Wednesday, May 20, 2020

Margarita Tree

Gregor Reisch (นักบวชแห่งเมืองฟรายบูร์กในเยอรมนี มีชีวิตอยู่ในราวปี 1467-1525) หนึ่งในปัญญาชนชั้นแนวหน้าของยุคเรอแนสซ็องส์ สนใจรวบรวมความรู้แห่งยุคสมัยนั้น ให้เป็นตำราเชิงสารานุกรมสำหรับเยาวชน. แต่งแบบปุจฉา วิสัชนา ระหว่างครูกับนักเรียน อันเป็นวิธีการประพันธ์ของยุคนั้น. เขาเรียกหนังสือสารานุกรมของเขาว่า Margarita Philosophica  เป็นชุด 12 เล่ม รวมความรู้เรื่อง ไวยากรณ์ละติน (Grammar), ตรรกวิทยา (Logic เดิมเรียกว่า วิภาษวิธี-Dialectic), วาทศาสตร์ (Rhetoric), คณิตศาสตร์ (Arithmetic), ดนตรี (Music), เรขาคณิต (Geometry), ดาราศาสตร์ (Astronomy), ฟิสิกส์ (Physics), ธรรมชาติวิทยา (Natural history), สรีรศาสตร์ (Physiology), จิตศาสตร์ (Psychology) และ จริยธรรม (Ethics). พิมพ์ออกมาครั้งแรกที่เมืองฟรายบูร์กในปี 1503. เป็นสารานุกรมความรู้ที่พิมพ์เล่มแรกของโลกตะวันตก. วิเศษยิ่งขึ้นคือมีการแกะสลักแผ่นไม้บันทึกภาพ ประกอบข้อมูลในหนังสือเล่มนี้จำนวนมาก ที่ต่อมาพิมพ์ออกเป็นภาพพิมพ์เผยแพร่ออกไปในวงกว้างได้  จึงเป็นกลไกการถ่ายทอดความรู้ออกไปสู่มวลชนทั่วทั้งยุโรป.  เป็นหนังสือที่ปัญญาชนทุกคนยุคนั้นต้องอ่าน ไม่เพียงนักศึกษาเท่านั้น. 
  
