Wednesday, April 29, 2020

From wheel to stair

หลุดจากกงล้อ ไปขึ้นบันไดกัน
ภาพบันไดที่สำคัญที่สุดภาพหนึ่งในศิลปะตะวันตก เป็นประติมากรรมจำหลักนูน (ศิลปะศตวรรษที่ 12) ประดับฐานรูปปั้นของพระคริสต์ ตรงกลางประตูใหญ่ด้านหน้า(ทิศตะวันตก) ของมหาวิหารน็อตเตรอดามกรุงปารีส. ดังภาพที่นำมาให้ชมข้างล่างนี้
ประติมากรรมจำหลักนูน (ศิลปะศตวรรษที่ 12) ประดับอยู่ที่ฐานรูปปั้นพระเยซูคริสต์ตรงเสากลางประตูใหญ่ทางเข้าด้านหน้าทิศตะวันตกของมหาวิหารน็อตเตรอดามกรุงปารีส สตรีในวงกลมตรงกลางภาพ นั่งบนบัลลังก์ มีบันไดพาดจากพื้นขึ้นไปถึงต้นคอ. ใบหน้าขรึม. ครึ่งบนของศีรษะ อยู่ในคลื่น ที่อาจมองได้ว่า เป็นคลื่นแสง คลื่นความถี่ไฟฟ้า หรือเป็นกลุ่มเมฆ. มือซ้ายถือคทา สัญลักษณ์ของอำนาจ. มือขวาถือหนังสือสองเล่ม เล่มในปิดอยู่ เล่มนอกอ้าออกกว้าง.

ประตูใหญ่ทิศตะวันตกของมหาวิหารน็อตเตรอดามกรุงปารีส, ลูกศรชี้ตำแหน่งของรูปปั้นพระคริสต์บนเสาที่แบ่งครึ่งทางเข้าเป็นสองประตู
รูปปั้นพระคริสต์ตรงเสากลางประตูใหญ่ ด้านหน้าของมหาวิหารน็อตเตรอดาม. ลูกศรชี้ตำแหน่งของประติมากรรมจำหลักนูน “สตรีในวงกลม” ตรงฐาน.

นักวิจารณ์ศิลป์ต่างได้พยายามตีความหมายของรูปแบบการจำหลักนี้. บ้างคิดว่าอาจเป็นสัญลักษณ์ของอัลเคมี (Alchemy) ที่เคยเป็นวิทยาศาสตร์เคมีและปรัชญาแขนงหนึ่งในยุคกลาง (ในนี้จะตัดประเด็นอัลเคมีออกไป). บ้างว่า น่าจะเป็น สัญลักษณ์ของเทวศาสตร์ (Theologia). หนังสือที่ปิดอยู่ หมายถึงคัมภีร์ไบเบิลเก่า, เล่มที่เปิดอ้าไว้ คือคัมภีร์ไบเบิลใหม่. บันไดหมายถึงขั้นตอนต่างๆที่มนุษย์ต้องไต่เต้าขึ้นไป, ก่อนที่จะบรรลุความรู้ขั้นสูง ที่คือการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า. ศีรษะในหมู่เมฆหรือในท้องฟ้า ยืนยันความสัมพันธ์กับสวรรค์ กับ “เบื้องบน”. ตามมุมมองนี้ ดูสมจริงและมีเหตุผล, เทวศาสตร์เป็นราชินีแห่งศาสตร์ทั้งปวง(ตั้งแต่ยุคโบราณมาจนสิ้นยุคกลาง).

