉาวที่สุด, ผู้เคร่งศาสนามองว่า เรื่องนี้ทำให้ตระหนักว่า พระเจ้ารังเกียจบาปเพียงใด จึงต้องเผาเมืองและประชาชน ทั้งบริเวณใกล้เคียงให้ราพณาสูร. สองเมืองนี้กลับเป็นเป้าหมายในวงวิจัยค้นคว้าของนักโบราณคดี และเป็นเนื้อหาที่ศิลปินตะวันตกนำมาขบคิด หาทางแสดงออกให้ประจักษ์. ส่วนใหญ่เป็นจิตรกรรม ที่ศิลปินชั้นครูได้ทำไว้เป็นจำนวนไม่น้อยเลย.
    นักโบราณคดีรู้ตำแหน่งที่ตั้งของสองเมืองนี้ และแน่ใจว่าถูกต้องตามหลักการของภูมิธรณีศึกษา และสอดคล้องกับสภาพการณ์ที่บรรยายไว้ในคัมภีร์เก่า (Genesis บทที่ 11-14). เมือง Sodom [ซ้อด็อม] กับเมือง Gomorrah [เกาะม่อหระ] ตามตำแหน่งที่เจาะจงได้ คือ ปริมณฑลของเมืองอุตสาหกรรมปัจจุบันชื่อ Sedom ในอิสราเอล บนฝั่งทะเลเด๊ดซี (Dead Sea).
      สรุปสั้นๆ ก็ยังต้องเริ่มเล่าตั้งแต่อับราฮัม (หัวหน้าเผ่าอาวุโสคนสำคัญที่สุดของชาวยิว, มุสลิมและชาวคริสต์ ร่วมกันทั้งสามศาสนา. ถือว่าเขาเป็นผู้เริ่มต้นของชนเผ่าฮีบรู. เป็นคนแรกที่ประกาศว่า มีพระเจ้าองค์เดียว และชาวยิวเป็นชนเผ่าที่พระเจ้าเลือก). อับราฮัม ออกเดินทางไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าสัญญาว่าจะเป็นของเขาและผู้สืบเชื้อสายของเขา (พระเจ้าเชื่อใจอับราฮัมที่สุด หลังจากที่เขาได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาทำตามพระประสงค์ของพระองค์เสมอ แม้เมื่อพระเจ้าสั่งให้ฆ่าไอแซ็คลูกชายสังเวยพระเจ้า). เขาออกเดินทางพร้อมฝูงปศุสัตว์, มี ล็อต-Lot หลานชายไปกับเขาด้วย. ทั้งหมดมุ่งหน้าไปยังแคว้นกานาน (Canaan). ยุคนั้นชีวิตคือการเดินทาง ต้อนฝูงปศุสัตว์ไปในทุ่งหญ้าและย้ายถิ่นต่อไปเมื่อหญ้าหมด จึงอยู่กับที่ไม่นานเกินสาม-สี่ปี. บนเส้นทางก็คงพบหัวหน้าเผ่าคนอื่นๆ อาจต้องต่อสู้หรือตกลงร่วมมือกันเพื่อความอยู่รอด. ฝูงปศุสัตว์ของอับราฮัม ขยายเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้นๆ, ของล็อตก็เช่นกัน. จากกานาน ได้เข้าไปค้าขายถึงอีจิปต์ ร่ำรวยโภคทรัพย์มาก. อยู่ที่นั่นไม่นานก็ถอยออกมา มุ่งสู่แดนศักดิ์สิทธิ์ต่อไป.
อับราฮัมกับล็อตตัดสินใจแยกทางกัน
เครดิตภาพ : believetrust.com/bible/genesis-13/
อับราฮัมและล็อตเห็นต้องกันว่า ต้องแยกทางกันเดินแล้ว เพราะปริมาณสัตว์ที่ทั้งสองมี ใหญ่เกินจะให้อยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกันได้. อับราฮัมให้ล็อตเป็นผู้เลือก หากล็อตไปจับจองดินแดนทางเหนือ เขาจะไปทางใต้. ล็อตมองไปยังทุ่งเขียวชะอุ่มทิศตะวันออก สองฝั่งแม่น้ำจอร์แดน บอกว่าจะไปตั้งถิ่นฐานแถวนั้น มันเหมือนสวนสวรรค์, จึงเดินทางไป และไปปักหลักอยู่ชานเมืองซ้อด็อม.  อับราฮัมมุ่งลงใต้ ไปปักหลักอยู่ที่เมือง Hebron ซึ่งอยู่ในแดนกานาน.