      ผู้ประพันธ์ได้แรงดลใจจากเรื่องต้นไม้เจสซี ในคัมภีร์เก่า มาเสกสรรค์เป็นภาพเพื่อถ่ายทอด ต้นไม้แห่งความรู้ ภาพนี้. สตรีผู้หนึ่งสวมมงกุฎถือคทาเหมือนราชินี นั่งอยู่. คนกลุ่มหนึ่ง (เจาะจงไว้ว่าเป็นผู้ที่สอนได้, เรียนปรัชญาได้ - Turba philosophorum) มารวมกันตรงหน้าเธอ มารับหนังสือเล่มใหญ่จากมือเธอ นิ้วเธอชี้ไปบนหน้าหนังสือ ให้พวกเขาดู. เหมือนเป็นหนังสือของเธอ หรือจากเธอ ให้เอาไปศึกษา. ตรงหน้าตักเธอ มีลำต้นใหญ่โผล่ออก แตกแขนง กิ่งวนเป็นวงๆ มีคำกำกับไว้.
ภาพนี้เป็นภาพปกของหนังสือสารานุกรมความรู้ชื่อ Margarita philosophica ฉบับที่พิมพ์ในเมือง Strasbourg : Schott 1508.
เลข 1-7 ระบุศาสตร์เจ็ดแขนงในระบบความรู้ การเรียนและการสอนในยุโรปยุคกลางถึงยุคเรอแนสซ็องส์. 1 คือไวยากรณ์-Grammar ผู้หญิงถือแผ่น(กระดานชนวน), 2 คือ ตรรกวิทยา-Logic ผู้หญิงนั่งคิดในดอกไม้, 3 คือ วาทศาสตร์-Rhetoric ผู้หญิงถือไม้ด้ามยาวในมือ สองมือยกขึ้นในท่าอภิปราย, 4 คือเลขคณิต-Arithmetic ผู้หญิงมีแป้นลูกหมาก คำนวณอยู่, 5 คือ เราขาคณิต-Geometry ผู้หญิงถือไม้ฉาก, 6 คือ ดาราศาสตร์-Astronomy ผู้หญิงถือลูกโลก astrolabe, 7 คือ ดนตรี-Music ผู้หญิงดีดพิณอยู่.
ขนบคลาซสิก แบ่งปรัชญาออกเป็นสามส่วน ดังนี้
A คือ ปรัชญา-ธรรมชาติวิทยา (Philosophia Naturalis) ผู้ชายถือเครื่องมือดาราศาสตร์ (quadrant) ส่องดูดวงดาวในท้องฟ้า เห็นดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ด้วย, B คือปรัชญา-ตรรกวิทยา (Philosophia Rationalis) ผู้ชายนิ้วชี้ขวาเล็งไปที่สิ่งหนึ่ง นิ้วชี้ซ้ายอยู่ตรงขมับ เหมือนบอกว่าเห็น ดู สังเกต แล้วคิดให้ดีเป็นระบบ, และ C คือ ปรัชญา-จริยธรรม (Philosophia Moralis)ผู้ชายและผู้หญิงในดอกไม้ รักษาระยะห่าง(!) ทำงานไปตามหน้าที่. รวมกันเป็นสามส่วนของปรัชญาในหลักสูตรคลาซสิกตะวันตก.
     มุมบนขวา มีคนอีกกลุ่มหนึ่ง หมวกบนศีรษะของคนกลุ่มนี้ บอกให้รู้ว่า เป็นกลุ่มพระผู้สอนศาสนา (เจาะจงเป็นภาษาละตินว่า Doctores ecclesiastici).  ลักษณะของหมวก ทำให้เจาะจงได้ว่า มีสันตะปาปาเกรกอรี-Gregory สวมหมวกสามชั้น (tiara), คาร์ดินัลเจโรม-Jerome สวมหมวกแบนปีกกว้าง (galero), มุขนายกสองคนสวมหมวกสูงสามเหลี่ยมแหลมขึ้น หน้าและหลัง (mitre) คือ แอมโบรซ-Ambrose และออกุสติน-Augustine.  ศาสนาคริสต์ยกย่องทั้งสี่คนนี้ ว่าเป็นปิตาจารย์ (Church Fathers). ทั้งสี่คนมองผ่านมวลเมฆ เห็นตรีเอกานุภาพ (Trinity) ของพระเจ้าในสวรรค์.  มุมบนซ้าย พระแม่มารีในวงรีที่มีรัศมีเรืองรองโดยรอบ (ศัพท์ศาสนาว่า mandorla) เป็นคุณงามความดีสุดประภัสสรในสวรรค์ เมื่อเทียบกันกับราชินีปรัชญาบนพื้นโลกที่อยู่ในมุมล่างซ้าย.
     ชื่อ มาร์การิตา Margarita มาจากคำในภาษาเปอเชียเก่าที่แปลว่า ไข่มุก เป็นชื่อตัวที่นิยมกันในหมู่ชาวยุโรปและโดยเฉพาะในยุโรปตะวันออก. ดอกเดซี่ เรียกว่า ดอกมาร์การิตในหลายภาษาสายละติน. ทำไมนำมาเป็นชื่อหนังสือ Margarita Philosophica ไม่มีข้อมูล. (ชื่อนักบุญมาร์การิต ก็ไม่ปรากฏโยงไปถึงการแต่งเรียบเรียงบทความใด ที่รู้จักกันดีคือ ปราบพญามารที่แฝงตัวมาในร่างของมังกร จึงมักมีรูปเธอเหยียบเหนือตัวมังกร)

