Wednesday, April 8, 2020

The underground network

พลังเร้นลับของเครือข่ายใต้ดิน 
Peter Wohlleben [ปีเตอ โวลเลเบ็น] เป็นวิศกรป่าไม้ชาวเยอรมัน, เป็นผู้ดูแลป่าไม้ในชุมชนเล็กๆชื่อ Hümmel [อู๊เมิล] ในเมือง Eiffel [เอเฟล]. เขาได้ประพันธ์หนังสือ « Das geheime Leben der Bäume » แปลเป็นภาษาไทยว่า ชีวิตลับของต้นไม้  อุทิศแก่สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรพืชพรรณ. หนังสือของโวลเลเบ็นเป็นหนังสือยอดฮิต แปลออกเป็น 32 ภาษา(แล้วอย่างน้อย) และมีจำนวนขายกว่าล้านเล่ม. กลายเป็นหนังสือคลาซสิกที่เป็นที่กล่าวขานกันไปทั่วโลก (ขึ้นในรายชื่อหนังสือของ Washington Post และ New York Times bestseller lists) เป็นปรากฏการณ์ในโลกหนังสือ โลกของป่าไม้และโลกของธรรมชาติ. หนังสือเล่มนี้เบนความคิดของคน เปลี่ยนวิสัยทัศน์ของคนเกี่ยวกับต้นไม้และป่าไม้ไปอย่างสิ้นเชิง.
Peter Wohlleben ในป่าไม้ beech ในความดูแลของเขา.
เครดิตภาพ : Le Point
      พูดกันว่า Peter Wohlleben ได้คืนป่าไม้แก่ชาวเยอรมัน. ความผูกพันของคนเยอรมันกับป่าไม้ มีนักเขียนและกวี เคยพูดไว้ไม่น้อย (เช่น Goethe, Tieck, Eichendorff). Tieck กล่าวถึงป่าไม้ที่พักพิงว่า มนุษย์พัฒนาความเป็นคน ใต้ร่มไม้ในป่าใหญ่.  ปีเตอ โวลเลเบ็น บอกว่า เขาไม่ได้คืนป่าไม้แก่ชาวเยอรมันหรอก เขาเพียงอยากเล่าเรื่องของต้นไม้ในป่าเพื่อให้คนเข้าใจป่าไม้มากขึ้น ด้วยการนำคนเข้าไปในป่า ชี้ให้เห็น อธิบาย และเล่าเรื่องของต้นไม้ป่าไม้ ด้วยความผูกพันและรู้จริง. เขาทำเช่นนี้มานานกว่ายี่สิบปีแล้ว. ผู้คนสนใจ ติดตาม อยากรู้อยากฟังเรื่องราวของต้นไม้ ของป่าไม้. ลีลาการเล่าเรื่องของเขา ประทับใจ เขาเปรียบต้นไม้กับคน มองดูป่าไม้เหมือนชุมชน เหมือนสังคมคน ทำให้คนจินตนาการได้ชัดเจนจากข้อมูลและข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับต้นไม้และระบบนิเวศในป่าไม้. หนังสือเล่มนี้ของเขาจึงน่าอ่าน ภาษาสละสลวยดั่งบทกวี แทรกด้วยอารมณ์ขัน.
      โวลเลเบ็นเจาะจงด้วยว่า เขามิได้ใฝ่คิด(ตามกระแสโรแมนติค) ว่า ต้นไม้หรือป่าไม้ นำทางคนไปสู่การปลดปล่อยตัวเองจากโลกของวัตถุอย่างไร (ในทำนองเช่นที่ J.J.Rousseau เขียนไว้ในหนังสือ « Les Rêveries du promeneur ­solitaire » ความฝันของคนเดินเล่นผู้โดดเดี่ยว ว่า ธรรมชาติให้ความอิ่มเอิบปราโมทย์แก่ประสาทสัมผัสและจิตใจ จนไปถึงจุดเคลิบเคลิ้มหลงใหลได้). เขาเพียงอยากให้คนเข้าใจว่า จำเป็นอย่างไรที่คนต้องปลดปล่อยป่าไม้ให้เป็นอิสระ,  ให้ธรรมชาติได้เติบโตงดงามตามพัฒนาการของมัน, ให้หยุดมองต้นไม้เป็นตัวเลขของผลประโยชน์ เหมือนที่เขาเคยมองป่าไม้ แล้วเห็นแผ่นไม้วัสดุก่อสร้างแบบต่างๆ. เขาเคยมองต้นไม้และตีค่าของต้นบีช (beech) ต้นสนสายพันธุ์ต่างๆและคาดคะเนเป็นเงินตรา, ต้นไหนจะได้ราคาดี, ต้นไหนเหมาะเป็นเชื้อเพลิงเท่านั้น. ดีขึ้นมาอีกหน่อย คือมองป่าไม้ว่าเป็นปอด เป็นระบบสร้างออกซิเจน, เป็นสิ่งช่วยให้น้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์, ระบบนิเวศที่สมดุลเป็นต้น. เขาไม่เคยมองตัวตนของต้นไม้มาก่อนเลย จนวันหนึ่งได้ยินคนเทียบต้นไม้หนึ่งว่า รูปลักษณ์กิ่งก้านของต้นนั้น มันเหมือนเส้นทางชีวิตของเขา. เขาสะดุดหยุดกึกตั้งแต่นั้น. เราถูกสอนกันมาว่า โลกของคนกับโลกของพืชพรรณนั้น คนละโลก แยกจากกันอย่างสิ้นเชิง. แต่ในโลกของความจริง มันมิได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป. จากนั้นแทนการมองแต่ลำต้นสูงใหญ่และกิ่งก้านสาขาของต้นไม้ เขาก้มลงดูพื้นป่าที่ต้นไม้แต่ละต้นยืนอยู่, ไม่นาน ป่าไม้นั้นไม่เหมือนป่าไม้เดิมที่เขาคิดว่าเขารู้จักอีกต่อไป. เขาตระหนักถึงข้อผิดพลาดในหลักการดูแลบริหารป่าไม้ที่ทำกันมา. ต้องมีกระบวนการบริหารป่าไม้ที่เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมของป่าไม้เอง ที่จักเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่ไม่เพียงสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจที่ยั่งยืนแล้ว ยังช่วยรักษาสุขภาพของโลกของเรา สร้างสุขอนามัยที่ดีต่อสรรพชีวิตบนโลกทั้งทางกายและทางใจ.
      เขาพบตอไม้เก่า ที่ลำต้นถูกโค่นไปแล้ว นำไปพิสูจน์อายุ จึงรู้ว่า ตอนั้นคือต้นใหญ่ที่ถูกโค่นไปเมื่อ 450 ปีก่อน จนบัดนี้ตอนั้นยังมีชีวิต ยังเขียวๆและหายใจ. เขาจึงสืบเสาะสำรวจต่อว่า ตอนี้ได้พลังชีวิตมาจากไหน. มีคณะนักวิทยาศาสตร์ตามวิเคราะห์ตรวจสอบจนรู้อย่างแน่ชัดว่า ต้นไม้ที่อยู่ในแวดล้อมนั้น เป็นผู้ช่วยกู้และธำรงชีวิตของตอนั้นไว้. ใจกลางของตอหรือของต้นไม้ที่เคยมีชีวิตนั้น ตายสนิทแล้ว ตอนั้นไม่ผิดโครงกระดูกที่ยังค้างอยู่บนดิน ภายในตอก็เน่าเปื่อยไปแล้ว แต่ยังมีรากและเนื้อไม้ของตอนั้น (เมื่อตัดขวาง ส่วนของเนื้อไม้สีอ่อน l’aubier, และเปลือกต้นไม้ชั้นใน la cambium) ที่ยังมีชีวิต. มันไม่น่าเชื่อว่ามีชีวิตได้อย่างไร ในเมื่อมันไม่มีใบไม้ทำหน้าที่สังเคราะห์แสงเพื่อผลิตอาหาร(กลูโคส)เลี้ยงดูตอนั้นได้. ตอนั้นได้สารอาหารมาจากไหน มีหญ้าเขียวขึ้นอาศัยบนตัวมันอย่างมีความสุข. การสำรวจวิจัยด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้รู้ว่า ต้นไม้ข้างๆ เป็นผู้ส่งสารอาหารเลี้ยงดูตอไม้นั้นทางรากที่เชื่อมต่อถึงกัน. (ทีมวิจัยป่าไม้แห่งมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียของแคนาดา นำโดยศาสตราจารย์ Suzanne Simard หัวหน้าทีมวิจัยโครงการ The Mother Tree Project, ก็พบพฤติกรรมแบบเดียวกัน ที่มีข้อพิสูจน์ยืนยันทางวิทยาศาสตร์ชัดเจนว่า ต้นไม้ใหญ่ที่เติบโตเต็มที่แล้ว ช่วยต้นไม้ลูกๆด้วยการสละคาร์บอนให้ ส่งไปตามเครือข่ายของเห็ดราใต้ดิน ในแบบของการให้อาหาร.) เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกมากมายที่เขาได้เรียนรู้และสังเกต บวกความรู้และการตรวจสอบจากสถาบันวิทยาศาสตร์ (เช่นจากมหาวิทยาลัยกรุงบอนน์) ทำให้เขามองป่าไม้เหมือนชุมชน เหมือนครอบครัวคนครอบครัวหนึ่ง นำไปสู่วิธีการเล่าเรื่องต้นไม้ป่าไม้ ที่ไม่เหมือนใคร.
       ทำไมหนังสือของโวลเลเบ็นจึงกลายเป็นหนังสือยอดนิยมได้นั้น อธิบายได้ง่ายๆว่า “ ชนรุ่นเราตระหนักชัดเจนแล้วว่า ธรรมชาตินั้นเปราะบาง ไม่ว่าสัตว์ น้ำ หิน ภูมิอากาศ หรือต้นไม้ ที่รวมกันอยู่ในเนื้อหาในหนังสือของโวลเลเบ็น... การที่เขาเป็นวิศวกรป่าไม้ และเป็นนักเล่าเรื่องที่ชาญฉลาด อีกทั้งมีความเป็นครูในสายเลือด ที่ทำให้เขาถ่ายทอดข้อมูลวิทยาศาสตร์อันซับซ้อนเกี่ยวกับต้นไม้และป่าไม้ ให้เป็นเรื่องเข้าใจง่ายสำหรับชนทุกชั้น.” (ref.  « Sagesse des arbres » (ต้นไม้ฉลาดรู้) ที่ลงพิมพ์ในวารสาร La Vie ฉบับวันที่ 15 มิถุนายน 2017.)
        เขามองต้นไม้เหมือนมองคน พฤติกรรม ปฏิกิริยาของต้นไม้ เปรียบเป็นปฏิกิริยาของคน. ต้นไม้เหมือนครอบครัวของคน พวกมันอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว บ่มเลี้ยงลูกหลานมาด้วยกัน สื่อสารเล่าสารทุกข์สุกดิบแก่กัน และประคับประคองต้นลูกให้เจริญวัย อีกทั้งแบ่งปันอาหารแก่ต้นไม้ต้นอื่นที่บาดเจ็บหรือเจ็บป่วย สร้างระบบนิเวศคุ้มกัน เหมือนเป็นกันชนให้ยามเกิดอากาศวิปริตร้อนจัดหรือหนาวจัด เพื่อให้ทั้งชุมชนต้นไม้อยู่รอดไปด้วยกัน. ผลจากการอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวนี้เอง ที่ทำให้ต้นไม้มีชีวิตยืนนานมาก.
ต้นแม่ ดูแลต้นลูกๆ
https://rside.org/youngauthors/tree-chatter-by-justin-h/
งานวิจัยของมหาวิทยาลัยกรุงบอนน์เรื่องหนึ่งระบุว่า ต้นไม้มีโครงสร้างคล้ายโครงสร้างของสมอง โดยเฉพาะตรงปลายรากแต่ละเส้น ที่ทำหน้าที่วิเคราะห์สารพิษและสภาพดิน แล้วส่งข้อมูลเป็นสัญญาณไฟฟ้าเพื่อจัดและบริหารการเจริญของราก. นักวิทยาศาสตร์หลายคนยังไม่อยากเรียกสมรรถภาพเช่นนี้ของต้นไม้ว่าเหมือน “สมอง” (คนหรือสัตว์) ตามความเข้าใจปัจจุบัน. สำหรับโวลเลเบ็น เขาเห็นว่าไม่จำเป็นที่ต้องปักพรมแดนชัดเจนระหว่างพืชพรรณกับสัตว์อย่างแตกหักลงไป. เพราะในที่สุด คน สัตว์ พืชคือสิ่งมีชีวิตในบริบทโลกเดียวกัน. ปฏิกิริยาของแต่ละชีวิต สะท้อนความทรงจำร่วมกัน (collective memory หรือ morphic resonance ในวิวัฒนาการของโลก.)