     แต่มีผู้ตีความว่า ควรจะเป็น ภาพสัญลักษณ์ของปรัชญา เพราะมีหลักฐานลายลักษณ์ยืนยันที่มาของการจำหลักภาพปรัชญาแบบนี้  ในงานเขียนของโบเอ๊ตีอุส (Boethius)งานเล่มนั้นชื่อ บทปลอบใจจากปรัชญา (De consolatione philosophiae หรือ On Consolation of Philosophy).
      หนังสือเล่มนี้ เริ่มด้วยการคร่ำครวญของโบเอ๊ตีอุส ผู้ระทมโศกสลดกับชะตากรรมที่พลิกผันของเขา จากการเป็นรัฐบุรุษ เป็นกงศุล มีเกียรติสูงคนหนึ่งในราชอาณาจักร Ostrogoths สมัยของพระเจ้าเตโอโดริก-Theodoric แล้วจู่ๆถูกกล่าวหาว่าเป็นขบถ ถูกจับขังคุก (ปี 523 AD).  ขณะที่จิตใจหมดอาลัยตายอยาก เขาเห็นผู้หญิงนางหนึ่งมาปรากฏต่อหน้าเขา โบเอ๊ตีอุสพรรณนาว่า
นางมีใบหน้าสงบ มีสง่าราศียิ่ง สายตาของนางทอแสงเป็นประกายสว่างสุกใส ผิดสายตาคนเดินดินทั่วไป. เขารู้สึกว่านางเป็นเหมือน(แก้วผลึก)ที่รวมแสงสีต่างๆ  เป็นภาพของวัยหนุ่มและวัยสาวพร้อมกันในตัว แม้จะเห็นได้ชัดเจนว่านางได้ผ่านวัยทุกวัยมาแล้ว, แต่ไม่อาจกำหนดอายุของนางตามเกณฑ์วัยของมนุษย์ได้. รูปร่างของนาง บางครั้งดูขนาดเท่าคนเดินดินทั่วไป, บางทีก็ดูสูงใหญ่จนศีรษะเฉียดหมู่เมฆในท้องฟ้า, หรือสูงท่วมท้นจนหายลับตาไป. เครื่องแต่งกายของนางทอขึ้นอย่างมีศิลป์และแสดงรสนิยมสูงของนาง, ทอด้วยเส้นใยที่ละเอียดและไม่เปื่อยยุ่ย, เป็นฝีมือของนางเองด้วย. ตรงชายกระโปรงมีอักษรกรีกตัว π (pi) ปักอยู่, ตอนบนก็มีอักษรกรีกตัว θ (theta) ปักไว้. ระหว่างอักษรทั้งสองตัวนี้ มีแนวระบายไล่ระดับกันขึ้นไปบนตัว, เหมือนบันไดที่เชื่อมสิ่งที่อยู่ข้างล่างกับสิ่งที่อยู่ข้างบน... (cf. Emile Mâle : L’art religieux du XIIIe siècle en France, p. 86). สตรีที่มาปรากฏตัวต่อหน้าเขา ไม่ใช่ใครอื่น คือเทวีแห่งปรัชญา ผู้มาปลอบโยนเขาในคุก.
      คำพรรณนาของโบเอ๊ตีอุส อาจดลใจศิลปินและถ่ายทอด “ปรัชญา” ดังที่เห็นในภาพนี้. เราไม่ลืมว่า ในยุคกลาง ประติมากรรม(หิน)ทั้งหลาย มีการเคลือบสีต่างๆด้วย (polychrome) ซึ่งยิ่งเน้นความแปลกพิสดารหรือความงามขององค์ประกอบภาพ.
      เพราะ เขาได้เห็นปรัชญา และพูดคุยกับเธอ. เทวีปรัชญา รู้เรื่องและอ่านจิตใจของเขาได้ทะลุปรุโปร่ง. เธอเตือนให้เขานึกถึงความจริงพื้นฐานในปรัชญาสโตอิก (stoicism) ว่า หลักปรัชญา เป็นเครื่องมือ เพื่อช่วยให้คนอยู่ดีและตายดี โดยเฉพาะในยามที่ตกระกำลำบาก. เธอเตือนว่าอย่าไปโกรธชะตากรรมเลย เพราะเหตุการณ์ส่วนใหญ่ในชีวิตคนๆหนึ่ง คนนั้นไม่อาจควบคุมได้, คนอยู่ในอำนาจของเทวีฟอร์ตูนา ที่ยั่วยวนให้คนตกในกับดักเธอ, ให้ปีนไปบนกงล้อเพราะหมายสูง. เทวีปรัชญากล่าวย้ำว่า นักปรัชญาที่แท้จริงคือ ผู้ที่เข้าใจเล่ห์กลของฟอร์ตูนา รู้ว่าเขาจะวางใจทั้งหมดเป็นเดิมพันตามฟอร์ตูนานั้น ไม่ได้. สิ่งปรุงแต่งของความสุขในชีวิต ที่ทุกคนเชื่อว่าคือความรัก ครอบครัว ลูก ความเจริญมั่งมี ชื่อเสียงหรืออาชีพการงาน ในความเป็นจริง เป็นเพียงมายาที่ฟอร์ตูนาปั่นไปอย่างไร้เมตตาและโหดเหี้ยม. คนฉลาดมีปัญญา ย่อมไม่ยึดสิ่งมายาไว้เต็มหัวใจ. นักปรัชญาที่แท้จริง ต้องทะยานขึ้นจากสภาวการณ์ที่เลวร้ายที่ดึงเขาจมลงไป, ต้องไม่ยินดียินร้ายกับชะตากรรม, สร้างพลังของเหตุผลและการรู้คิดที่จะนำเขาไปเสพความงาม ความลึกลับซับซ้อนของจักรภพ, และนำให้เขาเสกสรรค์ตัวเอง ให้เป็นพลังอิสระที่ยิ่งใหญ่ และอยู่เหนือชะตากรรม และนี่จักเป็นสิ่งที่ฟอร์ตูนาเอาไปจากเขาไม่ได้. (cf. On the Consideration of Philosophy)
     โบเอ๊ตีอุส ปรับความคิดของเขา, ค้นพบวิธีเอาชนะความเศร้าสลดเมื่อเคราะห์กรรมมารุมเร้า, หาทางออกด้วยการไม่ยึดติดกับความจริงบนโลก, มุ่งความคิด, ตั้งมั่นในศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า ผู้เดียวที่สามารถปลดความยึดเหนี่ยวกับโลกสมบัติ. และเมื่อปล่อยใจให้เป็นอิสระ ก็พบความสงบสันติภายใน ไม่ว่าในสถานการณ์ใด.
      เราคงสรุปได้ว่า เมื่อหลุดจากกงล้อของฟอร์ตูนา เขาพบปรัชญาที่เป็นบันไดพาเขาขึ้นสวรรค์. การตระหนักอย่างถ่องแท้ถึงสัจธรรม ทำให้โบเอ๊ตีอุส จิตใจสงบ ยอมรับชะตากรรม (as a stoic) และตายเยี่ยงคนเหนือคน (as a superman). 
  โบเอ๊ตีอุสถูกประหารสามสี่เดือนต่อมา, ทิ้งหนังสือ On the Consolation of Philosophy เป็นมรดกให้มนุษยชาติ ที่ได้ดลใจนักเขียนและกวีคนอื่นๆต่อมาเช่นดั๊นเต้ (Dante)
  การที่ โบเอ๊ตีอุส มองฟอร์ตูนาว่าเป็นปีศาจ ใจรวนเรและโหดเหี้ยม. ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับฟอร์ตูนา ว่าเทวีทำอะไรตามอำเภอใจ, เล่นกับชะตาชีวิตคนโดยไม่เลือก, ไม่เมตตาปราณี. หรือเพราะเธอเองเป็นเครื่องมือของพระเจ้าที่อยู่เหนือเธอ. สิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้น เป็นไปตามบัญชาของพระเจ้าเพื่อให้เป็นบทสอนหรือเพื่อลงโทษคนมัวเมา ลุ่มหลงหลงในลาภยศสรรเสริญหรือเปล่า.  
        มีผู้กล่าวว่า ข้อบกพร่องในชีวิตของโบเอ๊ตีอุส มีส่วนส่งเสริมให้เขาโด่งดัง มากพอๆกับคุณสมบัติต่างๆของเขา. คนชื่นชมความรอบรู้ของเขาในแทบทุกเรื่อง, เชื่อและศรัทธาในตัวเขามาก. ใบหน้าที่อมเศร้ากับวิญญาณกวี ประทับใจคนร่วมสมัยอย่างยิ่ง. งานเขียนของเขาถือว่า เป็นงานสำคัญชิ้นหนึ่งในโลกยุคโบราณถึงยุคกลาง และมีอิทธิพลต่อความคิดอ่านของคนในยุคนั้น. คนคารวะเขาในฐานะเป็นตัวแทนของความฉลาดสุขุมของโลกยุคโบราณ, ในขณะเดียวกัน ก็เป็นผู้กรุยทางสู่ความคิดแนวใหม่ เพราะเขาเป็นหนึ่งในหมู่ชาวโรมันรุ่นสุดท้ายในประวัติศาสตร์ และเป็นหนึ่งในหมู่ชาวคริสต์รุ่นแรก, จึงเหมือนกับว่าเขายืนอยู่บนพรมแดนของโลกสองโลก. งานเขียนของโบเอ๊ตีอุส เป็นหนึ่งในหนังสือที่ต้องอ่านสำหรับนักบวชและปัญญาชนตั้งแต่นั้นมา. 