        นักประพันธ์สรุปภาพไว้ว่า ราชินีแห่งศาสตร์ทั้งปวง คือ ปรัชญา.  ต้นปรัชญา แตกออกเป็นเจ็ดกิ่ง ที่รวมกันเป็นมวลความรู้ศิลปศาสตร์ พื้นฐานของปัญญา.  ในตะวันตก แบ่งศิลปศาสตร์ออกเป็น ตรีวีอุม ศาสตร์ขั้นต้น (TRIVIUM = 1.Grammar, 2.Logic, 3.Rhetoric) ที่มุ่งพัฒนาการอ่านออกเขียนได้ อ่านอย่างถูกจังหวะ รู้จักใช้ภาษาให้ถูกต้องในการพูด การแสดงออก การนำเสนอ การใช้เหตุผล การตอบโต้ การอธิปราย การหว่านล้อมโน้มน้าวจิตใจให้คล้อยตาม จนเอาชนะใจคนได้ด้วยภาษา รวมถึงการแปล การตีความ ท่องและจดจำวัจนลีลาของของกวีกรีกและละติน เช่น บทกวีของโฮเมอร์-Homer, มหากาพย์อีนีอี๊ด-Aeneid ของเวอจิล-Virgil เป็นต้น โดยปริยายคือการพัฒนาการรู้จักคิด วิเคราะห์เจาะลึกอย่างละเอียดถี่ถ้วน มีเหตุมีผลต่อเนื่องกัน และน่าเชื่อถือ. ตรีวีอุม จึงพัฒนาเครือข่ายความรู้ทางภาษาและวรรณกรรม ให้กลายเป็นสมรรถนะที่มีพลังของผู้เรียน. ตรีวีอุมเป็นพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อการศึกษาศาสตร์อีกสี่แขนงในกวาดรีวีอุม. ไวยากรณ์ในหลักสูตรศิลปศาสตร์ตะวันตกยุคนั้น  จึงเป็นมากกว่าการใช้ภาษาถูกหลักไวยากรณ์ ตามที่เข้าใจกันในปัจจุบัน.
        ส่วนศาสตร์อีกสี่แขนงเพื่อพัฒนาเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับสภาวะในมิติต่างๆของโลก, เป็นความรู้วิทยาศาสตร์ ที่เกี่ยวกับศาสตร์ของตัวเลข. รวมกันเรียกว่า กวาดรีวีอุม (QUADRIVIUM = 4. Arithmetic, 5. Geometry, 6. Astronomy และ 7. Music). 
ตรีวีอุมกับกวาดรีวีอุม รวมกันเป็นศิลปศาสตร์ ที่ 
«ไวยากรณ์พูด, ตรรกะสอน, วาทะแต่งสีสันให้คำพูด, 
ดนตรีขับกล่อม, เลขคณิตคำนวณ, เรขาคณิตคุมดุล, ดาราศาสตร์ดูแลท้องฟ้า»
ดังปรากฏเขียนไว้เป็นถาษาละตินว่า 
« Gramm loquitur, Dia verba docet, Rhet verba colorat, 
Mus canit, Ar numerat, Geo ponderat, Ast colit astra. »
(ref. Scholastique : Dictionnaire de pédagogie de Ferdinand Buisson, Hachette, 1911)