เครือข่าย wood wide web คืออะไร
      เป็นที่รู้กันแล้วว่า พืชพรรณส่งสัญญาณสื่อสารกันและกัน ทั้งบนดินและใต้ดิน. กรณีบนดินเป็นหัวข้อวิจัยที่ยืนยันกันมานานหลายสิบปีแล้ว. ต้นไม้เมื่อถูกรุกรานจากสัตว์หรือเชื้อโรค จะส่งสัญญาณเคมีกระจายไปในอากาศ ซึ่งเป็นการเตือนภัยเบื้องต้นแก่ต้นไม้ที่อยู่โดยรอบ ให้โอกาสต้นอื่นๆสร้างอะไรขึ้นปกป้องตัวมันเอง. กรณีที่โด่งดังน่าจะเป็นเหตุที่เกิดขึ้นในแอฟริกาใต้ (เล่าเพียงย่อๆ เพราะเคยเขียนเล่ามาแล้ว ref. ที่นี่ ) ในทศวรรษที่ 1980 ฟาร์มปศุสัตว์บนดินแดน Transvaal จำนวนมากที่มีละมั่งสายพันธุ์หนึ่ง (เรียกกันที่นั่นว่า koudous เป็นพันธุ์ที่เลี้ยงสำหรับเกมส์ล่าสัตว์) ตายลงๆโดยหาสาเหตุไม่ได้. หลังการชันสูตรศพ พบว่าละมั่งทั้งหลายตายเพราะความหิว แต่ที่แปลกคือในกระเพาะของสัตว์ที่ตายๆลงไปนั้น กลับมีใบ acacia เต็ม ซึ่งเท่ากับว่า มันมีอาหารกินเพียงพอ ทำไมจึงตายเพราะขาดอาหารได้. เมื่อวิเคราะห์ต่อไป พบว่า ใบไม้ที่พวกมันกินเข้าไปนั้น มีระดับสารแทนินสูงมากที่ไปหยุดการย่อยอาหาร. ละมั่งไปกินใบไม้ของต้นไม้มากเกินไป จนต้นไม้ต้องผลิตสารแทนินเข้มข้นส่งออกไปที่ใบ เมื่อละมั่งกินเข้าไปแล้ว ไม่ย่อยจึงล้มตาย. ละมั่งมีชีวิตอย่างอิสระในฟาร์ม  มันเปลี่ยนไปกินต้นไม้อื่นได้. แต่ความฉลาดของต้นไม้คือ ต้นไม้ acacia ในฟาร์มทั้งหมด ต่างส่งสัญญาณบอกต่อๆกันไปถึงอันตรายจากละมั่ง และทำให้ทุกต้นผลิตสารแทนินจำนวนมากในใบของมัน เพื่อปกป้องตัวมันเอง. ละมั่งแม้ย้ายไปกินต้นอื่นก็ตายลงเหมือนกัน. กว่านักวิจัยจะเข้าใจใช้เวลาสะกดรอย สืบสวนกรณีฆาตรกรรมนี้อยู่นาน. ต้นไม้ยังรู้จักแยกแยะน้ำลายของแมลงหรือเพลี้ยที่ไปรบกวนมัน, มันมีวิธีกำจัดศัตรูของมันอย่างชาญฉลาด ด้วยการสร้างสารเคมีเฟอโรโมน (pheromones). สารนี้มีประสิทธิภาพคล้ายฮอร์โมน ชักจูงแมลงสายพันธุ์ที่กินเพลี้ยชนิดนั้น. ในที่สุดแมลงนั้นไปช่วยกำจัดศัตรูของต้นไม้ต้นนั้นลงไปได้. เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเหล่านี้ มีมากที่คนเริ่มค้นพบและเข้าใจในที่สุด.  