       วันหนึ่งพระเจ้ามาปรากฏตัวพร้อมเทวทูตสององค์ ไปเยือนอับราฮัม. อับราฮัมเชิญชวนให้เข้าไปพักในบ้านของตนตามขนบของชาวยิวที่ดี จัดหาอาหารเลี้ยงบริการ. พระเจ้าบอกกับอับราฮัมว่า ถึงเวลาต้องทำลายเมือง Sodom & Gomorrah แล้วเพราะชาวเมืองศีลธรรมเสื่อม ลักขโมยเป็นนิสัย, ทั้งยังเล่นเพื่อน มั่วสุมเสพกามในหมู่เพศเดียวกัน (มีผู้เจาะจงว่า เมืองซ้อด็อม รวมชายรักชายและเมืองเกาะม่อหระ รวมหญิงรักหญิง).
อับราฮัมขอว่า อย่าทำลายทั้งเมืองเลย อาจมีคนดีในสองเมืองนั้น คนดีเหล่านั้นต้องตายไปด้วยหรือ, อับราฮัมนึกถึงล็อตหลานชายที่ไปตั้งถิ่นฐานชานเมืองซ้อด็อม. พระเจ้าบอกว่า ถ้าพบว่าคนดีมีศีลธรรม และไม่มีพฤติกรรมที่พระเจ้าประณามสักห้าสิบคน ก็จะไม่ลงโทษเมืองนั้น. อับราฮัมต่อรองกับพระเจ้าต่อไป จนในที่สุดพระเจ้ายอมให้ที่สิบคน. นั่นคือหากพบคนดีเพียงสิบคน ก็จะยกโทษให้. เทวทูตสององค์จากไปสู่เมืองซ้อด็อม (ในร่างของชายธรรมดาๆสองคน) เพื่อไปสำรวจ และเพื่อช่วยคนดีให้หนีออกไปจากเมือง. เทวทูตพบว่า ล็อตเท่านั้นที่เป็นคนดีเหนือคนอื่นๆในแดนนั้น.
      บ้านล็อตอยู่ก่อนถึงประตูเมืองซ้อด็อม เห็นเทวทูตปลอมตัวมาสององค์  รีบไปเชิญชวนให้เข้าบ้านตามขนบประเพณีที่ต้องเอื้อเฟื้อแก่ผู้เดินทางผ่านมา. เขาบริการอาหารและบอกให้ค้างแรมที่บ้านเขา แล้วค่อยเดินทางต่อพรุ่งนี้. ยังไม่ทันดึก มีเสียงชาวเมืองซ้อด็อม มาล้อมบ้านล็อต บอกว่าขอให้ส่งหนุ่มแปลกหน้าสองคน ออกไปให้พวกเขา, ล้อตเก็บสองคนไว้เอง ไม่ถูก. ทุกคนทั้งคนแก่คนหนุ่ม ต่างต้องการ “รู้จัก” ต้องการเสพสุขกับคนแปลกหน้ารายใหม่สองคน. ล็อตออกไปยืนขวางประตู ปิดประตูบ้าน วิงวอนชาวเมืองว่า อย่าทำอะไรชั่วร้ายกับแขกแปลกหน้าสองคนนี้เลย เขายินดีมอบลูกสาวพรหมจารีสองคน ไปบริการทุกคนแทน. แต่ชาวเมืองไม่ยอมฟังเสียง. ดึงดันโถมประตูบ้าน. เทวทูตสององค์ข้างใน รู้เห็นเหตุการณ์ดี รีบดึงตัวล็อตเข้าไปในบ้าน บันดาลให้คนที่มาออกันตรงประตูตาบอด มองไม่เห็นประตู.
ล็อตออกมาวิงวอนชาวเมืองว่าอย่าทำอนาจารกับชายแปลกหน้าสองคนเลย, เทวดาออกมาดึงตัวล็อตให้กลับเข้าไปในบ้าน ให้เตรียมตัวหนีออกไปจากเมือง. ภาพพิมพ์นี้ของ Albrecht Dürer, Heinrich Aldegrever พิมพ์เป็นภาพในปี 1555. 
จิตรกรรมของ Jacob Jordaen ปี 1620. เทวทูตเร่งให้ครอบครัวล็อต หนีออกไปจากบริเวณเมือง Sodom ให้ออกไปไกลที่สุดจากหุบเขานั้น ให้ไปอยู่ในภูเขาเลย. ภาพ Public domain via commons.wikimedia.org

เทวทูตเร่งให้ล็อต ภรรยากับลูกสาวสองคน ให้ออกไปจากเมืองไปให้ไกลที่สุด, ให้ไปอยู่บนเขา พ้นปริมณฑลของเมืองในหุบเขานั้น เพราะพระเจ้าจะทำลายเมือง Sodom, Gomorrah และเมืองเล็กเมืองน้อยในแถบนั้นทั้งหมด คืนนั้น. กำชับให้ล็อตและครอบครัวมุ่งหน้าออกไปจากเมือง ห้ามหันกลับไปมองเมือง Sodom เด็ดขาด. ระหว่างทางภรรยาของล็อต อดไม่ได้ หันกลับไปดู. ร่างของนางแน่นิ่งกลายเป็นเสาเกลือ(halite) ไปในบัดดล. คนอื่นต้องเดินต่อไป จึงรอดตาย.