ศิลปศาสตร์มีต้นกำเนิดมาจากไหน?
นักวิจัยวรรณกรรมยุคกลาง พบคำตอบในจารึกของปอร์ฟีรี (Porphyry หรือ Porphyre de Tyr, 234-310 AD) เรื่อง Sur le retour de l’âme (c.270 AD). หรือในจารึกเล่ม Sur l’ordre (ปี 386 AD) นักบุญออกุสติน (Augustin, 354-430 AD) ที่แจกแจงให้เห็นว่า เหตุผล ทำให้เกิดไวยากรณ์ ตามด้วยวิภาษวิธี และวาทศาสตร์ หลังจากนั้นเพื่อเข้าถึงจิตวิญญาณ(งานเนรมิต)ของพระเจ้า ต้องเรียนเรขาคณิต ดาราศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (ออกุซตินไม่ได้พูดถึงดนตรี). ปัญญาชนยุคนั้นหรือยุคไหนก็ตาม ย่อมได้รู้ได้เรียนจากงานประพันธ์ของคนรุ่นก่อนๆเขา ที่มีส่วนดลใจให้เขาแต่งงานประพันธ์ของเขาเอง.
     มาร์ตีอานุซ ก๊ะเปลลา (Martianus Capella, 360-428 AD) มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 5  ในฐานะนักเขียนในปลายยุคโบราณ เขาเป็นคนแรกๆที่คิดจัดระบบศิลปศาสตร์ ให้เป็นแนวทางการเรียนการสอนในยุคกลาง. เขาแต่งหนังสือสรุปเนื้อหาวัฒนธรรมคลาซสิกของยุคสมัยนั้น ให้ลูกชาย. ตั้งชื่อหนังสือสุดพิศดารว่า งานแต่งงานระหว่างนิรุกติศาสตร์กับเมอคิวรี (De nuptiis Philologiae et Mercurii //Noces de Philologie et de Mercure). ให้เป็นงานโรแมนซ์แนวเสียดสีล้อเลียน (satyra) ตามขนบโบราณ. กระบวนการประพันธ์ เป็นไปตามแนวของนีโอปลาโตนิซึม  (Neoplatonism) ที่เป็นปรัชญาคลาซสิกแบบเดียวในยุคนั้น ที่ตั้ง(แย้ง)คำสอนในศาสนาคริสต์.
      งานเขียนชิ้นนี้เป็นบทสนทนาโต้ตอบส่วนใหญ่. มีทั้งบทร้อยแก้วและร้อยกรอง, ร้อยเรียงเป็นบทอุปมาอุปไมยที่สลับซับซ้อน โดยเฉพาะ การมองศาสตร์วิชาเป็นบุคลิกแบบใดแบบหนึ่งของมนุษย์ (personification). เนื้อหาเต็มไปด้วยคำและสำนวนแปลกๆ.  หนังสือ“แต่งงาน”เล่มนี้ ปูทางสู่มาตรฐานการเรียนการสอนในยุคจักรวรรดิโรมันที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์แล้ว ไปจนถึงยุคศตวรรษที่ 12 และเป็นที่อ้างอิงสำคัญเกี่ยวกับศิลปศาสตร์ ต่อมาในศตวรรษที่ 9 จนถึงศตวรรษที่ 12.
     กรอบของเรื่องอยู่ในเล่ม 1 และเล่ม 2. เริ่มว่า เทพโรมันเมอคิวรี เบื่อหน่ายชีวิตโสด. เมอคิวรีเคยไปก้อร่อก้อติกกับ Wisdom (ความเจ้าปัญญา), Divination (ความแม่นยำในการพยากรณ์) และ Soul (จิตวิญญาณ) แต่สตรีทั้งสามไม่สนใจเมอคิวรี. เทพอพอลโลเห็นใจเมอคิวรี แนะให้ไปเกี้ยว Philology แม่สาวนิรุกติศาสตร์ผู้ฉลาดและมีเสน่ห์. ทวยเทพทั้งหลายเห็นดีด้วย. แม่สาวนิรุกติศาสตร์ไม่ปฏิเสธเมอคิวรี จึงเกิดเป็นความรักระหว่างเมอคิวรีผู้แสวงหาผลประโยชน์ กับนิรุกติศาสตร์ผู้รักคำรักเรียน. เทพเทวีทั้งหลายให้เจ้าสาวนิรุกติศาสตร์ดื่มน้ำอมฤต (ambrosia) ที่ทำให้เธอเป็นคนไม่รู้ตาย และพาเธอไปแนะนำแก่หมู่เทพไท้เทวา. Reflection(ความไตร่ตรอง) มารดาของนิรุกติศาสตร์ พร้อมเทพธิดาทั้งเก้า (Muses), คุณธรรมชั้นสูง (Cardinal Virtues), ความงามเลอเลิศ(the Graces) เป็นผู้คุ้มครองเธอ. ต่างมาแห่ห้อมล้อมและช่วยแต่งตัวเจ้าสาว. แปลความตอนนี้ได้ว่า นิรุกติศาสตร์เป็นศิลปะของตัวอักษร, เป็นศาสตร์ที่ไม่ตาย, ที่อาจดลใจให้สร้างสรรค์ศิลปะแขนงอื่นๆ, เสริมคุณธรรมควบคู่ไปกับความงาม.
    ฟีบี เทพีไทเทิน (Phoebe, ลูกสาวของผืนฟ้า-Uranus กับแผ่นดิน-Gaea) ได้มอบสาวๆเจ็ดคนให้เป็นผู้รับใช้แม่นางนิรุกติศาสตร์ตลอดไป. สาวๆเจ็ดคน มีชื่อของเจ็ดแขนงวิชาในคณะศิลปศาสตร์นั่นเอง. โดยนัย นิรุกติศาสตร์จึงควบคุมศิลปศาสตร์ทั้งเจ็ดแขนง.
     บทอุปมาอุปไมยดังกล่าว อยู่ในเล่มหนึ่งและสอง ส่วนเล่มอื่นๆอีก 7 เล่ม เกี่ยวกับเจ็ดแขนงของศิลปศาสตร์. เล่มที่ 9 คือดนตรี ใช้คำว่า Harmony ในยุคศตวรรษที่ 5 (ต่อมาจึงใช้คำ Musica แทน โดยนัย คำ music และ harmony สะท้อนกันและกันอยู่แล้ว. 
     หนังสือ “แต่งงาน” ของมาร์ตีอานุส นับว่าเป็นสารานุกรมความรู้เกี่ยวกับศิลปศาสตร์ ที่มีอิทธิพลยั่งยืนนาน มีการลอกต่อๆกันมาจำนวนมาก (ยุคนั้นยังไม่ได้ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์) ดังปรากฏข้อมูลว่า อาจารย์ผู้สอนวาทศาสตร์ชื่อ Securus Memor Felix ได้รับก็อปปี้ฉบับหนึ่งในกรุงโรมกลางศตวรรษที่ 6. หนังสือเล่มนี้ ไม่มีอะไรที่อาจโยงไปถึงศาสนาคริสต์เลย, เป็นคู่มือของครูอาจารย์ยุคนั้น เป็นหนังสืออ่านของปัญญาชนทุกคน และเป็นหนังสืออ้างอิงในการนำเสนอรูปลักษณ์ของศิลปะเจ็ดแขนงที่ต่อมาไปประดับบนด้านนอกของโบสถ์วิหารในยุคนั้นและยุคต่อมา เช่นที่มหาวิหารน็อตเตรอดามเมืองช้าตรส์ (Chartres) และโบสถ์กอติกใหญ่ๆของฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 13-14.