       ใต้พื้นดินลงไป ตามรากของต้นไม้ทั้งหลาย เป็นที่อยู่ของเห็ดรา ตัวที่รู้จักกันดีคือ mycorrhizal fungi (มาจากศัพท์ mykós ที่แปลว่า เห็ดรา และคำ riza ที่แปลว่า ราก ในภาษากรีก) ที่แผ่กระจายเป็นเครือข่ายเห็ดรา. เป็นเครือข่ายสายใยที่เปราะบางและถี่ยิบ ที่ถักทอเข้าเป็นผืนยาวและเชื่อมต่อๆกันไปอยู่ใต้พื้นดินและเชื่อมต้นไม้พืชพรรณเกือบ 90% ที่เห็นบนดิน. เครือข่ายนี้ส่งข้อมูลและแหล่งอาหารไปถึงกัน นักวิทยาศาสตร์เรียกเครือข่ายเห็ดราเหล่านี้ว่า เป็น wood wide web. เห็ดราเหล่านี้ไม่ทำอันตรายต้นไม้หรือ คำตอบคือเป็นการอยู่ร่วมกันถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน. เห็ดราพวกนี้มีเอนไซม์พิเศษที่สกัดสารอาหารอื่นๆจากเนื้อดิน เช่นสารฟอสฟอรัสและไนโตรเจน มอบให้แก่ต้นไม้ เพื่อแลกกับสารน้ำตาลกลูโคสที่มีธาตุคาร์บอนสูงที่ต้นไม้ผลิตเองได้จากกระบวนการสังเคราะห์แสง (เห็ดราไม่มีใบไม้ จึงสังเคราะห์แสงไม่ได้, ส่วนต้นไม้ไม่มีเอนไซม์ย่อยสารอาหารหลายชนิดในดิน เห็ดราทำแทนให้ต้นไม้). สองชีวิตต่างสายพันธุ์จึงเกื้อกูลกันและกันเป็นอย่างดี. ความสัมพันธ์ดังกล่าวที่คนเพิ่งเข้าใจ ความจริงเป็นเช่นนี้มาแล้วตั้งแต่ปรากฏมีพืชพรรณบนโลก อย่างน้อยเมื่อ 40-50 ล้านปีก่อน เป็นความร่วมมือเกื้อกูลต่อกันในโลกของพืชพรรณ ที่ทั้งผู้ให้และผู้รับต่างได้ประโยชน์ และที่มิได้จำกัดอยู่ในวงของสายพันธุ์เดียวกัน แต่ยังข้ามสายพันธุ์ด้วย.
เครดิตภาพ : Pinterest
      เครือข่ายเห็ดรานี้แหละ เป็นช่องทางสื่อสารภาคใต้ดินระหว่างต้นไม้. ต้นไม้ที่เจริญวัยกว่า แชร์น้ำตาลให้แก่ต้นไม้อายุยังน้อย หรือต้นไม้ที่ป่วย. พวกมันส่งอาหารที่เหลือในตัวมัน ตามช่องทางเส้นใยของเห็ดรา ต่อไปถึงต้นไม้อื่นๆ. ดังกรณีตอไม้ที่เล่ามาข้างต้น. มีความจำเป็นอะไรหรือที่ต้นไม้ต้นอื่นส่งอาหารไปช่วยผดุงชีวิตของตอไม้นั้น. โวลเลเบ็น นึกไปถึงว่า ตอนั้นเนื่องจากมีอายุมากกว่าต้นไม้อื่นรอบข้าง มันอาจมีความทรงจำอะไรของโลกเก่าที่ยังเหลืออยู่ที่ต้นไม้อื่นยังไม่รู้ก็เป็นได้. มันอาจเป็นตอไม้เฒ่าเหมือนปูชนียบุคคลที่ควรอนุรักษ์ไว้. ทฤษฎีของโวลเลเบ็น ได้รับการยืนยันและพิสูจน์จากงานวิจัยค้นคว้าของมหาวิทยาลัยบริทิชโคลัมเบียที่แคนาดา.
ต้นกลางที่เฉาปวกเปียกกำลังจะตาย ส่งมอบสารอาหารที่เหลือไปให้สองต้นข้างๆ