ภาพนี้เจาะจงว่าเป็นผลงานของ อัลเบรชต์ ดูราร์ ราวปี 1499. หญิงสาวสองคนเดินตามบิดา. คนเสื้อแดงมีห่อผ้าห่อใหญ่มากทูนไว้บนหัว, อีกคนมือถือกล่อง(สมบัติ) และไม้กรอด้าย (อย่าลืมว่า ผู้หญิงเป็นผู้ทอผ้า จัดหาเครื่องนุ่งห่มมาแต่โบราณกาล). ทั้งสองมองไปข้างหน้า ไกลออกไปเห็นเสาดำๆบนทางเดินระหว่างโขดหิน (ดอกจันแดง) บอกให้รู้ว่า ภรรยาล็อตกลายเป็นเสาเกลือ (halite) แน่นิ่งอยู่ตรงนั้นไปแล้ว เพราะความอยากรู้อยากเห็น หันหน้าไปดูเมืองซ้อด็อมว่าถูกไฟเผาจริงหรือฯลฯ
ภาพนี้มิใช่ภาพจิตรกรรมบนผืนผ้าใบ ภาพโดดภาพเดียว แต่เป็นภาพที่วาดไว้ด้านหลังของภาพชื่อ Haller Madonna ของจิตรกร (ที่อยู่ที่หอศิลป์ National Gallery of Art, Washinton D.C.) ข้างล่างนี้
Haller Madonna ของ Albrecht Dürer (circa 1496/1499)
Public domain via Commons.wikimedia.org

       คืนนั้น พระเจ้าส่งพายุเป็นห่าไฟ ห่าก้อนกำมะถัน(brimtones) กระหน่ำเมือง Sodom, Gomorrah และแถบนั้นทั้งหมด. ผู้คน สัตว์ทั้งหลาย พืชพรรณทั้งหมด ถูกไหม้เป็นเถ้าถ่าน. (Genesis 19:24). เรื่องนี้เกิดขึ้นราว 4000 ปีก่อนคริสตกาล, ธรณีศึกษาในยุคปัจจุบัน ยังพบร่องรอยของก้อนกำมะถัน. ดินแดนรอบๆทะเลสาบเด๊ดซี เต็มไปด้วยเกลือและมีปริมาณกำมะถันสูงมาก มีน้ำพุร้อนที่ปนเกลือแร่กำมะถันที่ผู้คนนิยมไปแช่เพื่อรักษาบรรเทาโรคผิวหนัง. แม่น้ำแถบนั้นกลายเป็นแม่น้ำเค็ม มีเกลือแร่เจือปนในปริมาณสูง ที่ทำให้คนลอยในน้ำ. Cf. Dead Sea. ตัดบริบทศาสนาออกไป พิจารณาเรื่องห่าไฟและพายุก้อนกำมะถัน ทำให้คิดว่าอาจเกิดจากภูเขาไฟระเบิด, ดินแดนแถบนี้ มีปรากฏการณ์แผ่นดินไหวเนืองๆในยุคโบราณ.
      การที่เมืองถูกถล่มในไฟบรรลัยกัลป์ ที่หลายคนโยงไปถึงความรักร่วมเพศ นักเทวศาสตร์คนอื่นอ้างไปถึงข้อมูลอื่นจากคัมภีร์ ที่มิได้เจาะจงเรื่องการรักร่วมเพศ แต่พูดถึงด้วยภาษาคลุมเครือที่กลายไปเน้นว่า บาปที่เลวร้ายกว่าและที่ทำให้พระเจ้าต้องเผาเมือง คือนิสัยมักความรุนแรงและขาดความโอบอ้อมอารีของชาวเมือง นิสัยอย่างนั้นตรงข้ามกับอุปนิสัยของอับราฮัมและล็อต.
      ในคืนวันที่พระเจ้าส่งพายุไฟลงไปเผาเมือง Sodom & Gomorrah ล็อตและลูกสาว ขอไปอยู่ที่เมือง Zoar ก่อน. ต่อมาจึงพากันขึ้นไปอยู่ในภูเขา และเริ่มปักหลัก. ลูกสาวสองคน ปรึกษากันว่า พ่อก็แก่แล้ว สถานการณ์ที่เราอยู่ในขณะนี้ เราคงไม่มีโอกาสพบชายคนใด. เราต้องช่วยรักษาสายพันธุกรรมของพ่อไว้. ทั้งสองตกลงใช้ไวน์ให้พ่อดื่มจนมึนเมา คืนแรกลูกคนโตเข้านอนกับพ่อ คืนต่อมาลูกคนเล็ก. ทั้งสองต่อมา ตั้งครรภ์.