      ในศตวรรษที่ 12 มีการแปลงานประพันธ์ต่างๆ ของอริสโตเติลอย่างกว้างขวาง. ความรู้แบ่งบาน ปัญญาชนตื่นตัว. ยุคนั้นอัลเบิร์ตพระนักบวช (Albertus Magnus, c.1200-1280 พระคาทอลิกโดมินิกันจากเมืองโคโลญในเยอรมนี เป็นนักวิทยาศาสตร์, นักดาราศาสตร์, นักปรัชญา, นักเทวศาสตร์ นักเขียนฯลฯ มีส่วนสังเคราะห์ความรู้ด้านปรัชญาจากข้อเขียนของอริสโตเติลและงานแปลของนักปรัชญาอาหรับ ให้เป็นฐานวัฒนธรรมยุคกลางที่สำคัญยิ่งคนหนึ่ง. ได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญและต่อสร้อยท้ายชื่อว่า magnus-ผู้ยิ่งใหญ่ ) ได้ให้นำงานประพันธ์ของอริสโตเติลเข้าไปสอนตามมหาวิทยาลัยที่สถาปนาขึ้นหลายแห่งช่วงศตวรรษที่ 13 ในยุโรป. ถึงกระนั้น การเรียนการสอนศิลปศาสตร์ก็ยังคงเป็นพื้นฐานของการสอนอยู่เช่นเดิม.
      ในศตวรรษที่ 15-16 เกิดกระแสมานุษยนิยมในยุโรป ปัญญาชนลดความสำคัญของภาษาละตินยุคกลางลง. โรงเรียนบางแห่งที่ยังคงสอนศิลปศาสตร์เป็นภาษาละติน ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนละติน และมีการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนศิลปศาสตร์ให้เข้ากับยุคสมัย ด้วยการเริ่มสอนภาษาโบราณเพิ่มขึ้น เช่นภาษากรีก, ฮีบรู, อาราเมอิค(Aramaic), ภาษาคอปต์ (Copt ภาษาค็อปต์ของชาวอีจิปต์ในยุคที่นับถือศาสนาคริสต์) และภาษาสมัยใหม่ของชาติสำคัญๆ.
      ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 18 ศิลปศาสตร์ฟื้นฟูขึ้นใหม่อีกครั้ง ด้วยการรวมจิตรกรรม, สถาปัตยกรรม, ประติมากรรม, วาดเขียน, การแกะสลักและศิลปะการเต้นรำ, เข้าไปในศิลปศาสตร์. ทั้งหมดเบนไปเน้นปรัชญาความสุนทรีย์เป็นสำคัญตั้งแต่นั้นมา.