      ทีมนักวิจัยโดยมี Suzanne Simard เป็นผู้นำ (มหาวิทยาลัยบริทิชโคลัมเบียในแคนาดา, ref. 2015) ได้ทดลองเลี้ยงต้นอ่อนของต้นสนดั๊กลัสเฟอร์ (Douglas Fir tree) คู่กับต้นสน (ponderosa pine)ต้นอ่อนๆ ในบริเวณใกล้เคียงกัน มีตาข่ายขนาดเล็กฝังลงในดินเพื่อกันไม่ให้รากของสองต้นนี้สัมผัสกันได้ แต่ตาข่ายเล็กอย่างไร เครือข่ายเห็ดรา mycorrhizal fungi ยังสามารถเชื่อมถึงกันอยู่ใต้ดิน. ปลูกทิ้งไว้เช่นนี้ระยะหนึ่ง เมื่อนักวิจัยดึงเข็มสนออกจากต้นดั๊กลัสเฟอร์จนหมด เท่ากับว่า จะปล่อยให้ต้นนั้นตาย เพราะไม่มีเข็มช่วยผลิตสารอาหารให้มัน, ต้นดั๊กลัสเฟอร์ได้ส่งสารเตือนภัยผ่านเครือข่ายเห็ดราไปยังต้นสน ทำให้ต้นสนเร่งรีบผลิตเอนไซม์(ที่ทีมงานวิจัยดักจับได้) เพื่อปกป้องตัวมันทันที. อีกกรณีศึกษาหนึ่งที่พลิกความคาดหมาย คือ เมื่อปลูกต้นดั๊กลัสเฟอร์ (A) คู่กับต้นไม้อีกต้นหนึ่ง (B) แล้วเมื่อนักวิจัยไปดึงเข็มของต้น A นหมดต้น ต้นนั้นจะตายลงในไม่ช้าแน่นอนอยู่แล้ว แต่ก่อนตาย มันส่งสารอาหารที่ยังเหลือในตัวมันไปกับเครือข่ายเห็ดรา ไปให้ต้น B ที่คนเลี้ยงคู่กับมันมา โดยที่ต้น B มีสุขภาพดีแข็งแรง มีความสุขเพราะไม่มีใครทำร้ายมัน. ต้น A รู้หรือไม่ว่าเป็นต้นไม้คนละสายพันธุ์กัน (เราคงไม่มีทางรู้ความจริง แต่ต้น A อาจหวังเช่นนั้น). ในโลกของคนโดยเฉพาะยุคโรคระบาดโควิด19 ผู้เฒ่าผู้แก่ของครอบครัว รีบมอบสมบัติให้ลูกหลานเมื่อรู้ว่าตัวเองติดเชื้อไวรัสโควิด19 และคงไม่รอดแน่แล้ว โลกของพืชพรรณก็เป็นเช่นนั้นหรือนี่. ต้น A ส่งย้ายสมบัติที่เหลือของมันไปให้แก่ต้น B เมื่อรู้ว่าตัวเองกำลังจะตาย. ตัวอย่างเหล่านี้ คงทำให้ชาร์ล ดาร์วิน เจ้าของทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ประหลาดใจเป็นที่สุด. เพราะจนเดี๋ยวนี้ หลักการข้อแรกและข้อสำคัญที่สุดของต้นไม้และป่าไม้ คือ การแก่งแย่งชิงแสงสว่างและอาหาร เพื่อความอยู่รอด, ไม่เคยมีการพูดถึงการแบ่งปัน การช่วยเหลือในหมู่ต้นไม้เลย.
     เชื่อกันเสมอมาว่า เห็ดราที่ขึ้นติดอยู่กับรากของต้นไม้ต้นใด เกี่ยวกับต้นไม้นั้นเท่านั้น แต่ความรู้ใหม่ๆบอกให้รู้ว่า สายใยของเห็ดรา เชื่อมต่อไปถึงต้นไม้อื่นๆด้วยทั้งที่เป็นต้นไม้สายพันธุ์เดียวกันหรือต่างสายพันธุ์กัน. การวิจัยจากทีมของศาสตราจารย์ Suzanne Simard ก็ยืนยันให้เห็น ดังตัวอย่างข้างล่างนี้