หากหลุดจากกงล้อของฟอร์ตูนาและยังมีชีวิตรอด ประสบการณ์คงนำให้ไปขึ้นบันได. ตั้งแต่ยุคกลางจนถึงยุคปัจจุบัน บันไดเป็นองค์ประกอบในการเนรมิตภาพหรือเรื่องราวในศิลปะเสมอมา. การขึ้นบันได ต้องใช้แรง เหนื่อยกว่าการเดินไปบนพื้นราบ เป็นบทอุปมาที่ดี ของการใฝ่ดี. บันไดคุณธรรม เป็นเนื้อหาในศิลปะตั้งแต่ราวปีคศ. 250 ที่จารึกค่านิยมของการเป็นเส้นทางไต่เต้าสู่คุณธรรมขั้นสูงขึ้นไป. โอโนรีอุสเมืองโอเติง (Honorius d’Autun) ในศตวรรษที่ 12 เป็นผู้หนึ่งที่ได้กำกับคุณธรรมแต่ละชนิดบนบันไดแต่ละขั้น. เขากำหนดไว้ 15 ขั้น ที่ได้เป็นฐานและบทอ้างอิงเกี่ยวกับบันไดคุณธรรมเรื่อยมา. (ปราชญ์แต่ละคนในยุคหลัง สร้างบันไดคุณธรรมที่แตกต่างออกไปบ้าง ตามบริบทสังคมและสภาวการณ์ของแต่ละยุคสมัย)
      ในคัมภีร์ใหม่ นักบุญ Evangelist John (1:51) ได้ตีความหมายของบันไดว่า พระคริสต์ คือบันไดที่เชื่อมสวรรค์กับโลกมนุษย์ ในฐานะที่พระองค์เป็นทั้งพระบุตรและเป็นบุตรของมนุษย์เดินดิน. นักเทวศาสตร์ผู้หนึ่ง (Adam Clarke) ตีความว่า การที่เทวทูตขึ้นๆลงๆบนบันได หมายถึงมีการติดต่อแลกเปลี่ยนอยู่เสมอ ระหว่างสวรรค์กับโลกมนุษย์, โดยผ่านไปบนตัวของพระคริสต์ ที่เป็นพระเจ้าในร่างของคนเดินดิน ที่มีเนื้อมีหนัง. พระคริสต์จึงเป็นตัวกลางที่มีพลังสูง.

     แต่ละคนต้องหาเส้นทางสู่จุดหมายปลายทางของตัวเอง. แต่ละคนต้องสร้างบันไดของตัวเอง ต้องหาบันไดที่เหมาะกับกำลังและอุดมการณ์ของตัวเอง. แต่ละคนมีบันไดสู่ความสำเร็จของตัวเอง. 
อย่าไปยืมบันไดของใคร และก็ไม่ไปขวางบันไดของใคร.  
บันไดจึงมีความหมายมากดังนี้แล.
โชติรส รายงาน
๒๙ เมษายน ๒๕๖๓.
ผู้สนใจอ่านรายละเอียดเรื่อง “บันได” ตามไปอ่านต่อได้ตามลิงค์นี้ >>

No comments:

Post a Comment