       ความรู้ที่จัดเป็นแขนงบนต้นไม้เช่นนี้ เห็นชัดเจนว่า ในที่สุดความรู้ทั้งหมดเกี่ยวโยงไปเชื่อมต่อกันได้และเสริมซึ่งกันและกัน.  คิดอย่างนักอักษรศาสตร์ ไวยากรณ์ที่เป็นวิชาน่าเบื่อสำหรับคนจำนวนมาก แต่เป็นวิชาแรกที่ต้องปลูกฝัง สอนให้รู้จักระบบเสียง ระบบคำ ระบบวากยสัมพันธ์ ระบบความหมายของภาษาหนึ่ง. การจะเรียนรู้อะไรอื่นใด แม้แต่การคิดเป็น ต้องอาศัยภาษาเป็นเครื่องมือ. จะเขียน เล่า อธิบายอะไร ต้องมีเครื่องมือเช่นปากกา หรือดินสอและกระดาษหรือสิ่งสำหรับจด (นิ้วที่ใช้จิ้มลงบนจอไอโฟน แทนดินสอ, จอคือกระดาษจด).
ภาพพิมพ์จากหนังสือ Margarita Philosophica เสนอการเรียนการสอนศิลปศาสตร์เจ็ดแขนง ว่าเหมือนการไต่เต้าจากชั้นพื้น ที่เป็นชั้นของไวยากรณ์. สตรีไวยากรณ์มือถือแผ่นกระดาน มีอักษร a ถึง z เดินนำเด็กคนหนึ่งให้เข้าไปโรงเรียน. เมื่อแม่นไวยากรณ์ ก็ได้ขึ้นชั้น เรียนวิชาในตรีวีอุมก่อนแล้วเรียนวิชาในกวาดรีอุม ขึ้นชั้นไปเรียนชั้นบนๆ ไปจนถึงบนยอดหอคอยของอาคาร ในนี้เขียนไว้ว่า เทวศาสตร์ (เทวศาสตร์ สมัยนั้นไม่ต่างจากปรัชญานัก เห็นคำ philosophia กำกับอยู่ที่ฐานของอาคาร, มุมล่างขวา, เคียงข้างคำ trivium > ฐานของความรู้ที่จะพัฒนาต่อเติม สร้างคน สูงขึ้นๆ เหมือนหอคอย. คิดอย่างนี้ ถูกใจโก๋).
       ในสังคมมนุษย์ อะไรที่จารึกลงจึงถือเป็นหลักฐาน เป็นข้อมูล เป็นพยาน. อะไรที่คิดไว้ ลอยไปในอากาศ ให้วิเศษเลิศเลอ ลุ่มลึกเพียงใด ถ้าไม่พูดไม่บอกเล่า เก็บไว้ส่วนตัว สำหรับคนอื่นๆ ก็เหมือนลมพัดผ่านมาพัดผ่านไป ไม่มีร่องรอย. ไม่มีอยู่จริงตามกฎหมาย.  การจะบันทึกข้อมูลใดจากแขนงวิชาใด หากไม่มีความรู้ทางภาษาดีพอ ข้อมูลไม่เป็นที่เข้าใจหรือจูงใจหรือประทับใจใคร ก็เปล่าประโยชน์. 
      ทุกอารยธรรมตั้งแต่ยุคเริ่มต้นที่มีมนุษย์บนโลก ต่างพยายามทิ้งหลักฐานการมีอยู่ การตั้งอยู่ของพวกเขาไว้ ด้วยระบบภาษาที่พวกเขารังสรรค์ขึ้น เช่นระบบอักษรรูปลิ่มหรือคิวนีฟอร์ม (cuneiform) องชนชาวซูเมเรียน, ระบบอักษรอีจิปต์โบราณ (heiroglyph) ป็นต้น. ผู้พิการทางการพูด ทางสายตา ทางหู ฯลฯ ก็ยังมีภาษาพิเศษที่ต้องเรียนใช้ให้เป็น จึงเริ่มสื่อสารกับคนอื่นๆได้ เท่ากับสร้างจุดยืนของตัวเองบนเวทีสังคม. การรู้จักใช้ภาษา จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ทุกชนิด.