วงกลมสีเขียวอ่อน แสดงต้นดั๊กลัสเฟอร์หนึ่งต้น ขนาดของวงกลมเป็นสัดส่วนกับเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้น. จุดเล็กสีดำ บอกต้นตอสายใยเห็ดราที่เรียกว่า Rhizopogon ectomychorrhiza. เส้นสีฟ้าอ่อนๆและพื้นที่สีฟ้าอ่อนๆ บอกบริเวณที่เห็ดราเกาะกัน เป็นกลุ่มราชนิด Rhizopogon vesiculosus colonies และการเชื่อมต่อกับต้นอื่นๆ. เส้นสีชมพูอ่อนๆและพื้นที่สีชมพูอ่อนๆนั้น บอกการมีอยู่, การเชื่อมต่อกับต้นอื่นๆและการกระจายของเห็ดรา Rhizopogon vinicolor coloniesเครดิตภาพที่นี่ 
     จะเห็นว่า เครือข่ายเห็ดรา(ที่เห็นเป็นเส้นตรงสีฟ้าหรือสีชมพู) แผ่กระจายไปเชื่อมกับต้นไม้จำนวนมาก. ในพื้นที่ป่าที่เป็นพื้นที่ศึกษาเกี่ยวกับต้นดั๊กลัสเฟอร์นั้น มีต้นหนึ่งที่เครือข่ายเห็ดราส่งไปเชื่อมต่อถึง 47 ต้น (อยู่ตอนล่างด้านขวาของภาพที่เจาะจงไว้ว่า “most highly connected tree”). ต้นดารานี้ มีเครือข่ายเห็ดราสายพันธุ์เดียวกันที่กระจายออกไปแปดกลุ่ม กับเครือข่ายเห็ดราอีกสายพันธุ์หนึ่งที่กระจายออกไปเป็นสามกลุ่ม จึงทำให้เครือข่ายออกไปอย่างกว้างขวางและไกลมาก. นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มราเดี่ยวๆกลุ่มหนึ่ง ไปเชื่อมถึงต้นอื่นๆอีก 19 ต้น ทั้งต้นอายุมากกับต้นอายุน้อย.
      งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาพฤติกรรมของต้นไม้สายพันธุ์เดียวกันเท่านั้น (คือต้นดั๊กลัสเฟอร์) และศึกษาเครือข่ายเห็ดราจากเห็ดราสองชนิดดังระบุไว้ข้างบน. บนพื้นที่ศึกษา ยังมีต้นไม้อื่นและเห็ดราสายพันธุ์อื่น. ความซับซ้อนของเครือข่ายใต้ดิน หากสามารถเจาะลึกไปถึงทุกจุดปลายสุดของแต่ละเครือข่ายใต้ดิน คงจะยิ่งทำให้ตกตะลึงแน่นอน.
       ในโลกของพืชพรรณ สงครามระหว่างกันก็มีเช่นกัน ต้นไม้บางต้น เช่นต้น sycamores, acacias, eucalyptus ปล่อยสารเชื้อไปในอากาศเพื่อไปบีบการแตกหน่อของต้นไม้คู่แข่ง. เป็นสงครามชีวเคมี. นอกจากนี้ ยังมีการลักขโมยแบบหน้าด้านๆระหว่างพืชพรรณ เช่น กล้วยไม้หลายชนิดสังเคราะห์แสงได้ด้วยตัวเอง สร้างอาหารของมันได้ แต่มันก็ไม่ทำ กลับไปขโมยสารคาร์บอนที่ได้มาอย่างยากเย็นจากต้นอื่น ที่มีช่องทางลำเลียงของเครื่อข่ายเห็ดราร่วมกัน.
บนดิน รับคาร์บอนไดออกไซด์, ใต้ดินแบ่งปันธาตุคาร์บอนที่เกิดจากการสังเคราะห์แสงให้แก่กัน. เครดิตภาพที่นี่ 