ล็อตกับลูกสาวสองคนไปอยู่ในภูเขา. ภาพนี้ยังมองเห็นควันไฟไกลออกไปที่ยังมิได้มอดดับ. บนเนินเขาที่ร่มรื่น. ชีวิตต้องดำเนินต่อ การสืบเชื้อสายจากล็อตก็ต้องดำเนินต่อไป ในเมื่อภรรยาของล็อตได้กลายเป็นเสาเกลือไปแล้ว เหลือลูกสาวสองคนที่ต้องมีทายาทสืบสกุลของพ่อต่อไป. ไวน์ป็นตัวช่วยที่ดี เพื่อให้เป็นไปตามแผนของลูกทั้งสอง. เครดิตภาพ : Lucas Gassel. Public domain via commons.wikimedia.org  ปัจจุบันอยู่ที่ Jonckheere Gallery (Monaco)
เช่นนี้ลูกสาวคนโตได้ให้กำเนิด โมอับ-Moab ชื่อแปลว่า จากบิดา ผู้จะเป็นต้นตระกูลของเผ่า Moabites. ส่วนลูกสาวคนเล็กให้กำเนิด Ben-Ammi ที่แปลว่า บุตรชายของชนเผ่าฉัน และเป็นต้นตระกูลของเผ่า Ammonites ต่อไป. (Genesis 19 : 30-38)
เรื่องล็อตกับลูกสาว เป็นเรื่องที่อื้อฉาวที่สุดในคัมภีร์ แต่องค์การศาสนาก็มิได้ตัดทิ้งไป ถึงกระนั้น คงไม่มีใครเอาเรื่องนี้ไปเทศน์. มีแต่นักวิจัยและศิลปินเท่านั้นที่สนใจนำเสนอ, ยิ่งสมัยนี้ เรื่องการรักร่วมเพศ กลายเป็นเรื่องสามัญที่สังคมยอมรับมากขึ้นแล้ว.

      ส่วนตัว ได้เห็นอะไรที่น่าสนใจที่โบสถ์เมืองลียง (Cathédrale Saint-Jean-Baptiste de Lyon, France) มีประติมากรรมจำหลักในกรอบสี่เหลี่ยมที่เนื้อหาเป็นเหตุการณ์ในคัมภีร์เก่า เรียงกันไป, ประดับด้านนอกของกำแพงโบสถ์(ถ้าจำไม่ผิด). ในหมู่แผ่นหินอ่อนทั้งหลายที่มีเนื้อหาอื่นจำหลักไว้ มีแผ่นหนึ่งแผ่นเดียว ว่างเปล่า เกลี้ยงเกลาสะอาดเรียบร้อย ไม่มีร่องรอยใดๆเลย. ต่อมาได้อ่านงานวิจัยบทหนึ่งเกี่ยวกับโบสถ์ที่นั่น เขาระบุว่าพบข้อความในจารึกเก่า ว่านายช่างเจตนาปล่อยให้แผ่นนั้นว่างไว้เฉยๆอย่างนั้น. แผ่นนั้นเป็นเนื้อหาของล็อตกับลูกสาวสองคน, นายช่างเห็นสมควรว่าปล่อยว่างดีที่สุด ให้เป็นจินตนาการอิสระของแต่ละคนเมื่ออ่านเนื้อหาเหตุการณ์นี้ในคัมภีร์. นั่นเป็นการตัดสินใจของนายช่างจำหลักหิน และที่น่าแปลกใจยิ่งขี้น คือไม่มีใครท้วงหรือเสนอให้สร้างสรรค์เป็นภาพอะไรเลย. ทุกคนเห็นพ้องให้ปล่อยพื้นที่แผ่นนั้นว่างเปล่าเกลี้ยงเกลา. ชอบใจเมื่อได้เห็น ทั้งแผ่นหินอ่อนนั้น และจิตสำนึกของนายช่างกับคนยุคนั้นในฝรั่งเศส. คิดว่าคงยังเป็นเช่นนั้นมาจนทุกวันนี้ แต่คนอาจไม่สนใจ หรือไม่เห็น.
      ลูกชายของล็อตที่เกิดจากลูกสาวของเขาเอง ต่อไปตั้งตนมีดินแดนของตัวเอง แต่มักมีเรื่องแย่งชิงดินแดนเสมอกับลูกๆสิบสองเผ่าเชื้อสายของอิสราเอล(จาค็อบ).  จบสรุปเรื่องล็อต ตามที่เล่าในคัมภีร์แต่เพียงเท่านี้.
No comment ค่ะ.

โชติรส รายงาน
๔ มิถุนายน ๒๕๖๓.