** รายละเอียดเกี่ยวกับ Gregor Reisch ผู้ประพันธ์หนังสือเล่มนี้ ดูได้ที่เว็บเพจนี้ >>

เกี่ยวกับ Albertus Magnus ติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บเพจนี้ 

รายละเอียดเรื่อง การแต่งงานระหว่างนิรุกติศาสตร์กับเมอคิวรี

เปิดอ่านอีบุ๊คหนังสือ Margarita Philosophica


นี่เป็นอีกภาพหนึ่งเกี่ยวกับศิลปศาสตร์ ไม่ใช้ต้นไม้ ใช้เป็นวงกลมแทน ซึ่งก็เชื่อมโยงกันไป เหมือนความรู้ทุกแขนงเกลียวผันพาไป สู่การสร้างสรรค์ใหม่ๆ. ภาพนี้จากจารึกโบราณเล่ม Hortus deliciarum ของ Herrade de Landsberg, ปี 1180. จารึกเล่มนี้ เก่ากว่าเล่ม Margarita Philosophica (ศต.13). ภาพสีสันสดสวยมาก (ไม่รู้ว่าแต่งเติมใหม่ไหม).
ศิลปศาสตร์เจ็ดแขนง อยู่ใต้อาร์เขตครึ่งวงกลม สะท้อนยุคสมัยของสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์, เรียงตามเข็มนาฬิกาจากบนยอดวงกลมดังนี้ ไวยากรณ์ > วาทศาสตร์ > วิภาษวิธี > ดนตรี > เลขคณิต > เรขาคณิต > ดาราศาสตร์. สังเกตว่า ไวยากรณ์เป็นจุดเริ่มต้น บนยอด. 
ตรงใจกลางคือตำแหน่งของปรัชญา ราชินีแห่งศาสตร์ทั้งหลาย. สวมมงกุฎที่มีใบหน้าสามหน้า ที่นักวิจัยสรุปว่าคือตัวแทนของ จริยธรรม (Ethic), ตรรกวิทยา (Logic) และฟิสิกส์ (Physics). ปรัชญาถือกระดาษที่คลี่ออก จารึกข้อความไว้ว่า Omnis sapientia a Domino Deo est  ความรู้ทุกชนิดมาจากพระเจ้า. ประโยคละตินนี้ เป็นประโยคเริ่มแรกในคัมภีร์เก่า เล่ม l'Ecclésiaste.
   เห็นสายน้ำเจ็ดสายไหลลง ให้เป็นสัญลักษณ์เชิงเปรียบกับเจ็ดแขนงวิชา (ในทำนองว่า ความรู้เป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงและนำความชุ่มฉ่ำสู่แดนดิน). บางคนตีความว่า หมายถึงสมบัติวิลาสล้ำของพระจิต (les septs dons du Saint-Esprit).
ครึ่งล่างของวงกลมวงในตรงกลาง มีสองคนนั่งจารึกอะไรอยู่ มีชื่อกำกับด้วย : คนทางซ้ายคือโสเครติซ และคนทางขวาคือเปลโต. ตอนล่างของภาพ นอกวงกลมวงใหญ่ มีอีกสี่คน กำลังนั่งเขียนอะไรเหมือนกัน แต่ละคนบนแท่นเขียนของตัวเอง. ที่น่าสนใจคือ ทุกคนมีนกสีดำอยู่ใกล้ๆหัว ปากนกเข้าไปชิดหูคน เพื่อบอกว่า กำลังเป่าหูคนเขียน.
   ปกติในคริสต์ศิลป์ มักเห็นนกเขาสีขาว ที่แทนพระจิต หรือแทนแรงดลใจจากพระเจ้า. สีขาวสีบริสุทธิ์ บอกนัยว่า สิ่งที่สวรรค์มาดลใจ เป็นเรื่องดีมีประโยชน์. นกสีดำ แน่นอน แทนอะไรที่ไม่ดี บอกให้ระวัง ว่าหนังสือของพวกนอกรีต สิ่งที่เขียนไม่นำไปสู่เส้นทางธรรมของพระเจ้า.