think-like-a-tree-wired-oak-trees-new-orleans
การลอกเลียนชีวิตหรือการก็อปปี้ตัวอย่างหรือกลไกจากสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติหรือจากระบบนิเวศ (biomimicry) ดลใจและนำทางคนสู่การสร้างสรรค์ ไม่ว่าการออกแบบอาคารบ้านเรือน ยานพาหนะและวัสดุอุปกรณ์ใด. เพราะรูปลักษณ์ของสิ่งที่เห็นในธรรมชาติ วิวัฒน์ขึ้นมาเพื่อให้มันเป็นแหล่งพลังงานที่ดีที่สุดและเป็นมวลสารที่มีประสิทธิภาพสูงสุด. ตัวอย่างที่รู้จักกันดี คือ การบิน. โลเอนาร์ดโด ดา วินชี เป็นคนแรกที่ออกแบบยานที่จะช่วยให้คนบินได้เหมือนนกในทศวรรษที่ 1480 ที่ปูทางสู่การพัฒนาเครื่องบินและการบิน. หวนย้อนหลังไปถึงเหตุการณ์พายุเฮอริเคนกาตรีนา ที่ทำลายบ้านเมืองถล่มเสียหายยับเยินในรัฐนิวออร์ลีน สหรัฐฯ. แต่ต้นโอ๊คจำนวนมากของพื้นที่ ไม่ถูกพายุโค่นลง เพราะใต้พื้นดิน รากของมันพันเกี่ยวไปกับรากของต้นอื่นๆอีกหลายต้น อีกทั้งกิ่งก้านสาขา ก็เป็นแบบพลิกตัว ซ้อนไขว้ไปมา เสริมกำลังแก่กัน. เป็นประเด็นให้สถาปนิกและวิศวกร เริ่มคิดเอาอย่างต้นไม้ หาทางออกแบบโครงสร้างอาคารที่ยืดหยุ่น ฐานที่แผ่กว้างออกไปยึดกับสิ่งอื่นๆเป็นต้น เพื่อรับมือสภาพอากาศรุนแรงต่างๆอย่างมีประสิทธิผล.
        ตัวอย่างที่นำมาเล่านี้ จึงค้านกับทฤษฎีที่ยึดกันมาจนถึงทุกวันนี้ (โดยเฉพาะในสถาบันวิจัยฝรั่งเศส) ว่า ต้นไม้ทำทุกอย่างเพื่อแย่งแสงและอาหาร เป็นพฤติกรรมแรกและจำเป็นที่สุดของการอยู่รอดในป่าไม้.
      เช่นนี้เกิดคำถามขึ้นใหม่ว่า พรมแดนระหว่างสายพันธุ์อยู่ที่ไหน เริ่มที่ไหนและสิ้นสุดที่ไหน, หรือเราควรมองป่าไม้เป็นระบบสิ่งมีชีวิตขนาดยักษ์มวลเดียวกันหรือไม่, แทนการจำแนกแยกแยะเป็นกลุ่มตามอัตลัษณ์ที่แตกต่างกัน, จะไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยน การแบ่งปัน หรือมิตรภาพในหมู่พืชพรรณเลยหรือ, อาจต้องขยายการวิจัยเรื่องการเป็นศัตรูคู่แข่งกับการเป็นมิตร ในหมู่ต้นไม้ชนิดต่างๆในป่าไม้ ทั้งในสายพันธุ์เดียวกันกับในหมู่ต้นไม้ต่างสายพันธุ์ที่ขึ้นคละกันเป็นจำนวนมาก. (การแลกเปลี่ยน การแบ่งปัน หรือมิตรภาพ ในหมู่พืชพรรณ, ภาษา(แห้งแล้ง)ในสังคมศาสตร์หรือในวิทยาศาสตร์ใช้คำว่า interaction, facilitation).
       การได้รู้เห็นเรื่องชีวิตภายในของพืชพรรณแนวนี้ เปลี่ยนการมองชุมชนพืชพรรณ เหมือนการมองสังคมคน  สิ่งดีและสิ่งเลวร้ายมักเกิดขึ้นใต้ดิน มันข้องเกี่ยวผูกมัดกันไปในกระแสต่างๆหลายกระแส มากกว่าที่เราเคยจินตนาการ. 
      ทั้งหมดนี้ยืนยันว่า ประการหลักและประการเด่นเหนือสิ่งอื่นใดในอาณาจักรสิ่งมีชีวิตอาณาจักรใด คือ ประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อระหว่างกันเป็นเครือข่าย เพื่อการอยู่รอดของตัวเองและของผู้ร่วมโลก.  

รักชีวิต รักษ์ต้นไม้
โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์

* * * * * * * *

ข้อมูลอ้างอิง
Envoyé spécial. Le secret des arbres. 26 octobre 2017 (France 2)

« La vie secrète des arbres » de Peter Wohlleben, ouvrage 100% naturel. Dec 15, 2017 La Grande Librairie

L’effet Wohlleben souffle sur la forêt. Olivier Nouaillas. 18/06/2018.

L’homme et l’arbre font société.

The secret of wood wide web, by Robert Macfarland


Think like a tree.

Tree chatter, by Justin. H

Forests have their own information superhighway, and it works much like ours, carrying information, trade—and cybercrime. By Dave Hansford, Nov-Dec 2017.

Communication between Trees : Dr. Suzanne Simund. Aug.18, 2017.

How trees talk to each other. Suzanne Simund. TED Aug.31, 2018.

หัวข้อศึกษาวิจัยของคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยบริทิชโคลัมเบีย (แคนาดา)

No comments:

Post a Comment