ต้องชมว่าเขารวมความหมายมาไว้ครบ ผนวกจุดจี้ให้สำนึกว่า มีคนคอยยุไปในทางที่ไม่ใช่การเรียนเพื่อการพัฒนาตัวเอง. 
คนชอบสังเกต ให้ดูว่าศาสตร์แต่ละแขนงเขาแสดงเป็นรูปลักษณ์อย่างไร เช่น ไวยากรณ์-Grammar เป็นผู้หญิงมือซ้ายถือหนังสือ มือขวาถือแซ่, ภาพเช่นนี้ ไปเป็นแบบของไวยากรณ์ ที่จำหลักในมุมหนึ่งบนหน้าบัน ทิศตะวันตกของมหาวิหารน็อตเตรอดามเมืองช้าตรส์ (Chartres, France) และโบสถ์กอติคใหญ่ๆในศตวรรษที่ 13-14 ในฝรั่งเศส. บางแห่งไวยากรณ์ถือมีด เพื่อตัดบท เฉือนคำผิด ความบกพร่อง(ของผู้เรียน)ให้หมดไป.
ภาพของวิภาษวิธี-Dialectic มือซ้ายถือ หัวสัตว์ที่น่าจะเป็นสุนัขจิ้งจอก นิ้วชี้ขวามือยกขึ้น ท่าบอกให้ระวัง (พูดอะไรต้องระวัง อย่ากลับกลอกเป็นต้น).
ภาพเลขคณิต-Arithmetic มีสายลูกๆยาวๆ เหมือนสายรูปประคำ หรือทำให้นึกถึงลูกคิดของคนจีน บนภาพเจาะจงว่าเป็นสายเมตรอาหรับ.
เครดิตผู้ถ่ายภาพนำมาเผยแพร่ : Nicolas Xavier Willemin (1763-1833) / Public domain 
บนพื้นที่กรอบ (voussure) ของหน้าบันทิศตะวันตกของมหาวิหารน็อตเตรอดามเมืองช้าตรส์ (Notre Dame de Chartres, France)  ศิลปศาสตร์มีพื้นที่ชัดเจน เน้นความสำคัญของความรู้เพื่อการพัฒนาตัวเองในโลกมนุษย์.
ในภาพนี้ ตอนบน คือดนตรีและไวยากรณ์ ส่วนตอนล่างเป็นศาสตร์อีกสองแขนง. พื้นที่จำกัด นายช่างเสนอให้คนหนึ่งนั่งอยู่หน้าโต๊ะ ก้มหน้าก้มตา พินิจพิจารณาเนื้อหาที่อยู่ตรงหน้า โยงในความคิดถึงปราชญ์ตัวแทนของศาสตร์วิชาที่คนรู้จักกันดีและเป็นที่ยอมรับ. เช่น ใต้รูปลักษณ์ของดนตรี คิดกันว่า น่าจะเป็น ปีทากอรัส (Pythagoras, circa 570-495 BC) ที่เป็นปราชญ์ทั้งด้านคณิตศาสตร์และดนตรี. ใต้ไวยากรณ์ คิดกันว่า น่าจะเป็น Aelius Donatus นักไวยากรณ์ละตินคนสำคัญในศตวรรษที่ 4. (จะเห็นว่า การอ่านศิลปะยุคกลาง ต้องค้นหลายทาง และจับประเด็นกับแนวการสร้างสรรค์ หรือต้นแบบของศิลปินยุคนั้นๆ)
    เกร็ดเล็กน้อย ในภาพของไวยากรณ์ เด็กผู้ชายชอบแกล้งเด็กผู้หญิง จากยุคโบราณถึงยุคปัจจุบัน. เด็กผู้ชายแกล้งไป ตาเหลือบมองครู มองแซ่ด้วย ครูก็รู้ทัน. เด็กผู้หญิงโดนแกล้ง แต่ยังมีอารมณ์ดี.
ประติมากรรมยุคกลาง มีเกร็ดเล็กน้อย น่ารัก น่าประทับใจแบบนี้ หากรู้จักมอง. 

โชติรส รายงาน
๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓. 

No comments:

Post a Comment